แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
หนี่ง สอง ธรรมะบรรยายแก่คณะชาวต่างประเทศ Track ที่ 2 ครั้งที่ 3 วันที่ 4 กรกฎาคม 2534 เวลา 5 นาฬิกา ที่หน้ากุฎิ
ในครั้งที่แล้วมา เราก็ได้พูดกันถึงเรื่องกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท หรือกระแสแห่งความทุกข์ ในวันนี้เราก็จะได้พูดกันถึงการหยุดแห่งกระแสปฏิจจสมุปบาท หรือหยุดแห่งกระแสแห่ง
พูดไว้ล่วงหน้าเลยอย่างสั้นๆ ก็ว่า หยุดกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทด้วยสิ่งที่เรียกว่าสติ หรือสติเป็นเครื่องหยุดกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท
ทีนี้เราจะพูดเรื่องนี้กันให้ง่าย จนลูกเด็กๆ ของเราก็ฟังถูกและเข้าใจ เพราะว่าเราจะต้องพูดเรื่องนี้ให้ลูกเด็กๆ ของเราฟังด้วย
เราจะแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดที่ทางวัตถุง่ายๆ ธรรมดาสามัญและชนิดที่ละเอียดลึกซึ้ง เป็นเรื่องจิตใจเป็นพิเศษ
เรื่องแรก เราบอกลูกเด็กๆ ของเราว่า มีดวงอาทิตย์อยู่ในโลกนี้ก็มีน้ำอยู่ ดวงอาทิตย์มีแสง ก็เผาน้ำในโลกนี้ ให้ระเหยเป็นไอน้ำขึ้นไป
เพราะมีไอน้ำ มันก็มีเมฆ เมฆฝน
เพราะมีเมฆฝน มันก็มีฝนตกลงมา
แล้วแกก็ถูกฝนหรือเป็นหวัด
แกก็มีความเจ็บไข้ต้องไปหาหมอรักษา
หรือว่าฝนตก ฝนตกลงมา ถนนมันก็ลื่น
เพราะถนนมันลื่น แกก็หกล้ม
เมื่อแกหกล้ม หัวของแกก็แตก เป็นแผลเจ็บปวด
แกก็ต้องไปหาหมอรักษา
อาศัยกัน ที่มันอาศัยกัน อาศัยกัน อาศัยกันตามลำดับอย่างนี้ จนเกิดผลสุดท้ายนี่เราเรียกว่า กระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท
ถ้าแกมีสติเพียงพอ แกก็ไม่ต้องให้ถูกฝนและเป็นหวัด
หรือว่าถ้าแกมีสติเพียงพอ แกก็ไม่ต้องลื่นจนหกล้ม
แกก็ไม่ต้องเจ็บปวด เพราะว่ามีสติ
นี้เรียกว่าตัวอย่างทางวัตถุ
ทีนี้เราก็จะสอนลูกเด็กๆ ของเราในเรื่องทางจิตใจที่สูงขึ้นไป
เราก็บอกลูกของเราว่า เธอมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะคิดนึกอะไรได้
เราจะสั่งสอนเขาให้รู้จักสิ่งเหล่านี้ให้ดีที่สุด
มันก็ไม่ยากเกินไปกว่าที่เขาจะรู้ได้
แล้วเราก็บอกเขาว่าในโลกนี้ มันมีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่จะเข้ามากระทบกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของแก ของลูกน่ะ
เมื่อมีรูปมากระทบตา ก็เกิดการเห็นทางตา ซึ่งเรียกว่า จักษุวิญญาณ
บอกเขาให้สังเกตในข้อที่ว่าจักษุวิญญาณนี้เพิ่งมีนะ เพิ่งมี เมื่อมีการกระทบระหว่างตากับรูป ก่อนนั้นยังไม่มี
เมื่อคลื่นแสงมากระทบระบบประสาทตา ระบบประสาทตามันก็รู้สึกหรือรู้จัก แกควรจะถือว่า ระบบประสาทตานะ เห็นรูป ไม่ใช่กูเห็นรูป
ให้เขาสังเกตเห็นเองว่า ถ้ารู้สึกแต่เพียงว่าระบบประสาทตากระทบกับคลื่นแสง มันมีผลอย่างหนึ่ง แต่ถ้ามันรู้ตัวกูเป็นรูป มันมีผลผิดกันมากและเลวร้ายอีกอย่างหนึ่งต่างหาก
