แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ขออนุโมทนา ในเจตนาที่จะฝึกอานาปานสติ คือ เป็นความเหมาะสม คือ ยิ่งกว่าเหมาะสม สำหรับภิกษุที่จะฝึกอานาปานสติ ถ้ารู้จักว่ามันเป็นอย่างไรแล้วก็ คือ จะฝึกง่าย คือ ได้ประโยชน์มาก ถ้าพูดตรงๆ ก็ว่า ฝึกอานาปานสติ เพื่อแก้นิสัยสันดานพาล ที่มีอยู่เต็มเนื้อเต็มตัว
นิสัยสันดานพาล อันธพาลนั้น ที่มันมีอยู่เต็มเนื้อเต็มตัว สันดานพาลอย่างไร ก็ขอให้ฟังให้ดี คือเป็นเรื่องของกิเลสทั้งระบบของมัน
คนเราเกิดมา ไม่ได้มีสติปัญญา มาแต่ในท้อง แล้วก็ยังไม่ได้ฝึกฝนอบรมธรรมะของพระพุทธเจ้าโดยตรง มันก็เกิด มันก็เกิด ไอ้, ความเป็นไปในทางจิตใจ เกิดขึ้นมาระบบหนึ่ง เรียกว่า ระบบกิเลส คืออารมณ์เข้ามาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือทางไหน ทางการอ่าน การศึกษา หรืออะไรก็ตาม มันมีความหมายเป็นบวก หรือเป็นลบ ถูกใจเป็นบวก ไม่ถูกใจเป็นลบ แล้วก็ลองบวก ลองลบ ก็เกิดกิเลสไปตามนั้น
ถ้าอารมณ์นั้นเป็นบวก ถูกใจ มันก็เกิดกิเลส หมวด พวกราคะ หรือโลภะ ถ้าจะให้เรียกรวมๆ หมวดราคะ หรือหมวดโลภะ เพราะมันมีมาก
ถ้าอารมณ์นั้นไม่ถูกใจ ก็เกิดกิเลส หมวดโทสะ หรือโกรธะ
ถ้าหากว่ามันไม่เป็นบวก ไม่เป็นลบ คือ อทุกข์ก็ไม่, เป็นอทุกขมสุข มันก็เกิดกิเลสหมวดโมหะ คือโง่เท่าเดิม หรือบางทีก็ยิ่งไปกว่าเดิม คือ อุปาทานยึดมั่นยิ่งไปกว่าเดิม
นี่, มันจะเกิดกิเลสได้ตามธรรมชาติอย่างนี้ มาตั้งแต่โน่น, มาตั้งแต่วัยรุ่น หรือว่า วัยหนุ่มสาว ทีนี้เกิดกิเลสครั้งหนึ่งแล้ว เสร็จแล้ว อารมณ์ดับผ่านไปหมดแล้ว มันเหลือเอาความเคยชิน ที่จะเป็นเช่นนั้นไว้ ในสันดาน ในจิตใจ พูดว่าในสันดานบางทีจะฟังไม่ถูก มันเลยอยู่ในจิตใจ เพื่อจะเป็นเช่นนั้นอีก เป็นความเคยชิน หมายความว่า มันจะกลับ เกิดเช่นนั้นอีก มันก็เหลืออยู่ในจิตใจ
ความหมายของกิเลสที่เกิดขึ้นครั้งหนึ่งๆนั้น แม้เรื่องจะดับไปแล้ว แต่มันก็เหลือความเคยชินที่จะเป็นเช่นนั้นอยู่ในจิตใจ ก็เกิดกิเลสทุกที เกิดกิเลสทุกที ก็เหลือความเคยชินไว้ทุกที เพิ่มขึ้นทุกที เกิดกิเลสอีกที ก็เพิ่มขึ้นอีกที เกิดกิเลสอีกที ก็เพิ่มขึ้นอีกที อยู่ในจิตใจ เคยชินที่จะมีความโลภ หรือ ความโกรธ หรือ ความหลง
เรียกตามภาษาบาลี เรียกว่า อนุสัย อนุสโย อนุสัย
เรียกเป็นไทยๆ ก็ว่า ความเคยชินที่จะเป็นเช่นนั้น ที่จะเกิดกิเลสนั้น
นั่นน่ะ คือ สันดานพาล สะสมอยู่ในสันดาน ถ้าพูดอย่างหยาบคายก็ สะสมอยู่ในหัวมนุษย์นั้นแหละ สันดานพาลนั้น มันจะค่อยๆละลายไปได้อย่างไร จะค่อยๆ ละลายไปทุกๆคราว ที่ว่าเราไม่ให้เกิดกิเลส ในกรณีที่มันควรจะเกิดกิเลสอีก ครั้งหลังน่ะ เราไม่ให้มันเกิดกิเลส
ถ้าหักห้ามได้อย่างนี้ครั้งหนึ่ง จะสันดานพาล หรือ อนุสัยจะลดลงไปหน่อย หน่วยหนึ่ง หน่วยหนึ่ง ทุกทีที่เราบังคับไว้ได้ การประพฤติพรหมจรรย์ สำรวมจิตที่ดีมากอย่างนี้ บังคับกิเลสไว้ได้ครั้งหนึ่ง ก็ลดสันดานพาล อันธพาล ลงไปหน่วยหนึ่ง ถ้าสามารถทำให้กิเลสไม่เกิดได้ทุกคราวที่มันจะเกิดไว้เรื่อยไป มันจะลด ลด ลด ลด ลด จนหายไปก็ได้ หมดไปก็ได้
แต่ทีนี้ วิธีที่จะให้ลดแบบนี้ โดยเร็ว โดยอย่างดีที่สุดนั้น ก็คือ ทำวิปัสสนา ให้เกิดญาณ รู้แจ้งเห็นจริงในความโง่ หรือความอันธพาลนั้นเอง วิปัสสนาก็จะเหมือนกับว่าไฟเผาลน ละลายไอ้ความเป็นอันธพาลนั้นให้ไหลออกไป ให้ละลายออกไป ทีละน้อย ทีละน้อย ถ้าหมดอนุสัยเหล่านั้น ก็บรรลุมรรคผลอย่างใดอย่างหนึ่ง
นี้, ความเคยชิน ที่จะเกิดกิเลส ที่สะสมอยู่ในสันดาน นั้นแหละ คือ ความเป็นอันธพาล มันมีมาก มันมีมาก ถ้าพอเกิดกิเลสทีหนึ่ง มันสะสมไว้ทีหนึ่ง เกิดกิเลสทีหนึ่ง มันสะสมไว้ทีหนึ่ง คือ มันเกิดไม่รู้กี่สิบครั้ง กี่ร้อย กี่พันครั้ง มันก็จะหนาแน่น เป็นสันดาน เรียกว่าเป็น ความเป็นอันธพาล ที่สะสม
กิเลส ประเภทราคะ คอยสะสมอยู่ คือ โลภะ หรือ โทสะ หรืออะไรก็ตาม เป็นกิเลสประเภทราคะ ราคะ โลภะ ก็เรียกว่า ราคะอนุสัย ราคานุสัย ราคะอนุสัย พร้อมที่จะเกิดกิเลสราคะ ไวมาก มันจึงยากที่อันธพาลบางคนมันจะเว้นจากการประพฤติอันธพาล แบบราคะ ข่มขืนบ้าง หรืออะไรอื่นอีกบางอย่าง ที่เป็นความไวของกิเลสประเภทราคะ กระทั่งมันจะสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง ภิกษุบวชใหม่อยู่ไม่ได้ ทำยังไงก็อยู่ไม่ได้ มันต้องสึกออกไป เพราะมันไม่มีการลดซึ่งราคานุสัย
ทีนี้ กิเลสประเภทความโกรธ โกรธครั้งหนึ่ง โกรธครั้งหนึ่ง มันก็สะสมอนุสัยไว้หน่วยหนึ่ง หน่วยหนึ่ง ทุกทีเหมือนกัน ก็เรียกว่า ปฏิฆานุสัย ปฏิฆานุสโย ปฏิฆานุสัย พร้อม หรือ เร็ว ที่จะเบียดเบียน ดังนั้นมันจึงง่ายที่จะทะเลาะวิวาทกัน เหมือนสุนัข พอ พอเห็นหน้ากันก็ แฮ่ เท่านั้นแหละ ไม่ต้องมีอะไรกัน ไม่ทันจะมีอะไรกัน เพราะมันมีอนุสัยชนิดนั้นมาก ทั้งพระเณร จึงชกต่อยกัน แทงกันด้วยช้อนส้อม นี่, เพราะมันมีอันธพาลแบบนี้ฝังอยู่ในสันดานมากนัก เรียกว่า ปฏิฆานุสัย
ทีนี้ กิเลสประเภท โมหะ เข้าไปสะสมไว้ ก็เป็น อวิชชานุสัย อวิชชานุสัย ความเคยชินแห่งความไม่รู้ ไม่มีความรู้ ปราศจากความรู้ หรือ ถ้ามีความรู้ ก็รู้ผิดๆ ที่เรียกว่า อวิชชานุสัย เพราะฉะนั้น มันจึงโง่ มันจึงปัญญาอ่อน มันทำอะไร อะไร เป็นคนปัญญาอ่อนไปเสียทุกทีแหละ แล้วมันก็ไม่รู้สึกตัวด้วย เอาสิ, ไม่รู้สึกตัวด้วยว่าปัญญาอ่อน มันก็เถียงไปตามแบบปัญญาอ่อน
นี้, ก็เป็นอันธพาลชนิดที่ ๓ ที่ฝังอยู่ในสันดาน เรียกว่า
ราคานุสัย
ปฏิฆานุสัย
อวิชชานุสัย
ทางที่จะลดได้ก็มี ๒ วิธี คือ ไม่เติม พอจะเกิด พอมีโอกาสที่จะกิเลส หรือเหตุให้เกิดกิเลสมีมา ไม่เกิด ไม่เกิด อย่างนี้เรียกว่า ไม่เติม คือ ลด มันก็ลดหน่วยหนึ่ง ลดหน่วยหนึ่ง ทุกคราวที่บังคับไว้ได้ ไม่เกิดกิเลส โดยการไม่เติม
ทีนี้ อีกวิธีหนึ่ง ก็คือ เอาไฟเผามัน เอาไฟลนมัน ไฟที่ว่านี้ ก็คือ วิปัสสนา ความเห็นแจ้ง ในความจริงของสิ่งทั้งปวง ที่ทำให้คนมันโง่ มันหลง เพราะมัน มันไม่มีความเห็นแจ้ง มันไม่มี ญาณทรรศนะ ถ้าทำให้เกิดญาณทรรศนะอยู่เรื่อยไป มันก็ลนหรือเผา ไอ้อนุสัย ให้ลดลงเหมือนกัน ลดลงเหมือนกัน
ถ้าหมด ก็เป็น การบรรลุมรรคผลสูงสุด
ไม่หมด ก็เป็น การบรรลุมรรคผลตามสมควร
