แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ก่อนอื่นทั้งหมด วันนี้ขอแสดงความหวังว่าท่านคงจะสามารถใช้โลกเวลา ๕ น. ได้ดียิ่งขึ้น ท่านก็จะเดินสุญญตาหรืออนัตตาได้ดียิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น จนสามารถนำไปใช้ได้เป็นนิสัย เป็นนิสัย คือประจำตัว ถ้าเราสามารถมีความรู้เรื่องอนัตตาได้ในเวลาเดิน เวลาเดิน เวลาอื่นๆ มันก็จะต้องได้เพราะมันง่ายกว่า ถ้าเราทำความรู้สึกอนัตตาได้ในเวลาเดิน เวลานั่ง นอน ยืน นี่มันก็ทำได้ง่ายกว่า จึงขอซ้อมกันในอิริยาบถเดินนี่เป็นอย่างมาก ถ้าท่านมีสติ มีความรู้สึกเป็นอนัตตาอยู่ได้ในทุกๆ อิริยาบถ แล้วชีวิตทั้งหมดของท่านก็จะกลายเป็นบทเรียนหรือเป็นการเรียนไปหมดเลย ขอให้ท่านจัดชีวิต จัดแจง ตระเตรียม ปรับปรุงชีวิตของท่านให้มันเป็นการเรียนอยู่ในตัวมันเอง เป็นการสอน สอนอยู่ในตัวมันเอง เป็นการสอบไล่ สอบไล่อยู่ในตัวมันเอง ได้รับผลของการเล่าเรียนอยู่ในตัวมันเอง นี่เราเรียกว่ามันเป็นชีวิตแห่งการศึกษาตลอดเวลาเลย ในทางธรรมะ ธรรมะในพุทธศาสนา เรามีคำอยู่คำหนึ่งซึ่งสำคัญมาก อยากจะให้ท่านทั้งหลายรู้จักและสนใจ คำนั้นก็คือคำว่า มีการตื่น ตื่นอยู่ตลอดเวลา คือไม่หลับ มีการไม่หลับอยู่ตลอดเวลา หมายความว่า มีสติอยู่ตลอดเวลา แม้แต่เวลาหลับ นอนหลับมันก็ไม่สูญเสียความถูกต้อง ทั้งหลับและทั้งตื่น มันมีแต่ความถูกต้องแล้วเราก็เรียกว่า เป็นผู้ที่มีความตื่น ไม่ใช่ตื่นตกใจ แต่ว่าตื่นๆ ไม่หลับอยู่ตลอดเวลา แม้เราเดินอยู่นี่ เดิน เดินอยู่ถ้าเราปราศจากสติ ปราศจากสติ โดยเฉพาะสติในเรื่องอนัตตา มันก็เท่ากับเราหลับ หลับทั้งที่เดินอยู่ นี่มันความมีสตินี่เรียกว่า ความตื่นอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นจึงขอย้ำมาก ขอร้องว่าในการที่จะมีการเดินอย่างไม่มีตัวผู้เดิน คือมีสติในอนัตตา ในสุญญตาอยู่ตลอดเวลา เป็นการฝึกที่สูงสุดและมีประโยชน์มาก ขอให้พยายามสุดความสามารถ
ทีนี้เราก็จะได้พูดกันต่อไปถึงเรื่องที่ค้างไว้หรือพูดกันแล้วแต่วันก่อน ในวันนี้ก็จะพูดต่อไปถึงเรื่อง แสงแห่งธรรมะ ท่านมาที่นี่แสวงหาธรรมะ ทีนี้ในตัวธรรมะ ในตัวธรรมะนั่นแหละ มันมี มีแสงแห่งธรรมะ ถ้าเราได้ตัวธรรมะ เราก็จะได้แสงแห่งธรรมะ เป็นเครื่องส่องทางเดินของชีวิต แสงแห่งธรรมะในที่นี้ก็หมายถึง กฎของธรรมชาติ เรื่องอิทัปปัจจยตา และ เรื่องปฏิจจสมุปบาท นั่นเอง เมื่อเรามีแสงสว่างอันนี้คือ เรื่องอิทัปปัจจยตา และ ปฏิจจสมุปบาท ชีวิตก็จะเดินไปได้อย่างถูกต้อง ถูกต้องจนถึงจุดหมายปลายทาง เป็นสิ่งดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ทีนี้ยังมีแถมพิเศษอยู่อีกข้อหนึ่งด้วยคือข้อที่ว่าถ้าผู้ใดได้เห็นอิทัปปัจจยตา หรือ เห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นได้ชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้าแท้จริง โดยแท้จริง พระพุทธเจ้าตรัสว่าผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาทผู้นั้นเห็นธรรม เห็นในแสงธรรม แล้วผู้นั้นก็เห็นเรา ผู้นั้นก็เห็นเรา การเห็นอิทัปปัจจยตา เห็นปฏิจจสมุปบาท นั้นเป็นเหตุให้เห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง ซึ่งไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวบุคคล แต่เป็นตัวธรรม เป็นพระองค์ธรรม ไม่ใช่พระองค์บุคคล นี่ออกจะเป็นคำพูดที่น่าหัวหรือน่าขบขัน แต่ว่ามันเป็นความจริง คือคำพูดที่ว่าถ้าผู้ใดเห็นการเกิดขึ้นแล้วดับไป เกิดขึ้นแล้วดับไป เกิดขึ้นแล้วดับไปแห่งสิ่งทั้งปวง สิ่งทั้งปวงในสากลจักรวาล ผู้นั้นเห็นพระพุทธเจ้า เห็นพระพุทธเจ้าค่อนข้างที่จะน่าหัวหรือน่าขัน แต่ว่าเป็นความจริงที่สุด พระพุทธเจ้าหมายถึงสิ่งนี้ ดังนั้นขอให้เรามาศึกษาเรื่องอิทัปปัจจยตา และ เรื่องปฏิจจสมุปบาท กันให้อย่างดีที่สุด
