แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในวันสุดท้ายนี้ เราจะพูดกันถึงเรื่องสุดท้าย เรื่องสุดท้ายของการประพฤติพรหมจรรย์ การประพฤติพรหมจรรย์ ถ้ายังไม่จบมันก็ประพฤติเพื่อดับทุกข์ ทำที่สุดแห่งความทุกข์ แต่ทว่าเป็นผู้ที่หมดทุกข์คือก็ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อเสวยความหมดทุกข์ จะเรียกว่าสุขก็ได้ มันก็มีอยู่เป็น ๒ ขั้นตอน ถ้ายังไม่หมดทุกข์ก็ประพฤติเพื่อให้หมดทุกข์ ถ้าเป็นผู้ที่หมดทุกข์แล้วมันก็เป็นการเสวยสุขโดยสมมติ ซึ่งก็มักจะเรียกกันว่า "วิมุตติสุข" ซึ่งที่จริงมันเหนือสุขเหนือทุกข์ ไม่มีเรื่องสุขเรื่องทุกข์ เสวยผลของความไม่มีทุกข์ อย่างนี้ถูก ทว่าเสวยผลของความสุขมันเป็นเรื่องต่อรอง กำหนดเข้ามาอีก ไม่ใช่สิ่งที่ถูก เสวยผลของความไม่มีทุกข์ ที่สุดแห่งทุกข์ นี้ถูก นี่เราก็เคยบัญญัติธรรมไว้ จำง่ายๆว่า เยือกเย็นแล้วเป็นประโยชน์ ถ้าประพฤติพรหมจรรย์เรื่อยๆ ชีวิตนี้ก็เยือกเย็น มันมีเยือกเย็นเปล่าก็เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ทุกคน ทุกพวก ทุกหน ทุกแห่ง นี่เรียกว่าเสวยผลแห่งการประพฤติพรหมจรรย์
อยากจะพูดถึงคำว่า “สงบเย็น” เพราะเป็นคำที่ยังเข้าใจผิดกันอยู่มาก มีคนเอาไปวิพากษ์วิจารณ์ ที่เขียนทำนองล้อก็มี ทำนองด่าก็มี ว่านิพพานเป็นเรื่องเย็น เป็นความเย็นของเขา ศึกษากันในแง่อื่น ผมอยากจะให้ได้ศึกษาถึงใจความสำคัญของคำว่า “นิพพาน” โดยเฉพาะว่าคำๆนี้มันแปลว่า เย็น เพราะไม่มีไฟคือกิเลสที่เป็นของร้อน ก็เย็น ไม่มีร้อนก็คือเย็น แล้วก็เป็นคำพูดพิเศษด้วย คือเย็นที่ไม่คู่กับร้อน ที่มันคู่กับร้อนนั้นคือหนาว เรียกว่าเย็นนี่ทนไม่ได้เป็นทุกข์ หนาวก็ทนไม่ได้เป็นทุกข์ ถ้าเย็นแล้วก็สบายดี แต่มักจะพูดกันว่าเย็นเป็นคู่กับร้อน พูดกันตามประสา ที่พูดกันชาวบ้านธรรมดาพูดกัน คำนี้มันแปลว่า เย็น เย็นมาตั้งแต่ก่อนมีพุทธศาสนา ก่อนมีพุทธศาสนาประชาชนผู้มีสติปัญญา นักบวช ฤๅษี มุนี ชีไพร ออกจากแสวงหาในสิ่งที่เรียกว่าเย็น
คำว่า “ฤๅษี” ในภาษาไทย เด็กๆไปดูหนังตะลุงก็เห็นว่าฤๅษีนั้นเหาะเหินเดินอากาศได้ มีฤทธิ์มีเดชทำอะไรให้ก็ได้ พระเอกหนุ่มนั้นก็ได้รับประโยชน์อะไรจากฤๅษี แล้วก็ไปครองบ้านครองเมือง นี่คำว่าฤๅษีไว้ให้ลูกเด็กๆ แต่คำว่า “ฤๅษี” ในภาษาไทยนั้นมันก็คือ “อิสิ” ในบาลี แปลว่าผู้แสวง แสวง แสวง วรรณกรรมบางเรื่องก็เรียกพระพุทธเจ้า เรียกว่า “มหาฤๅษี” ผู้แสวงหาที่ยิ่งใหญ่ แสวงหาอะไร แสวงหาสิ่งที่เรียกว่า “นิพพาน” เพราะเขาพูดกันมาก่อนนานแล้วว่า นิพพาน นิพพาน นิพพาน เย็น นิพพาน เย็น ไม่ร้อนและก็ไม่หนาวด้วย พวกฤๅษี ฤๅษีเหล่านั้นหาพบกันแต่เพียงสมาธิ สมาธิต่ำสุดนี้ก็เรียกว่า “พรหมวิหาร” กรุณา เมตตา มุทิตา อุเบกขา ตายแล้วก็ไปอยู่ที่พรหมโลก ไปจบกันแค่นั้นเรื่องที่พูดกันอยู่ก่อนพุทธกาล ตายแล้วไปพรหมโลก สูงสุดกันเท่านั้น แต่ว่าเขาก็ต้องการสิ่งที่รู้สึกได้ตามธรรมชาติธรรมดาว่ามันเย็น มันเย็น รู้จักเย็นกันเพียงเท่านั้น มันก็เย็นกันเพียงเท่านั้น
ถ้าดูตามพระบาลีพรหมจารสูตร ประชาชนสมัยนั้นก็เคยถือเอาแม้แต่กามารมณ์ว่าเป็นนิพพาน นิพพาน ก่อนแต่ที่จะถือเอาสมาธิ ถือฌานสมาธิเป็นนิพพาน นี่ก็ถือกามารมณ์มาเป็นนิพพานมากันพักหนึ่งแล้ว เพราะว่ามันระงับความใคร่ ความกระสับกระส่ายร้อนรนได้ชั่วขณะเหมือนกัน ได้ชั่วขณะเหมือนกัน แต่ต่อมาจึงค่อยรู้ว่าไม่ใช่ ไม่ใช่ เลื่อนไปเป็นสมาธิ เพราะสมาธิมันมีหลายชั้น แต่ละชนิด แต่ละชนิดหนึ่งก็มีหลายๆชั้น มันก็มีมาก มันก็มีสูงขึ้นไป สูงขึ้นไป นับตั้งแต่ชั้นพื้นฐาน พรหมวิหาร เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา และสูงขึ้นมาถึงสมาธิที่เป็นฌาน เป็นรูปฌาน ๔ อย่าง อรูปฌานอีก ๔ อย่าง ๘ อย่างนี้ก็ไม่ใช่เล็กน้อย ถูกบัญญัติถือว่าเป็นนิพพาน นิพพาน คือที่สุดทุกข์ ที่สุดทุกข์ด้วยกันมาแล้วทั้งนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น คนก็รู้จักทำสมาธิสูงสุดก็คือ “เนวสัญญานาสัญญายตนะ” ก็อ่านในดูพระพุทธประวัติ อุทกดาบสรามบุตร อาจารย์คนสุดท้ายของพระพุทธเจ้ายืนยันว่านี่หมดแล้ว นี่จบแล้ว ให้พระพุทธเจ้าสิทธัตถะที่บวชอยู่กันสอนที่นี่ต่อไปเถิด พระสิทธัตถะโพธิสัตว์ไม่เอาด้วย ขอไปหาของพระองค์เอง
นี่ควรจะตั้งข้อสังเกตกันไว้หน่อยว่า ใครเป็นอาจารย์ของพระพุทธเจ้า อาจารย์ตอนแรกๆของพระพุทธเจ้าก็คือครูบาอาจารย์ที่เขาสอนกันอยู่ที่นั่นเวลานั้น จนกระทั่งอาฬารดาบส อุทกดาบส จนกระทั่งพระพุทธเจ้าท่านบอกเลิก กระทั่งก็ไปมีอาจารย์ใหม่ชื่อว่า อาจารย์คลำ ชื่อว่านายคลำ นายคลำ อาจารย์คลำ แล้วท่านก็คลำไป คลำไป คลำไป จนกว่าจะพบความเย็นที่แท้จริง คือความสิ้นตัวตน สิ้นความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตน คือสิ้นเรื่องอัตตา กลายเป็นเรื่องอนัตตา พวกที่แล้วมาแต่หนหลังมันเป็นกี่สิบอย่างกี่ร้อยอย่างก็สุดแท้มันมีอัตตามีตัวตนนะ นี่ท่านมาพบสูงสุดถึงกับว่า มิใช่อัตตา ตรงนี้ก็ควรจะเข้าใจให้ถูกกันเสียหน่อยนะว่า ที่มันผิดๆอยู่ก่อนนั้นมันก็มีทั้งสองด้าน ด้านนี้ก็มีอัตตา อัตตา อัตตา อย่างนั้นอย่างนี้ มีอัตตา มีอัตตา ที่สุดฝ่ายนี้ ฝ่ายนี้ก็ไม่มีอะไรเลย ไม่มีอะไรเลย ไม่มีอัตตา ไม่มีอัตตา ฝ่ายนี้ว่ามีอัตตา ฝ่ายนี้ไม่มีอัตตา เป็นเรื่องสุดโต่งที่สุดโต่ง พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นท่านก็พบไว้ที่ตรงกลาง ที่อยู่ตรงกลาง คืออัตตาซึ่งมิใช่อัตตาเรียกว่า “อนัตตา” “อนัตตะ” ถ้าเพื่อความแน่นอนไม่ฟั่นเฝือ จงจำไว้สัก ๓ คำนั้นก็พอ ฝ่ายนี้อัตตา อัตตา อัตตา ฝ่ายนี้นิรัตตา นิรัตตา ไม่มีอัตตา ไม่มีอัตตา ที่ตรงกลางนี่อนัตตา คืออัตตาซึ่งมิใช่อัตตา อัตตาจึงไม่ควรเรียกว่าอัตตา เพราะมันไม่ใช่อัตตา จึงใช้คำว่า อนัตตา ก็จำไว้เลยถ้าคุณจะพูดให้ถูกต้อง ไม่พูดส่งเดช หลับตาพูด ต้องพูดว่ามิใช่ตน มิใช่ตน อนัตตาแปลว่ามิใช่ตน อย่าแปลว่าไม่มีตน