แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เพื่อนสหธรรมิก สพรัหมจารี และท่านสาธุชนอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย การบรรยายเป็นครั้งที่ ๔ แห่งการเลิกอายุนี้ เป็นการบรรยายการเลิกอายุในความหมายของสิ่งที่เรียกว่ามรรค หรือที่เรียกเต็มๆ ว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ซึ่งเป็นเรื่องที่ ๔ ของเรื่องอริยสัจ อริยสัจที่ ๑ คือรู้ว่ามันเป็นอะไร อริยสัจที่ ๒ รู้ว่ามันมาจากอะไร อริยสัจที่ ๓ รู้ว่ามันเพื่อประโยชน์อะไรกัน อริยสัจที่ ๔ ก็ว่าจะสำเร็จได้โดยวิธีใด ดังนั้นในวันนี้ในคราวนี้ก็จะพูดถึงเรื่องมันจะสำเร็จได้โดยวิธีใดในการที่จะเลิกอายุหรือว่าเลิกอัตตาตัวตน ขอให้ทำในใจไว้อย่างนี้แล้วท่านก็จะฟังเรื่องเหล่านี้ได้โดยง่ายโดยสะดวก ไม่ฉงนวนเวียน
มรรค แปลว่าหนทางหรือวิธี ถ้าเป็นเรื่องธรรมดาสามัญก็แปลว่าถนนหนทาง ถ้าเป็นเรื่องธรรมะก็แปลว่าวิธีการปฏิบัติ นั่นแหละเรียกว่ามรรค หนทางธรรมดาก็สำหรับเท้ามันเดิน หนทางในฝ่ายนามธรรมก็ใจมันเดิน เพราะมันมีการเดิน มันจึงมีความหมายว่ามรรคหรือมรคาเหมือนกัน แม้จะเรียกว่าปฏิปทามันก็ยังแปลว่าเดินอยู่นั่นแหละ การเดินไปตามลำดับหรือโดยเฉพาะปฏิปทา ก็หมายถึงการเดิน ทีนี้วันนี้เราก็จะพูดถึงการเดินๆ การปฏิบัติไปตามลำดับที่จะทำให้เลิกอายุได้
ทีนี้ก็ขอทบทวนความจำตอนที่สำคัญที่สุดอีกครั้งหนึ่งว่าการที่จะดับหรือจะเลิกก็ตาม ใช้คำว่าดับตามตัวหนังสือ เลิก ก็ว่าทำให้ไม่มีให้หมดไปเหมือนกัน เราพูดว่าดับหรือเลิก แต่ความจริงที่แท้จริงก็คือทำไม่ให้มันเกิด ป้องกันอย่าให้มันเกิดขึ้นมา นั่นแหละคือดับ นั่นแหละคือเลิก ฉะนั้นจงทำในใจว่าเราจะพูดกันถึงเรื่องทำไม่ให้มันเกิด การทำไม่ให้มันเกิดจะทำที่ตรงไหน จะตัดต้นเหตุที่ตรงไหน แล้วแต่วิธีการ สรุปความแล้วทำให้ไม่ให้มันเกิด ถ้าพูดเรื่องทุกข์ก็ทำไม่ให้ทุกข์มันเกิด นั่นแหละคือดับทุกข์ ไม่เสียเวลาให้ทุกข์เกิดแล้ววุ่นวายดับกัน แล้วบางทีก็ตายเพราะการดับ เป็นทุกข์ ถ้าไม่ให้มันเกิด มันสงบ มันเรียบร้อย มันไม่เอะอะอะไร มันสำเร็จประโยชน์ได้โดยไม่ต้องวุ่นวายอะไร นี่เรียกว่าทำไม่ให้มันเกิด ดังนั้นสิ่งที่เรียกว่ามรรคๆ นี่ ก็คือวิธีการที่ทำให้มันไม่เกิด ให้เกิดไม่ได้ หรือไม่ให้เกิด โดยใจความ มันคือมีสติสัมปชัญญะ วางระเบียบการป้องกันไว้ทุกอย่างๆ แล้วมันเกิดไม่ได้ นี่คือวิธีการที่จะไม่ให้มันเกิด สติๆ คำเดียว มันมีความหมายกว้างไปหลายทิศทาง มีสติในการถอนอุปาทานก็กล่าวได้ มีสติในการถอนอุปาทานไม่ให้เกิดอุปาทานขึ้นมา มีสติในการเห็นไตรลักษณ์ เห็นไตรลักษณ์ตามลำดับจนกระทั่งเห็นอตัมมยตา มีสติโดยเฉพาะในการถอนเสียซึ่งอหังการะ มมังการะ มานานุสัย คำนี้มันยาวเฟื้อย คงจะจำยากสำหรับท่านทั้งหลายที่เป็นชาวบ้าน แต่ถ้าเป็นชาววัด เป็นภิกษุสามเณรควรจะจำได้เพราะเป็นคำพูดที่ติดปาก ถ้าพระเณรองค์ไหนไม่รู้จักคำว่า อหังการะ มมังการะ มานานุสัย ก็เรียกว่ายังตื้นเกินไป ยังเป็นเด็กเกินไป มันควรจะรู้ ความเคยชินในการที่จะสำคัญมั่นหมายขึ้นมาว่าตัวกูว่าของกู นี่ช่วยจำไว้อย่างนี้ เรามีความเคยชินอยู่ที่จะเกิดความคิดขึ้นมาว่ากูหรือของกู ความเคยชินอันนั้นแหละถอนออกไปเสียได้ด้วยสติเป็นข้อแรกและไปตามลำดับด้วยสติ คำว่าสติมันมีหลายขั้นตอน
ทีนี้จะพูดให้เป็นอุปมาๆ ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านก็ใช้อุปมา ว่ากินยาถ่าย วิเรจนะแปลว่ายาถ่าย ก็กินยาถ่าย ก็ถ่ายความยึดถือด้วยอุปาทานนั่นแหละออกไป มีสติในการปฏิบัติสัมมัตตะคืออริยมรรคมีองค์ ๘ และเพิ่มอีก ๒ เพิ่มสัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติเข้า เรียกว่าสัมมัตตะ มีสติในการปฏิบัติสัมมัตตะให้ครบถ้วน ก็เรียกว่ากินยาถ่าย แล้วมันจะถ่ายโรคร้ายออกไปๆ มรรคมีองค์ ๘ รู้กันแล้วทุกคนนะ ถ้าอุบาสกอุบาสิกาคนไหนไม่รู้จักมรรคมีองค์ ๘ แล้ว ยังตื้นนักยังเด็กนัก ควรจะเป็นที่รู้กันอย่างสามัญธรรมดาที่สุด สัมมาทิฐิ เห็นชอบ, สัมมาสังกัปปะ ปรารถนาชอบ, สัมมาวาจา พูดจาชอบ, สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ, สัมมาอาชีวะ ดำรงชีวิตชอบ, สัมมาวายามะ พากเพียรชอบ, สัมมาสติ ระลึกชอบ, สัมมาสมาธิ มีความตั้งใจมั่นชอบ, นี่เป็น ๘ ต้องเป็นเรื่องประจำเลยหรือเรื่องหญ้าปากคอก มีเพิ่มอีก ๒ สัมมาณาณะคือรู้ชอบ และสัมมาวิมุตติ พ้นชอบ ๑๐ อย่างจำชื่อไว้ก่อนก็ได้แล้วไปศึกษาๆ ๑๐ อย่างนี้เรียกว่ายาถ่ายโดยอุปมา ยาถ่ายนี่ท่านทั้งหลายก็รู้อยู่แล้วกินทำไมๆ ยาถ่าย ก็หมายความให้มันถ่ายสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในท้องออกมาเสีย นี่เรียกว่ายาถ่าย ทีนี้ ๑๐ อย่างนี้ สัมมัตตะ ๑๐ อย่างนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าวัมมนะ แปลว่ายาให้อาเจียน บางอย่างเอาออกทางล่างไม่ได้ด้วยการใช้ยาถ่าย ก็ต้องใช้วิธีการเอาออกข้างบนเพื่อให้มันอาเจียนออกมา ถ้าเป็นยาถ่ายลงไปทางล่างเรียกว่าวิเรจนะ ถ้าเป็นยาทำให้อาเจียนขึ้นมาข้างบนเรียกว่าวมนะ, วมันนะ, วัมมนะ มีสติในการกินยาถ่ายหรือกินยาให้อาเจียนก็ได้ อุปมาอีกอันหนึ่งว่าสัมมัตตะ๑๐ นั้นเปรียบด้วยโธวนะ การชำระชะล้างให้สะอาดที่สุดเรียกว่าโธวนะ มีสติในการใช้สัมมัตตะ๑๐ เป็นการล้างๆ ล้างๆ นิสัยสันดานเลย ไม่ใช่ล้างแต่กายวาจาใจ ล้างนิสัยสันดาน รากฐานของจิตใจ ล้างๆ ล้างๆ ให้สะอาด ถ้าเป็นการล้างเรียกว่าโธวนะ นี่อุปมาโดยการใช้ยา มีสติในการกินยาถ่าย มีสติในการกินยาให้อาเจียน มีสติในการอาบล้างขัดสีให้มันสะอาด นี่โดยหัวข้อมันมีอย่างนี้แหละที่เรียกว่ามรรคๆ มันมีอย่างนี้แหละโดยหัวข้อ มีสติถอนอุปาทาน มีสติเห็นไตรลักษณ์ มีสติถอนอนุสัย อหังการ มมังการ มีสติในการเห็นธัมมฐิติญาณจนกระทั่งนิพพานญาณ ธัมมฐิติญาณคือความจริงของธรรมชาติว่ามีอยู่อย่างไร เรียกว่าธัมมฐิติ ธัมมฐิติมันมีอยู่ตามธรรมชาติ แล้วก็ถ้าเห็นธัมมฐิติญาณว่าความจริงของธรรมชาติเป็นอย่างไรแล้ว มันก็จะเกิดเบื่อหน่ายคลายกำหนัดจนกลายเป็นนิพพานญาณ ญาณในขั้นดับทุกข์ ญาณในการเห็นความจริงของธรรมชาติเรียกว่าธัมมฐิติญาณ ญาณเกิดในการดับทุกข์เรียกว่านิพพานญาณ ด้วยหลักนี้ ก็กินยาถ่าย กินยาสำรอกให้อาเจียนแล้วก็อาบล้างขัดสีทำให้สะอาด ทั้งหมดนี้จะเรียกสั้นๆ ว่าวิธีเลิกตัวกู วิธีเลิกอายุ ซึ่งจะเรียกสั้นๆ ในที่นี้ว่ามรรคๆ หนทางหรือวิธีการ
