แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เพื่อนสหธรรมิกสกรรมจารีนวกะภูมิทั้งหลาย ในครั้งที่ ๓ นี้ เราจะพูดกันถึงเรื่อง การละกิเลสหรือการดับทุกข์ ในครั้งที่แล้วมาได้พูดกันถึงการละกิเลสเพราะมันมีกลไกของมันอย่างไร และให้เกิดความทุกข์อย่างไร ความทุกข์เกิดมาจากกิเลส จึงจำเป็นต้องมีการดับกิเลส ดับทุกข์ด้วยการดับกิเลส จึงจะเป็นการดับทุกข์ เพราะทุกข์เกิดมาจากกิเลส ซึ่งมีกลไกซับซ้อนยุ่งยากดังที่กล่าวมาแล้ว ต้องทบทวนความเข้าใจอันนั้นให้ดีๆ เพื่อจะได้รู้เท่าทันสิ่งที่เรียกว่า กิเลส ทีนี้จะพูดกันถึงเรื่อง ดับกิเลส ดับทุกข์ มันมี จะเรียกว่าความกำกวม หรือความลับ ก็ได้อยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งคำพูดนี้ มันเป็นคำพูดที่ไม่ตรงตามข้อเท็จจริงนัก ที่ว่าดับกิเลสหรือดับทุกข์ ข้อเท็จจริงนั้นมันอยู่ที่ว่าเราไม่ยอมให้กิเลสเกิดไม่ให้ความทุกข์เกิดต่างหาก เมื่อเราปฏิบัติด้วยความระวังสังวรณ์อยู่เป็นอย่างดี กิเลสก็เกิดไม่ได้ ความทุกข์ก็เกิดไม่ได้ นี่มันเป็นอาการของการที่ไม่เปิดโอกาสให้กิเลสเกิดให้ความทุกข์เกิด ให้เราไปเรียกมันว่า ดับกิเลสหรือดับทุกข์ ไม่ให้มันเกิด ไม่ให้มันเกิด ถ้ามันเกิดแล้วแย่ ไม่ให้มันเกิด ป้องกันไม่ให้มันเกิดดีกว่า แต่ว่าถ้ามันเผลอ มันเกิดซะแล้ว มันเผลอ มันเกิดซะแล้ว มันก็ต้องดับ แต่จะไปดับโดยตรงที่กิเลส ที่ตัวทุกข์ มันก็แย่อีกเหมือนกัน มันต้องดับที่ต้นเหตุ ต้นเหตุของมัน ไอ้ตัวกิเลส ตัวทุกข์ลูกกลมๆเป็นปลายเหตุ ไปดับที่ปลายเหตุมันจะโง่เหมือนหมาอย่างที่กล่าวแล้ว ถ้ามันดับที่ต้นเหตุที่บนฐานของมันนั่นน่ะ มันจะฉลาดเหมือนเสือหรือสิงโต นั่นก็เป็นอันว่ามันต้องมี การปฏิบัติระวังสังวรณ์ไม่ให้เกิดกิเลส แล้วก็ไม่ให้เกิดทุกข์ สิ่งนี้เรียกชื่อกันให้ตรงๆ ก็ว่า ไม่ให้กิเลสเกิด ไม่ให้ความทุกข์เกิด แต่เรียกกันทั่วไป แม้ในบาลีก็เรียกว่า การดับทุกข์ คำพูดที่น่าฟังอย่างยิ่งคำหนึ่ง ในการขอบรรพชาอุปสมบทอย่างแบบเดิมแบบเดิม ซึ่งคุณคงจะไม่ได้ใช้กัน แต่ผมนี่ใช้แบบเดิม มีคำที่ไพเราะว่า สัพพทุกขนิสสรณะ นิพพานสัจฉิกรณัตถายะ บวชนี้เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน เป็นเครื่องออกไปจากทุกข์ทั้งปวง ถ้าไม่แจ้งซึ่งพระนิพพาน ปฏิบัติพรหมจรรย์ ก็ทำให้แจ้งพระนิพพาน แล้วพระนิพพานนั้นเป็นสัพพทุกขนิสสรณะ คือเป็นเครื่องออกไปเสียจากทุกข์ทั้งปวง คือหมายความว่า มันไม่ต้องเผชิญกับความทุกข์ มันมีอุบายว่าใช้วิธีหลบหลีกออกจากกัน นี่สบายกว่า เราจะมานึกถึงข้อที่ว่า เราจะดับไฟที่ไฟ หรือจะดับตรงที่เหตุที่ทำให้เกิดไฟ แม้ว่าเอาน้ำไปสาดที่ไฟ มันก็ไปดับตรงที่ตัวเหตุให้เกิดไฟ จะเป็นที่ฟืนหรือเป็นอะไรก็สุดแท้แต่ การดับที่ตัวเหตุเป็นหลักสำคัญ การไม่ให้กิเลสเกิดก็เพราะมีสติ ถ้ามีสติทันแก่เวลา เพียงพอแก่เวลา กิเลสเกิดไม่ได้ ความทุกข์เกิดไม่ได้ แต่แม้ว่าความทุกข์ แต่แม้ว่ากิเลสได้เกิดไปแล้ว ความทุกข์ได้เกิดขึ้นแล้ว มันยังดับด้วยสติได้ มีสติมาทันเวลาก็ดับทุกข์ด้วยสติ ป้องกันก็ป้องกันด้วยสติ ดับก็ดับด้วยสติ เนี่ยความประเสริฐของสิ่งที่เรียกว่าสติ มีมากอย่างนี้ ซึ่งเราจะเอาไว้พูดกันวันหลัง เพราะว่ามันยืดยาว เดี๋ยวนี้เราจะพูดกันถึงการป้องกันไม่ให้กิเลสเกิด หรือไม่กิเลสเกิดแล้วก็ต้องยังใช้สติอยู่ หลักปฎิบัติ หลักปฎิบัติ มีใจความสั้นๆว่า มีสติ ในขณะที่ควรมีสติ ถ้าพูดรวมๆ ควรมีสติ ในขณะที่ควรมีสติ อย่างนี้ความทุกข์เกิดไม่ได้ กิเลสเกิดไม่ได้ ขณะไหนล่ะที่ควรมีสติ มันก็ออกมองดูได้เป็นหลายระยะ แต่ว่าส่วนใหญ่ก็แบ่งออกเป็น ๒ ระยะ คือ ๒ ชนิด นั่นคือในขณะแห่งผัสสะอย่างหนึ่ง และในขณะแห่งเวทนานั่นอีกตอนหนึ่ง ได้พูดกันมาแล้ว ว่าเมื่อไรเรียกว่าผัสสะ ข้างในนี่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ข้างนอกนี่มีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส พอมาทิ้งกันเข้า