แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
(คำถามภาษาอังกฤษ)
ท่านอาจารย์ครับ ท่านคิดว่าอย่างไรสำหรับเพื่อนหรือคนร่วมครอบครัวที่มีปัญหาทางจิตใจ หนักขนาดที่เขาต้องไปหาจิตแพทย์ เราควรจะแนะนำให้เขารู้จักพุทธศาสนาหรือรู้จักการฝึกกรรมฐานหรือไม่ ถ้าควร เราควรจะช่วยเขาอย่างไร เมื่อเขาไม่ได้อยู่ในประเทศหรือเมืองพุทธ เราควรจะช่วยเขาอย่างไรดี ควรให้หนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาและกรรมฐานหรือควรจะบอกความรู้ที่เราได้มาจากมาฝึกอบรมที่นี่ หรือควรให้เขามาเอง หรืออย่างไรดี
จะต้องทราบกันเสียก่อนว่า ความรู้ทางธรรมะนั้นต้องเตรียมไว้ล่วงหน้า ทุกคนจะต้องศึกษาไว้เป็นการล่วงหน้า จึงจะป้องกัน เหตุผลร้ายเหล่านี้ได้ ซึ่งเป็นแล้วมีปัญหาแล้ว จะมาแก้ปัญหากันทันทีมันก็ยาก แต่ก็ต้องทำไปตาม ตามเรื่องด้วยเหมือนกัน เท่าที่จะทำได้ ช่วยบอกเขาอย่างนี้ ทีก่อน
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
คนที่ถึงกับเป็นประสาท หรือเป็นโรคจิตแล้ว เขาฟังธรรมะไม่รู้เรื่อง เขาฟังธรรมะไม่รู้เรื่อง ปัญหามันอยู่ที่นี่
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
ผู้ที่จะช่วยเขาได้ ต้องเก่งมาก ต้องรู้มาก ต้องเก่งมาก ต้องสามารถมาก จึงจะช่วยเขาได้
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
เราต้องพูดจนเขาเข้าใจหรือยอมรับว่า การที่เขาเป็นอย่างนั้น ถึงขนาดนั้น เพราะว่าเขาไม่รู้ธรรมะเสียเลย ให้เขาเกิดความสนใจที่จะรู้ธรรมะขึ้นมาบ้าง จึงจะค่อยพูดกันรู้เรื่อง
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
เราต้องพูดกันจนเขาเข้าใจ มองเห็นว่า ธรรมะแก้ปัญหานี้ได้ หรือแก้โรคที่เขากำลังเป็นอยู่นี้ได้ ถ้าเขาจะยอมฟัง และค่อยๆ คิดตามมา คิดตามมา แล้วก็พอจะพูดให้เขารวบรวมสติ กำหนดสติ กำจัดความฟุ้งซ่านหรือความเครียดออกไปได้ในเบื้องต้น เขาพอใจและก็ค่อยๆ ทำต่อไป
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
หนังสือเห็นจะช่วยไม่ได้ สู้การพูดจา พูดจาชักจูงแนะนำ การกระทำสมาธิง่ายๆ ง่ายๆ
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
ชักจูงในเบื้องต้น ทีละน้อย ทีละน้อย จนกว่าจิตใจของเขาจะเข้ารูปเข้ารอย เป็นสมาธิขึ้นมาบ้างและก็ทำต่อไป
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
หนังสือจะช่วยได้บ้าง ก็เมื่อยังไม่ทันจะเป็น หรือจะ จะเริ่มเป็น ถึงจะช่วยได้บ้าง
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
ปรากฏว่า ยังไม่เคยมีผู้ใดได้ทำหนังสือเฉพาะ ที่เหมาะสำหรับคนที่ได้ป่วยด้วยโรคนี้
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
เราศึกษาผู้ป่วยนั้นน่ะให้มันมาก ศึกษาผู้ป่วยให้มาก จนรู้ว่ามันมีเรื่องราวอย่างไร มีเหตุมาทางไหน แล้วก็ค่อยแก้ไขไป
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
บางทีเราก็ทำเราเองให้เป็นคนป่วยเหมือนเขา แกล้งทำก็ได้ จะเป็นเพื่อนกับเขา แล้วพูดจากันอย่างนี้ จะมีผล
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
มีความเป็นเพียงเท่านี้
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
(คำถามภาษาอังกฤษ)
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แต่ทำชั่วได้ดีมีถมไป ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แต่ทำชั่วได้ดีมีถมไป อาจารย์จะแนะนำอย่างไร
ถาม ถามว่าอย่างไร
คือเขาเห็นว่าพุทธศาสนาสอน ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แต่เขาก็เห็นว่าหลายคนเขาทำชั่ว ทำชั่ว แต่ได้แต่ดี อาจารย์จะแนะนำคนนี้ว่าควรจะทำความเข้าใจอย่างไร
