แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในชั้นแรกที่สุด ขอแสดงความยินดีต่อท่านทั้งหลายที่มาที่นี่ในลักษณะอย่างนี้ คือเพื่อแสวงหาความรู้ทางธรรมะเพื่อไปใช้ประกอบในการดำเนินชีวิตของตนให้ได้รับประโยชน์มากที่สุด
เนื่องด้วยธรรมะมีความลึกซึ้งอยู่มาก เราจึงเลือกเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับจะเข้าใจสิ่งที่มีความลึกซึ้งนั้น ดังนั้นเราจึงได้เลือกเอาเวลาอย่างนี้ เวลาอย่างนี้มีความพิเศษที่ว่าเหมาะสมสำหรับธรรมะที่มีความลึกซึ้ง เหมาะสมที่ว่าเป็นเวลาที่จิตใจพร้อมที่จะรู้จะเข้าใจ คือมีความสดชื่น มีความสงบรำงับ มีความอ่อนไหว (active) มาก ที่จะเข้าใจธรรมะ เพราะฉะนั้นอย่าเห็นว่าเป็นความทำให้ลำบาก ยุ่งยาก การที่จะมาพูดกันในเวลา ๕.๐๐ น. พุทธบริษัทถือกันเป็นธรรมเนียมว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับเรียน สำหรับคิด สำหรับฝึกฝนปฏิบัติ ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับธรรมะในเวลาเช่นนี้ โดยธรรมชาติก็เป็นเวลาที่ดอกไม้ป่าบาน ดอกไม้ป่าส่ง เริ่มส่งกลิ่น สัตว์เดรัจฉานก็ตื่นพร้อมที่จะทำหน้าที่ ไก่ก็กำลังขันอยู่อย่างนี้ ยิ่งกว่านั้นเราถือว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้เวลาอย่างนี้ จึงสรุปความว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับศึกษาสิ่งที่พระองค์ทรงสอนก็คือสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ, ธรรมะ นั่นเอง
ท่านทั้งหลายรู้จักกันดีแต่คำว่า ธัมมะ ,ธัมมะ ธรรมะ, ธรรมะ น่ะ ยังไม่รู้จักหรือเข้าใจเต็มที่กับคำอีกคำหนึ่งซึ่งมีความสำคัญเกี่ยวกับธรรมะนั้น คำนั้นก็คือคำว่า ธัมมิก, ธัมมิก ในวันนี้อยากจะให้เข้าใจคำว่า ธัมมิก ให้ถึงที่สุด ที่นำไปใช้กันในภาษาอังกฤษหรือภาษาสากลนั่น เขาใช้คำว่า dhammic, dhammic ก็คำเดียวกับ ธัมมิก, ธัมมิก ก็คือให้มันสั้น ให้มันกะทัดรัด เรียกว่า dhammic เราจะต้องเข้าใจคำว่า dhammic หรือ ธัมมิก นี้กันให้ดีเป็นพิเศษ
ธรรมิก หรือ ธัมมิก ซึ่งแปลว่า ประกอบด้วยธรรม ถ้าเรามีแต่ธรรมเฉยๆ มีแต่ธรรมะเฉยๆ ไม่ประกอบอยู่ด้วยธรรม ธรรมะก็เป็นความรู้อยู่ข้างนอก ถ้าประกอบอยู่ด้วยธรรม ธรรมะน่ะ ธรรมะก็เข้ามาอยู่กับเนื้อกับตัวของเรา คือมาเป็นชีวิตจิตใจของเราเสียเอง นี่ความสำคัญมันอยู่ที่ตรงนี้ ธรรมะมันอยู่ที่ธรรมะ แต่ถ้าธรรมิกมันไม่อยู่ที่เนื้อที่ตัวของเรา มันต่างกันมากอย่างนี้ เราใช้คำว่า ชีวิต กันเป็นส่วนมาก ถ้าใช้คำว่า ชีวิต ก็ต้องกล่าวว่าชีวิตที่ประกอบอยู่ด้วยธรรมะ คือเนื้อตัวจิตใจทั้งหมดทั้งสิ้นของเรารวมเรียกว่า ชีวิต และชีวิตนั้นประกอบอยู่ด้วยสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ เราจึงมีคำว่า ชีวิตธัมมิก หรือ dhammic life ชีวิตธัมมิกนี่เป็นสิ่งที่จะต้องสนใจเป็นพิเศษ เราจะต้องทำให้ธรรมะประกอบกับชีวิต หรือให้ชีวิตประกอบกับธรรมะจึงจะมี dhammic life เดี๋ยวนี้มีปัญหาอย่างยิ่งก็คือว่า dhammic life นั่นไม่ปรากฏ มีอาการเหมือนกับว่าซ่อนเร้นอยู่, ซ่อนเร้นอยู่ ธรรมชาติซ่อนชีวิตนี้เสีย หรือจะพูดว่าพระเป็นเจ้าซ่อนชีวิตนี้เสีย ยังไม่ประทานให้ เราจะต้องกระทำจนชีวิตนี้เป็นสิ่งที่เปิดเผยแก่เรา เราดำเนินชีวิตประจำวันด้วย dhammic life นี่เอง หรือจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็กล่าวว่า ชีวิตนี้ซ่อนเร้น ซ่อนเร้นอยู่ ไม่เป็นที่รู้จักแก่มนุษย์ในโลกจนกว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้วก็สอน คือเปิดเผยชีวิตที่ซ่อนเร้นนี้ให้ปรากฏออกมา กลายเป็นชีวิตที่เรารู้จักกันในนามว่า dhammic life
โดยทั่วไป คำว่า ธรรมะ หรือ ธัมมะ คำนี้หมายถึง ทุกสิ่งๆ ไม่ยกเว้นอะไร ทุกสิ่งไม่ยกเว้นอะไร แต่ในที่นี้ในกรณีที่เรากำลังพูดนี้ คำว่า ธรรมะ หมายถึง ความถูกต้องของทุกสิ่ง ความถูกต้องของทุกสิ่งที่เราจะต้องมี ธรรมะในกรณีอย่างนี้แปลว่า ความถูกต้องของทุกสิ่งๆ ที่เราจะต้องมี ทีนี้คำว่า ทุกสิ่งๆ นี่เราหมายถึงทุกสิ่งที่เกี่ยวกับธรรมชาติ ขอให้ท่านทั้งหลายกำหนดคำ ๔ คำเกี่ยวกับธรรมชาติไว้ให้ดีที่สุด จะว่าให้ฟัง
ความหมายที่ ๑ ของทุกสิ่ง ก็คือ ตัวธรรมชาติ ปรากฏการณ์ทั้งหลายของธรรมชาติ เรียกว่าตัวธรรมชาติก็แล้วกัน ความหมายที่ ๒ หมายถึง ตัวกฎของธรรมชาติ คือกฎอันเด็ดขาด เฉียบขาดของธรรมชาติและควบคุมธรรมชาติอยู่เองด้วย ความหมายที่ ๓ ก็คือหน้าที่, หน้าที่ ที่ถูกต้องตามกฎของธรรมชาตินั้น ความหมายที่ ๔ ก็คือผลหรือปฏิกิริยาที่ออกมาจากการทำหน้าที่อันถูกต้องนั้น ดังนั้นเมื่อพูดว่า ถูกต้อง, ถูกต้อง ก็คือถูกต้องตามธรรมชาติ ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ถูกต้องตามหน้าที่ต่อกฎของธรรมชาติ และถูกต้องต่อผลที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่นั้นๆ เราต้องรู้จักสิ่งเหล่านั้นอย่างเพียง พอด้วยการศึกษาในชั้นแรก และเราก็มีการปฏิบัติให้ถูกต้อง เพราะเรารู้จักมันถูกต้องแล้ว เราก็มีการปฏิบัติมันถูกต้อง มีการปฏิบัติถูกต้อง ผลที่ออกมามันก็เป็นผลที่ถูกต้อง นี่เรียกว่าถูกต้องต่อธรรมชาติใน ๔ ความหมาย ในภาษาบาลีเราไม่มีคำว่า ธัม-มะ-ชา-ติ (นาทีที่ 24:07) หรือ ธรรมชาติ ธัม-มะ-ชา-ติ ใช้หรอก เราใช้คำว่า ธัมมะ, ธรรมะ, ธัมมะ คำนี้หมายถึง ธรรมชาติ ธรรมะ แปลว่า ธรรมชาติ ใน ๔ ความหมายอย่างที่กล่าวมาแล้ว และเมื่อถูกต้องตามความหมาย ๔ ความหมายนั้นก็เรียกว่า ธรรมะ หรือ ธัมมิก การถูกต้องตามธรรมชาตินั่นแหละคือถูกต้องตามธรรมะ ฉะนั้นคำว่า ธรรมิก ซึ่งแปลว่าถูกต้องตามธรรมะ ก็คือถูกต้องตามธรรมชาติทั้ง ๔ ความหมายนั่นเอง
อาตมาอยากจะให้ทราบเสียในที่นี้เลยเกี่ยวกับธรรมชาติ ๔ ความหมาย ในระหว่างศาสนาที่มีพระเป็นเจ้าและศาสนาที่ไม่มีพระเป็นเจ้า หมายความว่ากฎเกี่ยวกับธรรมชาติ ๔ ความหมายนี้ใช้ได้กับทุกศาสนา ธรรมชาติ, ธรรมชาติ หมายถึงสิ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้น หรือ creation หรือจะหมายถึงตัวฝ่ายวัตถุ (physical body) ของพระเจ้าเองก็ได้ ตัวธรรมชาติน่ะหมายถึงตัวของพระเจ้าเองในฝ่ายฟิสิกส์ กฎของธรรมชาติก็คือ องค์ของพระเจ้าในส่วนที่เป็นจิตหรือเป็นวิญญาณ เป็น spiritual body หรือ mental body ของพระเจ้า ถ้าพูดให้ชัดเจนเจาะจงกว่านั้นก็พูดว่าคือความประสงค์ของพระเป็นเจ้า กฎธรรมชาติคือความประสงค์ของพระเป็นเจ้า ทีนี้หน้าที่ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติก็คือสิ่งที่เราจะต้องทำตามความประสงค์ ที่เรียกว่า pray อ้อนวอน พยายามด้วยความภักดีที่จะทำให้ถูกพระทัยของพระเป็นเจ้า หน้าที่ตามกฎของธรรมชาตินั่นก็คือเราสนองความประสงค์ของพระเป็นเจ้า ส่วนผลจากหน้าที่นั้นก็คือ grace หรือสิ่งที่พระเจ้าประทานตอบสนองให้แก่เรา แต่ว่าผลนี้มันแยกเป็น ๒ อย่าง ถ้าเราทำผิดกฎของพระเป็นเจ้า ก็ได้รับ grace ซึ่งไม่เรียกว่า grace แต่มันก็เป็น grace คือประทานมาอย่างยุติธรรมให้มีความทุกข์ ถ้าถูกต้องมันก็ให้มาอย่างที่ว่าเป็นที่น่าพอใจ เป็น grace ที่น่าพอใจ
