แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อานาปานสติ แปลว่า สติกำหนดลมหายใจออก-เข้า หรือ เข้า-ออก แล้วแต่จะถนัด คำอธิบายในอรรถกถามี ทั้ง ๒ อย่าง พวกหนึ่งแปลว่าออก-เข้า พวกหนึ่งแปลว่าเข้า-ออก ชอบใจจะใช้คำไหนก็ใช้คำนั้น
โยมผู้ฟังมีคำถาม................
ว่าไงนะ ฟังไม่ถูก ทำไม จะถามใคร นี่จะถามใคร ดูเอาเองสิ เดี๋ยวก็จะพูดอยู่แล้วเรื่องนี้
โยมผู้ฟังมีคำถาม................
เอ้า, เขาว่าฟังได้ พูดไปเรื่อยๆ ให้มันจบเสียที สติๆ แปลว่าเครื่องกำหนด
โยมผู้ฟังมีคำถาม................ (เทปอัดเสียงหมด)
เอ้า,เปลี่ยนสิ
โยมผู้ฟังพูด................
ใส่ม้วนใหม่ให้ยาวๆ ให้หมดตามที่เห็นว่าจะควรพูด/
เสร็จหรือยังล่ะ/
...หนสองหน เอาไว้พูดตอนบ่ายมันต้องลงโรงอีกหน เป็นลงโรงสองหนมันยุ่ง นี่พูดคราวเดียวเสียเลย//
เอ้า,เรามาพูดกันถึงเรื่องชื่อของมันเสียก่อน ชื่อของมัน ชื่อของมันว่าอานาปานสติ อานะ, อาปานะ อานะ และก็อาปานะ และก็สติ สติกำหนดลมหายใจเข้า-ออก นี่เชื่อหมอหน่อย หมอเขาพูดว่าเด็กๆ ทารกอยู่ในท้องแม่น่ะ ในปอดไม่มีลมนะ พอมันออกมา มันต้องหายใจครั้งแรก ก็ต้องเป็นการหายใจเข้า แล้วมันจึงหายใจออก ฉะนั้นจึงใช้คำว่าเข้า-ออก การหายใจมีเข้า-ออก เข้า-ออก เข้า-ออก มันตั้งต้นด้วยการหายใจเข้า สติกำหนดลมหายใจเข้า-ออก ทีนี้สติคืออะไร สติคือการกำหนดของจิต, การกำหนดของจิตอย่างไว แต่เขาแปลกันว่าระลึกๆ ก็ได้เหมือนกันแหละ ตัวหนังสือมันแปลว่าความไวราวกับว่าลูกศร ความไวราวกับว่าลูกศร ความระลึกที่ระลึกไวราวกับลูกศร คนโบราณรู้จักความไวแต่เพียงความไวของลูกศร ไม่รู้เรื่องความไวของไฟฟ้าหรือความไวของแสงที่มันเร็วกว่าลูกศร ไม่เป็นไร เอาแต่ให้มันรู้ว่าไวก็แล้วกัน มันไวพอๆ กับสายฟ้าแลบ ลูกศรไว ระลึกได้ไวนั่นแหละคือสติ ถ้าระลึกช้าไม่เรียกว่าสติ เรียกว่าไม่มีสติ ที่กำหนดลมหายใจ จะระลึกกันอย่างไร เอากันไปตั้งแต่ว่าเลือกหาที่ที่เหมาะสม เหมาะสมพอสมควร ไม่ถูกรบกวนเกินไป แต่ถ้าหาไม่ได้ ก็เอาเลย ตรงไหนก็ได้ อาตมาถืออย่างนี้ ถ้าว่ากำหนดลมหายใจอยู่ แล้วมันสงัดไปหมดแหละ บนรถไฟก็ทำได้ ไม่เชื่อไปลองดูสิ ถ้าเอาจริงกันน่ะ กำหนดลมหายใจบนรถไฟ นั่งรถไฟอยู่บนรถไฟ,กึ้งกั้งกึ้งกั้งก็ทำได้ อยู่ในโรงละครก็ทำได้ อยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมเครื่องจักรดังสนั่นหวั่นไหวก็ทำได้ แต่ว่ามันยากหน่อยเท่านั้นเอง มันยากหน่อยเท่านั้นเอง ถ้าว่าในที่สงบสงัดตามสมควรนั่นมันง่าย มันง่าย มันง่ายมากหรือง่ายหน่อย แต่ถ้ามัวเลือกก็หาไม่พบ มันก็ไม่ได้ทำนะ หรือถ้าสงัดเกินไป มันก็เป็นกลัวอันตรายเสียอีก จิตฟุ้งซ่านเพราะกลัวอันตรายเสียอีก จะไปทำในป่าช้ามันก็กลัวผีสักพักหนึ่งก่อน ทำไม่ได้หรอก ฉะนั้นที่ตามสะดวกสบายดีกว่า หาได้ตามพอสบายสะดวก ที่ตรงนี้สงบสงัดพอเราจะทำอานาปานสติ
ทีนี้ก็เลือกอิริยาบถที่เหมาะสมคือการนั่ง เมื่อเดิน เมื่อยืน เมื่อนอน มันทำยากๆ ทำลำบากกว่า และก็ทำไม่ได้กี่มากน้อย ในอิริยาบถนั่งมันทำได้มาก ทำได้ถึงที่สุด จึงต้องนั่งในลักษณะที่มั่นคง สมาธิ,นั่งขัดสมาธิ นั่งอย่างมั่นคง สมาธิอย่างธรรมดาก็เพียงเอาขามาทับๆ ตามสะดวก ถ้าให้ยิ่งขึ้นไปมันก็เป็นอย่างเขาเรียกว่าขัดสมาธิเพชร เอาเท้าขวามาทับเท้าซ้ายแล้วงัดเอาปลายเท้าซ้ายมาอยู่บนเข่าของเท้าขวา ผู้เป็นนักสมาธิ เป็นนักเลงของสมาธิก็ทำได้ ทำได้ทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าไม่เป็นนักเลงไม่เคยทำมาแต่ก่อนมันก็ทำยาก พวกฝรั่งทำไม่ได้เพราะมันไม่เคยนั่งมาตั้งแต่เล็กๆ ตั้งแต่อ้อนแต่ออก เด็กไทยเราดีนะ นั่งสมาธิเป็นตั้งแต่เล็กๆ พวกฝรั่งมันดีแต่นั่งเก้าอี้ มันเลยนั่งขัดสมาธิไม่เป็น พอจับมานั่งขัดสมาธิ ขามันแข็ง มันนั่งไม่ได้ มันคู้เข้ามาไม่ได้ อาตมาไปเห็นฝรั่งนั่งร้องไห้กันเป็นแถวที่เมืองพม่า เพราะไปฝึกสมาธิที่สำนักพม่า แล้วมันนั่งสมาธิไม่ได้ถึงกับร้องไห้เสียใจ มันนั่งขัดสมาธิไม่ได้ มันต้องหัดอยู่หลายวัน หัดอยู่หลายวัน จนกว่ามันจะค่อยๆ นั่งได้ เด็กไทยของเราได้เปรียบนั่งขัดสมาธิเป็นตั้งแต่ตัวเล็กๆ นี้เรียกว่าท่านั่งที่มั่นคงก็คือนั่งสมาธิ
ทีนี้เอาคำว่าสมาธินี่ มากลายเป็นสมาส นั่งขัดสมาส ที่จริงมันเอามาจากคำว่าสมาธิ นั่งสมาธิมากลายเป็นนั่งขัดสมาสก่อน ทีนี้ศัพท์ภาษาพม่า ตัว ส.เสือ เขาออกเสียงเป็น ต.เต่า ฉะนั้นคำว่าสมาส มันจึงกลายเป็นตมาส ถ้าใครพูดว่านั่งขัดตมาส นั่นก็เลียนเสียงพม่า ส.เสือ เป็น ต.เต่า เมืองไทยก็มีพูดนะขัดตมาสๆ ถ้าพูดให้ถูก ก็ต้องเป็นขัดสมาส ขัดสมาธิแล้วเป็นสมาสแล้วมากลายเป็นตมาส ทีนี้ตมาสเพชรก็อย่างที่ว่า ขาขัดกันจนล้มไม่ได้แหละ เอาเท้าขวามาทับเท้าซ้าย เอาเท้าซ้ายมางัดไว้บนเข่าขวานี่ อย่างนี้ขัดตมาสเพชร ถ้าทับกันทีเดียวเรียกว่าตมาสบัว ตมาสปทุม,บัว ขัดตมาสเพชรนั่นแหละดี แต่คงจะลำบากหน่อย คงจะลำบากหน่อย ต้องหัดกันหลายวันกว่าจะหัดนั่งได้ มันดีที่ตรงไหน มันดีตรงที่ว่ามันแข็ง มันเข้มแข็ง มันมั่นคง มันล้มไม่ได้ พอนั่งเป็นขัดตมาสเพชรแล้วมันล้มยาก ล้มไปทางไหนก็ล้มยาก ล้มไม่ได้ นั่นมันดี เพื่อว่าพอจิตเป็นสมาธิแล้วมันไม่ล้ม ถ้านั่งเฉยๆ นั่งบนเก้าอี้เฉยๆ นี่ พอจิตเป็นสมาธิมันจะล้มคว่ำลงมา ฉะนั้นจะนั่งทำสมาธิบนเก้าอี้มันทำไม่ได้หรอก ห้อยขาอย่างนี้มันทำไม่ได้ พอจิตเป็นสมาธิมันก็ล้มคว่ำลงไป เพราะฉะนั้นเราก็นั่งขัดตมาสแบบนี้ มันล้มไม่ได้ มันเหมือนปิรามิด ปิรามิดมันล้มได้ที่ไหนล่ะ นี่นั่งขัดตมาสให้มีลักษณะเหมือนปิรามิด มันล้มไม่ได้ นี่ท่าที่ถูกต้อง ไปหัดนั่ง หัดนั่งขัดสมาธิ และก็ว่าสมาธิเพชรน่ะยิ่งดี ธรรมเนียมมาแต่ไหนก็ไม่รู้นะเรื่องนี้น่ะ เขาว่าผู้หญิงไม่ควรนั่ง ไม่สอนให้ผู้หญิงนั่งขัดตมาส ให้นั่งทับขาเฉยๆ อย่างนี้ ก็มีสอนกัน แต่ที่อินเดียมันนั่งกันทั้งผู้หญิงผู้ชาย นั่งขัดตมาสเพชรได้กันทั้งหญิงทั้งชาย ในเมืองไทยมีแนะว่าผู้หญิงนั่งทับอย่างนี้ นั่นแหละยิ่งล้มง่ายกลิ้งไม่ทันรู้ พอจิตเป็นสมาธิ กลิ้งไม่ทันรู้ ฉะนั้นหลักหัดนั่งสมาธิให้มันได้ โดยวิธีขัดตมาส แล้วก็ขัดตมาสเพชรดีกว่าขัดตมาสบัว และมีท่าแถมพกอีกเรื่อง ท่านั่งพัก เหมือนทหารเขามีท่าพัก ถ้าเราจะพักในสมาธิบ้าง ก็พวกคุณทำอย่างนี้สิ นี่ เอามือมาคลำเข้าที่นี่ แล้วเอาศอกกดลงบนฝ่าเท้า ทีนี้หลับก็ได้ หลับก็ได้ นี่มันพัก (หัวเราะ) ต้องนั่งขัดตมาสอย่างนี้ก่อนแล้วเอาศอกนี่กดลงบนเข่า บนฝ่าเท้า หลับก็ได้ ถ้ามันเหนื่อยนักแล้วก็นั่งพักๆ นี่ท่าพักมันเป็นอย่างนี้ นั่งพักสมาธิ มันจะหายเหนื่อยแล้วก็ทำต่อไป หรือจะถือโอกาสหลับก็ได้เหมือนกัน ก็หลับในท่านั้นแบบนี้ แต่ถ้าไม่เคยมันก็จะขัดข้องนิดหน่อย พอทำไปๆ มันก็ได้ เรามีสมาธินั่งสมาธิในลักษณะทำงาน และมีนั่งสมาธิในลักษณะพัก สมาธิในลักษณะพักจะลองกำหนดเป็นสมาธิจริงๆ บ้างก็ได้ ก็ทำได้เหมือนกันแหละ แต่มันไม่สู้สะดวก การหายใจมันไม่สู้สะดวก แต่ถ้าเพื่อพักแล้วดี
เอ้า,ทีนี้ก็กำหนดลมหายใจซึ่งเป็นของธรรมชาติ มันหายใจอยู่เองตามธรรมชาติ ไม่ต้องไปบังคับมัน มันก็หายใจของมันเอง ก็มีการเข้าการออกอยู่ตามธรรมดา คือมันจะเปลี่ยนเอาลมใหม่เข้าไปแทนลมเก่า ลมเข้าไปในปอดใช้เป็นทำหน้าที่เสร็จแล้วเป็นลมเสีย ก็หายใจออกมา นี่มันจึงต้องมีการหายใจเข้าแล้วก็ออก เข้าแล้วก็ออก หายใจเข้า เข้าไปใช้ทำประโยชน์ที่ปอดแล้วก็หายใจออกมาเป็นลมที่เสีย รู้ว่ามีการหายใจเข้ามีการหายใจออก เอ้า,ทีนี้ปัญหาที่คุณถามเมื่อตะกี้มันเป็นอย่างไร ก็อย่าไปถามใครเลย หายใจเข้าเป็นอย่างไร หายใจออกเป็นอย่างไร ถ้าหายใจเข้าตามธรรมดาอย่าไปบังคับโดยประการใด หายใจเข้าตามธรรมดามันพอง หายใจออกตามธรรมดามันยุบ นี้ถ้าหายใจตามธรรมดาไม่บีบไม่บังคับ และทีนี้บีบบังคับ หายใจเข้า เอ้า,หายใจเข้า เข้า เข้า แล้วบังคับอีกให้เข้าอีกๆ เข้าอีกๆ เข้าอีกๆ เข้าอีก นี่ตอนนี้จะยุบ ตอนนี้จะไปพอง ตอนล่างจะยุบ ตอนบนจะพอง, ตอนล่างจะยุบ ตอนบนจะพอง หายใจเข้าอย่างเกิน เกินปกติ ทีนี้หายใจออก ออก ออก ตอนล่างจะพอง ตอนบนจะยุบ เลยพูดไม่ได้ว่าพองหรือยุบกันแน่ มันอยู่ที่ว่าหายใจธรรมดาหรือหายใจพิเศษ ก็ตั้งต้นด้วยหายใจหยาบที่สุด ที่หยาบที่สุด ทดสอบหยาบที่สุด เข้าที่สุด ออกที่สุด เข้าจนข้างล่างแฟบ ข้างบนพอง จนข้างล่างแฟบ ข้างบนพอง แล้วก็ออก ออก ออก ออก ออก จนข้างล่างมัน, ลองทำดูเองสิ หายใจออกให้มาก มันจะแฟบข้างล่าง มันจะพองข้างบน กลับตรงกันข้าม ถ้าพูดง่ายๆ พูดชุ่ยๆ ว่า หายใจเข้าพอง หายใจออกยุบ นี่มันพูดชุ่ยๆ เมื่อหายใจตามธรรมดา ถ้าหายใจให้แรงให้หนักแล้วมันจะกลับตรงกันข้าม ความรู้สึกมันจะตรงกันข้าม หายใจเข้า มันก็ยุบส่วนล่างพองส่วนบน หายใจออก มันก็จะพองส่วนล่างยุบส่วนบน
เอ้า,ทีนี้หายใจให้ละเอียดเข้าสิ หายใจให้ละเอียดเข้าสิ ไม่ใช่ธรรมดาแล้ว ไม่พองไม่ยุบเลย หายใจได้ไหม หายใจชนิดที่มันไม่มีพองไม่มียุบ หายใจธรรมดา หายใจชนิดที่ไม่มีพองและไม่มียุบ นั่นแหละหายใจที่ดีที่สุด ทีนี้ชั้นเลิศ หายใจจนละเอียดๆ ละเอียดจนไม่รู้สึกว่าเข้าหรือออก นี่มันจะเป็นหรือว่าเป็นสมาธิแล้ว ถึงที่สุดแล้ว มันจะมีการหายใจชนิดละเอียดจนบอกไม่ได้ว่าเข้าหรือออก จนคิดว่าไม่หายใจเลย สมาธิถึงที่สุดของจตุตถฌาน เขาอธิบายว่าไม่หายใจ อาตมาไม่เชื่อ มันหายใจจนไม่รู้สึกว่าหายใจ มันหายใจอย่างละเอียด ละเอียดจนไม่รู้สึกว่าหายใจ ไม่มีกำหนดว่าเข้าหรือออก มันเลยว่าลมหายใจหยุด ใช้คำอย่างนี้มันไม่ได้หรอก ลมหายใจหยุดมันตายเท่านั้นแหละ คนมันตายเท่านั้นแหละ มันไม่ปรากฏที่จะแสดงว่าออกหรือเข้า คือมันละเอียดๆ หัดหายใจกันเดี๋ยวนี้ก็ได้ ไม่ต้องรอจนมีฌานมีสมาบัติ หายใจกันเดี๋ยวนี้ก็ได้ หัดหายใจหยาบที่สุด หายใจธรรมดาที่สุด แล้วหายใจอย่างสงบระงับพอควร ต้องหายใจอย่างละเอียดประณีตที่สุดจนไม่มีอาการพองหรือยุบ ไม่มีอาการเข้าหรือออกนั่นแหละ เป็นอาการหายใจในขั้นจตุตถฌาน ฉะนั้นจึงว่าหายใจหยาบ หายใจปกติ หายใจระงับ แล้วก็หายใจ หายใจละเอียดที่สุด เบาที่สุด ยิ่งกว่าละเอียดไปอีก เบาๆ เบาจนไม่ปรากฏว่าเข้าหรือออกหรือหายใจ เป็นได้ถึงอย่างนี้ ฉะนั้นไม่อาจจะตอบคำถามได้ว่าหายใจเข้าพองหรือหายใจออกยุบ ว่าหายใจเข้าออก พองหรือยุบ ไม่ต้องบอก ...เสียงขาดหายไป..(นาทีที่ 17:16) หายใจมีเสียงก็ได้ หายใจมีเสียงวื๊ดว๊าดด้วยก็ได้ มันหยาบมาก นี่ก็มาเช็คหรือทดสอบการหายใจให้มันถูกต้องให้มันก่อน แล้วก็มาหายใจตามธรรมดา หายใจตามธรรมดา แล้วต่อไปมันก็จะหายใจระงับลงๆ ละเอียดเข้าๆ ประณีตเข้าจนไม่รู้สึก มันคล้ายๆ กับว่ามิได้หายใจ หัดหายใจแผ่วมากจนไม่รู้สึกว่าหายใจก็ทำได้ ไม่ตายหรอก อย่ากลัวเลยไม่ตายหรอก มันไม่ได้หยุดเลย แต่เพียงมันละเอียดจนไม่กำหนดว่าออกหรือเข้า แต่มันมีออกหรือเข้าอยู่อย่างละเอียด นี่เรียกว่าทดสอบการหายใจ ซักซ้อมการหายใจ