เรื่องทำชั่วทำดี นี่เป็นเรื่องเบื้องต้น เป็นเรื่องแรกศึกษา แล้วบางทีเป็นเรื่องปัญญาอ่อนด้วยซ้ำไป ถ้าเป็นพุทธศาสนาแท้จริง จะต้องทำชนิดที่เหนือดีเหนือชั่ว เหนือดีเหนือชั่วนั่น จนถึงระดับ The Mark ของพุทธศาสนา ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วนี่ ขอให้รู้ว่าเขาสอนกันอยู่ก่อนพุทธศาสนา ก่อนพุทธศาสนาเกิดในอินเดีย เขาก็สอนกันอย่างนี้อยู่แล้ว ปัญหามันอยู่ที่ว่า เราไม่มองให้ชัดว่าดีชั่วอย่างไร เขาเอาดีหรือชั่วทางจิตใจไปปนกับดีหรือชั่วทางวัตถุ ทำดีทางจิตใจแต่ยังไม่ได้ผลดีทางวัตถุ ก็เรียกว่าทำดีได้ชั่ว คือมีคนทำดีทางวัตถุทางภายนอก แต่มันฟลุคหรือเผอิญได้โชคดีอะไรแสดง คนก็เข้าใจว่าได้ดีเพราะทำชั่วนั้น มันเป็นเรื่องเข้าใจผิด เป็นเรื่องสับสนกัน อย่าไปหมายมั่นคำว่าดีหรือคำว่าชั่วมากมายนัก น่าจะหมายมั่นคำว่า อย่างไรดับทุกข์ได้ อย่างไรดับทุกข์ อย่างไรดับทุกข์ได้ อย่างนั้นมากกว่า
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
เรื่องเหตุของดี ความดีความชั่วนั้น อย่าไปหวังเรื่องในชาติก่อน ชาติก่อนให้มากนัก หวังอิทัปปัจจยตาในชาตินี้ กฎอิทัปปัจจยตาในชาตินี้ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ให้มาก จะเป็นคนดี คนจริงแน่นอน ไม่เกิดสับสนอย่างที่กล่าวมาแล้ว
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
พุทธศาสนาจะทำอย่างไรเกี่ยวกับปัญหาที่เรียกว่าการเสพติด แม้จะเป็นเสพติดในเหล้า ในยาเสพติด ในอาหาร หรือในเรื่องอื่นๆ เช่น การทำงาน จะทำอย่างไรกับเรื่องเสพติด
เรื่องสิ่งเสพติดนี้ เป็นข้อห้ามมาแล้วตั้งแต่ก่อนพุทธศาสนา ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด เป็นศีลธรรม เป็นจริยธรรมที่เขาห้ามกันมาก่อนแล้ว ในฐานะเป็นศีลธรรมพื้นฐานทั่วๆ ไป พุทธศาสนาเกิดขึ้น ก็ยอมรับข้อนี้ และก็เป็นอันว่า เป็นเรื่องเบื้องต้น เป็นเรื่องช่วยประกอบให้มีการปฏิบัติพุทธศาสนาที่สูงขึ้นไป สูงขึ้นไป ถือเป็นจริยธรรมต่ำๆ สากลทั่วไปก็แล้วกัน
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
ปัญหานี้ยุ่งยาก ยุ่งยาก เพิ่งลำบากยุ่งยากในสมัยหลัง ในสมัยที่มนุษย์ได้ประดิษฐ์น้ำเมา หรือว่าการเล่นการพนัน ให้มันยั่วยวน มันเป็น Attractive มากขึ้นทีหลัง ปัญหาจึงค่อยเกิดมากขึ้นอย่างเดี๋ยวนี้
ทีหลัง หมายถึงไหน
ยุคหลังๆ ยุคปัจจุบัน ยุคหลังๆ
คือไม่กี่ร้อยปีเอง
จะใช้คำว่ายุคหลัง ยุคเจริญทางวัตถุ
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
เมื่อวานผมพูดเรื่องความรับผิดชอบ เมื่อพูดทำนองว่า บางทีไปเที่ยวต่างประเทศ มันคือไม่รับผิดชอบ เขาก็เลยถามว่า อาจารย์คิดอย่างไร การเที่ยวรอบโลก เป็นการหนี เป็นการหนี ความรับผิดชอบที่เรามีต่อสังคมของเรา เป็นการไม่รับผิดชอบหรืออย่างไร
มันหลายความหมายนะ การไปเที่ยวรอบโลก มันมีความหมายหลายความหมาย คือไปเพื่อศึกษาก็ได้ ไปเพื่อช่วย ช่วยผู้อื่นก็ได้ หรือไปเพื่อความเพลิดเพลินสนุกสนานก็ได้ ถ้าเราไปเพื่อเป็นประโยชน์โดยแท้จริงนี่ แก่เราเอง หรือแก่ผู้อื่น ก็เรียกว่าถูกต้อง ไม่ได้ทิ้ง ไม่ได้หนี ไม่ได้เอาเปรียบ นี่ถ้าไปเพื่อความเพลินเพลิน ดูมันจะไม่คุ้มค่า ซึ่งมีลักษณะเป็นการเอาเปรียบ เป็นการหนีหรือว่าเป็นการไม่รับผิดชอบ ถ้าเราไปเพื่อช่วยเพื่อนมนุษย์รอบโลกมันยิ่งเป็นการรับผิดชอบที่ใหญ่หลวง เป็นการรับผิดชอบที่มากมายทีเดียว
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
เดี๋ยวนี้มันมีสิ่งช่วยประหยัดให้เราไม่ต้องไป คือมันมีหนังสือข่าว หรือมันมีการติดต่อ โลกมันเล็กลง เราก็สามารถจะรู้เรื่องเกี่ยวกับโลกได้โดยไม่ต้องไป เราใช้ประโยชน์จากส่วนนี้เสียก่อน ที่โดยไม่ต้องไป ให้รู้จักโลกโดยที่ไม่ต้องไปให้เต็มที่เสียก่อน ถ้ามันยังไม่พอ เหลือจากนั้น จึงค่อยไป อย่างนี้จะเป็นการประหยัดมาก
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
ขอแนะนำโลกอีกอย่างหนึ่ง เขาเรียกว่า โลกอื่น โลกอื่น โลก โลกอื่นด้วยเหมือนกัน โลกนี้ไม่ต้องไปไหน ไม่ต้องตายแล้ว ไม่ต้องรอก่อนตายแล้ว แต่ว่ามันเที่ยวไปข้างใน เที่ยวไปข้างใน ในจิต ในใจ ในความรู้สึกของตัวเอง จะพบความแปลก ความประหลาด จากที่แล้วๆ มา คือมีลักษณะเป็นอย่างอื่น เราไปเที่ยวโลกอื่นซึ่งมีอยู่ในตัวเราเองให้มากๆ ให้รู้จักมากๆ นี่อย่างนี้อาจจะมีประโยชน์มากกว่าไปเที่ยวโลกอื่นในทางวัตถุ
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
ปฏิบัติ อานาปานสติ หมวดที่ ๓ จิตตานุปัสสนา ให้มากๆ จะไปเที่ยวโลกอื่นในภายในได้มาก มาก มาก มาย มหาศาลทีเดียว
