แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการบรรยายครั้งที่ ๔ นี้ ผมจะพูดโดยหัวข้อว่า “การฝึกสมาธิ” เนื่องจากปัญหาที่ว่ามีสติไม่มากพอ ไม่เร็วพอ ไม่เข็มแข็งพอ หรือไม่มีธรรมะอื่นๆพอ เราไม่สามารถที่จะสกัดกั้นการเกิดของกิเลส ให้ได้ชัดลงไปอีกก็ว่าไม่สามารถจะมีสติทันเวลาแห่งการสัมผัสและแห่งการรู้สึกต่อเวทนาในขณะอันจำกัด ที่สุดนั้นเราไม่มีสติพอ จึงต้องมีการทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้มันมีสติพอ ในการฝึกให้มีสติมากพอนี้ เราเรียกรวมๆกันไปเสียว่าฝึกสมาธิ ชื่อนี้มันใช้แทนกันอยู่นะในเมืองไทยนี้ เรียกว่า “ฝึกสมาธิ” ก็ได้ เรียกว่า “ฝึกสติ” ก็ได้ เพราะว่าถ้าฝึกสมาธิมันก็มีสติ ถ้าฝึกสมาธิตามแบบที่ถูกต้องและสมบูรณ์มันก็มีสมาธิ โดยส่วนใหญ่ที่เราประสงค์จะมีนี่ หลักธรรมะสำคัญที่ประสงค์จะนั้นมีคือ สติปัญญา สัมปชัญญะและสมาธิอย่างที่กล่าวมาแล้ว เป็นธรรมะคู่มือ คู่หู คู่ใจ เป็นธรรมะ ๔ เกลอมาใช้อย่างที่เรียกว่าสัมพันธ์กัน โดยการฝึกสมาธิมันก็มีทั้ง ๔ เกลอนี้ โดยการฝึกสติแบบอานาปานสติที่สมบรูณ์ที่สุดมันก็มีธรรมะ ๔ เกลอนี่ ทีนี้มันยังน่าหัวที่ว่าคำพูดเหล่านี้ คำพูดคำนี้มันเอาไปทำกันอย่างผิวๆตามธรรมเนียมตามประเพณี ไม่รัดกุมสมบรูณ์ก็ยังได้ คือฝึกสมาธิแบบง่ายๆ เป็นเล่นไปอย่างนั้นแหละ ไม่ได้ตั้งใจทำเต็มตามแบบที่มันเป็นเทคนิคครบถ้วนของมัน เช่น ตั้งใจจะระมัดระวังอะไรไม่ให้พลาด ไม่ให้เผลอ ไม่ให้พลั้ง มันก็เรียกว่าสมาธิ เรียกว่าสติได้เหมือนกัน หัดกำหนดคิดนึกอะไรให้แน่วแน่หน่อยก็เรียกว่า ฝึกสมาธิ แต่แล้วมันก็เป็นชั้นที่เรียกว่าเหมือนกับเด็กเล่น เหมือนกับเด็กเล่น แต่ถึงอย่างไรก็ดี มันก็ยังดีกว่าที่จะไม่มีหรือไม่ได้สนใจกันเสียเลย นี่เอาเป็นอย่างนี้
ที่นี้เราก็จะพูดกันถึงระบบของการฝึกที่เต็มรูปแบบ อย่างในที่นี้ก็จะใช้ระบบที่เรียกว่า “อานาปานสติ” มีหัวข้อที่ใช้สวดมนต์กันอยู่ มีหนังสือคู่มือที่พิมพ์ออกไปแพร่หลายแล้ว อานาปานสติภาวนา หนังสือคู่มือมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ นี่จะพูดกันถึงระบบนี้เพื่อจะแก้ปัญหา มีสติไม่เร็วพอนั้นเสียหายมากหรือสติมันน้อยไป มันก็สู้ไม่ได้ หรือว่าสติมันไม่เข้มแข็ง มันไม่หนักแน่น มันก็ไม่สำเร็จประโยชน์ มีสติไม่สามารถจะห้ามกันกระแสของกิเลส ของการเกิดกิเลส มันก็เกิด มันก็เกิดกิเลส มีทั้งนั้น
สำหรับระบบสมบรูณ์แบบที่เรียกว่า อานาปานสติ ถือเอาตามบาลีที่ตัดไว้เฉพาะสูตร สูตรนี้มีข้อความเท่านี้อย่างนี้ ส่วนที่มากมาย มากมาย คนจะรู้สึกว่ามันเฟ้อก็มีเรียกว่า “มหาสติปัฏฐาน” ผมไม่ได้เอามาหรอก รู้สึกว่ามันไม่อาจจะทำ มันมาก มันเฟ้อ มันวนไปวนมา เอาอย่างอานาปานสติรัดกุมนั้นมีอยู่ ๑๖ ขั้น และมีความหมายที่สำคัญที่สุดตรงคำพูดที่ว่า “อานาปานะ” อานาปานะ การหายใจเข้าออก อานาปานสติ คือ มีสติในธรรมะใดธรรมะหนึ่ง ทุกครั้งที่หายใจเข้าออก มันก็ตั้งต้นด้วยกำหนดที่ลมหายใจในฐานะเป็นธรรมะอันหนึ่ง ทุกครั้งหายใจเข้าออกก่อนแล้วจึงเลื่อนไปเป็นธรรมะนั้น ธรรมะนั้น ธรรมะนั้นสูงขึ้นไป มีธรรมะที่สำคัญที่ควรกำหนด กำหนดทุกครั้งที่หายใจเข้าออก ก็มีการกำหนดทุกครั้งที่หายใจเข้าออก มันก็เลยได้ชื่อว่าอย่างนั้น สติกำหนดธรรมะอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ทุกครั้งที่หายใจเข้าออก มันเน้นอยู่ที่ว่าต้องรู้สึกชัดเจนๆๆ ทุกครั้งที่หายใจเข้าออก มันแสดงอยู่ในตัวแล้วว่ามันหนักแน่น คือเอามาทำไว้ทุกครั้งที่หายใจเข้าออก หนักแน่น มันมากพอ ในที่สุดแต่ว่าเราจะจำอะไรเอามาท่องว่าอยู่ทุกหายใจเข้าออก มันก็จำแม่น
จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำๆนี้อีกสักหน่อยว่า การฝึกการกำหนดด้วยลมหายใจนี้ มันรู้จักทำกันมาแต่ดึกดำบรรพ์ก็ว่าได้ แต่ว่าในขั้นง่ายๆ ขั้นต้นๆ ขั้นต่ำๆ เหมือนคนป่ามันก็ยังรู้จัก รู้จักกลั้นลม รู้จักเป่าลม รู้จัก แล้วมันค่อยสูงขึ้นๆ แยบคายขึ้น สูงขึ้น จนกระทั่งพวกฤๅษีชีไพรทั้งหลายก็เอามาใช้เอามาปฏิบัติ มันก็สูงขึ้น แต่มันมีความหมายหรือมีอะไรมากขึ้น มันมีประโยชน์มากขึ้นๆ จนกล่าวได้ว่าในครั้งพุทธกาลในอินเดียกำลังแพร่หลายที่สุด ใช้กันมากที่สุด แพร่หลายที่สุด คล้ายๆกับว่าถ้าเป็นนักศึกษาหน่อยแล้วก็จะต้องฝึกอานาปานสติ แพร่หลายมากถึงขนาดนี้ เพราะฉะนั้นจึงมีเรื่องเล่าว่า พระสิทธัตถะกุมารมีอานาปานสติสูงสุดตั้งแต่เมื่ออายุ ๗ ขวบในงานแรกนาขวัญ เรื่องพุทธประวัติเข้าใจว่าเคยอ่านกันมาแล้ว คงไม่ถือว่าเป็นเรื่องพิเศษเฉพาะเจ้าชายสิทธัตถะ สำหรับทุกคน สำหรับทุกลัทธิด้วย ทุกลัทธิ ไม่ใช่เฉพาะพุทธศาสนา ลัทธิผู้ที่เป็นคู่แข่งขันอื่นๆนั้น ของพุทธศาสนาก็ใช้ ที่เขาเรียกรวมๆกันเป็นกลางๆ เป็นกลางๆ ลัทธิไหนก็ใช้ เรียกว่า “ปราณายามะ” ปราณ ปราณายามะ แปลว่า บังคับปราณคือลมหายใจ ต่างลัทธิต่างก็เอาไปปรับปรุงๆจนเป็นประโยชน์ตามที่เขาต้องการ อย่างนั้นมันจึงมีต่างกันไปตามแบบของเขาของเรา
ทีนี้เราก็จะพูดกันแบบของเราที่เรียกว่า อานาปานสติ มีสติสมบรูณ์ที่สุดตั้งแต่ต่ำที่สุดจนถึงหลุดพ้น จนถึงรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว จนในที่สุดก็มีสติสมบรูณ์จริงๆ ทั้งมากทั้งเร็ว ทั้งเข็มแข็ง ทั้งเพียงพอ สามารถที่จะป้องกันการเกิดแห่งกิเลสและก็มีการบรรลุมรรคผลกันได้ด้วยเหตุนั้น ป้องกันกิเลสหมายความถึงลดอนุสัย ละอนุสัยจนเป็นบรรลุมรรคผล ก็ด้วยอันนี้ด้วยการทำสติ นั่นแหละมันเป็นเรื่องสมบรูณ์ สมบรูณ์แบบเป็นเทคนิคสมบรูณ์แบบ เป็นระบบ ไม่ใช่นึกว่าจะทำเล่นๆ กำหนดเล่นๆ
แล้วทีนี้ก็จะพูดถึงตัวระบบที่เรียกว่า อานาปานสติ เข้าใจว่าจำได้กันทุกคน มีอยู่ ๔ หัวข้อ กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธัมมานุปัสสนา การตามเห็น ตามเห็นตามกำหนดกาย ซึ่งเวทนา ซึ่งจิต ซึ่งธรรมคือธรรมชาติ นี้เชื่อได้ว่าระบบอื่นเขาไม่ได้ทำอย่างนี้ ไม่ได้กำหนดเป็น ๔ อย่างนี้ ระบบในพุทธศาสนาพระพุทธเจ้าท่านระบุชัดลงมาเป็นเรื่อง ๔ อย่างอย่างนี้ พวกอื่นจะใช้อย่างอื่นกำหนด อย่างอื่นก็เอาไปเถอะ มีหลักจำนวนเท่าอย่างอื่น มีกฎเกณฑ์อย่างอื่น ที่พระพุทธเจ้าท่านกำหนดให้ศึกษาและปฏิบัติมี ๔
เรื่องกาย มีสติกำหนดเรื่องกายศึกษาเรื่องกายจนรู้จักกาย รู้จักอิทธิพลของลมหายใจที่มีต่อกาย ในชั้นแรกก็ทำให้รู้จักลมหายใจ กายลม กายลม คือมากำหนดตัวลมหายใจโดยตรงนั้น เมื่อหายใจยาวก็กำหนดการที่หายใจยาว เมื่อหายใจสั้นก็กำหนดที่การหายใจสั้น พร้อมกันไปกับความรู้สึกอันเกิดขึ้นเมื่อมีลมหายใจยาว มีความรู้สึกอย่างไร เมื่อมีลมหายใจสั้น มันรู้สึกอย่างไร รู้จักอิทธิพลของมันว่ามันมีอิทธิพลเหนือร่างกายคือกายเนื้อนี้อย่างไร จนในที่สุดก็มารู้ว่ามันมี ๒ กาย กายลมกับกายเนื้อ อานาปานสติขั้นที่ ๑รู้ลมหายใจยาว ขั้นที่ ๒ รู้ลมหายใจสั้น ขั้นที่ ๓ รู้จักกายทั้งปวง ขั้นที่ ๔ ทำกายสังขารให้ระงับ คุณจำหัวข้อนี้ให้แม่นเถอะ แล้วการปฏิบัติมันง่ายถ้าจำหัวข้อแม่นๆ รู้จักลมหายใจยาวโดยประการทั้งปวง รู้จักลมหายใจสั้นโดยประการทั้งปวง แล้วรู้สึกว่าลมหายใจนี้มันเนื่องกันอยู่กับร่างกายเนื้อ มันสัมพันธ์กันอยู่กับร่างกายเนื้อ มันเกิดเป็น ๒ กายขึ้นมาเป็นกายเนื้อกับกายลมแล้วมันสัมพันธ์กันอยู่ เรียกว่าถ้ากายลมหยาบกายเนื้อมันก็พลอยหยาบ ถ้ากายลมละเอียดกายเนื้อมันก็พลอยละเอียด