แต่ทีนี้มาพูดถึงการปฏิบัติ อยากจะให้มันสรุปสั้นๆ ให้มันง่ายเข้า ให้หลายๆ อย่างนั้นมาสรุปให้มันเหลือน้อยอย่าง คือว่าระบบอานาปานสตินั่นแหละ มีสติๆ ได้ยินแล้วใช่ไหมว่ามีสติๆ มีสติๆ ในการเห็นนั่น ละนั่น ทีนี้คำว่าสติๆ คำเดียวนี่เป็นรวมหมด ทุกอย่างจะรวมอยู่ที่ความมีสติ ทีนี้การมีสตินี้มีอยู่เป็น ๒ ระบบ ระบบทั่วไประบบง่ายๆ ระบบกว้างๆ ระบบรวบหมด อันนี้เรียกว่าสติปัฏฐาน ถ้าทำละเอียดเฉพาะเจาะจง มันเทคนิคอันละเอียด เทคนิคอันละเอียด นี้ก็เรียกระบบอานาปานสติ ทั้ง ๒ ระบบเป็นการทำให้มีสติ ทำให้มีสติ ทำโดยกว้างๆ เหมาะสำหรับประชาชนท่านทั้งหลายทั่วไปทำโดยกว้างๆ มีสติปฏิบัติโดยหลักข้อเดียวเท่านั้นแหละว่าอะไรมันเกิดขึ้นก็ตาม มากระทบก็ตาม หรือเบียดเบียนอยู่ก็ตาม มีสติว่าไม่ใช่ตัวตนเป็นเพียงนามรูป ความทุกข์เกิดขึ้นก็ โอ้,ไม่มีตรงไหนเป็นตัวตน เป็นเพียงการกระทำของนามรูป หรือว่าเรื่องประจำวันเจ็บไข้ได้ป่วยมีสติว่า โอ้,มันเป็นเพียงนามรูป แม้ว่าอุบัติเหตุทั้งหลาย รถชนนี่ โอ้,มันเป็นเพียงเรื่องของนามรูป เห็นของสวยงามทางเพศก็ได้ โอ้,มันเป็นเพียงนามรูป เห็นของน่าเกลียดซากศพ ก็โอ้,มันเป็นเพียงนามรูป เห็นเงินกองใหญ่ก็เป็นเพียงนามรูป ไม่ว่าจะเห็นอะไร สัมผัสอะไร รู้สึกอะไร กระทบอะไร อย่าเห็นเป็นตัวตนและของตน ให้เห็นเป็นเพียงนามและรูป รูปคือส่วนร่างกาย นามคือส่วนจิตใจ มันกระทำอะไรกันอยู่ บางทีก็มีแต่รูป บางทีก็มีแต่นาม บางทีก็เป็นทั้งรูปและนาม ใช้คำว่านามรูปเสียเลย ใช้คำว่านามรูปนี่เป็นหลัก เป็นหลักยืนโรงว่าเห็นอะไรทั้งหมดเป็นเพียงนามรูป ทั้งจักรวาลนี่ก็เป็นเพียงนามรูป แต่ละบ้านละเมืองก็เป็นเพียงนามรูป แต่ละคนก็เป็นเพียงนามรูป แต่ละสิ่งของก็เป็นเพียงนามรูป อย่างเช่นว่าเราเห็นสิ่งนี้ สิ่งที่เห็นน่ะ สิ่งนั้นมันเป็นรูป แล้วอาการกิริยาที่เห็นนั้นมันเป็นนาม นี่ ซึ่งเป็นเรื่องทางจิตใจ ตัววัตถุเป็นรูป ถ้าเห็นคน คนก็เป็นรูป แล้วการเห็น การที่มันเห็นคือรู้สึกด้วยจิตใจนี้เป็นนาม มีอะไรเกิดขึ้นก็ขอให้รู้สึกทันควันว่านามรูปๆ แม้อุบัติเหตุ เมื่อมีอุบัติเหตุ มันพูดพลั้งออกมาเป็นคำหยาบคายทั้งนั้นแหละ อาตมาพูดไม่ได้หรอกคำหยาบคาย ผู้หญิงก็ได้ผู้ชายก็ได้พลั้งมาเป็นคำหยาบคาย เป็นคำหยาบคาย เพราะมันไม่รู้นามรูป มันจึงใช้คำหยาบคายอุทานออกมา ฉะนั้นที่เคยพลั้งคำหยาบคายทั้งหลายขอเปลี่ยนเถิด เป็นนามรูป เป็นนามรูป ไอ้นั่น ไอ้นี่ คำหยาบคายเหล่านั้นขอเปลี่ยนเป็น นามรูป นามรูป อะไรเกิดขึ้นกระทบอย่างไร ที่ไหน เมื่อไหร่ ก็นามรูป นามรูป นามรูป นี่มีสติ มีสติปัฏฐาน ตั้งไว้ซึ่งสติโดยวงกว้างๆ หมด เรียกว่าสติปัฏฐาน ระบบนี้ก็ใช้ได้สำหรับคนธรรมดาสามัญทั่วไป ชาวไร่ชาวนาไม่ค่อยมีความรู้อะไร ใช้คำรวมๆ ง่ายๆ ว่านามรูปๆ เห็นอะไรรู้สึกอะไรเป็นนามรูปไปหมด นี่ก็ระบบกว้าง ระบบง่ายระบบรวมๆ เรียกว่าสติปัฏฐาน มีสติในการใช้สติปัฏฐาน
ทีนี้ระบบอานาปานสติมี ๔ หมวด หมวดละ ๔ ข้อ เป็น ๑๖ ข้อ พระเณรมันยังไม่รู้ นี่เอากับพวกคุณ พระเณรส่วนมากก็ไม่รู้เรื่องอานาปานสติ ๑๖ ข้อ ๔ หมวด ทีนี้มันมาแจกกันอย่างละเอียดอย่างเทคนิคทีเดียว เป็นวิทยาศาสตร์เป็นเทคนิค หมวดที่ ๑ เรื่องกายๆ มีสติรู้เรื่องกาย กายทั้งลมหายใจและกายทั้งร่างกาย รู้จักลมหายใจยาว รู้จักลมหายใจสั้น รู้จักทั้งสองลมหายใจ รู้จักทำวิธีให้กายระงับ นี่มัน ๔ ข้อในเรื่องกาย
หมวดที่ ๒ ก็เวทนา ความรู้สึกสุขหรือทุกข์ พอใจไม่พอใจนี่ ก็ให้หัวข้อเป็น ๔ ข้ออย่างว่า ปีติคือความพอใจที่กำเริบฟุ้งซ่านสั่นระรัวอยู่ นั่นแหละปีติ ถ้ามันระงับลงก็เรียกว่าความสุขส่วนที่ ๒ นี่รู้ว่าทั้งปีติทั้งสุขมันปรุงแต่งให้เกิดความคิดบ้าบอสารพัดอย่าง ความคิดมันเกิดจากเวทนามันปรุงแต่ง และขั้นที่ ๔ ก็ทำให้เวทนานี้ระงับเสียระงับๆ การปรุงแต่งทางความคิดก็ระงับไป ความคิดก็ไม่เกิด คือมันเกิดอยู่ในระเบียบ นี่เวทนามันก็ ๔ ข้อ
ทีนี้หมวดจิต รู้ว่าจิตทั้งหลายเป็นอย่างไร รู้ทำจิตให้บันเทิง รู้ทำจิตให้เป็นสมาธิ รู้ทำจิตให้ปล่อยวาง รู้ทำจิตให้ปล่อยวาง ต้อง ๔ ข้อเหมือนกัน
ทีนี้หมวดธรรมะที่ ๔ สุดท้ายก็เห็นอนิจจัง อนิจจังอย่างยิ่งๆ อนิจจังก็เห็นทุกขัง เห็นทุกขังก็เห็นอนัตตา เห็นธัมมัฏฐิตตา ธัมมนิยามตา อิทัปปัจจยตา สุญญตา ตถาตา อตัมมยตาเลยนี่ การเห็นอนิจจังเพียงข้อเดียว ถ้าเห็นจริงมันไปตามลำดับจนถึงเห็นอตัมมยตา ทีนี้เอาอยู่ใกล้ๆ ก็เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อิทัปปัจยตา พอเห็นว่าสิ่งทั้งปวงทั้งหลายทั้งปวงมันเป็นอิทัปปัจจยตา มีแต่การปรุงแต่ง การปรุงแต่ง การปรุงแต่งกันอย่างนี้แล้ว มันก็จะเห็นวิราคะ คลายความยึดมั่นถือมั่น เห็นวิราคะเป็นไปๆ เดี๋ยวมันก็สิ้นสุดลงคือดับเป็นนิโรธะ หลังจากนิโรธะ ก็เห็น โอ้,คืนแล้วๆ โยนคืนหมดแล้ว ไม่มีอะไรเหลือสำหรับจะยึดมั่นต่อไปแล้ว นี่ก็มาอีก ๔ ขั้น ๔ หมวด หมวดละ ๔ ขั้นเป็น ๑๖ ขั้น นี้มันเป็นเรื่องอานาปานสติ ขออภัยที่ใช้คำว่าเป็นเรื่องสำหรับนักคิดผู้มีสติปัญญา จะเป็นเรื่องของชาวไร่ชาวนาคงจะเป็นไปไม่ได้คงจะลำบาก แต่ถ้าว่ามีโอกาสมีการฝึกก็ได้ทั้งนั้นแหละ ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ชาวนาถ้ามีโอกาสมาฝึกอานาปานสติมันก็ได้เหมือนกันแหละ ฉะนั้นจึงถือว่าท่านทั้งหลายในระดับนี้สามารถที่จะฝึกถ้าต้องการ ถ้าชอบถ้าต้องการก็สามารถฝึกได้ ในระบบที่เรียกว่าอานาปานสติต้องแบ่งเป็น ๑๖ ขั้นของการปฏิบัติ ให้ศึกษาเอาโดยรายละเอียดในหนังสือคู่มือมันก็มี มีสติในรูปแบบของอานาปานสติ มันเป็นวิทยาศาสตร์ มันเป็นปัญญาเป็นความเฉลียวฉลาดมากมาย แต่ถ้าว่าในระบบแรกเป็นเพียงสติปัฏฐานเฉยๆ มีสติไม่ให้เกิดตัวกูเท่านั้นแหละ มันเป็นเพียงนามรูปไปเรื่อยนามรูปไปเท่านั้น ไม่มีตัวกูอะไรที่ไหน นี่เรียกว่าระบบง่ายๆ ระบบทั่วไประบบพื้นฐาน แม้แต่เด็กๆ ก็จะเข้าใจได้และก็จะปฏิบัติได้ ชาวบ้านไม่เคยบวชไม่เคยเล่าเรียน ชาวไร่ชาวนาก็ทำได้ ขอให้มีสติปัฏฐานเป็นพื้นฐานประจำ และขอให้มีอานาปานสติเป็นกรณีพิเศษตามสมควรเท่าที่จะทำได้
