แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คำถาม : มีอะไรที่จำเป็นสำหรับบุคคล ซึ่งเดี๋ยวนี้ยังโง่ ยังมีอวิชชา แต่อยากจะรู้จักธรรมะ อยากจะเข้าใจธรรมะ เขาควรจะทำอะไรที่จำเป็นที่สุด//
ท่านพุทธทาส : ตามความเป็นจริง ถ้าเขายังโง่ เขาจะไม่อยากรู้ธรรมะ เพราะเขาจะไม่รู้ว่ามีธรรมะ หรือธรรมะจะช่วยอะไรได้ ถ้าเขายังโง่เต็มที่ เขาคงไม่อยากจะรู้ธรรมะ ฉะนั้นเขาจะต้องเริ่มเห็นธรรมะ รู้จักธรรมะ จึงจะเกิดความต้องการหรือความสงสัย เขาจะต้องเริ่มสนใจกับปัญหาหรือตัวเขาเองก่อน แล้วเขาก็จะต้องการแก้ปัญหาเหล่านั้น เขาจึงจะแสวงหาธรรมะที่จะแก้ปัญหาของเขาโดยเฉพาะ เขาต้องรู้จักตัวเองก่อนว่ามีปัญหาอย่างไร เขาจึงจะสนใจธรรมะได้ถูก//
คำถาม : เมื่อเราเห็นอารมณ์ร้าย ๆ ในตัวเรา เช่น โลภะ โทสะ โมหะ ราคะ ความกลัวอะไรเป็นต้น เมื่อเราเห็นว่าสิ่งนี้มีจริงแล้ว เราควรจะทำอย่างไรต่อ//
ท่านพุทธทาส : ตามธรรมชาติหรือตามสัญชาตญาณ มันก็จะวิ่งหนี เมื่อเห็นว่าสู้ไม่ได้ และมันก็จะต่อสู้เมื่อเห็นว่าพอจะสู้ได้ ฉะนั้นถ้าเขารู้จักศัตรูคือกิเลสนั่นในลักษณะพอที่จะต่อสู้ไหว เขาก็หาหนทางที่จะต่อสู้ ถ้าเขาไม่รู้จักพอที่จะเห็นว่าจะต่อสู้ไหว เขาก็วิ่งหนีหรือว่าไม่สนใจ เขาจะไม่สนใจ ฉะนั้นเราจะต้องมีความเข้าใจในตัวปัญหาของเราเอง และเห็นทางที่ว่าจะต่อสู้ได้ ความอยากที่จะต่อสู้มันก็เกิดขึ้น และมาสนใจธรรมะ และก็สนุกดี ๆ เรารู้จักกันแต่ปัญหาหยาบ ๆ ปัญหาง่าย ๆ ปัญหาเด็ก ๆ ความเจ็บไข้ เรากลัวความเจ็บไข้ กลัวความตาย กลัวความยากจน เราไม่ได้สิ่งที่เรากำลังต้องการ เราเห็นแต่ปัญหาเหล่านี้ ปัญหาที่ละเอียดลึกซึ้งเป็นเรื่องของกิเลสที่ทำให้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์จริง ๆ เราไม่ค่อยรู้จัก ฉะนั้นเราจึงไม่สามารถจะแก้ปัญหาที่แท้จริงที่ลึก ๆ นั้นได้ เพราะเรารู้จักแต่ปัญหาเด็กๆ //
คำถาม : ปัญหาอยู่ทำนองว่า เมื่อการดูจิต การมีสติกำหนดซึ่งจิต อันนี้มันจะเกิดตัวตนได้ไหม คือเขาเข้าใจว่า ตัวตน มันเนื่องด้วยความรู้จักตัวเอง การกำหนดตัวเอง ความรู้สึกซึ่งชีวิตตัวเอง อันนี้เป็นเหตุให้เกิดตัวกู เพราะฉะนั้นเมื่อเราไปสนใจจิต มากำหนดเฝ้าดูจิต มันจะเกิดตัวกูหรือไม่//
ท่านพุทธทาส : แน่นอนแหละ มันเป็นตัวกูชนิดหนึ่ง เมื่อเราไปเกิดสนใจ หรือเกิดไปต้องการอะไรขึ้นมาแล้วมันก็เกิดตัวกูชนิดนั้นขึ้นมาเฉพาะเหตุการณ์นั้น ๆ ซึ่งตามธรรมดายังไม่เกิด พอไปสนใจ พอไปอยากรู้ พอไปต้องการ มันก็เกิด นี่มันเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องธรรมชาติที่จะต้องเป็นอย่างนี้ มีความต้องการเมื่อไร ก็เกิดตัวตนน่ะ ตัวตนผู้ต้องการเมื่อนั้น เราก็ต้องรู้จักไว้ด้วย คือมันอยู่ในจำพวกตัวตนที่ต้องกำจัดเหมือนกัน ตัวตัวที่ต้องกำจัด เหมือนกันกับตัวตนอย่างอื่น//
คำถาม : ขอโทษครับ เขาไม่ได้ใช้คำว่าต้องการ เขาใช้คำว่า เมื่อเรากำหนดรู้ซึ่งจิต ซึ่งเราแนะนำให้ปฏิบัติ เป็นการเฝ้าดูจิต ค่อย ๆ ดูจิตอยู่สม่ำเสมอ//
ท่านพุทธทาส : ก็เป็นตัวตนเหมือนกัน เพราะว่าเรามีตัวตนพื้นฐานที่ว่าต้องการสิ่งที่เราต้องการนั้นน่ะ ตัวตนพื้นฐานมันมี มันทำให้เกิดความต้องการ ๆ นี้ก็คือตัวตนอีกตัวตนที่เกิดขึ้นมาเฉพาะเรื่องนี้มาตามลำดับ หลายตัวตน หลายตัวตนเป็นลำดับ มีความต้องการ มีความพยายาม มีการได้รับผล มีความพอใจในผลของการกระทำ ล้วนแต่เป็นตัวตน ตัวตน ทุก ๆ ขั้น เพราะว่าเราจะต้องมีความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น มันเป็นตัวตนทั้งนั้น ละตัวตนดั้งเดิม ตัวตนประจำชีวิต คืออุปาทานตัวประจำชีวิตนั้นได้ มันจึงจะเลิกตัวตนเล็ก ๆ เล็ก ๆ เหล่านี้ได้ มีตัวตนโดยสัญชาตญาณนั่นน่ะ ตัวตนโดยสัญชาตญาณ มีอยู่เป็นพื้นฐาน ๆ ตลอดเวลาหรือทุกแห่ง แล้วก็สร้างตัวตนเล็ก ๆ เล็ก ๆ ขึ้นมาเฉพาะเรื่อง ๆ บนฐานของตัวตนสัญชาตญาณ ฉะนั้นตัวตนที่จะเกิดต่อไปข้างหน้าจึงมีมาก ก็ล้วนแต่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของตัวตนสัญชาตญาณ สัญชาตญาณที่ต้องการจะอยู่ ต้องการจะเจริญ ต้องการจะอร่อยโดยสัญชาตญาณนั้น เป็นพื้นฐานสำหรับเกิดตัวตนอีกมากมาย ๆ//
คำถาม : เขาฟังอาจารย์พูดเมื่อวานว่า ท่านอาจารย์บอกว่าการเห็นอนิจจังเป็นความทุกข์ คือการเห็นอนิจจัง มัน painful อยู่ในการเห็นนั้น แต่เขาก็บอกว่า อนิจจังนั้นมันไม่สุขไม่ทุกข์อยู่ในตัว ตัวมันไม่สุขไม่ทุกข์ ทำไมอาจารย์จะต้องบอกว่า การเห็นการค้นพบอนิจจัง มันจะเป็นทุกข์สำหรับเรา จะเป็นไปอย่างไร บางทีมันจะเป็นสุขเลย เพราะว่ามันตัดปัญหาของเรา//