มันมีตนแต่มันมิใช่ตน มันมีตนของคนไม่รู้ มีตนของอวิชชา มีตนติดมาโดยสัญชาตญาณ จิตตามสัญชาตญาณต้องมีตน มีตน ตน ตน มาเรื่อย มาเรื่อยมา จนโตเป็นคนหนุ่มสาวแก่เข้าโรงมันก็ยังมีตน ตัวตน ของตน ตามความจริง ที่นี้ตามความจริงตน ตน ตนที่รู้สึกนั้นมันไม่ใช่ตน มันมิใช่ตน เราไปมั่วเอาเอง สำคัญไปเองว่าตน ตน ตน ก็พูดว่าตัวตนของตน ตัวตนของตน หรือจะพูดภาษาไทยธรรมดา ตัวกู ตัวกู ของกู ตัวกู ของกู เป็นความรู้สึกเกิดมาจากอวิชชา อวิชชามันโง่ มันพูดไปตามอวิชชา อวิชชามันให้พูดอย่างนั้นก็พูดอย่างนี้ มันจึงมีตัวตนเกิดขึ้นมาด้วยความโง่ ซึ่งไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง อยู่ที่สัตว์ทั้งหลายที่มีกันอยู่ตลอดเวลา แล้วพูดว่าตัวตน ตัวตนนี่ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง เป็นตัวตนของความโง่ แล้วก็โง่อย่างดักดาน โง่อย่างดักดาน โง่ถึงที่สุด โง่สุดเหวี่ยง โง่เป็นนิสัย
มีคำเรียกความโง่ชนิดนี้ชัดเจนมากเป็นภาษาบาลีว่า อะหังการะ มะมังการะ มานานุสัย ถ้าอยากจะเขียนให้ถูกจะบอกอีกที อะหังการะ มะมังการะ มานานุสัย แปลว่าอนุสัย อนุสัยคือความเคยชิน อนุสัยคือความเคยชิน มานะแปลว่าทำความสำคัญมั่นหมาย อะหังการะว่าตัวกู มะมังการะว่าของกู ว่าตัวตนว่าของตน ความเคยชินที่ให้เกิดความสำคัญมั่นหมายขึ้นมาว่าเป็นอะหัง เป็นมะมัง อะหังว่าตัวเรา อะหังว่าของเรา ที่ชินเป็นนิสัยยิ่งกว่าดักดาน นั่นแหละเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ความร้อน ถ้าหมดอันนี้แล้วก็เย็น เย็นเป็นนิพพาน พระอรหันต์ก็เพียงแต่สิ้น อะหังการะ มะมังการะ มานานุสัย พูดเท่านี้ก็พอ แล้วมันก็เย็น เย็น จงมองดูในแง่ที่ว่ามันไม่มีตัวตนที่แท้จริง มันมีแต่ตัวตนที่เกิดมาจากความโง่ เป็นตัวตนที่เป็นมายา คือไม่จริง เป็นตัวตนที่สำคัญผิดด้วยอวิชชา ตัวตนที่เป็นมายาคือไม่มีตัวจริง คือมันเกิดขึ้นมาจากความโง่ ถ้อยคิดขึ้นมาว่าอย่างนั้น นี่เป็นวิสัยของสัตว์ตามธรรมดาสามัญทั่วๆไป มันมีตัวตนอย่างนี้ ที่จะไม่ให้มีความรู้สึกว่าตัวตนมันเป็นไปไม่ได้หรอก เพราะว่ามันเกิดได้ตามธรรมชาติตามสัญชาตญาณ ยึดมั่นถือมั่นจนตลอดเวลาว่าตนว่าของตน
เด็กอยู่ในท้องไม่มีความคิดนึกอย่างนี้ เพราะมันไม่มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้คิดนึกอย่างนี้ เด็กอยู่ในท้องนั้นมันยังไม่ได้เสวยอารมณ์ ยังไม่มีการเสวยอารมณ์ ถึงแม้จะมีการหล่อเลี้ยงจากมารดาทางสายโลหิตมันก็ไม่เกี่ยวกับอายตนะที่รู้สึกอารมณ์ มันก็เลยไม่มีอารมณ์ จึงไม่มีความคิดว่าอัตตา ตัวตน แต่พอออกมาจากท้องแม่แล้ว เข้าใจตอนนี้ดี พอออกมาจากท้องแม่แล้ว อายตะ อายตนะก็เริ่มทำงาน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ อย่าง อย่างที่พูดแล้ววันก่อน คืออายตนะเริ่มทำงาน เริ่มทำงาน ตาก็เริ่มทำงานเห็นรูป หูก็เริ่มทำงานฟังเสียง จมูกก็ได้กลิ่น ลิ้นก็ได้รส ผิวกายก็ได้โผฏฐัพพะ จิตก็ได้ธรรมารมณ์ ใจก็ได้ธรรมารมณ์ นี่เป็นต้นเหตุ เป็นปัจจัยปรุงแต่ง ปรุงแต่ง ที่มันจะได้แรกก่อน มันก็เป็นเรื่องกินนม มันกินนม มันก็รู้สึกอร่อย รู้สึกอร่อยคือความรู้สึกที่เป็นฝ่ายบวก นี้จึงเกิดความรู้สึกว่ากูอร่อย เราอร่อย มีตัวตนสำหรับอร่อยขึ้นมา มีตัวตนเพิ่งเกิดหลังจากรู้สึกต่อความอร่อยแล้ว คือความไม่อร่อยก็เหมือนกัน พอไม่อร่อยก็เกิดตัวตนตัวกูที่ไม่อร่อย ที่มาถูกกันเข้ากับโผฏฐัพพะสัมผัสทางผิวหนัง เมื่ออยู่ในท้องแม่ก็ไม่มีอะไรกระด้าง แข็งกระด้างเจ็บปวด พอออกมาจากท้องแม่แล้วมันมาอยู่ในมือคนมาอยู่บนผ้า เด็กๆธรรมดาบ้านนอกมันอยู่ในกระด้ง มันก็มีสัมผัสทางผิวหนังเกิดขึ้น เป็นระคายเคือง เป็นสบาย หรือเป็นไม่สบาย มันก็เกิดความรู้สึกเป็นบวกเป็นลบ ทางตามันก็ได้เห็นว่าสวยไม่สวยที่เขาเอาไปให้มันดู ข้างเปลแขวนให้ดู ทางเสียงก็ขับกล่อม จมูกเขาก็ให้เด็กได้รับกลิ่นที่จะเป็นหยูกยาหรือปลอดภัย จึงเกิดความรู้สึกคิดนึกอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้เป็นความรู้สึกเป็นอารมณ์บวกอารมณ์ลบขึ้นมาในใจ มโนก็ได้ ธรรมารมณ์ก็ครบทั้ง ๖ อย่าง มันรู้สึกสัมผัสในอะไร รู้รสของอะไร มันเกิดความโง่ใหม่ขึ้นมาว่าตัวกูได้รับ ตัวกูได้รับ ตัวกูอร่อย ตัวกูไม่อร่อย ตัวกูนี่สัมผัสนิ่มนวลไม่นิ่มนวล มันก็เกิดขึ้นมาเป็นความรู้สึกบวกคือถูกใจลบคือไม่ถูกใจก่อน เมื่อมันเกิดความรู้สึกถูกใจไม่ถูกใจ แล้วมันจึงเกิดตามมาเป็นอารมณ์ว่ากู กู ตัวฉัน ตัวตน มีอารมณ์อย่างนั้นๆ
ฉะนั้นในความรู้สึกว่าตัวตนนั้นเป็นของเพิ่งมีมา ไม่ใช่ติดมาตั้งแต่ในท้อง แล้วก็เกิดทีหลังอารมณ์ที่ได้กระทบด้วย ต้องมีความรู้สึกอร่อย จึงจะเกิดความรู้สึกว่าตนมันอร่อย ตนมันอร่อย มันไม่ได้เกิดไว้ก่อนว่าตนๆรออยู่ กว่าจะได้รับอร่อย อย่างนี้ไม่มี ตนอย่างนี้ไม่มี มีแต่ตนที่เกิดขึ้นภายหลังจากการกระทบด้วยอารมณ์แล้ว กระทบรูป กระทบเสียง กระทบกลิ่น กระทบรส กระทบโผฏฐัพพะ กระทบธรรมารมณ์แล้ว มันจึงเกิดตัวตน ดังนั้น จึงเป็นของใหม่ที่ความโง่หรืออวิชชาสร้างขึ้นมาเมื่อได้รับอารมณ์แล้ว นี่มันเป็นเรื่องที่คนธรรมดานั้นเขาฟังไม่ถูก ไม่มีตัวตน แต่รู้สึกอารมณ์ได้ ซึ่งทำให้เราต้องพูดว่าตัวผู้กระทำมาทีหลังการกระทำ มันมีการกระทำคือการรับอารมณ์แล้ว จึงมีผู้รู้สึกอารมณ์แล้วเกิดเป็นตัวตนขึ้นมา ผู้กระทำเกิดทีหลังการกระทำ เด็กๆนั้นไม่เชื่อว่าผู้กระทำเกิดทีหลังการกระทำ แล้วอะไรมันกระทำ มันไม่เชื่อ การกระทำมีได้ตามธรรมชาติ ความรู้สึกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีได้ตามธรรมชาติ เพราะอายตนะเหล่านี้ทำหน้าที่แล้วความโง่จึงเกิดตามมาที่หลังว่า “กู” กูกระทำการ ได้เห็น ได้ยิน ได้ดม ได้อะไรทุกอย่าง นี่ตัวกู ผู้กระทำมาทีหลังการกระทำ คนที่ไม่เคยเรียน พวกฝรั่งก็ว่า Illogic Illogic ไม่เป็น Logic ฉันไม่เชื่อ แต่ความจริงมันเป็นอย่างนั้น เพราะตัวกูกระทำนั้นเป็นเพียงผี