เราจะพูดกันถึงเรื่อง อิทัปปัจจยตา ก่อน ที่จริงมันก็เป็นเรื่องเดียวกันแหละ แต่ถ้าเราใช้ หมายถึงทุกสิ่งๆ ไม่ยกเว้นอะไร มันจะเป็นมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตนี่ก็เป็น อิทัปปัจจยตา แต่ถ้าเรามาพูดกันเฉพาะเรื่องสิ่งที่มีชีวิต มีความรู้สึก เป็นสุขเป็นทุกข์ได้ เราเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ที่จริงก็เรื่องเดียวกัน คือการเป็นไปตามปัจจัยทั้งนั้น ในการที่จะเห็น อิทัปปัจจยตาโดยความหมายทั้งหมด เราก็ดูที่ว่าในสิ่งที่วิทยาศาสตร์เรียกว่าสสารหรือพลังงาน สสารกับพลังงาน ๒ อย่างนี้ก็ตาม ทีนี้ที่ในทางธรรมะเรียกว่ากายและใจ กายและใจ ๒ อย่างนี้ก็ตาม ทั้งหมดนั้นมันเป็นสิ่งที่มีปัจจัย มีปัจจัยคือมีสิ่งที่ปรุงแต่ง แล้วแถมยังมีปัจจัยของปัจจัย ปัจจัยของปัจจัย ปัจจัยของปัจจัย ปัจจัยโดยตรงทีแรกก็มี แล้วมีปัจจัยส่งเสริมปัจจัยนั้น แล้วก็มีปัจจัยส่งเสริมปัจจัยนั้น อย่างนี้เราเรียกว่า มันมีปัจจัยโดยตรงและมีปัจจัยที่ส่งเสริมปัจจัยอยู่เป็นลำดับๆ ไป แต่มันมิใช่ มิใช่ว่ามีปัจจัยเฉยๆ ไม่ใช่มีปัจจัยเฉยๆ มันยังต้องเป็นไปตามปัจจัย เป็นไปตามปัจจัย เป็นไปตามปัจจัยอย่างไม่มีข้อยกเว้น และเป็นไปอย่างเด็ดขาดที่สุดด้วย กฎที่ว่ามีปัจจัยแล้วต้องเป็นไป เป็นไปตามปัจจัยนี่ เป็นกฎที่ครอบจักรวาล ภาษาไทยเรียกกันง่ายๆ ว่ามันครอบจักรวาล คือมันเป็นไปในทุกๆ ปรมาณู ทุกๆ ปรมาณู ของจักรวาล ในโลกทั้งหมดนี่มีอะไรที่อยู่ในโลกในจักรวาลและก็ต้องเป็นไปตามกฎอันนี้ จะเป็นเพียงวัตถุหรือจะเป็นต้นไม้พืชพรรณขึ้นมา หรือจะเป็นสัตว์ แล้วก็มาเป็นคน ทุกอย่างนี่มันต้องมีปัจจัยและเป็นไปตามปัจจัยเมื่อมีปัจจัยและต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ในสิ่งที่มีความรู้สึก (นาทีที่ 22.35น) มันต้องมีปัญหา เพราะมันต้องเป็นไปตามปัจจัย ต้องเป็นไปตามปัจจัย นั่นแหละคือตัวปัญหา ถ้าปฏิบัติไม่ถูกต้องต่อปัจเจกอันนี้มันก็มีความทุกข์ ความทุกข์ก็เกิดขึ้น อาการนี้ก็เรียกว่า ปฏิจจสุมปบาท มีความทุกข์ปรากฏขึ้นในจิตใจ ดับไป เกิดขึ้น ดับไป เกิดขึ้น นี่ความทุกข์ เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท
สรุปความว่ากฎที่ใช้กับสิ่งที่มีความรู้สึก รู้สึก เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ใช้กับสิ่งทั่วไปแม้ไม่มีความรู้สึกก็เรียกว่า อิทัปปัจจยตา เราใช้คำพูดรวมๆ กันว่าจักรวาล จักรวาล Universe หรืออะไรก็สุดแท้ แต่เรายังแถมท้าทายว่าแม้ในเมืองสวรรค์ถ้าสวรรค์มันมีก็รวมเมืองสวรรค์ด้วย หรือแม้ในเมืองนรกถ้านรกมันมีก็รวมอยู่ในคำว่าสากลจักรวาลนี้ด้วย จึงไม่ยกเว้นแม้ในเมืองนรก แม้ในเมืองสวรรค์ ล้วนแต่ตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์อันนี้ เรามีกายมีใจเลยตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์อันนี้ แล้วเราก็นึกถึงเพื่อนมนุษย์ทั้งโลก เพื่อนมนุษย์ทั้งโลกกี่คนๆ ก็อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์อันนี้ แม้บุตร ภรรยา สามี อะไรก็ตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์อันนี้ ทุกคนหรือทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเรา ทรัพย์สมบัติของเรา เกียรติยศชื่อเสียงของเรามันก็ตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์อันนี้ เราแบ่งแยกออกไปได้ง่ายๆ สำหรับศึกษา ว่าเมื่อดูในทางวัตถุ กฎเกณฑ์อันนี้ครอบงำเราอยู่ทุกๆ ปรมาณู ทุกๆ ปรมาณูนี่ในร่างกายของเรา และเมื่อเราดูในทางจิตใจ กฎเกณฑ์อันนี้ครอบงำเราอยู่ทุกขณะจิต ทุกขณะจิต ทุกขณะจิต ทางหนึ่งครอบครอง ครอบงำอยู่ทุกปรมาณู ทางหนึ่งครอบงำอยู่ทุกขณะจิต จงรู้จัก อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท กันในลักษณะอย่างนี้เถิด
ทีนี่เราก็ดูกันสำหรับเราโดยตรงคือ เรา สิ่งที่มีชีวิต ที่มีความรู้สึก ดูให้เห็นว่ามันมีอะไรบ้าง เรามีร่างกายนี่ ส่วนระบบร่างกาย มีระบบประสาทรวมอยู่ด้วย ระบบประสาทนี่จัดไว้ในพวกระบบร่างกายอย่าไปเป็นจิต เรามีร่างกายที่มีระบบประสาท แล้วเราก็มีระบบจิตที่สำหรับติดต่อกับระบบประสาท มีระบบร่างกายที่มีระบบประสาทนั้น แล้วก็มีจิตที่ติดต่อกับร่างกายโดยทางระบบประสาท เรามี ๒ อย่างทำงานร่วมกันแยกกันไม่ได้เราเรียกว่า นามรูป นามรูป คือ ใจกาย ใจกาย ใจกาย เรียกรวมเป็นคำเดียวกันเสียว่า ใจกาย ใจกาย ใจกาย อย่าไปแยกกันเป็น ๒ อย่างเลย ใจกาย ใจกาย เพราะว่าถ้าแยกไปอย่างเดียว อีกอันอยู่ไม่ได้ ไม่มีแหละ มันแยกกันไม่ได้ มันต้องมีพร้อมกันทั้ง ๒ อย่าง เลยเรียกเป็นสิ่งเดียวกันเป็น เอกวจนะ ว่ามัน ใจกาย มีใจกาย มีนามรูป Mind body Mind body ไม่ใช่ว่า Mind and Body, Mind body เสียเลย