ก็เกิดวิญญาณ ๓ อย่างนี้ก็ทำงานอยู่ด้วยกัน เขาเรียกว่า ผัสสะ ผัสสะ ที่ตาซึ่งมีระบบประสาท มีวิญญาณ สัมผัสอยู่ที่อารมณ์ของตาเป็นรูป อย่างนี้เรียกว่าในขณะแห่งผัสสะ ทีนี้ถ้ามันเลยจากนั่นมา ผัสสะก็ให้เกิดเวทนา ก็เป็นอีกขณะหนึ่งซึ่งจะจัดการได้ จัดการกับเวทนา มีสติในเวทนาอีกทีหนึ่ง เรียกสั้นๆว่า จัดการในขณะผัสสะมีสติ ในขณะแห่งเวทนา แม้ว่าจะเลยเวทนาออกไปก็เรียกว่าเวทนา ในขณะแห่งสัญญาหรือวิตก ก็ยังเรียกว่าในขณะแห่งเวทนา เพราะเวทนาให้เกิดสัญญาให้เกิดวิตก มันขัดใจดีๆ เห็นชัดเหมือนกับเห็นวัตถุสิ่งของ อย่างไรเรียกว่าผัสสะ เห็นชัดอย่างไรเรียกว่าผัสสะ มีสติในขณะผัสสะมันก็ได้ มันพลาดไปซะแล้ว ไปมีสติในขณะแห่งเวทนา เวทนา ผัสสะคือการสัมผัส สัมผัส ก็เกิดความรู้สึกจากการสัมผัสเรียกว่าเวทนา เมื่อสัมผัส สัมผัสนั่น ถ้าเป็นไปตามธรรมชาติ ตามธรรมดาของสัตว์ทั้งหลาย ของมนุษย์ปุถุชน มันไม่มีปัญญา มันไม่มีสติ มันไม่มีปัญญาในขณะที่สัมผัสนั่น สัมผัสอารมณ์ มันเป็นการสัมผัสด้วยอวิชชา เพราะไม่มีวิชชา เพราะไม่มีปัญญา มันคงมีแต่อวิชชา ตามปรกติเราจึงสัมผัสอารมณ์ด้วยอวิชชา เรียกว่าอวิชชาสัมผัส สัมผัสโง่ อวิชชาสัมผัส สัมผัสโง่ เมื่อสัมผัสโง่ก็เกิดเรื่องโง่ๆขึ้นมา มันจะเกิดเวทนาที่หลอกลวง ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์
เมื่อวันก่อนก็พูดมาแล้วว่า ความรู้ของสัตว์ในเบื้องต้นนี่มีแค่สัญชาตญาณ สัญชาตญาณเกิดเองตามธรรมชาติ ไม่มีการเรียนรู้ แล้วมันก็สัมผัสด้วยสัญชาตญาณ ซึ่งยังไม่มีความรู้ ก็เกิดความรู้สึกไปตามสัญชาตญาณ สัมผัสด้วยความโง่เขลา ผลออกมาเป็นความโง่เขลา คือส่งให้เกิดความเวทนาชนิดที่จะหลอกลวง เดี๋ยวนี้ถ้าเราได้ศึกษากันมากอย่างนี้แล้ว คือเราได้มาบวช มาเรียน มาศึกษาเรื่องวิชชา เรื่องอวิชชา เรื่องสติ เรื่องสัมปชัญญะ เป็นต้น เราก็ไม่ปล่อยให้เป็นไปอย่างธรรมชาติ เราสัมผัสด้วยอวิชชา เปลี่ยนใหม่เป็นสัมผัสด้วยวิชชา สัมผัสด้วยสติ ด้วยปัญญา ด้วยวิชชา อะไรมากระทบทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายทางใจ เราจะต้องรับมันด้วยวิชชา ด้วยสติ มันก็เลยตรงกันข้าม ทีนี้เรียกว่า วิชชาสัมผัส ที่มันโง่เรียกว่า อวิชชาสัมผัส เดี๋ยวนี้มันก็มีวิชชาสัมผัส สัมผัสด้วยวิชชา เดี๋ยวนี้มันมีวิชชาเรียนรู้เรื่อง เวทนา มันจะเป็นบวก หรือเป็นลบขึ้นมา ถ้าสัมผัสด้วยความโง่ จะเกิดเวทนาเป็นบวกหรือเป็นลบขึ้นมา เป็นผีหลอก ถ้าเกิดเป็นบวกขึ้นมาก็หลงรัก ถ้าเป็นลบขึ้นมาก็หลงโกรธ หลงเกลียด ให้เรื่องมันยุ่ง เรื่องมันจะนำไปสู่ความทุกข์ มีสติปัญญาเสียแต่ผัสสะ ไอ้นี่มันอย่างนี้เอง ทำอย่างนี้เอง แค่นี้เอง เป็นเพียงผัสสะ แล้วก็ออกมาเป็นเวทนา ไม่ให้มันหลอกว่าเป็นบวกหรือเป็นลบ มันเป็นสักแต่ว่าเวทนา เวทนา ไปจัดการกับมันตามที่ควรจะจัดการ โดยไม่ต้องเสียเวลาให้หลงรักที่เป็นสุขกับเวทนาบวก เมื่อไปหลงเกลียดในเวทนาลบ มันดีเท่าไหร่ ลองคิดดู ไม่ใช่เวทนา ไม่ใช่เวลาไปหลงบวกหลงลบ แล้วก็ยุ่งไปตามเรื่องบวกเรื่องลบ นี่เรียกว่า ปัญญาวิชชามาทันในขณะแห่งผัสสะ มันสำเร็จได้ด้วยสติ สติ ที่ฝึกไว้ดีมาเร็ว เร็วเหมือนสายฟ้าแลบ แต่คำว่าสติ สติของเรา ความรู้สึกที่มาเร็วเหมือนกับลูกศร ลูกศร นี่เรารู้เรื่องของคนโบราณสักหน่อย ถ้าพูดถึงความเร็วแล้ว ต้องเปรียบด้วยความเร็วของลูกศร แล้วก็ไม่มีความรู้มากกว่านั้น เขาจะไม่เปรียบด้วยลูกปืน เพราะมันไม่มีปืน สมัยโบราณไม่มีปืน อะไรที่เป็นความเร็วเท่าที่มนุษย์จะสร้างขึ้นมาได้ ก็เรียกว่าความเร็วของลูกศร สติ สติ มันก็คำเดียวกับลูกศร มันคือสาระ สาระ ระลึก ระลึก ความระลึกเร็วเหมือนกับลูกศร สติน่ะเป็นคำพูดที่มีรากศัพท์อันเดียวกับลุกศร สาระ มีสติที่แล่นเร็วเหมือนลูกศร เราจะเรียกให้น่าฟังก็ว่าเร็วเป็นสายฟ้าแลบ จะได้มาทัน ทันเวลาด้วยผัสสะ พอผัสสะปั๊บ สติก็มาปุ๊บเลย มันทันเวลา ใช้สตินี่มันจะได้ ใช้ปัญญาใช้วิชชา