แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มาฆบูชาเทศนา track ที่สอง กัณฑ์ที่ ๒ วันที่๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ เวลา ๒๑.๐๐ น. ณ ลานหินโค้ง
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย การบรรยายธรรมะในตอนนี้ ตอนค่ำนี้ จะพูดกันอย่างที่เรียกว่า บรรยายธรรมตามธรรมดาหรือปาฐกถาธรรมเพื่อประหยัดเวลา ให้มันง่ายแก่การฟัง โดยเฉพาะผู้แรกสนใจ ไม่ต้องมีพิธีรีตอง ไม่ต้องมีอะไร ไม่ต้องพูดรักษาธรรมเนียมหรืออะไร พูดตรงไปตรงมา อย่างนี้เรียกว่า บรรยายธรรม
เมื่อตอนกลางวัน ก็ได้พูดกันถึงเรื่องความหมายของมาฆบูชา ว่าเป็นวันพระอรหันต์ พระอรหันต์เป็นผู้สูงสุด สูงสุดคือมนุษย์จบ จบความเป็นมนุษย์ เป็นมนุษย์ที่เต็มสมบูรณ์ที่สุด ทีนี้เราก็ยังไม่เต็มเราจะพยายามให้เต็ม เราจะเดินตามรอย ทำตาม ทำตามรอยของพระอรหันต์ ก็ต้องดูว่ามันตั้งต้นกันที่ไหน แล้วก็ไปจบกันที่ไหน เรียกดูว่า มันเกิดอะไรขึ้นมามันจึงจะจบ มันกี่( เสียงไม่ชัด นาทีที่๐ :๐๓ :๐๗.๗ )จะต้องมีอะไรเกิดขึ้นเรื่องมันจึงจะจบ ในที่นี้นั้นขอให้กำหนดกันง่ายๆอย่างนี้ก็แล้วกันว่า เรื่องเกี่ยวกับความสุข มันมีอยู่สามระดับ สามชั้นหรือสามระดับ เราก็ดูให้เห็นว่าเป็นอย่างไร ระดับไหนเป็นอย่างไร ระดับไหนอย่างไร ระดับต้นที่สุด มันก็เป็นเรื่องของคนธรรมดาสามัญ ระดับสุดท้ายก็เป็นเรื่องของพระอรหันต์ ความสุขอันดับสุดท้าย ความสุขอันดับสุดท้ายก็เป็นเรื่องของพระอรหันต์ มันเรื่องเดียวกัน ฉะนั้นขอให้ตั้งใจกำหนดจดจำเรื่องความสุขสามระดับนี้ เป็นหลักเกณฑ์ที่แน่นแฟ้นมั่นคงก็ได้เหมือนกัน แล้วมันก็จะง่ายดี หรือว่าจะใช้เป็นหลักทั่วๆไป กระทั่งเด็กๆ กระทั่งผู้ใหญ่ผู้เฒ่า ชาวบ้านชาววัด นี่ก็ขอให้มีหลักเกณฑ์อันนี้ เข้าใจหลักเกณฑ์อันนี้
เอ้า, พูดกันถึงเรื่องความสุขสามระดับนี้ ให้ชัดเจนลงไปยิ่งกว่าที่พูดมาแล้วตอนกลางวัน ในตอนกลางวันก็พูดเรื่อง ไม่ใช่ตน ไม่เห็นแก่ตนนั่นน่ะ เต็มที่ ในฐานะเป็นเรื่องของความสุขอันสุดท้าย แต่ก็ไม่ได้ระบุให้เห็นว่าเป็นความสุขอย่างไร ที่นี้ก็เอาว่า เป็นอันว่าจะพูดกันในแง่ของความสุข โดยเอาสิ่งที่เรียกว่าความสุขเป็นหลัก สำหรับตั้งต้น สำหรับวัด สำหรับอะไรไปตามเรื่องของมัน เพราะเป็นเรื่องของความสุขนั้นเป็นเรื่องของสัตว์ของคนทั่วๆไป ซึ่งล้วนแต่ต้องการไอ้สิ่งที่เรียกว่าความสุข เรามาศึกษาตามหลักพระพุทธศาสนา เพราะว่าในศาสนาอื่นเขาก็ก็มีหลักการหรือกฎเกณฑ์ในตามตามหลักของเขา แต่ยังขอยืนยันว่า ในที่สุดก็หาความไม่เห็นแก่ตัวทั้งนั้น ไม่ว่าศาสนาไหน จะไปจบสูงสุดอยู่ที่ความไม่เห็นแก่ตัวด้วยกันทั้งนั้น วิธีมันแตกต่างกันในการปฏิบัติ หรือว่ามันใช้ไอ้ความเห็นแก่ตัวในความหมายในลักษณะที่มันต่างกัน มันก็ได้เหมือนกัน อย่างของยิว อย่างของคริสต์ อย่างของอิสลาม อย่างของฮินดู มันก็มุ่งหมายที่จะไม่เห็นแก่ตัว ถึงจะมีพระเจ้าก็ไปอยู่กับพระเจ้า ไปเป็นพระไปเป็นส่วนของพระเจ้า ไปเป็นอันเดียวกับพระเจ้า นั้นมันก็เป็นเรื่องที่หมดตัว
ฉะนั้น จำไว้ก่อนก็ได้ยังไม่ยังไม่ต้องวินิจฉัย เดี๋ยวนี้จะวินิจฉัยแต่เรื่องของชาวพุทธ พูดให้มันสั้นที่สุด จำง่ายๆ อันดับต้นสุดคือ ไม่เบียดเบียน
อันดับถัดมา ไม่กำหนัดในกาม
อันดับถัดมาก็ ไม่มีตัวตน ไม่ หมด หมดความรู้สึกว่าตัวตน หรือไม่มีความรู้สึกว่าตัวตน แต่แล้วมันก็ไม่พ้นที่จะเกี่ยวข้องกันทั้งสามอย่าง คืออย่างสุดท้าย มันยืนอยู่เป็นประธาน ถ้าไม่มีตัวตนมันก็ไม่ฆ่า ไม่เบียดเบียน ไม่อะไรหมด ถ้ามันไม่มีตัวตนหรือไม่เห็นแก่ตน ถ้าไม่มีตัวตน ไม่เห็นแก่ตนมันไม่กำหนัดในกาม ไม่ติดในกามารมณ์ เดี๋ยวนี้พูดต่อรองกันว่า ถ้าคุณยังมีตัวตน มันก็เอากันอย่างนี้
ในชั้นแรก อย่าเบียดเบียน อย่าเบียดเบียน อัพพะยาปัชฌัง ไม่เบียดเบียน สำรวมในสัตว์มีชีวิตทั้งหลาย อย่าให้ไปกระทบกระทั่งสัตว์ที่มีชีวิตให้มันเดือดร้อน หรือให้มันตาย นี้ก็เล็งแต่ในความสุขที่กว้างๆ ค่อนข้างจะเป็นเรื่องสังคมด้วย เรื่องของหมู่ของคณะ ถ้าไม่เบียดเบียนกัน มันก็เป็นสุข ถ้าไม่เห็นแก่ตัว อดไม่ได้ละมันก็เบียดเบียนอยู่นั่นละ นี่เราจับใจความของมันให้ได้ว่า ไม่เห็นแก่ตัวแล้วก็ไม่ปล่อยให้เผลอให้ประมาท กระทบกระทั่งเบียดเบียนขัดแย้งไอ้ความสงบสุขของผู้อื่น ไม่ใช่หมายแต่เพียงว่าแกล้งทำให้มันตาย ไม่ได้แกล้งทำให้มันตาย แต่มันทำเป็นไปเพื่อผู้อื่น สัตว์อื่นพลอยให้ลำบากเดือดร้อน นี่ก็ใช้ไม่ได้ทั้งนั้น เรียกว่าใช้ไม่ได้ มันเป็นการเบียดเบียนอยู่ โดยเจตนาจะเบียดเบียน โดยไม่เจตนาก็ยังเป็นการเบียดเบียน ก็คำนี้เขาหมายความอย่างนั้น เมื่อไม่มีการเบียดเบียน คือไม่กระทบกระทั่ง ไม่มีข้อขัดแย้งใดๆ นั่นละมัน เป็นความสงบสุข
