แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คำถาม: ขอกรุณาให้คำแนะนำเกี่ยวกับการที่จะให้กรรมฐานหรือการฝึกสมาธิพระพุทธศาสนามาผสมผสานเป็นอันเดียวกันกับชีวิตประจำวันในโลกที่กำลังไม่ค่อยสงบ
คำตอบ : เราจะใช้วิธี วิธีของกรรมฐานในพุทธศาสนา จะเรียกว่า มาผสม มาผสมกันก็ได้ หรือไม่ต้องเรียกว่าผสมกันก็ได้ ปัญหาในโลกหรือส่วนตัวบุคคลมันมีอย่างไร จะใช้วิธีกรรมฐานในพุทธศาสนานั้นมาแก้ปัญหาเหล่านั้น นับตั้งแต่ว่า ถ้าไม่ให้เกิดความทุกข์ตั้งแต่ทีแรก พอมีปัญหาเกิดขึ้นก็อย่าให้มีความทุกข์แล้วก็แก้ไป แก้ไป ด้วยวิธีเหล่านั้นได้ตามลำดับ วิธีแก้ปัญหาหรือแก้ทุกข์ตามแบบของชาวบ้านนี่ มันก็ต้องถูกต้องตามธรรมชาติ เพราะมันเกิดตามธรรมชาติ ต้องถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ วิธีของชาวบ้าน วิธีทางธรรมะ ทางศาสนา ก็ต้องถูกกฎเกณฑ์ของธรรมชาติอีกเหมือนกัน แล้วมันก็ไปพบกันเอง เกิดถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ มันมารวมกันเอง แล้วมันก็ร่วมกันแก้ปัญหาเอง อยากจะพูดเลยไปถึงว่า จะเอาวิธีของศาสนาไหน ศาสนาหลายๆ ศาสนามารวมกันช่วยกันแก้ก็ไม่พ้นไปจากวิธีของธรรมชาติ เป็นแม้ว่าเขาจะเรียกเป็นอย่างอื่น ไม่ใช่ธรรมชาติมันก็ยังคงเป็นธรรมชาติ ตัวจริงของพระเจ้า พระเป็นเจ้า พระเจ้า ตัวจริงของพระเจ้าคือ กฎของธรรมชาติ ตามกฎของธรรมชาติ
คำถาม : ท่านอาจารย์จะเห็นด้วยหรือไม่ว่า การปฏิบัติ อานาปานสติ จำเป็นต้องมีเหตุปัจจัยภายนอกบางอย่างจัดการให้เรียบร้อยแล้ว เช่น ปัจจัย ๔ เป็นต้น นอกจากปัจจัย ๔ ก็เคยได้ยินถึง สัมมาอาชีวะ การที่จะรู้สึกว่าชีวิตนี้มีประโยชน์ แต่เดี๋ยวนี้อาชีพเช่นนั้นหายากในสังคมปัจจุบันนี้ เราจะทำอย่างไรที่จะขจัดความทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะเป็นทาสแห่งงานที่จะกินพลังงานของเราโดยว่างเปล่าไม่มีประโยชน์ เพื่อสักแต่ว่าหาเงิน
คำตอบ : พูดรวมกันได้เลยว่า เราจะเป็นอยู่ตามหลักการในโลกๆ ก็ดี หรือตามหลักการที่ว่าทางศาสนาจะทำ อานาปานสติ ก็ดี ก็ต้องมีพื้นฐาน พื้นฐานแห่งชีวิตที่ถูกต้อง ที่ถูกต้อง การเป็นอยู่หรืออาชีพก็ให้มันถูกต้อง ก็เป็นพื้นฐานที่ดีทั้งทางโลกและทั้งทางธรรมะหรือศาสนา นี้เป็นหลักทั่วไปจนพระพุทธเจ้าไม่ค่อยได้ตรัสถึงเรื่องนี้ แล้วก็ตรัสว่าก็มันดีอยู่แล้ว ก็มันดีอยู่แล้วตามนั้น ก็เลยทำเรื่องอื่นที่มันแปลกออกไป นี่ถือว่าการปรับปรุงระดับของชีวิตให้เป็นอยู่อย่างถูกต้องนี่ก็เป็นหลักทั่วไป ถูกต้องตามธรรมชาติ แล้วมันก็ถูกต้องตามหลักทางศาสนาเอง ทีนี้เราไม่ต้อง ไม่ต้องเป็นห่วง ไม่ต้องกังวลเรื่องนี้ จะพยายามทำหน้าที่ หน้าที่ หรือว่าบทเรียนก็ตามที่เราจะต้องทำให้มันดีที่สุด เมื่อระดับการเป็นอยู่ในชีวิตมันถูกต้องแล้วมันก็ง่าย ง่ายที่จะปฏิบัติธรรมะ เรียกว่ามันถูกต้อง สะดวก สบาย แล้วมันก็สะดวกสบายในการที่จะดำรงอาชีพ ทำอาชีพด้วย จะปฏิบัติธรรมะด้วย ใช้พื้นฐานเดียวกันรองรับทั้ง ๒ ฝ่าย
ทีนี้มาบวชเป็นพระหรือเป็นชี ระเบียบที่เป็นวินัย ส่วนวินัยของการเป็นพระเป็นชีมันปรับของมันเอง ปรับขึ้นฐานชีวิตให้เหมาะสมที่จะปฏิบัติธรรมะให้สูงขึ้นไป อ้าว. ทีนี้ไม่ได้บวช อยู่ที่บ้านนี่ ต้องทำงานประกอบอาชีพที่เรียกว่า ตามชาวโลกนี่มันก็จำเป็นที่จะต้องมีการปรับให้มันเหมาะสม การมีสติ มีสมาธิตามแบบของศาสนานี้ก็ช่วยได้มาก ชาวบ้านนั่นแหละมีสติ มีสมาธิ มีปัญญา มีสัมปชัญญะ มันก็ปรับในตัวของมันเอง
ขอเติมอีกนิดว่า เรามีคำพูดที่ออกจะแปลกสำหรับท่านว่า มีการบวชอยู่ที่บ้าน ไม่ได้มาออกมาบวชอยู่อย่างนอกบ้านเป็นที่วัดนี่ เรามีการบวชอยู่ที่บ้าน หมายความว่า เราประพฤติได้ผลอย่างเดียวกันกับที่ออกมาบวช แต่ว่า อย่างนี้เรียกว่า บวชอยู่ที่บ้าน สามารถจะทำให้ได้ผลในทางดับทุกข์ได้เหมือนกัน จำไว้เถอะคำว่า บวชอยู่ที่บ้าน หัวใจของการบวชก็คือ การระวังอย่าให้ Concept ว่าตัวกู ตัวตนเกิด อย่าให้ความรู้สึกว่าตัวกูหรือตัวตนเกิดนั้นแหละหัวใจของการบวช อยู่ที่ไหนก็ตามแต่ เมื่ออยู่ที่วัด บวชแล้วมาอยู่ที่วัด แต่ในจิตใจเต็มไปด้วยตัวตนเหมือนกับยังไม่บวช ไม่ชื่อว่าบวช