ที่มันเอามาด้วยลงในผัสสะ ก็ไม่เป็นผัสสะโง่ แต่เป็นผัสสะที่พร้อม ที่จะรู้สึกอย่างถูกต้องให้ตามที่เป็นจริง ทีนี้ก็ไปดูเอาเอง มันเป็นอย่างนั้นรึเปล่า เราไปรู้สึกต่อผัสสะหลังจากเกิดเวทนาแล้วโดยมาก หลงรักและหลงเกลียดเสร็จแล้วค่อยรู้สึก นี่สติมันไม่เร็วถึงขนาดที่เป็นสายฟ้าแลบ ป้องกันไว้ไม่ทัน เราป้องกันความรู้สึกที่เป็นบวกเป็นลบไว้ไม่ได้ มันก็เกิดเวทนาบวกลบ อาจจะเร็วถึงขนาดว่าพอเจ็บยกมือยกเท้ายกอะไรขึ้น สลัดความเจ็บ ถ้าทำได้เร็ว แต่พอมันมีความเจ็บแล้วมันไม่สามารถจะควบคุมอย่าให้เกิดความโกรธหรือความขัดใจหรือเกิดกิเลส ในทางตรงกันข้าม ได้รับเวทนาที่นิ่มนวล เวทนาที่นิ่มนวลโดยเฉพาะทางเพศ มันก็ไม่หยุดอยู่ที่ผัสสะ มันไปรู้สึกต่อเป็นเวทนาที่นุ่มนวลเป็นบวกเต็มที่ ปัญหามันยุ่งยาก ไม่สามารถจะรู้สึกต่อผัสสะ จะไปรู้สึกกันต่อเวทนา เวทนาก็ไปรู้สึกว่ามันหลงๆ เป็นเรื่องของกิเลสตัณหามากมาย นี่จะได้รู้ไว้ว่า มีสติในขณะแห่งผัสสะก็ดีที่สุด เก่งที่สุด หรือมิฉะนั้นก็มีสติในขณะที่เป็นเวทนา ก็จะควบคุมกิเลสจากความทุกข์ได้บ้าง ถ้ามีเวทนาก็ไม่รู้สึกก็คือเกิดกิเลสเต็มตัว มีความทุกข์เต็มตัว
ทีนี้จะขอพูดเรื่องผัสสะ ผัสสะซักหน่อย ผัสสะ ผัสสะนั่นมันมี ๒ ระยะ เมื่อตาเห็นรูปเนี่ย ยกตัวอย่างเรื่องตา ตาเห็นรูปเกิดจักษุวิญญาณ มันก็สัมผัสด้วยจักษุวิญญาณ จึงรู้ว่ารูปอะไรรูปอะไร มันก็เป็นแต่รู้ว่ารูปอะไรเท่านั้นแหละ เช่นว่าเห็นดอกไม้เป็นดอกกุหลาบ มันก็เป็นเพียงรูปร่างอย่างนี้ สีสรรอย่างนี้ ไอ้จักษุวิญญาณมันก็สัมผัสได้เท่านั้น พอหลังจากนั้นมันก็สัมผัสด้วยมโนวิญญาณอีกทีหนึ่ง เช่นความจำ จำได้เพราะอย่างนี้เราเคยเห็นมาเรียกว่าดอกกุหลาบ ตอนนี้เป็นการสัมผัสของมโนวิญญาณที่ตามมา จักษุวิญญาณรู้แต่ว่ารูปร่างอย่างไรสัณฐานอย่างไร มิติอย่างไร ยังไม่มีความหมายอะไร พอไอ้มโนวิญญาณตามมา มันก็สัมผัสในคุณค่าและความหมายว่า อุ๊ย ดอกกุหลาบ มันก็หอม น่ารัก น่าพอใจ นี่ผัสสะชั้นที่ ๒ มันก็สัมผัสด้วยมโนวิญญาณ มันเป็นอย่างนี้ทั้ง ๖ ผัสสะ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ หูมันก็ได้ยินเสียง มันก็เป็นคลื่นเสียงมากระทบ เป็นเสียงอย่างนั้น มีมิติอย่างนั้น มีเวลาเท่านั้น เป็นเสียงอย่างนั้น เพราะมันสัมผัสด้วยโสตวิญญาณ พอเสร็จแล้วมโนวิญญาณมันมามันตามมาอีกที โอ้ จำได้ว่าเสียงอะไรนี่ เสียงคนเสียงสัตว์เสียงมนุษย์เสียงผู้หญิงเสียงผู้ชายเสียงอะไรก็ตาม เสียงไพเราะ จมูก ฉุนเป็นกลิ่นเข้ามา ยังไม่รู้กลิ่นอะไร ต่อเมื่อมโนวิญญาณมาสัมผัสจึงรู้ว่ากลิ่นอะไร มีคุณค่าอย่างไร ลิ้น ก็เหมือนกัน อะไรถูกลิ้นก็ซ่าไปด้วยรส เป็นเพียงรู้สึกอย่างมิติ อย่างขนาด มโนวิญญาณตามมาทีสัมผัส โอ้ รส รสอะไรไม่รู้ รสอร่อยของอะไร ของน้ำตาล หรือของขนมหวานหรือของอะไรก็แล้วแต่ ผิวหนังก็เหมือนกัน กายและวิญญาณ รู้แต่ว่ามันมากระทบอย่างไร แล้วมโนวิญญาณตามมา จึงรู้ว่าผลกระทบของอะไร มีความหมายอย่างไร จิตก็เหมือนกันไปกระทบอารมณ์แล้วก็ยังไม่รู้ความหมาย จนมโนวิญญาณมา ต้องพามาอีกทีถึงจะรู้ว่าความหมายเป็นอย่างไร จะมีคุณค่าอย่างไร ทุกๆสัมผัสมันมีอยู่เป็น ๒ ชั้น อย่างแรกก็เรียกว่า ปฏิฆสัมผัส คือการกระทบกันเท่านั้นแหละ เพราะขณะที่ ๒ นั้นเรียกว่า อธิวจนะสัมผัส อันนี้รู้ความหมายล่ะ รู้ความหมาย เพราะว่าแทนชื่อสัมผัสอีกที แต่ด้วยมโนสัมผัสก็รู้ความหมาย มันอยุ่กัน ๒ ระยะอย่างนี้ เราจะมีสติมาทันในระยะไหน ถ้าสติมาทันในระยะปฏิฆสัมผัส หรืออธิวจนะสัมผัส มันแล้วแต่เราจะสามารถฉลาดหรือฝึกสติไว้ดีอย่างไร ที่เราจะเข้าใจได้ง่ายๆ ที่ตาเราเห็นอย่างนี้ ก็คุณก็ลืมตาอยู่ก็เห็นใบไม้เห็น แค่นี้ก็สัมผัสทางตา จิตไม่ไปสัมผัส ไม่เกี่ยวกับใบไม้ไม่เกี่ยวกับอะไรจะเป็นอย่างไร จะใช้ประโยชน์อย่างไร อันนี้ก็สัมผัสครึ่งเดียวนะ สัมผัสกันทางวิญญาณประจำอายตนะ ไม่ใช่มโนวิญญาณมาสัมผัส ฉะนั้น สัมผัสทีแรกก็ให้เห็นเท่านั้นแหละ ไม่รู้จัก สัมผัสครั้งที่ ๒ ทำให้รู้จักว่าอะไร ถ้าเพียงสักแต่ว่าเห็นก็ไม่ทำอะไรใช่ไหม นี่ตารู้เห็นอยู่ยังไม่ทันอะไร ยังไม่ได้สัมผัสด้วยความหมายของมัน ถ้าได้สัมผัสในความหมายของมันแล้ว มันจะเกิดความรู้สึกเป็นบวกเป็นลบ เราจะมีสติให้มากพอในการที่จะสัมผัสโดยมีสติปัญญาเข้ามาควบคุม ทั้งในขณะสัมผัสแรกและขณะสัมผัสหลัง ถ้าจะแยกสัมผัสแรกด้วยวิญญาณ ประจำอาตนะ สัมผัสหลังนี่สัมผัสด้วยมโนวิญญาณที่ตามมา มันก็มีความละเอียด เรารู้จักสัมผัส มีสติ ควบคุมสัมผัส มีปัญญาที่จะไม่หลงไปตามสัมผัส พูดมันก็ง่าย แต่เวลาปฏิบัติมันไม่ได้ง่าย ก็ลองดู
ทีนี้ก็ไปถึงที่ว่า มีสติในขณะแห่งเวทนา พอมีผัสสะ ทั้ง ๒ ชนิด ๒ ชั้นแล้วนะ ก็มีเวทนา เกิดความรู้สึก เป็นบวกหรือเป็นลบ น่ารักน่าพอใจ ก็เอาว่าเป็นบวก ไม่น่ารักไม่น่าพอใจไม่น่าได้ไม่น่ามีไม่น่าเอาก็เป็นลบ เวทนามันก็มีอย่างนี้ ทีนี้จิตมันโง่ อย่างที่เรียกว่ามาจากในท้อง มีเพียงสัญชาตญาณเท่านั้น ไม่รู้คุณค่าอะไรของบวกหรือลบ นอกจากจะรู้ว่าบวกน่ารัก ลบไม่น่ารัก ก็เกิดความรู้สึกหลอกหลอนอย่างยิ่งขึ้นมา เมื่อเวทนาเป็นบวกเป็นบวก พอใจอยู่ มันก็เกิดตัวตน ตัวกู ตัวกู กูพอใจในความเป็นบวก นี่ก็ตัวกู ตัวตนมายา ไม่ใช่ของจริง มันผีหลอก ก็มันเป็นเพียงความรู้สึก มันเป็นอารมณ์ อารมณ์นั้นมันเป็นลบ มันก็เกิดตัวกูลบ ตัวกูลบ โง่อย่างลบ มีตัวกูลบ ตัวกูเพิ่งเกิดเดี๋ยวนี้เห็นไหม ตัวกูไม่ได้มีอยู่ก่อนหรอก ไม่ได้มาเกิด ไม่ได้มีตัวตนตัวกูรออยู่เท่าเรารู้สึก ไอ้ตัวกูมันกลับเพิ่งจะเกิดเมื่อมีความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว เช่นว่าต้องมีความรุ้สึกว่าสวยแล้ว จึงจะเกิดตัวกูบวก ที่จะเอาไอ้ที่มันสวย ถ้ามันรุ้สึกไม่สวยน่าเกลียดแล้ว มันก็เกิดตัวกูลบ ไม่น่าเอา มันจะไม่เอา จะฆ่า จะทำลายเสีย จะเห็นง่ายๆก็เรื่องอร่อยในปาก เคี้ยวอร่อยอยู่ในปาก เมื่อความอร่อยมีแล้ว ก็จะเกิดตัวกูบวกผู้อร่อย ถ้าไม่อร่อยก็เกิดตัวกูลบ หรือขัดใจ ตัวกูนี่เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดเมื่อมีการรู้สึกต่ออารมณ์แล้ว มีความลึก อาจจะยากก็ตรงนี้แหละ ฟังให้ดี ที่ว่า ตัวกู ตัวกู นี่มีลักษณะเหมือนผู้กระทำ แต่ตัวกูนี่มันเกิดภายหลังเมื่อมีการกระทำแล้ว มันบ้าขึ้นใช่ไหม มันมีการกระทำแล้วจึงเกิดตัวกูผู้กระทำ เช่นว่าเคี้ยวอร่อยอยู่ในปากแล้ว มันจึงเกิดตัวกูผู้อร่อย คนก็ไม่เชื่อว่าทำไมไอ้ตัวผู้กระทำเกิดทีหลังการกระทำ มันผิดโลจิก ไม่เชื่อ เด็กๆในโรงเรียนของเราก็ไม่เชื่อ ผู้กระทำเกิดตามหลังการกระทำ การกระทำทำให้เกิดตัวผู้กระทำ มันผิด ถ้าตามปรกติ ต้องมีไอ้ตัวผู้ที่จะกระทำนี่มันจึงจะทำ ไอ้การกระทำทีหลังสุด จะต้องมีการกระทำไปตามธรรมชาติก่อน แล้วจึงเกิดความรู้สึกตัวกูผู้กระทำ อร่อยอยู่ในปากในลิ้นแล้วจึงเกิดตัวกูผู้อร่อย เป็นอย่างนี้ทั้ง ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตาเห็นรูปที่น่ารัก ก็เกิดตัวกูผู้รัก เห็นรูปที่ไม่น่ารัก ก็เกิดตัวกูผู้ไม่รัก หูก็เหมือนกัน ได้ฟังเสียงไพเราะก่อนแล้วเสนาะหูแล้วจึงเกิดตัวกูบวก พอใจในเสียงนั่นที่น่ารัก เสียงไม่น่ารักก็เหมือนกัน กลิ่นหอมกลิ่นเหม็นก็เหมือนกัน ก็ต้องมีกลิ่นมากระทบจมูก มีหอมมีเหม็นมีบวกมีลบ ก็เกิดตัวกู ตัวกู กูหอม หรือกูเหม็น ลิ้นรสเหมือนกัน สัมผัสผิวหนังเหมือนกัน มีการสัมผัสแล้ว นิ่มนวลหรือกระด้าง จึงเกิดความรู้สึกเป็นตัวกู กูได้สัมผัส โอตัปภะอันนิ่มนวลยวนใจ หรือสัมผัสที่กระด้างหยาบคาย จะเร่งจะเกิดกิเลสต่อไป มันก็เป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง เดี๋ยวนี้มันเกิดตัวกูบวกเกิดตัวกูลบ หลังจากเกิดความเป็นบวกความเป็นลบ เป็นเวทนา ด้วยอำนาจความโง่ ถ้ามันไม่มีความหมายเป็นบวกเป็นลบ ตัวกูก็ไม่เกิด ถ้ามีความหมายเป็นบวกเป็นลบ จะเกิดตัวกูบวกเกิดตัวกูลบ ถ้าชอบใจ มันก็เกิดความชอบใจ กิเลสประเภทชอบใจ เกิดราคะบ้าง โลภะบ้าง ถ้าไม่ชอบใจไม่ถูกใจ ก็เกิดโทสะบ้าง โกรธะบ้าง ถ้ามันไม่แน่ว่าชอบใจหรือไม่ชอบใจ มันก็ยังสงสัยหลงใหลอยู่ มันก็เกิดการสงสัยติดตามมัวเมา วนเวียนอยู่นี่ วนเวียนอยู่