ถ้ากายลมสงบระงับกายเนื้อมันก็พลอยสงบระงับ ก็ไปทดลองเอาเองสิ ทดลองเอง เมื่อลมหายใจมันละเอียดอ่อน ร่างกายก็พลอยละเอียดอ่อนไปด้วย ลมหายใจมันหยาบ มันกระด้าง ร่างกายมันก็มีอาการกำเริบหวั่นไหวไปด้วย แต่แล้วมันเนื่องกันสำหรับว่าจะใช้การบังคับทางลมหายใจแล้วไปมีผลแก่ร่างกาย พูดง่ายๆก็เราจะบังคับร่างกายเนื้อหนัง เนื้อหนังนี้ให้สงบระงับหรือว่าหวั่นไหวโดยตรงไม่ได้ บังคับกันไม่ได้ จะไปบังคับร่างกายเนื้อโดยตรงไม่ได้ แต่บังคับได้โดยทางบังคับกายลม ให้ลมหายใจหวั่นไหวหยาบ ร่างกายนี้ก็หวั่นไหวหยาบ ถ้าลมหายใจละเอียด ประณีตสงบ กายนี้ก็พลอยสงบ
เราทำการบังคับกายเนื้อโดยอาศัยกายลม มันมีความจริงของธรรมชาติอยู่อย่างนี้ ดังนั้น ไปศึกษาจนรู้ความจริงข้อนี้โดยไม่ต้องเชื่อใครทั้งนั้นก็จะสามารถบังคับกายนี้ให้ได้รับความสงบเย็นเมื่อไหร่ก็ได้ เมื่อเราต้องการเมื่อไหร่ก็ได้ บังคับลมหายใจให้สงบระงับ กายก็สงบระงับ ท่านพูดหมายความกว้างอย่างนี้ แต่ความจริงมันระงับ ระงับลงไปถึงเป็นสมาธิ เป็นสมาธิ อยากจะมีสมาธิ อยากจะสงบระงับ อยากจะพักผ่อนมีความสุขเมื่อไหร่ ก็ทำได้เมื่อนั้นแหละโดยการที่เจริญอานาปานสติ หมวดที่หนึ่งนี้คือ หมวดกาย หมวดกาย พอทำสำเร็จเราก็มีอำนาจเหนือกาย ทั้งกายลมและกายเนื้อ หมายความว่าเราบังคับมันได้ ให้มันละเอียด ให้มันสงบ ให้มันระงับตามที่ต้องการได้ ก็เป็นนายเหนือกาย เป็นนายเหนือกาย สามารถที่จะใช้กายนี้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด มากที่สุด และเป็นเรื่องที่มันเนื่องๆกับธรรมชาติอย่างอื่น แม้แต่เรื่องนิยายเรื่องเทพนิยาย พวกยักษ์พวกมารก็ยังรู้จักทำกายลมนี้ ลมปราณนี้มากขึ้น ไปรบรากัน ถูกตีบอบช้ำ ก็ทำ ปราณายามะ บังคับให้ลุกขึ้นมารบได้อีก เรื่องเทพนิยายมันมีอยู่อย่างนั้น ไปเอามาใช้กันกว้างขวาง ถ้าเลือดไหลออกมาในแผลถ้าทำสมาธิอานาปานสติได้ เลือดมันก็จะไหลน้อยลง จะช้าลง มันบังคับได้ถึงอย่างนี้ แล้วก็ไปฝึกกำหนดลมหายใจยาว กำหนดลมหายใจสั้น แล้วรู้สึกความที่ลมหายใจนี้ปรุงแต่งร่างกาย ทีนี้ขั้นที่ ๔ ก็ทำให้ลมหายใจระงับ กายสังขารคือลมหายใจระงับ แล้วกายนี้ก็ระงับ แล้วมันระงับถึงระบบจิตด้วยนะ แต่ยังไม่พูดถึง ไว้หมวดอื่นหมวดที่เกี่ยวกับจิต ตอนนี้ร่างกายสงบระงับจิตก็พลอยสงบ ระงับก็พลอยเป็นสุขสบาย
ที่นี้การที่ฝึกอยู่จนได้อย่างนี้ คือ ๔ ขั้นนี้ มันเกิดสติขึ้นมากมายในการฝึก แล้วมันทำให้สติอยู่ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า ทุกครั้งที่หายใจเข้าออก มันฝึกมีสติ มีสติ มีสติ มีสติ แล้วมันก็มีสมาธิอยู่ที่กำหนดลมหายใจ กำหนดที่ลมหายใจ มันก็มีความรู้คือปัญญาเกี่ยวกับเรื่องนั้น ทุกอย่างที่เกี่ยวกับเรื่องนั้น มันจึงมีสติ มีปัญญา มีสัมปชัญญะ มีสมาธิ มีวิริยะ มีขันติ มีครบ นี้เป็นหมวดกาย หมวดกาย
เอ้า, ขึ้นด้วยหมวดที่ ๒ หมวดเวทนา หมวดเวทนาจากความรู้สึก ความรู้สึกทางจิต แต่เราเรียกว่า “เวทนา” เมื่อมันได้อารมณ์สำหรับที่จะรู้สึก เสร็จแล้วมันทำเกิดความพอใจว่าทำอะไรสำเร็จหรืออะไรทำนองนี้ มันเกิดสิ่งที่เรียกว่า เวทนา ถ้าเวทนาหยาบก็ถึงกับสั่นระรัว ถ้ามันละเอียดก็สงบระงับ เวทนาที่มันหยาบถึงกับหวั่นไหวเราเรียกว่า “ปีติ” ปีติ ถ้ามันสงบระงับดีเราเรียกว่า “สุข” สุข คำว่า สุข ในที่นี้หมายถึงเวทนา หมายถึงเรื่องของความพอใจ พอใจอย่างละเอียดอย่างสงบ ความหมายเปลี่ยนนิดหน่อย สุข พอใจอย่างหยาบก็เรียกว่า ปีติ บางครั้งก็จะหวั่นไหวๆ ที่มันละเอียดๆ ก็เป็นความสุขสงบระงับ ฝึกกำหนดให้รู้จักสิ่งทั้ง ๒ นี้อย่างดี ทำปีติให้เกิดขึ้นแล้วก็กำหนดว่าเป็นอย่างไร ทำความสุขให้เกิดขึ้นว่าเป็นอย่างไร แล้วมันก็เอามาจากการปฏิบัติหมวดกายนี้แหละ หมวดกาย กายสังขาร สงบระงับได้แล้วมันก็มีความสำเร็จ มันก็พอใจในความสำเร็จอยู่มาใช้ ปีติในความสำเร็จค่อนข้างจะหวั่นไหวแล้วก็มาทำให้ระงับ เป็นความพอใจที่ระงับเรียกว่า ความสุข ดังนั้น สิ่งที่เรียกว่าเวทนาจึงมีอยู่ ๒ ชนิด คือ ปีติและสุข ความพอใจที่หยาบ เวทนาหยาบเรียกว่า ปีติ ความพอใจที่ละเอียดสงบเย็นนี้ก็เรียกว่า สุข ที่จริงเราจะใช้เพียงว่าเราจะทำปีติและสุขให้เกิดขึ้นให้สบายใจก็ได้ ไม่ปฏิบัติเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานอะไร เราจะตัดลัดเอาสั้นๆ ง่ายๆว่า จะอยู่ด้วยความรู้สึกที่เป็นปีติและเป็นสุขทุกวันๆๆนี้ก็ยังได้ เอาเปรียบอย่างนี้ก็ยังได้ แต่มันก็แค่นั้น มันหยุดๆอยู่แค่นั้น
นี้เราจะทำต่อไป จะศึกษาต่อไปว่า สิ่งที่เรียกว่าเวทนา เวทนานี้มันมีอิทธิพลอย่างไร มันทำหน้าที่อย่างไร ในที่สุดก็พบว่ามันเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าความคิดนึก คือจิต และจึงเรียกปีติและสุขนี้ว่า “จิตตสังขาร” คือ เครื่องปรุงแต่งจิต เราต้องกำหนดศึกษาให้ละเอียดว่าความรู้สึกอย่างนี้ปรุงแต่งความคิด ปรุงแต่งความคิดอย่างนั้นอย่างนี้อย่างโน้น ให้เกิดความคิดไปตามอำนาจของปีติและสุข ถ้ามองเห็นความจริงข้อนี้กำหนดอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ก็เรียกว่าเรารู้จักจิตตสังขาร จิตตสังขารคือเวทนาซึ่งเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต
ที่ขั้นสุดท้ายขั้นที่ ๔ ของหมวดนี้ ของหมวดเวทนานี่ ก็คือว่าทำให้อำนาจ กำลัง อิทธิพลของเวทนาระงับลง ระงับลง คือไม่ปรุงแต่งจิต หรือว่าปรุงแต่งไปแต่ในทางที่พึงประสงค์ ไม่ปรุงแต่งไปในทางที่ยุ่งยากลำบาก วิเศษนะ คุณดูสิ ไม่ให้มันคิดก็ได้ ให้มันคิดไปแต่ในทางที่มันควรจะคิดก็ได้ ดีหรือไม่ดีจะเป็นวิเศษเป็นเรื่องวิเศษ พูดให้สั้นที่สุดก็ควบคุมเวทนาได้คือ ควบคุมจิตได้ เพราะเวทนานี้เป็นเครื่องปรุงแต่งจิตให้เกิดขึ้น ถ้าควบคุมเวทนาได้ก็ควบคุมการเกิดของจิตได้ แล้วการปรุงแต่งให้จิตมันเป็นไปในรูปไหนก็ได้ นี่หมวดนี้เป็นหมวดที่ ๒ เรียกว่าเวทนา ทบทวนอีกทีเพื่อจะจำได้ง่ายๆว่า รู้จักเวทนาหยาบคือปีติ รู้จักเวทนาละเอียดคือสุข ๒ อย่างนี้ปรุงแต่งให้เกิดจิตคือความคิด และเราก็ควบคุมมันให้มันลดอิทธิพล ไม่ให้คิดก็ได้ ให้คิดแต่ในที่พึงประสงค์ก็ได้ เรียกสั้นว่าบัดนี้ เรียกสั้นๆบัดนี้เป็นนายเหนือเวทนา เป็นนายเหนือเวทนา
เรื่องเวทนานี้มันเป็นเรื่องทั้งหมดของชีวิตจิตใจ เพราะมันอยู่ด้วยความรู้สึกในเวทนาและมันหวังให้เวทนาที่เป็นที่พอใจ บรรดาสิ่งที่เราเสาะแสวงหามา ก็เพื่อให้มันเกิดสุขเวทนา หาเงินมากๆ มีอะไรมากๆ มีอะไรที่เรียกว่าที่หวังกันอยู่นั้นมันก็เป็นเรื่องเพื่อมีสุขเวทนานั้นเอง มันก็เป็นเรื่องโลกๆ ความสุขอย่างโลกๆก็ได้ เป็นเรื่องที่สูงไปในทางธรรมะเตรียมสำหรับไปนิพพานก็ได้ การควบคุมเวทนาได้เป็นนายเหนือเวทนา แต่เดี๋ยวนี้โดยมากเป็นอย่างไรลองคิดดู โดยมากเป็นอย่างไร โดยมากมันจะไม่เป็นอย่างนั้น โดยมาก โดยมันพ่ายแพ้ พ่ายแพ้แก่เวทนาหลงใหลในสุขเวทนา จนกระทั่งไปในชั้นระดับต่ำที่สุดเป็นกามารมณ์เป็นอะไรไปเสียนี่
ที่นี้ก็มาถึงหมวดที่ ๓ จิตตานุปัสสนา เอาตัวสิ่งที่เรียกว่า จิต นั้นมาเป็นบทเรียน มาเป็นอารมณ์สำหรับเรียน สำหรับศึกษา สำหรับพิสูจน์ สำหรับทดลอง ขั้นที่ ๑ โดยแต่ละหมวดมี ๔ ขั้น ๔ ขั้นทั้งนั้น รู้แล้วนะ คราวนี้ไม่ต้องบอก
