แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เพื่อนสหธรรมมิก สพรหมจารีทั้งหลาย เรามานั่งพูดกันในเวลาอย่างนี้ สถานที่อย่างนี้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมีความเหมาะสมสำหรับเราที่นี่ ถ้าเป็นภาคเหนือหรือภาคอีสานคงจะทำไม่ได้สำหรับฤดูนี้ หนาวเกินไป นี่ก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญเหมือนกัน ใช้เวลาให้เหมาะสม แล้วฝึกฝนการอดทนด้วย ฝึกฝนในความเป็นเกลอกับธรรมชาติด้วย ขอให้สนใจสังเกตไว้ดี ๆ ว่าการมาสวนโมกข์นี่มันจะต้องได้อะไรพิเศษ แม้จะเป็นเรื่องเบ็ดเตล็ดก็ได้
วันนี้ผมก็จะได้ถวายความคิดเห็นหรือความรู้ต่อจากที่ได้พูดมาแล้ว ในวันแรกได้พูดถึงการที่เราได้ทำแพของพระพุทธเจ้าแตก ในวันที่สอง ก็ได้พูดถึงข้อที่เราจะต้องช่วยกันผูกแพชดใช้ มาวันนี้ผมก็จะได้พูดถึงไอ้การผูกแพ โดยหัวข้อเขาว่าโครงสร้างที่สำคัญที่เป็นหัวใจในการผูกแพน่ะ ว่าผูกแพนี่จะต้องมีหลักสำคัญอย่างไร ไอ้แพนี่มันเป็นแพข้ามมหาสมุทรโน่น มันไม่ใช่ข้ามคลองเล็กๆ หรือแม่น้ำเล็กๆ มันก็ต้องมีเทคนิค มีหลักการอะไรตามเรื่องที่มันยาก ทีนี้โดยใจความสำคัญที่เราควรจะนึกกันน่ะ แพมันต้องมีส่วนประกอบที่ว่าเป็นตัวแพ และสิ่งที่สองก็คือกำลังสำหรับจะขับเคลื่อนไป ตัวแพมันต้องถูกต้อง มันต้องทนต่อพายุ ทนต่อไอ้สัตว์ร้ายอะไรได้ และก็มีกำลังขับเคลื่อนมันไป มันจึงจะข้ามไปฝั่งมหาสมุทรได้ เราต้องมีถูกต้องทั้งสองเรื่องเลย ยานพาหนะทุกชนิดมันต้องมีองค์ประกอบสองเรื่องอย่างนี้ ไอ้ตัวยานนั้นอย่างหนึ่ง แล้วไอ้ตัวกำลังขับเคลื่อนให้พาไปนั้นอย่างหนึ่ง ดูรถยนต์สิ มันมีส่วนประกอบสองส่วนสำคัญ แม้แต่เกวียนมันก็ต้องมีสองอย่างนี้ มีตัวเกวียน แล้วมีอะไรที่จะทำให้ตัวเกวียนเคลื่อนไป
ทีนี้เรื่องแพข้ามวัฏสงสารมันก็มีความหมายนี้แหละ คือเราจะต้องมีความรู้ถึงสองประเภท คือ ทำให้ตัวแพมันเป็นแพที่ใช้ได้ แล้วก็ต้องมีอะไรที่มันแรงพอที่จะขับเคลื่อนผลักดันไป เราอยู่ที่นี่อาจจะเคยเห็นแต่แพไอ้ที่ขับเคลื่อนไปด้วยถ่อ หรืออย่างดีก็แจวชนิดพิเศษ ไม่เคยเห็นแพที่ใช้ใบ ใบ กำลังใบ ใบเรือ ใบ แล่นใบ แล่นใบ ใครเคยเห็นแพแล่นใบบ้าง แล้วก็จะไม่เชื่อ เมื่อผมไปอินเดีย เผอิญได้ไปที่มัทราส เมืองมัทราส จึงได้เห็นแพ โอ้, มันแล่นใบนี่ ไอ้แพนั้นมันประกอบขึ้นด้วยท่อนไม้ขนาดหมอนรถไฟ ๕ ชิ้นด้วยกัน รวมทั้งชิ้นที่เป็นหัวแหลม เอามาผูกติดเข้ากันเป็นแพ มันก็ปริ่มน้ำ แพนั้นก็ปริ่มน้ำ มันจมอีกไม่ได้ น่าคิดอย่างนี้ มันปริ่มน้ำอยู่แล้ว แล้วไปหาปลากลางมหาสมุทร มันแจวไม่ไหวมันแล่นใบ ดูแพมันแล่นใบ นึกขำ นี่เรียกว่าไอ้แพนี่ก็ยังใช้กำลังลม กำลังแล่นใบได้ เป็นชาวประมงก็ไปหาปลา ตอนบ่ายเย็นมากนี่ก็กลับมา เข้ามาเป็นแพ โอ้, เป็น เป็นแล่นใบเข้ามา มาถึงฝั่งก็เอาปลา ขายปลา นี้เลยได้เห็นอีกอย่างหนึ่งว่า ผัวไปหาปลามา พอมาถึงบกนี่เมียก็ไปรออยู่แล้ว ก็จะจัดการขายปลา คนก็ไปซื้อปลา โดยมากก็เป็นผู้หญิงอีกนะ มันเลยส่งเสียง อุ๊ย, หนวกหูเหลือประมาณ ที่นี้ทำให้นึกได้ถึงคำแปลในพระบาลี แห่งที่แปลกันผิด ๆ เมื่อทำเสียงเอ็ดตะโร แล้วก็แปลกันว่าเหมือนเสียงของชาวประมง มันเป็นคำแปลที่ผิด หลายแห่งในบาลี ที่ว่าภิกษุไปสำนักพระพุทธเจ้าแล้วเอะอะ ๆ กัน ทำเสียงอย่างนี้ที่แปลว่าเสียงของชาวประมง ไม่ถูกหรอก ถ้าคิดกว่านั้นมันแปลผิด มันเหมือนกับเสียงของการแย่งกันซื้อปลาของชาวประมง ต้องตั้งบทวิเคราะห์ว่าอย่างนั้น ผู้หญิงขายผู้หญิงซื้อ ก็ได้เห็นว่าเออแพนี่แล่นใบก็ได้ ก็เห็นว่าผู้หญิงนี่ก็ส่งเสียงมากเหลือเกิน ทำให้นึกได้อีกข้อหนึ่งว่า โอ้, นี่มันจริงตามพระบาลีว่าผู้หญิงเป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้ ผู้หญิงเขาโกรธนะพูดอย่างนี้ แต่ในบาลีมันก็มีอย่างนั้น แล้วก็ไปเห็นอะไรมันก็จริง มันมีเหตุผลไปในทางอย่างนั้น ผู้หญิงนี่เขามี ไวต่อความรู้สึก มันมากเกินไป Sensitive มากเกินไป มันเกินที่จะเป็นพระพุทธเจ้า ดังนั้นผู้หญิงก็เป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้ แต่ว่าเป็นผู้ชายมันคงจะหนืด อืดอาดเกินไปอีก เขาว่าคงจะไม่ไหวเหมือนกันน่ะถ้าเป็นผู้ชายเต็มที่ บางทีก็พระพุทธเจ้านี่ต้องไม่เป็นผู้หญิงไม่เป็นผู้ชายแน่ แต่ไม่ใช่เป็นเกย์นะ อย่า อย่าไปเข้าใจอย่างนั้น มันจะต้องมีจิตใจชนิดที่ไม่ไวเกินไปเหมือนผู้หญิง แล้วก็ไม่อืดอาดเหมือนกับผู้ชาย งุ่มง่าม นี่ไปเห็นไอ้สิ่งเหล่านี้ที่นั่นแหละ มันรู้สึก โอ้, แพแล่นใบก็ได้ ผู้หญิงนี่เขาส่งเสียงกันมากเหลือเกิน แปลบาลีคำนั้นก็ไม่ถูก ไม่ใช่เสียงของชาวประมง มันเสียงของการแย่งกันซื้อปลาของชาวประมง
