แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
แต่ว่าก่อนแต่จะพูดถึงหมวดที่ ๔ โดยตรงนี้ อยากจะทำความเข้าใจกับคำบางคำ ซึ่งมีความเข้าใจผิดกันอยู่มาก คือคำว่ากำหนดลมหายใจ กำหนดลมหายใจนี้ยังไม่ถูกต้อง ต้องทำความเข้าใจ ภาษาไทยก็ลำบากเหมือนกันแหละที่จะแปลคำบาลีออกมาเป็นภาษาไทย และก็ได้แปลกันมาแล้วโดยคำภาษาไทยว่ากำหนด ๆ คำนี้ก็ยังฟังยาก ถ้าเป็นเรื่องวัตถุ เราดูด้วยตา ดูด้วยตา มันก็เรียกว่ากำหนดเหมือนกัน แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่ใช่วัตถุ เรื่องนามธรรม เราก็ดูด้วยใจ ดูมันด้วยใจ นี่มันดูด้วยตาหรือว่าดูด้วยใจ ถ้าเราจะยิงปืนหรือเราจะทำอะไร เราก็กำหนดด้วยตา แต่ถ้าเราจะกำหนดศึกษาในความรู้สึกบางอย่าง ก็เรียกว่าดูด้วยใจ และอาการนั้นเรียกในภาษาไทยว่ากำหนด ในภาษาอังกฤษก็ควรจะมีคำที่มีความหมายตรง อาจารย์สันติกโร จะเป็นผู้เลือกคำนี้ให้คุณ
ทีนี้ก็มาถึงสิ่งที่ถูกกำหนด สิ่งที่ถูกกำหนดนี้ก็ยังเข้าใจผิดกันอยู่มาก แม้ในประเทศไทยก็พูดกันผิด ๆ อยู่ ผิดอยู่ในที่ทั่ว ๆ ไปแหละ คือเขาพูดว่ากำหนดลมหายใจน่ะ อานาปานสติคือการกำหนดลมหายใจ นี่มันผิดเกินร้อยเปอร์เซ็นต์ไปเสียอีก ตัวอานาปานสตินั่น แปลว่ากำหนดอยู่ทุกครั้งที่หายใจเข้าออก แต่ไม่ได้บอกว่ากำหนดอะไร นี้เราต้องรู้เอาเอง ก็เป็นอันว่ากำหนดสิ่งที่ควรกำหนด สิ่งที่ควรกำหนด แล้วกำหนดอยู่ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า การกำหนดทุกครั้งที่หายใจออกเข้าเรียกว่าอานาปานสติ การปฏิบัติข้อนี้ไม่ใช่กำหนดที่ลมหายใจ กำหนดที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ควรกำหนดอยู่ทุกครั้งที่หายใจออกและเข้า นี่ขอให้ทำความเข้าใจให้ถูกต้องในคำว่ากำหนดและสิ่งที่ถูกกำหนดกันเสียใหม่
ท่านก็ทราบดีอยู่แล้วว่า อานาปานสติทั้งระบบนั้นมีอยู่ ๑๖ บทเรียน ฉะนั้นแต่ละบทเรียนก็มีสิ่งที่จะถูกกำหนดเฉพาะ เฉพาะบทเรียน เฉพาะบทเรียน ดังนั้นสิ่งที่จะถูกกำหนดจึงมี ๑๖ สิ่ง ๑๖ อย่างตามจำนวนของบทเรียน ข้อนี้จะต้องเข้าใจให้ดี ว่าแต่ละบทเรียน กำหนดที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ควรกำหนดอยู่ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า นั่นแหละคือความหมายของคำว่าอานาปานสติที่ถูกต้องตามภาษาบาลี
ทีนี้ก็มาถึงหมวดที่ ๑ บทเรียนที่ ๑ กำหนดที่อะไร กำหนดที่ลมหายใจหรือกำหนดที่ความยาวของลมหายใจ คำพูดมันต้องพูดว่ากำหนดลมหายใจที่ยาว กำหนดลมหายใจที่ยาว แต่กำหนดแท้จริงมันกำหนดที่ความยาวมากกว่า และกำหนดที่ผลที่มันเกิดขึ้นมาจากลมหายใจยาวน่ะพร้อมกันไป เช่น อิทธิพลของความยาว ปฏิกิริยาของความยาว กระทั่งว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นในความรู้สึก ก็คือกำหนดว่าลมหายใจยาวน่ะมันมีลักษณะอย่างไร ให้เกิดอะไรขึ้นในระบบจิตใจ มันไม่ได้กำหนดที่ตัวลมแท้ ๆ แต่ว่าก็กำหนดที่ลมที่ยาวนั่นแหละ นี่เป็นเหตุให้พูดผิดไปบ้างว่ากำหนดลม แต่ที่จริงมันกำหนดความยาวของลม อย่างนี้เป็นตัวอย่าง ว่ากำหนดที่ความยาวของลมว่ามีลักษณะอย่างไร และให้เกิดปฏิกิริยาอย่างไรแก่จิตใจ ขอให้แยกดู ว่ากำหนดที่ความยาวชนิดยาว ลมชนิดยาวน่ะมันมีอะไรของมันเป็นธรรมชาติของมัน
บทเรียนที่ ๒ ก็กำหนดที่ลมหายใจสั้น มันก็อย่างเดียวกับบทเรียนที่ ๑ แหละ กำหนดที่ความสั้นของลมหายใจสั้น มันมีปฏิกิริยาอย่างไร มีอิทธิพลอย่างไรแก่จิตใจ ถ้าเราไปกำหนดที่ตัวลมหายใจ มันก็เหมือนกันแหละ ลมหายใจยาวก็ลมหายใจ ลมหายใจสั้นก็ลมหายใจ มันก็เหมือนกัน มันต่างกันมากยาวกับสั้นน่ะ กำหนดความสั้นให้เกิดผลอย่างไร อิทธิพลอย่างไร ปฏิกิริยาอย่างไรแก่จิตใจ ศึกษาให้รู้จักธรรมชาติของลมหายใจสั้น ฉะนั้นบทเรียนที่ ๑ มันกำหนดที่ความยาวหรือผลที่เกิดมาจากความยาว บทเรียนที่ ๒ กำหนดความสั้นหรือผลต่าง ๆ ที่มันเกิดมาจากความสั้น มันเลยไม่ได้กำหนดที่ลมหายใจโดยตรง มันจึงได้ต่างกันมาก อันหนึ่งยาว อันหนึ่งสั้น มันต่างกันตรงกันข้ามทีเดียว นี่ขอให้เข้าใจว่าลมหายใจสั้น กำหนดความสั้นให้เกิดผลอย่างไร