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
พุทธศาสนาชี้แจงให้เห็นว่า ไม่มีตัวตนในทั้งปวง ไม่มีจุดศูนย์กลางที่ตายตัว ไม่มีอะไรที่ไม่เปลี่ยนแปลง แต่ธาตุแห่งวิญญาณหรือวิญญาณธาตุ ที่มีอยู่ในสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย อันนี้เป็นจุดศูนย์กลางที่ไม่เปลี่ยนแปลง มิใช่หรือ แม้แต่เราอาจจะไม่เรียกมันว่าเป็นตัวตน เป็น Ego เช่นเราเรียกว่า Ego เป็นตัวตน เมื่อมันบริสุทธิ์ เมื่อวิญญาณธาตุนั้นบริสุทธิ์ เช่นที่มีในพระนิพพาน อันนั้นไม่ใช่ Spirit ที่เป็นแก่นแห่งสิ่งที่มีชีวิต มิใช่หรือ เพราะฉะนั้น แม้แต่สิ่งทั้งหลายไม่มีตัวตน ตัวตนนี้ก็เป็นมายา แต่ Spirit Spirit ก็ไม่ใช่มายา เรามี Spirit Spirit นี้เป็นของแท้จริง เข้าใจคำว่า Spirit ในความหมายใหม่ไหม อาจารย์ต้องเดาเอาเอง
เรื่องนี้ ลำบาก ยุ่งยาก ที่สุด แต่มันเกี่ยวกับภาษาต่างหาก ภาษาที่พูดกันอยู่น่ะ ตัวตน ตัวตน มันเป็นไอ้สิ่งหนึ่ง ที่ต่างออกไปจากธรรมชาติ ถ้าเราจะใช้คำว่า Soul Soul นี้มันจะง่ายกว่า คือมันเป็นตัว มีชีวิต ตัวความมีชีวิต ในด้านฝ่ายวิญญาณ คือฝ่ายนามธรรม ฝ่ายจิตมีตัวตน ฝ่ายจิตมีตัวตน ฝ่ายจิต เรียกว่า Soul เรียกว่า Soul นี้ ตามความเห็นของอาตมา เข้าใจว่า ยังไม่ถึงความหมายของคำว่า Self Self คืออัตตา เป็น Soul เป็น Soul นี่มันเป็นเพียงวิญญาณธาตุ วิญญาณธาตุตามธรรมชาติ แต่แล้วมันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือว่าอัตตา ไม่ยึดถือก็แล้วไป พอยึดถือเข้ามันก็เกิดอัตตา อัตตาขึ้นมา ปัญหามันพึ่งจะเกิด เมื่อถูกยึดถือว่าเป็นอัตตา เราจะต้องเข้าใจให้ดีถูกต้องอย่างยิ่งว่าอัตตานั้นคืออะไร ในชั้นนี้ เข้าใจกันเสียก่อนว่า Soul ที่ไม่ถูกยึดถือก็ยังไม่เป็น Self พูดข้อความนี้กันก่อน
ครับ ขอให้พูดใหม่ ยาวไป ผมจำไม่ได้ เดี๋ยวผมส่วนนี้จำได้ (แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
Soul Soul คือชีวิตในฝ่ายจิต Mentality เรียกว่า Soul ยังไม่มีปัญหา ต่อเมื่อได้ไปหลงไปยึดมั่นเอา Soul มาเป็น Self นี่จะเกิดสิ่งใหม่ สิ่งใหม่ สิ่งหลอกลวง สิ่งนี้จึงจะมีปัญหา ถ้าฝ่ายธรรมะ ภาษาบาลี มันยังเป็นเพียงชีวิต หรือชีวิตอินทรีย์ ชีวิตอินทรีย์ ความมีชีวิตในส่วนจิตนี้ยังไม่มีปัญหา ต่อเมื่อได้ยึดเอาสิ่งที่เรียกว่าชีวิต มาเป็นอัตตา อัตตา นี่มันจึงจะเป็นปัญหา เพราะฉะนั้นปัญหามันอยู่ที่ความหลงว่าเป็นอัตตา นี่เราจะต้องเข้าใจกันในข้อนี้
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
ปัญหาที่กำลังมีอยู่โดยแท้จริงก็คือ ไม่มีใครรู้จักหรืออธิบายได้ว่า อัตตา อัตตานั้น คืออะไรโดยแท้จริง พูดไปตามความเห็นทั้งนั้น ถึงแม้คำว่า Self ในภาษาอังกฤษก็ดี ใครอธิบายได้แน่ว่า Self Self คืออะไร คืออะไร นี่เพราะว่าไอ้ Self หรืออัตตานั้น มันมิได้มีตัวจริง ใครเข้าใจว่าอะไรเป็น Self เป็นอัตตา มันก็พูดไปอย่างนั้น บอกไปอย่างนั้น แม้ในภาษาบาลี หรือภาษาสันสกฤต ก็มีความหมายที่กล่าวกันไว้ หลายๆ อย่าง ไม่แน่นอน อย่างนั้นอย่างนี้เรียกว่าอัตตา อย่างโน้นอย่างนี้เรียกว่าอัตตา แต่ว่าในที่สุดพุทธศาสนามาถือว่าเป็นความเข้าใจผิด คิดว่าเป็นอัตตา ศาสนาอื่นเขาเอาเป็นตัวจริง ตัวจริง ตัวจริง เป็นอัตตา ตัวจริง มันก็เลยต้องแยกกัน เราไม่มีอัตตา ไอ้สิ่งที่มีตามความรู้สึกว่า ว่าตัวกูตามธรรมชาตินั้น เราไม่ถือว่าเป็นอัตตา เราถือว่าเป็นความเข้าใจผิด ความโง่ ความหลง เป็นความยึดมั่นว่าตัวตน อหังการ มมังการ ความโง่ออกมาว่าตัวกู ว่าของกูนั้น ไม่ใช่ตัวตน แต่บางพวกเขาถือ บางลัทธิเขาถือเป็นตัวตน โดยแท้จริงพุทธศาสนา ไม่ถือตัวตนที่นั่น นั่นน่ะปัญหามันจึงอยู่ที่ว่าไอ้ตัวตนหรืออัตตา อัตตานั้นมันคืออะไร ถ้าท่านพยายามอธิบายคำว่า Self Self ได้ถูกต้อง เป็นที่พอใจ ก็ได้เหมือนกัน จะมาสลับกับคำว่าอัตตา ของพวกที่เขาพอใจว่าเป็นอัตตา แต่พุทธศาสนา มักจะมีคำพูดว่าอัตตา และประชาชน คนทั้งหลายก็มีความรู้สึกคิดนึกว่า อัตตา คือตัวตนหรือตัวกู ก็ยังปฏิเสธว่ามันไม่ใช่อัตตา มันไม่ควรจะเรียกว่าอัตตา หรือว่าตัวตนอยู่นั่นเอง พูดข้อนี้ก่อน
