แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้จะได้พูดกันถึงเรื่องที่สำคัญ ที่เป็นปัญหายุ่งยาก คือเรื่องอัตตาและอนัตตา ๒ คำอยู่ เรื่องอัตตาและอนัตตา กำลังเป็นปัญหา ทำความเข้าใจกันไม่ได้ ก็เลยไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไร ที่จะได้รับประโยชน์จากพระพุทธศาสนา
ปัญหาข้อแรกก็คือ เรามีการพูดจากันทั้ง ๒ คำ ทั้ง ๒ คำ แต่ถ้าชาวบ้านพูด พวกชาวบ้านพูดตามประสาชาวบ้านในภาษาคน มีคำเดียวคืออัตตา ๆ แต่ที่เป็นคำสอนในพระพุทธศาสนาหรือพุทธภาษิต มันมีทั้ง ๒ คำ คือพูดอย่างอัตตาก็มี พูดอย่างอนัตตาก็มี ที่คนเขาไม่รู้หรือเข้าใจไม่ได้ เขาก็คิดว่า นี่มันยังไงกันแน่ พุทธศาสนาสอนเรื่องอัตตาหรือเรื่องอนัตตา
นี่ขอให้ตั้งใจฟังให้ดีว่า ภาษาคน ชาวบ้านพูด พูดแต่เรื่องอัตตา มีตัวตนเท่านั้น ทีนี้ภาษาพระธรรม เหมือนในคัมภีร์มีทั้ง ๒ คำ มีทั้งอัตตาก็พูด ทั้งอนัตตาก็พูด ทีนี้ท่านมองดูออกนอกไปถึงศาสนาอื่น ศาสนาบางศาสนา ก็ไม่มีคำว่าอนัตตา คือคำว่าอัตตา ๆ ไปเสียทั้งหมดเหมือนกัน นั่นแหละมันจึงยุ่ง
เงื่อนที่ว่าอัตตา ๆ หรือตัวตน หรือเข้มข้นนักก็เป็นตัวกูหรือของกูนี่ เรามันพูดกันอยู่โดยไม่ต้องมีใครสอน เด็กเกิดมาจากท้องแม่ โตขึ้นหน่อยก็พูดเป็นแล้วแหละ สิ่งแวดล้อมมันสอน พ่อแม่สอน ใคร ๆ ก็สอน เพราะเขาพูดจากันอย่างนั้น เด็ก ๆ ก็พูดตัวตนเป็น มีตัวกู มีของกู ไม่ได้เคยได้ยินคำว่าอนัตตา จนกว่าจะมาศึกษามาบวชมาเรียนในทางศาสนาน่ะ จึงจะได้ยินคำว่าอนัตตา ก็ฟังไม่ถูก ก็ต้องศึกษากันไปกว่าจะฟังถูก
ทีนี้ว่าทำไมเด็กจึงมีความรู้สึกเป็นอัตตา แล้วก็มากขึ้น ๆ ก็เพราะว่าโดยสัญชาตญาณของสิ่งมีชีวิต มันให้มีความรู้สึกอันนี้อยู่เป็นประจำ สำหรับเป็นรากฐานของชีวิต ที่จะเป็นจุดศูนย์กลางที่จะยึดหน่วงว่า นี่เป็นตัวชีวิตหรือเป็นตัวเรา เป็นตัวกู จะได้ป้องกัน จะได้ถนอม จะได้รักษา นี่มันเป็นความรู้สึกตามธรรมชาติ ที่เรียกกันว่าสัญชาตญาณ แต่มันก็ไม่เข้มข้นรุนแรงอะไรนักหนา เพียงเรามีตัวตน ๆ สำหรับจะยึดถือเป็นฝ่ายที่จะถนอม รักษา ต่อสู้ ป้องกัน พัฒนา ไปเรื่อย ๆ นี่เรียกว่าอัตตา ตัวตน ภาษาชาวบ้านพูดกัน ก็พูดกันจนตายเข้าโลงกระมัง พูดเรื่องว่ามีตัวตนอย่างนั้น ตัวตนอย่างนี้
ทีนี้ก็ทางฝ่ายพระศาสนาโดยเฉพาะพุทธศาสนา ที่ต้องการจะแก้ปัญหาหรือดับความทุกข์ทางจิตทางใจนี่ ต้องการจะสอนให้รู้ความจริงว่า ไอ้ที่รู้สึกอยู่ตามธรรมดาว่าอัตตา ๆ พูดอยู่ว่าอัตตา ทำอยู่อย่างอัตตานั้นน่ะ อัต อัตตา ๆ นั้นไม่ใช่ตัวจริง คือไม่ใช่อัตตาหรอก แต่เมื่อคนยังไม่รู้ มันก็ต้องพูดเป็นอัตตา อย่างที่รู้สึกกันอยู่ตามธรรมชาติ
ทีนี้เมื่อพระพุทธเจ้าจะตรัส มันก็เกิดเป็นสองฝ่ายขึ้นมา เมื่อจะตรัสอย่างภาษามีอัตตา ภาษาโลก ภาษาชาวบ้าน ภาษาชาวเมือง ท่านก็ตรัสอย่างมีอัตตา เพื่อคนเหล่านั้นมันจะฟังง่าย จะได้ปรับปรุงอัตตาให้ดีขึ้นมาจนกว่าจะรู้เรื่องอนัตตา แต่ท่านจะพูดความจริง ไม่ ๆ ได้พูดโฆษณากับคนชนิดนั้นแล้วก็ ท่านพูดอนัตตา อนัตตาโดยประการทั้งปวง แปลว่ามิใช่อัตตา จำไว้ดี ๆ อนัตตานั้นแปลว่าไม่ใช่อัตตา อย่าไปแปลว่าไม่มีอัตตา มัน ๆ ไม่ถูก มันไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่าอัตตา แต่ว่าอัตตานั้นมิใช่อัตตา นี่คืออนัตตา
คำสอนที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างมีอัตตาก็เยอะแยะไป ที่เราได้ยินมากที่สุด อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแก่ตน ใครจะเป็นที่พึ่งแก่ตนได้เล่า จงฝึกตน จงถนอมตน จงรักษาตน จงอะไรเกี่ยวเป็นตน ๆ ๆ ให้ตนเจริญเป็นตน ๆ ๆ ขึ้นไป อย่างนี้ก็มีอยู่มากเหมือนกันแหละ คือตรัสกับคนธรรมดาที่ยังไม่รู้เรื่องนี้ ตรัสอย่างมีอัตตา ก็ ๆ เป็นพุทธภาษิตเหมือนกัน
ทีนี้พอจะตรัสอย่างความจริงเด็ดขาดสูงสุด สำหรับคนที่มีปัญญาไม่ใช่ ๆ ชาวบ้านธรรมดา ก็ตรัสว่าอนัตตา ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา นี้หมายความว่าหมดเลย ไม่มีอะไรที่จะเป็นอัตตา สังขตธรรมตามธรรมดานี้ก็ดี อสังขตธรรมที่สูงสุดตรงกันข้ามก็ดี ล้วนแต่เป็นอนัตตา คือมิใช่ตัวตน มิใช่ตัวตน อย่าไปถือ ไปเข้าใจ ไปหลงว่าเป็นตัวตน