เอาล่ะทีนี้ก็มาหาเรื่องที่ว่า แพนี่มันก็ต้องประกอบด้วยของสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นตัวแพ ส่วนหนึ่งเป็นตัวกำลัง จงเตรียมธรรมะให้ดี เตรียมธรรมะไว้ให้ครบสองอย่างนี้ ธรรมะประเภทที่จะเป็นตัวแพพวกหนึ่งแหละ ธรรมะที่จะเป็นตัวกำลังให้แพมันไปได้เร็ว ๆ นั้น ไอ้แพของชาวประมงที่นั่นมันก็ประกอบด้วยท่อนไม้สี่ห้าท่อนก็ยาว ยาวสี่วา สามวา สี่วาอะไรนั้นน่ะ พอมาถึงฝั่งให้ภรรยาขายปลา แล้วก็พวกผู้ชายก็ลากแพขึ้นผึ่งแดด แพนั้นพอมาถึงต้องแก้ออกจากกันเป็นท่อน ๆ แล้วก็ดึงขึ้นวางบนบกให้ถูกแดด ให้มันแห้งสนิท พรุ่งนี้มันจะลอยน้ำได้ดีอีก ถ้าขืนแช่อยู่ในน้ำพรุ่งนี้มันจะไม่ลอย แพของเขาก็ผึ่งแดดให้แห้งสนิท พรุ่งนี้ก็เอามัดก็ไปอีก นี่ความถูกต้องที่จะต้องปฏิบัติเกี่ยวกับตัวแพมันก็มีมากเหมือนกัน รู้จักทำใบ ทำใบใช้ พายหรือแจวก็มีเหมือนกันนะ แต่ที่มันออกไปกลางมหาสมุทรมันไปด้วยใบ กำลังของใบ ยุติว่าในการประกอบแพหรือเรือนี้ต้องมีสองส่วน ส่วนที่เป็นตัวเรือที่ทนต่อพายุหรืออันตรายใด ๆ ได้ แล้วก็มีไอ้กำลังขับที่จะขับมันไปได้
ทีนี้ดูว่าธรรมะต้องมีสองประเภท เป็นตัวแพพวกหนึ่ง แล้วก็เป็นกำลังขับพวกหนึ่ง ไอ้ที่เป็นตัวแพนี่มันก็คือความรู้ประเภทที่เรียกว่า สัจจะ สัจจะทั้งหลาย ญาณที่เป็นสัจจะทั้งหลาย ปัญญาที่เป็นสัจจะนี่ต้องมีเพียงพอ แล้วที่มันจะขับไปได้ก็คือปัญญา ชนิดที่จะให้ปฏิบัติได้ตามสัจจะเหล่านั้น ถ้ามีแต่สัจจะรู้ว่าไปอย่างไร ไม่มี ไม่มีปัญญาสำหรับจะปฏิบัติได้ตามสัจจะเหล่านั้นก็เป็นหมัน เดี๋ยวนี้การเรียนของเรานี่มันยังไม่เข้ากับชุดหลักการอันนี้ มหาวิทยาลัยของเราถ้าเรียนทาง Academic Study มากเกินไปแล้วไม่ ไม่ไหวแล้ว มันไม่เป็นแพได้ แล้วมันไม่เป็นกำลังเคลื่อนขับแพอะไรได้ ฉะนั้นต้องเรียนอย่างที่เป็นธรรมชาติ อย่าเรียนอย่าง Academic study ในมหาวิทยาลัยมากเกินไป ต้องมาสนใจกับธรรมชาติหรือสัจจะความจริงของธรรมชาติ ก็เรียนหลักปฏิบัติดับทุกข์โดยตรงตามแบบเดิมของพระพุทธเจ้า ไอ้เรื่องใหม่ ๆ ที่ประกอบกันเข้ามามาก ๆ นี้มันก็อืดอาด มันก็มากเกินไป แล้วบางทีมันก็ไม่ได้ ไม่ได้แล่น ไม่ได้แล่นแพ
ทีนี้ขอให้สนใจความรู้ทั้งสองประเภท พระไตรปิฎกแสนจะมากมายว่าตั้ง ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ จริงไม่จริงก็ไม่รู้ แต่มันมากมาย มันต้องมีเป็นประเภทที่เป็นตัวธรรมะสำหรับจะเป็นพ่วงแพอย่างหนึ่ง แล้วประเภทหนึ่งก็เป็นเรื่องขับกำลังที่จะขับเคลื่อนแพนั้นให้ไปได้ตามประสงค์ ไปแยกดู ไปแยกดู พระบาลีทั้งหมด ผมสังเกตดู โอ้, มันเป็นพวกอย่างนี้ พวกสัจจะ สัจจะบอกให้รู้อะไรเป็นอย่างไร อะไรเป็นอย่างไร เรื่องอริยสัจก็ดี เรื่องปฏิจจสมุปบาทก็ดี มันบอกให้รู้ว่า ไอ้ความจริงนั้นเป็นอย่างไร คือมันจะทำอย่างไรจึงจะดับทุกข์ได้ ทำอย่างไรจึงจะดับทุกข์ได้ รู้เรื่องการดับทุกข์ ญาณอะไรก็ตาม หลายๆ ญาณ กี่ญาณ กี่ญาณ มันบอกแต่ว่าดับทุกข์อย่างไร ที่มันดับไม่ได้นี่ ถึงแม้จะรู้แล้วมันดับไม่ได้นี่ มันยังต้องมีความรู้อีกประเภทหนึ่งทำให้ดับทุกข์ได้ตามนั้น ดังนั้นเราจึงแยกออกเป็นเรื่องสองเรื่อง เรื่องอริยสัจ เรื่องปฏิจจสมุปบาท นี่สอนให้รู้ดับทุกข์อย่างไร ดับทุกข์อย่างไร ทุกข์เกิดอย่างไร ทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร จนรู้ว่ามันจะต้องเกิดอย่างนั้น จะต้องดับอย่างนั้น ทีนี้จะดับมันอย่างไรเล่า มันต้องมีความรู้อีกชนิดหนึ่ง นี่เราจึงต้องมีความรู้ทั้งอย่างปริยัติที่ถูกต้องเพียงพอ เราก็ต้องมีความรู้ที่เป็นปฏิบัติให้มันถูกต้องที่เพียงพอ ปฏิเวธมันจึงจะเกิดขึ้นมา
ที่นี่เรามีหลักการที่จะสอนพวกฝรั่งให้เรียนรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท สำหรับให้รู้ว่าทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร ทุกข์จะดับไปอย่างไร นี้พอจะดับทุกข์ก็เอาอะไรมาดับ จะหยุดกระแสของปฏิจจสมุปบาทได้นั้นมันต้องมีสติสัมปชัญญะ มีปัญญา มีสมาธิอะไรพอ มันจึงจะควบคุมกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทได้ เราจึงต้องมีเรื่องที่สองคือ อานาปานสติ ให้แตกฉานในเรื่องปฏิจจสมุปบาทรู้ว่าทุกข์เกิดอย่างไร ทุกข์ดับอย่างไร ถ้าสามารถในเรื่องที่สองก็คือ มีเครื่องมือสำหรับจะทำอย่างนั้นได้ ปฏิบัติอย่างนั้นได้ เมื่อเราฝึกอานาปานสติมากพอ มันก็มีสติสัมปชัญญะ ปัญญา สมาธิ เอาไปควบคุมกระแสปฏิจจสมุปบาทได้ มันก็ไม่เกิดความทุกข์ได้หรอก นี่เพราะฉะนั้นเรื่องผูกแพกันใหม่ก็ขอให้สมบูรณ์ ถูกตรงตามพระพุทธประสงค์ หรือของพระไตรปิฎกก็ได้ พระไตรปิฎกส่วนหนึ่งมันเป็นเรื่องแพ พระไตรปิฎกส่วนหนึ่งมันเป็นเรื่องขับเคลื่อน กำลังขับเคลื่อนแพ แม้จะเรียกว่าแพหรือขับเคลื่อนแพมันก็แยกออกเป็นระบบ ๆ อีกเยอะแยะ จะเรียนเรื่องปฏิจจสมุปบาทก็มีหลายหัวข้อ จะปฏิบัติอานาปานสติมันก็มีหลายหัวข้อเหมือนกัน จึงเราจะ ดูกันให้ดี ๆ ตอนนี้ ให้มันสำเร็จประโยชน์ ให้มันใช้ปฏิบัติได้ ไม่ใช่เพียงแต่เรียน เรียนกันเฉย ๆ
