แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้จะพูดเรื่องสิ่งที่เรียกว่า “ปฏิจจสมุปบาท” มันเป็นคำแปลกหูสำหรับผู้ที่ไม่เคยชินกับวัดกับวา แล้วก็ออกเสียงยาก แล้วก็ไม่ค่อยจะสนใจและไม่ชินปาก ในฐานะที่เป็นพุทธบริษัท คำนี้ต้องเป็นคำที่ชินปากที่สุดเลย ชินปากผู้พูด “ปะ-ติด-จะ-สะ-หมุบ-บาด” ไม่ต้องเรียกว่า “ปะ-ติด-จะ-สะ-หมุบ-ปา-ทะ” หรอก เรียกว่า “ปะ-ติด-จะ-สะ-หมุบ-บาด” ก็ได้ มันรู้สึกกันเสียว่ามันเป็นคำยากลำบาก เป็นเรื่องยากลำบาก อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ยากที่จะเอามาเรียน แต่ที่แท้เรื่องปฏิจจสมุปบาทกับเรื่องเป็นอยู่กับเนื้อกับตัว กับชีวิตจิตใจของแต่ละคนๆ ทุกวันๆ เรื่องปฏิจจสมุปบาทอยู่ที่นั่น มันมีความสำคัญอย่างที่คนไม่สนใจกัน ไม่ค่อยจะสนใจกัน
อย่างหนึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็น “อาทิพรหมจรรย์” เป็นจุดตั้งต้นของการปฏิบัติพรหมจรรย์ จุดตั้งต้นของการปฏิบัติพรหมจรรย์อยู่ที่ปฏิจจสมุปบาทหรือรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท นี่ถือว่าผู้นั้นตั้งต้นพรหมจรรย์ ตั้งต้นประพฤติพรหมจรรย์ หรือศึกษาเล่าเรียน อย่างนี้ก็มี คุณคอยสังเกตไปก็แล้วกัน เดี๋ยวก็จะเห็นเองว่าทำไมพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจุดตั้งต้นของพรหมจรรย์ ในวิธีหนึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า
ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา
ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม
ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม
มันก็ได้ความว่า การเห็นปฏิจจสมุปบาทคือการเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม พระพุทธเจ้าพระองค์ที่เป็นธรรม ไม่ใช่เป็นตัวบุคคล เป็นตัวพระสิทธัตถะ ไม่ใช่ เป็นตัวธรรม พระองค์ธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา เห็น เห็นเนื้อหนังร่างกายก็ไม่ใช่ว่าเห็นเรา ยิ่งเราจะเห็นตัวองค์พระสิทธัตถะพระพุทธเจ้าก็ไม่เชื่อเป็นพระพุทธเจ้า เพราะท่านปฏิเสธ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดไม่เห็นธรรม ผู้นั้นก็ไม่เห็นเรา ถ้าไม่เห็นธรรม ก็ไม่เห็นพระพุทธเจ้าด้วยโดยแท้จริง คนเป็นอันมากในอินเดียก็เห็นพระพุทธเจ้าเดินไปเดินมานะ ก็ไม่รู้จัก ก็ไม่สนใจ ก็ไม่สนใจ ทว่าเป็นขัดหูขัดตาก็ ก็จะพานด่าเอาก็มี ผู้หญิงโดยมากเขาไม่ชอบ ไม่ชอบพระพุทธเจ้า เขาด่าว่าพระพุทธเจ้าว่า ดีแต่ทำให้คนเป็นหม้าย ผู้ชายที่เป็นสามีเอาไปบวชเสีย ผู้หญิงเป็นหม้ายนี่เป็นโดยมาก นั้นการเห็นองค์เนื้อหนังพระพุทธเจ้านั่นยังไม่ชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า ต่อเมื่อใดเห็นธรรมะ จึงจะได้ชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า แล้วธรรมะที่เห็นนั้นคือ “ปฏิจจสมุปบาท”
ตัวธรรมะในที่นี้คือเรื่องปฏิจจสมุปบาทว่า ทุกข์คืออย่างไร ทุกข์ดับอย่างไรนั่นแหละ ทุกข์เกิดอย่างไร ทุกข์ดับอย่างไร นี้เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท แล้วมันก็ควรจะเป็นเรื่องเงื่อนเบื้องต้น เบื้องต้น เงื่อนต้นของพรหมจรรย์นะ ถ้าไม่มีจุดตั้งต้นว่าจะดับทุกข์อย่างไรแล้ว จะมาบวชทำไม จะมาเรียนทำไม จะมาปฏิบัติทำไม มันต้องมีความต้องการโดยตรงเพื่อจะดับทุกข์ จึงอยากมาบวชมาเรียน มันจะดับทุกข์ มันก็ต้องรู้ว่าทุกข์เกิดอย่างไร ทุกข์ดับอย่างไร เรื่องนั้นคือเรื่องปฏิจจสมุปบาท หากแต่ว่ามันเป็นเรื่องทางจิต เรื่องเกี่ยวกับจิต จะเรียกว่าไม่เกี่ยวกับร่างกายก็ได้ หรือเกี่ยวกับร่างกายน้อยที่สุดนั้นก็ว่ามันเป็นที่ตั้งแห่งจิต นิดหน่อย กระทั่งหมดตลอดสายเป็นเรื่องทางจิตทั้งนั้นของปฏิจจสมุปบาท
สังเกตดูสิ เรื่อง “จิต” จิตที่ปรากฏแก่เรา ที่เรารู้สึกต่อสิ่งที่เรียกว่าจิต มันหมายความแต่เรื่องเล่นๆ ลมๆ แล้งๆ ไม่รู้อยู่ที่ไหน ได้แต่พูด ไม่รู้จักจิต แล้วเราเองก็ไม่รู้จักจิต รู้สึกเป็นว่าเรื่องไม่มีตัวตน ลมๆ แล้งๆ ไม่มีน้ำหนัก ไม่มีความหมายอะไรเรื่องจิต เพราะว่ามันมาให้น้ำหนักและความหมายกับเรื่องเนื้อหนัง เรื่องเงินเรื่องทอง เรื่องสุขสนุกสนาน เอร็ดอร่อยทางอายตนะ มาสนใจเรื่องนี้ เป็นดุ้น เป็นก้อน เป็นอะไรตามที่เรียกกัน เรื่องทางจิตเลยเงียบหาย เงียบหาย ไม่ค่อยจะเป็นที่เอาจริงเอาจัง เลยไม่รู้ ไม่รู้เรื่องจิต ไม่รู้เรื่องจิต ก็รู้แต่ชื่อ รู้แต่เรียกชื่อ และเขาก็เรียกชื่อกัน ถึงแม้จะมีเรื่องจิตปรากฏอยู่ มันก็ไม่รู้จัก ไม่รู้จักตัวจิต เหมือนคนบ้านี่ มันก็บ้าไป มันก็ไม่รู้จักเรื่องจิต เรียกว่าเป็นทุกข์เป็นร้อน ก็เป็นทุกข์เป็นร้อน ไม่รู้จักเรื่องจิต อา มันเหมือนกับผีหรอก