ที่เราจะได้ยินมากที่สุดก็ว่าขันธ์ ๕ ไม่ใช่ตน รูปไม่ใช่ตน เวทนาไม่ใช่ตน สัญญาไม่ใช่ตน สังขารไม่ใช่ตน เวทนา อ่า, วิญญาณไม่ใช่ตน แม้จะมีอะไรอื่นนอกไปจากขันธ์ ๕ นะ เช่นนิพพานเป็นต้นนั้นน่ะ มันก็ไม่ใช่ตนเหมือนกัน ไอ้ขันธ์ทั้ง ๕ เหล่านี้ มันเป็นฝ่ายสังขตธรรม มีกี่อย่าง มีกี่หมวด แล้วก็เป็นไม่ใช่ตน ที่นอกไปจากสิ่งเหล่านี้ ที่ตรงกันข้าม เป็นอสังขตธรรม ก็มิใช่ตน จึงตรัสว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ที่แยกออกไปว่า สังขารไม่เที่ยง สังขารเป็นทุกข์ นั่นเป็นแต่ฝ่ายสังขาร พอมาถึงทั้งหมดใช้คำว่า ธมฺมา คือจะสังขารก็ดี วิสังขารก็ดี เป็นอนัตตา
ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา พูดเป็นภาษาไทยธรรมดาก็ว่า สิ่งทั้งปวงเป็นอนัตตา พูดกันสั้น ๆ ง่าย ๆ ว่า ถ้าพูดความจริง ของแท้จริง ของธรรมชาติก็ว่า เป็นอนัตตา ทุกสิ่งเป็นอนัตตา แต่ถ้าพูดอย่างสมมติ เป็นสมมติ พูดกันในโลกในบ้านในเมืองของคนที่ไม่รู้อะไร ก็มีคำว่าอัตตา ตามที่พูดติดกันมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก กว่าจะโต นี่จึงเกิดเป็น มีทั้งอัตตาและมีทั้งอนัตตา
ทีนี้ที่พิเศษออกไปอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า คำสอนในฝ่ายศาสนาพราหมณ์ คือที่เรียกว่า ที่ ๆ ๆ คือศาสนาฮินดู ที่เราเรียกกันว่าศาสนาพราหมณ์ ที่ไม่ใช่พุทธศาสนานั่นน่ะ ในศาสนานั้นเขาสอนมีอัตตา และศาสนาฮินดูหรือพราหมณ์นี้ เขาก็เลยมาสอนที่นี่ในแผ่นดินนี้ด้วยเหมือนกัน แล้วบางทีจะมาสอนเสียก่อนพุทธศาสนาด้วยซ้ำไป พอมาสอนก็ได้รับการต้อนรับการนับถือ มันก็ผสมโรงกันดีกับเรื่องที่ว่า มันอัตตา ๆ มาแต่อ้อนแต่ออก แต่โดยสัญชาตญาณ แต่ในท้อง ประชาชนเราจึงฝังหัวมากในเรื่องมีอัตตา
ขอพูดถึงคำว่าอัตตาในฝ่ายลัทธิฮินดูหรือโน้นสักหน่อย ก็มันมีตัวตน เป็นตัวตนเหมือนกับบุคคลนี่ บางทีก็เรียกว่าบุคคล ในภาษาโน้นเขาเรียกว่าบุคคลก็มี ชีโวก็มี อัตตาก็มี หลายคำแต่มีความหมายเป็นอัตตาทั้งนั้นแหละ บุรุษก็มี อ่า, ใน ถ้า ๆ ถือตามนั้น มันกลายเป็นมี ๓ สิ่ง คือ ร่างกาย แล้วก็จิตใจ แล้วก็ตัวอัตตาซึ่งยึดครองร่างกายและจิตใจ ไอ้ตัวอัตตานี่ เป็นสิ่งที่ ๓ นี่ บังคับกายบังคับจิตให้ไปตามเรื่องด้วยกัน มันเลยมี ๓ อย่าง มีกาย มีจิต แล้วก็มีอนัต เอ่อ, มีอัตตา ส่วนพุทธศาสนา เอาออกไป อัตตาเอาออกไป เหลือแต่กายกับจิต
ทีนี้มันก็มีปัญหาว่า อะไรที่รู้สึก รู้สึกอารมณ์ได้ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทางพุทธศาสนาก็บอกว่า นั่นแหละ กายนั่นแหละ กายที่อยู่ในลักษณะ เป็นตา เป็นหู เป็นจมูก เป็นลิ้น เป็นกาย เป็นใจ นี่มันมีประสาทที่สำหรับจะรู้สึก รู้สึกอารมณ์ แล้วก็ต้อนรับอารมณ์ แล้วก็ส่งไปถึงจิตใจ จิตใจก็รู้สึกแล้วสั่งไปได้โดยไม่ต้องมีอัตตาอีกตัวหนึ่ง จะพูดง่าย ๆ เช่นว่า แม้แต่หญ้าบางชนิด มีใบกางออก พอไปถูกเข้าแล้วก็หุบ จะว่านั่นมีอัตตาด้วย คือนั่นยอมรับไม่ได้ ไม่มีใครรับได้ ไม่มีใครรับลง ระบบประสาทในร่างกายมันก็พอแล้วที่จะทำให้รู้สึก
ที่ฝ่ายพวกโน้น พวกมีอัตตา พวกฮินดู พวกพราหมณ์ เขาว่ามีสิ่งอีกสิ่งหนึ่งเรียกว่าอัตตา เข้ามาสิงสถิตอยู่ในกายกับใจ บังคับกายและใจ อัตตานั่นแหละ วิ่งมาทำงานที่ตา วิ่งมาทำงานที่หู วิ่งมาทำงานที่จมูก วิ่งออกมาทำงานที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ คงความรู้สึกโดยอัตตานั้น นั่นมัน ๆ ผิดกันอย่างนั้น เขาถึงต้องมี ๓ สิ่ง มีอัตตา มีกาย และใจ
เขาสอนกันอย่าง ๆ ๆ น่าฟังก็น่าฟัง น่าขันก็น่าขัน อัตตานี้มันสิงอยู่ พอเรานอนหลับมันไปเที่ยว พอเรานอนหลับ มันก็ออกไปเที่ยว กว่ามันจะกลับมาจึงจะตื่น หรือพอเราสะดุ้งตื่น อัตตาก็กลับมาทำงานหน้าที่ตามเดิม พูดไปถึงว่า อัตตาหลงทางที่เข้ามาไม่ได้ ไม่รู้จักตื่นขึ้นมา อันนั้นมันเรื่องของฝ่ายโน้น ไม่ต้องพูด พูดแต่ว่าพุทธศาสนามีเพียง ๒ สิ่ง คือกายกับใจ การรู้สึกอารมณ์ต่าง ๆ อยู่ที่ระบบประสาทที่มีอยู่ที่กาย ไม่ ๆ ต้องมีอัตตา
คนฮินดูที่เขาสอนอย่างนั้นมีอัตตาอีกสิ่งแล้ว มาสอนอยู่ก่อนพุทธศาสนาแน่ ๆ นะ เพราะเหตุว่าชาวอินเดียมาที่นี่ก่อนพุทธศาสนา ก่อนพระพุทธเจ้า หรือก่อน พ.ศ. ชาวอินเดียมาแล้ว ดังนั้นจึงสันนิษฐานว่า ชาวอินเดียเหล่านั้นจะมาสอนลัทธิอินเดียต่าง ๆ นานา สารพัดอย่างไว้ให้ ในเรื่อง เป็นเรื่องฮินดู เป็นเรื่องฝ่ายพราหมณ์ กระทั่งเป็นเรื่องไสยศาสตร์ ไสยศาสตร์ต่าง ๆ นานา เรื่องผีเรื่องสาง เรื่องเทวดาหรืออะไร มาสอนให้ก่อนพุทธศาสนาเข้ามา ประชาชนของเราจึงมีหัวฝังอยู่ว่า มีอัตตา มีอัตตา เพราะว่าโดยสัญชาตญาณแท้ ๆ ตามธรรมชาติมันก็ชวนให้รู้สึกเป็นอัตตา แล้วได้รับคำสอนเพิ่มเติมเข้าไปอีก มันก็ยิ่งมีหนักเข้าไปอีก
เด็ก ๆ พอคลอดจากท้องแม่ พอรู้นั่นนี่เข้า ก็ถูกอบรมให้รู้สึกเป็นอัตตา ๆ โดยสัญชาตญาณมันก็เกิดเองอยู่ว่า พอมันเด็กมันได้รับอารมณ์อะไร รู้สึกอยู่ในระบบประสาท มันก็เกิดความโง่ขึ้นมาได้เองว่า กูรู้สึก ซึ่งทีแรกไม่มีรู้สึกว่ากูหรอก แต่มาพอมากินนมแม่ แล้วอร่อย ๆ ๆ ๆ จึงเกิดความรู้สึกว่า กูอร่อย ตัวกูนี้เพิ่งเกิด เป็นผี เป็นผีหลอกเพิ่งเกิด แต่มันก็มีอิทธิพลที่จะให้รู้สึกอย่างนั้น
เอ้า, ทีนี้เด็ก ๆ มันได้รับคำพูดแวดล้อม ของพี่เลี้ยง ของพ่อของแม่ ของคนที่มาพูดด้วย มันพูด ส่งเสริมเข้าไปอีก อะไร ๆ ก็ของกู ขับกล่อมเป็นของกูว่า พ่อของหนู แม่ของหนู บ้านเรือนของหนู ตุ๊กตาของหนู อะไรของหนู ของหนู ๆ นี่ นี้ก็ส่งเสริมอัตตาหนักขึ้นไปจนเต็มที่ เด็ก ๆ ก็เลยรู้สึกเป็นอัตตาเต็มที่ พอไม่ชอบขึ้นมาก็ กูไม่ชอบ พอชอบขึ้นมา กูละชอบ
เมื่อเด็ก ๆ เดินไปชน ๆ เสา ชนเก้าอี้ ชนเสา มันก็เตะเสา เตะเก้าอี้ มึงทำกูเจ็บ กูเตะมึง นี่มันโง่ทีหนึ่งแล้ว ที่ข้างพ่อข้างแม่หรือข้างพี่เลี้ยง เที่ยวไปตีเสาไปตีเก้าอี้ให้ถึงที่เลย มันช่วยลูกให้ลูกหายร้องอย่างนี้ ยิ่งมาสอนให้โง่หนักขึ้นไปอีก กว่าจะโตขึ้น พอดี มีตัวตนมีตัวกูเต็มอัตราเลย นี่ตัวอัตตาหรือตัวตนที่เป็นอยู่จริง เกี่ยวกับเรา มันเป็นอย่างนี้ มีความรู้สึกว่าตัวตน มีความรู้สึกว่าของตนตามมา
มันมีความรู้สึกว่าตัวตนก่อน ตัวตน ๆ เป็นตัวฉันอย่างนี้ ถ้าอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องกับฉัน มันก็เรียกว่าของฉัน มันจึงมีทั้งฉันและของฉัน จึงมีทั้งอัตตาและอัตตนียา คำนี้คุณคงจะไม่ค่อยได้ยินนัก อัตตนียา คือมันคู่กับคำว่าอัตตา อัตตาแปลว่าตัวตน อัตตนียาแปลว่าของตน ตัวหนังสือแท้ ๆ แปลว่าเนื่องอยู่กับตน แต่พูดอย่างนั้นพูดลำบาก ก็พูดว่าของตนเสียเลย
มีตนและของตน เกิดความรู้สึกโง่ขึ้นมาเองจึงว่า ไอ้ความรู้สึกอันนี้มันมาจากอวิชชา ที่ค่อยเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้นมา เพิ่มขึ้นมา กว่าจะรู้กลับตรงกันข้าม เป็นฝ่ายปัญญา เป็นฝ่ายโพธิ บางทีตายเปล่าเข้าโลงไปเปล่าไม่รู้ก็มี เป็นวัดที่ได้มารับการศึกษาธรรมะทางพุทธศาสนา อย่างเพียงพอ อย่างถูกต้อง นี่ก็ ๆ ๆ จึง ๆ จะมี แต่บางทีเรียน ๆ ๆ ๆ จน ๆ ไม่รู้จะเรียนยังไง ก็ไม่ ๆ เห็นก็มี มันเพียงแต่เชื่อของมันว่าไม่มี ว่าแต่ปาก จิตใจมันยังมี ยังมีตัวกู มีของกู ขัดแย้งกันอยู่เรื่อยไป
เมื่อมีตัวตน มันก็มีความหนักใจ มีของตนก็ยิ่งหนักขึ้นไปอีก แล้วก็มีปัญหา ถ้าความรู้สึกไปในทางบวก คือ อร่อย หอม สวย อย่างนี้ รู้สึกทางบวกนี้ไปเกี่ยวข้องเข้า ดังนั้นก็เกิดอัตตาอย่างบวก คืออัตตาที่จะเอา ที่จะได้ ที่จะรัก ที่จะถนอม นี้อัตตาบวก ทีนี้ถ้ามันเกิดตรงกันข้าม คือ ไม่อร่อย ไม่น่ารัก เผ็ด ขม ร้อน อะไรก็ตาม มันก็เกิดอัตตาลบ กู ๆ ไม่ชอบ แล้วกูเดือดร้อน กูรำคาญอยู่ นี่อัตตาลบ ถ้ามันไม่มีบวกหรือไม่อาจจะปรากฏชัดว่าบวกหรือลบ มันก็โง่เท่าเดิม มันสงสัยอยู่นั่นแหละ
นี่ต้องเรียนจากของจริง ไม่เรียนจากหนังสือ คำ ความคิดว่ากูอร่อยหรือกูไม่อร่อยนี่ มันเกิดทีหลังเมื่อกินแล้ว เมื่อชิมแล้ว เมื่อกินแล้ว ต่อเมื่อกินเข้าไปแล้วจึงจะรู้ว่า กูกิน ไม่มีตัวกูล่วงหน้าที่ว่าจะกินหรือจะอร่อย นี่ตัวกูมันเกิดทีหลังการกระทำ ต้องมีการกระทำแล้วจึงจะเกิดตัวกู เช่นอยู่เฉย ๆ ไม่เกิดตัวกูหรอก พอมีดบาด เจ็บ มันจึงว่ากูเจ็บ เพราะมันมีความเจ็บเกิดขึ้นแล้วที่ระบบประสาท ความรู้สึกกูเจ็บจึงเกิดขึ้น นี้กูเพิ่งโผล่หัวออกมาด้วยความโง่
ถ้ามาศึกษาให้ดีว่า โอ้, มันก็เพียงแต่มีดมันผ่าไปในระบบประสาท มันก็รู้สึก ไม่ต้องกู แต่ใครจะรู้อย่างนี้ เพราะตามธรรมดามันก็ต้องรู้สึกว่ากูเจ็บทั้งนั้นแหละ นี่คืออวิชชา ให้เราเกิดมาเป็นตัวกู ตัวกูเกิดมาจากอวิชชา ถ้าถามว่าตัวกูคืออะไร ก็คือความรู้สึกที่โง่ ที่โง่ เกิดมาจากความโง่ว่าตัวกู ครั้นมีตัวกูแล้วก็มีของกู เมื่อเขาสอนกันอยู่ว่ามีตัวกูอย่างนั้น ๆ แล้วพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น ท่านสอนตรงกันข้าม ไม่มีตัวกู เป็นเรื่องของกาย เป็นเรื่องของจิต เป็นเรื่องของกาย มีระบบประสาทรู้ได้ ส่งให้จิตรู้
จิตโง่ก็รู้สึกไปอย่าง จิตฉลาดก็รู้สึกไปอย่าง จิตรู้ความจริงก็รู้สึกไปอย่าง ไม่รู้ความจริงก็รู้สึกไปอย่าง นี้ก็เลยมาสอน ท่านมาสอนให้รู้ความจริงว่า เฮ้ย, ไม่ใช่ตน ไอ้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รู้สึกได้ โดยระบบประสาทของมัน มันก็ไม่ใช่ตน ที่มันเป็นรูปเป็นร่างกายรู้อะไรได้ นี่ก็ไม่ใช่ตน เวทนารู้สึกสุขทุกข์ก็ไม่ใช่ตน สัญญามั่นหมายอย่างนั้นอย่างนี้ก็ไม่ใช่ตน สังขารคิดนึกอย่างนั้นอย่างนี้ก็ไม่ใช่ตน วิญญาณรู้แจ้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย นั้นก็ไม่ใช่ตน