ท่านพุทธทาส : การเห็นอนิจจังมันเพื่อจะดับทุกข์ แต่การเห็นว่าเราต้องอยู่กับสิ่งที่เป็นอนิจจังนั้นน่ะมันเป็นทุกข์ เรามีความจำเป็นจะต้องอยู่กับสิ่งที่เป็นอนิจจัง มันเป็นทุกข์ ทีนี้ถ้าเราเห็นอนิจจังข้อนี้ มันจะช่วยให้เราแก้ปัญหาหรือดับทุกข์ได้ คำพูดมันกำกวม เห็นในแง่ไหน เห็นอนิจจังเห็นในแง่ไหน บางทีเห็นผิดไปตรงกันข้ามเสียก็มี แต่ที่จะดับทุกข์ได้ ก็เห็นว่า โอ้,อย่าไปยึดมั่นถือมั่น มั่นหมายในสิ่งที่เป็นอนิจจังนี่ การเห็นอย่างนี้มันจะช่วยดับทุกข์ การเห็นอนิจจัง คือเห็นความจริง ความจริงของธรรมชาติ เราจะได้ปฏิบัติตัวเราให้เหมาะสมให้เข้ากันได้ ให้กลมกลืนกันได้กับธรรมชาติ อย่างนี้มากกว่า การเห็นอนิจจังนั้นก็มีความรู้สึกเหมือนกันที่ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นทุกข์เพราะอนิจจัง เป็นทุกข์เพราะอนิจจัง เราต้องเห็นว่า สิ่งนั้นน่าเกลียดน่ากลัวเสียก่อน เราจึงจะอยากพ้นไปจากสิ่งนั้น นี่ก็เหมือนกันแหละ เราเห็นว่าความเป็นอนิจจังน่าเกลียดและน่ากลัว เราจึงอยากจะพ้นจากอำนาจของสิ่งที่เป็นอนิจจัง ไม่ให้มันครอบงำหรือทำให้เราเป็นทุกข์ได้ ต้องเห็นความน่าเกลียดน่ากลัวไม่น่าปรารถนาในสิ่งนั้น ๆ เสียก่อน แล้วจึงเกิดความต้องการที่อยากจะพ้นไปจากสิ่งนั้น หรืออยู่นอกอำนาจของสิ่งนั้น ก็ต้องใช้การเห็นของอนิจจังกันในลักษณะอย่างนี้ เพื่อจะพ้นอำนาจของสิ่งที่เป็นอนิจจัง ขอให้เห็นครบทั้ง ๓ อย่างดีกว่า เห็นอนิจจังด้วย ก็อยากพ้นจากสิ่งที่เป็นอนิจจัง เห็นทุกขังด้วย ก็อยากจะพ้นจากสิ่งที่เป็นทุกขัง เห็นอนัตตาด้วย ก็อยากจะพ้นจากสิ่งที่เป็นอนัตตา เห็นครบทั้ง ๓ อย่างดีกว่า ดีกว่าเห็นเพียงอย่างเดียว//
คำถาม : อาจารย์ครับ เมื่อเห็นว่ามันอนิจจัง เราจะรู้สึกทุกข์ หรือจะรู้สึกแต่ว่าสิ่งนี้เป็นทุกข์ เราจะมีทุกข์เมื่อเห็นไหม//
ท่านพุทธทาส : มันก็หลายตอน เพียงแต่ทีแรก ก็เห็นว่า โอ้,สิ่งนี้เปลี่ยนแปลงเรื่อย เปลี่ยนแปลงเรื่อย ควบคุมมันไม่ได้ ก็จะไม่เกี่ยวข้องกับมัน มันก็จะเห็นวิธีที่จะออกไปเสีย ไม่เกี่ยวข้องกับมัน ก็เห็นไปตามลำดับ ๆ จนเราหลุดพ้นออกไปจากอำนาจของสิ่งนี้ เห็นไปตามลำดับ ก็เรียกว่าลำดับญาณ ญาณที่เห็นไปตามลำดับ//
คำถาม : และการเห็นนั้นจะเป็นทุกข์สำหรับเราไหม//
ท่านพุทธทาส : มันแล้วแต่กรณี กรณีที่เห็นแล้วเป็นทุกข์น่าเกลียดน่ากลัวก็มี เห็นแล้วเกิดความเข้าใจ เกิดความกล้าหาญ เกิดความเข้มแข็งที่จะต่อสู้ก็มี มันแล้วแต่การเห็นในลำดับไหน หลายลำดับ มันมีความลับอยู่อย่างหนึ่งซึ่งจะต้องรู้จักนะ ถ้าเราไม่รู้จักสิ่งที่เป็นอนิจจังอย่างถูกต้อง เราจะหลงรัก เราจะกลับหลงรักสิ่งที่เป็นอนิจจังนั้น ถ้าเราไม่เห็นทุกขังอย่างถูกต้อง เรานั่นแหละจะกลับหลงรักสิ่งที่เป็นทุกข์คือโง่ที่สุด ไม่รู้จักอนัตตา ก็จะไปหลงรักสิ่งที่เป็นอนัตตาอย่างยิ่งขึ้นไปอีก นี้เป็นความลับที่มีอยู่จริง ขอให้สังเกตดูให้ดี ๆ
เมื่อเราหลงรักสิ่งที่เป็นอนิจจัง ก็มีความสุข รู้สึกเป็นความสุขเหมือนกัน แต่เป็นความสุขของความโง่ ความสุขของความโง่ หลงรักสิ่งที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ข้อนี้ต้องระวังให้ดี เรามีหรือไม่ ความหลงรักสิ่งที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดความสุขของความโง่ หลงความสุขของความโง่นี่แก้ยาก ปัญหาที่แก้ยาก แม้แต่ชีวิต ชีวิต ชีวิตนี้ ลองไปหลงรักเถอะ มันกัดเอา หลงรักสิ่งใดสิ่งนั้นจะกัด ไปหลงรักสิ่งใดสิ่งนั้นจะกัด เราต้องเกี่ยวข้องกับมันโดยวิธีที่ถูกต้อง คือไม่ต้องหลงรัก แล้วก็จัดการ จัดการไปตามที่ควรจะจัด ก็อยู่ได้เป็นสุข ได้รับประโยชน์ หรือได้รับประโยชน์สุข โดยไม่ถูกกัดเพราะความหลงรัก
ถ้ารัก มันก็เป็นความโง่ แต่ว่าถ้าเราเพียงแต่ชอบหรือพอใจ มันอาจจะเป็นความฉลาด เป็นความต้องการของสติปัญญา ความต้องการของสติปัญญา นี้เราเรียกว่าความพอใจ ไม่ถึงกับเรียกว่าความรักหรอก ถ้าเป็นเรื่องความรัก เท่ากับเป็นเรื่องของความโง่ ไม่มีปัญญา ถ้าเราพอใจ พอใจด้วยสติปัญญานี่ เราไม่เคยเรียกว่าความรัก เราเรียกว่าความพอใจ จะมี appathize ในสิ่งนั้นได้มากเท่าไรก็ได้ มันไม่กัด อย่าเอาความพอใจ เช่น contentment อย่าเอาไปปนกับความรัก อย่าเอาความพอใจไปปนกับความรัก มันคนละอัน contentment นี้ มีได้ด้วยสติปัญญา แต่ถ้าว่าความรักแล้ว มันมืด มันไม่มีปัญญา เป็นความหลงชนิดหนึ่ง ความรัก