คำถาม : เราสามารถกล่าวได้ว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาไม่มีพระเจ้าได้ไหมครับ
คำตอบ : ข้อนี้เราไม่ได้พูด ชาวต่างประเทศเป็นผู้พูดคือ ฝรั่งเป็นผู้พูด นักศึกษาฝรั่งเขาไปจัดมันให้ศาสนามีพระเจ้าพวกหนึ่ง ไม่มีพระเจ้าพวกหนึ่ง แล้วก็จัดให้พุทธศาสนาไม่มีพระเจ้า ทั้งเขาให้คำจำกัดความพระเจ้าตามแบบของเขา แคบมาก เหมือนกับพระเจ้าอย่างที่กล่าวในคัมภีร์ไบเบิ้ล เป็นต้น ชาวพุทธเรายังมีพระเจ้า พระเจ้าอีกในความหมายหนึ่ง ที่ไม่ใช่เป็นบุคคล ไม่ใช่บุคคลที่มีความรู้สึกอย่างคน แต่ว่าเป็นกฎ กฎของธรรมชาติ กฎของธรรมชาติ ในภาษาบาลีก็เรียกว่า กต ในภาษาไทยก็เรียกว่า กฎ มัน Intelligent (นาทีที่ 17.58น) ที่ว่าไอ้กฎนี้จะพูดเป็น กฎ กฎ พอยาวก็เป็น God แล้วมีพระเจ้าอย่าง กฎ พุทธศาสนามีพระเจ้าอย่างมิใช่บุคคล เพราะนั้นถ้ามาคิดอย่างที่ ที่เราคิดคือ ฝ่ายชาวพุทธคิดนี่ พุทธศาสนาก็มีพระเจ้า มีพระเจ้าแต่ไม่ใช่อย่างบุคคล มีพระเจ้าอย่างไม่ใช่บุคคล ต้องถือว่าพุทธศาสนาก็มีพระเจ้า หากแต่ว่ามิใช่อย่างบุคคล กฎของธรรมชาติที่เฉียบขาด ที่เด็ดขาด น่าเกรงขามที่สุดเหมือนกับพระเจ้านะ แต่ว่าเป็นกฎของธรรมชาติ นี้คือพระเจ้าตามผู้สมมุติ ผู้ทรงโวหารสมมุติ ของชาวบ้านเป็นพระเจ้าในพุทธศาสนา ไม่มีพระเจ้าที่เป็นบุคคลผู้ต่างๆ ต่างๆ อย่างที่เรียกในฮินดูหรือในคริสต์นะ ไม่มี ไม่มีพระเจ้าอย่างนั้น แต่มีพระเจ้าอย่างที่เป็นกฎคือ มิใช่บุคคล
เรื่องมันได้เคยเกิดมาแล้ว เล่าเรื่องในรัฐบาลประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเขาได้รับเสรีภาพใหม่ๆ คือจัดการตามกฎหมาย รัฐบาลให้เงินช่วย Subsidy ต่อประชาชน ต่อประชาชนคือ ราษฎรของประเทศ แล้วทีนี้พวกที่เป็นพุทธบริษัทมาแต่ก่อนมันก็มี เขาถือว่าพวกที่ถือพุทธนี่ไม่มีศาสนา เพราะไม่มี God เมื่อมันไม่มี God ก็ไม่มีศาสนา ถ้าไม่มีศาสนาก็ไม่ถือว่าเป็นประชาชนที่ถูกต้องตามกฎหมาย แล้วเขาก็ไม่ให้เงิน Subsidy แล้วก็มีผู้เอาความคิดอันนี้ไปต่อสู้กับรัฐบาลว่า เรามี God อย่าง Impersonal God เราก็มี God ดังนั้นเราก็มีศาสนา ดังนั้นเราก็เป็นประชาชนของประเทศอินโดนีเซีย จะมาจัดเราเป็นผู้ไม่มีศาสนาแล้วไม่ใช่ประชาชนเสียไม่ได้ รัฐบาลก็ตกลงที่จะยอมจ่ายเงิน Subsidy ให้เหมือนกับคนอื่นๆ ที่ถือศาสนาอิสลาม เป็นอันว่าให้เรามีทั้ง ๒ ก็แล้วกัน มี Impersonal God มี Personal God แล้วไปคิดดูเอาเองว่าอันไหนน่ากลัวกว่า อันไหนน่ากลัวกว่า
คำถาม : ตามความเห็นของข้าพเจ้า ความตายเป็นการดับสนิทแห่งกายและใจ หลังจากนั้นจะมีแต่ความไม่มีอะไรเลยหรือ Nothingness ความไม่มีอะไรเลย ซึ่งพวกพุทธบริษัทคงจะเรียกว่า นิพพาน อันนี้เป็นความเห็นของชาวพุทธหรือไม่ หรือจะพูดอย่างอื่น หรืออย่างไร
คำตอบ : ความเห็นอย่างนั้นผิด ไม่ใช่ชาวพุทธ ไม่ใช่ชาวพุทธ เนื่องจากใช้คำผิด ไปใช้คำว่า Nothingness ถ้าจะใช้คำว่า Nothingness แล้วมันก็ต้องตีความให้ถูกว่า มันไม่มีอะไรที่เป็นตัวตนนะ มันมีมากอย่าง มีสารพัดอย่าง แต่ว่าไม่มีอะไรไม่ได้ แต่ว่าไม่มีอะไรที่เป็นตัวตน ถ้า Nothingness อย่างนี้แล้วก็ใช้ได้ มันเข้าใจยาก เพราะนั้นเราเอาว่าไม่มีตัวตนดีกว่า เราก็สามารถเข้าถึง Nothingness เช่นนี้ได้ตั้งแต่ยังเป็น ยังมีชีวิต ไม่ต้องรอต่อตายแล้ว เมื่อเราไม่ยึดถืออะไร ไม่รับกับอะไรเป็นตัวตน มันก็เท่ากับไม่มีอะไร เข้าถึงความว่าง ใช้คำว่า ว่าง ดีกว่าใช้คำว่า Nothingness ซึ่งมันทำให้เข้าใจผิดได้ คำนั้นทำให้เข้าใจผิดได้ มันมี มันมี แต่ว่าไม่มีอะไรที่เป็นตัวตน สิ่งที่เรียกว่า Nothingness ถ้าไม่มีอะไรเป็นของตนแล้วก็เท่ากับว่าไม่มีอะไร มิใช่คำมันกำกวมอย่างนี้ Quenching -Quenching มีได้โดยไม่ต้องตาย ยังไม่ตาย ไม่ต้องตายก็มี Quenching ถ้า Quenching มีแต่ตายแล้วจะมีประโยชน์อะไร มันจะมีประโยชน์อะไร มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร Quenching นี้ต้องมีตั้งแต่เมื่อยังไม่ตาย Quenching มีต่อเมื่อไม่ได้ยึดอะไรว่าเป็นตัวตน ไม่มีสิ่งที่ยึดว่าตัวตน ไม่มีสิ่งที่ยึดว่าตัวตนนั่นมันจึงจะ Quench-Quench แล้วก็ไม่ต้องตาย เราก็อยู่ได้เยือกเย็นโดยที่ไม่ต้องตาย คำพูดนี่มัน คำพูดมันกำกวมแล้วก็ตีความไม่ถูก Nothing-Nothing ฝ่าย Physic มันก็อย่างหนึ่ง Nothing ฝ่าย Spiritual มันก็อีกอย่างหนึ่ง ถ้าฝ่าย Physic มันก็ไม่มีอะไรเลย ไม่มีอะไรเลย ถ้าจะว่าฝ่าย Spiritual มันก็มีทุกอย่างแต่ไม่ถูกยึดถือว่าเป็นของฉัน มันก็เท่ากับไม่มี คำว่า Nothing มัน ๒ ความหมายอย่างนี้ ถ้าจะไม่ให้ปนกันยุ่ง ไม่มี Confuse อะไรละก็ ใช้คำบาลีเสีย ฝ่ายนี้ อัตตา อัตตา มี มีตัวตน มีๆๆ อย่างเต็มที่ มีอัตตา มีตัวตน ฝ่ายสุดเท่านี้ อนัตตา(นาทีที่ 33.04) ฝ่ายนี้ นิรัตตา นิรัตตา ไม่มีอะไรเลย ไม่มีอะไรเลย ไม่มีอะไรเลย แต่ตรงกลางนี่เป็น อนัตตา มีแต่ไม่ใช่ตัวตน มีๆๆๆ แต่ไม่ใช่ตัวตน เราถือว่ามี มีชีวิต มีอะไรก็ตามแต่มันไม่ใช่ตัวตน นี่เรียกว่า อนัตตา ฝ่ายนี้เรียกว่า อัตตา อัตตา ฝ่ายนี้เรียกว่า นิรัตตา นิรัตตา Nothingness ฝ่ายนี้ก็ว่ามีๆๆ แต่ตรงกลางนี่มี มี แต่มิใช่ตัวตน นั่นละคือความรู้ที่ถูกต้อง มันมีแต่มันไม่ใช่ตัวตน ถ้าเป็นอีกเรื่องก็ว่าไม่มี ไม่มี ก็ใช้คำ Nothingness เฉพาะส่วนนั้น ก็ส่วนที่มันไม่ใช่ตัวตนมันมีอยู่ ถ้าอยากจะใช้คำธรรมดา ธรรมดาที่เราใช้กันทุกภาษา ใช้คำธรรมดาก็ว่า ทางนี้ว่า มี ทางนี้ว่าไม่มี แต่ตรงกลางว่ามีแต่ไม่ใช่อัตตา มีแต่ไม่ใช่อัตตา นี่อย่างนี้ถูกแล้ว นี้มีๆๆ นี้ไม่มีๆๆ นี้มีแต่ไม่ใช่อัตตา เรียกว่าอยู่ตรงกลาง Middle way อยู่ตรงกลางคือ มีแต่ไม่ใช่อัตตา จำไว้ว่า Not self ไม่ใช่ No self Not self
คำถาม : ข้าพเจ้าอยากจะถามว่า พุทธศาสนามีทัศนะอย่างไรเกี่ยวกับการ Creation ของ Universe คำตอบ : นี้ก็เหมือนกันแหละ ถ้าใช้ Creation อย่าง Physical มันก็อย่างที่เขามีๆ กันอยู่ ถึงจะมีความหมายทาง Spiritual ความหมายนี้แล้วมันก็ว่า มันหยาบคายนะ ความไม่รู้ อวิชชา ความไม่รู้เป็นผู้สร้าง ถ้ามันรู้มันไม่สร้าง มันรู้มันไม่สร้าง ในคัมภีร์ไบเบิ้ล อ่านพบว่าพอพระเจ้าสร้างโลก สร้างอะไรเสร็จหมดแล้วพระเจ้า โอ้, นี่ผิดไปแล้ว นี่ทำผิดเสียแล้ว อย่างนี้ก็ไปดูซิ พระเจ้าคิดว่าทำผิด นั่นแหละความไม่รู้มันสร้าง ถ้าพูดกันอย่างหลักพุทธศาสนาก็อวิชชาเป็นผู้สร้างสิ่งต่างๆ ถ้ามันมีวิชชาแล้วมันจะไม่สร้างอะไรเลย พูดให้มันชัดง่ายๆ ก็ว่า ความไม่รู้ว่าไม่ควรสร้าง ไม่รู้ว่าไม่ควรสร้างนั่นแหละมันสร้าง ไม่รู้ว่าไม่ควรสร้างนี้ไม่ควรสร้าง มันไม่รู้ว่าไม่ควรสร้างนั้นแหละมันสร้าง ท่านไปที่ตลาดซื้อของที่ไม่ควรซื้อมาเยอะเต็มบ้านเต็มเรือนเลย นี่ความไม่รู้ว่าไม่ควรซื้อมันทำให้ซื้อมา นี่ก็เหมือนกัน ความไม่รู้ว่าไม่ควรสร้าง ไม่ควร มันไม่รู้ข้อนี้มันก็เลยสร้าง ความไม่รู้ว่าไม่ควรสร้างนะมันสร้าง อันนี้ไม่ควรสร้าง
ครั้งหนึ่งอาตมาถูกเขาด่า อิสลามก็ด่า คริสเตียนก็ด่า ด่า ด่าอาตมาว่า พูดว่า อวิชชา คือ พระเจ้า อวิชชา คือ พระเจ้า เขาโกรธแล้วเขาด่า ไม่ใช่ Criticize หรอก Scorn ถูกด่า ถูกด่าในภาษาไทย ถูกด่า เดี๋ยวนี้เขาพูดว่า ความไม่รู้ว่าไม่ควรสร้างแหละสร้าง มันก็คือ อวิชชา
คำถาม : มีความแตกต่างกันอย่างไร ระหว่างการนั่งสมาธิ หรือการเดินสมาธิ หรือเดินจงกรม ด้วยผล ด้วยผลมันต่างกันอย่างไร
คำตอบ : นี่ต้องทราบกันเสียก่อนว่าต้องการให้ทุกอิริยาบถ เดิน ยืน นั่ง นอน กิน อาบ ถ่าย ทุกอิริยาบถ ให้ทำไปโดยมองเห็นว่าไม่มีผู้ทำ ไม่มีผู้ทำ ไม่ใช่เฉพาะการเดินหรอก เดี๋ยวนี้มันสะดวกที่จะฝึกเรื่องเดินแล้วมันจึงพูดกันแต่เรื่องเดิน ที่จริงต้องใช้ทุกอย่าง ทุกอย่าง ทำไปโดยไม่มีผู้ทำ มันจะไปทำอะไรก็ตาม จะไปนั่ง ไปนอน ไปยืน ไปเดิน ไปซื้อของ ไปที่ทำอะไรทุกๆ อย่าง ขอให้มีความรู้สึกในใจอยู่เสมอว่าไม่มีตัวผู้ทำ ไม่มีตัว Self คือ Self Ego Ego-Self ไม่มีตัวนั้นที่ทำ มันมีแต่ความคิด จิตใจ ร่างกาย จิตใจ จิตใจมีความคิดแล้วก็ทำไป อย่ามีตัวตนเป็นผู้ทำ ฝึกมันทุกแห่ง ถ้าอย่างนี้มันจะไม่เกิดความรู้สึกเป็นบวกหรือเป็นลบ เพราะมันไม่มีตัวผู้ทำ คือไม่มีผู้ได้ ไม่มีผู้เสีย แล้วมันจึงไม่เป็นบวก ไม่เป็นลบ มันก็สบายดี ถ้าเป็นบวก เป็นลบ มันก็มีปัญหาเรื่อยไม่มีที่สิ้นสุด ในทุกๆ กรณีก็ขอเปลี่ยนคำเป็น Doing without doer กับ Working without worker นี่เป็นเฉพาะเรื่องนี้เรื่องเดียว ไม่ ไม่หมด ไม่ทั้งหมด ทั้งหมด แล้วก็เปลี่ยนเป็นว่า Doing without doer ปฏิบัตินะ คือถือว่าตัวผู้ทำนะ Doer ไม่ใช่ Self ไม่ใช่ Ego ไม่ใช่ Self นั่น มีความหมายเท่านั้น ไอ้ตัวผู้ทำ ไม่ใช่ตัว Self ไม่ใช่ Ego self ไม่ใช่อัตตา ไม่ใช่อัตตา ถ้าอย่างนี้แล้วก็มี Doing without doer ได้ทุกอย่าง ทุกอย่าง
