แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย การบรรยายในวันนี้เป็นการบรรยายต่อจากครั้งที่แล้วมา คือเรื่องอานาปานสติโดยประสงค์ เป็นตอนที่ ๒ ตอนที่ ๑ ว่าด้วยอานาปานสติหมวดที่ ๑ กับหมวดที่ ๒ วันนี้ก็กลายเป็นหมวดที่ ๓ กับหมวดที่ ๔ จะต้องทำความเข้าใจให้ต่อเนื่องกัน อานาปานสติหมวดที่ ๑ มีผลสุดท้ายเป็นการระงับกายสังขาร ส่วนหมวดที่ ๒ มีผลสุดท้ายเป็นการะงับจิตตสังขาร ทั้งสองหมวดนี้เป็นมาโดยลักษณะเดียวกัน หากแต่ว่ามันคนละระดับ หมวดที่ ๑ เป็นเรื่องเกี่ยวกับร่างกายโดยตรง คือเครื่องปรุงแต่งกายระงับไป หมวดที่ ๒ นั่นก็จิตโดยตรง คือเครื่องปรุงแต่งจิตมันระงับไป มันอยู่คนละชั้น มันอยู่คนละชั้นในความประณีตละเอียดกว่า ซึ่งจะต้องสังเกตุดูกันให้ดีๆ จะใช้วิธีการเดียวกันก็ได้แต่มันก็คนละระดับหรือว่าคนละสิ่ง เราพูดอุปมาเปรียบเทียบกันดูอย่างนี้ก็ได้ว่าระงับกายกับระงับจิตนี่มันต่างกันสักกี่มากน้อย เราจะรับประทานของกินที่ทำให้เย็นใจ เรียกว่าเย็นอกเย็นใจ ไปคว้าเอาลอดช่องมารับประทานเวลาเที่ยงวันมันก็จะต้องได้รับความเย็นอกเย็นกระเพาะในระดับหนึ่ง แต่มันก็เย็นชอบกลนะ นี่เราไปคว้าเอาละมุดฝรั่ง หรือขนุนละมุดเปียกๆ มารับประทานเข้าไป มันจะได้ความเย็นอกเย็นกระเพาะที่มากกว่ามั้ง ในลอดช่องนั้นมันจะมีแคลอรี่อะไรมากไปก็ได้ มันก็ไม่ได้เย็นอย่างชนิดนะมันเย็นมีความร้อนแฝง แต่ถ้าเป็นผลไม้เช่น ละมุด ฝรั่ง หรือว่าขนุน ละมุด เนี่ยมันเย็น เย็น เย็นลึกกว่า เปรียบดูเถอะว่าระงับกายกับระงับจิตนี่มันละเอียดประณีตกว่ากันในลักษณะนี้ แม้จะใช้เรื่องของสมาธิด้วยกันก็เป็นสมาธิคนละรูปแบบหรือคนละระดับ เราบังคับลมหายใจได้มันก็เย็นกาย แต่ถ้าเราบังคับความรู้สึกทางจิตได้มันก็เย็นจิต เนี่ยดูว่าเราได้ทำให้เกิดการระงับได้มาแล้วสองทางคือ ทางกายกับทางจิต อานาปานสติหมวดที่ ๑ มันระงับเรื่องทางกาย อานาปานสติหมวดที่ ๒ มันระงับเรื่องทางจิต เมื่อดูกันแล้วทั้งสองอย่างนี้ก็เห็นว่าโอ้นี่มันก็มีความสามารถบังคับได้ จะบังคับจิตมิใช่น้อยท่านไปทบทวนเอาเองในการบรรยายครั้งที่แล้วมา เมื่อกายกับจิตอยู่ในอำนาจได้มากอย่างนี้แล้ว ทีนี้เราจะใช้มันแล้ว เราจะใช้มันให้ทำหน้าที่การงานที่ดีที่ประณีตยิ่งๆ ขึ้นไป จะเป็นการใช้จิต จับสัตว์ป่ามาฝึกตามวิธีหยาบๆ เสร็จไปขั้นต้นแล้ว ฝึกอย่างวิธีละเอียดๆ เสร็จไปอีกขั้นตอนหนึ่ง ทีนี้จะใช้มันแล้ว จะใช้มันทำนั่นทำนี่ เราก็มาถึงอานาปานสติหมวดที่ ๓ และหมวดที่ ๔ หมวดที่ ๑ บังคับกายสังขาร หมวดที่ ๒ บังคับจิตตสังขาร หมวดที่ ๓ บังคับโดยตรงลงไปที่ตัวจิตเลยที่ไม่เกี่ยวกับสังขาร ท่านก็ไปดูบท สูตร บทที่เป็นตัวหลักสูตร หมวดที่ ๑ ของขั้นที่ ๓ ก็ว่า จิตตะปฏิสังเวที รู้พร้อมเฉพาะเรื่องจิต หายใจเข้าอยู่ หายใจออกอยู่ อะภิปปะโมทะยัง จิตตัง ทำจิตให้บันเทิงอยู่ หายใจเข้าหายใจออก สะมาทะหัง จิตตัง ทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ หายใจเข้าหายใจออก วิโมจะยัง จิตตัง ทำจิตให้ปล่อยอยู่ หายใจเข้าหายใจออก จับใจความตอนนี้ได้ว่าในขั้นที่ ๑ มากำหนดรู้จิตในรูปแบบต่างๆ ให้รู้จักจิตกันอย่างดีที่สุด ครั้นแล้วก็บังคับให้เกิดความรู้สึกเกิดผลตามที่เราต้องการ บังคับให้ปราโมทย์ก็ได้ บังคับให้ตั้งมั่น มั่นคง หยุดนิ่งก็ได้ เราบังคับให้ปล่อย ปล่อย ปล่อย ปล่อย ปล่อย สิ่งที่จิตยึดมั่นถือมั่นอยู่ก็ได้ เป็น ๔ ขั้นตอนอยู่อย่างนี้นี่ข้อแรกมันก็เป็นของใหม่ เช่นเดียวกับว่าเราดูลมหายใจ เราดูปีติและสุข เดี๋ยวนี้เรามาดูตัวจิตเอง จิตมีลักษณะอย่างไรบ้างก็จะได้ดูกัน ถ้าพอเป็นตัวอย่าง ตามที่ท่านระบุไว้ในบาลีก็นับว่าดีมากหรือเพียงพอที่จะเอามาใช้ ดูว่าจิตมีราคะหรือไม่มีราคะนี่อันแรก จิตมีโทสะหรือไม่มีโทสะ จิตมีโมหะหรือไม่มีโมหะเป็นลำดับไปนะ เอาไปตามลำดับ มีราคะหรือไม่มีราคะ หมายความว่า เราหนะมันรู้จักเกินรู้จักเรื่องราคะความกำหนัดยินดีในทางเพศทางกามโดยเฉพาะ เคยผ่านมานี่ทำไมจะไม่รู้จักแล้วมันก็รบกวนอยู่เป็นปกติทำไมจะไม่รู้จัก ก็รู้ว่ากำลังมีอย่างนั้นหรือไม่ หรือกำลังไม่มีอย่างนั้น แต่พิเศษกว่านั้นหรือลำบากประณีตละเอียดกว่านั้นเราต้องอาศัยการคำนวณหรือการเทียบเคียงสำหรับจิตที่ไม่มีราคะ ถ้าว่าจิตที่ไม่มีราคะโดยแท้จริงเรายังไม่มี เราจะมีได้บ้างก็แต่เพียงว่าจิตว่างจากราคะเป็นครั้งคราว อันนี้เป็นข้อให้เปรียบเทียบหมายความว่าจิตมีราคะเหมือนกับไฟลนมันเป็นอย่างไร แต่ถ้าพอมันไม่มีไฟนี้ลนมันเป็นอย่างไร นี่เกือบจะไม่ต้องเทียบเคียงเพราะบางเวลามันก็เป็นมันก็มีราคะไม่ครอบงำ จะต้องเทียบเคียงคือว่าถ้ามันเด็ดขาดไปเลยไอ้ไฟราคะนี้มันดับเด็ดขาดไปเลยมันจะเป็นอย่างไร ข้อนี้จะต้องอาศัยเทียบเคียง นี่ข้อที่ ๒ มันก็โทสะ มีโทสะหรือไม่มีโทสะ ก็ทำนองเดียวกันอีก เหมือนรู้จักราคะ มันละมันก็รู้จักโทสะ มันละเหมือนกัน ไฟที่เกิดขึ้นแล้วเป็นโทสะแล้วมันเป็นอย่างไร พอระงับไปมันดีอย่างไร ถ้ามันจะระงับได้โดยเด็ดขาดเป็นพระอรหันต์ไปเลยนี่มันจะดีกับ…วิเศษกับ…(นาทีที่ 11:00) นี่คู่ที่ ๓ มีโมหะหรือไม่มีโมหะ อันนี้ลำบากหน่อย เพราะมันเข้าใจยากหน่อย มีโมหะมีความโง่ มักจะไม่รู้ว่าโง่ถ้ารู้ว่าโง่มันไม่ทำ มันก็ต้องดูว่าโง่อย่างไรทำให้อะไรเกิดขึ้นมาเป็นความยุ่งยากลำบากจากความโง่ …(นาทีที่ 11:29) ก็เป็นความมืดมน อยากจะรู้อะไรมันไม่รู้ อยากจะคิดอะไรมันไม่คิด อยากจะเข้าใจอะไรมันไม่เข้าใจ นี่ก็พอที่จะทำให้รู้จักไฟโมหะมีอะไรบ้าง ขอให้สังเกตุดูดีๆ เป็นตัวเบื้องต้นเป็น ก ข ก กา ในเรื่องดูจิต มีราคะหรือไม่มีราคะ มีโทสะหรือไม่มีโทสะ มีโมหะหรือไม่มีโมหะ นั่งดูนั่งทบทวน นั่งทบทวนอยู่อย่างนี้ในการปฏิบัติข้อนี้ ราคะจำง่ายๆ มันเป็นไฟเปียก ไฟที่เปียก ชอบกลเปียกแต่ร้อน เฉอะแฉะไปหมดแต่ร้อน โทสะมันเป็นไฟแห้ง มันเผาอย่างแห้ง ไอ้โมหะนี่มันไฟมืด มันมืดเป็นความมืดแต่กลับแผดเผา ราคะไฟเปียก โทสะไฟแห้ง โมหะไฟมืด รู้จัก 3 อันนี้ให้ดีมันเป็นพื้นฐานของไอ้ทั้งหมด