นี่เป็นธรรมชาติตามธรรมดาไปหมด ที่มันมีความรู้สึกได้ มันก็รู้สึก ถ้าความโง่มีอยู่ มันก็รู้สึกผิด ๆ จนกว่ามันจะมีความรู้สึกฉลาดหรือถูกต้อง ดังนั้นเราจะไม่รู้เรื่องอนัตตาจนกว่าเราจะได้เรียนพระพุทธศาสนา ช่วยจำให้ดี ๆ ชน ประชาชนคนธรรมดาทั่วไปจะไม่รู้เรื่องอนัตตา จะไม่เข้าใจเรื่องอนัตตา จะไม่เห็นเรื่องอนัตตา จนกว่าจะได้มาศึกษาพระพุทธศาสนา นี่คืออัตตา อนัตตาก็คือความจริงของธรรมชาติ อัตตาก็คือความไม่รู้ ความโง่ ความหลงอะไร สร้างเป็นความรู้สึกขึ้นมา แต่มันเป็นความรู้สึกที่แนบสนิท เป็นของคนธรรมดาทั่วไป
เอ้า, ก็ยอมรับกับคุณว่าอัตตาก็อัตตา ฉันก็พลอยพูดอัตตาตามคุณ แต่ฉันว่ามันไม่ใช่อัตตา ปากของฉันว่าอัตตา แต่ฉันในใจของฉันไม่ได้รู้สึกว่าเป็นอัตตา พระพุทธเจ้าท่านก็สอนอย่างนี้ ดังนั้นจึงมีอัตตาซึ่งมิใช่อัตตา มีตัวตนซึ่งมิใช่ตัวตน มีอัตตาซึ่งมิใช่อัตตา คือมีหลักที่จะจำง่าย ๆ อย่างนี้ว่า ไอ้พวกสุดนี้มันมีอัตตา ๆ เรียกว่าอัตตา ๆ ๆ นี้พวกหนึ่ง ที่สุดฝ่ายนี้ สุดฝ่ายนี้เป็นนิรัตตา นิร อัตตา นิรัตตา ไม่มีตน ๆ ไม่มีโดยประการทั้งปวง นี่อีกฝ่ายหนึ่งสุดโต่งปิด ทีนี้ตรงกลางเป็นพุทธศาสนาบอกว่า เป็นอัตตาซึ่งมิใช่อัตตา คือเป็นอนัตตา
เขียนทั้ง ๓ คำสิ ฝ่ายนี้อัตตา ฝ่ายสุดนี้นิรัตตา นิรัตตา ไม่มีอะไรเลยนี่ ตรงกลางนี้อนัตตา ถ้าจะเป็นภาษาฝรั่ง คุณต้องเขียนว่า Not Self อย่าไปเขียนเป็น No Self Not Self มันไม่ใช่อัตตา นั่นแหละคือถูกต้อง ที่เรารู้สึกว่าอัตตา ความจริงก็ไม่ใช่อัตตา
ถ้าพระอรหันต์เป็นพระอรหันต์แล้ว แม้ปากท่านจะพูดว่าอัตตา พูดกับชาวบ้านธรรมดา ท่านก็พูดว่าตน ๆ ตัวตนเหมือนกัน แต่ในใจของท่านไม่มีความหมายว่าตน ก็เรียกว่าท่านพูดอย่าง ปากอย่างใจอย่าง คือใจรู้สึกความจริงว่าอนัตตา แต่ปากก็ต้องพูดว่าอัตตา ตามประสาชาวบ้านที่ไม่รู้เรื่องอะไร เมื่อพระอรหันต์มาคุยกับชาวบ้านเรื่องอัตตาหรืออนัตตา จึงกลายเป็นเรื่องปากอย่างใจอย่าง ท่านต้องพูดภาษาชาวบ้านว่าอัตตา ว่าฉันเป็นอย่างนี้ ท่านเป็นอย่างนั้น ลูกของท่านเป็นอย่างนี้ ลูก ผัวของท่านเป็นอย่างโน้น พูดตามภาษาอัตตา มีอัตตา แต่โดยความจริงมิได้มีอัตตา
เอ้า, ทีนี้ก็มาดูว่า อัตตา ได้ จิตได้อารมณ์บวก เกิดอัตตา อัตตาบวก เป็นตัวกูที่เป็นบวก เกิดความรู้สึกเป็นตัวกูบวก ถ้าได้ตรงกันข้ามก็เป็นตัวกูลบ ถ้ามันเกิดตัวตนบวก มีอัตตาบวก มันก็จะมีความรู้สึกที่เป็นกิเลสมาด้วยเลย มันจะเกิดราคะหรือโลภะ กิเลสบวก กิเลสที่จะฝ่ายเอา
คืนก่อนเราพูดกันแล้ว กิเลส ๓ ชนิด ถ้าอัตตาบวกมันก็เกิดกิเลสฝ่ายบวก ที่จะเอา ที่จะได้ ที่จะทนุถนอม ถ้าอัตตาลบ ตัวกูลบเกิด มันก็จะเกิดฝ่ายลบ เกิดกิเลสฝ่ายลบ โทสะ โกธะ มันโกรธ มันไม่ชอบ มันจะทำลาย มันจะฆ่า ดังนั้นตรงกันข้าม อ่า, ถ้าว่ามันไม่แน่ว่าบวกหรือลบ มันก็เกิดกิเลสประเภทโมหะ โมหะ สงสัยอยู่นั่นแหละ สงสัยอยู่นั่น
จำกันง่าย ๆ อย่างนี้ก็ได้ว่า ความรู้สึกบวก คือสุข ให้เกิดกิเลสประเภทโลภะ ราคะ ความรู้สึกประเภทลบ คือทุกข์ มันให้กิเลส อ่า, มันเกิดกิเลสประเภทโทสะหรือโกธะ ทีนี้ความรู้สึกที่ไม่ ๆ สุขไม่ทุกข์ ไม่บวกไม่ลบ มันก็เกิดกิเลสประเภทโมหะ อย่างนี้จำง่ายเข้าใจง่าย กรณีนี้เกิดอัตตาบวก กรณีเกิดอัตตาลบ กรณีเกิดอัตตาที่ไม่รู้ว่าบวกหรือลบ เกิดกิเลสประเภทบวก ก็เกิดกิเลสจะยึดมั่นถือมั่นหรือจะเอามาเป็นของ ๆ รัก กิเลสประเภทลบ ก็ยึดมั่นถือมั่น มึงเป็นศัตรู กูจะฆ่ามึง ถ้าไม่แน่ว่าบวกหรือลบก็สงสัยไว้ที โง่เท่าเดิมนั่นแหละ
เรื่องว่าเกิดกิเลส แล้วเกิดอนุสัย แล้วเกิดอาสวะ นี้พูดแล้วนะ ไม่ต้องพูดอีกแล้ว คุณลืมก็ ๆ ตามใจคุณ เลิกกัน ถ้าลืมก็ลืมไป มันเกิดกิเลส แล้วเกิดอนุสัย แล้วเกิดอาสวะ เดี๋ยวนี้เราพูดในส่วนที่เรียกว่าอัตตาหรืออนัตตา ความรู้สึกว่าอัตตา มันเป็นความโง่ที่เกิดมาทีหลัง การรับอารมณ์ การเสวยอารมณ์ มันเห็นภาพแล้ว ตาเห็นภาพแล้ว มันจึงจะเกิดความรู้สึกว่า กูเห็น หูได้ยินเสียงแล้ว มันจึงจะเกิดความรู้สึกว่า กูได้ยินเสียง จมูกก็เหมือนกัน ได้กลิ่นแล้วก็ กูได้กลิ่น รสก็เหมือนกัน กูได้รส กูได้ลิ้น ลิ้น อ่า, ลิ้นได้รสว่า กูได้รส ผิวกายได้สัมผัสว่า กูได้สัมผัส จิตมันคิดได้เองว่า กูคิด กูคิด