แม้แต่นิพพาน นิพพานะ,นิพพานก็ดี แม้แต่พระเจ้า พระเป็นเจ้าก็ดี ถ้าพอใจ พอใจ พอใจด้วยสติปัญญาได้ ก็มีความสุข แต่ถ้ารักด้วยความโง่ มันก็เป็นของ delusive มันก็กัดเหมือนกันแหละ คือมันไม่ใช่นิพพานจริง มันไม่ใช่พระเจ้าที่แท้จริง มันเป็นพระเจ้าของความโง่ อย่างนี้ก็กัดเหมือนกัน นี่เราพูดอย่างนี้เลย ไปหลงรักด้วยความโง่ แล้วมันกัดทั้งนั้น แม้สิ่งสูงสุดมันก็กัด เรามีเงินทอง มีข้าวมีของ มีอะไรก็ตาม ถ้าด้วยความพอใจด้วยสติปัญญา มันไม่กัด พอหลงรักด้วยความโง่ เป็นห่วงวิตกกังวล มันกัด กัด กัด//
คำถาม : คนนี้ก็เห็นว่า ในพุทธศาสนาก็เน้นเรื่องว่า ไม่มีตัวตน ซึ่งเที่ยงและไม่เปลี่ยนแปลง เรื่องนี้แม้แต่ท่านอาจารย์เองก็พูดกันอยู่ เช่นทำนองว่า ทุกอย่างมันอนิจจัง เพราะฉะนั้นตัวตนมันอนิจจังด้วย//
ท่านพุทธทาส : เดี๋ยวก่อน ตัวตนมันเกิดจากความโง่นะ มันไม่มีตัวจริง ความโง่สร้างขึ้นมา ตัวตน ๆ ไม่ได้มีของจริง ไม่ได้มีตัวจริง แต่ว่าความโง่สร้างขึ้นมาเป็น concept แล้วมันจะเที่ยงได้อย่างไรล่ะ มันจะเที่ยงได้อย่างไร ฉะนั้นไม่ต้องพูด ตัวตนมันก็คือไม่เที่ยงไปตามที่ความโง่มันสร้างขึ้นมา เราสร้างตัวตนด้วยปัญญา ให้มันเป็นตัวตนที่ยอมรับว่าเราสมมติ สมมติขึ้นมาให้เป็นตัวตน สร้างตัวตนที่มีปัญญา ที่เป็นปัญญา คู่กันกับตัวตนแห่งความโง่ แล้วมันก็จัดการกันเอง มันก็จัดการกันเอง เราเอาแมวมา,นะ แล้วเราก็ไม่ต้องจัดการกับหนู เราต้องการกับแมว เอาแมวมา แล้วหนูมันก็ไม่มีเอง ตัวตนที่โง่ พอได้รับการจัดการอย่างดี ๆ แล้วมันหมดไป ๆ เหลืออยู่แต่สติปัญญา แล้วจะไม่เรียกว่าตัวตน มันเป็นความรู้ เป็นสติปัญญา ไม่มีความหมายแห่งตัวตน นี่เรียกว่าตัวตนที่ฉลาด สมมติ ๆ ให้เป็นตัวตนที่ฉลาด ตัวตนโง่ก็หายไป เหลือแต่สติปัญญา ชีวิตนี้ก็ blissful and useful
มันช่วยไม่ได้ ช่วยไม่ได้ที่จะไม่ให้มีตัวตน เพราะมันมีโดยสัญชาตญาณ โดยสัญชาตญาณที่เราไม่รู้สึกรู้จัก หรือยังไม่ควบคุมมันได้ มันมีตัวตนโดยสัญชาตญาณ ทีนี้อบรมตัวตนโดยสัญชาตญาณให้มันฉลาด ฉลาด ฉลาด กลายเป็นไม่ใช่ตัวตน กลายเป็นโพธิ โพธิ-ปัญญาไปเลย วิธีการมันต้องเป็นอย่างนั้น ที่จะไม่ให้มีความรู้สึกว่าไม่มีตัวตนนี้ มันเป็นไปไม่ได้ เพราะมันมีโดยสัญชาตญาณ มันมีทั่วไปหมดในสิ่งที่มีชีวิต ทีนี้เราเป็นคนนี่ เรามีทางที่จะอบรม อบรมตัวตนโง่ของสัญชาตญาณนั้นให้เป็นตัวตนที่ฉลาด ๆ ฉลาด ๆ แล้วตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าไปเลย ถ้าอบรมดีแล้วได้ถึงที่สุด นี่มีโครงการที่จะจัดการกับตัวตนอย่างนี้ มีเป้าหมายอย่างนี้
แม้ตัวตนที่เกิดโดยสัญชาตญาณ มันก็ไม่ใช่ตัวตนหรอก ตัวตนที่มันเกิดโดยสัญชาตญาณ โดยแท้จริงมันก็ไม่ใช่ตัวตน แต่ความไม่รู้หรือยังไม่รู้ของเราน่ะ เราจะเรียกว่ายังไม่รู้ เรายังไม่เรียกว่าความโง่ จะไม่เรียกว่าความโง่ แต่เรายังไม่รู้จักมัน เราก็เข้าใจผิดเอาเองว่าเป็นตัวตน เป็นตัวตน ฉะนั้นตัวตนของสัญชาตญาณก็ควรจะเห็นได้ว่าไม่ใช่ตัวตน แล้วก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ตัวตนในทุกครั้งที่เกิดความรู้สึกว่าตัวตน มันก็ค่อย ๆ หมดไป ๆ ไม่ยึดถืออะไรว่าเป็นตัวตน ปัญหาก็ไม่มีเหลือ
ขอให้สังเกตคำสองคำนี้ให้ดีสักหน่อย มันเป็นปัญหา คือคำว่าโง่ ๆ นี้คำหนึ่ง แล้วก็คำว่ายังไม่รู้ ๆ นี้อีกคำหนึ่ง แยก-discriminate ออกเสียเป็น ๒ ชนิด ไม่ใช่อันเดียวกัน โง่นี้มันโง่โดยอวิชชา มันโง่โดยที่ไม่อาจจะรู้ แต่ถ้าว่า ยังไม่รู้ เดี๋ยวนี้ยังไม่รู้ แต่อาจจะรู้ คำนี้ไม่ใช่ความโง่ ยังไม่ใช่ความโง่ชนิดนี้ มันเป็นคำว่าที่ว่าเรายังไม่รู้ และเราอาจจะทำให้รู้ รู้ รู้ แล้วก็ไม่เกี่ยวกับความโง่ เดี๋ยวนี้เราจะถือว่าเรายังไม่รู้ อย่าให้มันโง่ถึงขนาดที่ว่ามันโง่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เรายังไม่รู้ เราทำให้มันรู้ขึ้นมา เรายังไม่รู้ เราก็ทำให้มันรู้ขึ้นมา ตัวตนโดยสัญชาตญาณนี้ ขอให้เรียกมันว่ายังไม่รู้ อย่าไปจัดให้มันเป็นโง่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ให้มันเป็นยังไม่รู้ เราจะปลูกให้มันงอกไปในทางรู้ อย่าให้ไปในทางโง่ จัดให้มันเป็นตัวตนโดยสัญชาตญาณ ให้ถูกต้อง ให้ถูกต้อง
