แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านที่เป็นนักเรียนนักศึกษาทั้งหลาย เราถือโอกาสพูดกันเวลาเช้ามากๆ อย่างนี้ เป็นการฝึกชนิดที่สงเคราะห์อยู่ในการเรียนอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน คือไม่ตื่นสาย เลือกเอาเวลาที่เหมาะที่สุดสำหรับจิตใจ กำลังเยือกเย็น แจ่มใส สบาย แต่มันไม่เป็นที่สบายสำหรับผู้ชอบแสวงสุขจากการนอน มันจะได้แต่เฉพาะผู้ที่เสียสละหรือพอใจจะใช้เวลาอย่างนี้ให้เป็นประโยชน์ ขอให้ท่านดูสักหน่อยว่ามันเป็นเวลา ที่บานสำหรับดอกไม้โดยมาก เป็นเวลาที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ เราก็น่าจะถือเอาประโยชน์อย่างนี้ได้มากเหมือนกัน ดังนั้นก็ให้ใช้เวลาพิเศษอย่างนี้ให้เป็นประโยชน์กันบ้าง
และเรื่องที่จะบรรยายต่อไปนี้จะมีหัวข้อว่า นักเรียนของพระพุทธเจ้า ฟังดูมันออกจะแปลกหู แต่ที่จริงมันก็ไม่แปลก เพื่อจะให้จำกัดความหมายชัดเจนลงไปว่าเป็นนักเรียนของพระพุทธเจ้า ผู้ประสบความสำเร็จอันใหญ่หลวง เราจะเลียนแบบหรือวิธีการใดๆ ของพระองค์มาใช้ในการศึกษาของเรา อีกอย่างหนึ่งถ้าว่าเราไม่เป็นนักเรียนของพระพุทธเจ้า เราก็ต้องเป็นนักเรียนของฝ่ายตรงกันข้าม คือนักเรียนของพญามาร หรือที่เรารู้จักกันง่ายๆ สั้นๆ ว่ามาร เราจะเป็นนักเรียนของมารหรือจะเป็นนักเรียนของพระพุทธเจ้า ขอให้ใคร่ครวญกันดูให้ดีๆ จะได้สำเร็จประโยชน์ ส่วนนักเรียนของพระพุทธเจ้าก็หมายความว่าเราจะใช้วิธีการของพระพุทธเจ้า
ทีนี้จะพูดถึงการเรียนหรือการศึกษาเป็นข้อแรก ทว่าที่จริง ชีวิตนี้ก็เป็นการศึกษาหรือการเรียนอยู่ในตัวมันเองโดยธรรมชาติ คือโดยสัญชาตญาณสิ่งที่มีชีวิตก็ดำเนินชีวิต การดำเนินชีวิต มันก็เป็นการศึกษาอยู่ในตัวมันเอง คือได้สัมผัสอะไรมากขึ้น มันก็มีความรู้เรื่องนั้นๆ มากขึ้นด้วยเหมือนกัน เด็กในท้องมันดูดนมเป็นเมื่อไร พอออกมาจากท้องมารดา มันก็ค่อยๆ ดูดนมเป็น แม้ไม่ได้สัมผัสอะไร มันก็มีความรู้ในเรื่องนั้นๆ ขั้นต่อมามันก็รู้อะไรหลายๆ อย่างเพิ่มขึ้น รู้จักเดิน รู้จักนั่ง รู้จักเดิน รู้จักทำกิจการต่างๆ ตามที่สัญชาตญาณอำนวยให้ทำได้ แต่ว่าการศึกษาเพียงเท่านั้นมันเป็นเรื่องของธรรมชาติ มันไม่พอ ตามที่ควรจะต้องการ มันไม่เป็นการพัฒนาชีวิตให้ถึงที่สุดได้ มันเป็นเพียงการรอดตาย หรือรอดชีวิตอยู่อย่างธรรมดาสามัญ หรือจะเรียกว่าเป็นแกน รอดอย่างเป็นแกนเป็นแกนไปเท่านั้น
ดังนั้นเราจะต้องศึกษาส่วนที่จะทำให้สมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นไปดังที่เรากำลังกระทำกันอยู่ แปลว่าในชั้นนี้ก็มีทางเลือก มีทางที่จะหันเหไขว้เขวไปได้หลายอย่างด้วยเหมือนกัน เราจะถือเอาในวิถีทางที่จะเรียกว่าเป็นนักเรียนของพระพุทธเจ้า เรื่องนี้มีธรรมชาติซ่อนเร้นอยู่อย่างหนึ่ง คนโบราณที่เมืองนี้ เขาเล่นมีคำกล่าวไว้เป็นใจความสำคัญว่า เด็กๆ พอโตขึ้นมา ก็ทิ้งพ่อแม่ หนีตามโจรไป ฟังดูให้ดีนะ เด็กๆ พอโตขึ้นมาก็ทิ้งพ่อแม่ หนีตามโจรไป ก็คือว่า เริ่มไม่เชื่อฟัง เริ่มเอาตามความพอใจ สนุกสนานของตน เริ่มหลีกออกจากหนทางแห่งจารีต ประเพณี ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมที่ดี คือว่าจะเอาตามใจตัวนั่นแหละ ก็เรียกว่า ทิ้งพ่อแม่หนีตามโจรไป ไอ้ที่มันมากจนถึงกับทิ้งพ่อแม่ หนีไปเป็นอันธพาลนั้น มันก็มีอยู่เหมือนกัน แต่ความหมายนี้มันลึกกว่านั้น คือว่าจิตใจมันจะหันเหไปตามทางของกิเลส ไม่อยู่ในร่องในรอย ในระเบียบอันสวยสดงดงามของศีลธรรม หรือของจริยธรรม ทั้งนี้เพราะว่ากิเลสมันค่อยๆ เกิดขึ้น เกิดขึ้น เพิ่มขึ้นในใจ มันชักจูงไป มัน
ดึงไป มีลักษณะเหมือนกับทิ้งพ่อแม่ แล้วก็หนีตามโจรไป คือไปเป็นโจร จะรู้สึกตัวหรือไม่ก็แล้วแต่ ไม่รู้สึกตัวก็เป็นโจรไปจนตลอดชีวิต ถ้ารู้สึกตัวได้ก็หนีโจรกลับมาหาพ่อแม่ บางทีก็ฆ่าโจรเสียเลย คือว่าละจากกิเลส ละจากความชั่ว ละจากอะไรต่างๆ ได้นี่ก็เรียกว่า สามารถที่จะฆ่าโจรเอาเสียเลย มาหาพ่อแม่คือธรรมะ
หรือทำนองคลองธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี กระทั่งธรรมะสูงสุดที่ทำให้บรรลุความเป็นอริยบุคคล เราพิจารณาดูเรื่องนี้ดีแล้วก็จะต้องระมัดระวังว่า จิตใจมันจะทิ้งพ่อแม่ หนีตามโจรไป เราได้อยู่กับพ่อแม่ เราจะเป็นนักเรียนของพระพุทธเจ้า จนกว่าจะจบการเรียน
เอาละทีนี้มาถึงคำว่า “นักเรียนของพระพุทธเจ้า” ก็มีใจความสั้นๆ ง่ายๆ ว่าเราจะใช้วิธีการของพระพุทธเจ้า เราจะเชื่อฟังพระพุทธเจ้า ตามที่พระองค์ได้ตรัสแนะนำไว้อย่างไรในการศึกษาเล่าเรียน เมื่อเราได้ใจทุกอย่างเป็นไปอย่างถูกต้องแล้ว เราก็จะพบกฎเกณฑ์ต่างๆ ดังที่จะได้บรรยายต่อไป