ก็คือ การไปอบรมจิต ที่เต็มอยู่ด้วยอนุสัยนั้น ให้เหมือนกับถูกเอาไฟลนอยู่ด้วยวิปัสสนา
ดังนั้น เราจึงต้องทำวิปัสสนา หรือว่าควรทำวิปัสสนา มีหลายแบบ หลายอย่าง แต่ว่าที่เราเห็นว่า ดีที่สุด เลือกมาดีที่สุด จากพระบาลี ก็คือ แบบอานาปานสติ
ควบคุมกาย ชนะกายให้ได้ ให้ร่างกายอยู่ในอำนาจ ให้สงบระงับได้ตามต้องการ หมวดที่ ๑
ถ้าหมวดที่ ๒ ควบคุมความรู้สึกของกาย ที่เรียกว่า เวทนา เวทนาที่ทำให้เกิดความรัก ความหลงใหล มากกว่าอย่างอื่น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เวทนาเหล่านี้ ควบคุมมันได้ ชนะมันได้ มันก็ไม่ดึงไปหากิเลสสกปรก
หมวดที่ ๓ บังคับจิตให้ได้ หมวดนี้สำคัญที่สุด สำคัญที่สุด สำหรับวิญญาณแห่งความเป็นบรรพชิต หรือเป็นนักบวช ถ้าควบคุมจิตไว้ได้นี้ นั้นแหละคือความเป็นพระ ความเป็นพระอยู่ที่นั่น จงฝึกควบคุมจิตให้ได้ รู้จักจิตทุกชนิด แล้วก็เลือกมุ่งหมายเอาอันที่สูงสุด สูงสุด บังคับให้บันเทิง บังคังให้ตั้งมั่น บังคับให้ปล่อย อย่างที่ปรากฎอยู่แล้วในหลักสูตร บังคับได้ตามความประสงค์ จิตก็อยู่ในสภาพที่ถูกต้อง
และหมวดที่ ๔ ก็ทำให้เกิดญาณ เกิดญาณที่สูงสุด วิปัสสนาญาณก็เรียก อะไรก็เรียก คือ เพ่งพิจารณา อนิจจัง อนิจจัง อนิจจานุปัสสี เพ่งเห็นความไม่เที่ยงของทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ยกเว้นอะไร รอบตัวเรา นอกตัวเรา ในตัวเรา เห็นแต่เป็นอนิจจัง โดยเฉพาะอนิจจังที่เราเคยหลงใหลมาแล้ว
เห็นอนิจจัง อนิจจัง ของอายตนะก็ดี
ของอารมณ์ ที่มากระทบอายตนะก็ดี
ของเวทนา ที่เกิดขึ้นก็ดี
คือ ทุกอย่างนี้ เรียกว่าธรรมทั้งปวง คือ เห็นอนิจจัง เห็นอนิจจัง เมื่อเห็นอนิจจังอยู่อย่างนี้ เดี๋ยวมันก็คลายความยึดมั่น ถือมั่น คือ ความโง่แต่เดิม มันคลายอยู่ คลายอยู่ มันก็หมดแหละ ถ้ามันคลายอยู่มันก็หมด ถ้าหมดก็รู้ว่าหมดความยึดมั่นถือมั่น นี้หมวดที่ ๔
เมื่อทำอยู่อย่างนี้ มันมีอาการเท่ากับเอาไฟ คือ วิปัสสนา ไปลนเอา ไอ้, อนุสัย กองอนุสัย กองกิเลส ให้ละลายไป หรือจะใช้คำให้เบาบางไป เบาบางไป เบาบางไป
นั้นก็ ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์ คือ ความไม่มีกิเลส แม้จะไม่มีผลถึงการบรรลุมรรคผล นิพพาน มันก็มีผลดีวิเศษ มันจะหมดสันดานพาล สันดานอันธพาล ที่รักเร็วจนบ้ากาม ที่โกรธเร็วจน แฮ่ๆ ทำอันตราย อันตราย แก่ผู้ข้างเคียง แล้วบางทีหลง หลง หลงจนทำอะไรไม่ถูกไม่สมควรแก่เหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้น มีการกำจัดความโลภ กำจัดความโกรธ กำจัดความหลง หรือกำจัดราคะ โทสะ โมหะ ด้วยการเอาไฟไปลนเข้าที่คลังของมัน คือ อนุสัย ทำได้เป็นเวลาเท่าไร มันก็ลนตลอดเวลาเท่านั้น ทำวิปัสสนาเป็นเวลาเท่าไร มันก็เหมือนกับเอาไฟ นี่, ลนอนุสัยเป็นเวลาเท่านั้น
ฉะนั้น เมื่อทำอยู่ ทำอยู่ ทำอยู่ อนุสัยอันธพาล มันก็เบาบาง เบาบาง เบาบาง เบาบาง การสะสม อะไรน่ะ, ความรู้สึกของจิตที่เป็นกิเลสนั้น นี่, มันถูกละลาย ละลาย ละลาย โดยวิธีเอาวิปัสสนาลน และอีกทางหนึ่งก็ไม่เติมเข้าไป ไม่ป้อนเข้าไปอีก ไม่ป้อนเข้าไปอีก สังวร สังวร ระวังเป็นอย่างดี ไม่ป้อนเข้าไปอีก