นี่เรียกว่าจะเลิกล้างตัวตน เลิกล้างอายุนี่ ต้องใช้ระบบสติซึ่งมีอยู่ ๒ ระบบ ระบบรวมๆ ทั่วไปเรียกว่าสติปัฏฐาน ระบบละเอียดละออเป็นเทคนิคเรียกว่าอานาปานสติ ถ้าสนใจมันก็หาหนังสือคู่มือมาอ่าน อ่านหนังสือคู่มืออานาปานสติสัก ๑๐ เที่ยว ขอร้องว่าอ่านสัก ๑๐ เที่ยว ก็คงจะได้ความรู้พอที่จะลองปฏิบัติดูทีละนิดๆ แล้วมันสอนมันเอง ขอให้ปฏิบัติเถิด มันจะสอนมันเอง หนังสือมันสอนได้นิดเดียวบอกว่าทำอย่างไร ไม่รู้ความจริงหรอก แต่พอปฏิบัติๆ โอ้,มันก็สอนถึงความจริงเป็นอย่างนั้น ความจริงเป็นอย่างนั้น ในหัวใจในความรู้สึกเป็นอย่างนั้น ฉะนั้นการปฏิบัติสอนดีกว่าการอ่านการฟัง เดี๋ยวนี้เราก็ได้แต่พูดให้ฟัง หรือการฟัง นี่นั่งฟัง เห็นไหม, แต่ถ้าลองไปปฏิบัติจะเข้าใจสิ่งที่กำลังพูดนี้ดีกว่า ดีกว่าฟังเฉยๆ พูดให้ฟังว่าอย่างไรแล้วก็เอาไปปฏิบัติดู มันจะรู้ข้อนั้นลึกซึ้งถึงที่สุด แต่มันก็จำเป็นที่จะต้องฟังก่อนแหละ ถ้าไม่ฟังก่อน มันก็ไม่รู้ว่าปฏิบัติอย่างไร ฉะนั้นการเล่าเรียนหรือการฟังต้องมาก่อน ต้องมาก่อน จำเป็นที่สุด เรียกว่าสุตะ เรียกว่าปรโตโฆสะอะไรก็ตามเถิด คือมันการอ่านการฟังการศึกษาต้องมาก่อน แล้วก็เอาไปทำโยนิโสมนสิการใคร่ครวญๆ ใคร่ครวญๆ จนเห็นแจ้งว่าทำอย่างไรปฏิบัติอย่างไรนี่ แล้วก็ปฏิบัติทีละนิด ปฏิบัติทีละนิด อย่าท้อถอย ปฏิบัติทีละนิด ขอทีละนิด ถ้ามันผิดพลาดมันล้มละลายมันทำไม่ได้ก็อย่าท้อใจ ทำอีกๆ เหมือนกับว่าซ้ำแล้วซ้ำอีก ล้มละลายไปก็ทำอีก ล้มละลายไปก็ทำอีก ขอเปรียบเทียบว่าพายเรือ หัดพายเรือ หัดกันกี่วัน คิดว่าที่นั่งอยู่ที่นี่คงพายเรือเป็นกันหลายคนนะ เรือเล็กๆ พาย อยากจะถามว่าหัดกี่วันมันถึงจะพายได้ มันเห็นเขาพายอยู่แท้ๆ เขาบอกกันอยู่แท้ๆ ว่าพายอย่างนั้นพายอย่างนี้ พอลงไปพายมันก็เก้ๆ กังๆ หันไปหันมา อย่ายอมแพ้ หัดมันเรื่อยไป เช้าถึงเย็น เย็นถึงเช้า เช้าถึงเย็น ไม่กี่วันหรอก พายเรือตรงแหนว ขี่รถจักรยานก็เหมือนกัน ต้องล้มกว่า ๑๐ ครั้งแหละ อาตมาเชื่อว่าล้มกว่า ๑๐ ครั้ง อาตมาก็เคยล้มกว่า ๑๐ ครั้ง ขี่รถจักรยานมันต้องล้มๆ ล้มๆ ล้มๆ ล้มนั่นแหละเป็นครู ล้มนั่นแหละดีมาก มันเป็นครู หน้าแข้งถลอกปอกเปิกนั่นแหละมันเป็นครู ทีหลังมันจะไม่ค่อยล้มๆ แล้วมันก็ไปได้เปะๆ ปะๆ เปะๆ ปะๆ ๔-๕ วันมันจึงจะขี่กันได้เรียบๆ และต้องสิบกว่าวันมันจึงจะปล่อยมือได้ ขี่รถจักรยานปล่อยมือได้ต้อง ๑๐ วันขึ้นไป ฉะนั้นอย่าท้อถอยๆ ถ้ามันล้ม ถ้ามันพลาด มันทำไม่ได้ก็อย่าท้อถอย ทำอีกๆ เหมือนกับตุ๊กตาล้มลุก จับขึ้นมาตั้งให้มันอยู่เรื่อยไป มันจะล้มก็ช่างหัวมัน จับมาตั้งเรื่อยๆ นี่ปฏิบัติธรรมะต้องเป็นอย่างนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการปฏิบัติอานาปานสติแล้วก็ยิ่งต้องใช้ความพากเพียรความพยายามความอดทนมาก ถ้าระบบสติปัฏฐานมันก็น้อยหน่อย คือมันสะดวกหน่อย มันง่ายหน่อย เพียงแต่ระวังไม่ให้เกิดตัวกู มันจะทุกอย่างทุกอิริยาบถไปเสียเลยอย่าให้มันมีตัวกู กินข้าวก็อย่าให้เกิดรู้สึกว่าตัวกูกิน ตัวกูอร่อย ตัวกูไม่อร่อย มันก็เป็นเรื่องของนามรูป นามรูปมันรู้สึกเองมันกินข้าวเอง ถ้าอร่อยก็เป็นเรื่องของนามรูป ถ้าไม่อร่อยก็เป็นเรื่องของนามรูป จะไปอาบน้ำ จะไปถ่ายอุจจาระปัสสาวะ แม้ที่สุดแต่จะถ่ายอุจจาระปัสสาวะก็เป็นเรื่องของนามรูป อย่าให้เป็นเรื่องของตัวกูเดี๋ยวมันจะเดือดขึ้นมา มันจะวุ่นวายขึ้นมา ให้เป็นตัวนามรูปคือเป็นตัวธรรมชาติ ร่างกายต้องการอย่างนั้น จิตต้องการอย่างนั้น แล้วมันก็ทำอย่างนั้นเป็นเรื่องของนามรูปหมด มีทรัพย์สมบัติก็เป็นของนามรูป มีลูกมีหลานเป็นอะไรก็ให้เป็นของนามรูป แต่อย่าเป็นตัวกู นี่เรียกว่าสติปัฏฐานรวมหมดรวบหมด ยุติตรงที่คำว่านามรูป
แต่ถ้าเป็นอานาปานสติแล้วมันไม่ยุติอยู่ที่คำเดียวนะ มันเป็นลำดับเป็นขั้นตอนถึง ๑๖ขั้นตอน มันก็เปลี่ยนเรื่อย เปลี่ยนจุดมุ่งหมายหรือเปลี่ยนผลของการกระทำเรื่อยไป แต่ถึงอย่างไรก็เรียกทั้งหมดนั้นว่าเป็นเรื่องของนามรูป อานาปานสติทั้ง ๑๖ ขั้น มันเป็นเรื่องของนามรูป สติแบ่งเป็น ๒ ประเภท ประเภทง่ายๆ รวมๆ เรียกว่าสติปัฏฐาน ชนิดละเอียดเป็นเทคนิคก็เรียกว่าอานาปานสติซึ่งมี ๑๖ ขั้น จะศึกษากันให้ดี แล้วก็จะเอามาใช้เป็นเครื่องมือ จะเลิกอายุกันด้วยอันนี้แหละสำคัญที่สุด แต่เดี๋ยวนี้มันมีอย่างอื่นที่จะใช้ได้เหมือนกัน ใช้ได้เหมือนกัน อย่างที่เราจะเอาโพชฌงค์มาใช้ก็ได้ โพชฌงค์ของโพชฌงคสูตร เอาสัญญา ๑๐ ของคิริมานนทสูตรมาใช้ก็ได้ นี่จึงจะขอพูดเรื่องพิเศษออกไปนี่ก่อน ว่าจะใช้โพชฌงค์กันอย่างไร จะใช้สัญญา ๑๐ กันอย่างไร เดี๋ยวนี้คงไม่มีนักสวดกันแล้วไม่ได้เอาหนังสือมาก็ได้ จะสวดโพชฌงค์หรือจะสวดสัญญา ๑๐ ก็ยิ่งดี แต่เอาไว้ก่อนเถิด เอาไว้สวดทีหลัง แต่จำไว้จำเรื่องไว้ พอสวดจะได้นึกได้ อธิบายนี่จำให้ดี แล้วเวลาสวดจะนึกได้
โพชฌงค์ๆ แปลว่าองค์ประกอบของการตรัสรู้ ส่วนประกอบหรือองค์ประกอบของการตรัสรู้ แบ่งออกเป็น ๗ อย่างๆ อย่างแรกข้อแรกคือว่ามีสติๆ ให้มีสติตั้งต้น ถ้าอยู่ที่บ้านก็ทำไปตามมีตามได้ ถ้าอยู่ที่วัดก็ออกไปสู่ที่สงัดที่สงบสงัดพอสมควรแล้วก็ทำสติ ลงมือทำสติ สตินี้ก็ระลึกตามไปทุกธรรมะที่เคยได้ยินได้ฟัง อายุเท่านี้แล้วคงเคยได้ยินได้ฟังธรรมะมาหลายสิบเรื่องหลายร้อยเรื่องก็ได้ มีสติระลึกถึงธรรมะที่เป็นความจริงที่ได้ยินได้ฟังมาก็ได้ หรือที่ได้สังเกตเห็นจากธรรมชาติก็ได้ นึกถึงธรรมะทั้งหลายทั้งหมดทั้งสิ้นว่ามีอยู่อย่างไร มันมีอยู่อย่างไร ตามธรรมชาติมีอยู่อย่างไร ระลึกอยู่อย่างนี้เรียกว่ามีสติสัมโพชฌงค์ ระลึกมาให้หมดใช้คำว่าอย่างนั้น
ไม่ว่าคุณใครคนใดคนหนึ่ง ไปสู่ที่เหมาะสมแล้วก็ระลึกธรรมะที่ได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่เกิด แล้วก็มาตัดสินใจว่าวันนี้กูจะปฏิบัติธรรมะข้อไหนเลือกเอามา นี่ก็เป็นสัมโพชฌงค์ที่๒ เรียกว่าธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ เลือกมาใคร่ครวญกันอย่างละเอียดว่าวันนี้จะปฏิบัติข้อนี้แหละในบรรดาธรรมะหลายๆ สิบข้อที่เคยได้ยินได้ฟังมา วันนี้เราจะทำกันพิเศษข้อนี้ ใคร่ครวญเรื่องข้อนี้ ทำในใจเรื่องข้อนี้ ถ้าทำอย่างนี้เรียกว่าโพชฌงค์ที่ ๒ คือธัมมวิจยะ ธัมมวิจัยก็เรียก ขั้นที่ ๑เรียกว่าสติ ระลึกมาให้หมด ขั้นที่ ๒ เรียกว่าธัมมวิจัย เลือกเอามาเฉพาะที่จะปฏิบัติกันเดี๋ยวนี้
ทีนี้ก็ลงมือปฏิบัติสิ ได้มาแล้วก็ลงมือปฏิบัติ ปฏิบัติในธรรมะนั้นน่ะในธรรมะที่ว่ามีหลักปฏิบัติอย่างไรก็ทำอยู่ ใคร่ครวญไปพลาง ปฏิบัติไปพลาง ปฏิบัติไปพลาง ใคร่ควรญไปพลางให้ยิ่งให้สุดความสามารถ นี่โพชฌงค์ที่ ๓ ก็เกิด เรียกว่าวิริยสัมโพชฌงค์ เรียกสั้นๆ ว่าวิริยะ ที่ ๑ เรียกว่าสติ ที่ ๒ เรียกว่าธัมมวิจยะ ที่ ๓ เรียกว่าวิริยะ เมื่อปฏิบัติอยู่ด้วยความพากเพียรอย่างนั้น มีวิริยะจริงๆ อย่างนั้น มันเลือกมาดีแล้วอย่างนั้น ผลมันต้องเกิดแหละ ไม่ต้องสงสัย ขอให้ตั้งต้นมาจากสติให้มันถูกต้อง ธัมมวิจยะให้ถูกต้อง วิริยะให้ถูกต้อง ผลมันต้องเกิดไม่ต้องสงสัย มันจะเกิดความรู้สึกพอใจที่ว่าการปฏิบัติมันคืบไปตามลำดับ มันคืบหน้าไปตามลำดับนั่นแหละจะพอใจ ความรู้สึกพอใจอันนี้สำคัญมาก มันหล่อเลี้ยงให้มีกำลังๆ ให้กำหนดและทำไปให้ถึงที่สุด ตัวนี้เรียกว่าปีติสัมโพชฌงค์ๆ มีปีติสัมโพชฌงค์หล่อเลี้ยงวิริยสัมโพชฌงค์ พูดง่ายๆ ก็มีความพอใจหล่อเลี้ยงความพากเพียร พากเพียรอยู่แล้วก็พอใจ ความพากเพียรก็ไม่ถอยหลัง เป็นไปข้างหน้าเรื่อย นี่เรียกว่ามีปีติๆ ทีนี้มีปีติๆ อยู่ไปตามลำดับ ปีติที่สะอาดอย่างนี้มันไม่ใช่ปีติกามารมณ์ ปีติไม่ใช่กามารมณ์ ปีติที่ไม่ใช่มีเหยื่อ ปีตินี้จะช่วยให้สงบระงับลง คือมันมีความสุขขึ้น ความสุขนี้ก็จะช่วยให้ระงับลง ระงับลง