ความขัดแย้งหมายถึงการทำลาย เรียกเป็นอุปัทวะ หรืออุบาทว์ ความขัดแย้ง คำเดียวกันแหละ คำว่า อุปัทวะ กับคำว่าอุบาทว์มันคำเดียวกัน ภาษาบาลีเรียกว่า อุปัทวะ นี่เป็นความขัดแย้ง ขัดแย้ง ไม่มีความขัดแย้ง มันก็ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า อุปัทวะ หรืออุบาทว์ ฉะนั้น เราจงอยู่กันอย่ามีความขัดแย้ง อย่างไม่มีความขัดแย้ง ในครอบครัวนี้ อยู่กันกี่คนๆ มันก็เรียบร้อยกันดี ไม่มีความขัดแย้ง มันก็ไม่มีการเบียดเบียนโดยทุกอย่างทุกประการ ไม่ไม่ไม่มีเจตนาก็ได้ ไม่มีอย่างไม่มีเจตนาก็ได้ ไม่มีอย่างมีเจตนาก็ได้ ถ้ามันไม่มีการขัดแย้งใดๆมันก็หมดปัญหา มันต้องรับผิดชอบจนถึงกับว่า เผื่อคนอื่นเขาโง่บ้างแหละ คุณจะไม่คิดเลยหรือจะมัวให้ มัวปล่อยให้มันโง่นี่ มันมาทำกับฉันเอง คิดว่ามัน มันมาทำให้มันเกิดเรื่อง ถ้าเราเป็นคนฉลาดจริงมันก็ป้องกัน ป้องกันไม่ให้มันทำได้ ไม่ให้มันเกิดเรื่องขึ้นมาได้ ป้องกันไม่ให้มันเกิดข้อขัดแย้ง เพราะว่าอยู่กับคนโง่ อยู่กับคนโง่มัน มันร้ายกาจมาก มันมีปัญหามาก ถ้าอยู่กับคนโง่ได้ มันก็ไม่มีการขัดแย้งใดๆ หรือว่าอยู่กับเด็กทารกได้ มันก็ไม่มีขัดแย้งเหมือนกันน่ะ ข้อนี้สำคัญมาก เตรียมตัวไว้เถอะเตรียม เตรียมตัว เตรียมตัว ถ้าเผื่ออยู่กับคนโง่ คนโง่นั้น โดยเฉพาะคนเห็นแก่ตัวนั้น คนโง่ที่สุด เตรียมเวลาไว้ให้ดีสำหรับจะอยู่ร่วมโลกกับคนโง่ ถ้าไม่อย่างนั้น จะลำบากเองคือฉันไม่รับผิดชอบ ปล่อยให้มันทำสิไม่ไม่ คนมันไม่ มันไม่พ้นความทุกข์ ไม่พ้นความลำบาก เราจะต้องเตรียมพร้อมฝ่ายเราสำหรับอยู่ร่วมกับคนโง่ ไม่เปิดโอกาสให้คนโง่มันมีปัญหาหรือสร้างปัญหาอะไรขึ้นมา เรียกว่า ปฏิบัติดีครบถ้วน กว้างขวาง ในความหมายของคำว่า มันไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ไม่ให้เกิดการเบียดเบียน ยิ่งบ้านเมืองเจริญอยู่กันมากๆ แน่นอัดแล้วยิ่งยิ่งมีปัญหามากน่ะ จึงจะต้อง มันจะเกิดความขัดแย้ง หรือเกิดปัญหาเอาจากคนโง่ คนประมาท คนเห็นแก่ตัว ฆ่ากันตายไม่ทันรู้
ตั้งจิตเมตตา ภาษาบาลี เรียกว่าเป็น ปุเรจาริก เป็นเบื้องหน้าเป็นเบื้องหน้า ปุเรจาริก ตั้งจิตเมตตาเป็นปุเรจาริก เบื้องหน้า เบื้องหน้า เบื้องหน้าว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนเกิด เพื่อนแก่ เพื่อนเจ็บ เพื่อนตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้นนั่น มีความตั้งใจอย่างนั้น มีกฎเกณฑ์อย่างนั้น แล้วก็ปฏิบัติอย่างนั้น มันก็จะไม่เกิดการกระทบกระทั่งหรือการเบียดเบียนหรืออะไร มันก็มาจากความไม่เห็นแก่ตัวนั่นเองที่จะคิดอย่างนั้นได้ ที่จะคิดว่าเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตาย กันนั้น มันต้อง ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ตัว เห็นแก่ทุกคน เห็นแก่เพื่อน เห็นแก่ทั้งหมด เดี๋ยวนี้มันไม่เห็นอย่างนั้นนี่ มึงก็มึง กูก็กู ก็อิจฉาริษยา แม้ไม่อิจฉาริษยา มันก็ยังกระทบกระทั่งกันอยู่ เพราะมันเห็นแก่ตัว เกิดข้อขัดแย้งกระทั่งขนาดใหญ่หลวงที่เรียกว่า สงคราม สงคราม เป็นความขัดแย้งที่เกิดมาจากความเห็นแก่ตัวของทั้งสองฝ่าย หรือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นอย่างน้อยเป็นอย่างน้อย ส่วนมาก มันก็เรียกว่า ทั้งสองฝ่ายแหละ ถ้าฝ่ายหนึ่งมันไม่เห็นแก่ตัวจริง มันให้อภัย มันเกิดไม่ได้ มันเกิดไม่ได้ ถ้าถ้ามีสงครามรบกันได้แล้ว ก็ต้องมีความเห็นแก่ตัวทั้งสองฝ่าย แม้ว่าในรูปแบบที่มันต่างกันๆ เพราะเราอาจจะหลีกเลี่ยงโดยไม่ต้องฆ่า ไม่ต้อง ไม่ต้องก่อสงครามก็ได้ ทำเสียอย่างอื่นก็ได้ เพราะฉะนั้นให้ถือว่า ถ้ามีสงคราม มันก็ต้องมีความเห็นแก่ตัวทั้งสองฝ่าย มันก็เกิดความขัดแย้ง มันก็เลยรบราฆ่าฟันกัน ไม่มีฝ่ายใดถูกได้ ถ้ามันมีรบราฆ่าฟันกัน พระเจ้าจะลงโทษมันทั้งสองฝ่าย เพราะพระเจ้าสอนไม่ให้มันเบียดเบียนกัน ไม่ไม่มีอ้างว่าฝ่ายไหนถูกฝ่ายไหนผิด ลงโทษทั้งสองฝ่าย ข้อนี้อาจจะมีอยู่แล้วในบรรดาท่านทั้งหลายบางคนที่นั่งอยู่ที่นี่ คนแก่ๆ เป็นพ่อเป็นแม่ เป็นปู่ เป็นตานี่ และเคย เคยเคยถือเป็นหลักปฏิบัติไหม คือถ้าลูกเด็กๆ หลาน ลูกหลานมันทะเลาะกัน ต้องตีทั้งสองฝ่าย โดยไม่มีฝ่ายใดผิดโดยฝ่ายเดียว หรือถูกฝ่ายเดียว ถ้ามีการทะเลาะกันละต้องมีการตีทั้งสองฝ่าย นี่โยมอาตมาเป็นอย่างนี้ โดยเฉพาะโยมผู้หญิง ถ้าทะเลาะกัน ทะเลาะกับน้อง กับใครก็ตามละ มันตีกันสองฝ่ายเลย ไม่มีทางที่จะพิสูจน์ว่า นั้นผิด ควรจะตีแต่ฝ่ายนั้นฝ่ายเดียว ถ้ามีการทะเลาะกัน ตีสองฝ่ายคือมันมีส่วนผิดทั้งสองฝ่าย ส่วนผิดมากผิดน้อยน่ะค่อยว่ากันทีหลัง แต่ในชั้นแรก ต้องให้ให้ได้รับโทษกันเสียทั้งสองฝ่าย เพราะว่าถ้าอดกลั้นด้วยความไม่เห็นแก่ตัว อดกลั้นเสีย แล้วมันก็ไม่ทำ มันจะไม่ทะเลาะกันนี่ ฉะนั้น เราเห็นสงครามเกิดขึ้น มักจะคิดว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูก ฝ่ายหนึ่งผิด บางทีก็ไม่ไม่ไม่ถูก มันก็เห็นแก่ตัวด้วยกันทั้งสองฝ่าย ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง จะมากหรือน้อย
