แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ประโยชน์ของการมีธรรม
ในครั้งแรกที่สุด อาตมาได้พูดกับท่านทั้งหลายด้วยหัวข้อที่ว่า “ธรรมะทำไมกัน” คือเรื่องที่ว่าทำไมเราต้องมาศึกษาธรรมะ เป็นที่เข้าใจกันแล้ว ครั้นมาถึงปัญหาที่ว่าธรรมะอย่างไรกัน ธรรมะ ท่านก็ได้รับคำสั่งสอนและการฝีกแล้วที่เซ็นเตอร์จนท่านรู้ว่าธรรมะอย่างไรกัน บัดนี้เป็นครั้งสุดท้าย อาตมาก็จะพูดในแง่ที่ว่าจะใช้ธรรมะนี้ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร นั่นแหละขอให้ท่านจัดลำดับ ลำดับให้ถูกต้องว่าธรรมะทำไมกัน ธรรมะอย่างไรกัน และจะได้รับประโยชน์อะไร advantage จากธรรมะ
ถ้าจะเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายก็จะเปรียบเทียบกับการปลูกต้นไม้ การปลูกต้นไม้ ซึ่งขอให้ตั้งใจฟังโดยลำดับ ในชั้นแรกเราก็มีเมล็ดพืช เมล็ดพืชเอามา แล้วก็แสวงหาเมล็ดพันธุ์ที่ดี แล้วก็เพาะลงไปในดินและต้นไม้มันก็จะงอกขึ้นมา การเจริญเติบโตของต้นไม้ก็มีขึ้นมา มัน develop develop ขึ้นมา แล้วมันก็เปลี่ยนรูป transform เปลี่ยนรูปจากเม็ดกลมกลม ก็กลายเป็นต้นไม้ใหญ่โตอย่างนี้ มันก็เปลี่ยนรูป แล้วถึงที่สุดของการเปลี่ยนรูปมันก็หมายถึงมันออกดอกออกผลมา เราก็ซื้อเอาประโยชน์ ถือเอาประโยชน์สุดท้ายก็คือผลไม้ ต้นไม้ในที่นี้เราหมายถึงจิตใจ จิตใจหรือตัวชีวิต ตัวชีวิตจิตใจ มันจะถูกกระทำในลักษณะอย่างนี้ คือปลูกแล้วก็งอก แล้วก็จะเจริญ แล้วก็จะเปลี่ยนรูปไปเป็นผลไม้ตลอดเวลาแห่งความสำเร็จประโยชน์ มันเป็นอย่างนี้ หรือท่านจะเรียกอาการทั้งหมดทั้งชุดนี้ตามลำดับว่าอะไรก็ตามใจ ก็ตามความพอใจ ซึ่งมักจะเรียกกันว่า “การพัฒนา” พัฒนา แต่ในทางพุทธศาสนา เราก็มีคำคล้ายๆกับพัฒนา แต่ไม่ใช่คำว่าพัฒนา เราใช้คำว่า “ภาวนา” ภาวนา แปลว่าทำให้มันเจริญถึงที่สุด ภาวนาในที่นี้ หมายถึง ทำให้มันเจริญจนถึงที่สุด แล้วก็อย่างถูกต้อง พัฒนานั้นพัฒนาผิดก็มี ถ้าใช้คำว่าภาวนา ภาวนา อันนี้ใช้กับการทำสมาธิ ทำวิปัสสนา นี้มันมีแต่ความถูกต้องไปตามลำดับจนถึงที่สุดได้รับประโยชน์เต็มที่ ขอเรียกว่า “ภาวนา”
เสียง เสียงมันคล้ายกัน อันหนึ่งว่า “พัฒนา” มาจากบาลีว่า “วัฒนา” ไทยว่า “พัฒนา” พัฒนามันมีความหมายแต่เพียงว่าทำให้มาก ทำให้มาก ผิดหรือถูกไม่รู้ มีความหมายแต่เพียงทำให้มาก เช่นเดียวกับคำว่า “progress” มันบ้าก็ได้ ทำให้ผิดจนบ้าได้ progress นั้น มันต้องมีคำอื่นที่แน่นอน นี่เราไม่อาศัยความหมายของคำว่า “พัฒนา” แต่อาศัยความหมายของคำว่า “ภาวนา” คำนี้ใช้ในทางที่ผิดไม่ได้ เป็นไปแต่ในทางถูกต้องตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุดแล้วก็ได้รับประโยชน์ถึงที่สุด
ต้นไม้ในที่นี้ก็คือชีวิตหรือจิตก็ได้ จิตก็ได้ ชีวิตเองก็ได้ เรียกว่าต้นไม้ ได้รับการทำให้เจริญ ทำให้เจริญในความหมายของคำว่าภาวนา ภาวนา คือถูกต้องอย่างเดียว ถูกต้องอย่างเดียว ในที่สุดได้รับผลที่ดีที่สุด ที่ดีที่สุดกว่าสิ่งใดที่เราไม่เคยรู้จัก ไม่เคยได้มาแต่กาลก่อน บัดนี้ก็ได้ผลผลิตนั้น แปลกแปลกตรงกันข้ามกับผลอย่างโลกๆ อย่างที่ชาวโลกเขารู้จักกัน นั่นแหละคือผลที่ได้รับจากธรรมะ แปลกตรงกันข้ามกับที่ชาวโลกธรรมดาที่ไม่มีธรรมะเขาได้รับ ชีวิตนี้ ชีวิตนี้เมื่อไม่ได้รับภาวนา เราก็ต้องใช้คำว่าพัฒนาอีก เพราะมันไม่มีคำอื่นที่ใช้กันอยู่ มันจะหาคำในภาษาอังกฤษเองว่า พัฒนาอย่างถูกต้องตามธรรมะ พัฒนาอย่างถูกต้อง ชีวิตนี้ก็เปลี่ยนเป็นสิ่งที่ได้รับประโยชน์สูงสุดและไม่กัดเจ้าของ ถ้าพัฒนาไม่ถูกต้อง พัฒนาผิด ยิ่งพัฒนามันก็ยิ่งกัดเจ้าของ อย่างความเจริญในโลกปัจจุบันนี้ พัฒนา พัฒนาในลักษณะที่เกิดปัญหามากขึ้น จนกลายเป็นชีวิตนี้มันกัดเจ้าของ เราจึงสรุปความสั้นๆว่าพัฒนาที่ถูกที่แท้คือ ทำให้ชีวิตไม่กัดเจ้าของ เอากันง่ายๆอย่างนี้ก็แล้วกัน