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
สำหรับคำว่า อัตตา หรือ อาตมา ในภาษาสันสกฤต อัตตา ในภาษาบาลี ดูที่ตัวหนังสือ ที่คำพูด ที่ศัพท์ คำนั้นแล้ว มันเห็นเพียงความหมายว่า อยู่ มีอยู่ อยู่ ไอ้ตัวที่มีอยู่อย่างแท้จริง มีอยู่อย่างแท้จริงนั้นแหละ คือสิ่งที่เรียกว่าอัตตา แต่ก็เถียงกันไม่รู้จักยุติว่า อัตตามาจาก Root ของคำว่าอะไร บางคนว่ามาจาก อัสสะ อัสสะ แปลว่าอะไร อัสสะแปลว่าอยู่ก็ได้ แปลว่ากินก็ได้ เลยมีการบัญญัติว่า กินสิ่งทั้งปวงนั้นคืออัตตา อย่างนี้ก็มี ยุ่งเปล่าๆ อัตตานี้คือความรู้สึก ที่รู้สึกว่ามีอยู่ มีอยู่อย่างแท้จริง มีตัวอะไรตัวหนึ่งที่มีการอยู่อย่างแท้จริง แล้วตัวนั้นแหละคืออัตตา จะดูก็ยังเข้าใจยาก ก็เกิดความคิดขึ้นมา ขยายความออกไปว่า ไอ้ตัวที่อยู่สำหรับจะเห็นทางตา กับได้ยินทางหู จะได้กลิ่นทางจมูก จะได้รสทางลิ้น จะได้สัมผัสทางผิวหนัง ไอ้ตัวที่อยู่เพื่อสิ่งเหล่านี้แหละ คืออัตตา รวมใจความว่าที่จะรู้สึกได้ จะคิดนึกได้นั่นแหละ ตัวนั้นแหละคือตัวอัตตา ความคิดที่ว่าไอ้สิ่งที่มันคิดได้ คิดได้นี้คืออัตตา อย่างนี้ก็คิดกันมาแล้ว ยึดถือกันมาแล้ว ตั้งแต่ครั้งพุทธกาล สองพันกว่าปี หรือก่อนนั้นไปอีก ความคิดของคนสมัยนี้ เช่น Descartes ว่า Cogito Cogito Ergo Sum อะไรนี้ว่า ฉันคิด ฉันจึงมี ก็แสดงว่าเขาถือว่าไอ้สิ่งที่คิดนั่นน่ะคือตัวอัตตา ใครยอมรับก็เชื่อไป ใครไม่ยอมรับก็ไม่เชื่อเพราะว่า แม้ไม่เป็นอัตตา มันก็คิดได้นี่ มันไม่ต้องเป็นอัตตา ไม่ต้องเป็นตัวตนแท้จริง มันก็คิดได้ ในการที่จะถือว่าคิดได้และเป็นอัตตามันก็เลยไม่มีความหมาย เอ้า, ในที่สุดรวมความว่า สิ่งที่มันรู้สึกหรือคิดได้ว่า มีอยู่ มีอยู่เป็นตัวประธาน ประธานแห่งการมีอยู่ นั่นแหล่ะคืออัตตา เป็นอะไรก็ไม่รู้แน่ ใครอยากจะคิดว่าอย่างไรก็คิดไปอย่างนั้น แล้วก็เชื่ออย่างนั้นก็แล้วกัน พุทธบริษัทคิดว่า สิ่งที่คิดได้ไม่ต้องเป็นอัตตา ไม่ต้องจำเป็นอัตตา จิตที่ไม่ใช่อัตตามันก็คิดได้ แต่พวกฮินดูเขาไม่ยอม เขาต้องมีอัตตาแท้จริง จึงจะคิดได้เลยแตกแยกกันในทางความคิด แต่แล้วก็ยุติต้องกันในข้อหนึ่ง อัตตาแล้วเป็นปัญหาทั้งนั้น อัตตาชนิดไหนก็เป็นตัวปัญหายุ่งยากทั้งนั้น นี่คือตัวอัตตา เป็นปัญหาที่คาราคาซัง คาราคาซังยุติไม่ได้มาเป็นพันพันปีแล้ว จงรู้จักอัตตาในลักษณะอย่างนี้ แล้วอย่าลืมว่า แม้ไม่ใช่อัตตามันก็คิดได้ มันก็คิดได้ ไม่ต้องเรียกว่าอัตตา มันก็คิดได้ เอาละ ต้องยุติได้เพียงเท่านี้ว่าอัตตาคืออะไร
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
เพื่อจะเข้าใจหรือรู้จักความแตกต่างอันนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เราก็จะไปดูกันที่สิ่งที่เรียกว่า Final Goal วัตถุประสงค์อันสุดท้ายนี่ ผู้ที่ถือว่ามีอัตตา มีอัตตา เขาก็ต้องการให้อัตตาเล็กๆ นี่ ไปรวมกันกับอัตตาใหญ่ ปรมาตมัน เป็นนิรันดร นิรันดร เป็น Eternity หรือว่าให้เราเข้าไปรวมกับพระเจ้า พระเป็นเจ้าที่เป็นนิรันดรนั่น พวกที่ถือว่ามีอัตตา เขาให้ไปรวมกันกับบรมอัตตาไปทางนั้น ทีพวกที่ไม่ถือว่ามีอัตตา เช่น พุทธศาสนานี่ เราไม่มีอัตตา เราไม่มีอัตตา เราก็เลยมี Final Goal เป็น ว่างจากอัตตา ภาวะไม่มีอัตตานั้นก็เป็นนิรันดร ว่างจากอัตตานั่นแหละคือนิรันดร เราต้องการจะอยู่กับความไม่มีอัตตาที่เรียกว่า ว่างจากอัตตา ว่างจากความทุกข์ ว่างจากปัญหา นี่ก็เป็นนิรันดร ต่างฝ่ายต่างมี Eternity ของตน แต่มันต่างกันลิบ อันนั้นมีอัตตาตัวตนถาวร อันนี้ไม่มีอัตตา เป็นนิรันดร ลองใคร่ครวญดูเถอะว่า อัตตา อัตตานี้มันคืออะไร หมู่มนุษย์ในโลกนี้ กำลังถือกันอยู่เป็นสองฝ่ายอย่างนี้ อัตตานั้นมันคืออะไร
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