นี่มันเกิดสิ่งแปลกใหม่อีกสิ่งหนึ่ง เขาเรียกว่ายึดมั่น ยึดมั่นถือมั่นคืออุปาทาน บวกก็ยึดมั่นเป็นบวก ลบก็ยึดมั่นเป็นลบ ไม่บวกไม่ลบก็ยึดมั่นเป็นไม่บวกไม่ลบ แต่เป็นตัวกูทั้งนั้นแหละ เป็นตัวกูทั้งนั้น มันมาเกิดขึ้นในใจ แล้วมันก็กลายเป็นของหนัก ในกูมีของกู จิตมันไม่ว่าง มันแบกของหนักคือตัวกูและของกู เพราะฉะนั้นมันก็เป็นทุกข์เพราะความยึดมั่นถือมั่น
ถ้าไม่มียึดมั่นถือมั่นในสิ่ง ในจิตและใน ๆ จิตว่า ๆ กูว่าของกู แล้วก็มันไม่ ๆ หนัก ก็สบายดี ดังนั้นความสงบสุขแท้จริงมันมีเมื่อไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ยึดมั่นอย่างลบก็รักหนักไปอย่าง ยึด ๆ มั่นทาง อ่า, ยึดมั่นทางบวก เพื่อรักมันก็หนักไปอย่าง ยึดมั่นทางลบก็เกลียดก็หนักไปอย่าง ยึดมั่นไม่รู้อะไรก็สงสัย ๆ ก็หนักไปอีกแบบหนึ่ง มีความยึดเมื่อไรก็หนักเมื่อนั้น มือนี้อยู่ว่าง ๆ ก็ ๆ ไม่หนัก แต่ถ้าไปจับอะไรถือเข้าไว้ มันก็หนัก ดังนั้นความทุกข์โดยแท้จริงมันก็เกิดมาจากอุปาทานนี่แหละ
คุณสวดบทสวดมนต์ทุกวัน ๆ บทเช้า สงฺขิตฺเตน ปฺจุปาทานกฺขนฺธา ทุกฺขา เสยฺยถีท รูปูปาทานกฺขนฺโธ เวทนูปาทานกฺขนฺโธ สฺูปาทานกฺขนฺโธ สงฺขารูปาทานกฺขนฺโธ วิฺาณูปาทานกฺขนฺโธ สงฺขิตฺเตน นี่ว่าโดย ๆ สรุปสั้น ปฺจุปาทานกฺขนฺธา ทุกฺขา การยึดมั่นในเบญจขันธ์ ๕ เป็นตัวทุกข์ ไปยึดมั่นรูป ยึดมั่นเวทนา ยึดมั่นสัญญา ยึดมั่นสังขาร ยึดมั่นวิญญาณ ถ้าไม่ยึดมั่นก็ไม่ทุกข์
แต่ถ้าจะพูดให้นั่นเข้าไป มันก็ตัณหาก่อน มีตัณหาก่อนจึงจะเกิดความยึดมั่นถือมั่น จะพูดว่าความทุกข์เกิดมา เกิดมาจากตัณหาก็ได้ ถ้ารุกไปข้างหน้าอีกก็ว่า ความทุกข์มาจากผัสสะโง่ก็ได้ ผัสสะโง่เกิดเวทนาโง่ เวทนาโง่เกิดตัณหา ตัณหาเกิดอุปาทาน อุปาทานเกิดทุกข์
ถ้าถามว่าทุกข์มาจากไหน ก็ตอบได้ทั้งนั้นว่ามาจากอุปาทานที่ใกล้ชิดที่สุด ห่างออกไปหน่อยก็มาจากตัณหา ห่างออกไปหน่อยก็มาจากเวทนา จากผัสสะโง่ ดังนั้นอย่าไปโง่ให้มีตัวตนหรือของตน มันก็ไม่เกิดทุกข์ แต่เดี๋ยวนี้มันเคยชินเป็นนิสัยเสียแล้ว พออะไรมาก็เรียกว่าเป็นตัวตนหรือเป็นของตน พอถูกใจก็กูชอบใจ ไม่ถูกใจก็กูไม่ชอบใจ มันมีกูไปเสียทั้งนั้น
ดังนั้นสรุปความว่า กูหรือตัวตนนี้มาจากความโง่ เมื่อใดไม่โง่ไม่มีอวิชชา มันก็ไม่รู้สึกอะไรว่าเป็นตัวตน แต่มันจะเป็นเองไม่ได้ มันต้องไปเล่าเรียนศึกษาเห็นจริงในทางธรรม ในทางพระพุทธศาสนาสูงสุดโน่น มันจึงจะไม่เกิดโง่ว่า ตัวตนหรือของตน ตัวกูหรือของกู
ตัวตน ตัวตน ทีนี้เมื่อจะถามว่า ตัวตน ตัวตู ตัวตนของตนเกิดมาจากอะไรนี่ มันเกิดมาจากอวิชชา อวิชชา อวิชชาในขณะที่รับอารมณ์ อวิชชาที่เกิดขึ้นในขณะผัสสะหรือรับอารมณ์นั่น อวิชชานั้นแหละมันโง่ มันเกิดเป็นตัวตน ถ้าตัวตนบวก ก็นำไปทางรัก ทางเอา ทาง ถ้าตัวตนลบ ก็นำไปทางโกรธ ทางเกลียด ทางกลัว ถ้าไม่แน่ก็โง่เท่าเดิม นี้ตัวตนมาจากความโง่ที่เกิดขึ้นในขณะผัสสะก็ได้ เวทนาก็ได้
ทีนี้ตัวตนนี่ต้องละนี่ ไม่ละมีความทุกข์อย่างที่พูดแล้ว ทุกข์เกิดมาจากความยึดมั่นในอุปาทานทั้ง ๕ ในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ ต้องละนี่ จะไปละกับตัวตน ไปรบกับผี มันทำกันไม่ได้ ทำไม่ได้ ต้องไปจัดการที่ต้นตอของมันคืออวิชชา ที่ทำให้เกิดความรู้สึกโง่ว่าตัวตน ตัวตน ต้องจัดการที่อวิชชานั่นแหละ
ดังนั้นจัดการที่อวิชชา ให้หายอวิชชา ให้ฉลาด ให้เป็นวิชชา โดยทำให้สติมาทันเวลาที่มีผัสสะ แล้วก็เอาวิชชาหรือปัญญามาด้วย เอามาทำเป็นสัมปชัญญะ แล้วมีสมาธิอันเข้มแข็งรุนแรง ควบคุมสัมผัสนั้นไม่ให้โง่ คือไม่ไปในทางโง่ เพราะมี เพราะวิชชามันเข้ามานี่ อวิชชามันเกิดไม่ได้ หรือถ้ามันเกิดอยู่ มันเอาออกไป นี่มันก็ไม่เกิดความรู้สึกว่าตัวตน ถ้าปัญญามาทันโดยสตินำมา
มันรอดหรือไม่รอด มันอยู่ที่สติเร็วหรือช้า สติช้ามันก็ไม่ทัน มันก็เกิดเสียแล้ว ถ้าสติเร็วมันก็ไม่เกิด ดังนั้นฝึกฝนสติให้เร็ว ให้เร็ว หรืออีกทีหนึ่งก็ชะลอความคิดไว้ อย่าเพิ่งคิดตัดสินใจลงไปอะไร รอให้ปัญญาเกิดขึ้นก่อนแล้วจึงตัดสินใจ อย่างนี้ก็ได้ นิทานสอนเด็ก ๆ คงจะเคยอ่านกันมาแล้ว นับสิบก่อน ฉันจะไม่โกรธหรือไม่ ๆ ๆ ตัดสินใจอะไร ถ้านับสิบเสียก่อน
นิทานสอนเด็ก ๆ สมัยผมมี นิทานว่านับสิบก่อน เรื่องพี่สาวกับน้องชาย น้องชายมันขี้โกรธ พ่อแม่สอนว่าก่อนจะโกรธให้นับสิบเสียก่อน ดังนั้นก่อนจะพูดคำหยาบหรือพูดอะไรออกไป น้องชายมันหยุดนับสิบเสียก่อนถึงจะค่อยพูดออกมา เอ่อ, พี่สาวถามทำไมทำอย่างนั้น โอ้, แม่หรือพ่อสอนให้นับสิบเสียก่อนจึงจะพูดหรือจึงจะตัดสิน ดังนั้นเขาจึงมีเวลาที่จะไม่โกรธหรือระงับความโกรธ แล้วก็พูดออกมาอย่างไม่โกรธ อย่างนี้เรียกประวิงเวลา ก่อนที่จะตัดสินใจมีความคิดอะไรลงไป ให้เวลา เพื่อสติมาทัน ปัญญามาทัน สัมปชัญญะมาทัน สมาธิเกิดทัน มันก็รอดตัว
