แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านพุทธทาส: ขอให้อาตมา เป็นฝ่ายถามก่อนจะได้ไหม ใครตอบได้ ก็ขอให้ตอบ คืออยากจะถามว่า ในชีวิตนี้มีปัญหาอะไรเป็นปัญหาแรก และมีปัญหาอะไรที่เป็นปัญหามีอยู่ตลอดเวลา และก็มีอะไรเป็นปัญหาสุดท้าย ชีวิตนี้มีอะไรเป็นปัญหาแรก มีอะไรเป็นปัญหาตลอดเวลา มีอะไรเป็นปัญหาสุดท้าย ใครตอบได้ คือใครรู้แล้ว ใครตอบได้ ช่วยตอบที//
ผู้แปล : อาจารย์ครับ วันนี้ผมหมดแรง ขอให้พูดสั้นๆ อาจารย์พูดยาวๆ ผมแปลไม่ไหว//
ท่านพุทธทาส : ๓ ปัญหา ๓ หัวข้อ//
ผู้แปล: เขาบอกว่า ความสุข//
ท่านพุทธทาส: ปัญหาแรก ปัญหากลาง ปัญหาสุดท้าย ความสุขคำเดียวหรือ//
ผู้แปล: ครับ, เขาตอบว่า ไม่ต้องมีคำตอบ มีแค่คำถามก็พอ ถ้าเรามีคำถามที่ถูกต้อง อันนั้นก็พอแล้ว คำตอบจะมาเอง มีนักเขียนที่มีชื่อเสียงชื่อ Gertrude Stein เมื่อจะตายเขาบอกว่า แกไม่มีคำตอบอะไร แต่เข้ามาใกล้ถึงปัญหาที่ได้ถาม เพราะฉะนั้นให้มีแค่คำถามที่ดีๆ ก็พอแล้ว//
ท่านพุทธทาส: ไม่มีใครตอบ//
ผู้แปล: อาจารย์เข้าใจไหม//
ท่านพุทธทาส: เขาว่าอย่างไร//
ผู้แปล : คำถามแรก ก็ทุกข์คืออะไร อันที่สอง อะไรคือการดับทุกข์หรือหมดทุกข์ และสาม จะดับทุกข์ได้อย่างไร เป็นข้อสุดท้าย//
ท่านพุทธทาส: คำถามที่สาม มันควรจะเป็นว่า ดับทุกข์แล้วจะได้อะไรดีกว่า ความทุกข์คืออะไร จะดับอย่างไร ดับแล้วจะได้อะไร อย่างนั้นจะดีกว่า//
ผู้แปล: ฉันเคยเห็นเด็กคลอดออกมา และเคยดูคนตาย ในเรื่องแรกประเด็นหรือเรื่องแรกๆ ก็คือหายใจครั้งแรก ในเรื่องคนตาย เรื่องสุดท้ายก็คือหายใจครั้งสุดท้าย//
ท่านพุทธทาส: มันเป็นปัญหาว่าอย่างไร//
ผู้แปล: เขาไม่ได้ถามปัญหา อาจารย์ถาม เขาก็ตอบ//
ท่านพุทธทาส: อืม,ไม่มีปัญหา//
ผู้แปล: ปัญหาอันแรกก็คือความไม่แน่ใจว่ามีปัญหา ความไม่แน่ใจในโอกาสหรืออะไรๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตที่จะทำอย่างไรกับมัน ความไม่แน่ใจความลังเลก็เป็นปัญหาแรก//
ท่านพุทธทาส: ปัญหาที่สอง ที่สาม ล่ะ//
ผู้แปล: เขาตอบอย่างเดียวกัน ความไม่แน่ใจ//
ท่านพุทธทาส: ทั้งสามปัญหาคือความไม่แน่ใจ รวมกันทั้งสามปัญหา//
ผู้แปล : ครับ//
ผู้แปล: ปัญหาแรกคือดิฉัน และปัญหาตลอดเวลาคือดิฉัน เพราะว่าเดี๋ยวนี้กำลังละอายที่จะพูด และเมื่อปัญหานี้หมด มันก็เป็นปัญหาสุดท้ายคือตัวกู//
ท่านพุทธทาส: แสดงว่าไม่เคยคิดปัญหาเหล่านี้ ท่านทั้งหลายไม่เคยคิดปัญหาเหล่านี้ เลยเรียกว่าปัญหาชีวิต คำตอบมันง่ายนิดเดียว คำตอบมีง่ายๆ นิดเดียว นี่มันเป็นปัญหาชีวิต ข้อหนึ่งข้อแรกก็ถามว่า เกิดมาทำไม ข้อที่สองว่า เกิดมาแล้วจะต้องทำอย่างไร และปัญหาที่สามว่า ในที่สุดเราจะได้อะไร เท่านี้ก็พอแล้ว จะว่าเกิดมาจากไหนก็ได้, เกิดมาจากไหนก็ได้ แล้วข้อที่สองว่า จะต้องทำอย่างไรเกิดมาแล้ว ปัญหาที่สามว่า แล้วในที่สุดเราจะได้อะไร เท่านี้ก็จะพอ เราคิดทั้งสามข้อนี้ออกหมดแล้ว เราก็จะรู้ จะได้รับคำตอบหมดทั้งชีวิต//
ผู้แปล: อาจารย์จะถามอะไรอีกไหม หรือจะตอบ//
ท่านพุทธทาส : ก็ขอร้องให้ท่านทั้งหลายคิดคำตอบของปัญหาเหล่านี้ ว่าทำไมเกิดมา เกิดมาแล้วจะต้องทำอะไร ในที่สุดควรจะได้หรือต้องได้อะไร ถ้าท่านคิดคำตอบได้ทั้งหมดนี้ ก็เป็นอันว่ารู้เรื่องปัญหาของชีวิตทั้งหมดแหละ ขอให้พยายามไปคิด
ข้อหนึ่งว่า เกิดมาทำไม,เกิดมาทำไม เพราะว่าเราไม่รู้ เพราะเราไม่รู้ ฉะนั้นเราก็เกิดมาเพื่อเรียนให้รู้ เกิดมาเพื่อเรียนให้รู้ มาศึกษาชีวิต เกิดมาเพื่อศึกษาชีวิต ความไม่รู้คืออวิชชา อวิชชาความไม่รู้ทำให้เราเกิดมา แล้วก็ตอบสวนขึ้นไปโดยตรงว่า เราเกิดมาเพื่อเรียนให้รู้ เพื่อทำลายอวิชชา
ทีนี้ปัญหาที่ ๒ ว่า เดี๋ยวนี้ๆ เราจะต้องทำอะไรตลอดชีวิต พวกชาวพุทธก็ใช้โวหารชาวพุทธตอบว่า ฆ่าอวิชชา ทำลายอวิชชา ฆ่าอวิชชา ฆ่า ฆ่า ฆ่าอวิชชาจนตลอดชีวิต ทีนี้ก็ศึกษา ศึกษาแล้วก็ปฏิบัติ ศึกษาแล้วปฏิบัติ ศึกษาแล้วปฏิบัติ เหมือนที่เรากำลังทำอยู่นี้ เราจะทำมันจนตลอดชีวิต