ฉะนั้นจึงขอแยกไอ้การผูกแพนี่ออกเป็นสองขั้นตอน คือผูกแพให้ได้เป็นแพที่ใช้การได้ โดยความรู้ประเภทสัจจะทั้งหลาย เช่นปฏิจจสมุปบาทเป็นต้น แล้วก็มีความรู้ที่จะขับแพ ควบคุมแพ อะไรแพ ก็เรื่องวิปัสสนาโดยตรงโดยเฉพาะก็คือเรื่องอานาปานสติ ส่วนเรื่องศีลเรื่องธุดงค์นี่มันเป็นองค์ประกอบ มันเป็นไอ้พื้นฐานที่จะมีไว้สำหรับทั้งสองอย่างนั้นจะได้ใช้ จะได้อาศัย ทีนี้เรื่องวินัยก็เป็นเรื่องพื้นฐานสำหรับจะให้เป็นอยู่อย่างถูกต้อง ให้พร้อมที่จะดำเนินไปได้ด้วยดีเพราะมันมีพื้นฐานที่ดี ฉะนั้นพระวินัยก็สำคัญเหมือนกัน ระเบียบวินัยต่าง ๆ นี่มันทำให้เกิดการเป็นอยู่ที่เหมาะสมที่จะปฏิบัติให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่อุปสรรคขึ้นมา เราจะต้องอยู่กันด้วยวินัย ด้วยศีล ทีนี้มันเป็นบรรทัดฐาน เป็นรากฐาน เป็นเบื้องต้น เป็นสมุตถาน ทีนี้เราก็จะศึกษาประเภทสัจจะทั้งหลาย คือปฎิจจสมุปบาทโดยเฉพาะ แล้วเราก็จะปฏิบัติเรื่องวิปัสสนาให้เกิดในสิ่งที่จะผลักดันแพไป คือตัด ตัดกิเลส ฉะนั้นขอให้ตั้งใจฟังหรือสังเกตให้เข้าใจเรื่องนี้
ที่ผมพูดว่าเอาเรื่องปฏิจจสมุปบาทเป็นตัวแพ เอาอานาปานสติเป็นกำลังขับแพนี่ มันใช้ชื่ออื่นก็ได้ ใช้ชื่ออื่นก็ได้ ไม่ใช่ปฏิจจสมุปบาทก็ได้ แต่เป็นชื่ออื่น เป็นเรื่องของสัจจะก็ได้เหมือนกัน แต่มันไม่สะดวกหรือไม่พร้อม ไม่รัดกุมเท่ากับเรื่องปฏิจจสมุปบาท คือสัจจะ เจ้าคุณสมเด็จพุทธโฆษาจารย์ ที่วัดเทพศิรินทร์ ที่เมื่อผมไปหาท่านเพราะท่านสั่งไว้ทุกทีว่า จะไปกรุงเทพทุกทีต้องไปหาท่านทุกที นี่ท่านเป็นผู้ตั้งชื่อให้ว่า อริยสัจ ๔ ฉันเรียกว่า อริยสัจเล็ก ปฏิจจสมุปบาทนั้นฉันเรียกว่าอริยสัจใหญ่ ท่านบอกผมอย่างนี้ ผมมาใคร่ครวญดู เออมันก็จริงนี่ เรื่องอริยสัจ ๔ มันย่อ ๆ เป็นอริยสัจเล็ก พอกระจายไปมากก็เป็นปฏิจจสมุปบาทเป็นอริยสัจใหญ่ รวมความแล้วมันเป็นเรื่องสัจจะ สัจจะของธรรมชาติว่าความทุกข์จะเกิดขึ้นอย่างไร ความทุกข์จะดับลงไปอย่างไร เพราะฉะนั้นเราพูดกับ เรื่องปฏิจจสมุปบาทกับเรื่องอานาปานสติ สองเรื่อง มันก็พอสำหรับเป็นโครงสร้างที่เป็นใจความสำคัญในการที่เราจะผูกแพ
ปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นความจริงที่สูงสุด ที่เกิดทุกข์และดับทุกข์ พระอานนท์ไปทูลพระพุทธเจ้าว่า เรื่องปฏิจจสมุปบาทนี่ข้าพระองค์รู้สึกว่ามันเป็นเพียงยาวคัมภีโร ยาวคัมภีโรนี้แปลว่าค่อนข้างลึก จัดว่าลึก ค่อนข้างลึก พระพุทธเจ้าว่า โอ้, อย่าพูดอย่างนั้น อย่าพูดอย่างนั้น มันลึกที่สุด มันลึกที่สุด มันไม่ใช่ยาวคัมภีโร มันเป็น อติอภิคัมภีโร ที่สุดเลย จันตคัมภีโร (นาทีที่ 23:29) เรามาใคร่ครวญดู มันไม่ใช่ลึกน้อย ๆ หรอก มันลึกถึงขนาดที่จะต้องพากเพียรกันเป็นอันมาก ทีนี้ผมอยากจะให้ทราบกันเสียเลยว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่าอย่างไรเกี่ยวกับปฏิจจสมุปบาทเป็นพิเศษ ในบาลีทั่วไปที่เราเรียนกันเราก็ได้ยินได้ฟังว่าพระพุทธเจ้าตรัสว่าผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม แต่มีสูตรอื่นที่ไม่ใช่สูตรนี้ มีว่า ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาทผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นปฏิจจสมุปบาท ในเมื่อสูตรแรกมันไม่ได้บอกว่าเห็นธรรมคือเห็นอะไร แล้วอีกสูตรหนึ่งบอกว่าเห็นปฏิจจสมุปบาทจึงจะชื่อว่าเห็นธรรม คือจะเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริงอย่างนี้ดีกว่า เห็นปฏิจจสมุปบาทก็ชัดอยู่แล้วว่าเห็นว่าความทุกข์เกิดขึ้นมาอย่างไร ความทุกข์จะดับลงไปอย่างไร ทั้งสองฝ่าย อาการที่ความทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร อาการที่ความทุกข์ดับลงไปอย่างไรนี้ นั่นน่ะคือปฏิจจสมุปบาท เห็นนั้นน่ะคือเห็นธรรม ถ้าเห็นธรรมก็คือเห็นพระพุทธเจ้า คือเห็นสิ่งที่แสดงชัดแจ้งว่าทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร ทุกข์ดับลงไปอย่างไร อะไรมันทำให้เราเห็นว่าทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร ทุกข์ดับลงไปอย่างไรนั้นแหละคือธรรมที่เป็นปฏิจจสมุปบาท มันต้องเห็นปฏิจจสมุปบาทจึงจะเห็นพระพุทธเจ้า ถ้ามิฉะนั้นจะเห็นแต่พระพุทธเจ้าที่เป็นบุคคล