แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
*ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย อาตมาขอแสดงความยินดี ในการมาของท่านทั้งหลายสู่สถานที่นี้ ในลักษณะอย่างนี้ คือเพื่อแสวงหาความรู้ทางธรรมะเพื่อพัฒนาชีวิตของตน ให้เป็นไปจนถึงที่สุด
*ขอทำความเข้าใจเป็นพิเศษสักหน่อยว่า เรามาพูดกันในเวลาอย่างนี้มีเหตุผลอะไร เวลาเช้าอย่างเวลานี้ เป็นเวลาที่บานของดอกไม้ทั้งหลายส่วนมาก เป็นเวลาที่ดอกไม้ทั้งหลายส่วนมากมันบาน มันเป็นเวลาเหมาะสมที่จะบาน ความคิด ความนึก ความรู้สึกจิตใจของเราก็เบิกบานได้ง่ายในโอกาสเช่นนี้ จึงเลือกเอาเวลาอย่างนี้มาพูดกัน พระพุทธเจ้าก็ตรัสรู้ในเวลาอย่างนี้
*มันเป็นเวลาที่พร้อม ที่ Active น่ะ ที่มันจะคิด จะจำ จะรู้สึก จะเปลี่ยนแปลง ดังนั้นจึงเป็นการง่ายที่จะศึกษาสิ่งใหม่ๆ เขาเรียกอีกอย่างหนึ่งก็ว่าเวลาที่น้ำชายังไม่ล้นถ้วย ยังเติมอะไรลงไปได้อีกมากๆ ฉะนั้นจึงถือโอกาสมาพูดกันในเวลาอย่างนี้ แม้จะลำบากบ้างสำหรับบางคน ขอให้คิดดูเถอะว่ามันมีประโยชน์มากกว่า
*ในการที่จะศึกษาพุทธศาสนาที่ลึกซึ้งนั้น ขอให้เก็บความรู้สึกที่เป็นการเปรียบเทียบไว้เสียทีหนึ่งก่อน คืออย่าคิดว่าเป็นพุทธหรือเป็นคริสต์ เป็นพุทธอย่างนี้ เป็นคริสต์อย่างนี้ เก็บไว้เสียทีก่อน ขอให้ทำความเข้าใจว่าเราจะมาศึกษาสิ่งพิเศษ สิ่งเดียวคือเรื่องของธรรมชาติ หรือความจริงของธรรมชาติ ที่เราจะต้องนำเอามาใช้เป็นประโยชน์ให้ได้นี่ ขอให้ลืมการเปรียบเทียบทางศาสนาเสียโดยสิ้นเชิง
*ถ้าเราจะมองก็มองอย่างเป็นสิ่งเดียวกันเสียดีกว่า ชาวพุทธจะมองไปในทางที่ว่า การอ้อนวอนพระเป็นเจ้า ก็คือการพยายามปฏิบัติให้ถูกให้ตรงตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ธรรมชาติ ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ นั่นคือการอ้อนวอนพระเป็นเจ้า มีผลอย่างเดียวกัน
*สิ่งแรกที่เราจะต้องมองเห็นหรือรับรู้ก็คือว่า ชีวิตหรือปัญหาของชีวิต หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าความทุกข์ นี่มันเหมือนๆกันหมด ไม่ว่าจะเป็นคริสเตียน เป็นพุทธ เป็นอิสลาม เป็นฮินดู เป็นซิกซ์ อะไรก็ตาม ปัญหาชีวิตคือความทุกข์น่ะ เหมือนๆกัน อย่างเดียวกันแท้เลย เหมือนกับทุกคนเลือดแดงเหมือนกันหมด ไม่ยกเว้น คือการที่มีความรู้สึกว่าเป็นตัวตน แล้วก็พยายามทำตามความเห็นแก่ตน มีตัวตน เห็นแก่ตนนั่นแหละเป็นปัญหา ปัญหาชีวิตมันเหมือนกันหมดที่ตรงนี้ เราจึงใช้หลักการในการแก้ปัญหาชีวิตร่วมกันได้
*ดูให้ดีก็จะเห็นว่าเราต้องผ่านจุดจบหรือสูงสุดของชีวิตเหมือนกันหมด คือเราต้องการจะมีชีวิตชนิดที่เย็น Blissful และชีวิตที่เป็นประโยชน์ที่สุดด้วย คือ Useful ให้มันเป็น Blissful หรือ Useful ถึงที่สุด แล้วจะไม่มีอะไรที่จะเหลืออยู่เป็นปัญหา
*ชีวิตนี้มันเป็น Blissful ไม่ได้ Useful ไม่ได้ เพราะปัญหาเดียวกันคือความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัว มันทำให้ Blissful ก็ไม่ได้ Useful ก็ไม่ได้ เราจึงมีหน้าที่ที่จะกำจัดความเห็นแก่ตัวเหมือนกันทุกคน แม้ว่าเราจะมีวิธีกำจัดต่างกัน แต่เรามุ่งหมายผลอย่างเดียวกันคือ Blissful and Useful