มาดู มาดู Eternity ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ เมื่อใด ใครก็ตาม ว่างจากความคิดว่าอัตตา ไม่มีความคิดว่าอัตตา ว่างจากอัตตา เมื่อเขาถึง Eternity Eternity ของ Eternity ที่นี่ และเดี๋ยวนี้ เขาก็กลับมีความคิดว่า อัตตาขึ้นมาอีก เขาก็สูญเสีย Eternity ข้อนี้เป็นสิ่งที่ต้องสังเกต มี Eternity รออยู่เมื่อใดว่าง จิตว่าง จิตสะอาด จิตบริสุทธิ์ ว่างจากอวิชาปาทาน ความโง่ทั้งหลายแล้ว มันก็ถึง Eternity ที่นี่ เดี๋ยวนี้ นี่เราพยายามที่จะถึง Eternity ข้อนี้กันน่ะ มีหวังหรือเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ ง่ายกว่าที่นี่และเดี๋ยวนี้ จิตไม่มีความรู้สึกยึดถือว่าอัตตา หรืออัตตนียา คือตัวตนหรือของตน จิตนั้นก็ถึง Eternity ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ที่นี่ให้มันถึงตลอดไปเลย ไปตลอดไปเลยก็เป็นนิพพานตลอดกาลไปเลย ไปถึงที่สุดในพุทธศาสนา ถึงความว่างจากอัตตา เป็นนิรันดร อัตตา อัตตาคืออะไร ใคร่ครวญดู
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
พุทธบริษัท มองเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น มองเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นว่าเมื่อใดที่จิตว่างจากอัตตา ว่างจาก Concept ว่าอัตตานั้น ก็คือว่างจากอัตตา เมื่อนั้นจิตเป็นอิสระ จิตเบา จิตสบาย จิตไม่มีความทุกข์ จิตไม่มีปัญหา เมื่อใดจิตมี Concept ว่าอัตตา อัตตา เข้ามา เมื่อนั้นจิตจะมีลักษณะแบกของหนัก เหมือนกับถือของหนัก หรือว่าถูกเผาด้วยไฟ หรือว่าถูกแทงด้วยของแหลมๆ หรือว่าสุมไว้ด้วยของที่คลุมที่ปกปิด มันต่างกันอย่างนี้ มองเห็นโดยไม่ต้องเชื่อใคร เชื่อความรู้สึกในใจ ว่าพอมีอัตตาก็แบกของหนัก ก็เป็นความทุกข์นานาประการ พอว่างจากอัตตา ก็ Free ก็เป็นอิสระ ก็เกิดถามปัญหากันขึ้นมาว่า โอ้จะหมดความทุกข์ด้วยวิธีใด จะดับทุกข์ด้วยวิธีใด พวกพุทธบริษัทก็ตอบว่า ว่างจากอัตตา มันเป็นดับทุกข์สิ้นเชิง พวกฝ่ายฮินดูเป็นต้น เขาก็ว่าอัตตาไปอยู่เสียกับพระเป็นเจ้า อัตตาไปอยู่กันเสียกับปรมาตมัน จึงจะหมดความทุกข์ มันต่างกันอยู่อย่างนี้ ท่านทั้งหลายมีอิสระเสรีที่จะเลือกเอา จะเลือกเอาว่าจะดับทุกข์สิ้นเชิงโดยวิธีไหน โดยวิธีไม่มีอัตตา โดยประการทั้งปวง หรือว่าไปมีอัตตานิรันดรอยู่กับพระเป็นเจ้า ท่านเลือกเอาเถิด ท่านเข้าใจความหมายของคำว่าอัตตาได้เลยข้อนี้
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
ทุกคนอาจจะสังเกตเห็นได้ด้วยตนเอง ถ้าพอมีความยึดถือว่า อัตตา อัตตาขึ้นมาในใจ มันก็มีความหนัก มีความทุกข์ มีความร้อน ถ้าไม่มีความรู้สึกว่าอัตตา มันก็ไม่มีความรู้สึกหนัก รู้สึกเป็นทุกข์ หรือว่ารู้สึกร้อน ข้อนี้มันก็ได้ใจความสำคัญว่า อัตตาคือผู้กิน อัตตาคือผู้กิน อัตตา ก็กินจิตใจของผู้มีอัตตา จิตใจของผู้ใดมีอัตตา อัตตามันก็กินจิตใจของผู้นั้น ให้เจ็บปวด ให้เดือดร้อน ให้เป็นทุกข์ นี่ก็มีความหมายอย่างหนึ่งเหมือนกันที่เขาแปลคำว่าอัตตา แปลว่าผู้กินน่ะ เรามีมีอัตตาอย่างไร ก็กินจิตใจของคนนั้นให้เป็นทุกข์ ไม่มีอัตตาจิตใจเขาฟรีก็เป็นไม่มีความทุกข์ ท่านเลือกเอาเองว่าจะเอาอัตตา หรือเอาไม่มีอัตตา
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
ฝ่ายที่ถือว่ามีอัตตา เขายังมีทางออกอีกอย่างหนึ่ง คือเขาแยกเป็นสองอัตตา คืออัตตาที่เป็นกิเลสนี่ต้องทำลายให้หมด หมดอัตตาที่เป็นกิเลส ก็ไปมีอัตตาแท้จริงที่ไปอยู่เป็น ปรมาตมัน เขามีสองชนิด เพราะฉะนั้นเขาจึงพยายามทำลายกิเลส ละอัตตา อัตตาที่เป็นกิเลส เขาพูดกันอย่างนั้น อัตตาปลอม เขาละ แล้วก็ไปอยู่กับอัตตาจริง แต่พุทธบริษัท เราไม่เอาทั้งนั้น ขึ้นชื่อว่าอัตตาแล้ว ไม่เอาทั้งนั้น อัตตามันเป็นของหลอกลวง เกิดมาจากอวิชชา เลยไม่เอา ไม่มีอัตตาจริง อัตตาปลอมอะไร นี่ต่างกันอยู่อย่างนี้ ท่านใคร่ครวญข้อความทั้งหมดนี้ดูเถอะ ท่านจะเข้าใจว่า เข้าใจได้ว่า อัตตา อัตตานี้คืออะไร ความยากลำบากอยู่ที่ภาษาพูด ภาษาพูดทำความยากลำบากให้แก่การเข้าใจ เมื่อเราเข้าใจเรื่องทั้งหมดแล้วเราก็พอจะสรุปความได้ว่า อัตตานี้คืออะไร
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
