แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ต้องขอทำความเข้าใจกันในเบื้องต้นว่า การพูดจากันวันนี้เป็นเพียงการสนทนาธรรม หรือเรียกว่าคุยกันเท่านั้นเอง ไม่อาจจะบรรยายอย่างปาฐกถา เพราะว่าไม่มีแรง ถ้าพูดอย่างปาฐกถาต้องมีการใช้ลมมากและก็ไม่มีแรง ไม่มีลมพอที่จะพูดได้ ฉะนั้นขอให้เราพูดกันอย่างสนทนาธรรม คือคุยกันเท่านั้นเอง และการสนทนานี้ก็เป็นการพูดกันอย่างภายใน ใช้คำว่าภายในขอบเขตของมิตรสหายเป็นเรื่องตรงไปตรงมา พูดจาอย่างภายใน อย่างเป็นภายใน ไม่ใช่ ไม่ใช่ว่าจะให้กว้างขวางทั่วไปอะไร ไม่ใช่ พูดอย่างมิตรสหายเป็นภายใน บางอย่างก็มีลักษณะเป็นความลับ เป็นภายในของพวกเรา พูดกันอย่างกับว่าเป็นการปรึกษาหารือ สิ่งที่ยังเป็นความลับอะไรอยู่บางอย่าง
โดยสรุปแล้วก็คืออยากจะพูดถึงเรื่องที่เป็นหัวใจ หัวใจ สาระที่เป็นชั้นหัวใจของพระพุทธศาสนา เดี๋ยวนี้พวกเราพุทธบริษัททั้งหมด ทั้งหมดนี่ ยังไม่เข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนา พูดอย่างนี้ก็คล้ายกับดูถูกดูหมิ่นผู้อื่น ฟังดูแล้วก็น่าเกลียด แต่ความจริงก็มีอยู่ คำว่าพุทธศาสนามันเปลี่ยนความหมาย หรือว่ามีความหมายที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง คำว่าพุทธศาสนา พุทธศาสนาที่เราพูดกันอยู่โดยเฉพาะ ไอ้ Buddhism Buddhism นี้ ไม่ถูกตรงตามความเป็นจริง พุทธศาสนาที่แท้จริงไม่ควรจะเป็น - ism ไม่ควรจะเป็น - ism อย่างหนึ่งในบรรดา - ism - ism ทั้งหลายมากมาย พุทธศาสนาไม่ควรจะเป็น - ism อย่างหนึ่งในบรรดา - ism ทั้งหลาย ท่านก็พอจะเข้าใจได้ว่า - ism - ism นี้มันเป็นไอ้สติปัญญาความรู้ของมนุษย์ที่สรุป ศึกษาและสรุปความเอาเอง มีลักษณะเป็นการเมืองกันทั้งนั้น ดังนั้นยิ่งศึกษาพุทธศาสนาก็ยิ่งไม่รู้พุทธศาสนา ยิ่งศึกษาพุทธศาสนายิ่งไม่รู้พุทธศาสนา อย่าศึกษาพุทธศาสนาเลย แต่ว่าศึกษาธรรมะ ธรรมะและสัจธรรม ความจริง truth ของธรรมชาติเถิด อย่าศึกษาพุทธศาสนาเลย แต่ศึกษาความจริงของธรรมชาติที่มีประโยชน์แก่มนุษย์โดยตรงเถิด