มายา ซึ่งเกิดตามมาจากกระทำ ถ้าคุณเข้าใจข้อนี้ คุณจะรู้พุทธศาสนาอย่างถูกต้องที่ว่าไม่มีตัวตนนั้น มันก็หมายความว่าไม่ใช่ตัวตน มันมีแต่ตัวตนของอวิชชาความโง่ ตัวตนที่แท้จริงมิได้มี เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่าตัวตนนั้นมันเกิดทีหลังการกระทำ การกระทำทำให้เกิดมายาว่าตัวตน ตัวตน ฉันเห็น ฉันได้ยิน ฉันได้กลิ่น “ฉัน”นั้นมันมาทีหลังการกระทำ ต้องได้เห็น ต้องได้ยิน ต้องได้ดม ต้องได้ก่อนจึงเกิดตัวกูผู้ได้รับอารมณ์นั้นๆ นี่เรียกว่า ตัวตนที่มิใช่ตัวตน ถ้าเรามองเห็นและรู้สึกทันท่วงทีทุกทีที่ได้เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส เกิดรู้สึกขึ้นมาว่าตัวตนซึ่งไม่ใช่ตัวตน ตัวตนซึ่งไม่ใช่ตัวตน มันก็ไม่เกิดกิเลส ไม่เกิดกิเลสใดๆก็หยุดไป แต่เดี๋ยวนี้ทำไม่ได้ ทำอย่างนี้ทำไม่ได้ เพระมันไม่ได้ฉลาดมาแต่ในท้อง มันไม่ได้รู้เรื่องอะไรมาจากในท้อง เอาความโง่มาเต็มที่ พอไม่ได้รับอารมณ์ก็เกิดความรู้สึกอย่างนี้ ตัวกู ตัวกู เกิดขึ้นเต็มไปหมดในจิตใจของทารก ก็ค่อยโตเกิดขึ้นตามลำดับ ที่มันมีเกิดต่อไปนั่นมันมีความรู้สึกว่าตัวตนหรือตัวกู สิ่งอะไรที่เข้ามาเนื่องกันกับตัวกูหรือตัวตน มันก็เกิดเป็นของตนขึ้นมา ของกูขึ้นมา
ตัวตน ตัวตน เรียกว่า “อัตตา อัตตา” ที่เข้ามาเป็นของตนเรียกว่า “อัตนียา อัตนียา” คำนี้แปลว่าเนื่องด้วยตน “อัตตา”แปลว่าตน “อัตนียา” แปลว่าเนื่องด้วยตน เมื่อมีตนแล้วมันต้องมีของเนื่องด้วยตนแหละ แล้วมันก็เกิดความรู้สึกอันที่สองว่าของตนหรือของกู เช่นว่าได้รับความอร่อย เกิดความรู้สึกว่ากูอร่อย แล้วมันความรู้สึกต่อไปว่าความอร่อยนั้นของกู อร่อยนั้นของกู แล้วอะไรๆที่มาทำให้อร่อยก็เป็นของกูไปด้วย ฉะนั้นสิ่งที่เนื่องด้วยตนมันก็เป็นของตนหมด อะไรก็ตามที่มันสัมผัสได้ กระทั่งที่มันรู้สึกมากขึ้นๆ บิดามารดา พ่อของกู แม่ของกู เรือนของกู อะไรของกู มันเป็นของกู จึงเต็มไปด้วยตัวตนและของตน
นี่ถ้าเรียนเรื่องนี้ก็คือรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทอย่างที่พูดมาแล้ว ตาเห็นรูปเกิดจักษุวิญญาณ หู จมูก ลิ้น ก็เหมือนกัน เมื่อได้คู่ของมันแล้วก็เกิดวิญญาณทั้งนั้น มันก็เลยเกิดเป็น ๓ เรื่องขึ้นมา ตา รูป จักษุวิญญาณ การเห็นทางตา เมื่อ ๓ อย่างนี้กำลังทำหน้าที่ด้วยกันอยู่ก็เรียกว่า “ผัสสะ” มีผัสสะแล้วไม่ต้องสงสัย มันมี “เวทนา” รู้สึกไปตามผัสสะ มีเวทนาอย่างไรแล้วมันก็เกิด “ตัณหา” ความอยากไปตามอำนาจของเวทนานั้น เวทนาพอใจก็อยากได้ เวทนาไม่พอใจก็อยากฆ่า อยากทำลาย เวทนาที่ยังไม่รู้ว่าอะไรก็สงสัย ก็ติดตามอยู่ เวทนาเกิดตัณหา พอมีความอยาก อยากแล้ว ตัณหานี่ก็เกิด “อุปาทาน” ยึดมั่นสิ่งที่อยาก จะเป็นของกู ตัวกูอยากว่าตัวกูนี่เรียกว่าอุปาทาน พออุปาทานนี้เกิดขึ้นในจิตแล้ว ก็หมายความว่าตัวกู ตัวกู ถือสิ่งที่เป็นตัวกูนั้นได้เกิดเป็นจุดตั้งต้น จุดตั้งต้นขึ้นมาแล้ว เรียกว่า “ภพ” ภพทวะ อุปาทานให้เกิดภพ การเกิดภพนี่ก็เหมือนตั้งครรภ์ ตั้งครรภ์เป็นเด็กขึ้นมาในครรภ์ เด็กก็โตๆๆขึ้นมา เดี๋ยวมันถึงเวลาคลอด ก็เรียกว่า “ชาติ” มีภพก็ต้องมีชาติ มีชาติก็เกิดเป็นตัวกูตัวตนขึ้นมาโดยสมบูรณ์ ไม่ใช่เกิดจากท้องแม่ มันเกิดจากท้องแม่มาแล้ว มันจึงเกิดอาการอย่างนี้ๆๆ จนเกิดชาติ ชาติ เป็นตัวกู พอมีตัวกูแล้วมันก็คว้าเอาอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นของกูหมด ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายก็ของกู อะไรก็ของกู ได้มาถูกใจก็ของกู ได้มาไม่ถูกใจก็ของกู ความทุกข์หนักมันก็เกิดขึ้น นี่เรียกว่าชาติ ชาติโดยสมบูรณ์ ต้องมาถึงตอนนี้ เพียงแต่คลอดออกมาจากท้องแม่นั้นเป็นชาติของคนไม่รู้ เป็นชาติของความรู้สึกธรรมดาของคนโง่คนไม่รู้ว่าชาติ ก็ชาติเหมือนกัน เพียงแต่เกิดมาจากท้องแม่ แต่ทางธรรมะถือว่ายังไม่สมบูรณ์ ทั้งรู้สึกว่าตามลำดับจนเกิดชาติอย่างที่ว่านี้ มีวิญญาณ มีผัสสะ มีเวทนา มีตัณหา มีอุปาทาน มีภพ แล้วก็มีชาติที่เป็นความรู้สึกคิดนึกยึดถือนี้ ชาตินี้เกิดเมื่อไหร่เรียกว่าการเกิดนั้นสมบูรณ์ แล้วก็มีความทุกข์ เพราะว่ามันเป็นการเกิดแห่งตัวกูของกู มันจึงเป็นทุกข์ นี่เรื่องมันมีอยู่อย่างนี้ เราก็ดูๆมาตลอดสายมันมีแต่ตัวกูซึ่งไม่ใช่ตัวกู เป็นตัวกูที่เกิดมาจากอวิชชาใน(นาทีที่ 30:05)
ตัวกูซึ่งไม่ใช่ตัวกู นี่คือคำว่าอนัตตา อนัตตา ในพระพุทธศาสนา แปลว่ามิใช่ตัวตน ตัวตนซึ่งมิใช่ตัวตน ตัวตนซึ่งมีอยู่ในความรู้สึกของทุกคนตามธรรมดานั้น มิใช่ตัวตน เราเลยได้ความรู้ที่ถูกต้องว่าอัตตา อัตตา มีตัวตน มันโง่ถึงสุดเฟือง นิรัตตา นิรัตตา ไม่มีอะไรเลยก็โง่สุดเหวี่ยง ตรงกลางนี้อนัตตา อนัตตา ตัวตนซึ่งไม่ใช่ตัวตน มีตัวตนแต่ไม่ใช่ตัวตน นี่คือฉลาดคือรู้ ถูกต้องเป็นสัมมาทิฐิ ไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตนหรือของตนแล้ว มันไม่มีความทุกข์ใดๆ มันไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นโดยความเป็นของตน ก็ไม่เกิดความทุกข์ใดๆ ไม่เกิดความร้อน ก็ถ้ามันมีตัวตนที่ยึดมั่นถือมั่น มันก็มีความร้อนเพราะมันมีกิเลส