คู่ต่อไปท่านก็มี จิตฟุ้งซ่านหรือไม่ฟุ้งซ่าน เมื่อใดบังคับไม่ได้มันฟุ้งซ่านมันเลื่อนลอยไปด้วยเหตุอะไรก็ตาม ปัจจัยภายนอกปัจจัยภายในอะไรมันก็มีได้ทั้งนั้นแหละ มันฟุ้งซ่านจนเรารู้สึกเหลือทนและรำคาญ เหลือทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิวรณ์ ข้อที่เรียกว่าฟุ้งซ่านอุทธัจจกุกกุจจ ก็สังเกตุดูให้ดีๆ ว่ามันมี … (นาทีที่ 13:37) เมื่อมันไม่ฟุ้งซ่านในบางคราวนั้นเป็นอย่างไร ถ้าว่ามันจะไม่ฟุ้งซ่านโดยเด็ดขาดมันจะเป็นอย่างไร ไอ้ความฟุ้งซ่านนั้นเป็นแต่เพียง ฟุ้งซ่านนี่ มันก็เหลือทนเหมือนกันแหละ ถ้าลองคิดเปรียบเทียบกันดูระหว่างว่า ถูกยุงกัด หรือถูกแมลงต่อย เจ็บปวดเท่าไหร่ แต่ว่าแม้แต่เพียงแมลงหวี่มันมาตอม หรือไอ้ น่าโมโหสักเท่าไหร่ ไม่แพ้กันเลย แต่ท่านบางคนอาจจะไม่รู้จักแมลงหวี่ หรือในที่ที่ไม่มีแมลงหวี่บางคนก็ไม่รู้จักเหมือนกัน แต่ถ้าในที่ที่แมลงหวี่ชุมแล้วลองดูสิ ปัดยังไงปัดยังไงปัดยังไงก็มาตอมชนิดที่รำคาญ ตอมตาเข้าไปในตา ตอมจมูกเข้าไปในจมูก บางทีก็หายใจเข้าไปทางปาก แม้แต่เพียงความฟุ้งซ่านกระสับกระส่ายไม่สงบแห่งจิตนี่ก็รำคาญเหลือประมาณ
ที่คู่ถัดไปจิตมีคุณธรรมเบื้องสูงไปสู่คุณธรรมเบื้องสูงหรือไม่ คุณธรรมเบื้องสูงในที่นี้ก็ได้แก่ พวกคืออุตตริมนุสสธรรมทั้งหลาย เช่นว่ามีสมาธิมีจิตสูงไปในทางสะอาดสว่างสงบ นี่เรียกว่าคุณธรรมเบื้องสูงเรามีหรือไม่ ถ้ามีเราก็ได้รู้จักรสชาติของมัน มีคุณธรรมเบื้องสูงแล้วจิตมันก็สะอาดสว่างสงบกว่าธรรมดากล้าที่จะปล่อยไปตามสัญชาตญาณ แต่ถ้าไม่มีมันก็เป็นจิต จิตก้อนอิฐก้อนหิน แม้ว่าเรายังไม่ได้บรรลุคุณธรรมเบื้องสูงขนาดที่อยู่ในอำนาจในกำมือของเรา แต่มันก็เป็นสิ่งที่คำนวณได้ ถ้าไม่มีอะไรจริงๆ ขึ้นมาก็เอาผลของการบังคับกายสังขาร จิตตสังขารได้นั่นแหละมาเป็นเครื่องคำนวณว่าลมหายใจระงับ เวทนาระงับ มันก็วิเศษเหลือประมาณ มีหรือไม่มีหรือไม่ ถ้าเราปฏิบัติสำเร็จในหมวดที่ ๑ ที่ ๒ เราก็มีเราก็เอามาทำได้ทันที นี่คุณธรรมเบื้องสูง แล้วก็เปรียบเทียบดูกันว่าถ้ามันไม่มีหรือเวลาที่มันไม่มีมันเป็นอย่างไร เวลาที่มีมันเป็นอย่างไร นั่นชิม ชิมรสของความมีคุณธรรมเบื้องสูงความไม่มีคุณธรรมเบื้องสูง ผู้ปฏิบัติข้อนี้ คู่ถัดไป จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ข้อนี้มันรู้ได้โดยตัวเราเองแหละว่า มันยังมีจิตชนิดที่น่าพอใจกว่านี้หรือไม่ มันตอบได้เองแหละเพราะมันยังทะเลาะกันอยู่ อึดอึดอัดอัดกันอยู่กับสิ่งที่มากระทบจิต แสดงว่ามันมีอันอื่นที่ยิ่งกว่าที่ดีกว่าที่สงบระงับกว่า ก็ให้รู้ต้องให้มันรู้ว่ามันยังมี เราตัวเรายังเป็นผู้ไม่ถึงที่สุดแห่งการปฏิบัติไม่ถึงที่สุด ยังมีสิ่งที่จะต้องทำให้ดียิ่งขึ้นไปกว่านี้ เอาละเป็นอันรู้แล้วยังมีจิตที่ดีกว่านี้มีจิตที่ยิ่งกว่านี้ ยังไม่บรรลุมรรคผลอะไรนัก ยังมีจิตที่ดีกว่านี้ แล้วก็คู่ถัดไปว่า จิตตั้งมั่นหรือไม่ตั้งมั่น นี่ก็ มันก็รู้มาแล้ว บ้างแล้วในหมวดที่ ๑ ในหมวดที่ ๒ เมื่อกายสังขารไม่ปรุงแต่งกาย เมื่อจิตตสังขารไม่ปรุงแต่งจิต มันก็ตั้งมั่นก็ปกติตั้งมั่น ก็ไอ้สิ่งเหล่านี้มาปรุงแต่งมันก็วุ่นวายมันไม่ตั้งมั่น พูดชัดเจนลงไปว่ามีสมาธิหรือไม่มีสมาธิ จิตเป็นสมาธิหรือจิตไม่เป็นสมาธิ แต่ว่าสมาธิอย่างไรยังไม่เคยศึกษากันมาโดยละเอียด ซึ่งเราก็จะได้พูดถึงเรื่องนี้กันต่อไปในการปฏิบัติหลังจากนี้ขั้นจากนี้ ทีนี้ข้อสุดท้าย จิตวิมุติหลุดพ้นหรือว่าไม่วิมุติหลุดพ้น ก็คู่สุดท้าย นี่ก็ได้โดยการคำนวณอีกแหละเพราะว่าไอ้ไม่วิมุตินี่เรารู้จักนี่ เดี๋ยวความรักกัด เดี๋ยวความโกรธกัด เดี๋ยวความเกลียดกัด เดี๋ยวความกลัวกัด เดี๋ยวความตื่นเต้นกัด เดี๋ยวความวิตกกังวลกัด เดี๋ยวความอาลัยอาวรณ์กัด เดี๋ยวความอิจฉาริษยากัด กัดจิตนะ เดี๋ยวความหวงกัด เดี๋ยวความหึงกัด เดี๋ยวฆ่ากันตายไป นี่เรียกว่ามันไม่วิมุติ มันอยู่ใต้อำนาจของไอ้สิ่งที่ผูกมัดรัดรึง นี่ก็อาศัยการคำนวณตรงๆ ว่าถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้มันจะเป็นอย่างไร มันก็เรียกว่าพอที่จะรู้จักจิตที่วิมุติโดยการคำนวณ อย่าไปหลักโดยตรงว่าจิตที่วิมุติ จิตที่ไม่มีกามุปาทานไม่รัดรึงอยู่ด้วยกาม จิตที่ไม่มีทิฎฐุปาทานมิจฉาทิฎฐิบ้าๆ บอๆ ไม่ครอบงำจิต สีลัพพตุปาทานไม่ถูกครอบงำอยู่ด้วยความเข้าใจผิดในเรื่องผลของการปฏิบัติ สีลัพพตุปาทานเข้าใจผลของการปฏิบัติอย่างผิดพลาด ที่ว่ามีผลเพื่อสงบระงับก็ว่ามีผลเพื่อสวรรค์วิมานไปเสียอย่างนี้ เรียกว่าสีลัพพตุปาทาน มันเข้าใจผลหรือความมุ่งหมายของการปฏิบัติผิดพลาด … (นาทีที่ 21:00) และอัตตวาทุปาทาน คือความรู้สึกไปในทางมีตัวตนมีของตน นี่อัตตวาทะ เป็นเหตุให้พูดออกมาทางปากว่าตัวกูว่าของกู ความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นอยู่ในจิต จึงเป็นเหตุให้หลุดออกมาทางปากว่าตัวกูว่าของกูนี่เรียกว่า อัตตวาทุปาทาน ถ้าไม่มีเป็นอย่างไร ถ้าเราศึกษาเรื่องอุปาทานรู้จักอุปาทานแล้วก็พอจะคำนวณได้ว่า ถ้าไม่มีอุปาทานเหล่านี้จะเป็นอย่างไร ที่จะพอกล่าวได้ว่ารู้จักดีทั้งจิตที่วิมุติและไม่วิมุติ มันก็รู้ว่า โอ้ จิตของเรายังไม่วิมุตินี่ มันยังกลัดกลุ้มไปด้วยสิ่งที่ผูกมัดรัดรึง ชีวิตนี้ยังขาดเจ้าของอยู่เรื่อยไป ไม่ว่ารู้จักอุปาทานดี