*การที่มีความเห็นแก่ตัวนั่นน่ะ เป็นมูลเหตุแห่งปัญหาทุกๆชนิด หรือที่เป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตนี่ไม่อาจจะสงบเย็นและเป็นประโยชน์ เมื่อมีความเห็นแก่ตัว คนก็คิดว่าเราจะได้ประโยชน์ตามที่เราต้องการ แต่ที่จริงเมื่อใดมีความเห็นแก่ตัว เมื่อนั้นจะมีชีวิตที่ร้อน ที่ร้อนระอุ แล้วก็เป็นชีวิตที่มันกัดเจ้าของ เป็นชีวิตที่กัดเจ้าของ เลวกว่าสุนัขเสียอีก สุนัขยังไม่กัดเจ้าของ ชีวิตนี้กลายเป็นกัดเจ้าของ เพราะเมื่อมันมีความเห็นแก่ตัว ดังนั้นไอ้ Blissfulness มันจึงมีไม่ได้เมื่อมีความเห็นแก่ตัว
*ดูอีกทางหนึ่ง เมื่อมันเป็น Selfish เสียแล้ว มันก็ไม่คิดจะทำประโยชน์อะไรแก่ผู้ใด คนที่เห็นแก่ตัวจะไม่คิดที่จะทำประโยชน์แก่ผู้ใด ส่วนตัวก็ดี ส่วนรวมก็ดี แก่โลกก็ดี เขาไม่ได้คิดที่จะทำ
ฉะนั้นเขาก็ไม่มีประโยชน์แก่ใคร
*ทีนี้มันแปลกประหลาดที่สุดอีกอย่างหนึ่งคือว่า ไม่ทำประโยชน์ผู้อื่น แล้วก็ไม่ทำประโยชน์ตัวเองด้วย แม้มันจะเห็นแก่ตัว มันจะรัก มันรักตัวสักเท่าใด มันก็เข้าใจผิด มันทำสิ่งที่เป็นโทษ เป็นอันตรายแก่ตัว มันไม่อาจจะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตัว เพราะว่าถ้ามันเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัว มันก็ขี้เกียจ ขี้เกียจ ไม่อยากจะทำอะไร คนเห็นแก่ตัวมันขี้เกียจไม่อยากจะทำอะไร แม้เพื่อตัวเพื่อครอบครัว มันไม่ทำอะไรแต่มันจะเอาประโยชน์ มันไม่สร้าง มันไม่ทำหน้าที่ แต่มันจะเอาสิทธิ เรียกร้องอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่เห็นแก่ตัว เอ่อ มันเห็นแก่ตัวแล้วกลับทำลายประโยชน์ตน ทำลายประโยชน์ตน เมื่อเห็นแก่ตัวหนักเข้า หนักเข้ามากเกินไปก็เป็นบ้า คนบ้าในโรงพยาบาลบ้าทุกหนทุกแห่ง มันมาจากเขาเป็นผู้มีความเห็นแก่ตัวมากเกินไป มากเกินไป จนหลงทาง หลงทาง ทางของความเห็นแก่ตัว เขาจึงเป็นบ้า นี่เรียกว่าทำลายประโยชน์ตนเองหมดไม่ทำลายประโยชน์ใครเลย แต่ยังทำลายประโยชน์ตนเองหมดด้วย นี่โทษของความเห็นแก่ตัว เป็นสิ่งที่เราต้องกำจัดออกไปโดยสิ้นเชิง
*ทีนี้เราจะย้ำ จะย้ำลงไปในข้อที่ว่าต้องมีชีวิตที่เป็น Blissful และ Useful นี่ให้จนได้ ให้จงได้ ฉะนั้นจะพิจารณากันในข้อที่ว่าชีวิตสงบเย็นเสียก่อน ตามหลักของธรรมะ ชีวิตเย็นก็คือสะอาด แล้วก็สว่าง แล้วก็สงบ และก็มีเสรีภาพ สะอาด หมายความว่ามันไม่มีความโง่ ไม่มีความสกปรกใดๆที่เรียกว่ากิเลส กิเลสน่ะ เข้ามาเกี่ยวข้อง มันจึงสะอาด มันสะอาดแล้วมันก็มีทางที่จะสว่าง คือมีความรู้ มีความแจ่มแจ้ง ก็รู้สิ่งที่ควรจะรู้ได้ด้วยตนเอง เมื่อมันรู้ถูกต้องแจ่มแจ้งแล้วมันก็มีทางที่จะถูกต้องๆๆ แล้วมันก็สงบๆๆ เป็น Peaceful เป็น Blissful นี่ เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วก็เรียกได้ว่ามีเสรีภาพ มีเสรีภาพ จากสิ่งที่เป็นปัญหา จากสิ่งที่เป็นความทุกข์ทุกชนิด เรารอด รอดๆ ในคำนี้หมายถึงว่าเป็นอิสรเสรีภาพ ออกไปจากสิ่งที่เป็นปัญหาและความทุกข์ จึงเห็นได้ว่าทุกๆศาสนา จะมุ่งผลสุดท้ายที่สุดนั้นเป็นความรอด ความรอด รอดด้วยกัน คือเสรีภาพนั่นเอง ด้วยกันทุกศาสนา นี่หมายความว่าไอ้ชีวิตเย็นนี้ต้องสะอาด ต้องสว่าง ต้องสงบและมีเสรีภาพ