หรือหายตัวได้ ไม่รู้อยู่ที่ตรงไหน เรื่องจิต แต่ว่าเรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้มันเป็นเรื่องจิต หลีกไม่พ้นที่ต้องศึกษากันอย่างจริงจังให้รู้จักตัวสิ่งที่เรียกว่าจิต จึงจะรู้จักปฏิจจสมุปบาท เห็นปฏิจจสมุปบาท แล้วก็ชื่อว่าเห็นธรรม เห็นธรรมแล้วก็ชื่อว่าเห็นพระพุทธองค์ พระองค์จริง พระองค์จริง เรื่องเห็นนี้คือเรื่องจุดตั้งต้นของการประพฤติพรหมจรรย์ มันเริ่มต้นที่การเห็นปฏิจจสมุปบาทแล้วปฏิบัติ จุดตั้งต้นอย่างอื่นนั้นมันไม่จริงหรอก มันเป็นพิธีรีตองไปหมด เช่น มาบวช บวช เสร็จบวชเป็นพระ นี่มันมันไม่ใช่จุดตั้งต้นของพรหมจรรย์ มันพิธีบวชทั้งนั้น ถ้ามันเป็นจุดตั้งต้นของพรหมจรรย์จริงๆ มันอยู่ที่เห็นปฏิจจสมุปบาทแล้วต้องการจะดับทุกข์ ถ้ารู้สึกต้องการจะดับทุกข์เกิดขึ้น มันจึงจะเป็นจุดเบื้องต้นของพรหมจรรย์ นี่ขอให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่าจิต กับสิ่งที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท
เรื่องสิ่งที่เรียกว่าจิต มันไม่ใช่ลมๆ แล้งๆ ไม่ใช่เรื่องมายา มันเป็นเรื่องจริงอย่างเรื่องจิต แต่มันไม่มีดุ้น มีก้อน มีตัวมีตน ให้จับฉวยเอาได้ มันเป็นเรื่องของชีวิตนั่นแหละ ชีวิตนั่นแหละคือจิต ถ้าไม่มีจิตก็เท่ากับไม่มีชีวิต แล้วก็เป็นเรื่องความทุกข์หรือปัญหาในชีวิต จะเป็นความวินาศหรือเป็นความรอด สุขสบาย ก็เป็นเรื่องของจิต แล้วแต่ว่าจะศึกษากันที่ตรงไหน ใช่ว่าที่สำคัญที่สุด สำคัญกว่าที่อื่นหรือเรื่องอื่นก็คือเรื่องปฏิจจสมุปบาท คือศึกษาเรื่องจิต จนรู้ว่าความทุกข์มันตั้งต้นขึ้นมาอย่างไร
วันก่อนได้พูดกันถึงเรื่องกิเลส นั่นก็ได้พูดถึงเรื่องนี้มากแล้วเหมือนกัน กิเลสจะตั้งต้นอย่างไร เรามาดูกันพร้อมๆกันว่า กายกับจิต ทางกาย ทางกาย ทางจิต ทางมี ๒ ทาง มาดูพร้อมๆกัน ที่เป็นเรื่องทางวัตถุหรือทางกายล้วนๆนะ มันก็เรื่องภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ๖ อย่างที่คู่กับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เป็นตัวรูป ก็เป็นรูป เสียงก็เป็นรูป กลิ่นก็เป็นรูป รสก็เป็นรูป โผฏฐัพพะก็เป็นรูป ธรรมารมณ์ก็เป็นจิต ทีนี้ที่เป็นอายตนะภายใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าหมายถึงลูกตา ลูกตา ก้อนลูกตา มันก็คือรูป เป็นวัตถุ เป็นกาย เป็นรูป หรือแม้แต่ระบบประสาท ระบบประสาทที่อาศัยอยู่ที่ก้อนลูกตานั่นก็ยังเป็นรูป หรือกายและรูป หรือแต่กาย จำไว้ว่ามันแทนกันนะ รูป ถ้ารูปธรรมมันก็คือฝ่ายกาย ฝ่ายรูปก็เรียกเป็นภาษาที่สมบูรณ์ ก็เรียกกันว่าเป็นรูป กายก็เป็นรูป รูปก็เป็นรูป ที่มาจากข้างนอกที่จะเข้ามากระทบภายในมันก็คือรูป ๕ อย่าง และธรรมารมณ์ที่จะมากระทบจิต มันก็เป็นเรื่องของจิต นี่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตัวก้อนเนื้อแท้ๆ ก็เป็นรูป เป็นรูป ระบบประสาทที่อาศัยอยู่ที่นั่นก็เป็นรูป แต่พอมาถึงตัวใจ ใจนี้คือจิต คือคือนาม คือจิต คือใจ เพราะฉะนั้นใน ๖ คู่ มันมีอยู่คู่หนึ่งที่เป็นเรื่องของใจ คือ คู่สุดท้าย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อันสุดท้ายนั้นเป็นเรื่องใจ นั่นมันเป็นเรื่องในตัวเรา ในตัวคนแท้ๆ แล้วก็ไม่รู้ มันก็ไม่รู้ ไม่รู้ มันก็เหมือนกับ ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ถ้าเรียนเรื่องนี้ก็คือเรียนเรื่องตัวเราโดยตรง แล้วก็ เป็นเรื่องที่มันกำลังเกิด กำลังมี กำลังเป็นปัญหาอยู่โดยตรง ไม่รู้เรื่องรูปกับนาม หรือกายกับใจ จะเรียกคู่ไหนก็ได้ เหมือนกัน เรียกรูปกับนามก็ได้ เรียกกายกับใจก็ได้ แล้วรู้จักว่าในอัตภาพนี้มันมีกันอยู่อย่างไร อะไรเป็นกาย อะไรเป็นใจ อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม ดังนั้น เมื่อรู้จักนี่ก็คือรู้จักสิ่งที่เรียกว่าจิต เหมือนกับรู้จักทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องอยู่กับจิตคือความสุขความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง มันเกี่ยวอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าจิต หรือในทางตรงกันข้าม ความดับทุกข์ ความไม่มีทุกข์ ก็เกี่ยวกันอยู่กับจิต
