แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้จะพูดเรื่องหลักธรรมะเกี่ยวกับความเชื่อ หลักการ วิธีการ หรือว่าเหตุผลแล้วแต่ ที่เกี่ยวกับความเชื่อของพุทธบริษัทในพระพุทธศาสนา คือว่าศาสนาทั้งหมดมันพอจะประมวลได้เป็น ๒ ชนิด คืออาศัยความเชื่อเป็นหลักอย่างหนึ่ง อาศัยสติปัญญาเป็นหลักอีกอย่างหนึ่ง เป็น ๒ อย่างต่างกันดังนี้
พวกที่อาศัยความเชื่อก็ไม่ต้องใช้ปัญญา ก็เชื่ออย่างเดียว เชื่อตะพึดไปตามที่สอนให้เชื่ออย่างไร โดยเฉพาะที่สอนให้เชื่อในพระเจ้าหรือคำสั่งของพระเจ้า เหล่านี้ไม่มีทางที่จะใช้ปัญญาเพราะเขาเชื่ออย่างเดียว เชื่อด้วยความจงรักภักดี แล้วเขาเอาความเชื่อ เอากำลังของความเชื่อนั่นแหละมากำจัดความทุกข์ ทุกข์ทางภายนอก เช่นทางกาย ทางเจ็บไข้ได้ป่วย ก็เอาความเชื่อมาบำบัดทุกข์ ไอ้ทุกข์ทางจิตทางวิญญาณนั้น ก็เอาความเชื่อมากำจัดความทุกข์ นี่ก็มีอยู่ประเภทหนึ่งเป็นประเภทความเชื่อ
ทีนี้พุทธศาสนาเราเป็นประเภทที่อาศัยปัญญาหรือความรู้เป็นหลัก ไม่ฝากไว้กับความเชื่อ แต่ฝากไว้กับความเห็นแจ้งโดยประจักษ์ โดยชัดเจน โดยไม่ต้องเชื่อ นี้ก็เรียกว่าอาศัยปัญญาเป็นหลัก เห็นตามที่เป็นจริง แล้วก็ประพฤติกระทำการแก้ไขลงให้ถูกเรื่อง เป็นเรื่องความทุกข์ทางร่างกายเช่นเจ็บไข้ได้ป่วยก็ดี ความทุกข์ทางจิตใจเรื่องของกิเลสก็ดี เห็นชัดว่ามันเป็นอย่างไร เป็นอย่างไร แล้วก็ปฏิบัติเพื่อจะกำจัดลงไปโดยตรง ไม่เกี่ยวกับความเชื่อ
แต่ถึงอย่างนั้น ก็มีความเชื่อเกี่ยวข้องบ้างเล็กน้อยด้วยเหมือนกันแหละ มีเรื่องที่จะต้องเชื่อ เพราะว่าความเชื่อนั้นเป็นกำลังใจให้เข้มแข็ง เป็นประเภทสมาธิ มันก็เลยได้หลักขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งว่า เราจะให้ความเชื่อนั้นน่ะตามหลังปัญญา ตามหลังปัญญา เช่นจะนับถือพระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั้นน่ะ เห็นประจักษ์ชัดแล้วว่าประเสริฐอย่างไร ดับทุกข์อย่างไร แล้วจึงค่อยเชื่อ ไม่เริ่มต้นขึ้นมาด้วยคำว่าเชื่อ ๆ ๆ ๆ อย่างนี้ ๆ ๆ เหมือนกับศาสนาพวกที่เขาถือความเชื่อเป็นหลัก
แต่ว่าเชื่อทีหลังปัญญาแล้ว มันจึงผิดยากหรือว่าจะ แล้วงมงายยาก ถ้าว่าเชื่อก่อนปัญญา ก่อนความรู้ มันผิดได้ มันงมงายได้ มันก็มีบางพวกที่เขาทำอย่างนั้น หรือว่ามีแต่ความเชื่อโดยไม่ต้องมีปัญญาเสียเลยก็มี เอาตัวปัญญาไปฝากไว้กับความเชื่อ เป็นการถ่ายทอดปัญญามาโดยความเชื่อจากผู้อื่น อย่างนี้ไม่ใช่พุทธศาสนา
พุทธบริษัทก็มีความเชื่อพระพุทธ เชื่อพระธรรม เชื่อพระสงฆ์ แต่โดยความมุ่งหมายแท้จริง เชื่อเมื่อเห็นว่าเป็นอย่างไร เช่นได้ฟังธรรมะเกิดปัญญา เห็นความประเสริฐของพระพุทธ ของพระธรรม ของพระสงฆ์ แล้วจึงเปล่งวาจาถึงเป็นสรณะ แล้วก็มีความเชื่อ นี้ว่ามีปัญญาแจ่มแจ้งในสิ่งที่จะเชื่อแล้วจึงเชื่อ นี้ขอให้ถือหลักเกณฑ์อย่างนี้ไว้เป็นหลักประจำ เป็นหลักประจำ
ทีนี้มันมีอะไรที่แยบคายกว่านั้น ก็แปลว่าจะต้องฝึกวิธีการใช้ปัญญากันเสียก่อนสิ ให้มีปัญญาเสียก่อนเป็นเบื้องหน้า แล้วก็ไปใช้จับสิ่งที่จะเชื่อ ไอ้ความเชื่อมันตามมาทีหลัง ถือหลักอย่างหนึ่ง โดยใช้ โดย ๆ ๆ แท้จริง โดยชัดเจน โดยแน่นแฟ้น ถือหลักอย่างหนึ่งคือ มีการศึกษามันเสียก่อนแล้วจึงเชื่อ ศึกษาสิ่งนั้นให้ถึงที่สุดเสียก่อนแล้วจึงค่อยเชื่อ
ทีนี้คำว่าศึกษา ๆ นี่ ไม่ใช่ศึกษาจากที่เขาบอกให้ฟังหรือเขาเขียนให้อ่าน อย่างนั้นเราไม่เรียกว่าการศึกษาใน ๆ ที่นี้ อย่างศึกษาในโรงเรียน ครูบอกให้จด ก็จด ๆ ๆ ไว้เป็นการศึกษา อย่างนี้ไม่เอา การศึกษานี้ เราจะถือเอาตามความหมายของคำว่าศึกษานั่นเอง ถ้าเป็นภาษาไทยเราเรียกว่าศึกษา ถ้าเป็นภาษาบาลีเราเรียกว่า สิกฺขา ถ้าเป็นภาษาสันสกฤตเราเรียกว่า ศิกฺษา ศิกฺษา คำเดียวกัน ความหมายอย่างเดียวกัน คือการศึกษา