คำนวณดูถ้าไม่มีมันจะเป็นอย่างไร นี่บทเรียนขั้นที่ ๑ ของหมวดที่ ๓ เรื่อง จิตตานุปัสสนา มานั่งคำนวณ สอดส่อง ตรวจตราจิตว่ามีราคะหรือไม่มีราคะ มีโทสะหรือไม่มีโทสะ มีโมหะหรือไม่มีโมหะ ฟุ้งซ่านหรือสงบ มีคุณธรรมเบื้องสูงหรือไม่มีคุณธรรมเบื้องสูง มีชนิดอื่นที่ยิ่งกว่าหรือไม่มีชนิดอื่นที่ยิ่งกว่า ตั้งมั่นหรือไม่ตั้งมั่น วิมุติหรือไม่วิมุติ นี่มันไม่เพียงแต่ว่าจะรู้จักไอ้สิ่งเหล่านี้นะมันไปถึงว่าเรากำลังมีอะไรกำลังมีชนิดไหน กำลังมีสิ่งเหล่านี้หรือไม่ ไม่ใช่เพียงแต่รู้จักว่ามันเป็นอย่างไรแต่รู้ไปถึงว่ามันมีหรือไม่มี ถ้ามีเป็นอย่างไรถ้าไม่มีเป็นอย่างไร รู้ดีหมดเลย ก็เรียกว่า จิตตะปะฏิสังเวที โดยครบถ้วน เป็นการปฏิบัติขั้นที่ ๑ ของหมวดที่ ๓ จิตตานุปัสสนา ที่นี้ก็มาถึงขั้นที่ ๒ สูงขึ้นไป รู้จักจิตโดยทุกชนิดโดยลักษณะแล้ว ก็ได้ฝึกในหมวดที่ ๑ คือระงับกายสังขารได้ หมวดที่ ๒ ระงับจิตตสังขารได้ เราก็พอมีความสามารถพอที่จะบังคับจิตได้อย่างนั้นอย่างนี้ ในขั้นนี้ก็บังคับจิตให้ อภิโมทน อภิโมทน (นาทีที่ 24:02) อันแปลว่า บันเทิงยิ่ง บันเทิงยิ่ง เราระงับกายสังขารนี่บันเทิงแบบหนึ่งขั้นหนึ่ง ระงับจิตตสังขารบันเทิงแบบหนึ่ง แล้วก็มีความพอใจ ศรัทธายินดี ศรัทธาในธรรมเป็นเครื่องดับทุกข์ เห็นทุกข์โดยลักษณะของปฏิจจสมุปบาท แล้วต่อจากนั้นมีศรัทธา เชื่อมั่นว่ามันมีความดับทุกข์ มีความดับทุกข์คือพระนิพพาน เมื่อรู้สึกหรือมุ่งหมายต่อสิ่งนี้มันก็บันเทิง มันก็ร่าเริง มันก็มุ่งหมายที่จะไปที่นั่นด้วยความพออกพอใจ ดังนั้นความบันเทิง บันเทิงนี้มีได้หลายระดับ แต่ไม่ใช่บันเทิงอย่างทางกามารมณ์ หรือบันเทิงไอ้พวกกิเลส นี้มันเป็นธรรมะบันเทิง ไอ้เรื่องกิเลสบันเทิงนี้ไม่ต้องเอากับมันหรอก ถ้ามันเป็นธรรมะบันเทิง พอใจ รื่นเริง ในรูปแบบของธรรมะที่ประกอบด้วยคุณธรรม ใฝ่ดีใฝ่ถูก ก็บันเทิงบันเทิง ยังละไม่ได้ก็ยังบันเทิงไปก่อน ได้ตามต้องการ ต้องการให้บันเทิงให้อารมณ์อะไร ต้องการให้บันเทิงมากบันเทิงน้อย บันเทิงถึงหยาบๆ บันเทิงละเอียด บันเทิงประณีตได้ตามต้องการ ขั้นที่ ๒ สองหมวดนี้ (นาทีที่ 25:50) ท่านก็ฝึกอยู่อย่างนี้ฝึกอยู่อย่างนี้ นี่ที่ฝึก ทีนี้ก็มาถึงขั้นที่ ๓ สมาระหังจิตตัง (นาทีที่ 26:00) ทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ หายใจเข้าอยู่ หายใจออกอยู่ ทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ คำว่า ตั้งมั่น ตั้งมั่น นี่มีเป็นระดับเป็นชั้น เป็นหลายระดับ เป็นหลายๆ ชั้น มากน้อยก็มี แล้วมันก็ยังมีว่า อย่างประณีตละเอียดเป็นของธรรมะฝ่ายธรรมะ ตั้งมั่นตามแบบของธรรมะเป็นสมาธิชนิดที่จะเป็นอริยสัมมาสมาธิในอนาคต ท่านกำหนดลักษณะของสมาธิไว้พอเป็นเครื่องสังเขป ๓ อย่างด้วยกัน เอาฟังให้ดีๆ กำหนดให้ดีๆ ว่ามัน ๓ อย่างด้วยกัน ที่จะใช้เป็นเครื่องกำหนดลักษณะของความตั้งมั่น อันที่ ๑ เรียกว่า ปริสุทโธ ปริสุทโธ หรือปริสุทธ พูดเป็นภาษาไทยก็ต้องว่า ปริสุทธ บริสุทธิ์ เวลานั้นไม่มีสิ่งเศร้าหมองรบกวน ไม่มีกิเลสรบกวน ไม่มีนิวรณ์รบกวน คือสะอาดจากสิ่งสกปรกเหล่านี้รบกวนมันก็สะอาด มันต้องสะอาดจากสิ่งรบกวน โมกขจากสิ่งรบกวน มันจึงจะสะอาดหรือบริสุทธิ์ เห็นได้ชัดว่ามีลักษณะบริสุทธิ์ ลักษณะที่ ๒ สมาหิโต ตั้งมั่น ตั้งมั่น เหมือนกับก้อนหินหนักๆ ไม่มีอะไรกวนมันก็ตั้งมั่น จิตนี้ก็เมื่อไม่มีนิวรณ์อะไรกวนมันก็ตั้งมั่น ตั้งมั่นในลักษณะที่มันจะส่งออกมาซึ่งสิ่งที่เรียกว่า ยถาภูตญาณทัสสนะ หรือยถาภูตสัมมัปปัญญา เลยมีหลักวางไว้แน่นอนสำหรับศึกษาว่าเมื่อจิตตั้งมั่นก็จะเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง ที่เรียกว่า ยถาภูตญาณทัสสนะ ถ้าไม่ตั้งมั่นมันไม่เห็นไม่เกิดญาณนี้ ถ้ามันตั้งมั่นมันก็เกิดเอง ครั้นจึงพูดเอาเปรียบกันได้ว่าทำจิตให้เป็นสมาธิเถิดมันจะเกิดปัญญาเอง หากปัญญาย่อมมีแก่ผู้เคร่งฌานผู้มีฌาน ฌานย่อมมีแก่ผู้ปัญญา มันส่งเสริมแก่กันและกันกลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้ ถ้ามีฌานทำสมาธิตั้งมั่นมันก็มีปัญญา ถ้ามีปัญญามันสามารถทำให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิ เดี๋ยวนี้เราก็มีไอ้ความตั้งมั่นในลักษณะที่จะเกิดยถาภูตญาณทัสสนะ สำหรับมันจะได้เห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง ทำสมาธินั่นมันก็มีที่อยู่ใน ๒ รูปแบบ อันหนึ่งสมาธิสำหรับเงียบสงบเป็นสุขไปเลย ไม่ต้องการรู้เห็นอะไรนั่นก็เป็นแบบหนึ่ง แต่สมาธิที่เราต้องการในที่นี้คือเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง ไม่ใช่ไปหาความสงบสุขเยือกเย็นเป็นวันๆ ไปเสียเลยอย่างนั้น ไม่ก้าวหน้า ไม่ก้าวหน้า แต่มันก็มีประโยชน์อยู่เหมือนกัน มันมีความสุข หรือว่าเพราะมันมีความสุขชนิดนี้มันก็ช่วยให้ตั้งมั่นชนิดที่จะเกิดยถาภูตญาณทัสสนะ มันสงบระงับดี เอาล่ะว่าจิตตั้งมั่น จิตตั้งมั่น คือ อยู่ในลักษณะที่พร้อมที่จะเกิดยถาภูตญาณทัสสนะ จะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ยถาภูตสัมมัปปัญญา ปัญญาที่เห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงถูกต้องตามเป็นจริง ก็เหมือนกันหล่ะ เอาที่นี้ลักษณะที่ ๓ นี่อาจจะแปลกหูหรือไม่เคยได้ยินว่า กัมมนีย กัมมนียตัวหนังสือแท้ๆ แปลว่า สมควรแก่การกระทำการงาน การงานในที่นี้ก็หมายถึงทางจิต แต่จะให้ไปถึงทางกายทางวัตถุด้วยก็ได้ลองดูสิ พอจิตเป็นสมาธิมันก็ควรทำการงานทั้งทางกายทางจิตแหละ แต่ในการปฏิบัติธรรมนี่เรามุ่งหมายทางจิต จะทำหน้าที่การงานทั้งทางจิต แต่ถ้าอยากจะยืมไปใช้ในทางกายทางวัตถุก็ได้เหมือนกัน