มีคำคำหนึ่ง อุปมาว่า ปลูกต้นไม้แห่งโพธิให้งอกงาม ต้นไม้แห่งโพธิเป็นเมล็ดพืชมาจากสัญชาตญาณ ในสัญชาตญาณมีพืชแห่งโพธิ มาปลูกต้นไม้ต้นนี้ให้งอกงาม ๆ มันก็จะหมดปัญหาเกี่ยวกับตัวตน ในชีวิตมีเมล็ดพืชแห่งโพธิ ในชีวิตทุกชนิดทุกระดับ แม้แต่ของสัตว์เดรัจฉาน เราจะพูดว่ามีพืชมีเมล็ดพืชแห่งโพธิ แต่ส่วนมากมันไม่ได้ปลูก มันไม่ได้ปลูก มันตายไปหรือว่ามันไม่ได้ปลูก แล้วมันกลายเป็นเป็นอวิชชาเป็นความโง่ไปเสีย ปลูกต้นไม้แห่งโพธิให้เจริญ เจริญ เจริญแต่ในทางโพธิ ชีวิตนี้ก็น่าดู ถ้าว่าการศึกษาของเราถูกต้อง เรามีการศึกษาที่ถูกต้อง มันจะมีการปลูกต้นไม้แห่งโพธิอยู่ในการศึกษานั่นเอง เดี๋ยวนี้การศึกษาในโลกมันผิด มันผิดทาง มันไม่ปลูก แล้วมันก็ปลูกความโง่แทน เห็นแก่ตัวเข้ามาแทน โพธิไม่รู้ไปไหนหมด//
คำถาม : โรคทางกาย มันเกิดมันมีเหตุที่ใจหรือไม่ หรือมันมาจากกรรม โรคทางกายเป็นเรื่องที่สร้างขึ้นมา หรือเป็นเรื่องกรรม เนื่องด้วยกรรม//
ท่านพุทธทาส : นี้ทางหลักธรรมะในพุทธศาสนา ถือว่าทุกอย่างๆ มันมีมูลมาจากจิต จะเป็นเรื่องกายก็ดี เป็นเรื่องวาจาก็ดี มันมีมูลมาจากจิต โรคทางกายมันเกิดขึ้นเพราะไม่มีความถูกต้องในทางจิต เพราะไม่มีความรู้อันถูกต้องในเรื่องทางจิต เปิดโอกาสให้เกิดโรคทางกาย จึงสรุปเลยว่า ความเสียหาย ความเลวร้ายทุก ๆ อย่าง มันมาจากความไม่ถูกต้องในทางจิต ถ้ามีความถูกต้องในทางจิต ก็ไม่เกิดปัญหาทางกายหรือทางจิตเอง ใช้คำให้ดีก็ว่า ถูกต้องทางสติปัญญา ทาง spiritual มันก็จะไม่มีปัญหาในทาง mental หรือในทาง physical นี่ถือเป็นหลักอย่างนี้ เพราะว่าจิตเป็นประธาน เป็นตัวต้น เป็นตัวนำ เป็นตัวนำหน้าของทุก ๆ สิ่ง นี่ถือเป็นหลักอย่างนี้ แล้วก็อธิบายได้ทั้งนั้นแหละ ทุกอย่างตั้งต้นมาที่จิต ถ้าตั้งจิตไว้ผิด ก็มีปัญหาทางฝ่ายเป็นทุกข์ ถ้าจิตตั้งไว้ถูก ก็มีแต่ไปในทางที่ดับทุกข์ เช่นว่า ถ้าเรามีความเครียด มีความเครียด จิตใจเครียดอยู่เสมอ ไม่เท่าไรเราก็เป็นโรคกระเพาะ กระเพาะนั่นเป็นเรื่องร่างกาย ความเครียดเป็นทางจิตใจ เป็นเหตุให้เกิดโรคกระเพาะซึ่งเป็นโรคทางกาย อย่างนี้ หรือว่าเรามีความกลัวอยู่เสมอ มีความกลัวคุกคามอยู่เสมอ ไม่เท่าไรก็ต้องเป็นโรคทางร่างกายปรากฏออกมา ถ้าเรามีความรักมาก เราก็จะเป็นโรคที่เกี่ยวกับความรัก แล้วก็ออกมาทางกาย ทางกายวิปริต ทำผิด ทำน่าเกลียด ทำอะไรอีกหลาย ๆ อย่าง//
คำถาม : ถ้ากลัว จะเกิดโรคอะไรนะครับ//
ท่านพุทธทาส : ก็เกิดโรคที่เกิดจากความกลัวหลาย ๆ อย่าง แม้แต่โรคกระเพาะหรือแม้แต่โรคประสาท แล้วก็จะโรคอัมพาตอะไรไปตามเรื่อง//
คำถาม : แล้ววิธีแก้ไข ล่ะครับ//
ท่านพุทธทาส : ก็คือไม่เป็นโรคทางจิต คือไม่เป็นโรคทางสติปัญญา อย่าให้สติปัญญาเป็นโรค แล้วก็จะไม่มีโรคทางจิต แล้วก็จะไม่มีโรคทางกาย ฉะนั้นเรามาศึกษาให้ถูกต้อง ๆ โดยเฉพาะเรื่องตา ตา ตา ตา นี่ จะคุ้มครองทุกโรค จะคุ้มครองทุกโรค แล้วยังจะคุ้มครองไม่ให้ตายด้วย ไม่ให้มีความตาย ไม่ให้เกิดความรู้สึกว่ามีตัวที่ตาย ป้องกันแม้แต่ความตาย อย่าว่าป้องกันโรคเลย ป้องกันโรคยังเล็กกว่าป้องกันตาย มีธรรมะอันสูงสุด ไม่มีตัวตน แล้วก็ไม่มีโรคอะไร แล้วก็ไม่มีความตายด้วย แม้แต่ว่าโรคข้างนอก โรคทางวัตถุ ปัญหาทางวัตถุ มันก็เกิดมาจากความโง่ของจิตใจ วัตถุเกิดเป็นอันตราย เกิดผิด ๆ ผิดเรื่องขึ้นมา มันก็มีอันตราย วัตถุในบ้านเรือนเป็นอันตรายขึ้นมา ก็เพราะความโง่ของเจ้าของบ้าน เมื่อรถชนกันดีกว่า เมื่อรถยนต์ชนกันกลางถนนน่ะ มันมีโรคทางวิญญาณไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่าย ทางวัตถุก็ยังเป็นโรคทางจิต นั่นมันเชื้อโรค ๆ เราโง่ ไม่ป้องกันเชื้อโรค ไม่อาจป้องกันเชื้อโรค มาลาเรียก็เข้ามาเล่นงานเรา ก็เป็นความโง่เหมือนกัน เอาละ,ว่าทุกโรค ๆ หรือความเลวร้าย-calamity ทุกชนิดทุกอย่างทุกประการ มาจากความเป็นโรคทางวิญญาณ//
คำถาม : เวทนาเป็นเรื่องจิตก็เข้าใจแล้ว ไม่ใช่เรื่องวัตถุ ช่วยอธิบายยิ่งขึ้นไป เวทนามันเกิดขึ้นเพราะกิเลสใช่หรือไม่/
ท่านพุทธทาส : ยัง / เวทนานั่นแหละเป็นเหตุให้เกิดกิเลส เวทนานั่นแหละเป็นจุดตั้งต้น เป็นที่ตั้งต้นที่จะแสดงออกไปในทางโง่ หรือแสดงออกไปในทางฉลาด ที่จะแสดงไปในทางบวกไปในทางลบ ดูที่ตรงเวทนา มันมีวิญญาณ มันมีผัสสะและมันมีเวทนา พอมาถึงขั้นเวทนานี้ ต่อนี้จะเป็นจุดตั้งต้นที่จะแสดงออกมาเป็นความโง่ หรือความโง่จะแสดงออกมา หรือจะเป็นความฉลาด ๆ ที่จะแสดงออกมา ความเป็นบวกเป็นลบนี้ก็จะแยกทางกันตรงนี้ ตรงเวทนานี่ ควบคุมเวทนาอย่าให้เป็นลบ อย่าให้เป็นโง่ ก็ไม่มีปัญหา เวทนาที่ประกอบอยู่ด้วยความโง่ มันจะนำไปในทางฝ่ายที่เป็นทุกข์ เวทนาที่ประกอบอยู่ด้วยความฉลาด ๆ มันจะนำไปในฝ่ายตรงกันข้ามคือไม่ทุกข์ คุณระวังเวทนา ควบคุมเวทนา จัดการกับเวทนา อย่าให้มันโง่ได้ ถ้าว่าเก่งจริง เก่งจริง ก็ฉลาดมาเสียตั้งแต่ขณะผัสสะ ถ้าฉลาดขณะผัสสะแล้วก็เวทนาไม่โง่ เวทนาก็ฉลาด ฉลาดจริงก็ควบคุมมันเสียตั้งแต่ในขณะแห่งผัสสะ มีปัญญา มีความรู้เกิดเสียแต่ในขณะแห่งผัสสะ//