ขั้นที่ ๑ มันก็กำหนด รู้จักจิต จากสิ่งที่เรียกว่าจิต ว่ามันมีกี่ชนิด มันมีกี่ชนิด เท่าที่เราจะรู้สึกได้ก็พอ เท่าที่เราจะรู้สึกได้โดยเราไม่ต้องไปถามใคร ว่าจิตกำลังมีราคะเป็นอย่างไร จิตว่างจากราคะเป็นอย่างไร จิตมีโทสะเป็นอย่างไร ไม่มีโทสะเป็นอย่างไร มีตัวโมหะเป็นอย่างไร ไม่มีโมหะเป็นอย่างไร จิตฟุ้งซ่านเป็นอย่างไร จิตสงบระงับเป็นอย่างไร จิตตั้งมั่นเป็นอย่างไร ไม่ตั้งมั่นเป็นอย่างไร จิตถึงขั้นประเสริฐขั้นเลิศนั้นเป็นอย่างไร ข้อนี้ต้องคำนวณนอกจากความรู้สึกชั้นเลวชั้นต่ำ ถ้าตรงกันข้ามกับเรื่องเลวเรื่องต่ำมันก็จะเป็นวิเศษอย่างไร เรากำลังมีอย่างไหน กำลังมีอย่างเลวหรือกำลังมีอย่างตรงกันข้ามคือวิเศษ เท่าที่จะคิดนึกคำนวณได้ก็พอที่จะรู้เรื่องจิตทั้งปวงได้ว่าจิตนี้เป็นอย่างไร เป็นอะไรได้กี่อย่าง แล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งของเราโดยมากเป็นเรื่องอะไร โดยมาเป็นเรื่องอะไร ราคะ หรือโทสะ หรือโมหะ หรือฟุ้งซ่าน หรือตั้งมั่น เมื่อทำความเข้าใจในเรื่องจิต รู้จักจิตให้คุ้นเคยกัน เรียกว่าไปทำความคุ้นเคยกับสิ่งที่เรียกว่าจิต
ที่บทเรียนขั้นที่ ๒ ของหมวดนี้ก็คือว่า ทำให้มันปราโมทย์ คือ บันเทิง บันเทิงรื่นเริงโดยวิธีคิด โดยวิธีนึกให้ได้อุบาย แล้วแต่ทำให้จิตปราโมทย์ปีติรื่นเริงบันเทิง หรือว่าถ้ามันไม่มีอย่างอื่นก็ปีติ ปีติในหมวดเวทนามา มันก็เป็นเรื่องบันเทิงปราโมทย์และบันเทิง และมันเกิดขึ้นด้วยการที่เราบังคับ จัดและบังคับให้มันเกิดขึ้นมา
ขั้นที่ ๓ ก็ว่าให้มันตั้งมั่น ถ้าบันเทิงมันก็เป็นเรื่องปรุง ค่อนข้างจะฟุ้ง ที่นี้ให้มันหยุด ให้มันสงบ ให้มันตั้งมั่นเรียกว่า ให้เป็นสมาหิตะ ให้เป็นสมาหิตะ ให้ตั้งมั่นคือเป็นสมาธิ คำว่า “สมาธิ” ก็แปลว่าตั้งมั่น ที่เราตั้งมั่นเป็นสมาธินี่มันมีความหมายเฉพาะ ไม่ใช่ว่าสมาธิแล้วก็หลับไปเลยหรือนิ่งเงียบเป็นท่อนไม้ไปเลยคนทั่วไปมักจะเข้าใจอย่างนั้น ถ้าเป็นสมาธิก็เงียบไปเลย แข็งทื่อเป็นท่อนไม้ไปเลย เข้าใจอย่างนั้น แล้วบางทีก็ต้องการอย่างนั้นเสียด้วย ที่จริงสมาธิไม่ใช่อย่างนั้นเลย ตรงกันข้ามไม่ใช่หลับ ไม่ใช่แข็งทื่อไปเลย ตั้งมั่นโดยวิธีนี้ วิธีของอาณาปานสตินี้ มันสะอาด แล้วก็ตั้งมั่นและรวมกำลัง แล้วมันก็ว่องไวๆในการทำหน้าที่ จิตนั้นกำลังสะอาด คือไม่มีนิวรณ์ ไม่มีกิเลสนี่อย่างหนึ่ง คือมันรวบรวมกำลังทั้งหมดให้เป็นจุดเดียว กำลังจิตทั้งหมดถูกรวมมาเป็นจุดเดียวแล้ว มันก็เข็มแข็ง แล้วทางวัตถุแก้วรวมแสง รวมแสงสว่างให้มาเป็นจุดเดียวจนไฟลุกขึ้นมาได้ เดี๋ยวนี้ในทางจิตใจก็รวมกำลังจิตกระแสจิตทั้งหมดเข้าเป็นจุดเดียว เรียกว่าเป็นตั้งมั่น ตั้งมั่น ที่ยังมีอีกอันหนึ่งก็คือว่าเมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ถ้าถูกตามวิธีนี้แล้วนะ ไม่ใช่แข็งทื่อหลับไปเลยนะ ไม่ใช่ กลับตื่น ตื่นอย่างดี มีสติอย่างดี เรียกว่า “กัมมนียะ” ว่องไวในหน้าที่ของจิต จิตจะต้องทำอย่างไรบ้างก็ว่องไวในหน้าที่ของจิตอย่างนี้เขาเรียกว่า กัมมนียะ กัมมนียะ คำนี้เป็นคำที่มีความหมายกว้าง ใช้กับอะไรก็ได้ ถ้ามันพร้อมที่จะทำหน้าที่เรียกว่า กัมมนียะ ทั้งนั้น ไม่ว่าจะหน้าที่เรื่องอะไร แต่เดี๋ยวนี้เรื่องสมาธิก็พร้อมจะเป็นสมาธิเพื่อที่จะเป็นรากฐานของวิปัสสนา พร้อมจะทำหน้าที่เห็นแจ้งโดยวิปัสสนา จำไว้ ๓ คำง่ายๆว่า ปริสุท ปริสุทโธ และก็ตั้งมั่น ตั้งมั่น สมาหิโต และก็ไวในหน้าที่ จิตนี้ไวในหน้าที่จะคิดจะนึกจะทำหน้าที่ กัมมนีโย ถ้ามันมาครบทั้ง ๓ อย่างนี้แล้วนั่นก็คือ สมาธิที่สูงสุดที่พึงปรารถนาในการทำอานาปานสติ เรียกว่า จิตตั้งมั่น จะเอาไปใช้หาความสุขก็ได้ จะเอาไปใช้ทำวิปัสสนาต่อไปก็ได้ เรียกว่าเราก็เป็นนายเหนือจิต จะใช้จิตทำอะไรได้ตามที่ต้องการ ทำจิตให้ตั้งมั่นทำจิตให้พร้อมในหน้าที่ แล้วทีนี้ก็ไปขั้นที่ ๓ เป็นสมาธิก็คืออย่างนี้นะ