ท่านลองสังเกตดู พุทธศาสนา พุทธศาสนาที่เราศึกษากันอยู่นั้น มันเป็นธรรมะสำหรับพูด สำหรับ ธรรมะสำหรับจำ ธรรมะสำหรับสอบไล่ ธรรมะสำหรับถกเถียงแสดงความคิดความเห็นกัน กระทั่งว่าเป็น philosophy ไปเลย ไม่เป็นธรรมะที่จะดับทุกข์ ไม่เป็นธรรมะที่จะดับทุกข์โดยตรง ขอให้เราศึกษาธรรมะที่เป็นการดับทุกข์โดยตรง จึงจะถึงหัวใจของพระพุทธศาสนา กล่าวอย่างสั้น ๆ มันก็มีธรรมะสำหรับเรียนท่องจำ ธรรมะสำหรับพูดคุย ให้เป็นคนที่พูดเก่ง ธรรมะที่จะสอบไล่ได้ เอาปริญญาทางการศึกษา ธรรมะสำหรับเป็นนัก philosophy อย่างนี้ ไม่ถูกตัวพุทธศาสนา ไม่ถูกหัวใจ ไม่ถูกตัวของพุทธศาสนาที่จะดับทุกข์ได้ ศึกษาพุทธศาสนามาหลายสิบปีแล้ว ก็ยังดับทุกข์อะไรไม่ได้เลย ความทุกข์ยังมีอยู่เท่าเดิม ความยึดมั่นถือมั่นมากกว่าเดิม ความจองหองพองขน ยกตนถือตนกลับมากกว่าเดิม ทั้งที่ศึกษาพุทธศาสนามาหลายปีแล้ว นี่เรียกว่ายิ่งศึกษาพุทธศาสนา มันยิ่งไม่รู้พุทธศาสนา
เดี๋ยวนี้เขาก็มีพุทธศาสนาในอินเดีย พุทธศาสนาในประเทศจีน พุทธศาสนาในประเทศทิเบต มองโกเลีย พุทธศาสนาในประเทศไทย ในประเทศลังกา ในประเทศพม่า ในประเทศเขมร เป็นพุทธศาสนาไม่รู้ว่ากี่ กี่สิบอย่างแล้ว แล้วก็ยังไม่ดับทุกข์ได้ เพราะว่ามันไม่ถูกหัวใจของพระพุทธศาสนานั่นเอง พุทธศาสนาเป็นของธรรมชาติ เป็นความ เป็นสัจจะของธรรมชาติ ถูกนำไปสมมติ ไปปรับปรุง ไปปรุงแต่ง ไปยึดถือ ไปจนเป็นหลายสิบรูปแบบ จนไม่ดับทุกข์กันตรงไหนได้เลย มันเป็นแต่เพียงว่าพุทธศาสนาที่คุย สอนหรือคุยกันอยู่ในอินเดีย ในจีน ในเมืองไทย ในลังกา พม่า พุทธศาสนาที่พูดกันอยู่ที่นั่น หรือมีพิธีรีตองกันอยู่ที่นั่น ยังไม่ดับทุกข์ได้เลย ยัง ยังจะเพิ่มความทุกข์ หรือความยุ่งยากลำบากหมดเปลืองให้เสียอีก
เราลองคำนวณดูว่า เรื่องราวของพระพุทธศาสนาที่พิมพ์ พิมพ์ขึ้นเป็นเล่มหนังสือ ตั้งแต่พระบาลี อรรถกถา ฎีกา เรื่องพิเศษ เรื่องต่าง ๆ ของเก่านั้นก็ดี และที่แต่ง ตกแต่งร้อยกรองกันขึ้นใหม่ทีหลังโดยผู้มีวิชาความรู้ก็ดี มากมายเท่าไร มากมายเท่าไร ผมคิดว่ามันคงเป็นกระดาษทั้งหมดเป็นร้อยตัน เป็นพันตัน เรื่องราวที่พิมพ์เป็นกระดาษเรื่องพระพุทธศาสนา แล้วทำไมมันจึงไม่ดับทุกข์ให้แก่โลก หรือแก่มนุษย์ได้ หัวใจมันอยู่ที่ตรงไหน ข้อความที่พิมพ์ขึ้นเป็นกระดาษ เป็นพันตัน เกินร้อยตันแล้วกัน ข้อความหรือหัวใจมันอยู่ที่ตรงไหน หัวใจแท้ ๆ นิดเดียวมันอยู่ที่ตรงไหน
