แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการบรรยายครั้งที่ ๙ นี้ จะได้พูดกันหรือทำความเข้าใจกันเป็นพิเศษโดยเฉพาะสำหรับสิ่งที่เรียกว่า “ศาสนา” ศาสนา เพื่อจะศึกษาสิ่งที่เรียกว่าศาสนากันให้เป็นที่เข้าใจอย่างเพียงพอ ในชั้นแรกนี่ควรจะทำความเข้าใจกันก่อนอย่างกว้างๆ กว้างที่สุด ศาสนาที่มีอยู่ในโลกนี้เป็น ๒ อย่างนะ สำหรับพุทธบริษัทเราก็คือเป็นพุทธศาสตร์กับเป็นไสยศาสตร์ สำหรับผู้อื่นเขาก็มีอย่างนั้นแหละ มีศาสนาของเขากับไสยศาสตร์ แล้วมักจะประณามศาสนาอื่นว่าไสยศาสตร์ ไสยศาสตร์ ทั้งที่ตัวเองเป็นไสยศาสตร์เต็มตัวก็มี ใจความสำคัญข้อนี้ก็คือว่า ถ้าเป็นการพึ่งพาสิ่งอื่น อาศัยสิ่งอื่นนอกจากตัวออกไปเป็นที่พึ่ง สำเร็จด้วยการบวงสรวงอ้อนวอนให้เรียกว่า “ไสยศาสตร์” ถ้าอาศัยความรู้และการปฏิบัติของตนเอง ปฏิบัติแล้วได้รับผลแห่งความดับทุกข์อย่างนี้เราจะเรียกว่า “พุทธศาสตร์” แต่สำหรับประเทศไทยแล้วทั้ง ๒ อย่างก็มาจากอินเดีย มาจากอินเดีย ก่อนพุทธกาลเสียอีก พวกอินเดียเขาเอาศาสนาที่เขามีอยู่เวลานั้นมาให้ มาสอนให้ เป็นถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งที่ไม่เห็นตัว ต้องบวงสรวงอ้อนวอนขอร้อง อย่างที่เรียกว่าไสยศาสตร์ มาสอนไว้เต็มที่ สอนไว้เต็มที่เลย จนติดอยู่ในเลือดเนื้อของพวกเราที่จะนับถืออย่างไสยศาสตร์ ต่อมาพุทธศาสนามา มาอย่างพุทธศาสนาก็สอนอย่างพุทธศาสนา ก็สอนให้รู้ว่าปฏิบัติอย่างไรด้วยตนเอง แล้วความทุกข์ดับไป ปรากฏว่ายากลำบากที่สุดเหมือนกันกว่าจะทำให้ประชาชนรับนับถือศาสนาพุทธศาสตร์ ที่เป็นพุทธศาสตร์ เพราะว่าเขาติดมั่นยึดแน่นในไสยศาสตร์มาก่อน แต่ในที่สุดก็ประดิษฐานพุทธศาสนาได้ ศาสนาได้ จึงมีเป็น ๒ อย่าง เป็น ๒ อย่าง ชักจะเข้าหากัน แฝดกัน คือมาทำเอาพุทธศาสนาให้กลายเป็นไสยศาสตร์ไปเสียด้วย
ในไสยศาสตร์นั้นเขามีรูปเคารพ รูปเคารพ รูปเทวดา รูปพระเป็นเจ้า รูปอะไรของเขา เป็นรูปเคารพ เขาก็มีวิธีบวงสรวงบูชารูปเคารพก็ได้ผลที่เขาต้องการ พุทธศาสนานี่ไม่มี ไม่มีรูปอย่างนั้น และไม่มีรูป ถึงแม้จะมีรูปพระพุทธรูปขึ้นมาทีหลังนี่ก็ไม่ได้สอนว่าให้บูชาบวงสรวงอ้อนวอนขอร้อง มีพระพุทธรูปในฐานะเป็นที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้สอนว่าอย่างไร ให้เราศึกษาปฏิบัติตามคำสอนเหล่านั้น แล้วก็ได้รับผลดับทุกข์ อย่างนี้ก็เป็นพุทธศาสตร์ พอมาถึงเดี๋ยวนี้นะ ผมบัญญัติขึ้นตามคำที่มีอยู่ “ไสยะ” แปลว่า หลับ “พุทธะ” แปลว่า ตื่น “ไสยศาสตร์” ศาสตร์สำหรับคนหลับ “พุทธศาสตร์” ศาสตร์สำหรับคนตื่นหรือผู้ตื่น นี่รวบศาสนามันมีอยู่เป็น ๒ ชนิดอย่างนี้ แล้วก็น่าประหลาดที่ว่าบางที เจ้าบ้านผ่านเมือง ผู้ครองเมืองสมัยนู้นต้องการให้ถือพร้อมกันทั้ง ๒ ศาสนาด้วยซ้ำไป สำหรับเด็กๆ หรือสำหรับผู้หญิงก็ถือง่ายๆ อย่างไสยศาสตร์ สำหรับผู้มีปัญญาศึกษาเล่าเรียนมากจึงจะถืออย่างพุทธศาสตร์
ก็ปรากฏว่าที่หน้าโบสถ์วัดที่ใหญ่ๆที่สำคัญในไชยานี่ วัดพระธาตุก็ดี วัดศาลาทึงก็ดี วัดใหม่ก็ดี และอีกบางวัดที่หน้าวัดออกไปทางตะวันออก มีโบสถ์อยู่อีกโบสถ์หนึ่งเรียกว่า “โบสถ์พราหมณ์” ในนั้นมีเทวรูป มีอะไรอยู่ สันนิษฐานเอานะว่า เด็กๆมาจากบ้าน พาเด็กๆมา ผู้หญิงมา แล้วเขาก็แวะไหว้ขอร้อง บนบานสานกล่าวอะไรที่โบสถ์พราหมณ์ เสร็จแล้วจึงเข้ามาในวัด มาในโบสถ์พุทธซึ่งไม่ต้องทำอย่างนั้น สันนิษฐานอาจจะเป็นได้ถึงอย่างนี้เพราะว่าโบสถ์มันมี โบสถ์พราหมณ์มีอยู่หน้าโบสถ์พุทธทุกๆวัดเลย วัดที่เก่าแก่ที่สุด มันอาจจะเป็นผลดีแก่บ้านแก่เมือง ที่ราชามหากษัตริย์เขาจัดให้ถืออย่างนั้น ก็ถือกันอย่างนั้น ถือว่าพวกพราหมณ์มีอำนาจเหนือกษัตริย์ สั่งให้กษัตริย์จัดอย่างนั้น ถือศาสนาพร้อมกันทั้งพุทธศาสตร์ทั้งไสยศาสตร์ ก็นับว่าแยบคายอยู่เหมือนกัน เด็กๆหรือคนมีปัญญาอ่อนไม่อาจจะถือพุทธศาสตร์นะ เด็กโตขึ้นค่อยๆเลื่อนไปถือพุทธศาสตร์ แต่เดี๋ยวนี้มันน่าเศร้า มันถือพุทธศาสตร์มากขึ้น ใช้พุทธรูปอย่างรูปเคารพมากขึ้น โดยเฉพาะพระเครื่องราง
เอาล่ะ สรุปสักทีหนึ่งก่อนว่ามันมี ๒ ชนิด คือ พุทธศาสตร์กับไสยศาสตร์ แล้วมาเป็นคู่มาด้วยกันนะ เป็นคู่มาด้วยกันมาตั้งแต่แรกเริ่มเดิมทีที่มนุษย์มีศาสนา ก็วิวัฒนาการมา วิวัฒนาการมาจนมาสำเร็จรูปสูงสุดเคียงคู่กันอยู่