สรุปความว่า อัตตา Concept ว่าอัตตา มีขึ้นมาจากความไม่รู้ ความไม่รู้ คืออวิชชา อวิชชา ปราศจากความรู้โดยประการทั้งปวง ถ้าปราศจากความรู้โดยประการทั้งปวง ความคิดผิดๆ ก็เกิดขึ้นว่าอัตตา อัตตา ตัวตน ตัวตน นี่อัตตามาจากอวิชชา เปรียบเสมือนยังหลับ หลับอยู่ด้วยอวิชชา ก็มีอัตตาเรื่อยไป พอตื่นจากหลับ ตื่นจากหลับ ไม่มีอวิชชา อัตตาก็ไม่มี พุทธะ พุทธะ แปลว่าตื่นจากหลับ คำว่าพุทธะ พุทธะ นี่แปลว่าตื่นนอน ตื่นจากหลับ ไม่มีอวิชชา ก็เห็นความจริงว่า ไม่มีอัตตา ความต่างมันอยู่กันที่ตรงนี้ ถ้ามีอวิชชาก็มีอัตตา ไม่มีอวิชชาก็ไม่มีอัตตา ท่านเลือกเอาเอง
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
ที่นี้ก็มาถึงปัญหา ปัญหาที่ยากลำบากที่สุด คือปัญหาที่ว่า ถ้าเราเกิดมาจากท้องมารดา เราไม่มีปัญญา เราไม่มีวิชชา เราเกิดมาจากท้องมารดาโดยไม่มีวิชชา ก็มีอวิชชา ฉะนั้นพอเกิดออกมาจากท้องมารดา ก็พร้อมที่จะหลับ หรือจะโง่ คือพร้อมที่จะมีอัตตา ตามธรรมชาติ หรือตามสัญชาตญาณ
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
เราเกิดมาจากท้องมารดา ไม่มีปัญญา หรือวิชชามาจากในท้อง พอเราออกมาจากท้องมารดา เราก็เริ่มโง่ เริ่มโง่ ฟังดูให้ดี เริ่มโง่ เริ่มมีอวิชชา เช่นว่า พอเรามีตา เห็นรูป เราไม่รู้ว่าระบบประสาททางตามันเห็นรูป เราก็รู้สึกว่า กูเห็นรูป ระบบประสาทหูได้ยินเสียงทางคลื่นเสียงตามธรรมชาติ ไอ้จิตโง่อวิชชามันก็กู กูได้ยินเสียง จมูก ระบบประสาท ระบบประสาทที่จมูกได้รับกลิ่นแก๊ส ปริมาณของแก๊ส มันก็ไม่คิดว่าระบบประสาทได้กลิ่น มันคิดว่า กูได้กลิ่น ประสาทที่ลิ้มรู้รส มันก็ว่ากูได้รส อะไรมาถูกผิวหนัง ก็ว่ากูได้รับการสัมผัสทางผิวหนัง จิตมันคิดได้ มันก็ว่ากูคิดนี่ ความโง่ของเราตั้งต้น เสียงหายนาทีที่ 1:21:23 - 1:21:32 ….. โดยไม่มีวิชชา ก็มีอวิชชา ฉะนั้นพอเกิดออกมาจากท้องมารดา ก็พร้อมที่จะหลับหรือจะโง่ คือพร้อมที่จะมีอัตตา ตามธรรมชาติ หรือตามสัญชาตญาณ
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
เราเกิดมาจากท้องมารดา ไม่มีปัญญา หรือวิชชามาจากในท้อง พอเราออกมาจากท้องมารดา เราก็เริ่มโง่ เริ่มโง่ ฟังดูให้ดี เริ่มโง่ เริ่มมีอวิชชา เช่นว่า พอเรามีตา เห็นรูป เราไม่รู้ว่าไอ้ระบบประสาททางตามันเห็นรูป เราก็รู้สึก กูเห็นรูป ระบบประสาทหูได้ยินเสียงทางคลื่นเสียงตามธรรมชาติ ไอ้จิตโง่อวิชชามันก็กู กูได้ยินเสียง จมูก ระบบประสาท ระบบประสาทที่จมูกได้รับกลิ่นแก๊ส ปริมาณของแก๊ส มันก็ไม่คิดว่าระบบประสาท ได้กลิ่น มันคิดว่ากูได้กลิ่น ประสาทที่ลิ้มรู้รส มันก็ว่ากูมันได้รส อะไรมาถูกผิวหนัง ก็ว่ากูได้รับการสัมผัสทางผิวหนัง จิตมันคิดได้ มันก็ว่ากูคิดนี่ ความโง่ของเราตั้งต้นที่ว่า กูเห็นรูป กูได้ยินเสียง กูได้กลิ่น กูได้รส กูได้สัมผัสผิวหนัง กูมีความคิดความนึก มันเริ่มต้นขึ้นมาอย่างนี้น่ะ เรื่องของอวิชชาที่ทำให้มีอัตตา มันเริ่มต้นขึ้นมาอย่างนี้ ตั้งแต่แรกออกมาจากท้องมารดา
หมายเหตุ ย่อหน้านี้เหมือนกับย่อหน้าก่อนหน้านี้ แต่เนื้อหาต่างกันตรงส่วนสุดท้ายเท่านั้น ไม่รู้ว่าเทปซ้ำหรือเปล่าเพราะย่อหน้าที่แล้วเสียงหายไปในช่วงท้าย ตามหมายเหตุแจ้งในย่อหน้าที่แล้ว นาทีที่๑:๒๒:๓๔ -๑:๒๔:๒๐
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
เราถูกหลอก ครั้งที่แรก ไม่มีตัวกู มีอัตตาขึ้นมาก่อน ไม่ใช่เรื่องของระบบประสาทตามธรรมชาติ ร่างกายและจิตใจตามธรรมชาติทำหน้าที่ตามระบบประสาท เราไม่คิดว่าระบบประสาท เราคิดว่า กู กู กู เสียทั้งนั้น นี่ถูกหลอกครั้งที่แรก ทีนี้ครั้งที่สอง พอเราได้สัมผัสกับอารมณ์นั้นๆ ที่เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้ สิ่งใดมันถูกใจ ก็ว่ารู้สึกเป็นบวก ไม่ถูกใจมันก็รู้สึกเป็นลบ มันโง่ว่าเป็นบวก มันโง่ว่าเป็นลบ มันไม่คิดว่าเป็นธรรมชาติอย่างนั้นเอง ทั้งบวก ทั้งลบ นี้เราโง่ครั้งที่สอง ถูกหลอกครั้งที่สองให้มีความรู้สึกเป็นบวก เป็นลบ ไอ้ความรู้สึกเป็นบวกเป็นลบ มันก็หล่อเลี้ยงความคิดว่าอัตตา อัตตา ยิ่งขึ้นไป ยิ่งขึ้นไป ถูกใจก็อัตตาบวก ไม่ถูกใจก็อัตตาลบ มันหล่อเลี้ยงทุกครั้ง ทุกครั้ง ที่มีความรู้สึกเป็นบวกและเป็นลบ อัตตามันก็แก่กล้าและสมบูรณ์ ถูกหลอกสองหน
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