ข้อแรกจะมีคำถามว่า เราเรียนทำไม เราเรียนทำไม ที่เรียนเพราะเคารพหน้าที่ เคารพในหน้าที่ ไอ้นี่มันต้องรู้สึก มีความรู้สึก อย่างโตแล้ว เด็กๆ มักไม่ค่อยรู้ แต่ถ้าโตแล้วรู้สึกว่าการเล่าเรียนเป็นหน้าที่ เป็นการช่วยให้พ้นจากอุปสรรคปัญหาต่างๆ หรือมันเป็นหน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิต จะต้องศึกษาเล่าเรียน แล้วก็พอใจยินดีในการที่จะเล่าเรียน เพราะเคารพในหน้าที่ หน้าที่นี้หมายความไปถึงหน้าที่ที่จะสนองพระคุณของผู้มีพระคุณของเราให้สำเร็จประโยชน์ อย่างน้อยให้ท่านสบายใจ เพราะว่าบุตรหลานมีหน้าที่ทำให้บิดามารดาหรือบรรพบุรุษมีความสบายใจ อย่างนี้เรียกว่าเราเรียน เพราะเคารพหน้าที่
ทีนี้อีกทางหนึ่งเราเรียนเพราะมีศรัทธา ในสิ่งที่เราจะยึดถือเอาเป็นที่พึ่ง มันก็คือผลของการเรียนนั่นแหละ ซึ่งมันอาจจะช่วยเราได้ เราเรียนเพราะศรัทธาในสิ่งนั้น เราจึงเรียนหลักอันลึกซึ้งในพระพุทธศาสนามีอยู่ว่า ความทุกข์ทำให้เรามีศรัทธาในสิ่งที่จะช่วยดับทุกข์ เช่นว่าความทุกข์ ทำให้เรามีศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความดับทุกข์ ไอ้ความทุกข์มันบีบคั้น บังคับ และชี้ชวน นั้นก็ตามให้เรามีศรัทธาในสิ่งที่จะช่วยดับทุกข์ให้แก่เรา ถ้าเป็นอย่างนี้เราก็เรียนเพราะศรัทธา ศรัทธาอันมั่นคง ในสิ่งที่จะช่วยดับทุกข์ให้แก่เรา ท่านศรัทธาในวิชาการใดๆ แขนงไหนที่จะช่วยดับทุกข์ได้ ท่านก็จะพอใจหรือเรียนสนุก ในการที่จะศึกษาเล่าเรียนในแขนงนั้น เพราะว่าเราเรียนด้วยศรัทธา บัดนี้เราก็โตพอที่จะรู้จักทุกข์ ต้องการที่จะไม่ทุกข์ เราก็เลือกหา แล้วก็ศรัทธาอย่างแน่นแฟ้น ในสิ่งที่จะช่วยให้ทุกข์
ถ้าไม่อย่างนั้นเราก็เรียนเพราะมีศรัทธา กิเลส ตัณหา บ้าๆ บอๆ อะไรของเราเอง โดยคิดว่าการเรียนจะช่วยให้ได้เงินมาก ได้อะไรมาก ก็จะใช้ปัจจัยเหล่านั้นแสวงหาความสุข สนุกสนาน อย่างนี้เรียกว่าเรียนด้วยกิเลส ตัณหา มันคิดจะสร้างวิมานในอากาศ มีความหลงใหลใฝ่ฝัน ในเรื่องกามารมณ์ ไปตั้งแต่เล็กอย่างนี้ก็มี ไม่ใช่ไม่มี ลองคิดดูเถิด แม้จะเป็นการพูดจริงสักหน่อย ก็อย่าเห็นว่าเป็นเรื่องกระแนะกระแหน ด่าทอ เทียบเคียง เลียบเคียงอะไรเลย มันก็มีอยู่เหมือนกันที่ว่าเขาเรียนด้วยกิเลส ตัณหา บ้าๆ บอๆ บางทีมันก็ไม่อยากจะเรียน เรียนด้วยการถูกบังคับให้เรียน พ่อแม่ให้ต้องบังคับให้เรียน อย่างนี้ก็มี แต่เดี๋ยวนี้คงจะหายาก สมัยอาตมาเด็กๆ น่ะ ยังมีพบว่าเด็กถูกบังคับให้ไปโรงเรียนให้เรียนหนังสือนี้ มีมากกว่าเดี๋ยวนี้อีก นี่ปัญหาที่ว่าเรียนทำไมน่ะ ขอให้จัดการให้เสร็จไปเอง
แล้วทีนี้ก็มาถึงข้อควรทราบต่อไปว่าเรียนอะไร เรียนอะไร ให้มันชัดเจนลงไป ตอบอย่างหลักธรรมะในพระพุทธศาสนา ท่านถือว่าเรียนที่ตัวปัญหา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ แล้วก็เรียนที่สิ่งที่จะแก้ปัญหานั้นได้ คือสิ่งที่พึงประสงค์ทั้งโดยตรง ทั้งโดยอ้อม ทั้งอย่างต่ำ ทั้งอย่างสูง อะไรจะเป็นเครื่องช่วยเราแก้ปัญหาชีวิตได้ จะกี่ระดับกี่ชั้นกี่อย่างกี่ชนิด เราก็เลือกดู เราก็สามารถที่จะเลือกดู เรามีโอกาสที่จะระลึกว่าทุกอย่างทุกประการ แล้วมาเลือกดูว่าอะไรจะแก้ปัญหาของชีวิตของเรานี้ได้ เมื่อถามว่าเรียนอะไร เรียนอะไร เราก็ตอบว่าเรียนที่ตัวปัญหา และสิ่งที่เราไม่พึงประสงค์ คำนี้ดูจะฟังยากและจะไม่ยอมรับ จะไม่เป็นที่เข้าใจก็ได้
จะถามกันว่า เรียนไปทำไมตัวปัญหา คำตอบก็มีว่า ถ้าไม่รู้จักตัวปัญหาเราจะแก้ปัญหาได้อย่างไร เรามีปัญหาให้ว่ามีความเจ็บไข้ได้ป่วย เราจึงไปแสวงหาหมอ เราก็จะต้องรู้เรื่องความเจ็บไข้ได้ป่วยของเราเสียก่อน เราจึงจะไปหาหมอได้ถูกต้อง มันจะหาหมอผิดจากโรคที่เรากำลังเป็นอยู่ก็ได้ เดี๋ยวนี้เราจะเรียนที่ตัวปัญหา ก็หมายความว่า อะไรกำลังเป็นปัญหา ขัดขวางหนทางแห่งความเจริญของเรา เราทำอะไรไม่เป็นเราก็ต้องเรียนไอ้ที่ตัว สิ่งที่เราทำไม่เป็น ให้เราทำเป็นขึ้นมา เราไม่รู้อะไร เราก็เรียนให้มันรู้ขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องรู้ว่าอะไรเป็นปัญหา โดยตรงโดยเฉพาะแก่ชีวิตจิตใจของเรา ข้อนี้จะเป็นการยากสำหรับเด็กๆ ที่ยังเล็กอยู่ มันไม่รู้จักตัวปัญหา พ่อแม่จะต้องชี้ให้ ครูบาอาจารย์ก็ต้องชี้ให้ พอโตขึ้นมา เขาก็ค่อยๆ รู้จักตัวสิ่งที่เรียกว่าเป็นปัญหา กระทั่งว่าเป็นเรื่องทางชีวิต จิตใจที่สูงขึ้นไป เช่นเรื่องกิเลส เรื่องตัณหา เรื่องอวิชชา ซึ่งเป็นปัญหาทางจิตใจ