คำถาม : อย่างนั้นใครเป็น Doer อะไรเป็น Doer
คำตอบ : จิตที่มีสติปัญญา มีความรู้ถูกต้อง ว่าอันนี้ควรทำ อันนี้ไม่ควรทำ จิตไม่ใช่อัตตา จิตไม่ใช่อัตตา จิตที่ไม่ใช่อัตตามีสติปัญญาบอกนี้ควรทำ นี้ไม่ควรทำ แล้วก็สั่งให้ร่างกายทำ แต่ว่ามีลัทธิบางลัทธิที่เขาว่าจิตคืออัตตา คือว่า วิสุทธิมรรคจิต คืออัตตา นี้เราไม่เอา จิตไม่ใช่อัตตา จิตโง่เป็นผู้ทำผิด จิตฉลาดเป็นผู้ทำถูก จิตเป็นผู้ทำ ทั้งจิตโง่และจิตฉลาดไม่ใช่ อัตตา
คำถาม : นิพพาน หมายความว่า จะไม่มีชีวิตอีกต่อไปอยู่บนโลกนี้ ตามที่เรารู้จักหรือ แล้วจะ ถ้าอย่างนั้นจะไปไหน มันรู้สึกว่ามันไม่มีหวังที่มนุษย์จะอยู่ในโลกนี้โดยสติปัญญา เราจะมีชีวิตอย่างธรรมดาเหมือนกับธรรมชาติทั้งหลาย ธรรมชาติอื่นๆ นอกจากมนุษย์ นิพพาน คือไม่ได้อยู่ในโลกนี้ต่อไปหรือ
คำตอบ : นี้มันเป็นปัญหาเกี่ยวกับคำพูด เป็นนิพพานไม่ต้องตาย ไม่ต้องตาย ไม่ต้องตาย จิตบรรลุถึงนิพพาน นิพพานไม่ใช่จิต แต่ว่าจิตบรรลุถึงนิพพาน แล้วคนก็ไม่ต้องตาย มันบรรลุถึงผลของความถูกต้องทั้งหมดแล้วก็มีความเย็น มีความสงบเย็นนั่นแหละ จิตบรรลุถึงภาวะที่สงบเย็นโดยแท้จริง เรียกว่าบรรลุนิพพานแล้วไม่ต้องตาย แล้วมันไม่ต้องไปไหน ไม่ต้องมาที่ไหน แล้วไม่ต้องอยู่ที่ไหน คุณเข้าใจไหม ไม่ไปที่ไหน ไม่มาที่ไหน ไม่อยู่ที่ไหนนั่นละคือนิพพาน คือจิตไม่มีตัวตน ไม่รู้สึกว่ามีตัวตน แต่มันรู้สึกผลของความไม่มีตัวตนนั่นแหละ ความรู้ที่ว่าไม่มีตัวตนนั่นแหละมันทำให้เย็น มันทำให้เย็น เพราะนั้นจิตก็สัมผัสนิพพานได้ไม่ต้องตาย ได้รับความเย็นที่เป็นผลของความรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน ถ้าถามว่าอยู่ที่ไหนเมื่อยังไม่ตายมันจะอยู่ที่ไหนก็ตามใจมัน อยู่ที่นี่ก็ได้ อยู่ในโลกนี้ก็ได้แต่ว่าอยู่เหนือโลก ถ้าอยู่ในโลกมันก็อยู่เหนือโลก ร่างกายมันอยู่ในโลกแต่จิตใจมันอยู่เหนือโลก ข้อนี้ฟังให้ดีเถอะว่าแม้ว่าเราจะต้องกิน ต้องทำ ต้องเหมือนกับคนในโลก แต่ว่าจิตใจของเราอยู่เหนือปัญหาเหล่านั้น เหนือความหมายเหล่านั้น นี่เรียกว่าเหนือโลก เหนือโลก ไม่ใช่ทิ้งโลกไป ไม่ใช่ แต่ว่าอยู่เหนือ อยู่เหนือ เหนือปัญหา เหนือความทุกข์ เหนือความยุ่งยากลำบาก ที่เรียกว่า โลก โลกคือความทุกข์ อยู่เหนือความทุกข์ก็เรียกว่าอยู่เหนือโลกนั่นแหละคือ นิพพาน ไม่ต้องตาย ไม่ต้องไปไหน ไม่ต้องมาไหน แล้วไม่ต้องอยู่ที่ไหน แล้วทำอย่างนี้ทำยากนะไม่ได้อยู่ที่ไหน เพราะว่ามันไม่มีตัวตน ไม่มีผู้อยู่ มันก็เลยไม่ได้อยู่ที่ไหน เมื่ออยู่ที่บ้านของท่าน ท่านอยู่ที่บ้านของท่าน ที่บ้านของท่าน เราอยู่กับบ้านของเรา นี่ไอ้ความรู้สึกมันก็อย่างหนึ่ง ทีนี้ท่านมาอยู่ที่นี่มันไม่ใช่บ้านของท่าน ท่านไม่อาจจะมีความคิดว่านี่บ้านของท่าน แต่ท่านก็ไม่ตายใช่ไหม ใครตายบ้างไหม ไม่มีใครตายสักคน มาอยู่ที่นี่ซึ่งไม่ใช่บ้านของท่าน เมื่อท่านกลับไปบ้านนี่ก็ไปอยู่ที่บ้านอย่างที่ไม่ใช่บ้านของท่านมันจะ Quench มันจะ Quench แต่เมื่อมันไม่มียึดถืออะไรว่าเป็นของตน นิพพาน แปลว่า Quench ดีกว่า อย่าแปลว่าตาย ไม่เกี่ยวกับความตาย ไม่ได้เกี่ยวกันเลยกับความตาย กลับไปบ้านมันก็อยู่ที่นี่ กลับไปอยู่บ้านมันก็อยู่ที่นี่