ขอเล่าเรื่องพิเศษเบ็ดเตล็ดประกอบ เคยเห็นรูปภาพเหลาจื๊อไหม ผู้สอนลัทธิเต๋า,เหล่าจื๊อ เคยเห็นรูปภาพเหลาจื้อไหม รูปภาพเหลาจื๊อขี่ควาย-water buffalo ควายตัวดำๆ รูปภาพเหลาจื๊อเขาขี่ควาย พออาตมาเห็นทีแรก โอ้,นี่วิเศษจริงโว้ย ควายมันคือโง่ ภาษาไทยความคิดอย่างไทย ควายคือโง่ คืออวิชชา อวิชชาคือควาย เหลาจื๊อเขาขี่ควายไปได้ตามที่ต้องการ เขาชนะอวิชชา รูปภาพเหลาจื๊อไม่ได้เอามาเขียนไว้ที่นี่ ขี่ควายตัวดำไปเลย เดี๋ยวนี้คุณขี่ควายได้ไหม เดี๋ยวนี้ใครขี่ควายได้บ้าง หรือใครขี่ควายแล้ว ถ้าคุณขี่ควายไม่ได้ ควายก็ขี่คุณ ถ้าคุณขี่ควายไม่ได้ ควายก็ขี่คุณ ตลอดเวลาๆ คุณต้องพยายามขี่ควายให้ได้ ชนะควายให้ได้ ขี่ควายให้ได้ ชนะอวิชชาให้ได้ เที่ยวไปทั่วโลก,เที่ยวไปทั่วโลก เพื่อหาวิธีขี่ควายให้ได้ ฉะนั้นการเรียนเรื่องปฏิจจสมุปบาท ปฏิบัติอานาปานสติภาวนา ก็คือการพยายามขี่ควายให้ได้นั่นเอง พยายามขี่ควายให้ได้โดยวิธีนี้ ที่เซ็นเตอร์ของเราก็คือที่ฝึกการขี่ควาย โรงเรียนขี่ควาย
ทีนี้ปัญหาที่ ๓ ถ้าเราขี่ควายได้ ก็หมดปัญหานั่นเอง final goal ก็คือหมดปัญหา,หมดปัญหา เมื่อเราขี่ควายได้ ก็แปลว่าเราชนะอวิชชาทุกชนิด ทุกระดับ ทุกขนาด เราทำลายอวิชชาได้ เราก็ได้รับ blissfulness and usefulness เต็มอัตรา,เต็มอัตรา ที่ในตึก ตึกใหญ่นั้นเรามีภาพชุดเรื่องจับควาย ภาพสุดท้ายจับควายได้ ขี่ควายได้ พอเสร็จแล้วก็หายไปหมดทั้งคนและควาย หายไปหมด ว่างไปหมดทั้งคนและควาย final goal ก็คือว่าง ว่างจากปัญหาทั้งหมด free-อิสระๆ ปัญหาสุดท้ายได้รับผลก็คืออิสระหรือfree
ตอนกลางวันไปดูภาพนั้น มีอยู่ ๖ ภาพ ตอนกลางวันคุณไปดูภาพเหล่านั้นที่ในโรงสอนธรรมะ เป็นรูปเด็ก เด็กคนหนึ่งเกิดมา ไม่รู้จะไปทางไหน หันไปหันมา ไม่รู้ว่าจะไปทางไหน นี่ภาพแรก และภาพที่ ๒ เผอิญเขาเหลือบไปที่ดิน ที่ดินเห็นรอย รอยอย่างนี้ รอยอย่างนี้ที่ดิน โอ้,นี่รอย เขาก็ไปตามรอย,ไปตามรอย ภาพที่ ๓ เขาเห็นควายแต่ไกล ภาพที่ ๔ เขาก็ไปจับ จับควาย ต่อสู้กัน,จับควาย ต่อสู้กัน ภาพต่อไปเขาชนะ เขาขี่ควาย แล้วก็เป่าปี่ด้วย สบายที่สุดเลย ชนะควาย ขึ้นขี่ควายแล้วก็เป่าปี่ด้วย เขาก็พาควายไปบ้าน ทีนี้ก็ไม่รู้จะทำอะไร เลิก ไม่สนใจควาย ไม่สนใจเป่าปี่ ไม่สนใจควายอีกต่อไป แล้วควายก็หายไป ในที่สุดตัวเขาเองก็หายไป,ตัวเขาเองก็หายไป ภาพชุดหนึ่งเป็นอย่างนี้ คือหายไปทั้งวัวและควาย แต่มีภาพบางชุดนะ มันกลับออกมาว่า คนนี้ ในที่สุดเขาก็ไม่เอาควายไม่เอาอะไร เขาเที่ยวแจกของ เที่ยวส่องตะเกียง เที่ยวส่องตะเกียงให้คนทั้งหลายได้เห็นแสงสว่าง แล้วก็แจกสิ่งของที่ใครควรจะให้ นี่จบลงไปด้วยช่วยผู้อื่นให้รู้ ช่วยผู้อื่นให้รู้ ช่วยผู้อื่นให้ขี่ควายอีกที นี้เป็นภาพประมวลชีวิต ประมวลชีวิตหรือปัญหาของชีวิตได้ดีที่สุด นี่คนจีนเขาเคยคิดกันอย่างนี้ มีประโยชน์ เราคิดตามก็ได้ ศึกษาตามก็ได้ ให้เกิดมาต่อสู้ในชีวิต ชนะชีวิต แล้วจะพอใจ หรือถ้าเกินกว่านั้นก็เที่ยวแจกของส่องตะเกียง
การฝึกวัว ฝึกควายหรือฝึกวัวนั้นอันตรายๆ เพราะว่าถ้าเราไปฝึกแล้วมันไม่ถูกวิธี เราจะต้องตายก็ได้ การฝึกควายนั้นอันตราย ดั้งนั้นเราต้องฉลาด,ต้องฉลาด เราต้องฉลาดกว่าควาย เรามีปัญญา เราก็มีวิปัสสนา แล้วเราก็มีสมาธิ สมาธินั้นเปรียบเหมือนกับจับควายได้ เอาเชือกผูกควาย,เอาเชือกผูกควาย นี่สมาธิ เราก็ชนะควายขึ้นขี่หลังควายไป นี่เราก็เป็นวิปัสสนา เราก็ไปหาความสงบสุข หรือถ้าเราใจดีเรามีใจดี เราก็เที่ยวแจกความสุข,เที่ยวแจกความสุข อย่าลืมว่า ต่อสู้กับควายนี้บางทีก็เป็นอันตราย ต้องฉลาด ต้องฉลาดจึงจะไม่ตาย เดี๋ยวควายขวิดตาย เราฉลาดกว่า เราก็ชนะควาย แล้วเราก็ขี่ควาย เหมือนกับทำอานาปานสติโดยตรงนั่นแหละ มันเหมือนกับเชือกมาผูกควาย ก็มีวิปัสสนาเห็นแจ้งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และก็เหมือนกับว่าเราชนะควาย ก็ขึ้นขี่หลังควายไปได้ สรุปว่า ฝึกควายนั้นอันตรายถ้าไม่มีปัญญามากพอแล้วก็จะตายเอง ถ้ามีปัญญามากพอก็จะชนะควาย ก็จะขี่ควายไปได้ตามความประสงค์
อธิบายละเอียดออกไปอีกนิดหนึ่งก็ว่า การที่จะฝึกควาย ฝึกม้า ฝึกช้าง ฝึกอะไรนี้ เขาต้องมีหลัก หลักโคนเสานั้น ปักลงไปในดินอย่างแข็งแรงที่สุด แล้วเขาก็เอาเชือกมาผูกควายเข้ากับหลัก ให้มันอยู่ที่หลัก ให้มันอยู่กับหลัก แล้วเราก็ฝึกอย่างนั้น ฝึกอย่างนี้ ฝึกอย่างโน้น จนมันเข้าใจ จนมันเข้าใจคำพูด จนมันเข้าใจทำตามคำสั่ง หลักที่ปักนี้คือลมหายใจ อานาปานสติคือลมหายใจเปรียบเหมือนกับหลัก แล้วเราก็มีสติ สติเหมือนกับเชือก ผูกควายเข้าไว้กับหลัก แล้วก็มีบทฝึกต่างๆ บทฝึกต่างๆ มันเป็นปัญญาเป็นวิปัสสนา จนควายนั้นเข้าใจคำพูด เข้าใจคำสั่ง เข้าใจปฏิบัติตามอะไรได้
คำว่าโยคะนั้นมันแปลว่าผูก ที่เรียกว่าโยคะ ทำโยคะเป็นโยคีนี้ก็คือผู้ที่ผูกควาย ผูกสัตว์ให้ติดกับหลัก แล้วก็ฝึกๆ เรียกว่าทำโยคะ แล้วเขาก็เป็นโยคี นี่เราจงฝึกควายๆ ชีวิตที่โง่ให้มันเป็นชีวิตที่ฉลาด ไล่ความโง่นั้นหายไปให้เป็นชีวิตที่ฉลาด นั่นแหละคือเรื่องของเราเอง เรื่องของเราเองโดยตรง
ทีนี้คุณก็เห็นได้ง่ายว่า สติเหมือนกับเชือกสำหรับผูกควาย ถ้าเชือกมันขาด ต่อสู้กันกับควายแล้วเชือกมันขาด ควายมันก็หนีไป ต้องไปจับมาใหม่ มาผูกกันใหม่ ทุกทีที่เชือกมันขาด ควายมันก็หนีไป เมื่อคุณฝึกสมาธิที่เซ็นเตอร์นั้น คุณทำเชือกขาดกี่ครั้ง คุณทำเชือกขาดกี่ครั้ง คือสมาธิล้มเหลวกี่ครั้ง สมาธิล้มเหลวกี่ครั้ง เท่ากับคุณทำเชือกมันขาด ถ้าเชือกมันขาด ควายมันก็หนีไป ทำเชือกขาดกี่ครั้ง ทุกคนก็รู้ รู้เอง กี่ครั้งๆ จำไว้ให้ดีๆ
ถ้าเรามีสติดี ก็คือเรามีเชือกดี ถ้าเรามีสติดี เราก็มีเชือกดี มันก็ไม่ขาด เราก็ผูกควายได้ เราก็ฝึกควายได้ เราก็ใช้ประโยชน์แก่ควายได้ เรื่องก็จบ เราเกิดมาเพื่อฝึกควาย เกิดมาเพื่อฝึกควาย ครั้นฝึกควายได้แล้ว เราก็ได้รับผลดีที่สุดอย่างที่ว่ามาแล้ว เป็นgreatอย่างดีจากพระเจ้า เป็นblissfulness และ usefulness ถ้าคุณฝึกที่นี่ ที่เซ็นเตอร์นี้ ฝึกไม่สำเร็จ คุณจะต้องพาควายไปบ้านที่อเมริกา ที่ออสเตรเลีย แล้วแต่ว่าคุณมาจากไหน คุณก็พาควายไปบ้านของคุณ แล้วก็ไปฝึกกันต่อไปจนกว่าจะสำเร็จ คุณมาอย่างทัวร์ริสต์ แล้วคุณก็ไม่ได้เป็นpilgrim(ผู้แสวงบุญ) คุณก็เป็นคนเลี้ยงควาย พาควายกลับไปบ้าน ชีวิตนี้คือควาย/ เอ้า,ทีนี้คุณจะถามปัญหาอะไรก็ว่าไป ปัญหาของเราเสร็จแล้ว//
ผู้แปล: เมื่อจะพยายามฝึกสมาธิและได้วิปัสสนา ทำอย่างไรจึงจะไม่คิดถึงเรื่องอดีต ทำอย่างไรจะกันการคิดในอดีต//
ท่านพุทธทาส: อ้าว,นั่นแหละคุณทำไม่สำเร็จอย่างไรเล่า เมื่อคุณทำสมาธิ แล้วคุณไปคิดถึงเรื่องอดีต ก็คือเชือกมันขาด เชือกมันขาด สติไม่ดี สติไม่ดีคือเชือกไม่ดี แล้วก็เชือกมันขาด ควายมันก็หนีไป ไม่มีอะไร มีเท่านั้น ฉะนั้นมันต้องมีเชือกดีๆ มีสติดีๆ สติเพิ่มขึ้น สติมากขึ้น สติดีๆ นี้ก็คือเชือกมันไม่ขาด คุณก็เอาควายไว้ได้ /
เชือกไม่ดี ไปซื้อเชือกดีๆ มาสิ เชือกของคุณไม่ดี ไปซื้อเชือกดีๆ มาสิ//
ผู้แปล: ซื้ออย่างไร//
ท่านพุทธทาส: ก็ไปเลือกใหม่ หาใหม่//
ผู้แปล: หาอย่างไร//
ท่านพุทธทาส: ก็ฝึกนั่นแหละ เลือกก็คือฝึก คือฝึกสติๆ กำหนดสติ กำหนดอารมณ์ ลมหายใจให้ดี ให้ดี ให้ดี ได้สติใหม่สติดี ก็ไม่ขาด เชือกก็ไม่ขาด คือทำสติให้มากขึ้น ให้ดีขึ้น ให้จริงขึ้น/ เมื่อคุณหัดขี่รถจักรยานนั้น คุณล้มกี่ครั้ง หรือไม่ล้มเลย//
ผู้แปล: ๓-๔ ครั้ง//
ท่านพุทธทาส: ๓-๔ ครั้งนั้น ทุกครั้งมันสอน,ทุกครั้งมันสอน การล้มนั้นมันสอน การล้มนั่นเองมันสอน ไม่ใช่ครูที่ไหนมาสอน การล้มนั่นแหละมันสอน ฉะนั้นเราก็ล้มหลายครั้ง คือว่าจิตฟุ้งซ่านหนีไปหลายๆ ครั้ง
ทุกครั้งมันสอน ล้มทุกครั้งมันสอน ไม่ใช่เฉยๆ ทุกๆ ครั้งที่ล้มมันสอน/ อีกเรื่องหนึ่งอยากจะถามว่า คุณพายเรือเป็นไหม คุณต้องหัดพายเรือกี่วัน คุณจึงพายเรือเป็น/ คุณขี่รถจักรยานโดยปล่อยมือได้ไหม//
ผู้แปล: พักหนึ่ง//
ท่านพุทธทาส : กี่วัน กี่วันจึงจะได้ ล้มกี่ครั้ง กี่วัน//
ผู้แปล: หลายวัน//
ท่านพุทธทาส: นั่นแหละ ขอให้ถือเอาความหมายนี้ ทำอีกให้ดีกว่าเก่า ทำอีกให้ดีกว่าเก่า ทำอีกให้ดีกว่าเก่า ในที่สุดเราก็ทำได้ ขอให้จำไว้สั้นๆ ว่า การกระทำนั่นแหละสอน ตัวการกระทำนั่นแหละมันสอน ดีกว่าคนสอน ดีกว่าครูสอน การกระทำนั่นแหละมันสอน แล้วการกระทำที่ผิดไปพลาดไปนี้ยิ่งสอนดีกว่า ยิ่งสอนดี สอนดีกว่า ที่ว่าการกระทำนั่นแหละสอน ความผิดพลาดนั่นแหละสอน/ คราวนี้เราหายใจอย่างนี้ โอ้,ไม่สำเร็จ เราหายใจอย่างนี้ เราหายใจอย่างนี้ เราทำresearchเรื่อยๆ ไปเดี๋ยวก็พบว่า หายใจอย่างนี้ หายใจอย่างนี้ สำเร็จๆ/ ถ้าปัญหานี้หมดแล้วก็ถามปัญหาอื่น//
ผู้แปล: คนนี้เคยเข้าไปใช้ชีวิตในพวกพม่า ก็พูดเหมือนพม่า เขาไม่ได้เรียกอานาปานสติ เขาเรียกอานาปานะ เฉยๆ อานาปานะ พอไหม มีชาวพุทธบางคนบอกว่า อานาปานะก็ดีสำหรับความสงบและสมาธิอย่างเดียว แต่ไม่มีประโยชน์สำหรับวิปัสสนา เขาบอกว่าต้องใช้ระบบวิปัสสนา ซึ่งคงจะไม่ถึงระบบของเขา ของอาจารย์นั้นจึงจะเห็นทุกสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง ก็ถามว่า การหายใจเป็นทางที่จะเกิดวิปัสสนาหรือไม่//