มาตั้งจิตคิดว่า เราเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ถ้าเขาล่วง ล่วงเกินเรามาเราก็อดทนได้ ยกเว้นให้ ให้อภัยให้เขาให้เขาสบาย ทั้งที่ทำให้เราเจ็บปวด ถ้าคิดอย่างนี้แล้วมันจะทะเลาะกันได้อย่างไรหรือ มันยอมเป็นฝ่ายเจ็บปวดเพื่อให้ฝ่ายหนึ่งสบาย เพราะว่ามันเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้นน่ะ นี่หลักเกณฑ์ข้อต้น มันเรื่องว่า มันไม่ให้เกิดการเบียดเบียน หรือแม้ที่สุดแต่การขัดแย้ง เพียงแต่ขัดแย้งมันก็ไม่เกิด ทีนี้ตามปกตินิสัยมันมีแต่ความขัดแย้งหรือจะเรียกอีกทีว่า ความไม่ยอม ความยกหูชูหาง เป็นเหตุให้เกิดความรู้สึกว่า ไม่ยอม ไม่ยอม ไม่ยอมอยู่เบื้องล่าง ไม่ไม่ไม่ยอมเป็นเบื้อล่างเบี้ยเบี้ยล่าง ไม่ยอมนะ ถ้าอย่างนี้มันก็ต้องมี มีข้อขัดแย้ง และต้องมีการ กระ กระทบกระทั่งกันเสมอไป ไม่ยอม ให้มันบ้าคนเดียวไปเสียบ้าง ก็ไม่เกิดเรื่อง ไม่ขัดแย้ง ฉันไม่ขัดแย้ง เรื่องไม่ขัดแย้งนี่ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย พระพุทธเจ้าตรัสอย่างกำชับ กำชับที่สุด เหมือนกับเรื่องอื่นๆน่ะ ตรัสกำชับไม่ให้ภิกษุทั้งหลายกล่าวคำขัดแย้ง คือเรื่องมันมีว่า พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกก็มีฝ่ายศัตรู ศัตรูก็ขัดแย้ง ขัดแย้ง มันจะขัดแย้งก็ช่างหัวมัน ให้มันขัดแย้งไป ฉันจะไม่ไปขัดแย้งตอบ ไม่ขัดแย้งตอบ ถึงแม้ว่าพระองค์จะสอน สั่งสอนด้วยหลักการอันที่มันผิด ผิดจากที่เขาถือกันอยู่แล้ว พระองค์ก็ไม่ขัดแย้งว่า ไอ้นั่นมันผิด นั่นมันผิด อย่าเอากับมันอย่างนี้ ไม่ ไม่ ไม่มีทำอย่างนั้นเลย มีแต่บอกว่า ใน ใน ในในคณะนี้ ใน ใน ในหมู่นี้ ธรรมวินัยนี้ คือในลัทธินี้ของฉันนี่น่ะ ทำอย่างนี้ ถืออย่างนี้ คิดอย่างนี้ ท่านก็บอกไป ส่วนพวกอื่นเขาก็ทำไปตามที่เขาเคยทำ ที่เขาทำตาม มันก็ไม่มีการขัดแย้ง เดี๋ยวนี้ ถ้ามันไปมีอะไร สัจจาภินิเวสส หัวแข็งหัวรั้น ยึดถือของตัวว่า มึงผิด กูถูก มึงผิด กูถูก ของมึงไม่มีส่วนถูก ทีนี้มันก็ขัดแย้ง แล้วมันก็เกิดเรื่อง พระพุทธเจ้าท่านจะไม่ขัดแย้ง
เขาสอนกันอยู่ว่า นรกอยู่ใต้ดิน ใต้ ใต้บาดาลน่ะ สวรรค์อยู่บนฟ้าสูงสุดน่ะ เขาสอนกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้า ทั่วไปในอินเดียนั่นน่ะจะสอนกันมากี่ลัทธิ กี่ชั่วลัทธิแล้วก็ไม่รู้ แต่สอนกันว่าอย่างนั้น พอพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น ท่านก็ไม่ด่าว่า มันผิดโว้ย มันโง่โว้ย ท่านไม่บอกไม่พูดอย่างนั้น ไม่พูดในลักษณะอย่างนั้น แต่กลับไปพูดว่านรกอยู่ที่อายตนะทั้งหกคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สวรรค์ก็อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในการพูดยังจะบ่ายเบี่ยงทำนองว่า สวรรค์ นรกชนิดที่มันอยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มยาทิฏฐา (บาลีนาทีที่๐ :๒๒ :๐๕.๖) ฉันเห็นแล้ว ฉันเห็นแล้ว แต่ท่านไม่ ไม่ยืนยันกับใคร ฉันเห็นแล้ว นรก ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สวรรค์ก็อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ก็คืออาการที่ท่านไม่กล่าวคำขัดแย้ง ใครๆมันก็รู้เอาเองน่ะ จะชอบนอน นอนนรกที่ไหนก็เอาสิ สวรรค์ที่ไหนก็เอาสิ ในที่สุด ก็ได้ตรัสทำนองประกาศเป็นพุทธอาณา ให้ถือ ถือเป็นหลักเกณฑ์ว่า ตถาคตไม่กล่าวคำขัดแย้งกับใครๆในโลกนี้ ในเทวโลก ในมารโลก ในพรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะและพราหมณ์ แม้เธอทั้งหลาย ก็จงเป็นผู้ไม่กล่าวคำขัดแย้งกับใครๆในโลกนี้ ทั้งเทวดา ทั้งมนุษย์ ทั้งพรหมโลก มารโลก อะไรทุกๆโลก แล้วคุณก็คิดดูสิ มันจะเกิดเรื่องอะไรได้ จะเกิดเรื่องอะไรได้ มันไม่มีกล่าวคำขัดแย้งใดๆนี่ นี่ความ ความไม่เบียดเบียนน่ะของพระพุทธเจ้า ละเอียดสูงสุดแล้วก็เป็นสมบัติผู้ดี เป็นผู้ดี ไม่เหมือนผู้ไพร่ อะไรสักนิดก็ขัดคอ อะไรสักนิดก็ขัดแย้ง ยกหูชูหาง กูไม่ยอมมึง นี่เรียกว่า มันต่างกันมากน่ะ ที่ว่าจะเป็นผู้ไม่เบียดเบียน ผู้ไม่เบียดเบียน มันก็ได้เบียดเบียนกันด้วยอาวุธปาก อาวุธปาก แล้วทนไม่ไหว ก็ใช้อาวุธจริง ระมัดระวัง สังวร อย่าให้กระทบกระทั่งแก่สัตว์มีชีวิตใดๆ เรียกว่า ปาณะภูเต สุสัน ยโม (บาลีนาทีที่๐ :๒๔ :๑๗.๐) การสำรวมด้วยดีในสัตว์มีปาณะทั้งหลาย นี่ความสุขข้อแรก ข้อหนึ่ง ระดับหนึ่ง ชั้นหนึ่ง ระดับพื้นฐาน ปฏิบัติกันได้กี่มากน้อยก็ลองดู ชาวพุทธถือหลักสัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ถ้าพวกเขาที่ พวกที่เขาไม่ถือ เขาก็ฆ่ากันได้สบาย แต่บางที แม้ศาสนาของเขาสอนอยู่ ห้ามอยู่ เขาก็ยังไม่เชื่อ มันก็มีเหมือนกัน นี่เพราะว่าไม่เชื่อพระศาสดานะ