ถ้าจะศึกษาอะไร ก็ต้องดูที่สิ่งนั้น ทีแรกต้องดูที่สิ่งนั้น ดูด้วยความรอบรู้ ด้วยความเฉลียวฉลาดเท่านั้น ให้เราดู แล้วก็เห็น ๆ คือมันดูเป็น มันก็เห็น ๆ ๆ ว่ามันเป็นอย่างไร เป็นอย่างไร ดูแล้วก็เห็น ทีนี้พอเห็น ๆ ๆ แล้วก็รู้จัก รู้จักอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งละเอียดลออก็รู้จัก ครั้นรู้จักแล้ว ก็วิจัยวิจารณ์ด้วยเหตุผล ทดสอบทบทวนอย่างนั้นอย่างนี้ว่า มีเหตุผลเป็นอย่างไร จากเหตุไปหาผล จากผลไปหาเหตุ วิจัยวิจารณ์เกี่ยวกับสิ่งนั้นอย่างแหลกเลย อย่างหั่นแหลก
ทีนี้เราก็มีความรู้ที่ ๆ จะเชื่อหรือจะไม่เชื่อ เพื่อจะพอมองเห็นว่า ปฏิบัติแล้วจะดับทุกข์ได้ไหม เอากันอย่างนี้เลย พอเห็นว่าอันนี้ก็ดับทุกข์ได้ มีท่าทางจะดับทุกข์ได้ ก็ลองปฏิบัติดู ปฏิบัติดู มันดับทุกข์ได้โว้ย ดังนั้นก็เชื่อหมดเลย นี่เชื่อ ๑๐๐ % เลย เชื่อหลังจากที่ได้ปฏิบัติดูจนเห็นว่า มันดับทุกข์ได้จริง แล้วก็ทั้งหมดนี้ทำด้วยตนเอง ทำด้วยตนเอง
ถ้าเป็นเรื่องความทุกข์น่ะ มันมีอยู่ในตัวเองนี้ ดังนั้นจึงดูด้วยตัวเอง ในตัวเอง ดูตัวเองโดยตัวเอง ดูเข้าไปข้างในตัวเอง แล้วก็เห็นสิ่งที่มีอยู่นั่น แล้วก็รู้จักสิ่งที่มีอยู่นั้น แล้ววิจัยวิจารณ์หาความจริงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิ่งนี้โดยละเอียด แล้วก็จะเกิดความรู้ขึ้นมาว่า ถ้าปฏิบัติอย่างนี้จะดับทุกข์ได้ ก็ปฏิบัติดู ดับทุกข์ได้ ดังนั้นเชื่อ ๑๐๐ % ความเชื่อพึงระดมทุ่มเทลงไป เมื่อวิจัยวิจารณ์ดูว่าจะดับทุกข์ได้ แล้วลองปฏิบัติดูออกไป
ทีนี้เรื่องที่สำคัญที่สุด แล้วมันไม่ใช่เรื่องอื่นที่นอกไปจากตัวเราแล้ว มันได้เรื่องที่เราจะต้องศึกษาจะต้องจัดการกับมัน ต้องเป็นเรื่องภายในตัวเราหรือเกี่ยวกับตัวเรา เช่นความทุกข์เป็นต้น มันเกิดอยู่ในตัวเรา มันเกี่ยวกับตัวเรา ดังนั้นจึงมีทางที่จะทำได้ ในการที่ดูด้วยตนเอง พึ่งตนเอง ภายในตัวเอง โดยตนเอง ดู ๆ มองเข้าไปภายในว่าเป็นอย่างไร เรื่องกิเลสเรื่องอะไรเป็นอย่างไร ดูเข้าไปที่มีอยู่จริง ก็เห็น ๆ ก็รู้จัก ๆ ก็วิจัยวิจารณ์หาทางที่จะจัดการกับมัน ลองปฏิบัติดู เอ้า, ได้ผลจริงที่เชื่อ นี่เหมือนกับวิทยาศาสตร์ ยิ่งกว่าความเชื่อไปเสียอีก คือความแน่ใจ ๆ ๆ
ถ้าเป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราจะมาทำอย่างนั้นก็คงไม่ได้เต็มที่นัก แต่ต้องได้ยินได้ฟัง ได้วิจัยวิจารณ์ เหมือนกับที่ว่าเขาไปฟังพระพุทธเจ้าเทศน์ ตั้งพักตั้งชั่วโมงอะไรก็ เข้าใจแจ่มแจ้งแล้วจึงประกาศยึดเอาเป็นสรณะ ปล่อยความเชื่อปลงความเชื่อลงไปในพระพุทธเจ้า มันทำจาก ทำทีหลังสิ ปัญญาได้มองเห็นชัดแล้วนี้ ความเชื่ออย่างนี้เราต้องการ ความเชื่อที่มาจากการศึกษา ภายหลังการศึกษา
เอ้า, ทีนี้ขอบเขตมันยังมีอีกกว้างไกลไปกว่านั้นอีกมาก คือบางเรื่องเรายังไม่รู้เรื่องเลย ยังไม่รู้เรื่องเลย มันก็ต้องมีวิธีที่จะไม่พลาด จะให้รู้ถูกต้อง ให้เข้าใจถูกต้อง ให้เชื่อถูกต้อง จึงมีหลักการเชื่อขึ้นมาชุดหนึ่งเรียกว่าหลักกาลามสูตร นี่จำคำนี้ไว้ดี ๆ เถิด ไม่เสียหลายหรอก ไม่เสียเวลาหรอก กาลามสูตร คือสูตรที่ตรัสกับชาวกาลาม ชนชาวกาลาม สูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสกับชนชาวกาลาม
เล่าเรื่องสักหน่อย คือว่าพระพุทธเจ้าเสด็จไปทั่ว ๆ อินเดีย ทีนี้คราวหนึ่งก็เสด็จผ่านเข้าไปในหมู่ชนชาวกาลาม หมู่ชนชาวกาลามนั้น มันเป็นที่รวมทางผ่านการเดินทาง เป็นทางผ่าน ใคร ๆ ก็ผ่าน มีเจ้าลัทธิ ครูบาอาจารย์ ศาสดาต่าง ๆ ทุกลัทธิ ทุกศาสนา มันผ่านที่นั่น พวกไหนไปก็สอนลัทธิของตัว ทีนี้พวกไหนไปก็สอนลัทธิของตัว พวกไหนไปก็สอนลัทธิของตัว พวกไหนไปก็สอนลัทธิของตัว ไม่รู้กี่ลัทธิหรือกี่สิบลัทธิ ชาวกาลามก็งง ไม่รู้จะเอากันอย่างไรแน่
พอพระพุทธเจ้าเสด็จไปถึงที่นั่น ชนชาวกาลามก็ทูลเรื่องนี้ ทูลเรื่องความลับคับอกคับใจเรื่องนี้ว่า ไม่รู้จะเชื่ออย่างไร ไม่รู้จะเชื่ออย่างไร พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสหลักเกณฑ์อันนี้ ที่เรียกว่าหลักกาลามสูตรต่อมา ต่อมาเราเรียกว่าหลักกาลามสูตร คือสูตรที่ตรัสกับชาวกาลาม เป็นวิธีการสำหรับใช้เกี่ยวกับการเชื่อ ก็เรียกกันว่าไม่เชื่ออย่างงมงายนี้ คือไม่เชื่ออย่างไม่ถูกต้อง ๑๐ อย่าง ๑๐ อย่าง ไม่เชื่อโดยวิธีการ ๑๐ อย่าง จำหัวข้อไว้ให้ดี ๆ เถิด ๑๐ อย่างอะไรบ้างนั้น