นี่กิเลสมี ๓ ชนิดที่เราพูดกันแล้วโดยละเอียดเมื่อคืนก่อน กิเลสประเภทหนึ่ง กอดรัดว่ายเข้ามา ดึงเข้ามา กิเลสประเภทหนึ่งตีผลักออกไปจะทำลายเสีย กิเลสตัวหนึ่ง วิ่งวนอยู่รอบๆ ไม่รู้จะเอายังไง นี่เวทนาตอนนี้ชัดเจนคือมีเวทนา ที่นี้มันไม่เพียงเท่านั้น มันเกิดตัวกู เพิ่งเกิด เพิ่งเกิด ตัวกูเพิ่งมีชาติ ชา-ติ เกิด ไม่ใช่เกิดจากท้องแม่ แต่เกิดจากความโง่ เกิดจากอุปาทาน เกิดจากตัณหา เกิดจากอุปาทาน เพราะว่ามันมีตัณหา มีตัวกูบวก มีตัวกูลบ แล้วมันก็เกิดตัณหา คือความอยากอย่างโง่เขลา ถ้าตัวกูบวกถ้าอารมณ์บวกน่ารักก็เกิดตัวกูบวก เกิดตัณหา ตัณหาที่จะเอา ถ้าไม่น่ารัก ก็เกิดตัณหาที่จะฆ่าจะทำลาย พอมีตัวกูอย่างนี้แล้ว ก็เรียกว่า เกิด อะไรเกิดก็แล้วแต่ คิดอย่างไรก็เกิดอย่างนั้น ก็เรียกว่ามีเกิดโดยทางจิตโดยทางวิญญาณอย่างนี้ จะเกิดทุกคราว ทุกคราวที่มันโง่ในเวทนา การเกิดอย่างนี้ไม่ต้องเกิดจากท้องแม่ จะเกิดจากตัณหา เกิดจากอุปาทาน มีตัณหาเป็นแม่ มีอุปาทานเป็นพ่อ แล้วเกิดได้วันหนึ่งไม่รู้กี่สิบครั้งกี่ร้อยครั้ง เกิดทีละชาติหรือภพ ถ้ามันเตรียมตัวพร้อมที่จะเกิดเรียกว่า ภพ ถ้าเมื่อคลอดออกมาก็เป็นชาติ ภพชาติอย่างนี้มีได้ในชีวิตประจำวันแต่ละวันนับไม่ถ้วน แต่ก็ไม่ได้สอนกัน ถ้าสอนภพชาติเข้าโลงทีหนึ่งออกจากท้องแม่ทีหนึ่งเข้าโลงทีหนึ่ง เรียกว่าภพชาติหนึ่ง ทีนี้จะสรุปธรรมะอันลึกซึ้งก็หมายถึงภพหรือชาติที่มันเกิดจากกิเลส มีตัณหา มีอุปาทาน เกิดตัวกูต้องการอะไร ต้องการจะฆ่าหรือต้องการจะได้ ชาติหนึ่งมันมีหลายอย่างหลายชนิด เราก็มีภพมีชาติ วันหนึ่งหลายสิบหลายร้อย ปีหนึ่งเท่าไหร่ ปีหนึ่งหลายพันหลายหมื่นชาติเกิดอยู่ ใครรู้จักชาติชนิดนี้ คนนั้นแหละมีหวังที่จะรู้จักนิพพาน คือไม่มีการเกิดชนิดนี้ ไม่มีการเกิดชนิดนี้ ก็จะดับเป็นนิพพาน ถ้าไม่รู้จักการเกิดชนิดนี้ก็เกิดไป เกิดไป เกิดไป ทนทุกข์ทรมานไป เวียนว่ายตายเกิดอยู่วันหนึ่งหลายสิบครั้งหลายร้อยครั้ง เดือนหนึ่งก็นับไม่ไหว ปีหนึ่งก็นับไม่ไหว กว่าจะตายกันอีก นับไม่ไหว เขาไม่ค่อยพูดกัน ก็นี่เป็นเหตุให้เข้าใจผิดว่านิพพาน นิพพานนั้นต้องรอ พอตายแล้วหลายหมื่นหลายแสนชาติจึงจะนิพพาน รอไปสิถ้าคุณเอาตอนเกิดจากท้องแม่ ถ้าเข้าโลงทีหนึ่งชาติหนึ่งก็รอ ถ้ารอไหว แต่ชาติชนิดนี้เพียงวันเดียวเพียงเดือนเดียวมันก็เป็นพันเป็นหมื่นเป็นแสน นิพพานได้ นิพพานได้ โดยไม่ต้องไปเข้าโลงแล้วไปเกิด ถ้าว่านับชาติกันอย่างนี้ ก็เข้าใจว่าชาติในลักษณะอย่างนี้ก็มี มันก็แล้วแต่ความคิดนึกว่าคิดอย่างเลว ก็เกิดเป็นคนเลว คิดอย่างดีก็เกิดเป็นคนดี คิดอย่างสัตว์เดรัจฉานก็เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ในร่างนี้ ในร่างกายมนุษย์นี้ คิดอย่างเทวดาก็เกิดเป็นเทวดา คิดอย่างสัตว์นรก ก็เกิดเป็นสัตว์นรก หิวเป็นเปรต ก็เกิดเป็นเปรต โง่เป็นสัตว์เดรัจฉานก็เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน รู้จักภพชาติอย่างนี้มันน่ากลัวกว่าไปภพชาติจากท้องแม่แล้วเข้าโลง ก็มันมีมากเหลือเกิน แล้วมันร้อนเป็นไฟ ขึ้นชื่อว่าภพแล้วก็มีทุกข์ทั้งนั้น ไม่ว่าภพอย่างไหน หลักธรรมะจริงๆว่าภพเป็นสิ่งเลวร้ายทำให้เกิดทุกข์ ไม่ต้องมีภพไม่ต้องมีชาติในลักษณะที่ว่านี้ เป็นอย่างไร เข้าใจได้ ไม่ยากเกินจะเข้าใจ เราสั่นหัว เลิกกัน เลิกกัน ไม่ต้องศึกษาให้เสียเวลา ไม่ต้องไปศึกษาให้เสียเวลา อย่างนี้ก็ได้เหมือนกัน แต่ถ้าให้ผมพูด ผมก็ต้องพูดไปตามเรื่องของมัน มันจะยากจะง่ายก็แล้วแต่เถอะ จะระวังการเกิดนี้ได้ไหม ถ้าระวังไม่ได้ก็เป็นทุกข์ไป มันมีอุปาทานเกิดขึ้นเป็นอัตตวาทุปาทานแล้วก็ต้องมีความทุกข์ มีความทุกข์ทุกครั้งที่เกิด เกิดทุกทีเป็นทุกข์ทุกที เกิดทุกทีเป็นทุกข์ทุกที นี่เรียกว่า