*เมื่อมีความสะอาด สว่าง สงบและอิสรเสรีภาพ แล้วเราเรียกกันว่าชีวิตเย็น ชีวิตเย็น แต่คำว่าเย็น เย็นในที่นี้มีความหมายเป็นพิเศษ ไม่ใช่เย็นที่เป็นคู่กับร้อน ต้องไปหาความหมายพิเศษเอาเอง ถ้าร้อน Hot มันก็อย่าง ถ้า Cool Cool มันก็ไม่ไหว มันก็ลำบาก ก็ไม่เอา มันเป็นเย็นชนิดที่ไม่คู่กันกับร้อน อยากจะแนะคำว่า Quench Quench นั่นแหละเป็นความหมายของคำว่าเย็น เย็นที่เราต้องการ มัน Quench จากความร้อน จากปัญหา จากความทุกข์ จากสิ่งไม่พึงประสงค์ทุกๆอย่าง ชีวิตที่เป็น Blissfulness มัน Quench โดยรอบด้าน โดยรอบด้าน เราจะมุ่งหมายเอาชีวิตชนิดนี้ เป็นจุดหมายปลายทาง เรียกว่าชีวิตที่ประเสริฐ
*เมื่อใช้คำว่า Quench ก็จะเห็นได้ว่ามันมีความหมายครอบไปหมด ทั้งสะอาด ทั้งสว่าง ทั้งสงบ ทั้งอิสรเสรี น่ะคำว่า Quench มันจะมีความหมายเลยไปถึงไอ้สิ่งที่เรียกว่าการพักผ่อน Relaxation การพักผ่อน ชีวิตไม่มีการพักผ่อนถ้ามันไม่มีลักษณะแห่ง Quench Quench มันไม่มีการพักผ่อน คุณจะไปเที่ยวทะเล ไปเที่ยวภูเขา ไปเที่ยว ไปเล่น ไปที่ไหนที่เรียกกันว่าการพักผ่อน เหลวหรอกพวกนั้นน่ะ ถ้ามันไม่มีสิ่งที่เรียกว่า Quench อยู่ข้างในแล้วมันไม่มีการพักผ่อน เราจะต้องเข้าใจความหมายของคำว่า Quench อันนี้ให้ดีๆ เพราะว่าเป็นคำที่ใช้กับสิ่งสูงสุดในพระพุทธศาสนา คือคำว่า นิพพาน นิพพานะ นิพพานะ นิพพานในภาษาไทย นิพพานะในบาลี นิรวาณะในสันสกฤต คำเดียวกัน ซึ่งมันแปลว่า Quench โดยแท้จริงมันแปลว่า Quench แต่เราใช้คำอย่างง่ายๆลวกๆ ว่าเย็น เย็นนี้ระวังให้ดี มันไม่ใช่เย็นที่คู่กับร้อน มันเย็นที่ไม่ร้อนและไม่หนาว ไม่ร้อนไม่หนาวก็มันเย็น ไอ้หนาวน่ะมันลำบาก ไอ้ร้อนก็ลำบาก แต่ถ้า Quench เย็นนี่ไม่ลำบาก แล้วก็เป็นการพักผ่อนที่ดีด้วย ขอให้สนใจใช้ไอ้ความหมายของคำว่า Quench นี่เป็นการพักผ่อนในทุกความหมาย พักผ่อนในทุกความหมาย
*ขอให้ศึกษาให้เข้าใจ ให้รู้จักไอ้ความหมายของคำว่า Quench ให้ดีๆ ว่ามันรวมสะอาด สว่าง สงบ เสรีภาพไว้ด้วยกันเสร็จ และก็อยากจะพูดว่า เราสามารถเป็นอันเดียวกันกับพระเป็นเจ้า เข้าถึงความเป็นอันเดียวกันกับพระเป็นเจ้า เราจะได้รับสิ่งนี้คือ Quench Quench ในความหมายธรรมดา หรือที่จะเรียกในทางพุทธศาสนาว่า นิพพาน นิพพานะ นิพพาน เพราะนิพพานก็คือ Quench การเข้าไปเป็นอันเดียวรวมกับพระเป็นเจ้าก็ต้องได้รับไอ้สิ่งนี้เท่านั้น ถ้าไม่อย่างนั้นก็ไม่มีความหมายอะไรเลย