อย่างที่ ๑ ไม่เชื่อเพราะว่าเรื่องนี้ฟังตาม ๆ กันมา คือบอก ๆ กล่าวให้ฟังตาม ๆ กันมา บอกตาม ๆ กันมา บอกตาม ๆ กันมา ก็เรียกว่า อนุสฺสเวน ฟังตาม ๆ กันมาโดยการบอกเล่า เราไม่ถือเอาเป็นเหตุผลหรือเป็นความมีน้ำหนักที่จะเชื่อ ก็รอไปก่อนยังไม่เชื่อ ด้วยเหตุผลเพียงว่าฟังตาม ๆ กันมา ยังไม่เชื่อ
ทีนี้ข้อที่ ๒ ไม่เชื่อเพราะว่ามีการกระทำตาม ๆ กันมา คือเขากระทำกันอยู่ กระทำ บอกให้กระทำ ๆ ๆ ตาม ๆ กันมา ปรมฺปราย ทำตาม ๆ กันมา ก็ยังไม่ ๆ ๆ ๆ ๆ เชื่อเพราะมีการกระทำตาม ๆ กันมาอย่างนี้ ฉันยังไม่เชื่อว่านี้จะถูกต้องหรือดับทุกข์ได้ เอาไว้ก่อน รอไว้ก่อน
ทีนี้ข้อที่ ๓ ว่า ไม่เชื่อเพราะเล่าลือกันอยู่อย่างกระฉ่อนไปหมด ทั้งบ้านทั้งเมืองหรืออะไร ที่ไหนก็เล่าลือกันว่าอย่างนั้น นี่ อิติกิราย ไม่ ไม่เชื่อ มันจะลือกันตาม ลือไปช่างหัวมัน ไม่เชื่อ ยังไม่เชื่อ เก็บไว้ก่อนยังจะต้องใช้วิธีของเรา
ทีนี้ข้อที่ ๔ ไม่เชื่อเพราะว่ามีกล่าวอยู่ในปิฎก คือตำรา ตำราเรียกว่าปิฎก ก็มีที่อ้างได้ รับสมอ้างได้ มีกล่าวอยู่ในปิฎก ก็ยังไม่เอา ทั้งที่มีอยู่ในปิฎกฉันก็ยังไม่เชื่อ ขอเก็บไว้ทีก่อน
ทีนี้มันก็ไม่เชื่อเพราะว่าเป็นผลของการคำนวณทางวิธีตรรกวิทยา มา ตกฺกเหตุ ไม่เชื่อเพราะเหตุผลทางตรรก วิธีคำนวณทางตรรก ในอินเดียเขามีศาสตร์สอนกันไอ้ทางตรรกศาสตร์ ทางนัยศาสตร์ แม้ว่าได้คำนวณดูโดยทางตรรก ซึ่ง ๆ เดี๋ยวนี้ตรงกับที่ฝรั่งเรียกว่า Logic ใช้วิธี Logic ต่าง ๆ ๆ ๆ ๆ แล้วมันออกกฎหมาย ก็ยัง ๆ ไม่เชื่อ รอไว้ก่อน เดี๋ยวก่อน นี่ ๕ แล้วนะ
ทีนี้ข้อ ๖ ไม่เชื่อโดยการคำนวณทางวิธีที่เรียกว่านัย นัย ตรงกับวิธีที่ฝรั่งเรียกว่า Philosophy Philosophy การคำนวณทาง Philosophy ก็ยังไม่เอา ไม่เชื่อ รอไว้ก่อน เดี๋ยวก่อน
ทีนี้ก็ไม่เชื่อด้วยการตรึกตามอาการ ตามเหตุผล ที่มีอยู่เวลานั้น ในขณะนั้น ที่มันจะรู้สึกขึ้นมาในจิตใจอย่างไร เทียบกันได้กับที่เดี๋ยวนี้เรียกภาษาฝรั่งว่า Common Sense Common Sense รู้สึกตามธรรมชาติตามธรรมดา เขาเรียกสัญชาตญาณด้วยซ้ำไป
แล้วทีนี้ก็ไม่เชื่อเพราะว่ามันตรงกับที่เราคิด หรือมันทนต่อได้ ทน ๆ กันได้กับสิ่งที่เราเพ่งคิด มา ทิฏฺินชฺฌานกฺขนฺติยา ชื่อยาว ทิฏฺินชฺฌานกฺขนฺติยา ทนได้ ทนได้ต่อการคิดของเรา เราคิดอย่างไร มันทนได้ ก็ยัง ๆ ไม่เชื่อ
ทีนี้อันที่ ๘ อ้า, อันที่ ๙ อันที่ ๙ ไม่เชื่อเพราะว่าผู้พูดมีลักษณะน่าเชื่อ เห็นเข้าทีน่าเชื่อ ก็ยัง ๆ ไม่ปลงใจเชื่อโดยสนิท
แล้วข้อ ๑๐ ข้อสุดท้ายว่า ไม่เชื่อเพราะว่าสมณะผู้พูดนั้นเป็นครูของเรา อันนี้คุณต้องรู้สึกเหมือนกับฟ้าผ่าเปรี้ยงนะ ก็พระพุทธเจ้าเองแหละเป็นครูของเรา ดังนั้นเราก็ไม่เชื่อเพียงว่าผู้พูดสมณะนั้นเป็นครูของเรา มา สมโณ โน ครูติ
เอ้า, เช็คดูที จะถูกหรือไม่ถูกกัน ๑ ไม่เชื่อเพราะฟังตามกันมา ๒ ไม่เชื่อเพราะทำ กระทำตามกันมา ข้อ ๓ ไม่เชื่อเพราะว่าเล่าลือกันอยู่กระฉ่อนว่าอย่างนั้น ข้อ ๔ ไม่เชื่อมันมีที่อ้างในปิฎก ข้อ ๕ ไม่เชื่อเพราะเหตุว่ามันคำนวณด้วยเหตุผลทางตรรกะ ทาง Logic ข้อ ๗ ไม่เชื่อด้วย ข้อ ๗ ใช่ไหม ข้อ ๖ ก็ไม่เชื่อด้วยเหตุผลการคำนวณทางนัย ทาง Philosophy ทีนี้อะไร ๗ ไม่เชื่ออย่าง Common Sense อาการปริวิตกฺเกน ข้อ ๘ เพราะมันทนได้ต่อการเพ่งพิสูจน์โดยความคิดของฉัน ข้อ ๙ ผู้พูดน่าเชื่อ มีอะไร ๆ อยู่ในลักษณะที่น่าเชื่อ ข้อ ๑๐ ก็ว่าเพราะท่านเป็นครูของเรา นี่ข้อนี้จำไว้เถิดว่า มันเป็นประชาธิปไตยหรือเสรีภาพสูงสุด ไม่มีศาสนาไหนให้เสรีภาพเหมือนพระพุทธศาสนา