ถ้าเราหาคำพูดอื่นไม่ได้เราก็ใช้คำเดิม แต่เราจะเติมคำว่า “spiritual” เข้าไปข้างหน้าเป็น “Spiritual Development” develop ทางวัตถุ ทางฟิสิกส์ หรือทาง mental ล้วนๆ mental ล้วนๆ นั้นมันไม่พอ การพัฒนาของเราก็ต้องสูงขึ้นไปจนถึงระดับที่เรียกว่า spiritual แล้วมีแต่ความถูกต้องอย่างเดียว ได้รับผลตามที่เราต้องการคือชีวิตได้รับสิ่งสูงสุดที่ควรจะได้รับ เรียกสั้นๆว่าไม่มีปัญหา ไม่มีความทุกข์ไม่กัดเจ้าของ เรียกสั้นๆว่าไม่กัดเจ้าของ โดยนัยนี้เราเห็นได้ว่ามันมีอยู่เป็น ๒ ขั้นตอน มีอยู่เป็น ๒ ขั้นตอน คือทำให้มันไม่มีอันตราย ไม่มีอันตราย ไม่กัดเจ้าของ แล้วมันจึงมาถึงขั้นที่ว่าตอนที่ได้รับประโยชน์สูงสุดที่ควรได้รับ
ดังนั้น ในขั้นแรกจึงต้องพิจารณากันถึงเรื่องที่ว่าไม่กัดเจ้าของกันก่อน ไม่กัดเจ้าของกันก่อน ข้อนี้อุปมาอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นเหมือนกับการจับสัตว์ป่า สัตว์มาจากป่าเอามาเลี้ยง เราจะมาเลี้ยงอย่างเลี้ยงเล่นเป็นสัตว์เลี้ยง เป็น pet pet ก็ได้ หรือมาเลี้ยงอย่างใช้การใช้งาน เกิดผลงานอย่างนั้นก็ได้ แต่ในที่สุดมันมารวมอยู่ที่ว่า ต้องทำให้มันไม่กัดเจ้าของเสียก่อน ไม่กัดเจ้าของเสียก่อน เชื่อฟังอย่างดีและก็จะเลี้ยงเล่น เลี้ยงเล่นได้โดยปลอดภัย ใช้อย่างได้รับประโยชน์จริงๆ ที่เราจับมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงเล่น เช่น ลิงก็ดี ชะนีก็ดี กระรอกหรือพังพอน หรือแม้แต่งู เอาเป็นสัตว์เลี้ยงเล่นสนุก ครั้งแรกมันจะกัดเจ้าของ มันมาจากป่ามันก็จะกัดเจ้าของ ก็มาทำความเข้าใจกันจนไม่กัดเจ้าของ ไม่กัดเจ้าของ มันก็จะมาเล่น มาเล่น มาเลี้ยง มาเล่นกันอย่างไรก็ได้ นี้เรียกว่าทำให้ไม่กัดเจ้าของเสียก่อน ทีนี้สัตว์ที่จะนำมาเลี้ยงไปใช้งาน เช่น ช้างป่า วัวป่า ควายป่า ม้าป่า จับมาเพื่อจะใช้งาน มันเป็นอันตรายอย่างยิ่งแก่ผู้ที่ไปจับมา ต้องมาฝึกทำความเข้าใจกันเสียก่อนจนสัตว์ป่านั้นเชื่อง เชื่องเหมือนกับแมว เหมือนกับสัตว์บ้าน เชื่อฟังทุกอย่าง ไม่กัดเจ้าของ ไม่ทำร้ายเจ้าของ แล้วจึงใช้การใช้งานกันให้สำเร็จประโยชน์ต่อไปตามความประสงค์ สัตว์เลี้ยงก็ดี สัตว์ใช้งานก็ดี ต้องมาทำความเข้าใจกันในการที่ไม่กัดเจ้าของเสียก่อนแล้วจึงได้รับประโยชน์
ชีวิตที่ไม่มีการพัฒนาที่ถูกต้อง มันมีอาการกัดเจ้าของอยู่เป็นประจำ ไม่มีความรู้เรื่องชีวิตมาแต่ในท้องของมัน ดาออกมาก็ปล่อยไปตามเรื่องตามราว มันก็มีการกัดเจ้าของที่เรียกว่า “กิเลส” กิเลสนี้มันกัดเจ้าของ ความรักก็กัดเจ้าของ ความโกรธก็กัดเจ้าของ ความโง่ก็กัดเจ้าของ โดยหลักใหญ่ๆ เราแบ่งกิเลสเป็น “โลภะ โทสะ โมหะ” มันกัดเจ้าของมาตั้งแต่เล็กๆไม่ทันรู้ตัว มันกัดเรื่อยมาจนบัดนี้เป็นผู้ใหญ่อย่างนี้แล้ว มันก็ยังกัดตลอดเวลาเพราะไม่มีความรู้เรื่องชีวิต และไม่มีการพัฒนาชีวิตในแง่ spiritual เสียเลยแล้วพัฒนากันแต่แง่วัตถุหรือจิตใจในขั้นต้นๆ ชีวิตก็กัดเจ้าของมาจนบัดนี้ จนบัดนี้ จนมาหาธรรมะที่จะเป็นการหยุด หยุดการกัดเจ้าของ อย่าให้กัดเจ้าของอีกต่อไป จะต้องรู้จักมันให้ดี เมื่อมันมีมาในแง่บวก มันก็กัดในแง่บวก เข้าใจยากและบางทีก็จะชอบให้มันกัดเสียด้วยซ้ำ แง่ลบ ถ้ามีลักษณะอย่างลบ มันก็จะกัดอย่างลบ ทว่ามันไม่บวก มันไม่ลบ ไม่รู้ว่าอะไร มันก็กัดอย่างที่โง่ไม่รู้ว่าเป็นบวกหรือเป็นลบ ปัญหาของเราจึงมีว่าเป็นบวกหรือเป็นลบ หรือไม่แน่ว่าจะเป็นบวกหรือเป็นลบ เป็น ๓ อย่างอยู่ด้วยกัน แต่ทั้ง ๓ อย่างนี้มันกัดทั้งนั้น มันกัดทั้งนั้น