*Quench นี่มีหลายระดับ มีหลายระดับคือสูงขึ้นไป สูงขึ้นไป ถ้าถึงระดับสูงสุด มันจะไม่มีความหมายเป็น Positive หรือ Negative มันเหนือ Positive เหนือ Negative นั่นแหละมัน Quench ถึงที่สุด ไม่มีอะไรมารบกวนได้แม้แต่นิดเดียว ในทางพุทธศาสนาถือว่าความรอดพ้นสูงสุดมันอยู่ที่นั่น คือ Quench จนถึงกับว่าไม่มี จนถึงกับว่าอยู่เหนืออิทธิพลของ Positive และ Negative นี่ขอให้เข้าใจไว้เป็นการล่วงหน้า ล่วงหน้าว่าจะไปที่นั่น
*ทีนี้ปัญหามันก็มีอยู่ที่ว่า Quench ไม่ได้ มัน Quench ไม่ได้ เพราะมันมีสิ่งเลวร้ายที่เป็นต้นเหตุให้ Quench ไม่ได้ สิ่งนั้นก็คือความเห็นแก่ตัวนั่นแหละ ความเห็นแก่ตัวนั่นแหละ ความเห็นแก่ตัวที่ทุกๆศาสนา ทุกๆศาสนาในจักรวาลนี้ต้องการจะละ จะสอนให้ละความเห็นแก่ตัวทั้งนั้นน่ะ ขอให้ท่านไปศึกษาให้ดีๆเถอะ ไม่ว่าศาสนาไหน เก่าแก่ใหม่ สูงต่ำอย่างไรก็สอนให้ละความเห็นแก่ตัว ละความเห็นแก่ตัว ฉะนั้นเรา Quench ไม่ได้ก็เพราะว่าเรามีความเห็นแก่ตัว เดี๋ยวนี้เราก็จะต้องหาวิธีที่จะกำจัด กำจัดความเห็นแก่ตัวด้วยประการทั้งปวง ดังนั้นเราจึงจะต้องพูดกันถึงเรื่องการกำจัดความเห็นแก่ตัวให้เป็นที่เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนที่สุด
*ถ้ามีความเห็นแก่ตัว ก็เป็นคริสเตียนที่ดีไม่ได้ เพราะท่านรักผู้อื่นไม่ได้ ถ้ามีความเห็นแก่ตัว ก็รักผู้อื่นไม่ได้ เมื่อรักผู้อื่นไม่ได้ก็จะเป็นคริสเตียนที่ดีไม่ได้ นี่ขอให้มองกันอย่างนี้เถอะว่า ปัญหามันตรงกันทุกๆศาสนาที่ว่าจะกำจัดความเห็นแก่ตัวในโลกนี้ ทั่วทั้งโลกนี้จะกำจัดความเห็นแก่ตัวออกไป เรามาสนใจศึกษาเรื่องกำจัดความเห็นแก่ตัวนี้กันเป็นพิเศษ
*แม้ที่สุดแต่สิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรม วัฒนธรรม ทั่วไปทั้งหมด ทุกๆวัฒนธรรม ก็มุ่งหมายไปที่กำจัดความเห็นแก่ตัวเป็นใจความสำคัญ เป็นแกนกลางของวัฒนธรรม คือไม่เห็นแก่ตัว ในระดับทั่วไปสำหรับจะอยู่กันในโลกอย่างสะดวกสบาย ถ้าจะเลื่อนระดับขึ้นไปถึงระดับศาสนาซึ่งสูงขึ้นไปอีก ก็ต้องการจะกำจัดความเห็นแก่ตัวให้ลึกซึ้ง ให้หมดจรด ให้สิ้นเชิงยิ่งไปกว่านั้นอีก ฉะนั้นไอ้เรื่องของสันติภาพ หรือสันติสุขของมนุษย์เรานี้ มันจึงอยู่ที่การกำจัดความเห็นแก่ตัว
*การกำจัดความเห็นแก่ตัวหรือวิธีที่จะกำจัดความเห็นแก่ตัว มันก็ต้องมีหลายระดับอีกเหมือนกัน เช่นเดียวกับQuenching ก็มีหลายๆระดับ ความเห็นแก่ตัว กำจัดความเห็นแก่ตัวก็ต้องมีหลายระดับเพราะว่าคนในโลก คนในโลกมันมีหลายระดับ ท่านทั้งหลายก็รู้ได้เองว่า คนในโลกมีหลายระดับ เขามีอะไรต่างๆกันมาก โง่ โง่ที่สุดก็มี โง่น้อยก็มี ไม่โง่ก็มี ฉลาดก็มี ฉลาดที่สุดก็มี มันต่างกันมากอย่างนี้ ดังนั้นไอ้ระบบวิธีที่จะกำจัดความเห็นแก่ตัว มันจึงต้องมีหลายวิธี หลายวิธี ให้ครบทุกวิธี ให้ใช้ประโยชน์กันได้ทุกๆระดับของบุคคล แล้วเราก็ได้ผลเหมือนกัน ได้ผลเหมือนกันในที่สุด คือว่าไอ้โลกนี้ไม่มีความเห็นแก่ตัว ในโลกนี้ไม่มีความเห็นแก่ตัว สันติภาพสูงสุดหรือ Quench ที่สูงสุดมันก็จะเกิดขึ้นที่นั่น