ถ้าปัญหาทางฝ่ายวัตถุ ทางฝ่ายร่างกาย ก็ไม่รู้กันแล้ว ก็ยากที่จะรู้จักปัญหาทางจิตใจ จะต้องเรียนรู้เป็นลำดับไปตั้งแต่ปัญหาทางวัตถุสิ่งของ แล้วปัญหาทางร่างกาย แล้วก็ปัญหาทางจิต เกี่ยวกับจิตโดยเฉพาะ แล้วก็ปัญหาทางวิญญาณ คือทางสติปัญญา ความรู้ ความคิด ความเห็น ความเชื่อ ตลอดจนอุดมคติอันสูงสุดว่ามันมีอยู่อย่างไร สิ่งเหล่านี้อย่าให้ผิดพลาดได้ จึงจะรู้จักตัวปัญหา แล้วฟาดฟันทำลายล้างปัญหาเหล่านั้นเสีย จะรู้จักได้เองในทางที่ตรงกันข้ามกับปัญหาว่าอะไรจะสามารถแก้ปัญหาของเรา วิทยาการทั้งหลายก็มีอยู่เป็นระบบ พอจะเลือกได้ พอจะแสดงอยู่ได้ว่า ใครต้องการเรื่องอะไร ก็เรียนเรื่องนั้นๆ โดยเฉพาะให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ก็จะแก้ปัญหาเฉพาะเรื่องนั้นๆ มันมีอยู่หลายอย่างหลายประการด้วยกัน เรื่องอาชีพก็มีเรื่องสุขภาพอนามัยก็ดี เรื่องทางสติปัญญาวิชาความรู้ เกินกว่าธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นนักปราชญ์ นักปรัชญาเหล่านี้ก็มี ก็เลือกเอาเองได้ นี่คือข้อที่ว่าเรียนอะไร ผู้นั้นจะต้องรู้จักว่าอะไรมันเหมาะสมแก่เรา ถ้ามันผิดพลาดมันก็ลำบาก เรียนสำเร็จก็ไม่มีประโยชน์อะไร ก็น่าหัว ว่าเรียนแล้วไม่รู้จะใช้ประโยชน์อะไร
ทีนี้ก็มีหัวข้อต่อไปว่า เรียนด้วยธรรมะอะไรหรือเครื่องมืออะไร ธรรมะที่จะเป็นเครื่องมือนั้นมีอะไร ในสมัยก่อนที่ประกาศนียบัตรที่ให้แก่ผู้ที่สอบไล่ได้นั้น มันก็มีกาที่หัว หัวประกาศนียบัตรน่ะ มีข้อความว่า “สุ จิ ปุ ลิ” สุ จิ ปุ ลิ เดี๋ยวนี้ได้ยินว่าไม่มีแล้ว นักเรียนจะไม่ได้เห็นประกาศนียบัตรที่มีตัวหนังสือข้างบนยอดว่า สุ จิ ปุ ลิ สุก็ฟัง จิก็คิด ปุว่าถาม ลิว่าบันทึก จดจำ สุ จิ ปุ ลิ ว่าฟัง ว่าถาม ว่าคิด ว่าจำ ฟังคิดถามจำ นี่มันถอดมาจากบาลี ถอดมาจากบาลีที่มีอยู่ว่า สุ จิ ปุ ลิ วินิมุตโต กถัง โส ปณฺฑิโต ภเว แปลได้ใจความว่า ถ้าเว้นจากการฟังการคิดการถามและการจำเสียแล้ว จะเป็นบัณฑิตได้อย่างไรกันโว๊ย, ฟังคิดถามจำ สามอย่างนั้น
เป็นสิ่งที่ช่วยให้เกิดความเป็นบัณฑิต จะต้องฟังอย่างดี หมายความว่าตั้งใจฟัง ตั้งใจเรียน มันจะพบส่วนที่ยังไม่เข้าใจ เข้าใจไม่ชัด มันก็จะต้องถาม ถ้าถามเข้าใจแล้ว มันจะต้องคิด มันจะต้องเอาไปคิดก่อน ไม่เข้าใจแล้วจะต้องถาม ครั้นถามได้เรื่องได้ราวดีแล้ว ก็จะบันทึกหรือจดจำ ลองทำอย่างนี้สิ อย่า อย่าทำเล่นไป หลักเกณฑ์โบร่ำโบราณก่อนพุทธกาล ก็ได้อย่างนี้ล่ะมันเป็นหลักเกณฑ์ ฟังให้ดีๆ คิดให้ดีๆ ไปตามนั้น แล้วก็ถามอย่าอาย อย่าละอาย แล้วก็บันทึกจดจำไว้ นี่เป็นค่อนข้างโบราณ โบราณ
แล้วถ้าจะใช้ธรรมะของพุทธเจ้า ที่เป็นทำให้สำเร็จประโยชน์ยิ่งกว่านั้น ก็ว่า อิทธิบาท อิทธิบาท นี่คงจะเคยได้ยินกันมาแล้ว แต่คงจะยังไม่ค่อยเจอ รู้จักใช้ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ฉันทะ แปลว่า ความพอใจ วิริยะ แปลว่า ความพากเพียร จิตตะ แปลว่า ความเอาใจใส่ วิมังสา ความสอดส่องทำการวิจัยวิจารณ์อยู่เสมอ คำว่า “ฉันทะ” ฉันทะ แปลว่า ความพอใจนี่ เป็นความพอใจชนิดที่ประกอบด้วยสติปัญญา ด้วยเหตุผล ไม่ใช่พอใจด้วยกิเลสตัณหา บ้าๆ บอๆ อย่างที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งเป็นความหิวที่จะเรียน อันคำว่า “ความหิว” นี่ มีความหมายได้ทั้งทางวัตถุทั้งทางจิตใจ ภาษาฝรั่งเขามีอยู่คำหนึ่งว่า appetite appetite นั่นแหละ ความหิวชนิดนั้นแหละเราต้องการ คือความกระหายที่อยากจะทำ อยากจะมี อยากจะได้ ไม่ใช่หิวอย่างหิวข้าว หิวข้าว น่ะคำอื่น แต่ว่าหิวที่จะทำหน้าที่ที่ควรจะทำนั่นแหละ ถ้าไม่มีแล้วไม่มีทางสำเร็จหรอก มันไม่มีสติปัญญา มันไม่รู้จักว่าอะไรควรจะต้องการ อะไรจะเป็นที่พึ่งได้ มันก็ไม่มีฉันทะหรือความหิว ที่ใคร่จะได้ ใคร่จะมี คอยสนใจแก้ปัญหาข้อนี้เสียให้ถูกต้อง ให้มันมีความหิวในสิ่งที่ควรจะหิวหรือกระหาย แต่ว่าไม่ใช่ความหวังบ้าๆ บอๆ อย่างที่มักจะสอนเด็กว่าต้องมีความหวังจึงจะสำเร็จ ไอ้ความหวังชนิดนั้นมันกัด มันกัดหัวใจ ไอ้ความหวังน่ะเป็นความทรมานจิตใจ เดี๋ยวมันจะเป็นบ้าตายหรือเป็นโรคอะไรตายเสียก่อน ความหิวอย่างนี้ไม่ใช่ว่าจะเป็นความหวังชนิดที่ทำให้กัดหัวใจ รู้ดีแล้วก็มีความต้องการ ความต้องการนี้มี ๒ สถาน ความต้องการคือกิเลสตัณหา บ้าๆ บอๆ นี้เป็นเรื่องของคนโง่ แต่ถ้าเป็นความต้องการของสติปัญญาก็เรียกว่าสังกัปปะ ไม่ได้เรียกว่าตัณหา อย่าไปเชื่อคนที่มันพูดตามศาลาวัดว่า ถ้าอยากแล้วก็เรียกว่าโลภะ ถ้าอยากต้องการเรียกว่าตัณหาไปหมด นั้นไม่จริงน่ะมันหลับตาพูด ถ้ามันต้องการด้วยความโง่ ด้วยกิเลส ตัณหา เขาก็เรียกว่าตัณหาหรือความโลภ แต่ถ้าต้องการด้วยสติปัญญาอันแจ่มใสถูกต้อง ก็เรียกว่าสังกัปปะ หิวอย่างโง่ๆ ภาษาอังกฤษมันเรียก desire desire ถ้ามันต้องการด้วยสติปัญญา มันเรียก aspiration aspiration มันคนละความหมาย ความหมายไปกันคนละทิศทางไกลกันลิบน่ะ ขอให้เรามีความหวัง มีความต้องการ ชนิดที่ไม่กัดหัวใจ มันจะไม่เป็นบ้าเสียก่อน แต่ความหวังชนิดที่มันกัดหัวใจ อย่าทำเล่นกับสิ่งที่เรียกว่า ความหวัง ให้มีความพอใจอย่างสงบเย็น ในการที่จะทำอะไร ถ้าแน่ใจแล้วก็ทำไปโดยไม่ต้องหวังให้มันกัดหัวใจ อย่าไปหวังให้มันกัดหัวใจ มันจะชิงสุกก่อนห่าม มันจะทำอะไร บ้าๆ บอๆ ที่ไม่ควรจะทำ เราจะมีฉันทะ ความพอใจในสิ่งที่เราจะต้องทำ แล้วก็จะมี “วิริยะ” คำนี้โดยตามธรรมดาแล้วก็จะแปลว่าความพากเพียร แต่มันมีความหมายของคำว่า “กล้าหาญ” กล้าหาญ รวมอยู่ด้วย คือมันพากเพียรอย่างกล้าหาญนั่นเอง เอาความพากเพียรกับความกล้าหาญบวกเข้าด้วยกัน มันก็จะได้สิ่งที่เรียกว่าวิริยะ มาเป็นเครื่องมือของการศึกษาเล่าเรียน สำหรับคำว่า “จิตตะ” จิตตะ นี่ตัวหนังสือแปลว่าคิด หรือก่อขึ้นมา หมายถึงการเอาใจใส่ สร้างสรรค์กระทำอยู่เสมอไป คิดอยู่เสมอไป ต่อความคิดในเรื่องนั้นอยู่เสมอไป ทำสิ่งที่ยังไม่มี ให้มันเกิดมีขึ้นมา อันสุดท้ายเรียกว่าวิมังสา นี่คือใคร่ครวญหรือที่เรียกว่าวิจัย วิจัย ให้เป็นที่เข้าใจ แจ่มแจ้งกระจ่างอยู่เสมอ ถ้าว่าการเรียนของเราประกอบอยู่ด้วยคุณธรรม ๔ ประการ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา แล้วก็จะให้เกิดความสำเร็จ จึงได้เรียกว่า อิทธิบาท อิทธิ แปลว่า ความสำเร็จ ฤทธิ ฤทธิ ฤท-ธิ นะ แปลว่า ความสำเร็จ บาท แปลว่าที่ตั้งหรือรากฐาน รากฐานแห่งความสำเร็จ คือธรรมะ ๔ ประการนี้
เอ้า, ทีนี้เข้าใจละเอียดขึ้นไปเป็นนักเรียนของพระพุทธเจ้าจริงๆ ยิ่งขึ้นไปอีกก็อยากเสนอแนะข้อธรรมอีกหมวดหนึ่ง แม้ว่ามันจะลึกซึ้งไปบ้าง ก็ยังพอที่จะเข้าใจได้สำหรับคนที่ไม่นั่งหัวเราะเหลาะๆ แหละๆ ที่จะฟังมัน ขอได้ฟังให้ดีว่า ธรรมะหมวดนี้เรียกว่า โพชฌงค์ โพชฌังคะ โพชะ แปลว่าความรู้ อังคะ แปลว่า องค์ประกอบ โพชฌังคะ แปลว่าองค์ประกอบแห่งความสำเร็จ ความสำเร็จ องค์ประกอบแห่งองค์ประกอบแห่งความรู้ องค์ที่ทำให้เกิดความรู้เรียกว่า โพชฌังคะ มีอยู่ ๗ อย่างซึ่งมันค่อนจะมากมาย ถ้าไม่สนใจฟังก็จะจำไม่ได้ งั้นจดไว้ก็จะเป็นการดี ใน ๗ อย่างนั้น อย่างที่แรกเรียกว่า สติ สติ สติแปลว่าความระลึกได้ ระลึกในสิ่งที่ควรจะระลึก ระลึกเอามาให้หมด เรียกว่า สติสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้ แห่งความตรัสรู้ คือ โพชฌงค์ องค์ที่สองคือ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ นี้ก็คือ วิจัย วิจารณ์ ธรรมวิจัย คำว่า “วิจัย” นี่ มีมาแต่ครั้งพุทธกาลและก่อนครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าก็ได้ใช้คำนี้ อย่าโง่ว่าไปถอด ถอน ถอนไถ่ถอนมาจาก ถ่ายทอดมาจากคำฝรั่งเลย พระพุทธเจ้าท่านก็ได้ใช้คำนี้ว่าธรรมวิจัย เลือกเฟ้นธรรมที่เหมาะสม เลือกเฟ้นธรรมที่จำเป็น เลือกเฟ้นธรรมที่จะช่วยได้ เมื่อสติมันเลือกมาหลายอย่างหลายประการแล้ว รวบรวมมาหลายอย่างหลายประการแล้ว ก็เลือกเอาเฉพาะที่จำเป็นจะต้องใช้ ก็เรียกว่าธรรมวิจัย เมื่อท่านพบแล้วก็ใช้ วิริยะสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการตรัสรู้ คือวิริยะ ก็คือความพากเพียร ผนวกกันอยู่กับความกล้าหาญดังที่กล่าวแล้ว มีวิริยะอยู่อย่างเต็มที่แล้วก็มีสิ่งหล่อเลี้ยง สิ่งนั้นคือ ปีติสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการตรัสรู้ คือ ปีติ คือต้องพอใจ พอใจ พอใจอย่างเป็น หล่อเลี้ยงไอ้ความเพียร อย่าให้รู้จักเหน็ด รู้จักเหน็ด อย่าให้รู้จักเหน็ดเหนื่อยหรือท้อถอย เรียกว่า ปีติ ปีติ ความปลื้มใจ ความพอใจ ที่เป็นอย่างหยาบ อย่างหยาบ ก็เรียกว่าปีติ ที่เป็นอย่างละเอียด ก็เรียกว่าปีติ ฝรั่งก็มีคำสองคำที่ว่ามันใช้เป็นหลักเกณฑ์ได้ดี ถ้าเรียกว่า rapture rapture มันเป็นปีติอย่างโลดโผน อย่างทำให้เต้นระรัวไป ถ้าเป็นอย่างสงบเสงี่ยม ละเอียดลออมันเรียก contentment เราจะเอาอย่างหลังนี่ ปีติที่สงบเสงี่ยม ละมุนละไมนี่ เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงวิริยะ ความพากเพียรของเรา ให้แจ่มใสสดชื่นตลอดไป เหมือนกับต้นไม้ ถ้าไม่รดน้ำมันก็ตาย วิริยะ ความพากเพียร ความกล้าหาญ ก็มีปีติเหมือนกับน้ำรด เมื่อมีปีติหล่อเลี้ยงความกล้าหาญอยู่อย่างนี้ มันก็ทำได้เรื่อยไป ทำได้เรื่อยไป มันก็จะเจริญงอกงาม มันก็จะมาถึงลักษณะหนึ่งเรียกว่า ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความตรัสรู้ คือ ปัสสัทธิ ปัสสัทธิ มันแปล
ว่าสงบ ระงับลง ที่มันเคยฟุ้งซ่าน มันสงบ ระงับลง โดยภาษาธรรมดาที่เราจะเรียกกันก็คือว่า มันเข้ารูปเข้ารอย มันลงรูปลงรอย การศึกษาของเราเข้ารูปเข้ารอย ลงรูปลงรอย มันมีลักษณะอาการเหมือนกับว่ามันสงบ ระงับ เมื่อมันเข้ารูปเข้ารอยอย่างนี้แล้ว ก็มีข้อต่อไปเรียกว่า สมาธิสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการตรัสรู้ คือ สมาธิสมาธิ คำนี้แปลว่า ความตั้งมั่นแห่งจิตใจ จิตใจสะอาด ปราศจากสิ่งรบกวนเลวร้าย กิเลส ตัณหา นิวรณ์ไม่มี มีความสะอาดแห่งจิตใจ มีความตั้งมั่น รวมกำลัง กำลังทั้งหมดรวมกันเรียกว่า ความตั้งมั่นแห่งจิตใจ และก็