กายระงับลงจิตระงับลง กายระงับลงจิตระงับลง การระงับลงอย่างนี้เรียกว่าปัสสัทธิ การที่มันจะระงับลงได้มันต้องเข้ารูปเข้ารอยนะ ถ้ามันไม่เข้ารูปเข้ารอย มันเกะกะทางกันอยู่ มันไม่ระงับหรอก ทุกอย่างมันเข้ารูปเข้ารอยหมดแหละ กายจะระงับจิตจะระงับ ขั้นตอนนี้เรียกว่าปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิแปลว่าระงับ ระงับ ระงับ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ เมื่อมีปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ไปตามลำดับอยู่อย่างนี้ มันก็รวมตัวของมันเองแหละเป็นสมาธิ กายและจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ มีปีตินั่นแหละยังรู้สึกอยู่ ยังหล่อเลี้ยงอยู่ ปีตินี่ใช้ได้ตลอดเวลา ให้มันหล่อเลี้ยงอยู่ทุกอย่างให้มีกำลัง ในสมาธิหรือองค์ฌานมันก็มีปีติ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ปีติมาอยู่ตรงนี้ ปีติหล่อเลี้ยงการกระทำจนเป็นสมาธิ นี่เรียกว่าสมาธิสัมโพชฌงค์
ทีนี้มาถึงขั้นสุดท้ายข้อที่ ๗ ก็เพ่งๆ เพ่งดูความที่จิตเป็นอย่างนั้น ความที่จิตสงบระงับอยู่ด้วยสมาธิ กำลังเผาลนกิเลสอะไรให้ละไปได้ คือมันชำระกิเลสด้วยอำนาจของสมาธิ นี่เห็นอยู่ๆ ไม่ใช่ว่าอยู่นิ่ง ไม่ใช่หยุดนิ่ง สมาธิไม่ได้หยุดนิ่งหรอก สมาธิมันทำหน้าที่ตามแบบของมัน มันก็สะอาดเข้มแข็งและว่องไว สมาธิมีองค์คุณ ๓ ประการ มันสะอาดจากนิวรณ์ มันเข้มแข็งๆ มีกำลังกล้าและว่องไวที่จะทำหน้าที่ เพราะฉะนั้นสมาธิมันก็ทำหน้าที่ มันก็ตัด ตัดสิ่งที่จะตัดที่ควรตัดกันไปในเวลานั้น เพ่งดูๆ เห็นสิ่งนั้นเป็นอย่างนั้นที่มีอยู่ในสมาธิ นี่เรียกว่าอุเบกขา แล้วเพ่งอยู่ๆ เพ่งอยู่ๆ ไม่ใช่หลับตาหรือนอนหลับ อธิบายอุเบกขากันผิดๆ เกือบทั้งนั้นแหละ แม้ในโรงเรียนนักธรรมบางแห่งอธิบายอุเบกขาผิดหมด อุเบกขามันเพ่งดูสิ่งที่ถูกต้องแล้วเป็นไปๆ ถูกต้องแล้ว เป็นไปอย่างถูกต้องแล้วก็ควบคุมความถูกต้องด้วย ควบคุมความถูกต้องให้มันเป็นไปด้วย นี่เรียกว่าเมื่องานการมันเข้ารูปแล้ว งานการอันยุ่งยากมหาศาลมันเข้ารูปแล้ว ลงรอยแล้วเข้ารูปแล้ว นี่เรียกว่าสงบระงับแล้ว แล้วก็ดู ดูการเข้ารูปของมันเป็นไปๆ มันก็ถึงที่สุดจุดหมายปลายทาง เรียกว่ารอดูมันทำหน้าที่จนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง นี่เรียกว่าอุเบกขา ช่วยจำให้ดีๆ ๗ อย่าง มันวิเศษไปเสียทุกอย่าง คือทำให้ตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ก็ได้ เอามาใช้ในบ้านในเรือนการทำกิจการงานที่ยากๆ การงานที่ยากๆ จะทำให้สำเร็จได้ด้วยโพชฌงค์นี้ ไม่ว่าจะการค้าขายหรือการหมุนอะไรที่แสนจะยุ่งยาก ถ้ารู้จักเอาเรื่องของโพชฌงค์ ๗ มาใช้แล้วมันจะสำเร็จ มีสติระลึกให้รอบคอบ แล้วเลือกเอาจุดที่มันสำคัญที่มันถูกต้องมา แล้วก็มีวิริยะพากเพียรไป แล้วก็มีปีติพอใจหล่อเลี้ยงอยู่ เอาเข้ารูปลงรูป ก็ทุ่มเทๆ กำลังทั้งหมดลงไปตอนนี้แหละ เมื่อมันเข้ารูปเมื่อมันได้ที่แล้วก็ทุ่มเทกำลังทั้งหมดลงไป ทุนรอนนั่นแหละ แล้วก็ดูว่ามันจะออกผลมา มันจะออกผลมาเป็นอุเบกขา จะทำไร่ทำนาก็ได้ ลองใช้หลักนี้สิ แม้จะทำไร่ทำนาทำสวนค้าขายก็ได้ อยากจะพูดว่านั่งขอทานก็ได้ ขอทานคนไหนมีโพชฌงค์แก่กล้า ขอทานคนนั้นสองสามวันเป็นเศรษฐี มันจะหยุด ได้หยุดขอทาน
ทำอะไรถ้าทำให้ถูกต้องชัดเจนรัดกุมถึงที่สุดขอให้ใช้หลักสัมโพชฌงค์ พระพุทธเจ้าท่านสรรเสริญ พระอรหันต์ได้ผ่านมาแล้วพระอรหันต์ชอบ จนกระทั่งว่าพระอรหันต์องค์หนึ่งเป็นไข้อาพาธ ก็มีผู้มากล่าวโพชฌงค์ให้ฟัง ระบุโพชฌงค์ไปตามลำดับ ๗ ข้อ ดีใจจนหายไข้ไม่ต้องกินยา เรียกว่าโพชฌงค์มันรักษาไข้รักษาโรค ถึงแม้ไม่เป็นพระอรหันต์ก็ตามเถิด แต่ถ้ารู้จักโพชฌงค์ดี มีคนเอามาพูดให้ฟังก็จะดีใจจนเนื้อเต้น มันทำให้หายโรคเล็กๆ น้อยๆ ได้เหมือนกัน นี่โพชฌงค์มันรักษาโรครักษาอาพาธ แต่ถ้าคนโง่มันก็เหมือนเป่าปี่ให้แรดฟัง มันก็ไม่สำเร็จ แต่ก็อย่างที่มีพิธีรีตองที่เขาทำกันอยู่นะ เขาทำกันอยู่นะ ใครไม่สบาย นิมนต์พระมาสวดโพชฌงค์แล้วไม่เห็นหาย เพราะว่าคนเจ็บนั้นมันก็ไม่รู้เรื่องโพชฌงค์เลย พระที่สวดเองมันก็ยังไม่รู้ มันจะหายได้อย่างไร เมื่อจะให้สำเร็จประโยชน์มันก็ต้องรู้ ผู้สวดก็รู้ ผู้ฟังก็รู้ หรือว่ามันลืมไป มันว่างไป มันไม่ได้คิด และเขามาพูดให้ฟัง อู้,มันคิดได้ทันที มันดีใจมันมีปีติ หายโรค
นี่เราจะเลิกตัวกูด้วยสัมโพชฌงค์ ก็ระลึกถึงธรรมะทั้งหลายที่มันจะเลิกตัวกูได้ พระพุทธเจ้าก็ได้สอนไว้หลายอย่าง เราก็ได้ยินได้ฟังหลายอย่าง สติระลึกมาให้หมด แล้วก็เลือกเอาข้อนี้ๆ ข้อชื่อนี้ เอาโพชฌงค์ เอาสัญญา ๑๐ หรือเอาอานาปานสติอะไรก็ตาม เลือกเอามา ได้แล้วก็ปฏิบัติ วิริยะอย่างยิ่งๆ แล้วพอใจๆ ในการปฏิบัติ มันก็ปฏิบัติได้มากขึ้นๆ มากขึ้นๆ ก็มันพอใจนี่ เดี๋ยวมันก็เข้ารูปลงรูป มันจะเริ่มลด ลดสิ่งที่เป็นข้าศึก เรียกว่าอุปาทานจะลด อนุสัยจะลด นี่เรียกว่ามันได้ผล กำลังใจทั้งหมดทุ่มเทลงไปเมื่อมันถูกเรื่องถูกรอยแล้วก็ทุ่มเทกำลังทั้งหมดลงไป ทีนี้ก็เหลือแต่คอยดูว่ามันก้าวไปอย่างไร ก้าวไปอย่างไร จบลงด้วยสุดท้ายเลิกละได้เท่าไหร่ นี่เป็นอุเบกขา อย่างนี้เป็นธรรมะแท้ๆ เป็นธรรมะที่ว่าเป็นโลกุตระแท้ๆ ใช้โพชฌงค์ จะเอาไปลองใช้เรื่องทำนาทำไร่ค้าขายบ้างก็ได้ แต่ถ้าใช้รู้จักใช้ มันเป็นของวิเศษ มันอย่างเดียวกับอิทธิบาทแหละ แต่ว่ามันละเอียด ละเอียดกว่าอิทธิบาท ๔
นี่เรารู้จักโพชฌงค์ รู้จักโพชฌงค์ว่าโพชฌงค์มันมีลักษณะอย่างนี้ มันมีจำนวน ๗ อย่าง และมันมีลักษณะอย่างนี้ สติสัมโพชฌงค์มีลักษณะรวบรวมเอามา ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์มีลักษณะเลือกเฟ้นเอามาแต่ที่จะต้องการ วิริย สัมโพชฌงค์ก็มีหน้าที่พากเพียรปฏิบัติ ปีติสัมโพชฌงค์ก็มีหน้าที่หล่อเลี้ยงการปฏิบัติ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ก็เกิดขึ้นมาเรื่องการลงรูปเข้ารูปของการปฏิบัติ ก็เป็นสมาธิทุ่มลงไปหมดเลย กำลังจิตทุ่มลงไปหมดเลย นี้เรียกว่าสมาธิสัมโพชฌงค์ ทีนี้คอยนั่งดูว่ามันจะสำเร็จผลจะผลิตผลออกมาอย่างไร นี้เรียกว่าอุเบกขาสัมโพชฌงค์ นี่คือเรารู้เรื่องสัมโพชฌงค์ รู้ถึงขนาดที่จะเอาไปประพฤติปฏิบัติ ไปเลิกตัวกู เลิกอายุ เลิกเวลา เลิกอะไรต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเลิกอวิชชา เลิกอวิชชาอย่างเดียวสิ่งเลวร้ายทั้งหลายก็เลิกไปหมด