ทีนี้เราก็จะมาพิจารณากันถึงคำว่า “ศาสนา” ศาสนาซึ่งใช้ในภาษาไทย ในภาษาไทยนี่แปลกเอามาเรียกเป็นศาสนาหมดเลย ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ศาสนาเรียกว่าศาสนา เติมเข้าข้างหน้าหมดเลย แต่ในอินเดียสมัยโบราณพระพุทธกาลไม่เป็นอย่างนั้น และไม่ได้ใช้คำว่าศาสนาด้วย ไม่ใช้คำว่าศาสนาอย่างที่เราใช้กันในเมืองไทยอย่างนี้ เขาใช้คำว่า “ธรรมะ” ธรรมะ ธรรมะของใคร ธรรมะของใครนั่นแหละคือศาสนาต่างๆ ธรรมะของศาสดาชื่ออะไร นั่นคือศาสนาชื่อนั้น แต่เขาไม่เรียกว่าศาสนา สังเกตดู ค้นคว้าสอบสวนดู ไม่เรียกว่าศาสนา เรียกว่าธรรมะ อย่างพบเพื่อนฝูงอยากจะถามว่าท่านชอบใจธรรมะของใคร นี่ถามอย่างนั้น ถ้าเดี๋ยวนี้ก็จะถามว่าท่านถือศาสนาอะไร ไม่รู้ก็บอกข้าพเจ้าชอบใจธรรมะของนิคันถนาฎบุตร ชอบใจธรรมะของมัคขลิโคสาละบ้าง ของพระสมณโคดมบ้าง แล้วแต่เขาจะถือ เขาจะชอบ ดังนั้น คำว่าธรรมะ ธรรมะนั่นแหละเป็นคำแทนคำว่าศาสนาในปัจจุบันนี้ รู้ไว้ว่าคำนี้เราเอามาใช้กันเฉพาะในเมืองไทย แม้ในอินเดีย ในพม่า ก็ไม่ได้ใช้คำว่าศาสนา ใช้คำอย่างที่เขาเรียกกันในตามภาษาเขาไม่ได้เติมคำว่าศาสนา ศาสนา เข้าไปกับชื่อของศาสนานั้นๆ เหมือนในเมืองไทย
แต่แล้วในที่สุดก็มาพบในสิ่งที่ว่าน่าสนใจก็คือ เรามีคำแปลของคำว่าศาสนาเป็นภาษาอังกฤษขึ้นมาคำหนึ่ง แล้วก็ใช้อย่างเดียวกับคำว่าศาสนานั่นแหละคือคำว่า “Religion” Religion คำนี้เราใช้ให้เป็นคำแปลของคำว่าศาสนา แม้มันจะขัดข้องถูกหลักอะไรกันอยู่บ้างก็พอจะทำความเข้าใจกันได้ เช่นว่า เขาถือว่าถ้าไม่มีพระเป็นเจ้าแล้วไม่ใช่ Religion ถ้าไม่มีพระเป็นเจ้าก็ไม่ใช่ Religion นี่เราก็บอกฉันก็มี Religion มีพระเป็นเจ้าแต่ไม่เหมือนของคุณ ฉันมีพระเป็นเจ้าที่ไม่ใช่บุคคล มีพระเป็นเจ้าที่เป็นกฎของธรรมชาติ ไม่ใช่บุคคล คืออย่างนี้ มันก็โมเมกันไปได้ Religion แต่ผมเห็นว่าที่ดีที่สุดนั้น ความหมายของคำว่า Religion นั้นมันดี ดีกว่าความหมายของคำว่า ศาสนา ศาสนา ศาสนาเป็นเพียงคำสอน คำสอนแปลว่า ศาสนา แต่คำว่า Religion นั้น แยกศัพท์ออกดูแล้วแปลก็ได้ความว่า การปฏิบัติที่ทำให้มนุษย์เข้าถึงสิ่งสูงสุด คำแปลนี้ ความหมายนี้ดีมาก การปฏิบัตินั้น ปฏิบัติถ้าไม่เกิดผูกพันกันขึ้นระหว่างมนุษย์กับสิ่งสูงสุด การปฏิบัติที่ทำให้มนุษย์เข้าถึงสิ่งสูงสุดนั้นคือความหมายของคำว่า Religion เมื่อเป็นอย่างนี้ไปใช้กับศาสนาไหนก็ได้ ก็แต่ละศาสนามันก็มีสิ่งสูงสุด ปฏิบัติ ปฏิบัติให้ได้เข้าถึงสิ่งสูงสุด อยู่กับสิ่งสูงสุดมันก็พอ นี่คือคำว่า Religion แต่เดี๋ยวนี้เรามาขยายความเป็นทางอื่น ไปในทางอื่น พุทธศาสนานี้มาเป็น ขยายออกเป็น ปริยัติศาสนา ปฏิบัติศาสนา ปฏิเวธศาสนา ศาสนาในเรื่องปริยัติ คือทำปริยัติ เรียนเล่าเรียน ศาสนาปฏิบัติก็ทำปฏิบัติ ศาสนาปฏิเวธก็ได้รับผล ทีแรกมาดูทั้ง ๓ อย่างนั้น ทั้งปริยัติ ทั้งปฏิบัติ ทั้งปฏิเวธ นั้นมันช่วยให้มนุษย์เข้าถึงสิ่งสูงสุดได้ ก็เกิดความผูกพันกันระหว่างมนุษย์กับสิ่งสูงสุดได้ ก็เลยมีความหมายของคำว่า Religion อยู่เต็มตัว นี่คำว่า Religion มีความหมายพิเศษอย่างนี้ ใช้เป็นคำกลาง แต่เขาไม่พูดกันหรอก เขาไม่เอาคำว่า Religion ไปใช้ เหมือนเราใช้ในภาษาไทยว่าศาสนานั้น ศาสนานี้ ศาสนานั้น เขามีชื่อเฉพาะอย่างคริสต์ก็คริสต์ อิสลามก็อิสลาม ไม่ต้องมีคำว่า Religion ต่อท้าย ไม่เหมือนในเมืองไทยเรา เอาศาสนา ศาสนา นำหน้าเรื่อย
ทีนี้เราก็จะดูที่ว่าคำนี้มันเคยเป็นมาอย่างไรจนกระทั่งทุกวันนี้ เข้าใจว่าทีแรกทีเดียวสมัยก่อนที่จะมีเป็นศาสนาเป็นรูปร่างอะไรนี้ อาจจะเป็นเพียงความรู้ เป็นวิชาความรู้ เรียกว่าความรู้ จะใช้คำว่า “เวท” “เวทย์” หรืออะไรก็ตามใจ แต่มันเป็นความรู้ เป็นความรู้ มันค่อยๆเปลี่ยนมาเป็นธรรมะ ธรรมะ เป็นธรรมะของศาสดาองค์นั้น ธรรมะของศาสดาองค์นี้ พอมาถึงพระพุทธเจ้าท่านใช้เรียกพระศาสนาของท่านว่า “พรหมจรรย์” พรหมจรรย์ มาประพฤติพรหมจรรย์คือ มาถือศาสนา มาปฏิบัติศาสนา จะเรียกว่ามรรคพรหมจรรย์ก็ได้ แม้แต่จะเรียกว่า “สัทธรรม” ก็ได้ สัทธรรมหมายถึงตัวศาสนานี้ก็ได้ มีได้ทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธเหมือนกัน ปริยัติสัทธรรม ปฏิบัติสัทธรรม ปฏิเวธสัทธรรม ที่ใช้มากที่สุดที่พระพุทธเจ้าท่านจะใช้มากที่สุด ก็น่าประหลาดคือคำว่า “ธรรมวินัย” ธรรมวินัย เมื่อท่านจะตรัสอย่างที่เราพูดกันเป็นไทยๆว่าในศาสนานี้ คือในศาสนาของพระองค์นี้ พระพุทธเจ้าจะตรัสว่าในธรรมวินัย ในธรรมวินัยนี้ ในธรรมวินัยนี้ ถือเป็นอย่างนี้ สอนกันอยู่อย่างนี้ แทนที่จะใช้คำว่าศาสนานี้ ไม่ได้มี ไม่ได้ใช้เลย แต่ใครจะมาแปลงทีหลังเข้าใจว่าอย่างนั้นก็มีได้ แต่ความจริงพระพุทธเจ้าไม่ได้ใช้คำว่าศาสนา ใช้คำว่าพรหมจรรย์สำหรับการปฏิบัติ ใช้คำว่าธรรมวินัยนี้สำหรับพวกวงของศาสนาที่ท่านบัญญัติไว้เป็นรูปร่างอย่างไร
ตรงนี้ขออธิบายให้ไกลออกไปถึงคำว่า “เดียรถีย์” เดียรถีย์ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าในธรรมวินัยนี้ ถืออย่างนี้ สอนอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ แต่ในพวกอื่นไม่ใช่สอนอย่างนี้ ท่านใช้คำว่าเดียรถีย์อื่น เดียรถีย์อื่น ถ้าท่านพูดว่าเดียรถีย์อื่น คือ “อัญญเดียรถีย์” ก็หมายความว่าในศาสนาอื่น อย่างที่เราจะพูดกันในเดี๋ยวนี้ก็คือในศาสนาอื่น “อัญญะ” แปลว่า อื่น “เดียรถีย์” แปลว่า ลัทธิ คำว่าเดียรถีย์นี่ไม่ใช่เป็นคำผิดหรือว่าคำถูก มันแปลว่าเจ้าลัทธิเท่านั่นแหละ เจ้าลัทธิที่มีคนขึ้นมาก คิดว่าในลัทธินี้ของพระองค์ก็เรียกได้ว่าในธรรมวินัยนี้ ที่ของผู้อื่นก็อัญญเดียรถีย์ คือเดียรถีย์อื่น แต่ในเมืองไทยเอามาใช้อย่างเขลาๆหลับตาใช้ พูดว่าเดียรถีย์ เดียรถีย์ ก็คือผู้อื่น ไม่มีคำว่าอัญญะ ในเมืองไทยถ้าด่าว่าไอ้ชาติเดียรถีย์ มันก็เจ็บ เช่นในอินเดียไม่มีความหมายหรอก เป็นเพียงเจ้าลัทธิหนึ่งเท่านั้น ถ้าจะด่าว่าไม่ใช่พุทธ ก็ต้องเติมคำว่าอัญญะเข้าไป อัญญะ ไอ้เดียรถีย์อื่น ถ้าอย่างนี้หมายความว่ามิจฉาทิฐิ นอกจากพุทธศาสนา
เมื่อนานมาแล้วยังมีคนเขียนคัดค้านด่าผม เรียกว่าไอ้เดียรถีย์บ้าง ผมก็ว่าดี ดีแล้ว เราได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นเจ้าลัทธิ มันไม่รู้ มันโง่ มันไม่รู้ภาษาบาลี มันไม่ได้ใช้คำว่าอัญญะเข้าไป ผมจึงไม่เจ็บเข้าเส้นขน มันใช้คำว่าเดียรถีย์เฉยๆ แต่ถ้าเขาใช้คำว่าอัญญเดียรถีย์ ไม่ไหวแน่ นี่คือมิจฉาทิฐิเต็มตัว ไปหาดูหนังสือยังมีอยู่ ที่เขาด่าผมว่าไอ้เดียรถีย์ อย่าไปออกชื่อเขาบ่อยเกินไป คุณควรจะทราบไว้ว่า คำว่า เดียรถีย์ เดียรถีย์ แปลว่า เจ้าลิทธิที่คนขึ้นมาก แม้พระพุทธศาสนาก็เป็นเดียรถีย์หนึ่ง เป็นเดียรถีย์หนึ่ง แต่ท่านไม่ได้ใช้คำนี้ ใช้คำว่าธรรมวินัยนี้ หรือจะให้หมายถึง อิธะ หมายถึงเดียรถีย์นี้ก็ได้ คำว่าอิธะนี้ เพราะมันไม่ได้ใส่คำนามไว้ แต่ถ้าว่าเป็นเดียรถีย์อื่นแล้วนั่นล่ะคือลัทธิอื่นที่ตรงกันข้าม ที่เป็นข้าศึกกับพุทธศาสนา เช่น ครูทั้ง ๖ หรือใครก็ตามที่มันเป็นลัทธิอื่น แล้วคนก็ขึ้นมาก เป็นสมาชิกมากเหมือนกับพุทธศาสนาเหมือนกัน
คำว่าเดียรถีย์ เดียรถีย์ ถ้าเป็นบาลี มันติดที่ “ยะ” เดียรถีย์มันถอดมาจากคำสันสกฤต คำนี้มันแปลว่า ท่าจอดเรือ ท่าน้ำที่จอดเรือ เรือไปจอดกันมากๆๆ เพราะมันมีความสำคัญอะไรสักอย่าง เขาเลยเอาคำนี้มาใช้เรียก ศาสนาเปรียบเหมือนท่าน้ำ ท่าจอดเรือที่มีเรือมาจอดมาก คำว่าเดียรถีย์จึงเกิดขึ้นและถูกนำมาใช้ในสิ่งที่เรียกว่าศาสนา ศาสนา เป็นเดียรถีย์กันทั้งนั้น ถ้าเป็นเจ้าลัทธิหนึ่งๆนะ แต่ถ้าจะพูดถึงพวกอื่นที่ตรงกันข้ามจากเรา ต้องเติมคำว่าอัญญะเข้าไป เป็นอัญญเดียรถีย์ ดังนั้นคำว่าเดียรถีย์ เดียรถีย์ ก็แทนคำว่าศาสนาได้ คือมันมีการถามกันว่าเดียรถีย์ไหน คุณเดียรถีย์ไหน ก็เท่ากับถามว่าศาสนาไหนเหมือนกัน แม้แต่คำว่าเดียรถีย์ เดียรถีย์ ก็แปลว่าศาสนาได้
ดังนั้น คำที่ใช้แทนคำว่าศาสนา ศาสนา มีหลายต่อหลายคำ แต่ที่พระพุทธเจ้าใช้ตรัสเอง พูดเองมีอยู่ ธรรมะ ธรรมะ แทนคำว่าศาสนา ธรรมวินัย ธรรมวินัย นี่ถ้าเป็นเรื่องที่เราพูดว่าศาสนา ศาสนา แต่ถ้าจะพูดให้ใกล้ในวงการภายในก็พูดว่า พรหมจรรย์ พรหมจรรย์ มาสู่พรหมจรรย์นี้คือมาสู่พุทธศาสนานี้ คำว่าพรหมจรรย์นั้น บริสุทธิ์ผุดผ่องหรือไม่ เหมาะสมที่จะเป็นคำชื่อของศาสนา มาประพฤติพรหมจรรย์เถิด ก็คือมาประพฤติศาสนานี้