*คนในระดับทั่วไปหรือเรียกว่าระดับต่ำ เขาก็มีวิธีง่ายๆ วิธีต่ำๆ กระทั่งไอ้ระดับ stupidest judge นี้เขาก็มีวิธีของเขา เขามีวิธีอย่างนั้นตามแบบของเขาเพื่อจะกำจัดความเห็นแก่ตัวแล้วก็สบายใจ ถ้าสูงขึ้นมาเขาก็มีวิธีที่สูงขึ้นไป เขามีความเชื่อในสูงขึ้นไป ในเทวดา ในอะไรที่สูงขึ้นไป มีเรื่องสวรรค์เป็นหลักเกณฑ์ กระทั่งมีพระเป็นเจ้า มีพระเจ้าเป็นหลักเกณฑ์ เขาก็มีวิธีกำจัดความเห็นแก่ตัว โดยที่เอาตัวนี่ไปให้พระเจ้าเสีย แล้วเราก็ไม่มีความเห็นแก่ตัว อย่างนี้ก็ยังดีเหมือนกัน เอาตัวนี้ไปให้พระเจ้าเสีย แล้วเราก็ไม่มีความเห็นแก่ตัว ทีนี้พุทธศาสนานี่มีวิธีเฉพาะ วิธีเฉพาะของพุทธศาสนา คือการเห็นความจริงว่ามันไม่มีตัว มันไม่มีตัว ไอ้เรื่องตัวนี่เป็นเรื่องไม่จริง เป็นเรื่องหลอก เป็นเรื่องอวิชชามันหลอก ความจริงไม่มีตัว ถ้าเราเห็นความไม่มีตัว มันก็ไม่เกิดความเห็นแก่ตัว นี่ขอรวมความว่ามันมีหลายๆวิธี หลายขั้น หลายขั้นตอนที่จะกำจัดความเห็นแก่ตัว ท่านจงเลือกเอาให้เหมาะที่สุดกับชีวิตของท่าน
*ในการศึกษาหรือฝึกฝนของเราที่ Center ที่ท่านทั้งหลายกำลังมาพักเพื่อศึกษานี้ ก็มีความมุ่งหมายอย่างนี้ คือมุ่งหมายจะให้รู้ๆๆลึกลงไปถึงว่า มันไม่มีสิ่งที่เรียกว่า Self ไอ้สิ่งที่เรียกว่า Self มันไม่ได้มีอยู่จริง แต่ความโง่ของเรามันสร้างขึ้นมา มันจึงมี มี หรือว่าลึกลงไปกว่านั้นว่า Instinct Instinct ไอ้ความรู้อย่าง Instinct มันทำให้เกิดความรู้สึกว่ามี Self แล้วเราก็มาสอนกันผิดๆอีก มันก็ยิ่งมี Self มากขึ้นไปกว่าเดิมจะต้องศึกษาความรู้เรื่องไม่มี Self นี่ เรื่องปฏิจจสมุปบาทโดยเฉพาะ ขอให้ท่านศึกษาให้ดี ท่านจะมีความเข้าใจเรื่องไม่มี Self แล้วก็จะปฏิบัติเพื่อจะกำจัดมันเสียอย่างไร ท่านก็ปฏิบัติอานาปานสติจนสามารถมีจิตใจแจ่มแจ้ง คม ขนาดที่จะตัดไอ้สิ่งที่เรียกว่า Self ออกไปหมด นี่เรารู้ว่าปัญหามาจากไอ้ Self คือมันเกิด Selfish แล้วก็ตัด Self เสีย ไม่มี Selfish แล้วปัญหาทั้งหลายก็หมดไป ขอให้ท่านจัดการหรือว่าปรับปรุงไอ้การศึกษาของไทยให้มันถูกต้อง ถูกต้องกับข้อนี้ คือว่ารู้ว่ามันมาจากเห็นแก่ตัว แล้วก็กำจัดความเห็นแก่ตัวเสีย แล้วการมาศึกษา มาฝึกฝนจิตใจของท่าน ที่เรียกว่า Retreat นี่ก็จะมีประโยชนที่สุดแก่ท่านเอง
*ธรรมะสูงสุดในพระพุทธศาสนา สรุปความว่า ทุกสิ่งๆเป็นอนัตตา คือไม่ใช่ตน ไม่ใช่ Self, All thing ธรรมะทั้งปวง All thing not self, not self ถ้าเห็นไอ้ Not self ของทุกสิ่งแล้วก็รอดตัว คือจะไม่เกิดความเห็นแก่ตัว ฉะนั้นขอให้เราทำความเข้าใจข้อนี้กันเป็นพิเศษ ขอร้องให้ท่านทั้งหลายทำความเข้าใจในข้อนี้กันเป็นพิเศษ ว่าทุกสิ่ง Not self, Not self นั้นเป็นอย่างไร
*ธรรมะในพุทธศาสนาต้องการจะสอนให้มองเห็นทั้งหมด ทั้งหมด ไม่ยกเว้นอะไร ไม่ใช่อัตตา ไม่ใช่ Self คือ Not Self เรามาเสียเวลาศึกษาหลักพุทธศาสนาในข้อนี้กันเถิด อย่าคิดว่าเป็นการเสียเวลา ขอให้อดทนและลงทุนศึกษาว่าทั้งหมดๆๆจริงๆน่ะ มันไม่ใช่อัตตา ไม่ใช่ตัวตนนั้นอย่างไร คำว่าทั้งหมดๆๆนี่ต้องลึกๆๆลงไปจนถึงลึกที่สุด substratum ไม่รู้จะเรียกอะไรที่ว่าลึกลงไปจนถึงที่สุด ตั้งแต่ลึกที่สุดจนกระทั่งขึ้นมาๆๆๆ มันล้วนแต่เป็นอนัตตา ขอให้สนใจศึกษาสักหน่อย อย่าเผลอเห็นเป็นเรื่องเสียเวลา