ไถนานี้ถ้ามีจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิมันก็ทำได้ดีกว่า จะตำน้ำพริกแกงในครัวถ้าจิตมันตั้งมั่นก็ทำได้ดีกว่า จะจักรสานจะทอเสื่อถ้าจิตตั้งมั่นทำได้ดีกว่า ควรแก่การงานทำได้ดีกว่า ได้เป็น ๓ ลักษณะที่จะต้องสังเกตกำหนดไว้ให้ดีๆ อันที่ ๑ สะอาด อันที่ ๒ มันก็สงบ สงบ อันที่ ๓ เนื่ยว่องไว ถ้าใครขี้เกียจจำคำยืดยาวก็จำ ๓ คำสั้นๆ ว่า สะอาด สงบ คือสงบแล้วก็ว่องไว ไอ้คนโง่มันอาจจะคัดค้านอาตมาว่า ถ้าสงบแล้วจะว่องไวได้อย่างไร ถ้าสงบก็หยุดนิ่ง เป็นเรื่องของคนโง่เก็บไว้ให้มันก็แล้วกัน มันสงบ มันหมายความว่ามันไม่มีอะไรรบกวนบีบคั้น มันคล่องตัว มันคล่องตัว มันเข้ารูป มันว่องไว ว่องไวในการจะคิด จะนึก จะจด จะจำ จะระลึก จะตัดสินใจอะไรมันก็ว่องไว ว่องไวไปหมด ภาษาสากลคือภาษาฝรั่ง เค้ามีคำว่า active ซึ่งมันว่องไว activeness ซึ่งมันมีความว่องไว active มันไม่งุ่มง่าม มันไม่ซุ่มซ่าม มันไม่ต้วมเตี้ยม มันว่องไวในหน้าที่ แล้วก็เค้านิยมชมชอบกันมากที่มันเป็น active เดี๋ยวนี้จิต active ที่สุดพร้อมที่จะทำการงานที่สุด จะพูดให้ง่ายๆ ก็ฟังให้ถูกพร้อมที่จะทำงาน พร้อมที่จะทำงาน ความพร้อมที่จะทำงาน ในภาษาบาลีมีสำนวนนิ่มนวลอ่อนโยน อ่อนโยนนิ่มนวลควรแก่การงาน อย่างนี้จิตไม่แข็งกระด้างจิตอ่อนไหวรวดเร็ว นิ่มนวลควรแก่การกระทำการงานทางจิต จำบาลีกล่าวว่า ปริสุทธ สมาหิต (นาทีที่ 34:07) แล้วก็ กัมมนีย ได้ทั้ง ๓ อย่างนี้แน่สมาธิ จิตเป็นสมาธิถึงที่สุด สมาธิแข็งทื่อเป็นท่อนไม้ไปเลยนั้นมันจะทำอะไรได้ มันไม่มีกัมมนียเลย มันไม่มีอะไรรบกวนมันตั้งมั่น มันเป็นอิสระ อิสระแล้วมันก็คล่องตัว มันก็ว่องไวในการที่ทำหน้าที่การงาน แม้แต่จะเขียนจดหมายสักฉบับคุณไปเทียบดูถ้าจิตเป็นกัมมนียแล้วเขียนได้เร็วเขียนได้ดีสนุกพิลึก จิตไม่เป็นกัมมนียก็อึดอัดเดี๋ยวก็ฉีกทิ้ง ฉีกทิ้งแล้วฉีกทิ้งเล่า มันไม่มีกัมมนีย ขั้นที่ ๓ ของหมวดที่ ๓ คือ ทำจิตให้เป็นสมาธิคือตั้งมั่น สะมาทะหัง (นาทีที่ 35:20) ตั้งมั่น นี่ก็ถึงขั้นที่ ๔ ของหมวดที่ ๓ วิโมจะยัง จิตตัง ทำจิตให้ปล่อย ให้หลุด ให้ปล่อย โดยอุบายทางจิต อุบายทางจิต ถ้ามีความรู้ทางปัญญาเข้ามาช่วยบ้างก็ยิ่งดี เพราะว่าความรู้ทางปัญญาในระดับต่ำๆ มันก็มีอยู่ไปดึงมาใช้ได้ ปล่อยก็คือหลุดจากสิ่งที่กำลังผูกมัดรัดรึงจิตที่เรียกว่า อุปาทาน อุปาทานง่ายๆ โง่ๆ เรื่องกาม เรื่องโกรธ เรื่องโทสะ นี่ก็พอทำเป็นสมาธิได้มันก็ปล่อยเหมือนกันแหละ ก็ปล่อยปล่อยได้เหมือนกันโดยลำพังสมาธิ แต่ถ้ามีความรู้เรื่องวิปัสสนาปัญญา เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เข้ามาช่วยมันก็ปล่อยได้มากกว่าเร็วกว่าลึกกว่า ข้อนี้มันพูดได้เป็น ๒ สำนวนอยู่ว่า ทำจิตให้ปล่อยจากอารมณ์ หรือว่าทำอารมณ์ให้ปล่อยจากจิต ใช้คำว่าหลุดฟังง่าย ทำจิตให้หลุดจากอารมณ์หรือทำอารมณ์ให้หลุดไปจากจิตได้ผลเท่ากัน แล้วแต่จะมอง ทำจิตให้หลุดจากอารมณ์ อารมณ์รัก อารมณ์โกรธ อารมณ์อะไรก็ตาม หรือว่าทำอารมณ์นั้นให้หลุดไปจากจิตมันก็มีผลเท่ากัน เรียกว่า ปลดปล่อย ปลดปล่อยจิตจากอารมณ์ปลดปล่อยอารมณ์ไปจากจิต ความสำคัญมันอยู่ที่คำว่า ปล่อย หลุด นี่เป็นขั้นที่ ๔ ของหมวดที่ ๓ หมวดที่ ๓ นี้มันก็เริ่มเป็น ถ้านับมาตั้งแต่ต้นคงเป็นขั้นที่ ๙ ขั้นที่ ๑๐ ขั้นที่ ๑๑ ขั้นที่ ๑๒ ถ้ามันนับหมดทั้งแถวคือ ๑๖ ขั้น ถ้านับเฉพาะหมวดก็มีขั้นที่ ๑ ขั้นที่ ๒ ขั้นที่ ๓ ขั้นที่ ๔ ของหมวดที่ ๓ หมวดนี้เรียกว่า จิตตานุปัสสนา จัดการกับจิตจนมีอำนาจเหนือจิต ต้องรู้จักจิตแต่ละชนิด รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักอะไรทุกอย่างที่มันเกี่ยวกับจิต แล้วก็จัดการจนสามารถมีอำนาจเหนือจิต บังคับจิตให้เป็นอย่างนั้นให้เป็นอย่างนี้ในทางที่ถูกในทางที่ควรได้ตามความประสงค์ทุกอย่างทุกประการ เอาหล่ะที่นี้ถ้ามันจะเกิดบ้าขึ้นมามันจะบังคับไปทางกิเลสตัณหา มันก็ทำได้ดีกว่า อย่างบังคับจิตให้มีราคะให้มีโทสะให้มีโมหะมากที่สุดมันก็ทำได้ดีกว่าคนที่ไม่เป็นสมาธิ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งพึงประสงค์เราก็ไม่พูด พูดแต่ที่พึงประสงค์คือเป็นไปในทางที่จะระงับเสียซึ่งกิเลส เอาต่อนี้ไปก็จะพูดถึงหมวดที่ ๔ เสียเลย ที่เรียกว่า ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นหมวดที่ ๔ ทำความสัมพันธ์กันมาให้ดีๆ หมวดที่ ๑ จัดการกับลมหายใจหรือร่างกายชนะไป หมวดที่ ๒ จัดการกับเวทนาจนชนะไป หมวดที่ ๓ จัดการกับสิ่งที่เรียกว่าจิตจนชนะไป พอมาถึงหมวดที่ ๔ จะเอาชนะอุปาทาน เอาชนะธรรมชาติ เอาชนะความลับของธรรมชาติ ที่เรียกว่า ธรรม ธรรมะอันเป็นปัญหา สิ่งอันเป็นปัญหา สิ่งที่ลึกซึ้งแห่งปัญหา เรียกว่า อุปาทาน จะจัดการกับอุปาทาน ถ้าพูดกันโดยตรงก็จะจัดการกับอุปาทาน หมวดที่ ๑ จัดการกับกาย หมวดที่ ๒ จัดการกับเวทนา หมวดที่ ๓ จัดการกับจิต หมวดที่ ๔ จะจัดการกับอุปาทานอันเป็นธรรมชาติอันลึกลับซับซ้อนซ่อนเร้นอยู่สำหรับทรมานเราให้เป็นทุกข์ ขั้นที่ ๑ ของหมวดที่ ๔ อนิจจานุปัสสี ความเห็นอยู่ซึ่งความไม่เที่ยง หายใจเข้าหายใจออก หายใจเข้าหายใจออกอยู่ด้วยการเห็นซึ่งความไม่เที่ยงไม่เที่ยง นี่ท่านยกเอาความไม่เที่ยงขึ้นมาเป็นธรรมสำหรับเห็นก่อน เป็นธรรมชาติที่ต้องเห็นก่อน ไอ้ความไม่เที่ยงนี่มันก็มาน่าหัว ถึงบทไม่เห็นก็เห็นเป็นความเที่ยง มันเลยมามัวมองดูในแง่ที่ว่ามันก็มีให้เราอยู่ตลอดเวลาให้เห็นเป็นความเที่ยงไปเสีย แต่ถ้าเห็นให้ละเอียดลึกซึ้ง โอมันเปลี่ยนเรื่อย ถ้าท่านศึกษาเรื่องปฏิจจสมุปบาทมาอย่างถูกต้องและเพียงพอแล้ว ก็จะเห็นว่ามันไม่มีอะไรนอกจากความไหลเรื่อย