เกิดภพเกิดชาติ เกิดกันได้โดยไม่ต้องตายเข้าโลง อยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้ เกิดได้ตามความโง่อวิชชกี่อย่างกี่ชนิด เข้ามาก็เกิดเท่านั้นอย่างเท่านั้นชนิด ดับภพดับชาติเหล่านี้เสียได้ก็มีความหมายแห่งนิพพาน ดับได้ชั่วคราวก็นิพพานชั่วคราว ดับได้สิ้นเชิงก็เป็นนิพพานจริงสมบูรณ์ ดับได้น้อยๆก็เป็นนิพพานน้อยๆ ดับได้มากๆก็เป็นนิพพานมากๆ นิพพานอยู่ที่ตรงนี้ ไม่ต้องรอตายแล้วหมื่นชาติแสนชาติก็นับเถอะ นั่นเขาไว้สอนกันตามที่อื่น ที่นี่ไม่สอนอย่างนนั้น ที่นี่สอนตรงตามพระบาลีที่มีอยู่ที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ชาติอย่างนี้ภพอย่างนี้ แต่ที่ศาลาวัดที่อื่นก็อาจจะสอนอย่างอื่น แม้แต่ในโรงเรียนนักธรรม ก็ยังไว้ใจไม่ได้ อาจจะสอนนิพพานเรื่องว่าตายแล้วจึงจะได้ ถ้ารอกันไม่รู้กี่หมื่นกี่แสนชาติ มารู้จักภพมารู้จักชาติกันที่นี่ เห็นไหมวันหนึ่งเกิดได้มากมาย ถ้ามีสติสัมปชัญญะทันตั้งแต่ในขณะผัสสะ มันก็ไม่มี ไม่มีเหตุการณ์นี้ หรือมีสติสัมปชัญญะพอในขณะเวทนา ไม่หลงเวทนาเป็นบวกเป็นลบ ไม่เกิดตัวกูไม่เกิดตัวกู มันก็ไม่มีภพไม่มีชาติในลักษณะอย่างนี้ แล้วมันจะสบายซักกี่มากน้อย ดูเอาเอง เพราะถ้ามีตัวกูขึ้นมาในอะไรก็ตาม มันมีความหนักแก่จิตใจ เพราะว่าจิตใจต้องไปถือ ไปส่งไปหอบไปหิ้ว ให้ความรู้สึกว่าตัวกู ตัวกูบวก ก็พอใจหนักไปแบกบวก ตัวกูลบไม่พอใจ มันก็นักก็หนักก็แบกลบ ดีใจก็เหนื่อยไปแบบดีใจ เสียใจก็เหนื่อยไปแบบเสียใจ ไม่ดีใจไม่เสียใจ จึงจะไม่เหนื่อย ศึกษาเอาจากนี้ ดีใจมันไม่ใช่ความสงบ มันรู้เอา ถ้าดีใจมาก แล้วนอนไม่หลับกินข้าวไม่ลง ดีใจมากเกินไป เสียใจก็เหมือนกัน จึงสอนว่าอย่ายินดียินร้าย หลักธรรมะง่ายๆ อย่าไปยินดียินร้าย อย่าไปดีใจอย่าไปเสียใจ มันก็ไม่มีความหนัก เพราะมันไม่เกิดตัวกูถือเอาไว้ ถ้าถือไว้มันหนัก ถ้าถือเม็ดเพชรพลอยมาแบกมันก็หนัก ถ้าถือก้อนอิฐก้อนหินก้อนดินก้อนทรายมากไปแบกไว้มันก็หนัก นี่มันก็แสดงว่า ไอ้ดีมันก็หนักก็ไปหลงแบก ดีบ้าดีหลงดี ชั่วก็หนักไปแบกหนักหลงชั่วเมาชั่วบ้าชั่ว ถ้าเราจะต้องการความสงบสุขเยือกเย็นเป็นสันติเป็นนิพพานละก็ อย่าไปโง่หลงจนเกิดบวกเกิดลบเกิดตัวกูบวกเกิดตัวกูลบ ป้องกันมันให้ได้ในขณะแห่งผัสสะ ชั่วขณะแห่งเวทนา นี่ว่าหัวใจของการที่ทุกข์ไม่ให้เกิด เราไม่ต้องให้ทุกข์เกิดแล้วจึงดับทุกข์ ป้องกันไม่ให้ทุกข์มันเกิด ไม่ให้กิเลสมันเกิด ไม่ให้กิเลสเกิดความทุกข์ก็ไม่เกิด นั่นเราก็ไม่ต้องเสียเวลาไปทะเลาะกับกิเลสหรือความทุกข์ ไม่ต้องไปทะเลาะกับกิเลสหรือความทุกข์ เอาชนะกิเลสและความทุกข์ไปได้ นี่คือเคล็ด เคล็ด อย่าไปเผชิญกับมันซึ่งหน้า อย่ายุ่งยากเลอะเทอะ เหมือนเอาไม้สั้นไปรันขี้ จงทำแต่ที่ไกล ทำล่วงหน้าเสียแต่ที่ไกล ทำให้มันขี้ไม่ต้องมีเรื่องสกปรกโดยการทะเลาะกับขี้ คือกิเลส
เมื่อท่านกล่าวว่าพระธรรมหรือพระพุทธธรรม พระพุทธศาสนาละเอียดลึกซึ้ง ลึกซึ้งประณีตสุขุม มันก็อยู่ที่ข้อนี้ อยู่อย่างนี้ นิพพานเป็นสิ่งละเอียดลึกซึ้งสุขุมอยู่ถึงตอนนี้ ไม่ต้องไปเสียเวลา ไม่เกิดกิเลสความทุกข์วุ่นวายต่างๆ ป้องกันซะได้ไม่เกิดกิเลสไม่เกิดความทุกข์ เวทนา เวทนาตัวร้าย เวทนา ก็เกิดจากผัสสะ เวทนาเกิดตัณหา เป็นความต้องการ เกิดผู้ต้องการ ผู้ยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวกูแล้วก็เป็นของกู มันเกิดเป็นความรู้สึกตัวกูผีหลอก ถ้าอะไรมันเนื่องอยู่กับตัวกู มันก็เกิดเป็นของกู มีตัวกู แล้วก็มีลูกเมีย สมบัติพัสถานเงินทองข้าวของเป็นของกู แม้แต่ชีวิตนี้มันก็ชีวิตของกู มีร่างกายก็เป็นร่างกายของกู มีอะไรก็เป็นของกู งั้นถ้ามีตัวกูก็มีของกู ทั้งตัวกูทั้งของกูนี่กัดเจ้าของ เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ อย่ามีความรู้สึกอันนี้สิ ผีหลอกแล้วเกิดความรู้สึกว่าตัวกูว่าของกู จะไม่มีความทุกข์เลย มีบาลีนี่มีหลักว่า อย่าให้มันเกิดหัสสะมิมานะ เกิดความรู้สึกว่าตัวกู มันก็เป็นสุขอย่างยิ่ง ไม่เกิดอุปาทาน อัตวาทุปาทาน ยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตนมันก็เป็นแค่ ไม่มีทุกข์เลยก็เรียกว่าเป็นสุข ก็ไม่ถูกนัก ก็ไว้โฆษณาชวนเชื่อ ถ้าจะให้เรียกให้ถูก ก็ต้องเรียกว่าสิ้นสุดแห่งความทุกข์ สิ่งดีเลิศสูงสุดคือพระนิพพานนั้นเป็นที่สิ้นสุดแห่งความทุกข์ แต่ถ้าพูดอย่างนี้ไม่ค่อยมีใครสนใจ ต้องพูดอย่างที่เขาพูดกันอยู่ทั่วบ้านทั่วเมือง ว่าความสุขและแถมอย่างยิ่งเข้าไปอีก ว่าความสุขอย่างยิ่ง คนมันจึงจะสนใจ ถ้าว่านิพพานเป็นที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ที่เป็นความจริง คนไม่สนใจหรอก ถ้าว่าเป็นสุขอย่างยิ่ง แม้เป็นความโง่ว่าเป็นสุข สุขอย่างที่มันเคยต้องการก็ได้ เพราะมันเคยติดหลงสุขอย่างไร พอได้ยินว่าสุขก็หูผึ่ง และพอบอกว่าอย่างยิ่งก็เอาใหญ่เลย มันยิ่งอยากจะได้ แต่แล้วมันไม่ใช่อย่างนั้น มันเป็นที่สิ้นสุดแห่งความทุกข์ดับลงไปแห่งความทุกข์ไม่มีความทุกข์ นี่เรามาเรียกสมมติกันว่าความสุขอย่างยิ่ง พระนิพพานนี่ถ้าหากว่า พูดอย่างความจริงพูดว่า สิ้นสุดแห่งความทุกข์ ออกไปจากความทุกข์ ถ้าพูดอย่างโฆษณาชวนเชื่อให้มาสนใจก็พูดว่าความสุข และความสุขอย่างยิ่ง มันก็มีพูดกันอยู่ทั้งสองอย่าง อย่างนี้ แม้พระพุทธเจ้าก็ยังตรัสอย่างนี้ ในกรณีจะพูดกับคนพวกนี้ ตรัสว่า เป็นสุขอย่างยิ่ง แต่ในกรณีที่จะตรัสเป็นหลักทั่วไปตลอดกาล จะตรัสว่า ที่สุดแห่งความทุกข์ ที่สิ้นสุดแห่งความทุกข์ ไม่มีความทุกข์ แต่เดี๋ยวนี้ ในโลกนี้ ปัจจุบันนี้ ถ้าเราพูดว่าสิ้นสุดแห่งความทุกข์ มันไม่มีใครสนใจ ต้องพูดว่าสุขอย่างยิ่ง มันก็ชวนให้เข้าใจกันอย่างนั้น เข้าใจกันอย่างนั้น นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง คนเลยปรารถนาพระนิพพานกันในความหมายว่าเป็นสุขอย่างยิ่ง ทั้งที่ไม่รู้ว่าเป็นสุขอย่างไร มันคนแก่ชาวไร่ชาวนา โง่เง่าอย่างไรก็รู้จักปรารถนาพระนิพพานทั้งนั้นแหละ คุณไปดูสังเกตดู พระนิพพานเป็นที่ปรารถนาในคนที่โง่ที่สุด เขาก็ให้ความหมายเอาเองตามที่เขาจะเอา ตามที่เขาต้องการ ผู้หญิงคนหนึ่งเขามาที่วัด ก็แสดงความประสงค์ว่า จะได้นิพพานจะปฏิบัติจะได้นิพพาน ผมก็บอกไปตามจะเรียกว่าตรงหรือ ก็บอกว่า ในเมืองนิพพานไม่มีรำวง เลยสั่นหัวว่าไม่ต้องการ ไม่ต้องการนิพพานแล้ว เพียงแต่ว่า ในนิพพานไม่มีรำวง เขาเข้าใจในเมืองนิพพานมันสนุกสนานกันใหญ่ มีอะไรร้อยเท่าพันเท่า น่ายินดีน่าพอใจร้อยเท่าพันเท่า เพราะผู้หญิงคนนี้เขาชอบรำวงเป็นชีวิตจิตใจ อยากจะไปนิพพาน พอบอกไม่มีรำวง หยุดเลย หยุดเงียบเลย ไม่ต้อง ไม่ต้อง นี่มันเกี่ยวกับคำพูด ขอให้ทราบไว้ถ้าจะพูดให้คนปัญญาอ่อนหรือคนโง่สนใจก็ต้องพูดว่า เป็นสุขอย่างยิ่ง สุขเหลือประมาณ ถ้าพูดอย่างไม่หลอกกันก็ว่าจบความทุกข์ จบสิ้นสุดแห่งความทุกข์ ไม่มีทั้งสุขและทุกข์ สุขเป็นเรื่องบวกทุกข์เป็นเรื่องลบ ไม่มีทั้งบวกทั้งลบนั่นแหละ เป็นความสงบ เป็นความปรกติเยือกเย็นตามความหมายของคำว่านิพพาน นิพพานซึ่งแปลว่าเย็น ถ้าว่านิพพาน นิพพาน ก็ว่าเป็นคำชาวบ้านพูด ยังไม่ถูกยืมไปใช้ทางศาสนา คือคำธรรมดาว่าดับเย็น ดับเย็น ไฟดับ แล้วก็ไฟนิพพาน ข้าวเย็นกินได้ ร้อนกินไม่ได้ พอเย็นกินได้ก็เรียกว่ามันนิพพาน รอมันนิพพานจึงกินได้ นี่คำคำนี้ยังอยู่ เป็นภาษาชาวบ้าน พูดกันอยู่ในครัวก็มีที่ไหนก็มี มีอยู่ในบาลี ไปชั่งทอง เขาเอาทองใส่เบ้าสุกเหลวคว้าง พอถึงเวลาที่เขาจะทำ เขาต้องเอามา เอาน้ำรดให้มันเย็นพอเหมาะพอดีไม่แข็งไม่อ่อน อาการที่ทำให้ทองเย็นนี่ก็เรียกว่า ทำให้มันนิพพาน นิพพานในความหมายอย่างนี้ ผัสสะอาสวะ ต่อมามันถูกยืมไปใช้ในทางธรรมะทางศาสนา ให้ได้เย็นอกเย็นใจ อะไรหยุดความร้อนความกระหายได้ก็กลายเป็นนิพพาน งั้นคนโง่พวกแรกก็เอากามารมณ์เป็นนิพพาน กามารมณ์มันหยุดความหื่นกระหายไปได้พักหนึ่ง พวกนี้เหมาเอากามารมณ์เป็นนิพพานพวกหนึ่งพักหนึ่ง