ท่านพุทธทาส: ก็แบ่งเป็น ๔ หมวดแล้ว หมวดที่ ๔ วิปัสสนาเต็มที่,วิปัสสนาเต็มที่ หมวดที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ มีวิปัสสนาน้อยๆ น้อยๆ แทบจะมองไม่เห็น คือมีสมาธิ สมาธิเต็มที่ แล้วก็ค่อยๆ มีวิปัสสนาน้อยๆ คืออย่างน้อยที่เรารู้จักลมหายใจ เข้าใจเรื่องลมหายใจนี้ก็เป็นวิปัสสนาน้อยๆ เรารู้จักปีติและความสุขก็เป็นวิปัสสนาน้อยๆ เรารู้เรื่องความจริงอะไรต่างๆ ของจิตจนสามารถควบคุมจิตนี้เราก็มีวิปัสสนามากขึ้น พอเราเห็นอนิจจัง นั่นวิปัสสนาเต็มที่ ถ้าวิราคะ นิโรธะ ก็ได้ผลของวิปัสสนา อานาปานะแปลว่าลมหายใจเข้าออก ไม่ได้หมายถึงสติหรอก นั้นเขาเรียกไม่ถูก อานะกับอาปานะ แปลว่าลมหายใจเข้าออก อานาปานสติ ก็สติกำหนดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือ truth อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ทุกครั้งที่หายใจเข้าออก จึงจะเรียกว่าอานาปานสติ อานาปานะคือลมเท่านั้นแหละ สตินี้กำหนดสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ทุกครั้งที่หายใจเข้าออก คำนี้ต้องแปลให้ถูกต้องนะ อานาปานสติ กำหนดอยู่ที่ truth หรืออะไรที่เป็นความจริงที่เกี่ยวอยู่กับสิ่งนั้น กำหนดสิ่งนั้นอยู่ทุกครั้งที่หายใจเข้าออก สิ่งที่ถูกกำหนดนี้จะเปลี่ยน เปลี่ยนไปถึง ๑๖ อย่าง ๑๖ขั้น สิ่งที่ถูกกำหนดจะเปลี่ยนไปถึง ๑๖ อย่าง
ตัวอย่างเช่น เมื่อท่านเห็น หรือเข้าใจ หรือรู้ experienceโดยที่ว่า ถ้าลมหายใจละเอียดระงับ ร่างกายนี้ก็พลอยละเอียดและระงับ การรู้เห็นเพียงเท่านี้ก็เรียกว่าวิปัสสนาได้แล้ว แม้จะอย่างอ่อนๆ อย่างเบื้องต้นเริ่มต้น มันก็มีวิปัสสนาน้อยๆ ตั้งแต่หมวดที่ ๑ ที่ ๒ ไปตามลำดับ แล้วไปเต็มที่ในหมวดที่ ๔ เมื่อมองเห็นหรือรู้สึกว่าเวทนานั้น rapture หรือ happiness ก็ตาม มันปรุงแต่งความคิด มันทำให้เกิด thought-ความคิด พอเห็นความจริงข้อนี้ก็เรียกวิปัสสนาแล้ว แม้จะยังน้อยอยู่ ยังเล็กอยู่
ถ้าท่านเรียนบาลี เรียนภาษาบาลี รู้ภาษาบาลี ท่านก็จะได้คำแปลที่ถูกต้องของคำว่าอานาปานสติ ช่วยฟังให้ดี ช่วยจำให้ดีว่า อานาปานสตินั้น ถ้าแปลอย่างถูกต้องตามภาษาบาลีแล้ว ก็แปลว่าสติกำหนดอยู่ที่truth หรือfact ก็ได้ truth หรือ fact ของธรรมชาติอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ กำหนดอยู่ทุกครั้งที่หายใจออกและหายใจเข้า สติกำหนดอยู่ที่ธรรมะ truth หรือ fact อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ อยู่ทุกลมหายใจออกและเข้าอย่างนี้ก็เรียกว่าอานาปานสติ แต่มันลำบาก คือว่าถ้าภาษาบาลีนั้น อะไรๆ มันก็เรียกว่าธรรมะไปหมด ไม่ว่าอะไรมันเรียกว่าธรรมะๆ คำเดียวนี้ไปหมด ใช้คำว่าธรรมะไปหมดทุกๆ อย่าง
จะไล่ไปตามลำดับ พอสังเกตเห็น พอเข้าใจได้ว่า ทีแรกหมวดที่ ๑ ขั้นแรก ก็กำหนดที่ลักษณะของลมหายใจ ลมหายใจมีลักษณะอย่างไร แล้วกำหนดที่ลักษณะที่ยาว ลักษณะที่สั้น ลักษณะที่หยาบ ลักษณะที่ละเอียด แล้วกำหนดลักษณะที่ว่ามันเนื่องกันอยู่กับร่างกาย มันระงับอย่างไร ร่างกายระงับอย่างไร ลมหายใจระงับอย่างไร แล้วเรามีความระงับอย่างไร กำหนดอยู่ที่ความระงับแห่งกายและใจ นี่มันมีหลายขั้นตอนอย่างนี้ กำหนดที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งทุกครั้งหายใจเข้าออก แม้แต่หมวดที่ ๑ สี่ขั้นตอน มันก็ยังกำหนดตั้งหลายๆ อย่าง
ก็ท่านทราบอยู่แล้วว่าจัดเป็น ๑๖ ขั้น เพราะมันมีอารมณ์ หรือ object ที่จะกำหนดนั้นตั้ง ๑๖ อย่าง แล้วในหนึ่งอย่างมันยังแยกอย่างนั้นอย่างนี้ได้อีกหลายๆ อย่าง มันมีเป็นหลายสิบอย่าง แต่ว่าเอาแต่ใจความสำคัญมันมี ๑๖ อย่าง กำหนดอยู่ที่อย่างใดอย่างหนึ่งทุกครั้งที่หายใจออกเข้า-เข้าออก ที่ไม่เกี่ยวกับธรรมะหรือศาสนาหรือพุทธศาสนา คำนี้ก็ยังใช้ได้ แม้ว่าในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับศาสนา เช่น ท่านคิดถึงบ้าน คิดถึงบ้านที่เมืองนอกอยู่ทุกครั้งที่หายใจเข้าออก ก็เรียกว่าท่านมีอานาปานสติเหมือนกัน แต่ไม่เกี่ยวกับธรรมะ
ในทางที่เลวร้ายให้โทษ เป็นของเลวร้าย ก็ทำได้ เช่นว่าท่านเกลียดใครอยู่คนหนึ่ง ท่านเกลียดเขาอยู่ คนนั้นแหละท่านนึกถึงหน้าของเขา นึกถึงการกระทำของเขาอยู่ทุกครั้งที่หายใจเข้าออก นึกถึงหน้าของเขา นึกถึงความเลวของเขา นี้ก็เรียกว่าอานาปานสติเหมือนกัน แต่เป็นฝ่ายเลวร้าย ให้โทษๆ อานาปานสติชนิดนี้ให้โทษ ไม่มีประโยชน์ ให้โทษ ถ้ากล่าวว่าเป็นอานาปานสติในพระพุทธศาสนา ก็คือ ๑๖ ขั้นนั่นแหละ ๑๖ ขั้นที่ท่านได้ฝึกนั่นแหละ นั่นแหละคืออานาปานสติในพุทธศาสนา นอกพุทธศาสนาก็ยังมี อย่างเลวอย่างเป็นอันตรายก็มี ไม่มีประโยชน์ก็มี//