บทเรียนที่ ๓ ก็กำหนดความที่หรือความจริงที่ลมหายใจกับร่างกายเนื้อ เนื้อหนังนี่ ลมหายใจกับร่างกายนี้ มีความสัมพันธ์กัน สัมพันธ์กัน หยาบก็หยาบด้วยกัน ละเอียดก็ละเอียดด้วยกัน ระงับก็ระงับด้วยกัน ไม่ระงับก็ไม่ระงับด้วยกัน นี้เรียกว่าความสัมพันธ์กันระหว่างลมหายใจกับร่างกาย กำหนดข้อเท็จจริงอันนี้อยู่ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า มันมีเรื่องเข้ามากำหนด เรื่องใหม่เข้ามากำหนด ไม่ได้กำหนดที่ลมหายใจตะพึดไป เอาลมหายใจเป็นเครื่องวัดหรือเป็นกฎเกณฑ์สำหรับวัดเท่านั้นเอง แต่สิ่งที่ถูกกำหนดก็เปลี่ยนไป บทเรียนที่ ๓ กำหนดความที่ลมหายใจสัมพันธ์กันอยู่กับร่างกายโดยตรง
พอบทเรียนที่ ๔ เราทำลมหายใจให้ระงับ แล้วร่างกายมันก็พลอยระงับลง calm down ลง ตามลมหายใจ เรากำหนดการที่ร่างกายก็พลอยระงับลงตามลมหายใจ นั่นแหละคืออารมณ์ของบทเรียนที่ ๔ อาการที่กายนี้ระงับลงตามความระงับของลมหายใจ นี่อารมณ์ที่ ๔
ทีนี้ก็มาถึงหมวดที่ ๒ เกี่ยวกับเวทนา-feeling บทเรียนที่ ๑ ของหมวดนี้ก็กำหนดความรู้สึกพอใจที่หยาบ จะเป็น rapture ก็ได้ เป็น contentment ก็ได้ แต่มันหยาบ มันยังหยาบอยู่ มันแรกประสบหรืออะไรทำนองนั้น เรียกว่ากำหนดปีติ ๆ ให้กำหนดความพอใจที่หยาบ นี่สำหรับบทเรียนที่ ๑ ของหมวดที่ ๒
ทีนี้บทเรียนที่ ๒ ของหมวดนี้ก็กำหนดความพอใจ ที่ละเอียด ที่สงบ ที่ระงับ ที่ประณีต มันเปลี่ยนชื่อเป็นความสุข-happiness ไปแล้ว มันมีความพอใจที่ละเอียด ที่สงบ ที่ระงับ ที่ประณีต ความพอใจที่หยาบนี่มันถึงกับตัวสั่น ถึงกับกระโดดไปก็มี แต่พอใจที่ละเอียดนี่ หยุด เย็น สงบ นิ่ง นี้เราก็ต้องรู้จักแยกว่าอย่างหยาบเป็นอย่างไร อย่างละเอียดเป็นอย่างไร กำหนดไป คนละบท คนละบทเรียน บทเรียนที่ ๑ กำหนดปีติพอใจหยาบ บทเรียนที่ ๒ กำหนดความสุขพอใจละเอียด จนเรียกว่าความสุขได้ พอถึงบทเรียนที่ ๓ ของหมวดนี้ ก็กำหนดหรือสังเกตหรือเห็น คือมันเริ่มเป็นวิปัสสนาเป็นปัญญาขึ้นมาหน่อย ๆ แล้ว พิจารณาเห็นว่า เวทนานี้เป็นการปรุงแต่งให้เกิดความคิด-thought แต่ในบาลีเรียกว่า จิตตะ แต่มันในความหมายว่าความคิด เวทนามาจากตัณหาอย่างนั้นอย่างนี้อย่างโน้น เพราะฉะนั้นเวทนานี้มันก็ปรุงให้เกิดความคิดโดยอนุโลมกับตัณหาที่เป็นต้นเหตุของเวทนา เราสังเกตเห็นอันนี้แล้วกำหนดอยู่ว่า อ้าว,ไอ้นี่เอง เวทนานี่เองที่ปรุงความคิด กำหนดข้อเท็จจริงอันนี้อยู่ตลอดเวลาที่หายใจเข้าออก นี่คือบทเรียนที่ ๓ ของหมวดนี้
พอถึงบทเรียนที่ ๔ ของหมวดนี้ เราก็มองเห็นหรือกำหนดที่ข้อเท็จจริงอีกอย่างหนึ่งว่า เราควบคุมเวทนาได้เท่าไร เราก็ควบคุมจิตหรือความคิดได้เท่านั้น เราลดกำลังของเวทนาได้เท่าไร เราก็ลดกำลังของความคิดได้เท่านั้น และเราก็สามารถทำให้เวทนาลดกำลังลงไปโดยวิธีต่าง ๆ แล้วแต่จะเหมาะสม เวทนาลดกำลังลงไปเท่าไร ความคิดก็ลดกำลังลงไปเท่านั้น และสามารถถึงกับว่าเราจะทำให้หยุดคิด คือหยุดเวทนาที่จะออกกำลัง ถ้าอย่างนี้มันก็หยุดคิด ถ้าควบคุมเวทนาได้บางส่วน ความคิดก็ลดลงบางส่วน อย่างนี้เราเรียกว่าเป็นนาย เป็นนายเหนือเวทนา ฉันจะบังคับแกอย่างไรก็ได้ บทเรียนที่ ๔ มีอารมณ์ว่า ควบคุมเวทนาให้ระงับลง ๆ ความคิดก็ระงับลง ๆ
บัดนี้ท่านก็เห็นได้เองแล้วว่า ทั้ง ๔ บทเรียนนั้นกำหนดต่างกัน บทเรียนที่ ๑ กำหนดเวทนาหยาบ บทเรียนที่ ๒ กำหนดเวทนาละเอียด บทเรียนที่ ๓ กำหนดการที่เวทนาปรุงแต่งจิต บทเรียนที่ ๔ กำหนดการลดลงแห่งเวทนา ก็เป็นการลดลงแห่งกำลังของจิต มันต่างกันมากทั้ง ๔ บทเรียน
มาถึงหมวดที่ ๓ เป็นเรื่องของจิตโดยตรง ก็กำหนดทุกอย่างที่เกี่ยวกับจิต บทเรียนที่ ๑ ของหมวดที่ ๓ นี้ก็กำหนดลักษณะของจิตชนิดต่าง ๆ จิตมีชนิดต่าง ๆ ก็กำหนดดูทีละอย่าง ๆ ว่ามันมีลักษณะอย่างไร จิตมีราคะ ไม่มีราคะ จิตมีโทสะไม่มีโทสะเป็นต้น นี้มันต่างกันอย่างไร เพื่อให้เรารู้จักจิตทุกชนิด ทุกชนิดเท่าที่จะรู้จักมันได้ นี่คือบทเรียนที่ ๑ กำหนดลักษณะต่าง ๆ ของจิต บทเรียนที่ ๒ แห่งหมวดที่ ๓ นี้ ก็คือกำหนดความที่เราสามารถทำจิตให้บันเทิง ๆ -joyful ได้ตามที่เราต้องการ บทเรียนที่ ๒ มันทำให้ปราโมทย์ได้ตามต้องการ บทเรียนที่ ๓ ทำให้เป็นสมาธิ มีความเป็นสมาธิได้ตามที่เราต้องการ pureness ก็ดี stableness ก็ดี activeness