นี้เดี๋ยวนี้ เอาเป็นว่า หรือว่าขอให้เป็นว่า ไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งใดๆ แม้กับคนโง่ ทั้งที่เราต้องอยู่ร่วมโลกกับคนโง่ เข้าใจไหม ถ้าคุณไม่ยอมในข้อนี้ คุณจะมีการกระทบ วันหนึ่งไม่รู้กี่ร้อยเรื่อง เพราะคนโง่มันมีมาก มีรอบตัว ยิ่งเป็นพ่อเป็นแม่ ยิ่งเป็นผู้ปกครองบังคับบังคับบัญชา ครูบาอาจารย์แล้ว ยิ่งมาก ยิ่งมาก เพราะมันเกี่ยวข้องกับคนมาก เพราะมันแวดล้อมอยู่ด้วยคนมาก ซึ่งล้วนแต่เป็นคนโง่ แล้วมันก็ไม่รู้ว่ามันโง่ ถ้าเราจัดการเรื่องนี้ไม่ถูกต้อง มันก็เต็มไปด้วยปัญหา ด้วยความยุ่งยากลำบาก เพราะฉะนั้น บางอย่างจึงยอมให้มัน ยอมให้มันโง่ ไม่อยากไปต่อไปต่อต้านกับใคร ขัดขวางขัดคอ มันอยากโง่ให้มันโง่ แต่แล้วมันจะต้องดูว่า มันไม่อยากให้มันเกิดเรื่อง อย่าให้มันกระทบกระทั่งมาถึงเรา จัดหลีกให้ดีๆ นี่ยากหน่อย มิฉะนั้น มันต้อง ต้องเบียดเบียนกันแหละ มันต้องเบียดเบียนกันน่ะ ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม หรือมันต้องฆ่ากัน ต้องประกาศสงคราม ต้องมีสงคราม
มีเมตตาเป็นเบื้องหน้า สิ่งมีชีวิตทั้งหลายเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ถือข้อนี้เป็นหลัก มันก็ปฏิบัติธรรมะ ข้อหนึ่ง ข้อต้นของความสุขทั้งสามข้อนี้ได้โดยง่ายๆ โดยไม่ต้องสงสัย แต่ต้องดู ว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไร เพราะแต่ละคนๆ มันมีกิเลส กิเลสอะไรของมันน่ะ ตัวกู ของกู มันไม่ยอม ถ้ามันมันโง่ มันยังไม่ยอม ถ้ามันผิด มันยังไม่ยอม นี่เอากับมันสิ มันก็เป็นเรื่องยากใช่ไหม ยิ่งถ้าเราไปถือว่าเราเป็นนาย เป็นผู้บังคับบัญชาอยู่เหนือกว่า เราก็ยิ่งไม่ยอม อย่างนี้ก็ยิ่งไปกันใหญ่แหละ ถ้าจะแก้ไขให้มันไม่ต้องกระทบกระทั่งกัน ให้มันเรียบร้อยกัน แล้วมันมีผลดีทีหลัง นี่ก็ได้ ก็เป็นการดีมากนะข้อนี้ ให้ถือหลักที่ว่า เราเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตายกันน่ะ จะ จะทำให้ปฏิบัติธรรมะข้อนี้ได้ ความสุขขั้นต้น ขั้นแรก เกิดมาจากการไม่เบียดเบียน ไม่เบียดเบียน ไม่มีทางจะเบียดเบียน แม้แต่ความคิดก็ไม่มี เอ้า, ข้อหนึ่งเสร็จไปแล้วนะ
ทีนี้ข้อสอง สุขา วีราคะตา โลเก กามานัง สมติ สโม (บาลีนาทีที่ ๐ :๒๘ :๒๐.๘) วีราคตา แปลว่า ความคลายกำหนัด ความไม่กำหนัด ปราศจากความกำหนัด กามานัง สมติ สโม ก้าวล่วงกาม ก้าวล่วงอำนาจของกามเสียได้ อำนาจของกามไม่ครอบงำได้ กามานัง สมติ สโม นี่จึงเป็นกาม เป็นกิเลส เป็นกาม มาครอบงำเราไม่ได้ อันนี้เรียก กามานัง สมติ สโม ถือว่าไม่ มันมีจิตใจสูง มันจะไปหลงใหลในเรื่องของกาม มีราคะ ผูกพันเหนียวแน่นด้วยความโง่ ราคะในทางกาม ทางเพศ ราคะในทางตัวตนก็มี ไม่ใช่มีแต่ในทางเพศ กำหนัดราคะในทางเพศ เรียกว่า กามราคะ กำหนัดยินดีในสิ่งที่เป็นรูปธรรมล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับกาม เรียกว่า รูปราคะ ราคะในสิ่งที่เป็นรูป แล้วยังมีแถมสิ่งที่ไม่มีรูป ก็เป็นที่ตั้งแห่งราคะ เรียกว่า อรูปราคะ จำให้ดีนี่มีสามคำ กามราคะ รูปราคะ อรูปราคะ ราคะกำหนัดยินดี อารมณ์ของมันก็คือ กามอย่างหนึ่ง สิ่งที่เป็นรูปล้วนๆ แม้ไม่เกี่ยวกับกาม นี่อีกอย่างหนึ่ง สิ่งที่ไม่มีรูปเลย ไม่มีรูปเลย ก็ยิ่งไม่เกี่ยวกับกาม มันก็ยังเป็นที่ตั้งแห่งราคะ เรื่องกามเรื่องเพศนี้ เรื่องรู้กันแล้ว เรื่องผู้เรื่องเมีย เรื่องหญิงเรื่องชาย กำหนัดในทางกาม ทางรูปราคะ นี่มันเป็นเรื่องโง่ไปทางรูป หลงใหลในของรักเช่น ของเล่น ของเล่น ถ้าลงมันหลงแล้วมันก็รัก มันยอมหย่าผัว ไม่ยอมเลิกเล่นไพ่ เรียกอะไรไม่รู้ ไปเรียกเป็นคำกลอน อาตมาลืมเสียแล้ว บางคนรักรักไก่ชน รักนกเขายิ่งกว่ากว่าลูกกว่าเมีย มันรักไก่ชนรักนกเขา รักยิ่งกว่าลูกกว่าเมียก็มี แม้แต่รักในของสวยงาม รักในเรื่องเพชรพลอย เพชรนิลจินดาอะไรเหล่านี้ ก็รักไป นี่ก็เรียกว่า รูปราคะ ถ้าเป็น อรูปราคะ มันก็เป็นนามธรรม จะเป็นเรื่องเกียรติยศชื่อเสียง เป็นบุญ เป็นกุศล เป็นอะไรก็ได้ ที่มันหลงใหลรัก ราคะเหนียวแน่น บ้าบุญ เมาบุญ ก็เรื่อง เรื่องนี้ก็เรื่องราคะ พวกที่อรูป อรูป