มีกัมมนียภาวะ ความเหมาะสมที่จะทำหน้าที่ของมัน เรียกกันว่า ที่สมัยนี้เรียกกันว่า active activeness น่ะ มันมีความว่องไวในหน้าที่ของมัน ถ้ามันโง่หรือไม่ว่องไว มันใช้ไม่ได้ ยิ่งมีไอ้ความเป็น active มากเท่าไร มันก็ยิ่งมีความเป็นสมาธิมากเท่านั้น สมาธิมากเท่าไร มันก็ให้ activeness มากเท่านั้น ไม่ใช่แข็งทื่อเป็นท่อนไม้ นั่งหลับตาอยู่กับที่ นั่นมันความเข้าใจผิดของผู้ที่ไม่รู้ว่าสมาธิคืออะไร มีสมาธิถึงที่สุดแล้ว ก็หมายความว่าทุกอย่างมันเข้ารูปแล้ว ทีนี้ก็ปล่อย ให้มันเป็นไปอย่างถูกต้อง เรียกว่า อุเบกขา ไม่ใช่เฉย ไม่รู้ไม่ชี้ไปนอนเสีย คือ ควบคุมไว้อย่างถูกต้อง ให้มันคงที่ในความถูกต้อง คงที่อยู่ในความถูกต้อง ไม่ใช่เฉยๆ มันคอยดูแลให้ความถูกต้องนั้นเป็นไป อย่างนี้ถึงเรียกว่า อุเบกขา คำว่า “อุเบกขา” คือเข้าไปเพ่งดู เห็นอยู่นั่น มันเป็นอุเบกขา เมื่อมันเป็นไปอย่างนี้มันก็ถึงที่สุดจุดหมายปลายทาง เหมือนอย่างว่าชาวนาทำนาถูกต้องทุกอย่างแล้ว ที่ดินถูกต้อง พืชพรรณถูกต้อง น้ำถูกต้อง วัชพืชก็จัดการแล้วอะไรถูกต้อง แล้วก็ปล่อยให้ข้าวมันงอกเอง ชาวนาไม่ต้องหิว ไม่ต้องว่าข้าวจะงอก ข้าวจงงอก ข้าวจงออกรวง นั่นมันชาวนาบ้า ชาวนาที่ดีๆ มันก็ทำให้ทุกอย่างมันถูกต้องแล้วทุกอย่างก็เป็นไปเอง ชาวนาก็ดูแล ไอ้ความถูกต้องนั้นไว้อย่างคงที่ นี่เรียกว่า อุเบกขา อุเบกขา ไม่ได้แปลว่าความเฉย ความวางเฉย แต่มันหมายความว่ามองดูอยู่เฉยๆ ในเมื่อทุกอย่างมันถูกต้อง แล้วทุกอย่างมันก็เป็นไปเอง นี่เรียกว่าโพชฌงค์ ถ้าไม่สำเร็จการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระอรหันต์ ก็ถ้าเราจะยืมมาใช้ มันก็ใช้ได้อย่างที่กล่าวมาแล้ว ขอให้สนใจเอาไปคิดดู
ที่หัวข้อต่อไปก็ว่าเรียนโดยวิธีใด วิธีใด ที่จะพูดอย่างหลักในพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้า ด้วยอีกเหมือนกัน มันอาจจะไม่ตรงกับวิธีที่ท่านทั้งหลายใช้อยู่ก็ได้ เพราะไม่ใช่วิธีของพระพุทธเจ้า ถ้าวิธีของพระพุทธเจ้าก็เอาตามความหมายของตัวหนังสือที่ว่า ศึกษา เป็นภาษาไทย หรือ ศิกฺษา ในภาษาสันสกฤต หรือ สิกขาในภาษาบาลี ๓ คำนี้แปลว่าการศึกษาเหมือนกันหมด ตัวหนังสือมันแปลว่าดูข้างในด้วยตนเอง สะ สะ นี่ก็ข้างในก็ได้ ตนเองก็ได้ แล้ว อิกขะ นี่แปลว่าเห็น การศึกษาของเราจึงได้ลักษณะอาการว่าดู ดูด้วยตนเองนะ ดูข้างในนะ ดูๆๆ ดูด้วยตนเอง ดูข้างใน ดูแล้วก็เห็น ดูไม่เป็นก็ไม่เห็น ดูเป็นก็เห็น ถ้าเห็นจริงมันก็รู้จัก ดูแล้วก็เห็น แล้วก็รู้จัก รู้จักก็ใคร่ครวญ ใคร่ครวญ ในสิ่งที่รู้จัก แล้วก็พิสูจน์ ทดลอง ตามเหตุผลที่ประจักษ์ ถ้าแน่นอนแล้วก็ปฏิบัติ ก็ปฏิบัติ ท่านฟังดูเถิด มันเหมือนกับที่ท่านกำลังมี กำลังใช้อยู่ไหม ซึ่งมักจะมีแต่ว่าจดไว้ในสมุด ไอ้เด็กเกียจคร้าน เด็กเหลวไหล เด็กโง่ๆ มันก็จะมีแต่จะจดไว้ในสมุดตะพึด ทั้งที่ยังไม่รู้ว่าอะไร มันก็จดทั้งหมด ทั้งที่มันไม่รู้ว่าอะไร มันน้อยเกินไป มันสำหรับลูกเด็กทารก ถ้าเป็นนักศึกษา เป็นผู้ใหญ่มีสติปัญญาแล้ว ก็ขอให้ใช้วิธีการที่เป็นนักเรียนของพระพุทธเจ้าว่า ดูด้วยตนเอง ดูเข้าไปข้างใน ดูที่ตัวปัญหานั่นน่ะ แล้วก็เห็น ถ้าเห็นก็ต้องรู้จัก ถ้ารู้จักก็อาจจะใคร่ครวญ แล้วก็พิสูจน์ทดลอง ในสิ่งที่ได้เห็นนั้น แล้วจึงปฏิบัติ ไม่ใช่เพียงแต่ท่องจำ ไม่ใช่เพียงแต่ท่องจำ เราจะพยายามในการศึกษาของเราประกอบอยู่ลักษณะอาการอย่างนี้ ถ้าอยากจะเป็นนักเรียนของพระพุทธเจ้า
เอ้าทีนี้ หัวข้อต่อไป ว่าเรียนกันที่ไหน เรียนกันที่ไหน คำตอบตามหลักธรรมะสูงสุดในพุทธศาสนา ตอบว่าเรียน ที่ตัวเอง ในตัวเอง ภายในตัวเอง แล้วจึงค่อยออกไปภายนอก สู่สิ่งอื่น คนนอกหรือภายนอก ครั้งแรกจะต้องศึกษาในตัวเอง เข้าใจสิ่งที่เป็นภายในของตัวเอง แล้วมันจึงเอาไปใช้กับสิ่งที่เป็นภายนอกอย่างนี้มันดีกว่า เพราะมันเข้าใจลึกซึ้งกว่าเสียก่อน เราจะพยายามทำให้การศึกษาของเราสมบูรณ์ เพราะมันเรียนได้ทุกแห่ง ไม่ว่าที่ไหน ถ้าว่าเรียนที่ไหน มันจะตอบอย่างกำปั้นทุบดินว่าเรียนได้ทุกแห่ง เรียนได้ทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน เรียนได้ทุกอิริยาบถ เมื่อกินข้าว เมื่ออาบน้ำ เมื่อถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ก็เรียนได้ แต่ไอ้เด็กโง่ๆ มันทำไม่เป็น มันมัวแต่จะสวยระริกซิกซี้ในเรื่องเล่น เรื่องหัว เรื่องกามารมณ์อะไร มันไม่เป็นการเรียน ทั้งที่การเรียนมันเรียนได้ทุกๆ อิริยาบถ ที่มีอยู่แต่ละวัน ละวัน แม้แต่ความผิดพลาดมันก็เรียนได้ เรียนจากความผิดพลาดมันก็เรียนได้ ความผิดพลาดมันก็สอนได้ แต่เด็กโง่ๆ มันอวดดี มันมองข้ามความผิดพลาด มันทิ้งให้เสีย สูญเสียไปเปล่าๆ ไม่เอาความผิดพลาดนั้นเป็นครู ไอ้เด็กโง่ๆ หัวแข็ง มันไม่เชื่อบิดามารดาบรรพบุรุษ ปู่ย่าตายายของมัน ซึ่งท่านเคยเอาผิดพลาดเป็นครู ถูกเอาเป็นครู ผิดเอาเป็นครู ก็เลยได้สองครู ไอ้เด็กโง่ๆ มันได้คนเดียว ไอ้ความถูกมันก็จดไว้ยังในสมุด มันก็ไม่เป็นครูอะไรได้ ขอให้ทำให้ดีที่สุด ให้ความถูกต้องก็เป็นครู ความผิดพลาดก็เป็นครู ความผิดพลาดนี้สอนดีกว่าเสียอีก มันสอนรุนแรง สอนเจ็บปวด สอนลืมยาก จงให้ความผิดพลาดแม้ว่าจะเจ็บปวด แม้ว่าจะลงโทษนั่นแหละ เป็นครู เรียกว่า แม้แต่ที่ทำผิดพลาดไปแล้ว ก็เอาเป็นบทเรียนได้ ถ้าถามว่าเรียนที่ไหนละก็ ขอให้เรียนได้ทุกหนทุกแห่ง เรียนได้แม้ในความผิดพลาด จัดการภายในตัวเองได้แล้ว จึงไป ออกไปภายนอกตัว เรียนเรื่องภายนอกตัวได้ทีหลังอย่างถูกต้อง ถ้าภายในตัวเองยังไม่รู้เรื่องแล้ว มันไม่มีทางที่จะรู้เรื่องภายนอกได้
ทีนี้ก็จะว่า มีข้อปัญหาว่า จะเรียนเท่าไร จะเรียนเท่าไร คำตอบมันตอบมันก็ว่าเรียนจนพอ เรียนให้พอ ให้พอนี่ไม่มากเกินไปไม่น้อยเกินไปนั่นแหละถูกต้อง พอสำหรับตัวเอง นี่เป็นข้อแรกที่ว่าตัวเองมันจะมีอะไร ดำเนินชีวิตอย่างไร ดังนั้นก็เรียนให้พอ พอแก่ภาระหน้าที่ที่ตัวจะต้องทำ ที่ตัวจะต้องรับผิดชอบในโอกาสข้างหน้า จะต้องเรียนให้พอ แล้วพอสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องสนับสนุน จะต้องพอสำหรับสังคมที่เราอาศัยอยู่ จะต้องพอสำหรับประเทศชาติ ที่เรามีหน้าที่ที่จะช่วยทำนุบำรุงรักษา เรียนให้พอ พอดีกับทุนรอน อย่าให้พ่อแม่ต้องขายบ้านไปให้ลูกเรียน มันบ้าเกินไป มันมีอยู่มากที่พ่อแม่เสียสละทุกอย่างทุกประการเอาไปให้ลูกเรียนอย่างหลงใหลบ้าบอเห็นแก่ตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ โน่น อย่างนี้ก็มีอยู่เป็นความจริง ไม่ใช่แกล้งพูด พ่อแม่ต้องฉิบหาย เพราะไอ้ลูกเลวร้ายคนนี้น่ะมันเรียน อย่างที่ทรยศต่อพ่อแม่ ทรยศต่อความถูกต้องอะไรต่างๆ นานา เรียกว่ามันเรียนอะไรก็ไม่รู้ มันไม่ได้เรียนเท่าที่ควรจะเรียน หรือพอเหมาะพอสม ตามที่ควรจะเรียน เรียนเท่าไร เรียนเท่าไร เหมาะพอดี ไม่มากไม่น้อย สำหรับการดำเนินชีวิตของตนเอง ที่จะต้องให้ก้าวหน้าไปได้อย่างสะดวกดาย ก็ต้องเผื่อสิ่งที่เกี่ยวข้อง บุคคลที่ต้องเกี่ยวข้อง เช่น สังคม ประเทศชาติ เหล่านี้เป็นต้น
เอ้าทีนี้ก็จะดูโดยหัวข้อว่าเรียน เพื่อใคร เรียนกันเพื่อใคร ที่เรียนนี้เรียนเพื่อใคร บางคนก็จะกำลังนึกอยู่ว่าเป็นคำถามที่บ้าๆ บอๆ กูก็เรียนเพื่อกูไง ทำไมจะต้องถามว่าเรียนเพื่อใครเล่า เรียนเพื่อใคร ก็ลองคิดดูให้ดีๆ บางทีมันเรียนเพื่อกิเลสตัณหาน่ะ นั่นน่ะมันเรียนเพื่อตัวกูของกู ไอ้เด็กชนิดนี้มันเรียนเพื่อตัวกูของมันมันไม่ได้เรียนเพื่อสิ่งอื่น เพื่อประเทศชาติ เป็นต้น จึงต้องมีคำจำกัดความลงไปว่า เรียนเพื่อใคร เรียนเพื่อความมุ่งหมายอย่างไร มีสัดส่วนสักเท่าไร สำหรับตัวเอง เรียนสำหรับตัวเองจนพอที่จะช่วยตัวเอง และก็เพื่อช่วยผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่ตลอดเวลา เพื่อบิดามารดาซึ่งเราจะต้องรับผิดชอบ เราจะต้องเลี้ยงบิดามารดาเมื่อยามแก่เฒ่า เราต้องเตรียมพร้อม เพื่อจะเป็นผู้สามารถเลี้ยงบิดามารดา เราจะต้องเป็นบุคคลที่รู้บุญคุณของบิดามารดา เป็นกตัญญูกตเวที ไม่ใช่เป็นสัตว์เนรคุณ มันเสียหายหมด สูญเสียความเป็นมนุษย์ ไม่มีอะไรเหลือ ยังมีสังคม มีประเทศชาติ หรือว่าถ้ามันเป็นมนุษย์ที่แท้จริงมันก็ต้องเรียนเพื่อมนุษยชาติ เรียนเพื่อความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้องอยู่ในโลกนี้ อย่างนี้เรียกว่า เรียนเพื่อมนุษยชาติ มันกว้างขวาง มันลึกซึ้งยิ่งกว่าเรียนเพื่อโลกไปเสียอีก เรียนเพื่อโลกมันยังไม่แน่ ยังไม่บริสุทธิ์ผุดผ่อง เท่ากับว่าเรียนเพื่อมนุษยชาติ เรียนเพื่อความเป็นมนุษย์ของตนเอง และของมนุษย์ทุกคนในโลกนี้ มนุษยชาติ มนุษย์ทั้งหมด เราเรียนเพื่อมนุษยชาติทั้งหมด จะได้มีมนุษยชาติอยู่ในโลก ไม่สูญเสีย