ทีนี้ก็ไปเริ่มบทที่ ๑ ของกายานุปัสสนา กำหนดลมหายใจยาว ยาวกี่ชนิดทำให้หมด ยาวโดยบังคับ ยาวโดยไม่บังคับ ยาวตามธรรมชาติ นี่ให้รู้ว่ายาวๆ นั้นคืออย่างไร แล้วก็ถ้าสั้นๆ สั้นโดยบังคับเป็นอย่างไร เราหายใจแรงๆ สั้นๆ มันก็สั้น บังคับให้สั้นมันก็สั้นแบบบังคับ และก็สั้นแบบธรรมชาติ สั้นนี่มันผิดธรรมชาติ ยาวก็เป็นธรรมชาติ แต่ว่าถ้ายาวเกินก็ผิดธรรมชาติ ฉะนั้นรู้ว่ายาวสั้นตามธรรมชาตินั้นเป็นอย่างไร เอานั้นแหละเป็นหลัก เมื่อลมหายใจมันยาว ยาวอยู่ตามธรรมชาติน่ะ ศึกษามันสิ,ว่าความยาวเป็นอย่างไร เมื่อลมหายใจยาวนั้นอะไรเป็นอย่างไร มีความรู้สึกเป็นอย่างไร มีอำนาจเหนืออะไร มันจะค่อยๆ พบต่อไปว่ามันเนื่องกันกับร่างกายนี่ แต่นั่นเอาไว้บทหลังๆ แต่เดี๋ยวนี้สังเกตศึกษาไว้ว่าถ้าลมหายใจยาว ทุกอย่างเป็นอย่างไร ถ้าหายใจสั้น ทุกอย่างเป็นอย่างไร ให้รู้จักว่าลมหายใจมีอิทธิพลเหนือร่างกายอย่างไรนี่ ถ้ายาวมีอิทธิพลอย่างไร ถ้าสั้นมีอิทธิพลอย่างไร อะไรเป็นเหตุให้ยาว อะไรเป็นเหตุให้สั้น อารมณ์ปกติก็หายใจปกติ อารมณ์ชื่นบานก็หายใจยาวคือละเอียด อารมณ์ไม่ปกติก็หายใจสั้นและไม่ละเอียด หยาบ นี่เรียกว่าศึกษาทุกแง่ทุกมุมเกี่ยวกับลมหายใจทั้งยาวและสั้น บทที่ ๑ รู้เรื่องลมหายใจยาว บทที่ ๒ รู้เรื่องลมหายใจสั้น แตกฉานหมดเลย พอมาบทที่ ๓ นี่กำหนดกายทั้งปวง สพฺพกายปฏิสํเวที รู้พร้อมเฉพาะเรื่องกายทั้งปวง ว่ามันมี ๒ กาย กายทั้งปวงมันมี ๒ กาย กายหนึ่งเป็นร่างกายเนื้อหนัง,ร่างกาย อีกกายหนึ่งเป็นกายลม พระพุทธเจ้าตรัสว่าเราก็กล่าวลมว่าเป็นกายชนิดหนึ่งด้วยเหมือนกัน มันมีอยู่ ๒ กาย แล้วมันสัมพันธ์กัน ๒ กายนี้ มันมีสองสิ่งแต่ว่าเหมือนคล้ายๆ ว่ามันสัมพันธ์กันเป็นกายเดียว ถ้ากายลมหยาบ ร่างกายนี้ก็หยาบ ถ้ากายลมละเอียด กายนี้ก็ละเอียดคือระงับ ถ้ากายลมระงับ ร่างกายเนื้อหนังก็ระงับ ถ้ากายลมมันตื่นเต้น กายเนื้อร่างกายนี้มันก็ตื่นเต้น เราสามารถบังคับร่างกายร่างกายเนื้อหนังให้ละเอียด ให้ระงับ ให้เป็นสุขได้โดยบังคับทางกายลม เราบังคับกายลมให้ระงับกายเนื้อก็ระงับ ทำให้กายลมกำเริบกายเนื้อก็กำเริบ เราไม่สามารถจะบังคับกายเนื้อโดยตรง แต่เราสามารถบังคับโดยอ้อม คือบังคับทางลม บังคับกายลมให้เป็นอย่างไรกายเนื้อก็จะอนุโลมตามกายลมมันก็เป็นอย่างนั้น เราสามารถจะบังคับอารมณ์ได้ด้วย บังคับโดยทางลมหายใจ บังคับให้ร่างกายมันเป็นไปอย่างนั้นแล้วก็เกิดอารมณ์ใหม่ตามที่ร่างกายมันได้เปลี่ยนแปลงไป นี่เราจึงสามารถบังคับความรู้สึกเลวร้าย ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ที่มันกำลังพลุ่งพล่านนั่นแหละ สามารถจะบังคับได้โดยการบังคับลมหายใจให้มันละเอียด ให้มันสงบระงับเสีย มันก็ไม่มีอะไรจะไปรัก ไปโกรธ ไปเกลียด ไปกลัว ไปอะไร นี่เรียกบังคับไปถึงจิต ฉะนั้นเราไม่พูด นั่นเป็นเรื่องโดยอ้อม เพราะได้ตรัสไว้ว่าเพียง ๒ กาย กายลมกับกายเนื้อ จะมาบังคับกายลมกายเนื้อได้มันก็มีผลไปถึงจิต แต่อย่าเพิ่งพูด เอาไว้เรื่องตอนจิต ทีนี้ก็ขั้นที่ ๔ ก็ทำกายลมนี่ให้ระงับ กายลมให้ระงับๆ กายเนื้อก็พลอยระงับๆ มันมีเป็นลำดับ ระงับลึกระงับถึงสูงสุดจนเป็นฌาน เรียกว่าฌาน สมาธิที่เป็นชั้นถึงสูงสุด อัปปนาสมาธิ มันก็เกิดขั้นของฌาน ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน แต่เราไม่ต้องการให้ถึงฌาน ต้องการแต่เพียงว่าให้ระงับพอสมควรก็แล้วกัน ถ้าจะให้เป็นถึงฌานก็ดีเหมือนกัน ก็ได้เหมือนกัน แต่มันเลยความจำเป็นในเรื่องอานาปานสติ แต่ถ้าทำได้ก็ดี เพราะเป็นสัมมาสมาธิสูงขึ้นไป ถ้าเป็นขั้นที่ว่าปฐมฌาน ความรู้สึกเหลือวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา จิตในขณะนั้นยังรู้สึกว่ามีการกำหนดอารมณ์ เรียกว่าวิตก การรู้สึกอารมณ์เรียกว่าวิจาร ความพอใจที่ทำได้เรียกว่าปีติ แล้วก็มีความเป็นสุขอยู่ในปีติหรือจากปีติ ก็มีเอกัคคตา คือเดี๋ยวนี้จิตมีอารมณ์เดียวอยู่ที่ลมหายใจ ปีติก็คือสุขอย่างหยาบ สุขก็สุขอย่างละเอียด มีการกำหนดอารมณ์ มีการรู้สึกอารมณ์ มีปีติ มีความสุข ยังหยาบนัก ยุ่งนัก ไม่เอาอ่ะ ยุ่งนัก ทั้ง ๕ อย่างยุ่งนัก ลดเสีย ๒ อย่าง วิตก วิจาร ไม่มีความรู้สึก ไม่ทำความรู้สึกเป็นวิตก วิจาร ก็เหลือแต่ปีติ สุข เอกัคคตา ก็ยังหยาบนัก มีอีกตั้ง ๓ อย่าง ละปีติไปเสียอย่ามีเลย มันก็เหลือแต่สุขกับเอกัคคตานี้ สุขนี้ยังฟุ้ง ยังวุ่นอยู่ อย่าเอาเลย เป็นอุเบกขาเสียเถิด ก็เหลือแต่อุเบกขากับเอกัคคตา รายละเอียดยุ่งยากอย่างนี้ ไปศึกษาจากตัวหนังสือ ถึงจะพูดให้ฟังก็คงจะจำไม่ได้ พูดแต่หลักใหญ่ๆว่า ถ้ามันกำหนดรู้สึกอยู่หลายๆ อย่างก็เป็นสมาธิขั้นที่ยังไม่สูงสุด ถ้าปลดออกไป ปลดออกไปเหลือองค์น้อยเข้าๆ กระทั่งเหลือเป็นอุเบกขากับเอกัคคตา นั่นแหละฌานในรูปฌานมันสูงสุด นี่เรียกว่าประสบความสำเร็จในหมวดที่ ๑ คือกายานุปัสสนา กำหนดลมหายใจยาว กำหนดลมหายใจสั้น กำหนดร่างกาย กายลมกายเนื้อสัมพันธ์กันอยู่ แล้วทำให้กายลมระงับกายเนื้อก็ระงับ นี่ขั้นที่ ๔ ๔ ขั้น จะทนไหวไหม จะทำได้ไหม หรือจะเลิก เลิกเสียก่อน พอไปลองกันหน่อยก็เลิกเสียก่อน แล้วมันลำบากยุ่งยากเหลือวิสัย
ข้อนี้ก็อยากจะแนะ แนะอะไรสักหน่อยว่า อย่าคิดว่ามันยาก อย่าคิดว่ามันง่าย ทำไปก็แล้วกัน อย่าให้ความหลอกลวงมันมาหลอกว่ายาก มันก็ไม่มีกำลังใจจะทำ ถ้ามันง่ายมันก็หลอกตัวเองว่าง่าย แต่มันไม่ได้ง่ายนี่ หรือจะทำก็ทำหวัดๆ ก็ใช้ไม่ได้ อย่ามีตัวกูเป็นผู้ทำ อย่ามียาก อย่ามีง่ายสิ มีแต่นามรูปล้วนๆ ทำไปเถิด นามรูปล้วนๆ แท้ๆ ทำไปเถิด ทำไปตามระเบียบตามลำดับ นี่มันจะเริ่มเลิกละตัวกู เลิกละอายุไปตั้งแต่ขั้นที่ ๑ หมวดที่ ๑ อย่ามีตัวกูเป็นผู้กระทำสมาธิ ถ้ามีตัวกูรู้สึกเป็นผู้ทำสมาธิแล้วไม่สำเร็จๆ มันมีตัวกูเดือดพล่านอยู่เรื่อยไป เลิกตัวกูเสียมันก็เป็นสมาธิได้โดยง่าย ฉะนั้นจึงว่าอย่าทำความสำนึกมั่นหมายว่ากูทำสมาธิ อย่า อย่า อย่า ทำไป นามรูปมันทำไปก็แล้วกัน นั่นแหละมันจะง่ายขึ้น มันก็จะช่วยให้ง่ายขึ้น เดี๋ยวนี้เราบังคับลมหายใจได้กระทั่งบังคับร่างกายได้ ได้ผลเยอะแยะ อยากจะมีความสงบระงับเมื่อไหร่ อยากจะมีความสงบระงับเมื่อไหร่ ก็ทำได้ทันที ต้องการความสุขเมื่อไหร่ ก็ทำได้ทันที มีเวลา ๕ นาทีก็ทำได้ ที่ไหนก็ทำได้ จิตใจมันกลุ้มขึ้นมาด้วยอะไรก็ตามใจมัน ทำสมาธิอย่างนี้ไล่ออกไปทันที กำจัดออกไปทันที นี่มันมีประโยชน์อย่างนั้น เดี๋ยวนี้เราเป็นนายเหนือกาย เป็นนายเหนือร่างกาย ร่างกายอยู่ใต้บังคับบัญชาของจิต คำว่าเราในที่นี้หมายถึงจิต ไม่ใช่ตัวกู