ทำไมเราจึงไม่แยกเป็น ๒ อย่าง เพราะมันไม่อาจจะแยก มันจะต้องติดอยู่ด้วยกันเรื่อยไป เพราะเอาออกเสียอย่างเดียวมันก็ตายหมด นี่เป็นเหตุให้เราจะต้องรู้จักมันในฐานะเป็นสิ่งเดียวกันไม่อาจจะแยก นั่นแหละคือ ตัวชีวิต นี่ Mind Body นี่แยกออกได้เป็น ๖ คู่ ๖ คู่ เรียกว่า อายตนะ อายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖, ๖ เรียกว่ามันอยู่ข้างใน เรียกอายตนะที่อยู่ข้างใน ที่เรียกว่าข้างนอกคือ รูป กลิ่น เสียง รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่มันจะมาสัมผัสกับอายตะภายใน มันมี Organs อยู่ข้างใน มันมี Objects อยู่ข้างนอก มันก็ถึงกันเข้าเป็นคู่ๆ แล้วมันก็ได้ ๖ คู่ ขอให้ท่านพยายามสนใจศึกษาให้เข้าใจสิ่งทั้ง ๖ นี้แหละให้มากที่สุด เพราะว่ามันเป็นรากฐานของการศึกษาธรรมะ เป็น A B C A B C ของการศึกษาธรรมะ พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสอย่างนี้ขอร้องอย่างนี้ ว่าเพราะมันมีอายตนะ มันจึงมีวิญญาณ มี Consciousness มีผัสสะ Contact มีเวทนา มี Feeling อะไรต่อไป เพราะมันมี ๖ อย่างนี้ เพราะนั้นขอให้สนใจศึกษา ๖ อย่างที่เป็น ๖ คู่นี้ ให้ดีที่สุดเรียกว่า อายตนะ
คำว่า อายตนะ นี้ก็เป็นอีกคำหนึ่งที่ยุ่งยากลำบากในทางภาษา ภาษาไทยก็ยุ่งยาก แม้จะแปลเป็นภาษาอังกฤษก็ยุ่งยาก จำคำบาลีเดิมไว้มันง่ายกว่า อายตนะ แปลว่าสิ่งที่มีการติดต่อและติดต่อได้ มันทำหน้าที่ติดต่อและติดต่อได้ นี่คำนี้คือคำว่า อายตนะ จะหมายถึงทุกสิ่งที่ติดต่อได้ แต่นี่เราเลือกเอามาแต่เฉพาะที่สำคัญที่สุดที่มันทำการติดต่อในชีวิต เหมือนกับเป็นเครื่องบันดาลชีวิตให้เป็นไป เราจึงเลือกเอามาเฉพาะ ๖ คู่ ๖ คู่ ข้างในก็ ๖ ข้างนอกก็ ๖ มันจึงได้เป็น ๖ คู่ ขอให้ท่านรู้จักสิ่งนี้ให้ดีที่สุด ให้ดีที่สุด เหมือนเรารู้จัก A B C ในการเรียนหนังสือ แล้วก็รู้จักไอ้ ๖ คู่นี้ให้ดีที่สุดในการเรียนธรรมะ เราจงรู้จักเรื่องของ ตา ตานี่ให้ดีที่สุด รู้จักเรื่องของ หู หูนี่ให้ดีที่สุด รู้จักเรื่องของจมูกให้ดี ที่สุด เรื่องของลิ้นให้ดีที่สุด เรื่องผิวหนังทั่วๆ ไปให้ดีที่สุด แล้วก็โดยเฉพาะเรื่องจิตใจที่มันอยู่ส่วนภายใน เป็นส่วนลึก เป็นศูนย์กลางให้ดีที่สุดเถอะ นี่เป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง ถ้าจะศึกษาธรรมะแล้วก็ต้องรู้จักสิ่งทั้ง ๖ นี้ให้ดีที่สุด แล้วก็จะต้องจุดตั้งต้นเสียด้วย ขอร้องว่าถ้าท่านอยากจะรู้ธรรมะดีที่สุดก็จงสนใจเรื่องทั้ง ๖ นี้ให้มากที่สุด ให้ดีที่สุด ให้ถูกต้องที่สุด อย่างเห็นเป็นของเล็กน้อยเลย
สิ่งทั้ง ๖ นี้มันมีการกระทำ มีการเคลื่อนไหว มีการกระทำที่เราจะเรียกง่ายๆ ว่ามันมี Mechanism-Mechanism มันเป็น Mechanism ที่ควบคุมยาก ควบคุมยากยิ่งกว่าควบคุมเครื่องจักร คอมพิวเตอร์ อะไรก็ยังไม่ควบคุมยากเท่ากับ ๖ อย่างนี้ แล้วมันยังหลอกลวง มันยังหลอกลวง เพราะเราไม่รู้มันจริง มันจึงหลอกเราได้ทุกอย่างทุกทาง เพราะเราไม่รู้มันโดยแท้จริง นี่ขอสรุปว่ามันควบคุมยาก แล้วมันก็หลอกลวงด้วย เราต้องรู้ให้ชัดเจน ชัดเจนจนควบคุมได้ แล้วหลอกเราไม่ได้ อย่าให้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หลอกเราได้ เราควบคุมมันให้ได้ นี่ใจความสำคัญของเรื่องการดำรงชีวิต เรามีตาเห็นรูปแต่มันก็ไม่ได้ทั้งหมดสิ้นเชิง มันก็เห็นแต่คลื่นของแสง คลื่นของแสง เป็นรูป เป็นสี เป็นมิติต่างๆ แต่เราไม่ค่อยจะนึกถึงความหมายหรือความจริงของมัน ซึ่งเป็นตามกฎ อิทัปปัจจยตา เรามีตาสำหรับรู้แต่เพียงคลื่นแสง เรามีหูสำหรับรู้แต่เพียงคลื่นเสียง ไม่ถึงส่วนลึกของมัน มีจมูกสำหรับรู้จักแต่ปริมาตรของสิ่งที่เข้ามากระทบ ลิ้นก็เหมือนกัน ระบบประสาทจำนวนหนึ่งที่จะรู้รส