ทีนี้ก็จะดูกันถึงว่ามันดึกดำบรรพ์ว่าประวัติของมันมีมาอย่างไร จนกระทั่งมันมามีอยู่เดี๋ยวนี้ มีอยู่เดี๋ยวนี้ ไม่ต้องพูดถึงหรอกถ้าเป็นดึกดำบรรพ์ก่อนไกลไปนู้น ไม่ต้องมีคำว่าศาสนา พรหมจรรย์อะไรไม่มี มันมีแต่คำอื่นที่คงจะไม่เหลืออยู่ แล้วมันก็ไม่จำเป็นจะต้องพูดว่าศาสนา เพราะมันไม่ได้ตั้งเป็นศาสนาอะไร พวกมนุษย์สมัยเป็นคนป่ามันก็ไม่มีศาสนาอะไร มันละจากความเป็นคนป่าได้บ้าง มีความคิดนึกสติปัญญาขึ้น รู้จักสังเกต มันก็เกิดความกลัวสิ่งที่น่ากลัว และเข้าใจไม่ได้ว่าอะไร มันก็กลัวสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาก่อน กลัวผี กลัวสาง กลัวอะไรก็ได้ที่มันเห็นตัวไม่เห็นตัว และเข้าใจไม่ได้ว่าเป็นอะไร แต่เชื่อว่ามันมีอำนาจ มีอำนาจ มาทำอะไรแก่เราได้ คนที่หัวแหลมสักหน่อย หัวแหลมออกมาสักหน่อยก็บัญญัติให้เกิดการกระทำที่กระทำต่อสิ่งที่ถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ ที่เข้าใจกันว่าเกิดอาการนพไหว้ขึ้นมา นพไหว้ขึ้นมา อย่างเช่นว่า ฟ้าผ่า ฟ้าร้อง หรือฟ้าผ่าก็ไหว้ๆๆ ก็ไม่รู้อะไรแต่ว่าน่ากลัวแล้วก็มันคงจะมีอำนาจมาก ไหว้ขอร้องให้ช่วย ขอร้องให้ช่วย ไหว้ ไหว้ สิ่งที่น่ากลัว เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น เข้าใจไม่ได้ยิ่งดี ยิ่งเข้าใจไม่ได้ยิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงเกิดเป็นไหว้ดวงอาทิตย์ ไหว้ดวงจันทร์ ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ภูเขา แม่น้ำ สิ่งน่ากลัวหรืออะไรก็ตาม ต้นไม้ที่ศักดิ์สิทธิ์ก็ตาม เพื่อเขาจะได้สบายใจคือหายกลัว ไม่เช่นนั้นเขารู้สึกว้าเหว่ ว้าเหว่ ไม่มีที่พึ่ง ก็เลยไหว้สิ่งเหล่านี้ ไหว้สิ่งเหล่านี้ ขอร้อง อ้อนวอนต่อสิ่งเหล่านี้มันเกิดความอุ่นใจ อุ่นใจขึ้นมาว่ามีที่พึ่งหรือปลอดภัย สิ่งที่เรียกว่าศาสนา ศาสนา เกิดขึ้นก็เพื่อความอุ่นใจของคนที่ถือ ที่รู้สึกคิดนึก เป็นเครื่องทำความอุ่นใจ แล้วคนมันมาก คนมันมากขึ้น หรือว่าคนอยู่ในทิศทางต่างๆกันมันก็ยึดถือต่างๆกัน พวกนี้ถือดวงอาทิตย์ พวกนี้ถือดวงจันทร์ พวกนี้ถือภูเขา ถือแม่น้ำ ถืออะไรก็แล้วแต่ พวกนี้ก็ถือลมพายุ พวกนี้ก็ถือไฟ เพราะฉะนั้นจึงเกิดมีสิ่งที่มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์สูงสุดขึ้นมากันเยอะแยะไปหมด ล้วนเป็นสิ่งที่คนป่าเหล่านั้นเข้าใจไม่ได้ แต่เห็นว่ามีอำนาจเลยยึดถือไว้เป็นหลัก อุ่นใจ อุ่นใจ อุ่นเข้าไป คือมันนานเข้า นานเข้า เป็นพันปี เป็นหมื่นปี เป็นแสนปี แล้วก็เปลี่ยน เปลี่ยนไปตามเรื่องตามราวของมนุษย์ บัญญัติเป็นพิธีรีตองว่าต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้ ต้องทำอย่างนู้นมากมาย มากมายก่ายกอง เกิดมีพระเป็นเจ้าขึ้นมากมาย เกิดมีพระเป็นเจ้าขึ้นมากมาย นี่เรียกว่ามันตั้งต้นขึ้นมาในลักษณะที่เป็นไสยศาสตร์ ไม่ประกอบด้วยวิชาความรู้ มีแต่ความกลัว มีแต่ความกลัว เกิดมีนับไม่ถ้วนลัทธิ เกิดมีพิธีรีตองต่างๆนับไม่ถ้วนเกิดขึ้นมา ผมจะพูดดีหรือไม่ คนรู้จักทำกันอย่างนี้มากขึ้นๆ แต่ทำไมสัตว์มันไม่รู้จักทำ หมาไม่รู้จักทำ หมามันไม่รู้จักกลัว แล้วคนกลัวฟ้าร้อง กลัวฟ้าผ่า กลัวพายุ กลัวอะไรก็ทำพิธีบวงสรวงอ้อนวอนต่างๆ นานา สัตว์ไม่กลัว สัตว์ไม่ต้องมีศาสนา สัตว์ไม่ต้องมีศาสนา มีคนหัวแหลมมีปัญญา รู้มากยากนาน ต้องมีศาสนาขึ้นมาสำหรับคน จนกระทั่งเข้มข้นขึ้น เข้มข้นขึ้น มีครูบาอาจารย์ มีฤๅษี มีมุนีอะไรสอนๆ เข้มข้นขึ้น เข้มข้นขึ้นเป็นลัทธิต่างๆนานาสารพัด
นี่เรียกว่ามันตั้งต้นขึ้นมาในรูปของไสยศาสตร์ หมายความว่าเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วก็หวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธ์ให้มาช่วย ไสยศาสตร์ก็ใจความสั้นๆคือให้ผู้อื่นช่วย ให้ผู้อื่นช่วย อ้อนวอนให้ผู้อื่นช่วย ถ้าเป็นพุทธศาสตร์ก็ปฏิบัติเอง ดับทุกข์เอง นี่มันก็มีมากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น พิธีรีตองไสยศาสตร์ก็เป็นเจ้า มีมากขึ้น มีมากขึ้น พอมาถึงยุคเปลี่ยน ยุคเปลี่ยน มันก็เปลี่ยนยุค เกิดความรู้ขึ้นมาในหมู่มนุษย์ว่า ความทุกข์มันไม่ใช่ มันไม่ใช่สิ่งภายนอก มันอยู่ในภายในคือจิตใจที่คิดผิด พูดผิด ทำผิด หรือกิเลส นี่พอขึ้นยุคใหม่มันกลายเป็นอย่างนี้ จึงพยายามคิดค้นมาในทางที่ว่าจะแก้ไขความทุกข์ในภายในอย่างไร ก็เห็นว่าพระเจ้าหรือเทวดาเหล่านั้นช่วยไม่ได้ ถ้าใครเห็นว่ายังช่วยได้ก็เอาสิ ไม่มีใครว่า แต่มีพวกหนึ่งที่มากขึ้นทุกที มากขึ้นทุกที ไม่ช่วยไม่ได้ ช่วยไม่ได้ มันช่วยไม่ได้ แล้วก็มีวิธีทำให้มันถูกต้องกับภายในของเราคือจิตใจของเรา คือทำจิตใจอย่างไร ทำจิตใจอย่างไร เราจึงจะหายกลัวและรู้สึกสบาย เกิดครูบาอาจารย์ขึ้นมาอีกพวกหนึ่งต่างหาก เป็นฤๅษีมุนี ก็ค้นๆๆว่าทำจิตใจอย่างไร ทำจิตใจอย่างไร พอใจมันร้อน ใจมันกลัว ใจมันเป็นทุกข์ ทำอย่างไรจะหาย