ทีนี้ก็มีข้อพิเศษที่ควรจะรู้จักกันไว้อีกหน่อยหนึ่งก็ว่า ธรรมะๆ ที่มันจะเป็นไปเพื่อประโยชน์อันสูงสุดน่ะ เพื่อจะได้รับผลอันสูงสุดน่ะ มันมีลักษณะเฉพาะ คือต้องมีความจริงหรืออะไรประกอบอยู่ว่าสิ่งนั้นต้องเป็นวิเวกนิสฺสิตํ อันวิเวกอาศัยแล้ว, วิราคนิสฺสิตํ อันวิราคะอาศัยแล้ว, นิโรธนิสฺสิตํ อันนิโรธอาศัยแล้ว, โวสฺสคฺคปริณามึ มันน้อมไปเพื่อจะลงคือจะปล่อยจะวาง, จะปล่อยจะวาง ข้อนี้ก็เหตุว่าสติหรืออะไรก็ตามที่ออกชื่อมาแล้วนั้น ถ้ามันไม่ทำให้มีลักษณะไปในลักษณะ ๔ อย่างนี้หรือไปทางอื่น มันไม่ไปทางนิพพาน ถ้ามันไม่อาศัยวิเวก มันไม่มีวิเวกอยู่ในนั้น มันก็ไม่ไปเพื่อนิพพาน ฉะนั้นโพชฌงค์ที่ถูกต้องมันจึงต้องเป็นอันวิเวกอาศัยแล้ว อันวิราคะอาศัยแล้ว อันนิโรธะอาศัยแล้ว มีลักษณะเป็นโวสสัคคะปริณามิง คือจะน้อมไปเพื่อสลัดสละ เพื่อปล่อย ที่เราทำไม่สำเร็จก็เพราะมันไม่น้อมไปใน ๔ ทางนี้ แทนที่จะน้อมไปทางวิเวก วิราคะ นิโรธะ มันน้อมไปเพื่อเงินนู่น มันน้อมไปเพื่อชื่อเสียงนู่น ถึงจะมีอิทธิบาทกันให้เต็มที่แต่มันน้อมไปเพื่อหาเงินหาชื่อเสียงหากิเลสตัณหา มันก็ไม่มี ต่อเมื่อมันน้อมมาใน ๔ อย่างนี้มันจึงจะเป็นไปทางพระนิพพาน ฉะนั้นการที่มันจะเป็นสัมมา สัมมาในองค์ ๘ อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้ ต้องมีองค์ ๔ นี้เข้าไปประกอบ ทิฏฐิตามธรรมดาก็ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน ต้องเป็นสัมมาทิฏฐิจึงจะเป็นไปเพื่อนิพพาน สัมมาทิฏฐิต้องประกอบอยู่ด้วย ๔ องค์นี้ คือทิฏฐินั้นเป็นไปเพื่อวิเวก วิราคะ นิโรธะ โวสสัคคะปริณามิง องค์อื่นก็เหมือนกันแหละ สังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ วายามะ สติ สมาธิ ก็ต้องน้อมไปในลักษณะ ๔ อย่างนี้ นี่เขาไม่น้อมอย่างนี้ เขามีสติเพื่อจะหาเงินต่างหาก เขามีสมาธิเพื่อจะแสดงฤทธิ์ปาฏิหาริย์หลอกลวงควักกระเป๋าคนต่างหาก นี่มันจึงไม่มีผลไปในทางที่ดับทุกข์หรือนิพพาน
ขอให้จำให้ดีว่าต้องซื่อสัตย์ซื่อตรงต่อธรรมะ ปฏิบัติธรรมะให้สุจริต อย่าปฏิบัติธรรมะให้ทุจริต เรื่องนี้มีไว้เพื่อไปนิพพาน มันก็เอาไปไว้ไปหลอกลวงคน เอ้า,กลายเป็นมหาโจร มหาโจรคนไหนมันมีปัญญามาก มันเอาหลักโพชฌงค์ ๗ นี้ไปใช้เพื่อกิจการโจรกรรม มันยิ่งทำได้ดี ฉะนั้นโพชฌงค์ที่ไม่ประกอบด้วยองค์ ๔ นี้มันก็ไปทางอื่น อริยมรรคอะไรก็ตาม ธรรมะข้อไหนก็ตาม อย่างคุณจะรักษาศีลนี่ ต้องให้ศีลมันเป็นไปในทางองค์ ๔ มันจึงจะเป็นไปเพื่อนิพพาน รักษาศีลเพื่ออวดคน รักษาศีลเอาหน้า รักษาศีลหาเครดิต รักษาศีลแลกเอาสวรรค์ อย่างนี้ไม่ๆ ไม่ๆ มันไม่ไปทางนิพพาน จำไว้ว่าวิเวก วิราคะ นิโรธะ โวสสัคคะปริณามิง ทีนี้มันเนื่องกันๆ ๔ อย่างนี้ช่วยจำไว้ทีก่อนนะ วิเวก วิราคะ นิโรธะ โวสสัคคะปริณามิง นี่ คือว่าถ้ามันเป็นไปเพื่อ ๔ อย่างนี้แล้ว มันจะเป็นไปเพื่อสิ้นสุดแห่งราคะ สิ้นสุดแห่งโทสะ สิ้นสุดแห่งโมหะ มีการละราคะเสียได้เป็นผล มีการละโทสะเสียได้เป็นผล มีการละโมหะเสียได้เป็นผลถ้ามันประกอบด้วยองค์ ๔ อย่างนี้ ๔ อย่างนี้มันก็ยังมีความหมายที่จะมองเห็นได้ต่อไปว่า ถ้ามันมีลักษณะ ๔ อย่างนี้คือมีวิเวก วิราคะ นิโรธะ โวคสัคคะปริณามิง แล้วมันจะเป็นหยั่งลงไปทางนิพพาน มันจะไหลไปทางพระนิพพาน เรียกว่าอมโตคธะ แล้วมันจะมีพระนิพพานเป็นเบื้องหน้าที่ปรากฏสุดท้ายเรียกว่าอมตปรายนะ มีนิพพานเป็นที่ไปในเบื้องหน้า แล้วมันจะไปจบลงที่นิพพานเรียกว่าอมตปริโยสานะ อมโตคธะ นี่เอียงๆ ไปหานิพพาน อมตปรายนะ จะมีนิพพานรออยู่ข้างหน้า และอมตปริโยสานะนี่ จะจบลงด้วยนิพพาน องค์ ๔ ข้างต้นนี่ไม่ใช่เล่น หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งก็เรียกว่าถ้าครบองค์ ๔ ที่ว่าแล้วนี้ มันจะเป็นนิพพานนินนะ คือมันลาดๆ ไปทางนิพพาน มันเอียงไปทางนิพพาน มันไหลไปทางนิพพาน เป็นนิพพานโปณะ มันก็จะเทไปทางนิพพาน มันก็จะเป็นนิพพานปัพภาระ มันก็ไปจุดจบที่นิพพาน เพราะมันมีความเอียงไปทางนี้มันก็ไหลไปทางนี้ แล้วมันก็ไปถึงที่นั่นและก็จบกันที่นั่น นี่เรียกว่าทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อนิพพานก็เพราะประกอบไปด้วยองค์ ๔ มันทำเพื่อวิเวก มันทำเพื่อวิราคะ มันทำเพื่อนิโรธะ มันทำเพื่อโวสสัคคะปริณามิง นี่ลักษณะที่จะทำให้กล่าวได้ว่ามันถูกต้องๆ เป็นสัมมัตตะคือถูกต้อง ๑๐ อย่าง เป็นโพชฌังคะ คือถูกต้องสำหรับจะตรัสรู้ องค์ ๔ นี้ควรจะได้ยินได้ฟังกันไว้ว่าถ้าเราจะปฏิบัติให้เป็นไปเพื่อนิพพานแล้ว จงประกอบด้วยองค์ ๔ แต่ถ้าเราไม่ต้องการนิพพาน เราต้องการเงินก็ได้ ปฏิบัติเถิด ก็ได้เงินได้เกียรติยศชื่อเสียงมันก็ได้ มันแยกทางกันอยู่อย่างนี้ ธรรมะชื่อเดียวกันนั่นแหละ ศีลก็ได้ สมาธิก็ได้ ปัญญาก็ได้ ปฏิบัติไปหาลาภก็ใช้ได้ ปฏิบัติไปนิพพานก็ใช้ได้ แต่ถ้าปฏิบัติเพื่อนิพพานแล้วต้องมีองค์ ๔ ที่ว่านี้ ถ้าไม่ต้องการนิพพานแล้วก็ไม่ต้อง ทำไปตามเรื่องของมันที่จะได้สิ่งที่ต้องการ นี่เรียกว่าลักษณะที่มันจะเป็นโพชฌงค์โดยถูกต้องมันมีอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้
เอ้า,ทีนี้ก็จะดูกันให้มันเจาะจงลงไปว่าโพชฌงค์ๆ นี้จะเลิกอายุได้อย่างไร เอาโพชฌงค์มาเลิกอายุกันโดยตรงเลย สติสัมโพชฌงค์ ระลึกๆ ระลึกให้ครบถ้วน ก็ระลึกถึงโทษของการที่ไม่มีโพชฌงค์สิ ข้อแรกที่ระลึก ระลึกถึงการที่มันไม่มีโพชฌงค์จะเสียหายเท่าไหร่ มันจะเดือดร้อนเท่าไหร่ นี่ระลึกก่อน แล้วก็ระลึกถึงคุณของโพชฌงค์ โพชฌงค์มีคุณอย่างไร ระลึกหรือคำนวณคาดคะเนก็พอจะรู้ได้ว่ามันมีคุณอย่างไร แล้วก็ระลึกถึงธรรมะไหนที่จะกำจัดอุปาทานตัวตนหรืออายุนี้ได้ ธรรมะไหนๆ ก็ระลึกๆ ระลึกๆ ออกมา มันระลึกครบถ้วนอย่างนี้แล้วก็มีหวังแหละ ระลึกโทษของการที่ไม่มีธรรมะหรือระลึกถึงคุณของการที่มีธรรมะ ระลึกถึงคำธรรมะที่มันจะกำจัดกิเลสได้ นี่องค์ประกอบก็มี ๓ อย่างนี้ เลิกอายุได้ก็เห็นโทษของการมีอายุ อายุกัด ระลึกถึงคุณของการที่ไม่ยึดถือในอายุมันก็สบาย หรือว่ายึดถือธรรม ธรรมะที่จะกำจัดความยึดถือในอายุมันก็คือสติปัญญา วิปัสสนาความแจ่งเจ้งในเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาโดยเฉพาะ ถ้าทำอย่างนี้แล้วสติสัมโพชฌงค์จะเริ่มต้นเลิกอายุ ทำลายการยึดมั่นถือมั่นในอายุ
เอ้า,ทีนี้ต่อไป โพชฌงค์ข้อต่อไป เอามาวิจัยโดยละเอียด ทีนี้ธรรมะที่เราเลือกมาได้แล้วเอามาวิจัยโดยละเอียดว่าธรรมะนี้ๆ จะกำจัดอวิชชา ตัณหา อุปาทานได้อย่างไร จะกำจัดโทษของความหลงในอายุได้อย่างไร นี่เรียกว่าธัมมวิจัย ใคร่ครวญโดยละเอียด วิจัยไปถึงว่าจะต้องมีประมาณเท่าไหร่ ธรรมะนั้นจะต้องมีประมาณเท่าไหร่ มีมาตราเท่าไหร่ โดยมาตรามีเท่าไหร่ และเวลาอย่างไรเวลาไหนเหมาะที่สุด และมีเหตุผลเกี่ยวข้องกับอะไร นี่ว่าโดยเหตุผล แล้วก็ธรรมะตัวไหนองค์ไหนจะเป็นธรรมะหลักธรรมะที่เป็นประธาน และธรรมะข้อไหนจะเป็นธรรมะลูกน้อง ธรรมะอุปกรณ์ธรรมะช่วยเหลือ นี่วิจัยธรรมะเหล่านั้นโดยมาตราว่ามากน้อยเท่าไหร่ เวลาโดยเวลา เวลาไหนเหมาะอย่างไร ทำอะไรแล้วเหตุผลมันเกี่ยวข้องกันอย่างไร ธรรมะไหนเป็นธรรมะหลักเป็นประธาน ธรรมะไหนเป็นธรรมะช่วยประกอบเป็นลูกน้อง นี่ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ก็ทำงานละเอียดละออถี่ยิบอย่างนี้แหละ ธัมมวิจัย เรียกว่าธัมมวิจัย จะเลิกอายุได้ จะเลิกความยึดมั่นถือมั่นหรือความโง่เกี่ยวกับอายุได้ มันถูกทั้งมาตรา ถูกทั้งเวลา ถูกทั้งเหตุผล ถูกทั้งธรรมะหลัก ถูกทั้งธรรมะอุปกรณ์