เป็นบุคคล ซึ่งเห็นไม่สำเร็จประโยชน์ ในอินเดียคนเป็นอันมากก็เห็นพระพุทธเจ้าแล้วไม่เชื่อ ไม่เลื่อมใสก็มีแยะ หลับฝันหวานว่าทั้งอินเดียเลื่อมใสพระพุทธเจ้านี่เป็นไปไม่ได้ นี้พวกที่ไม่เลื่อมใสก็เป็นลัทธิอื่น แข่งขันก็มี มุ่งทำลายล้างก็มี ข้อความแห่งหนึ่งก็มีชัดว่าพวกผู้หญิงเค้าไม่ชอบพระพุทธเจ้า เขาไปด่าพระพุทธเจ้า ชวนกันไปด่าพระพุทธเจ้าว่าไอ้คนที่ทำให้คนเป็นหม้าย นี่ไอ้คนที่ดีแต่ทำให้คนเป็นหม้าย พระพุทธเจ้าน่ะ ทำให้ผัวของเขาออกไปบวช แล้วเขาเป็นหม้าย นี่แสดงว่าเขาเห็นองค์พระพุทธเจ้าแท้ ๆ นี่เขาก็ยังไม่รู้จัก ยังไม่สำเร็จประโยชน์อะไร การเห็นองค์พระพุทธเจ้านี่ไม่ ไม่สำเร็จประโยชน์ ฉะนั้นการเรียนพุทธประวัตินี้ยังไม่สำเร็จประโยชน์ ถ้ายังไม่เรียนให้ลึกถึงเรื่องปฏิจจสมุปบาทที่เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง ขอให้เรียนเรื่องปฏิจจสมุปบาทให้ชัดเจนแล้วจะเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง แล้วจะรักพระพุทธเจ้า จะศรัทธา จะเลื่อมใส จะปฏิบัติตาม นี่เรื่องปฏิจจสมุปบาทเป็นสัจจะ พอที่จะเป็นลำเรือ ลำแพ ขอแถมพกอีกหน่อยว่าเรื่องนี้เราบกพร่องกันอยู่มากคือไม่สนใจเรื่องพระพุทธเจ้าพระองค์จริง สนใจแต่พระพุทธเจ้าพระองค์บุคคล มันจะเป็นพระองค์เปลือก พระองค์นอก พระองค์ในแท้ ๆ พระองค์จริงแท้ ๆ น่ะคือเรื่องปฏิจจสมุปบาท
ฉะนั้นพวกฝรั่งเขาอ่านหนังสือกันหาบ ๆ หาบ ๆ เขาก็ไม่รู้จักพระพุทธเจ้า เพราะว่าเขาเรียนเรื่องส่วนนอกทั้งนั้น ประวัติอินเดีย ประวัติพระพุทธเจ้า ประวัติปรัชญาอินเดียคู่แข่งกันของพระพุทธเจ้า เรียนประวัติกันอย่างนี้แล้วมันก็ไม่ถึงพระพุทธเจ้าพระองค์จริง ต้องไปสนใจตัวปฏิจจสมุปบาทให้เห็นทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร ทุกข์ดับลงไปอย่างไร ซึ่งในเมืองไทยเราก็ไม่ค่อยสนใจ ทีนี้ก็มาถึงปัญหา มาถึงปัญหา มันจะคล้าย ๆ กับที่พระอานนท์ว่า ไม่ลึกซึ้งสักเท่าไร ท่อง ๆ กัน ก็พูดกัน แล้วก็สอนกันไม่สำเร็จประโยชน์ เคยเรียนนักธรรมมาแล้วในโรงเรียน ได้ความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทกี่มากน้อย อยากจะท้าทายอย่างนี้ แล้วยังไปเรียนปฏิจจสมุปบาทชนิดที่พระพุทธโฆษาจารย์เพิ่งอธิบาย ไม่เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าตรัสทีแรก พระพุทธเจ้าตรัสทีแรก ปฏิจจสมุปบาทไปตามลำดับ ลำดับ ลำดับไป ครอบๆ โดยไม่ต้อง ไม่ต้องเกี่ยวกับชาติไหน แล้วในชาติหนึ่งชาติเดียวนี้มันมีปฏิจจสมุปบาทไม่รู้กี่ร้อยกี่พันกี่หมื่นรอบ แล้วการที่เอาปฏิจจสมุปบาทรอบหนึ่งไปไว้หลาย ๆ ชาติน่ะ ไม่ใช่ ไม่ใช่ ไม่ตรงตามพระบาลี แต่เอาเถอะ เป็นอันว่าเราก็ได้ใช้เรียนกันตามวิสุทธิมรรคของพระพุทธโฆษาจารย์แล้ว ผมก็เลยคิดว่า เอ้า, ถ้านั้นมา มา มาต่อรองกันให้เป็นปฏิจจสมุปบาทสองแบบ ปฏิจจสมุปบาทเบื้องต้นสำหรับเด็ก ๆ สำหรับคนที่ยังมีตัวมีตน ข้ามภพข้ามชาติ มีตัวมีตนก็เอาปฏิจจสมุปบาทอย่างพระพุทธโฆษาจารย์ในวิสุทธิมรรคให้ไปก็แล้วกัน ทีนี้ถ้าจะเป็นเรื่องข้ามภพข้ามชาติ จะดับทุกข์กันจริง ขอให้เอาปฏิจจสมุปบาทในพระบาลีโดยตรง เป็นปรมัตถธรรมโดยตรง ปฏิจจสมุปบาทของพระพุทธโฆษาจารย์นั้นมันเป็นเรื่องศีลธรรม จัดไว้ให้เป็นปฏิจจสมุปบาทฝ่ายศีลธรรม เบื้องต้น เอ้า, ได้ ใช้ได้ สำหรับคนแรกเรียนหรือสอนเด็กๆ แต่ถ้าจะเป็นปฏิจจสมุปบาทแท้จริงแล้วมันต้องเอาตามพระบาลี เพราะว่าปฏิจจสมุปบาทอันแท้จริงมันสอนให้หมดตัวตน มันไม่มีตัวตน ทำไมจะเอาตัวตนไปฝากไว้กับชาตินั้นชาตินี้ คาบเกี่ยวกันเป็นเรื่องตัวตนอย่างนี้ เรื่องปฏิจจสมุปบาทมันสอนเรื่องว่าง เรื่องไม่มีตัวตน ว่างที่สุด สักว่าธาตุธรรมชาติ เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ทีนี้เรื่องปฏิจจสมุปบาทตามพระบาลีนั่นแหละ จะช่วยให้พึ่งธรรมะ พึ่งธรรมะ ไม่พึ่งผู้อื่น พระพุทธเจ้าตรัสว่าจงพึ่งธรรมะคือพึ่งตน เอาตนเป็นธรรมะอย่าเอาตัวตนอย่างอาตมันนั้นเป็นตัวตน เอาธรรมะเป็นตัวตน พึ่งตนคือพึ่งธรรม พึ่งธรรมคือพึ่งตน อตฺตทีปา อตฺตสรณา อนญฺญสรณา ธมฺมทีปา ธมฺมสรณา อนญฺญสรณา ยะทิทัง จัตตาโร สติปัฎฐานา นี่ มีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะ คือมีธรรมะเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะ อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย อันนั้นได้แก่สติปัฏฐาน ๔