ผู้แปล: เมื่อร่างกายนี้ตายแล้ว ใจกับกายนี้มันจะไปอย่างไร เมื่อร่างกายตายแล้ว ใจกับกายจะเป็นไปอย่างไร จะมีอะไรเหลือหลังจากตายแล้วหรือไม่//
ท่านพุทธทาส: นั้นมันคนละเรื่องแล้ว ไม่ใช่เรื่องอานาปานสติแล้ว เป็นเรื่องอื่นแล้ว ในทางพุทธศาสนาเราไม่ถือว่ามีอัตตาหรือตัวตนที่จะไป อัตตาหรือตัวตันเกิดทุกครั้งที่มีปฏิจจสมุปบาทในขั้นอุปาทาน ทีนี้ถ้าว่าคุณยังรักอานาปานสติอยู่ ก็เตรียมตัวตายให้ดีที่สุด เตรียมตัวตายให้ดีที่สุด คือว่าคุณต้องการอะไร,คุณต้องการอะไร คุณก็เอาสิ่งนั้นแหละมาทำอานาปานสติเมื่อจะตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราต้องการความดับไม่เหลือ ดับไม่เหลือแห่งอัตตาหรือพระนิพพาน พระนิพพานดับไม่เหลือ ดับไม่มีอะไรเหลือ ดับไม่มีปัจจัยอะไรเหลือ เราก็มาทำ ต้องการดับไม่มีอะไรเหลืออยู่ทุกครั้งที่หายใจเข้าออก ทุกครั้งที่หายใจเข้าออกต้องการดับไม่มีอะไรเหลือ ดับไม่มีอะไรเหลือ ดับไม่มีอะไรเหลือ จนตาย นี่อานาปานสติที่ใช้ เป็นคนดีที่สุดเมื่อจะตาย
เกี่ยวกับตายแล้วไปเกิดใหม่อีกนั้น ต้องเข้าใจให้ดีๆ เราต้องการจะดับทุกข์ เราต้องการจะดับทุกข์ แต่ว่าความทุกข์มันอยู่ที่นี่ มันไม่ได้อยู่ต่อตายแล้ว ความทุกข์มันอยู่ที่นี่ เราไม่ต้องนึกอะไรหรอก ดับทุกข์กันที่นี่ ดับทุกข์กันที่นี่ นั่นแหละถูกต้อง ถ้าเราเชื่อว่าตายแล้วไปเกิด ถ้าสมมติว่าท่านเชื่อว่าตายแล้วไปเกิด ถ้าไปเกิดอีกก็เป็นทุกข์อย่างเดียวกับที่นี่ เป็นทุกข์อย่างเดียวกับที่นี่ ก็ต้องดับอย่างเดียวกับที่นี่ ฉะนั้นเราดับให้ได้เสียที่นี่แล้วมันก็หมดปัญหา ไม่ต้องมีปัญหาเกี่ยวกับต่อตายไปแล้ว เกี่ยวกับไปดับทุกข์กันอีก ความทุกข์อยู่ที่นี่ จงดับทุกข์กันที่นี่ ไม่ต้องสนใจ ถ้าไปเกิดอีกก็ต้องทำอย่างเดียวกันอีก ทำอย่างเดียวกันอีก ฉะนั้นสนใจแต่อย่างนี้อย่างเดียวก็พอ จะมี reborn (การเกิดอีก) กี่ครั้งๆ ความทุกข์ก็อย่างเดียวๆ อย่างเดียวกันนี้ จะดับทุกข์ที่เมืองไทย หรือไปดับทุกข์ที่อเมริกา ความทุกข์ก็อย่างเดียวกันนั่นแหละ วิธีดับก็อย่างเดียวกันนั่นแหละ เพราะความทุกข์มันอย่างเดียวกัน//
ผู้แปล: แล้วที่เขาถามว่า มีอะไรเหลือหลังจากตายแล้ว อาจารย์จะพูดอะไรไหม//
ท่านพุทธทาส: ไม่ใช่ปัญหา ถ้าเหลือก็เรียกว่าส่วนประกอบที่เราไปยืมมาจากธรรมชาติ เช่น ธาตุทั้งหก ธาตุทั้งหกเหล่านั้นก็กระจายออกไปเหลืออยู่ตามธรรมชาติ//
ผู้แปล: ท่านอาจารย์เชื่อในเรื่องพระเจ้า หรือในอะไรๆ ที่อาจจะเรียกว่าอำนาจสูงสุด//
ท่านพุทธทาส: เราใช้คำว่า God ซึ่งแปลเป็นพระเจ้า Godก็คือพระเจ้านี่แหละ สิ่งเดียวกัน แต่เราจะถือเอาความหมายของมัน ไม่เอาคำพูด เพราะคำพูดนั้นมันจะไม่แน่นอน เป็นภาษาต่างๆ กัน มันก็อธิบายต่างๆ กัน แต่ถ้าเอาความหมายแล้วก็เหมือนกัน Godหรือพระเจ้านั้นคือสิ่งสูงสุดที่เราต้องเชื่อฟัง สิ่งสูงสุดที่เราต้องเชื่อฟัง ทุกคนมี สัตว์เดรัจฉานก็มี สุนัขก็มี มันมีสิ่งสูงสุดที่มันต้องเชื่อฟัง สิ่งไหนสูงสุดจนเราต้องเชื่อฟัง สิ่งนั้นแหละคือพระเจ้า ถ้าท่านจะมีพระเจ้าอย่างที่สอนกันในคริสเตียนก็เป็นอย่างบุคคลหรือมีความคิดนึกอย่างบุคคล มันก็เป็น Personal God แต่ในพุทธบริษัทนี้เราไม่มีพระเจ้าอย่างบุคคล เรามีพระเจ้าอย่าง Impersonal God หมายถึงกฎ,กฎอิทัปปัจจยตา กฎอิทัปปัจจยตาเป็นสิ่งสูงสุดที่เราต้องเชื่อฟัง ดังนั้นเราจึงมีพระเจ้าที่เป็น Impersonal God เราก็มี God ตามแบบของเรา ฉะนั้นพุทธบริษัทมี God นักศึกษาที่เป็นฝรั่งเข้าใจผิดไม่รู้เรื่องนี้ แล้วก็ไปพูดว่าพุทธศาสนาไม่มี God เป็นatheism (อเทวนิยม) เป็นatheismนี้ผิด พุทธศาสนาก็เป็น theism มี God มีพระเจ้า แต่ว่าเป็นอย่างมิใช่บุคคล
ถ้าถามอาตมามีไหม ก็มีสิ มีพระเจ้าอย่างที่มิใช่บุคคลและต้องเชื่อฟังอย่างยิ่ง,เชื่อฟังอย่างยิ่ง คือปฏิบัติตามให้ถูกตามกฎอิทัปปัจจยตาอยู่ตลอดเวลา ต้องเชื่อฟังร้อยเปอร์เซ็นต์อย่างนี้ ขอให้ถือว่าทุกคนมีGod สุนัขสัตว์เดรัจฉานมีไหม ต้นไม้มีไหม มันก็ยังมีสิ่งที่มันต้องเชื่อฟัง แต่มันเล็ก มันหยาบ มันเล็ก มันมองยาก จึงต้องพูดว่า บรรดาสิ่งที่มีชีวิตทุกชนิดทุกระดับมีสิ่งที่มันต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามนั้น นี่จึงว่าทุกชีวิตต้องมี God จะถือเป็น Personal God หรือ Impersonal God แล้วแต่พวกเขา