ขอยืนยันว่าหัวใจของพระพุทธศาสนามีอยู่ที่คำพูดเพียงคำเดียวว่าอิทัปปัจจยตา อิทัปปัจจยตา อิทัปปัจจยตา ขอให้จดจำคำนี้ให้ได้ก่อน คำนี้เป็นคำที่ต้องเข้าใจ เข้าใจแล้วปฏิบัติให้ได้ โดยมากเราจะเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ไม่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา ที่จริงเป็นเรื่องเดียวกัน ในพระบาลีเรียกยาวเอามารวมกันเป็น อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปปาโท เรียกว่า เรียกกันเต็มที่แล้วก็เรียกว่า อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท แต่หัวใจของเรื่องก็มีคำเดียวคือ อิทัปปัจจยตา ขอให้ทำความเข้าใจเรื่องนี้กันเป็นพิเศษ ใจความของคำ ๆ นี้ก็มีแต่เพียงว่า สิ่งทั้งปวงมีเหตุ มีปัจจัย แล้วก็เป็นไปตามอำนาจของเหตุของปัจจัย คือมีปัจจัยแล้วก็ไปตามอำนาจของเหตุของปัจจัย นี่ความหมายของคำว่า อิทัปปัจจยตา เรื่องนี้พอที่จะแบ่งออกได้เป็นคำพูดเพียง ๔ ประโยค ๔ ประโยค sentence นี่ ๔ ประโยค ขอได้โปรดตั้งใจฟังให้ดี ให้เข้าใจ และจำไว้ให้แม่นยำ
ประโยคที่ ๑ ว่า สิ่งทั้งปวงเกิดขึ้น และเป็นไปตามอำนาจของอิทัปปัจจยตา สิ่งทั้งปวงเกิดขึ้น แล้วก็เป็นไปตามอำนาจของอิทัปปัจจยตา
ประโยคที่ ๒ ก็ว่า ถ้าทำผิด หรือปฏิบัติผิดต่อกฎอิทัปปัจจยตา ความทุกข์ก็จะเกิดขึ้น
ประโยคที่ ๓ ก็ว่า ถ้าปฏิบัติถูกต้องตามกฎอิทัปปัจจยตา จะไม่มีความทุกข์
ประโยคที่ ๔ ว่า ถ้าควบคุมหรือเอาชนะกฎอิทัปปัจจยตาได้ ก็จะมีพระนิพพาน คือ คือหมดปัญหา หมดความทุกข์สิ้นเชิง
ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า
๑ สิ่งทั้งปวงเกิดขึ้นและเป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตา
ข้อที่ ๒ ถ้าปฏิบัติผิดต่อกฎอิทัปปัจจยตา ความทุกข์จะเกิดขึ้น
ข้อที่ ๓ ถ้าปฏิบัติถูกต้องตามกฎอิทัปปัจจยตา ความทุกข์จะไม่มีหรือไม่เกิด
และถ้าเอาชนะอิทัปปัจจยตาได้ ก็จะมีพระนิพพาน คือหมด หมอปัญหา หมดความทุกข์ หมดเรื่องที่จะต้องประพฤติหรือกระทำทีเดียว
อธิบายพอเข้าใจได้ง่าย ๆ ว่าสิ่งทั้งปวง สิ่งทั้งปวงหมายถึงทุกสิ่งนี่ ทุกสิ่ง ไม่ยกเว้นอะไร จะเป็นสิ่งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิต จะมีปัจจัยหรือไม่มีปัจจัย หรือที่เรียกภาษาวิทยาศาสตร์ จิตวิทยาว่า phenomena ก็ดีหรือ phenomenon ก็ดี หมด ไม่ยกเว้นอะไร นี่คือสิ่งทั้งปวง เกิดขึ้นมาและเป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตา จะเป็นวัตถุ วัตถุก็ดี จะเป็นการกระทำก็ดี เป็นผลของการกระทำก็ดี เป็นเรื่องวัตถุก็ดี จิตใจก็ดี ทั้งหมดนี้เรียกว่า มันเกิดจากกฎอิทัปปัจจยตาและกำลังเป็นไป เป็นไปตามกฎของอิทัปปัจจยตาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