ก็ดี อยู่ในกำมือของเรา เรากำหนดข้อนี้ บทเรียนที่ ๔ ของหมวดนี้ เราก็สามารถบังคับสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในจิต ใช้คำอย่างนี้มีความหมายกว้างดี ว่าสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในจิต นี่เราสามารถที่จะไล่มันออกไปเสียได้ตามที่เราต้องการ บังคับสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในจิตให้ออกไปเสียจากจิตได้ตามที่เราต้องการ บทเรียนที่ ๔ ของหมวดที่ ๓ ตัวอย่างเช่น ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัวเป็นต้น ที่เราสามารถขับไล่มันออกไปเสียจากจิต แม้จะเป็นการชั่วคราว ๆ ก็ยังเป็นบทเรียนข้อนี้ นี่บทเรียนที่ ๔ ของหมวดที่ ๓
ท่านเห็นได้เองแล้วว่า ทั้ง ๑๒ บทเรียนของ ๓ หมวดนี้ มันไม่ได้ใช่สิ่งเดียวกันเลย มันกำหนดถึง ๑๒ ชนิดแหละ ถ้าว่ากำหนดที่ลมหายใจ ลมหายใจมันก็เหมือนกันหมดทุกบทเรียน ลมหายใจมันเหมือนกันหมดทุกบทเรียน แต่กำหนดสิ่งที่เรากำหนดอยู่ทุกครั้งที่หายใจหรือที่ปรากฏแก่จิตนั่น มันเลยได้ต่าง ๆ กันเป็น ๑๒ ชนิด กำหนด ๓ หมวดที่กล่าวแล้ว
ทีนี้เราจะได้กล่าวถึงหมวดที่ ๔ ต่อไป ที่เราเสียเวลาพิจารณากันถึงอารมณ์ที่มันต่างๆ กันทุก ๆ บทเรียนนั้นก็เพื่อให้มันเข้าใจบทเรียนสุดท้ายหมวดสุดท้ายที่เข้าใจยาก ก็คือหมวดธรรมา ๆ นี่ ฉะนั้นขอให้ใช้หลักเกณฑ์อันนี้ต่อไปสำหรับศึกษาหมวดที่เรียกว่าธรรมา ๆ ซึ่งในที่นี้หมายเฉพาะสิ่งที่ไม่ควรมีในจิตและจะกำจัดออกไปอย่างไร คือเป็นวิธีที่จะกำจัดสิ่งไม่ควรมีอยู่ในจิตให้มันออกไปเสียได้อย่างไร ฉะนั้นหมวดนี้หมวดที่ ๔ นี้มันจึงสำคัญมาก ขอให้ตั้งใจฟังให้ดี
คำว่าธรรมะ ๆ ที่แปลว่าสิ่งและก็สิ่งทั้งปวง สิ่งทั้งปวงในที่นี้หมายเฉพาะสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในจิตใจ คือมันเป็นอันตราย สิ่งทั้งปวงชนิดที่ไม่ควรจะมีอยู่ในจิตใจที่เป็นอันตรายนี้ จะไล่มันออกไปเสียได้อย่างไร เราเอาสิ่งเหล่านั้นทุกสิ่งมากำหนด แล้วก็จะหาวิธีไล่มันออกไปได้อย่างไร ดังนั้นหมวดที่ ๔ ก็คือกำหนดวิธีที่จะไล่ขับไล่สิ่งทั้งปวงที่ไม่พึงปรารถนาออกไปเสียจากจิตใจนี้ได้โดยวิธีใด และก็แบ่งเป็น ๔ บทเรียนอีกเหมือนกัน พูดให้สั้นที่สุดก็คือ เฉพาะสิ่งที่มันเป็นปัญหาคือเราไม่ต้องการ เราไม่ได้เอาทุกสิ่งทั้งหมดมากำหนด มันมากเกินไป มันเฟ้อ มันบ้าเปล่าๆ สิ่งที่มันไม่เป็นปัญหา ไม่ต้องเอามา เพราะมันไม่ทำอันตรายอะไร แต่เอาสิ่งที่มีปัญหามากำหนดวิธีที่จะขับไล่มันออกไปเสีย นี่จับใจความให้ได้อย่างนี้ว่า หมวดที่ ๔ เราจะกำหนดวิธีที่เราจะขับไล่สิ่งที่ไม่พึงปรารถนาให้ออกไปเสียจากจิตใจ
บทเรียนที่ ๑ ของหมวดที่ ๔ ก็คือกำหนดความเป็นอนิจจัง อนิจจังไม่เที่ยง ไม่เที่ยงของสิ่งนั้นแหละ คือสิ่งที่อุปาทานเอามายึดมั่นถือมั่นไว้จนเป็นทุกข์ เราก็ใช้อนิจจังความเห็นอนิจจังไล่มันออกไป ใช้อนิจจังไล่สิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในจิตใจคืออุปาทานนั่นน่ะ ในสิ่งที่เรารักเราหลงอะไรก็ตาม เอาอนิจจังเอาการเห็นอนิจจังมาไล่มันออกไป นี่บทเรียนที่ ๑ ใช้อนิจจังขับไล่ความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เป็นอันตรายแก่เรา แต่ท่านต้องทราบว่า แม้เราจะใช้คำพูดสั้น ๆ คำเดียวว่าอนิจจังนี่ ความหมายของมันมากเหลือเกิน และการเห็นอนิจจังทำให้เกิดการเห็นอย่างอื่นต่อกันไปตามลำดับ ต่อกันไปตามลำดับ มันเป็นปฏิกิริยาเกิดมาจากการเห็นอนิจจัง ทั้งหมดนี้ก็มารวมอยู่ในคำว่าอนิจจัง ซึ่งเราจะต้องศึกษากันด้วยเดี๋ยวนี้
อนิจจัง แปลว่าไม่เที่ยง ไม่เที่ยงคือเปลี่ยนเรื่อย เรียกว่าเปลี่ยนเรื่อย,อนิจจัง เพราะเหตุว่าสิ่งนั้นมันมาจากเหตุจากปัจจัยที่เปลี่ยนเรื่อย นี้เป็นใจความสำคัญที่ว่าสิ่งทั้งปวงมีเหตุมีปัจจัย ยกเว้นพระนิพพานหรืออสังขตะเสียแล้ว ทุกสิ่ง ๆ มันมีเหตุมีปัจจัย แล้วเหตุปัจจัยมันเปลี่ยนเรื่อย เพราะฉะนั้นสิ่งนี้มันก็พลอยเปลี่ยนเรื่อย ความเปลี่ยนเรื่อยนี้มันมาจากเหตุปัจจัยที่เปลี่ยนเรื่อย เราจึงเห็นความเป็นอนิจจังมาตั้งแต่เหตุปัจจัยของมันมาตามลำดับจนบัดนี้มันเปลี่ยนเรื่อย เปลี่ยนเรื่อย เพราะมันมีเหตุปัจจัยที่เปลี่ยนเรื่อย