ในบาลีมีอยู่เรื่องหนึ่ง มันน่าหัว น่าขัน อาตมาได้อ่านพบแล้วก็ลืม ลืมไม่ลง คือลูก คือผู้ใหญ่บ้านมันรักลูกบ้าน รักเหลือ เหลือประมาณ รักลูกบ้านก็ลูกบ้านเป็นคนดี นี่ก็จัดเป็นราคะเหมือนกัน เป็นฉันทราคะ เป็นอะไรราคะมากมาย ยินดี พอใจ รักใคร่ เหนียวแน่น เป็นราคะ ก็มีในเรื่องกาม เรื่องเพศนี่ก็ได้ ในเรื่องรูปล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับกามก็ได้ ในเรื่องอรูปล้วนๆไม่เกี่ยวกับรูปก็ได้ ล้วนแต่ฝังจิตติดแน่น ติดแน่น เหลือ เหลือที่จะ เหลือที่จะพรากได้ ให้ราคะทั้งหลายเหล่านี้ จางออกๆ คลายออกๆ ก็เรียกว่า วิราคะ วิราคะเป็นความสุข จางออกจางออกได้เท่าไร เท่าไร มันก็เป็นความสุขเท่านั้น บางคนอาจจะบ้าบ้าน บ้าเรือน บ้ารถยนต์ บ้าเพชรพลอย เดี๋ยวนี้เขากำลังออกสถิติว่า เพชรพลอยเมืองไทยนี้ขายกันมาก กี่ร้อยพัน กี่พันล้าน กี่หมื่นล้านก็ไม่รู้ ปีปีหนึ่ง แสดงว่าต้องมีคนบ้ามันมาก มันจึงขายได้มากอย่างนั้นน่ะ มันก็มีมากไม่มีที่สิ้นสุดเหมือนกันละ ไม่แพ้เรื่องกาม เขาจะมีรถยนต์ที่วิเศษกว่าใคร มีบ้านที่ประหลาดที่สวยงามกว่าใคร มีอะไรๆ ความที่จิตเข้าไปฝัง แน่นในสิ่งนั้นน่ะเรียกว่า ราคะ เขาเรียกว่าราคะ ไม่ใช่ตัวสิ่งนั้นนะ แต่จิตที่ไปฝังแน่นยึดแน่นด้วยความกำหนัดยินดีในสิ่งนั้น เรียกว่า ราคะ แล้วคุณไปคิดเอาเอง อาตมาไม่ต้องบอก ถึงบอกก็ไม่มีประโยชน์ ไปคิดเอาเองไปดูเอาเอง ที่เคยหลงรัก หลงรัก หลงรักทางกามารมณ์ เคยหลงรักมาแล้วเท่าไร หลงรักแก้วแหวนเงินทอง ของอย่างนี้ หลงรักไอ้เกียรติยศชื่อเสียง หลงรักกันมาแล้วเท่าไร ก็ก็ดูเอาเองนะ มันกัดหัวใจทั้งนั้นแหละ มันกัดหัวใจทั้งนั้นแหละ ยิ่งรักเท่าไร ก็ยิ่งกัดเท่านั้น ยึดถือเท่าไร ก็กัดเท่านั้น วิราคะ จางออกๆ จางออกแห่งความกำหนัด นี้ก็เป็นสุข เป็นสุขที่สูงขึ้นมา สูงขึ้นมา แต่ยังมีตัวตน ตัวตนเหลือ ยังยังไม่ใช่ที่สุด เพราะว่ามันไปกำหนัด ราคะในตัวตนที่เหลือนั่นแหละ มันจึงไม่สูงสุด มันละ กามราคะ รูปราคะ อรูปราคะ ได้แล้ว แต่มันไม่อาจจะละ อัตตะราคะ คำนี้ไม่มีในบาลีนะ บอกให้รู้ อัตตะราคะนี่ จะออก เอามาพูดให้ฟัง ให้สังเกตง่ายให้จำง่ายว่า ราคะในอัตตา ในตัวกู มันไปเรียกเป็นอะไร อัสมิมานะน่ะ
ความสุขข้อที่สาม อัสมิมานัสสะ วิเนยโย เอตัง เว ปะระมัง สุขัง ( บาลีนาทีที่ ๐ :๓๕ :๓๔.๒ ) อัสมิมานัสสะ วิเนยโย นำ อัสมิมานะ ออกเสียได้ สิ่งนั้นเป็นความสุขสูงสุด เว้ย มีคำว่า “เว้ย” ด้วย พระพุทธภาษิต บางทีก็มีคำว่า “เว้ย”เหมือนกัน ไม่ใช่ “เว้ย” คำหยาบหรือ “เว้ย” ด่าใคร แต่ว่า “เว้ย” ท้าทาย ท้าทาย ยืนยัน ท้าทาย มันค้าน มันค้านที่กูว่า เว้ยนี่ กูว่าเป็นอย่างนี้ กูว่าเป็นอย่างนี้ มึงค้านสิ พบบ่อยๆในพระพุทธภาษิต มีคำว่า เว เว อยู่แปลว่า เว้ย
ความสุขที่สาม ละ อัสมิมานะ เสียได้ อัสมิมานะ แปลว่า ความสำคัญมั่นหมายว่า ตัวตนมี ตัวหนังสือแปลว่า มี มี เท่านั้นน่ะ มี คือมีตัวตน มีตัวกู มีของกู มีตัวสู มีของสู มีอะไรก็มี มีมีมี ก็แล้วกันน่ะ มันมีเป็นตัวตน ละเสียได้ มีสุขสูงสุด เพราะถ้าละ ก็ยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตนนี้เสียได้แล้ว มัน มันไม่มีทางจะเกิดกิเลสอะไรได้ ไม่เกิดโลภะ โทสะ โมหะได้ ไม่เกิดไฟคือกิเลสได้ มันก็สูงสุด มันก็เป็นสุขสูงสุด เป็นนิพพาน ถ้ามันสิ้นราคะ โทสะ โมหะ มันก็เป็น นิพพาน
จึงมายืนยันพูดกันให้มันมากว่า มันไม่มีตัวตน แล้วมันก็ไม่เห็นแก่ตน นี่หัวใจพระพุทธศาสนา เป็นยอดสุดของปรมัตถ์ เป็นยอดสุดของอภิธรรม แต่เขาไม่ค่อยเน้นกันที่ตรงนี้ เขาไปเน้นกันที่ตรงไหนก็ตามใจเขา อาตมาจะเน้นยอดสุดของอภิธรรมหรือยอดสุดของปรมัตถธรรม ที่ตรงนี้ ที่ว่าหมดตัวตน หรือ สุญญตา ว่างจากตัวตน สำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวตน แล้วมันก็แน่นอนแหละ มันก็ต้องมีความสำคัญมั่นหมายว่า ของตนแหละ ตามมา ตามมา เพราะเหตุว่า ไอ้สิ่งที่เรียกว่า ตัวตนนั้น มันไม่ได้อยู่สิ่งเดียว มันอยู่คนเดียว สิ่งเดียวไม่ได้ มันต้องมีสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้อง พอสิ่งใดเข้ามาเกี่ยวข้อง มันเป็นของตนหมด เอ้า, ถ้าสมมุติว่า จิตคิดว่ามีชีวิต มันก็ชีวิตต้องเป็นของตน ความรู้สึกสุข ก็สุขของตน ความรู้สึกว่าทุกข์ ก็ทุกข์ของตน ไอ้ที่มันเกี่ยวข้องกับตัวตน มันก็เป็นของตน ฉะนั้นจึงเรียกว่า ตัวตนและของตนคู่กัน เป็นบาลีก็เรียกว่า อัตตา นั่นแหละ อัตนียา อัตตา อัตตา ตัวตน อัตนียา เนื่องด้วยตน ก็คือของตน เพราะฉะนั้น เรามีตัวตน มีของตน ถ้ามีตัวตน มันก็มีร่างกายของตน มีอะไรของตน แล้วแต่มันจะเอาอะไรมาเป็นของตน มีบุตร ภรรยา สามี บ้านเรือน ยศศักดิ์ เกียรติยศชื่อเสียงวาสนา ก็ของตน ของตน ของตน มันก็เพิ่มน้ำหนักแห่งความยึดมั่นถือมั่นให้มันรุนแรงขึ้น แล้วมันกัดเจ้าของน่ะ เพราะมันยึดเข้ามาทันที มันก็เป็นของหนักขึ้นมาทันที มันก็ห่วงทันที วิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อา กังวลนั่นแหละเป็นเรื่องเลวร้ายที่สุด ถ้ามีของตน มันก็กังวลในตน มันกังวลในชีวิต ว่าจะตายเมื่อไหร่ จะปลอดภัยอย่างไร กังวลกำลัง กังวลเรื่องของตนว่าจะสูญหายหรือไม่ พอมีตัวตนหรือของตน ก็เกิดไอ้สิ่งที่เรียกว่า ของหนัก ของหนักขึ้นมา เป็นภาระหนัก ยึดถือ รูปเป็นตน ก็หนักด้วย รูป ยึดถือ เวทนาเป็นตน ก็หนักด้วย เวทนา ยึดถือ สัญญาเป็นตนก็หนักด้วย สัญญา ยึดถือ สังขารเป็นตนก็หนักด้วย สังขาร ยึดถือ วิญญาณมาเป็นตนก็หนักด้วย วิญญาณ ไปแตะเข้าที่ตรงไหน มันหนักไปกันทั้งนั้น
นี่เรื่องว่ามันกัดเจ้าของ ไปยึดเอาอะไรมาเป็นของของเรา แล้วมันจะกัดเรา มันจะกัดเจ้าของ ไอ้เราความโง่ ตัวตนโง่ ก็ตามใจเถอะ มันก็กัดไอ้ตัวตนโง่น่ะ นี้มันจึงเกิดมีชีวิตชนิดที่กัดเจ้าของ คือชีวิตของคนโง่ที่มีความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตน มันก็มีชีวิตที่ตรงกันข้าม คือชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของ คือมีมีชีวิตที่ไม่ใช่ตน มีแต่จิต จิตไม่ยึดถืออะไรโดยความเป็นตน จิตเป็นอิสระ ไม่ยึดถืออะไรเป็นตนเลย จิตชนิดนี้ไม่ถูกอะไรกัด เพราะฉะนั้นก็เกิดชีวิตชนิดที่ไม่กัดเจ้าของ คำพูดคำนี้ มีความหมายมากสำหรับพวกฝรั่งที่มากันมากๆ มาจากเมืองนอก มันชอบไอ้คำพูดที่ชีวิตไม่กัดที่ไม่กัดเจ้าของ เขาชอบกันมาก เพราะว่าเขาเคยโดนมาแล้วแต่ชีวิตที่กัดเจ้าของทั้งนั้น มันกัดเจ้าของ มันไม่เคยพบ พอพูดๆ ถึงเรื่องนี้ก็สนใจ สนใจ สนใจ พยายาม พยายามที่จะให้มีให้ได้ขึ้นมา คือมีชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของ อยากจะดำเนินชีวิตแบบนี้ เป็นชีวิตใหม่หรือ หรือวิถีชีวิตใหม่ก็ตาม ก็คือปลด ปล่อย ความโง่ว่า ตัวตนหรือ ของตนออกไปเสีย ออกไปเสีย ออกไปเสีย มีแต่กายและใจล้วนๆ ไม่ถูกยึดถือว่าเป็นตัวตนของตน ใจก็มีสติปัญญาดำเนินชีวิตไปก็แล้วกัน ไม่ต้องเป็นของหนัก เป็นของกู ไม่ต้องเป็นตัวกู แม้แต่ตัวกู มันก็ไม่ไม่หนัก แต่ตัวกู ถ้ายึดถือเป็นของกู มันก็หนักแต่ตัวกู คือจิตใจที่มันโง่ไปว่ามีตัวกู มันละเอียดถึงที่สุดและแล้วไอ้ความทุกข์ชั้นละเอียดที่สุดหมดไป แล้วความสุขชั้นละเอียดที่สุดมันก็มีมา คือสุขเกิดจากความไม่ยึดมั่นว่าตัวตน อัสมิมานัสสะ วิเนยโย เอตัง เว ปะระมัง สุขัง พระบาลีสาม สามบทนี้ดี ถ้าจำได้ก็ดี จำได้ก็ดี มันก็ไม่ยากเกินไป แต่ไม่สนใจจะจำกันเอง ลองจำไว้จะได้เตือน
ชั้นแรก ชั้นต่ำสุดก็ว่า อัพพะยาปัชฌัง สุขัง โลเก ปาณะภูเต สุสัน ยโม (บาลีนาทีที่ ๐ :๔๓ :๑๕.๖) สุข เพราะไม่เบียดเบียน
ชั้นที่สอง สุขา สุขา วิราคะตา โลเก กามานัง สมติ สโม (บาลีนาทีที่ ๐ :๔๓ :๒๖.๔ ) สุขเพราะอยู่เหนืออำนาจกาม อยู่เหนืออำนาจกาม คือไม่ไปหลงรัก ราคะในสิ่งใด
ชั้นที่สาม อัสมิมานัสสะ วิเนยโย เอตัง เว ปะระมัง สุขัง ( บาลี นาทีที่ ๐ :๔๓ :๔๒.๔ ) นำ อัสมิมานะ ออกเสียได้ เป็นสิ่งเป็นสุขอย่างยิ่ง ปรม ปรบรม บรมสุข เว้ย
ว่า พระพุทธเจ้าท่านได้ฝากไว้ให้ ถือเสมือนหนึ่งว่า ฝากให้เราแต่ละคนๆ ทุกคน ทุกคน ทุกคน ก็จำไว้เป็นหลักประจำตน ไม่ให้ไปเกิดความผิดพลาดในเรื่องนี้ ไม่เบียดเบียนอะไร ไม่กำหนัดยินดีอะไร แล้วก็ไม่มีตัวกู ไม่มีตัวกู เอ้า,แต่แล้วก็ขอยืนยันว่า มันสำคัญสูงสุดอยู่ที่ไม่มีตัวกูนั่นแหละ ถ้ามันไม่มีตัวกูเสียตั้งแต่ทีแรกแล้ว มันก็ไม่ ไม่เบียดเบียนใครหรอก เพราะเบียดเบียนใคร มันต้องเบียดเบียนด้วยตัวกู หรือจะไปกำหนัดยินดีในสิ่งไร มันก็ต้องมีตัวกู หรือจะเป็นผู้กำหนัดหรือเป็นเจ้าของความกำหนัด ถ้าไม่มีตัวกู ไอ้สองข้อข้างต้น มันจะมีเองอัตโดยอัตโนมัติ แต่เดี๋ยวนี้ ยังเป็นบุถุชนเกินไป จะทำอย่างไรให้มันไม่มี ไม่มี ไม่มีธรรมะขั้นสูงคือความไม่มีตัวกู มันยังไม่มี มันมีตัวกู ตัวกู เพราะฉะนั้นจึงบอกให้ระวังไว้ก่อน ระวังไว้ก่อน อย่าเบียดเบียน อย่าไปหลงกำหนัดยินดีในสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดยินดี
ความสุขมีอยู่เป็นสามสถานอย่างนี้ เลือกเอาตามพอใจ ควรจะพยายามให้ได้ทั้งสามอย่างนะ ถ้าได้อย่างสูงสุด มันก็นับว่าวิเศษหรือโชคดี ประสบความสำเร็จสูงสุด ไม่มีความรู้สึก เป็นตัวกู เป็น อหังการ เรียกว่า ตัวกู ไม่มีความรู้สึกว่า ของกู คือ มมังการ อหังการะ ว่าตัวกู มมังการะ ว่า ของกู อย่ามี อหังการ อย่ามี มมังการ มันก็ไม่มีตัวกู ไม่มีของกู แต่ทีนี้ ไอ้ความอหังการ ความมมังการนี้ มันเป็นของที่อร่อยที่สุดแก่คนโง่ ยิ่งบรมโง่เท่าไหร่แล้ว มันยิ่งจะอร่อยแก่ อหังการ ม มมังการ เท่านั้นแหละ มันอยากจะมีตัวกู อยากจะมีของกู อยากจะข่มขู่ผู้อื่น อยากจะเหนือผู้อื่น เพราะฉะนั้นระวัง อาหารของความโง่ คือ ความหมายมั่นเป็นตัวกู เป็นของกู กูสบายใจเหลือประมาณแล้ว สบายใจอย่างตรงกันข้าม ความทุกข์ที่เป็นไฟ ความทุกข์ที่เป็นนรก เป็นของคนโง่ที่มีตัวกูของกู มันก็หมดไอ้ความรู้สึกตัวกูของกู มันก็เป็นความสุขแท้จริงของคนไม่โง่ มันไม่มีความทุกข์ที่ชนิดโง่ อาตมาคิดว่า เท่านี้ก็พอแล้ว