ทีนี้มายุคที่ว่าจะต้องจัดการด้วยตนเอง ไม่อ้อนวอนพระเจ้าแล้ว น่าแปลกที่ว่าในพระบาลี เช่น พรหมชาลสูตร เขาเอากามารมณ์เป็นเครื่องดับทุกข์ มียุคแรก ยุคแรกที่สุด คือเสพกามารมณ์ บริโภคกามารมณ์เพื่อกลบเกลื่อนความทุกข์เหล่านั้น ถือบัญญัติขึ้นมา ตายแล้วก็ไปสวรรค์ ในสวรรค์เต็มไปด้วยสิ่งบำบัดทุกข์เหล่านี้ คือกามารมณ์ ในพระบาลีพรหมชาลสูตรจึงมีคำว่ายุคนั้นมีกามารมณ์เป็นนิพพาน ก็เรียกว่ากามารมณ์มันมาก เขาเรียกว่าลืมทุกข์
นี่ต่อมาคนที่มันมีสติปัญญาบางคน บางคนก็ไม่ไหว ไม่เอา นี่จึงมาพบเรื่องทำจิตเป็นสมาธิ ทำจิตเป็นสมาธิแล้วก็ดับความทุกข์นั้นไป แต่ดับเพียงสมาธิ ดับด้วยสมาธิ ก็คือฌาน พวกฌานต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสูงสุดในทางรูปฌานก็คือจตุจฌาน จึงมีคำกล่าวว่า ยุคนี้พวกนี้เอาจตุจฌานเป็นนิพพาน ยุคต่อๆมาก็ไกลเกินไปจนเอาอรูปฌานเป็นนิพพาน อรูปฌานทั้งหลายที่ดาบสชั้นสูงเรียนและสอนคือ อาฬารดาบส อุทกดาบส อาจารย์ของพระพุทธเจ้า ก็ดับทุกข์ด้วยฌานด้วยอำนาจสมาธิ นี่กระโดดข้ามไปเสียเลย ข้าพเจ้าบอกว่าไม่เอา มันไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้ ก็ไปบัญญัติความทุกข์ มันมีกิเลสอย่างนี้แล้วก็สิ้นกิเลสนั่นละเป็นนิพพาน นี่เรื่องทางฝ่ายจิตใจที่ไม่ใช่ไสยศาสตร์กันแล้วนะ มันมีกามารมณ์ดับทุกข์ สมาธิหรือฌานดับทุกข์ด้วยรูปฌาน เป็นอรูปฌาน สุดกันแค่นั้น ตายต้านกันอยู่แค่นั้น จนพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น
พระพุทธเจ้าไปศึกษาแล้ว โอ้, ไม่ๆๆๆ ไม่ได้ ไม่สำเร็จ ก็บัญญัติความสิ้นกิเลสนั่นแหละเป็นเครื่องดับทุกข์ นี่จึงเป็นพุทธศาสนาขึ้นมาเต็มตัว เป็นพุทธศาสตร์ขึ้นมาเต็มตัว ไม่มีไสยศาสตร์แม้แต่ประการใด ไสยศาสตร์มหาศาลดึกดำบรรพ์นู่น เอาไปให้พวกอื่น พวกนี้มีความทุกข์ที่จิตใจ จัดการที่จิตใจ มันก็เลยเป็นเรื่องของปัญญาของวิปัสสนาที่ตัดกิเลสได้นั่นแหละ ก็เป็นเรื่องดับทุกข์
นี่คุณก็แยกเอาเอง ดูเอา แค่ไหนเป็นไสยศาสตร์ แค่ไหนเป็นพุทธศาสตร์ ถ้ายังไปต้องอ้อนวอนให้สิ่งอื่นช่วย ช่วยกันอยู่ แล้วทำพิธีรีตองหลับหูหลับตา ก็เป็นไสยศาสตร์ ทว่าแก้กันลงไปตรงๆ นี่เป็นพุทธศาสตร์ แม้จะแก้ไม่ได้มันก็ยังมีความหมายว่ามันไม่เป็นไสยศาสตร์ มันจะดับกันลงไปตรงๆ แม้แต่จะกามารมณ์เป็นเครื่องดับ ศาสนาที่ไม่ใช่ไสยศาสตร์ก็ได้เกิดขึ้น
เพียงแต่สังเกตข้อสังเกตว่า เขาเอาสมาธิ กระทั่งสมาบัติสูงสุดดับทุกข์ ปิดความทุกข์ไว้ ข้าพเจ้าไม่พอต้องเติมปัญญา เติมวิปัสสนา เห็นแจ้ง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือ “ญาณ” ญาณ คือวิปัสสนาเข้าไปด้วย จึงจะดับทุกข์ มันจึงมีคำเกิดขึ้นมาใหม่ว่า “สัญญาเวทยิตนิโรธ” ที่สิ้นอาสวะ หมายความว่าดับทางสมาธิ ดับอย่างยิ่งเป็นสัญญาเวทยิตนิโรธของผู้อื่นก็มีแล้ว แต่ไม่สิ้นอาสวะ เพราะมันไม่ได้มาในทางปัญญา ในทางพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าจึงเติมคำว่า “สิ้นอาสวะ” สัญญาเวทยิตนิโรธ คือสิ้นอาสวะ มีปัญญารวมอยู่ด้วยในนิโรธนั้น คำว่า “สูงสุด” นี้ สูงสูดที่นี่เป็นสัญญาเวทยิตนิโรธที่สิ้นอาสวะแล้วมันก็สูงสุด