ขั้นที่ ๑ รู้จักจิตโดยประการทั้งปวง ขั้นที่ ๒ ทำให้บันเทิง ขั้นที่ ๓ ทำให้ตั้งมั่น ทีนี้ขั้นที่ ๔ ของหมวดนี้ก็คือว่า ทำให้มีการปล่อย ให้จิตปล่อยจากสิ่งที่มันยึดมั่นถือมั่น หรือว่าทำให้สิ่งที่มันยึดมั่นถือมั่นหลุดไปจากจิตก็ได้ คำว่า (นาทีที่ 40:34) “วิโมจายะ” นี้แปลว่า ปล่อย ให้มันหลุดจากกัน ให้ปล่อยสิ่งที่มันกำลังยึดมั่นว่าตัวตนของตน จิตปล่อยจากสิ่งนั้นจากอารมณ์นั้น อันนี้ค่อนข้างยากแหละ ค่อนข้างยาก แต่ก็มีประโยชน์มาก เขียนให้ชัดๆให้ง่ายๆให้ทบทวนความจำได้ง่ายๆ ขั้นที่ ๑ รู้จักกำพืชของจิตทุกชนิด ขั้นที่ ๒บังคับให้มันปราโมทย์บันเทิง ขั้นที่ ๓ ทำให้มันตั้งมั่น ขั้นที่ ๔ ทำให้มันปล่อยบังคับให้มันปล่อย พอเสร็จทั้ง๔ ขั้นนี้ เราก็มีอำนาจเหนือจิต มีอำนาจเหนือจิต จะไปใช้ จะเอาไปใช้ทำอะไรต่อไป ในการต่อสู้กับอารมณ์ละกิเลสก็ได้ตามประสงค์
เอา, ยังไม่พอ ขออีกหมวดหนึ่ง คือหมวดที่ ๔ ที่เรียกว่า “ธัมมานุปัสสนา” นี้ก็หมายความว่า เอาธรรมชาติทั้งปวงที่มันแวดล้อมเราอยู่ ที่มันหลอกให้เราหลงโง่ ไปหลงรักโดยอุปาทาน โดยอุปาทานว่าตัวตนว่าของตน คำว่า “ธัม” “ธรรม” ในที่นี้ก็หมายถึงทุกสิ่งที่มันแวดล้อมเราอยู่ อะไรก็ตามที่มันแวดล้อมเราอยู่โดยธรรมชาติ แล้วมันทำให้เกิดยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา ก็สิ่งนั้นแหละ สิ่งนั้นแหละ มาศึกษา ที่สรุปโดยสั้นๆ ทุกสิ่งมีความไม่เที่ยง มีความไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลง ก็เอาเรื่องความไม่เที่ยงมาเป็นขั้นที่ ๑ ให้เห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง คือมันไม่เที่ยง เห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง สิ่งที่เห็นได้ง่ายมันก็มีการเปลี่ยนแปลงทางวัตถุ ที่เปลี่ยนแปลงทางจิตนี่ก็เข้าใจได้ยาก เห็นได้ยาก จึงนิยมว่าอะไรที่มาปรากฏแก่จิต ก็ดูเห็นมีความไม่เที่ยง มีความไม่เที่ยง ย้อนไปดูทางหลัง ทางต้นใหม่หมดอีกทีก็ได้ว่า ลมหายใจก็ไม่เที่ยง ลมหายใจยาวก็ไม่เที่ยง ลมหายใจสั้นก็ไม่เที่ยง กายลมก็ไม่เที่ยง กายเนื้อก็ไม่เที่ยง ความสงบระงับแห่งกายลมกายเนื้อก็ไม่เที่ยง เวทนาจิตเวทนานี้ที่เป็นปีติก็ไม่เที่ยง ที่เป็นสุขก็ไม่เที่ยง ที่เป็นจิตตสังขารปรุงแต่งจิตก็ไม่เที่ยง หรือว่าบังคับได้แล้วมันก็ยังไม่เที่ยง ที่นี้ จิตทุกชนิดที่ปรากฏแก่ความรู้สึกก็ไม่เที่ยง จิตบันเทิงก็ไม่เที่ยง จิตตั้งมั่นก็ไม่เที่ยง จิตควรแก่การงานนี้มันก็ไม่เที่ยง ดูของจริงในภายในอย่างนี้มีประโยชน์ ถ้าไปดูของนอกๆ มันง่ายเกินไป ดูก้อนอิฐก้อนหิน ดูสิ่งต่างๆนั้น มันยังไม่มีเรื่องกัน มันไม่มีเรื่องที่ตรงกับที่เราต้องการ ถ้าจะดูความไม่เที่ยงของสิ่งที่เราไปยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเราว่าเป็นของเรา ฉะนั้น แต่ละคนๆก็มีเรื่องที่ตัวยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตนเป็นของตนอยู่อย่างรุนแรง เช่น ถ้าเป็นฆราวาส ก็หลงรักทรัพย์สมบัติสิ่งของ อำนาจวาสนา บุตร ภรรยา อะไรสารพัดอย่าง ที่ยึดมั่นก็ไปดูความไม่เที่ยงของสิ่งเหล่านั้น เงินทอง ข้าวของ วัว ควาย ไร่ นา อำนาจวาสนา ภรรยา สามี ลูกหลาน เห็นความไม่เที่ยง เราจะลดความยึดมั่นถือมั่น อะไรผ่านเข้ามาเห็นความไม่เที่ยง อะไรผ่านเข้ามาเห็นความไม่เที่ยง