กิเลสนี้จำกันง่ายๆก็เป็น ๓ ประเภท ๓ ความหมาย กิเลสประเภทบวก จะเอา จะยึดครอง จะมี จะเสวย จะสะสม ซึ่งก็ร้อนไปตามความต้องการที่จะมี จะเสวย จะสะสม เป็นกิเลสประเภทบวก เรียกว่า “โลภะ” บ้าง “ราคะ” บ้าง อีกหลายๆชื่อ หลายสิบชื่อ ทีนี้กิเลสอีกประเภทหนึ่งก็เป็นประเภทลบ คือไม่ต้องการ ไม่ได้ตามต้องการ ความรู้สึกเป็นลบ มันก็คิดจะทำลาย คิดจะต่อสู้ คิดจะฆ่าเสียหรือโกรธแค้น กิเลสประเภทลบ ก็ร้อนไปตามแบบลบ บวกก็ร้อนไปตามประเภทบวก ที่เท่ามันไม่แน่ มันยังโง่ไม่แน่ว่าจะเป็นบวกหรือเป็นลบ มันก็สงสัย กังวล ติดตามอยู่นั่นแหละ เรียกว่าประเภท “โมหะ” ติดตามอยู่เรื่อย ความโง่ ถ้าบวกมันจะเอา ถ้าลบมันจะทำลาย ถ้ามันไม่แน่ว่าบวกหรือลบมันก็ได้แต่สงสัยและติดตาม กิเลสนี่มีชื่อเป็นร้อยเป็นพันเลย แต่ถ้ามาจัดพวกจัดหมวดมี ๓ พวกเท่านั้น ก็เรียกสั้นๆว่า “โลภะ โทสะ โมหะ” บางทีก็เรียกว่า “ราคะ โทสะ โมหะ” มันมีกิเลสใดก็ตามมันก็เป็นไฟ ไปรัก ไปจะเอา มันก็มีไฟที่จะเอา ร้อนเพราะความอยากที่จะเอา ลบไม่อยากก็เดือดร้อนเพราะความไม่อยาก ความเกลียด ความอยาก... (นาทีที่ 33:14) ไปเสียให้พ้น ทีนี้ถ้าไม่บวกไม่ลบมันก็สงสัย ความสงสัยก็กัดกินหัวใจ ร้อนเหมือนกัน มันชื่อว่ากิเลสแล้วก็เป็นของร้อน “ราคะคิ” ไฟคือราคะ “โทสะคิ” ไฟคือโทสะ “โมหะคิ” ไฟคือโมหะ นั่นมันเป็นไฟทั้งนั้น แต่คนโง่นะ คนโง่ปุถุชนธรรมดา ถ้าได้อะไรมามันดีใจ มันไม่รู้สึกว่าเป็นไฟ ต่อเมื่อไม่ถูกใจมันจึงค่อยๆรู้สึกว่าเป็นไฟ แล้วความสงสัยความไม่แน่ใจ มันก็ไม่ค่อยจะรู้สึกว่าเป็นไฟ มันเป็นของแปลกที่ยังไม่รู้จัก ก็สนุกไปเรื่อยๆ มันจะเป็นไฟกันโดยมากก็เฉพาะที่เป็นโทสะ แต่มันเป็นไฟด้วยกันทั้งนั้น ราคะ รักจะเอา จะได้ จะมี จะยึดครอง มันก็ต้องเรียกว่าไฟเปียก เราไม่เรียกว่าไฟเย็นเพราะ เย็นมันเป็นความหมายของนิพพาน มันเป็นไฟเปียกแต่มันร้อน ของเปียกที่มันร้อน โทสะมันก็เป็นไฟแห้ง ไฟเผาไหม้ที่มันร้อน โมหะ โมหะ มันก็เป็นไฟมืด นี่ผมคิดเอาเองนะเพื่อจะอธิบายให้มันง่ายๆ เข้าใจง่ายๆ จำง่ายๆ มันมีไฟเปียกคือพวกราคะ โลภะ นี่ไฟเปียก แล้วก็โทสะ โกรธะ นี่ก็เรียกไฟแห้ง ไฟเผาไหม้ ไฟแห้ง โมหะ โมหะ ไม่รู้ อันนี้เป็นไฟมืด ในความหมายว่าเปียกก็ยุ่งยาก ในความหมายว่าแห้งก็ยุ่งยาก ในความหมายว่ามืดมันก็ยุ่งยาก ไม่มีทั้ง ๓ อย่างนั่นดี สบาย คือเย็นสบาย ไม่มีกิเลสคือไม่มีไฟ สิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะคือนิพพาน นิพพาน นิพพานจะไม่ให้แปลว่าเย็น จะแปลว่าอะไรเล่า นี่บาลีชัดๆ ราคะโย โทสะคะโย โมหะคะโย นิพพานัง ความสิ้นไปแห่งราคะ ความสิ้นไปแห่งโทสะ ความสิ้นไปแห่งโมหะ นี้เรียกว่านิพพาน มาถามว่า นิพพานคืออะไร พระพุทธเจ้าท่านก็ตอบอย่างนี้ ราคะโย โทสะคะโย โมหะคะโย นิพพานัง สิ้นไปแห่งราคะ สิ้นไปแห่งโทสะ สิ้นไปแห่งโมหะ นี่คือนิพพาน จงรู้จักนิพพานในฐานะที่ไม่มีไฟ ไม่มีไฟแล้วก็เย็นสบาย คือไม่ร้อนไม่หนาว
ทีนี้ที่ต้องรู้กันไว้เป็นความรู้ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ธรรมะหรือคำสอนหรือศาสนานี้มันเพิ่งเกิดทีหลัง มนุษย์เกิดเป็นมนุษย์ (นาทีที่ 36:58) ทำงาน ดำเนินชีวิตอะไรกันมาก่อนนานแล้ว มีคำพูดอยู่ครบทุกอย่างแล้วสำหรับเรื่องโลกๆ ที่พอมาเกิดธรรมะ เกิดคำสอน เกิดธรรมะที่ลึกขึ้น มันก็ไม่มีคำจะพูด ถ้าจะตั้งขึ้นมาใหม่ คนไม่ฟังถูก คนฟังไม่เข้าใจ จึงต้องไปยืมเอาคำที่เขาพูดกันอยู่แล้วมาให้ความหมายใหม่ เกิดเป็นเรื่องฝ่ายจิตใจฝ่ายศาสนาอะไรขึ้นมา แต่คำว่า “เย็น” นี่มันเป็นคำสูงสุดในทางศาสนาคือนิพพาน นิพพาน เพราะมนุษย์ได้รู้จักสิ่งที่เรียกว่า เย็น มาดีแล้วก่อนหน้า แต่ที่รู้จักมันต่ำไป กามารมณ์เป็นนิพพานนี่มันต่ำไป แต่ก็ยังเหลืออยู่กระทั่งบัดนี้ เอาสมาธิสมาบัติเป็นนิพพานก็สูงขึ้นมาก็จริงแต่ไม่ถึงที่สุด ครั้นเอาความไม่มีกิเลสทั้งหลายเป็นนิพพานนี้ก็ถูกต้อง กิเลสเป็นไฟเอาออกไปก็เป็นนิพพาน พระพุทธเจ้าท่านก็ได้ใช้คำที่เขาพูดกันอยู่ก่อนนี้มาพูด แล้วก็ให้ความหมายเสียใหม่ที่ถูกต้องว่าเย็น เย็น เย็น นี้เย็นเพราะไม่มีไฟคือกิเลส เย็นเพราะกามารมณ์มันหลอกชั่วคราวไม่เอา เย็นเพราะสมาธิสมาบัติมาช่วยชั่วคราวไม่เอา เย็นแท้จริงเย็นตลอดกาลคือไม่มีกิเลส คือนิพพาน ทว่านิพพานในความหมายสุดท้ายมันจึงมาอยู่ที่เย็น เย็น เพราะไม่มีกิเลส เมื่อไม่มีกิเลสมันคือเย็น มันเป็นเอง ก็เย็นเอง มันทำขึ้นมาก็เย็น ก็ทำขึ้นมา แล้วทำให้ถึงที่สุดๆ ก็เย็นถึงที่สุด
สำหรับคำที่พูดกันอยู่ตามธรรมดาของชาวบ้านชาวเมืองนั้น พูดอยู่ในบ้านเหมือนคนธรรมดาพูด เด็กเล็กก็พูด คำนี้แหละ นิพพาน นิพพาน มันหมายถึงเย็น เย็น เด็กบอกมาแต่ในครัวว่า เดี๋ยวรอเดี๋ยว ข้าวต้มยังไม่เย็นคือยังไม่นิพพาน ข้าวต้มยังไม่นิพพาน รอให้นิพพานแล้วค่อยมากินกัน เรียกว่าไฟดับลงไป เรียกว่าไฟมันนิพพาน ถ่านไฟแดงๆเย็นลงไป ดับลงไป ไฟดำลงไป ไฟเย็นสนิทเรียกว่ามันนิพพาน อะไรร้อนๆ ร้อนๆ อยู่ทำให้มันเย็นลงเรียกว่าทำให้มันนิพพาน กระทั่งว่าช่างทอง ล้อมทอง ร้อนจัดเอาน้ำลดให้เย็นลงก็เรียกว่าทำให้มันนิพพาน คำว่า นิพพาน นิพพานมันใช้อย่างนี้ ใช้ในครัวใช้ในตามบ้านเรือน ใช้ในกิจการงานอะไรที่ทำของร้อนให้เย็นก็เรียกว่านิพพาน เลยขึ้นมาถึงสัตว์เดรัจฉานที่ดุร้ายอันตราย ถึงเป็นถึงตาย จนช้าง ควาย ของอยู่ในป่า อันตราย เอามาฝึกๆฝึกๆจนเชื่องเหมือนกับแมว หมดอันตราย นี่ก็เคยใช้คำว่าทำให้มันนิพพาน ที่มันเย็นจากอันตราย คำว่านิพพานใช้อยู่ก่อนในชาวบ้านประชาชน ก็นำมาใช้ในทางศาสนาหมายถึงก็หมดไปคือกิเลส นิพพานจึงแปลว่าเย็น
นิพพานในตัวจริงความจริงที่อยู่ในจิตใจของมนุษย์ นิพพานที่มีอยู่ในจิตใจของมนุษย์มีอย่างเดียว มีอย่างเดียว คือเย็นเพราะไม่มีไฟคือกิเลส ส่วนนิพพานในโรงเรียน นิพพานในห้องเรียน ในบาลี ในอัฐกถาที่เล่าเรียนมีหลายสิบชนิด คุณช่วยจำไว้อย่างนี้ก็แล้วกัน นิพพานแท้จริงในหัวใจมนุษย์มีอย่างเดียวคือเย็นเพราะไม่มีไฟคือกิเลส ส่วนนิพพานในห้องเรียนมีหลายสิบชนิด ไปดูเอาเอง ขี้เกียจเอามาพูด เสียเวลา มันหลายสิบชนิด แม้แต่คำว่า “อชรา” ไม่รู้จักชราอย่างนี้ก็เอามาเป็นชื่อของนิพพาน “ไม่สิ้นสุด”อย่างนี้ก็เอามาเป็นชื่อของนิพพาน คำว่า นิพพาน นิพพานในห้องเรียนเป็นบาลี อัฐกถาหลายสิบชนิด นิพพานแท้จริงในหัวคนในจิตใจคนมีอย่างเดียวคือเย็นเพราะไม่มีไฟคือกิเลส สนใจแต่นิพพานแท้จริงในหัวใจคนอย่างเดียวก็ได้ คือเย็นเพราะไม่มีกิเลส ส่วนนิพพานในห้องเรียนหนังสือมีอีกหลายสิบชนิดก็เก็บไว้ในตู้ ในคัมภีร์ ในห้องเรียน จงมาตั้งอกตั้งใจ เย็นแท้จริง เย็นในจิตใจเพราะไม่มีไฟคือกิเลส แล้วก็เข้าใจแล้วก็ปฏิบัติให้ได้ ถ้าได้ก็จะได้รับผลเป็นความเย็น แล้วก็พูดกันมาแต่วันก่อนแล้วก็เรียกว่าต้องเรียนเรื่องปฏิจจสมุปบาท ว่าความทุกข์หรือความร้อนเกิดขึ้นมาอย่างไร แล้วเราจะทำให้มันสิ้นสุดลงไปได้อย่างไร ก็ขอให้รู้และให้ทำให้ได้ จะได้รับผลคุ้มค่า คุ้มค่าที่ลงมือทำ คุ้มค่าของชีวิตที่ได้เกิดมาได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับก็คือ นิพพาน นิพพาน นิพพาน ดังที่ได้กล่าวแล้ว