มีชีวิตโดยไม่ต้องโง่ไปว่าชีวิตของฉัน มีชีวิตโดยไม่ต้อง ไม่ต้องเป็นของฉัน นั่นแหละมันจะ Quench ชีวิตมันจะ Quench พอเป็นของฉันแล้วมันลุกเป็นไฟ ในอินเดีย ในสมัยโบราณ ครั้งพุทธกาลก็จะมีการสอนว่านิพพานคือตายเหมือนกัน นิพพานนี้ให้ความหมายต่างๆๆๆ กันหลายพวก ก็มีบางพวกแม้ในอินเดียในครั้งพุทธกาลก็ให้ความหมายว่าตาย พอพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมันก็ โอ้, มันไม่ใช่ตาย มันเหนือตาย มันเหนือปัญหาแห่งความตาย นิพพานในพุทธศาสนาไม่ใช่ตาย อยู่เหนือปัญหาแห่งความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายทุกอย่าง นั้นแหละคือมัน Quench มัน Quench ของสิ่งที่มีความร้อนหรือมีความทุกข์ นิพพานคำนี้ก็มี Synonym ว่า อมตะ อมตะ แปลว่าไม่ตาย แต่มันก็มี Synonym ว่า มิได้อยู่ มิได้อยู่ มันทั้งมิได้อยู่และทั้งมิได้ตายแหละเข้าใจไหม ถ้ามันไม่มี Self ไม่มีตัว Self แล้วมันก็ไม่มีอะไรอยู่ แล้วมันไม่มีอะไรตายนะ ความที่มันไม่มี Self มันไม่มีอะไรอยู่ มันไม่มีอะไรตาย มันจึงเป็น Quench อย่างยิ่ง Quench อย่างสูงสุด รู้จักนิพานอย่างนี้ถูก อมตะ อภวะ อภวะมันไม่อยู่ อมตะไม่ตาย ขอให้พยายามทำความเข้าใจข้อนี้ไว้ ไม่อยู่และไม่ตายนั่นคือสบายที่สุด อย่าไปคิดว่าทำยาก อย่าไปคิดว่าทำยาก เข้าใจว่าทำยากแล้วมันก็ไม่ทำเท่านั้นแหละ ต้องพยายาม พยายามจะอยู่อย่างที่ไม่ได้อยู่และไม่ได้ตาย ยอดสุดของไอ้ความสุข เวลาบางเวลาเราไม่รู้สึกว่ามีตัวเรา เราลืมตัวเราหมด ลืมหมดทุกอย่างเวลานั้นเป็นอย่างไร เวลานั้นว่างที่สุด สบายที่สุด เมื่อไม่มี ไม่มีตัวเราแล้วไม่มีอะไร มันว่างที่สุดแล้วสบายที่สุดก็เรียกว่า Quench ที่สุดก็ได้ ไม่มีตัวเราก็ไม่มี Positive ไม่มี Negative พอมีตัวเรามันก็มี Positive ก็มีปัญหาอย่าง Positive เป็น Negative ก็มีปัญหาอย่าง Negative ไม่มีทั้ง๒ อย่างนั่นคือ Quench
คำถาม : กรุณาอธิบายคำว่า Reincarnation ว่ามันหมายความว่าอย่างไร แล้วกรรมหรือกรรมะ มันจะเนื่องอยู่กับชีวิตก่อนหรืออย่างไร ช่วยอธิบาย
คำตอบ : เมื่อพูดถึงคำว่า Reincarnation หรือ Rebirth หรือ เกิดใหม่ นั่นนะ มันก็ต้องถามกันก่อนว่า ในความหมายของพวกไหน คือ ลัทธิไหน ในความหมายของพวกหนึ่งเป็นเรื่องทางวัตถุ ทางร่างกายมากเกินไป เขาก็หมายถึงว่า เกิดมาแล้วก็อยู่ แล้วก็ตาย แล้วก็เข้าโลง เข้าโลง ไปแล้วก็เกิดใหม่ นี่ก็เรียกว่าเกิดใหม่ เป็นไปแต่ในทางกาย ทางวัตถุอย่างนั้น ส่วนทางพุทธศาสนามีความลึกซึ้งกว่านั้น ไม่ใช่เกี่ยวกับกาย ไม่ใช่เกี่ยวกับกาย เกี่ยวกับความรู้สึกคิดนึก มีความรู้สึกคิดนึกว่า Sense-Sense-Sense ขึ้นมาทีหนึ่งแล้วก็เรียกว่าเกิด เกิดตัวกูทีหนึ่ง เกิดตัวกูทีหนึ่ง อันนี้ดับไปแล้วอันหนึ่งเกิดอีก อันหนึ่งดับไปอันหนึ่งเกิดอีก วันหนึ่งๆ เกิดได้หลายสิบครั้ง เพราะนั้น Rebirth อย่างนี้วันหนึ่งได้หลายสิบครั้ง อย่างที่อธิบายมาแล้วในเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท มันมีคำว่า เกิด เกิด มีหนึ่ง ปฏิจจสมุปบาท มีรอบ ปฏิจจสมุปบาท ก็มีเกิดทีหนึ่ง ถ้าวันหนึ่งมีหลายรอบ ปฏิจจสมุปบาท เขาก็มีเกิดหลายรอบ เพราะนั้นการเกิดทีหลังเรียกว่าเกิดใหม่ เกิดใหม่โดยไม่ต้องตาย โดยไม่ต้องตายไปเข้าโลง อยู่ที่ตรงนี้ ทำอะไรอยู่ ทำอะไรอยู่นี่ก็มีการเกิดใหม่เรื่อยไป เกิดใหม่เรื่อยไป นี่เรียกว่าการเกิดใหม่ตามหลักพุทธศาสนาคือตามหลัก ปฏิจจสมุปบาท แต่ถ้าเป็นของพวกอื่น ฮินดู พวกอื่นหรือพวกไหนเขาว่าต้อง มันทีเดียวนะ เกิดมาทีเดียวก็ตายเข้าโลง เกิดมาทีเดียวอย่างนั้นมันน้อยมาก มันน้อยมาก ทีนี้เราถือว่าไม่มีปัญหา ไม่ใช่ปัญหา ไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นทั้งนั้น เกิดใหม่ทั้งนั้น ไม่มีปัญหา ไปตามธรรมชาติ แต่ว่าเกิดใหม่ชนิดนี้ ชนิดมีปัญหา เกิดทุกทีเป็นทุกข์ทุกที เกิดทุกทีเป็นทุกข์ทุกที ระวังอย่าให้เกิดใหม่ อย่าให้เกิดใหม่ พอทำ ทำแต่อย่าทำให้เกิดใหม่ อย่าให้มีความทุกข์