โดยเรื่องมันก็อยู่ที่กายกับจิต แบ่งออกเป็น ๖ คู่ ๕ คู่เป็นเรื่องกาย เรื่องรูป คู่สุดท้ายเป็นเรื่องจิต เรื่องนาม อย่าเห็นว่าคำพูดเหล่านี้ไม่มีสาระ ไม่มีความหมาย เป็นคำตามวัดตามวา ไม่ใช่เป็นคำที่เกี่ยวกับเรา มันจึงเป็นคำที่เกี่ยวกับเราหรือยิ่งกว่าที่จะเกี่ยวกับเรา คือมันเป็นตัวอัตภาพ เป็นตัวที่เราโง่ว่าเป็นตัวเรานั่น การที่มีความรู้สึกว่าเป็นตัวเรา เป็นตัวเรา ตัวตน มันก็รู้สึกลงไปที่สิ่งเหล่านี้ คือมันโง่ลงไปที่สิ่งเหล่านี้ เพราะตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นตัวตนก็ได้ แล้วก็รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นของตน แล้วเอาการเห็น การได้ยิน ได้ฟัง เป็นการกระทำของตน มันก็เลยเป็นตนอย่างเข้มข้น อย่างเข้มข้น ฉะนั้น เรามาศึกษาเรื่องนี้ เรื่องกายกับใจก็ได้ เรื่องรูปกับนามก็ได้ เรื่องจิตก็ได้โดยเฉพาะไว้ เพราะว่าเมื่อจะเล็งถึงสิ่งที่มันนำหน้าหรือสูงสุด มันอยู่ที่จิต มันไม่ได้อยู่ที่กาย เพราะว่ากายเป็นไปตามอำนาจแห่งจิต แม้ว่าจิตจะตั้งอยู่บนกาย กายรองรับจิต แต่มันก็เป็นไปตามอำนาจของจิต นั้นเป็นสิ่งที่ต่อเนื่องกัน ไม่มีกาย จิตก็ไม่มีที่อยู่ ก็ไม่ปรากฏ ไม่มีจิต กายก็ไม่มีความหมายอะไร ไม่มีความหมายอะไรเสียเลย คล้ายกับจิตต้องมาอยู่ด้วยกัน เหมือนกับเล่านิทานไว้เป็นอุปมาว่า คนหนึ่งตาบอด คนหนึ่งเป็นง่อย ถ้าแยกกันอยู่ก็ทำอะไรไม่ได้ เอามาร่วมกันเป็นคนเดียวกัน คนง่อยขี่หลังขี่คออยู่ก็บอกคนตาบอดว่าทำอย่างนั้นๆ นี่ลักษณะที่ว่า จิตนี้บังคับกายไปตามที่ต้องการ
ทีนี้มันก็มีปัญหาว่ามันจะไปผิดหรือไปถูกของ ๒ อย่างนี้ คนง่อยคนตาบอดมันจะเดิน ทำอะไรถูกหรือผิด ถ้ามันไปทำผิด มันก็เกิดความทุกข์ ถ้ามันทำถูกต้อง มันก็ไม่มีปัญหา มันก็ไม่มีความทุกข์ ศึกษากันให้ละเอียดๆเกี่ยวกับทุกข์และดับทุกข์ ข้อนี้มันสำคัญที่ว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสยืนยันมั่นเหมาะว่า เราพูดแต่เรื่องทุกข์กับดับทุกข์เท่านั้น ก่อนนี้ก็ดี เดี๋ยวนี้ก็ดี ตถาคตบัญญัติแต่เฉพาะเรื่องทุกข์กับดับทุกข์เท่านั้น มีอย่างนี้ เป็น๒ เรื่อง ทุกข์กับดับทุกข์ แต่เรื่องทุกข์มันขยายออกไปเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ได้ทั้ง ๒ เรื่อง เรื่องดับทุกข์ก็เป็นทางให้ถึงความดับทุกข์ ก็ได้เป็น ๔ เรื่อง เป็น ๔ เรื่องที่จะต้องพูด เดี๋ยวนี้ขยายให้มากกว่านั้น ให้มันละเอียดกว่านั้น ให้เป็นไปตามลำดับ ละเอียดกว่านั้น มันก็กลายเป็นเรื่องปฏิจจสมุปบาท ซึ่งมี ๑๒ เรื่อง หรือ ๑๑ อาการ มีข้อต่อที่มันต่อ ๑๑ ห้วง ๑๑ ห่วง ก็กลายเป็นเรื่อง ๑๑ ๑๒ แต่แล้วมันเรื่องเดียว เรื่องเดียว ยิ่งกว่าเรื่องเดียว เป็นกับเรื่องทุกข์และดับทุกข์ ท่านตรัสว่าพูดแต่ทุกข์กับดับทุกข์ แต่ผมเห็นว่า ท่านพูดแต่เรื่องดับทุกข์เรื่องเดียวก็พอ ไม่ต้องเป็น ๒ เรื่อง พูดแต่เรื่องดับทุกข์ ดับทุกข์ก็พอ แต่ที่พระพุทธเจ้าท่านยืนยัน ท่านยืนยัน ท่านพูด ๒ เรื่อง คือเรื่องทุกข์กับดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ทั้งหมดนั้นคือเรื่องปฏิจจสมุปบาท
เราก็มาดูกันว่ามันเป็นอย่างไรนะ ปฏิจจสมุปบาท สูตรชนิดที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เป็นเงื่อนต้นแห่งพรหมจรรย์นั่น ศึกษาง่าย เข้าใจง่าย แต่ถ้าเข้าใจเรื่องนี้ดีแล้วก็ไปศึกษาที่มันแยกออกไปอีก เข้าใจยาก ที่เรียนกันในโรงเรียนนักธรรมก็ได้อีกเหมือนกัน แต่การที่จะไปเรียนเรื่องนี้ที่โรงเรียนนักธรรมเลยโดยตรง มันเข้าใจยาก เข้าใจยาก ครูเองก็ยังสอนไม่รู้อะไร นี่เราจะพูดกันแต่อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสเอง และที่จะเป็นเงื่อนต้นแห่งพรหมจรรย์ ท่านก็ตรัสว่า อะไร คือตามอายตนะ ๖ คู่นั้น ๖ คู่ คู่ตาก่อน แล้วก็คู่หู คู่จมูกไปตามลำดับ คู่ตา จักขุจะ ปะฏิจจะ รูเปจะ อุปัชชะติ วิญญาณัง อาศัยตา อาศัยรูปด้วย ตาด้วย รูปที่รูปมากระทบตาแล้วตาด้วย กระทบกันแล้วก็เกิด “จักษุวิญญาณ” คือการเห็นทางตา เสียงด้วย หูด้วยนี่ถึงกันเข้า ก็เรียกว่า “โสตวิญญาณ” วิญญาณทางหู กลิ่นกระทบจมูก กลิ่นกับจมูกถึงกัน ก็เรียกเกิด “ฆานวิญญาณ” วิญญาณทางจมูก รสถูกเข้ากับลิ้น เกิดรู้รสทางลิ้น ก็เรียกว่ารส “ชิวหาวิญญาณ” วิญญาณทางลิ้น อะไรมาถูกผิวกาย โผฏฐัพพะมาถูกผิวกาย โผฏฐัพพะกับกายถึงกันเข้า ก็เรียกว่าวิญญาณทางกาย “กายวิญญาณ” อารมณ์กระทบจิตก็เกิดมโนวิญญาณนี่ “มโนวิญญาณ” ก็เลยได้วิญญาณ ๖ อายตนะภายในก็ ๖ อายตนะภายนอกก็ ๖ วิญญาณก็ ๖ นี่ข้อแรกนะ
ทีนี้ไล่ไปตามลำดับ เรื่องตาก่อน ตากับรูป ปฏิจจะ หมายถึง มาถึงกันเข้า อุปปัชชะติ จักขุวิญญาณัง เกิดจักษุวิญญาณ เป็น ๓ เรื่องขึ้นมา ตาเรื่องหนึ่ง รูปเรื่องหนึ่ง จักษุวิญญาณเรื่อง ถ้า ๓ อย่างนี้ถึงกันอยู่ คือตาสัมผัสรูปทางจักษุวิญญาณอยู่ อาการนี้เรียกว่า “ผัสสะ” ผัสสะ ติณณัง ธัมมานัง สัมปะติ ผัสโส เมื่อสิ่งทั้ง ๓ นี้ถึงกันอยู่ ก็เรียกว่าผัสสะ รู้จักผัสสะเรื่องที่ ๔ มีผัสสะ ปัจจยา เวทนา เพราะมีผัสสะ ก็มีเวทนา คือความรู้สึกทางผัสสะ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ครบทุกทางให้เหมือนกัน มีเวทนาทาง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น นี่เรื่องที่ ๕ คือ “เวทนา” เพราะเวทนามันปัจจัย มีตัณหาเป็นเรื่องที่ ๖ เพราะตัณหาเป็นปัจจัย ก็มีอุปาทานเรื่องที่ ๗ มีอุปาทานเป็นปัจจัย ก็เลยมีภพเป็นเรื่องที่ ๘ ภพเป็นปัจจัย ก็มีชาติเป็นเรื่องที่ ๙ ชาติเป็นปัจจัย ก็เลยมีทุกข์ทั้งหลายเป็นเรื่องที่ ๑๐