ทีนี้ ข้างในนั้น มันก็คอยลดอยู่ ลดอยู่ ลดอยู่ และเมื่อ เมื่อไม่ป้อนเข้าไปอีก มันก็ลด มันก็ลด คือมันไม่เติม ไม่เติมอาหาร ไม่ ไม่เติมสิ่งหล่อเลี้ยง
ฉะนั้น การทำวิปัสสนาจึงมีผลสำเร็จเป็นการมรรคผลนิพพานเป็นที่สุด แม้ไม่บรรลุมรรคผลนิพพาน ก็เปลี่ยนนิสัยอันธพาล นิสัยพาล นิสัยอันธพาล ทั้งในแง่ ราคะ โทสะ โมหะ ให้ลดลง ให้ลดลง เป็นที่น่าภาคภูมิใจ
อย่างภาษาว่ายังอยู่ในโลก แม้จะยังอยู่ในโลก เป็นวิสัยโลกียะ ถ้ากิเลสมันลดลง หรือมันน้อยลง ก็ดี ดี เขาเรียกว่ามีจิตใจสูง
ถ้ามองในแง่โลกุตตระ มันก็ยิ่งดี เพราะมันใกล้พระนิพพานเข้าไปทุกที ใกล้พระนิพพานเข้าไปทุกที ใกล้พระนิพพานเข้าไปทุกที
ถ้าอยู่ที่นี่ ถ้าอยู่ที่นี่ คือไม่ได้ ไม่ต้องการจะไปนิพพาน ก็เป็นคนที่ไม่เป็นอันธพาล แต่เป็นสัตตบุรุษ ผู้มีคุณธรรม มีความงาม มีความดี มีความสงบรำงับ ที่น่ารักใคร่นับถือ (เสียงหาย ระหว่างนาทีที่ 19:46-20.08) .....(มีเสียงซ้ำ นาทีที่ 18:17-19:43 ) (เริ่มต่อ นาทีที่ 21.39 ) และชีวิตของเขาก็จะเย็น เย็น เย็น ดีกว่าชีวิตร้อน ชีวิตร้อน ร้อนด้วยราคะบ้าง ร้อนด้วยโทสะบ้าง ร้อนด้วยโมหะบ้าง ราคะไฟแห้งร้อนเผา เอ่อ, ไฟเปียก
ไอ้โทสะ มันไฟแห้งร้อนเผา
ราคะ มันไฟเปียก
โมหะ เป็นไฟมืด มืด
เป็นไฟเหมือนกันหมดแหละ ทั้งความแห้ง ทั้งความเปียก ทั้งความมืด
โทสะ โกรธะ นี่, เป็นไฟลุกโพลง เป็นไฟร้อน
ราคะ โลภะนี้เป็นไฟเปียก แต่มันอันตรายเหมือนกัน
โมหะ เป็นไฟมืด
ฉะนั้น เราก็ดับไฟกิเลสเหล่านี้เสีย ก็เป็นการดับทุกข์ พระอริยะเจ้า ดับเสียทั้งไฟกิเลส และไฟทุกข์ จะเป็นพระพุทธเจ้าก็พร้อมทั้งวาสนา คือ ความเคยชินทางฝ่ายร่างกาย ฝ่ายวัตถุนี้ด้วย
ความนิยมในอินเดีย ทั้งในแง่พุทธ หรือ แง่ฮินดู หรือเรียกแง่อินเดีย วัฒนธรรมอินเดีย สูงสุดทางจิตใจ เขาก็จัดชีวิตไว้เป็น ๔ ขั้นตอน
เป็นเด็กๆ จนกระทั่งจะเป็นหนุ่มสาว นี้เรียกว่า วัยพรหมจารี ถ้าได้บังคับไว้ให้ถูกต้อง ตลอดวัยนี้ก็จะดีมาก เอ่อ, เขาจึงมีอาศรม สำหรับให้ผู้ชายคนหนุ่มโดยเฉพาะ ผู้หญิงมีน้อยมาก ที่จะเข้าสู่อาศรม เด็ก หรือ กระทั่งเป็นหนุ่มแล้วเข้าสู่อาศรมฝึกหัดจิตใจอยู่ ด้วยวิธีที่เรียกว่า ควบคุมกิเลส นี่, ควบคุมกิเลส จนเป็นที่พอใจของอาจารย์ จึงจะออกมาครองเรือน มาแต่งงาน มาครองเรือน มันดีกว่ากันมาก ที่ไม่เคยต่อสู้ เพื่อชนะกิเลส มันดีกว่ากันมาก เคยต่อสู้ ควบคุมได้มาก ก็คือ มันไม่ผลุนผลัน เผลอทำอะไรไปตามอำนาจกิเลสนั้นเอง ราคะก็ดี โทสะก็ดี โมหะก็ดี มันไม่ผลุนผลัน ไปตามอำนาจแห่งกิเลส มันก็ดีมาก มันมีแต่ความถูกต้อง นี่วัยหนึ่ง
ถ้าวัยที่สอง ก็ครองเรือน เป็นพ่อบ้าน แม่เรือนที่ดี เพราะฝึกฝนมาดี ในก่อนที่จะแต่ง จะแต่ง หรือจะ จะสมรสน่ะ ฝึกฝนมาดี ในวัยพรหมจารี พอมาเป็นวัยคฤหัสถ์ ครองเรือนก็ทำได้ดี จนเป็นที่พอใจว่า มันมีเท่านี้ คฤหัสถ์ดีเพียงเท่านี้ มันไม่มีดีไปกว่านี้อีกแล้วโว้ย มันก็ต้องไปต่อไป ไปทางจิตใจกันที ไปทางจิตใจกันที ทางวัตถุ ทางกามนั้นหมดแค่นี้ มันพอแค่นี้