มันรู้เพียงเท่านั้น ผิวกายนี่ก็เป็นเพียงแต่ว่ากระทบ อะไรมากระทบก็รู้ อะไรมากระทบก็รู้ แต่มันไม่ลึกเข้าไปถึงความลับของมัน ทีนี้เรื่องใจ ใจมันยังรู้ยาก รู้ยากกว่าสิ่งใด นี่เราจงพยายามให้สิ่งทั้ง ๖ นี้ แจ่มแจ้งชัดเจนปรากฏแก่เรา อย่าให้มันหลอกเราได้ นี่เราจะควบคุมชีวิตให้เป็นไปอย่างราบรื่นเยือกเย็นที่สุดได้ เราจะดูกันให้ลึกเป็นตัวอย่างสักเรื่อง เป็นเรื่องตา ตาของเรา ที่แรกสัมผัสที่แรก ตามันก็สัมผัสได้แต่เพียงคลื่นแสงที่มากระทบ ปรากฏเป็นสีต่างๆ ตามที่เห็นอยู่ มีมิติอย่างไร มีมิติอย่างไร มีสีอย่างไร กินเนื้อที่อย่างไร นี่ครั้งแรกมันรู้เพียงเท่านั้น ต่อมาสัมผัสไปถึงว่ามันคืออะไร นี่ก็รู้ความหมายของมันว่ามันเป็นรูปของอะไร ของวัตถุอะไร ของคน ของอะไร มันก็ไปรู้ถึงเรียกว่า มันเป็นรูปของผู้หญิง เป็นรูปของผู้ชาย นี่ก็รู้เข้าไปอีกชั้นหนึ่งเป็นชั้นที่ ๒ แต่ชั้นที่ ๓ ไม่ได้รู้อันนี้ มันเป็นเรื่องสิ่งที่เป็นไปตามกฎของ อิทัปปัจจยตา หรือ ปฏิจจสมุปบาท เราไม่รู้ข้อนี้เราจึงไปเกี่ยวข้องกับมันไม่ถูกต้อง แล้วมันก็เกิดเป็นปัญหาเป็นทุกข์ขึ้นมา ถ้าตาของเราสามารถเห็น อิทัปปัจจยตา และ ปฏิจจสมุปบาท ในสิ่งที่เป็นรูป รูปที่มาเกี่ยวข้อง เราจะจัดการกับมันถูกต้อง เราจะรู้จักอนัตตาในสิ่งเหล่านั้น เราไม่ยึดมั่นถือมั่นโดยประการทั้งปวง แล้วมันก็ไม่เป็นทุกข์ขึ้นมา นี่เรียกว่าเราไม่รู้จริงถึงที่สุดแม้แต่ในเรื่องของตา ตาที่เห็นรูป หู จมูก ลิ้นก็เหมือนกัน ขอให้ตั้งต้นกันใหม่ พยายามกันใหม่ รู้จักสิ่งใดก็ขอให้รู้จักไปตามลำดับๆ รู้ทีแรกในลักษณะของวัตถุ รู้ที ๒ ในลักษณะของความหมาย รู้ที่ ๓ ในลักษณะความจริง ความจริง จริงๆ ของธรรมชาติ สามารถจัดการกับมันได้ถูกต้องอย่างนี้ รู้จักรูปของมัน รู้จักความหมายของมัน รู้จักความจริงของมัน มันเป็น ๓ ชั้นอยู่อย่างนี้ ลักษณะของมัน ความหมายของมัน ความจริงของมัน นี่เราจะต้องศึกษากันขนาดนี้
ทีนี่เราก็มาศึกษากันโดยตรงโดยเฉพาะ ถึงสิ่งที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาทะ ปฏิจจสมุปบาท Dependent Origination ว่าอย่างไร ว่าเป็น ว่าคืออะไร เราก็ตั้งคำถามขึ้นมาว่า มันเกิดที่ไหน มันเกิดที่ไหน เมื่อเกิดที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อมีการกระทบ และมันก็เกิดเมื่อไร มันเกิดเมื่อไร มันก็มีอายตนะภายนอกมากระทบ มันเกิดที่อายตนะภายใน แล้วก็เมื่อ เมื่อมีอายตนะภายนอกมากระทบ นี่แล้วมันเกิดโดยวิธีใด โดยวิธีใด รวมมาถึงกันเข้าแล้วมันปรุงแต่ง ปรุงแต่ง ปรุงแต่งให้เกิดสิ่งใหม่ โดยวิธีที่ปรุงแต่งกัน พูดสั้นๆ ก็ว่าเมื่อมีอายตนะภายนอกมากระทบอายตนะภายในมีการปรุงแต่งกัน ปรุงแต่งกัน เกิดสิ่งใหม่ขึ้นมา นี่ก็เรียกว่า อาการแห่ง ปฏิจจสมุปบาท ฟังดู คล้าย ๆ กับว่าเป็นเรื่องหยุมหยิมๆ น่ารำคาญ น่ารำคาญ ป่วยการศึกษา แต่มันกลับเป็นเรื่องจริงที่สุด สำคัญที่สุดที่เราจะต้องรู้ ถ้าเราไม่รู้เรื่องนี้เราควบคุมชีวิตไม่ได้ ควบคุมชีวิตให้ถูกต้องไม่ได้ ดังนั้นเราจึงต้องศึกษาให้รู้เรื่องที่ดูหยุมหยิมๆ นี้แหละให้เข้าใจ แล้วเราก็จะควบคุมชีวิตได้ นี่ประโยชน์ของ ปฏิจจสมุปบาท
เอาละเราจะตั้งต้นศึกษา ปฏิจจสมุปบาท ดูให้เห็นว่ากระแสของมัน Line หรือ Stream ของมันเป็นอย่างไร
เมื่ออายตนะภายในตาเป็นต้น กับอายตนะภายนอกหรือรูปเป็นต้น มาถึงกันเข้าเท่านั้นแหละ เพียงมาถึงกันเข้าเท่านั้น มันก็เกิดของใหม่ออกมา คือ วิญญาณ วิญญาณ Consciousness ที่มันจะเกิดที่ตานี่ เมื่ออายตนะภายในคือตาถึงเข้า อายตนะภายนอกคือรูป มันก็เกิดวิญญาณทางตา หรือ Consciousness ทางตา นี่จะต้องสังเกตให้เห็นว่า Consciousness ไม่ได้เกิดอยู่ตลอดเวลา มันเกิดเฉพาะเมื่ออายตนะกระทบกัน Consciousness ในพุทธศาสนา ในศาสนาอื่นก็อาจจะสอนว่า Consciousness เกิดอยู่ตลอดเวลา เป็นวิญญาณๆ ที่เกิดอยู่ตลอดเวลา ก็เป็นเรื่องของศาสนาอื่นตามใจเขา แต่ในพุทธศาสนาถือว่า Consciousness นี่เกิดเมื่อมีการกระทบทางอายตนะ วิญญาณทางตาไม่ได้เกิดอยู่ตลอดเวลา เกิดต่อเมื่อมีการกระทบทางอายตนะ นั่นแหละคือ ปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาท ของตาหรือของวิญญาณทางตา ทางหู ทางจมูก ทุกอย่างนั้นมันก็มี ปฏิจจสมุปบาท อย่างเดียวกัน คือมันจะปรากฏออกมาเป็นวิญญาณทางอายตนะเหล่านั้นต่อเมื่อมีการประทบของอายตนะ แล้วเกิดสิ่งที่เรียกว่า วิญญาณ ขึ้นมา นี่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ที่ทำให้เกิดอายตนะ ให้เกิดวิญญาณ