คำถาม : แล้วถ้าหมดกิเลสแล้ว ความรู้สึกทางกาย จะยังมีความรู้สึกที่เป็นสุขเป็นทุกข์ เช่น เมื่อกินข้าวพอสมควรเรียบร้อยแล้ว เราก็รู้สึกอิ่มสบาย อันนี้จะยังมีอยู่แม้แต่แก่พระอรหันต์ หรือไม่ //
ท่านพุทธทาส : ได้ รู้สึกว่าสบายหรือรู้สึกไม่สบาย แต่ก็ไม่มีผลที่จะทำให้เกิดกิเลส ไม่มีผลที่จะทำให้เกิดกิเลส เพราะกิเลสมันหมดไปเสียแล้ว แต่ว่าถ้ายังมีความรู้สึกเหลืออยู่ว่านี้อร่อยหรือนี้ไม่อร่อย ก็ได้เหมือนกัน พระอรหันต์ทีแรก มีเชื้อเหลือมีอุปาทิเหลือ แต่ถ้าสูงขึ้นไป จะไม่มีความรู้สึกว่าอร่อยหรือไม่อร่อย นี้มันดับไปหมด เวทนาเย็นสนิท เวทนายังไม่เย็นสนิท ก็จะรู้ว่านี้สวย นี้ไม่สวย ตามที่เขาเรียกกัน นี้หอม นี้เหม็น นี้อร่อย นี้ไม่อร่อย ยังรู้สึกอย่างนี้ได้ แต่ไม่เกิดกิเลส ไม่เกิดกิเลส คนธรรมดาพอรู้สึกอย่างนั้นมันก็เกิดเป็นกิเลสรัก หรือกิเลสเกลียดหรือโกรธอะไร เกิดบวกเกิดลบ สิ้นกิเลสแล้วก็ยังรู้สึกว่าอะไรเป็นบวกอะไรเป็นลบ แต่ไม่มีเอฟเฟค (effect)เหนือจิตใจ และสิ้นกิเลสชั้นสูงสุดไม่มีความรู้สึกเป็นบวกเป็นลบ-อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ นี่สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ สิ้นกิเลสแล้วยังรู้จัก เรียกว่ายังรู้จักดีกว่า ว่าอันนี้เป็นบวก อันนี้เป็นลบ พออนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ไม่มีความหมายที่ทำให้รู้สึกว่าเป็นบวกหรือเป็นลบ มันสูงสุด เรียกว่าเวทนาเย็นสนิท นี้เวทนายังไม่เย็นสนิท
แม้ว่ามันจะเป็นธรรมะสูงสุด ธรรมะชั้นลึกที่สุด ก็มีประโยชน์ที่ควรจะเข้าใจ แล้วก็จำไว้ง่าย ๆ ว่า สิ้นกิเลสแล้วเวทนาเย็นสนิท สิ้นกิเลสแล้วเวทนายังไม่เย็นสนิท เท่านี้ก็มีประโยชน์มาก ขอให้เข้าใจ สิ้นกิเลสแล้วเวทนายังไม่เย็นสนิท ยังรู้สึกว่าอย่างนั้นเรียกว่าบวก อย่างนี้เรียกว่าลบ แต่ไม่ทำให้กิเลสมากไปหรือเกิดกิเลสอีก ทีนี้เวทนาเย็นสนิท ไม่มีความรู้สึกเป็นบวกหรือเป็นลบในเวทนาทั้งหลาย เวทนาไม่มีความเป็นบวกความเป็นลบ นี่สูงสุด นี้เรียกว่าสิ้นกิเลสแล้วเวทนายังไม่เย็นสนิท-not yet ทีนี้สิ้นกิเลสแล้วเวทนาเย็นสนิท ไม่มีความหมายแห่งบวกและลบอีกต่อไป ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องลึกเรื่องยาก ก็ควรจะรู้ไว้เถอะ มันเป็นเรื่องนิพพานอันสุดท้าย สิ้นกิเลสแล้วเวทนาเย็นสนิท สิ้นกิเลสแล้วเวทนายังไม่เย็นสนิท อันนี้มาก่อน พระอรหันต์ที่หนึ่งยังไม่เย็นสนิท พระอรหันต์สูงสุดก็เย็นสนิท
เอาอย่างนี้กันดีกว่า มันง่าย มันชัดเข้ามาอีก ในบ้านเรือนของคุณน่ะ ในบ้านเรือนที่บ้านที่เรือนน่ะ คุณไม่รักและไม่เกลียดอะไรแล้วนะ ไม่รักและไม่เกลียดอะไรแล้ว แต่คุณยังรู้สึกว่า สิ่งนี้เรียกว่าน่ารัก สิ่งนี้เรียกว่าน่าเกลียดอยู่ อย่างนี้ก็มี ทีนี้คุณไม่รักไม่เกลียดอะไรแล้ว และก็ไม่รู้สึกต่อสิ่งใดว่าน่ารักหรือน่าเกลียด นั่นแหละสูงสุด คืออาจจะรู้สึกว่านี้อร่อยหรือไม่อร่อย แต่ไม่เกิดผลเป็นทางบวกหรือลบ ถ้าคนธรรมดามันบวกลบ บวกลบ มีผลเป็นบวกเป็นลบ เดี๋ยวนี้รู้สึกว่าไม่บวกและไม่ลบเลย//
คำถาม : อาจารย์ก็บอกว่า ธรรมะคือหน้าที่ สำหรับฆราวาส การได้งานและมีลูกเลี้ยงลูกเป็นหน้าที่หรือไม่//
ท่านพุทธทาส : อ๋อ,แน่นอน ถ้าเรายังมีระดับเป็นผู้อยู่ในโลก ยังครองเรือน-householder น่ะ เราก็ต้องมีหน้าที่แบบครองเรือน ถ้าเราออกไปไม่มี เป็นhomeless หรืออะไร มันก็ไม่มีหน้าที่อย่างครองเรือน มันก็มีหน้าที่เป็นhomeless หน้าที่มีได้เป็นระดับ ๆ เป็นพวก ๆ ว่าจะอยู่ครองเรือนหรือว่าจะออกไปนอกเรือน อย่าลืมว่า household นั่นน่ะ มันเพื่อ homeless ในที่สุด ครองเรือน ๆ นี่ ก็จะไปสู่จุดที่เหนือเรือนพ้นเรือนนอกเรือน household นั่นน่ะเพื่อ homeless ถ้าเราจัดการไม่ถูกต้องกับเรื่อง household ไม่มีหวัง homeless ไม่มีหวัง homeless//
คำถาม : คำถามนี้ ก็ถามว่า มีอะไรแตกต่างกันอย่างไร ระหว่าง อสังขตะ,นิโรธธาตุ, นิพพาน และอตัมมยตา ๔ คำนี้แตกต่างกันอย่างไร//