สิ่งที่สำคัญที่สุดที่มันจะเกิดเรื่อง ตัวที่มันจะเกิดเรื่องนั่นก็คือตัวผัสสะ เพราะมีผัสสะทางตา ผัสสะทางหู ผัสสะใจ ก็มีผัสสะ ถ้าเราไม่มีผัสสะ มันก็ไม่มีเรื่องอะไรในโลกนี้ ไม่มีอะไร คือจะต้องไม่มีอะไรเสียด้วย แต่เพราะมีผัสสะ มีผัสสะ มีการกระทำที่เรียกว่า ผัสสะ มันก็มีเวทนา คือรู้สึกไปตามผัสสะ ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เดี๋ยวนี้มารู้สึกอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ละอย่างๆ เป็นเวทนาแปลว่าความรู้สึก ถูกใจก็เรียกว่า “สุขเวทนา” ไม่ถูกใจก็เรียกว่า “ทุกขเวทนา” มันเป็นกลางๆ ถูกใจก็ไม่ใช่ ไม่ถูกใจก็ไม่ใช่ ก็เรียก “อทุกขมสุขเวทนา” ว่าสุข ว่าทุกข์ ว่าอทุกขมสุข ที่จริงมีอยู่มาก ที่ตาเห็นรูป หรือฟังเสียงอะไรก็ตาม แล้วมันเลิกกันไป มันเลิกกันไป คือมันไม่เอามาเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ถ้าเอามาเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ทุกเรื่อง มันคงจะแย่มากนะ นี่คุณลืมตาเห็นอยู่ได้ไหม ตาก็เห็น เห็นทุกอย่าง แต่ไม่เลิก ไม่รู้สึกเป็นสุขหรือทุกข์ ไม่เกิดเวทนาที่เป็นสุขหรือทุกข์ มันก็ไม่มีเรื่อง แต่ถ้าตามันไปเห็นในสิ่งที่มีความหมายให้เกิดความพอใจก็คือสุขเวทนา ทางตา เห็นในที่มันไม่พอใจมันก็ทุกขเวทนา ถ้าไม่ให้ความหมายอะไรก็เป็นอทุกขมสุขเวทนา ตอนนี้จำไว้ให้ดีเดี๋ยวจะพูดโดยละเอียด เรื่องเวทนานี้จำไว้ให้ดี รู้สึกพอใจไปทางพอใจ ก็เรียกว่าสุขเวทนา ทุกข์ ไม่พอใจก็ทุกขเวทนา กลางๆก็อทุกขมสุข ตรงนี้มันเป็นเรื่องที่ทำปัญหา สร้างปัญหา ถ้ามันไม่หลงกันทางเวทนาแล้วก็ไม่มีเรื่อง มีเรื่องหลงรัก หลงเกลียด หลงโกรธ ฆ่ากันตาย ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ตาย ฆ่าตัวเองตาย มันก็เรื่องบ้าทางเวทนากันทั้งนั้น เพราะมันนำไปสู่ความคิดที่ยิ่งๆขึ้นไป
เวทนาให้เกิด “ตัณหา” ให้เกิดตัณหา เวทนาสุขก็เกิดตัณหาคือความอยากที่จะเอา จะมี จะยึดครอง ถ้าเวทนาเป็นทุกข์ ก็เกิดตัณหาที่อยากจะทำลายมันเสีย ถ้าหากว่าไม่มีความหมายอย่างนั้นก็ไม่เกิดตัณหาทำลาย หรือตัณหายึดครอง แต่เกิดความโง่ วิ่งๆๆตามอยู่นั่นแหละ วิ่งตามทั้งที่โง่ๆ ถึงไม่รู้จะทำอะไร นี่ตัณหา ตัณหา แปลว่าอยากจะทำไปตามอำนาจของเวทนา แล้วแต่เวทนามันมีรสอย่างไร ตัณหามันก็เกิดขึ้นตามนั้น แล้วมันก็อยากไปตามนั้น นี่เรียกว่า ตัณหา เป็นความอยากอย่างโง่ โง่ด้วยอวิชชา
แต่ถ้ามันไม่อยากด้วยความโง่ ด้วยอวิชชา มันมีความประสงค์ที่ถูกต้อง ความต้องการหรือความประสงค์ที่ถูกต้องที่มีประโยชน์ ที่จะไปสู่ประโยชน์อันดีกว่า อย่างนี้อย่าไปเรียกว่าตัณหา ไม่เรียกว่าตัณหา เรียกว่าความประสงค์ หรือเรียกว่า “สังกัปปะ” สังกัปปะ ถ้าเรียกว่าตัณหามันเลวร้าย มันเป็นเรื่องกิเลส เป็นเรื่องโง่ เป็นเรื่องหลงด้วยอวิชชา ถ้าเป็นเรื่องสังกัปปะ แล้วมันจะไปเป็นเรื่องของสติปัญญาก็ได้ เช่น เราประสงค์จะดับกิเลส จะดับทุกข์ ประสงค์นิพพานอย่างนี้ ไม่เรียกว่าตัณหาหรอก เรียกว่าสังกัปปะ เพราะประสงค์ดี ประสงค์ด้วยความรู้ ประสงค์ด้วยวิชชา ก็เรียกว่า สังกัปปะ อย่าไปเรียกตัณหา แต่ถ้าตามโรงธรรมศาลาวัดแม้ที่กรุงเทพฯนะ เขามักจะสอนกัน ถ้าอยาก เรียก ตัณหาหมด ขึ้นชื่อว่าอยาก เรียกตัณหาหมด ไม่เอาๆ ต้องแยก อยากด้วยความโง่ หรืออยากด้วยความฉลาด ถ้าไม่อยากด้วยความโง่ เอาไปเป็นตัณหา เอาไป แต่ถ้าอยากด้วยสติปัญญา ก็ขอเรียกอย่างอื่น เรียกว่า สังกัปปะ สังกัปปะ คือ ความตริตรึกไปตามนั้น ความตริตรึกไปตามความรู้สึกนั้น ไม่ใช่ ยังไม่เป็น ยังไม่ให้อวิชชาเข้ามาครอบงำ ทรงตัวเองไว้ให้อยู่ในสติปัญญา
ถึงแม้ภาษาอื่น เช่น ภาษาอังกฤษอย่างนี้ มันก็มี ๒ คำที่ไม่เหมือนกันนะ ทว่ามันอยากด้วยความโง่ด้วยอวิชชา มันก็เรียกว่า Desire บ้าง Craving บ้าง เป็นคำหยาบ คำต่ำ หรือโง่ แต่ทว่ามันต้องการด้วยปัญญาด้วยวิชา ต้องการจะไปหาที่ดีกว่า สูงกว่า มันมีคำเรียกว่า Aspiration Aspiration คำนั้นมันไม่เกี่ยวด้วยอวิชชาหรือสกปรก ถ้าเป็น Desire หรือ Craving นี่มันสกปรกด้วยอวิชชา ดังนั้น คุณก็จำๆกันไว้บ้าง เผื่อจะต้องพูดกับชาวต่างประเทศ ถึงจะเรียกว่าตัณหานี่ มันหมายถึงเฉพาะอยากด้วยความโง่เท่านั้นแหละ ถ้ามันประสงค์ด้วยความฉลาดความต้องการแล้วก็ ไม่เรียกว่าตัณหา เพราะฉะนั้นเรามีได้ มีความอยาก มีความต้องการด้วยสติปัญญา เช่น เราเล่าเรียน เราอยากจะรู้ แล้วเราอยากจะปฏิบัติ แล้วเราอยากจะดับทุกข์อย่างนี้ เรียกว่า สังกัปปะ เอ้า,ลดลงไปบ้างว่าคนที่เขาอยากจะหาเงินหาทอง หาข้าวหาของ แต่ถ้าเขาทำด้วยสุจริตใจ อย่าไปเรียกว่าตัณหา เรียกว่า สังกัปปะ ได้เหมือนกัน ที่เขาเรียกว่าตัณหา ก็คือโง่ด้วยอวิชชา มาจากอวิชชา ถ้ามัน มันอยาก อยากด้วยตัณหา อยากด้วยอวิชชา เป็นตัณหา แล้วมันก็เกิดผล ต่อไปคือ “อุปาทาน” คือ อุปาทาน