ทีนี้ก็มาดูถึงตัวการปฏิบัติ ตัวการปฏิบัติ โดยเฉพาะเราใช้ระบบปฏิบัติที่เรียกว่า “อาณาปานสติภาวนา” ที่อื่นเขาจะใช้ระบบอื่นชื่ออื่นก็ตามใจเขา เป็นเรื่องของเขา ใช้ชื่ออื่นก็ได้ถ้าความหมายมันยังเป็นอันเดียวกันก็ใช้ได้ แต่เราใช้คำว่า อาณาปานสติภาวนา แปลว่าทำการเจริญ ทำจิตให้เจริญ กำหนดสิ่งที่ควรกำหนดอยู่ทุกครั้งที่หายใจเข้าออก กำหนดสิ่งที่ควรกำหนดอยู่ทุกครั้งที่หายใจเข้าออก คือสิ่งที่ควรกำหนดมีอะไรบ้าง มันมีมากๆ แล้วมีตามลำดับๆสูงขึ้นไป เป็นกำหนดแต่สิ่งที่เป็นเบื้องต้นที่สุด ที่เรียกว่าง่ายที่สุดก็ได้ ไปตามลำดับยากขึ้นๆๆจนอันสุดท้าย แล้วเราก็พบกันกับพระนิพพาน คือกำหนดพระนิพพานนั่นแหละเป็นอารมณ์ เบื้องต้นที่สุดก็กำหนดลมหายใจนั่นเอง กำหนดลมหายใจอยู่ทุกครั้งที่หายใจ กำหนดลมหายใจอยู่ทุกครั้งที่หายใจ ยาวกำหนดว่ายาว สั้นกำหนดว่าสั้น กำหนดลมหายใจคือสิ่งแรกที่กำหนด ต่อมาก็กำหนดลมทั้งปวง คือร่างกายกับลมหายใจนี่ กายลมกายเนื้อ กายทั้งปวงคือกายลมกายเนื้อ มันกำหนดอยู่ที่กาย กายลมกายเนื้อทุกครั้งที่หายใจ ต่อมาเป็นขั้นที่ ๔ กำหนดความระงับๆแห่งกายทั้งปวง แห่งกายกรรมฐานเครื่องปรุงแต่งกาย คือลมหายใจระงับ แล้วร่างกายระงับ กำหนดอยู่ที่ความระงับ มันไม่เหมือนกันนะ หมวดแรก ๔ ขั้น มันไม่เหมือนกัน มันเหมือนกันแต่ทุกครั้งที่หายใจ แต่สิ่งที่ถูกกำหนดนั้นมันต่างกัน อันแรกกำหนดลมหายใจยาวอยู่ทุกครั้งที่หายใจ กำหนดลมหายใจสั้นอยู่ทุกครั้งที่หายใจ กำหนดกายทั้งสองกายอยู่ทุกครั้งที่หายใจ กำหนดกายสังขารที่ระงับอยู่ทุกลมหายใจ ก็เลยเป็น ๔ พอมาหมวดที่ ๒ เวทนา เวทนา ก็ได้กำหนดเวทนาหยาบ ปีติเรียกว่าเวทนาหรือความสุขที่หยาบ กำหนดปีติ ต่อมาคือกำหนดเวทนาที่ละเอียดคือสุข สุข ปีติปะฏิสังเวที สุขะปะฏิสังเวที จิตตะสังขาระปะฏิสังเวที ปัสสัมภะยัง จิตตะสังขารัง นี่ก็กำหนดทุกขเวทนาที่หยาบคือปีติ กำหนดสุขเวทนาที่ละเอียดคือสุข กำหนดจิตสังขารคือการที่เวทนาปรุงแต่งจิต เวทนาปรุงแต่งจิต ก็กำหนดตามที่จิตตะสังขารถูกระงับๆลง จิตก็ระงับลง ความคิดก็ระงับลง ก็เป็น ๔ อย่างอีกเหมือนกัน หมวดที่ ๒ กำหนด ๔ อย่าง หมวดที่ ๓ เป็นเรื่องจิตก็กำหนดจิต เป็น ๔ ขั้นตอน กำหนดจิตทั้งปวงเป็นอย่างไรบ้าง กำหนดจิตที่มันทำจิตให้ตั้งมั่น ทำจิตให้ปีติปราโมทย์ก่อน แล้วก็ทำจิตให้ตั้งมั่น แล้วก็ทำจิตให้ปล่อยวาง เป็น ๔ ลักษณะของจิตอยู่ทุกครั้งที่หายใจเข้าออก ก็มี ๔ ขั้น ๔ อย่าง ๔ อารมณ์ พอมาหมวดสุดท้ายเรื่องธรรมะ กำหนดอนิจจัง กำหนดมีราคะ กำหนดนิโรธะ กำหนดปฏินิสสัคคะ ถ้าท่านไม่สนใจไม่รักก็ยุ่ง รำคาญ ยุ่งยากสารพัด โดยไม่สนใจไม่เรียนไม่ศึกษา ไม่ปฏิบัติ ก็ตามใจ มันก็ไม่ต้องรู้กัน แต่ถ้าสนใจที่จะรู้มันจะดีมาก
เอาแต่หมวด ๔ นี้ก็วิเศษแล้ว เห็นความไม่เที่ยงของสิ่งที่ไม่เที่ยงอยู่ตลอดเวลา ไม่เที่ยงไปเสียทุกอย่างนอกจากพวกอสังขตะคือนิพพาน นอกนั้นไม่เที่ยง ร่างกายไม่เที่ยง จิตใจไม่เที่ยง เวทนาอารมณ์อะไรไม่เที่ยง เป็นความไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง มันก็หายโง่ มันก็หายโง่ คือไม่ยึดมั่นถือมั่นให้เป็นตัวกูของกูดังที่กล่าวแล้ว ถ้าเด็กๆในท้องมันมีความรู้อันนี้มาแต่ในท้อง เกิดออกมามันก็ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ทีนี้มันไม่มี ไม่มีความรู้เรื่องนี้มาแต่ในท้อง มันก็มายึดมั่นถือมั่นเต็มไปหมด แล้วมันจะคลายความยึดมั่นถือมั่นต่อเมื่อเห็นความไม่เที่ยง มันจึงยกความไม่เที่ยงขึ้นมาก่อน เห็นความไม่เที่ยงของสิ่งทั้งปวง ตามที่จะเห็นได้เท่าไรๆ ทุกอย่างก็ยิ่งดี พอเห็นความไม่เที่ยงของสิ่งที่เคยยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูว่าของกูแล้วมันก็คลาย คลายความยึดมั่นว่าตัวกูว่าของกูต่อสิ่งนั้นๆ นี่เรียกว่าวิราคะคลายออกจางออก ก็เห็นความไม่เที่ยง เพราะเห็นความไม่เที่ยงจึงทำให้เกิดวิราคะ ที่เคยยึดมั่นถือมั่นนั่นเขม็งมันก็คลายออกจางออก ทีนี้ถ้ามันคลายออกจางออกอยู่เรื่อยไปมันจะเป็นอย่างไรเล่า รู้ได้เองมั่ง มันก็หมดสิ้น ถ้ามันคลายออกจางออกอยู่เรื่อยไปมันก็หมด รู้จักหมด นี่ก็เรียกว่า “นิโรธะ” พอนิโรธะไม่มีความยึดมั่นถือมั่นดับหมดแล้ว ดับหมดแล้ว มาเรียกทับตอนท้ายอีกทีว่า “ปฏินิสสัคคะ” แปลว่าโยนคืนหมดแล้ว โยนคืนออกไปหมดแล้วที่เคยยึดมั่นถือมั่นอยู่ เดี๋ยวนี้โยนคืนโยนกลับไปหมดแล้ว มันก็จบ ๔ ขั้น ๔ หมวดละ ๔ ขั้นเป็น ๑๖ ขั้น
สิ่งที่ควรกำหนดทุกครั้งที่หายใจเข้าออกมีตั้ง ๑๖ อย่าง ๑๖ อย่างโดยหัวข้อ ในแต่ละหัวข้อก็แยกรายละเอียดได้อีกมากมาย นับไม่ไหว ก็เอาแต่หัวข้อๆที่สำคัญมันก็ ๑๖ อย่างแล้ว นี่พระพุทธเจ้าท่านแนะวิธีที่จะดับทุกข์ด้วยการเจริญอาณาปานสติ มีสติสัมปชัญญะ มีความเป็นสมาธิเพียงพอ เพียงพอที่จะไม่ให้โง่ ไม่ให้โง่ว่าไม่มีอะไรเป็นตัวตน ไม่เอาความบวกเป็นตัวตนบวก ไม่เอาความลบเป็นตัวตนลบ มันก็ไม่มีตัวตน มันก็ไม่มีความทุกข์ ขอให้พวกเราได้รับประโยชน์อันนี้ คือมีความรู้ข้อนี้ แล้วปฏิบัติข้อนี้ แล้วก็ได้รับผลของการปฏิบัติข้อนี้ ก็จะไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วพบกับพระพุทธศาสนา