นี่การที่จะ ๆ แก้ไขไม่ให้ไอ้ตัวตนเกิดขึ้นมา เป็นความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตน พอตัวตนเกิดขึ้นมาต้องเป็นทุกข์แหละ ในแง่รัก ในแง่บวก ก็เป็นทุกข์แบบบวก แบบรัก ๆ ถ้าแง่โกรธ แง่เกลียด ก็เป็นทุกข์แบบโกรธ แบบเกลียด ดังนั้นระวังให้ดี ทั้งรักและทั้งเกลียดนี่ และทั้งยินดีและยินร้าย มันมีความทุกข์กันคนละแบบ แต่มีความทุกข์เสมอกัน
เรียกภาษาวิทยาศาสตร์กันหน่อยก็ว่า ในแง่บวกก็ตาม ในแง่ลบก็ตาม มีปัญหา มีความทุกข์ แม้ไม่บวกไม่ลบ แต่มันยังสงสัยติดพันอยู่ มันก็ยุ่งเหมือนกัน จงไม่เกี่ยวกับบวกและลบโดยประการทั้งปวง แล้วก็ได้ไม่ต้องเป็นทุกข์ แง่บวกก็หัวเราะ แง่ลบก็ร้องไห้ ไม่บวกไม่ลบก็ไม่รู้จะทำอย่างไร อึดอัดกันอยู่อย่างนั้น มันควรจะศึกษาเรื่องความรู้สึกที่เป็นบวกและเป็นลบกันให้ชัดเจน ให้แจ่มแจ้ง
เด็กทารกอยู่ในท้อง ไม่มีความรู้สึกเป็นบวกเป็นลบ พอออกมาจากท้องแล้ว ไอ้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เริ่มทำหน้าที่ เพิ่งจะมีเวทนา ตอนนี้แหละ ความรู้สึกเป็นบวกหรือเป็นลบมันจะปรากฎขึ้น ถ้าพอใจแก่ระบบประสาท อร่อย พอใจ ก็เกิดบวก ไม่พอใจก็เกิดลบ นี่เป็น Automatic ของมันอย่างนั้นเองโดยธรรมชาติ
บวกก็ยุ่งไปตามบวก ลบก็ยุ่งไปตามลบ จึงมาพูดกันอย่างสูงขึ้นมาว่า บุญก็ยุ่งไปแบบบุญ บาปก็ยุ่งไปแบบบาป อย่าทั้ง ๒ อย่าง เหนือบุญเหนือบาปนั่นแหละ ไม่มีปัญหา ไม่มีความทุกข์ แต่ที่บุญน่ะ มันสวยงามโน่น มันอร่อยโน่น มันยั่วยวน มันก็เลยไปหลง หลงบุญ บ้าบุญ เมาบุญกัน คือบ้าบวก เมาบวก และหลงบวก แต่แล้วก็มีปัญหาคือเกิดกิเลสบวก เกิดกิเลสบวก แล้วมันก็กัดเจ้าของ
ขึ้นชื่อว่ากิเลส จะชนิดไหนก็ตาม บวกลบก็ตาม ถ้าเกิดขึ้นแล้วมันกัดเจ้าของทันที เกิดความรักก็กัดไปตามแบบความรัก เกิดความโกรธมันก็กัดไปแบบความโกรธ เกิดความเกลียดก็เกิดไปตามแบบความเกลียด และกลัวก็แบบกลัว เพราะว่ามันเป็นบวกและเป็นลบ มันไม่ ๆ คงที่ มันไม่ปรกติ หรือมันไม่อยู่ ๆ ตรงกลาง มันเอียงไปเป็นบวกหรือเป็นลบ หรือแม้กำลังจะเป็นบวกหรือเป็นลบ มันก็กัดไปตามแบบของมัน ชีวิตกัดเจ้าของเพราะเกิดกิเลส คำว่ากิเลสก็มีความหมายเป็นตัวตนเสมอแหละ
คุณมองเห็นที่ว่า มันแฝดกันอยู่กับกิเลส ไอ้ตัวตนมันแฝดกันอยู่กับกิเลส กิเลสบวกก็เกิดตัวตนบวก กิเลสลบก็เกิดตัวตนลบ เป็นความรักอย่างนี้ มันเป็นบวก มันก็เกิดตัวกูบวก ที่จะเอา จะยึดครอง จะทนุถนอม ก็มีปัญหาหนักไปตามแบบนั้น ตัวตนลบ มันโกรธ มันเกลียด มันกลัว มันก็มีการจัดการ มันยุ่งไปตามแบบลบ ไม่บวกไม่ลบก็ได้ ไม่บุญไม่บาปก็ได้ ไม่นรกหรือไม่สวรรค์ก็ได้ นั่นแหละ นิพพานแหละ
ถ้ายังเป็นบวกหรือเป็นลบอยู่ นิพพานไม่ได้ ต้องเหนือบวกเหนือลบ พูดอย่างภาษาธรรมะ ภาษาศาสนาก็ว่าเหนือบุญเหนือบาปก็ได้ เหนือกุศลเหนืออกุศลก็ได้ เหนือดีเหนือชั่วก็ได้ อยู่เหนือเสียทั้งคู่ ทุก ๆ คู่ ทุก ๆ คู่ นั่นหมายความว่า ตัวตน ตัวตนไม่มีอำนาจ ตัวตนไม่ได้เกิดขึ้นเป็นปัญหา มันไม่เกิดบวกเกิดลบในชีวิตประจำวันนี้ มันจะมีการเกิดความรู้สึก เป็นบวกบ้าง เป็นลบบ้าง แล้วมันก็กัดเจ้าของตามมากตามน้อย เดี๋ยวนี้มันเกิดความชิน ชินกันไปเสีย ให้เห็นเป็นเรื่องสำคัญ บวกก็ดีใจ ลบก็เสียใจ ดูกันตรงนี้ดีกว่า
เอ้า, เอาดีใจ ๆ ๆ ๆ ๆ จะเป็นบ้าน่ะ ดีใจ ดีใจมากนอนไม่หลับ ดีใจเกินไปก็กินข้าวไม่ลง ดีใจหนักก็เป็นบ้า เสียใจนี้ก็ เสียใจก็กินข้าวไม่ลง นอนไม่หลับมันก็จะเป็นบ้าเหมือนกัน ดังนั้นเวลาที่เราไม่เสียใจและไม่ดีใจ สบายที่สุด ขอให้คอยจ้องจับ จ้องจับไว้ มันก็มีนี่ บางเวลามันไม่ ๆ รู้สึกดีใจ ไม่รู้สึกเสียใจ นั่นแหละเย็นสนิท สงบสนิท เงียบสนิท เสรีภาพอย่างยิ่ง
จิตใจชนิดนี้ก็มี มีเอง มีชั่วคราว เหมือนนิพพานบังเอิญอย่างที่พูดมาแล้ววันก่อน ให้คอยสังเกตให้ดี ถ้ามีแล้วศึกษามันให้ดี ดื่มรสมันให้ดี ถ้ามันดีให้ติดรส ติดรสเหนือ ๆ บุญ เอ่อ, เหนือบวกเหนือลบ เหนือบุญเหนือบาป คือติดรสพระนิพพานชั่วคราว ได้ชิมตัวอย่างสินค้าแล้วพอใจ ต่อไปก็ติดตามซื้อหามาให้มากให้พอก็ได้
เมื่อตัวกูไม่เป็นบวกไม่เป็นลบ มัน ๆ ก็ไม่เกิดเป็นบวกเป็นลบ ไม่เป็นบุญไม่เป็นบาป ไม่เป็นสุขไม่เป็นทุกข์ ไม่เป็นกำไรไม่เป็นขาดทุน ไม่เป็นการได้ไม่เป็นการเสีย ไม่เป็นการแพ้ไม่เป็นการชนะ ไม่เอาเปรียบและไม่เสียเปรียบ ไม่ ๆ ๆ ๆ ทุกคู่ ๆ นั้นแหละ ตัวตนไม่แสดงบทบาท คือตัวตนไม่แสดงบทบาท ไม่มีความรู้สึกที่เป็นคู่ สบายกี่มากน้อย ไปดูเอาเอง