ตัณหา ปัจจยา อุปาทาน นั่น เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงเกิดอุปาทาน คำนี้แหละเข้าใจยาก ถ้าเข้าใจได้ก็จะดีมาก คำว่า “อุปาทาน” นี้แหละเข้าใจยาก อยากๆด้วยตัณหา อยากๆๆๆ แล้วก็เกิดความรู้สึกว่า มีกูผู้อยาก แล้วก็อยากให้เป็นของกู นี่ความรู้สึก มันเบี่ยงไปในทางมีกู กูอยาก แล้วก็อยากมาเป็นของกู นี่ตัณหามันโง่ถึงขนาดนี้ตัณหา มันโง่ โง่ถึงขนาดนี้ จึงเกิดอุปาทาน อุปาทานแปลว่ายึดมั่นถือมั่นด้วยความโง่ คือจิตยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดสิ่งหนึ่งลงไปแล้วด้วยความโง่ นี่บังเกิดความรู้สึกเป็นตัวตนและของตนขึ้นมา ตรงนี้มันซอยละเอียดหน่อย แยกละเอียดหน่อยว่า มีอุปาทาน หมายมั่นยึดมั่นเป็นตัวกูของกูขึ้นมา เป็นจุด เชื้อตั้งต้น เป็นจุดตั้งต้น จุดตั้งต้น มีคำว่า “ตัวกู ตัวกู” รู้สึกขึ้นมา นั่นเรียกว่า “ภพ”
ภพ แปลว่าความมี ความเป็นแห่งตัวตน ภพ ก็มีอุปาทาน ตัวกู ของกู แล้วก็จะเรียกว่า มีภพ ภพเกิดแล้ว ต่อจากอุปาทาน ไม่ต้องตาย ไม่ต้องตายไปเกิดที่ไหน เดี๋ยวนี้ในอุปาทานเสร็จแล้วก็มีภพ มีภพเสร็จแล้ว แก่จัดๆๆๆ ก็ “ชาติ” แปลว่าเกิด เกิดตัวกูเต็มความหมาย ก่อนนี้เป็นเพียงเชื้อ เชื้อตั้งต้นอยู่ในอุปาทาน แล้วก็ค่อยๆแก่เข้าก็เป็นภพ เดี๋ยวนี้เต็มตัวมาเลยเป็นชาติ เป็นตัวตน เป็นของตนเต็มที่เรียกว่า ชาติ ชาติปัจจะยา ชะรามะระณัง โสกะเสวะ เรื่อยไป เพราะชาติเป็นปัจจัย มีชรา มรณะ โสกะ ทุกข์ทั้งหลายเกิดขึ้น นี่คำว่า ชาติ ชาตินี้ไม่ได้เกิดจากท้องแม่ คือมีความรู้สึกว่าตัวตนเกิดมาจากตัณหาอุปาทาน แล้วก็เจริญออกมาเป็นภพ แล้วจะออกมาเป็นชาติ นี่คำว่า ชาติ ถ้าเข้าใจคำว่าชาตินี้ถูกต้อง แล้วก็จะเข้าใจคำว่าปฏิจจสมุปบาทถูกต้อง ถ้าเข้าใจปฏิจจสมุปบาทว่าเข้าใจชาติ ชาติเป็นเรื่องเกิดจากท้องแม่แล้วก็ผิดหมด มันผิดหมดไม่รู้เรื่อง ไม่มีทางจะรู้เรื่อง มันไม่เกี่ยวกับชาติจากท้องแม่ มันเป็นชาติทางจิต ทางนามธรรม ทางจิต ทางนามธรรม จะเรียกว่า ทางวิญญาณก็ได้ แต่มันจะไปสับสนกับวิญญาณตัวตนอื่น ชาติทางจิต หรือว่าชาติทางอุปาทาน ชาติที่เกิดทางจากอุปาทาน ชาติทางจิต พอมีชาติก็มี “ตัวตน” นี่เป็นตัวกูของกูแสดงออกมา จับยึดนั่นนี่ภายนอก นอกสุด พอชราเป็นของกู เอาความแก่เป็นของกู ความเจ็บเป็นของกู ความตายเป็นของกู อะไรๆเป็นของกูไปหมด แล้วกูแหละเป็นผู้ที่มีปัญหา กูไม่ได้สิ่งที่ตัวกูรัก กูได้สิ่งที่กูไม่รัก กูปรารถนาสิ่งใดแล้วก็ไม่ได้สิ่งนั้น นี่คือตัวปัญหา ที่มันเกิดมาจากความมีชาติ ชาติว่าตัวกูว่าของกู
ฟังดูแล้วมันก็เป็นเรื่องยุ่งยากลึกลับซับซ้อนนะ ที่จริงมันก็ไม่ยุ่งยากลึกลับซับซ้อน แต่ว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่เคยฟัง ไม่ค่อยจะเคยได้ยินได้ฟัง เลยดูว่ามันยุ่งยากซับซ้อน นี้ทว่ามันเป็นคนจริง เป็นคนจริง มันก็อุตส่าห์ศึกษา เพราะมันเกิดอยู่แก่ชีวิตร่างกายสภาพนี้ตลอดวันตลอดคืน ทุกวันทุกคืน มันอุตส่าห์อดทน จำชื่อเหล่านี้ไว้ให้ได้ แล้วก็คอยจับตัวมันให้ได้ว่า มันเกิดเมื่อไหร่ เกิดเมื่อไหร่ ชัดเจนว่าเมื่อไหร่ตาเห็นรูปแล้วเกิดจักษุวิญญาณ แล้ว ๓ อย่างนี่คือผัสสะ มีผัสสะแล้วก็มีเวทนา นี่หมายความว่าที่มันเป็นไปโดยสมบูรณ์ มันมีเวทนา ดังนั้นผัสสะเฉยๆ มันผัสสะทิ้งเสียๆ ก็แยะ ก็รู้จักนี่ว่าผัสสะที่ไม่สนใจก็ดับไปเสียเฉยๆ ก็แยะ แต่ว่าผัสสะที่มันมีเรื่องเพราะว่า อารมณ์นั้นมันเป็นที่ตั้งแห่งความน่ารัก น่าพอใจ น่ายึดถือ พอไปผัสสะเข้าที่อารมณ์ชนิดนั้น จะเกิดเวทนา เวทนา ถ้าสิ่งที่น่ารักมันเป็นอารมณ์ก็สุขเวทนา ไม่น่ารักเป็นอารมณ์ก็ทุกขเวทนา กลางๆ ก็เป็นอทุกขมสุข อทุกขมสุขไม่พูด ก็มันทิ้งเลิกกันไป แต่เหลือคู่นี้ สุขหรือทุกข์นี่ มันมีปัญหา มันมาทำให้เกิดความรู้สึกเป็นบวกหรือเป็นลบ ถ้าจะพูดเป็นภาษาวิทยาศาสตร์อย่างนี้ก็เพื่อให้เข้าใจง่ายและจำง่าย เวทนาเป็นบวกคือถูกใจ รักใคร่ หลงใหล เวทนาเป็นลบไม่ถูกใจก็ขัดแค้น โกรธแค้นขึ้นมา ฉะนั้นเราจึงมีความรู้สึกไปตามเวทนาที่มันเป็นบวกหรือลบ แต่แล้วมันก็อยู่ใน ๒ อย่างนี้ คือดีใจกับขัดใจ หรือความรักกับความโกรธ หรือความยินดีกับความยินร้าย แล้วแต่จะเรียกชื่อคู่ไหนได้ทั้งนั้นแหละ มันมีความหมายโดยกว้างๆ มันเป็นบวกหรือเป็นลบ ถ้าเป็นบวกมันถูกกับกิเลส ถูกกับกิเลส มันก็จะเอา มันก็จะยึดครอง มันก็จะมีไว้ มันก็จะสะสมให้มากยิ่งขึ้น ถ้าไม่มีไม่พอมันก็จะทำให้มีมากพอ ถ้าไม่มีทางได้ตรงๆก็ไปขโมย ไปปล้น ไปจี้ มันแล้วแต่อำนาจของเวทนาบวก ถ้าเป็นเวทนาลบก็มาขัดใจ โกรธแค้น ร้องไห้ร้องห่มอยู่ก็มี หนักเข้าเป็นบ้าโง่ฆ่าตัวตายก็มี นี่คือเวทนาลบ
ดังนั้น เราควบคุมได้ไม่ให้เป็นบวกไม่ให้เป็นลบ แม้รู้สึกว่าเป็นบวก รู้สึกว่าเป็นลบ ให้หยุดอยู่แค่นี้ อย่ามาสร้างความรู้สึกที่มากมายต่อไปอีก เป็นบวกก็แค่นี้ มึงแค่นี้ เช่นนั้นเอง ลบก็แค่นี้ เช่นนั้นเอง อย่ามาทำให้เป็นฟืนเป็นไฟ ขัดใจขึ้นมาในจิตใจ นี้ต้องมีความรู้เรื่องนี้และมีสติ สติ สติ จำไว้ สติ สติ บังคับไว้ให้มันเป็นแต่สักว่าเวทนา สักว่าเวทนา มันเป็นสักว่าเวทนาตามธรรมชาติ ตามธรรมดา ไม่ให้บวก ไม่ให้ลบก็ได้ หรือถ้าเป็นบวกหรือเป็นลบ ให้หยุดอยู่แค่นั้น อย่ามาปรุงแต่งให้เกิดอะไรต่อไป ถ้ามีสติไม่พอ มันก็รู้สึกไม่ทัน มันเป็นหลงเป็นบวกเป็นลบ เป็นเตลิดเปิดเปิง เป็นกิเลส สนุกสนานไปเรื่อย ทว่าสติไม่ ไม่พอ ถ้าสติมีพอมีทัน มันก็หยุดอยู่ ควบคุมไว้ ให้หยุดความเป็นบวก ให้หยุดความเป็นลบไว้เพียงเท่านั้น ก็คือไม่ไปหลง รักหรือหลงเกลียด คือไม่ยินดีและไม่ยินร้าย จิตใจปกติสม่ำเสมอ เมื่อไม่เป็นบวกไม่เป็นลบ ไม่ให้รู้สึกว่าเป็นบวกเป็นลบ แล้วมันก็ไม่เกิดตัณหา เวทนามันก็หยุด แต่นี่มันไม่ได้ มันเป็นบวกเป็นลบแล้วครอบงำจิตใจมากเหลือเกิน มันก็เลยกลายเป็นตัณหา ตัณหา อยากไปตามความโง่ ปล่อยบวกก็อยากจะเอา ปล่อยลบก็อยากจะทำลาย นี่แหละตัณหา อยากไปตามความโง่ แล้วก็เร็วเป็นสายฟ้าแลบ ไปรู้สึกตอนเมื่อโกรธแล้วหรือรักแล้ว โกรธแล้วจึงค่อยรู้สึก เว้นไว้แต่มีสติอย่างยิ่ง จึงจะป้องกันไว้ได้ หรือมีสติสมบูรณ์ สมบูรณ์อย่างพระอรหันต์ มีสติสมบูรณ์ในความไม่เป็นบวกไม่เป็นลบ แล้วเวทนาเหล่านี้ก็ทำอะไรไม่ได้ ปรุงแต่งตัณหาไม่ได้ เวทนาจะเกิดขึ้นมาสักเท่าไรก็ปรุงแต่งเป็นตัณหาไม่ได้ สำหรับพระอรหันต์ผู้มีสติสมบูรณ์อย่างยิ่งเป็นอย่างนี้ ที่ปุถุชนมีกิเลสตัณหา อวิชชาเป็นเจ้าเรือน มันก็ง่ายนิดเดียว สติก็ไม่รู้ไปอยู่ไหน ไม่รู้จัก ก็ไปตามอำนาจของตัณหา อวิชชา เวทนาให้เกิดตัณหา โดยสมควรแก่ตัณหา หรือรักหรือเกลียด บวกหรือลบ ทุกๆคราวที่พอรู้สึก บวกหรือลบมีสติได้อีกที มีสติกันตรงนี้ได้อีกที ถ้ามันเป็นบวกหรือเป็นลบเสียแล้ว มีสติกันตรงนี้อีกทีว่า จัดการอย่าให้มันไม่เกิดเรื่อง ให้อิทธิพลของมันหยุดเสียแค่นั้น นั่นก็หมายถึงหยุดตัณหา ถ้าหยุดไม่ได้ก็เป็นตัณหา ไปตามอำนาจของตัณหา มันก็เป็นอุปาทาน มีตัวกูของกู ก็ปฏิสนธิ ตั้งปฏิสนธิขึ้นมาในครรภ์ แล้วก็แก่เข้าๆเป็นภพเหมือนครรภ์ แก่เข้าๆก็ถึงโพร่งออกมาเป็นตัวกู ชาติ เรียกว่าชาติ เกิดตัวกู เกิดของกู โดยเต็มเปี่ยม โดยสมบูรณ์ อาละวาดแล้วทีนี้ เป็นผีบ้าแล้วตอนนี้
นี่ถ้าคุณพยามศึกษาเข้าใจนี้จะดี พระพุทธเจ้าท่านเอามาท่องอยู่โดยพระองค์เอง คือวันนั้น พระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่พระองค์เดียวก็คิดว่าไม่มีใคร ก็ท่องนี่ สูตรนี้ สูตรปฏิจจสมุปบาทนี้ มันน่าหัวหรือน่าสงสัยว่า ทำไมเขาเป็นพระพุทธเจ้าแล้วยังมานั่งท่องสูตรคูณอย่างนี้ เหมือนเด็กนั่งท่องสูตรคูณ เพราะมันเป็นเรื่องประทับใจ เป็นเรื่องประทับใจ เมื่อจะตรัสรู้ก็ค้นแต่เรื่องนี้ เมื่อจะตรัสรู้ก็ค้นแต่เรื่องปฏิจจสมุปบาท ค้นๆ ๆ จนคืนที่จะตรัสรู้ คืนนั้นก็ทบทวนแต่เรื่องนี้ ทบทวนแต่เรื่องนี้ มันสิง เหมือนกับสิงเข้าสมอง เข้ากระดูกสำหรับเรื่อง ปฏิจจสมุปบาทกับพระพุทธเจ้า ผมก็สันนิษฐานเอาเองว่า ทำไมท่านเอามาท่อง มันเหมือนกับว่าเราวางเวลา สบายใจ นั่งอยู่คนเดียว ก็ว่าอะไรเล่น ว่าอะไรเล่น จะสันดานของปุถุชนก็ว่าเรื่องกามารมณ์ มันมีนิสัยจิตใจอย่างนั้น ก็ว่าเรื่องอย่างนั้น แต่นี่เป็นพระพุทธเจ้า ท่านเป็นพระพุทธเจ้า อยู่เหนือทั้งสิ่งทั้งปวง มันเป็นคำพูดที่ไพเราะที่สูงสุด ที่น่ารักเหล่านี้ ท่านก็เอามาว่าเล่นเหมือนกับเราว่าอะไรเล่น เลยมาตั้งชื่อใหม่ เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท ฮัมเพลง พระพุทธเจ้าจะร้องเพลงเข้าให้ ฮัมเพลง ขึ้นต้นด้วยตา
จักขุจะ ปะฏิจจะ รูเปจะ อุปัชชะติ วิญญาณัง ติณณัง ธัมมานัง สังคะติ ผัสโส
ผัสสะปัจจะยา เวทะนา
เวทะนาปัจจะยา ตัณหา
ตัณหาปัจจะยา อุปาทานัง
อุปาทานังปัจจะยา ภะโว
ภะโวปัจจะยา ชาติ
ชาติปัจจะยา ชะรามะระณัง โสกะปะริเทวะทุกขะโทมะนัสสุปายาสา สัมภะวันติ เอวะเมตัสสะ ฯ