ก็หันไปทางจิตใจ ทีนี้ก็ไปสู่ที่สงัด ฝึกหัดจิตใจ เรียกว่า ระบบ วนปรัสถ์ แปลว่า การอยู่ป่า นี่สูงอายุแล้ว ผ่านพ่อบ้านแม่เรือนมาแล้ว ไปอยู่ป่า ฝึกฝนจิตใจเป็นพิเศษ เป็นสมณะไปเลย ฝึกจนได้ จนเป็นที่พอใจ เป็นที่พอใจ ชนะจิตใจ
แล้วก็เลื่อนสู่อาศรมสุดท้าย เรียกว่า สันยาส หรือ สันยาสี ก็เรียก สันยาส นี้แปลว่า เที่ยว ท่องเที่ยว ผู้ท่องเที่ยว ผู้ท่องเที่ยว คือเป็นผู้ไม่มีบ้านเรือน ไม่มีบ้านเรือน มาท่องเที่ยวทั้งนั้น เป็นผู้ท่องเที่ยว แต่มันไม่ได้ท่องเที่ยวเปล่า มันเที่ยวสอนธรรมะ แจกของ ส่องตะเกียง ประชาชนเคารพนับถือ อยากจะไหว้ให้ได้บุญ หรือจะขอคำแนะนำในทางธรรม อย่างนั้น อย่างนี้ พวกสันยาส สันยาสีนี่ก็บอกให้ บอกให้ ตามลัทธิของตน ของตน ประชาชนก็เลือกเอา หรือจะมีคนชอบเกือบๆ จะทุกลัทธิ แม้จะว่านั้นไปบ้าง มันก็ยังดีกว่า
พระพุทธเจ้า หรือ พวกพุทธนี้ก็เป็นสันยาสี พวกหนึ่งด้วยเหมือนกัน ถ้าถือตามหลักนี้
นี้ถ้าว่าชีวิตได้รับการฝึกฝนครบทั้ง ๔ ประเภท ๔ระบบนี้ มันเต็ม มันครบ มันบริบูรณ์ ดังนั้นการที่เรามาบวช โดยเฉพาะบวชก่อนการสมรส นั้นก็ ก็อยู่ในระบบ พรหมจารี ฝึกฝน ฝึกฝน ฝึกฝน ต่อสู้ ต่อสู้ เอาชนะกิเลส ให้เป็นผู้ที่มีกิเลสน้อย มีความเป็นอันธพาลเบาบาง ทั้งในแง่ของราคะ ทั้งในแง่ของโทสะ ทั้งในแง่ของโมหะ และต้องออกไปเป็นพ่อบ้านที่ดี ถ้ามิฉะนั้น มันก็จะเป็นเจ้าบ่าวที่โง่ สำหรับออกไปกัดกัน กับเจ้าสาว ไม่ทันไรมันต้องหย่ากัน คิดดูให้ดี ถ้าเอาความ, เอา, เก็บเอาความอันธพาลไว้มากนัก
ฝ่ายสตรีมีโอกาสที่จะศึกษาอย่างนี้น้อย มันก็ต้องให้อภัย ถ้าฝ่ายบุรุษมีโอกาสศึกษามาก ก็ควรจะรับผิดชอบ เป็นฝ่ายที่จะควบคุมความถูกต้องของครอบครัว
ทีนี้ มันจึงเป็น สมบูรณ์แบบ มีการศึกษาอบรมสมบูรณ์แบบ เหมาะสำหรับจะอยู่เป็นภิกษุ สามเณร ต่อไป เพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน แม้จะเหมาะกลับออกไปเป็นฆาราวาสชั้นดี ชั้นเลิศ ไม่ใช่ชั้นอันธพาล เพราะฝึกฝนอบรมจิตใจอย่างนี้ ก็เรียกว่า มีจิตใจสูง มีจิตใจสูง ที่เขาไหว้กัน ก็เพราะข้อนี้แหละ เขาไหว้น่ะ ไหว้คนที่มีจิตใจสูง สูงกว่า เหนือกว่า ดีกว่า
ภิกษุฝึกฝนตน ทรมานตน อบรมตน เพื่อไปนิพพานก็ได้ ถ้าสู้ไม่ไหว กลับออกไปเป็นฆราวาสที่ดีก็ได้เหมือนกัน แล้วแต่จะเลือก แล้วแต่จะทำได้อย่างไร
ทีนี้ พูดนี้เพื่อสรรเสริญอานิสงส์แห่ง อานาปานสติ หรือว่าเป็นการแนะนำให้รู้จักอานาปานสติ ว่ามันจะช่วยได้อย่างไร จงฝึกให้ดีที่สุด เพื่อผลทั้งสองฝ่าย คือจะไปเป็นฆราวาสที่ดี ที่น่าไหว้ก็ได้ หรือจะไป เพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน เอียงไปทางพระนิพพาน ลาดลุ่มไปทางพระนิพพานก็ได้เหมือนกัน แล้วแต่จะพอใจ แต่ว่ามันไม่มีเสียหาย มันไม่มีเสียหายแน่นอน มันมีแต่ได้ผลดี โดยส่วนเดียว
เกิดมาได้รับการศึกษา ใน ในวัยที่ควรจะได้รับการศึกษา นี่, นับว่ามีบุญสูงสุด มีบุญสูงสุด วัยเด็ก วัยหนุ่ม วัยคุณหนู Baby วัยที่ควรจะได้รับการศึกษา และได้รับการศึกษา นี้, นับว่ามีบุญที่สุด มิฉะนั้นจะมีโชคร้ายที่สุด วิบากที่สุด มันมืดไปตลอดเวลา แล้วก็จะได้เป็นผู้ครองเรือนที่ดี ถ้ายังสมัครจะเป็นผู้ครองเรือน