เดี๋ยวนี้เราทั้งโลกชอบบวก ชอบ positive บูชา positive จนเกิดเป็นปัญหา มีความเกินทาง positive ปัญหายุ่งยากทั้งโลกๆ เพราะบูชา positive มันหลอกลวง มันกัดแต่เรากลับชอบให้มันกัด ปัญหาที่เกิดมาจากความเป็นบวกนั้น เราไม่เห็นว่าเป็นปัญหา กลับไปรักไปชอบมัน เราจึงถูกกัดอยู่เป็นประจำวันด้วยเรื่องทางบวกมากกว่าเรื่องทางลบ แต่ใครๆก็ไม่เคยเห็นว่าเป็นการถูกกัดโดยสิ่งที่เป็นบวก ธรรมะเท่านั้นแหละที่จะช่วยให้เราอยู่เหนือความเป็นบวกเหนือความเป็นลบ และที่มันไม่แน่ว่ามันเป็นบวกหรือมันเป็นลบ เราอยู่เหนืออิทธิพลของสิ่งทั้ง ๓ นี้แล้ว ชีวิตนี้ก็ไม่ถูกกัดโดยประการใดๆ คือท่านไม่ต้องเชื่ออาตมาบอกว่าชีวิตกัดเจ้าของ จะให้คนสักพันคนมาบอก ท่านก็ไม่ต้องเชื่อแต่ท่านต้องดูเอง เห็นเอง และก็เชื่อตัวเองว่าชีวิตที่ไม่มีความถูกต้องนี้มันกัดเจ้าของอย่างไร เรื่องนี้สำคัญมากตามหลักพระพุทธศาสนา ไม่ต้องเชื่อคนบอกแต่ว่าเอามาคิดดูว่าเขาบอกอย่างไร เอามาฟังๆ แต่ยังไม่เชื่อ ก็เมื่อคิดดูก็จะเกิดความเห็นความจริง หรือเหตุผลก็ตามที่มันแสดงอยู่ในคำที่เขาบอก ดังนั้น ไม่ต้องเชื่ออาตมาว่าชีวิตกัดเจ้าของ แต่ดูเอาเอง ดูเอาเอง ให้เห็นชัดว่านี้คือตัวปัญหาแห่งชีวิตทั้งหมด ปัญหาแห่งชีวิตทั้งหมดคือความที่ชีวิตมันกัดเจ้าของ
ข้อนี้สำคัญมากเป็นหลักเกณฑ์ในพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าเองท่านก็สอนอย่างนี้ว่าไม่ต้องเชื่อที่ฉันผู้พูด พระพุทธเจ้านี่บอกว่าไม่ต้องเชื่อผู้พูด แม้ว่าผู้พูดนั้นเป็นครูของท่านไม่ต้องเชื่อ แต่ว่าท่านจะดูให้เห็นว่าเหตุผลที่มันมีอยู่ในคำพูด เหตุผลที่มันมีอยู่ในคำที่พูดออกไปนั้นแหละ ท่านจะรู้สึกได้ด้วยตนเอง แม้รู้สึกได้ด้วย common sense มันก็เห็นชัดว่ามันเป็นอย่างนั้น เราไม่เชื่อผู้พูด แต่เชื่อเหตุผลที่มันมีอยู่ในคำพูด ไม่ใช้ผู้พูด เหตุผลที่มีอยู่ในคำพูด เช่น พูดว่ากิเลสเป็นเหตุทำให้เกิดทุกข์ เราไม่เชื่อผู้พูด ไม่เชื่อผู้พูด แต่เราเชื่อความที่กิเลสที่เรารู้จักดีแล้วมันกัดเรา กัดเรา อย่างนี้เรียกว่าเชื่อเหตุผลที่มีอยู่ในคำพูดโดยไม่ต้องเชื่อตัวผู้พูด มันกลายเป็นเรื่องที่น่าขบขันที่ว่าเราไม่เชื่อผู้พูด ไม่เชื่อที่ครูบาอาจารย์พูด แต่เราเอามาศึกษาใคร่ครวญดูจนเราเชื่อเอง ไม่เชื่อผู้บอก ไปเอาคำของเขามาใคร่ครวญศึกษาจนเชื่อเอง มีความเชื่อตนเองเมื่อไหร่ เมื่อนั้นเราเรียกว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องเป็นเรื่องสำเร็จประโยชน์ได้ เหตุผลมีอยู่ในคำพูด สอน เราเอามาศึกษาจนเราเชื่อ เชื่อตัวเราเอง ไม่เชื่อผู้พูด
แต่แม้คำพูดว่าเชื่อตัวเองมันก็เหมือนกัน มันต้องระมัดระวัง เพราะมันเชื่อผิดๆ คิดผิดๆ เข้าใจผิด เชื่อตัวเองมันก็ยังผิดได้ ยังต้องมีการใช้เหตุผล การใคร่ครวญ แล้วก็มองเห็นความจริงในคำที่ได้ยินได้ฟังมา ถ้าไม่ได้ยินได้ฟังอะไรเสียเลยเราไม่รู้ว่าจะคิดอย่างไร จะเชื่ออย่างไร ดังนั้น การที่ได้ยินได้ฟัง หรือการอ่าน การศึกษา มันก็มีประโยชน์ คัมภีร์ ตำรา หนังสือ หนังหา มันก็มีประโยชน์ในการที่จะให้เงื่อนปมแง่ที่แรกสำหรับที่จะมาคิด ที่จะมาสังเกตดู แล้วก็พบความจริงที่มันแสดงอยู่ในคำพูดเหล่านั้น