ความทุกข์ทั้งข้อนี้ยืดยาว แล้วก็เรื่องตา แล้วก็เรื่องหูอีก จมูกอีก ทำนองเดียวกันนั้นแหละ เผอิญว่าภิกษุองค์หนึ่งมันแอบอยู่ข้างล่าง ข้างๆ ฝานะ แอบฟังอยู่ พระพุทธเจ้าท่านเหลียวไปเห็นเข้า อ้าว, เอ็งอยู่นี่ ข้าอยู่นี่ เอาไปๆ อุขันหาตุ เอาไปๆๆๆ อาทิพรหมจรรย์ อาทิพรหมจรรย์ เงื่อนต้นแห่งพรหมจรรย์ ท่านกำชับว่านี่เงื่อนต้นแห่งพรหมจรรย์ แค่เอาไป เอาไปศึกษาและปฏิบัติ นี่เราเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ชนิดนี้ ที่พระพุทธเจ้าเคยมาว่าเล่นเหมือนกับเราร้องเพลง แล้วก็ตรัสว่าเป็นอาทิพรหมจรรย์ แล้วก็ตรัสว่า ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรมะ ผู้ใดเห็นธรรมะ ผู้นั้นเห็นเรา ความหมายก็มันมีอย่างนี้
คุณสังเกตให้ดีว่า ปฏิจจสมุปบาทรูปแบบนี้ตั้งต้นที่ตากับรูปถึงกันเข้าเรียกจักษุวิญญาณไปอย่างนั้น ทีนี้ ปฏิจจสมุปบาทใหญ่ๆกว่านี้ ปฏิจจสมุปบาทที่ใช้ทั่วไป มันไม่ได้ขึ้นอย่างนี้นะ เหมือนที่สวด
อะวิชชาปัจจะยา สังขารา
สังขาราปัจจะยา วิญญาณัง
วิญญาณังปัจจะยา นามะรูปัง
นามะรูปังปัจจะยา สาฬายะตะนัง
สาฬายะตะนัง ผัสโส
ตอนตั้งแต่ผัสโสไปแล้วนี้จึงจะเหมือนกับที่พระพุทธเจ้าท่านเอามาฮัมเพลง คล้ายๆ มันจะบอกให้ชัดอีกทีหนึ่งว่า สิ่งเหล่านี้มาจากไหน บทแรกก็ อะวิชชา ปัจจะยา สังขารา เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย อำนาจการปรุงแต่งจึงเกิดขึ้น อำนาจการปรุงแต่ง อำนาจการปรุงแต่ง ฟังให้ดี จำไว้ให้ดี เพราะว่าสังขาระในทีนี้ สังขารในที่นี้แปลว่าอำนาจการปรุงแต่ง
สังขารา ปัจจะยา วิญญาณัง เมื่ออำนาจการปรุงแต่งเป็นปัจจัย วิญญาณก็มี วิญญาณก็เกิดขึ้น ที่ผมอธิบายว่าไม่มีทางอื่นนอกจากว่าอำนาจปรุงแต่งมันไปเอาวิญญาณ วิญญาณธาตุตามธรรมชาติมาปรุงแต่งเป็นวิญญาณทางอายตนะ คือวิญญาณที่จะมาประจำที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั้น มันถูกปรุงแต่งขึ้นมาจากวิญญาณธาตุ บาลีจึงว่า สังขารา ปัจจะยา วิญญาณัง เพราะสังขารหรือปัจจัยจึงมีวิญญาณ คือมีวิญญาณที่จะประจำอายตนะ
วิญญาณังปัจจะยา นามะรูปัง พอได้วิญญาณอย่างนี้มา เอามาเคียงคู่กันเข้ากับรูปร่างกาย มันก็ได้สิ่งที่เรียกว่า นามรูป นามรูป คือ กายใจ ใจกาย นามรูปคือใจกาย ถ้าไม่มีวิญญาณเหล่านั้นมาเป็นคู่ มันก็ไม่มีใจและกายเกิดขึ้นได้ นามรูปไม่เกิดขึ้นมาแล้ว เอาวิญญาณนั้นมาด้วย มาเป็นคู่กันเข้ากับร่างกาย มันก็เกิดสิ่งที่เรียกว่า นามรูป
นามะรูปังปัจจะยา สะฬายะตะนัง เมื่อมีนามรูปเป็นปัจจัยสะฬายะตะนะ คือ สิ่งที่สามารถรู้สึกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่อาศัยนามรูปนี้ มันก็มีสิ เมื่อนามรูปนี้มันทำให้เกิดสะฬายะตะนะ หรือสะฬายะตะนะนี้มันอาศัยอยู่ในนามรูปนี้ มันจึงเกิดสิ่งที่จะทำการติดต่อรู้สึก ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกว่า อายตนะ ๖
สะฬายะตะนะปัจจะยา ผัสโส ที่มันเข้ารูปที่อธิบายแล้วเมื่อสักครู่นี้ ก็มีสะฬายะตะนะ เป็นปัจจัย คือ ตากับรูปถึงก็เกิดวิญญาณ ๓ ประการนี้เรียกว่า ผัสสะ
มีอายตนะ ก็มีผัสสะ ก็มีผัสสะ ก็มีเวทนา ก็มีตัณหา มีอุปาทาน มีภพ มีชาติ เหมือนที่อธิบายแล้ว ปฏิจจสมุปบาท อย่าให้มันยุ่งกับเรา ทว่าที่จริงไม่ต้องมาสนใจก็ได้ สนใจแต่ปฏิจจสมุปบาทที่พระพุทธเจ้าเอามาฮัมเพลง มันสั้นเข้ามาและมันพูดเฉพาะเรื่องที่จะรู้สึกได้ มองเห็นได้ รู้สึกได้ เข้าใจได้ คือตากับรูปถึงกันเข้าเกิดการเห็นทางตา เกิดผัสสะ เวทนา ตัณหา เห็นได้ เห็นได้ชัดๆ ถ้าจะไปพูดเป็นอวิชชา เกิดสังขาร สังขาร เกิดวิญญาณ ก็ไม่รู้อยู่ที่ไหน แล้วคนส่วนมากไม่รู้ว่าวิญญาณ วิญญาณธาตุอยู่ที่ไหน อวิชชาอยู่ที่ไหน จะมาทำกันอย่างไรจึงจะมาเป็นวิญญาณทางอายตนะ มัน มันลำบากอย่างนั้น แต่มันก็ไม่เหลือวิสัย ถ้าพยายามศึกษาไปมันก็เข้าใจได้ เข้าใจได้
ในโรงเรียนมันสอนกันผิดๆ ถูกๆ เอาเกิดนามรูป แล้วเกิดจากท้องแม่เสียแล้ว พอนามรูปเกิด เกิดจากท้องแม่เสียแล้ว แล้วเดี๋ยวๆ ไปตอนท้าย ชาติปัจจะยา เกิดจากท้อง เกิดจากท้องแม่อีกครั้ง ยุ่งกันใหญ่ ทำไมเกิดตั้งสองหน เป็นเรื่องเกิดจากท้องแม่สองหน ที่มักสอนกันอยู่ตามโรงเรียน มันไม่ได้เกี่ยวกับท้องแม่ เรื่องปฏิจจสมุปบาททั้งสองชนิดนี้ ไม่ได้เกี่ยวกับท้องแม่ มันเกี่ยวกับชีวิตที่เป็นคนแล้วนี่ มีอายตนะคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วนี่ มันก็ตั้งต้นไปอย่างนั้น ตามลำดับนั้นแล้วเกิดความทุกข์ มันก็เกิดความทุกข์