การครองเรือนที่ดี ก็คือให้มันเกิดสามีภรรยาที่ดี แล้วก็จะได้มีบุตรออกมา สืบอายุมนุษยชาติอย่าให้มันสูญพันธุ์ ไม่เช่นนั้น มันจะเป็นสัตว์สูญพันธุ์ เหมือนกับไดโนเสาร์ (นาทีที่ 31.16) พุทธาวัตถุมนุสสานัง บุตรเป็นวัตถุของมนุษยชาติ ไอ้ที่เรียกว่า บุตร บุตร บุตร นั้นแหละเป็นวัตถุ คือเป็น ที่ตั้ง ที่อาศัย ที่ยืนยงอยู่ ของมนุษยชาติ ถ้าไม่มีบุตร มันขาดตอน มันหายสาบสูญไปหมด มันไม่มีอะไรเหลือ การที่มีบุตรที่ดีออกมา เป็นการสืบอายุมนุษย์ มนุษยชาติ คือมนุษย์ทั้งหมดเอาไว้ ทีนี้การที่จะเป็นบุตรสมชื่อนั้น มันก็ต้องรู้สิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นบุตรสำหรับไปตกอบาย แต่เป็นบุตรสำหรับจะขึ้นมาเสียจากอบาย บิดามารดาก็พลอยขึ้น
ทีนี้ ถ้าภิกษุไม่เหลวไหล บวชแล้วเป็นพระจริง บวชจริง เรียนจริง บิดามารดาก็พลอยได้รับอานิสงส์นี้ นี่เรียก โปรดบิดามารดา อย่าให้ตกลงไปในนรก เราก็ไม่ตกนรก บิดามารดาก็ไม่ตกนรก เรียกว่าคุ้มแล้ว เท่านี้ก็คุ้มแล้ว ถ้ามากไปกว่านั้น ก็ยิ่งดี เพียงว่าไม่ตกนรกเท่านี้มันก็คุ้มแล้ว
ฉะนั้น เรารู้จักสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะสำหรับความเป็นมนุษย์ เพื่อความเป็นบุตรที่ดี สืบพันธุ์มนุษย์ที่ดีไว้ อย่าให้สูญสิ้นไปจากโลก (นาทีที่ 32.48) พุทธาวัตถุมนุสสานัง ขอให้ได้เป็นผู้สืบพันธุ์ที่ดี ถ้าจะอยู่ในโลก
ถ้าจะเลิกสืบพันธุ์ ก็ขอให้ได้เป็นพระอริยเจ้าในที่สุด ข้อนี้สำเร็จได้โดยการฝึกจิต ฝึกจิต ฝึกจิต ไม่มีทางอื่น ฝึกจิตให้สูงขึ้น ให้สะอาดขึ้น ให้สว่างขึ้น ให้สงบขึ้น ให้หลุดพ้นไปเลย วิธีที่จะทำนั้น เรียกว่า ถ้าเรียกรวมๆ ก็เรียกว่า จิตตภาวนา หรือ จิตตาโยคะ ก็ได้
จิตตภาวนา ก็คือ ทำความ เอ่อ, คือ ทำ ทำให้จิตเจริญ ภาวนาแล้วทำให้เจริญ
จิตตาโยคะ ก็เป็นการฝึกจิต ประกอบจิต อาโยค, อาโยค นั่น คือการฝึกอย่างดี จิตตาโยคะ คือ ฝึกจิตอย่างดี ดีที่สุดเท่าที่มันจะดีได้
ถ้าได้ศึกษา แม้แต่เพียงรู้ ก็มีประโยชน์เหลือหลาย ถ้าได้ปฏิบัติด้วยก็ประโยชน์อย่างยิ่ง ประโยชน์สูงสุด ปฏิบัติให้สำเร็จประโยชน์ จะเป็นการปฏิบัติระบบไหนก็ตาม มันมารวมอยู่ที่นี่ มารวมอยู่ที่ระบบ สติปัฏฐาน ๔ ชนะกาย ชนะเวทนา ชนะจิต ชนะธรรมะที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น ชนะทั้งนั้นแหละ
ปัญหาทางกาย เกี่ยวกับร่างกาย ร่างกายไม่เป็นไปตามความประสงค์อันนี้ ชนะทั้งนั้น มีร่างกายที่ดี ที่มีสมรรถนะภาพ คือชนะกาย
แล้วก็ ชนะเวทนา คือ ความรู้สึกที่จะมาครอบงำ ทำให้เกิดกิเลส ชนะ ควบคุมไว้ได้ ไม่เกิดกิเลส
แล้วควบคุมจิต ไอ้ จิตนี้ตัวการจะไปไหน อย่างไร จะทำอะไร เป็นเรื่องของจิต ควบคุมไว้ได้ ชนะจิต