ถ้าเข้าใจเรื่องความสุขสามชนิดเท่านี้ อย่างที่ว่ามานี้มันก็พอให้ดำเนินชีวิต ปฏิบัติ ปฏิบัติ ปฏิบัติ แต่เดี๋ยวนี้มันอยากจะพูดให้มันกว้างกว่านั้น ให้มันรับผิดชอบกันมากกว่านั้น ว่าถ้ามันมีความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัวกู เห็นแก่ตัวแล้วมันทำลายโลก มันถึงจะทำลายโลกให้วินาศไปทั้งโลก ไม่มีเหลือ เพราะว่าคนเห็นแก่ตัวนี้มันทำ ทำร้าย ทำอันตราย เป็นภัย เป็นอันตรายแก่โลก อยากจะท้าทายว่าคุณช่วยคิดมาดู คุณลองคิดมาดูลองบอกมาดูสักข้อหนึ่งว่า ความเลวร้ายอันไหนที่มันไม่ได้เกิดมาจากความเห็นแก่ตัว ความเลวร้ายในโลกนี้ กี่ร้อยอย่าง กี่พันอย่าง หมื่นอย่าง แสนอย่าง ความเลวร้ายอันไหนนะที่ไม่ได้มาจากความเห็นแก่ตัว ไปคิดข้อนั้นเพราะจะมองเห็นว่า ไอ้เลวร้ายทุกอย่างมาจากความเห็นแก่ตัว เกลียดมาก กลัวมาก เกลียดมาก มันจะขับไล่ความเห็นแก่ตัวให้ออกไปโดยเร็ว อาตมาจึงพูดว่า เดี๋ยวนี้โลกมันกำลังจะวินาศอยู่แล้ว เพราะความเห็นแก่ตัวในโลก มันมากขึ้นมากขึ้น เพราะมันเจริญด้วยวัตถุที่ส่งเสริมความเห็นแก่ตัว โลกเขาเจริญทางวัตถุ เจริญทางวัตถุนั่นคือเจริญด้วยสิ่งที่ส่งเสริมความเห็นแก่ตัว คือส่งเสริมความสุขสนุกสนาน เอร็ดอร่อยทางวัตถุ ทางเนื้อทางหนัง ทางกิเลสนั่นเองล่ะ นี้ส่งเสริมความเห็นแก่ตัว มันก็ยากหน่อยหรือยากมากก็แล้วแต่ ที่คนอยู่ในโลกนี้จะไม่เห็นแก่ตัว เพราะมันมีแต่สิ่งส่งเสริม โดยกำเนิด ในจิตในใจ มันก็มีมาแล้วจากสัญชาตญาณ บวกกันเข้ากับ โมหะอวิชชา เป็นความเห็นแก่ตัวพร้อมอยู่ข้างในล่ะ ที่ข้างนอก ชาวโลกเขาก็ส่งส่งเสริมโดยปัจจัยที่ผลิตขึ้นมา ผลิตขึ้นมา ให้กินเกิน ให้แต่งเนื้อแต่งตัวเกิน ให้อยู่ใช้สอยเกิน ให้อะไรเกิน เกิน เกินทั้งนั้น มันอยู่ยาก
นี่เตรียมตัวไว้ที่ว่าจะต้องอยู่กับในโลกที่มีแต่เหยื่อยั่วยวนให้เกิดกิเลส ส่งเสริมความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัว สมัยที่โลกมันไม่เจริญ ยังเป็นโลกป่าเถื่อนอยู่ สิ่งเหล่านี้ไม่ค่อยมี เพราะฉะนั้นปัญหาเหล่านั้นจึงไม่ค่อยมี คนป่าก็ไม่ต้องนุ่งผ้าก็ได้ ถ้าไม่ต้องมีโรง มีไม่มีครัวก็ได้ ไปเก็บของกินในป่า เผาไฟกินกันเดี๋ยวนั้น ได้อะไรมา สมัยคนป่า ความเห็นแก่ตัวมันไม่มีที่ตั้ง มันก็ไม่ค่อยมี เดี๋ยวนี้เรามีเงิน มีบ้านมีเรือน มีกามารมณ์ มีอะไรกันสารพัดอย่าง ความเห็นแก่ตัวมันมีที่ตั้งที่เกิด มันก็เจริญงอกงาม มันก็ยิ่งเห็นแก่ตัวยิ่งขึ้นนะไม่ใช่หยุดอยู่นะ ขอให้ดูให้ดี ความเห็นแก่ตัวในโลกนี้ไม่ได้หยุดอยู่เท่าเดิม เพิ่มเพิ่ม เพิ่มเพิ่ม เพิ่มขึ้นในทุกวัน ทุกเดือน ทุกปี เพราะว่าโลกนี้ มันเจริญด้วยวัตถุ ไอ้ที่เรียกว่า อุตสาหกรรมนั้นแหละ ระวังเถอะ ไอ้นั่นแหละมันจะทำความฉิบหาย เพราะว่าสิ่งที่จำเป็น จำเป็นแก่ชีวิตนี้ ไม่ต้องผลิตด้วยอุตสาหกรรม ทำด้วยมือสองมือก็ได้ แต่ที่ต้องมากมายจนต้องทำด้วยอุตสาหกรรมแล้ว มันเป็นเรื่องเกิน เป็นเรื่องทำให้เกิดความเกิน บ้าเกิน ดีเกิน เมาเกิน อะไรเกินดีไปทั้งนั้น จนเป็นบ้า เพราะโลกนี้ ก็จะเป็นอย่างนี้ เราก็จะเป็นกับเขาเหมือนกันนะ จะเป็นนิคส์หรืออะไรไม่รู้ เรียกยาก จะมีอุตสาหกรรม มีอะไรเข้า เข้ามา เพิ่มเข้ามา ให้มันบ้าเรื่องเกินกันให้มากขึ้น
ไม่ดูตัวอย่าง ไอ้พวกเจ้าของไอ้ตำรา ขอ ขออภัยต้องใช้คำว่า พวกฝรั่ง อย่าโกรธ อย่าอะไร มันเกิน มันอยู่กันเกิน แล้วมันเป็นอย่างไรบ้าง ดู ดู ดู ความสุขสงบ สงบสุข มีอยู่ในพวกนั้นหรือเปล่า มันจะยิ่งเลวร้ายกว่าพวกคนป่า เราจะไปเอาอย่างเขาได้อย่างไร การศึกษาก็ดี วัฒนธรรมก็ดี อะไรก็ดี จะไปเอาอย่างคนพวกนั้น อุตส่าห์ไปเรียนเมืองนอกเมืองนา ปริญญายาวเป็นหาง เรียนไอ้ความรู้บ้าๆ บอๆนี้มาทั้งนั้นน่ะ มาทำให้เกิน ไปใช้วัตถุที่ทำให้เกิน อย่างคอมพิวเตอร์นี้เรื่องทำเกิดส่วนเกิน วิธีเอาเปรียบผู้อื่น วิธีจะหาส่วนเกิน ไอ้เรื่องคอมพิวเตอร์นี้ บูชากันนักนะ โลกมันจะได้วินาศเร็ว เรียกว่ามันสร้างแต่ส่วนที่จะส่งเสริมความเห็นแก่ตัว พอเขาเหลียวมามองพวกเรา มองพวกคนมีธรรมะธรรมโม เขาก็เออบ้าบ้า ไม่หยุดนิ่ง ไม่เจริญ ไม่อยากจะคบ ทีนี้พวกเราที่อยากจะคบก็ต้องหมุนตามเขา หมุนไปตามความเห็นแก่ตัวนั้น ปัญหาก็มีอยู่อย่างนี้
คนมันเห็นแก่ตัวแล้ว ขอพูดอีกที วันนี้ก็ได้พูดให้ฟังอย่างยิ่งแล้ว เอ่อ คนเห็นแก่ตัวมันขี้เกียจ คนเห็นแก่ตัวมันเอาเปรียบ คนเห็นแก่ตัวมันอิจฉาริษยา คนเห็นแก่ตัวมันไม่สามัคคี คนเห็นแก่ตัวมันยกตนข่มผู้อื่น คนเห็นแก่ตัวมันชอบนินทาผู้อื่น ใส่ร้ายผู้อื่น ใส่ความผู้อื่น คนเห็นแก่ตัวมันทำลายสาธารณประโยชน์ คนทำลาย ไอ้คนเห็นแก่ตัวมันสร้างมลภาวะ มันสร้างมลภาวะ แล้วเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุทั่วไปในท้องถนน ในแม่น้ำลำคลอง อุบัติเหตุเกิดเพราะผู้เห็นแก่ตัว เพราะเห็นแก่ตัว มันจึงไปได้ ได้ไปเป็นทาสของยาเสพติด มันเห็นแก่ตัวแล้ว มันก็ได้เป็นโรคที่หมามันก็ไม่เป็น ขออภัยนะ มันพูดคำตรงๆ หยาบคาย โรคอะไรก็ดูเอาเองแหละ คุณก็รู้กันเอง อ่านหนังสือพิมพ์ก็รู้ว่าโรคอะไรที่หมามันก็ไม่เป็นน่ะ และที่คนมาเป็น เป็น เป็นจนเป็นปัญหากันทั้งโลกน่ะ สมน้ำหน้าไอ้คนทั้งโลกน่ะที่มันเป็นโรคหมาก็ไม่เป็นน่ะ นี่เพราะมันเห็นแก่ตัว