ทีนี้เราก็ได้เป็น ๓ อย่างแล้วเห็นไหมคือ อายตนะภายในได้แก่ตา อายตนะภายนอกได้แก่รูป พอถึงกันเข้าเกิดวิญญาณทางตา มันได้เป็น ๓ อย่าง ทีนี้ตามันทำการกระทบแล้วรู้จักรู้สึกต่ออายตนะภายนอก อายตนะภายในรู้จักอายตนะภายนอกโดยอาศัยเครื่องมือคือวิญญาณ ๓ อย่างนี้ต้องทำงานร่วมกัน ไม่ใช่แต่เพียง ๒ อย่าง ตามันต้องเห็นรูปโดยวิญญาณ มันเลยเป็น ๓ อย่าง จึงมีคำบัญญัติว่า ๓ ประการ การที่ธรรมะ ๓ อย่าง ๓ ประการนี้ถึงกันอยู่นี้เรียกว่า ผัสสะ ผัสสะ คือ Contact สิ่งที่เรียกว่า Contact ก็เกิดขึ้นมา เกิดขึ้นมา คนทั่วไปเขาก็พูดอย่างหละหลวมว่ามี ๒ อย่างเท่านั้นแหละ ตาเห็นรูป อายตนะภายในกับอายตนะภายนอกถึงกันก็เรียกว่า ผัสสะ เป็นไปไม่ได้ ต้องมีสิ่งหนึ่งที่ทำหน้าที่ คือ Consciousness อีกอันหนึ่ง จึงจะมีผัสสะที่แท้จริง มีผัสสะที่จะสามารถดำเนินต่อไปได้ จงรู้จักผัสสะให้ดีๆ ว่าเป็นการกระทำหน้าที่ร่วมกันของสิ่ง ๓ อย่าง อายตนะภายใน อายตนะภายนอก และ วิญญาณ
ขอให้สังเกตดูให้ดีว่าเรามี Contact นี่วันละกี่ครั้ง วันละกี่ครั้ง ที่จริงมันนับไม่ไหว มันตอบไม่ได้ มันมากเกินไป เดี่ยวทางตา เดี๋ยวทางหู เดี๋ยวทางจมูก เดี๋ยวทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทั้ง ๖ อย่าง สับเปลี่ยนๆ กันมา แล้วบางทีก็ปรับเปลี่ยนพร้อมๆ กัน ติดต่อกัน เกือบจะพร้อมกัน เช่นเราไปดูละคร ดูหนังก็ได้ ตาก็ทำหน้าที่เห็นรูปทางตา หูก็ได้ฟังเสียงดนตรีที่ออกมา มันแถมจมูกก็ได้กลิ่นหอมที่เขาใช้หลอกลวงเรา บางทีเราก็กินท๊อฟฟี่ไปพลาง กินช็อกโกแลตไปพลาง นี่มันก็มีทางลิ้น นั่งสบายที่นั่งสบายก็เป็นสัมผัสทางผิวหนัง แล้วก็เกิดความคิดปั่นป่วนๆ อยู่ในใจ เพียงแต่เราไปนั่งดูละครที่เดียวแห่งเดียวมันก็เกิดได้ครบทั้ง ๖ อย่าง อย่างนี้เป็นต้น ผัสสะมันมากเหลือเกินมันนับไม่ไหวอย่างนี้ ในทางธรรมะเรามีคำพูดที่แยบคายหรือทำให้น่ากลัวกว่านั้น เราใช้คำว่าถูกตบ ถูกตบหน้า ถูกตบ ชีวิตนี้มันถูกตบเรื่อยไป เดี๋ยวถูกตบทางตา เดี๋ยวถูกตบทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มีสัมผัสเมื่อไรก็เท่ากับถูกตบเมื่อนั้นครั้งหนึ่ง นี่น่าสงสารชีวิตที่มันจะถูกตบอยู่ด้วยทางทั้ง ๖ นี้อยู่ตลอดเวลา แต่เราก็ไม่รู้สึก เห็นเป็นสนุกสนาน เป็นสนุกสนานไปเสียก็มี ไม่รู้สึกว่าถูกตบ คือไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหา เกิดปัญหายุ่งยากลำบากขึ้นมาเป็นภาระหนักที่ต้องแก้ไข ไม่รู้สึก รู้สึกแต่ว่าสนุกๆ อย่างเดียว นี่เรียกว่ามันหลอก มันหลอก เข้าใจยากและมันก็หลอกด้วย ขอให้รู้เท่าทัน ในลักษณะเหมือนกับว่าถูกตบอยู่ตลอดเวลา โดย ๖ ทางนี้ ๖ ทางนี้ ชีวิตถูกตบอยู่ตลอดเวลา ขออย่าได้เข้าใจว่านี่เป็นการมองโลกในแง่ร้าย มันไม่ใช่ Pessimistic Point of View อย่ามองว่านี่มองโลกในแง่ร้าย แต่มองให้เห็นว่านี่มันเป็นการมองโลกในแง่ของความจริง ความจริงว่าจริงที่สุด มันเป็นอย่างนี้ เราไม่รู้เรื่องนี้ เราก็หลงทาง หลงทาง เกิดความทุกข์ ถ้าหลงทางมากไปมันก็ฆ่าตัวตาย มันฆ่าตัวตาย เพราะไม่เห็นความจริงของสิ่งเหล่านี้ นี้อย่ามองว่าการศึกษานี้เป็นการมองโลก หรือมองสิ่งทั้งปวงในแง่ร้าย แต่มันมองโลกในแง่ของความจริง จริง จริงที่สุดที่จะสามารถแก้ปัญหาทั้งปวงได้