ทีนี้คำถามที่ ๒ ว่า ไอ้เรื่องกรรมอยู่ที่ตรงไหน กรรมก็มี Action มี Reaction อยู่ที่ไหนมันก็อยู่ที่ตรงนั้นแหละ มันอยู่ที่ตรงนั้นแหละ มันไม่ได้มากับการเกิดใหม่ ข้อนี้สำคัญมาก พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้เองว่า ความสุข ความทุกข์ของเราไม่ได้เนื่องมาจากกรรม กรรมในชาติก่อน ไม่ ไม่ มันอยู่ที่ว่าทำผิดหรือทำถูกต่อการเกิดใน ปฏิจจสมุปบาท ถ้าเกิดใน ปฏิจจสมุปบาทไม่ถูกมันก็เป็นทุกข์ เกิดถูกต้องไม่ยึดถือมันก็ไม่เป็นทุกข์ เพราะนั้นสุขหรือทุกข์นี่ไม่ใช่ผลของกรรมเก่า แต่มันจะเป็นเรื่องของกรรมใหม่ใน ปฏิจจสมุปบาท นั่นเอง ไม่ต้องนึกถึงกรรมเก่า ระวังแต่กรรมใหม่อย่าให้มันผิด ปฏิจจสมุปบาท แล้วมันก็จะไม่เป็นทุกข์ นี่เรื่องกรรมในพุทธศาสนา นี่เรื่องเกิดใหม่ Rebirth ในพุทธศาสนา ต่างจากพวกอื่นอย่างลิบลับ ถ้าสมมุติว่าจะมีกรรมเก่า กรรมเก่าอยู่นะ เราสามารถที่จะควบคุมมันเสีย หยุดมันเสียได้ด้วยกรรมใหม่ คือการปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักของ ปฏิจจสมุปบาท กรรมเก่าก็เลิกไปเพราะว่าควบคุมได้ด้วยกรรมใหม่หรือเลิกมันเสียได้ด้วยกรรมใหม่แล้วก็เป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์ท่านควบคุมกรรมทั้งหมดได้ ไม่มีอีกต่อไป กรรมเก่า กรรมเก่า อย่าไปสนใจมันนักเลย มีกรรมใหม่ให้ถูกต้อง ถูกต้องแล้วควบคุมกรรมเก่าหรือยกเลิกกรรมเก่าก็เป็นพระอรหันต์ ถ้าเกิดจะต้องเป็นทุกข์ ถ้าไม่เกิดก็ไม่เป็นทุกข์ ถ้ามันไม่เกิดในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าตาย ไม่เกิดในที่นี้ไม่ใช่ตาย คือมันไม่เกิดตัวกู ไม่เกิดอัตตา ไม่เกิด Self ถ้าเกิดก็หมายความว่าเกิด Self ไม่เกิดก็คือไม่เกิด Self ถ้าเกิด เกิด Self ก็เป็นทุกข์ ไม่เกิด ก็ไม่เกิด Self ก็ไม่เป็นทุกข์ แล้วก็ไม่ต้องตาย ขอให้เข้าใจความหมายนี้ให้ดีมันสำคัญมาก ถ้าเกิดมันหมายถึงเกิดของ Self มันก็ต้องเป็นทุกข์ ถ้าไม่เกิดมันไม่ได้เกิดของ Self มันก็ไม่มีความทุกข์ เพราะนั้นเราอยู่อย่างไม่เกิด นี่ก็ยังไม่เกิด เราก็ไม่ตาย เราไม่เกิดก็ไม่มีอะไรตาย ไอ้ไม่เกิดนั่นแหละคือไม่ตาย ดังนั้นมันก็จะมีคำพูดขึ้นมาที่ว่า คุณก็จะคิดว่ามันบ้าบอที่สุด บ้าบอที่สุดคือจะพูดว่า ไม่เกิดนั่นแหละอยู่นิรันดร ไม่เกิดนั่นแหละอยู่นิรันดร อยากอยู่นิรันดรก็อย่าเกิด ถ้ามันไม่เกิดตัวตน ไม่เกิดตัวกู มันก็เป็นนิรันดร คงที่นิรันดร ไม่เกิดนั่นแหละอยู่ด้วยกัน บ้าที่สุด เป็นคำพูดที่บ้าที่สุด คุณมันเกิดเก่งวันหนึ่งเกิดกี่สิบครั้ง เกิดกี่สิบครั้งนะ Concept ว่า Self เกิดขึ้นทีก็เกิดขึ้นที วันหนึ่งๆ เกิดหลายสิบครั้ง เกิดทุกทีก็เป็นทุกข์ทุกที คือมีปัญหาทุกที บวกมันมีปัญหาอย่างบวก ลบก็มีปัญหาอย่างลบ จึงพูดได้ว่าเกิดทุกทีเป็นทุกข์ทุกที พอไม่เกิดก็เป็นชีวิตนิรันดร บ้าที่สุดใช่ไหม มันเกี่ยวกับภาษา ชาวบ้านพูดภาษาหนึ่ง ทางศาสนาพูดอีกภาษาหนึ่ง คนธรรมดาพูดภาษาหนึ่ง พระอรหันต์พูดอีกภาษาหนึ่ง พยายามทำความเข้าใจกันให้ดีๆ อย่าทึกทักเอาง่ายๆ ว่ามันเหมือนกัน มันไม่เหมือนกัน มันตรงกันข้ามเสมอ คำพูดหรือความรู้สึกของคนธรรมดากับของพระอรหันต์มันจะตรงกันข้ามเสมอ
คำถาม : อะไรเป็นธรรมชาติแห่ง Consciousness แต่ Consciousness ในที่นี้มันความหมายกำกวม ไม่แน่ใจว่าแปลว่า จิต หรือแปลว่า วิญญาณ
คำตอบ : อ้าว, ก็ต้อง ก็จะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า Consciousness เสียก่อนไอ้ Consciousness ของอีกพวกหนึ่งโดยเฉพาะของฮินดูนะ Consciousness เขาหมายถึง อัตตา อัตตา เป็นสิ่งที่มีอยู่ตลอดเวลา ทำผิดทำถูกเรื่อยไปจนบริสุทธิ์แล้วก็ไปรวมกับ บรมอัตตา เรียกว่า Consciousness หรือวิญญาณ วิญญาณะ ของฝ่ายพวกโน้น ทีนี้ฝ่ายชาวพุทธ ไม่ ไม่ Consciousness คือ วิญญาณไม่ได้เกิดอยู่ตลอดเวลา เกิดเฉพาะตรงว่ามีอายตนะภายนอกภายในมากระทบกัน แล้วก็เกิดวิญญาณเฉพาะกรณีนั้น พอเกิดขึ้นแล้วมันก็ดับไป เดี๋ยวกระทบกันอีกก็เกิดใหม่อีก เพราะนั้นวิญญาณมีชั่วคราวๆๆ ทุกคราวที่กระทบทางอายตนะ แล้วคุณจะให้พูดเรื่องวิญญาณไหน ถ้าวิญญาณของฮินดูก็อัตตาถาวร วิญญาณนั้นเป็นอัตตาถาวร เพราะนั้นถ้าเป็นวิญญาณของชาวพุทธ ไม่มีอัตตา ไม่ใช่อัตตา เกิดชั่วขณะๆ มันมีอายตนะกระทบกัน ถ้าว่าวิญญาณมีความหมาย ๒ ความหมาย ความหมายอย่างเป็นอัตตาก็มี อย่างมิใช่อัตตาเลยก็มี ๒ ความหมายอย่างนี้