ย้ำอีกทีว่า คำว่าสิ่งสูงสุดที่ต้องเชื่อฟัง สิ่งสูงสุดที่ต้องเชื่อฟัง แล้วมันก็มีหลายชั้นๆ ตามลำดับแห่งสติปัญญาของผู้นั้น เช่น สุนัขอย่างนี้เขาจะต้องเชื่อฟังเรา เราก็เป็น God ของสุนัข แล้วลูกเด็กๆ ในโรงเรียน ครูเขาถือไม้เรียวอยู่นั่น ครูก็เป็นGodของเด็กผู้นั้นในเวลานั้น หรือบางคนเขาก็มีเงิน มีความได้เงินเป็นGodก็มี ก็เป็นสิ่งสูงสุดเรื่อยขึ้นไป, เรื่อยขึ้นไป จนถึงกับว่าเป็นGodในความหมายที่ถือๆ กันอยู่เป็นอย่างบุคคล เป็นอย่างบุคคลอย่างอธิบายไว้ใน Hinduism,Christianity นั้น ก็มีGodอย่างบุคคล พอมาถึงพุทธบริษัท เขาก็มี Godอย่างมิใช่บุคคล คือกฎ กฎของอิทัปปัจจยตานั้นเป็นสิ่งที่เราต้องเชื่อฟัง แล้วมันเผอิญน่าหัวเราะที่สุดเลย เมื่อคุณเรียกว่าGodddd นั่นคุณออกเสียงยาวนะ ทีนี้ในภาษาไทยเราออกเสียงสั้น-shorten the voice ว่ากฎ แทนคำว่าGodddd นี้ว่ากฎ พุทธบริษัทก็มีกฎนั่นแหละเป็นGod แต่ว่าคนธรรมดาโดยมากทั่วไปนั้น เขามีภรรยาที่เขารัก มีสามีที่เขารักนั่นแหละเป็นGod คุณมีGodชนิดนี้ไหม ภรรยาหรือสามีก็ตามที่คุณรักนั้นมันเป็นGodในใจจริงของคุณ ทั่วไปธรรมดา คนธรรมดาสามัญ//
ผู้แปล: ที่จะเข้าถึงนิพพาน จะดื้อกฎธรรมชาติหรือ มันไม่ใช่ธรรมชาติที่จะเห็นแก่ตัวหรือ//
ท่านพุทธทาส: เดี๋ยวว่าใหม่สิ ว่าอย่างไร //
ผู้แปล: คือการเข้าถึงนิพพานไม่ใช่ผิดต่อกฎธรรมชาติหรือไม่//
ท่านพุทธทาส: หรือ ถามว่าหรือ//
ผู้แปล: หรือไม่//
ท่านพุทธทาส: ถ้าอย่างนั้นพูดกันใหม่ พูดกันอย่างวิทยาศาสตร์ดีกว่า เกี่ยวกับธรรมชาตินั้นมันต้องรู้จักธรรมชาติใน ๔ ความหมาย หรือ ๔ ลักษณะ ธรรมชาติ-phenomenaทั่วไป จะเป็นจิตหรือเป็นวัตถุ ก็เรียกว่าธรรมชาติ ตัวธรรมชาติ -the body of nature ทีนี้ว่า อันที่สองคือตัวกฎของธรรมชาติ มีอยู่ในธรรมชาติทั้งปวง นี้เรียกว่ากฎของธรรมชาติ อันที่สามคือหน้าที่ที่เราจะต้องปฏิบัติตามกฎของธรรมชาติ เราต้องเชื่อฟัง เราต้องปฏิบัติตามกฎของธรรมชาติ หน้าที่นี้ก็คือธรรมชาติ แล้วผลที่ออกมาจากหน้าที่ก็คือธรรมชาติ เราก็เลยได้ธรรมชาติ ๔ ความหมาย
ทีนี้ความหมายไหนสำคัญที่สุด ความหมายที่ ๓ -duty is a course done is a law nature นี่พระเจ้าที่แท้จริงอยู่ที่นี่ อยู่ที่ตัวกฎของธรรมชาติ เราปฏิบัติถูกต้องตามนี้ได้แล้ว เราก็เป็นนิพพานได้ เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่นอกธรรมชาติ ไม่ใช่ผิดธรรมชาติ เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ที่ปฏิบัติดีแล้วก็บรรลุนิพพาน รู้จักธรรมชาติ ๔ ความหมายแล้วก็จะรู้จักกฎที่แท้จริงโดยธรรมชาติ คือหน้าที่ คือกฎ the law of nature นั้นคือกฎหรือGodในความหมายตามธรรมชาติ หรือพูดอย่างวิทยาศาสตร์ก็ได้
ท่านอย่าประหลาดใจเมื่อได้ฟังคำพูดว่า แม้แต่นิพพานนั้นก็เป็น nature แต่มันเป็นอย่างอสังขตะ อย่างที่เขาเรียกกันว่า noumenon ซึ่งตรงกันข้ามจาก phenomena มันตรงข้ามจาก phenomena นี้เรียกว่าอสังขตะ เป็น noumenon นิพพานเป็นธรรมชาติประเภท noumenon อย่าประหลาด นิพพานก็เป็นธรรมชาติ แต่เป็นชนิด noumenon
ในพุทธศาสนาไม่มี super nature คือทั้ง nature และ super nature เป็น nature โดยเสมอกัน เราไม่มี super natural or natural เราไม่มี มีแต่ nature อย่างเดียว นี่คำว่า nature ในพุทธศาสนาหมายความอย่างนี้ ไม่มี super nature
super nature มีสำหรับเด็กๆ มีสำหรับลูกเด็กๆ ถ้ารู้จัก nature ถูกต้องครบสมบูรณ์แล้ว ไม่มี super nature //
ผู้แปล: แล้วมันไม่ใช่ผิดธรรมชาติที่จะไม่เห็นแก่ตัว เพราะว่าเขาทั้งหลายคิดว่าต้องเห็นแก่ตัว อันนี้ธรรมชาติเป็นสัญชาตญาณ//
ท่านพุทธทาส: เห็นแก่ตัวเองหรือไม่เห็นแก่ตัว ก็เป็นnature เห็นแก่ตัวหรือไม่เห็นแก่ตัวก็เป็น nature,natural จะเป็นความผิดหรือเป็นความถูก จะเป็นดำหรือจะเป็นขาว มันก็เป็น nature ของมันเองทั้งนั้น เป็น nature โดยเท่ากัน ทุกๆ คู่- the pair of opposite ก็เป็น nature//
ผู้แปล: ถ้าGod คือกฎแห่งธรรมชาติ และไม่มีอะไรนอกเหนือจากกฎแห่งธรรมชาติ กฎแห่งธรรมชาตินี้มันจะได้เกิดขึ้นอย่างไร มันจะมาจากไหน//