ท่านพุทธทาส : ถ้าจะเอาความแตกต่าง มันก็ต้องเอาคู่ตรงกันข้าม อตัมมยตานั่นแหละจะทำให้ถึงนิโรธหรือถึงนิพพาน หรือว่าความมีนิพพานก็มีอตัมมยตาอยู่เต็มที่พร้อมกันไปได้ นี้มันฝ่ายพ้นไปแล้วฝ่ายหลุดพ้นแล้ว ทีนี้ฝ่ายที่ยังไม่มีอตัมมยตาถึงที่สุด อตัมมยตายังไม่ถึงที่สุดนี่ ก็มีปัญหาเป็นชั้น เป็นชั้น เป็นชั้น ในชั้นเรื่องกาม กามารมณ์ ก็มีปัญหา ในชั้นพ้นกาม แต่ยังมีตัวตน ตัวตนอย่างนั้น ตัวตนอย่างนี้ ก็ยังมีปัญหา คำนี้ช่วยจำให้ดี ยังอยู่ในภพ-ภวะๆ นี้ยังอยู่ในภพ ทีนี้ฝ่ายนี้ก็หมดภพ สิ้นภพ หมดภพ สิ้นภพ เป็น ๒ ซีก นี่เรายังอยู่ในภพ มีความเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งในหลาย ๆ อย่าง นี่ยังอยู่ในภพ ยังตกอยู่ในวิสัยแห่งภพ ทีนี้อตัมมยตานั้นเลื่อนชั้น ๆ ไปจนกระทั่งว่าเหนือภพ หมดภพ สิ้นภพ ดับภพ ถ้ายังมีรู้สึกเป็นตัวตน ก็ต้องมีภพแหละ ตัวตนในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ก็เป็นภพอย่างนั้น ถ้ามีภพแล้วก็ต้องมีชาติ มีทุกข์ มีตัณหา ถ้าเหนือภพหมดภพแล้วก็ไม่มีทุกข์ อตัมมยตาน้อย ๆ ก็ช่วยเลื่อนชั้นน้อย ๆ อตัมมยตาสูงสุดก็เหนือภพโดยประการทั้งปวง อตัมมยตาเด็ก ๆ ก็เลื่อนภพที่สูงขึ้นไป สูงขึ้นไป สูงขึ้นไป สุดท้ายก็หมดภพ หมดภพก็เย็นเป็นนิพพาน หมดภพก็เย็นเป็นนิพพาน อตัมมยตาใช้เป็น ๒ ความหมายก็ได้ เครื่องให้ถึงนิพพานก็ได้ หรือเมื่อถึงนิพพานแล้ว มีอตัมมยตาอยู่เป็นปรกติ เป็นปรกติก็ได้
คำว่าภพ มันเข้าใจยากแหละ ขอร้องให้ท่านพยายามให้มาก ทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่าภพ มันไม่ใช่ว่าexistence เฉย ๆ ไม่ใช่ มันมีความหมายมากกว่านั้น มันมีมูลมาจากอวิชชา ๆ ทำให้เกิดความโง่ว่ามีตัวตน และตัวตนเป็นชนิดนั้น ตัวตนชนิดนี้ ตัวตนชนิดนั้น ตัวตนต่าง ๆ เช่นนั้นแหละคือภพ รู้สึกตัวตน รู้สึกเป็นตัวตนแล้ว มันก็รู้สึกว่าฉันเป็นคนดี ฉันเป็นคนชั่ว ฉันเป็นมนุษย์ หรือว่าฉันเป็นสัตว์เดรัจฉาน กระทั่งว่าฉันเป็นผู้หญิง ฉันเป็นผู้ชาย นี่คือความรู้สึกของคำว่าภพ มันก็มียึดมั่นถือมั่นไปตามที่จะยึดมั่นว่าเป็นอะไร แล้วปัญหามันก็เกิดขึ้นจากความยึดมั่น ฉะนั้นถ้าภพแล้วล่ะก็เป็นยุ่ง ถ้ามีภพแล้วก็เป็นวิกฤตการณ์เสมอไป หมดภพก็จึงจะหมดวิกฤตการณ์ ขอให้รู้จักคำว่าภพ ๆ เรากำลังคิดว่าเราเป็นอะไร เราเป็นอะไร เราเป็นไทย เราเป็นฝรั่ง เราเป็นผู้หญิง เราเป็นผู้ชาย เราเป็นนาย เราเป็นบ่าว เราเป็นคนมั่งมี เราเป็นคนยากจน เป็นคนดี เป็นคนชั่ว ความหมายเหล่านี้ยังทำให้เรามีปัญหามีความทุกข์ หมดภพแล้วก็เลิกกัน คือไม่เป็นอะไร ไม่เป็นอะไร แล้วก็เข้าใจยาก คนเขาเข้าใจว่า ถ้าไม่เป็นอะไรคือตายสิ ไม่ใช่ ๆ ไม่ตายหรอก ไม่ตาย แต่ไม่เป็นอะไร ไม่มีภพ นั่นเหนือภพ ๆ เหนือปัญหาทั้งปวง โดยอตัมมยตา หาคำแปลที่เหมาะสำหรับคำว่าภพเสียหน่อยเถอะ ว่าภพเป็นคำที่เข้าใจยาก ภพเป็นคำที่เข้าใจยาก คำที่เข้าใจยากที่สุดคือคำว่าภพ
เข้าใจไหม คุณไม่มี existence แต่คุณไม่ตาย คุณเข้าใจไหม ไม่มี existence แต่คุณก็ไม่ตาย คือไม่มี existence ด้วยความสำคัญว่าเป็นนั่นเป็นนี่ เป็นมนุษย์ เป็นสัตว์ เป็นสามี เป็นภรรยา เป็นคนจน อย่างนี้เรียกว่าไม่มีภพ ภาษาไทย เรียกบาลีดีกว่า ภวะ ๆ ไม่มี existence หมายความว่าอย่างนี้ เพราะฉะนั้นคำว่าภพ ไม่รู้จะแปลว่าอะไรดี แปลว่า existence นี้มันยังน้อยไป แปลว่า existence ด้วยอำนาจอวิชชา สำคัญเอาเองว่า ฉันเป็นอย่างนั้น ฉันเป็นอย่างนี้ แล้วมันจะสำคัญว่าฉันเป็นคนดีเสมอไป ฉันเป็นคนสวย ฉันเป็นไปในทางดีเสมอไป นี่มันยึดติดภพฝ่ายบวก ภพเข้าใจยาก ถ้าว่าเราหมดความรู้สึกภพ เราก็หมดปัญหา
จำไว้สั้น ๆ ว่า ถ้ามีภพ,ภวะน่ะ ถ้ามีภวะแล้ว ต้องมีปัญหาและมีความทุกข์ หลีกไม่พ้นหรอก ถ้าภพยังเหลืออยู่ จะต้องมีปัญหาและมีความทุกข์ อุปมาที่น่าหัวน่าขันที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ภพ-ภวะนั้น เปรียบเหมือนกับ อุจจาระ มีนิดเดียว ๆ เล็กนิดเดียว จนมองไม่เห็นว่าอยู่ที่ไหน อุจจาระนั้นน่ะ แต่ก็เหม็น ยังเหม็นจนได้ เล็กจนไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน อุจจาระก็ยังต้องเหม็น ภพนี่เหมือนกัน แม้จะมีนิดเดียว มันก็จะต้องมีปัญหาและความทุกข์ ฉะนั้นก็มีหน้าที่ที่จะจัดการอย่าให้ภพมีความทุกข์ นี่คือหน้าที่ คือ duty