ทีนี้ก็มีคน มีคำอธิบายบางพวกทำความเข้าใจรวบๆ กันเสียทั้ง ๒ อย่าง คือเขาจะอธิบายว่ามีวิญญาณ วิญญาณอย่างอัตตาตลอดกาลอยู่ๆ ข้างใน แล้ววิญญาณนั้นแหละมันออกมาทำหน้าที่ชั่วคราว ชั่วคราวทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทำเสร็จแล้วมันกลับไปอยู่ข้างใน ไปทำหน้าที่ทางหูเสร็จกลับแล้วกลับไปอยู่ข้างใน ทำหน้าที่ทางจมูกกลับไปอยู่ข้างใน อธิบายอย่างนี้ก็มี ไม่ใช่พุทธ ไม่ใช่พุทธ แล้วมันหลอกกันว่าเป็นพุทธก็มี ยังมีที่น่าหัวมากไปกว่านั้นอีกก็ว่า เขาว่าเวลาพวกๆ โน้นเขาว่า ไม่ใช่พุทธ ชาวพุทธว่า พอเรานอนหลับวิญญาณไปเที่ยว วิญญาณไปเที่ยว ความฝันของเราก็คือ วิญญาณไปเที่ยว ไปพบ ไปทราบ เป็นความฝันของเรา พอวิญญาณกลับมาเราจึงจะตื่น ถ้าวิญญาณไม่กลับมาเราก็ตายเลย ไม่มีโอกาสจะตื่น นี่วิญญาณไปเที่ยวเวลาที่เรานอนหลับ พูดอย่างนี้ก็มี น่าสงสารหรือน่าลำบาก คนไทยในแหลมทองนี่ ในแถบประเทศไทยแผ่นดินนี้ คนฮินดูเขามาสอนก่อน สอนวิญญาณอย่างพวกฮินดู สอนอย่างพวกฮินดู แล้วชาวพุทธมาทีหลัง มันก็มาตีกัน กว่าจะชนะ กว่าจะสอนอย่างชาวพุทธได้ก็ลำบากมาก แล้วที่สอนไม่ได้ คนที่สอนไม่ได้ เชื่ออย่างเก่า เชื่ออย่างฮินดูเก่าก็มี ก็ยังมีอยู่จนกระทั่งบัดนี้ นี่ภาวะที่น่าสงสารเกี่ยวกับเรื่องวิญญาณในเมืองไทยนี้ โดยสัญชาตญาณ คน คนเราไม่ชอบสิ้นสูญ ไม่ชอบสิ้นไป ชอบให้ยังอยู่ สัญชาตญาณมันจึงไปโน้มเอียงว่าเกิดใหม่ๆๆๆๆ พวกอียิปต์เขามีมัมมี่ไว้สำหรับรองรับที่มันจะมาเกิดใหม่ๆ แต่ว่านี้ไม่กี่พันปี ไม่กี่พันปี ถ้าพูดถึงหมื่นๆ ปีแล้วมันก็พวกคน Stone Age สมัย Stone Age มันก็มีการคิดอย่างนี้นะ คล้ายๆ กับว่าการขุดค้นพบหลุมฝังศพสมัย Stone Age มันมีอะไรแสดงอยู่ให้เห็นว่า ไอ้คนพวกนี้ก็เชื่อการเกิดใหม่ เช่น ที่แห่งหนึ่งก็พบรูปเรือทำด้วยหิน ทำเป็นรูปเรือวางอยู่ข้างศพ ข้างศพในวิหาร ในความคิดว่าไอ้ศพนี่จะได้ขี่เรือ แล้วก็ไป แล้วไปเกิดใหม่ แล้วก็มาอีก นี่ความคิดว่าเกิดใหม่ เกิดใหม่มันมีมาตั้งแต่คนป่าสมัยหิน สมัยอียิปต์นี่เร็วๆ นี้ไม่กี่พันปี ไม่ถึงหมื่นๆ ปี ไอ้ความคิดว่าเกิดใหม่มันคล้อยกับสัญชาตญาณที่ไม่อยากตาย ไม่อยากสิ้นสูญ ความเกิดใหม่มันความคิดฝ่ายบวกมันเกิดง่าย ทำให้เกิดในความคิดว่าไอ้ลบมันเกิดยาก ความคิดว่าเกิดใหม่ๆมันได้เปรียบ มันได้เปรียบ มันจึงเกิดมากที่สุด เกิดใหม่ๆ อย่าไปหลงกับมัน ก็เราไม่อยากตาย เราไม่อยากตาย ถ้าต้องตายก็ต้องคิดว่าจะเกิดใหม่ เพราะว่าเราไม่อยากตาย ความคิดว่าจะเกิดใหม่มันง่ายนิดเดียว มันมีอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าเราไม่อยากตาย เราไม่อยากอยู่นี่ ถ้าเรามีปัญหา เอ่อ, เรามีปัญญา ปัญญามากกว่าสัตว์ เราก็มีปัญหายุ่งยาก ไอ้สัตว์ทั้งหลายแต่แล้วมันไม่มีความคิดขึ้นมาถึงขนาดนี้มันก็ไม่มีปัญหา ไม่มีปัญหาเรื่องเกิดใหม่ เรื่องตาย มันได้เปรียบ มันสบายกว่าคน ดังนั้นถ้าพูดถึง Rebirth-Rebirth แล้วก็ใน ปฏิจจสมุปบาท อย่าไปเอา Rebirth ที่อื่นป่วยการ Rebirth ใน ปฏิจจสมุปบาท แต่ละวันๆๆ อันทีแรกก็เรียกว่า เกิดก่อน อันเกิดทีหลังก็เรียกว่าเกิดใหม่ เกิดใหม่ๆๆ ทุกชั่วโมงก็ได้ ทุก ๕ นาทีก็ได้แล้วแต่ว่า ปฏิจจสมุปบาท จะมีมากหรือน้อยในวันหนึ่งๆ ความรู้เรื่อง ปฏิจจสมุปบาท มีประโยชน์มากที่สุด คือมันทำให้เรารู้ว่าไม่มีใครเกิด ไม่มีใครตาย ไม่มีใครเกิด ไม่มีใครตาย ถ้ามีความรู้เรื่อง ปฏิจจสมุปบาท จะมองเห็นว่าไม่มีใครเกิด ไม่มีใครตาย เราก็ไม่มีปัญหา เราก็ไม่มีความทุกข์ ขอให้สนใจเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท ให้ดีๆ ถ้าว่าจะมีเกิดใหม่ก็เกิดอย่าง ปฏิจจสมุปบาท ถ้าควบคุมเสียได้ก็ไม่มีใครเกิดไม่มีใครตาย ก็สบายดี ขอบใจเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท กันให้มากๆ
ปฏิบัติอานาปานสติให้ถึงที่สุด ถึงที่สุดแล้วจะหมดปัญหาเรื่องเกิดเรื่องตาย หมดปัญหาเรื่องเกิดเรื่องตาย เราปฏิบัติอานาปานสติได้ถึงที่สุด คือไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ไม่มีอัตตา อิสระหรือเสรีภาพ จากการเกิดการตาย จาก อิสระจากการเกิดการตายนั่น เสรีภาพสูงสุด
คำถาม : ขอถามว่า อายตนะอะไรจะรู้สึกต่อจิตหรือต่ออายตนะอื่นๆ
คำตอบ : ไหนว่าๆใหม่ซิ ได้ว่าความว่าอย่างไร ถามว่าอย่างไร
คำถาม : อายตนะอะไรมันจะทำความรู้สึกต่อจิตหรือต่ออายตนะอื่น เช่น อะไรจะรู้สึกซึ่ง ตา หู จมูก ลิ้น กาย