เรื่องสติปัฏฐาน ๔ เป็นเรื่องหัวใจ เป็นเรื่องสำคัญ เรื่องอื่นมันแวดล้อมสติปัฏฐาน ๔ เดี๋ยวเราจะพูดกันก็ได้ คือเอาเรื่องโพธิปักขิยธรรมมาพูดกันแล้วจะเห็นชัดว่าใจความของเรื่องคือเรื่องสติปัฏฐาน ๔ นอกนั้นแวดล้อมสติปัฏฐาน ๔ สติปัฎฐาน ๔ สำเร็จประโยชน์ แล้วก็เป็นกำลังวิปัสสนาขับเคลื่อนแพ แล่นใบไปได้ ปฏิจจสมุปบาทมุ่งให้หมดตัวตน มุ่งให้ว่างจากตัวตน และกำไรพิเศษก็คือมุ่งให้พบพระพุทธเจ้าพระองค์จริง พระพุทธเจ้าพระองค์จริงนี่เราจะบัญญัติว่าไม่มีประสูติ ไม่มีตรัสรู้ ไม่มีนิพพานแล้ว พระพุทธเจ้าที่มีประสูติ ตรัสรู้ นิพพานเป็นพระพุทธเจ้าเฉพาะกาล เฉพาะยุค แล้วก็ว่ามีมากไม่รู้กี่ร้อยกี่พันกี่หมื่นองค์ พระพุทธเจ้าองค์เดิมแท้มีแต่กฎของปฏิจจสมุปบาทองค์เดียว ไม่ต้องประสูติ ไม่ต้องตรัสรู้ ไม่ต้องนิพพาน เป็นแสงสว่างจ้าอยู่ในตัวเองตลอดเวลานี่ เห็นปฏิจจสมุปบาทคือเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง มาสับแหลกปฏิจจสมุปบาทเป็นชาตินั้นชาตินี้ เกี่ยวข้องกันยุ่งจนไม่รู้เรื่องใช่ไหม เรียนปฏิจจสมุปบาทในโรงเรียนนักธรรมโท นักธรรมเอกอะไรไม่รู้เรื่องอยู่นั่นแหละ เพราะมันไม่เรียนให้ถูกเรื่องของปฏิจจสมุปบาท ทีนี้ถ้าว่ารักตัวก็ไปหาเรียนเสียใหม่เถอะ เรียนตรงจากพระบาลี พระไตรปิฎก ผมไม่ใช่อวดดี รวบรวมเอาไว้ พอ พอเรียนได้ คือเรื่องปฏิจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ ไม่มีวี่แววแห่งปฏิจจสมุปบาทพระพุทธโฆษาจารย์เลย มันเป็นเรื่องที่ว่า ภายใน ภายในกระพริบตาเดียวครอบรอบปฏิจจสมุปบาททั้งรอบเลย จึงพูดได้ว่าจิตเป็นอกุศลครั้งหนึ่งก็คือปฏิจจสมุปบาทรอบหนึ่ง จิตเป็นทุกข์ครั้งหนึ่งก็เป็นปฏิจจสมุปบาทรอบหนึ่ง วันเดียวมีหลาย ๆ ร้อยหลายพันรอบ รู้เรื่องนี้เกี่ยวกับว่าความทุกข์เกิดขึ้นแบบสายฟ้าแลบ ความทุกข์เกิดดับอย่างสายฟ้าแลบ รู้ให้พอ รู้ให้ชัด รู้ปฏิจจสมุปบาทก็คือรู้พระพุทธเจ้าพระองค์จริง พระองค์นิรันดร ไม่ใช่พระพุทธเจ้าอย่างบุคคล เป็นลูกคนนั้น เป็นหลานคนนั้น เกิดเมืองนั้น เกิดเมืองนี้ เมื่อ พ.ศ.เท่านั้น พ.ศ.นี้ ไม่ ไม่ ไม่ อันนี้ไม่ต้อง พระพุทธเจ้าพระองค์จริงคือปฏิจจสมุปบาท เพราะพระพุทธองค์ตรัสไว้เองว่าผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาทผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นฉัน นี้เรื่องปฏิจจสมุปบาท ตามไอ้ที่เราเรียนกันนั้นแหละ ๑๑ อาการ หรือ ๑๒ ธรรมะ หัวข้อธรรมะ ตั้งแต่อวิชชาไปถึงทุกข์ นับได้ ๑๒ แต่ถ้าเป็นคู่ ๆ ที่ นาทีที่ 0.34.48 เป็นปฏิจจยาการ คือให้เกิด ให้เกิดมันได้ ๑๑ ๑๑ คู่ ทีนี้ปฏิจจสมุปบาทที่ไม่เรียกปฏิจจสมุปบาท แต่เรียกว่า อุปนิสธรรม ความหมายก็คล้ายกัน อาศัยกันเกิดขึ้นก็ไปอาศัยกันเกิดขึ้น คือมีทุกข์แล้วก็มีศรัทธา มีศรัทธาก็ไปพบสัตบุรุษ นั่นใกล้รู้ธรรมะ ด้วยเกิดยถาภูตญาณทัสสนะ เกิดนิพพิทา วิราคะ วิมุติ นิพพาน นั้นน่ะ นี่จากทุกข์ไปหานิพพานฝ่ายนี้ก็ ๑๒ อาการเหมือนกัน อวิชชาให้เกิดทุกข์ก็ ๑๒ อาการ ทุกข์ให้ไปถึงนิพพานก็ ๑๒ อาการ เรียกว่า อุปนิสธรรม ๒๔นั่นน่ะปฏิจจสมุปบาทที่ใหญ่มากเพราะมันถึง ๒๔ ๒๔ ธรรมะหัวข้อ ปฏิจสมุปปันนธรรม ๒๔ มีอาการ ๒๓ ถ้าไปถึงนั่นได้ก็ดี จะทำให้รู้หมดว่า โอ้, ทุกข์จะเกิดขึ้นอย่างไร ทุกข์จะดับไปอย่างไร ให้มันชัด แล้วไปดูกันที่ไหน ไปเห็นกันที่ไหน ก็เรียกว่าทุก ๆ อณูของจักรวาลมีอาการของปฏิจจสมุปบาท ไปเรียนวิทยาศาสตร์ก็ได้ว่าทุก ๆ อณู ทุก ๆ ปรมาณูดีกว่า ทุก ๆ อะตอมมันมีอาการของปฏิจจสมุปบาท หรือเมื่อสิ่งทั้งหลายมันประกอบขึ้นด้วยปรมาณู แล้วจะไม่มีอาการของปฏิจจสมุปบาทได้อย่างไร มันก็ยิ่งมีมากขึ้น ๆ ในตัวเราน่ะมีปรมาณู มีอะไรเป็นกลุ่มปรมาณู เป็นอะไรขึ้นมาจนเป็นเลือด เป็นเนื้อ เป็นกระดูก เป็นหนัง เป็นอะไรก็มีอาการของปฏิจจสมุปบาท แขน ขา มือ ตีน ตับไตไส้พุงมันก็มีอาการของปฏิจจสมุปบาท โดยพอมาถึงจิตใจโดยเฉพาะ ไอ้นี่อาการของปฏิจจสมุปบาท กลุ่มอย่างนี้เป็นทุกข์ กลุ่มอย่างนี้ดับทุกข์ ไม่ต้องไปดูที่ไหน ดูเข้าไปในตัวเราจะพบปฏิจจสมุปบาททั้งหมดทั้งสิ้น นี่เห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง ในตัวเรา ในตัวเรา ขอแถมพกหน่อยนะ ตรงนี้นะว่าพระพุทธเจ้าน่ะอยู่ที่ไหน ในภาพซ้ายมือแรกสุด เข้าโรงมหรสพวิญญาณซ้ายมือนั่นน่ะ ภาพนั้นน่ะขอให้ดูเหอะ บอกว่าพระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ที่หลังม่านแห่งความโง่ของคุณ พูดหยาบ ๆ ก็ว่าของมึง ที่หลังม่านแห่งความโง่ของมึงน่ะพระพุทธเจ้านั่งอยู่ แหวกม่านนั้นสักนิด จะพบว่าพระพุทธเจ้าอยู่ที่ตรงนั้นแหละ ไม่ต้องไปหาที่อินเดีย ไม่ต้องไปหาที่วัด ไม่ต้องไปหาที่ไหน ไม่ต้องไปหาในที่ไหน มันอยู่ที่หลังม่านแห่งความโง่ของคุณ แต่ทีนี้มันลำบากที่ว่าม่านนั้นก็ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ม่านโง่ของตัวเองก็ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน พยายามหาไอ้ม่านแห่งความโง่ของเราให้พบสิ อวิชชา แล้วฟันมันเสียสิ เผามันเสียสิ หรือแม้แต่เพียงว่าแหวกไปสักนิดก็พบแล้วล่ะ ไม่ต้องเผา ไม่ต้องฟันก็ได้ พระพุทธเจ้านั่งอยู่ตรงหลังม่านแห่งความโง่ของคุณนั่นเอง นี่จึงเรียกว่าเรื่องปฏิจจสมุปบาทมันขึ้นต้นด้วยอวิชชา อวิชชา ภาวะแห่งปราศจากความรู้ มันปรุง มันมีเอากำลังสำหรับการปรุง มันก็ไปคว้าเอาไอ้ธาตุตามธรรมชาติมาปรุงให้เป็นธาตุที่มิใช่ตามธรรมชาติ เช่น ไปเอาวิญญาณธาตุตามธรรมชาติมาปรุงให้เป็นวิญญาณในทางอายตนะ อวิชชาให้เกิดสังขารคือการ อำนาจการปรุง แล้วก็ไปปรุงวิญญาณธาตุตามธรรมชาติแท้ ๆ มาเป็นวิญญาณทางอายตนะ วิญญาณนี้ก็ให้เกิดนามรูป วิญญาณะปัจจะยานามะรูปัง ถ้าไม่มีวิญญาณเข้ามาด้วยไอ้ร่างกายนี้ก็ไม่ ไม่ต่างอะไรกับท่อนไม้ ไม่เป็นนามรูป อวิชชาได้ปรุงมาให้ เป็นสังขารปรุงมาให้ เป็นวิญญาณทางอายตนะ เป็นนามรูป พอเป็นนามรูปก็เป็นที่ตั้งแห่งอายตนะทั้ง ๖ แหละ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันมีอายตนะ แล้วแน่นอนต้องมีผัสสะด้วย มันต้องมีผัสสะเพื่อสิ่งที่มากระทบ มันเตรียมพร้อมอยู่เสมอ ก็มีผัสสะ ก็ต้องมีเวทนา มีเวทนา มันก็ต้องเกิดความคิดไปตามเวทนาคือตัณหา มีตัณหานั้นมันก็มีปาทานยึดมั่นตามที่มันมีตัณหาว่าอย่างไร อุปาทานเป็นตัวกูเป็นของกูขึ้นมา มันก็เกิดภพ คือความมีตัวกู ความมีตัวกูจึงเป็นภพ เหมือนกับครรภ์แก่นั่นแหละ ตอนอุปาทานมันก็ตั้งครรภ์ ตอนภพครรภ์มันก็แก่ ครรภ์แก่มันก็ภพ ก็ปัจจัยเกิดชาติก็คลอด คลอดออกมาเป็นตัวกูสมบูรณ์ คว้าอะไรทั้งหมดมาเป็นของกูหมดเลย เกิดแก่เจ็บตายก็ของกู ทุกข โทมนัส อุปายาส ก็เป็นของกู อะไรก็เป็นของกูนี่ มันแวบเดียว มันก็เป็นปฏิจจสมุปบาทตลอดสาย ไม่ต้องไปเอาไว้ชาตินั้นบ้าง ชาตินี้บ้าง นี่ปฏิจจสมุปบาทที่แท้จริงเป็นอย่างนี้ นับแต่อวิชชาไปถึงความทุกข์ก็ ๑๑ อาการ
แต่ปฏิจจสมุปบาทที่พระพุทธเจ้าท่านแนะอีกส่วนหนึ่งไม่ต้องลงมาถึงอวิชชา ไปอ่านดูเถอะ คือพระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ โดย โดย โดยคิดว่านั่งอยู่พระองค์เดียว ท่านก็ท่องหรือสาธยายปฏิจจสมุปบาทอันนี้ชุดนี้ว่า เริ่มขึ้นมาว่า จกฺขุญฺจ ปฏิจฺจ รูเป จ อุปฺปชฺชติ วิญฺญาณํ ติณฺณํ ธมฺมานํ สงฺคติ ผสฺโส ผัสสะปัจจยา เวทนา เวทนาปัจจยา ตัณหา ตัณหาปัจจยา ตอนนี้เหมือนกันแต่ขึ้นต้นหัวน่ะไม่ได้ขึ้นถึงอวิชชานะ ขึ้นต้นว่า ตากระทบรูปหรือเกิดจักษุวิญญาณ หมายความว่าอายตนะภายในกับภายนอกกระทบกันก็เกิดวิญญาณ ๓ ประการนี้คือจากภายใน ภายนอก และวิญญาณ ๓ อย่างนี้เรียกว่าผัสสะ พอผัสสะก็มีเวทนา มีตัณหาไป ทีนี้ภิกษุองค์หนึ่งแอบไปฟังอยู่ข้างหลัง พระพุทธเจ้าท่านเหลือบไป อ้าว, แกอยู่นี่นี่ เอาไป ๆ นี่ นี่คืออาทิพรหมจรรย์ ท่านใช้คำอย่างนี้ คำว่าอาทิพรหมจรรย์ ท่านระบุออกมา ปฏิจจสมุปบาทนี้เป็น อาทิพรมจรรย์ แกเอาไป จำเอาไป เล่าเรียนเอาไป ฉะนั้นปฏิจจสมุปบาทนี้อธิบายง่ายที่สุดแล้ว มันไม่ต้องไปเก็บอวิชชา สังขารอะไร ถ้าในเรื่องของตา ก็คือตาอย่างหนึ่ง แล้วก็รูปอย่างหนึ่ง ว่าถึงกันเข้า ปฏิจจะน่ะมันถึงกันเข้า แล้ว อุปฺปชฺชติ วิญฺญาณํ เกิดวิญญาณทางตา ทางหู ทางจมูกก็เหมือนกัน นี้ ๓ อย่าง ที่ตาด้วย รูปด้วย จักษุวิญญาณด้วย ถึงกันอยู่ สังคติ นี่เรียกว่า ผัสโส ๓ อย่างนี้ถึงกันอยู่เรียกว่าผัสสะ ถึงกับมีเวทนา มีตัณหา อุปาทาน
ปฏิจจสมุปบาทนี้ไม่ครบ ๑๑ แล้ว เหลือเพียง ๙ เท่านั้นเอง มันศึกษาง่ายที่สุด ไม่ต้องงงกันว่าอวิชชาเกิดสังขารอย่างไร สังขารเกิดวิญญาณอย่างไร เพราะฉะนั้นเรามีปฏิจจสมุปบาทแบบ ๙ อาการนี้ก็ได้ ๑๑ อาการก็ได้ ๒๓ อาการอย่างอุปนิสธรรมก็ได้ ศึกษาเรื่องนี้แล้วก็จะได้ตัวแพที่เข้มแข็งที่สุด เป็นเรือเหล็กเรียกว่า สัจจะ สัจจะ ธรรมะที่เป็นสัจจะ รู้แต่สัจจะว่าอย่างนี้ อย่างนี้ มันก็ทำไม่ได้ มันไม่มีกำลังที่จะให้เรือมันเคลื่อนไป มันรู้ว่าต้องมีสติ มีสติมาทันเวลาในขณะแห่งผัสสะ มีสัมปชัญญะ มีปัญญาจัดการที่ผัสสะ ผัสสะก็ไม่เกิดเวทนาโง่ ตัณหาโง่ เอามาแต่ไหนล่ะ เอาสติมาแต่ไหน สัมปชัญญะมาแต่ไหน ปัญญามาแต่ไหน สมาธิล่ะ ไม่มี ก็ต้องใช้อานาปานสติ ลองปฏิบัติอานาปานสติซิมันจะมามหาศาล สติก็มีแยะ สัมปชัญญะก็มีแยะ ปัญญาก็มีแยะ สมาธิก็มีแยะ นี่มันจะเป็นกำลังที่จะขับเคลื่อน มีสติในขณะแห่งผัสสะ ปฏิจจสมุปบาทก็ชะงักทันที หยุด หยุดทันที ในขณะแห่งผัสสะเอาสติมาเป็นสัมปชัญญะ ปัญญารู้ว่าจัดการอย่างไร ถ้าอ่อนแอก็มีสมาธิเพิ่มกำลังให้ ผัสสะก็สิ้นสุดลง ไม่เป็นผัสสะโง่ ไม่ปรุงแต่งเวทนาโง่ ไม่ปรุงแต่งตัณหาโง่ อุปาทานโง่ ทุกข์ก็ไม่เกิด นี่กำลังที่เข้มแข็งเฉียบแหลมคมที่สุดก็คือกำลังของไอ้สติปัญญาสมาธิสัมปชัญญะ มีพอ เร็วเป็นสายฟ้าแลบเหมือนกัน มาจัดการกับผัสสะ ผัสสะ จุดผัสสะนั้นเป็นจุดตั้งต้นของเรื่อง ของเรื่องวินาศหรือไม่วินาศมันก็อยู่ตรงที่จุดผัสสะ รู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทดีแล้ว ก็ศึกษาเอาเครื่องมือมาควบคุมปฏิจจสมุปบาท หยุดกระแสมันเสียได้ตามที่ต้องการ