แต่ว่าพวกอื่นน่ะไม่ไหวหรอกไม่ได้หรอก เอาสูงขึ้นไปเป็นเรื่องฌาณ เรื่องสมาธิ สมาธิหรือฌาณน่ะเป็นนิพพานได้พักหนึ่ง พระพุทธเจ้าไม่ไหวละ ไปศึกษากับดาบสทั้งหลายมีสมาบัติสมาธิเป็นนิพพานทั้งนั้นละ พระพุทธเจ้าไม่ไหว ไม่เอาละ ทิ้งอาจารย์เหล่านั้น ไปศึกษาค้นคว้าของพระองค์เอง ดับกิเลส ดับไฟ ดับตัณหา ดับอุปาทาน เย็นคือนิพพานที่แท้จริง สิ้นกิเลส สิ้นความร้อน ความร้อนในทางจิตนี่ ร้อนด้วยกิเลส ร้อนด้วยราคะ โทสะ โมหะ ถ้าดับซะได้ก็เป็นนิพพาน บาลีมีชัดๆตรงๆฟังง่ายๆก็ ราคะคโยโทสะคโยโมหะคโยนิพพานัง ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ นี้เรียกว่านิพพาน ไม่มีกิเลสไม่มีความทุกข์ สามารถมีสติควบคุมผัสสะ ถ้าเผลอไปมาถึงเวทนา ก็ควบคุมเวทนา หรืออะไรๆที่มันรวมอยู่กับเวทนา ควบคุมยังเป็นผีหลอก เป็นบวกเป็นลบ เป็นตัวกูบวก เป็นตัวกูลบ ก็เกิดกิเลสทั้งหลายขึ้นมา ไม่เกิดกิเลสแล้วก็ไม่มีความทุกข์ จงรู้ว่าจะไม่ให้กิเลสมันเกิด ก็ต้องป้องกันด้วยสติ กิเลสเกิดแล้ว ความทุกข์เกิดแล้ว ก็ต้องใช้สติรู้เท่าทันทำให้มันดับไป แต่ตอนนี้มันยุ่ง มันยุ่ง ก็มันรบกันนี่ ถ้าป้องกันไม่ให้มันเกิดก็สบายดี เพราะฉะนั้นเราจึงถือเป็นหลักว่า ไอ้ดับกิเลสก็ดี ดับทุกข์ก็ดี ความหมายที่แท้จริงก็คือกระทำอย่าให้มันเกิดได้ ทำให้กิเลสไม่เกิดก็คือดับกิเลส ทำให้ความทุกข์ไม่เกิดนี่แหละ คือดับทุกข์ อย่างนี้ดับที่ต้นเหตุ ฉลาด ถูกต้อง สมบูรณ์ ถ้าไปดับต่อเมื่อมันเกิดแล้วไปดับปลายเหตุมันยุ่งยากมันเป็นทุกข์ เหมือนกับดับไฟ ไฟเผาเอาถลอกปอกเปิก ถ้าว่าดับที่ต้นเหตุแห่งไฟ มันก็ไม่ต้องร้อนไม่ต้องเผาไหม้ ก็เป็นอันว่าเรื่อง ละกิเลส ดับกิเลส คือการทำไม่ให้เกิดกิเลส ดับทุกข์ก็คือทำไม่ให้เกิดทุกข์ สำเร็จได้ด้วยสติปัญญาที่มากับสติ สติมีมาทันเวลาของการสัมผัส แล้วก็ไม่เกิดสัมผัสโง่ แล้วมันก็ไม่เกิดเวทนาโง่ ไม่เกิดกิเลส แล้วมันก็ไม่เกิดอนุสัย ไม่เกิดอาสวะ เหมือนที่เราพูดกันแล้วคืนก่อน ถ้ามันไม่เกิดกิเลสแล้วมันไม่เกิดอนุสัยไม่เกิดอาสวะ ถ้าเกิดกิเลสแล้วเกิดอนุสัยเคยชินที่จะเกิดกิเลสอีก ได้โอกาสก็ออกมาเป็นอาสวะ ช่วยไม่ได้ ออกมาก็เป็นกิเลสและความทุกข์ กำจัดกิเลส และป้องกันกิเลสไม่ให้เกิดขึ้นมา มันก็ไม่มีปัญหา หรือว่าไม่ให้เกิดกิเลส ไม่ให้เกิดกิเลสในครั้งหนึ่ง มันลดอนุสัยที่สะสมไว้หน่วยหนึ่ง บังคับกิเลสไม่ให้เกิดได้ครั้งหนึ่ง มันลดอนุสัยไปหน่วยหนึ่ง เดี๋ยวก็หมด นั่นคือการตรัสรู้เป็นโสดาบันสกิทาคาอนาคา ก็คือการลดจำนวนแห่งอนุสัยลงไปลงไป สำเร็จได้ด้วยการมีสติมีปัญญา ควบคุมตั้งแต่ผัสสะไปถึงเวทนา ถ้าเราเข้าใจถูกต้องอย่างนี้ ไม่หลงเรื่องตัวกูของกู แล้วก็ไม่มีมิจฉาทิษฐิใดๆเนี่ยนะ มิจฉาทิษฐิเรื่องนั้นเรื่องนี้ ยุ่งไปหมดก็เพราะมันเข้าใจผิด เรื่องตัวกูเรื่องของกู มีมิจฉาทิษฐิเกิดขึ้นตั้งมากมาย ในพระบาลีว่า ๖๒ อย่าง แต่แจกออกไปได้เป็นร้อยอย่างพันอย่าง มิจฉาทิษฐิคือเข้าใจผิดในเวทนา
เอาละ เป็นอันว่าเวลาก็หมดพอดี เราจะมีสติ ซึ่งรวมไปถึงสัมปชัญญะปัญญาพร้อมเสร็จ โดยสติมันเอามาทันเวลา ทันเวลาที่ผัสสะเกิดขึ้น มาทันเวลาก่อนที่มันจะเวทนาใดๆอย่างที่เรียกว่า มีสติทันเวลา ฉลาดทันเวลา ป้องกันการกิเลสแห่งความทุกข์ได้ ที่คือการดับกิเลส ดับความทุกข์ ตัวแท้คือป้องกันไม่ให้มันเกิด แต่เราเรียกกันง่ายๆภาษาพูดว่าดับกิเลสดับทุกข์ พึงรู้ไว้ว่าไม่ให้มันเกิดขึ้นมาได้ นั่นคือดับ และเราก็ไม่มีปัญหา และเราก็อยู่สบายดี ระหว่างบวชศึกษาเรื่องนี้เราปฏิบัติเรื่องนี้ ปฏิบัติด้วยเข้าใจมากตามที่จะมากได้ มันก็มีอานิสงค์มหาศาลในการบวชในการเรียนในการปฏิบัติ ขอให้มีความรู้ความเข้าใจถูกต้อง มีความก้าวหน้าในการปฏิบัติ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกิเลสจากความทุกข์เพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้น ประสบความเยือกเย็นเป็นสุขอยู่ทุกที่ที่...เทอญ ขอยุติการบรรยายวันนี้