ความเปลี่ยนแปลงเรื่อยแห่งการปรุงแต่งของเหตุของปัจจัย เหตุปัจจัยมันปรุงแต่งกันเรื่อย ปรุงแต่งกันเรื่อยเป็นสังขารใหม่เรื่อยไป นั่นหน่ะคือความไม่เที่ยงอันลึกซึ้ง ปรุงแต่งสังขารอันใหม่เรื่อยไปนี่คือความไม่เที่ยง แต่ที่เป็นของง่ายๆ ตื้นๆ ที่คนธรรมดาควรจะมองเห็นมันก็มีอยู่เยอะแยะ เช่น ความเกิด ความเติบโตเป็นหนุ่มเป็นสาวเป็นคนแก่คนเฒ่าเข้าโรงพยาบาล รวมทรัพย์สมบัติสิ่งของมันไม่เที่ยงมันเปลี่ยนไปเปลี่ยนไป เกียรติยศอำนาจวาสนามันก็ไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงไปเปลี่ยนแปลงไป ความยากจนหรือความมั่งมีนี่สลับกันไปเป็นความไม่เที่ยงอย่างนี้ก็ได้ พระพุทธเจ้าท่านยกมากล่าวเพียงคำเดียวว่า ความไม่เที่ยง แต่ช่วยกำหนดรู้ไว้ว่าถ้าอะไรๆ ที่มันเนื่องเกี่ยวกันอยู่กับความไม่เที่ยง ก็ขอให้รู้ให้หมดเถิด พูดว่าไม่เที่ยงคำเดียวแต่มันมีอะไรๆ ที่เกี่ยวข้องกันอยู่กับความไม่เที่ยงนั้นมากมาย เช่น ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตา ทำไมท่านไม่ตรัสเสียทั้งหมดทั้งแถวเล่า มันมากมายมันยืดยาว ท่านตรัสแต่ความไม่เที่ยง ก็มันมีความจริงอยู่ว่าถ้าท่านเห็นความไม่เที่ยงท่านก็จะต้องเห็นทุกสิ่งที่เกี่ยวกับความไม่เที่ยงถ้าท่านไม่โง่เกินไป เห็นความไม่เที่ยงแล้วจะเห็นทุกสิ่งที่มันเกี่ยวข้องกับความไม่เที่ยง ความไม่เที่ยงคือ การเปลี่ยนแปลงเรื่อย เปลี่ยนแปลงเรื่อย ไม่อยู่ในสภาพที่คงที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามที่เราต้องการ มันเปลี่ยนแปลงเรื่อย ข้างนอกทั้งสากลจักรวาลมันก็เปลี่ยนแปลงเรื่อย เข้ามาใกล้ตัวเราไอ้โลกนี้บ้านเรือนของเรานี้มันก็เปลี่ยนแปลงเรื่อย เข้ามาที่ร่างกายของเราเนื้อตัวของเราทั้งส่วนทุกๆ ส่วนทั้งร่างกายนี้มันก็เปลี่ยนแปลงเรื่อย ไอ้ที่เปลี่ยนแปลงอย่างบ้าบอที่สุดคือความรู้สึกของจิต เพราะจิตมันเป็นของไวมันจึงเปลี่ยนแปลงได้ไว ไว ไว ไว มากกว่าการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ทางรูปธรรมมันเปลี่ยนแปลงช้ามากบางทีเห็นชัด แต่ทางจิตทางนามธรรมมันเปลี่ยนแปลงชนิดมองเห็นยากมันไวเกินไป แต่รวมแล้วมันก็คือความไม่เที่ยง จงเห็นความไม่เที่ยงทั้งอย่างหยาบ ทั้งอย่างกลาง ทั้งอย่างละเอียด ทั้งอย่างที่เป็นภายนอก ทั้งอย่างที่เป็นภายใน ทีนี้มันก็มองเห็นต่อไปถึงว่าโอ้นี้มันต้องผูกพันธ์อยู่กับความไม่เที่ยง ชีวิตนี้มันผูกพันธ์กันอยู่กับความไม่เที่ยง มันก็ต้องเป็นทุกข์ยุ่งยากลำบากหาความสงบสุขไม่ได้ อย่างนี้ก็เรียกว่าเห็นคืบคลานไกลออกไปถึงความทุกข์ที่มีอยู่ในความไม่เที่ยง ถ้าเห็นทุกข์และถ้าเห็นไม่เที่ยงจริงๆ ก็จะเห็นความเป็นทุกข์ได้เอง ทีนี้พอเห็นว่า โอทั้งไม่เที่ยงทั้งเป็นทุกข์อย่างนี้จะเรียกว่าตัวตนได้อย่างไรกันโว้ย มันก็เห็นความไม่ใช่ตนไม่ใช่ตน มีแต่กระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงของปฏิจจสมุปบาท ชีวิตนี้ไม่มีอะไรนอกจากกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงของปฏิจจสมุปบาท จึงเห็นอนัตตา เห็นตามอย่างเท่านี้ก็พอ ที่ให้เกิดความเห็นแจ้งในส่วนปัญญา เห็นว่าไม่เที่ยงคือไหลเรื่อย เปลี่ยนแปลงเรื่อย เห็นว่าการที่ต้องผูกพันธ์กันอยู่กับสิ่งไม่เที่ยงมันก็เป็นทุกข์ ทั้งไม่เที่ยงและทั้งเป็นทุกข์ จะเอาเหตุผลอันไหนมาเรียกมันว่า อัตตา หรือตัวกูตัวตน เราจึงขยายออกไปเป็น ๓ อย่าง เรียกว่า ไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์ คุณยายแก่ๆ ก็ชอบเรียกว่า พระไตรลักษณ์ ประเสริฐวิเศษที่สุดถ้าเห็นพระไตรลักษณ์ ก็เอาตัวรอด พระพุทธเจ้าตรัสเพียงคำเดียวว่า ไม่เที่ยง แต่มันคาบเกี่ยวไปถึง ทุกข์และอนัตตา เป็นพระไตรลักษณ์ขึ้นมา ทีนี้อยากจะพูดให้มันชัดเจนให้มันละเอียดมากกว่านี้ มันก็ได้ ที่จริงมันก็ไม่จำเป็นนักแต่ถ้ารู้ไว้มันก็มีประโยชน์ อาตมาจะพูดให้เห็นเป็นลำดับออกไปอีกจากความไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา ในชุดแรกเราเห็นความไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตาชัดเจน ทีนี้ก็จะเห็นความที่มันเป็นธรรมชาติเป็นไปตามธรรมชาติอย่างนั้นเองเรียกว่า ธัมมัฏฐิตัตตา ธัมมัฏฐิตัตตา ความตั้งอยู่ตามธรรมชาติตามธรรมดา ธัมมัฏฐิตัตตา มันตั้งอยู่เป็นอยู่เป็นไปอยู่ตามธรรมชาติตามธรรมดา เรียกว่า ธัมมัฏฐิตัตตา เห็นชัดอยู่ในความไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา มันไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตาอยู่เป็นประจำเป็นธรรมดา ถ้าเห็นทั้ง ๓ อย่างนี้ ก็เรียกว่าเห็น ธัมมัฏฐิตัตตา ความตั้งอยู่ตามธรรมดา เห็นความที่มันต้องเป็นไปหรือตั้งอยู่ตามธรรมดาอย่างนี้หนักเข้า หนักเข้า หนักเข้า ก็เลย โอมันมีอะไรบังคับอยู่ คือกฎของธรรมชาติ เรียกว่า ธัมมนิยามตา ธัมมนิยาม บทบังคับของธรรมชาติ จะเห็น ธัมมนิยามตาถัดไปจากเห็น ธัมมัฏฐิตัตตา โอมันเป็นไปตามกฎของธรรมชาติอย่างไม่สิ้นสุดอย่างนี้ ก็เรียกว่าเห็น อิทัปปัจจยตา ความที่ต้องเป็นไปตามปัจจัย เป็นไปตามปัจจัย เป็นไปตามปัจจัย เรียกว่า อิทัปปัจจยตา ได้มาอีก ๓ คำ ใช่ไหม ธัมมัฏฐิตัตตา ธัมมนิยามตา อิทัปปัจจยตา เอายังไม่ยอมหยุด จะดูกันให้ละเอียดต่อไปอีก จะเห็นว่า โอมันว่างเว้ย สุญญตา สุญญตา ว่างจากตัวตน ว่างจากตัวตน มันมีแต่สิ่งที่ไม่เป็นอิสระ ไม่เป็นตัวตน ต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิตย์ เห็นว่างจากตัวตนว่าไม่มีตัวตนหรือไม่ใช่ตัวตน ว่างจากตัวตนเรียกว่า สุญญ สุญญ ว่างจากตัวตน ว่างจากตัวตน ที่คนเขามักจะเอาไปแปลผิดๆ ว่าสูญเปล่า คนโง่จะแปล สุญญตา ว่าสูญเปล่า สุญญ สูญเปล่า