อานาปานสติ เรื่องกาย เรื่องเวทนา เรื่องจิต เรื่องธรรมนี่ เป็นธรรมะสูงสุด พระพุทธเจ้าตรัสว่าตถาคตจะอยู่โดยมากโดยวิหารธรรมคือ อานาปานสติ เมื่อตถาคตอยู่ด้วยวิหารธรรมคือ อานาปานสติ ก็ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ ฉะนั้นกรรมฐานที่ช่วยพระพุทธเจ้าตรัสรู้นั่นคือ อานาปานสติ ท่านบรรลุวิชชา ๓ บรรลุอะไรได้ด้วยการเป็นอยู่ด้วยอำนาจอานาปานสติ อานาปานสติโดยย่อก็ควบคุมร่างกายได้โดยทางลมหายใจ บังคับลมหายใจได้ ลมหายใจนี่สามารถที่จะขจัดนิวรณ์ ขจัดอะไรออกไป เป็นจิตสงบเย็น เป็นร่างกายที่สงบเย็น ช่วยจิตสงบเย็น แล้วก็รู้เวทนาที่เกิดขึ้นจากจิตที่สงบเย็น ไม่ไปหลงกับมัน จะเป็นปีติก็ดี เป็นเวทนาก็ดี ควบคุมไว้ได้ ไอ้เวทนาเหล่านี้มันปรุงแต่งจิต เมื่อเราควบคุมสิ่งปรุงแต่งจิตไว้ได้ก็เท่ากับควบคุมจิตได้ มาถึงหมวดที่ ๓ คือจิตตานุปัสสนา ควบคุมจิตได้ตามต้องการ แล้วรู้จักจิตทุกชนิด แล้วควบคุมไม่ให้เป็นอย่างนั้น ควบคุมให้เป็นอย่างนี้ ควบคุมจิตให้บันเทิงในธรรม ควบคุมจิตให้เป็นสมาธิ แล้วก็ควบคุมจิตให้ปล่อยวาง
ลักษณะของสมาธิก็คือสะอาด ดี แล้วก็มั่นคงที่สุด แล้วเป็นกัมมนียะ กัมมนียะ ที่สุด ปริสุทโธ ปริสุท สมาหิโต มั่นคง กัมมนีโย ว่องไวในหน้าที่การงาน แต่เราไม่ค่อยได้เรียนกันนะคำนี้ในโรงเรียนนักธรรมน่ะ คำนี้สำคัญที่สุด กัมมนียะ ควรแก่การงาน เมื่อมีจิตนิ่มนวลอ่อนโยนควรแก่การงานแล้ว เราก็น้อมจิตไปเพื่อ เพื่อญาณทั้งหลาย เพื่อ ปุพเพนิวานุสสติญาณ จุตูปปาตญาณ ตามลำดับ กัมมนียะนี่สำคัญมาก ไม่ กัมมนียะ ก็ทำอะไรไม่ได้ สะอาดด้วย ตั้งมั่นด้วย และ กัมมนียะ ด้วย แปลกันว่าควรแก่การงาน ถ้าอย่างสมัยปัจจุบันก็คือ ACTIVE, ACTIVE, ACTIVENESS ทางวิทยาศาสตร์ ทางไหนเขาก็ให้ ให้คุณค่ามันมั่ง ถ้าไม่ ACTIVE มันทำอะไรไม่ได้หรอก มันงุ่มง่ามซุ่มซ่ามอยู่นั่นแหละ ACTIVE เท่าไหร่ก็ยิ่งดี ACTIVENESS นั่นแหละเป็นคำแปลของคำว่า กัมมนียะ กัมมนียะ จิตเป็นกัมมนียะแล้วน้อมไปเพื่อญาณไหนก็ได้ตามสบายเลย พอบังคับจิตได้อย่างนี้ก็น้อมไปเพื่อรู้ รู้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หมวดที่ ๔ ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานหมวดที่ ๔ ของอานาปานสติ รู้อนิจจัง รู้ทุกขัง รู้อนัตตา รู้ทุกอย่างที่เกี่ยวกับอนิจจัง ฉะนั้นในพระบาลีจึงเอ่ยถึงแต่อนิจจัง แต่มันรวมทุกขัง รวมอนัตตา รวม ธัมมัฏฐิตตตา ธัมมนิยามตา อิทัปปัจจยตา สุญญตา ตถาตา ด้วยเสร็จด้วยคำว่า อนิจจตานุปัสสี อนิจจานุปัสสี พอ อนิจจานุปัสสี ถึงที่สุดมันก็ไปถึงพร้อม ยถาภูตญาณ นั้นน่ะ มันก็มี มีราคา จางออก คลายออกแห่งกิเลส ตัณหา อุปาทาน มันก็ถึง นิโรธานุปัสสี ดับ ดับ ดับ ดับตัณหา อุปาทาน มี ปฏินิสสัคคา ขว้างทิ้งหมด เลิกกันหมด เลิกทิ้งกันหมด ปฏินิสสัคคา คำนี้ตัวหนังสือมันก็แปลว่าโยนกลับ โยนกลับ โยนกลับไปให้ธรรมชาติ กูไม่เอาของมึงอีกแล้ว กูไม่เอามาเป็นตัวตนอีกแล้ว นั่นน่ะมันก็จบเรื่อง
มันต้องมีอานาปานสติจึงจะได้กำลังสำหรับเคลื่อนแพ เป็นอันว่าเราจะต้องมีตัวแพ แล้วเราจะต้องมีสิ่งที่ขับเคลื่อนแพ ขอพูดสักหน่อยว่าอานาปานสตินี้มันคือความรู้หรือศาสตร์อันสูงสุดที่จัดการเกี่ยวกับลมหายใจ ข้อนี้ก็ต้องรู้มาแต่ดึกดำบรรพ์ก่อนพุทธกาลนานไกล แต่เขารู้ไม่ถึงที่สุด มันเป็นเรื่องของธรรมชาตินี่ลมหายใจนี่มันบังคับอะไรอยู่ ถ้าไม่มีความรู้อะไรเลยมันจัดการของมันเอง มีอะไรอึดอัดอยู่ในใจร่างกายมันก็ถอนหายใจยาวเสียทีหนึ่ง เอาเกลี้ยงไปโดยธรรมชาติ ไม่มีใครมาแนะ ธรรมชาติมันแนะ ความรู้อันนี้เขารู้จักปรับปรุง ปรับปรุง ปรับปรุงให้มันรู้จักหายใจอย่างไร จะขับไล่นิวรณ์ไปให้หมดสิ้น หายใจอย่างไรที่จะหมดไอ้ความทุกข์ ความร้อน เพราะคนป่าก็คงจะได้เคยใช้มาแล้วเรื่องอานาปานสติ ยักษ์มารเขาก็ได้ใช้มาแล้ว ในเรื่องยักษ์ เรื่องมาร เรื่องรามเกียรติ์ เสร็จแล้วเป่าลูบไป ๓ ที เจ็บทั่วอินทรีย์ก็เสื่อมหายแล้วลุกขึ้นรบได้อีก มันอานาปานสตินั่นเอง ในอินเดียมันจึงเป็นวิชาความรู้เรียกว่า พื้นบ้านกลางบ้าน เป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไป หนุ่ม คนหนุ่มจะต้องฝึกอานาปานสติ ดังนั้นเด็กชายสิทธัตถะจึงสามารถทำอานาปานสติได้ตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ วันแรกนาขวัญ เพราะมันเป็นความรู้ที่แพร่หลาย แต่มันยังไม่ถึงที่สุดระดับนี้ ไม่ถึงที่สุดระดับอานาปานสติทั้ง ๔