แต่การเชื่อตัวเองก็เป็นการทำไปอย่างถูกต้อง แม้ว่าเราจะเชื่อพระเจ้า เชื่อพระเป็นเจ้านั้น มันก็ยังมีหลักเกณฑ์เดียวกัน เราต้องมองเห็นเหตุผลในคำที่พระเจ้าบอกเรา เราไม่ได้เชื่อตัวพระเจ้า ไม่ได้เชื่อองค์พระเจ้า แต่เชื่อเหตุผลที่มีอยู่ในคำพูดที่พระเจ้าบอกเรา เราจึงเชื่อ ถ้าอย่างนี้แล้วไม่มีอันตราย ไม่มีอันตราย ถ้าไปเชื่อโดยที่เรียกว่าเชื่องมงาย หลับหูหลับตาเชื่อ แม้เชื่อพระเจ้าก็ไม่มีประโยชน์ก็ได้ หรือเป็นโทษก็ได้ นี่เราจะเชื่ออะไรเราจะต้องมีเหตุผลแสดงอยู่ในสิ่งที่เราจะต้องเชื่อ เรื่องนี้มีพระพุทธภาษิตเรียกว่า “กาลามสูตร” ท่านจงไปแสวงหามาอ่านมาศึกษาให้เข้าใจอย่างยิ่ง เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับความเชื่อ แล้วในที่สุดความเชื่อของท่านจะปลอดภัย ปลอดภัยโดยประการทั้งปวง
ข้อนี้เป็นเครื่องให้มีความต่างกันระหว่างศาสนา ศาสนาบางพวกมี dogmatic system คือเชื่อไม่ต้องวิพากษ์วิจารณ์อะไร คือไม่ต้องทำอย่างที่ว่า แต่ในพุทธศาสนาไม่มีระบบ dogmatic system เพราะต้องการให้เชื่อความจริงที่แสดงอยู่ที่คำพูดและไม่บังคับให้เชื่อ ถ้าท่านยังไม่มองเห็นสิ่งนี้ ท่านไม่ต้องเชื่อ ไม่มีการบังคับให้เชื่อ ทว่าเราเคยถือลัทธิ dogmatic system ก็มาปรับปรุงกันเสียใหม่ให้มันมามีความสัมพันธ์อยู่ที่เหตุผลที่แสดงอยู่ที่ตัวคำพูดนั้นเองและก็ปลอดภัยได้เหมือนกัน เรามาเสียเวลาศึกษาเรื่องนี้กันอีกสักเล็กน้อยเพื่อให้รู้จักการเชื่อเหตุผลที่มันแสดงอยู่ในตัวคำพูด และจะช่วยให้เราเข้าใจคำว่าชีวิตนี้กัดเจ้าของอย่างไร ขอให้ท่านสนใจฟังและศึกษาตัวอย่างที่จะเอามาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างเรื่องเรื่องทีละอย่าง
ตัวอย่างที่ ๑ คือสิ่งที่เรียกว่า “ความรัก” ความรัก ในความรักนี้มีทั้งในรูปแบบ positive และ negative แต่จะเป็นรูปแบบไหนก็ตาม มันกัดเจ้าของทั้งนั้น ท่านผู้ฟังไม่ต้องเชื่ออาตมาเพราะเคยรู้จักสิ่งที่เรียกว่าความรักมาแล้วทั้งนั้นในแง่ positive กับ negative แล้วมันกัดเจ้าของอย่างไร มันกัดเจ้าของในลักษณะที่ว่าเจ้าของไม่รู้สึกตัวเอาเสียเลยก็มี จนถึงกับเจ้าบุคคลไปบูชาความรักที่มันกัดเจ้าของทั้งในแง่ positive และ negative นี่คือสิ่งที่เราไม่ต้องเชื่อผู้บอก แต่ว่าเชื่อในความจริงที่มันแสดงอยู่ในตัวมันเองว่าความรักนั้นมันกัดเจ้าของอย่างไร
สิ่งที่ ๒ คือ “ความโกรธ” ความโกรธ ความโกรธอันนี้ก็มีทั้งแง่บวกแง่ลบ ได้ด่าเขาแล้วก็สบายใจ ได้ตีเขาแล้วก็สบายใจ นี่แง่บวกของความโกรธ จะเป็นความโกรธแง่บวกหรือความโกรธแง่ลบ มันจะกัดเจ้าของ หรือจะต้องทำให้เจ้าของมีปัญหายุ่งยากลำบากและเป็นทุกข์ มันอาจจะเป็น positive ในขั้นแรก แต่มันก็เป็น negative เหลือประมาณในตอนปลาย นี่แหละความโกรธนี้มันกัดเจ้าของ ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น เพระว่าเคยโกรธกันมาแล้วทั้งนั้น ทุกคนเคยโกรธมาแล้วทั้งนั้น แล้วก็มองไปที่ความโกรธ ก็จะเห็นความจริงชัดอยู่ที่ว่ามันกัดเจ้าของ
อันที่ ๓ คือ “ความเกลียด” ความเกลียด ความเกลียดนี้มาจากความโง่ เพระเราไม่ต้องไปเสียเวลาเกลียด คนก็ยังไปเกลียดสิ่งที่ไม่ต้องเกลียดให้รำคาญใจ ผู้ที่ถูกเกลียดไม่รู้สึกอะไรแต่ว่าคนเกลียดนี้กลับมีทุกข์เพราะความรู้สึกเกลียดนั่นเอง ถ้าไปเกลียดสิ่งใดความเกลียดก็กัดผู้เกลียดคือกัดเจ้าของ แล้วไม่ต้องมีความรู้สึกที่เป็น negative หรือจะต้องไปเกลียดอะไรดีกว่า ความเกลียดมันบอกอยู่ในตัวเองแล้วว่าอย่าไปเสียเวลาเกลียดอะไรเลย