ท่านพุทธทาส: โอ้,นี่มันมีคำพูดเฉพาะในพุทธศาสนา เขาเรียกว่าอสังขตะ ไม่ต้องอาศัยปัจจัยอะไร มีอยู่ได้เอง เป็นธรรมชาติชนิดที่มันมีอยู่ได้เองตามธรรมชาติ สังขตะต้องมีเหตุมีปัจจัยอะไร เป็นพวก phenomena ทีนี้ถ้ามันไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง มันมีได้ในตัวเอง มันตรงกันข้าม อย่างนี้เรียกว่าอสังขตะ นี้สิ่งที่เรียกว่ากฎ กฎนี้เป็นธรรมชาติประเภทอสังขตะ มีอยู่ได้ในตัวเอง นิพพานก็เป็นอสังขตะ ความว่างนี้ก็เป็นอสังขตะ ตัวกฎนี้ก็เป็นอสังขตะไม่ต้องอาศัยปัจจัยอะไร นี่คือคำธรรมะที่เข้าใจยากที่สุดในพุทธศาสนา สิ่งนั้นไม่มีเหตุปัจจัยอะไร สิ่งนั้นไม่ต้องอาศัยอะไร สิ่งนั้นเป็นอยู่ได้เอง เป็นอสังขตะ ช่วยอธิบายคำว่าอตัมมยตาให้เขาเข้าใจ
บางทีเราก็เรียกด้วยคำว่าบรมธรรม,ปรมัตถธรรมบ้าง supreme,supremist supreme ก็พอแล้วกระมัง ไม่ต้องมีsupremist supreme-บรมธรรม คือสิ่งนั้น คืออสังขตะ ภาษาอังกฤษมี supreme,supremist ไหม มีไหม ไม่ต้องมีใช่ไหม supreme อย่างเดียวก็พอแล้ว นั่นแหละเป็นGodที่แท้จริง อันนั้นแหละถ้าจะมีGodตามหลักพระพุทธศาสนา อันนั้นแหละเป็นGodตามหลักพระพุทธศาสนา ถ้าGodบางอย่างอยู่ใต้เหตุใต้ปัจจัย ขอร้องได้ จ้างได้ ให้สินบนได้ นั่นไม่ใช่God ไม่ใช่Godในพุทธศาสนา ไม่ขึ้นอยู่กับอะไร ไม่เกี่ยวเนื่องอยู่กับอะไร ไม่อาศัยอะไร คำนี้อธิบายยาก นั่นแหละความหมายที่แท้จริงของคำว่า supreme //
ผู้แปล: ตัวท่านอาจารย์เองได้ประสบ ได้เข้าถึงบรมธรรมหรือไม่//
ท่านพุทธทาส: ปัญหาส่วนตัวตอบไม่ได้ ไม่ตอบปัญหาส่วนตัว เป็นเรื่องส่วนตัว เป็นปัญหาส่วนตัว ไม่มีคำตอบ//
ผู้แปล: ที่เคยว่า อากาศธาตุรองรับธาตุอื่นๆ แล้วสำหรับพระนิพพาน พระนิพพานจึงยอมรับซึ่งสังขตะทั้งหลาย ถูกไหม//
ท่านพุทธทาส: มันคนละความหมาย คนละความหมาย ว่างอย่างอากาศธาตุเป็น element อันหนึ่ง และก็ว่างเพื่อให้สิ่งต่างๆ อาศัยอยู่ได้ แต่พระนิพพานนั้นมันว่างมากกว่านั้น มันว่างจนไม่เป็นอะไรได้ เพราะไม่มีปัจจัยอะไรปรุงแต่ง มันว่าง แต่โดยเฉพาะเราหมายเอาว่างจากกิเลส ว่างจากความทุกข์ ว่างจากปัญหา ว่างจาก burden of life ว่างได้อย่างนี้ เราจะเอามาเป็นความหมายของคำว่านิพพาน มีอยู่โดยไม่ต้องมีความมี เข้าใจไหม มีอยู่โดยไม่ต้องมีความมี/ existing without existing นั่นแหละคือว่างอย่างนิพพาน/ เข้าใจได้ ๆ ถูกแล้วๆ absolute thing/ walking without the walker นั่นแหละคือว่างอย่างพระนิพพาน//
ผู้แปล: เมื่อฝึกสมาธิ เราก็สนใจตัวเองมากเป็นพิเศษ อันนี้สามารถเป็นความเห็นแก่ตัว ถ้าเราทำเพื่อประโยชน์ของตน และไม่ใช่เพื่อผู้อื่นด้วย ถ้าเรามองอยู่รอบๆ เราจะเห็นสัตว์และเพื่อนมนุษย์หลายคนที่กำลังมีทุกข์ที่ต้องการความช่วยเหลือจากเรา เราจะช่วยผู้อื่นได้อย่างไร ด้วยฝึกสมาธิ//
ท่านพุทธทาส: ความเห็นแก่ตัวนั้นต้องโดยอำนาจของอวิชชา ถ้าเราทำไปเพื่อจะให้ตัวเราดีขึ้นสูงขึ้น นี้ด้วยอำนาจของวิชชา-wisdom อย่างนี้ไม่เรียกว่าเห็นแก่ตัว ถ้าเห็นแก่ตัวต้องด้วยอำนาจของอวิชชา ถ้าด้วยอำนาจของวิชชาไม่ใช่เห็นแก่ตัว เพราะเราเปลื้องตัวเราออกมาได้จากอำนาจของอวิชชานี้แล้วเราก็ช่วยผู้อื่นให้ออกมาเสียได้จากอำนาจของอวิชชา เขาก็ไม่มีตัวและไม่เห็นแก่ตัวด้วยเหมือนกัน
ถูกแล้ว ทีแรกที่จุดตั้งต้นมันอาจจะมีความเห็นแก่ตัวเจืออยู่บ้าง แต่พอเราทำไปๆ ความเห็นแก่ตัวหายไปๆ จนไม่มีตัว เราก็เรียกว่าไม่เห็นแก่ตัว จากความเห็นแก่ตัวไปสู่ความไม่เห็นแก่ตัวนั่นแหละคือการปฏิบัติ มาที่นี่อย่าง tourist นี่เห็นแก่ตัว กลับไปอย่าง pilgrim ไม่เห็นแก่ตัว เอาตัวทิ้งไว้ที่นี่ tourist เห็นแก่ตัว pilgrimกลับไปไม่เห็นแก่ตัว มาด้วยความเห็นแก่ตัว กลับไปอย่างไม่มีความเห็นแก่ตัว//
ผู้แปล: อยากจะถามว่า นิพพานนั้นเป็นธาตุอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่//
ท่านพุทธทาส: เอ้า,วันก่อนก็พูดกันแล้วเรื่องนิพพาน ทุกอย่างเป็นธาตุ อย่างนี้เรียกว่าทุกอย่างเป็นธาตุ ไม่มีอะไรที่มิใช่ธาตุ คำว่าธาตุในภาษาบาลีโดยเฉพาะพุทธศาสนามีความหมายอย่างนี้ ทุกอย่างเป็นธาตุหมด ความผิด ความถูก ความดี ความชั่ว ความทุกข์ ก็ยังเป็นธาตุ ไม่มีอะไรที่มิใช่ธาตุ นิพพานก็เป็นอสังขตธาตุ
เรามีคำว่าธาตุนี้เฉพาะในพระพุทธศาสนาของเรา คำว่าธา-ตุ ความหมายพิเศษเฉพาะในพุทธศาสนา ความมีก็เป็นธา-ตุ ความไม่มีก็เป็นธา-ตุ ความมีก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่ใช่ ก็ยังเป็นธา-ตุ ธาตุแห่งความมี ธาตุแห่งความไม่มี ธาตุแห่งความมีก็ไม่ใช่ ความไม่มีก็ไม่ใช่ นี่จะกินความกว้างถึงอย่างนี้สำหรับคำว่าธา-ตุ/ คำว่าธาตุนี้ คำนี้นะที่เป็นพุทธ คำว่าอย่างนี้ไม่มีในดิกชั่นนารีที่ใช้กันอยู่ในโลก/ แปลกนะ ธาตุแห่งความมี ธาตุแห่งความไม่มี ธาตุแห่งความมีก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่ใช่ ไม่มีในดิกชันนารีที่ใช้ในโรงเรียน//