เอาละ, ขออธิบายขยายความอีกนิดหนึ่งว่า ที่เขาบอกต่อ ข้อ ๑ บอกต่อ ๆ ๆ ๆ กันมาน่ะ มันผิดได้นี่ มันบอกผิด จำผิด อะไรผิดได้ ข้อ ๒ มีการกระทำตามกันมา เช่นทำพิธี กระทำพิธีรีตองอะไร ทำตาม ๆ กันมา มันก็ยังอยู่ในลักษณะที่ผิดได้ เพราะว่ามันมีการทำตาม ๆ กันมาอย่างเถรส่องบาตรก็มี เคยได้ยินไหม เถรส่องบาตร มันเลยไม่ได้คิดนึกหรือว่ามีความรู้อะไรเอามาทำตามพิธีว่า วินัยให้ส่องบาตร คือให้ส่องรูรั่วของบาตรว่าถึงขนาดที่จะต้องซ่อมหรือยัง มีเท่านั้นแหละ อาจารย์ก็บอกให้คนบวชใหม่ส่องบาตร ส่องบาตร มันก็ส่องบาตร ส่องบาตร โดยไม่รู้ว่าส่องทำไม เพียงแต่ให้ได้ส่องเท่านั้นเองแหละ ทำตาม ทำตาม ๆกันมา
ทีนี้เล่าลือกันกระฉ่อนน่ะ เป็นเรื่องของคนงมงายโง่เขลา ซึ่งมีอยู่บ่อย ๆ แม้ที่กรุงเทพฯ นั่นแหละ ที่ว่าเป็นเมืองของนักศึกษา มันก็ยังมีเชื่อคำเล่าลืออะไรกันอย่างงมงายโง่เง่า เชื่อว่าใครเกิดปีมะ มะเมีย มะเส็งจะต้องตาย ต้องทำพิธีอย่างนั้นอย่างนี้ ก็แตกตื่นกันใหญ่ มีได้แม้ในกรุงเทพฯ คุณคิดดูเถิด อย่างนี้เรียกว่าตื่นข่าวเล่าลือกัน
ทีนี้ข้อที่ว่าเพราะมีอ้างในปิฎก ปิฎกคือตำรา คือเอาความรู้ ๆ ที่เขาจารึกเขียนลงไปในเครื่องเขียน อย่างใดอย่างหนึ่ง จะเป็นใบไม้หรือว่าจะเป็นไอ้เปลือกไม้ หรือจะเป็นหนังสัตว์ หรืออะไรก็ตาม เขาเขียนไอ้ข้อความนั้นลงไป ๆ แล้วก็มาเก็บรวมกันไว้เป็นหมวด ๆ นั่นแหละเขาเรียกว่าปิฎก ปิฎก เรามาแปลกันว่าตำรา ปิฎกนี้สืบ ๆ ๆ กันมา สืบ ๆ กันมาจนมาก ๆ ๆ ๆ และทั้งทุก ๆ ศาสนา ไม่เชื่อเพราะมีอ้างในปิฎก มันเขียนผิด ลอกผิด คัดผิด อะไรผิดก็ได้ แล้วมันผิดมาแต่ทีแรกก็ได้ ใครจะไปรู้ ฉันจึงไม่เชื่อว่าแม้จะมีอ้างอยู่ในปิฎก
ขึ้นชื่อว่า ตกฺกเหตุ มันวิธีคิดอย่างเด็ก ๆ ก็คิดเป็น เด็ก ๆ ก็คิดเป็น เอาเหตุผลง่าย ๆ ปลายปาก ไม่ผิดหลักอันนั้นแล้วก็เรียกว่าถูกต้องตามหลัก เมื่อผมเด็ก ๆ ไอ้ ๆ เรื่องฝึกทางตรรกนี้ มีใช้กันมาก มี ๆ ๆ กระทำกันมากในหมู่เด็กวัดน่ะ ไม่ใช่เด็กโรงเรียน เด็กที่อยู่ที่วัด นอนวัดนั่นแหละ เอาเรียกมานั่งประชุมรวมกัน แล้วก็ใช้ให้พูด เอ้า, มึงพูดเรื่องหุงข้าว ทีนี้ไอ้เด็กคนนั้นพูดกลับ ไอ้คนที่มันอาสาที่จะรับท้า คำท้า มันก็พูด มันเข้าไปในครัว ยกหมอข้าวตั้งบนเตาไฟ คอยดูพอน้ำเดือดก็เช็ดน้ำ แล้วก็ดงไว้หน่อย แล้วก็ข้าว กินข้าว
เด็ก ไอ้เด็กน้อยมันก็ท้า เอ้า, มึงก็ไม่ได้เอาข้าวสารใส่หม้อที มึงไม่ได้ล้างข้าวสารสักที มึงไม่ได้ติดไฟสักที มึงจะทำอย่างนั้นได้อย่างไร อย่างนี้เรียกว่ามันไม่มีเหตุผลทางตรรก ของเด็กวัด มันไล่กันถี่ยิบ ๆ กัน เก่งมาก ไม่มีบกพร่องแม้แต่สักนิดหนึ่ง ไอ้ความคิดอย่างง่าย ๆ อย่างนี้ เหตุผลง่าย ๆ อย่างนี้ มันขยายออกไปเป็นศาสตร์ที่ละเอียดลออ
ทีนี้ทางนัย ทางนัย Philosophy นี้ มีเหตุผลโดยการคำนวณ ต้องคำนวณ ต้องมี Hypothesis ตั้งข้อสมมุติขึ้นมา แล้วก็คำนวณด้วยเหตุผลแวดล้อมว่า อย่างนี้ ๆ ๆ ๆ ๆ ถูก นี่เรียกวิธีคิดอย่างนัย นยายะ หรือที่เรียก Philosophy อย่างฝรั่ง เหตุผลหรือสมมติฐานมันดิ้นได้ มันเปลี่ยนได้ มัน ๆ ไม่รู้จบ มันสร้างขึ้นมาได้เรื่อยไม่รู้จบ ก็ไม่เอาอย่างวิธีคิดอย่างนยายะ Philosophy
นี้ Common Sense นี่ ที่จริงมันก็ดีก็มีประโยชน์ แต่จะไป ๆ อาศัยมันทั้งหมดก็ไม่ได้ ก็รอไว้ก่อนเหมือนกันแหละ ติตามอาการ อาการปริวิตกฺเกน Common Sense ซึ่งฝรั่งเขาใช้มาก แล้วมาสอนให้พวกเราใช้ด้วยซ้ำไป ก็ไม่เอา แล้วก็สังเกตดูว่า เราคิด เราคิดค้าน มันก็ค้านไม่ได้สักที มันทนได้ต่อการพิสูจน์ของเราทุกทีไป นี่ก็เป็นวิธีพิสูจน์อย่างหนึ่งเหมือนกัน แม้อย่างนั้นเราก็ยังไม่เชื่อ เพราะว่าเราไม่ยังไม่ฉลาดพอ ความคิดของเราที่แย้งที่ค้านยังไม่สมบูรณ์พอ ก็รอไว้ก่อนยังไม่เอา
ที่ ๆ ว่าผู้พูดมีลักษณะน่าเชื่อนั้นน่ะ มันยิ่งไม่ได้ใหญ่เลย เอารูปร่างหน้าตากิริยาท่าทางของผู้พูดเป็นหลัก มีทางผิดพลาดได้มาก ก็ดูเอาเองสิ แล้วอันสุดท้ายก็ ไม่เชื่อเพราะผู้พูดเป็นครูของเรานี่ ก็เพราะว่าเราไม่มีโอกาสใช้ความคิดของเราเองนะ เมื่อเราเชื่ออาจารย์น่ะ ครู หมดสิ้นแล้ว เราก็ไม่มีโอกาสใช้ความคิดของเราเอง มันจะเป็นอย่างไรคิดดู มันก็คือตายด้านชนิดหนึ่ง ไม่มีโอกาสใช้ความคิดของตนเองเลย เชื่อคำครู ท่องคำครูอะไรไว้ นี่ ๑๐ อย่าง อย่างนี้ไม่เอา