แต่คนที่มีปัญญาถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา จะแปลว่า ว่าง ว่างจากตัวตน สุญญ ว่างจากตัวตนไม่ใช่สูญเปล่า จะพูดว่าสูญเปล่าก็ได้แต่อธิบายกันยาก พูดให้เด็กๆ ฟังอะไรก็ได้ สุญญตา สุญญตา ว่างจากตัวตน ว่างจากตัวตน ไปในทุกสิ่งทุกอย่างในอายตนะก็ดี ในขันธ์ก็ดี แม้แต่ในธาตุทั้งหลายก็ดี มันก็ว่างจากตัวตน ใช้ว่างจากตัวตน ว่างจากตัวตนหนักเข้าถึงที่สุดแล้วก็เห็น โอ เป็นเช่นนี้เอง เป็นเช่นนี้เอง ไม่เป็นอย่างอื่นไปจากนี้ ไม่ผิดจากอื่นไปอย่างนี้ นี้เรียกว่าเห็น ตถาตา ตถาตา ตถาแปลว่าเช่นนั้น ตถาตา แปลว่าความเป็นเช่นนั้น เห็นความเป็นเช่นนั้นไม่มีความเป็นอย่างอื่นจากนี้ นี่มันจะปล่อยวาง มันจะไปถึงขั้น จะให้เกิดขั้นที่ ๒ ที่ ๓ ไปเรื่อยๆ พูดถึง ตถาตา กันก่อน เห็นความเป็นเช่นนี้ ความเป็นเช่นนี้ ไม่ฟังใครแล้ว จะไปหลงรักหลงโกรธหลงเกลียดมันได้ มันก็หยุดราคะโทสะโมหะได้เพราะการเห็นตถาตา ตถาแปลว่า เช่นนั้น ตถาคต ตถาคต พูดถึงซึ่งตถา คำนี้เป็นคำกลาง ถึงตถา คือเห็นตถา ก็เป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์ทุกองค์เป็นตถาคต พระพุทธเจ้าเป็นจอมตถาคต คือเห็นคนแรกและบอกสอน คำว่าตถาคตแปลว่าถึงซึ่งตถา ถึงจะแปลว่ามาอย่างไรไปอย่างนั้นก็ได้เหมือนกัน แต่ไม่ลึกซึ้งเท่ากับว่าเห็นความเป็นอย่างนั้นแล้วมันหยุดความยึดมั่นถือมั่น ตถาเป็นเช่นนั้น ถึงตถาก็หยุดลง หยุดว่า หยุดอะไรไปหมด ความเห็นซึ่งตถา เห็นซึ่งความเป็นเช่นนั้นเอง มันทำให้เกิดความคงที่ คงที่ ไม่เปลี่ยนแปลงอีกต่อไป ไม่ปรุงแต่งอีกต่อไป อันสุดท้าย เรียกว่า อตัมมยตา อตัมมยตา เป็นอันสุดท้ายแล้ว ไม่มีใครเคยได้ยิน เพราะว่าไม่ได้อ่านพระบาลีโดยตรงก็ไม่ได้พบคำนี้ ไม่ได้เห็นคำนี้ อ่านแต่พระไตรปิฎกแปลไทยไม่ได้มีโอกาสพบคำนี้ เพราะเค้าแปลเสียแล้ว แปลเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ไม่ค่อยจะตรงความหมาย อตัมมยตา ตามตัวหนังสือก็แปลว่าไม่สำเร็จมาแต่ปัจจัยนั้นๆ ไม่เกิดมาแต่ปัจจัยนั้นๆ ไม่ถูกปรุงแต่งโดยปัจจัยนั้นๆ คงที่ คงที่ คงที่ อยู่ในความถูกต้องของธรรมชาติ เมื่อ ๑๐ ปีก่อนเคยพูดถึงคำนี้แล้วก็ต้องหยุดปิดปากเลย ไม่มีใครเข้าใจ แล้วบางคนว่านี่โกหก นี่เอาอะไรมาพูดมาหลอกกันย้อมแมวขาย มันก็ต้องเก็บไว้ก่อนแล้วค่อยถือโอกาสพูดบ่อยๆ พูดเรื่อยๆ พูดมาจนบัดนี้ก็มีคนเข้าใจขึ้นแยะแล้วแหละคำว่า อตัมมยตา คงที่อยู่ในความถูกต้องตามธรรมชาติอันปัจจัยอะไรๆ ปรุงแต่งไม่ได้ ตัวแท้จริงความหมายแท้จริงว่าอันอะไรๆ ปรุงแต่งไม่ได้ จับยึดไว้ไม่ได้นั่นแหละเรียกว่า อตัมมยตา เป็นอุบายเครื่องออกจากสิ่งไม่พึงปรารถนาไปตามลำดับ ไปตามลำดับ อันแรกที่สุดออกจากกาม โลกนี้เต็มไปด้วยกาม มีอตัมมยตาในการที่จะออกมาเสียจากกาม กามจับยึดไว้ไม่ได้ ออกมาเสียได้จากกาม มันก็มาสู่รูป รูปที่ไม่มีกามรูปธรรม ธรรมธาตุ รูปธาตุ ออกมาเสียจากกามธาตุแล้วก็มาติดอยู่ที่รูปธาตุ พอใจในรูปธาตุ ต่อมา โอนี่ก็ไม่ไหวเว้ย ไม่ไหวเว้ย ออก ออก ออกจากรูปธาตุโดย อตัมมยตา ขั้นนี้ ขั้นที่ออกจากกามมาสู่รูป ต่อมาก็ออกจากรูปไปสู่อรูปโดยอตัมมยตาขั้นนั้น แล้วก็ไปอรูป อรูป อรูปกันอยู่ เพราะมันละเอียด มันประณีต มันจับใจ จนถึงขั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะยอดสุดของ อรูป เป็น ภวัคคพรหม พรหมอันสุดท้าย พอขั้นนี้ไม่ไหว ไม่ไหว ไม่ไหว ออก ออก ออก จากอรูป โดย อตัมมยตา สำหรับขั้นนี้ ขั้นนี้ ออกไปจากอรูป ไปสู่ นิโรธ นิโรธธาตุ ออกจากกามธาตุไปสู่รูปธาตุ ออกจากรูปธาตุไปสู่อรูปธาตุ ออกจากอรูปธาตุก็ไปสู่นิโรธธาตุ คือธาตุแห่งพระนิพพาน นี่มันเป็นผลมาจากการเห็นอนิจจัง เป็นจุดตั้งต้น จุดตั้งต้น แล้วมันก็จุดระเบิดต่อ ต่อ ต่อ ต่อ ต่อกันไปจนถึง อตัมมยตา พระพุทธเจ้าตรัสแต่เพียงว่า อนิจจัง คำเดียว อนิจจานุปัสสี ให้เห็นอนิจจัง ให้เพียงพอเถิด จะพูดเพียงคำเดียวไม่พูดถึงทุกคำ อนัตตา ก็ได้เหมือนกันเพราะว่าถ้าเห็นอนิจจังโดยแท้จริงแล้ว โดยแท้จริงแล้วมันก็เกิดความคลายคือราคะจากสิ่งที่เคยยึดถือ แต่ถ้าจะพูดให้ละเอียดละเอียดอย่างนักศึกษา อย่างละเอียดมันก็จากอนิจจังก็เห็นทุกขังเห็นอนัตตา แล้วก็เห็นธัมมัฏฐิตัตตา ธัมมนิยามตา อิทัปปัจจยตา แล้วก็เห็นสุญญตา ตถาตา อตัมมยตาคืออันสุดท้าย อันสุดท้ายที่ทำให้พระพุทธเจ้า พระสิทธัตถะที่จะเป็นพระพุทธเจ้าออกมาเสียจากสำนักของอุทกดาบสรามบุตรซึ่งสอนสูงสุดเพียงอรูปธาตุ เนวสัญญานาสัญญายตนะ นี่การเห็นอนิจจังมันมีอิทธิพลถึงขนาดนี้ แต่ถ้าเรามาพูดเต็มนี้ไหวที่ไหนเล่ามันเป็นเรื่องมากมาย จะสอนบัญญัติสั้นๆ ท่านจึงบัญญัติแต่เพียงว่าเห็นอนิจจัง อนิจจานุปัสสี อนิจจานุปัสสี เห็นให้ลึกเห็นให้หมดมันก็จะเห็นไปตามลำดับอย่างที่ว่า งั้นขอให้เข้าใจว่าแม้ท่านจะตรัสไว้สั้นๆ เพียงว่า อนิจจัง อนิจจานุปัสสี มันรวมไอ้สิ่งเหล่านี้ไว้หมด อย่างน้อยก็ได้ตั้ง ๙ ขั้น ที่จะอธิบายละเอียดเป็น ๒๐ ขั้น ๓๐ ขั้น มันก็ได้เหมือนกันแหละแต่มันจะละเอียดเป็นอภิธรรมเฟ้อ อภิ แปลว่า เฟ้อ แปลว่า เกินก็ได้ เอาแต่พอดีพอดีเถิด สูงสุดดับทุกข์ได้จริงมันก็พอดีไม่เฟ้อ อธิบายมาถึง ๙ มักชักจะเฟ้อไม่จำเป็นสำหรับคนทั่วไป แต่พอดีสำหรับนักปราชญ์ ขั้นที่ ๑ แห่งหมวดที่ ๔ เห็นอนิจจัง ที่เรียกว่า อนิจจานุปัสสี เห็นขั้นที่ ๑ ของหมวดที่ ๔ ชัดเจนเต็มที่ ชัดเจนเต็มที่ จนกระทั่งเห็นอตัมมยตา ความยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน มันก็เริ่มจางออก จางออก จางออก คลายออก จางออก คลายออก จางออก อาการที่อุปาทานคลายออก จางออกนี้เรียกว่า วิราคะ วิราคะ เป็นคำสำคัญที่สุด ถ้าไม่มีการจางออกคลายออกมันก็ติดแน่นอยู่ในวัฏฏะออกมาไม่ได้ ถ้ามีวิราคะจางออกคลายออกมันก็ถอยออกมาสู่วิวัฏฏะ คือพระนิพพาน คำว่า วิราคะ มันเป็นศัพท์ชาวบ้าน ยืมไปจากชาวบ้าน คือจาง คลาย จางออกไป จางออกไป นิพพานแปลว่าเย็นหรือดับ ชาวบ้านมาได้เย็นหรือดับเอาไปใช้เป็นคำสูงสุดในพระพุทธศาสนา คำว่า วิราคะ ก็เหมือนกันคำชาวบ้านใช้เอาไปยืมไปใช้สูงสุดในพระพุทธศาสนา ว่าสิ่งอะไรที่มันเข้มข้นผูกมัดรัดรึงเข้มข้นคลายออกจางออก อาการที่คลายออกจางออกนั่นแหละคือ วิราคะ นึกว่าสีมันเข้มข้นพอเติมน้ำลงไปสีมันก็จางลงจางลง เติมน้ำลงไป เติมน้ำลงไป จางลง จางลง เติม เติม เติม จนไม่มีสี นี่ก็ วิราคะ ความหมายของกิริยาคำนี้ เห็นอนิจจังแล้ว ความยึดมั่นถือมั่นก็จางลง จางลง จางลง จางลง คลายลง คลายลง คลายลง จะเรียกว่าเหี่ยวไปก็ได้ กิเลส ตัณหา ราคะ อุปาทาน เหี่ยวลง เหี่ยวลง เหี่ยวลงก็ได้เหมือนกัน แต่ตัวหนังสือมันแปลว่าจางออก จางออก จางออก ขั้นที่ ๒ ของหมวดที่ ๔ ดูความที่เดี๋ยวนี้ อนิจจัง การเห็นอนิจจังทำให้อุปาทานความยึดมั่นจางลง จางลง จางลง อุปาทานของจิตจางลง จางลง จางลง เรียกว่า ขั้นที่ ๒ วิราคานุปัสสี ตามเห็นอยู่ซึ่งวิราคะทุกครั้งที่หายใจเข้าหายใจออก วิราคานุปัสสี นี่ก็ดูเอาเองอีก ออกไปนี้ก็ดูเอาเองอีก ถ้ามันจางออก จางออก หลวมออก หลวมออก จางออก จางออก มันจะไปไหน มันก็เรียกว่าสุด มันสิ้นสุด คือ ดับ ดับ จางออกเรื่อยไป จางออกเรื่อยไป มันก็ไปถึงดับ คือนิโรธ ขั้นที่ ๓ จึงได้ชื่อว่า นิโรธานุปัสสี ตามเห็นอยู่ซึ่งความดับลงสิ้นสุดลง สะดุดหยุดลงแห่งกิเลส โดยเฉพาะคืออุปาทาน แล้วมันก็สิ้นสุดหยุดลงแห่งความทุกข์ นิโรธคำนี้จะให้เป็นนิโรธของต้นเหตุกิเลสอุปาทานก็ได้ จะให้เป็นนิโรธแห่งผลคือความทุกข์ก็ได้ มันเท่ากันแหละ เพราะว่าถ้าเหตุสิ้นสุดผลมันก็สิ้นสุด มันก็ดับไม่เหลือ ดับไม่เหลือแห่งกิเลสแห่งกิเลสซึ่งเป็นต้นเหตุซึ่งอยู่ในรูปของอุปาทาน แล้วผลคือความทุกข์มันก็ดับ พูดให้นักเลงหน่อยพูดให้ฉลาดเป็นนักเลงหน่อย ก็ว่า ดับลงแห่งสังขาร คือหยุดการปรุงแต่งโดยประการทั้งปวงกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทสะดุดหยุดลงไม่มีการปรุงแต่งอีกต่อไป นี่เรียกว่าดับลงแห่งสังขาร ขอพูดเตือนอีกทีนะว่าทั้งที่พูดแล้วกลัวจะ กลัวจะยังงมงายอยู่ สังขาร สังขารนั้นไม่ใช่ร่างกาย ไม่ใช่ร่างกาย สังขารแปลว่าปรุงแต่ง สิ่งที่ปรุงแต่งสิ่งอื่นก็เรียกว่าสังขาร สิ่งที่ถูกสิ่งอื่นปรุงแต่งก็เรียกว่าสังขาร กิริยาอาการแห่งการปรุงแต่งก็เรียกว่าสังขาร สังขารมันสามความหมายอย่างนี้ มันสิ้นสุดหยุดลงแห่งสังขาร เตสัง วูปะสะโม สุโข พระบอกทุกทีที่ป่าช้าบังสุกุลศพท่านบอกทุกที สงบระงับลงแห่งสังขารเป็นสุข นี่มันสิ้นสุดสะดุดหยุดลงแห่งสังขาร กระแสแห่งสังขารหยุด กระแสแห่งสังขารหยุดก็คือกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทหยุด นิโรธดับลงสุดลง แห่งสิ่งที่เรียกว่าสังขาร เอาทีนี้จะพูดให้มันจำง่ายหรือสะดุดกว่านั้นอีก ก็จะพูดว่า ดับ สุด สิ้นสุด หยุดลง ดับลงแห่งอัตตา อัตตา อัตตา ตัวตน ตัวตน อัตตา อัตตนียา ตลอดเวลามันมีอัตตา ความโง่หลงไปว่าตัวตน ตัวตน แล้วอะไรๆ มาเกี่ยวข้องก็เรียกว่าของตน ของตน ของตน มันมีตัวตน มีตัวตนก่อนแล้วก็มีชีวิตของตน ร่างกายของตน ทรัพย์สมบัติของตน บุตรภรรยาสามีของตน เกียรติยศชื่อเสียงของตน มันเลยมีตนและของตน ตนเรียกว่าอัตตา ของตนเรียกว่าอัตตนียา เหตุสิ้นสุดลงแห่งความรู้สึกว่าอัตตา สิ้นสุดลงแห่งความรู้สึกว่าอัตตนียา นี่คือ นิโรธานุปัสสี มีปกติตามเห็นเป็นความดับสนิทไม่มีส่วนเหลือของสิ่งที่เรียกว่าอัตตาและอัตตนียา คือเห็นความว่างแท้จริงของสังขาร ของสิ่งทั้งปวงทั้งจักรวาล ไม่มีอัตตาไม่มีอัตตนียาแต่มันโง่ไปคิดกันเกิดมีอัตตามีอัตตนียาขึ้นมาเป็นอุปาทานมันก็ผูกมัดรัดรึงก็หุ้มห่อไว้ในกองทุกข์ นิโรธดับไม่เหลือนะแห่งอัตตา พูดให้มันเข้าใจง่ายหน่อยมันก็ต้องพูดว่าดับหมดแห่งอัตตา พูดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์หน่อยก็ดับแห่งกิเลส ตัณหา ดับแห่งทุกข์ ถ้าพูดอย่างภาษาศาสนาก็ว่าดับแห่งอัตตา ซึ่งหมายความว่าดับแห่งอัตตนียาด้วย เพราะมันเป็นของที่ไม่แยกกันเหมือนกับเงา มีสิ่งๆ หนึ่งแล้วมันก็มีเงาของสิ่งๆ นั้น จะมองเห็นเพราะมีแสงแดดก็ได้ จะมองไม่เห็นเพราะไม่มีแสงแดดก็ได้ แต่มันมีเงาของมันอยู่ นี่อัตตาเป็นตัวยืนโรง อัตตนียาเป็นเงาของอัตตาดับมันเสียให้หมด นี่เรียกว่า นิโรธานุปัสสี เป็นขั้นที่ ๓ ของหมวดที่ ๔ เอามาดูขั้นสุดท้าย เรียกว่า ปฏินิสสัคคานุปัสสี ตามเห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำหายใจเข้าหายใจออก อันนี้มันเป็นการเห็นผลสุดท้ายที่ได้รับไม่เห็นก็ได้ไม่ต้องเห็นก็ได้แต่เห็นก็ดี คือทำงานถึงที่สุดดับปัญหาดับทุกข์หมดสิ้นเชิงแล้วจึงดู ดูทับลงไปว่า โอหมดแล้ว หมดแล้ว สิ้นเรื่องแล้ว จบเรื่องแล้ว เห็นความที่ตนเองจบกิจของพรหมจรรย์สิ้นสุดแห่งหน้าที่ในการดับทุกข์เรียกว่า สลัดคืน ตามตัวหนังสือแท้ๆ มันก็ สลัดคืนโดยเฉพาะสิ่งใดยึดมั่นถือมั่นมาแต่เดิมสลัดคืนสิ่งนั้นโดยเฉพาะ ก็หมายความว่าหยุด เลิก เลิกหรือหยุดยึดมั่นถือมั่น มันก็เป็นการสลัดคืน คนนี้มันโง่มันมีอวิชชาไปเอานั่นเอานี่มาเป็นตัวตนมาเป็นของตนเรียกว่าขี้โกงขี้โกงซึ่งหน้าไปเอาของธรรมชาติมาเป็นตัวตนมาเป็นของตน มันเป็นโจรซึ่งหน้าปล้นจี้ซึ่งหน้า ขโมย ขโมยอย่างซึ่งหน้า ไปเอามาเป็นของตน เดี๋ยวนี้เห็นความจริงตามธรรมชาติก็ถูกไอ้ความโง่นี้มันกัดเอา กัดเอา เป็นทุกข์ทรมานมหาศาลเรื่อยมาเรื่อยมาจนปฏิบัติถูกต้อง จนคืนโยน คืนโยนกลับให้เจ้าของเดิม