เอาละ นัยว่าเราเรียนเพื่อความเป็นมนุษย์ มนุษย์เรียนเพื่อความเป็นมนุษย์นี่ มันถูกต้องที่สุดเลย นักเรียนของพระพุทธเจ้าต้องเรียนอย่างนี้ นักเรียนของพระพุทธเจ้าต้องถูกต้องตามกฏเกณฑ์เหล่านี้ ทำไมจึงเรียน เรียนอะไร เรียนด้วยธรรมะอะไร เรียนด้วยวิธีใด เรียนที่ไหน เรียนเท่าไร เรียนเพื่อใคร นี่แหละ ถ้าถูกต้องทั้งหมดทุกประการเหล่านี้แล้ว ก็ชื่อว่าเป็น นักเรียนของพระพุทธเจ้า ถ้ามันเถลไถลออกไปนอกจากนี้แล้ว ก็เป็นนักเรียนของพญามาร คือสิ่งที่เชือดคอตัวมันเองนั่นแหละ เชือดคอผู้เรียนเอง โดยไม่ต้องสงสัย ไอ้ความรู้มันเกิดเป็นพิษขึ้นมา ถ้าว่าเรียนอย่างเป็นนักเรียนของพระพุทธเจ้าแล้ว มันก็จะปลอดภัย โดยประการทั้งปวง เรียนตามความประสงค์ เพื่อความประสงค์ของพระพุทธเจ้า ที่มีพระประสงค์ว่า ให้สัตว์โลกทั้งหลายทั้งปวง รอดจากความทุกข์ แล้วก็ช่วยตัวเองให้รอดจากความทุกข์ แล้วก็ช่วยบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเราให้รอดจากความทุกข์ อย่างนี้เรียกว่าเรียนตามพระพุทธประสงค์ ก็เราเป็นนักเรียนของพระพุทธเจ้า ถ้าเป็นนักเรียนของมาร ก็เรียนเพื่อมาร เรียนเพื่อร่วมมือกับพญามาร เพื่อจะทำลายโลกโดยวิธีต่างๆ อย่างที่เรียนเพื่อเห็นแก่ตัว เพื่อกิเลสตัณหา เพื่อกอบโกย เพื่อขูดรีด อย่างนี้มันก็มี ไม่ใช่มันไม่มี เราจะไม่มีอาการที่เรียกว่า ทิ้งพ่อแม่หนีตามโจรไป ไปเข้าฝ่ายพญามาร มันมีความต่างกันอย่างไร ถ้าเป็นนักเรียนของพระพุทธเจ้า มันก็เป็นการเรียนอย่างความสว่างไสว มีความแจ่มแจ้ง เพราะว่าพระพุทธเจ้านั้นแปลว่า ผู้ตื่นจากหลับ คือ ความไม่รู้หรือความมืด เรียนอย่างนักเรียนของพระพุทธเจ้าก็มีความสว่าง เรียนอย่างนักเรียนของพญามาร มันก็มีความมืด มันต่างกันอย่างตรงกันข้าม เหมือนความมืดกับความสว่าง
เมื่อผู้อยู่ในความโง่ ความหลง มันจะไม่รู้ว่าตัวเองโง่หรือหลง ไปถามคนบ้ามันก็ไม่มี ไม่มีใครเป็นบ้า ไอ้คนเป็นบ้านั้นมันจะว่าไอ้คนนอกจากนั้นน่ะเป็นบ้า ตัวเขาไม่เป็นบ้า นี่ไปถามคนบ้าในโรงพยาบาลบ้าดู ก็จะได้รับคำตอบอย่างนี้ทั้งนั้น นี่เราเป็นนักเรียนของพระพุทธเจ้า เราไม่ได้สำคัญผิดมากมายถึงอย่างนั้น นักเรียนของพระพุทธเจ้า เป็นนักเรียนของวิชชา วิชชาความรู้ มันลืมตาเรียน ถ้านักเรียนของพญามาร เป็นนักเรียนของอวิชชา อวิชชา ความไม่รู้ ภาวะที่ปราศจากความรู้ มันก็เรียนอย่างหลับตาเรียน มันคล้ายๆ กับคนตาบอดให้เขาจูงๆ ไปทางนั้นแหละ มันก็ไม่รู้อะไร กี่มากน้อย ขอให้เป็นอิสระแก่ตัวกิเลส ให้เป็นตัวเอง ให้เป็นอิสระแก่กิเลส ให้เป็นตัวเอง จะได้เป็นนักเรียนของพระพุทธเจ้าอย่างถูกต้อง นักเรียนของพญามารนั้น เรียนฉลาด ฉลาด ฉลาด แล้วมันก็ไปเห็นแก่ตัว ช่วยจำคำนี้ไว้ให้ดีเถิด เป็นปัญหาตลอดชีวิต ความเห็นแก่ตัว มันจะทำโลกนี้ให้วินาศ เดี๋ยวนี้เรามีความเฉลียวฉลาด เรียนกันว่าไปเที่ยวโลกพระจันทร์ได้ ว่าเหมือนว่าเล่น ไปเที่ยวโลกพระจันทร์ได้เหมือนว่าเล่น เหมือนไปเที่ยวสวนหลังบ้าน แต่โลกนี้ก็ยังไม่มีสันติภาพ โลกนี้กลับมีความเลวร้ายมากขึ้น ทั้งที่การศึกษาฉลาด ฉลาด จนไปเที่ยวดวงดาวทั้งหลายอื่นได้เหมือนไปเที่ยวสวนหลังบ้าน นั่นก็เพราะว่า มันเรียนเพื่อเห็นแก่ตัว มันมีกิเลสตัณหา เป็นลูกศิษย์ของพญามาร มันเรียนเพื่อความเห็นแก่ตัว มันฉลาดเพื่อเห็นแก่ตัว ยิ่งฉลาดมันยิ่งเห็นแก่ตัว มันยิ่งฉลาดลึกซึ้ง ลึกซึ้ง ลึกซึ้งจนแก้ไขไม่ไหว นี่น่ะการศึกษาทั้งโลกน่ะมันยังตกอยู่ในสภาพอย่างนี้
การศึกษาสมัยโบราณมีศาสนาเข้าไปควบคุม ควบคุมไว้ ไอ้ความฉลาดนั้นมันจึงเป็นไปในทางถูกต้อง ไม่มีความเห็นแก่ตัว เมื่อศาสนายังเข้าไปควบคุมการศึกษาอย่างเต็มที่ มันปลอดภัยกว่าการศึกษาที่เป็นอิสระ แล้วได้ยินมาว่ามหาวิทยาลัยออกฟอร์ด เคมบริดจ์ นั้นมันเป็นโรงเรียนราษฎร์ของวัด เป็นโรงเรียนราษฎร์ของวัด พระจัดอย่างโรงเรียนราษฎร์ของวัดน่ะ พระคุมอย่างเต็มที่ พระควบคุมอย่างเต็มที่ นั้นความฉลาดมันจึงถูกควบคุมให้อยู่ในความถูกต้อง นิยมความเป็นสุภาพบุรุษยิ่งกว่าการศึกษาหรือนักปราชญ์ นิยมความเป็นสุภาพบุรุษยิ่งกว่าความเป็นนักปราชญ์ ซึ่งฉลาดอย่างเดียว เมื่อกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ กลับมาใหม่ๆ มาแสดงปาฐกถาให้ฟัง อาตมาก็เคยไปฟังว่า สมัยที่ท่านไปเรียนนั้นการกินข้าวยังต้องสวดมนต์ก่อนนะ เพราะพระยังมีส่วนควบคุม ศาสนายังมีส่วนควบคุม นี่เดี๋ยวนี้มัน separation บ้าๆ บอๆ อะไรของมันก็ไม่รู้ มันแยกศาสนาออกไปจากการศึกษาเป็นอิสระจากกัน ในบางรัฐนั่นออกกฎหมายไว้ว่า เอาศึกเอาทางศาสนามาสอนในโรงเรียนแล้วผิดกฎหมายโน่น เอากันถึงอย่างนั้น นี่สลับหรือกลับกัน เอาศาสนาออกไปจากการศึกษา ความฉลาดมันจึงเป็นอิสระเสรีเป็นประชาธิปไตย ความฉลาดไม่มีอะไรควบคุม มันก็เป็นไปรับใช้กิเลสตัณหา หรือว่าอย่างดีก็ไปรับใช้การบ้านการเมือง รับใช้ทางเศรษฐกิจ ซึ่งล้วนแต่จะกอบโกย มันก็ยุ่งยากลำบาก นายทุนทั้งหลายก็เห็นแก่ตัว ชนกรรมาชีพทั้งหลายก็เห็นแก่ตัว ลูกจ้างก็เห็นแก่ตัว นายจ้างก็เห็นแก่ตัว ไม่พูดกันรู้เรื่องเพราะมันเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว ยิ่งฉลาดยิ่งเห็นแก่ตัวอย่างนี้แล้ว มันทำโลกให้วินาศ เพราะว่าคนเห็นแก่ตัวนั้น มันขี้เกียจทำงาน มันจะเอาเปรียบ คนเห็นแก่ตัวนั้นมันไม่สามัคคีเรียกร้องความช่วยเหลือใดๆ ไม่ได้ คนเห็นแก่ตัวนั้นมัน อิจฉา ริษยา มันคดโกง นี่สร้างคุก สร้างเรือนจำกันเพื่อใส่คนอันธพาลนี่มันก็ไม่พอแล้ว มันมาจากความเห็นแก่ตัว ยิ่งฉลาดยิ่งเห็นแก่ตัว ยิ่งฉลาดยิ่งทุจริต ยิ่งฉลาดยิ่งเป็นอันธพาลลึกซึ้ง นี่เพราะว่ามันไม่เป็นนักเรียนของพระพุทธเจ้ามาแต่เดิม ถ้าเป็นนักเรียนของพระพุทธเจ้าแล้ว มันจะไม่เรียน ไม่ฉลาดเพื่อเห็นแก่ตัว มันฉลาดเพื่อความถูกต้อง แล้วก็รับใช้ความถูกต้อง ไม่รับใช้ความกิเลส เพราะว่าเขาเป็นนักเรียนของพญามาร ยิ่งฉลาดยิ่งเห็นแก่ตัว ยิ่งฉลาดยิ่งเห็นแก่ตัว ยิ่งฉลาดยิ่งเห็นแก่ตัว เราจงพิจารณาดูให้ดีๆ ว่า เราฉลาด ฉลาด แต่ต้องให้ฉลาดนั้นมีความถูกต้องอยู่เสมอ โลกปัจจุบัน เขาจะฉลาดเป็นทางการเมือง การเศรษฐกิจ กอบโกยก็ช่างหัวเขาเถิด เราคงมีความถูกต้อง ถูกต้อง แม้ในเรื่องการเมือง แม้ในเรื่องเศรษฐกิจ ก็ยังคงมีความถูกต้อง มีความฉลาดอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง เพราะว่าเราเป็นนักเรียนของพระพุทธเจ้า เราเป็นนักศึกษาของพระพุทธเจ้านี่ ตัวเองก็ปลอดภัย ทุกคนก็ปลอดภัย โลกก็ปลอดภัย มนุษย์ก็ปลอดภัย เพราะว่าเราเป็นนักเรียนของพระพุทธเจ้า การเป็นนักเรียนของพระพุทธเจ้าย่อมมีแต่ความปลอดภัยโดยประการเดียว
อาตมาจึงขอร้องท่านทั้งหลายว่าจงเป็นนักเรียนของพระพุทธเจ้าเถิด อย่าได้เป็นนักเรียนของพญามารเลย อย่าให้กิเลสตัณหาจูงจมูกไป แม้ในการศึกษาเล่าเรียน จงให้ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในความถูกต้องนั้น เป็นเครื่องชักนำ เป็นเครื่องชักจูง เป็นเครื่องควบคุม เอาธรรมะสูงสุดของพระอรหันต์มาเป็นเครื่องมือประกอบก็ได้ ไม่ใช่ว่าเป็นพระอรหันต์ แต่ว่ายืมเครื่องมือของท่าน มาเป็นอุปกรณ์ประกอบเครื่องมือนั้นมีชื่อเรียกว่า อตัมมยตา มันแปลกหู ไม่เคยได้ยิน ไม่ใช่ดูถูก ไม่เคยได้ยินคำนี้ อตัมมยตา คำนี้แปลว่า คงที่อยู่ในความถูกต้อง อะไรจะมาปรุงแต่งให้เปลี่ยนแปลงให้ออกไปจากแนวของความถูกต้องไม่ได้ กิเลสตัณหาหรือสิ่งใดๆ ในโลกมาปรุงแต่งให้ออกไปจากแนวของความถูกต้องไม่ได้ มันมีความคงที่อยู่ในความถูกต้อง แข็งโป๊กอยู่ในความถูกต้อง ไม่มีอะไรมาทำให้หวั่นไหวไปจากความถูกต้อง มันฟังยาก แต่ว่าอาจจะเข้าใจด้วยอุปมา ว่าภูเขา ภูเขาใหญ่ๆ อย่างภูเขาหิมาลัย ในเอเชีย ภูเขาแอลป์ในยุโรป ร๊อคกี้ในอเมริกา มันยิ่งใหญ่กว่าหิมาลัยไปเสียอีก มันก็ยังหวั่นไหว ภูเขาใหญ่ขนาดนั้นก็ยังหวั่นไหว เมื่อแผ่นดินมันไหว แต่จิตใจของเราคงที่อยู่ในความถูกต้อง ไม่หวั่นไหว อะไรมันหวั่นไหวไปทั้งจักรวาล จิตใจนี้ก็ไม่หวั่นไหว คงที่อยู่ในความถูกต้อง คงที่อยู่ในความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง เราอุปมาให้พวกฝรั่งที่มาศึกษานี้ฟังว่า มีความถูกต้องดั่งอุปมาว่า หญิงสาวคนหนึ่ง รูปสวยที่สุด มีอตัมมยตา ความคงที่อยู่ในความถูกต้อง ให้ชายชู้ หนุ่มเจ้าชู้รูปงาม มาสักฝูงหนึ่ง ก็เกี้ยวเอาไปไม่ได้ เกี้ยวเอาไปไม่ได้นี่เพราะมันมีความคงที่ คงที่อยู่ในความถูกต้อง หรือถ้าในทางกลับกัน ว่าชายหนุ่มรูปงามคนหนึ่ง มีธรรมะเป็นอตัมมยตา ให้นางงามจักรวาลมาสักฝูงหนึ่ง เทพธิดาในสุวรรณมาสักฝูงหนึ่ง ก็ลากหัวมันไปไม่ได้ เอาหัวมันไปไม่ได้ เพราะมันมีความคงที่ มีความถูกต้อง ขอให้เราเป็นนักเรียนของพระพุทธเจ้า มีความคงที่อยู่ในความถูกต้อง ในลักษณะดังที่ว่ามานี้เถิด คงที่ คงที่อยู่ในความถูกต้อง อย่าให้ความโง่ดึงหัวออกไป ทำความโง่อย่างนั้นอย่างนี้ อย่าให้ตัณหาดึงหัวออกไป อย่าให้บูชากามารมณ์ดึงหัวเอาไป ทำอะไรก็เพื่อบูชากามารมณ์ อย่างนี้ความถูกต้องมันไม่มีเหลือ มันไม่มีเหลือแล้วมันจะต้องให้นั่งน้ำตาเช็ดหัวเข่าในภายหลัง มันจะทำผิดพลาดไปหมดทุกอย่าง นับตั้งแต่ว่ามันชิงสุกก่อนห่าม ในการเล่าเรียนก็ดี ในการดำเนินชีวิตก็ดี มันชิงสุกก่อนห่ามไปเสียหมด มันไม่มีความถูกต้อง ไม่มีความหมายของคำว่า “นักเรียน นักศึกษา” เหลืออยู่แต่ประการใด เพราะมันบูชากิเลสตัณหา มันบูชาเนื้อ บูชาหนัง ภาษาศาสนาว่ามันบูชาเนื้อหนัง คือกิเลสตัณหา ความสุขสนุกสนาน เอร็ดอร่อย ทางเนื้อหนังจึงเป็นเรื่องของกามารมณ์ มันเรียนเพื่อกามารมณ์ มันเป็นนักเรียนของพญามาร มันจึงเรียนเพื่อกามารมณ์ บูชากามารมณ์ เป็นสิ่งสูงสุด ขออย่าได้ตกไปอยู่อำนาจของพญามาร เป็นนักเรียนของพญามารดังที่กล่าวมาแล้ว ขอให้เป็นนักเรียนของพระพุทธเจ้าโดยบริสุทธิ์ผุดผ่องทุกประการ ทุกเวลา ทุกสถานที่ การงาน มีความเจริญในหน้าที่ของตนอยู่ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ ขอยุติการบรรยาย