ทีนี้เอาอย่างไร มันก็คือว่าใคร่ครวญดูไอ้เหตุผล ที่มันแสดงอยู่ในตัวคำพูดน่ะ แล้วเรา ๆ เอากันอย่างนี้เลยว่า เราไม่เชื่อไอ้ ๆ ผู้พูดหรือพวกอีกเลย แม้ไม่เชื่อไอ้ ๆ ๆ ปิฎกหรือตำรา แล้วเราก็ไม่เชื่อผู้พูด ก็ไม่เชื่อแม้กระทั่งครูบาอา ๆ ที่เป็นผู้สอน แล้วก็ไม่เชื่อด้วยที่ว่าเราสะดุดขึ้นมาเอง
ทีนี้เราก็มาดูใหม่ มาดูใหม่ ดูใหม่ ไอ้สิ่งที่เขาเสนอขึ้นมาให้เชื่อนั้นน่ะ เราก็มาดูใหม่ ใคร่ครวญดูใหม่ จนเห็นว่าเหตุผลที่มันแสดงอยู่ในตัวคำพูดที่เขาเสนอขึ้นมา เริ่มพบเหตุผล ๆ ว่า โอ้, มันมีเหตุอย่างนี้ ถ้าไปทำเข้ามันก็จะจริงอย่างนั้น คือบางเรื่องก็เห็นได้เองเลย เห็นได้เองเลย โดยมันแสดงเหตุผลอยู่ในตัว ๆ มันเอง ไม่เชื่อคำพูดของผู้อื่น ไม่เชื่อผู้พูด ไม่เชื่อตำรา ไม่เชื่อคำนวณหมด เชื่อเหตุผลที่มันแสดงอยู่ในตัวมันเอง
เช่นได้ยินคำพูดว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่ากิเลสเป็นของร้อน ก็ไม่เชื่อผู้พูด ไม่เชื่อคำพูด แต่ดูที่ตัวกิเลสสิ แล้วกิเลสมันก็ร้อนจริง ก็ ๆ มันรู้ ๆ กันอยู่แล้ว แล้วก็ดูให้มากออกไปก็ร้อนจริง มีเยอะพูดว่า กิเลสเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ มันก็เห็นอยู่ในตัวมันเองว่า กิเลสเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่ต้องเชื่อคำพูด ไม่ต้องเชื่อผู้พูด ไม่ต้องเชื่อปิฎก ไม่ต้องเชื่ออะไรอย่างนี้
มันจะมีวี่แววหรือมีลักษณะให้สังเกตได้อย่างหนึ่งแหละ ในคำพูดที่เขาพูดมา เราคอยจับหาเหตุผลที่แสดงอยู่ในคำพูดนั้น แล้วก็เอามาพิสูจน์ทดลองโดยการปฏิบัติดู แล้วส่วนใหญ่ถ้ามันเกี่ยวกับกิเลส เกี่ยวกับความทุกข์ แล้วก็มันก็พอจะสังเกตเห็นได้ทั้งนั้นแหละ
ทีนี้ก็จะขอพูดเลยไปถึงว่า คำตรัสของพระพุทธเจ้าน่ะ ประกอบอยู่ด้วยองค์คุณชนิดที่มีเหตุผลอยู่ในตัวเอง โดยที่เราไม่ต้องเชื่อพระพุทธเจ้า แต่เราเชื่อเหตุผลที่มีอยู่ในคำตรัสน่ะ นี่ขอให้จำไว้เป็นพิเศษนะว่า ลักษณะการตรัสของพระพุทธเจ้านั้นคือมีอยู่ ๓ อย่างนี่
ตรัสในลักษณะที่สะดุด ๆ ใจว่า เป็นของแปลกของใหม่ ของไม่เคยได้ยินได้ฟังนี่ ข้อนี้ก็สำคัญ พระพุทธเจ้าท่านจะตรัสในลักษณะผู้ฟังจะรู้สึกว่า นี้ไม่เคยได้ฟัง นี้ไม่เคยเข้าใจนี่ มันก็สนใจมากเป็นพิเศษ เพราะมันเป็นของแปลกของใหม่
แล้วข้อที่ ๒ ตรัสมีเหตุผลพอที่ผู้ฟังจะตรองตาม ๆ ติดตาม ตรองตาม มองเห็นความจริงได้ นี้ว่าตรัสมีเหตุผลสั้น ๆ ตรัสมีเหตุผลอยู่ในตัวมันเอง
แล้วข้อที่ ๓ พระพุทธเจ้าจะตรัสชนิดที่มีปาฏิหาริย์ คือมีการกระทำให้สำเร็จได้ คือไม่เหลือวิสัยหรือว่าไม่เหลว ไม่ล้มเหลว นี่คำตรัสนั้นมีปาฏิหาริย์ คือแสดงว่า อ่า, แสดงอาการให้รู้ว่าปฏิบัติได้ ไม่ ๆ ๆ เหลือวิสัย ไม่ล้มเหลว ไม่อะไร
จำสั้น ๆ ไว้ก็ได้ว่า ๑ รู้สึกว่าเป็นของแปลกใหม่ ข้อ ๒ มีเหตุผลอยู่ในตัวเอง ข้อ ๓ มีปาฏิหาริย์ คือองค์คุณสำหรับปฏิบัติให้สำเร็จได้ ๓ อย่างนี้มันพอเสียแล้ว เหตุผลมันอยู่ในคำพูด เราเชื่อเหตุผลนั้นก็พอ ไม่ต้องเชื่อพระพุทธเจ้า ไม่ต้องเชื่อผู้พูด ไม่ต้องเชื่อพระไตรปิฎก มันก็ยังทำได้ด้วยเหตุนี้ ไม่เชื่อแม้แต่กาลามสูตรเอง เอาอย่างนี้ดีกว่า กาลามสูตรที่สอนไว้ไม่ให้เชื่อโดย ๑๐ ประการ เราก็ไม่เชื่อกาลามสูตร เพราะเราเชื่อเหตุผลที่แสดงอยู่ในสิ่งที่ ๆ ๆ มีผู้เสนอขึ้นมา
เขาถามว่า เอ่อ, ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องเชื่อกาลามสูตรสิ เพราะพวกกาลามสูตรก็เป็นปิฎกนั่นแหละ เออ, ถูกแล้ว ฉันก็ไม่เชื่อกาลามสูตรหรอก แต่ว่ากาลามสูตรบอกอย่างนั้น ฉันก็เอามาใช้ได้ แล้วก็ฉันเห็น เอ้อ, จริงสิ จริง ไม่ต้องเชื่อกาลามสูตร เพราะมันมีเหตุผลอยู่ในคำที่กล่าว ดังนั้นเมื่อเราจะ ๆ เชื่ออะไรในคำกล่าวอะไร เราก็ดูที่นั่น มันมีเหตุผลแสดงอยู่ว่า ทำตามเข้าแล้วมันก็จะมีผลอย่างนั้นจริง