สรุปว่าไสยศาสตร์เป็นอย่างไร พุทธศาสตร์เป็นอย่างไร แต่ว่าเดี๋ยวนี้ก็ยังมีนะ ก็ยังมีคนถือไสยศาสตร์ อย่าพูดดีกว่านะ มันกระทบกระเทือนแล้วมันไม่ได้ประโยชน์อะไร แต่ถ้าอยากเป็นพุทธศาสตร์ก็ต้องถือหลักคือว่า ช่วยตัวเอง ช่วยตัวเอง ไม่ต้องอ้อนวอนให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วย ให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยก็คนป่าสมัยนู้น แสนๆปีมาแล้ว เดี๋ยวนี้เรามันยุควิทยาศาสตร์ ถือเป็นหลักธรรมสิ แค่นี้ก็เข้ากันได้กับหลักวิทยาศาสตร์ คือมีเหตุผล ใช้เหตุผล เป็นไปตามเหตุผล รู้จักเหตุของมันแล้วก็แก้ไขที่เหตุของมัน ก็มีการดับทุกข์ด้วยตนเอง ด้วยตนเอง ในความหมายว่าตนเป็นที่พึ่งแก่ตน ไม่ต้องเอาผีสางเทวดาพระเจ้าอะไรที่ไหนมา มาเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นที่พึ่งแก่ตน มีความรู้สูงสุด ปฏิบัติสูงสุด สิ้นกิเลส สิ้นอาสวะ ทุกข์ก็ดับไป คุณมีสิทธิ์ที่จะเลือกเอา จะถือไสยศาสตร์ก็ได้ตามใจ ไม่มีใครว่า ก็นี่บอกให้รู้ว่าเป็นอย่างนี้ ก็เลือกเอาสิ แต่ว่าถ้าศึกษาดีรู้จริง รู้แจ้งจริง คงไม่เอาหรอก สั่นหัว จะเอาทางที่มันมีเหตุผล ความทุกข์เกิดมาจากตัณหา ตัณหาเกิดมาจากอวิชชา ตามเรื่องของปฏิจจสมุปบาทที่เราอธิบายกันแล้วคืนก่อน เป็นเรื่องปฏิจจสมุปบาท เหตุผลมันมาอย่างนั้นๆ สกัดกั้นกระแสของมันอย่าให้ปรุงแสงได้ แล้วมันก็ไม่เกิดทุกข์
การดับทุกข์โดยวิธีพุทธศาสตร์จึงไม่ต้องไปพึ่งอาศัยสิ่งอะไรที่เป็นภายนอก เพราะความทุกข์มันอยู่ข้างใน ก็เห็นแจ้งด้วยตนเอง แล้วดับทุกข์ด้วยตนเอง จงศึกษาให้เห็นทุกข์ มองๆ ดูทุกข์ให้เห็นทุกข์ เห็นทุกข์แล้วรู้จักทุกข์ รู้จักทุกข์แล้วใคร่ครวญแยกแยะดูว่าเป็นอย่างไร วิจัยวิจารณ์ทดลองให้มันเป็นอย่างนั้นแน่ แล้วก็เลิกละกิเลสนั้นเสีย ใน ๓ ชุด กิเลส ที่จะเอาเข้ามาเป็นพวกกิเลสบวกเยอะ หากทำลายเสียเป็นกิเลสลบที่วิ่งตามอยู่เป็นกิเลส ไม่บวกไม่ลบ หลง
นี่เราเป็นสาวกของพระพุทธเจ้านะ อย่าลืม พระพุทธเจ้านี่ไม่มีไสยศาสตร์แม้แต่นิดเดียว ท่านไม่ได้สอนให้พึ่งผู้อื่นและก็ไม่มีแบบพิธีอะไรที่ไหนในทางฝ่ายพุทธที่ว่าจะต้องบูชาบวงสรวงอ้อนวอน แต่แล้วมันก็ไม่รู้จะโทษใคร เขาก็มีแม้แต่พระพุทธรูป เขาก็ต้องบูชา บวงสรวงอ้อนวอนด้วยอาหาร เวลามีพิธีสวดก็ต้องมีที่พระ ที่บูชาพระ ถวายพระพุทธรูป ถวายพระพุทธเจ้า อย่างนี้มันเรียกว่าน่าสงสาร แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ไม่รู้จะทำอย่างไร ทำกันอยู่ทั่วไป เหมือนกับทำเหมือนกับเซ่นผีอย่างนั้นแหละ ที่หน้าบูชาของพวกมหายานเป็นรูปพวก ประเทศอื่น ประเทศอื่น เห็นหน้าพระพุทธรูปบูชาด้วยผลไม้เต็มไปหมดเลย ผลไม้เป็นถาดๆ ผลไม้มิหนำซ้ำเป็นผลไม้ที่ทานไม่ได้ เช่น ฟักทอง ฟักเขียว ก็เอาไปวาง มะพร้าวอ่อนก็เอาไปวางที่หน้าพระพุทธรูป นี่มันเรียกว่าเหลือเกิน ย้อนกลับไปหาแบบวิญญาณไสยศาสตร์ แล้วถ้ายังกลัวอยู่เหมือนเด็กๆ ก็ทำ ถ้าโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ไม่ต้องทำ ไปเข้าเรื่องที่ว่า ที่วัดสำคัญๆ สมัยโบราณ สมัยศรีวิชัย มีโบสถ์พราหมณ์อยู่หน้าวัด ผ่านโบสถ์พราหมณ์มาก่อนจึงเข้ามาในวัดเป็นโบสถ์พุทธ
มันง่ายดีการที่ให้พึ่งผู้อื่น มันเป็นตรงกับสัญชาตญาณ ความรู้ เรารู้ธรรมชาติของมนุษย์ต้องการจะให้ใครช่วยเสมอ สัญชาตญาณหรือ Instinct มีอยู่ข้อหนึ่ง มันหลายข้อ แต่ว่าข้อหนึ่งมันต้องการความช่วยเหลือจากภายนอก ของ Instinct เช่นว่า ลูกสัตว์มันมีอันตรายก็วิ่งไปหาแม่ หาแม่ช่วย การที่ต้องการให้สิ่งอื่นช่วยนั้นเป็นสัญชาตญาณ คุณสังเกตดูสุนัขนี่ สุนัขอันนี้ที่ว่า มันมาเฝ้าเรามาคอยติดอยู่ ไปนอนใต้ธรรมมาสน์บ้างอะไรบ้าง ใครว่ามันกตัญญู ที่จริงไม่ใช่หรอกมันขี้ขลาด มันขี้ขลาด มันไปหาที่ที่อุ่นใจ เลยมาอยู่ข้างๆเรา อย่างนี้มันอุ่นใจ ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องกลัว สัญชาตญาณของการพึ่งผู้อื่น ให้ผู้อื่นช่วยมีในสัตว์เดรัจฉาน สัตว์เดรัจฉานมันเป็นทุกข์ตลอด ไปหาแม่ ไปหาคนก็มี มีวิญญาณกับไสยศาสตร์ เราไม่มีอำนาจที่จะไปเลิกล้าง ไม่มีอำนาจ ก็ปล่อยไว้เป็นเรื่องเสรีภาพ ใครอยากจะถืออย่างไร แต่ถ้าถือในลักษณะต้องให้ผู้อื่นช่วยก็เป็นไสยศาสตร์โดยไม่มีข้อแก้ตัว