เมื่อตะกี้บอกว่าอย่าให้ตัวกูทำสมาธิ ให้นามรูปมันทำสมาธิ คือกายกับจิตทำสมาธิ เดี๋ยวนี้นามรูปนั่นแหละเป็นนาย จิตนั่นแหละจะเป็นนายเหนือกาย ทำสมาธิหมวดแรกสำเร็จ จิตก็เป็นนายเหนือกาย แต่เราใช้พูดธรรมดาว่าเราๆ เรามีอำนาจเหนือกาย เราบังคับกายได้โดยการบังคับลม ชนะแล้ว บังคับกายได้แล้ว อยากมีความสุขทันใจเมื่อไหร่ ต้องการเมื่อไหร่ ก็เมื่อนั้นแหละ อยากจะมีความสุขเดี๋ยวนี้ ลงมือทำสมาธิอย่างนี้ก็ได้ทันที เรียกว่าสมาธิภาวนาที่ทำให้ได้รับความสุขทันตาเห็นในทิฏฐธรรม ต้องการที่ไหน ได้เมื่อไหร่ก็ได้ เท่าไหร่ก็ได้ นี่อานาปานสติหมวดที่ ๑ เป็นอย่างนี้ มีความสุขได้ทันทีที่ต้องการด้วยการทำจิตให้เป็นสมาธิ นี่เรื่องสมาธิอานาปานสติหมวดที่ ๑ เอ้า,เดี๋ยวนี้บังคับกายโดยลมบังคับอารมณ์ บังคับกายให้สงบระงับๆ จนถึงมีสมาธิ หรือว่าสูงขึ้นไปจนถึงกับเป็นฌาน สมาธิที่สูงสุดนั่นแหละเขาเรียกว่าฌาน เป็นอัปปนาสมาธิก็เรียกว่าฌาน ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน รายละเอียดมันมากเกินไป พูดก็คงจำไม่ได้ ก็ไปหาอ่านในหนังสือตำราคู่มือ แต่เดี๋ยวนี้รู้เค้ารู้หลักเกณฑ์ทั่วไปว่าความเป็นสมาธินั้น เป็นละเอียดเข้าไป ละเอียดลงไป ละเอียดลงไป จึงจัดเป็นฌานเป็นขั้นที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ แปลว่าถ้าจะปฏิบัติเพื่ออานาปานสติดับทุกข์กันโดยเร็วแล้ว มันไม่เสียเวลา ปฏิบัติให้เป็นฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ เก็บไว้ทีก็ได้ แต่ให้มีความเป็นสมาธิพอสมควรตามสมควรที่จะไปใช้ต่อไปข้างหน้าได้ก็แล้วกัน ถ้าใครต้องการและสามารถทำได้ จะปฏิบัติให้เป็นฌานเลยก็ได้ กลัวจะเสียเวลามากไป จึงขอแนะว่าพอสมควร สมาธิพอสมควร
จบหมวดที่ ๑ แล้ว ก็ทำหมวดที่ ๒ ที่เรียกว่าเวทนานุปัสสนา เวทนาๆ คือความรู้สึกในประเภทที่ว่ารู้สึกสุขหรือทุกข์ ไม่ใช่เป็นเพียงรู้จักหรือรู้สึกตัว นอนหลับไม่รู้สึกตัวแล้วรู้สึกตัวนี่ อย่างนี้ยังไม่เรียกว่าเวทนา คือรู้สึกว่า พอใจหรือไม่พอใจ คือเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เรียกว่าเวทนา เวทนาแปลว่าความรู้เหมือนกันแหละ แต่มันอีกคำหนึ่ง คือความรู้สึก คนเรานั้นต้องการสุขเวทนาจนถึงกับเป็นทาสๆ ทาสขี้ข้านั่นแหละ เป็นทาสของเวทนา แสวงหาเวทนาที่เป็นสุขมาตั้งแต่เด็กๆ เล็กๆ จนเฒ่า จนโต จนแก่จะเข้าโลงก็ยังต้องการเวทนาที่เป็นสุข นี่เป็นทาสของเวทนา ดังนั้นเวทนามันจึงเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องทั้งหมดของสิ่งที่เรียกว่าชีวิตหรือเวลาหรืออายุ ตลอดอายุต้องการสุขเวทนา ต้องการให้อายุเต็มไปด้วยสุขเวทนา ทุกคนเป็นอย่างนี้ เด็กๆ อยู่ในท้องไม่รู้เรื่องเวทนาสุขทุกข์อะไร แต่พอคลอดมาจากท้องแม่แล้ว ตา หู จมูก ลิ้น กาย มันทำหน้าที่ มันปรากฏเป็นสุขเวทนาอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็เริ่มรู้จักเวทนาแล้วมันก็หลงใหลพอใจในสุขเวทนา มันก็มุ่งหมายแต่สุขเวทนา ฉะนั้นเด็กๆ จึงรู้จักแสวงหาแต่จะให้อร่อย ให้เป็นสุข ให้สนุกในทางบวกเรื่อยไป นี่เขาก็เริ่มเป็นทาสของเวทนาแล้ว เป็นทาสของเวทนาแล้ว แล้วก็เป็นมากขึ้น และก็ต้องการเวทนาที่ยิ่งๆ ขึ้นไป เวทนาอารมณ์ธรรมดา ไม่ๆ ไม่ค่อยต้องการแล้ว ต้องการเวทนาทางเพศ ทางกามารมณ์ เวทนาที่เนื่องด้วยเพศ แม้จะเป็นรูปก็ขอให้เป็นรูปของเพศ แม้จะเป็นเสียงก็ให้เป็นเสียงของเพศ เพศตรงกันข้าม ให้เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นโผฏฐัพพะแล้ว ก็ขอให้เป็นเรื่องของเพศตรงกันข้าม นี่มันมากมาย น้ำหนักมากมายมหาศาล เวทนาๆ เข้มข้น เวทนาหนักมากขึ้นๆ มากขึ้นตามที่อายุมันมากขึ้น นี่ก็เป็นทาสของเวทนา เป็นบ่าวของเวทนา ไม่สามารถจะควบคุมเวทนา เวทนามันก็บังคับ บังคับเรา บังคับจิต เราเป็นทาสของเวทนา
ทำงานทำไม หาเงินทำไม หาเงินไว้มากๆ ทำไม ก็ไปซื้อหาเวทนาที่ต้องการให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ถ้าไม่รู้จักอิ่มจักพอมันก็ไม่รู้จักสิ้นจักสุด เป็นทาสของเวทนาไปอย่างไม่รู้จักสิ้นจักสุด พอไม่เป็นทาสของเวทนามันก็ไม่เป็นทาสของอัตตาของอายุของอะไร ฉะนั้นเราจึงต้องจัดการกับเวทนาให้เราชนะมัน ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่จะเป็นปัญหามากเท่ากับเวทนา เวทนาที่เป็นทุกข์ก็เป็นปัญหาให้ดิ้นรนจะออกจากทุกข์ เวทนาที่เป็นสุขก็ทำให้มัวเมาหลงใหลลึกเข้าไป นี่ เวทนามันเป็นอย่างนี้ เราก็รับใช้เวทนาเป็นทาสของเวทนา เดี๋ยวนี้มีความต้องการใหม่ มีความมุ่งหมายใหม่จะไม่เป็นทาสของเวทนา แต่จะชนะเวทนาจะบังคับเวทนา ไม่ให้เวทนาบังคับเรา แต่เราจะบังคับเวทนา ฉะนั้นก็เจริญอานาปานสติหมวดที่ ๒ เรียกว่าเวทนานุปัสสนา ข้อแรกก็เอาปีติมาเป็นอารมณ์ ข้อสองเอาสุขเป็นอารมณ์ ข้อสามเอาความรู้ว่าเวทนาทั้งหลายนี่ปรุงแต่งจิต แล้วข้อสี่ก็ว่าบังคับเวทนาไม่ให้ปรุงแต่งจิต นี่เรียกว่าชนะเวทนา เหนือเวทนา ต้องเอาเวทนามาศึกษามาทำความเข้าใจกันอย่างซึมซาบว่าเวทนาเป็นอย่างไร เช่นเดียวกับหมวดที่ ๑ ศึกษาเรื่องลมหายใจ ยาวสั้นจนรู้จักทุกแง่ทุกมุม พอมาหมวดที่ ๒ ก็เวทนา มาศึกษาให้รู้จักชัดเจนอย่างนั้นแหละทุกแง่ทุกมุม เวทนาที่มันปีติก็คือความสุขที่ยังหยาบ เพราะเมื่อปีติมันสงบระงับก็เรียกว่าสุข ความพอใจที่หยาบที่ถึงกับตื่นเต้นเรียกว่าปีติ ความพอใจที่หยุดตื่นเต้นสงบระงับเรียกว่าความสุข จึงมีอยู่ ๒ ขั้นตอน เรียกง่าย ๆ ว่าความสุขที่วุ่นวาย ความสุขที่ฟุ้งซ่านที่วุ่นวายกับความสุขที่สงบระงับ ความสุขวุ่นวายเรียกว่าปีติ ความสุขสงบระงับเรียกว่าความสุข เมื่อได้อะไรอย่างใจพอใจโดยกะทันหันมันก็มีปีติวุ่นวายถึงกับนอนไม่หลับ ปีติรุนแรงนี่ก็ทำให้นอนไม่หลับล่ะ กินข้าวไม่ลงก็ได้ มันปีติเสีย