เรื่องที่ ๔ คือ “ความกลัว” ความกลัว ความกลัวเป็นของที่มาจากความโง่ คือ ignorance ถ้ายังมีความโง่อยู่เพียงไร มันจะมีสิ่งที่ต้องกลัวอยู่เพียงนั้น จะมีเหตุผลหรือไม่มีเหตุผลก็ไม่รู้ negative หรือ positive ก็ไม่รู้ ถ้ายังมีความโง่ มันก็ยังมีความกลัว คือจะกลัวสูญเสียสิ่งที่เป็น positive หรือกลัวสิ่งที่เป็น negative มันจะเข้ามา มันก็กัดเจ้าของ กัดเจ้าของ กัดหัวใจ เราไม่ต้องมีความกลัวไม่ดีกว่าเหรอ จะไม่ถูกกัด นี่เรียกว่าทุกคนรู้จักความกลัว หรือปรมาณู กลัวอะไร เสียเวลาเปล่าๆ ไม่กลัวอะไรถือว่าพักผ่อนหรือสบายหรืออิสระ
เรื่องที่ ๕ คือ “ความตื่นเต้น” ตื่นเต้น excite excitement ความตื่นเต้น คนชอบ ชอบสร้างความตื่นเต้น เนื่องจากความแปลกหรือว่าความที่มัน ถ้าให้มีความตื่นเต้นจะต้องเข้าไปดูกีฬา ไปดูมวย จะต้องไปดูการแสดงที่แปลกๆ จะสร้างความตื่นเต้น หารู้ไม่ว่าความตื่นเต้นมันกัดเจ้าของ พวกฝรั่งมาเมืองไทยหลงซื้อของที่สร้างความตื่นเต้น แต่ไม่มีประโยชน์อะไรเยอะแยะ ของที่ขายฝรั่งกลับไปนั้นเป็นของแปลกเป็นของตื่นเต้น ฝรั่งคนหนึ่งซื้อกรงนกที่ทำวิเศษแพงมาก ซื้อกรงนกที่น่าอัศจรรย์ กรงนกเขา แล้วก็เอาไปทำอะไร เอาไปทำโป๊ะ โป๊ะหลอดไฟฟ้านี้ ทำสิ่งที่ให้เกิดความตื่นเต้นๆให้เป็นของขวัญที่ซื้อกลับไปเมืองนอกกันมหาศาล ความตื่นเต้นนี้ก็กัดเจ้าของ อย่ามีความตื่นเต้นในสิ่งใดนั้นเป็นความสงบสุข มีความตื่นเต้นระวังให้ดีเพราะในแง่ที่แปลกประหลาด แปลกประหลาดนิดเดียว มันจะ curious ขนาดไหน มันก็เพียงแต่ให้ความตื่นเต้น เราจะต้องไม่ตื่นเต้นในทางบวกหรือทางลบ ความตื่นเต้นเกิดจากความไม่รู้ หรือความเขลา ความหลง เมื่อตกเป็นเหยื่อของการโฆษณา เดี๋ยวนี้เขาโฆษณากันเก่ง โฆษณากันเก่ง จนต้องไปหาไปดูไปซื้อของที่แพงและก็ไม่มีประโยชน์อะไร ยิ่งตื่นเต้นมาก มันก็ยิ่งยอมที่จะเสียสละมาก เช่นว่าภาพเขียนภาพหนึ่งราคาเป็นล้านล้านเหรียญนี้ คุณคิดดูสิว่าอะไรมันทำให้ซื้อความตื่นเต้นนั้นมันทำให้ซื้อภาพเขียนภาพหนึ่งราคาเป็นล้านล้านเหรียญ ความตื่นเต้น ตื่นเต้นนี้มันกัดเจ้าของอย่างลึกซึ้งที่สุด รู้จักมันไว้อย่าปล่อยให้ความตื่นเต้นลากๆเอาเราไปสู่ความยากลำบาก ไม่ตื่นเต้นทั้ง positive และ negative มันจะปลอดภัยที่สุด ท่านอย่าไปคิดว่าคนที่ไม่มี excitement นั้นเป็นคนบ้า คนบ้านั้นมาจาก excitement ที่มันมากเกินควบคุม เป็นอย่างนั้น คนที่ไม่มี excitement นั้นไม่ใช่คนบ้า คนบ้าเสียอีกที่มี excitement ที่มันมากเกินไป อย่าเข้าใจผิดอย่างนี้
และสิ่งถัดไปคือ “วิตกกังวลในอนาคต” วิตกกังวล วิตกกังวลอยู่ในรูปของความหลง ความหวัง hope นั้นก็ได้ มันวิตกกังวล อนาคตคือสิ่งที่ยังไม่มา ข้อนี้ก็ทรมานจิตใจ กัดจิตใจ เราไม่ต้องวิตกกังวลแม้สิ่งที่เรียกว่า hope ไม่ต้องมีก็ได้ แต่มีปัญญารู้ว่าต้องทำอย่างไร จะต้องทำอย่างไร ก็ทำไปตามนั้น อย่าให้ความหวังนั้นมันกัดเอา มีความหวังที่ไหนมันก็กัดที่นั่น ในอะไรมันก็กัดสิ่งนั้น เราต้องควบคุมความหวังหรือสิ่งที่เรียกว่า hope เสียให้ได้ เราก็จะไม่ถูกกัดโดยความหวังในอนาคตที่ยังไม่มาทั้งใน positive หรือแง่ negative hope นี้มันก็คือความหิว หิวในความโง่ อย่าสอนพวกลูกเด็กๆของเราให้มีชีวิตอยู่ด้วย hope ให้มีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา สติปัญญารู้อย่างถูกต้องว่าควรทำอะไร ควรทำอะไร แล้วก็ทำไปๆ อย่าให้ที่เรียกว่า hope มากัดจิตใจเลย นี่เราต้องรู้จักควบคุมสิ่งที่เรียกว่าความวิตกกังวลในสิ่งที่ยังไม่มาในอนาคต ชีวิตจะไม่ถูกกัด เรามี hope ในขั้นต้นขั้นแรกเพื่อจะรู้ว่าเราควรต้องการอะไร หลังจากนั้นเราก็มีสติปัญญา สติปัญญา รู้ว่าทำอย่างไรจึงจะได้สิ่งที่เรียกว่า hope แล้วก็ทำไปด้วยสติปัญญา แล้วมีชีวิตประจำวันอยู่ด้วยสติปัญญา ไม่อยู่ด้วยสิ่งที่เรียกว่า hope มันจะกัดเจ้าของ มันจะกัดชีวิตนี้ พุทธบริษัทจะถือหลักว่ามีชีวิตอยู่ให้อยู่ด้วยสติปัญญา ไม่มีชีวิตอยู่ด้วยกิเลสตัณหาหรือ hope แต่ประการใด