ถูกหลอกครั้งหนึ่ง ความโง่ว่าอัตตาก็เพิ่มขึ้นครั้งหนึ่ง เข้มข้นขึ้นครั้งหนึ่ง ถูกหลอกมาเรื่อยๆ ก็โง่ว่า อัตตา อัตตา ก็เข้มข้นเต็มที่ เต็มที่ จนมีตัวกู มีของกู อย่างนั้น อย่างนี้ เหมือนที่เรารู้สึกกันอยู่ทุกๆ คน นี่ ไม่ต้องบอก
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
ที่เราจะเห็นได้ง่ายๆ ที่ว่าไอ้ความรู้สึกว่าอัตตา รุนแรง รุนแรง ขึ้นมา เมื่อเราเป็นเด็ก เด็กๆ เดินไป ก็ชนเก้าอี้ เดินชนเก้าอี้ ความรู้สึกมันเกิดขึ้นว่า นี้อัตตาฝ่ายนี้ อัตตาฝ่ายเรา เก้าอี้ เป็นอัตตาฝ่ายตรงกันข้ามจากเรา เป็นข้าศึกของเรา โง่จนให้เก้าอี้เขามีอัตตา แล้วเขาก็เตะเก้าอี้ เด็กๆ ก็เตะเก้าอี้ ดูความโง่ ของความหมายว่าอัตตา อัตตา โง่ถึงขนาดที่จะเห็นเก้าอี้เป็นอัตตาฝ่ายตรงกันข้ามแล้วก็เตะเก้าอี้
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
บางทีคุณแม่ หรือ Nurse มาช่วยกันตีเก้าอี้ ช่วยกันตีเก้าอี้ เอาใจเด็ก นี่ก็ใช้ให้เด็กมันโง่ มีอัตตามากขึ้นไปอีก
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
นั่นแหละ ขอให้เข้าใจว่า อัตตานี่เป็นเพียง Concept ไม่ใช่ตัวจริง ไอ้ Self นั่นน่ะมันไม่ใช่ Soul ไอ้ Soul นี้ยังโง่ ยังไม่รู้เรื่องอะไร แต่ไอ้ Self นี่มันโง่ไปในทาง โง่ไปในทางเป็นบวกหรือเป็นลบ โง่ไปในทางสร้างปัญหา อันนี้เรียกว่า อัตตา หรือ Self หวังว่าท่านคงจะพอมองเห็นและรู้จักแล้วว่า อัตตา อัตตา นี่มันเป็นมายา Delusive สักเท่าไร รีบศึกษา รีบศึกษา อย่าให้มันหลอก ถ้ามีความรู้ตามที่เป็นจริงแล้ว อัตตาจะไม่มี อัตตาจะไม่มี ตัวกูของกูจะไม่มี ดังนี้ก็ถึงที่สุด Final Goal เป็นพระนิพพาน
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
บางทีเราก็ทำลายดินสอ หรือปากกาที่เราเขียนหนังสือนั้น โดยเราโกรธว่ามันไม่สนองความต้องการของเรา ตามที่เราต้องการ โง่จนเห็นดินสอหรือปากกาเป็น Other Self ทำลายดินสอ ทำลายปากกา นี่คิดดูเถอะ มันกว้างขวางเท่าไร อวิชชา ให้มีอัตตาขึ้นมาแล้วมันก็มีปัญหาทั้งนั้นน่ะ เป็นปัญหาทั้งนั้น
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
เราจำคำสั้นๆ ว่า มีอัตตาที่ไหน มีปัญหาที่นั่น หมดอัตตาแล้วก็ไม่มีปัญหาใดๆ เลย เรามาศึกษาธรรมะเพื่อความหมดอัตตา Free จากปัญหา ไม่มีความทุกข์ยุ่งยากใดๆ เพราะหมดอัตตา หมดอัตตา
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
ถ้าท่านประสบความสำเร็จในการปฏิบัติอานาปานสติ ท่านจะเห็นความจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ทุกอย่าง ทุกอย่าง เห็น อนิจจตา ทุกขตา อนัตตา ธัมมัฏฐิตา ธัมมนิยามตา อิทัปปัจจยตา สุญญตา ตถตา อตัมมยตา สูงสุดของการเห็น อัตตาไม่มีเหลืออีกต่อไป ชีวิตนี้อยู่เหนือปัญหาโดยประการทั้งปวง
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
จากข้อความทั้งหมดนี้ ท่านไปศึกษาดู ท่านก็จะรู้จักได้เองว่า อัตตา คืออะไร
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
ปัญหาของฉัน คือ ๒-๓ ปีที่ผ่านมา เมื่อมีเวลาว่าง ก็อยู่คนเดียว ไม่มีใคร ก็จึงไม่มีปัญหาอะไร แต่แม้แต่พยายามที่จะเห็นแง่ดีในเวลาที่อยู่คนเดียว ก็ยังมีความรู้สึกที่รุนแรงพอสมควรว่าเราไม่สมบูรณ์ เพราะไม่มีคู่ ไม่มีคู่ที่เกี่ยวกับเรื่องความรักในชีวิตของเรา นอกจากเรื่องครอบครัว แต่เราไม่ได้เป็นคนที่ยึดถือเรื่องกามารมณ์อะไรอย่างนั้น แต่มีแต่ขาดคู่รัก มีคำแนะนำหรือวิธีที่เราสำหรับจะแก้ไขหรือขจัดความรู้สึกเหล่านี้
ท่านควรจะคิดให้สิ้นสุดลงไปเสียก่อนที่ว่าจะมีคู่รักหรือมีครอบครัว นี้จะมีมาเพื่อช่วยกันเพิ่มอัตตา หรือเพื่อลดอัตตา ถ้ามีคู่สามีภรรยาดี สามารถช่วยกันลดอัตตา ปัญหาเหล่านี้ก็ไม่มี ถ้ามีมาเพิ่มอัตตาปัญหามันก็ยิ่งมากขึ้น เพราะฉะนั้น สามีหรือภรรยา หรือคู่รัก ก็คือเพื่อนที่ดีที่จะมาช่วยกันลดอำนาจของอัตตา ท่านจัดให้ชีวิตเป็นไปในลักษณะอย่างนี้ ปัญหาที่ว่ามันก็จะไม่มีเหมือนกัน
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