เอ้า,ทีนี้ก็เลื่อนไปถึงวิริยสัมโพชฌงค์ วิริยะคำนี้แปลว่ากล้าหาญก็ได้ แปลว่าพากเพียรก็ได้ เอามารวมกันเสียเลยก็ดีมาก เอามารวมกันเสียเลยให้มันพากเพียรด้วยความกล้าหาญ ถ้าไม่กล้าหาญมันย่อท้อมันถอยหลัง ต้องกล้าหาญ ถ้ากล้าหาญมันก็พากเพียรรุดหน้า นี่ก็วิริยะประกอบให้ไปด้วยความกล้าหาญและความพากเพียร นี่เต็มรูปเต็มแบบเต็มขนาดของคำว่าวิริยะ แล้วก็ดึงเอาธรรมะอุปกรณ์มาใช้ เช่น เอาอิทธิบาทมาใช้ในวิริยสัมโพชฌงค์ หรือเอาสัมมัปปธาน ๔ ก็ได้ มาใช้ในวิริยสัมโพชฌงค์ วิริยะนั้นก็สมบูรณ์ๆ เข้มแข็งสูงสุดแก่กล้าเข้มแข็ง มีวิริยสัมโพชฌงค์ก็ถูกใช้ไปในการเลิกอัตตาตัวกู เลิกความหลงในอายุ เลิกอายุ
ทีนี้ ปีติๆ นี่มันเหมือนกับอาหาร เสบียงอาหาร คือความอิ่มใจพอใจ ปีตินี่มันอยู่ด้วยศรัทธา มีความเชื่อแน่ เชื่อแน่ว่ามันถูกต้องแน่ สำเร็จแน่ มันก็มีปีติออกมาจากศรัทธาหล่อเลี้ยงอยู่ ศรัทธาว่ารอดแน่ดับทุกข์ได้แน่ นั่นแหละศรัทธา มันก็หล่อเลี้ยงปีติ ปีติก็มีกำลังกล้าแข็ง ทีนี้ก็อธิษฐาน อธิษฐานก็คือว่าย้ำปีตินั้นลงไป ย้ำลงไปเรียกว่าอธิษฐานด้วยปีติ ปีติจะมีทุกขั้นตอน ทุกขั้นตอนที่มีความสำเร็จ ประสบความสำเร็จเท่าไหร่มีปีติเท่านั้น ประสบความสำเร็จต่อไปก็มีปีติต่อไป ปีตินี้เกิดมาจากความสำเร็จแล้วก็พอใจในความสำเร็จ นี่ปีติๆ ช่วยหล่อเลี้ยงวิริยะ ไม่รู้จักเหนื่อยๆ ถ้าปีติมันหล่อเลี้ยงวิริยะแล้ววิริยะมันไม่หมดสิ้นมันไม่รู้จักเหนื่อย ทีนี้ปีติๆ มันก็ช่วย แม้ว่ามันจะไม่เลิกอายุโดยตัวมันเอง มันเลิกได้โดยอ้อม ถ้ามันปีติๆ อยู่ด้วยความไม่มีตัวตน มันก็เลิกอายุไปในตัว เลิกตัวตนไปในตัว ถ้าเสวยปีติอยู่อันตรายเลวร้ายเกี่ยวกับอายุมันก็ไม่มาทำอันตราย นี่เรียกว่าปีติมันเลิกอายุหรือเลิกตัวตนได้โดยอ้อม แม้ว่ามันจะไม่ใช่ตัวปัญญา ปีติๆ นี้ก็จัดไว้ในกลุ่มสมาธิ มันรวมอยู่ในกลุ่มสมาธิ มันก็หล่อเลี้ยงกำลังของวิริยะ หรือว่าคนหนึ่งมันทำงาน คนหนึ่งมันหุงข้าวให้กิน มันร่วมมือกันอย่างนั้น ปีติเป็นไปหนักเข้ามันก็จะเกิดปัสสัทธิ ลงรอยๆ ทุกอย่างมันลงรอย มันอยู่กันอย่างเรียบร้อย ผ่าลูกทับทิมดู เม็ดทับทิมอยู่กันอย่างเรียบร้อยที่สุดเลย อยู่ได้แน่นอัด ลงรูปเข้ารูปลงรอยและเรียบร้อยด้วย เรียบร้อยเกลี้ยงเกลาด้วย นี่ปัสสัทธิเข้ารูปลงรอยรวมกำลังกันหมด ธรรมะกี่อย่างๆ มาสัมพันธ์กันหมด จะเป็นธรรมะหลักหรือธรรมะลูกน้องธรรมะอุปกรณ์ มันมาร่วมกันหมดเป็นสหกรณ์เดียวกัน นี่มันก็มีกำลังสามารถที่จะตัดตัวตน ตัดความยึดถือในตัวตน ยึดถือในเวลา ยึดถือในอายุ ทีนี้เดี๋ยวนี้มันรวมกำลังกัน มันรวมกันเท่านั้นแหละ แต่ว่ากำลังยังไม่ถึงที่สุด ต้องมีสมาธิมาเพิ่มให้กำลังถึงที่สุด สมาธิมีอย่างไร มีได้เท่าไหร่ทำให้ถึงที่สุด เอามาระดมลงไปในปัสสัทธิ ความเข้ารูปความลงรอยมันจะเริ่มตัดกิเลส ในนามของสมาธิมันตัดกิเลส สมาธินี้จิตมันสะอาดไม่มีนิวรณ์ สมาธินี้จิตเข้มแข็งรวมกำลังเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เหมือนกับแสงแดดน้อยๆ นี่ ลองเอาแว่นนูนมารับแสงสิ มันก็รวมพอที่จะทำให้ไฟลุกได้ แสงสว่างไม่ต้องถึงแดดแท้ๆ หรอก ถ้าแดดแท้ๆ ก็ยิ่งดี มีแสงสว่างอยู่บ้างนั่นแหละ มันก็ให้แว่นรวมแสงไปทำให้ลุกเป็นไฟได้นี่ จิตมันรวมกำลังกันอย่างนี้มันจึงมีความเข้มแข็งมาก มันทำหน้าที่ของสมาธิ มีความเข้มแข็งตามแบบของสมาธิ แล้วมีความลับอยู่อย่างหนึ่งที่ไม่ค่อยเอามาสอนกันว่า เมื่อสมาธิสูงสุดแล้ว สมาธิมันออกนำหน้า มันเอาองค์มรรคอื่นๆ มาเป็นบริวารของสมาธิหมด อริยมรรคมีองค์ ๘ น่ะ ๗องค์ข้างต้นจะมาเป็นบริวารขององค์สุดท้ายคือสมาธิ สัมมาสมาธินั้นก็กลายเป็นสัมมาสมาธิชั้นเลิศ นั่นแหละกำลังของสมาธิชั้นเลิศนี่มันจะตัดกิเลส นี่เดี๋ยวนี้ก็เห็น โอ้,สมาธิชั้นเลิศเกิดขึ้นแล้ว แล้วก็รักษา เพ่งๆ เพ่งดูคือรักษาไว้อย่าให้เปลี่ยนแปลงอย่าให้เป็นอย่างอื่น ข้อนี้เรียกว่าอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ทำได้อย่างนี้ก็มีโพชฌงค์นั่นแหละเป็นเครื่องเลิกอายุ เลิกความยึดมั่นถือมั่นในอายุ เลิกความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนด้วยอำนาจของการใช้โพชฌงค์ๆ นี้เรียกว่าเลิกอายุ เลิกความยึดมั่นในอายุ มันเกิดมาจากความยึดมั่นในอัตตา ยึดมั่นในอัตตา ก็ถูกเลิกๆ ถูกเลิกด้วยองค์ทั้ง ๗ คือโพชฌงค์ซึ่งเป็นองค์สำหรับการตรัสรู้ เดี๋ยวนี้เขาเรียนโพชฌงค์กันแต่ท่องได้ และนิมนต์พระที่ไม่รู้ว่าโพชฌงค์คืออะไรมาสวดให้คนเจ็บที่ก็ไม่รู้ว่าโพชฌงค์คืออะไร แล้วมันจะหายได้อย่างไร มันจะหายโรคได้อย่างไรล่ะ พระผู้มาสวดก็ไม่รู้เรื่องของโพชฌงค์ได้แต่สวด คนเจ็บก็ไม่รู้เรื่องของโพชฌงค์ ก็ฟังอย่างนกแก้วนกขุนทอง ทั้งผู้สวดทั้งผู้ฟังไม่สำเร็จ ให้โพชฌงค์มันเป็นไปอย่างมีความหมายสิ จะเลิกอัตตา เลิกตัวตนและเลิกอายุ
เอ้า,ทีนี้ก็จะเลิกอายุด้วยสัญญา ๑๐ ซึ่งเป็นใจความสำคัญของคิริมานนทสูตร เมื่อคืนสวดได้นิดเดียว คิริมานนทสูตรนั่นแหละมันมีหัวใจเป็นสัญญา ๑๐ พระอรหันต์ชื่อคิริมานนท์ไม่สบายเป็นไข้หนัก พระอานนท์ไปทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสว่าให้ไปสวดหรือบอกสาธยายสัญญา ๑๐ ให้พระคิริมานนท์ฟังแล้วจะหาย พระอานนท์ก็ไปสาธยายฟื้นความจำเรื่องสัญญา ๑๐ ให้แก่พระคิริมานนท์ พระคิริมานนท์ก็หาย เพราะพระคิริมานนท์นั้นก็รู้เรื่องสัญญา ๑๐ และใช้สัญญา ๑๐ แก้ปัญหามาแล้วจนได้เป็นพระอรหันต์ ทีนี้พอมาฟื้นความจำเรื่องนี้ขึ้นมาอีกที ก็มีกำลังจิตกำลังธรรมะสูงระงับโรคหาย สูตรนี้จึงมีค่าในทางรักษาไข้ รักษาโรครักษาไข้เช่นเดียวกับโพชฌงค์ คิริมานนทสูตรกับโพชฌังคสูตรถูกนำมาใช้สอน คือมาให้สติคนเจ็บไข้
เอ้า,ถ้ายังจะฟังได้ ก็ฟัง จะพูดต่อไปอีก มันหลายเรื่องนี่ อย่าเอาไปปนกันเสียมันจะยุ่ง ฟังทีละเรื่องๆ อย่าเอาไปปนกัน
ต่อไปนี้ก็จะพูดเรื่องสัญญา ๑๐ จะเลิกอายุด้วยสัญญา ๑๐, สัญญา ๑๐ ก็คืออนิจจสัญญา, อนัตตสัญญา, อสุภสัญญา, อาทีนวสัญญา, ปหานสัญญา, วิราคสัญญา, นิโรธสัญญา, สัพพะโลเก อนภิรตสัญญา, สัพพะสังขาเรสุ อนิจจสัญญา, แล้วก็อานาปานสติ เอาอานาปานสติมาเป็นเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องสุดท้ายนี่