ดังนั้นท่านจะเห็นได้เองว่า กฎเกณฑ์เรื่องธรรมชาติ ๔ ความหมายนี้ใช้กับศาสนาทุกๆ ศาสนา ไม่ว่าจะเป็น theist หรือ atheist (นาทีที่ 33:19) มันจะต้องยอมรับกฎเกณฑ์ทั้ง ๔ นี้ด้วยกัน เลยทำให้พูดได้ว่าทุกศาสนามีพระเจ้า อย่างพุทธศาสนานี้ถูกจัดว่าไม่มีพระเจ้า นั้นมันสำหรับตาจัดเอาตามพอใจ พุทธศาสนาก็ยอมรับกฎของธรรมชาติในฐานะเป็นพระเจ้า เป็น impersonal god ฉะนั้นต้องยอมรับว่ามีทั้ง personal god และ impersonal god แต่แล้วก็ใช้ได้กับธรรมะ ๔ ความหมาย ดังนั้นเรามีศาสนาเดียวกันเสียดีกว่าทั้งหมดทั้งจักรวาลนี้ เรามีศาสนาเดียวกันเสียดีกว่า ไม่ต้องมีความขัดแย้งใดๆ ในระหว่างศาสนา
impersonal god ฟังไม่ออก เข้าใจไม่ได้สำหรับคนที่มีปัญญาอ่อน ดังนั้นจึงต้องมีการพูดเป็น ๒ ชนิด คือสำหรับคนปัญญาอ่อนและคนปัญญาสมบรูณ์ เลยเกิดมีเป็น ๒ ภาษา เรียกว่า ภาษาคนสำหรับคนธรรมดาพูด กับภาษาธรรม สำหรับคนที่มีความรู้ทางธรรมพูด ทีนี้ god จึงได้ออกมาเป็น ๒ ชนิด คือ personal god และ impersonal god เป็นที่น่าขบขันว่า แม้โลกนี้จะเป็นโลกสมัยวิทยาศาสตร์แล้ว แต่ก็ยังคงมีคนปัญญาอ่อนเหลืออยู่ในโลก ถ้ามีความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้าใจได้ง่าย impersonal god, natural law เข้าใจได้ง่าย แต่คนที่ปัญญาอ่อนมันไม่เข้าใจได้ และมันก็น่าขันที่ว่าแม้ในโลกยุคสมัยวิทยาศาสตร์ก็ยังมีคนปัญญาอ่อนเต็มไปทั้งโลก เมื่อเรามีความรู้ทางวิทยาศาสตร์พอสมควร มันก็ง่ายนิดเดียวที่เราจะเข้าใจธรรมะใน ๔ ความหมาย ธรรมะใน ๔ ความหมายอธิบายได้ง่ายโดยหลักของวิทยาศาสตร์ ฉะนั้นขอให้เราเข้าใจธรรมะ ๔ ความหมาย เราก็จะเข้าใจวิทยาศาสตร์ในทางฝ่ายศาสนาโดยเฉพาะพุทธศาสนา ดังนั้นเราก็ง่ายในการที่จะแก้ปัญหาหรือคลี่คลายปัญหาที่ลึกลับอยู่เกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า ชีวิต
เรามาพิจารณาความหมายของคำว่า ธัมมิก, ธัมมิก กันอีกที เพราะมันมีหลายความหมายอยู่เหมือนกัน ข้อแรกก็จะต้องกล่าวง่ายๆ ตรงๆ ว่า ธัมมิกนี้แปลว่า รู้ธรรมะ ธัมมิก แปลว่า รู้ธรรมะ รู้ธรรมะใน ๔ ความหมาย และสามารถที่จะปฏิบัติถูกต้องต่อธรรมชาติ ธัมมิกคือรู้ธรรมะ ความหมายที่ ๒ ธัมมิกคือปฏิบัติธรรมะ ถ้าเรารู้ธรรมะ เราจึงสามารถปฏิบัติธรรมะ เมื่อเราปฏิบัติธรรมะอยู่ เราก็เป็นธัมมิกยิ่งขึ้นไปกว่า กว่าที่เพียงแต่จะรู้เฉยๆ เดี๋ยวนี้ปฏิบัติธรรมะ ปฏิบัติธรรมะถูกต้อง อย่างถูกต้อง ธัมมิกความหมายที่ ๓ ก็คือมี มีธรรมะ มีธรรมะอยู่กับเนื้อกับตัว มีเนื้อมีตัวเป็นธรรมะ มีกายเป็นธรรมะ มีจิตเป็นธรรมะ มีวิญญาณเป็นธรรมะ เรียกว่ามีธรรมะ ในภาษาบาลีเรามีสำนวน สำนวนสำหรับพูดลึกลงไปถึงกับว่า อาบ อาบรดอยู่ด้วยธรรมะ อาบชุ่ม ซ่ก อาบชุ่มๆ อยู่ด้วยธรรมะ คือเปียกอยู่ด้วยธรรมะ อย่างนี้ก็มี คืออาบธรรมะ อาบรดอยู่ด้วยธรรมะเหมือนกับเราอาบน้ำอยู่เป็นประจำ สูงขึ้นไปอีกก็คือ ดื่ม, ดื่ม เหมือนกับดื่มน้ำน่ะ ดื่มธรรมะ ดื่มรสของธรรมะ หรือบางทีก็ว่า กิน, กิน รสของธรรมะ มันหมายถึง ......