มันมีปีติเป็นอาหารก็อยู่ได้โดยไม่ต้องกินข้าว รู้จักปีติ รู้จักเวทนาที่เป็นปีติแล้วก็ให้มันระงับลงๆ จนปกติ ก็เรียกว่าเวทนาที่เป็นสุข เอามาจากไหนล่ะ ก็เอามาจากการกระทำในหมวดที่ ๑ น่ะ พอบังคับร่างกายได้เป็นสมาธิถึงกับเป็นฌานได้ด้วยก็ยิ่งดี มันมีปีติอยู่ในองค์ฌาน มีสุขอยู่ในองค์ฌาน ขอยืมเอามาเป็นอารมณ์ของสมาธิของอานาปานสติหมวดที่ ๒ ทำไมต้องเอาความสุขมาเป็นอารมณ์ ก็เพราะว่าเวทนาที่เป็นความสุขมันมีอำนาจเหนือเวทนาทั้งหลาย ถ้าเราชนะเวทนาอันสูงสุดได้ เราก็ชนะเวทนาต่ำๆ ต้อยๆ นี้ได้ เอาเวทนาสูงสุดมาเป็นอารมณ์ เอาปีติความสุขความพอใจที่ฟุ้งซ่านมาเป็นอารมณ์ก่อน ชิมดูว่าเป็นอย่างไร มีอิทธิพลอย่างไร มีลักษณะอย่างไร เกิดมาจากอะไร แล้วก็เอาสุขคือปีตินั่นแหละที่มันหยุดฟุ้งมาเป็นความสุขพอใจอย่างมีความสุขสงบมาเป็นอารมณ์ ฉะนั้นสองหัวข้อของหมวดที่ ๒ จึงมีคำว่าปีติปฏิสํเวที รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ, สุขปฏิสํเวที รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข ศึกษาให้รู้จัก ๒ ตัวนี้ ถ้าเอาชนะ ๒ ตัวนี้ได้ก็เอาชนะเวทนาทั้งหลาย เวทนาฝ่ายลบอะไร ชนะได้หมด เพราะที่มีอำนาจสูงสุดรุนแรงที่สุดก็คือเวทนาฝ่ายบวก ๒ ตัวนี้ ๒ ชื่อนี้แหละ ชนะเวทนาที่สูงสุดได้ก็ชนะเวทนาลูกเด็กๆ เล็กๆ ต่ำๆ ต้อย ๆ ได้ ดังนั้นในอานาปานสติ จึงยกความสุขกับปีติมาเป็นอารมณ์ ไม่ต้องเอาทุกขเวทนามาเป็นอารมณ์หรอก ไม่ต้องเอา อทุกขมสุขเวทนาเป็นอารมณ์หรอก เอาสุขฝ่ายสุขเวทนามาเป็นอารมณ์เพราะมันเข้มแข็งมากแก่กล้ามากสูงสุดมาก ถ้าชนะมันได้ก็จะชนะเวทนาทุกชนิด เริ่มทำหมวดที่ ๒ ก็คือว่าทำปีติให้เกิดขึ้น ความพอใจในการทำให้กายระงับได้สำเร็จในหมวดที่ ๑ เอามา ยืมมา มาชิมปีติ มานั่งซึมซาบในปีติ มาอาบน้ำปีติ ให้มันชุ่มไปด้วยปีตินี่ ขั้นที่หนึ่งของหมวดที่ ๒ หรือเรียกว่าขั้นที่ห้าของทั้งหมด นั่งอาบน้ำปีติกันสักพัก รู้จักทุกครั้งที่หายใจเข้าออก อาบน้ำปีติ อาบน้ำปีติ ความสุขอย่างฟุ้งซ่านนั่นแหละให้มันถึงขนาดเลย เมื่อพอสมควรแล้วก็เอาความสุข คือเอาปีติที่ไม่ฟุ้งซ่าน ปีติที่สงบเย็นระงับเย็นเอามานั่งอาบอีก ทุกหายใจเข้าออกอาบความสุข อาบความสุข อาบความสุขอยู่ทุกครั้งที่มีการหายใจเข้าออก ขั้นที่หนึ่งที่สองของหมวดที่ ๒ เป็นอย่างนี้
เอ้า,ทีนี้พอรู้จักเวทนาดีอย่างนี้แล้ว ก็ศึกษาต่อไปว่าเวทนานี้มันทำหน้าที่อะไรหว่า มันมีอิทธิพลกันตรงไหนหว่า มันก็พบว่า โอ้,ไอ้หมอนี่เป็นจิตตสังขาร ปรุงแต่งความคิดให้เกิดความคิด ความคิดทั้งหลายมาจากเวทนา เวทนามีอย่างไรมันก็น้อมให้เกิดความคิดอนุโลมกับเวทนานั้น จึงเห็นชัดว่าเวทนานี้ปรุงแต่งจิตคือความคิด สุขก็ปรุงแต่งไปอีกแบบหนึ่ง ทุกข์ก็ปรุงแต่งไปอีกแบบหนึ่ง อทุกขมสุขก็ปรุงแต่งไปอีกแบบหนึ่ง สุขเวทนาเป็นที่ตั้งแห่งราคะ ทุกขเวทนาเป็นที่ตั้งแห่งโทสะ อทุกขมสุขเวทนาเป็นที่ตั้งแต่งโมหะ ปรุงแต่งกิเลสได้ครบทั้งสาม เวทนาทั้ง ๓ มาซึมซาบทำความซึมซาบเข้าใจว่าเวทนาทั้งหลายปรุงแต่งจิตอย่างนี้เองโว้ย เวทนาปรุงแต่งความคิดสารพัดอย่างโว้ย ถ้าไม่อยากให้มีความคิดก็ควบคุมเวทนาเสีย หรือให้คิดไปในทางที่ควรจะคิด ก็ควบคุมเวทนาให้เป็นไปในทางที่ควรจะมี นี่เรียกว่า จิตฺตสงฺขารปฏิสํเวที รู้ว่าเวทนาเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต ทีนี้ขั้นที่สี่ต่อไปของหมวดนี้ก็ว่า ปสฺสมฺภยํ จิตฺตสงฺขารํ ระงับๆ กำลังของจิตตสังขาร ระงับกำลังของเวทนาไม่ให้มีกำลังที่จะปรุงแต่งก็ได้ ให้หยุดปรุงแต่งก็ได้ ให้ปรุงแต่งไปในทางที่ถูกที่ควรก็ได้ นี่เรียกว่า ปสฺสมฺภยํ จิตฺตสงฺขารํ เป็นขั้นที่สี่ของหมวดที่ ๒ หมวดที่ ๑ ก็มีสี่ขั้น หมวดที่ ๒ ก็มีสี่ขั้น ได้แปดขั้นแล้วนะ
ทีนี้ถ้ายังจะทำต่อไปก็เลื่อนไปหมวดที่ ๓ เรียกว่าจิตตานุปัสสนา นี่จะจัดการกับจิต เพราะรู้เรื่องของกายดี มาตั้งแต่หมวดที่ ๑ รู้เรื่องของจิตดีมาแต่หมวดที่ ๒ ทีนี้จะเล่นงานกับจิตจะบังคับจิตบ้างล่ะ กูจะบังคับจิตบ้างล่ะ ก่อนนี้จิตบังคับกู ทีนี้เราจะบังคับจิต เราจะบังคับจิต ก็ศึกษาเรื่องเกี่ยวกับจิตและวิธีบังคับจิต ขั้นที่หนึ่ง ก็ทำความรู้จักจิตทุกชนิด จิตเป็นอย่างไร ได้กี่ชนิด ทำความรู้สึกให้หมด จิตมีราคะ จิตไม่มีราคะ จิตมีโทสะ จิตไม่มีโทสะ จิตมีโมหะ จิตไม่มีโมหะ จิตฟุ้งซ่าน จิตสงบ จิตตื่นเต้นหรือจิตไม่ตื่นเต้น หรือจิตยังต่ำอยู่หรือจิตสูงแล้ว หรือจิตดีถึงที่สุดแล้ว ถ้าว่าจิตดีถึงที่สุดแล้วหรือจิตหลุดพ้นแล้ว เรายังไม่มี เรายังรู้สึกสัมผัสโดยตรงไม่ได้ เราก็คำนวณ เมื่อจิตไม่หลุดพ้น จิตธรรมดาไม่หลุดพ้นนั้นมันเป็นอย่างไร เรารู้จัก ทีนี้คำนวณ ถ้าตรงกันข้ามจะเป็นอย่างไร ข้อนี้เป็นเหตุให้รู้จักจิตที่ยังไม่เคยมีแก่เรา ที่ไม่เคยมีในความรู้สึกที่ว่าจิตหลุดพ้นเป็นอย่างไร แล้วก็ดูที่จิตที่ไม่หลุดพ้นน่ะ แล้วกลับตรงกันข้ามเสีย มันก็รู้จักจิตที่หลุดพ้น จิตที่ไม่หลุดพ้นเป็นอย่างไรมีความทุกข์อย่างไรทรมานอย่างไร ทีนี้ถ้าว่ากลับตรงกันข้าม นั่นแหละจิตหลุดพ้นก็รู้จักโดยอนุมานอย่างนี้ก็ได้ เป็นเหตุให้รู้จักจิตได้ทุกชนิดตามที่จิตมันจะเป็นไปได้นี่ ขั้นที่หนึ่ง ทำความรู้จักกับจิตทุกชนิด ในขณะแห่งทำสมาธินั้น วนไปวนมาอยู่กับจิตทุกชนิด ให้รู้จักให้ทุกชนิดกันจริงๆ จะรู้จักไปหมดแหละ จะรู้จักความเป็นอนัตตาของจิต จะรู้จักความหลอกลวงของจิต จะรู้จักไปสารพัดอย่าง