รักเต็มที่ โกรธเต็มที่ ดีใจเต็มที่ เสียใจเต็มที่ คือบ้าชนิดหนึ่ง ไปพักหนึ่ง นี้เรียกว่าตัวตนมันอาละวาด อัตตามันอาละวาด ของตนเข้ามาอีกทีหนึ่งก็เพิ่ม ความทุกข์เกิดจะเฉพาะตัว เฉพาะตัวผู้นั้นก็เท่านั้น ทีนี้ของตนล่ะ เอ้า, ลูกเมียของตน บ้านเรือนของตน ข้าวของตน เกิดแก่สิ่งเหล่านั้นอีก มันก็เป็นหลายเท่าตัว มาทับถมอยู่ที่บุคคลผู้ที่ว่ามีทั้งตัวตนและมีทั้งของตน ของตน เหมือนที่เราต้องรับผิดชอบอะไรหลาย ๆ อย่าง ปัญหาหรือความทุกข์มันก็มีมาก
แต่เดี๋ยวนี้มันอดไม่ได้นี่ เพราะมันมีตัวตนนี่ มีตัวตน มันจะอยู่ตามลำพังไม่ ๆ สัมผัสอะไร มันก็ไม่ได้ พอไปสัมผัสอะไรเข้า มันเอาสิ่งนั้นเป็นของตน แง่ดีก็เป็นเพื่อน แง่ร้ายก็เป็นศัตรู มันก็มีความรู้สึกเป็นศัตรูหรือเป็นมิตรขึ้นมา ปัญหาก็มาก ปัญหาที่เกิดแก่ของตน ก็เท่ากับเกิดแก่ตนเหมือนกันแหละ ปัญหาที่เกิดแก่ลูกแก่เมียของคนนั้น มันก็เท่ากับเกิดแก่คนนั้น ปัญหาที่มันเกิดแก่ทรัพย์สมบัติของคนนั้น มันก็เท่ากับเกิดแก่คนนั้น มันจึงมีความทุกข์เพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่ง ของตัวตนมันก็มีแล้ว ของของตนก็มีเข้ามาอีก
จำไว้ ภาษาบาลีสะดวกดีว่า อัตตา ว่าตน อัตตนียา ว่าของตน พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้เป็นหลัก อย โลโก สฺุโ อตฺเตน วา อตฺตนิเยน วา อย โลโก แปลว่าโลกนี้ สฺุโ ว่าง อตฺเตน วา จากตัวตน อตฺตนิเยน วา จากของตน โลกนี้ก็คือสิ่งทั้งปวง จะเป็นข้างในข้างนอกอะไรก็ โลกนี้ไม่มีความจริงที่ว่าเป็นตัวตนหรือเป็นของตน ว่างจากความหมายแห่งตัวตน ว่างจากความหมายแห่งของตน
แต่คนโง่ที่ไม่มีความรู้อะไรปล่อยไปตามธรรมชาติของความโง่ มัน ๆ ต้องมีรู้สึกเป็นตัวตน ของตน ธรรมชาติและอัตโนมัติมันทำให้เป็นอย่างนั้น พอถูกใจขึ้นมันก็ กูถูกใจ พอไม่ถูกใจขึ้นมาก็ กูไม่ถูกใจ เห็นสิ่งสวยงามขึ้นมาก็กู กู เห็นสิ่งไม่สวยไม่งามก็กู กูเห็น ปัญหามันเกิด
ความสำคัญสูงสุดมันอยู่ที่ว่า ไม่รู้สึกเป็นบวกหรือเป็นลบโดยเด็ดขาด มันมีแต่พระอรหันต์เท่านั้น คนธรรมดามันต้องรู้สึก แต่ว่าถ้ารู้สึกแล้วควบคุมได้ อย่าให้มันอาละวาด อย่าให้มันถึงกัดเอา อย่าให้มันกัดเอา ถ้าความรู้สึกเป็นบวกเกิดแล้ว มันหวั่นไหวไปในทางจะรักจะยึดครองแล้วก็ รอ ๆ ๆ ก่อน แล้วถ้าว่ามันเกิดในทางลบ มันจะฆ่าจะฟันจะด่าจะอะไรก็ รอ ๆ ๆ ไปก่อน ไปจัดการกันเสียใหม่
ขอพูดต่อไปอีกนิดหนึ่งถึงกว้างไกลออกไปว่า ไม่บวกไม่ลบ ก็ไม่เกิดตัวตนบวกไม่เกิดตัวตนลบ มันก็ไม่เกิดกิเลสบวกไม่เกิดกิเลสลบ คุณช่วยจำดี ๆ นะ ไม่เกิดความรู้สึกที่เป็นบวกหรือลบนะ มันก็ไม่เกิดตัวตนที่บวกหรือลบ เมื่อไม่เกิดตัวตนที่บวกหรือลบ มนุษย์ก็ไม่เกิดกิเลสที่บวกหรือลบ พอไม่เกิดกิเลสมันก็ไม่มีความทุกข์ ไม่เกิดไฟก็ไม่มีความร้อน ถ้ามันเกิดกิเลสบวกลบก็ตาม ไฟทั้งนั้นเลย วันก่อนพูดกันแล้วใช่ไหม ราคะ ราคะไฟเปียก โทสะไฟแห้ง โมหะไฟมืด ไฟทั้งนั้นแหละ ขึ้นชื่อว่ากิเลสแล้วก็เป็นไฟทั้งนั้น อย่าไปคบกับมันเลย
ถ้าไม่เกิดบวกหรือลบ มันก็ไม่มี ไม่มีไฟ เราอย่ารู้สึกเป็นบวกหรือเป็นลบ รู้สึกว่าอย่างนี้ ๆ จะแก้ไขอย่างไร จะจัดการอย่างไร ก็จัดการไปแก้ไขไป โดยไม่ต้องไปหลงรัก หลงโกรธ หลงเกลียด หลงกลัวกับมัน อย่าไปรักก่อนแล้วจึงค่อยแก้ไข อย่าไปโกรธก่อนแล้วค่อยแก้ไข ดูแต่ทีแรกว่า นี่มันยังไงนะ มันจะเป็นอย่างไร แล้วจะทำอย่างไร ก็ทำไป อย่างนี้ก็สบายเลย แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องมีความทุกข์ ในชีวิตประจำวันของเขาก็ไม่ต้องมีทุกข์
ไอ้ความรู้ข้อนี้มันรู้กันมาเป็นพัน ๆ ปี พร้อม ๆ สมัยกับพระพุทธเจ้า มันก็รู้กัน ในอินเดีย พุทธศาสนามันก็รู้ ไม่ ๆ ยินดียินร้าย ไม่บวกไม่ลบ พวกยิว พวกยิวก่อนคริสต์น่ะ ก่อนคริสเตียน พวกยิวนั้นก็ ๆ หลายพันปีขึ้นไปทางโน้นเหมือนกัน มันก็สอนเรื่องนี้ คัมภีร์ของพวกยิวคือคัมภีร์ไบเบิล ตอนต้น ๆ ของคัมภีร์ไบเบิลก็สอนให้แยกเป็นความรู้สึกดีหรือชั่ว
แต่ธรรมเนียมของเขามันพูดเป็นเรื่องบุคคล เป็นเรื่องนิยาย เป็นเรื่องเทพนิยายอะไรขึ้นมาว่า พระเจ้าสร้างมนุษย์ขึ้นมาสำเร็จแล้ว เป็นมนุษย์ผัวเมียขึ้นมาคู่หนึ่งแล้วครั้งแรก พระพุทธเจ้า เอ้ย, พระเจ้านั่นน่ะก็สั่งว่า แกอย่าไปกินผลไม้ของต้นไม้ที่ทำให้รู้ดีรู้ชั่ว ถ้าแกไปกินเข้า แกจะต้องตาย