ขั้นที่ ๑ นั่งดูกันแต่ความไม่เที่ยง พอเห็นความไม่เที่ยงแล้วมันก็เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่ความยึดมั่นถือมั่น ขอพูดเรื่องความไม่เที่ยงโดยเฉพาะสักหน่อยว่า เรื่องความไม่เที่ยงนี่มันเห็นไกลออกไปได้หลายขั้นตอน เห็นความไม่เที่ยงที่จะเห็นความเป็นทุกข์ว่า อยู่กับสิ่งไม่เที่ยงนี่เป็นทุกข์ และบังคับมันไม่ได้นี่เป็นอนัตตามัน มันเป็นเช่นนี้เองตามธรรมชาติ เรียกว่า “ธัมมัฎฐิตตตา” คราวที่มันต้องเป็นไปตามกฎของธรรมชาติเรียกว่า “ธัมมนิยามตา” แล้วมันก็กำลัง ความไม่เที่ยงมันเป็นไปตามกฎธรรมชาติเรียกว่า “อิทัปปัจจยตา” ก็เห็น “สุญญตา” ไม่มีตัวตน เห็น “ตถาตา” มันเช่นนี้เอง แล้วก็เลยจิตนี้เป็นจิตหลุดพ้น มีอะไรปรุงแต่งไม่ได้ แต่ว่าเรื่องนี้มันก็ละเอียดมันยาวเกินไปก็ยังไม่ต้องการให้สนใจ สนใจเพียงว่าไม่เที่ยง ไม่เที่ยง ไม่เที่ยง ไม่มีอะไรที่บังคับให้เที่ยงได้ สิ่งที่เรายึดมั่นถือมั่น หลงรักมันไม่เที่ยง เอามาดูความไม่เที่ยง ไม่เที่ยงเรื่อยไป แล้วมันก็จะเกิดจางคลายความยึดมั่นถือมั่น ความยึดมั่นถือมั่นที่ยึดอยู่ในสิ่งที่มันไม่เที่ยง มันจะจาง จางคลายออกเรียกว่า เห็นวิราคะ
ขั้นที่ ๒ ของหมวดนี้เห็นวิราคะ คลายออก จางออกของความยึดมั่น ที่ปฏิบัติเห็นความจางเรื่อยไปๆให้มันจาง ทำให้มันจาง จางเรื่อยไป มันก็ต้องหมดแหละ ความยึดมั่นถือมั่นมันก็ต้องดับต้องหมด นี้เราเห็นนิโรธ นิโรธการดับของความยึดมั่นถือมั่น
เรามาขั้นสุดท้ายขั้นที่ ๔ หมดเรื่องแล้วโว้ย หมดเรื่องแล้วโว้ย หมดเรื่องของการประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรแล้ว คืนให้เจ้าของหมดสิ้นแล้ว คืนให้เจ้าของหมดสิ้น ก่อนนี้ไปโง่ ไปปล้น ไปเอาของธรรมชาติเป็นของธรรมชาติแท้ๆมาเป็นตัวตน มาเป็นของตน มาเป็นตัวกู มาเป็นของกู ยึดมั่นอย่างนี้อย่างนี้อยู่ เดี๋ยวนี้คืนๆๆ โยนคืนให้เจ้าของเดิม กิริยานี้เรียกว่า “ปฏินิสสัคคะ” โยนกลับ โยนคืน
ขั้นที่๑ เห็นความไม่เที่ยง พอขั้นที่ ๒ มันก็จางของอุปาทานที่ยึดมั่นถือมั่น ขั้นที่ ๓ ก็ดับอุปาทานยึดมั่นถือมั่น ขั้นที่ ๔ ก็สิ้นสุดเรื่องของพรหมจรรย์ ของการประพฤติพรหมจรรย์
การบรรลุมรรคผลนิพพานก็อยู่ในหมวดนี้แหละ เห็นความไม่เที่ยงจนเกิดมรรค วิราคะ จนดับอนุสัยกิเลสได้เป็นนิโรธะ แล้วก็หมดเรื่องเป็นจบพรหมจรรย์ แม้พูดแต่โดยใจความย่อๆกินเวลาเป็นชั่วโมง รายละเอียดมันก็ไม่ลำบาก ถ้าจำหัวข้อเหล่านี้ได้นะ ผมท้าว่ารายละเอียดไม่ยาก คือมันเห็นขยายความออกไปจากหัวข้อเหล่านี้ ในขั้นที่ ๔ นี้เราก็เป็นนายเหนือทุกสิ่งที่มันแวดล้อมเราอยู่ เหนือธรรมชาติทุกสิ่งที่มันแวดล้อมเราอยู่
เอ้า, ฟังให้ดีอีกทีนะ หมวดที่ ๑ คือ กายา ทำให้เราเป็นนายเหนือกายทุกชนิด หมวดที่ ๒ คือ เวทนาทำให้เราเป็นนายของเวทนา สุขเวทนาไม่หลอกลวงเราได้อีกต่อไป หมวดที่ ๓ คือ จิตตา นี่ก็เป็นนายเหนือจิต บังคับจิตได้เป็นนายเหนือจิต จิตจะเล่นตลกกับเราอีกไม่ได้ พอมาหมวดที่ ๔ เป็นนายเหนือสิ่งแวดล้อม ทุกๆสิ่งในโลกที่กำลังแวดล้อมเราอยู่ เพราะว่าการที่เราจะไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดที่มันมีอยู่ในโลก ที่แวดล้อมเราอยู่ ไปหลงยึดมันว่าตัวตนของตนด้วยอำนาจความโง่ เดี๋ยวนี้มันหยุดความโง่ มันหมดความโง่ มันก็ไม่ยึด แล้วกลับคืนไปหาเจ้าของเดิม
จะมาพิจารณากันสักหน่อยถึงคำว่า “เป็นนาย” เป็นนาย นี้มันไม่ใช่เล็กน้อย มันไม่ใช่เล็กน้อย เป็นนายเหนือกาย เป็นนายเหนือเวทนา เป็นนายเหนือจิต เป็นนายเหนือธรรมะที่ทุกสิ่งที่แวดล้อมเราอยู่ มันก็เหนือทั้งหมด เป็นเจ้าโลก เหนือโลกไปเลย นี่คำว่า “ทำสติ” หรือ “ทำสมาธิ” มันมีเทคนิคของมันต้องเรียกว่า เทคนิค เคล็ด หรืออุบาย ภาษาไทยเราเรียก เราใช้คำฝรั่งเรียกว่า เทคนิค ถ้าเรารู้จักใช้เทคนิค มันก็เป็นเทคโนโลยีขึ้นมา เดี๋ยวนี้เรารู้จักสิ่งเหล่านี้ดี เราสามารถที่จะจัดการกับมันให้สิ้นเรื่องสิ้นราวไป ก็เป็นเทคโนโลยีขึ้นมาเกี่ยวกับชีวิตโดยตรง ทำให้ชีวิตนี้เป็นอิสระเหนือปัญหาเหนือความทุกข์โดยประการทั้งปวง