ถ้ามันไม่รู้อะไรมันก็ต้องเรียกว่าโง่เท่าเดิม โง่เท่าเดิม โง่เท่าเดิมมันก็คือเสียชาติเกิด พูดอย่างนี้กันให้รู้แล้วรู้รอดไปว่ามันเสียชาติเกิดมา มันต้องรู้อะไรมากขึ้นๆๆ จึงจะไม่เสียชาติเกิด มาบวชรู้เท่าไรสึกกลับออกไปโง่เท่าเดิม ลองคิดดูสิว่ามันจะเป็นอย่างไร มันจะเป็นอย่างไร ถ้ามาบวชรู้เท่าไรมาสึกกลับออกไปก็โง่เท่าเดิม คำว่า “โง่เท่าเดิม” นั้นมันเสียหายมาก เสียหายเหนือประมาณ เสียหายชนิดบอกไม่ถูก มันต้องฉลาดขึ้นทุกวัน ฉลาดขึ้นทุกวัน ฉลาดขึ้นทุกวัน อย่าโง่เท่าเดิม ให้มีความฉลาดขึ้นทุกวัน แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน มันก็ฉลาดขึ้นทุกวันๆ มันผ่านชีวิตมาในลักษณะใหม่ๆๆ มันก็ฉลาดๆ อายุมากมันก็ฉลาดมาก มันไม่โง่เท่าเดิม ถ้าโง่เท่าเดิมนี้ก็ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไร มันทำอะไรไม่ได้ มันโง่เท่าเดิม เด็กคลอดออกมาจากในท้อง แล้วไม่ได้มีความรู้อะไรเพิ่มขึ้น มันจะเป็นอะไรก็ไม่รู้ จะเป็นก้อนหิน จะเป็นอะไรก็ไม่รู้
มันต้องฉลาดขึ้นทุกครั้งที่สัมผัสอารมณ์ สัมผัสอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ๖ ทาง มันได้สัมผัสอารมณ์ทางไหนก็ตามมันก็ฉลาดขึ้นเกี่ยวกับอารมณ์นั้น ฉลาดในแง่ไหนก็ตาม สัมผัสในแง่ไหนก็ตาม ก็ฉลาดยิ่งขึ้นไปในแง่นั้น แล้วมันจะฉลาดทุกอารมณ์ ทุกแง่ทุกมุมของอารมณ์ ก็รู้ความจริงของชีวิต รู้ความจริงของชีวิต ไม่ดำเนินชีวิตอย่างผิดพลาด ก็ไม่เกิดความทุกข์ คือถ้ามันถูกเรื่องกับของธรรมชาติ มันก็ไม่เกิดความทุกข์ นี้มันโง่ไปเอาของธรรมชาติมาเป็นของกู ของมีอยู่ตามธรรมชาติเอามาเป็นของกูมาเป็นตัวกู เช่น ธาตุทั้งหลายที่เราพูดเมื่อวานก็มีอยู่ตามธรรมชาติ เอามาเป็นของกู เกิดเป็นอายตนะขึ้นมาก็เอามาเป็นของกู อารมณ์อะไรเกิดขึ้นมาจากอะไรก็เอามาเป็นของกู เอาเบญจขันธ์ที่เกิดตามธรรมชาติมาเป็นของกู แล้วมันก็ได้เป็นทุกข์ ตลอดกระแสของปฏิจจสมุปบาทเอาเป็นของกูหมด เอาอวิชชาเป็นของกู เอาสังขารเป็นของกู วิญญาณเป็นของกู นามรูปเป็นของกู อายตนะเป็นของกู ผัสสะเป็นของกู เวทนาเป็นของกู ตัณหาเป็นของกู อุปาทานเป็นของกู ภพเป็นของกู ชาติเป็นของกู อะไรๆเป็นของกู นี่ก็มีความทุกข์เหลือประมาณ
พอโง่ โง่ก็หมด มันก็หมด ก็ถึงที่สุดแห่งความโง่ ถ้าฉลาด ฉลาดก็เป็นที่สุดแห่งความฉลาด ไม่เอาอะไรมาเป็นของกูหรือเป็นตัวกู มันก็ไม่เกิดไฟราคะ โทสะ โมหะ นี่คือเย็น เย็น เย็น เพราะไม่มีไฟ เพราะไม่มีไฟ ทำไมไม่มีไฟ เพราะมันไม่โง่ มันไม่โง่ ไฟมันไม่อาจจะเกิด มันไม่ก่อไฟ มันไม่ติดไฟ แล้วมันก็สามารถป้องกันไม่ให้ไฟเกิด นี้เรียกว่า “ดับทุกข์” จงจำไว้ให้ดีๆ ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าดับทุกข์ ดับทุกข์นั้น ไม่ใช่ดับที่ตัวทุกข์ ไปดับที่ต้นเหตุแห่งความทุกข์ ดับทุกข์คือยุ่ง มันจะดับไม่ได้เสียเลย แต่ถ้าไปดับที่ต้นเหตุแห่งความทุกข์มันจะดับได้ ในอริยสัจ ๔ อะไรเป็นทุกขนิโรธ ดับตัณหาไม่ใช่ดับทุกข์ ดับตัณหาคือดับต้นเหตุแห่งความทุกข์ ฉะนั้นคุณจำไว้เป็นหลักตลอดทางเลยว่า จะดับปัญหาต้องดับที่ต้นเหตุแห่งปัญหา จะแก้ปัญหาอะไรจะดับความทุกข์อะไรก็ให้ดับจัดการที่ต้นเหตุของมัน จะดับที่ตัวเหตุตัวผลแล้วมันก็ไม่มีปัญหา เป็นหมาโง่ เมื่อวานพูดกันทีแล้วว่าหมาโง่ มันมัวกัดที่ปลายไม้ ที่คนเขาแหย่ มันกัดที่ปลายไม้ ถ้ามันเป็นเสือหรือราชสีห์ มันกระโจนมากัดที่คนที่ถือไม้ มันไม่มัวกัดที่ปลายไม้ นี่หมาโง่ก็มากัดที่ปลายไม้ ที่ปลายเหตุ แต่ถ้าราชสีห์ก็กัดที่ต้นเหตุคือคนที่ถือไม้ นี่เราจะเป็นหมาหรือเป็นราชสีห์กันดีก็ไปคิดเอาเอง ถ้าจัดการที่ต้นเหตุก็เป็นราชสีห์ ถ้ามัวแต่จัดการที่ปลายเหตุก็เป็นหมา ในโลกนี้นั้นจะมีมาก หมายถึงพวกเป็นหมาจะมีมากกว่าที่จะเป็นราชสีห์ ให้จัดการที่ต้นเหตุ นักการเมืองที่มันแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ก็เพราะมันมัวแต่ไปจัดการที่ปลายเหตุ นักการเมืองที่ฉลาดมันจัดการที่ต้นเหตุ มันก็แก้ไขปัญหาอะไรได้ อย่างนี้เป็นกันทั้งโลก ไม่ใช่เป็นเฉพาะประเทศไทยหรอก เป็นกันทั้งโลก ก็จัดการเสียที่ต้นเหตุ ก็จะดับผลได้ ไปจัดการกับความทุกข์ก็เลอะเทอะเปล่า ถ้าไปจัดการที่ต้นเหตุของความทุกข์ ทุกข์ก็ดับไปโดยที่ไม่ยุ่งยากลำบากอะไรมากมาย นี่ก็ว่าเรื่องอริยสัจ กำจัดความทุกข์ที่ต้นเหตุของความทุกข์ แล้วผลก็ออกมาเป็นความเย็น เย็น เป็นนิพพานมีความหมายอย่างเดียวตามตัวเดิมๆของมันก่อนจะเกิดพุทธศาสนา
เขาใช้คำว่า “นิพพาน” นิพพานกันที่บ้านเรือนหมายถึงเย็น เย็น เย็น ยืมเอามาใช้เป็นคำในทางศาสนาก็คงความหมายเดิมว่าเย็น เย็น เย็น เย็น แต่มันเปลี่ยนเป็นเรื่องทางจิตใจ ก่อนนู้นมันเย็น เย็นแต่ทางวัตถุ วัตถุเย็น เดี๋ยวนี้มันเป็นเรื่องทางจิตใจ เย็น เย็น เย็น ก็เย็นทางจิตใจก็เป็นนิพพาน แปลว่าเย็น จงมีความเย็นทางจิตใจก็จะมีนิพพานตามมากตามน้อย น้อยก็ยังดีกว่าไม่มีเสียเลย แล้วก็มันมีเหตุที่ช่วยให้เย็น ชั่วคราวก็ได้ ชั่วเวลาก็ได้ ไม่เย็นตลอดไป เย็นชั่วคราวอย่างนี้ก็เรียกว่า “นิพพานชั่วคราว” เย็นชั่วคราว สามายิกนิพพาน “สามายิกะ” แปลว่า ชั่วสมัยสะมะยะ สะมะยะ สามายิกะ ชั่วสมัย คือนิพพาน นิพพานชั่วสมัย สามายิกะ แล้วมันก็มีเหตุสิ่งใดสิ่งหนึ่งบังเอิญเข้ามาทำให้เย็น เหตุที่ทำให้เย็นนั้นเรียกว่า องค์นั้นๆ องค์นั้นๆ “ตทังคะ” แปลว่าองค์นั้นๆ ตทังคนิพพาน ก็เย็นพระองค์นั้นๆ จะมีอารมณ์อะไรมาช่วยจิตใจไม่ให้เกิดกิเลส อันนั้นก็เป็นตทังคะ องค์นั้นๆ ที่นี้ว่าเราเจริญสมาธิได้ สมาธิก็เป็นองค์นั้นๆที่ทำให้จิตใจเย็น มีสมาธิชั้นไหนก็ได้ สมาธิชั้นนั้นอันนั้นจะเป็นองค์นั้นๆคือตทังคะ เป็นองค์ที่ทำให้เกิดความเย็น เย็นชั่วเวลาชั่วขณะก็ได้ เย็นตลอดไปก็ได้ แต่ว่าความเย็นทุกชนิดต้องรู้สึกด้วยจิตใจของตนเอง รู้สึกด้วยจิตใจของตนเอง เลยเรียกว่า “สันทิฐิกนิพพาน” นิพพานเป็นสิ่งที่จะต้องรู้สึกด้วยจิตใจของตนเอง ด้วยจิตใจของตนเอง