ถัดไปก็คือ “อาลัยอาวรณ์ในอดีต” คือสิ่งที่ล่วงไปแล้วผ่านไปแล้วก็เอามาอาลัยอาวรณ์ ในแง่ของความรักก็มาอาลัยอาวรณ์ก็มี ในแง่ของความโกรธ ความเกลียด ความพยาบาท ก็มาอาลัยอาวรณ์ อยู่ก็มี และสิ่งที่แล้วไปก็มาทำให้เสียเวลาในการที่จะมารบกวนจิตใจด้วยความอาลัยอาวรณ์ ความอาลัยอาวรณ์นั้นแหละกัดเจ้าของ กัดเจ้าของ ในบุคคลที่รักที่ตายไปแล้วก็เอามาอาลัยอาวรณ์ ไม่มีประโยชน์แก่ผู้นั้น ไม่มีประโยชน์แก่ใครแต่มันก็กัดเจ้าของ อาลัยอาวรณ์ในอดีต อย่าเอามาทำให้เสียเวลาของชีวิตเลย บางคนมัวแต่อาลัยอาวรณ์สิ่งที่ล่วงไปแล้วในอดีต จนในปัจจุบันนี้ทำอะไรไม่ถูก ทำอะไรไม่ถูก เพราะความอาลัยอาวรณ์มันทำให้โง่ มันทำให้เป็นทุกข์เสียจนทำอะไรในปัจจุบันไม่ถูก เพราะอาลัยอาวรณ์เรื่องที่เป็นอดีตผ่านไปแล้ว
สิ่งถัดไปอีกคือ “ความริษยา” ริษยา ริษยานี้มาจากความโง่เหมือนกัน ความรู้สึกที่อยากจะดีจะเด่น และก็ไม่อยากให้ผู้อื่นดีเด่นเหมือน และอยากให้ผู้อื่นวินาศฉิบหายเลวลงไปอีก ความริษยาความริษยา โดยเฉพาะความริษยาระหว่างระบอบการเมือง regime ทางการเมือง เป็นที่ตั้งแห่งความริษยา มุ่งแต่จะทำลายล้างกัน ดังนั้น ความริษยานั้นจะเป็นเรื่องที่ทำให้โลกวินาศ ทำให้โลกวินาศ โลกกำลังมีปัญหาเหลืออย่างประมาณเพราะความริษยาระหว่างระบอบของการเป็นอยู่หรือความคิดต่างๆในทางการเมือง ความริษยาจะทำบุคคลให้ไม่มีความสุข ผู้ที่ถูกริษยาไม่รู้ ไม่รู้เรื่อง แต่คนที่ไปริษยา เขามีความทุกข์ มีความทุกข์ มีความทุกข์ในลักษณะชีวิตกัดเจ้าของ เรื่องของบุคคลยังเป็นอย่างนี้ ขยายไปถึงเรื่องทางสังคมหรือว่าเรื่องทางโลก ปัญหาของโลก ความริษยาจะทำให้โลกวินาศลงสักวันหนึ่ง นี้คือความริษยา กัดเจ้าของ กัดเจ้าของเหลือประมาณ ไปดูเองเห็นเองไม่ต้องเชื่อผู้พูด
ที่นี้ก็มาถึง “ความหวง” ความหวง ความมีใจแคบ ความไม่แบ่งปัน ความไม่เผื่อแผ่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน นี้เรียกว่าความหวง หวงในสิ่งใดสิ่งนั้นก็กัดเจ้าของทันที หวงเรื่องเงิน เงินก็กัดเจ้าของ หวงสิ่งของ ความหวงในสิ่งนั้นมันจะกัดเจ้าของ generosity ที่มีโลกนี้ไม่ได้เพราะมันมีความหวง หวงสิ่งใดสิ่งนั้นกัด ขอให้สังเกตดูเห็นได้ด้วยตนเองว่า มีความหวงในสิ่งใดสิ่งนั้นจะกัดเจ้าของ ความหวงจะกัดเจ้าของ โดยมากเราหวงในสิ่งที่ไม่ควรจะหวง ถ้ามีกิเลสตัวนี้แล้วมันจะหวงไปหมดแม้ในสิ่งที่ไม่ควรจะหวง การช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในโลกนี้มันก็เลยหายาก หายาก ต้องชักจูง ต้องโฆษณากันเป็นการใหญ่ให้บริจาค หวงสิ่งใดสิ่งนั้นกัดเจ้าของ หวงสิ่งใดสิ่งนั้นกัดเจ้าของ
ในที่สุดเราก็มาถึง “ความหึง” หึงคือความหวงในทางเพศ ทางเพศตรงกันข้าม หวงรุนแรงในทางเพศนี้เราเรียกว่าความหึง จะกัดหัวใจของคนที่มีความหึง คู่รักก็ได้ บุตรภรรยาสามีอะไรก็ได้ที่มีความหลงรัก แล้วก็จะมีความหวงในทางเพศ เขาไม่ได้ทำผิดอะไร เราก็สงสัยว่าเขาเป็นคนชั่วเป็นคนเลว อย่างนี้เรียกว่าความหึง มันก็กัดเจ้าของ ถึงกับฆ่ากันตายหมดทั้ง ๒ ฝ่ายก็ได้ ความหวงในทางเพศ หรือความหึง กัดหัวใจ กัดหัวใจ คู่รักเขาไปเที่ยว คนที่อยู่บ้านก็นอนไม่หลับตลอดเวลา มันกัดเจ้าของ กัดเจ้าของ สิ่งสุดท้ายคือความหึง
ตัวอย่าง ๑๐ อย่างนี้ก็พอแล้ว มันมีอีกมากมายกว่านั้น แต่ว่า ๑๐ อย่างก็พอแล้ว พอที่จะทำให้ท่านมองเห็นว่า ๑๐ อย่างนี้มันกัดเจ้าของ มีเมื่อไหร่มันกัดเจ้าของ ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความตื่นเต้น วิตกกังวลอนาคต อาลัยอาวรณ์อดีต อิจฉา ริษยา หวง แล้วก็หึง ๑๐ อย่างนี้ก็พอแล้ว และไม่ต้องเชื่อใครเพราะทุกคนรู้จักดี ทุกคนเคยมีมาแล้ว มันกัดเจ้าของ นี้แหละเหตุผลมันแสดงอยู่ในตัวมันเองแล้ว ไม่ต้องเชื่อใครว่ามันกัดเจ้าของ ขอให้สนใจสิ่งที่มันกัดเจ้าของ แล้วเราจะฆ่ามันให้ตายให้หมดไม่ให้มีเหลือด้วยสิ่งที่เรียกว่า “ธรรมะ” สัตว์ร้ายที่กัดเจ้าของกี่อย่างๆ จะฆ่ามันให้ตายให้หมดด้วยสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ
ขอยืนยันในข้อที่ว่าสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ ธรรมะนี้จะกำจัดสิ่งเลวร้ายที่กัดเจ้าของเหล่านั้นได้หมดสิ้น ซึ่งเราจะได้พิจารณากันดูทีละอย่างๆ ถ้าท่านมีความรู้ความเข้าใจและปฏิบัติได้ในเรื่องปฏิจจสมุปบาทหรืออิทัปปัจจยตา สิ่งทั้ง ๑๐ นี้ไม่อาจจะเกิด สิ่งทั้ง ๑๐ นี้ไม่อาจจะเกิด เห็นอิทัปปัจจยตา คือเห็นสิ่งที่มันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยตามธรรมชาติ มันไม่เกิดความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัวอะไร นี่ธรรมะที่เนื่องจากการเห็น ปฏิจจสมุปบาท หรือ อิทัปปัจจยตา มันกำจัดสิ่งเลวร้าย ๑๐ อย่างนี้ที่กัดเจ้าของเสียได้
ทีนี้ถ้าท่านมีสติ สติ สติ จะป้องกันไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดได้ สิ่งเหล่านี้ไม่อาจเกิดได้เพราะสติเป็นเครื่องป้องกัน ถ้าท่านประสบความสำเร็จในการปฏิบัติอานาปานสติ ท่านจะมีสติมากมาย สติมากมาย และรวดเร็ว รวดเร็วมากมาย และรวดเร็ว สติก็ป้องกันสิ่งเลวร้ายเหล่านี้ไม่ให้เกิด ไม่ให้เกิดได้ ถ้าประสบความสำเร็จในการปฏิบัติอานาปานสติ เราก็จะมีปัญญาหรือ wisdom หรือ intuitive wisdom อย่างมากมาย อย่างมหาศาล คือรู้เรื่องสิ่งเหล่านี้ว่าจะเกิดขึ้นอย่างไร จะดับมันอย่างไร นี้เรียกว่า “ปัญญา” ปัญญา ถ้าทำให้มันเผลอเกิดขึ้นมา เราก็มีปัญญาที่จะกำจัดออกไปทันที สิ่งเลวร้ายที่กัดเจ้าของนี้จะหายไปทันทีด้วยอำนาจของปัญญา เพราะมีอาปานสติที่ปฏิบัติได้สำเร็จ ก็จะมีสมาธิ สมาธิแห่งความมั่นคงแห่งจิต ความมั่นคงแห่งจิต concentration ของจิต equilibrium ของจิต จะมีสิ่งเหล่านี้มากพอที่จะขจัดหรือป้องกันหรือแก้ไขสิ่งเลวร้ายเหล่านั้นออกไปได้โดยแน่นอน
การปฏิบัติแห่ง “กายานุปัสสนา” ที่ ๑ ของอานาปานสติที่ทำให้เราสามารถเรียกร้องกำลังหรือพลังทางกาย ทางกาย คือสุขภาพอนามัยทางกาย เป็นต้นมาได้อย่างเต็มที่ นี่เพราะอานาปานสติหมวดที่ ๑ คือ กายา
Step ที่ ๒ คือ “เวทนานุปัสสนา” เราปฏิบัติแล้วก็จะมีจิตใจอยู่เหนืออิทธิพลของความเป็นบวกและความเป็นลบ ความเป็นบวกและความเป็นลบในโลกนี้ไม่สามารถครอบงำจิตใจเราได้ เพราะอยู่เหนือความตื่นเต้น excitement โดยประการทั้งปวงไม่ว่าอะไร ถ้าเราประสบความสำเร็จในการปฏิบัติเวทนานุปัสสนา