ควรจะศึกษาด้วย ฝึกฝนด้วย พิสูจน์ด้วย ทดลองด้วย ในหัวข้อที่ว่า "ถ้าความกลัวเกิดขึ้นมาแล้วจะทำอย่างไร" คุณเอาไปวิเคราะห์ วิจารณ์ วินิจฉัยจนตลอดกาลเลยนะ เพราะว่าศาสนา ศาสนา นี่มันเกิดขึ้นมาจากความกลัวของคนป่าสมัยนู้น คนป่าสมัยแสนปี ล้านปี มันกลัว แล้วมันทำอะไรไม่ถูกก็อ้อนวอนสิ่งที่มันกลัว ไปขอร้องสิ่งที่มันกลัว นี่ก็มีปัญหา เมื่อกลัวขึ้นมาแล้วจะทำอย่างไร จะอ้อนวอนสิ่งที่กลัวหรือว่าจะขจัดความกลัวโดยวิธีใด ก็มีวิธีที่ขจัดมาเป็นลำดับ เป็นลำดับมาดังที่กล่าวมาแล้ว ทำสมาธิ ทำเมตตา ทำอะไรมาเรื่อยๆมา จนกว่าจะถึงพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น ท่านจึงใช้ จะเห็นได้ว่ามีญาณ มีญาณ ความจริงมีมัคคญาน รู้แจ้งสิ่งเหล่านี้ ก็จนไม่กลัว จนไม่กลัว รู้ธรรมะจนไม่กลัวอะไร ไม่กลัวความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายด้วยซ้ำไป ไม่ต้องไปถึงผีสางเทวดาเลย ที่มันไม่กลัวด้วยความรู้อะไร พวกอื่นอาจจะมีอย่างอื่น แต่ในพุทธศาสนามีความรู้สูงสุดว่ามันไม่มีตัวตน คำนี้จำไว้ตลอดกาลเถิด ไม่มีตัวตนมันแก้ปัญหาได้หมด มันแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง อย่าว่าแต่ความกลัวเล็กๆน้อยๆเลย ความกลัวมหาศาลก็แก้ได้ด้วยไม่มีตัวตน พอไม่มีตัวตนมันไม่กลัว มันไม่รู้จะกลัวอะไร มันจะกลัวไปทำไม ไม่มีความทุกข์ ไม่มีที่ให้เกิดความทุกข์ เพราะมันไม่มีตัวตน กระทั่งว่ามันไม่เกิดกิเลสใดๆ มันไม่มีตัวตน มันไม่ยินดี มันไม่ยินร้าย มันไม่เป็นบวก มันไม่เป็นลบ มันไม่ดีใจ มันไม่เสียใจ ในความไม่มีตัวตน แล้วว่างไปเสียจากตัวตน คำนี้ท่าจะยากและไม่ค่อยมีใครเชื่อว่าทำได้ ไม่ค่อยมีใครเชื่อว่าทำได้ที่เราจะทำจิตให้ปล่อยวาง ว่างจนไม่มีตัวตน น้อยคนจะเชื่อ แต่ถ้าพยายามศึกษาไปทำไปมันก็จะค่อยๆดีขึ้นๆ ครบขึ้น พวกฝรั่งโดยมากก็ไม่เชื่อ แต่มันก็ยอมฟัง ยอมฟัง มันไม่ได้พอใจหรือไม่มีตัวตน มันมีตัวตน แล้วมันแถมชอบเรื่องเซ็กส์ด้วย ไม่ได้มีตัวตนเฉยๆ แต่นี่ที่เราบอกว่าถ้าจะดับทุกข์ ดับความทุกข์ให้ได้สิ้นเชิงนั้นอย่ามีตัวตน เรื่องเซ็กส์กลายเป็นของธรรมดาหรือสกปรก ของสกปรกไปเลยสำหรับฉัน
นี่ศาสนามันสูงสุดที่พระพุทธเจ้าท่านสอนด้วยสิ้นกิเลส สิ้นกิเลส สิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะ นั่นแหละคือนิพพาน นิพพาน จบกันที่นั่น จงพยายามว่าจะบรรลุนิพพานกันได้อย่างไร คือจิตจะรู้ถึงภาวะของนิพพานได้อย่างไร ตามที่พระองค์ตรัสไว้จัดว่าเป็น “ธาตุ” ธาตุเป็นธาตุชนิดหนึ่ง อย่างแรกเรียกว่า “สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ” ดับเบญจขันธ์แล้วมีอุปาทิเหลือ เอ้อ, ดับกิเลสแล้วมีเบญจขันธ์เหลือ ดับเบญจขันธ์แล้วมีอุปาทิเชื้อเหลือ “อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ” ดับกิเลสแล้วไม่มีเชื้อเหลือ ฟังยาก เชื้อในที่นี้ ไม่อธิบายอย่างเดียวกับเชื้อในที่อื่น ในที่อื่นอธิบายคำว่าเชื้ออย่างอื่น เชื้อนี้หมายถึง “เวทนา” ที่เย็นหรือไม่เย็น ถ้าเวทนาเย็นสนิทไม่รู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ก็เรียกว่า “ไม่มีเชื้อเหลือ” ถ้าเวทนายังรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์อยู่เรียกว่า “มีเชื้อเหลือ” สิ้นกิเลสแล้วมีเชื้อเหลือก็คือมีเวทนาที่ยังไม่เย็นสนิท ยังรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ แต่ไม่เกิดกิเลสนะ ไม่ใช่เกิดกิเลส ไม่ใช่เกิดทุกข์ แต่รู้สึกว่ายังเป็นสุขเป็นทุกข์อยู่ สูงขึ้นไปจากนั้น สิ้นกิเลสแล้ว เวทนาเย็นสนิท ไม่มีความรู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เป็นบวกเป็นลบอีกต่อไป สูงสุดอยู่แค่นั้น สูงสุดที่นั่น สูงสุดเพียงเท่านั้น คือนิพพานธาตุอันที่ ๒ อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ นี่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้
นี่ลองใคร่ครวญดูตั้งแต่คนป่า ไม่นุ่งผ้า นุ่งผ้าบ้าง ไม่นุ่งผ้าบ้าง รู้จักกลัวสิ่งที่นึกขึ้นน่ามหัศจรรย์ น่าหวาดเสียว เรื่อยขึ้นมาจนเกิดยึดถือเป็นพระเป็นเจ้า ให้เป็นพระเป็นเจ้าหมด ในภูเขาก็มีพระเจ้า ในต้นไม้ก็มีพระเจ้า ในแม่น้ำก็มีพระเจ้า เรื่อยๆกันมาเต็มไปด้วยสิ่งที่น่ากลัว ก็ต้องอ้อนวอนๆ ต้องขอบูชาอ้อนวอนให้ช่วย จนกว่าจะมาถึงยุคหนึ่ง ยุคเปลี่ยนๆหัวเลี้ยวหัวต่อเลย เกิดมีผู้รู้ว่าความทุกข์มันไม่ได้เกิดจากข้างนอกนี่ มันเกิดจากข้างในคือกิเลส จึงค้นคว้า ค้นคว้ามาตามลำดับ สูงขึ้นมาตามลำดับ สูงขึ้นมาตามลำดับ นับตั้งแต่เอากามารมณ์เป็นเครื่องกลบเกลื่อน เอาสมาธิสมาบัติเป็นเครื่องกลบเกลื่อน เอาอรูปสมาบัติเป็นเครื่องกลบเกลื่อน พระพุทธเจ้าไม่เอา ไม่พอใจ ไม่สำเร็จ เอาความสิ้นกิเลสเป็นเครื่องแก้ไขดับทุกข์ หลับตาดู หลับตาดูให้เห็นว่า สิ่งที่เรียกว่าศาสนา ศาสนานี่มันเกิดขึ้นมาอย่างไร ทีละนิด อย่าไปศึกษายาวยืดไปหมื่นปี แสนปี มนุษย์ยังไม่ต้องบ้า นี่คือสิ่งที่เรียกว่าศาสนา มาสูงสุดอยู่ที่พระพุทธศาสนา คงมีคนคัดค้านว่ามึงถือพุทธนี่ มึงก็ว่าพุทธดี เราก็บอกว่ามาพิสูจน์ คุณก็พิสูจน์ดูสิ มีอะไรที่จะมาสูงกว่านี้อีกบ้าง มาสูงกว่าความสิ้นกิเลสเป็นนิพพาน