บทพระพุทธ พระธรรมคุณนั่นแหละแสดงเรื่องนิพพานได้ ที่คุณสวดอยู่ทุกวัน สวาขาโต พระคะวะตา ธัมโม ธรรมะนี้คือพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว เปลี่ยนเป็น สวาขาตัง พระคะวะตา นิพพานัง สวาขาตัง นิพพานัง พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว อะกาลิโก สันทิฐิโก เป็น สันทิฐิกัง คนนั้นเห็นได้ด้วยตนเอง อะกาลิโก เป็น อะกาลิกัง ไม่จำกัดเวลา เอหิปัสสิกัง เอหิปัสสิโก เป็น เอหิปัสสิกัง ควรอย่างยิ่งที่จะเรียกกันมาดู เรียกกันมาทำความเข้าใจ โอปะนะยิโก เป็น โอปะนะยิกัง ควรน้อมนำเข้ามาใส่ตน ให้มีในตน ปัจจัตตังวิญญูหิ เวทิตัพพัง เวทิตัพโพ เป็น เวทิตัพพัง เป็นสิ่งที่วิญญูชนจะรู้ได้เฉพาะตน เฉพาะตน อย่างนี้ก็อธิบายกันได้กับคำว่า ธัมโม นิพพานัง ให้มันเป็นอย่างนั้น ให้มันเป็นอย่างนั้น
ทีนี้ที่มันสำคัญที่สุดที่อยากให้รู้กันไว้บ้างว่า ชีวิต ชีวิตของเราที่มันรอดอยู่ได้แต่ละวันๆๆนี้ เพราะมันถูกหล่อเลี้ยงอยู่ด้วยนิพพาน ซึ่งเป็นของเย็น เหมือนต้นไม้ทุกต้น มันถูกหล่อเลี้ยงอยู่ได้ด้วยความเย็นความชื้นที่เป็นน้ำ จึงอยู่มีชีวิตรอดอยู่ได้ ถ้ามันไม่มีความเย็นความชื้นที่เป็นน้ำหล่อเลี้ยงเลย ต้นไม้เหล่านี้มันตายหมด ไม่มีเหลือสักต้นเดียว นี่มันหล่อเลี้ยงอยู่ได้ด้วยความเย็น ต้นไม้มันอยู่ได้ ชีวิตนี้ก็เหมือนกัน ต้องมีความเย็นหล่อเลี้ยงอยู่พอสมควรมันจึงจะมีชีวิตอยู่ได้ มิเช่นนั้นมันจะต้องตาย เพราะนี้ก็หมายความว่า บางเวลาในบางขณะไม่มีกิเลส ชีวิตของเราไม่ได้มีกิเลสทุกๆนาทีตลอด ๒๔ ชั่วโมง มันมีนาทีหรือมีชั่วโมงที่กิเลสไม่ได้เกิด ตอนนั้นมันเย็น ก็หล่อเลี้ยงชีวิตให้เย็นแล้วก็อยู่ได้ ถ้าสมมตินะว่ากิเลสเกิดทุกนาทีตลอด ๒๔ ชั่วโมง ตายแล้ว อย่างนั้นเป็นบ้าแล้ว ตายแล้ว แล้วก็จะต้องตายด้วย จะต้องเป็นบ้าและจะต้องตายด้วย ถ้ากิเลสมันเผาลนอยู่ทั้ง ๒๔ ชั่วโมง
ใน ๒๔ ชั่วโมงนั้นมันมีเวลาที่มันว่าง ว่างจากกิเลสโดยธรรมชาติ ตามธรรมชาติอยู่มาก ถ้าเราเป็นนักปฏิบัติจะไปทำให้มันว่างจากกิเลสได้มากขึ้นไปอีก มากขึ้นไปอีก ชีวิตนี้มันก็รอด เย็น เย็น เย็น ถ้าเต็มๆขนาดแท้จริงก็เป็นพระนิพพาน ถ้ายังไม่เต็มขนาด มีได้ตามขนาดในบ้านในเรือนในชีวิตประจำวัน ถ้าจะเรียกเป็นนิพพานก็ต้องเรียกว่าโดยอ้อม โดยอ้อม นิพพานชั่วขณะนี้โดยอ้อม แต่ว่ามันจะไม่ได้ยินนิพพานชั่วขณะหรือโดยอ้อม เพราะมันมีคำอื่นเข้ามาแทน ได้แก่ คำว่า “นิพพุติ นิพพุติ นิพพุติ” เป็นที่น่าเสียดายที่ในภาษาไทยนั้นไม่ค่อยจะใช้ แต่ถ้าเป็นภาษาบาลีในครั้งพุทธกาลนู้นแล้วมันก็ใช้ ใช้ ใช้ นิพพุติ นิพพุติ นิพพุโต นิพพุตา ผู้ชายเย็นนี้ก็นิพพุโต ผู้หญิงเย็นนี่ก็นิพพุตา ตัวความเย็นเรียกว่า นิพพุติ นิพพุติ แปลว่าเย็น คือเย็นอกเย็นใจ ให้พรกันว่าให้มีนิพพุติเถิด อานิสงส์ศีลที่บอกทุกคราวที่ให้ศีลก็ใช้คำนี้ แต่พระผู้ให้ศีลมันก็ไม่รู้ มันว่าหลับตาว่าไปอย่างนั้น สีเลนะสุคะติง ยันติ สีเลนะ โภคะสัมปทา สีเลนะ นิพพุติง ยันติ พระที่ว่ามันก็ไม่รู้ว่าว่าอะไร มันก็ว่าส่งเดชนะ ใครไปให้ศีลก็จะคงเป็นอย่างนั้น ตัสมา สีลัง วิโสธเย เพราะเหตุเช่นนั้น ท่านจึงมีศีลที่บริสุทธ์เถิด นิพพุติ นิพพุติ เอามาพูดกันว่าเป็นผลของศีล คือชีวิตเย็น ชีวิตเยือกเย็น ชีวิตเย็น อย่างนิพพุติ นิพพุติ ก็นิพพานชั่วคราว นิพพานชั่วขณะ นิพพานในบ้านในเรือน นิพพานตามธรรมดาสามัญ เรียกว่า นิพพุติ แต่ก็คือนิพพานชั่วขณะ นิพพานบางระดับ นิพพานชั่วคราว เรียกว่า นิพพุติ ก็คือนิพพาน นิพพานจะต้องแปลว่าเย็นเสมอ แล้วก็กำจัดความร้อนออกไปเหลือเป็นความเย็น ไม่ร้อนและไม่หนาวคือความสบาย
นี่อยากจะพูดวันนี้ก็พูดเรื่องสุดท้ายของพรหมจรรย์คือ นิพพาน แล้วก็บอกให้รู้ว่าเป็นคำที่เขาเข้าใจกันไม่ค่อยจะถูกต้อง เพราะเขาก็ไปเรียนในห้องเรียนซึ่งมีหลายสิบอย่างนัก นิพพานจริงในหัวใจคนมีเพียงอย่างเดียวคือ เย็น ที่คนเขียนทำนองล้อ ทำนองด่าผมในหนังสือพิมพ์บางฉบับ ไปหาอ่านเอาเอง เราออกคำโฆษณาว่านิพพานสำหรับทุกคน ทุกคนนิพพานได้ เมื่อใดไม่มีกิเลสรบกวน วันนั้นเป็นนิพพานของคนนั้น เพราะนิพพานมีสำหรับทุกคน จงระมัดระวังให้ดี จัดสรรให้ดี ให้มีโอกาสที่จะเย็น เย็น เขาหาว่าพูดโกหก พูดหลอกลวง พูดเป็นมิจฉาทิฐิอะไรไปเรื่อย คุณไปหาอ่านเอาเอง ผมก็ยังคงยืนยันว่านิพพานจะต้องแปลว่าเย็น แล้วเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิตของมนุษย์ให้รอดอยู่ได้ ไม่ไหม้ ไม่ตายเพราะความไหม้ เพราะมันมีความเย็นเข้ามาหล่อเลี้ยงเป็นขณะๆ เมื่อใดไม่มีกิเลสรบกวนอยู่ในจิตใจ เมื่อนั้นเราอยู่ด้วยนิพพานชั่วขณะๆ เรียกว่าสามายิกนิพพาน ดังที่กล่าวแล้ว ขอให้จำเรื่องนี้ไว้ตลอดชีวิต ให้มันเย็นมากขึ้น เย็นมากขึ้น เย็นมากขึ้น มันเป็นชีวิตเย็น ถ้าเป็นชีวิตเย็นแล้วมันจะเป็นประโยชน์ ถ้ามันเป็นชีวิตร้อนแล้วมันจะเอาเวลาไหนไปทำอะไรใครได้ มันร้อน มันร้อน ต้องลดน้ำอยู่เสมอ จะไปทำอะไรได้ มันเย็นแล้วจึงจะมีโอกาสทำประโยชน์ ทำประโยชน์ ขอให้เรามีชีวิตเย็นเถิด เราจะทำประโยชน์ส่วนตัว ส่วนตัวเรา หน้าที่ของเราได้ดี เราจะทำประโยชน์ผู้อื่นไกลออกไปได้ดี ก็มีประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น
คำว่า “ประโยชน์” นี้ ขอให้จัดไว้สัก ๓ ความหมายเถิด คือประโยชน์ตนเองอย่างหนึ่ง และประโยชน์ผู้อื่นนอกจากตนอย่างหนึ่ง แล้วประโยชน์ที่มันเกี่ยวข้องกันแยกจากกันไม่ได้นี้อีกประโยชน์หนึ่ง เป็น ๓ ชนิด จงประกอบประโยชน์ ๓ ชนิดนี้ให้ถูกต้องแล้วมีอยู่เสมอ ประโยชน์ส่วนเราก็ทำ ประโยชน์ผู้อื่นก็ทำ ประโยชน์ที่มันเนื่องกันอยู่แยกกันไม่ได้ก็ช่วยกันทำ อย่างแรกเรียกว่า “อัตตัตถประโยชน์” ประโยชน์ตน อย่างที่สองเรียก “ปรัตถประโยชน์” ประโยชน์ผู้อื่น อย่างที่สามเรียกว่า “อุภยัตถประโยชน์” คือประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกัน ที่คุณสวดอยู่ทุกวัน มันมีคำสวดอยู่ทุกคราว คือสวดเวลาเทศน์วันเสาร์ จะพูดถึงประโยชน์ทั้งสามนี้อยู่ทุกวัน ถ้าไม่เข้าใจก็ไม่เข้าใจ ถ้าเข้าใจก็เข้าใจว่าเรามีประโยชน์อยู่ ๓ ประโยชน์ แล้วสำหรับเย็น ก็สามารถจะบำเพ็ญประโยชน์ ประโยชน์ตัวเอง ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกัน ถ้าเราไม่สงบเย็นแล้ว ประโยชน์ตัวเองก็ยากที่จะทำ คือมันร้อนเป็นไฟเสียแล้ว จะทำงานอะไรก็ทำไม่ได้ดี การที่จะทำงานอะไรได้ดี ศึกษาเล่าเรียนได้ดี ทำหน้าที่การงานในอาชีพได้ดีก็เพราะว่ามีจิตใจปกติ มีจิตใจเย็น เป็นปกติเพราะความเย็น ถ้ามันร้อนอยู่ด้วยกิเลสแล้วมันทำอะไรไม่ได้ เดี๋ยวนี้ คนมีกิเลสก็ทำอะไรไม่ค่อยได้ ถ้าเขาชนะกิเลสก็ทำได้ดี เป็นประชาชนก็ได้ เป็นนักการเมืองก็ได้ เป็นทหาร เป็นครู เป็นหมอ เป็นข้าราชการ ชนิดไหนก็ทำได้ดีทั้งนั้นถ้าชีวิตมันเย็นเป็นปกติ ขอให้พยายามให้มันเย็นเป็นปกติเท่าที่จะทำได้ ถ้าไม่ถึงที่สุดก็ให้มันมีเท่าที่จะทำได้ ถ้าถึงที่สุดก็เป็นพระอรหันต์ เป็นพระพุทธเจ้าไปก็ยิ่งทำได้มาก พระอรหันต์พระพุทธเจ้าท่านไม่อยู่เฉยๆทำประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะว่าชีวิตของท่านเย็น เย็น เป็นปกติ มันก็เป็นประโยชน์แก่ทุกคน ก็ไม่เสียทีที่เกิดมา ไม่เสียชาติที่เกิดมา สามารถจะทำประโยชน์สูงสุดเท่าที่มนุษย์มันจะทำได้
ทีนี้ก็ขอกล่าวเป็นเรื่องสุดท้ายว่าชีวิตนี้เป็นเสมือนหนึ่งเดิมพัน เดิมพันที่ธรรมชาติให้มาสำหรับพัฒนาหรือทำการค้าเอาเอง ทำการค้าเอาเอง เมื่อเราจะไปทำอะไร จะไปค้าขายก็ต้องมีทุนเป็นเดิมพัน แม้แต่จะไปเล่นการพนัน ชนไก่ กัดปลา ก็ต้องมีเงินจำนวนหนึ่งเป็นเดิมพันติดกระเป๋าไป เอาไปลงทุนสำหรับไปทำให้มันมากขึ้น นี่เรียกว่า เดิมพัน เดิมพัน ชีวิตนี้เป็นเสมือนหนึ่งเดิมพันเท่านั้น ไม่ใช่กำไร ยังไม่ใช่กำไร ใครจะหาว่าเป็นกำไรก็โง่ เป็นเดิมพันที่จะต้องเอามาลงทุน ลงทุนทำให้มันเกิดผลกำไรขึ้นมา ทว่าเชื่อพระเจ้า มีพระเจ้าเชื่อพระเจ้า พระเจ้าให้มาสำหรับเป็นเดิมพัน ถ้าไม่มีพระเจ้ามีธรรมชาติ ธรรมชาติมันให้มาสำหรับเป็นเดิมพัน ท่านจงเอามาลงทุนทำให้เป็นประโยชน์ ประโยชน์ ประโยชน์อันสูงสุดในชีวิตนี้ เป็นสิ่งที่ได้ใช้มันถูกต้อง ได้รับประโยชน์สูงสุดดังที่กล่าวแล้วว่ามันมีอยู่ ๓ อย่างด้วยกัน ถ้าทอดอะไรไม่รู้ไม่ชี้ มันก็คือโง่ที่สุด เดิมพันมันก็เสียเปล่า ไม่ได้ใช้มันก็ไม่เกิดประโยชน์ แล้วก็ไปใช้อย่างอื่นหมดไม่มีอะไรเหลือ จงถือว่าเป็นเดิมพันที่ต้องนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์คือพัฒนาๆให้ถูกต้องในความหมายของคำว่าพัฒนา พัฒนา คือเป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์ ไม่เพียงแต่ว่าหลับหูหลับตาทำไปให้มันยุ่งยากลำบาก อย่างนั้นไม่ใช่พัฒนาแม้มันจะมากขึ้นๆ มันก็ยุ่งยากลำบากนะ แม้จะทำอะไรได้มากมีเงินเยอะแยะแต่ถ้ามันร้อนมันยุ่งวุ่นวาย ไม่ใช่พัฒนา มันต้องเย็น เย็น เย็น เป็นสุข คนขอทานอาจจะมีจิตใจเยือกเย็นยิ่งกว่าเศรษฐีก็ได้ นี่ข้อนี้ควรจะนึกเอาไว้บ้าง ถ้ามีจิตเย็นก็คือถูกต้อง ถ้าไม่จิตใจเร่าร้อนมันก็ไม่ ไม่ใช่ ไม่ถูกต้อง ทว่าขอทานมันรู้จักทำจิตใจให้ถูกต้อง ก็เย็น แล้วมันจะเย็นกว่ามหาเศรษฐีในโลกก็ได้ มหาเศรษฐีในโลกมีการงานมากมีธุระมาก หิวกระหายอยู่ตลอดเวลา มันไม่เย็น แต่ขอทานมันเย็น เย็น แม้จะขอทานเขากินนี้ก็ทำชีวิตให้เย็น
นิทานเก่าๆจะเป็นของพวกจีน นิทานเก่าๆจะเป็นของพวกจีนเล่าๆกันมาว่าจีนเป็นชาติโบราณ เล่าว่ามีขอทานคนหนึ่งอาศัยอยู่ริมรั้วบ้านเขตบ้านของเศรษฐี คือมันปลูกกระท่อมอยู่ในบ้านของเศรษฐี แต่มันเป็นขอทาน กลางวันก็ไปขอทาน แล้วมันมีสมบัติคือซออยู่คันหนึ่ง พอมันกลับมาจากขอทาน กินข้าวกินน้ำเสร็จแล้วมันก็สีซอ สีซอทุกคืน ทุกวันทุกคืนที่เสร็จการงานการขอทาน เพราะมันมีความสุขเยือกเย็น นี่เผอิญวันหนึ่งมันไปขอได้มาก โดยบังเอิญได้มาก เป็นร้อยเป็นพันเหลือกินเหลือใช้ วันนั้นสีซอไม่ได้ สีซอไม่ได้ เงียบ สีซอไม่ได้ คือเป็นห่วงไม่รู้จะเก็บยังไง จะทำอย่างไรกับเงินจำนวนนี้ ไม่มีจิตใจที่จะสีซอ เศรษฐีก็ถามรุ่งเช้าว่า “เมื่อคืนทำไมแกไม่สีซอ ฉันได้ยินแกสีซอทุกคืนๆ เมื่อคืนทำไมไม่ได้ยินแกสีซอ” มันก็บอกอย่างนี้ มันก็บอกอย่างนี้ “เมื่อวานเผอิญพอขอเงินมาได้เกินธรรมดาตั้งร้อยตั้งพันเลย จิตใจมันยุ่งหมด สีซอไม่ได้” เศรษฐีก็เลยฉลาด เศรษฐีก็กลายเป็นคนฉลาดขึ้นมา คนขอทานมันบอกว่าอย่างนี้ นี่ผมอยากจะพูดว่าถึงแม้จะเป็นขอทาน มันก็มีจิตใจเยือกเย็นกว่าเศรษฐีก็เป็นได้
ถ้าเราเป็นคนยากจนทางวัตถุทางโลก เราก็เป็นคนมั่งมีในทางธรรมะในทางจิตใจก็ได้ แล้วจัดชีวิตให้เป็นไปในลักษณะเช่นนี้ คือเย็นมากขึ้น เย็นมากขึ้น เย็นมากขึ้น มีสมบัติแห่งความเย็นตามความหมายของคำว่า นิพพาน มีชีวิตเยือกเย็นแล้วก็เป็นประโยชน์ ถ้าพ่อบ้านมันเป็นคนเย็นแล้วมีเป็นประโยชน์ แล้วครอบครัวนั้นก็ไม่มีปัญหา ถ้าพ่อบ้านเป็นอันธพาล ไม่มีความเย็น ครอบครัวนั้นมันก็มีปัญหา แล้วมันจะล้มละลายด้วย เป็นผู้ที่เจียมตัวจะไปเป็นพ่อบ้าน จงศึกษาเรื่องนี้ไว้ให้ดีๆจะทำชีวิตให้เย็น ให้เย็น และเป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์ ทำงานสนุก ทำงานสนุก เป็นสุขตลอดเวลาที่ทำงาน แล้วเหงื่อมันก็ออกมาเป็นน้ำมนต์ไม่ใช่น้ำร้อน ถ้ามีกิเลสเหงื่อออกมาเป็นน้ำร้อน ทนไม่ได้หรอก แต่ถ้ามีธรรมะ ทำงานๆเหงื่อออกมาก็เป็นน้ำมนต์คือเย็น เย็น ฉะนั้นขอให้เรามีชีวิตอยู่ด้วยความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องทำความเย็น มีชีวิตเย็น ชีวิตเย็น ทำงานสนุกเป็นสุขตลอดเวลา นี่เป็นพรอันประเสริฐไม่ต้องใครให้ ทำเอาเอง พรแท้จริงทำเอาเองอย่างนี้
นี่หวังว่าคงจะมีความเข้าใจในเรื่องที่กล่าวมาแล้วนี้ พอที่จะสรุปเอาไปได้ว่าจะทำอย่างไร จะจัดการกับชีวิตนี้อย่างไร โดยหลักการใหญ่ๆก็ดำเนินชีวิตนี้ให้มันก้าวหน้า ลาสิกขากลับออกไปขออย่าโง่เท่าเดิม ขอให้มันมีความรู้อะไรเพิ่มขึ้นๆ อย่าโง่เท่าเดิม มันก็รอดแล้ว แล้วขอยุติการบรรยายด้วยการสมควรแก่เวลาชั่วโมงครึ่ง ขอให้จดจำเอาหัวข้อๆ เข้าใจให้ถูกต้องๆ แล้วปฏิบัติให้ตรงตามนั้นก็จะได้รับผลจากพระพุทธศาสนา ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วพบกับพระพุทธศาสนาเป็นแน่นอน ขอยุติการบรรยาย ขอปิดการประชุม