อนิจจสัญญา ทำความรู้ สัญญาในที่นี้แปลว่ารู้พร้อม สํ ว่าพร้อม ญา ว่ารู้ สัญญาแปลว่ารู้พร้อม มันอยู่ในความรู้สึกคิดนึกพร้อมเรียกว่าสัญญา เอาเรื่องอนิจจังความไม่เที่ยงมาทำเป็นสัญญาอยู่ในใจ เพ่งความไม่เที่ยงอยู่ในใจ ในที่ๆ เหมาะสมในที่สงบสงัดพอสมควร แล้วก็ทำสัญญาเป็นความไม่เที่ยงในเบญจขันธ์ ไม่เที่ยงนี่ไม่เที่ยงของเบญจขันธ์ ขันธ์ทั้ง ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เอามาพิจารณาดูความไม่เที่ยงของเบญจขันธ์แต่ละขันธ์ๆ อย่างนี้เรียกว่าอนิจจสัญญา เมื่อเห็นความไม่เที่ยงของเบญจขันธ์แล้วมันก็ละ ละความหลงในตัวตน ละความหลงในอายุ ก็มันเห็นความไม่เที่ยงของตัวตน เห็นความไม่เที่ยงของอายุ เห็นความไม่เที่ยงในเบญจขันธ์ ก็ละความยึดมั่นถือมั่น อย่างนี้ก็ได้
ทีนี้อันที่ ๒ อนัตตสัญญา ทำความสำคัญในอนัตตา อนัตตามิใช่ตัวตนของสิ่งที่เกี่ยวข้องกันอยู่ คือของอายตนะ อนิจจสัญญานั่นดูเบญจขันธ์ อนัตตสัญญานี่ดูอายตนะ ภายในคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ภายนอกคือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อายตนะ๒ ชุดๆ ละ ๖ นับเรียงตัวก็ได้ ๑๒ นับเป็นคู่ๆ ก็ได้ ๖ คู่ เห็นอนัตตา ตานี่เป็นอนัตตาไม่มีตัวกูอยู่ในตา ตาก็เป็นไม่ต้องมีตัวกู อธิบายกันยกใหญ่แล้วเมื่อกลางคืนนี้ ตอนกลางคืนนี้ ถ้าตาเห็นรูปก็อย่าว่ากูเห็นรูป เพราะว่าตานั้นไม่ใช่ตัวกูไม่ใช่มีอัตตา หูก็เหมือนกันไม่ใช่อัตตา มันได้ยินได้โดยไม่ต้องเป็นอัตตา จมูกก็รู้กลิ่นได้โดยไม่ต้องเป็นอัตตา ลิ้นก็รู้รสได้โดยไม่ต้องเป็นอัตตา ผิวกายสัมผัส นี่ก็รู้สัมผัสได้โดยไม่ต้องเป็นอัตตา จิตก็รู้สึกคิดนึกอะไรได้โดยไม่ต้องเป็นอัตตา ถ้าอย่างนี้แล้วก็คือเห็นว่าอายตนะภายในทั้งหมดไม่ใช่อัตตา ทีนี้อายตนะภายนอก รูปที่เข้ามากระทบตาก็ไม่ใช่อัตตา ไม่มีอัตตาในรูปนั้น เสียงมากระทบหูก็ไม่มีอัตตาในเสียงนั้น กลิ่นก็ไม่มีอัตตาไม่เป็นอัตตา รสก็ไม่เป็นอัตตา โผฏฐัพพะก็ไม่เป็นอัตตา ธรรมารมณ์ก็ไม่เป็นอัตตา นี่ เห็นอายตนะทั้งสองฝ่ายล้วนแต่ไม่ใช่อัตตา นี่เรียกว่าอนัตตสัญญา นี่โดยเจาะจงเลยโดยตรงเลย มันก็ละอัตตา ละเวลา ละความยึดมั่นถือมั่นในอัตตา ละความยึดมั่นถือมั่นในเวลา ด้วยความเห็นอนัตตา เห็นอนัตตา
ทีนี้ก็อันที่ ๓ เรียกว่าอสุภสัญญา มีสัญญาในสิ่งที่ไม่สวย อสุภะแปลว่าไม่สวยงาม เอาความรู้สึกของคนธรรมดาเป็นหลักนะ อย่าเอาความรู้สึกของพระอรหันต์เป็นหลัก ถ้าเอาความรู้สึกของพระอรหันต์เป็นหลักมันไม่มี ไม่มีสิ่งสวยงามและไม่มีสิ่งไม่สวยงาม สิ่งสวยงามก็ไม่มี สิ่งไม่สวยงามก็ไม่มี จึงต้องเอาความรู้สึกของคนธรรมดานี่เป็นหลัก สิ่งที่ไม่สวยไม่งามใครๆ ก็รู้สึกได้เองว่าไม่สวยไม่งาม นั่นแหละเอามาเป็นอารมณ์ของการพิจารณา สิ่งไม่สวยงามเหล่านี้ก็ได้แก่ทวัตติงสาการ อาการ ๓๒ ไปท่องเอาเอง อาการ ๓๒ นับตั้งแต่อะไรล่ะ อาการ ๓๒ ที่ท่องกันอยู่ทุกๆ คืนนั่นแหละ นั่นแหละไปฟื้นเอามา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ กระดูก เอ็นเอินอะไร เป็น ๓๒ นั่นแหละ นั่นแหละคือสิ่งไม่งามในที่นี้ ทีนี้ถ้าใครยังเห็นว่างามก็คือยังไม่รู้ ก็เอามาดูให้เห็นตามจริงตามธรรมดาว่าเรารู้สึกได้เองว่ามันไม่งาม ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เรื่อยไปจนถึงอุจจาระ ปัสสาวะ ไปถึงอันสุดท้ายของ ๓๒ ไม่ต้องพูดให้เสียเวลา ถ้ามาอธิบายทีละเรื่องเสียเวลาเปล่า รวบหมดทั้ง ๓๒ ไปดูเอาเองว่ามันไม่งาม แต่ว่าใจความสำคัญก็คืออยู่ที่เราเคยหลงว่างาม เราเคยหลงว่างาม ตบแต่ง ผม ขน เล็บ ฟัน หนังนี่ เป็นของสวยงาม อย่างนี้มันโง่ มาดูให้เห็นว่าไม่สวยงาม อย่าไปหลงกับมันเลย อย่างนี้ก็เรียกว่าอสุภสัญญา มันบรรเทาความยึดมั่นถือมั่นได้เหมือนกัน แม้ว่าจะไม่ตัดขาด แต่ถ้าพิจารณากันในชั้นวิปัสสนา มันก็ช่วยในเรื่องตัดให้เด็ดขาดได้เหมือนกัน ไม่หลงในความสวยงามนี้อีกต่อไป
ทีนี้ก็มาถึงที่ ๔ อาทีนวสัญญา มีสัญญาในสิ่งที่เป็นโทษ อาทีนวะแปลว่าโทษ ก็คือโรคทั้งหลายทั้งปวง หลายสิบโรคที่เอามาพูดไว้ในภาษาสัญญา ดูเอาจากหนังสือตอนชื่อโรคๆ น่ะ สารพัดโรค นั่นน่ะเรียกว่าอาทีนวะ มีเวลาก็สวด ได้รู้ได้ฟังชื่อโรคๆ แล้วก็ถือเป็นหลักว่าโรคนี้มีอยู่เป็นประจำ เพราะมันมากนี่ โรคทางตา โรคทางหู โรคทางปาก โรคทางลำไส้ โรคทางทำการงานเกินไปหรืออะไรเหล่านี้ โรคอิดโรยเหล่านี้ก็เป็นโรค คนเราจะมีโรคอย่างใดอย่างหนึ่งนี้แหละในหลายๆ สิบอย่างนี้อยู่อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือบางทีก็มีหลายๆ โรค โรคทางกายนี่ โรคทางจิตนั้นจะเรียกว่ามีอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก นับไม่ไหว แต่ว่าโรคทางกายนี่ก็ยังมีอยู่บ่อยๆ เพียงแต่ไม่ถี่ยิบเหมือนกับโรคทางจิต ก็ให้เห็นว่าร่างกายนี้เป็นที่รวมโรคก็แล้วกัน ถ้าเป็นหมอแล้วก็บอกได้ดี พวกที่เป็นหมอก็ช่วยบอกมันเป็นรังโรคกี่มากน้อยอย่างไร จนเห็นว่าอัตภาพร่างกายนี้เป็นที่รวมของโรคเป็นที่อาศัยของโรค มีความไม่ถูกต้องที่เรียกว่าโรครวมอยู่ในร่างกายนี้มากเหลือเกิน มีสิ่งที่เป็นโทษรวมอยู่ในร่างกายนี้มากเหลือเกิน ในกระเพาะในลำไส้ในอวัยวะต่างๆ มีสิ่งที่เป็นอันตรายนี้รวมอยู่ด้วย นี้เรียกว่าอาทีนวสัญญา เห็นโรค
เอ้า,ทีนี้ต่อไปที่ ๕ ก็เป็นปหานสัญญา ปหานสัญญาทำความสำคัญในการละหรือสิ่งที่ควรละ ต้องละ ปหานะแปลว่าละหรือควรละ สิ่งควรละก็คือกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก คือความคิดที่มันไปในทางกาม ความคิดมันไปในทางมุ่งร้ายทำร้ายผู้อื่น ความคิดที่มุ่งร้ายมุ่งไปในทางเบียดเบียนๆ ทำให้เขาลำบาก พยาบาทมุ่งร้าย มันโดยโทสะ วิหิงสาเบียดเบียน นี่มันโดยโมหะ เดี๋ยวจะเอาไปเป็นอันเดียวกันเสีย มันไม่ใช่อันเดียวกันหรอก พยาบาทมุ่งร้ายมันเป็นเรื่องของกิเลสที่สองคือโทสะ วิหิงสามันเบียดเบียนกันด้วยความไม่รู้ มันไม่ได้เจตนาร้ายแต่มันโง่ เหมือนคนที่ทำให้ผู้อื่นลำบากด้วยความโง่ ก็มีได้ ก็เรียกว่าวิตก ผิดเหมือนกันอกุศลวิตก กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก กามวิตกทำด้วยราคะโลภะ พยาบาทวิตกทำด้วยโทสะหรือโกธะ วิหิงสาวิตกทำด้วยโมหะ ทำให้ผู้อื่นลำบากโดยไม่เจตนาก็อยู่ในข้อนี้แหละ มันไม่รู้นี่ อาตมาก็ระวังอยู่นะเดี๋ยวนี้ ไม่อยากทำให้ท่านทั้งหลายต้องลำบากมาประชุมนี่ ถ้าทำให้ลำบากก็เรียกว่าวิหิงสาวิตกเหมือนกัน ห้ามว่าอย่ามาๆ ก็ไม่เชื่อ มาก็ลำบากเอง อย่าๆ ให้อาตมาต้องรับผิดชอบ มันจะเป็นวิหิงสาวิตก วิตกเหล่านี้ต้องละๆ ปหานะ ต้องละ