คำตรัสของพระพุทธเจ้าจะมีลักษณะอย่างนี้ คือมีเหตุผลแสดงอยู่ในตัวว่ามีทางสำเร็จได้ แล้วก็มีปาฏิหาริย์ คือสำเร็จได้จริง ทำแล้วจะสำเร็จได้จริง นี่เราใช้กาลามสูตรอย่างไม่ต้องเชื่อกาลามสูตร มันแปลกดีว่าอย่างนั้นเถิด นี่จำไว้สิ มันจะต้องปะทะหรือพบกับผู้ที่ขัดแย้งกันต่อไปข้างหน้าอีกมาก เพราะฉะนั้นควรจะเอามาใช้ เอามาใช้เสียเองด้วย
วิธีตรัสของพระพุทธเจ้านั่น เราเอามาใช้ในฐานะเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า คือว่าถ้าเราจะไปพูด ไปแสดงปาฐกถา หรือไปเทศน์ไปอะไรที่ไหน เราจะใช้วิธีการที่ว่า พอพูดออกไป เขาจะรู้สึกเป็นของใหม่และแปลก และน่าสนใจทันที มันอยู่ที่การเลือกใช้คำพูด นี่เจอผู้ฟังจะรู้สึกเป็นของแปลกของใหม่ โอ้, ไม่เคยได้ยินว่ะ ทีนี้มันก็ฟังหูผึ่งแล้วก็ตั้งใจฟังที่สุด นั่นแหละมันจะมีประโยชน์ตั้งแต่ต้นไป
แล้วที่ อันดับที่ ๒ ให้มันมีเหตุผลอยู่ในคำพูด ทุกข้อ ทุกกระทง ทุกประเด็น มีเหตุผลอยู่ในนั้น เอ้า, เขา ๆ ก็จับ จับใจ ๆ พอใจ ความเชื่อก็มั่น ๆ คงขึ้น พอใจที่จะฟังมากขึ้น แล้วก็แนะวิธีที่จะให้มันสำเร็จประโยชน์ตามนั้น ที่เรียกว่ามีปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์เขาว่านำมาซึ่งผลอันน่าอัศจรรย์ มันนำมาซึ่งผลอันน่าอัศจรรย์ ก็เรียกว่ามีปาฏิหาริย์ นี่คุณจำไว้สิ จะไปเทศน์ จะไปปาฐกถา หรือไปพูดจาอะไร ก็ขอให้มันประกอบอยู่ด้วยองค์ทั้ง ๓ นี้ นี่มันก็จะเข้ากับเรื่องกาลามสูตรที่ว่า มีเหตุผลอยู่ในคำพูดนั้น
แม้ว่ามันเป็นเรื่อง จะเป็นเรื่องลึก มันก็พูดได้ ไม่ใช่เรื่องลึก ๆ เรื่องดับทุกข์ เรื่องกิเลสลึก ๆ ก็พูดได้ ให้มันประกอบอยู่ด้วยองค์ทั้ง ๓ นี้ ผู้ฟังสะดุดใจว่า ไอ้นี่มันแปลกประหลาดไม่เคยได้ยินได้ฟัง พอฟังไปหน่อยก็มีเหตุผลแสดงอยู่ทุกประเด็น ๆ ๆ คัดง้างไม่ได้ อะ, แล้วก็มองเห็นว่าจะทำให้สำเร็จได้ ให้สำเร็จประโยชน์ ดับทุกข์ได้อย่างนั้น ๆ เลย ผมว่าแม้ที่สุดแต่จะไปสอนเรื่องทำมาหากิน เรื่องกสิกรรม เรื่องเทคโนโลยีอะไรก็ตาม ใช้คำพูดให้ประกอบอยู่ด้วยหลักทั้ง ๓ นี้ น่าสนใจเป็นข้อแรก แล้วก็มีเหตุผลอยู่ในนั้น แล้วก็มีปาฏิหาริย์ คือมีทางสำเร็จประโยชน์รวมอยู่ในนั้น
นี่คำตรัสของพระพุทธเจ้ามีลักษณะอย่างนี้ มีองค์ประกอบอย่างนี้ เราลูกศิษย์พระพุทธเจ้า ก็พยายามเอาไปใช้ เอาไปใช้ให้สำเร็จ แต่ถ้าของมันง่าย มันง่าย นี้มันก็พอพูด พอพูดออกไป มันก็ ๆ มองเห็น ถ้าของมันตื้น ๆ ง่าย ๆ พูดออกไปก็เห็น นอนตื่นสายไม่ดี อย่างนี้มันก็มองเห็น ไม่ต้องอธิบายเลย ออกกำลังสิ จะมีประโยชน์แก่ร่างกาย มันก็มองเห็น อย่างนี้ก็ครบแล้ว มีเหตุผล มีปาฏิหาริย์ มีพอที่จะทำตามได้
ทีนี้เรื่องต่อไปก็ว่า เราได้ความจริง นี้ใช้คำว่าความจริง ที่แสดงอยู่ในคำพูด โดยไม่ต้องเชื่อผู้พูด ไม่ต้องเชื่อคำพูด ไม่ต้องเชื่อตำรา ไม่ต้องเชื่อปิฎก เพราะมันมีความจริงก็ได้ เหตุผลก็ได้ แสดงอยู่ในคำพูด ทีนี้ปฏิบัติ ๆ ที่นี้ความเชื่อจะเพิ่มขึ้น จะเพิ่มขึ้นอย่าง ๆ ๆ หนักแน่นอย่างมหาศาลเลย พอปฏิบัติขั้นนี้สำเร็จ ก็เชื่อเต็มขั้นนี้ ปฏิบัติขั้นต่อไปสำเร็จ มันก็เชื่อขั้นต่อไปสำเร็จ นี้คือการละกิเลสได้ตามลำดับ
ถ้าพูดถึงละกิเลส เราก็ละกิเลสได้ตามลำดับ ละได้ขั้นไหนก็เชื่อเต็มที่ในขั้นนั้น หรือถ้าเป็นเรื่องการงาน เราประสบความสำเร็จไปตามลำดับ สำเร็จขั้นหนึ่งก็มีความเชื่อเพิ่มขึ้น สำเร็จอีกขั้นหนึ่งความเชื่อมันก็เพิ่มขึ้น ๆ นี่ความเชื่อมันจะถึงที่สุดเมื่อกิจการงานถึงที่สุด จริงไหม เมื่อกิจการงานถึงที่สุด ความเชื่อก็ถึงที่สุด เรื่องก็จบ
ทีนี้ทำอย่างไร หยุดเชื่อ เลิกเชื่อ ไม่มีเรื่องต้องเชื่อ นี่จะมองเห็นไว้ มองเห็นได้หรือไม่เห็นได้ เอ้า, คุณลอง ๆ คิดดูที่พูดอย่างนี้ ปฏิบัติไป ละกิเลสได้เท่าไร มีความเชื่อในข้อปฏิบัติเท่านั้น ปฏิบัติสูงขึ้นไปอีก ละกิเลสได้ ก็มีความเชื่อในข้อปฏิบัติแล้วสูงขึ้นไปอีก พอละกิเลสหมดเป็นพระอรหันต์ เลิกเชื่อ พระอรหันต์ไม่มีความเชื่อ น่าหัวไหม เป็น อสฺสทฺโธ ผู้ไม่มีความเชื่อ ทีนี้จะเชื่อไปทำไมล่ะ มันไม่มีเรื่องที่จะต้องทำ พอเป็นพระอรหันต์กลายเป็นผู้ไม่ต้องเชื่อ ไม่มีความเชื่อหรือไม่มีศรัทธา