คำตอบ : นี้คำพูดมันผิดเสียแล้ว คำว่าอายตนะไม่ใช่หมายความว่า ผู้รู้สึก คำว่าอายตนะหมายความว่า ผู้ถูกสิ่งที่ถูกรู้สึก สิ่งที่ถูกรู้จักหรือรู้สึก จึงจะเรียกว่า อายตนะ อะไรจะรู้จักอายตนะก็จิต จิตที่โง่ก็รู้ผิดๆ จิตฉลาดก็รู้ถูกๆ แล้วอายตนะมีหลายชั้น อายตนะมีหลายชั้น หลายชั้นจนถึงสูงสุด คำนี่ไม่รู้จะแปลว่าอะไร อายตนะ แปลว่า สิ่งที่จิตอาจจะรู้สึกได้ เช่น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นี่ก็เรียกอายตนะ ถ้าจิตรู้สึกได้ แล้วทีนี้ก็ว่า ฌานสมาบัติ อรูปฌานทั้งหลายก็เรียกว่าอายตนะ อายตนะทั้งนั้นแหละ ทั้ง ๔ อรูปสมาบัติ นี่ก็เรียกว่าอายตนะเพราะเป็นจิต เพราะเป็นสิ่งที่จิตรู้สึกได้ แล้วก็นิพพานก็เป็นอายตนะ แล้วนิพพานเป็นอายตนะเพราะเป็นสิ่งที่จิตรู้สึกได้ อายตนะ คือ สิ่งที่จิตรู้สึกได้ สิ่งที่จะรู้สึกก็คือ จิตนั้นแหละ ถ้าจิตโง่ก็รู้สึกผิดๆ จิตฉลาดก็รู้สึกถูก เอาเรื่องจิตให้ดีก็จะรู้จักอายตนะทุกชนิดจนกระทั่งพระนิพพาน เรื่องอายตนะมีอยู่อย่างนี้ สิ่งที่อาจจะรู้สึกได้เป็น Simple experience Simple อะไรผมก็พูดไม่ถูกหรอก แต่ว่าสิ่งที่อาจจะรู้สึกได้คือ อายตนะ ทีนี้พูดให้แคบเข้ามาก็ว่า สิ่งที่ติดต่อได้ ติดต่อได้ เข้าถึงได้ รู้จักได้ สัมผัสได้ Experience ได้ นั้นแหละคือ อายตนะ เมื่อถามว่าอะไรบ้าง อะไรบ้าง ก็ตอบว่า ตั้งแต่ขี้ฝุ่นนี่ ขี้ฝุ่นนี่ขึ้นไปจนถึงพระนิพพานนั่นแหละเป็นอายตนะทั้งนั้นเลยคือ รู้สึกได้ สัมผัสได้ ติดต่อได้ อายตนะ
คำถาม : ถ้ามนุษย์ทั้งหมดหรือส่วนมากเย็นและสงบ รู้สึกต่อความไม่เที่ยง รู้จักความไม่เที่ยงของทุกอย่าง แล้วรู้จักหน้าที่ภายในกฎของธรรมชาติ มันจะมีผลอย่างไรต่อสิ่งที่มีชีวิตอื่นๆ เช่น ต้นไม้และสัตว์เดรัจฉาน
คำตอบ : นี้หมายความว่า คนมีความรู้ถูกต้อง สามารถทำให้เป็นนิพพานหรือเย็นได้ ทีนี้คำว่านิพพาน นิพพานนี่มีความหมายพิเศษอีกอย่างหนึ่งว่า ไม่เบียดเบียน ไม่เบียดเบียนตัวเองแต่ก็ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ผู้ที่บรรลุนิพพานก็ไม่เบียดเบียนทั้งหมด ไม่เบียดเบียนตัวเองไม่เบียดเบียนผู้อื่น แล้วก็มีสันติภาพสูงสุด สันติสูงสุดก็คือนิพพาน พยายามให้มีนิพพานก็จะมีสันติภาพสูงสุด แม้แต่ต้นไม้ก็ไม่ถูกเบียดเบียน สัตว์ก็ไม่ถูกเบียดเบียน คนก็ไม่ถูกเบียดเบียน วัตถุทั้งหลายตามธรรมชาติก็ไม่ถูกเบียดเบียน ไม่มีใครเบียดเบียนธรรมชาติโดยประการทั้งปวง ไม่เบียดเบียนตัวเองก็เย็นเอง เย็นเอง เย็นเอง Quench เอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่นก็ผู้อื่นก็เย็นๆๆๆ มันเย็นกันทั้ง ๒ ฝ่าย ทั้งตัวเองและทั้งผู้อื่น นี่สูงสุดของสันติภาพมันอยู่ที่นี่
มีอัตตาเกิดเมื่อไร ที่ไหน อย่างไร มันก็ร้อน ร้อนเมื่อนั้น เป็นความร้อนทุกชนิด ร้อนอย่างเปียกๆ ก็มี ร้อนอย่างแห้งๆ ก็มี ร้อนอย่างมืดก็มี ร้อนอย่างโง่สีขาวแสงสว่างสีขาวก็มี มันร้อน อัตตาเกิดเมื่อไรก็ร้อนเมื่อนั้น ไม่มีอัตตาเกิดก็เย็นอยู่ เย็นอยู่ เย็นอยู่ ระวังอย่าให้อัตตาเกิดขึ้นมา ความ Concept ว่าอัตตาเกิดขึ้นมาในชีวิต ชีวิตนี้ก็เย็นๆๆๆ ชีวิตเย็นก็พอแล้วเป็นประโยชน์ด้วย ชีวิตเย็นเป็นประโยชน์ Useful-Peaceful-Peaceful-Useful แล้วนั่นแหละจบแล้ว
เอาละเวลาหมดแล้ว เวลาหมดแล้ว ขอร้อง ขอร้องทีว่า ย้ำ ซ้ำให้อีกทีว่าขอได้พยายามใช้โลกเวลา ๕ น. โลกเวลา ๕ น.ให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด ถ้าไม่เคยใช้ก็ขอให้ได้ใช้ ให้ได้ใช้มากที่สุดให้เป็นนิสัยใช้โลกเวลา ๕ น. แล้วก็ให้มีชีวิตชนิดที่ว่ามี Doing without doer อยู่ตลอดเวลา อยู่ตลอดเวลา ปัญหาก็จะไม่มีเหลือ จะมีแต่ Quench-Quench กันหมด ในที่สุดนี้ขอขอบพระคุณท่านทั้งหลายนะท่านทั้งหลายไม่ต้องขอบคุณ แต่อาตมาขอบคุณท่านทั้งหลายที่มาที่นี่ ช่วยทำให้สวนโมกข์เป็นที่ที่มีประโยชน์ มาช่วยทำให้สวนโมกข์เป็นที่ที่มีประโยชน์ ขอขอบคุณท่านทั้งหลาย ขอบคุณท่านทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง ยุติ ยุติการบรรยาย การตอบปัญหา…
ขอบคุณ ขอบคุณ ขอบคุณ ขอบคุณ...