ข้อนี้ยอมเสียเวลาสักนิดหนึ่ง พูดถึงนักปรัชญาชาวกรีก ที่ค่อนข้างพ้องสมัยกันกับพระพุทธเจ้า คือเฮราคลิตุส (Heraclitus) เขาสอนเรื่อง Panta rhei ทุกอย่างไหล ทุกอย่างไหล มันก็เรื่องเดียวกับอนิจจังในพระพุทธศาสนา แต่เขาสอนได้ไม่ตลอด ไม่สามารถที่จะเห็นทุกสิ่งที่มันเนื่องกันอยู่กับความเป็นอนิจจัง มันเลยตายด้าน มันไปไม่ตลอด และถูกหาว่าบ้าบอเสียด้วย เดี๋ยวนี้เราจะต้องเห็นอนิจจัง จนถึงกับว่ามันจะสุดเรื่องของมันแหละคือตลอด จะได้รับประโยชน์จากการเห็นอนิจจังเป็นอันมาก ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้เห็นหยุดอยู่เพียงว่าไม่เที่ยง ไม่เที่ยง ท่านสอนเลยไปถึงผล ผลของการที่อยู่กับสิ่งที่ไม่เที่ยง พอเข้าไปเกี่ยวข้องหรือไปผูกพัน หรือเป็นอยู่กับสิ่งที่ไม่เที่ยง มันก็กัดเอา ใช้คำง่าย ๆ มันก็กัดเอา คือมันเป็นทุกข์ เพราะเราจำเป็นที่ต้องเข้าไปอยู่กับสิ่งที่ไม่เที่ยง มันก็เป็นทุกข์ ลองดู คุณลองดู ไปจับฉวยอะไรที่ไม่เที่ยงมาเป็นตัวตนเป็นของตน จะได้ตามที่เราต้องการ มันก็กัดเอา ก็เป็นทุกข์ ในเมื่อมันไม่เที่ยง มันก็เป็นทุกข์
คำว่าทุกข์ ทุกขะหรือทุกข์นี้ มันแปลยาก และแปลเป็นภาษาอังกฤษก็คงยาก เพราะตัวหนังสือแท้ ๆ มันแปลว่าสิ่งที่น่าเกลียด น่าชังน่าเกลียด ทำไมน่าเกลียด เพราะมันกัดเอานี่ พอไปเกี่ยวข้องกับมันแล้วมันกัดเอานี่ มันจึงน่าเกลียด มันน่าเกลียดไปในความหมายอย่างอื่นด้วยหมด ฉะนั้นคำว่าทุกข์ มันแปลว่าน่าเกลียด น่าเกลียดเพราะว่ามันกัด กัดคนที่เข้าไปเกี่ยวข้อง นั่นแหละขอให้เข้าใจว่า สิ่งที่มันทำให้เกิดปัญหายุ่งยากลำบาก จะเรียกว่ามันมาจากความไม่เที่ยง แล้วมันก็เป็นทุกข์คือมันกัดเอา ทุกข์ ๆ นี้แปลว่าน่าเกลียด
ทีนี้มันรวมกันเข้าเป็นสองแรง คือไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงเรื่อยด้วย และมันกัดเอาด้วย ทำความตกลงกันไม่ได้ เปลี่ยนแปลงให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ นี่จึงให้ความหมายที่ ๓ ว่าเป็นอนัตตา ไม่มีตัวตนที่จะยืนยันมั่นคงอย่างไรได้ มีแต่ไม่เที่ยงและเป็นทุกข์ บังคับมันไม่ได้ ก็เรียกว่ามันเป็นอนัตตา ไม่มีตัวตนที่จะเป็นคู่สัญญาหรือทำความตกลงอะไรกันได้ นี้ก็มาจากความที่มันไม่เที่ยงและก็เป็นทุกข์และก็เป็นอนัตตา ถ้าหากว่ามันเป็น self หรือเป็น soul เป็นอะไร มีตัวตนที่แท้จริงแล้ว มันก็ทำความตกลงกันได้ ทำความตกลงเอาอย่างนั้นอย่างนี้กันได้ แต่ทีนี้มันไม่มี มันไม่มีทางที่จะทำความตกลงใด ๆได้ มันก็ไม่มีตัวอัตตาของมัน แล้วยิ่งกว่านั้นมันก็ยังกัดตัวเอง กัดตัวมันเอง เป็นทุกข์ ไม่เที่ยงเป็นทุกข์อยู่ในตัวมันเองด้วย จึงเรียกว่ามันเป็นอนัตตา ไม่มี self ไม่ใช่ self ไม่ใช่ soul ใด ๆ นี่ผลของการเห็นความไม่เที่ยง
เมื่อเราเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาว่าเป็นอย่างนี้แล้ว มันก็เห็นได้ในที่สุดว่า นี้เป็นธรรมดา เป็นธรรมดา มีอยู่ตามธรรมดา ตั้งอยู่ตามธรรมดา เป็นไปตามธรรมดาของสิ่งทั้งปวง นี้เรียกเป็นบาลีว่า ธมฺมฏฺฐิตตา คือความเป็นธรรมดาที่ตั้งอยู่อย่างนั้นเอง เป็นธรรมดาอย่างนั้นเอง เห็นชัดต่อมาจากที่เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว มันก็เป็นผลของการเห็นอนิจจังอยู่นั่นแหละ ทำไมมันจึงต้องมีธรรมดาเป็นอย่างนั้น มีธรรมดาเป็นอย่างที่ว่ามาแล้ว ก็เพราะว่ามันมีกฎของธรรมชาติบังคับอยู่ กฎของธรรมชาติในที่นี้เรียกว่าธรรมนิยาม,ธรรมนิยามะๆ เห็นว่ามีกฎของธรรมชาติบังคับอยู่อย่างนี้ เรียกว่าเห็นธมฺมนิยามตา ความที่มีกฎของธรรมชาติบังคับอยู่ ก็จะเห็นตามมาทันที เมื่อเห็นธรรมดาแล้วก็เห็นว่ามีกฎธรรมชาติบังคับอยู่ มันเป็นอย่างนั้น มันจึงเป็นธรรมดาอยู่อย่างนั้น รวมกันทั้งหมดนี้ คือความที่มันต้องเป็นไปตามปัจจัย เป็นไปตามปัจจัย เป็นไปตามปัจจัย เรียกมันรวมอีกทีทั้งหมดนี้ว่าอิทัปปัจจยตา ความที่มันต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของมันเอง เรียกว่าอิทัปปัจจยตา นี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดที่จะต้องศึกษาและปฏิบัติให้ได้ จึงจะดับทุกข์ได้ เรียกว่าอิทัปปจัยยตา