แล้วก็ชนะธรรม ธรรมะ หมวดที่, คือ สิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น ถือมั่น สิ่งเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะ สิ่งเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ย้ำใจ อันนี้เรียกว่า ธรรม ในความหมายที่๔ ของอานาปานสติปัฏฐาน ในเมื่อชนะได้ก็เป็นธรรมะสูงสุดอยู่ในตัว ทีนี้ชนะธรรม ที่ควรชนะ คือ ธรรม ที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น ถือมั่น ว่าตัวตน ว่าของตน ชนะเสียได้นี้ มันก็ได้ธรรมะบริสุทธิ์ ก็เป็นชนะอีกเหมือนกัน คือ ชนะมรรคผลนิพพาน
แล้ว, เป็นอันว่า เป็นความคิดที่ดี ที่จะไปฝึกอานาปานสติ แต่ขออย่าให้มันเป็นเพียงความคิด เป็นเพียงความคิด มันก็เหลือแต่ความคิด มันไม่ได้มีความถูกต้องในการกระทำ ผลมันก็ไม่ได้รับ มันก็หลอกตัวเองก็ได้ในที่สุด
ถ้ารัก รักตัวเอง อยากจะให้ได้รับผลดี ก็พยายามทำให้ดี
รักบิดามารดา ให้พลอยได้รับส่วนกุศล ก็ทำให้ดี
รักประเทศชาติ ก็ได้ช่วยประเทศชาติ
รักศาสนา ก็ช่วยสืบอายุพระศาสนา ไม่มีอะไรที่ดีกว่าการสืบด้วยการกระทำ ให้ได้ผลยืนยันอยู่ว่า นี้เป็นสิ่งที่ทำได้ ไม่เหลือวิสัย และก็มีผู้ที่ทำได้ เกิดความสุข สงบสุข หรือสันติภาพขึ้นมาในโลกนี้ ยืนยันอยู่อย่างนี้ ก็เรียกว่าเราบวชทีหนึ่ง ก็เป็นเรื่อง บวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง แล้วก็สอนต่อๆ สืบๆกันไปจริง เป็นอะไร น่ะ, พุทธชิโนรส เป็นโอรสของพระพุทธองค์ผู้ชนะมาร จริง อีกที แล้วคุณคิดดู ว่ามีอะไรดีกว่านี้ มีอะไรดีกว่านี้ มีอะไรแพงกว่านี้ มีอะไรที่น่าควรปรารถนายิ่งไปกว่านี้
ดังนี้ จึงขออนุโมทนา ในความตั้งใจที่จะปฏิบัติให้ยิ่งขึ้นไป ต่อไปจากการศึกษา สำหรับผู้ที่ตั้งใจจริง บริสุทธิ์จริง ปฏิบัติธรรมะให้บริสุทธิ์จริง ไม่ใช่ปฏิบัติตบตา หลอกลวง โลเล เฮฮา ตามๆกันไป ถ้าเราถือว่าเราไม่ได้บวชอย่างโง่เขลา ตามๆกันมา บวชด้วยความมีเหตุผล ตั้งใจจริง ต่อไปนี้ก็ปฏิบัติด้วยความมีเหตุผล ตั้งใจจริง เป็นว่าเราทำดีที่สุด ถึงที่สุดแล้ว ไม่มีส่วนที่ควรจะตำหนิแล้ว แม้จะไม่สมหวัง มันก็ไม่มี ไม่มีส่วนที่ควรตำหนิ เพราะเราได้ทำจริง ทำจริง ทำจริง ในส่วนเรานี้ถึงที่สุดแล้ว แล้วก็เป็นอันว่า มันก็หมดปัญหา หมดปัญหา ที่เกี่ยวข้องกันอยู่ในฐานะเป็นมนุษย์ ที่จะต้องประพฤติ จะต้องกระทำอะไรบ้าง เราก็ทำกันเสีย
แล้วก็มีข้อสำคัญอีกข้อหนึ่ง คือ ทุน ต้นทุน ที่จะประพฤติปฏิบัติให้สำเร็จ ก็คือ ความเสียสละ ถ้าเสียสละไม่พอ ก็เท่าเดิม มันก็ไปแต่เล่นละคร อะไรพักหนึ่ง แล้วมันก็ไม่ได้ผลอะไร ถ้าเสียสละเอาจริง สนใจจะปฏิบัติให้ได้จริงๆ เสียสละจริงๆ อย่างนี้ มีหวัง มีหวัง เกิน ๕๐เปอร์เซ็นต์ ที่จะต้องได้รับผลเป็นแน่นอน นั่นคอยเสียสละ เสียสละ อันธพาล ความเป็นอันธพาลเหล่าใดที่มีอยู่ สละออกไป สละออกไป ในแง่ของราคะก็ดี โทสะก็ดี โมหะก็ดี ความเป็นพาลเหล่านั้น สละออกไปเถิด สละออกไปเถิด นั่นแหละคือความจริง มันจะมีการปฏิบัติจริง ได้ผลจริงขึ้นมา ถ้ายังรับอันธพาล นิสัยเดิม มันไม่มีหวังหรอก ไปเล่นละครลิงพักหนึ่ง แล้วมันก็ไม่ได้อะไร