เอ้า,ทีนี้ก็ต่อไปเป็นสัญญาที่ ๖ วิราคสัญญา อันที่ ๗ นิโรธสัญญา นี่พูดคราวเดียวกันเสียก็ได้ แม้ชื่อมันไม่เหมือนกัน แต่มันเป็นเรื่องเดียวๆ กัน วิราคสัญญา ทำสัญญาในวิราคธรรม ธรรมเป็นที่คลายออกแห่งอุปาทาน คลายออกอย่างไร มาทำในใจนี่ ก็ทำในใจถึงพระนิพพานเป็นที่คลายออกแห่งกิเลสตันหา บทพิจารณามันว่า เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํ ยทิทํ สพฺพสงฺขารสมโถ สพฺพูปธิปฏินิสฺสคฺโค ตณฺหกฺขโย วิราโค แล้วก็ นิโรโธ แล้วก็ นิพฺพานํ ถ้าพิจารณากันเพียงว่า วิราโค หยุดเสีย อย่าไปนิโรโธเข้า ก็เป็นวิราคสัญญา ถ้าข้ามไปจนถึงนิโรโธด้วยแล้ว ก็เป็นนิโรธสัญญา บทพิจารณาเหมือนกัน เอตํ สนฺตํ สิ่งนั้นสงบระงับเหลือคือพระนิพพานน่ะ เอตํ ปณีตํ สิ่งนั้นประณีตๆ เหลือ สิ่งนั้นก็คือ สพฺพสงฺขารสมโถ เป็นเครื่องสงบแห่งสังขารทั้งปวง สพฺพูปธิปฏินิสฺสคฺโค เป็นที่สลัดออกซึ่งอุปาทานทั้งปวง ตณฺหกฺขโย เป็นที่สิ้นแห่งตัณหา วิราโค คลายความยึดมั่น นิโรโธ ดับสุดความยึดมั่น นิพฺพานํ คำสุดท้าย เอานิพพานมาเป็นอารมณ์พิจารณาเพียงวิราโค ก็เรียกว่าวิราคสัญญา ถ้าพิจารณาเลยไปถึงคำว่านิโรโธ ก็เป็นนิโรธสัญญา นี่วิราคสัญญากับนิโรธสัญญามันเรื่องเดียวๆ กัน เอามาพูดคราวเดียวกันได้
ต่อไปก็เป็นที่ ๘ สัพพะโลเก อนภิรตสัญญา มีสัญญาชนิดที่ให้เกิดความไม่หลงพอใจในโลกทั้งปวง หมายความว่าในโลกทั้งปวงมีสิ่งที่ทำให้พอใจ เป็นบวก แต่เป็นลบก็มี แต่ในที่นี้เอามาพูดแต่เรื่องเป็นบวก น่ารักน่าพอใจเต็มไปหมดในโลกนี้ คนโง่เขาหลง ทีนี้เอามาทำในแง่ที่ว่าเกิดความรู้สึกว่าไม่หลง ไม่ยินดีในโลกทั้งปวงนี่ ทำความสำคัญในใจอยู่อย่างนี้ ก็เรียกว่าสัพพะโลเก อนภิรตสัญญา ทำสัญญามั่นหมายให้รู้จักสิ่งที่มันหลอกลวงนั่น นี่เพื่อจะอธิบายให้สั้นให้จำง่าย ก็คือว่าสิ่งที่หลอกลวงให้ยินดีนั่น กำหนดลงไปที่สิ่งนั้น มันมีกี่อย่าง ในโลกกี่อย่าง รู้ๆ จักมันเสียให้หมด ว่าในโลกนี้มันมีสิ่งที่หลอกลวงให้ยินดีมีกี่อย่าง เพื่อจะได้ไม่หลงคือไม่หลงความหลอกลวง มันก็ไม่ยินดี นี่เรียกว่าไม่ยินดี ไม่หลงยินดีในโลกทั้งปวง คำว่าโลกนี้คุณจะหมายถึงโลกจักรวาลนี้ก็ได้ แต่ถ้าภาษาธรรมะเขาไม่หมายถึงโลกจักรวาล หมายถึงสิ่งที่มากระทบตา กระทบหู กระทบจมูก กระทบลิ้น กระทบกาย กระทบใจ ๖ อย่างเท่านั้นแหละ โลกทั้งปวงมี ๖ อย่างเท่านั้นแหละ เพราะว่าถ้ามันไม่มากระทบที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็ไม่มีอิทธิพลอะไร มันก็ไปอยู่ต่างหาก ไม่รู้อยู่ที่ไหน แต่พอมันมากระทบที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจแล้ว มันก็อยู่ที่นี่ มันกัดเราอยู่ที่นี่ ทำลายเราอยู่ที่นี่ ความหลอกลวงให้หลงใหลที่มีอยู่ในโลกมันก็มารวมอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ไม่ไปหลงกับมัน ไม่ให้มันหลอกลวงได้ นี่มันก็เลิกตัวตน มันก็เลิกอายุ เลิกความหลอกลวง ความหลงในอายุซึ่งจะไปหลงในสิ่งที่หลอกให้หลงในโลก อายุก็เลิกกันคือไม่หลง ไม่หลงก็ไม่มีอายุไม่มีตัวกูที่จะหลง
ทีนี้ข้อ ๙ ต่อไป ก็เรียกว่า สัพพะสังขาเรสุ อนิจจสัญญา เห็นความไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง เห็นความไม่เที่ยง ไม่เที่ยงคือว่าเปลี่ยนเรื่อยๆ ในสังขารทั้งปวง คำว่าสังขารนี่ ขอใช้คำหยาบคายว่าพวกชาวบ้านนี่ยังโง่ ชาวบ้านทุกคนยังโง่ในคำว่าสังขาร สังขารเขาหมายถึงแต่ร่างกาย นี้เรียกว่าสังขาร รู้จักสังขารในความหมายว่าร่างกายนี้ ทางธรรมะโดยสมบูรณ์ คำว่าสังขารนั้นมันมีความหมายว่าสิ่งที่ปรุงแต่งและสิ่งที่ถูกปรุงแต่งแล้วก็อาการของการปรุงแต่ง สิ่งใดปรุงแต่งสิ่งอื่นให้เกิดขึ้น สิ่งนั้นก็เรียกว่าสังขาร ปรุงแต่งทางกาย ปรุงแต่งทางใจ ปรุงแต่ทางวาจา มันเป็นผู้ปรุงแต่ง ก็มันไม่เที่ยง ทีนี้สิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาเป็นนั่นเป็นนี่ อารมณ์ทั้งหลายทั้งรูปและนามมันก็ไม่เที่ยงเพราะมันถูกปรุงแต่ง ทีนี้กิริยาอาการที่มันปรุงแต่ง กิริยาที่มันปรุงแต่งๆ ปรุงแต่งๆ กิริยาอันนั้นก็เรียกว่าสังขาร ดังนั้นคำว่าสังขารจึงมีถึง ๓ ความหมายนู่น, ๓ ความหมาย ผู้ปรุงแต่ง เป็นกัตตุ, ผู้ถูกปรุงแต่งเป็นกัมมะ, กิริยาอาการที่การปรุงแต่ง เป็นภาวะ สังขารมี ๓ ความหมาย ในความหมายผู้ปรุงแต่ง ในความหมายถูกปรุงแต่ง ในความหมายภาวะแห่งการปรุงแต่ง อย่าได้ไปหลงมันแม้แต่ในสังขารใดสังขารหนึ่งและเข้าใจว่ามันเที่ยง เห็นความไม่เที่ยงของสังขารทุกความหมายนี่ อนิจจสัญญาสมบูรณ์อย่างนี้แล้วมันก็จะทำให้ไม่หลงรักในสังขาร ไม่หลงรักในสังขาร จะใช้คำว่าเกลียดชังก็มากเกินไป ใช้คำว่าเฉยได้ดีกว่า มันจะเฉยได้ในสังขารทั้งปวง สังขารทั้งปวงที่จะมาหลอกให้หลง ให้หลงโกรธก็ได้ ให้หลงรักก็ได้ ให้หลงในทางบวกก็ได้ ในทางลบก็ได้ เฉย มันไม่หลอกได้อีกต่อไป นี่เรียกว่าเห็นความไม่เที่ยงว่าสังขารชนิดไหน พวกที่เป็นสุขก็ไม่เที่ยง พวกที่เป็นทุกข์ก็ไม่เที่ยง พวกที่เป็นอทุกขมสุขก็ไม่เที่ยง ก็เลยไม่มีอันไหนที่จะทำให้หลง ไม่มีเหลืออยู่ให้หลง ก็ไม่หลงทั้งหมด เห็นความไม่เที่ยงของสังขารทั้งปวง อย่ามองสั้นๆ ว่าเห็นความไม่เที่ยงแต่เพียงของร่างกายนี้ ร่างกายนี้เป็นสังขารในความหมายที่สองคือสิ่งถูกปรุงๆ คือร่างกายนี้ เหตุปัจจัยอะไรที่มันปรุงนั่นน่ะ สังขารเป็นผู้ปรุง ร่างกายนี้เป็นสิ่งถูกปรุง แล้วกิริยาอาการที่มันมีการปรุงๆ อยู่เรื่อยๆ แทบจะไม่มีหยุดนี่ ก็เรียกว่าสังขารที่เป็นกิริยาอาการ ก็ไม่เที่ยงเห็นชัดๆ อยู่ ก็มันปรุงเรื่อยนี่ จะเรียกว่าเที่ยงอย่างไร เมื่อเห็นความไม่เที่ยงอย่างนี้ ก็ไม่หลงในตัวตน ไม่หลงในอายุ สัญญาที่ ๙ ก็ตัดความหลงในอายุ
เอ้า,สุดท้าย อานาปานสติ เจริญอานาปานสติ คำนี้ไม่ต้องพูดว่าสัญญา สัญญาๆ สัญญามีพูดเพียง ๙ ครั้ง อันสุดท้ายเรียกอานาปานสติเฉยๆ แต่มันก็มีความหมายของสัญญานั่นแหละ คือรู้พร้อมว่าอานาปานสติตามหลักนั้นมันมีอะไรบ้าง มันมีความจริงเป็นอย่างไร มีสัญญาครบถ้วนในความจริงของอานาปานสติ มันก็เป็นสัญญาชนิดหนึ่ง แต่ท่านไม่เรียกมันว่าสัญญา ท่านเรียกว่าอานาปานสติ เอ้า,เอาไหม นี่ถ้าจะพูดอานาปานสติ ต้องกินเวลาอีก ๒ ชั่วโมง หรือจะเลิก ถ้าเอาก็ได้ อาตมายังไหว ยิ่งได้พูดมากยิ่งอิ่มยิ่งไม่หิว ถ้าจะให้พูดเรื่องอานาปานสติเลิกอายุแล้วก็ต้องพูดกันอีก เกือบจะเท่ากันกับตอนใหญ่ๆ ที่พูดมาแล้ว อานาปานสติก็ต้องพูดถึงเรื่องของมันโดยสมบูรณ์ว่ามันคืออะไร มันมาจากอะไร มันเพื่อประโยชน์อะไร มันสำเร็จได้โดยวิธีใด ก็เอาหลักอริยสัจ ๔ นี้มาใช้กับเรื่องอานาปานสติ แล้วคำอธิบายนั้นก็จะสมบูรณ์ ขอบอกท่านทั้งหลายทั้งที่เป็นบรรพชิตและฆราวาสว่า ถ้าเราจะพูดเรื่องอะไรให้สมบูรณ์แล้ว จงพูดโดยหลักอริยสัจ ๔ ว่าสิ่งนั้นคืออะไร ว่าสิ่งนั้นมาจากอะไร สิ่งนั้นเพื่อประโยชน์อะไร และสิ่งนั้นสำเร็จได้โดยวิธีใด กวางสี่ตัวหัวเดียวนั่นแหละ เอาไปตั้งไว้ดูในที่สะดุดตาสิ มันจะได้เตือนสติว่า ถ้าจะทำอะไรให้ถูกต้องให้สมบูรณ์ ก็ให้มันครบ ๔ ความหมายนี้ คืออะไร จากอะไร เพื่ออะไร โดยวิธีใด วิธีไร