(นาทีที่ 47:54) ทั้งทางกายทั้งทางจิตอยู่ด้วยธรรมะ นี่ถึงสูงสุดอย่างนี้ก็เรียกว่า ธัมมิก แต่เนื่องจากธรรมะเป็นเรื่องของจิต เราจึงต้องมีคำว่า จิต นี่ประกอบอยู่ด้วยเสมอ มันจึงมีคำกล่าวว่า ดื่มรสของธรรมะอยู่ด้วยนามกาย, นามกาย นามกายคือหมู่แห่งจิต, หมู่แห่งจิต เราดื่มรสแห่งธรรมะอยู่ด้วยความรู้สึกทางจิตอย่างนั้นอย่างนี้อย่างโน้น ทุกๆ อย่าง ดื่มรสของธรรมะอยู่ด้วยนามกาย เราเรียนธรรมะ ศึกษาธรรมะ เราปฏิบัติธรรมะ เราก็มี มีธรรมะ แล้วก็ดื่มรสของธรรมะอยู่ด้วยนามกาย อย่างน้อยก็ ๔ ความหมายอย่างนี้เต็มที่ก็เรียกว่า ธัมมิก ธรรมิก, ธรรมิก หรือ ธัมมิก ประกอบอยู่ด้วยธรรมะ นี่คือความหมายอันเต็มเปี่ยมของคำว่า ธรรมิก ชีวิตไหนเกี่ยวข้องกับธรรมะในลักษณะอย่างนี้ เราก็ควรเรียกมันว่า dhammic life ธรรมิก หรือ ธัมมิก dhammic life ถ้ามันไม่เกี่ยวข้องกับธรรมะ เลยก็ non dhammic life จงรู้จักชีวิตไว้ในสองลักษณะอย่างนี้ก่อน
ท่านก็ควรจะถามตัวเองดู หรือดูตัวเอง ตรวจดูตัวเองแล้วก็ถามตัวเองดูว่า เรากำลังมี dhammic life หรือ non dhammic life ท่านมาที่นี่เพื่อแสวงหาความรู้ทางธรรมะหรืออยากรู้ธรรมะ แต่บางคนอาจจะไม่ใช่ก็ได้ แต่อาตมาเชื่อว่าทุกคนมาที่นี่ต้องการจะมีความรู้เรื่องธรรมะ แต่แล้วก็มีปัญหาว่าเอาไปทำอะไร บางคนก็เอาไปใช้เป็นความรู้ ไปสอน ไปประกอบการสอนมากกว่าที่จะเอาไปทำให้ชีวิตนี้มันเป็น dhammic life อาตมาจึงขอร้องเสียเดี๋ยวนี้ว่าท่านทั้งหลายจงศึกษาธรรมะ พยายามมีธรรมะเพื่อให้ชีวิตมันเป็น dhammic life แล้วมันจะหมดปัญหาโดยประการทั้งปวง ถ้าท่านศึกษาธรรมะ โดยหลักธรรมะ ๔ ความหมายแล้ว ไม่ต้องมาที่นี่ก็ได้ นี่พูดตรงๆ ว่าไม่ต้องมาที่นี่ก็ได้ ศึกษาในห้องเรียนวิทยาศาสตร์ก็ได้ ในศาสนาไหน ศาสนาไหนก็ได้ เพราะว่ามีกฎเกณฑ์เกี่ยวกับธรรมะ ๔ ความหมายด้วยกันทั้งนั้น ถ้าจะถามว่าท่านควรจะมาที่นี่ทำไม ก็จะตอบว่าเพื่อมาศึกษาหาวิธีที่จะเข้าถึงธรรมะ ขอย้ำอีกทีว่า ท่านเข้าถึงธรรมะ รู้ธรรมะที่ไหนก็ได้ แต่ท่านไม่มีวิธีที่จะทำอย่างนั้น ท่านจึงมาที่นี่เพื่อศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับวิธี วิธีที่จะเข้าถึงธรรมะนั้น เพราะฉะนั้นอย่าให้เสียเวลาเปล่า ท่านจงได้พบวิธีที่จะเข้าถึงธรรมะนั้น ขอบอกกล่าวเสียในที่นี้เลยว่า ท่านอย่าได้เข้าใจไปว่าจะศึกษาธรรมะอย่างเถรวาทหรือมหายาน ที่ต้องแบ่งเป็นเถรวาท มหายาน นั้นมันมีความจำเป็นสำหรับจะพูดกับคนปัญญาอ่อนหรือคนปัญญากล้าแข็ง มหายานเขาจะช่วยทำให้ง่ายสำหรับคนปัญญาอ่อน จึงได้คิดระเบียบสำหรับศึกษาขึ้นมาหลายๆ อย่างสำหรับคนปัญญาอ่อน เราไม่ต้องไปแบ่งเป็นเถรวาทหรือมหายานถ้าเรารู้ธรรมะ ๔ ความหมาย ธรรมะ ๔ ความหมายเป็นธรรมะแท้จริงและสูงสุด ไม่มีลักษณะเป็นเถรวาทหรือมหายาน ท่านไม่ต้องคิดว่าจะศึกษาพุทธศาสนาอย่างอินเดีย พุทธศาสนาอย่างศรีลังกา พุทธศาสนาอย่างพม่า อย่างไทย อย่างจีน อย่างญี่ปุ่น อย่างทิเบต เป็นต้น ไม่ ไม่มีพุทธศาสนาอย่างไหน มันมีพุทธศาสนาอย่างเดียวคือเรื่องความจริงของธรรมชาติ ๔ ความหมาย