มีพระบาลีสำคัญที่สุดว่าเมื่ออานาปานสติสมบูรณ์ สติปัฎฐาน ๔ ก็สมบูรณ์ ท่านว่าอย่างนั้น อานาปานสติทั้ง ๔ สมบูรณ์ สติปัฏฐาน ๔ ก็สมบูรณ์ ต้องขออภัยที่จะต้องพูดคำที่ไม่น่าพูด เพราะว่าเพียงแต่ยุบหนอพองหนอนี่มันช่วยไม่ได้หรอก มันไม่สมบูรณ์ทั้งอานาปานสติทั้ง ๔ และสติปัฎฐาน ๔ มันสมบูรณ์ไม่ได้หรอก ขอให้เรียนปฏิบัติอานาปานสติทั้ง ๔ นี่ให้สมบูรณ์เถอะ แล้วสติปัฎฐาน ๔ ก็สมบูรณ์ พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนั้น เมื่อสติปัฏฐาน ๔ สมบูรณ์ โพชฌงค์ก็สมบูรณ์ เมื่อโพชฌงค์สมบูรณ์ มรรคก็สมบูรณ์ มันก็ดับทุกข์สิ้นเชิง แค่นั้น ฉะนั้นอานาปานสติจึงเป็นกรรมฐานพิเศษพระพุทธเจ้าได้ใช้เอง อยู่เอง ตรัสรู้เอง แล้วมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นท่านก็สอนให้ใช้อานาปานสติ ภิกษุเจริญกรรมฐาน อสุภกรรมฐานมากเกินไปฆ่าตัวตายเองเร็ว ๆ ดับทุกข์ ท่านมาแนะ โอ๋, อย่า อย่าทำอย่างนั้น ให้ใช้อานาปานสติ ไม่ต้องฆ่าตัวเอง ภิกษุก็ไม่ต้องฆ่าตัวเอง เรื่องในวินัยมี อานาปานสตินั่นแหละจะเป็นกำลังงานให้แพมันไปได้โดยถูกทาง
เพราะฉะนั้นสองขั้นตอน พวก พวกอะไรล่ะ ธรรมฐิติญาณ น่ะ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นความจริงของธรรมชาติสูงสุด นี่เป็น ธรรมฐิติญาณ ชุดหนึ่ง พอสิ้นสุดธรรมฐิติญาณแล้วมันก็มี นิพพานญาณ อีกชุดหนึ่ง เริ่มต้นตั้งแต่ นิพพิทา ไป ก็เป็น นิพพิทา วิราคะ วิมุตติ นี่เป็นเรื่อง นิพพานญาณ ญาณอื่น ๆ เช่น อนิจจตานุปัสสนาญาณ เป็นต้น เดินมาตามลำดับ มาถึงจุดสุดท้ายเพื่อให้เกิด นิพพิทาญาณ ฝ่ายนี้จัดเป็น ธรรมฐิติญาณ คือตั้งอยู่ตามธรรมดา พอ ธรรมฐิติญาณ สูงสุด ยถาภูตญาณทัสสนะ ก็ถึงที่สุด มันก็เกิด นิพพานญาณ เป็น นิพพิทา เป็นวิราคะ เป็นวิมุตติ เป็นนิพพานไปเลย นี่กำลังที่จะผลักไสพ่วงแพให้มันทะลุมหาสมุทรวัฏสงสาร คือทะเลแห่งกิเลส ทะเลแห่งกิเลส
มาที่นี่ได้อยากจะขอให้ไปนั่งรอบสระนาฬิเกร์ พิจารณาต้นมะพร้าวที่อยู่กลางสระ นิพพานอยู่กลางวัฏสงสารไม่มีความทุกข์ นี่มันเป็นเรื่องประหลาดที่ว่าเรื่องนิพพานนี้เอามาเป็นบทกล่อมลูก ถ้าไม่รู้เรื่องนี้มากพอแล้วเอามาทำบทกล่อมลูกไม่ได้ มะพร้าวนาฬิเกร์ ต้นเดียวโนเน กลางทะเลขี้ผึ้ง ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง กลางทะเลขี้ผึ้ง ถึงได้แต่ผู้พ้นบุญ นี่คุณคิดดู มันธรรมะสูงสุดทำไมมาเป็นบทกล่อมลูก ยายแก่มานั่งกล่อมลูกเรื่องของนิพพาน นี่แสดงว่าแหลมมาลายูภาคใต้เรานี่รู้ธรรมะสูงสุดกันตั้งแต่สมัยศรีวิชัย เอานิพพานมาเป็นบทกล่อมลูก นิพพานญาณ เกิดขึ้นแล้วมันก็ข้ามทะเลวัฏสงสารไปได้ และขอสรุปว่าแพของเราที่จะต้องประกอบไปด้วยญาณความรู้ประเภทสัจจะ ขอให้เรียนเรื่องอริยสัจ ๔ ก็ดี ปฏิจจสมุปบาทก็ดี เรื่องสัจจะนี้ชัดเจนให้เข้าไปอีก แล้วก็มาทำเครื่องมือที่จะให้ปฏิบัติได้ตามนั้น คือปฏิบัติอานาปานสติ แล้วเราก็ปฏิบัติได้ตามหลักของอริยสัจ ๔ หรือของปฏิจจสมุปบาทนั้น แพของเราก็สำเร็จ แล่นใบได้ แพที่แล่นใบได้ ข้ามฟากวัฏสงสารไปได้ นี่ความรู้ที่เป็นใจความสำคัญว่า เราจะผูกแพกันขึ้นมาอย่างไร เราทำแพแตกเราจะต้องผูกกันใหม่ เราจะต้องผูกอย่างไร ขอให้ช่วยจำไปคิด ไปใคร่ครวญ ไปศึกษาหาความรู้ประกอบให้ถึงที่สุดเถิดว่าเราจะผูกแพกันอย่างไร ในมหาวิทยาลัยนั้นมันจะผูกได้ไหม เลิกกันเสียทีเถอะ อย่าไปยึดถือนั่นนี่โน่น เอาตัว ตัว ตัวเนื้อร่างกายนี่เป็นมหาวิทยาลัย เอาร่างกาย นามรูปนี่เป็นมหาวิทยาลัย นี่จะรู้ถึงเรื่องทั้งหมด จะสามารถผูกแพได้ ข้ามวัฏสงสารได้ เราไปไหนมหาวิทยาลัยก็ติดไปด้วย เช่นมาสวนโมกข์มันก็มาด้วยใช่ไหม ร่างกายนี่มันเป็นมหาวิทยาลัย ขอใช้ร่างกาย นามรูปนี่เป็นมหาวิทยาลัย รู้จักชัดเจน ไม่เอามาเป็นตัวกูของกู ต่อไปเป็นของนามรูป เป็นของนามรูป ไม่มีอัตตา ไม่มีตัวกู นั่นแหละมันข้ามฟากได้เพราะไม่มีตัวกู เพราะไม่มีตัวตน นี่คือหลักใจความสำคัญในการที่จะสร้างโครงร่างขึ้นมาเป็นแพและแล่นใบได้ไปสู่ฟากโน้น ตี ตีรังฝั่งนี้ ปารังฝั่งโน้น จากตีรังไปสู่ปารัง เวลาก็หมดพอดีกับเรี่ยวแรงหมด ขอยุติการบรรยายในวันนี้ หวังว่าเพื่อนสหธรรมมิก สพรหมจารีทั้งหลายจะได้เอาไปคิดดูให้ดี สามารถสร้างแพขึ้นมาได้สำเร็จตามความประสงค์จงทุก ๆ ท่านเทอญ ขอยุติการบรรยาย