Step ที่ ๓ “จิตตานุปัสสนา” ถ้าเราประสบความสำเร็จในข้อนี้ เราบังคับจิตให้ได้ตามต้องการ บังคับจิตอยู่ในความถูกต้อง ถูกต้องไม่มีปัญหาอะไร จะต้องการความสุขได้ทันทีเมื่อต้องการ ไม่ต้องไปหาที่ไหน ที่บ้านนะมีความสามารถที่จะเรียกความสุข relaxation ชนิดไหนก็ได้ที่บ้านที่เรือน เพราะว่าเราสามารถบังคับจิตได้ เรามีสมาธิและก็อยู่ด้วยสมาธิก็เป็นความสุขสูงสุด ดีกว่าไปเที่ยวชายทะเลเป็นไหนๆ
Step ที่ ๔ “ธัมมานุปัสสนา” ทำให้เราเห็น อนิจจตา ทุกขตา อนัตตตา และก็ไม่หลงไปใน positive หรือ negative positive หรือ negative มีอนิจจตา ความเปลี่ยนแปลงเรื่อยไป ไปยึดถือเข้าไป attach เข้ามันก็เป็นทุกข์ มีความทุกข์ทันที นี่เราเห็นเป็นอนิจจตา ทุกขตา อนัตตตา ก็ไม่มีการไปยึดมั่น ไปยึดมั่นถือมั่น ไม่ attach ใน positive หรือใน negative พ้นจากอิทธิผลของ positive และ negative ถ้าสูงขึ้นไปอีกก็เห็นสุญญตา สุญญตา คือทุกสิ่งว่างจากคุณค่าหรือความหมายที่จะไปยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเราหรือเป็นของเรา จิตไม่ยึดมั่นสิ่งใดโดยความเป็นตัวเราหรือของเรานี้ นี่เป็นอิสระ เป็นความหลุดพ้น เป็นเสรีภาพสูงสุด เพราะเราไม่ยึดมั่น เพราะเห็นว่ายึดมั่นไม่ได้ เห็นสุญญตา ไม่มีสิ่งที่ควรยึดมั่น ไม่มีความหมายที่ควรยึดมั่นถือมั่น ที่เขาเรียกว่าเสรีภาพสูงสุด
ในที่สุดก็มาถึงสิ่งหรือธรรมะที่เรียกว่า “อตัมมยตา” คือความไม่มีอะไรมาปรุงแต่งจิตได้ จิตเป็นอิสระ ไม่มีอะไรมาปรุงแต่งจิตได้ จิตคงที่อยู่ในความปกติๆๆ เขาใช้คำว่าปกติๆ ปกติธรรมดาตามธรรมชาติที่สุด อิทธิผลของ positive หรือ negative มาปรุงแต่งไม่ได้ จิตนี้ไม่เป็นไปตามอำนาจของ positive หรือ negative ในโลกนี้ นี่เรียกว่าอิสระถึงที่สุด เป็นสิ่งสุดท้ายหรือเป็นสิ่งสูงสุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ แล้วมีอตัมมยตา นั้นคือความเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า เข้าถึง God อยู่เป็นอันเดียวกับ God คงที่ๆๆ อะไรแตะต้องไม่ได้ อะไรมาทำให้ moveไม่ได้ อะไรมาทำ excite ไม่ได้โดยประการทั้งปวง นี่แหละธรรมะสูงสุดที่จะได้รับจากการปฏิบัติอานาปานสติคือ อตัมมยตา ไม่อยู่ในอำนาจของบวกหรือลบ หรือ อะไร อะไรอีกต่อไป เลยเลิกกัน เลิก excitement ถือเรื่องความคิดที่เป็นบวกเป็นลบ ไม่มี เรียกกันว่า อยู่เหนือดี เหนือชั่ว เหนือบุญ เหนือบาป เหนือแพ้ เหนือชนะ คือเหนือทุกๆคู่ pair, opposite ที่รู้จักกันอยู่ในโลกเดี๋ยวนี้ จิตอยู่เหนือทุกๆคู่ จบกันที่นั่นคือ อตัมมยตา
มันมี equilibrium สูงสุดทั้งทางกายทางจิต กระทั่งทาง spiritual มี equilibrium สูงสุดแล้วมันจะมีปัญหาอะไร หรือมันจะมีความสุขอะไรที่ยิ่งไปกว่านี้ จะมีเสรีภาพอะไรที่ยิ่งไปกว่านี้ ขอให้เรามองเห็นประโยชน์ที่จะได้รับจากการมีธรรมะกันในลักษณะอย่างนี้เถิด เดี๋ยวนี้เราจะอยู่เหนืออำนาจของสิ่งที่เรียกว่า โชคชะตาราศี ความบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรก็ไม่รู้ที่เขาเชื่อกันทางโหราศาสตร์ เดี๋ยวนี้เราจะอยู่เหนืออำนาจโชคชะตาราศี จะไม่มีโชคร้าย จะไม่มีโชคดี จะอยู่เหนือโชคร้ายและเหนือโชคดี นี่คือจุดสูงสุดของการมีธรรมะที่เราจะได้รับ
สองชั่วโมงแล้ว ขอขอบพระคุณท่านทั้งหลายเป็นผู้ฟังที่ดี ตั้งใจฟังด้วยดีด้วยความอดกลั้นอดทน ในการพูดนี้มีประโยชน์ ขอขอบพระคุณในการเป็นผู้ฟังที่ดีของท่านทั้งหลาย ให้ท่านทั้งหลายได้รับความรู้นี้ไปใช้เป็นประโยชน์ว่า ประโยชน์ของธรรมะนั้นเป็นอย่างไร ธรรมะทำไม ธรรมะอย่างไร ธรรมะให้อะไร แล้วจะมีความสมบูรณ์ ขอยุติด้วยความสมควรแก่เวลา ขอบคุณ ขอบคุณ ขอบคุณ