แม้แต่ความคิดเรื่องพระเป็นเจ้าว่ามีพระเป็นเจ้าอย่างนั้นอย่างนี้ มันเป็นความคิดนี่ ความคิดอันนี้ ก็เกิดขึ้นมาในจิตใจของมนุษย์ตามกฎของอิทัปปัจจยตา ปรุงแต่งให้เกิดความคิดอันนี้ขึ้นมา ถ้าถือว่ามีสิ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้นมา ก็สร้างขึ้นโดยกฎอิทัปปัจจยตา เป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตา หรือว่ามันว่าจะเกิดเองตามธรรมชาติ revolution ตามธรรมชาติ มันก็เป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตา ดังนั้นจึงสรุปความว่าทั้งปวง ทั้งหมด ทั้งสิ้น ทุกอย่าง เกิดจากอิทัปปัจจยตา และเป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตา ซึ่งเป็นกฎของธรรมชาติ เป็น universal และเป็น absolute ที่สุด universal ที่สุด absolute ที่สุด
ทุก ๆ ปรมาณูในจักรวาลเกิดจากอิทัปปัจจยตา เป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตา นี่คือความจริงของธรรมชาติข้อที่ ๑ ประโยคที่ ๑ ว่า ทุกสิ่งเกิดจากและเป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตา พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ ได้ตรัสรู้ ก็ตรัสรู้เรื่องอิทัปปัจจยตา แต่เมื่อเอามาสอนประชาชน สอนเฉพาะสิ่งที่มีชีวิต เฉพาะสิ่งที่มีชีวิต เช่น มนุษย์มีชีวิต เปลี่ยนชื่อเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท เพราะคำว่า อิทัปปัจจยตามันหมายถึงทุกสิ่ง ทุกสิ่ง ไม่ยกเว้นอะไร มีชีวิตหรือไม่มีชีวิตอะไรก็ ทุกสิ่ง กฎอิทัปปัจจยตา แต่ถ้าจะเฉพาะคน เฉพาะสิ่งที่มีชีวิต มนุษย์ มนุษย์รู้จักสุขทุกข์ได้ เปลี่ยนชื่อให้มันแคบเข้ามา สั้นเข้ามา เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ธรรมะ เห็นปฏิจจสมุปบาท เห็นธรรมะ ผู้ใดเห็นธรรมะ ผู้นั้นเห็นฉัน ฉะนั้นพระพุทธเจ้าที่แท้จริงที่จะช่วยได้ก็คือ ความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท ที่เรารู้แล้วดับทุกข์ได้ เรียกว่าธรรมะ ธรรมะที่ดับทุกข์ได้ คือความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท
พระพุทธเจ้าพยายามเพื่อตรัสรู้ เพื่อให้ตรัสรู้ปฏิจจสมุปบาท ได้ตั้งจุดตั้งต้นว่า ความทุกข์เกิดมาจากอะไร แล้วสิ่งนั้นเกิดมาจากอะไร แล้วสิ่งนั้นเกิดมาจากอะไร แล้วสิ่งนั้นเกิดมาจากอะไร จนกระทั่งพบต้นเงื่อนที่สุดว่าเป็นอวิชชา ทั้งหมดนี้เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท ตลอดทั้งคืนมีการทบทวนเรื่องปฏิจจสมุปบาท คืนที่ตรัสรู้ มีการทบทวนเรื่องปฏิจจสมุปบาทตลอดทั้งคืน ตรัสรู้แล้วมานั่งทบทวนอยู่พระองค์เดียวอีก ๗ วัน ๗ คืน แล้วทรงคิดว่าเรื่องนี้ลึกนัก คงจะไม่มีใครเข้าใจ คิดว่าจะไม่สอนแล้ว แต่แล้วอาศัยกรุณาว่าจะมีคนบางคนรู้ได้ จึงมาคิดสอน พยายามสอน เมื่อพระพุทธเจ้าท่านจะกล่าว recite หรือเหมือนที่เราอยากจะร้องเพลง คนธรรมดาอยากจะร้องเพลง พระพุทธเจ้าก็สาธยายปฏิจจสมุปบาทอยู่โดยพระองค์เดียว องค์เดียว คนเดียว องค์เดียว recite the formula ของปฏิจจสมุปบาท ข้อนี้มีความปรากฏชัดอยู่ในพระบาลี ไปดูได้ วันหนึ่ง ทรงคิดว่าไม่มีใครอยู่องค์เดียว ก็ recite the formula ของปฏิจจสมุปบาท ทั้งเรื่องทางตา ทางหู ทางจมูก ปฏิจจสมุปบาททั้งชุด แล้วเผอิญมีภิกษุองค์หนึ่งมาแอบฟังอยู่ข้างหลัง ท่านเหลียวไปเห็นเข้า อ้าว, แกอยู่นี่ นี่เอาไป เอาไป จงเอาไป ปฏิคคันหาตุ เอาไป นี้เป็นอาทิพรหมจรรย์ starting point of พรหมจรรย์ เอาไป เอาไป เรื่องปฏิจจสมุปบาท
นี่แหละขอให้พยายามมองเห็นโดยชัดเจนว่า เรื่องปฏิจจสมุปบาทคือเรื่องหัวใจ หัวใจ ในความหมายไหนก็ตาม หัวใจ หัวใจ หัวใจของพระพุทธศาสนา มีความสำคัญตรงที่ว่าทุกสิ่ง ทุกสิ่ง ไม่ยกเว้นอะไร เกิดขึ้นและเป็นไปตามของกฎอิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท นี้เป็นความจริงข้อที่ ๑ ที่เราจะต้องเข้าถึงให้จนได้ ศึกษาให้แตกฉาน ให้จนได้ คือเรื่องปฏิจจสมุปบาท ในฐานะเป็นที่เกิด เป็นที่ เป็นการควบคุมสิ่งทั้งปวงอยู่ตลอดกาลนิรันดร
แล้วทีนี้ ความจริงข้อที่ ๒ ก็คือว่า ถ้าปฏิบัติผิดต่อกฎปฏิจจสมุปบาทแล้ว ความทุกข์จะเกิดขึ้น คือเราเผลอไม่มีสติ ในเมื่อกระทบกับอารมณ์ ตากระทบรูป หูกระทบเสียง จมูกกระทบกลิ่น เมื่อกระทบอารมณ์ เราเผลอ เราไม่มีสติ นี้เรียกว่าทำผิด ประพฤติผิดต่อกฎปฏิจจสมุปบาท ก็มีปฏิจจสมุปบาทที่ให้เกิดทุกข์ เกิดขึ้นเป็นสาย ตลอดสาย แล้วเราก็เป็นทุกข์ นี้เรียกว่าประพฤติผิดต่อกฎปฏิจจสมุปบาทแล้วเกิดทุกข์ การทำผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรม ผิดขนบธรรมเนียมประเพณี ผิดศาสนา ผิด ๆ ไปเสียทุกอย่างนั้น รวมอยู่ในคำว่าทำผิดต่อกฎปฏิจจสมุปบาท แล้วก็เกิดทุกข์ การทำผิดทำชั่วทั้งหลายอย่างไร ท่านทั้งหลายก็รู้ได้แล้ว มันมีมูลมาจากไม่มีสติ ขาดสติ และก็ทำผิดต่อกฎของปฏิจจสมุปบาท กลายเป็นความชั่ว นรกเป็นผลของการทำผิดต่อกฎปฏิจจสมุปบาท