ทีนี้ก็ขั้นที่สอง บังคับจิตให้รู้สึกในทางปราโมทย์ๆ พอใจบันเทิง ที่ไม่พอใจไม่บันเทิงไม่เอา ไม่ให้เกิดในความรู้สึก เราบังคับได้ สามารถที่จะทำจิตให้ปราโมทย์พอใจได้ตามที่ต้องการ นี่กำไรแยะแล้ว ต้องการจะมีจิตบันเทิงปราโมทย์เมื่อไหร่ก็ทำได้เมื่อนั้นแหละ จิตที่หดหู่ที่ฟุ้งซ่านที่เป็นทุกข์ไม่มากล้ำกลายเลย เอ้า,ทีนี้ถ้ายังปฏิบัติต่อไปอีกก็ว่า เอ้า,หยุด หยุด หยุด หยุดกันที ตั้งมั่น ตั้งมั่น หยุด หยุด หยุดกันที นี่ แล้วก็บังคับให้หยุดได้ คือเป็นสมาธิ หยุด เป็นสมาธิได้ นี่เป็นขั้นที่สามของหมวดที่ ๓ ทีนี้ขั้นที่สี่ของหมวดนี้ก็ปล่อย ปล่อย ปล่อย อย่าเอาอะไรไว้ อย่าไปเที่ยวยึดถือนั่นนี่ไว้ ปล่อย ปล่อย ปล่อย ทำความรู้สึกปล่อยจิตจากอารมณ์หรือปล่อยอารมณ์จากจิต ก็ได้ผลเท่ากันแหละ กำจัดอารมณ์ออกไปเสียจากจิต จิตก็เป็นอิสระ หรือว่าให้จิตปล่อยอารมณ์ที่ยึดถืออยู่เสีย จิตก็เป็นอิสระ ที่ท่านใช้คำว่าปล่อย วิโมจยํ จิตฺตํ ทำจิตให้ปล่อยอยู่ หายใจเข้าออกอยู่ หายใจเข้าออกอยู่ด้วยความรู้สึกว่าปล่อย ปล่อย ปล่อยอย่างนี้ ปล่อยแล้วอย่างไร รู้สึกอย่างไร ก็รู้สึกอยู่
ขั้นที่หนึ่งรู้จักจิตทุกชนิด ขั้นที่สองบังคับจิตให้ปราโมทย์ ขั้นที่สามบังคับจิตให้ตั้งมั่นเป็นกลางเป็นสมาธิ ขั้นที่สี่บังคับจิตให้ปล่อย ปล่อย ปล่อย ปล่อย ปล่อย นี่มันสูงขึ้นไปกว่าธรรมดาแยะแล้วนะ ธรรมดาไม่เคยมีนะ ธรรมดามีแต่จะเป็นทาสของอารมณ์ อยากจะสบายใจก็ทำไม่ได้ อยากจะบันเทิงเมื่อไหร่ก็ทำไม่ได้ อยากจะหายใจให้เป็นสุขก็ทำไม่ได้ เดี๋ยวนี้ก็ทำได้ถึงกับว่าถ้าต้องการจะหายใจให้เป็นสุขหายใจให้มีอารมณ์สุขเมื่อไหร่ก็ได้ ให้เกลี้ยงๆ คือให้ปล่อย ปล่อย ปล่อย ปล่อยให้เกลี้ยง ไม่มีอะไรผูกพันก็ทำได้ นี่หมวดที่ ๓ เป็นอย่างนี้ ถอนตัวตนได้โดยอัตโนมัติ ถอนอายุที่เป็นภาระหนักที่เป็นความยึดมั่นถือมั่นได้มากขึ้นๆ พอมาถึงหมวดที่ ๓ ก็มากขึ้นกว่าหมวดที่ ๑ ที่ ๒
เอ้า,ทีนี้ก็มาถึงหมวดที่ ๔ จัดการกับธรรมะ หมวดที่ ๑ จัดการกับกาย หมวดที่ ๒ จัดการกับเวทนา หมวดที่ ๓ จัดการกับจิต หมวดที่ ๔ จัดการกับธรรมะซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ ธรรมะในที่นี้หมายถึงธรรมะทั้งปวงก็ได้ เพราะว่าธรรมะทั้งปวงเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ ถ้ามีความโง่มันยึดถือไปหมดแหละ ยึดถือในแง่บวกก็จะเอา ยึดถือในแง่ลบก็จะฆ่าจะทำลาย มันยึดถือกันทั้งในแง่บวกและในแง่ลบ มันทั้งในแง่ดีและแง่ร้าย ธรรมทั้งปวงเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือหมายมั่นเป็นนั่นเป็นนี่ขึ้นมา ให้เป็นของสำคัญขึ้นมา มันยึดถือด้วยความโง่ เดี๋ยวนี้จะทำลายความยึดถือในธรรมทั้งปวง ขั้นที่หนึ่งก็รู้จักธรรมทั้งปวงว่าเป็นอนิจจัง ธรรมทั้งปวงเป็นอนิจจัง สิ่งทั้งปวงเป็นอนิจจัง ไปยึดถือให้โง่ทำไม ไปยึดถือในแง่ของความรักก็โง่ ไปยึดถือในความเกลียดก็โง่ ยึดถือในแง่บวกก็โง่ ยึดถือในแง่ลบก็โง่ เพราะมันเป็นอนิจจัง เห็นอนิจจังๆ อนิจจังเสียให้เต็มที่ แล้วมันก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลง ถ้าเห็นอนิจจังไม่เต็มที่มันไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในจิต มันยึดมั่นอยู่ตามเดิม ถ้าเห็นอนิจจังเต็มที่แล้วมันก็เกิดการเปลี่ยนแปลง คือมันจะคลายมันจะน้อมไปทางคลายความยึดมั่น เห็นอนิจจัง เห็นมากเข้า ให้ลึกเข้า ให้สูงสุดเข้า มันก็จะเห็นทุกขัง เห็นให้มากไปอีกก็จะเห็นอนัตตา อนัตตาให้มากขึ้นไปอีก มันก็จะเห็นว่าโอ้,มันเช่นนี้เอง เป็นธัมมัฏฐิตตา มันตั้งอยู่อย่างนี้เอง เป็นตามธรรมชาติอย่างนี้เอง แล้วก็เห็นนิยามตา ว่ากฎของธรรมชาติโดนบังคับ บังคับให้เป็นเช่นนี้ บังคับให้เป็นเช่นนี้ มันจึงเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา เป็นธัมมัฏฐิตตา แล้วเมื่อเห็นว่ามันเป็นธัมมัฏฐิตตา ธัมมนิยามตาแล้ว ก็เห็นว่า โอ้, นี่ ตัวอิทัปปัจจยตา เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิตย์ นี่เห็นอิทัปปัจจยตา มีมูลมาจากเห็นอนิจจัง เห็นอิทัปปัจจยตามากเข้าๆ ก็เห็นสุญญตา สุญญตาไม่มีตัวตน หรือตถาตาไม่ใช่ตน แล้วแต่จะเห็นอันไหนก่อน เห็นว่าเป็นเช่นนี้เอง มันก็ไม่มีตัวตน ว่างจากตัวตน ถ้าเห็นตถาตา,ตถตา ตถา เช่นนั้นๆแล้ว มันก็ถึงจุดอตัมมยตา คงที่ ไม่มีอะไรมาปรุงมาแต่งให้เอียงไปทางซ้ายหรือเอียงไปทางขวา มันไม่เป็นบวกมันไม่เป็นลบ อย่างนี้เรียกอตัมมยตา ประโยชน์สูงสุดของการเห็นอนิจจังไปตามเรื่องของมันจนถึงอตัมมยตา ความคลายความกำหนัดจะเกิดขึ้นในตอนไหนก็ได้ เห็นอนิจจังเต็มที่ก็ได้ เห็นทุกขังเต็มที่ก็ได้ เห็นอนัตตาเต็มที่ก็ได้ เห็นธัมมัฏฐิตตา ธัมมนิยามตา อิทัปปัจจยตาก็ได้ เห็นสุญญตาก็ได้ เห็นตถาตาก็ได้ มันจะเกิดความเบื่อหน่ายในสิ่งที่ยึดถือ ที่ยึดถืออยู่ก็ตาม ที่เคยยึดถือมาแล้วแต่หนหลังก็ตาม ที่จะยึดถือต่อไปข้างหน้าก็ตาม มันจะเกิดความเบื่อหน่ายถอยหลัง คือความคลายกำหนัด นี่เรียกว่าวิราคะ เมื่อจิตเห็นอนิจจังๆ ก็กำหนดอนิจจังกันเต็มที่ พอจิตมันเริ่มเบื่อหน่ายคลายกำหนัด ก็กำหนดวิราคะ ความคลายกำหนัดกันให้เต็มที่ กำหนดวิราคะเรื่อยไปๆ เรื่อยไป เดี๋ยวก็เกิดการเปลี่ยนแปลง สิ้นความกำหนัดๆ เป็นเป็นนิโรธะ ก็กำหนดนิโรธะกันอย่างเต็มที่