เมื่อท่านมีอัตตาเดียวปัญหาก็มีส่วนเดียว พอท่านมีสองอัตตามาบวกกันเข้า ปัญหามันก็เพิ่มขึ้นสองเท่า ดังนั้นท่านต้องมีความรู้ ความสามารถ ความฉลาด หรือมีธรรมะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า จึงจะสามารถดำเนินชีวิตคู่ ชีวิตครอบครัวให้ราบรื่นเรียบร้อยไปได้ ขอให้พยายามในลักษณะอย่างนี้
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
ชีวิตสมรสนี่มันมองได้ทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายหนึ่งมันจะเพิ่มปัญหา เพราะมันเพิ่มอวิชชา เพิ่มความไม่รู้ แต่ถ้าใช้ให้มันถูกต้อง มันก็ช่วยลดปัญหา คือใช้ปัญญาใช้วิชชารวมกันสองคน รวมกันสองคนช่วยกันทำลายปัญหา มันก็ทำลายปัญหาได้ แล้วแต่เราจะใช้ชีวิตสมรสไปในทางที่ฉลาดหรือในทางที่ไม่ฉลาด ธรรมะช่วยได้ ธรรมะช่วยได้ ถ้ามีธรรมะ มันก็ช่วยไปในทางให้เป็นฉลาด แล้วมันก็เป็นผลดี จะละอัตตาได้เร็วขึ้น
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
ชีวิตสมรสถ้าเราโง่ ถ้าเราใช้ไม่ถูก มันเพิ่มความโง่ขึ้นสองเท่า ถ้าเราใช้ให้ถูก มันเพิ่มความฉลาดขึ้นสองเท่า เพราะฉะนั้นจึงพยายามใช้ให้มันถูก โดยมีหลักธรรมะเป็นเครื่องนำ
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
ข้าพเจ้าได้เรียนพุทธศาสนาแรกๆ โดยอาศัยฝ่ายพุทธศาสนาแบบทิเบต อาจารย์กรุณาชี้แจงหรือให้คำข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความแตกต่างอันสำคัญ ระหว่างพุทธศาสนาฝ่ายทิเบตและพุทธศาสนาที่สอนกันในสวนโมกข์ ถ้าเราไปอ่านหนังสือของฝ่ายทิเบตจะทำให้เรางงหรือไม่ จะทำให้สิ่งที่เราเรียนรู้ที่นี่งงหรือมั่วๆ
ข้อนี้มันมีความลับอยู่ที่ว่าเราเข้าถึงหัวใจ Nucleus ของพุทธศาสนาแบบเถรวาทหรือไม่ เข้าถึงหัวใจแห่งพุทธศาสนาแบบมหายานหรือไม่ ถ้าเข้าใจถึงหัวใจแล้ว มันเหมือนกันเลย ไม่มีเถรวาท ไม่มีมหายาน ไม่มีทิเบต ไม่มีพุทธศาสนาอย่างลังกา อย่างพม่า อย่างไทย หรืออย่างจีน หรืออย่างทิเบต หัวใจของพุทธศาสนาที่แท้จริง ที่แท้จริงนะต้องเน้นที่ว่าที่แท้จริง ที่ถูกต้องนั้นน่ะ คือสอนให้เห็นความเป็นอนัตตาของชีวิต อนัตตาของชีวิต ชีวิตในที่นี้แบ่งออกเป็นขันธ์ห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไอ้ห้าส่วนนั้นแหละคือชีวิต เห็นอนัตตาของชีวิต มันก็ดับทุกข์ได้ทั้งนั้น หัวใจเถรวาทก็เห็นอนัตตาของชีวิต ของมหายานก็เห็นอนัตตาของชีวิต หรือว่าอย่างทิเบต อย่างวัชรยานอะไรก็เห็นอนัตตาของชีวิตทั้งนั้น ไม่มีต่างกัน ต่างกันก็ที่เราไปยึดเอาส่วนนอกๆ ที่ริมๆ ที่เป็นเปลือก ที่เป็นพิธี พิธีรีตรอง เป็นพิธีการ เป็นอะไรที่มันไม่ใช่หัวใจน่ะ เข้าถึงหัวใจเถิด เหมือนกันหมด ไม่มีปัญหาหรอก ถ้าติดอยู่ที่เปลือกก็ต่างกัน จนทะเลาะกัน จนทะเลาะกัน ปัญหามีเท่านี้ หัวใจหรือไม่หัวใจนั่นเอง
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
ความจริงมันมีอยู่ว่า การที่ต้องเพิ่มพิธีรีตองต่างๆ นานา เพิ่มคำอธิบายแปลกๆ แปลกๆ ออกไป นี่มันจำเป็น เพื่อจะช่วยคนปัญญาอ่อน คนที่มีปัญญาอ่อน หรือว่าจะช่วยแก้ไขคนที่เขาศึกษาอย่างอื่น เรียนอย่างอื่น คิดอย่างอื่น ไปทางอื่นมากแล้ว จึงต้องเพิ่มพิธีรีตรองบ้าง คำอธิบายอย่างอื่นบ้างเข้าไปในตัวแท้ ที่แท้ก็จะช่วยในกรณีพิเศษ สูตรมหายานบางสูตรยาวๆ ตอนต้นๆ ก็เพื่อจะแก้ไข เพื่อจะช่วยคนปัญญาอ่อน เพื่อจะล้างลัทธิเดิม แล้วสูตรนั้นจะจบลงที่อนัตตาของขันธ์ห้าทั้งนั้นน่ะ ไปดูเถอะ ทุกสูตร หรือว่าถ้าเป็นจะคิดช่วยคนทุกคน เป็นสุขาวดี ก็ต้องเพิ่มอะไรเข้าไปมากมาย มหายานชนิดสุขาวดี ต้องเพิ่มอะไรเข้าไปอีกมากมาย นี่มันจำเป็น มันเป็นส่วนเปลือก ช่วยคนปัญญาอ่อนแท้ๆ ถ้าพอถึงแก่น ถึงสิ่งที่จะเป็นประโยชน์แล้ว มันจะต้องเห็นอนัตตาของขันธ์ทั้งห้า อนัตตาของชีวิต หัวใจ เหมือนกันหมดทุกๆ นิกาย ทุกๆ นิกาย ทุกๆ Sub นิกาย
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
อีกทางหนึ่ง ก็เป็นเพียงวิธี วิธีหรืออุบายที่จะปลุกปัญญาให้กระโดดออกมาเร็วๆ ให้ปัญญากระโดดออกมาเร็วๆ เช่นวิธีการของเซน เป็นต้น
(แปลเป็นภาษาอังกฤษ)
เวลาล่วงไปสองชั่วโมงแล้ว ขอบคุณ ขอบคุณ ขอบคุณ ท่านทั้งหลายที่เอาปัญหาดีๆ มีประโยชน์มาให้ตอบ มาให้ Discuss กันในที่นี้ ขอขอบพระคุณ ขอบพระคุณ ขอยุติลงด้วยความสมควรแก่เวลา