ท่านจงศึกษามุ่งไปยังความจริงของธรรมชาติ ๔ ความหมาย ถ้าท่านตั้งใจจะศึกษาพุทธศาสนาอย่างเถรวาท อย่างมหายาน อย่างอินเดีย อย่างไทย อย่างพม่า ศรีลังกา นี่ท่านต้องเสียเงินเยอะแยะ ซื้อหนังสือเป็นตู้ เป็นตู้เลย ต้องเสียเงินเยอะแยะ เสียเวลาเยอะแยะ และในที่สุดท่านก็ไม่รู้ธรรมะที่แท้จริง ไปรู้คำอธิบายปลีกย่อยสำหรับคนปัญญาอ่อนหรือเฉพาะเหตุการณ์ในประเทศนั้นๆ เท่านั้นแหละ ไม่รู้ธรรมะจริง ไม่ต้องเสียเวลาทำอย่างนั้น วิธีที่ดีที่สุดก็คือศึกษาธรรมะ ๔ ความหมาย มานั่งลงที่นี่ ที่ไหนก็ได้ ในบ้านก็ได้ ที่ไหนก็ได้ แล้วก็กำหนดศึกษาธรรมะ ๔ ความหมายที่มันมีอยู่ในตัวเรา ในร่างกายของเราที่ยาวสักวาเดียวเท่านั้นแหละ ก็จะพบธรรมชาติ กฎของธรรมชาติ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ และผลที่เกิดจากหน้าที่ในตัวเราสั้นๆ วาเดียวนี่มีครบหมด ไม่ต้องไปสนใจตำรับตำราหรืออะไรที่มันเป็นเรื่องประกอบปลีกย่อยสำหรับทำคนปัญญาอ่อนให้รู้
คำว่า ธรรมชาติ, ธรรมชาติ ก็นี่ ร่างกายทั้งหมดนี้นับตั้งแต่เซลล์ เซลล์แต่ละเซลล์ แต่ละเซลล์ และก็กลุ่มแห่งเซลล์, กลุ่มแห่งเซลล์ แล้วก็ประกอบกันขึ้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย ทุกๆ ส่วนของร่างกาย เป็นเนื้อ เป็นเลือด เป็นกระดูก เป็นอะไรทั้งหมดที่เป็นตัวร่างกายทางฝ่ายฟิสิกส์ และฝ่ายจิตใจคือรู้สึกคิดนึกอะไรได้ mind-body, body-mind นี่เข้าใจดีๆ ว่ามันเป็นอันเดียวกันแหละ ศึกษาถึงที่สุด จะรู้ว่า body-mind ไม่ใช่ mind and body นั่นแหละคือตัวธรรมชาติ ตัวธรรมชาติ, ตัวธรรมชาติ อย่าไปห่วงข้างนอกเลย ข้างใน ศึกษาให้รู้จักตัวธรรมชาติในร่างกายหรือในชีวิต
ความหมายที่ ๒ ที่ว่ากฎของธรรมชาตินั่นก็มีอยู่ กำกับอยู่ในทุกๆ เซลล์ที่ประกอบกันอยู่เป็นร่างกาย หรือว่ากฎของธรรมชาติน่ะบังคับทำให้เกิดมีเซลล์แต่ละเซลล์ และก็ควบคุมมันอยู่ บังคับให้มันเป็นไป จนว่ามันเป็นอวัยวะต่างๆ เป็น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็ยังถูกควบคุมอยู่ด้วยกฎของธรรมชาติ กฎของธรรมชาติควบคุมอยู่กี่มากน้อย ขอให้คิดดูว่ามันมีอะไรบ้างที่มันอยู่นอกเหนือกฎของธรรมชาติ ศึกษาให้รู้จักกฎธรรมชาติทั้งหมดทั้งสิ้นในชีวิตในร่างกายนี้เอง
ทีนี้ก็มาถึงหน้าที่ ความหมายที่ ๓ คือหน้าที่ เพราะว่ากฎของธรรมชาติมีอยู่ มันก็ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎ มันก็ต้องเกิดหน้าที่ นี่เป็นเหตุให้เซลล์ทุกๆ เซลล์ทำหน้าที่ แล้วอะไรมันจะเหลือ ทุกๆ เซลล์ต้องทำหน้าที่ เมื่อประกอบกันเข้าเป็นอวัยวะอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วมันก็ทำหน้าที่บางอย่าง ธรรมชาติ กฎของธรรมชาติช่วยให้ทำในตัวมันเองโดยที่เราไม่ได้รู้สึก เช่นว่า ปอดก็หายใจ หัวใจก็สูบฉีดโลหิต หรืออะไร ความเจริญก็เกิดงอกงามขึ้นมาได้โดยธรรมชาติ นี้เป็นหน้าที่ที่ธรรมชาติหรือกฎของธรรมชาติบังคับให้ทำเอง ทีนี้ส่วนที่บังคับให้เรา คนต้องทำนี่ก็มี ต้องบริหารร่างกาย ต้องกินอาหาร ต้องอาบน้ำ ไปยันที่สุดก็ต้องถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ มันก็เป็นหน้าที่, หน้าที่ แล้วหน้าที่ที่ออกมาถึงว่าจะต้องหาเลี้ยงชีวิต เราต้องศึกษา เราต้องทำงาน เราต้องหาเงิน อันนี้มันก็เป็นหน้าที่, หน้าที่ ทั้งหมดนี้มันก็รวมอยู่ในชีวิตนี้ ในร่างกายนี้ คือสิ่งที่เรียกว่า หน้าที่ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ จงศึกษาให้ดีที่สุดเพื่อจะทำให้มันถูกต้องที่สุด