เรื่องของเขาเล่าต่อไปว่า ไอ้ผัวเมียคู่นั้นมันก็ไม่กิน ต่อ แต่ไม่เท่าไรซาตานมาเป็นรูปงูมาหลอก มาหลอก มันเลยไปกินเข้า มันก็รู้ดีรู้ชั่ว ก็มีปัญหาเรื่องดีเรื่องชั่ว แล้วก็เป็นทุกข์มาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ นั่นแหละคือตาย เป็นทุกข์นิรันดรเหมือนกันจนกระทั่งเดี๋ยวนี้
ทีแรกไอ้ผัวเมียคู่นั้นไม่ได้นุ่งผ้า ไม่ได้นุ่งผ้า แต่พอมันกินผลไม้ไอ้ที่รู้ดีรู้ชั่วเข้าไปแล้ว โอ้, ทีนี้มันก็เขินว่า นี้ไม่ได้นุ่งผ้า ละอาย พอพระเจ้ามาหา เรียกชื่อมัน มันซ่อนเสียในพุ่มไม้ เพราะมันรู้สึกละอาย ก่อนนี้มันไม่รู้สึก คือไม่รู้สึกดีชั่ว เดี๋ยวนี้มันรู้สึกดีชั่ว มันก็ละอาย มันก็ไม่ออกมา นี่พระเจ้าถามว่า ทำไมไม่ออกมา บอกว่า ไม่ได้นุ่งผ้า พระเจ้าก็รู้ทันทีว่า ไอ้หมอนี่มันกิน มันไปแอบกินไอ้ผลไม้ต้นนั้นเข้าไปแล้ว มันเลยรู้ว่าไม่นุ่งผ้าแล้วไม่ ๆ ดี อย่างนี้เขาก็มีสอนกันแล้วตั้งแต่ก่อนยิวโน้นพวกยิวพัน ๆ ปี
ฝ่ายตะวันออกเรา เหลาจื๊อ ลัทธิเต๋า มันก็สอนไม่ให้ยินดียินร้ายเหมือนกันนะ ไม่ติดหยินติดหยาง คือบวกหรือลบ แล้วก็จะไม่มีความทุกข์เหมือนกัน ความหมายเหมือนกัน ไม่หลงดีหลงชั่ว ไม่มีหยินไม่มีหยาง ศาสนาฮินดู เขาก็สอนไม่ติดบุญไม่ติดบาปเหมือนกัน แต่แล้วมันไปมีตัวตน มีตัวตน นั้นมันเข้ากันไม่ได้กับพุทธ
แปลว่ามนุษย์เป็นพัน ๆ ปีมาแล้ว รู้รสชาติของความเป็นบวกหรือความเป็นลบ เลยสอนกันให้รู้จักป้องกันอย่าให้มันกัดเอา คืออย่าไปรักและอย่าไปโกรธ คือไม่เป็นบวกและไม่เป็นลบ แต่มันก็ทำยากแสนยาก เพราะสัญชาตญาณของมัน มันจะพร้อมที่จะเป็นบวกและเป็นลบ แล้วเป็นบวกน่ะ มันเอร็ดอร่อย ความเป็นบวกมากเท่าไร มันก็อร่อยมากเท่านั้น แล้วใครจะไปห้ามมันไหวล่ะ แต่ความเป็นลบที่ไม่น่าจะเอามันก็ยังทนไม่ได้ มันยังต้องโกรธ มันยังต้องเกลียด มันยังต้องเป็นลบอยู่เพราะความโง่
เอาล่ะ, ตอนต่อไปนี้เราก็จะต้องรู้จักเรื่องนี้นะ สำหรับใช้ประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน จะอยู่เป็นพระต่อไปหรือจะลาสิกขาออกไปเป็นฆราวาส ก็ต้องรู้เรื่องนี้ คือมันจะได้ไม่กัดเอามากมาย ถ้าไม่รู้ มันกัดเต็มที่ ชีวิตนี้กัดเจ้าของเพราะไม่รู้เรื่องนี้ เพราะไปเกิดหลงบวกหลงลบ เกิดกิเลสนานาชนิด ชีวิตนั้นเองมันจะกัดเจ้าของ คือมันเกิดกิเลสแล้วมันกัดเจ้าของ ถ้ามันไม่กิเลส ไม่เกิดกิเลส มันก็ไม่กัดเจ้าของ ทีนี้มันบ้าบวกบ้าลบ มันก็เกิดกิเลส มันก็กัดเจ้าของ
พูดเป็นอุปมานี้ให้จำง่ายว่า คุณอย่าไปปล่อยให้ชีวิตมันกัดเจ้าของ กัดตัวเอง มีธรรมะ มีความรู้ มีความเข้าใจถูกต้อง ชีวิตไม่กัดเจ้าของ เพราะมันเห็นอนัตตา อนัตตา อนัตตา ไม่เป็นตน เมื่อไม่เป็นตน เป็นตัวเป็นตน มันก็ไม่มีความเป็นบวกไม่มีความเป็นลบ ไม่มีความเป็นบวกเป็นลบ มันก็ไม่เกิดไอ้กิเลสบวกลบ
สติเร็ว อย่าให้เกิดกิเลสบวกลบ อย่าไปรักหรือไปเกลียดไปโกรธเสียก่อนจึงมาคิดแก้ไข หรือว่ารักโกรธไปแล้วหน่อยหนึ่ง กลับตัวได้ทันก็ยังดี ดีกว่าให้โง่ตลอดกาล สาย แต่การที่รู้เสียล่วงหน้านี้วิเศษ ดีที่สุด ไม่ต้องหัวเราะไม่ต้องร้องไห้ ไม่ต้องดีใจไม่ต้องเสียใจ ไม่ต้องรู้สึกเป็นแพ้เป็นชนะ ไม่ต้องรู้สึกเป็นนั่นเป็นนี่ที่ตรงกันข้าม นี้ผลของการที่รู้เรื่องอนัตตา สิ่งทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน ถ้าโง่เป็นตัวตน นี้มันก็จะเกิดกิเลสบวกกิเลสลบ แล้วก็กัดเจ้าของ
พูดมันง่ายแต่ทำมันยาก นี่พูดนี้ก็พูดให้ได้ ลองไปทำกันสิ มันยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา ที่จะไม่ให้หวั่นไหวด้วยความเป็นบวกและความเป็นลบนี้ มันยาก เพราะว่าถ้าทำได้มันเป็นพระอรหันต์ เดี๋ยวนี้เอาแต่เพียงว่าลูกศิษย์พระอรหันต์ คลานตามพระอรหันต์ไป พยายามหน่อย อย่าเกิดบวกอย่าเกิดลบ ชีวิตนี้จะไม่กัดเจ้าของ
นี้เรื่องมันมีอย่างนี้ คุณไปสรุปความ เก็บใจความ สรุปความไว้ให้ดี แล้วก็จดบันทึกไว้สั้น ๆ ย่อ ๆ กันลืม เพราะมันมีหลายเรื่อง เดี๋ยวมันก็ลืมหมดยุ่งหมดแหละ ถ้าบันทึกไว้ ทุก ๆ เรื่อง ทุก ๆ ข้อกันลืม ก็จะมีประโยชน์ ธรรมะนั้นต้องมีสมุดโน้ตเล่มหนึ่ง จดไว้ทุกเรื่องที่มันดีที่มันมีประโยชน์
เอาล่ะ, เวลา ๑ ชั่วโมงแล้ว ขอให้มองเห็นว่า ธรรมะเป็นคู่ชีวิต ธรรมะเป็นตัวชีวิต ธรรมะเป็นคู่ชีวิต ไม่มีธรรมะก็ตายแบบหนึ่งแล้ว ก็ตายทางวิญญาณ ขอให้อย่าต้องมีความทุกข์เพราะอวิชชาในเรื่องนี้เลย มีสติสัมปชัญญะอยู่ตลอด ทุกนาที ทุกกระเบียดนิ้ว ทุกนาที ทุกกระเบียดนิ้ว ทุกนาที ทุกกระเบียดนิ้ว มีสติสัมปชัญญะ เป็นสุขกันอยู่ตลอดเวลาทุก ๆ ท่านเทอญ