ตอนแรก ๆ นี่สอนกันเกือบเป็นเกือบตาย ให้มีศรัทธาอย่างถูกต้อง ศรัทธาอย่างถูกต้อง ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เป็นอินทรีย์ เป็นพละ มีศรัทธา ๆ สูงขึ้นไป ๆ ๆ ๆ พอจบพรหมจรรย์ โอ้, ไม่ ๆ ต้องมีศรัทธาอีก เหมือนกับความเชื่อไปจบลงที่มีผลสำเร็จข้อสุดท้าย แล้วก็มองเห็นว่า ๆ จริง ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ อย่างนั้น จริง ๆ ๆ ขึ้นไปตามลำดับ จนเป็นอันสุดท้าย มันดับทุกข์ได้สิ้นเชิงนั่นแหละ หรือว่าถ้าประกอบการงาน การงานที่ยากที่ลำบาก ไม่ประกอบไปถึงอันดับสุดท้าย ได้ผลถึงที่สุดแล้ว ก็ไม่ ๆ จำเป็นที่จะต้องมีความเชื่ออีกต่อไปนั้นแหละ มันก็หยุดของมันเอง นี่คือความเชื่อ
บางทีก็มาสอนกันอย่างให้เน้นให้เชื่อ ให้เชื่ออย่างไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์ เชื่อให้โง่เชื่อให้งมงายไปเลยอย่างนั้นก็มีนะ ระวังอย่าไปเอากับมัน มันต้องมีเหตุผลอยู่ในเรื่องที่ให้เชื่อ คือจะมองเห็นไอ้ผิดถูก ดีร้าย สำเร็จไม่สำเร็จอะไร อยู่ใน ๆ ตัวคำพูดนั่นแหละ แล้วก็เชื่อเหตุผลอันนั้นแหละ
จึงขอสรุปว่า ไม่เชื่อคำพูด ไม่เชื่อผู้พูด ไม่เชื่อคัมภีร์ และก็ไม่เชื่ออย่างไอ้นอก ๆ นี่ ที่เขาพูดตาม ๆ กันมา ทำตาม ๆ กันมา เล่าลือกันกระฉ่อน อย่างนี้ไม่ ก็ไม่อยู่ในตัว คุณจะปฏิบัติได้ไหม เป็นผู้สามารถมีศรัทธาอย่างเข้มข้น อย่างคมเฉียบ อย่างที่เรียกว่าเป็นหลักเป็นฐาน เป็นกฎเป็นเกณฑ์ที่สุด นั่นไม่ใช่เรื่องที่จะใช้แต่ในทางศาสนา ในทางกิจการงานต่าง ๆ ก็อาศัยความเชื่อทั้งนั้น แล้วความเชื่อนั่นน่ะ มันมีผลอย่างอื่น มีผลอย่างอื่น เช่นความเชื่อทำให้เกิดความกล้าใช่ไหม เชื่อมากเท่าไรก็เกิดความกล้า
ความเชื่อมีมากเท่าไร ให้เกิดความเข้มแข็งความเอาจริงเอาจังนั่นแหละ มันมีประโยชน์ มีประโยชน์อย่างยิ่ง ถ้าเราจะให้เกิดความเอาจริงเอาจังแล้วก็ มองให้เห็นชัดลงไปว่า มันเป็นอย่างนั้นจริง มันเป็นอย่างนั้นจริง ช่วยได้จริง สำเร็จประโยชน์ได้จริง มันก็เกิดกำลังใจขึ้นมา แล้วเชื่อทำสำเร็จได้ มันก็เกิดความกล้าเห็นไหม ไม่กลัวตาย ไม่กลัวล้มเหลว ไม่กลัวอะไรต่าง ๆ ดังนั้นความเชื่อนี่ มันเป็นเรื่องที่มีเทคนิคหลายแง่หลายมุมอยู่เหมือนกันแหละ กระทำกับมันให้ถูกต้อง แล้วเราก็จะได้ผลดี
มีความเชื่อนั้นก็ ๆ จะเลยไปถึงคำว่า ไว้ใจได้ วางใจได้ ถ้าเราไม่เชื่อว่า ๆ บ้าน ๆ ของเราปลอดภัย อย่างนี้เราก็นอนไม่หลับใช่ไหม ถ้าเราไม่เชื่อว่าที่เก็บของของเราปลอดภัย เราก็นอนไม่หลับ เราก็เป็นห่วงนะ ดังนั้นความเชื่อทำให้เกิดความพักผ่อนหรือว่าความหยุดความสงบได้มาก เช่นเราเชื่อว่าสุขภาพอนามัยของเราดี ไม่มีโรค นี้เราก็สบายใจใช่ไหม ถ้าเชื่อไม่ได้ ยังสงสัยอยู่ แล้วยิ่งมีวี่แววว่าจะเป็นโรคอะไรด้วย มันก็ทรมานจิตใจอยู่นั่นแหละ นี่เรื่องของความเชื่อไม่ใช่เล่นเหมือนกัน นี่ไม่ใช่เรื่องไปนิพพาน ไม่ใช่เรื่องบรรลุมรรคผลนิพพาน เรื่องที่จะอยู่ในโลกนี้ นี้เราก็ยังจะต้องจัดการกับไอ้เรื่องที่เกี่ยวกับความเชื่อ
ทีนี้ก็มีปัญหาที่ว่า คนที่เขาฟังไม่ถูกนะ เมื่อผมเอาเรื่องนี้มาพูด เขามีคนเขียนด่าตั้งหลายคนน่ะ ด่าหยาบคายว่า เอาเรื่องที่จะทำให้เกิดความเสียหายมาพูด แล้วคนก็จะเสียหายเพราะไม่เชื่ออะไรอย่างที่ว่า ไม่เชื่อครูบาอาจารย์ ไม่เชื่อคัมภีร์ ไม่เชื่ออะไรต่าง ๆ มันไม่ใช่ผมว่าเลย ผมอธิบายความตีความ ในพระบาลี ในกาลามสูตรว่า จริงหรือไม่จริง คุณก็เห็นได้เอง
แต่ว่าถ้าว่ามันเป็นเด็กมากนัก มันก็ยังจำเป็นที่ต้องเชื่ออย่างนั้น เชื่ออย่างไอ้ ๑๐ อย่างนั้นไปก่อน มันยังเด็กนัก เห็นเด็ก ๆ เกิดมา มันก็เชื่อฟังเด็ดขาด แม่พ่อก็ใช้ไม้เรียว ครูก็ใช้ไม้เรียว มันก็เชื่อ ผูกขาดให้เชื่อ แต่แล้วมันก็ไม่ได้ทำให้ฉลาดนี่ มันโตขึ้น ๆ สามารถจะคิดนึกได้ ก็ปล่อยเขาให้เป็นอิสระ