ที่เขาพูดว่า ถ้ามีความรัก ต้องมีความทุกข์ นั่นถูกนิดเดียว ถึงไม่รักก็มีความทุกข์ แต่ถ้าพูดว่า มีภพแล้วมีความทุกข์ นี้ถูกหมดเลย ภพชนิดบวกภพชนิดลบอะไรก็ตามมีความทุกข์หมด มีภพต้องมีทุกข์ และมีหน้าที่ที่จะกำจัดความทุกข์อย่าให้ภพนี้เป็นความทุกข์ นั้นคือหน้าที่ เราจึงมีหน้าที่ตามที่มีอยู่ หน้าที่เป็นผู้หญิง เป็นผู้ชาย เป็นนาย เป็นบ่าว เป็นลูกจ้าง เป็นนายจ้าง เป็นอะไรก็ตาม มีหน้าที่ ๆ ทำหน้าที่ให้ลุล่วงไปด้วยดี มันก็จะไม่มีความทุกข์ ฉะนั้นอย่ามีภพ แล้วจิตจะไม่เป็นทุกข์ จิตอย่ามีภพ แล้วจิตก็จะไม่เป็นทุกข์ แม้ข้างนอกเขาจะสมมติให้เรามีภพอย่างนั้นอย่างนี้ ให้เขาสมมติไป ในจิตใจเราไม่เป็น นี้เรียกว่าเราไม่มีภวะ ไม่มีภพ
ปัญหาเรื่องภพ ปัญหาเกี่ยวกับภพ ปัญหาเรื่องภพ ที่มันทำให้คุณต้องมาจากเมืองนอกมาสู่เมืองไทย ปัญหาเรื่องภพ คุณไม่รู้ว่าคุณมาเมืองไทย เพราะเหตุอะไร บอกคุณให้รู้ คุณมาเมืองไทยเพราะปัญหาเรื่อง ภวะ ปัญหามันลึก ปัญหามันลึก มองไม่ค่อยจะเห็น หมดภพนั่นแหละคือนิพพาน หมดภพก็คือหมดทุกข์ หมดภพนั่นแหละคือนิพพาน เห็นอตัมมยตาแล้วจะหมดภพโดยประการทั้งปวง หมดภพโดยสิ้นเชิง เหนือภพ เหนือความเป็นภพ เหนือความมีภพ ที่เราเรียกว่าโลกุตตระ-ultramundane,supramundane เหนือภพ ๆ ก็คือเหนือภพนี้ ไม่ต้องเป็นอะไร ไม่ต้องรู้สึกว่าเป็นอะไร เด็ก ๆ เขาฟังไม่ถูก เขาว่าถ้าไม่มี existence ไม่มีภพ ก็คือตาย คือตาย เขาเข้าใจไปเสียอย่างนี้ ที่จริงถ้าไม่มีภพ ไม่มีภพนั่นแหละคือไม่ตาย ไม่มีภพนั่นแหละมันคือไม่ตาย เพราะมันไม่มีอะไรจะตาย ไม่มีตัวที่จะตาย จึงว่าไม่มีภพนั่นแหละคือไม่ตาย//
คำถาม : เมื่อเราพิจารณาดูเรื่องความเจ็บป่วย การเบียดเบียนของอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ฆ่าสัตว์ ขายเนื้อสัตว์ เมื่อมองถึงความต้องการทางร่างกายของเราทางโภชนาการ เมื่อดูเศรษฐกิจเกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ มันจะดีไหม จะฉลาดไหม ที่เราจะเป็นคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ กินแต่อาหารเจ//
ท่านพุทธทาส : ปัญหาเกี่ยวกับมังสวิรัติ/ ข้อนี้ เราต้องรู้จักแยกออกจากกัน การเจตนาที่จะฆ่าให้ตายนั่นน่ะอย่างหนึ่ง และเจตนาที่จะช่วยให้รอดโดยที่ไม่ต้องตายนั่นน่ะมันก็อีกอย่างหนึ่ง เรากินอาหารเพื่อจะไม่ต้องตาย นี่เราก็จึงต้องกินอาหารเพื่ออยู่ได้ เราเลี้ยงสัตว์ด้วยเจตนาเลี้ยงสัตว์ นี้ยังไม่เป็นไร ถ้าเราฆ่าสัตว์ เจตนาฆ่าสัตว์แล้วมันก็ผิด เรียกว่าผิด ไม่ควรจะทำ แต่บางทีมันแยกกันไม่ได้นะ มันแยกกันไม่ได้ เจตนาเพื่อจะอยู่ แต่มันทำให้มีการตาย นั้นมันมีได้ เช่น คุณทำนาทำไร่นั่นน่ะ คุณใช้เครื่องจักรทำนา คุณก็ต้องทำอะไรตายเยอะในแผ่นดิน ตายเยอะด้วยเครื่องไถนานั่น นั้นเราไม่ได้เจตนาจะฆ่าสิ่งเหล่านั้น เราก็ไม่ถือว่าเป็นบาปเพราะเหตุนั้น อย่าไปเจตนาจะฆ่า เจตนาแต่จะทำนา บางคราวเราต้องกินยา กินยาถ่ายเข้าไป ตัวพยาธิตัวเล็ก ๆ ตัวอะไรต่าง ๆ มันต้องตาย เพราะเรากินยาถ่าย แต่เราไม่ได้กินยาถ่ายเพื่อจะฆ่าสิ่งเหล่านั้น เจตนาเพื่อจะเอาชีวิตรอด เพราะฉะนั้นไม่มีเจตนาจะฆ่าใคร มีเจตนาจะเอาชีวิตรอด อย่างนี้ก็ไม่เรียกว่าบาป มันไม่มีบาปเพราะการทำหน้าที่ที่ถูกต้อง ไม่มีบาปเพราะทำหน้าที่ที่ถูกต้อง แม้ว่าจะมีการตายเกิดขึ้น ไม่มีเจตนาจะให้ตาย เอ้า,คุณเดินไปสิ คุณเดินไป คุณต้องทำอะไรสัตว์ตัวเล็ก ๆ ตายในดินนั่น อย่างนี้เรียกว่าไม่มีบาปเพราะเหตุนั้น ไม่มีบาปในการทำหน้าที่ที่ถูกต้อง
จะกินเนื้อหรือกินผักนี้ เราไปว่าเอาเอง ถ้าเรารู้ธรรมะถึงที่สุดแล้ว มันไม่มีเนื้อ มันไม่มีผัก เนื้อสัตว์มันก็เกิดจากหญ้าที่สัตว์กินเข้าไป อย่างนี้เป็นต้น ไม่ควรจะแยกเป็นเนื้อ ไม่ควรจะแยกเป็นผัก เรียกว่าอาหาร อาหาร อาหารที่ต้องกิน อย่าไปแยกเป็นเนื้อและเป็นผัก มันจะเกิดความโง่ขึ้นมา จะทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา ถ้าคุณกินอาหารคำนี้มันเป็นข้าว คำนี้มันเป็นเนื้อสัตว์ ก็เรียกว่ามันเป็นธรรมชาติ เป็น ingredient ของธรรมชาติ อย่าไป classify เป็นเนื้อ อย่าไป classify เป็นผัก แต่ถือว่าเป็นอาหารที่ถูกต้อง อย่างนี้แล้วจะไม่มีปัญหาที่ว่ากินเนื้อหรือกินผัก
แต่มันมีข้อยกเว้นว่า ถ้าเราจะไม่กินเนื้อ เราจะกินแต่ผัก มันให้เกิดผลบางอย่างเหมือนกัน มันเกิดผลบางอย่างเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ผลสูงสุด ผลสูงสุดคือฉันไม่กินทั้งเนื้อ ฉันไม่กินทั้งผัก ฉันกินแต่อาหารที่ถูกต้อง vetgetarian นี้มันไม่ใช่ความจริงอันเด็ดขาดหรอก มันไปทำให้ลำบากขึ้นมา อย่างนั้นอย่างนี้ ต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้ พระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ ท่านฉันอาหาร ฉันอาหาร ฉันอาหาร ไม่ฉันเนื้อ ไม่ฉันผัก ไม่มีความหมายแห่งเนื้อและผัก จึงไม่มีความทุกข์ไม่มีปัญหา อย่าไปทำความสำคัญมั่นหมายให้เป็นเนื้อหรือเป็นผัก ให้เป็นแต่อาหารตามธรรมชาติ ประกอบอยู่ด้วยธาตุ,ธา-ตุทั้งหลาย มาประกอบกันขึ้นเป็นอาหาร เรียกว่าฉันธาตุ กินธาตุตามธรรมชาติ ไม่ใช่กินเนื้อ ไม่ใช่กินผัก
นี้ก็ควรจะปรับให้เข้าใจกันให้ถูกต้อง จะได้ไม่มีปัญหายุ่งยากเรื่องกินเนื้อหรือกินผัก ไม่กินเนื้อและผักทั้งสองอย่าง กินแต่อาหารที่ถูกต้อง แล้วก็ไม่มีเจตนาจะฆ่า แต่มีเจตนาเพื่อให้ถูกต้องอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น มีข้าศึกมาจะฆ่าเรา เราก็ต้องป้องกันตัว แม้ข้าศึกจะตาย เราก็ต้องไม่มีบาปเพราะเหตุนั้น เพราะเราไม่มีเจตนาจะฆ่าเขา เรามีเจตนาจะป้องกันตัวเอง อย่างนี้การปฏิบัติหน้าที่ที่ถูกต้องนะ แม้จะมีการตายเกิดขึ้นก็ไม่เป็นบาป พวกหมอที่มีจิตใจดี ๆ เขาก็มีการช่วยชีวิตหนึ่ง แต่ให้ชีวิตหนึ่งต้องตาย อย่างนี้เขาไม่เป็นบาป อย่ามีเจตนาฆ่า มีเจตนาที่ถูกต้องที่จะให้ไม่ตาย ให้รอด ให้ไม่ตาย เราจะป้องกันประเทศชาติก็เหมือนกัน ทหารจะต้องรบป้องกันประเทศชาติ มันต้องมีการตายแหละ แต่ทหารอย่ามีเจตนาจะฆ่า อย่ามีเจตนาจะฆ่าเขา มีเจตนาจะป้องกันประเทศชาติป้องกันชีวิต อย่างนี้ก็เรียกว่าไม่บาป มันบาปหรือไม่บาปมันอยู่ที่เจตนาว่าอย่างไร เจตนาฆ่าหรือเจตนาเพื่อจะรักษาความถูกต้อง ข้อนี้สำคัญมาก ท่านทั้งหลายต้องเข้าใจให้ดี วางจิตใจให้ถูกต้องว่าไม่มีเจตนาฆ่า มีเจตนาแต่จะทำหน้าที่ หน้าที่ที่ถูกต้อง ปัญหาก็หมด เป็นคนไม่มีบาป เป็น innocent ไปเลย หน้าที่มันไม่ทำให้เกิดบาป หน้าที่ไม่ทำให้เกิดบาป แม้ว่าจะมีการตายเกิดขึ้น นี่ใจความสำคัญ ไม่มีปัญหาเรื่องกินเนื้อกินผัก
ขอพูดอีกสักนิดนะ เกี่ยวกับ vegetarianism นี้ เป็นvegetarian มันก็มีประโยชน์ ในแง่เศรษฐกิจก็มีประโยชน์ ในแง่อนามัยก็มีประโยชน์เหมือนกันเป็น vegetarian แต่อย่าไป attach ในนั้นให้มันเป็น sacred อะไรขึ้นมา จะโง่ มันจะโง่ อย่าไป attach ให้เป็นวิเศษวิโสอะไรในการเป็น vegetarian vegetarian มันก็มีประโยชน์ ไม่ใช่ไม่มีประโยชน์ เปลืองเงินน้อย เจ็บไข้น้อย อะไรน้อย แต่อย่าไป attach ให้มันเป็นของเลิศของอะไรขึ้นมา นี่เรามีเหตุผลว่าทำอย่างไร มันเป็นไปเพื่อประโยชน์ เป็นไปเพื่อความถูกต้องแล้วก็ทำไปเถิด ถ้าว่าจะไปถือแถมก๊กลงไปว่า ไม่ทำให้สัตว์ตาย ไม่ทำให้สิ่งมีชีวิตตาย เราก็ทำอะไรไม่ได้ เราหายใจก็ไม่ได้ พอหายใจเข้าไปก็มีเยิร์ม(germ)ตาย เราเดินไปก็เหยียบสัตว์ตาย กินยาถ่ายก็มีของตาย มีโรคผิวหนังอะไรขึ้นมาเอายาทา มันก็ต้องมีการตาย เราไม่อาจจะละเว้นการทำหน้าที่ที่ถูกต้อง เพราะหน้าที่ที่ถูกต้องไม่ใช่บาปไม่เป็นบาป ทหารที่มีธรรมะสูงสุด มีธรรมะแท้จริง เป็นทหารของธรรมะ ยิงปืนไม่บาป ทหารโง่ ๆ จะยิงปืนบาป มันยิงด้วยความโกรธ มันยิงด้วยความแค้น นี่จงใช้ความเป็น vegetarian นี้ให้ถูกต้อง ๆ ให้เป็นประโยชน์ อย่าให้กลายเป็นความโง่อันใหม่ขึ้นมา ขอพูดเรื่อง vegetarianism อย่างนี้
ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา ในพุทธศาสนามีคำสรุปความสั้น ๆ ว่า ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา- live a life with wisdom จงดำเนินชีวิต ดำเนินชีวิตคือจัดการชีวิตให้เป็นไปด้วยปัญญา อย่ามีอวิชชาเข้ามา มีเท่านี้ มีสั้น ๆ เท่านี้ ท่านทั้งหลายจงดำเนินชีวิตไปด้วยปัญญาด้วย wisdom มาที่นี่เพื่อศึกษาปฏิบัติสมาธินี้ก็เพื่อพบ พบหนทางที่จะดำเนินชีวิตด้วยปัญญา มีเท่านี้ ๆ จงดำเนินชีวิตนั้นด้วยปัญญาความถูกต้องแล้ว ก็ไม่มีปัญหาอะไร
รวมความสักหน่อยว่า อย่ายึดมั่นถือมั่นในภพ ว่าเราเป็นอย่างนั้น เราเป็นอย่างนี้ มันจะเกิดปัญหาขึ้นมา ให้ปัญญาความรู้ถูกต้องทำหน้าที่ที่ถูกต้อง ทำหน้าที่ที่ถูกต้อง ไม่ต้องมีตัวตน ไม่ต้องมีตัวตน มีแต่ร่างกายกับจิตใจที่มีปัญญา อย่ามี self อย่ามีอัตตา มีแต่ร่างกายกับจิตใจที่ประกอบอยู่ด้วยปัญญา พอแล้ว ๆ
คำว่า human ในภาษาอังกฤษจะแปลว่าอะไรไม่ทราบไม่รู้ แต่คำว่ามนุษย์ ๆ ในภาษาไทยที่มาจากภาษาบาลีนี้แปลว่า ใจสูง ๆ ขอให้ท่านพยายามเป็นมนุษย์ มีจิตใจสูงอยู่เหนือปัญหา ไม่มีปัญหา ไม่มีความทุกข์ ท่านก็เป็นมนุษย์ คงจะใช้กันได้กับคำว่า human ขอให้ท่านกลับไปบ้านด้วยจิตใจที่สูงกว่าเดิม สูงกว่าเดิม ทุกคน ๆ