คำว่า อิทัปปัจจยตา ใช้ได้กับสิ่งทั่วไปทุกสิ่ง มีชีวิตไม่มีชีวิตก็ใช้ได้ แต่มันมากเกินไป เรามาใช้เฉพาะสิ่งที่มีชีวิตรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ได้ ที่เรากำลังมีปัญหานี่แหละ ถ้าเราเอามาศึกษาเท่าที่จำเป็น จำเป็นอย่างนี้ เราเรียกชื่อเสียใหม่ว่าปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาทในภาษาไทย เรียกเป็นภาษาบาลีก็ ปฏิจฺจสมุปฺปาโท ซึ่งขอให้ศึกษากันที่เซ็นเตอร์ให้ครูอาจารย์อธิบายเรื่องปฏิจจสมุปบาทให้ชัดเจนให้แจ่มแจ้ง ให้รู้ความจริงข้อนี้สำคัญที่สุด ถ้าจะดับทุกข์ก็ต้องรู้เรื่องนี้ รู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำว่าอิทัปปัจจยตา ถ้าเห็นมาตามลำดับ ๆ คือเห็นความไม่เที่ยง เห็นความเป็นทุกข์ เห็นความไม่มีตัวตน เห็นความที่เป็นเช่นนั้นเอง ตามธรรมดาเช่นนั้นเอง เพราะมีกฎของธรรมชาติบังคับอยู่ เห็นอิทัปปัจจยตาอย่างนี้แล้ว ก็จะเห็นเป็นที่สุดสรุปความว่า ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าตัวตนโดยประการทั้งปวง เรียกว่าเห็นสุญญตา สุญญตาไม่ได้แปลว่าไม่มีอะไร ๆ มันมี มี มี แต่ว่ามันมิใช่ตัวตน มันว่างจากความหมายแห่งตัวตน แม้ตัวเรา แม้ชีวิตของเรา ร่างกายของเรา จิตใจของเรา ก็ว่างจากความหมายแห่งตัวตน นี้เรียกว่าเห็นสุญญตา ว่างจากตัวตน สำคัญมาก เห็นข้อนี้ก็คือเห็นหัวใจของธรรมะที่จะดับทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง
เพื่อให้ท่านทั้งหลายฝึกบทเรียน บทเรียนข้อนี้ ข้อสุญญตานี้ ก็จึงขอร้องให้เริ่มต้น เริ่มต้นฝึกด้วยการว่า เดินมาจากเซ็นเตอร์มาถึงที่นี่ ให้เดินมาโดยไม่มีตัวผู้เดิน-walking without walker มันมีการเคลื่อนไหวมีอิริยาบถ เดินมา เดินมา เดินมาอย่างนี้ แต่ไม่ใช่มีตัวกู ตัวตนตัวอะไรที่แท้จริงที่เป็นผู้เดิน มันเป็นเพียงร่างกายกับจิตใจ มันทำการเคลื่อนไหวไปตามแบบของมัน นี่คือบทเรียนว่าสุญญตา ไม่มีตัวตน เดินโดยไม่ต้องมีตัวผู้เดิน กินโดยไม่ต้องมีตัวผู้กิน ก็จะสูง สูง สูงขึ้นไปจนถึงว่า มีชีวิตโดยไม่ต้องมีตัวผู้มีชีวิต ฟังดูให้ดี มีชีวิตโดยไม่ต้องมีตัวผู้คืออัตตาที่มีชีวิต นี่ความหมายสูงสุดของคำว่าสุญญตา ๆ ในที่นี้
คำพูดนี้คนทั่วไปเขาจะรู้สึกว่าไม่น่าเชื่อ น่าหัวเราะเยาะมากกว่า เขาจะไม่เชื่อ เห็นเป็นเรื่องขบขันหรือว่าหลอกกันเล่น แต่โดยแท้จริงแล้ว นี้เป็นวิธีเดียวเท่านั้น วิธีเดียวเท่านั้นที่เราจะดับความทุกข์ กำจัดความทุกข์ทุกอย่างได้โดยสิ้นเชิง เพราะการเห็นสุญญตา ไม่ใช่ตน มีแต่สิ่งที่มิใช่ตน มี มี มีแต่มันมิใช่ตน สุญญตามีความหมายอย่างนี้ ท่านไปพยายามทำความเข้าใจ ให้เห็นความจริงข้อนี้ ว่าร่างกายจิตใจ ไม่ใช่ตัวตน แต่มันทำอะไรได้ทุกอย่าง มันสร้างปัญหาก็ได้ มันแก้ปัญหาก็ได้โดยตัวมันเองทั้งที่มันเป็นสุญญตา ปัญหาเกิดจากสุญญตา ก็ต้องแก้ด้วยสุญญตานี่แหละ เรื่องสำคัญของสุญญตาคืออย่างนี้
เราจะมีชีวิตโดยมีทุกสิ่ง ๆ มี มี ขออย่างเดียว อย่าไปมีสิ่งที่เรียกว่าอัตตา ๆ อัตตาเป็นเพียงปฏิกิริยาเป็นผลของความโง่ เป็นconcept ที่ไม่จริงที่หลอกลวง อันนั้นแหละเรียกว่าอัตตา อย่ามี ถ้าอย่ามีอัตตาอย่างเดียว อย่ามีอัตตาอย่างเดียวพอ พอแล้วที่จะเรียกว่ามีสุญญตา ๆ ว่างจากอัตตาอย่างเดียวก็พอที่จะเรียกว่าสุญญตา ขอให้ศึกษาข้อนี้เป็นพิเศษ ในฐานะเป็นหัวใจของพุทธศาสนา
ขอให้ทราบความจริงคือข้อเท็จจริงไว้เป็นหลักว่า ร่างกายก็ดี จิตใจก็ดี มันทำหน้าที่ หน้าที่ต่างๆ ของมันได้ทุกอย่างตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องมีสิ่งที่เรียกว่าอัตตา ๆ ซึ่งเป็นมายาเป็นความโง่คิดขึ้นมาเอง ร่างกายก็ทำหน้าที่ของร่างกายได้โดยไม่มีอัตตา จิตใจก็ทำหน้าที่ของจิตใจได้โดยไม่ต้องมีอัตตา นี่คือสุญญตา ๆ ที่จะต้องรู้จัก ๆ อย่าให้มันเกิดปัญหาขึ้นมาได้ สัตว์เดรัจฉานก็ทำหน้าที่ของมันได้โดยไม่ต้องมีอัตตา ต้นไม้เหล่านี้ต้นไม้ทั้งหลายนี้ก็ทำหน้าที่ของมันได้โดยไม่ต้องมีอัตตา ขอให้ศึกษาในข้อนี้ให้มากว่า ธรรมชาติแต่ละอย่างๆ นี้มันมีความสามารถในการทำหน้าที่ของมันได้ มันจะฉลาด ฉลาดมากก็ได้ มันจะโง่ โง่ที่สุดก็ได้ มันทำหน้าที่เหล่านี้ได้โดยไม่ต้องมีอัตตา พอมีอัตตาเมื่อไหร่แล้วมันก็มีปัญหาเมื่อนั้น มันกัดเจ้าของเมื่อนั้นแหละ สัตว์ร้ายตัวนี้มีไม่ได้ ถ้ามีแล้วกัดเจ้าของทั้งนั้นแหละ