ถ้ารู้สึกแต่เพียงว่าระบบประสาทกระทบกับคลื่นแสงตามธรรมชาติ นี่มันมีความหมายน้อยมาก แต่ถ้ามันรู้สึกว่ากูเห็นรูป นี้มันมีความหมายรุนแรงมาก เพราะมันไปโง่เข้าเป็นกู แล้วก็เห็นรูปในลักษณะที่เป็นบวกหรือเป็นลบ อะไรขึ้นมาแล้ว ไม่ใช่เพียงคลื่นแสง คลื่นแสงล้วนๆ แล้วนั่น อันหนึ่งเห็น รู้สึกเป็นคลื่นแสงล้วนๆ อันนี้มันรู้เป็นความหมายของสิ่งที่มากระทบ นี้มันต่างกันมากอย่างนี้
เมื่อเสียงมากระทบหู ก็ให้เขารู้ว่าคลื่นเสียงมากระทบระบบประสาทที่หู อย่าไปโง่ถึงขนาดว่ากูได้ยินเสียงซึ่งมันต่างกันมาก
เพียงแต่รู้สึกว่าคลื่นเสียงมากระทบหู เรื่องอย่างนี้จะจัดการอย่างไรก็จัด ไม่จัดการอย่างไรก็ไม่จัด ไม่ต้องเกิดตัวกูเป็นบ้าขึ้นมา รักบ้าง เกลียดบ้าง โกรธบ้าง กลัวบ้าง
เมื่อกลิ่นมากระทบจมูก ระบบประสาทที่จมูกรู้กลิ่น ไม่ต้องว่ากูได้กลิ่น
เมื่อรสมากระทบลิ้นเช่นเมื่อกินอาหารเป็นต้น ก็ว่าระบบประสาทที่ลิ้นได้รู้รสนั้นไม่ใช่กู ไม่ใช่กูรู้รส
เช่นว่า ถ้าลิ้นไม่อร่อยก็แก้ไขได้ แก้ไขให้อร่อยได้ Seasoning อาหารอร่อยได้ แต่ถ้าว่ากูไม่อร่อย มันก็จะด่าแม่ครัว มันต่างกันมาก
เมื่อมีสิ่งมาสัมผัสผิวหนังหรือกาย ระบบประสาทกายรู้สึกต่อสิ่งที่มาสัมผัส จัดการไปตามเรื่อง อย่าไปรู้สึกว่ากูสัมผัสมีผลแห่งความเป็นบวกความเป็นลบ ยุ่งยากลำบากไปหมด นี่มันต่างกันมากอย่างนี้
เมื่อระบบจิตมันคิด ก็ให้เป็นเรื่องระบบจิตมันคิด อย่าให้ถึงกับว่ากูคิด ซึ่งมันมีความแตกต่างกันมาก นี่ให้ลูกเด็กๆ ของเรารู้จักทั้ง 6 อย่าง อย่างนี้
มันต่างกันอย่างมากตรงที่ว่า อย่างหนึ่งมันเกิด Egoistic Concept ว่ากูว่า Self ว่าอย่างหนึ่งมันไม่ต้องเกิดก็ทำไปโดยที่ไม่ต้องเกิด มันต่างกันมากอย่างนี้
แล้วทีนี้ก็บอกให้ลูกเด็กๆ ศึกษาต่อไปว่า ตาอยู่ข้างใน รูปอยู่ข้างนอก พอมาถึงกันเข้าเกิดสิ่งที่ 3 คือ วิญญาณทางตา เมื่อ 3 อย่างนี้ทำงานร่วมกันอยู่ ทำงานร่วมกันอยู่ คือเห็นรูปด้วยตาโดยจักษุวิญญาณนี้ อย่างนี้เราเรียกว่า ผัสสะ ผัสสะ
เมื่อมีผัสสะแล้วมันก็จะมีปฏิกิริยาออกมาเป็นเวทนา เป็นเวทนา Feeling
เราไม่มีสติปัญญามาแต่ในท้อง คือเราโง่ เราไม่มีสติปัญญามาแต่ในครรภ์ เมื่อเวทนามากระทบ ความโง่ของเราทำให้เรารู้สึกว่าบางอย่างนั้นเป็นบวกคือเรารัก เราพอใจ บางอย่างเป็นลบ เราเกลียด เราโกรธ เราไม่พอใจ นี้เวทนาถูกให้ความหมายเป็นสองอย่างอย่างนี้
เมื่อมีเวทนาแล้ว มันก็มีความอยาก ความอยากจึงโง่ไปตามอำนาจเวทนานั้น เวทนาเป็นบวกก็อยากได้ ก็พอใจ ก็หลงใหล ถ้าเวทนาเป็นลบก็โกรธก็เกลียด ไม่อยากได้ก็โกรธเคือง นี้เรียกว่าความอยากที่โง่เขลา เรียกว่า Desire Desire ไปตามอำนาจของเวทนา ไม่ใช่ความอยากที่ฉลาดนะ ตามธรรมดานี่มันจะเกิดความอยากที่โง่เขลาที่เรียกว่า Desire Craving อย่างนี้