มาพูดกันอีกสักนิดเวลาจะหมดแล้ว สาระ สาระ แก่นสารของพระศาสนา แก่นสารของพระศาสนาเรียกว่า “ธรรมะสาระ” บางคนก็รู้แล้วใช่หรือไม่ ๕ อย่าง
๑. ศีล ศีลสาระ แก่นคือศีล
๒. สมาธิสาระ คือสมาธิ
๓. ปัญญาสาระ คือปัญญา
๔. วิมุตติ วิมุตติสาระ สาระคือความหลุด
๕. วิมุตติญาณทัสสนะสาระ สาระติญาณทัสสนะที่รู้ว่าเดี๋ยวนี้หลุดพ้นแล้ว จบเรื่องแล้ว อยู่เหนือทุกข์เหนือปัญหาทั้งปวงแล้ว
นี่คือตัวแกนของศาสนาโดยเฉพาะพุทธศาสนา มีเรียงลำดับมา ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะสาระ เมื่อมาทำเป็นเสา ๕ ต้น ติดไว้บนหลังคา แล้วไม่บอกใคร คิดเอาเองแล้ว มันจะคิดเอเอง เราไม่บอก ที่จริงก็คือว่า สาระของพระพุทธศาสนา ๕ ประการ ข้อที่ ๑ ต้องมีศีล คือความถูกต้องเป็นพื้นฐานของชีวิต ข้อ ๑ ต้องมีความถูกต้องของชีวิตเป็นพื้นฐาน ข้อที่ ๒ ต้องมีกำลังจิตสูงสุด กำลังจิตสูงสุด ข้อที่ ๓ จากจิตที่มีกำลังสูงสุด แล้วมีปัญญาสูงสุด ปัญญาสูงสุดก็อบรมจิตดีแล้ว มีปัญญาสูงสุด ปัญญาสูงสุดก็เห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง มันก็หลุดจากความยึดถือ ที่ยึดถือว่าตัวกูว่าของกูในนั่นในนี่ หลุดออกนี่เรียกว่าวิมุต หลุดแล้วก็รู้ทีว่าหลุดแล้วโว้ย หมดเรื่องหมดปัญหาแล้ว อยู่กันคนละโลกแล้ว นี่วิมุตติญาณทัสสนะสาระ เราเอาไปใช้ในเรื่องโลกๆกันบ้าง บ้านเรือน บ้านเมือง บ้านเรือนก็ได้ มีศีลดีดี ทำงานได้ดี ยิ่งมีสมาธิเท่าไร ยิ่งทำงานได้ดี ทำงานอะไรก็ได้ ทำงานได้ดี ถ้ามีปัญญาก็วิเศษเลยทะลุปรุโปร่งไปหมด นี่ใช้ศีล สมาธิ ปัญญา ในการทำนา ทำสวน ทำค้าขายอะไรก็ได้ ใช้ ๓ อย่างนั้นเป็นหลัก ใช้ทางโลกๆก็ได้ ไม่ใช่ไปนิพพาน เขามีไว้สำหรับไปนิพพานก็ยืมมาใช้อย่างโลกๆ มีหลักเรียกว่ามีศีล มีสมาธิ มีปัญญา จะแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง เอาไปใช้แก้ปัญญาอะไรก็ได้ นี่แกนของพระศาสนา แกนของพระศาสนา เอาไปใช้ได้สารพัดนึก ดังนั้น ขอให้พยายามใช้ พยายามใช้มาก ใช้บ่อย ใช้ให้มากยิ่งขึ้นๆๆๆ จนตลอดชีวิต จนตลอดชีวิต ขอให้คุณพยายามใช้ ๕ อย่างนี้ ๕ อย่างนี้ ยิ่งขึ้นๆๆ ไปจนตลอดชีวิต
นี่เรื่องของสิ่งที่เรียกว่าศาสนา มันมีอยู่เป็น ๒ ลักษณะ คือ ไสยศาสตร์ พึ่งผู้อื่น พุทธศาสตร์ ก็พึ่งตัวเอง ไสยศาสตร์เป็นเรื่องภายนอกเป็นหลัก พุทธศาสตร์ก็เรื่องภายในเป็นหลัก มองเห็นว่าความทุกข์นี่มันเกิดขึ้นภายในจิตใจที่โง่เขลา กำจัดความโง่เขลาออกไปเสียก็สงบปราศจากความทุกข์ ไสยศาสตร์แปลว่าศาสตร์ของผู้หลับ “ไสย” มันแปลว่าหลับ “พุทธศาสตร์” ศาสตร์ของผู้ตื่น “พุทธ” แปลว่าตื่น คำนี้แปลว่าตื่น เราละจากศาสตร์ของคนหลับมาเป็นศาสตร์ของคนตื่น ก็เดินตามพระพุทธเจ้าได้โดยสะดวก พระพุทธเจ้าเป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เราก็เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานตามพระพุทธเจ้า ปัญหาก็หมด นี่คือสิ่งที่เรียกว่าศาสนา เอาไปพินิจพิจารณาใคร่ครวญดูเอาเอง จดบันทึกให้มันแน่นอน ให้มันถูกต้อง ให้มันเข้าใจง่าย ใช้ปฏิบัติง่าย ใช้เป็นหลักปฏิบัติได้ว่าสิ่งที่เรียกว่าศาสนามันเป็นอย่างนี้ มีศาสนาให้ถูกต้อง ให้ถึงที่สุด ให้อยู่เหนือความทุกข์ เหนือความทุกข์ เป็นผู้สงบเย็นและเป็นประโยชน์ คำสุดท้ายนะ เป็นผู้สงบเย็น ไม่มีไฟคือกิเลส แล้วก็เป็นประโยชน์แก่ทุกคน ถือเป็นหลักสูงสุด สงบเย็นและเป็นประโยชน์ แถมพบว่าชีวิตนี้จะไม่กัดเจ้าของอีกต่อไป จบ ไม่มีชีวิต เย็นและเป็นประโยชน์ และชีวิตนี้จะไม่กัดเจ้าของอีกต่อไป ถ้าไม่เช่นนั้นมันจะกัดเจ้าของตลอดเวลา ชีวิตจะกัดเจ้าของอยู่ตลอดเวลา คือกิเลสนั่นเอง ขอยุติการบรรยายด้วยความสมควรแก่เวลา