เมื่อมีผัสสะอย่างนี้แล้วมันก็มีเวทนา Feeling ออกมาในรูปที่มันหลอกให้เราเห็นว่า เป็นบวกบ้างเป็นลบบ้าง หรือยังไม่บวกไม่ลบบ้าง นี่เราก็หลงหรือไม่รู้จักไอ้สิ่งที่เรียกว่า Feeling เราจึงหลงว่าเป็นบวกบ้างเป็นลบบ้าง ไม่บวกไม่ลบบ้าง แต่ที่แท้มันเป็นเพียงกระแส ปฏิจจสมุปบาท เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของมัน ที่มาเป็นบวกเป็นลบนี่เราว่าเอาเองเรารู้สึกเอาเอง คนนี้อาจจะเห็นไปบวก แต่อีกคนอาจจะเห็นเป็นลบก็ได้ในเวลา ในเวทนาเดียวกัน นี่เวทนาออกมาจากผัสสะ ในลักษณะที่เป็นบวกเป็นลบ หรือไม่บวกไม่ลบ แล้วมันก็หลอกเราทั้งนั้น ทุกอย่างเลย ข้อนี้ต้องมองให้ชัด มองให้เห็นให้ชัด ชัดที่สุดว่าไอ้ความเป็นบวกเป็นลบนั่นมันเป็นความโง่ของเราเอง โดยธรรมชาติมันไม่เป็นบวกไม่เป็นลบ เป็นอาการปรุงแต่งของ ปฏิจจสมุปบาท ออกมาอย่างนี้ตามเรื่องของมัน แต่เราไม่รู้จักมันหรือบางทีไอ้ความโง่ของเราทำให้เห็นเป็นบวก ทำให้เห็นเป็นลบ หรือทำให้เห็นว่าไม่แน่ว่าจะเป็นบวกหรือจะเป็นลบ อันนี้สำคัญมาก คือมันหลอกตัวเองอยู่ด้วยเวทนาตลอดเวลา
ทีนี้ต่อไปเมื่อมี เวทนา เวทนาแล้วมันก็เกิดสิ่งที่เรียกว่า ตัณหา เวทนาให้เกิดตัณหา ตัณหา นี่คือ ความอยาก ความอยาก ความต้องการอย่างโง่เขลา โง่เขลา มันเป็น Craving มันเป็น Desire บ้าง มันมิใช่ Aspiration มันยังมิใช่ Aspiration มันเป็นความอยากที่โง่เขลาเป็น Craving เป็น Desire นี่ตัณหาเกิดไปตามอำนาจของเวทนา ถ้าเวทนาเป็นบวกมันก็อยากได้ อยากมี อยากเอา ถ้าเวทนาเป็นลบมันก็อยากจะฆ่า อยากจะทำลาย ถ้าเวทนายังไม่เป็นบวกไม่เป็นลบมันไม่รู้สึก มันก็มีแต่ความสงสัยๆๆ ก็โง่เท่าเดิม โง่เท่าเดิม โง่เหมือนเดิม เวทนาให้เกิดตัณหาก็อยากไปตามอำนาจแห่งความโง่ของเราอย่างนี้
ตัณหา หมายถึง อยากด้วยความโง่ อยากด้วยความโง่ ถ้าอยากด้วยสติปัญญาที่ถูกต้อง ความเฉลียวฉลาดที่ถูกต้อง ความอยากอันนี้ไม่เรียกว่าตัณหา มันจะเรียกว่า Aspiration หรืออะไรไปตามเรื่องของมัน เดี๋ยวนี้เรามีแต่ความโง่ เมื่อเกิดความอยากชนิดที่เป็นอันตรายเรียกว่า ตัณหา Desire บ้าง เรียกว่า โลภะ Greediness บ้าง ถ้ามันเข้มข้นในทางกามารมณ์ก็เรียกว่า Rut (นาทีที่ 01.24.37น.) บ้าง นี่เป็นความอยากของความโง่ ตัณหาคือความอยากของความโง่ ถ้าอยากด้วยสติปัญญา เราเรียก เรียกอย่างอื่นแล้วจะมีประโยชน์ ถ้าอยากด้วยความโง่มีตัณหาแล้วมีแต่ความทุกข์อย่างเดียว
เมื่อมีตัณหาคือ ความอยาก มีความอยากแล้วเป็นนามธรรม เป็นความอยาก ความอยากมันก็ทำให้เกิด Concept โง่ๆ ว่ามีผู้อยาก กูผู้อยาก มันต้องเกิดความอยากก่อนอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว มันจึงเกิดกันว่า กูผู้อยาก กูผู้อยาก อยากจะเอามาเป็นของกู อย่างนี้เรียกว่า ตัณหา นั่นละความอยากนั้นให้เกิดอุปาทาน ความหมายมั่นเป็นตัวกู เป็นของกู เป็นเพียง Concept ไม่ใช่ความจริง อันนี้สำคัญมาก ขอให้รู้ความที่ว่าความอยากหลอกให้เกิดตัวผู้อยากขึ้นมา เป็นผี เป็น ไม่ใช่เป็นความจริง เป็นผีหลอก ความอยากทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีตัวกูผู้อยาก นี้เรียกว่าตัณหาให้เกิดอุปาทาน อุปาทาน
ต่อไป อุปาทาน อุปาทนะ ก็ให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ภพ คือจุดตั้งต้นของ Concept ว่ากูมี จุดตั้งต้นที่ให้เกิด Concept ว่ามีตัวตน มีตัวกูผู้มี Existence ภพ Existence นะมันมีจุดตั้งต้นให้เกิดความโง่ว่าตัวกูมี นี้เรียกว่า อุปาทานะ ให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ภวะ ภวะ หรือ Existence-Existence แห่ง Concept หลอกๆ โง่ๆ ว่าตัวกูมี ทีนี้ ภวะ Existence นี่มันเป็นจุดตั้งต้นที่ให้เกิดความรู้สึกว่าตัวตน ว่าตัวกู มันเป็น Concept เหมือนกับแรกตั้งครรภ์ Concept ในที่นี้เหมือนกับแรกตั้งครรภ์ แล้วครรภ์มันก็แก่ๆๆ ทารกในครรภ์มันก็แก่ๆๆ จนถึงที่สุดมันก็เกิด ชา-ติ ชา-ติ ภวะให้เกิดชา-ติ Concept โง่ๆ มันเจริญๆๆ จนมันเกิดเติมที่เรียกว่าเกิด ชา-ติ เป็นตัวกู เป็นตัวกู เป็นของกู ทำอะไรอยู่อย่างนั้นอย่างนี้ นี่เรียกว่า ภวะ ให้เกิด ชา-ติ Existence ให้เกิด Birth แห่งตัวกู ซึ่งเป็นเพียงไม่จริง เป็นของหลอก แต่มันก็เกิด แล้วเกิดแล้วมันโง่ มันไม่รู้เท่าทันมันก็เห็นว่าเป็นของจริง เราจึงมีตัวกู ตัวกู ของกู ของกู เป็นของจริง เป็นของจริงทั้งที่มันเป็นของหลอก ภวะ ให้เกิดชา-ติ