นี้เรื่องมันจบอย่างนี้ ไม่เกิดกิเลส มีสติพอในขณะผัสสะไม่เกิดกิเลส ในขณะเวทนาก็ไม่สามารถจะเกิดกิเลส ต่อมาก็ไม่สามารถจะเกิดกิเลส ชีวิตนี้มันก็ไม่มีกิเลส มันก็ไม่มีไฟ แล้วมันก็เย็น เย็น เย็น เพราะมันไม่มีไฟ ที่มันเย็นอย่างดีนี่ มันยังมีประโยชน์ คือทำประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ ขอให้จำคำ ๒ คำที่ผมเสนอแก่คนทั่วไป แก่พวกฝรั่งก็ดี ให้แก่ท่านทั้งหลายนี้ก็ดี ยอดสุด สูงสุด ที่สุด มันก็คือการปฏิบัติธรรมะนี้ เพื่อจะพบกับชีวิตชนิดเย็นแหละเป็นประโยชน์ ชีวิตจะเย็น เย็นก็ไม่มีไฟ แล้วก็มีประโยชน์แก่ทุกฝ่าย คำว่า “เย็น”นั้น มันมีความหมายไปถึงว่า สงบ ระงับ ปกติ มีอิสรภาพ มีเสรีภาพ มันไม่ใช่เพียงแต่ว่า เย็น
สำหรับคำว่า เย็น ขอจำกัดความหน่อย มันไม่ใช่เย็นอย่างที่เรารู้จัก ที่มันคู่กับร้อน ที่มันคู่กับร้อนนั้นมันหนาว ร้อนก็ไม่ไหว หนาวก็ไม่ไหว ถ้าเย็นชนิดนี้ ในความหมายนี้ไม่ร้อนไม่หนาว แล้วก็ปกติ แล้วก็สบายที่สุด เป็นความหมายของพระนิพพาน ไม่บวกไม่ลบ ไม่มีปัญหา ชีวิตเย็น พรรณนาไม่ไหวแล้วว่ามันวิเศษอย่างไร ก่อนนี้มีแต่ชีวิตร้อนแล้วกัดเจ้าของ กัดเจ้าของเรื่อยไป เดี๋ยวนี้ไม่มีกัดเจ้าของ มีชีวิตเย็น เย็นน้อยๆ ก็เป็นมรรคผลน้อยๆ เย็นถึงที่สุดก็ถึงที่สุด เย็นโดยสมบรูณ์ก็เป็นนิพพาน นิพพาน เย็นตลอดกาลตามธรรมชาติของมันเป็นตัวสภาวะ อย่างหนึ่งคือเมื่อไม่มีกิเลส เมื่อไม่มีความร้อน มีสภาวะเป็นนิพพาน ถึงนั่นก็คือชีวิตเย็น ที่มันยังไม่ตาย มันยังไม่ตาย อย่าให้มันเย็นเปล่า ทำประโยชน์ทุกอย่างที่ควรจะทำ ที่ควรจะทำ ก็ทำประโยชน์ทุกอย่าง มันก็เลยเป็นชีวิตที่เป็นประโยชน์ เหมือนพระอรหันต์ทั้งหลายหมดกิเลสหมดเรื่องแล้ว ท่านก็สั่งสอน สั่งสอนสัตว์ โดยเฉพาะพระพุทธเจ้าท่านเย็นเป็นพระพุทธเจ้า ที่สุดแล้วท่านก็โปรดสัตว์ สอนสัตว์จนนาทีสุดท้ายของพระชนม์ชีพของพระองค์ ไม่ใช่ว่าเย็นแล้วจะทำอะไรไม่ได้ ไม่ใช่ว่าเย็นแล้วจะเห็นแก่ตัว ไม่ทำอะไร ไม่มี เย็น มีอำนาจเหนือกิเลส กิเลสดึงไว้ไม่ได้ ก็ไปทำประโยชน์ ทำประโยชน์ ทำประโยชน์ นี่พระพุทธเจ้าจึงเสด็จดำเนินไปทำประโยชน์จนทั่วประเทศชมพูทวีป พระศาสดาเท้าเปล่า ไม่มีร่ม ไม่มีรองเท้า ไม่นั่งเกวียน ไม่นั่งรถม้า แล้วก็ไม่มีรถยนต์ ก็เดิน พระศาสดาเท้าเปล่า
เอาละ จบเรื่องทำสติหรือทำสมาธิ โดยใจความมันมีอยู่อย่างนี้ โดยรายละเอียดพูดกันอีกกี่ชั่วโมง คุณจับเอาใจความนี้ให้ได้ แล้วก็ไปพยายามทบทวนทำดูเถิดมันจะสอนให้เอง สิ่งที่สอนดีที่สุดคือ การกระทำ บุคคลสอนไม่ดีเท่ากับการกระทำ ลงมือกระทำเถิด การกระทำนั้นจะสอนๆ ดีกว่าคนสอน ดีว่าหนังสือสอน ยิ่งทำยิ่งชำนาญ ยิ่งทำยิ่งฉลาด ยิ่งทำยิ่งชำนาญ มันสอนอยู่ในตัว แม้เรื่องทางวัตถุทางภายนอกเรื่อง งานฝีมือนี้ก็เหมือนกัน ลงมือทำเถิดมันสอนอยู่ในตัว จะเล่นกีฬานี้ก็ลงมือทำลองเล่นเถิด มันจะสอนอยู่ในตัวเดี๋ยวนี้ก็เหมือนกัน ลงมือทำสมาธิหรือสติภาวนานี้ มันก็สอนในตัวมันเองว่าดี ถูกต้องขึ้น ถูกต้องขึ้น ถ้าผิดมันก็พิสูจน์ ไม่มีประโยชน์ล้มเหลว มันก็แก้ไขใหม่ มันก็ถูกๆ แล้วเป็นอันว่าหัวใจของการทำสติหรือสมาธิมีอยู่อย่างนี้ จำไว้เป็นหลักสำหรับชีวิต สำหรับชีวิต หมายความว่าแม้จะลาสิกขาไปอยู่ที่บ้านแล้วก็ทำได้ ไม่ต้องอวดใคร ไม่ต้องให้ใครเห็น ก็ฝึกให้มันมีสติ สมาธิ ปัญญาให้ได้มากขึ้นๆ ทำได้ตลอดชีวิตเพราะว่าเรามีชีวิตอยู่เพียงใด เราก็ต้องเผชิญหน้ากับอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีธรรมะไม่เพียงพอมันก็พ่ายแพ้ พ่ายแพ้ก็คือความเป็นทุกข์ มีเครื่องมือสำหรับจะต่อต้านไม่ให้เป็นทุกข์ ไม่ให้พ่ายแพ้
การบรรยายสำหรับวันนี้ ก็พอกันทีแล้วก็ขอปิดประชุม