ผู้แปล: ชีวิตคือความทุกข์ หรือชีวิตมีแต่ความทุกข์ หรือเราเป็นแต่ทุกข์เป็นครั้งคราว ไม่ใช่ตลอดเวลา คือโดยปกติอย่างเดี๋ยวนี้ เขาก็บอกว่าไม่ค่อยรู้สึกเป็นทุกข์อะไร ถ้าเราไปแยกแยะส่วนประกอบของร่างกายของอะไร มันอาจจะมีจุลินทรีย์ อาจจะมีเซลล์บางตัวที่กำลังถูกบีบคั้นอะไรบ้าง แต่โดยรวมทั้งหมด ก็ไม่ค่อยรู้สึกเป็นทุกข์ ถ้าไปดูมากๆ หรือคิดมากๆ อาจจะให้มันเป็นทุกข์ได้ แต่ก็ไม่ค่อยรู้สึกเป็นทุกข์ ชีวิตเป็นแต่ความทุกข์ หรือมันเป็นแต่นิดๆ หน่อยๆ บ้างครั้งคราว//
ท่านพุทธทาส: ชีวิตจะเป็นความทุกข์ หรือไม่เป็นความทุกข์ แล้วแต่ว่าเราจะจัดมัน เรากระทำมัน เรามีวิธีที่จะจัดให้ไม่เป็นทุกข์ก็ได้ หรือถ้าเราต้องการจะเป็นทุกข์ เราก็จัดให้มันเป็นทุกข์ก็ได้ ที่เรามาศึกษาธรรมะปฏิบัติธรรมะนี้ เราจะมาเรียนวิธีที่จะจัดให้ชีวิตไม่เป็นทุกข์ เราไม่อาจจะกล่าวว่าชีวิตเป็นทุกข์หรือไม่เป็นทุกข์ แต่ถ้าถือตามธรรมดาทั่วๆ ไป มันเป็นทุกข์ก็เพราะเรามันโง่ มันโง่กันอยู่ทุกคน ชีวิตมันก็เลยเป็นทุกข์ แต่ถ้าเราเกิดฉลาดขึ้นมา เราไม่โง่ ชีวิตก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ เราอย่าไปพูดว่าเป็นทุกข์หรือไม่เป็นทุกข์ ถ้าเป็นทุกข์ก็เป็นทุกข์สำหรับคนธรรมดาๆ ที่ไม่รู้ธรรมะ
ชีวิตใดยังอยู่ภายใต้อิทธิพลของความเป็นบวกหรือความเป็นลบ ชีวิตนั้นต้องเป็นทุกข์ ถ้าชีวิตใดได้รับการพัฒนาจนสูงสุดจนอยู่เหนือความเป็นบวกและความเป็นลบแล้ว ชีวิตนั้นไม่เป็นทุกข์ นี่มันแล้วแต่เราจะจัดให้มัน ขอให้ถือว่าการปฏิบัติธรรมะนี้ มาเรียนมาศึกษาเพื่อจะยกชีวิตให้อยู่เหนือความทุกข์ เหนือpositive และnegative ชีวิตใดยังต้องหัวเราะยังต้องร้องไห้อยู่ หรือว่ายังต้องดีใจยังต้องเสียใจอยู่ ชีวิตนั้นมันยังต้องเป็นทุกข์ ต้องอยู่เหนือนั้นจึงจะไม่เป็นทุกข์ บางคนจะเห็นว่าไม่สนุกๆ ถ้าพ้นชีวิตที่หลุดพ้นเสียแล้วจะไม่สนุก ก็ได้ คนธรรมดาจะเห็นว่า นิพพานไม่มีรสชาติ ไม่มีความหมาย สู้อยู่ในโลกนี้ไม่ได้ เต็มไปด้วยความสนุก เต็มไปด้วยรสชาติ มีรสชาติแปลกๆ นี้ระวังให้ดี นิพพานไม่มีเหล้า ไม่มีเต้นรำ คนโดยมากเลยไม่อยากไปนิพพาน//
ผู้แปล: เขาฟังมาว่า เมื่อตายแล้ว ธาตุมันก็แจกจ่ายกลับไปสู่ธรรมชาติ ถ้าอย่างนั้นทำไมเราจะอุตส่าห์อดทนลำบากเพื่อเข้าถึงนิพพาน เมื่อในที่สุดมันจะจบอย่างเดียวกัน คนที่ไม่สนใจนิพพานไปกอบโกยเงิน ไปไถนาบนหลังผู้อื่น ไปฆ่าคนอื่น ไปทำอะไร ในที่สุดเขาก็ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นทำไมเราจะลำบากเพื่อจะหานิพพาน เพื่อจะได้นิพพาน//
ท่านพุทธทาส: ก็เพราะว่าเราไม่ยอมลำบาก ไม่ยอมเป็นทุกข์ที่นี่และเดี๋ยวนี้ เราจึงขจัดมันออกไป เราขจัดตัวตน-self ความรู้สึกว่า self ว่าตัวตนนั้น egoistic concept of Ego นี้ ดับมันเสีย ปัญหาก็หมดที่นี่ ไม่ต้องรอต่อตายแล้ว เรื่องอย่างนี้เคยมีมาแล้วนะ เคยอ่านหนังสือพิมพ์พบว่า คริสเตียนนิกายเทมเปิ้ล จะอยู่ที่แอฟริกาหรืออยู่ที่ไหนก็จำไม่แน่ คริสเตียนทั้งหมู่ใหญ่ทั้งคณะนั้น เขาบอกว่าเดี๋ยวนี้เราปฏิบัติถูกต้องแล้ว เป็นคริสเตียนที่ดีแล้ว ตายแล้วไปอยู่กับ God โดยแน่นอนๆ ทำไมเราจะเสียเวลารออยู่ที่นี่ เราตายแล้วไปอยู่กับ God ทันทีดีกว่า เขาจึงชวนกันกินยาพิษ กินยาพิษไซยาไน ชวนกันกิน ผู้ใหญ่ ผู้เด็ก ผู้หญิง เด็กๆ ก็กิน กินกันหมด ก็ตายกันไปหมด อย่างนี้ก็เคยมี แม้แต่ลูกเด็กๆ ก็ถูกชักชวนให้กิน//
ผู้แปล: จำเป็นไหมครับที่จะต้องประสบทุกข์ในการที่จะเข้าถึงนิพพาน ถ้าจำเป็นที่จะต้องเป็นทุกข์ มันมากขนาดไหน//
ท่านพุทธทาส: ความทุกข์นั้น ก็รู้จักกันอยู่ทุกคน ขอบใจความทุกข์สิ ทุกคนขอบใจความทุกข์ ความทุกข์มันไล่เราไปหานิพพาน ขอบใจความทุกข์ดีกว่า เราทนอยู่ไม่ได้ เราขอบใจความทุกข์ เพราะความทุกข์ไล่เราไปหานิพพานคือดับทุกข์สิ้นเชิง ถ้าไม่ต้องการดับทุกข์ก็ไม่มีนิพพาน ถ้าไม่มีใครอยากจะดับทุกข์ ก็ไม่มีนิพพาน ถ้าเราไม่เป็นทุกข์ เราก็ไม่ต้องการพระเจ้า ไม่ต้องการพระเจ้าช่วยให้เราพ้นทุกข์
ขอบพระคุณๆ เวลาสองชั่วโมงครึ่งแล้ว เอ้า,ช่วยแจกดอกไม้ที/