เห็นนิโรธะ วิราคะ นิโรธะ เต็มที่แล้ว ก็สรุปความในขั้นที่สี่ของหมวดนี้ว่า อู้,สลัดคืนแล้วโดยสิ้นเชิง สลัดคืนแล้วโดยสิ้นเชิง เรียกว่าปฏินิสสัคคะ สลัดธรรมะที่เคยยึดถือว่าตัวตนออกไปแล้วโดยสิ้นเชิง ขั้นที่หนึ่งเรียกว่าอนิจจานุปัสสี เห็นความไม่เที่ยง ขั้นที่สองเรียกว่าวิราคานุปัสสี เห็นความที่เบื่อหน่ายคลายกำหนัด เริ่มวางน่ะ ขั้นที่สามเรียกว่านิโรธานุปัสสี วางหมดแล้ว ดับแล้ว ดับหมดแล้ว ขั้นที่สี่เรียกว่าปฏินิสสัคคานุปัสสี โยนคืนหมดแล้ว โยนคืนหมดแล้ว สมมุตินะ อุปมาเหมือนกับว่าเราไปปล้นเอาธรรมชาติมาเป็นตัวกู มาเป็นของกู ด้วยความโง่ยึดถืออยู่ เดี๋ยวนี้รู้จักแล้ว ไม่เอาแล้ว โยนคืนเจ้าของเดิม คืนให้ธรรมชาติ ไม่ยึดถือเอาอะไรไว้ นี่มันก็จบ เรื่องมันก็จบ เป็นอิสระสูงสุดเหนือธรรมทั้งปวง ไม่ยึดถืออะไรไว้โดยความเป็นตัวตนหรือของตน ความยึดมั่นในอายุมันเลิกไป ยึดมั่นในตัวตนมันเลิกไปแล้ว ความยึดมั่นในอายุก็เลิกไป ยึดมั่นในเวลาก็เลิกไป ยึดมั่นในชีวิตก็เลิกไปๆ นี่เรียกว่าใช้อานาปานสติเป็นการเลิกอายุ เลิกอายุด้วยอานาปานสติ หรือว่าเลิกตัวตนด้วยอานาปานสติ หมวดนี้ก็มีสี่ขั้น มี ๔ หมวดๆ ละสี่ขั้น นับแล้วก็ได้ ๑๖ ขั้น นี่ จะเรียกว่าอานาปานสติมีเทคนิคอันละเอียดเฉพาะขั้นๆ ซึ่งจะปฏิบัติเฉพาะขั้นๆ เป็นลำดับไป ฉะนั้นจึงยุ่งยากลำบากกว่าปฏิบัติเพียงสติปัฏฐานเฉยๆ สติปัฏฐานชาวบ้านเฉยๆ ทั่วไป เพียงแต่ไม่เผลอไปยึดมั่นอะไรเป็นตัวตนของตน ให้เป็นเพียงนามรูปๆ นามรูปเท่านี้พอ อย่างนั้นเรียกว่าสติปัฏฐาน แต่ถ้าปฏิบัติกันเป็น ๑๖ ขั้นละเอียดอย่างนี้ เป็นเทคนิคอย่างยิ่ง เป็นวิทยาศาสตร์อย่างยิ่ง อย่างนี้เราเรียกว่าอานาปานสติ มันก็ทำการเลิกตัวตน เลิกอายุได้อย่างวิทยาศาสตร์ หั่นแหลกแบบวิทยาศาสตร์ มีสติปัญญา มีอะไรมากกว่ากันมาก จริงจังกว่ากันมาก
ฉะนั้นเมื่อได้ยินคำว่าสติปัฏฐาน หรือได้ยินคำว่าอานาปานสติ ก็ขอให้รู้เถิดว่ามันแตกต่างกันอย่างนี้ มันทำงานกันอย่างแคบกว้างกว่ากันอย่างนี้ หรือว่าละเอียดละออกว่ากัน หรือหยาบกว่ากันอย่างนี้ ถ้าสู้ไม่ไหวก็ปฏิบัติสติปัฏฐานนั้นน่ะไปก่อน อะไรก็เป็นสักว่านามรูปไม่ใช่ตัวตน แต่ถ้าเก่งพอที่จะสามารถปฏิบัติอานาปานสติได้ ก็เอาสิ หนังสือคู่มืออานาปานสติก็มีพอสมควรที่จะศึกษาและปฏิบัติได้ นี่อาตมาจึงเรียกว่าเลิกอายุด้วยอานาปานสติ หรือจะเลิกอายุด้วยโพชฌงค์ ๗ ก็ว่ามาแล้ว เลิกอายุด้วยสัญญา ๑๐ ก็ว่ามาแล้ว เดี๋ยวนี้ชื่อว่าสุดท้ายน่าดู ก็ว่าเลิกด้วยอานาปานสติ เลิกด้วยอานาปานสติ ไม่เพียงแต่สติปัฏฐานเฉยๆ จะเรียกว่าอานาปานสติ แต่มันก็เป็นเรื่องเดียวกันแหละ พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้เองว่าเมื่ออานาปานสติสมบูรณ์แล้วสติปัฏฐานก็สมบูรณ์ แต่มันสมบูรณ์อย่างดีที่สุด ไม่ลวกๆ อย่างสติปัฏฐานง่ายๆ ธรรมดา อานาปานสติสมบูรณ์แล้วสติปัฏฐาน ๔ ก็สมบูรณ์ สติปัฏฐาน ๔ สมบูรณ์แล้ว โพชฌงค์ก็จะสมบูรณ์ โพชฌงค์สมบูรณ์แล้ววิมุตติก็จะสมบูรณ์ มรรคก็จะสมบูรณ์ วิมุตติก็จะสมบูรณ์ วิชชาและวิมุตติจะสมบูรณ์ นั่นแหละคือมรรคมีองค์ ๘
ว่าอีกทีก็ว่าอานาปานสติสมบูรณ์แล้วสติปัฏฐานก็สมบูรณ์ สติปัฏฐานสมบูรณ์แล้วโพชฌงค์ก็จะสมบูรณ์ โพชฌงค์สมบูรณ์แล้ววิชชาและวิมุตติก็จะเต็มที่สมบูรณ์ นี่มันหมดทั้งพระพุทธศาสนา หมดทั้งพรหมจรรย์ทั้งระบบในพระพุทธศาสนา มันเป็นอย่างนี้ จะทำในลักษณะที่เรียกว่าโพชฌงค์ก็ได้ อานาปานสติก็ได้ สติปัฏฐานก็ได้ สัญญา ๑๐ ก็เป็นวิธีลัดสำหรับพระคิริมานนท์ยืมมาใช้ก็ได้ ท่องกันไว้ โพชฌงค์ ๗ จำไว้ให้ขึ้นใจ สัญญา ๑๐ จำไว้ให้ขึ้นใจ แล้วก็อานาปานสติ ๔ หมวด ๑๖ ขั้นก็จำไว้ให้ขึ้นใจ การเลิกอายุก็จะทำง่ายๆ เหมือนกับไปเก็บยอดผักบุ้งในทุ่งนา มันจะง่ายขนาดนั้น ขอให้คุณทำให้ถึงที่สุด โพชฌงค์ก็ได้ สัญญา ๑๐ ก็ได้ อานาปานสติก็ได้ อานาปานสติหมวดที่ ๑ เป็นนายเหนือร่างกาย บังคับกายได้ตามชอบใจ อานาปานสติหมวดที่ ๒ เป็นนายเหนือเวทนา บังคับเวทนาได้ตามชอบใจ อานาปานสติหมวดที่ ๓ เป็นนายเหนือจิต บังคับจิตได้ตามชอบใจ อานาปานสติหมวดที่ ๔ บังคับธรรมที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นหรือธรรมชาติทั้งปวงได้ตามชอบใจ คือจะไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดเลย ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสังขตธรรมทั้งปวงและจะไม่ยึดมั่นถือมั่นในอสังขตธรรมทั้งปวงนั่นน่ะ จะไม่ยึดมั่นแม้แต่ในพระนิพพาน พระนิพพานจะมีลักษณะน่ารัก น่าพอใจ น่ายึดมั่นเท่าใด ก็ไม่ยึดมั่น นี้เรียกว่าไม่ยึดมั่นในธรรมทั้งปวง สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย ธรรมทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ทั้งที่เป็นสังขตและอสังขตะ คือธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งเป็นไปตามปัจจัยเรียกว่าสังขตะ ธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งไม่ต้องเป็นไปตามอำนาจปัจจัยปรุงแต่งเรียกว่าอสังขตะ นี้เราไม่ยึดมั่นทั้งสังขตะและอสังขตะ นั่นแหละคือวิมุตติๆ วิมุตติ หลุดพ้น หลุดพ้นโดยประการทั้งปวง
นี่คืออานาปานสติ ที่จะช่วยเลิก เลิกปัญหา ดับทุกข์ เลิกปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับตัวตนก็เลิก ปัญหาเกี่ยวกับอายุก็เลิก ปัญหาเกี่ยวกับชีวิตก็เลิก ปัญหาเกี่ยวกับเวลาก็เลิก ไม่มีปัญหาอะไรเหลือ จิตหลุดพ้น เหนือปัญหา เหนือความทุกข์ จิตไม่รู้จักกับความทุกข์อีกต่อไป ดีหรือไม่ดีล่ะ ไม่มีโอกาสพบกับความทุกข์อีกต่อไป นี่คือดับทุกข์โดยไม่ต้องดับ แต่ว่าทำให้มันไม่เกิด สามารถทำให้ความทุกข์มันไม่เกิด มันไม่ต้องไปดับทุกข์ให้หน้าตามอมแมม ทำให้ไฟไม่เกิดดีกว่าทำให้ไฟเกิดแล้วจึงดับ หมายความว่าดับทุกข์ ดับอายุ เลิกอายุ ก็คือทำอย่าให้มันเกิดขึ้นมา อย่าให้มันมีความหมายเป็นอันตรายอะไรขึ้นมา นี่คือรายละเอียด รายละเอียดเท่าที่จะพอปฏิบัติได้ หรือว่าใจความ ใจความที่สมบูรณ์คืออย่างนี้ แม้จะไม่ละเอียดทุกตัวอักษร แต่มันก็สมบูรณ์ สมบูรณ์ว่าอานาปานสติมีเรื่องอย่างนี้ มีข้อความอย่างนี้ มีอะไรๆ อย่างนี้ พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญยิ่งกว่า ยิ่งกว่าภาวนาไหนๆ หมดแหละ พระพุทธเจ้าท่านสรรเสริญเรื่องอานาปานสติ ว่าเหมาะสมที่สุด ไม่ยุ่งยาก ไม่ลำบาก สงบเงียบระงับไปตั้งแต่ต้นๆ ไม่เอะอะตึงตัง ถ้าจะไปพิจารณาอสุภซากศพตามป่าช้ามันก็เอะอะตึงตัง อย่างนี้พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ว่าหรอก อาตมาว่าเอาเอง จะไปปฏิบัติกสิณ ก็ต้องหาบดวงกสิณรกรุงรังไปหมด สู้อานาปานสติไม่ได้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าเมื่อตถาคตอยู่ด้วยอานาปานสติเป็นวิหารธรรมก็ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ คือเป็นการบอกว่าพระพุทธองค์ตรัสรู้ด้วยระบบอานาปานสติ ทำอานาปานสติถึงที่สุดแล้วก็เห็นปฏิจจสมุปบาท ละกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท ควบคุมกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทได้ อยู่เหนือแล้วไม่มีความทุกข์เลย เรื่องก็จบแล้วกระมัง ๒ ชั่วโมงเห็นไหม ถ้าไว้พูดพรุ่งนี้ก็ต้องลงโรงกันอีก นี่เราพอจะทนกันได้เท่านี้กระมัง ปิด ปิดเลิกอายุกันได้เท่านี้ ไม่ต้องเอาถึงสามวันหรอก หนึ่งวัน หนึ่งวันครึ่งก็พอ