คุณพยายามไปศึกษากันให้ดี จำให้แม่นยำว่า ปฏิจจสมุปบาทโดยเพียงเท่าที่ควรจะรู้จัก ตั้งต้นที่อายตนะ ที่พระพุทธเจ้าเอามาฮัมเพลง ศึกษาให้ดี เข้าใจให้ดี ให้แตกฉาน ให้ชัดเจนให้ดี เมื่อเข้าใจแล้วจึงค่อยไปสนใจปฏิจจสมุปบาทที่มันใหญ่ที่มันเพิ่มออกมาอีก ๒ - ๓ อย่าง อีก ๓ - ๔ อย่างก็แล้วแต่ อยากรู้ก็ได้ ไม่อยากรู้ก็ได้ แต่ว่า อันนี้ต้องรู้ ปฏิจจสมุปบาท ชนิดที่พระพุทธเจ้าเอามาทรงสาธยาย ท่านเรียกว่า สาธยายอยู่ตามลำพังจนภิกษุแอบไปได้ยิน ไปจับมอบให้ว่านี่เป็นอาทิพรหมจรรย์ เราทุกคนจงมีอาทิพรหมจรรย์ คือจุดตั้งต้นของพรหมจรรย์ คือการรู้ว่าความทุกข์เกิดขึ้นมาได้อย่างไร นี่จุดตั้งต้นของพรหมจรรย์ คือความรู้ชัดเจนลงไปว่า ความทุกข์เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ไม่ใช่ว่ามาบวช หรือมาลงมือทำอย่างนั้น ไม่ใช่ ไม่ตรงจุด จุดตั้งต้นของพรหมจรรย์ คือ การที่พยายามทำให้รู้ว่าความทุกข์เกิดขึ้นมาอย่างไร แล้วก็รู้ พอคลำปมนี้พบแล้วก็จุดตั้งต้นของพรหมจรรย์ที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ถ้าไม่เข้าใจก็เป็นเรื่องลึกลับ เป็นเรื่องผีสาง เป็นเรื่องอะไรก็ไม่รู้ ไม่มีประโยชน์ ไม่มีความหมาย แต่ถ้าเข้าใจชัดเจน โอ้, มันเรื่องของกูนี่ เรื่องของตัวเองตลอดเวลาๆๆ ไม่ว่าเวลาไหน มันมีแก่กู มีแก่ตัวเราเองตลอดเวลา
การรู้จักปฏิจจสมุปบาท ก็คือรู้จักตัวเองนั่นแหละ ยิ่งกว่ารู้จัก ยิ่งกว่ารู้จักว่าเกิดทุกข์อย่างไร ดับทุกข์อย่างไร ยังควมคุมได้ ควมคุมได้ ปฏิบัติไม่ให้เกิดความทุกข์เหล่านี้ โดยวิธีที่ฝึก ที่เราพูดไม่คืนที่แล้วมา คืนสุดท้ายที่แล้วมา ปฏิบัติสติปัฎฐาน อานาปานสติ เพราะว่าถ้าปฏิบัติอานาปานสติแล้ว สติ สติมันสมบูรณ์เหลือเกิน ปัญญาก็สมบูรณ์เหลือเกิน สมาธิก็สมบูรณ์เหลือเกิน เอาสติมาคอยกำหนดว่าอารมณ์มันเกิดขึ้นหรือมากระทบ สติเอาปัญญามาเผชิญหน้าอารมณ์ เป็นสัมปชัญญะ พิจารณาอารมณ์ ต่อสู้อารมณ์ เอากำลังของสมาธิมาเพิ่มให้มันมีน้ำหนักมากขึ้น ก็เกิดปัญญาคมแหลมแทงตลอดเรื่อง เรื่องโง่ เรื่องไม่รู้ อารมณ์บางทีมากระทบแล้วมันก็หลอกเราไม่ได้ อารมณ์ที่เข้ามากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็หลอกเราไม่ได้ เราก็ไม่มีเวทนาโง่ เวทนาโง่ เป็นบวกเป็นลบ เป็นยินดียินร้าย คงที่อยู่ในความถูกต้อง ไม่บวกไม่ลบก็สบาย แสนจะสบาย เรียกว่า ไม่เกิดกิเลสเมื่อสงบเย็น มีชีวิตสงบเย็น แล้วมันไม่สงบเย็นเปล่าๆ นะ สงบเย็นเป็นหมันแล้ว มันมีชีวิตสงบเย็นแล้วทำประโยชน์ ทำประโยชน์ ทำประโยชน์ไม่มีที่สิ้นสุด
ขอเตือนบ่อยๆว่า จำคำ ๒ คำนี้ไว้ สงบเย็นและก็เป็นประโยชน์ สงบเย็นและก็เป็นประโยชน์ เราจงมีชีวิตชนิดสงบเย็นและเป็นประโยชน์อยู่ทุกนาที ทุกเวลานาที ทุกหนทุกแห่ง จัดชีวิตนี้ให้สงบเย็น สงบเย็นและก็เป็นประโยชน์ ไม่มีความทุกข์ จึงเชื่อว่าความทุกข์ไม่มี ชีวิตนี้ก็ไม่ปัดเจ้าของ ไม่มีความโง่ที่ทำให้ชีวิตปัดเจ้าของ ชีวิตประเสริฐ ไม่ปัดเจ้าของ มีแต่ความสงบเย็นและเป็นประโยชน์ นี้คือเรื่องจิต เรื่องจิต ที่มันไม่เข้าใจแล้วก็ไม่มี ไม่รู้ไม่ชี้ ไม่รู้อยู่ที่ไหน ไม่ ไม่มีเรื่อง ไม่มีราว ลมๆ แล้งๆ คิดเสียอย่างนี้ แล้วก็หัวเราะร้องไห้ไปกว่าจะ กว่าจะตาย มีเรื่องให้ยินดีก็หัวเราะร่าไป มีเรื่องให้ยินร้าย ก็เป็นทุกข์เป็นโศกร้องไห้ไป นี่เรียกว่า บวกลบ บวกลบ บวกลบ เพียงเท่านี้มันก็ดีนะ แต่ถ้าบวกลบ บวกลบ แล้วมันก็เห็นแก่ตัวนะ แล้วมันก็ไปเบียดเบียนผู้อื่นนั้น นี่ปัญหาในโลกเกิดขึ้น เกิดความโง่เป็นตัวตน เป็นกู เป็นของกู แล้วมันก็เบียดเบียนผู้อื่นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เรื่องนี้ก็เอาไว้พูดกันทีหลัง เรื่องความเห็นแก่ตัว มันยาว แต่เดี๋ยวนี้ก็ได้พูดให้เห็นจุดตั้งต้นว่าจะเกิดความเห็นแก่ตัวขึ้นมาได้อย่างไร เพราะว่ามีความโง่นี่ อวิชชา ถ้าควบคุมกระแสปฏิจจสุมปบาทไว้ไม่ได้ กระแสแห่งปฏิจจสุมปบาทก็ไปถึงอุปาทาน ถึงภพ ถึงชาติ มีตัวตนเกิดขึ้นมาอย่างสมบูรณ์แล้ว มันก็เห็นแก่ตน เห็นแก่ตน เห็นแก่ตนนั่นแหละ ตัวเลวร้ายที่สุดคือความเห็นแก่ตน ตนไปโง่ให้มีตัวตน ทั้งที่มันไม่มีตัวตน ไปโง่ให้เห็นเป็นตัวตน แล้วก็เห็นแก่ตนขึ้นมาอีกว่ามีตัวตน แล้วเห็นแก่ตนขึ้นมาอีก ต่อไปนี้ก็มีความทุกข์ ตัวเองก็มีความทุกข์แล้วก็เบียดเบียนผู้อื่น ทั้งโลกก็มีความทุกข์ด้วยเพราะความเห็นแก่ตน อ้าว, เวลามันหมดแล้ว เรื่องความเห็นแก่ตนเอาไว้พูดวันหลัง
วันนี้ขอให้สรุปใจความได้สั้นๆว่า เรื่องจิต จิต จิต อย่าให้เป็นเรื่องทำเล่นๆ ลมๆ แล้งๆ ไม่มีตัว นั่นแหละคือตัวปัญหา ทำกับจิตไม่ได้ก็คือทำกับอะไรไม่ได้ ถ้าควบคุมจิตได้ ก็ควบคุมได้ทุกอย่าง มีความรู้เรื่องปฏิจจสุมปบาทก็จะควบคุมจิตได้ แล้วก็ปฏิบัติให้ถูกต้องตามนั้น แล้วความทุกข์ไม่มี ความทุกข์ไม่เกิด ความทุกข์ไม่ปรากฏ มีแต่ความสงบเย็น สงบเย็นและก็เป็นประโยชน์ สงบเย็น เย็น เย็น เย็นนี้เป็นความหมายของนิพพาน เอาไว้พูดกันสักทีก็ได้เรื่องนิพพานโดยเฉพาะ วันนี้ขอยุติการบรรยาย แล้วก็ขอปิดประชุม ปิดประชุม