ทีนี้ความจริงข้อที่ ๓ ถ้าทำถูกต้องต่อกฎปฏิจจสมุปบาท จะไม่มีความทุกข์เกิดขึ้นได้เลย เมื่อตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัสทางกายสัมผัส จิตคิดนี้ มีสติเพียงพอ มีสติถูกต้อง นำมาซึ่งปัญญาถูกต้อง เป็นสัมปชัญญะ แล้วก็จะไม่เกิดการปรุงแต่งในทางจิตที่ผิด ๆ แล้วมันก็ไม่เกิดกิเลส แล้วมันก็ไม่เกิดความทุกข์ใด ๆ นี่ เรียกว่าปฏิบัติถูกต้องต่อกฎปฏิจจสมุปบาทแล้ว ความทุกข์เกิดขึ้นไม่ได้ การปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย ตามศีลธรรม ตามขนบธรรมเนียมประเพณี การให้ทาน การรักษาศีล การกระทำทุกอย่าง กระทั่งทำสมาธิ ปัญญา ทั้งหมดนี้เป็นการกระทำที่ถูกต้องตามกฎของปฏิจจสมุปบาท แล้วความทุกข์ก็จะไม่อาจจะเกิดขึ้นมา
ทีนี้ข้อสุดท้ายที่ว่าเราควบคุมกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทได้ หรือว่าชนะ ชนะปฏิจจสมุปบาท พูดกันอย่างนี้ฟังง่ายกว่า คือไม่อาจจะเกิดกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทฝ่ายผิด ฝ่ายผิดขึ้นในจิตใจ มันก็หมายถึงมีสติ สติ สติสมบูรณ์อยู่ตลอดเวลา ไม่อาจจะเกิดกระแสปฏิจจสมุปบาทใด ๆ ขึ้นมาได้ ไม่เกิดอิทัปปัจจยตาใด ๆ ขึ้นมาได้ นี่ชีวิตก็ว่าง ว่างจากการปรุงแต่ง ว่างจากสังขารการปรุงแต่ง ก็เลยเป็นพระนิพพาน เพราะไม่มีการปรุงแต่ง ดับสังขารทั้งหลายทั้งปวงเสียได้ ดับการปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวงเสียได้ ก็เป็นพระนิพพาน คือความที่ดับทุกข์เด็ดขาดสิ้นเชิง มีพระนิพพาน
ขอให้ศึกษาธรรมะหรือความจริงของธรรมชาติใน ๔ ความหมายนี้ เป็นหัวใจ หัวใจของพระพุทธศาสนา ไม่ต้องอ่านหนังสือเป็นตู้ ๆ เป็นตัน ๆ ไม่ต้องไปศึกษาที่อินเดีย ไม่ต้องไปศึกษาที่ทิเบต ที่เมืองจีน ที่ประเทศไทย เขมร ที่ไหนก็ไม่ต้องไป ศึกษาให้รู้จักความจริง ๔ ความหมายของปฏิจจสมุปบาทแล้วก็เข้าถึงพระพุทธศาสนาที่เป็นชั้นหัวใจโดยสมบูรณ์ จะมีพุทธศาสนากี่นิกาย กี่ลัทธิ ก็ตาม ถ้าไม่สอน ๔ เรื่องนี้ก็ไม่ใช่พุทธศาสนา เราจงบอกเพื่อน เพื่อนมนุษย์ มิตรสหายเพื่อนมนุษย์ของเราได้สนใจในความจริง กฎความจริงของธรรมชาติ ๔ ประการนี้ซึ่งเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาเถิด จะเป็นการช่วยให้เขาเข้าถึงหัวใจของพุทธศาสนาได้ทันเวลา