แต่ถึงอย่างไรก็ดี มันยังมีอยู่ที่ว่า ถ้าเราพูดให้เด็กมองเห็นความจริง ไม่ต้องใช้ไม้เรียว ไม่ต้องใช้ไม้เรียว มันเชื่อของมันเอง แต่เราจะสามารถพูดจาให้เด็กเล็ก ๆ มองเห็นความจริงจนเชื่อในเหตุผลได้หรือไม่เท่านั้น ถ้าพูดได้เก่งพูดได้จริง ก็ไม่ต้องใช้ไม้เรียว เด็กก็เชื่อ อย่างนี้แนบเนียนกว่า เป็นวิธีการที่สงบ เป็นวิธีการของพุทธบริษัท ของพุทธศาสนา ของพระพุทธเจ้า ไม่ต้องใช้ไม้เรียวก็พูดให้เข้าใจ เกิดปัญญา เกิดปัญญา แล้วก็เชื่อ ๆ ปัญญาของตัวเอง ทั้งหมดนี้เป็นระบบเกี่ยวกับความเชื่อ
เราไม่ได้สอนให้ไม่เชื่ออะไรไปเสียทั้งหมดอย่างงมงาย หรือว่าเราจะรับฟังไว้ก่อนก็ได้นะ แต่ยังไม่เชื่อ ๑๐๐% เขาเล่าลือมาอย่างไร เขาพูดกันอย่างไร ในพระคัมภีร์ว่าอย่างไร ผลสรุปความของความคิดทาง Logic ทาง Philosophy ออกมาอย่างไร ก็เก็บไว้พลางก็ได้ แต่เราไม่ยัง ๆ ไม่เชื่อ ๑๐๐% แล้วก็มาถึงที่สุดของไอ้เชื่อเหตุผลที่มันแสดงอยู่ในตัวก็ได้ อย่างนี้ก็ได้นี่ ไม่ใช่ว่าห้ามไม่ให้ฟังอะไร ห้ามไม่ให้ดูอะไร ห้ามไม่ให้คิดอะไร ไม่ใช่ คุณคิดได้ดูได้ แต่คุณอย่าเพิ่งเชื่อ ต้องให้มันถึงที่สุดแห่งเห็น การเห็นความจริงแล้วก็เชื่อ
เรา ๆ ๆ เรียนเรื่องกาลามสูตร แต่เราไม่เชื่อกาลามสูตร เราเชื่อเหตุผลที่มันแสดงอยู่ในตัวมันเองตามวิธีของกาลามสูตร ถ้ามองเห็นความจริงแล้วก็ไม่ควรจะถูกด่าล่ะว่า ในการที่เอากาลามสูตรมาใช้ มาแนะนำให้ใช้ มันจะทำให้ฉลาด ๆ ขึ้นโดยเร็ว แล้วจะได้รับความเป็นประชาธิปไตยอย่างสูงสุด ไม่มีศาสนาไหนเหมือนน่ะ พูดอย่างนี้
ไม่มีศาสนาไหนให้เสรีภาพเหมือนพุทธศาสนา ยิ่งเป็นศาสนาที่มีพระเจ้า ศาสนาฮินดู ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม เขาไม่ให้เสรีภาพถึงขนาดนี้ บางศาสนาเข้มงวดมากให้เชื่อตะพึด ไม่ให้ ๆ มีความคิดเห็นแตกแยก ให้ท่องจำ ให้ยึดถืออย่างนั้น นี้เขาแปลเป็นไทยว่าอะไรก็ไม่รู้ ผมก็ไม่ทราบล่ะ แต่ภาษาศาสนาภาษาฝรั่งเขาเรียกว่า Dogma ตัว Dog ที่แปลว่าหมา เติม Ma เข้าไป Dogma นั้นน่ะ คือต้องเชื่อตามนี้อย่างที่ไม่มีข้อยกเว้นขัดแย้งอะไร ในศาสนาที่มีพระเจ้าต้องมีความเชื่ออย่างนั้น ในศาสนาพุทธนี้ไม่มี นี้ไม่มี ไม่มี Dogmatic System ไม่มีระบบที่ให้มีใช้ความเชื่ออย่างผูกขาดอย่างนั้น
ทีนี้ก็มีความหมายของความเป็นพุทธบริษัท มีปัญญา มีปัญญานำหน้า นำหน้าความเชื่อเรื่อยไปความเชื่อก็ไม่เข้ารกเข้าพงไม่เข้าดงหรืออะไร มันก็ไปสู่จุดหมายปลายทางนะ อย่าทำเล่นกับเรื่องนี้ ศึกษาให้เข้าใจให้ดี ประมวลใจความทั้งหลายให้เข้าใจให้ดี แล้วบันทึกไว้สั้น ๆ ให้จำง่ายใช้สะดวก ก็เป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งในหลาย ๆ เรื่อง แต่มันไม่กี่เรื่องในพุทธศาสนา ไม่หลายสิบเรื่องแต่มันก็หลายเรื่องเหมือนกัน ศึกษาให้เข้าใจชัดเจนแจ่มแจ้งจนใช้สำเร็จประโยชน์ได้ เป็นเรื่อง ๆ ๆ ๆ ไป
วันนี้พูดเรื่องความเชื่อแล้วก็ตามหลักของกาลามสูตร คล้าย ๆ กับเป็นการตัดสินว่า เมื่อได้ฟังมาจากหลายทิศหลายทาง หลายทิศหลายทาง จนไม่รู้จะเชื่ออย่างไรแล้ว ก็เอาไอ้ ๑๐ ประการนี้เข้าไปจัดการ แล้วก็หาพบเหตุผลที่มันแสดงอยู่ในตัวมันเอง ในตัวคำพูดนั้น ในตัวความจริงนั้น ในตัวธรรมนั้น ปัญหาก็หมดความเชื่อก็ดำเนินไปถูกทาง มีผลสูงขึ้น ๆ ๆ จนได้รับผลอันสุดท้ายของการปฏิบัติ แล้วก็หยุดเชื่อ เลิกเชื่อ หมดเชื่อ เป็นพระอรหันต์ ไม่ต้องเชื่ออะไรอีกต่อไป
เอาล่ะ, เวลาก็หมดแล้ว ขอยุติการบรรยาย ขอได้ตั้งใจศึกษาแยกแยะ ให้มันเป็นเสมือนหนึ่งวิทยาศาสตร์อันหนึ่ง แม้จะเป็นเรื่องความเชื่อ มันก็เป็นวิทยาศาสตร์ได้ ขอให้ได้ใช้เป็นประโยชน์เต็มที่ ไม่เสียทีที่เป็นพุทธบริษัท เจริญรุ่งเรืองอยู่ด้วยสติปัญญา ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