ถ้าเรามีสติ หรือปัญญา หรือความฉลาด เราก็เกิดความต้องการชนิดที่ฉลาด ที่จะเรียกว่า Aspiration หรืออะไรไปอีกเรื่องหนึ่ง ไม่เป็นความอยากที่โง่เขลา คือ Craving คือ Desire
ถ้าเราโง่มาจากในท้องมารดา ไม่มีสติปัญญา ดังนั้น เราก็มีได้แต่ความอยากที่โง่เขลา ไม่อาจจะมีความอยากที่ฉลาด นี้ต้องระวังให้ดี
ในที่นี้ เมื่อความอยาก ความรู้สึกอยาก รุนแรง รุนแรง รุนแรง มันก็เกิดปฏิกิริยาอันใหม่ขึ้นมา คือเกิด Conception ว่า โอ้, ผู้ อยาก ตัวกู ผู้อยาก มันก็เกิดขึ้นจากความอยาก ข้อนี้ต้องศึกษากันมากหน่อย ถ้าความอยากเข้มข้น รุนแรงเข้า รุนแรงเข้า มันจะเกิดปฏิกิริยาออกมาอันใหม่เป็นรู้สึกว่ากู ผู้อยาก ตัวตนหรือ Self มันก็เกิดขึ้นที่ตรงนี้ เฉพาะเรื่องนี้ เฉพาะเรื่องนี้
Concept ว่าตัวตนหรือ Self นี้ เราเรียกว่า Upadana หรือ อุปาทาน Upadana หรือ อุปาทาน หรือ Attachment เพิ่งมีเดี๋ยวนี้เอง
เมื่อความรู้สึกที่เป็นอุปาทานหรือ Attachment Me ขึ้นแล้วในจิต ก็เรียกว่ามีจุดตั้งต้นของความมี หรือ Existence Becoming Existence ก็ตั้งต้นขึ้นในจิต เราเรียกเป็นภาษาบาลีว่า ภว ภว หรือ ภพนั้นเอง
เมื่อ ภว เป็นไปเป็นไปเต็มที่ถึงที่สุดมันก็เกิดสมบูรณ์ขึ้นมาเรียกว่า ชา-ติ หรือ Birth Birth เกิดเป็นตัวตน ตัวกูที่สมบูรณ์ขึ้นมา เรียกว่า เกิด ชา-ติ แต่ท่านต้องดูให้ดีว่าไม่ได้เกิดจากท้องแม่นะ ตอนนี้ไม่ได้เกิดจากท้องแม่ เกิดจากอวิชชา เกิดจากอุปาทานที่เกิดทางจิตใจ เกิดนี้สำคัญมาก เกิดนี้เป็นปัญหา เกิดจากท้องมารดาไม่เป็นปัญหา แต่เกิดจากอวิชชาอุปาทานนี้ เป็นตัวปัญหา
เรียกว่าการเกิดแห่งอวิชชา ความโง่ ก็เป็นคนโง่ Ignorance One Ignorance Man มันโง่ มันเป็นคนโง่ เหมือนกับผีหลอกน่ะ เกิดขึ้นมา มันก็เอาสิ่งนี้เป็นตัวกู เป็นตัวกู ตัวกู ตัวกู อะไรๆ ทั้งหมดรอบข้างก็เป็นของกู ของกู มันเอาอะไรเป็นของกู เอาความเกิดทางท้องมารดาเป็นของกู เอาความแก่เป็นของกู ความเจ็บเป็นของกู ความตายเป็นของกู ความสุข ความทุกข์อะไรเป็นของกู เรียกว่าคนโง่ได้เกิดขึ้นมาแล้วโดยอำนาจของอวิชชา เป็นการเกิดทางฝ่ายจิตใจ
เดี๋ยวก็เกิดทางตา อาศัยทางตาก็เกิด เดี๋ยวอาศัยทางหูเกิด เดี๋ยวอาศัยทางจมูกเกิด ทางลิ้นเกิด ทางผิวกายเกิด ทางจิตใจเกิด ดังนั้น วันหนึ่ง วันหนึ่ง มันเกิดได้หลาย สิบครั้ง หลายร้อยครั้ง หรืออาจจะถึงพันครั้ง
เกิดจากท้องมารดาเกิดครั้งเดียว แต่เกิดจากท้องของอวิชชา ตัณหา กิเลสนี่เกิดวันหนึ่งหลายร้อยครั้ง กว่าจะตายก็เกิดเป็นหมื่นๆ ครั้ง แสนครั้ง มันต่างกันมากระหว่างความเกิดสองอย่างนี้
ถ้าหากว่าบิดามารดาไม่โง่เกินไป ก็จะทำให้ลูกเด็กๆ เข้าใจเรื่องปฏิจจสมุปบาทอย่างนี้ได้
เขาอาจจะเข้าใจปฏิจจสมุปบาททางวัตถุ เช่น ฝนตก ถนนลื่น หกล้ม หัวแตกได้ เขาก็อาจจะเข้าใจปฏิจจสมุปบาททางจิตใจในภายในอย่างนี้ได้