พูดอย่างนี้เป็นอุปมา เราเป็นโจรปล้นเอาของธรรมชาติมาเป็นตัวกูมาเป็นของกู แล้วมันก็กัดเอา กัดเอา กัดเอา สมน้ำหน้า ก็คนเป็นโจรก็คนโง่ เอา โยน โยน โยน โยน โยนทิ้ง นี่เรียก ปฏินิสสัคคานุปัสสี พูดกันสั้นๆ ก็ว่า เลิกเป็นโจร เลิกไปปล้นเอาของธรรมชาติมาเป็นตัวกูมาเป็นของกู นี่เป็นขั้นสุดท้าย หมวดที่ ๔ ก็มี ๔ ขั้นเหมือนทุกหมวด อนิจจานุปัสสี เห็นความไม่เที่ยงตลอดสาย จนกระทั่งอตัมมยตา แล้วก็ วิราคานุปัสสี เห็นความยึดมั่นถือมั่นการคลายออกเพราะการเห็นความไม่เที่ยง วิราคานุปัสสีเห็นอยู่ทุกครั้งที่หายใจเข้าออก เอาต่อมาเห็นว่ามันจาง จาง จาง จางจนสุดดับไม่มีเหลือนี่เห็น นิโรธานุปัสสี พอนิโรธานุปัสสี ดับหมดแล้วหมดปัญหาแล้วก็เห็นอีกเพียง เอาเดี๋ยวนี้หมด หมดหน้าที่ หมดเรื่อง หมดกิจที่จะต้องทำ ไม่มีอะไรที่ยึดถือไว้แม้แต่นิดเดียว เห็นการสลัดคืนโยนคืนออกไปหมดแล้ว นี่มันจึงเป็นความสมบูรณ์ที่สุด หลุดพ้นแล้วยังต้องเห็นว่าหลุดพ้นแล้วครั้งหนึ่งๆ ทำเล่นกับพระพุทธเจ้าจึงเป็นผู้พูด (นาทีที่ 1:09:09) ท่านตรัสอย่างสมบูรณ์ที่สุด ธรรมะที่ท่านตรัส ตรัสนี่สมบูรณ์ที่สุดถึงขนาดนี้ มีศีล สมาธิ ปัญญา แล้วก็วิมุติหลุดพ้นแล้ว ก็ยังมีวิมุตติญาณทัสสนะเห็นว่าหลุดพ้นแล้ว หลุดพ้นแล้ว เห็นสุดท้ายอีกทีหนึ่งเรื่องมันจึงจะจบ ถ้าไม่เห็นข้อนี้มันคล้ายๆ กับยังมืดเหลืออยู่ยังไม่สว่างถึงที่สุด ขอให้เห็นมาตามลำดับ อนิจจานุปัสสี วิราคานุปัสสี นิโรธานุปัสสี ปฏินิสสัคคานุปัสสี ๔ ข้อนี้เป็นหมวดสุดท้าย หมวดที่ ๔ เรียกว่า ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เอาทีนี้เราก็มาดูทีเดียวหมด ทีเดียวหมดทั้ง ๑๖ ขั้น หรือ ๔ หมวด เป็นการดู ดูโดยสรุปอีกทีหนึ่ง เรียกว่าดูเหมือนกับดูมาจากข้างบน ทั้งหมดขึ้นไปสู่จุดสูงสุดแล้วดูมาข้างล่างให้เห็นทั้งหมด หมวดที่ ๑ รูปเห็นเข้าใจรู้จักเรื่องกายทั้งหมด ที่เกี่ยวกับกายทั้งหมด จะเป็นกายเนื้อหนังหรือกายลมหายใจก็ตาม หมวดที่ ๑ ทำให้เรารู้จักกายทั้งหมดจนควบคุมได้ จนทำให้มันระงับได้ตามต้องการเมื่อไหร่ก็ได้ ระงับกายได้นี่หมวดที่ ๑ นี่ก็หมวดที่ ๒ รู้เวทนาสิ่งปรุงแต่งจิตคือปีติและสุขปรุงแต่งจิตรู้จักจนควบคุมมันได้ไม่ให้มันปรุงแต่ง ไม่ให้มันปรุงแต่งแต่ในทางที่ต้องการให้ปรุงแต่งก็เลยเป็นผู้ชนะเวทนา หมวดที่ ๑ ชนะกาย หมวดที่ ๒ ชนะเวทนา หมวดที่ ๓ รู้จักจิตทุกรูปแบบจนควบคุมมันได้ เป็นนายเหนือจิต เป็นนายเหนือจิตเป็นบ่าวของจิตมาตลอดกาล เดี๋ยวนี้เป็นนายเหนือจิตควบคุมจิตได้ ทั้ง ๓ หมวดนี้ยังมีลักษณะแห่งความเป็นสมาธิอยู่เป็นส่วนใหญ่ พอมาถึงหมวดที่ ๔ หมวดสุดท้าย มันจะเลื่อนเป็นวิปัสสนาหรือปัญญาโดยสมบูรณ์แบบ มันก็รู้จักธรรมะ ธรรมะชนิดที่จิตจะต้องปลดปล่อย ใช้จิต ใช้จิตที่เราฝึกดีแล้วให้ทำหน้าที่การงาน จิตฝึกดีแล้วถูกนำมาใช้ทำหน้าที่การงาน ให้เห็นอนิจจัง เห็นวิราคะ เห็นนิโรธะ เห็นปฏินิสสัคคะ ให้มันทำงาน ทำงาน ให้มันปล่อยวาง ให้มันปล่อยวาง ให้มันคลาย ให้มันดับหมด จนกระทั่งเห็นว่าดับหมด หมดปัญหา หมดเรื่อง หมดเรื่อง เป็นพระอรหันต์ โดยบทประกอบว่า อรหังมีความประเสริฐสูงสุด ขีณาสโวสิ้นอาสวะแล้ว วุสิตวาจบพรหมจรรย์ กตกรณีโยสิ่งที่ควรทำทำสำเร็จแล้ว โอหิตภาโรโยนของหนักทิ้งแล้ว อนุปฺปตฺตสทตฺโถมีประโยชน์ตนตามถึงแล้ว ปริกฺขีณภวสํโยชโนมีสังโยชน์อันผูกไว้ในภพขาดลงแล้ว สมฺมทฺญาวิมุตฺโตหลุดพ้น หลุดพ้น หลุดพ้นออกไปด้วยปัญญาอันชอบ นี่จบเรื่อง จบเรื่องลงที่นี่ อานาปานสติทั้ง ๔ หมวด กระทำ กระทำ กระทำกิจกรรมอย่างนี้ บังคับกายได้ บังคับเวทนาได้ บังคับจิตได้ แล้วก็บังคับธรรมชาติคืออุปาทานได้ สลัดทิ้งไปหมดเลย นี่ดีหรือไม่ดี คนโง่ไม่เอาไม่สนุก สู้ไปรำวงไม่ได้ แต่เดี๋ยวนี้มันประเสริฐอย่างไร เท่าไร ท่านก็ลองคิดดู หลุดพ้นเหนือความทุกข์ เหนือปัญหาทั้งปวง เกิดมาชาติหนึ่งไม่เสียชาติเกิดได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ มันก็ตอบปัญหาได้เองว่าเกิดมาทำไม เกิดมาทำไม กูเกิดมาทำไม มึงเกิดมาทำไม มันจะตอบปัญหาได้เองว่าเกิดมาทำไม เกิดมาได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ การที่จะเป็นอย่างนี้ได้ต้องปฏิบัติอานาปานสติเพื่อจะตัดต้นเหตุแห่งปัญหาคือปฏิจจสมุปบาท ดังนั้นจึงได้ขอร้องให้ท่านทั้งหลายศึกษาเป็น ๒ ขั้นตอน ศึกษาปฏิจจสมุปบาทเรื่องความทุกข์หรือความงอกงามแห่งความทุกข์ การปรุงแต่งแห่งความทุกข์ให้รู้จักชัดเจนกันเสียก่อนว่าความทุกข์เกิดขึ้นอย่างนี้แล้วจะดับลงอย่างนี้ พออย่างนี้แล้วก็ปฏิบัติอานาปานสติให้มีสิ่งที่สามารถกำจัดทุกข์ได้ ปฏิบัติอานาปานสติแล้วจะได้อะไรมาบ้างที่จะกำจัดทุกข์ได้มันมีรายละเอียดอีกมากมายเอาไว้พูดกันคราวหลัง เดี๋ยวนี้บอกแต่ว่าปฏิบัติอานาปานสติสำเร็จแล้วก็มีความสามารถสำหรับที่จะหยุดกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทไม่ให้ปรุงแต่งไปในทางความทุกข์ แต่ปรุงแต่งไปในทางดับทุกข์ ให้เกิดการดับทุกข์ไม่ให้เกิดความทุกข์ เรียกว่าปฏิจจสมุปบาทฝ่ายที่ได้เกิดการดับทุกข์ นี่เรื่องนี้มันก็จบตอนนี้ อานาปานสติโดยประสงค์ในตอนที่ ๒ ว่าด้วยจิตตานุปัสสนาและธัมมานุปัสสนาก็มีอย่างนี้ ท่านต้องไปศึกษาโดยละเอียด ครูบาอาจารย์ช่วยชี้โดยละเอียด ชี้โดยละเอียดให้สามารถรู้ปฏิจจสมุปบาทและปฏิบัติอานาปานสติได้ การบรรยายสมควรแก่เวลา ต้องขอยุติการบรรยายขอบคุณท่านทั้งหลายเป็นผู้ฟังที่ดีตลอดมา ขอแสดงความหวังว่าจะประสบความสำเร็จในการศึกษาและการปฏิบัติยิ่งๆ ขึ้นไป มีความพอใจอยู่ในการปฏิบัติธรรม มีความสุขอยู่ในการปฏิบัติธรรมนี้อยู่ที่ทิวาราตรีกาลเทอญ ขอยุติการบรรยาย