ทีนี้ความหมายที่ ๔ คือผลที่ได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่ เราก็จะต้องดูแลให้มันถูกต้อง เดี๋ยวนี้มันขาดบ้าง มันเกินบ้าง มันไม่ถูกต้อง ถ้าถูกต้อง มันก็ไม่ขาดมันก็ไม่เกิน มันก็ได้รับความสะดวกสบายหรือไม่มีปัญหา เรามักจะปล่อยไปตามความรู้สึกของความโง่ ก็ต้องเรียกว่าความโง่ มันจึงเกินเป็นส่วนมาก ต้องการเกิน มีเกิน รวบรวมเกิน แสวงหามาเกิน ต่อความโง่ที่ทำให้ขาดก็มีเพราะทำไม่เป็น มันโง่มันก็ขาด แต่นั่นมันยังน้อยไปกว่าที่มันเกิน เราอยากจะมีเกินกว่าที่ถูกต้อง เราจะกินเกินกว่าที่ควรจะกิน เราจะแต่งเนื้อแต่งตัวเกินกว่าที่เราจะแต่งเนื้อแต่งตัว เราจะมีที่อยู่อาศัย เครื่องใช้ไม้สอยเกินไปกว่าที่ควรจะมี ยิ่งเดี๋ยวนี้มันก็ยิ่งเกินมากเพราะมันมีความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุ นี่เรียกว่าผลที่เกิดมาจากการปฏิบัติหน้าที่ ก็ต้องจัดให้มันถูกต้อง คือไม่ขาดหรือไม่เกิน ให้มันถูกต้อง, ถูกต้อง เราอยู่ในโลกที่เป็นยุคอุตสาหกรรม สมัยนี้มีความลำบากมากเพราะเราถูกลวงด้วยการโฆษณาของอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมเครื่องจักรมันผลิตออกมามาก, ผลิตออกมามาก และส่วนเกิน ส่วนไม่จำเป็น แต่แล้วมันก็มีศิลปะแห่งการโฆษณา โฆษณาด้วยศิลปะ เมื่อเราโง่เราก็ต้องซื้อ, เราก็ต้องซื้อ นี่มันความเกิน, เกิน, เกิน, เกิน มันก็เกิดขึ้น เช่นว่าเราจะอยู่ได้ด้วยความเป็นอยู่เพียงเท่านี้ เราก็ต้องมากออกไป นี่เราจะนั่งรถยนต์ราคาหมื่นไม่ได้แล้ว เราต้องนั่งรถยนต์ราคาแสนราคาล้าน บ้านเรือนเหมือนกัน อยู่ในราคาหมื่นราคาแสนไม่ได้ มันเป็นราคาล้าน เขาว่าห้องน้ำของคนบางคนราคาตั้ง ๓ ล้าน ห้องน้ำเท่านั้นนะนี่ เกินโดยไม่รู้สึกตัว นี่ระวังๆ เพราะว่ากิเลสหรือความไม่รู้ของเรา มันมีแต่จะนำไปสู่ส่วนเกิน ถ้าเรามามัวยุ่งกันอยู่แต่กับส่วนเกิน ส่วนเกินนี่มันเป็นชีวิตที่หลับหรือที่โง่หรือที่หลง ไม่มีความพักผ่อน ไม่มีความสงบ มีแต่ปัญหาเรื่อยไป นี่เพราะเราไม่รู้จักควบคุมผลอันเกิดจากหน้าที่ เราแสวงหาผิดแล้วยังใช้ผิด นี่ขอให้ทุกๆ ท่านรู้จักควบคุมผลที่จะเกิดจากหน้าที่ให้ดีๆ เราจะครบ ๔ ความหมายถูกต้อง ๔ ความหมายวิเศษประเสริฐ ไม่มีอะไรจะวิเศษเท่า
ความถูกต้อง ถูกต้อง ไม่ขาดไม่เกิน หรือจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่าไม่เป็นบวกไม่เป็นลบ เป็นเหมือนกับพระเป็นเจ้าน่ะ พระเป็นเจ้าไม่เป็นบวกไม่เป็นลบ แต่แล้วเราก็มาบูชาบวก positiveness มากเกินไป บูชาบวกยิ่งกว่าพระเป็นเจ้าเสียอีก เราบูชานับถือความเป็นบวกยิ่งกว่าพระเป็นเจ้าซึ่งไม่เป็นบวกไม่เป็นลบ นั่นแหละคือความไม่ถูกต้อง อย่าให้เราต้องเป็นทาสของความเป็นบวกหรือความเป็นลบ ให้เราอยู่เหนืออิทธิพลของความเป็นบวกและความเป็นลบ นั่นแหละคือความถูกต้อง เราบูชา positive มากเกินไปจนเราบูชา god ไม่ได้ เพราะว่า god อยู่เหนือความเป็น positive เป็น negative เดี๋ยวนี้เราบูชา positive มากเกินไปจนเราบูชาพระเจ้าไม่ได้ นี่จริงหรือไม่ขอให้ลองสังเกตดู เมื่อเราหลงถึงกับบูชา