ทีนี้จะต้องสังเกตให้ดีว่า Birth หรือ ความเกิด นี่มันมีเป็น ๒ ชนิด เกิดทางฟิสิกส์ก็คือ เกิดจากท้องแม่ ออกมาจากท้องแม่ นี่ก็เรียกว่า Birth เหมือนกัน มันเป็นทางฟิสิกส์และมีครั้งเดียว หนเดียว ครั้งเดียวเท่านั้นแหละ เกิดอย่างนี้ไม่มีปัญหา แล้วมันก็ได้เกิดแล้ว มันไม่มีปัญหาแล้ว ทีนี้มันมีเกิดทางวิญญาณ เกิดทางความโง่เขลาในสายแห่ง ปฏิจจสมุปบาท เกิด ตัวกูของกู ตัวกูของกู ทีนี้มันจะเกิดอีกนับไม่ไหว วันหนึ่งเกิดหลายสิบครั้ง หลายร้อยครั้งก็ได้ นี่ก็เรียกว่า Birth หรือ ชาติ เหมือนกัน ก็เป็นชาติทางฝ่ายจิตฝ่ายวิญญาณ ที่เราถือว่ามันเป็นความทุกข์หรือเป็น ปฏิจจสมุปบาทโดยตรงก็คือ ชาติอย่างนี้แหละ ท่านเกิดได้วันละหลายสิบครั้ง หลายร้อยครั้ง ปีหนึ่งนับไม่ถ้วนเลย แล้วก็สำคัญที่ว่าเกิดทุกทีจะเป็นทุกข์ทุกที
ทีนี้ก็มาถึงขั้นสุดท้าย ปฏิจจสมุทปาท ขั้นสุดท้าย ความเกิดเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ทั้งปวง ความทุกข์ทุกชนิดมาจากความเกิดแห่งตัวกูของกู คือเกิดทางวิญญาณนั่นแหละมันจะให้มีความทุกข์ทุกชนิด ข้อนี้ต้องศึกษาให้ดี ให้เห็นชัดว่า ความเกิดแห่งตัวกูจะเป็นให้เกิดความทุกข์ทุกชนิด พอเกิดความรู้สึกว่าตัวตน ตัวตนขึ้นมาเท่านั้นแหละ ตัวตนก็กลายเป็นของหนักขึ้นมาทันที ไอ้ชาติเกิดออกมาเป็นตัวตน ตัวตน ตัวตนก็กลายเป็นของหนัก Burden of Life ขึ้นมาทันที เพราะมีความรู้สึกว่ามีตัวตน มีของตนที่จะต้องถือต้อง Cherish ที่จะต้อง นี่เป็นของหนักขึ้นมาทันที นี่จุดตั้งต้นตัวตนนั่นแหละ ตัวตนเท่านั้นแหละมันก็เป็นของหนักแก่ชีวิตขึ้นมาทันที ข้อแรกก็ว่า ชาติให้เกิดความทุกข์ในความหมายนี้ ตัวตน หรือ Ego Concept นี้มันก็มีลักษณะผูกพันๆๆ ชีวิต ผูกพันชีวิต กักขังชีวิต ชีวิตก็เลยติดคุก ติดคุกติดตารางของ Ego หรือ ตัวตน ตัวตนมันกลายเป็นคุกเป็นตารางกักขังไอ้ตัวชีวิต ชีวิตมันก็เป็นทุกข์เพราะมันติดตารางของตัวตน ตรงนี้มันมีความลับอยู่อีกอย่างหนึ่งว่า ถ้ามันเกิด Concept ว่าตัวตน แล้วมันก็ต้องเกิด Concept ว่าของตนเป็นธรรมดา I เป็นตัวตน Mine เป็นของตน ถ้ามีตัวตนมันก็ต้องมีของตนเป็นธรรมดา ไม่ต้องมีอะไรมา มันเกิดตามธรรมชาติของมันอย่างนั้นเอง ถ้ามันมีตัวตนแล้วก็มีทรัพย์สมบัติของตน บุตร ภรรยา สามีของตน อะไรที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับตน ล้วนแต่มาเข้า เข้ามาเกี่ยวข้องกับตนแล้วจะกลายเป็นของตนไปหมด เป็นมิตรก็ได้ เป็นศตรูก็ได้ Positive ก็ได้ Negative ก็ได้ มันมีของตนขึ้นมา มีตัวตนแล้วมันก็มีของตนขึ้นมา ดังนั้นความทุกข์มันจึงขยายออกไปเต็มบ้านเต็มเมืองเต็มโลก มันยังมีโลกเป็นของตน มันก็ยิ่งหนักใหญ่ เป็นทุกข์ใหญ่
ทีนี้ที่จะต้องดูให้เห็นชัด เกี่ยวกับคำว่า ความทุกข์ ก็คือว่าอาการที่มันเป็นทุกข์โดยตรง อาการที่มันเป็นทุกข์โดยตรง คือ เราเจ็บปวด เจ็บปวดอยู่ ด้วยความเจ็บความไข้ความอะไรก็ตาม มันเป็นอาการเป็นทุกข์โดยตรง นี่ก็เป็นทุกข์โดยอาการ อีกอย่างหนึ่งก็เป็นทุกข์โดยความหมายของมัน มันมีความหมาย นี่ยังไม่ต้องมีมาหรอก แต่ความหมายของมันมาบีบครั้นจิตใจของเราให้เป็นทุกข์ ความหมายของความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มันมีแต่ความหมาย เช่นว่าความตาย ความหมายของมันเราก็กลัวเสียแล้ว ความตายยังไม่ได้มา แต่ความหมายของความตายมันมาทำให้เรากลัวความตาย กลัวความเจ็บ กลัวความไข้ กลัวสิ่งต่างๆ ที่ยังไม่มาถึง นี่เรียกว่ามันเป็นทุกข์โดยความหมาย หรือคุณค่าของมัน มันเลยเกิดเป็น ๒ อย่าง ทุกข์โดยอาการโดยตรง เจ็บปวดอยู่โดยตรง นี่เป็นทุกข์โดยอาการ แล้วความหมายของมันที่เราเอามายึดถือ ยึดมั่น ที่มันจะมาถึงเรา จะมาถึงแก่เรา นี่เรียกความหมายของมัน ก็เป็นทุกข์ทั้งนั้นแหละ เรากลัวความตาย เรากลัวระเบิดปรมาณูที่ยังไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไร นี่เรียกว่าโดยความหมาย ขอให้จำไว้ ๒ คำว่า ความทุกข์โดยอาการที่มีอยู่เวลานั้นกับความทุกข์โดยความหมายที่ยังว่าไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน แต่เราก็เอามาเป็นทุกข์แล้วเอามากลัวอยู่
แต่แล้วมันก็น่าหัว น่าหัวที่ว่า ไอ้ความทุกข์โดยอาการตรงๆ นั้นไม่ค่อยมา นานๆ จึงจะมา เช่นเราไม่ได้เจ็บไข้อยู่ แต่ว่าเราก็มีไอ้ความหมายของความเจ็บไข้ กลัวไว้ล่วงหน้าว่ามันจะมา เพราะนั้นไอ้ความทุกข์โดยความหมายนั้นแหละเบียดเบียนเรามากที่สุด โดยอาการนานๆ จะมาครั้ง แต่ถ้าว่าโดยความหมายแล้วมันมีอยู่ตลอดเวลา เรามีความกลัวอยู่ตลอดเวลา เรามีความวิตกกังวลอาลัยอาวรณ์อยู่ตลอดเวลา นี่เรียกว่าความทุกข์โดยความหมายเบียดเบียนเราอยู่ตลอดเวลา จนเป็นบ้าไปเลยเสียก็มี นี่ระวังให้ดี ไอ้ความทุกข์โดยความหมายนี่มันเบียดเบียนเรา กัดกินเราอยู่ตลอดเวลา
นี่แหละคือเรื่องของ ปฏิจจสมุปบาท ในพระพุทธศาสนา คือเรื่องความจริงของโลกที่เราจะต้องรู้จะต้องเข้าใจ มันเป็นอย่างนี้ ขอให้ท่านทั้งหลายสังเกตจดจำไว้ให้ดี เพราะว่าที่อื่นอาจจะอธิบายอย่างอื่นไม่อธิบายอย่างนี้นะ ที่อื่นในเมืองไทยก็ดี ศรีลังกาก็ดี พม่าก็ดีเขาอาจจะอธิบาย ปฏิจจสมุปบาท เป็นอย่างอื่น แต่ที่อาตมาได้ศึกษามาตลอดเวลานี้เห็นว่ามันเป็นอย่างนี้ ขอช่วยจำคำอธิบายอย่างนี้ไว้ให้ดีๆ เพราะว่ามันอาจจะไม่เหมือนกับที่อื่น แล้วท่านก็อย่าได้ประหลาดใจ ถ้ามันไม่เหมือนกับที่อื่น
ทีนี้ก็มีอยู่อีกนิดหนึ่งคือ ความกำกวมแห่งภาษา เราใช้คำว่า ปฏิจจสมุทปาทะ Dependent Origination, Originate หมายถึงเกิดขึ้นๆๆ มันมีความกำกวมแห่งภาษา แม้ฝ่ายที่มันจะดับลงๆ ดับทุกข์ๆ ลงไปเราก็ยังเรียกว่า Origination แต่มันเป็น Origination ของความดับทุกข์ แม้แต่ความดับทุกข์มันก็มี Originate ขึ้นมาได้เหมือนกัน คำว่า ปฏิจจสมุปบาท จึงใช้ได้ทั้งฝ่ายที่ความทุกข์เกิดขึ้น และความดับทุกข์เกิดขึ้น ใช้ได้ทั้ง ๒ ทาง นี่เป็นความกำกวมแห่งภาษา เข้าใจให้ดี เดี๋ยวจะเห็นว่าแล้วเอาความดับทุกข์ไว้ที่ไหน มันก็อยู่ใน ปฏิจจสมุปบาท นั่นแหละ
ทีนี้ยังจะต้องทราบกันไว้ด้วยว่า แม้เพียงคู่เดียวเท่านั้นแหละ คือไม่ต้องทั้ง ๘ คู่ ๑๐ คู่ หรือกี่คู่ ไม่ต้อง เพียงแต่คู่เดียว เพียงแต่ว่าอายตนะภายในอายตนะภายนอกพบกันเข้าก็เกิดวิญญาณ เพียงคู่เดียวเท่านี้ ประโยคเดียวเท่านี้ก็ เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ในหนึ่งคู่ หนึ่งคู่ แต่ละคู่ ละคู่มี ปฏิจจสมุปบาท ให้เข้าใจไว้ว่าแม้แต่อาการเดียว อาการเดียว ตอนเดียวนั่นก็เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ไม่จำเป็นต้องว่าตลอดทั้งสาย ถ้าตลอดทั้งสายก็คือโดยสมบูรณ์ แต่ถ้าแม้คู่เดียว คู่เดียวก็เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท
ทีนี้ก็มาถึงปัญหาที่มันเนืองกัน คือว่าเราอาจจะควบคุม กระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท ไม่ให้เกิดทุกข์ ไม่ให้เกิดเป็นทุกข์ เราจะไม่ให้มันเกิดเลยก็ได้ จะควบคุมก็ได้ ต้องอาศัยเครื่องมือธรรมะอันสูงสุดอีกอย่างหนึ่งที่เรียกว่า สติ สติ สติ มีสติพอก็ควบคุมกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทได้ ดังนั้นเราจะต้องฝึกสติกันอีกเรื่องหนึ่งที่ให้สมบูรณ์ที่สุด เรียกว่า อาณาปานสติ ซึ่งท่านทั้งหลายก็คงจะได้เริ่มฝึกกันมาแล้วที่ Center ขอให้สนใจฝึกอาณาปนสติ ฝึกอาณาปานสติ ให้มีสติสมบูรณ์ ก็จะชนะกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท เป็นเรื่องที่ละเอียดและสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ อาณาปานสติ ซึ่งเราจะได้พูดกันต่อไปคราวหลัง
ในที่สุดนี้ขอขอบพระคุณท่านทั้งหลายอีกครั้งหนึ่งในการเป็นผู้ฟังที่ดี ๒ ชั่วโมงแล้ว นี่ก็ต้องตากฝนด้วย มีฝนด้วย ต้องอดทนมาก มันเป็นเฉพาะเดือนนี้เดือนหน้าคงไม่มีฝน ขอขอบคุณในการเป็นผู้ฟังที่ดีด้วยความอดทน แล้วก็หวังว่าจะมีความก้าวหน้า ก้าวหน้าในทางการศึกษาและการปฏิบัติ แม้ที่สุดแต่การเดินอนัตตา เดินอย่างสุญญตานี้ เพราะคงจะก้าวหน้า ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป ขอให้ท่านทั้งหลายมีแต่ความก้าวหน้าในทางธรรมะนี้ แก้ปัญหาแห่งชีวิต หมดปัญหาแห่งชีวิตยิ่งขึ้นไป ยิ่งขึ้นไป ยิ่งขึ้นไปอยู่ ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ ขอยุติการบรรยายในวันนี้