นี้ ขอให้พยายาม ด้วยความจริง จริง อุทิศจริง เสียสละจริง ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำให้ถึงที่สุดแห่งความทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านก็พูดเท่านั้น ท่านตรัสเท่านั้นมา
(นาทีที่ 40:47 ถึง 41:12)
เอหิ เอหิ ธัมมัง จริยัง จรถะ ทุกขักขันธัสสะ อันตะกิริยายะ ตรัสให้ภิกษุ เป็นภิกษุ เอหิภิกขุก็มีเท่านี้ ข้าประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อที่สุดแห่งความทุกข์
เอหิ จงมา
ธัมมัง จริยัง จรถะ จงประพฤติพรหมจรรย์
ทุกขักขันธัสสะ อันตะกิริยายะ เพื่อทำที่สุดแห่งความทุกข์
ความหมายข้อนี้ ยังเอามาถือได้แม้จนบัดนี้ แม้ว่าเราไม่ได้บวชเป็นเอหิภิกขุกับพระพุทธเจ้าโดยตรง แต่คำนั้นใช้ได้ เอามา เอามาใช้ เอามาถือแล้ว จะสำเร็จประโยชน์ คือ บวชเพื่อประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดแห่งความทุกข์
เดี๋ยวนี้ มันมักจะไปบวชชนิดว่า ธรรมเนียมประเพณีตามๆกันมา มันก็เป็นเรื่องปล่อยตามสบาย ไม่ได้เสียสละ ไม่ได้อดทนอดกลั้นโดยแท้จริง มันจึงไม่ได้ผล มีความจริงอย่างเดียวในการประพฤติพรหมจรรย์ โดยเฉพาะที่กล่าวมาแล้ว มี ศีล แล้วก็มี สมาธิ แล้วก็มี ปัญญา
ศีล นั้นต้องมีอยู่ทั่วไป ด้วยความเป็นภิกษุสามเณรก็ต้องมีอยู่แล้ว แต่พอมาประพฤติสมาธิ หรือ วิปัสสนา ก็ยิ่งมีศีลหนักเข้าไปอีก คือสำรวมจิตให้ปฏิบัติสมาธิ นั้นแหละเป็นศีล ศีลแท้ ศีลจริง ไม่ใช่ศีล ต้องสมาทาน มันก็มีศีล แล้วก็มีสมาธิ แล้วก็มีปัญญา
ศีล กาย วาจาถูกต้อง สมาธิจิตก็ถูกต้อง ปัญญาความรู้มันถูกต้อง ความรู้มันถูกต้อง ญาณะ น่ะมันถูกต้อง มันก็เลยได้ผลสมบูรณ์ มีศีล สมาธิ ปัญญา
ถ้าไม่รู้ ก็, ไม่ทราบ ก็ขอให้ทราบเสียเดี๋ยวนี้ว่า เรื่องมันมีอย่างนี้ ทำให้เต็ม ทำให้สมบูรณ์ ในศีล สมาธิ ปัญญา ก็เป็นพุทธบุตร พุทธชิโนรส ในความหมายว่า เป็นฆราวาส ก็ฆราวาสที่ดี เป็นบรรพชิต ก็เป็นบรรพชิตที่ดี กระทั่งเป็นอริยะบุคคล บรรลุ มรรคผล นิพพานไปถึงที่สุด เป็นพุทธบริษัทที่ดี ก็เรียกว่า เป็นพุทธบุตรที่ดี
หัวใจของเรื่องก็มีเท่านี้ สำหรับการปฏิบัติสมาธิภาวนา เรื่องอื่นๆ มันก็มีต่างหาก มีอยู่มาก ก็ได้ยินได้ฟัง ได้พูด ได้เรียน ได้ฟังเทป ฟังอะไรกันมาก ก็พอสมควรแล้ว เอามาชนกันเข้า เอามา รวมกันเป็นพรหมจรรย์ สมบูรณ์แห่งศีล สมาธิ ปัญญา ละ ราคะ โทสะ โมหะ เท่านั้นก็จบ
ในที่สุดนี้ ขอแสดงความยินดีอีกครั้งหนึ่งว่า การที่ตั้งใจจะไปประพฤติ จิตตภาวนา ในคราวนี้นั้น มีเหตุผล เป็นความคิดอย่างถูกต้องของสัตตบุรุษ ก็ขออนุโมทนาด้วย และหวังด้วยว่าจะปฏิบัติกันด้วยความจริงใจ ไม่ให้เสียเวลาไปแม้แต่นิดเดียวในความเหลาะแหละ โลเล อะไรก็ไม่รู้ ให้มันมีอยู่แต่ความจดจ่อ จดจ่อ จดจ่อ จดจ่อ จะละออกไป จะละออกไป ละความเป็นพาลออกไป ให้เกิดเป็นบัณฑิตขึ้นมา จนเป็นพุทธบุตร พุทธชิโนรสได้สมตามความปรารถนา
ขอให้ตั้งใจอย่างดีที่สุดด้วยกันจงทุกๆรูป ผมก็ขออนุโมทนาเป็นการล่วงหน้า ขอให้เรื่องนี้สำเร็จตามความประสงค์มุ่งหมาย จงทุกๆประการเทอญ ขอยุติ
(นาทีที่ 45.37)
มีโอกาสถือธุดงค์บ้าง อะไรบ้างอีกหลายอย่าง ธุดงค์นั้นก็ดีมาก มีอยู่หลายอย่าง