แต่ว่ามันมีลัทธิอื่นศาสนาอื่น เขาสอนว่า คน,ในคนนี้มีอัตตา ในสัตว์มีอัตตา ในต้นไม้มีอัตตา อย่างนี้ก็มี นี่ไม่ใช่พุทธศาสนา แล้วก็น่าเห็นใจนะที่ว่า ในแผ่นดินไทยนี้ ในแผ่นดินประเทศไทยนี้ ลัทธิว่ามีอัตตา ๆ นั้น มาก่อน มาสอนไว้ก่อน มาสอนกันอย่างเต็มที่ให้ถือว่ามีอัตตา พุทธศาสนามาทีหลังสอนลำบากเหลือเกิน แต่ก็มีการต่อสู้กันจนสอนได้ สอนเรื่องอนัตตาได้ ที่อื่นก็คงมีอย่างนี้ ลำบากกันอย่างนี้ นี่ก็เป็นข้อเท็จจริงที่ควรจะรู้ไว้ด้วยว่า ทำไมประชาชนโดยทั่วไปมันมีความรู้สึกว่ามีอัตตา ฉะนั้นโดย instinct มันก็ส่งเสริมความมีอัตตา แล้วก็มาสอนมันอีก สอนว่ามีอัตตาอีก มันก็เลยมีอัตตากันแน่นหนา นั่นแหละคือปัญหาที่จะทำให้เข้าใจพุทธศาสนาไม่ได้
อัตตา ๆ มันมีลักษณะเป็น positive อนัตตา ๆ มันมีลักษณะเป็น negative ฉะนั้นคนเราจึงเอียงลำเอียงไปหาอัตตาได้ง่ายกว่า แม้ instinct ของธรรมชาติเอง มันก็มีลักษณะเอียงไปในทาง positive มากกว่า นี่คือความลำบาก ลำบากอย่างยิ่งที่จะเข้าถึงความจริงของสิ่งที่เรียกว่าอนัตตา เมื่อความรู้หรือวิปัสสนาของเราเดินมาถึงเห็นสุญญตา ถึงขั้นสุญญตาแล้ว จะมีความรู้ในที่สุดว่า โอ้,มันเป็นเช่นนี้เอง มันเป็นเช่นนี้เอง ตถาตา ๆ เช่นนี้เอง
คำนี้ฟังดู มันก็พูดเล่น ๆ พูดไม่รับผิดชอบ แต่ความจริง มันเป็นความจริงที่สุด มันเป็นเช่นนี้เอง มันเป็นเช่นนี้เอง มันเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เป็นอนิจฺจตา ทุกฺขตา อนตฺตตา ธมฺมฏฺฐิตตา ธมฺมนิยามตา อิทปฺปจฺจยตา สุญฺญตา มันเป็นเช่นนี้เอง เรียกว่าตถาตา ผู้เห็นตถาตานั่นแหละจะเป็นผู้เป็นพระอรหันต์หรือเป็นบุคคลสูงสุด เป็นพระพุทธเจ้า ต้องมีการเห็นตถาตา ๆ ผู้เห็นตถาตา เรียกว่าตถาคต,พระตถาคตน่ะ เพราะเห็นตถาตา เราจะต้องไปถึงที่นั่น ต้องเห็นตถาตา รู้สึกว่า โอ้,มันเป็นอย่างนี้เอง นี่ก็จะถึงขั้นสุดท้ายที่จะมีความเต็มเปี่ยมเต็มที่แห่งวิชาความรู้หรือวิปัสสนา ขอให้ช่วยจำคำว่าตถาตา ๆ มันเป็นเช่นนั้น เช่นนั้น เช่นนั้น ไม่เป็นอย่างอื่นได้
ถ้ามีความรู้เรื่องตถาตา เช่นนี้เอง เช่นนี้เอง ถึงที่สุดแล้ว มันจะมีประโยชน์มาก สิ่งที่น่ารักมาก็เช่นนั้นเอง สิ่งที่น่าเกลียดมาก็เช่นนั้นเอง สิ่งที่น่ากลัวมาก็เช่นนั้นเอง มันเป็นเรื่องของเช่นนั้นเอง ไล่กลับไปด้วยเช่นนั้นเอง แล้วปากของเขาก็จะเปลี่ยนนิสัยเป็นพูดว่าเช่นนั้นเองได้มาก ในทุกกรณีเขาจะเช่นนั้นเองได้ คำที่พูดที่ว่าพลั้งปากโดยไม่ต้องคิดต้องนึก มันก็เกิดขึ้นมาได้ว่าเช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง นี่มันถึงที่สุดของการเห็นธรรมะตั้งต้นมาแต่ อนิจจตา ความไม่เที่ยง ต่อไปนี้ก็ไม่มีอะไรมาปรุงแต่งจิตใจของเราให้เป็นไปในทาง positiveหรือ negative ความเป็นอย่างนี้เรียกว่าอตัมมยตา ๆ อะไร ๆ ปรุงแต่งไม่ได้ ไม่อาศัยอยู่กับอะไรที่เป็นบวกหรือเป็นลบ นี่เรียกว่าอตัมมยตา อันสุดท้ายจบกันที่ตรงนี้ การศึกษาสูงสุดที่ตรงนี้ สมบูรณ์ที่ตรงนี้ ความเป็นอริยบุคคลก็สูงสุดกันที่ตรงนี้ เรียกว่าอตัมมยตา ๆ ต่อไปนี้ก็จะไม่มีคำว่า มีกำไรหรือขาดทุน จะไม่มีคำว่าได้เกียรติหรือเสียเกียรติ และจะไม่มีคำว่า positive และnegative สำหรับบุคคลนั้นอีกต่อไป ไม่มีคำว่าบวกหรือลบ และจะไม่มีคำว่ามีชีวิตหรือไม่มีชีวิตด้วยซ้ำไป แล้วปัญหาจะมีอะไรเหลืออยู่ มันหมดปัญหา ไม่มีปัญหาที่จะทำให้เกิดความทุกข์ใด ๆ นี่เป็นที่จบ จบ จบ สิ้นสุดของการศึกษาของการปฏิบัติในเมื่อได้รับผลเป็นอตัมมยตา