เลิกอายุๆ เพราะว่าอายุเป็นที่ตั้งแห่งปัญหา เพราะมีตัวกูก็มีอายุ เพราะมีอายุก็มีตัวกู มันผูกพันกันอยู่อย่างนี้ อย่ามีอายุก็ไม่มีตัวกู ไม่มีตัวกูก็ไม่มีอายุ ไม่มีตัวอายุไม่มีตัวกู ปัญหาก็ไม่มี ความทุกข์ก็ไม่มี เพราะไม่มีที่ตั้งแห่งความยึดมั่น มันก็ไม่มีความยึดมั่น ไม่มีความยึดมั่นก็ไม่มีความทุกข์ ไม่ยึดมั่นในอะไรก็ไม่มีความทุกข์ เพราะฉะนั้นจงทำลายความยึดมั่น ทำให้มันคลาย คลายออกๆ คลายออกจนดับไปเลย ดับหมดเลย ความยึดมั่นดับหมดเลย พระนิพพานก็มาเอง อย่าพูดตามคนโง่ๆ พูดว่ากูจะไปนิพพาน ยิ่งไปยิ่งไม่ถึง ยิ่งไปยิ่งไม่พบ ยิ่งไปก็ยิ่งเตลิดไปไหนก็ไม่รู้ ทำลายอวิชชา ทำลายตัวกู ทำลายอุปาทานยึดมั่นถือมั่น พอทำลายได้นิพพานก็มาเอง นิพพานก็สวมครอบเอาเอง เหมือนกับเปิดประตูหน้าต่าง แสงสว่างก็เข้ามาเอง เดี๋ยวนี้ประตูหน้าต่างมันยังปิดอยู่นี่ มันปิดเป็นม่านทึบ ไม่รู้จักแม้แต่พระพุทธเจ้า ไม่รู้จักความดับทุกข์หรือพระนิพพาน เพราะม่านมันบังอยู่ ถ้าจะพูดว่าเลิกม่านเผาม่าน เอาม่านไปสับไปทิ้งเสีย ก็คืออานาปานสตินั่นแหละจะช่วยทำ จะช่วยเลิกม่าน จะช่วยสับม่าน จะเอาม่านไปเผาไฟเสีย ก็ด้วยระบบอานาปานสติ
เป็นอันว่าเราพูดกันถึงเรื่องเลิกอายุ สมบูรณ์น่ะๆ เลิกอายุด้วยระบบสติปัฏฐาน ด้วยระบบอานาปานสติ สะดวกที่สุดสบายที่สุด จะเรียกว่าด้วยระบบโพชฌงค์ก็ได้เพราะมันรวมอยู่ในนั้น จะเรียกว่าด้วยระบบสัญญา ๑๐ ก็ได้ มันก็มาก คำพูดมันก็มากหน่อย คำพูดมันก็มากหน่อย คำพูดให้มันสั้นมันน้อยก็เรียกว่าอานาปานสติ ทำอานาปานสติ คือกำหนดความจริงของสิ่งทั้งปวงอยู่ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า ทุกครั้งที่หายใจออกเข้านี่รู้สึกความจริงของสิ่งทั้งปวง ความจริงของกาย ความจริงของเวทนา ความจริงของจิต ความจริงของธรรมทั้งปวง มันก็ได้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นพุทธบริษัทได้เต็มที่ ขอให้สำเร็จประโยชน์ตามนี้
เอ้า,ปิดประชุม ก็หวังว่าท่านทั้งหลายอุตส่าห์มาด้วยความยากลำบาก ด้วยความเสียสละ ด้วยความหมดเปลือง มาในเรื่องเลิกอายุ อาตมาบอกว่าจะเลิกอายุ ไม่ต้องมาก็ได้ ก็ยังมา ก็มา มาเรียนเรื่องเลิกอายุ ขอให้ได้ความรู้เรื่องเลิกอายุกลับไป นี่ก็จะได้ผลคุ้มค่ามา คุ้มค่าลงทุนเรี่ยวแรงเงินทองข้าวของอะไรก็ตามที่ลงทุนไปในการมานี้ ขอให้ได้ผลคุ้มค่า ให้ได้ผลคุ้มค่า เริ่มมาตั้งแต่ว่าเรามันยังโง่อยู่ เราก็หลงอายุ บ้าอายุ สมโภชอายุ ฉลองอายุ แซยิดกันใหญ่ หยุดข้อแรก ทำไมล่ะ กูไม่เอากับมึงแล้วโว้ย ก็เริ่มล้อๆ ล้อๆ กันหมดแล้ว เดี๋ยวนี้เลิกๆ เลิกๆ เลิก เรื่องมันจบที่เลิก ถ้าให้พูดกันอีกนะ ถ้าจะมีเรื่องพูดกันอีก ก็จะพูดเรื่องไม่มีอายุล่ะทีนี้ เลิกอายุแล้ว หมดอายุแล้ว ไม่มีอายุ ไม่มีอายุ ไม่มีอายุ คือไม่มีสิ่งที่ไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลง มีแต่สิ่งที่คงที่ถาวรเป็นนิรันดร คือธรรมนิรันดร นิพพานนิรันดร พุทธนิรันดร ถ้าจะเกณฑ์ให้พูดกันอีก ก็ไปพูดเรื่องนู้นแหละ สำหรับปีนี้ พูดเรื่องเลิกอายุๆ หมดปัญหาเกี่ยวกับอายุ อายุไม่มากัด ไม่มากัดเจ้าของ ขอให้สำรวมระวัง มันไม่เหลือวิสัย ไม่เหลือวิสัย ถ้าทำผิดมันก็สอน สอนให้ถูก อย่ากลัว ทำผิดทำไม่ได้มันก็สอนให้ทำถูก ขี่รถจักรยานหกล้ม หกล้มน่ะมันสอน มันสอนด้วยการหกล้มด้วยการถลอกปอกเปิกน่ะ มันสอน ฉะนั้นอย่ากลัวอย่าเสียใจว่าทำไม่ได้ ทำไม่ได้แล้วมันจะสอนให้ทำได้ ขอให้ทำๆ ถ้าทำไม่ได้มันก็จะสอนให้ทำได้ ทุกคนจะทำได้ ไม่มากก็น้อย แม้จะไม่ถึงที่สุดมันก็ต้องได้ตามสมควรนั่นแหละ เราอยู่ในพวกที่จะปฏิบัติได้บรรลุได้ ไม่ใช่พวกปทปรมะ พวกที่พระพุทธเจ้าโปรดไม่ได้เขาเรียกว่าปทปรมะ นี่เราไม่ได้เป็นพวกนั้น เราอยู่ในพวกที่จะค่อยๆ ค่อยๆ ถอนขึ้นมาได้ ค่อยๆ ถอนขึ้นมาได้ ขอให้ถอนตัวออกจากอวิชชา คือทำวิชชาให้เกิดน่ะ อวิชชามันก็หายไปเอง ไม่ต้องไปทะเลาะกับอวิชชา ทำวิชชาให้เกิดความทุกข์ก็ไม่เกิด ความทุกข์ไม่เกิดมันก็ไม่ต้องดับทุกข์ให้ยุ่ง
ฉะนั้นขออนุโมทนาในการมา ถ้าท่านทั้งหลายได้รับประโยชน์นี้กลับไป ถ้าท่านทั้งหลายไม่ได้รับประโยชน์อะไร ยมบาลก็เล่นงานอาตมาว่าทำให้คนเสียเวลาเปล่า เปลืองเปล่า ยุ่งเปล่าๆ ยุ่งเปล่าๆ ช่วยกันหน่อย ช่วยทำให้สำเร็จประโยชน์ ให้สำเร็จประโยชน์คุ้มค่ามา ยมบาลก็ทำอะไรเราไม่ได้ จะทำอะไรอาตมาก็ไม่ได้ ทำอะไรท่านทั้งหลายก็ไม่ได้ เพราะว่าเราทำให้เป็นประโยชน์ สำเร็จประโยชน์ตรงตามพระพุทธประสงค์ เพราะฉะนั้นการศึกษานี้ก็ดี การปฏิบัตินี้ก็ดี มันเป็นการสืบอายุพระศาสนาตามพระพุทธประสงค์ เพราะพระองค์ทรงประสงค์ให้มันมีศาสนาอยู่ในโลก เป็นที่พึ่งแก่สัตว์โลกทั้งเทวดาและมนุษย์ ขอให้มั่นใจว่าเราจะทำนี้เพื่อสนองพระพุทธประสงค์ให้เป็นข้อใหญ่ ตัวเองก็ได้รับประโยชน์ ไม่ไปไหนเสีย สนองพระพุทธประสงค์แล้วมันได้รับประโยชน์กันทั้งโลก ทั้งสากลจักรวาล ทั้งเทวดาและมนุษย์ ท่านว่าอย่างนั้น เอาล่ะ,ขอยุติการประชุมกันเพื่อพิธี วิธีกรรมการเลิกอายุ ก็สิ้นสุดลงเพียงเท่านี้/