positive โดยส่วนเดียวอย่างนี้แล้ว เราก็ไม่สามารถปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ๔ ความหมาย กฎธรรมชาติ ตัวกฎธรรมชาติ ตัวหน้าที่ตามกฎธรรมชาติ ตัวผลอันเกิดจากหน้าที่อันถูกต้อง มันไม่มีความถูกต้องในธรรมชาติ ๔ ความหมาย เราก็มีชีวิตที่ไม่ถูกต้อง, มีชีวิตที่ไม่ถูกต้อง เป็นชีวิตที่ไม่ประกอบด้วยธรรมะ (non dhammic life) นี่ขอให้สังเกตดูข้อนี้ เดี๋ยวนี้เรามีชีวิตชนิดที่ไม่ถูกต้อง คือไม่รู้จักความจริงของธรรมชาติ ๔ ความหมาย เราไม่สามารถปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ๔ ความหมาย เราก็มีความไม่ถูกต้อง ชีวิตของเราก็ไม่ถูกต้อง เป็นชีวิตที่ไม่ถูกต้อง หรือจะเรียกว่าไม่ประกอบไปด้วยธรรม (non dhammic life) นี่ดูกันตรงนี้ให้ดีๆ มันไม่มีชีวิตที่ถูกต้อง
เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ เราก็กล่าวได้ว่าชีวิตที่ถูกต้องเป็นสิ่งที่ลึกลับ ซ่อนเร้น ถูกซ่อนเร้น เป็นชีวิตที่ซ่อนลึก ธรรมชาติน่ะซ่อนเสีย พระเจ้าซ่อนเสีย ชีวิตที่ถูกต้องถูกซ่อน ไม่ปรากฏ อยู่ลึกซึ้ง เราจึงดำเนินชีวิตชนิดที่ไม่ถูกต้อง เต็มไปด้วยปัญหาจนเป็นชีวิตที่กัดเจ้าของ ชีวิตกัดเจ้าของ, ชีวิตกัดเจ้าของ เพราะว่าเราไม่ดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง เพราะเป็นเรื่องที่ถูกซ่อนเร้นลึกลับอยู่ ชีวิตที่ถูกซ่อนเร้นอยู่คือชีวิตที่ถูกต้อง ที่ว่าไม่ถูกต้อง, ไม่ถูกต้อง นั้นก็คือไม่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ๔ ความหมาย ไม่รู้ไม่ชี้กับกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ๔ ความหมาย ไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ๔ ความหมาย มันจึงเป็นชีวิตที่ไม่ถูกต้อง เราดำเนินชีวิตอยู่อย่างไม่ถูกต้อง เราจึงได้รับผลตอบแทนคือความทุกข์ทรมาน grace ได้จากพระเป็นเจ้าคือความทุกข์ทรมาน น่าหัว grace ที่เป็นทุกข์ทรมานเพราะไม่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ๔ ความหมาย ความไม่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ๔ ความหมายเท่านั้นยังไม่พอ นี่มันมากจนถึงขนาดที่ว่า คดโกง ขบถ หลอกลวง หรือแบล็คเมล์ ต่อธรรมชาติ ๔ ความหมาย ถึงขบถต่อกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ๔ ความหมาย นี่ขอให้ดูดีๆ นี่คืออะไร นั่นคือ misconcept (นาทีที่ 1:41:36) ว่าตัวกูว่าของกู เอาตัวกูของกูมาแทนธรรมชาติ คือว่าเอาธรรมชาติมาเป็นตัวกูของกู ปิด ปิดธรรมชาติ มีตัวกูของกูเกิดขึ้นมาแทนด้วยความไม่รู้ หรือ ignorance นี่คือการขบถต่อธรรมชาติ เกิดตัวกูของกูขึ้นมา ปล้นเอาของธรรมชาติมาเป็นตัวกูของกูไปเสียหมด
เมื่อระบบประสาท (nerve system) มันเห็นรูป เห็นรูปด้วยตาอย่างนี้ มันก็ว่ากูเห็นรูป เมื่อระบบประสาทหูได้รับคลื่นเสียง ได้ยินเสียง มันก็ว่ากูได้ยินเสียง เมื่อจมูก ระบบประสาทจมูกได้กลิ่น มันก็ว่ากูได้กลิ่น ลิ้นได้รส มันก็ว่ากูได้รส สัมผัสผิวหนัง ว่ากูสัมผัสผิวหนัง จิตที่คิดนึก ว่ากูคิดนึก มันเอา กู, กู, กู ตัวกู เข้ามาแทนหมด นี่มันขบถธรรมชาติ ตรงกันข้ามอย่างนี้ก็เรียกว่ายิ่งไม่ใช่ธัมมิก ไม่มีธัมมิก อาตมาเข้าใจว่า คำว่า I or mine นี่ไม่สามารถแสดงความหมายของคำว่า ตัวกูหรือของกู ได้เท่ากับในภาษาไทย ต้องผนวกให้ว่ามันเป็น ignorance