ความจริงทั้ง ๔ ข้อนี้เป็นกฎของธรรมชาติ ขอยืนยันคำว่ากฎของธรรมชาติ ถ้าทำให้เป็นบุคคล personification ก็เป็นพระเจ้าแหละ ถ้าพูดอย่างตรง ๆ ตรง ๆ ไม่ทำให้เป็นบุคคลก็เป็นกฎของธรรมชาติซึ่งครอบงำทุกสิ่ง ทุกสิ่งในสากลจักรวาล universal เต็มที่ absolute เต็มที่ ขอให้มองเห็นข้อนี้ กฎนี้ เป็นกฎของธรรมชาติที่เป็น universal และ absolute เต็มที่ ที่ว่าเป็น universal นั่นหมายความว่าควบคุมชีวิตทุกชนิด ชีวิตทุกชนิด ชีวิตอย่างเทวดา ชีวิตอย่างคน ชีวิตอย่างสัตว์เดรัจฉาน ชีวิตอย่างต้นไม้ เป็นลำดับ ทุกลำดับนี้ถูกควบคุมอยู่ด้วยกฎ ๆ นี้ เมื่อควบคุมทุกชีวิต มันก็แปลว่า ควบคุมทุกชาติพันธุ์ของมนุษย์ ทุก race มันจะเป็น caucasian มันจะเป็น mongolian มันจะเป็น negroid เป็น australoid เป็นอะไรก็ตาม ทุก ๆ race ของมนุษย์ตกอยู่ภายใต้กฎอันนี้ ดังนั้นไม่ต้องพูดว่า ท่านเป็นคนชาติไหน พูดภาษาอะไร นับถือศาสนาอะไร ถือลัทธิอะไรมาก่อนแต่เดิม ไม่ต้องพูดถึง เพราะว่ากฎธรรมชาติอันนี้ครอบงำท่านอยู่โดยสมบูรณ์แล้ว ท่านต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎอันนี้ คือกฎอิทัปปัจจยตา โดยไม่ต้องคำนึงถึง race หรือชาติพันธุ์ ไม่ต้องคำนึงถึง race มันจะเป็นมนุษย์ race ไหนก็ตาม มันต้องถูกควบคุมอยู่ด้วยกฎอันนี้ มันจะเป็นทุกข์เพราะทำผิดกฎอันนี้ มันจะไม่มีทุกข์เพราะกฎอันนี้ ฉะนั้นขอให้ไม่ต้องมีการแบ่งแยกว่าใคร จะเป็นถือศาสนาอะไร ถือศาสนาอะไรก็ได้ แต่จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์อันนี้
ยกตัวอย่างให้เด็ก ๆ ก็ฟังได้ด้วยว่ามนุษย์ทุก race ทุกชาติพันธุ์ก็มีสิทธิที่จะเป็นโรคเหมือนกัน ที่จะกินยาขนานเดียวกัน อย่างสมมติที่เป็นโรคเอดส์นี้ มีสิทธิ์ที่จะเป็นกันทุก race ถ้ามียาแก้ไขก็ใช้ได้กันทุก race มนุษย์ในโลกทุก race จะใช้ยาแก้โรคร่วมกันได้ เหมือนกับที่เราเห็นอยู่เดี๋ยวนี้ว่า ยาอะไรดีขนานหนึ่งออกมาก็ใช้กันทั้งโลก ทุก race ของมนุษย์ นี่ธรรมะนี้ก็เป็นอย่างนั้นต้องใช้กันทุก race ของมนุษย์ ไม่เฉพาะแต่มนุษย์ ต่อให้เป็นเทวดา เทวดาชนิดไหน ชนิดกามาวจร หรือชนิดพรหม ชนิดพรหมโลก มันก็เป็นโรคชนิดนี้ คือโรคความทุกข์นี้เหมือนกัน และมันต้องแก้โดยวิธีเดียวกันทั้งเทวดาและมนุษย์ กระทั่งสัตว์เดรัจฉาน ใช้กฎเกณฑ์เดียวกันคือกฎอิทัปปัจจยตา มองให้ต่ำลงไปถึงสัตว์เดรัจฉาน วัวก็ดี ม้าก็ดี วัวหรือม้า หรือสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ ที่มันเกิดที่อเมริกา เกิดที่ยุโรป เกิดที่แอฟริกา เกิดเอเชีย ออสเตรเลีย ทุก ๆ ตัวนี่ มันมีสิทธิที่จะเป็นโรคเดียวกัน เหมือนกัน แล้วก็มีสิทธิที่จะใช้ยาอย่างเดียวกัน แก้โรคหายได้เหมือนกัน นี่มันเป็น universal แม้แต่ว่าสัตว์เดรัจฉานมันก็มีอะไร ๆ ที่เป็นของร่วมกันอย่างนี้ และเรามนุษย์ก็ยิ่งไปกว่านั้นเพราะมันสัมพันธ์กัน ถึงกัน ติดต่อกัน บอกกัน สอนกัน มันก็จึงมีความเป็นโรคเหมือนกัน มีความที่จะหายโรคเหมือนกัน มีสิ่งที่ต้องเรียน ต้องรู้ และต้องปฏิบัติเหมือนกัน ขอให้บอกเพื่อนมนุษย์ของเราอย่างนี้
สรุปความว่า ขอให้ศึกษาธรรมะที่แท้จริง สำคัญที่สุดอย่างยิ่งนี้ ๔ ความหมายนี้ จากตัวชีวิตโดยตรง มองไปที่ชีวิตโดยตรง ศึกษาจากชีวิตโดยตรง แม้ว่าจะอ่านหนังสือ จะศึกษาจากหนังสือ ก็ศึกษาเพื่อจะศึกษาชีวิตโดยตรงทั้งนั้น จะศึกษาพระไตรปิฎกทั้งหมดก็ยังไม่รู้ธรรมะ ต้องไปศึกษาชีวิตโดยตรง ให้ถูกต้องตามวิธีที่กล่าวไว้ แล้วก็จะรู้ธรรมะ แล้วก็จะดับทุกข์ได้ ขอให้ศึกษาธรรมะที่จะดับทุกข์ได้นี้ จากตัวชีวิตโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ อย่างนี้เคลื่อนไหว หรือทำหน้าที่ มันเป็นเวลาที่ดีสุดที่จะศึกษาธรรมะที่กล่าวแล้ว เครื่องมือสำคัญก็คือสติ เราจะพูดกันคราวอื่น แต่ว่าใจความสำคัญมันมีอยู่ ๔ ข้อ ว่าทุกสิ่งอยู่ภายใต้กฎอิทัปปัจจยตา ทำผิดต่อกฎอิทัปปัจจยตาจะเป็นทุกข์ ทำถูกต่อกฎอิทัปปัจจยตาจะไม่มีทุกข์ ควบคุมกฎอิทัปปัจจยตาได้จะมีนิพพาน ขอให้เน้นที่ความหมาย ๔ ประการนี้เป็นหลักสำคัญ จะประสบผลที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาตัวแท้ได้ในเวลาอันไม่นาน ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่าผู้ใดเห็น ปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นฉัน ฉะนั้นขอให้เห็นปฏิจจสมุปบาทใน ๔ ความหมายดังกล่าว แล้วจะเห็นพระพุทธเจ้า มีพระพุทธเจ้าอยู่กับตน แล้วก็หมดปัญหาโดยประการทั้งปวง
เอ้า, ผมหมดแรงจะพูดแล้ว ก็ขอให้หยุดการรคุย การสนทนา เดี๋ยวนี้แรง ไม่มีลมจะพูดแล้ว
(หลังจากนี้เป็นการปรึกษาเรื่องการสนทนาที่จะมีขึ้นในครั้งต่อไป)