แต่แล้วมันก็น่าประหลาดที่สุด น่าแปลกประหลาดที่สุด ตรงที่ว่า มันยังมีสติปัญญา มีสติปัญญา เหลืออยู่สำหรับจะจัดการกับทุกสิ่ง จะเป็นบวกหรือเป็นลบ จะเป็นอะไรก็ตาม เป็นได้เป็นเสีย เป็นแพ้เป็นชนะอะไรก็ตามที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ก็ยังมีปัญญา ปัญญาเหลืออยู่สำหรับจะจัดการกับสิ่งเหล่านี้ให้หมดไปโดยไม่มีปัญหา ไม่ใช่ว่าเป็นอตัมมยตาแล้วมันจะโง่หรือมันจะเป็นก้อนหินก้อนดินเป็นท่อนไม้ไป ก็ไม่ใช่ มันก็ฉลาดอย่างยิ่ง ฉลาดอย่างยิ่ง มีปัญญาส่วนหนึ่งฉลาดอย่างยิ่งสำหรับจะจัดการกับทุกสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตนี้ให้เรียบร้อยถูกต้องตลอดไปนี่ น่าสนใจหรือควรจะสนใจในที่สุดว่า พระอรหันต์ ๆ-the human perfected พระอรหันต์น่ะ ทำผิดอะไรไม่ได้อีกต่อไป จะทำผิดอะไรไม่ได้อีกต่อไป หรือจะพูดได้เสียเลยว่า ไม่ทำอะไรอีกต่อไป มีค่าเท่ากับว่าไม่ทำอะไรอีกต่อไปให้เป็นปัญหา หรือพูดอย่างธรรมดาก็ว่า ทำผิดอะไรไม่ได้อีกต่อไป เพราะว่ามีอตัมมยตา
ทีนี้ก็มาถึงปัญหาทางตัวหนังสือ คือคำว่า ตา ภาษาบาลีคำนี้แปลว่า stage of being -ตา แต่มันเผอิญมาตรงกันกับคำในภาษาไทยว่าตา คือลูกตา เราก็พูดกันอย่างล้อเล่นว่า มีลูกตา มีตา มีลูกตา ๙ ตา แต่มันเป็น stage of being ๙ ชั้น มองเห็นทั้ง ๙ ชั้น แล้วก็เรียกว่ารู้หมด รู้หมด รู้สิ่งที่ควรรู้ สิ่งใดที่ควรรู้ เป็นอันว่ารู้หมด นี่ช่วยเข้าใจคำว่า ตา ไว้ด้วย ภาษาไทยน่าหัวเราะที่หมายถึงลูกตา แต่ภาษาบาลี หมายถึง ภาวะแห่งจิต ภาวะแห่งความเป็นอยู่มีอยู่แห่งจิต ทั้ง ๙ ตานี้คือบทเรียนบทที่ ๑ แห่งหมวดที่ ๔ ธัมมานุปัสสนา มีบทเรียนที่ ๑ เป็นการเห็นอนิจจตา และการเห็นอนิจจตา ทำให้เป็น ตา ตา ตา ตา ไปถึง ๙ ตา จนถึงจุดสูงสุด ฉะนั้นจงให้ความสำคัญอย่างยิ่งแก่คำว่าอนิจจตา พยายามให้เห็นให้ถึงที่สุด ดังที่กล่าวมาแล้ว ก็เรียกว่าทำบทเรียนที่ ๑ แห่งหมวดที่ ๔ สำเร็จที่สุด บริบูรณ์ที่สุด สมบูรณ์ที่สุด
ทีนี้บทเรียนที่ ๒ ต่อไป ก็เนื่องจากได้เห็นอนิจจตาโดยสมบูรณ์อย่างนี้แล้ว มันเกิดปฏิกิริยาอันใหญ่หลวงที่สุดขึ้นมา มันคือความยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทานในสิ่งต่าง ๆ ว่าตัวตนว่าของตัวตนนั่นแหละ มันเริ่มจางออก คลายออก จางออก จางออก เหมือนสีที่ละลายน้ำจางออก ๆ จนจะไม่เป็นสี อันนี้เรียกว่าวิราคะ ๆ เห็นวิราคะคือเห็นความจางออก คลายออก ของความยึดมั่นถือมั่น นี้เป็นบทเรียนที่ ๒ เพียงแต่เพ่งดูเท่านั้น มันก็จะจางออกเอง คลายออกเอง หลังจากความเห็นอนิจจตา บทเรียนก็คือดู ดู ดูที่มันคลายออก จางออก คลายออก จางออก เรื่อยไป
ทีนี้บทเรียนที่ ๓ ก็คือว่าดูที่มัน fading away,fading away จนถึงที่สุด ถึงที่สุดของการจางคลาย มันก็คือดับ สิ้น ดับสิ้น เรียกว่านิโรธะๆ ธรรมดาก็หมายความว่าสิ้นสุด extinction ที่สุดของปัญหา ของกิเลส ของความทุกข์ ของสิ่งทุกสิ่งที่เป็นปัญหา เรียกว่าความทุกข์ก็แล้วกัน สิ้นสุดแห่งความทุกข์ ดูความจบลงสิ้นสุดลงแห่งความทุกข์ มีผลเป็นความสะอาด สว่าง สงบ เป็นความหลุดรอดออกไปจากโลก หลุดรอดออกไปจากสิ่งทั้งปวง นี้เรียกว่าเห็นนิโรธะ ๆ เป็นบทเรียนที่ ๓ ของหมวดที่ ๔
ตอนนี้ก็มีคำพูดที่น่าสนใจที่สุดอยู่คำหนึ่ง คือคำว่าหมดปัญหา ในภาษาไทยเราใช้คำว่าหมดปัญหา ไม่มีทั้ง question ไม่มีทั้ง probrem ไม่มี probrem ไม่มี question นี่เรียกว่ามันหมดปัญหา ไม่มีเรื่องที่จะต้องเป็นปัญหา ปัญหามันสิ้นสุดลงที่ตรงนี้แหละ หลังจากการมีอตัมมยตา เพราะการเห็นอนิจจตา เป็นคำที่ไพเราะนะ หมดปัญหา หมดปัญหา เป็นคำที่ไพเราะที่สุด ใครหมดปัญหาได้คนนั้นก็ emancipated หรือว่าไปอยู่กับพระเจ้า หรือแล้วแต่เขาจะเรียกเป็นคำสมมติอย่างอื่น แต่ที่เราจะเรียกเป็นภาษาจริงๆ ตรงๆ แล้ว ก็เรียกว่ามันหมดปัญหา เป็นที่สิ้นสุดแห่งการประพฤติธรรมะปฏิบัติธรรมะ ขอให้ทุกคนหมดปัญหา ท่านหมด question ที่จะไป question กับใครหรือแม้แต่ตัวเอง หมด question ที่ไม่ต้องไป question กับใครแม้แต่ตัวเอง ทั้งนี้เพราะว่าท่านหมดสิ่งที่เรียกว่า problem นั่น
เราสรุปใจความของผลที่ได้นี้ว่า สะอาด ๆ บริสุทธิ์ แล้วก็สว่าง ๆ รอบรู้ แล้วก็สงบเย็น ๆ แล้วก็มีเสรีภาพ ๆ เหนือสิ่งทั้งปวง เหนือปัญหาใด ๆ เหนือสิ่งใด ๆ นี่เรียกว่ามีเสรีภาพ สรุปความก็คือว่าชีวิตนี้สงบเย็นและก็เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายไม่จำกัด ชีวิตนี้สงบเย็นและเป็นโยชน์แก่ทุกฝ่าย เพราะว่ามันสะอาด มันสว่าง มันสงบ และมันมีเสรีภาพ