ถ้ามันไม่เห็นแก่ตัว มันไม่ไม่ไปเกี่ยวข้องแตะต้องกะไอ้โรค หรือเกี่ยวกับโรคเหล่านั้น มันก็ไม่ต้องเป็นโรคนี้ ในที่สุด มันก็เป็นอันธพาล อันธพาล จี้ ปล้น ลักขโมย อะไรก็ตาม เพื่อให้ได้ตามที่มันต้องการ มันทำลามกอนาจาร ไม่มีความละอาย นี่เรียกว่า มันเหลือ เหลือทน ผู้เห็นแก่ตัว แล้วมันจะเพิ่มขึ้นๆนี่ มันน่า น่า น่าเป็นห่วงสักเท่าไร มันจะไม่ลดลง ไม่ลดลง สร้างคุกไม่ไหว สร้างตำรวจไม่พอ สร้างเรือน ไอ้ศาลก็ไม่พอ สร้างโรงพยาบาลบ้าก็ไม่พอ ถ้ามันมากเกินไป นี่คือความเห็นแก่ตัว ถ้าไม่มีความเห็นแก่ตัว เรื่องยุ่งๆ เหล่านี้ มันก็ไม่มี เราก็ไม่ต้องมีกฎหมาย ไม่ต้องมี มีกฎหมาย ไม่ต้องมีการปกครอง เมื่อไม่มีเห็นแก่ตัวแล้ว ไม่มีใครทำผิดอะไร แม้ความผิดทางแพ่ง มันก็ไม่มี ฉ้อโกงทางแพ่ง มันก็ไม่มี หรือมันจะรุกล้ำไอ้อะไรกัน เพราะมันไม่มี เพราะมันไม่มีเหตุผล แล้วพระศาสนา ก็ไม่ต้องมี เพราะมนุษย์มันไม่เห็นแก่ตัว ทีแรกศาสนาไม่ได้มีอยู่ในโลกนะ แต่พอมนุษย์มากขึ้น เห็นแก่ตัวขึ้น จึงต้องเกิดศาสนา เกิดศาสนาตามขึ้นมา ศาสนาเกิดเพราะมนุษย์มันเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัวนั้นมันเป็นเหตุให้เกิดศาสนา ถ้ามันไม่เห็นแก่ตัวเสียแล้วมันก็ไม่ต้องเกิดศาสนา ผู้ที่ไม่เห็นแก่ตัวอยู่กันได้โดยไม่ต้องมีศาสนา เพราะว่ามันเป็นศาสนาเสียเองในตัวมันเอง ศาสนาแห่งความไม่เห็นแก่ตัว ถ้าเห็นด้วยก็ขอให้ช่วยกันหน่อย ช่วยทำความเข้าใจเรื่องนี้ ช่วยโฆษณาเรื่องนี้ ช่วยเผยแผ่เรื่องนี้ ช่วยอบรมลูก อบรมหลาน อบรมเด็กๆ ให้มันเข้าใจเรื่องนี้ ให้มันเกลียดกลัวความเห็นแก่ตัวไปตั้งแต่เล็กเลย มันจะไม่ทำผิด ลูกเห็นแก่ตัว แม่ก็น้ำตาตกอย่างที่เป็นเป็นอยู่นี่ ลูกหญิงโดยเฉพาะ เห็นแก่ตัว มันทำอะไรที่ให้แม่น้ำตาตกเสมอ ช่วยกันสอนทั้งลูกหญิงทั้งลูกชาย ทั้งใครก็ตามว่า มาปรึกษาหารือกันให้รู้ว่า ความเห็นแก่ตัวนี้ ไม่ไหว ไม่ไหว นำไปสู่นรก นำไปสู่ความตกต่ำหรือความเป็นทุกข์ คนเห็นแก่ตัวแล้วจะเบียดเบียน คนเห็นแก่ตัวแล้วจะกำหนัดในสิ่งเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดรุนแรง คนเห็นแก่ตัวแล้วก็จะยึดมั่นถือมั่นในตัว ไปสร้างอาชญากรรมได้ทุกอย่าง เพราะความยึดมั่นถือมั่นในตัว ความสุขทั้งสามสถานนั้นมีไม่ได้ แล้วก็เกิดความทุกข์หลายสถาน แทน
เอาละเป็นอันว่า สรุปความได้เสียทีว่า ความสุขมีอยู่สามระดับ ไม่เบียดเบียน ไม่กำหนัด ไม่ไม่มีตัว ความทุกข์ก็ตรงกันข้าม ถ้าไม่อยากจะมีความทุกข์ ก็กำจัดไอ้เหตุเหล่านี้ออกไปเสีย เป็นพุทธบริษัทกันเสียใหม่ให้ถูกต้อง ลดความเห็นแก่ตัว จะทำบุญอะไรสักนิดหนึ่งก็ ขอให้ทำเพื่อลดความเห็นแก่ตัว จะทำบุญสักบาทหรือสักสิบสตางค์ ขอให้มันทำบุญเพื่อลดความเห็นแก่ตัว อย่าเพื่อสร้างความเห็นแก่ตัว สร้างสวรรค์ สร้างวิมาน สร้างอะไรก็ไม่รู้ ในเมืองสวรรค์นั่นละยิ่งเห็นแก่ตัว อย่าไปเอากับมันเลย ในเมืองสวรรค์ มันบ้าการมณ์ มันยิ่งเห็นแก่ตัว เมืองมนุษย์เรายังดีกว่า แต่ยังมีส่วนเลวอยู่มาก เกิด กำจัดส่วนนี้ เช่นว่าจะทำบุญอะไร ก็ขอให้มันลดความเห็นแก่ตัว ไม่ว่าทำบุญอะไร ขอให้ทำไปเพื่อลดความเห็นแก่ตัว อย่าสร้างตัณหา สร้างกิเลส สร้างเหยื่อแห่งกิเลส นี่ทำบุญก็ทำให้เป็นบุญ คือให้มันล้างความเห็นแก่ตัว ถ้าไม่อย่างนั้น บุญนั้นน่ะมันจะกลายเป็นความเห็นแก่ตัว แล้วก็ฝัง ขุดหลุมฝังคนกระทำ
เอ้า, ขอพูดอีกที บุญมีสามระดับ ไม่เบียดเบียน ไม่กำหนัดยินดี แล้วก็ไม่เห็นแก่ตัว นี่มันเหนื่อยจนจะไม่มีแรงจะพูดแล้ว ก็ต้องยุติ จึงขอฝากไว้กับท่านทั้งหลาย จะอยู่ใกล้อยู่ไกล อยู่ที่ไหนอะไร ยังไงก็ช่วยเอาไปคิด ไปนึกเถิด ถ้าท่านอยากจะทำบุญอันสูงสุด บุญอันมหาศาล ก็ทำได้ โดยไม่ต้องใช้เงินสักตางค์เดียว สักสตางค์เดียว คือทำช่วยทำให้คนอื่นมันลดความเห็นแก่ตัว อย่าไปมัวทำบุญสร้างวิมานในอากาศอะไรเลย ทำบุญด้วยการทำให้ผู้อื่นลดความเห็นแก่ตัว บุญนั้นจะเป็นบุญมหาศาล บางทีไม่ต้องใช้เงินสักสตางค์ เลยต้องพูดกันมากหน่อย ชักจูงกันมากหน่อย ชี้ชวนกันมากหน่อย ทำบุญมหาศาลโดยไม่ต้องใช้เงิน แต่กลับได้บุญเหมือนกับใช้เงินเป็นล้านๆ ร้อยล้าน พันล้าน ก็ยังทำไม่ค่อยจะได้
เอาแล้ว ขอยุติการบรรยายในครั้งนี้ด้วยความที่ว่า มันไม่มีแรงจะพูด ไม่ใช่หมดเวลา เวลามันยังมี แต่มันไม่มีแรงจะพูด ขอฝากไว้ ช่วยไปทำต่อ สานต่อ จนให้โลกนี้มันมีความแน่ใจขึ้นมาว่า มันจะไม่วินาศ มันจะไม่วินาศ เดี๋ยวนี้ มันกำลังมีท่าทางแสดงว่าจะวินาศ อันนี้คือบุญอันใหญ่หลวง บุญอันใหญ่หลวง ขอยุติการบรรยาย
(เสียงไม่ชัด นาทีที่ ๑ :๐๑ :๔๖.๓ )ไปขอน้ำสักหน่อยสักแก้ว น้ำ น้ำ เอ้า, ไหนล่ะคุณประยูรอยู่ไหน ดำเนิน ลงโรงต่อสิ
ซ้อมความเข้าใจกันแต่เดี๋ยวนี้ว่า จะไปทำหน้าที่กำจัดความเห็นแก่ตัวกันได้อย่างไร ให้ได้บุญต่อไปในส่วนนี้