I and mine มันเป็น arrogant I and mine ให้มันมากๆ ไปในทางอย่างนั้น มันจึงจะเท่ากับความหมายของคำว่า ตัวกูหรือของกู มันไม่ใช่เพียงแต่ I หรือ mine ตามธรรมดา ในภาษาบาลีเองก็มีคำพูดเป็น ๒ ระดับ ถ้าว่าเป็น ตัวตน หรือ ของตน I and mine อย่างนี้มันมีคำว่า อัตตา อัตตนียา ตัวตน หรือ ของตน แต่ถ้าพอความรู้สึกอันนั้นมันเดือดจัดขึ้นมา มันกลายเป็นใช้คำอื่น เป็น อหังการ, มมังการ นี่ความหมายของคำว่า กู หรือ ของกู อหังการ-กู มมังการ-ของกู ภาษาบาลีก็มีอยู่เป็น ๒ ระดับ ฉะนั้นขอให้ในภาษาพูดของเราตามธรรมดานี่ ก็มีเรื่องตัวตนของตนอยู่เป็น ๒ ระดับ I and mine ขอให้มีเป็น ๒ ระดับ ถ้าเป็นเดือดจัดแล้วมันเป็นตัวกูของกู นี่คือชีวิตที่ไม่ถูกต้องสูงสุด non dhammic, non dhammic ไม่ประกอบด้วยธรรม ไม่ถูกต้องสูงสุด คือมีกูมีของกู ทีแรกก็ว่าไม่ใช่ธรรมชาติ เอาของธรรมชาติมาเป็นของตน แล้วก็มันเข้มข้นจนถึงกับว่า เป็นตัวกูเป็นของกู ละเลยธรรมชาติ ไม่สนใจธรรมชาติ เอาตัวกูของกูขึ้นมาแทน นี่คือชีวิตที่ไม่ประกอบด้วยธรรมะหรือไม่ถูกต้อง ขอให้ท่านทั้งหลายจงรู้จักไว้ให้ดีว่านี่คือตัวปัญหาที่ทำให้เรามีความทุกข์ทรมาน นี่คือตัวปัญหา ชีวิตไม่ถูกต้อง ชีวิตเต็มไปด้วยความยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน ว่าตัวกูว่าของกู
เพื่อขจัดความเลวร้าย, เลวร้าย เหล่านี้ให้หมดไปทั้งโดยที่เป็นเหตุและโดยที่เป็นผล ความเลวร้ายทั้งที่เป็นเหตุและที่เป็นผลจะถูกขจัดให้หมดไปด้วยการรู้ความจริงคือธรรมะ จึงขอให้ท่านทั้งหลายศึกษาเรื่องอิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท เมื่อรู้เรื่องนี้โดยแท้จริงแล้วจะรู้ธรรมชาติ จะรู้จักธรรมชาติโดยแท้จริง เรื่องตัวกูของกูก็จะหมดไป หรือว่าท่านจะสามารถควบคุมตัวกูของกูไว้ได้ด้วยการมีสติสัมปชัญญะ เป็นต้น ซึ่งท่านจะหามาได้ด้วยการปฏิบัติอานาปานสติ ดังนั้นจึงขอร้องท่านทั้งหลาย ให้พยายามสุดความสามารถที่จะเรียนรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท จะปฏิบัติจิตให้มีสมรรถนะสูงสุดด้วยอานาปานสติอย่างที่เราจะได้ฝึกกันต่อไปที่เซนเตอร์ ขอให้พยายาม, พยายาม สิ่งที่จะแก้ปัญหาหรือตัดปัญหาทั้งหมดทั้งสิ้นได้ ขอให้ศึกษาเรื่อง อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท ให้ดีที่สุด ให้แจ่มแจ้งที่สุด แล้วชีวิตนี้ก็จะเปิดเผย, จะเปิดเผย ไม่มีชีวิตที่ซ่อนเร้นหรือเป็นความลับอีกต่อไป จะเปิดเผยต่อความถูกต้อง เราจะดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ไม่มีปัญหาใดๆ เหลืออยู่ นี่ขอให้สนใจ สนใจเป็นพิเศษที่จะศึกษาเรื่องอิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท ขอให้ท่านฝึกหรือ train ในอานาปานสติเถิด ท่านจะควบคุมกระแสแห่งชีวิตได้อย่างมีความถูกต้องทุกๆ ประการ เรื่องมันก็จะจบ
ขอขอบพระคุณท่านทั้งหลาย เป็นผู้ฟังที่ดีด้วยความอดทนมาเป็นเวลา ๒ ชั่วโมงแล้ว ขอขอบคุณ ขอให้ท่านทั้งหลายประสบความสำเร็จในการศึกษาและการปฏิบัติทุกๆ ท่านเทอญ
ขอปิดประชุม แจกดอกไม้, แจกดอกไม้ ช่วยแจกดอกไม้, ช่วยแจกดอกไม้ Indian Jasmine symbol ของธรรมะในความหมายหนึ่ง cool fragrance เดินโดยไม่มีผู้เดิน กลับไปเซนเตอร์