ท่านทั้งหลายควรจะเห็นว่าเรื่องจบแล้ว มันจบแล้ว ไม่มีอะไรอีกแล้ว แต่ว่าอานาปานสติภาวนาของเรายังไม่จบ ยังไม่จบ ยังแถมบทเรียนให้อีกบทหนึ่งบทสุดท้าย เป็นบทที่ ๔ ของหมวดที่ ๔ นี้ว่า ดูอีกที ดู ดู ดูว่าเราได้ทำหน้าที่ของเราถึงที่สุดแล้ว สิ่งที่ควรทำได้ทำแล้ว ไม่มีเหลือสำหรับที่จะต้องทำอีกต่อไป อันนี้เรียกว่าปฏินิสสัคคะ ตัวหนังสือแปลว่าโยนกลับ,โยนกลับไป บรรดาสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามาเป็นปัญหา เข้ามารบกวน เข้ามาด้วยความโง่ของเราเอง เอามาถือไว้น่ะ บัดนี้โยนกลับ โยนกลับ โยนกลับ
ทีนี้พูดให้เป็นอุปมา เป็น simply ฟังง่าย ๆ ก็ว่า เมื่อก่อนนี้เราเป็นโจร เป็นขโมย เป็นคนเลวไปปล้น ปล้นเอาของธรรมชาติมาเป็นตัวกูมาเป็นของกู เดี๋ยวนี้เราฉลาดถึงที่สุดแล้ว เราโยนคืน โยนคืน โยนกลับคืนให้ธรรมชาติ เราไม่เป็นโจร เราไม่เป็นขโมยอีกต่อไป นี่หมายความว่า ดูอีกทีหนึ่งเป็นขั้นที่ ๔ ของหมวดที่ ๔ ว่า เราได้ทำหน้าที่สิ้นสุดแล้ว หน้าที่ที่เราจะต้องทำหมดแล้ว นี่บทเรียนที่ ๔ ของหมวดที่ ๔
ทีนี้ก็มาดูผล ประเมินผลของบทเรียนนี้เป็นครั้งสุดท้าย ก็จะพบว่า โอ้,จบ ผลคือจบ จบเรื่องทุกเรื่องทั้งหมด และพูดอย่างที่เราเคยพูดมาแล้วในตอนต้นว่า เราหมดภวะ ๆ existence ทุก ๆ รูปแบบ จะเป็น sexsual จะเป็น form เป็น formless อะไร existence ทั้งหลายจบหมดสิ้นสุดไป นั่นแหละคือผลที่ได้รับ หมดภพ-ภวะแล้ว ก็คือหมดปัญหา ไม่มีอะไรเหลือ เพราะทุกอย่างมันตั้งอยู่บนสิ่งที่เรียกว่าภวะ ๆ หมดภวะก็คือหมดปัญหา
ในตัวอย่างที่เราพูดมาแล้วข้างต้นว่า แม่บ้านต้องทำภาระหนักทุกอย่าง ชั่วโมงนี้ทำนี้ ชั่วโมงนี้ทำนั้น ชั่วโมงนั้นทำนั้น เป็นภพหรือเป็นภวะไม่มีที่สิ้นสุด เดี๋ยวนี้มันหมด เดี๋ยวนี้มันสิ้นสุด ไม่มีตัวตนสำหรับที่จะต้องรับภาระ มันก็ไม่มีภาระ ก็เลยมีแต่ชีวิต ชีวิตล้วน ๆ ที่มีแต่สติปัญญา ไม่มีตัวตน มีสติปัญญาดำเนินไปโดยอัตโนมัติ นี้เรียกว่ามันหมดพ่อบ้านแม่บ้าน ถึงจุดหมายปลายทาง ไม่เสียทีที่ได้แต่งงานสมรสกัน ช่วยกันเดินทางมาจนถึงจุดหมายปลายทางอย่างนี้ เรามีการสมรสเพื่อช่วยกันเดินมาให้ถึงจุดหมายปลายทางอย่างนี้ นี่คือผลดี แม้ในเรื่องของโลกียะ
ในที่สุดก็มีคำพูดที่จะต้องพูดอย่างกระซิบ ๆ เพราะว่าจะไม่มีใครเชื่อ ไม่มีใครยอมเชื่อ ต้องพูดเฉพาะคน พูดอย่างกระซิบบอกว่า ท่านอาจจะบวชเป็นนักบวชอยู่ที่บ้าน ถ้าท่านปฏิบัติอย่างนี้ แล้วท่านอาจจะเป็นพระอรหันต์อยู่ที่บ้าน ถ้าท่านปฏิบัติอย่างนี้ ไม่ต้องออกบวชไปอยู่วัด ไปอยู่ป่า ไปอยู่ที่ไหน แม้ในบ้านนี้ท่านสามารถปฏิบัติอานาปานสติ แล้วก็สามารถจะได้บรรลุผลของอานาปานสติโดยไม่ต้องให้มีใครรู้ โดยไม่ต้องมีใครรู้ ไม่ต้องบอกให้ใครรู้ ไม่ต้องให้มีใครรู้ก็ได้ เราสามารถที่จะถึงที่สุดแห่งความเป็นมนุษย์ได้ที่บ้านเรือนนั่นเอง นี่ผลเลิศอันสุดท้ายของอานาปานสติ มันเป็นคำพูดที่ประหลาดไหม ในการที่จะพูดว่า มี renunciation ต่อโลกทั้งที่อยู่ในโลก renunciation ต่อโลกทั้งที่ร่างกายและจิตใจนี้มันก็อยู่ในโลก นี่ความหมายอันสูงสุดว่าหลุดพ้น หลุดพ้นแท้จริง หลุดพ้นโดยประการทั้งปวง อยู่เหนือโลก เหนือปัญหา เหนือทุกอย่าง ถ้าเข้าใจได้ก็ถึงที่สุด เรื่องก็จบ
ทั้งหมดนี้พูดกันเสียยืดยาว ก็เพื่อจะให้ท่านทั้งหลายเข้าใจที่ถูกต้องที่สุดว่า เราไม่ได้กำหนดลมหายใจ เราไม่ได้กำหนดที่ลมหายใจ แต่เรากำหนดสิ่งที่ควรกำหนดอยู่ทุกครั้งที่หายใจ นี่เรียกว่าอานาปานสติ อย่าได้พูดผิด ๆ ว่ากำหนดลมหายใจ กำหนดลมหายใจ มันหลับตาพูด แต่กำหนดสิ่งที่ควรกำหนดที่จะเป็นประโยชน์ไปตามลำดับนั้นอยู่ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า ๔ หมวด หมวดละ ๔ บทเรียน มันก็เป็น ๑๖ บทเรียน ทั้ง ๑๖ บทเรียนไม่ซ้ำกันเลย ขอให้เข้าใจอานาปานสติให้ถูกต้องอย่างนี้ แล้วปฏิบัติให้สำเร็จด้วยกันจงทุกคนเถิด พูดเอาเปรียบหน่อยก็พูดว่า มีสติสัมปชัญญะอยู่ทุกครั้งที่หายใจเข้าออกและโดยอัตโนมัติ มีสติสัมปชัญญะโดยอัตโนมัติอยู่ทุกครั้งที่มีการหายใจเข้าออก มีสติสัมปชัญญะอยู่ทุกครั้งที่มีการหายใจเข้าออกและเป็นไปอย่างอัตโนมัติ นี่คืออานาปานสติ
ขอขอบพระคุณท่านทั้งหลายที่เป็นผู้ฟังที่ดีมา ๒ ชั่วโมงกว่าแล้ว ขอยุติการบรรยายวันนี้