แล้วเขาจะเข้าใจได้ว่า สติ สติ สติ จะหยุดปฏิจจสมุปบาททางวัตถุ เขาไม่ต้องเป็นหวัดหรือล้มหัวแตก แล้วเขาจะเข้าใจได้ว่า สติ สติจะหยุดกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทนี้ได้ ในระยะที่เรียกว่าผัสสะ ผัสสะ หรือ Contact ถ้าเรามีสติ มีปัญญาตอนนั้นแล้ว กระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทจะหยุดหรือจะเปลี่ยนทิศทางเป็นไปในทางที่ไม่ต้องเป็นทุกข์ เรียกว่าสติจะหยุดกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาททั้งทางฝ่ายวัตถุหรือทั้งทางฝ่ายจิตใจ สติ สติ
ถ้าเขามีสติ สติ หรือปัญญา สติปัญญาแท้จริง เขาจะมีสติมาตั้งแต่ทีแรก เช่นว่าตาเห็นรูป เขาก็ว่าตาเห็นรูป เขาก็ไม่โง่ว่ากูเห็นรูป หูได้ยินเสียง เขาก็ว่าหูได้ยินเสียง ไม่ใช่กูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ก็จมูกได้กลิ่น ไม่ใช่กูได้กลิ่น นี้ก็เรียกเป็นสติแล้ว สติแล้ว ในเบื้องต้นที่สุดต้องมีสติอย่างนี้นะ
ที่ดีกว่านั้นขึ้นไปอีก เขาก็มีสติในขณะแห่งผัสสะ ผัสสะ รู้ว่าผัสสะคืออะไร ในการทำงานร่วมกันระหว่างตา ระหว่างรูปกับจักษุวิญญาณเป็นต้นนี่ ผัสสะ ผัสสะ เขาก็จะมีผัสสะที่ฉลาด ผัสสะที่ฉลาด ผัสสะฉลาดแล้ว เวทนาก็ฉลาด เวทนาก็ไม่โง่ เวทนาก็ไม่หลงความเป็นบวก หลงความเป็นลบ มันก็ไม่เกิดตัณหา ไม่เกิดอุปาทาน สติมาทันเวลาแห่งผัสสะ แล้วจะควบคุมกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทให้ถูกต้องได้ คือ ไม่โง่ หรือว่าถึงกับหยุดเลย หยุดเลยก็ได้ นี่สติสกัดกั้นหรือหยุดกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทหรือกระแสแห่งความทุกข์ในลักษณะอย่างนี้
ทีนี้ปัญหามันก็มี หรือเกิดขึ้นว่าเราไม่มีสติหรือเรามีสติไม่พอ สติที่มีอยู่ตามธรรมดา ตามธรรมดาที่คนมีตามธรรมดานั้นไม่พอ ไม่พอที่จะหยุดกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท โดยเฉพาะในขณะแห่งผัสสะ ดังนั้น เราจึงต้อง Develop สติ พัฒนาสติ ต้องฝึกให้มีสติที่เรียกว่าอานาปานสติอย่างที่ท่านทั้งหลายกำลังศึกษา กำลังฝึก อยู่ที่ Center น่ะ ฝึกอานาปานสตินี้ ก็คือการฝึกให้มีสติมากกว่าธรรมดา ให้มากกว่าธรรมดาและยังมีสิ่งอื่นพลอยได้อีกด้วย เช่นปัญญา เช่น สัมปชัญญะ เช่น สมาธิ มากมายหลายอย่าง ฝึกสติอย่างเดียว มันได้ผลอีกหลายอย่างมารวมกันมาอยู่ในคำว่าสติ เมื่อสติมากพอ เพียงพอ เราก็หยุดกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทได้
ไอ้ที่เรียกว่ามีสติ มีสติ นั้นหมายถึงความว่า มีมากพอหรือครบถ้วน แล้วก็เร็วที่สุดด้วย ต้องมีครบ มีมาก และก็มีเร็วที่สุดด้วย จึงจะเรียกว่ามีสติ ผู้มีสติถึงที่สุด สมบูรณ์ถึงที่สุดนั้น เรียกว่า พระอรหันต์ พระอรหันต์คือผู้ที่มีสติสมบูรณ์ที่สุด