*ที่เป็นลึกสุด substratum ลึกสุดก็คือเรื่องธาตุ ธา-ตุ Element 6 คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ ฉะนั้นขอให้สนใจเรื่องนี้เถิด แล้วก็จะพบอนัตตามาตั้งแต่ชั้นต้นที่สุด ธาตุดิน ธาตุดิน ไม่ใช่ก้อนดินนะ คือคุณสมบัติที่ทำให้เกิดการกินเนื้อที่ Taking the Space นี่ คุณสมบัติอันนี้เรียกว่าธาตุดิน มันมีอยู่ในสิ่งใดสิ่งนั้นเรียกว่าธาตุดิน ธาตุน้ำคือคุณสมบัติที่ทำให้เกาะ เกาะ เกาะกันเข้าเป็น Combine หรือ cohesion ให้มันเกาะอยู่อย่าให้มันแยกจากกัน สิ่งนี้มีอยู่ในธาตุใด มีอยู่ในสิ่งใด สิ่งนั้นเรียกว่าธาตุน้ำ แล้วทีนี้ก็ธาตุไฟ คือการเผาไหม้ การเผาไหม้นี่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้มีการเผาไหม้ให้มีเกิดการเปลี่ยนแปลง อำนาจเผาไหม้แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงนี่เราเรียกว่าธาตุไฟ ทีนี้ธาตุลมหรือแก๊สระเหยเคลื่อนที่ ความหวั่นไหว ความเปลี่ยน ความเคลื่อนไหว คุณสมบัติให้เกิดความเคลื่อนไหว มีในสิ่งใดสิ่งนั้นเรียกว่าธาตุลม นี่ธาตุวัตถุมี ๔ อย่าง แล้วก็ธาตุอากาศคือที่ว่าง ที่ว่างสำหรับธาตุอื่นๆอาศัยอยู่ ธาตุนี้เรียกว่าธาตุว่าง ว่าง เป็นที่รองรับไอ้สิ่งเหล่าอื่น และธาตุสุดท้าย วิญญาณธาตุ คือธาตุพิเศษฝ่ายหนึ่ง เท่านั้นล่ะ อันนี้อันเดียวเท่านั้น คือว่าธาตุที่ทำให้เกิดความรู้ มันเป็นธาตุจิตใจ ๔ ขั้นต้นเป็นธาตุทางวัตถุ ธาตุว่างนี้จะจัดเป็นจิตใจก็ไม่ใช่ วัตถุก็ไม่ใช่ เรียกว่าธาตุว่าง เป็นกลางๆ นี่เรามีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ ท่านจงศึกษาให้ดี ธาตุดิน ดูที่ธาตุดิน ไอ้คุณสมบัติกินเนื้อที่ ทำให้เกิดรูปร่างนั่นนี่ขึ้นมา ก็ Not self ธาตุน้ำ เกาะกลุ่มกันอยู่ได้ก็ Not self ธาตุไฟ เผาไหม้เปลี่ยนแปลงก็ Not self ธาตุลมให้เคลื่อนไหวก็ Not self ธาตุว่างๆๆนี่ก็ Not self แม้แต่ธาตุจิตใจ ธาตุวิญญาณ จะเรียกว่า Mind หรือเรียกว่า Consciousness ก็แล้วแต่ มันก็ยังมิใช่ตน มันเป็นสักแต่ว่าธาตุตามธรรมชาติเท่านั้น ทั้ง ๖ ธาตุนี่เป็นจุดต่ำที่สุด ที่เราจะมองให้เห็นว่ามันไม่ใช่ตน เป็นอนัตตา แล้วจะมองเห็นสิ่งอื่นๆ ง่ายขึ้นว่าไม่ใช่ตน เป็นอนัตตา ขอให้สนใจต่อไป ไม่ใช่ว่าวันนี้วันเดียว ให้สนใจเรื่องธาตุต่อไป จนเห็นว่าทั้ง ๖ ธาตุนี่ไม่ใช่อัตตา
*คือต้องมองให้เห็นในข้อที่ว่า ชีวิตนี่มันประกอบขึ้นมาด้วยธาตุทั้ง ๖ ซึ่งไม่ใช่อัตตา Not self แล้วชีวิตจะเป็นอัตตาได้อย่างไร เมื่อชีวิตมันประกอบขึ้นมาด้วยสิ่งที่ไม่ได้เป็นอัตตา คือธาตุทั้ง ๖ นี่ ดูเถอะ ดูต่อมาว่าธาตุทั้ง ๖ มีอยู่เป็นองค์ประกอบของชีวิต ที่เกิดชีวิตคนโดยเฉพาะนี่ นี่ไอ้ธาตุทั้ง ๖ นี่ มันทำหน้าที่ปรุงกัน ปรุงกัน ที่เรียกว่า Compound แล้วมันก็ทำให้เกิดอายตนะ อายตนะภายในที่เป็น Sense Organ ที่เป็นภายนอกคือเป็น Sense Object ซึ่งทำให้อายตนะภายในมีความหมาย ถ้ามันไม่มีอายตนะภายนอก อายตนะภายในก็ไม่มีความหมาย แล้วไอ้ธาตุทั้ง๖ นี่มันทำให้มีขึ้นมาทั้งอายตนะภายในและภายนอก เพราะอย่างนั้นมันจึงประกอบกันเข้าเป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็น Sense Organ แล้วก็มีข้างนอกเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็น Sense Object ทำงานเป็นคู่กัน อย่างนี้เราเรียกว่า อายตนะ อายตนะ สิ่งซึ่งเป็นวิสัยแห่งการติดต่อ ติดต่อกัน อายตนะ เมื่อมันมาจากไอ้สิ่งที่ไม่ใช่อัตตา อายตนะทั้งหลายมันก็ไม่ใช่อัตตา ไอ้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ มันทำหน้าที่ของมันได้โดยไม่ต้องเป็นอัตตา แต่คนไม่รู้ก็คือ โอ้นี่มันเห็นได้นี่มันต้องมีอัตตา มีอัตตาสำหรับตาเห็น มีอัตตาสำหรับหูได้ยิน มีอัตตาสำหรับจมูกได้กลิ่น มันมีอัตตาไปเสียหมด เขาไม่มองถึงข้อที่ว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง แม้มันจะเป็นอนัตตา ไม่ใช่อัตตา มันก็สามารถที่จะทำหน้าที่ของมันได้ เพราะมันมาจากธาตุที่สามารถทำหน้าที่ของมันได้มาตามลำดับ ฉะนั้นขอให้เห็นชัดลงไปว่าอายตนะ อายตนะแต่ละอย่าง ๖ อย่าง ๖ อย่าง ของคู่นี่ก็เป็น Not self นี่มาในขั้นนี้เรียกว่าเห็นอายตนะเป็น Not self เห็นธาตุทั้ง ๖ เป็น Not self ประกอบกันขึ้นเป็นอายตนะ อายตนะทั้งหลาย ก็ Not self นี่ ขั้นที่ ๒
*ท่านควรจะเข้าใจได้ทันทีว่าทั้งโลก ทุกๆโลก กี่โลกๆ ทุกๆ โลก มันรวมอยู่ในคำๆเดียวว่า Outer Ayatana อายตนะภายนอก Sense Object อายตนะภายนอก กี่โลก ทุกๆโลกเลย ในโลกนี้มันรวมอยู่ในคำๆเดียวว่า อายตนะภายนอก แล้วเราก็มีอายตนะภายใน Sense Organ สำหรับสัมผัสมัน รู้จักมัน ถ้ามันไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแล้วมันก็ไม่มีความหมายอะไร โลกนี้ไม่มี อะไรไม่มี ก็มีอายตนะภายในสัมผัสอายตนะภายนอกทุกอย่างก็มีขึ้นมา เหลือที่จะกล่าว กี่โลกๆๆก็มันอยู่ที่อายตนะภายในรู้จักอายตนะภายนอก นี่คือทั้งหมดนั่น แต่ละอย่างๆๆก็ Not Self ก็ Not Self เรื่อยๆไป
* ท่านต้องจำความหมายทั้ง ๖ มันต้องมี ๖ นี้ให้ดีๆ ข้างใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ข้างนอก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มันมี ๖ และเท่าที่เรารู้สึกกันได้ รู้จักกันได้ นำมาสอนกันอยู่มันก็เพียง ๖ เพราะมันไม่มีอายตนะที่ ๗ ที่ ๘ อะไรที่เราจะรู้จักมันได้ เราไปยุติว่ามันมี ๖ นี้เรียกว่าอายตนะ แล้วก็มี ๖ ทีนี้เรื่องอายตนะ ๖ นี่ ใน ในๆ ชีวิตของเรานี่มันมีไอ้การปรุงแต่ง มี condition มี concoct อันนี้มาก มากเหลือเกิน ขอให้อดทนฟังสักนิดเถอะ มันมาก มาก ไม่ต้องจำก็ได้ จำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้ฟังสักนิดว่า ขอให้เข้าใจว่า ไอ้ความปรุงแต่งเปลี่ยนแปลงสับสนกันอย่างเหลือประมาณในชีวิตนี้ เกี่ยวกับอายตนะทั้ง ๖ นี้จะมีอะไรบ้าง ขอให้ตั้งใจฟัง มีการปรุงแต่งกันเหลือ เหลือประมาณในชีวิตนี้ สำหรับสิ่งที่เรียกว่าอายตนะ ๖ ขอให้ตั้งใจฟัง แม้จะจำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร
*เรามีอายตนะภายในคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ อายตนะภายนอกคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ข้างใน ๖ ข้างนอก ๖ พอมาถึงกันเข้า แต่ละคู่ ละคู่ ตามคู่ของมัน พอมาถึงกันเข้า มันจะเกิดอีกกรุ๊ปหนึ่งเรียกว่าเนื่องอยู่กับอายตนะ pertain เนื่องอยู่กับอายตนะน่ะคือวิญญาณ๖ วิญญาณ๖ Consciousness ๖ วิญญาณทางตา วิญญาณทางหู วิญญาณทางจมูก วิญญาณทางลิ้น วิญญาณทางกาย วิญญาณทางใจ ๖ ชุดที่ ๓ นี่ก็มาจากอายตนะคู่ ชุดที่ ๓ นี่เรียกว่าวิญญาณ Consciousness ออกมาจากการถึงการเข้าของอายตนะภายในและภายนอก
*ทีนี้ก็มาถึงกลุ่มที่ ๔ กลุ่มที่ ๑ อายตนะภายใน กลุ่มที่ ๒ อายตนะภายนอก ถึงกันเข้า เรียกว่ากลุ่มที่ ๓ คือกลุ่มวิญญาณ กลุ่ม Consciousness เมื่อมี Consciousness แล้วมันก็มีกลุ่มที่๔คือ Contact หรือผัสสะ มันมีผัสสะทางตา ผัสสะทางหู ผัสสะทางจมูก จนกระทั่งหก นี่กลุ่มที่ ๔ เรียกว่าผัสสะ มี ๖ เหมือนกัน
*กลุ่มที่ ๔ Contact มีแล้ว ก็มีกลุ่มที่ ๕ คือเวทนาหรือ Feeling มันก็แจกไปตามตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็น ๖ อีกเหมือนกัน กลุ่มที่ ๕ นี้ Feeling Feeling เวทนา
*มีกลุ่มที่ ๕ คือ Feeling หรือ เวทนาแล้ว มันก็มีกลุ่มที่ ๖ คือสัญญา สำคัญมั่นหมายว่าเป็นอะไร Perceive, Perceive ลงไปที่ Feeling แล้วก็ Perception นี้เป็นกลุ่มที่ ๖ กลุ่มสัญญา สัญญา
*กลุ่มที่ ๖ สัญญามีแล้วก็เกิดกลุ่มที่ ๗ เรียกว่าสัญญเจตนา Volition เจตนาจะทำอย่างใดอย่างหนึ่งไปตามอำนาจของสัญญา เรียกว่าสัญญเจตนา Volition ก็มี ๖ ตามรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อะไรนั่น กลุ่มที่ ๗ ก็เรียกว่าสัญญเจตนา
*มีกลุ่มที่ ๗ แล้วก็มีกลุ่มที่ ๘ คือตัณหา The Want ตัณหา แจกเป็น ๖ ว่า ตัณหาในรูป ตัณหาในเสียง ตัณหาในกลิ่น ๖ อีกเหมือนกัน ตัณหาก็มี ๖ อีกเหมือนกัน
*มีตัณหากลุ่มที่ ๘ แล้วก็มีกลุ่มที่ ๙ เรียกว่า วิตรรกะ วิตรรกะ The thought เมื่อเรามีต้องการอย่างไรแล้วเราก็คิดจะทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ตามอำนาจของตัณหา มันก็เกิดกลุ่มที่ ๙ ขึ้นมา เรียกว่า วิตรรกะ The thought
*ทีนี้ก็เกิดกลุ่มสุดท้ายกลุ่มที่ ๑๐ เรียกว่าวิจาระ วิจาระ Considering thought, discursive thought คือ Thought ที่มันพิจารณา พิจารณา อย่างละเอียด นี้เรียกว่าวิจาระ วิจาระ เป็นกลุ่มสุดท้ายเรียกว่ากลุ่มที่ ๑๐
*ท่านจะเห็นได้แล้วว่า มันมีตั้ง ๑๐ กลุ่มและกลุ่มละหกๆ ๑๐ กลุ่ม มันมีตั้ง ๖๐ ชนิด ในร่างกายเรา ในชีวิตจิตใจเรานี่มันมี Mechanism ตั้ง ๖๐ ชนิด ๖๐ ชนิด จำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้รู้ว่ามันมีถึง ๖๐ชนิด เป็นอายตนะภายใน อายตนะภายนอก แล้วก็วิญญาณ แล้วก็ผัสสะ แล้วก็เวทนา แล้วก็สัญญา สัญญเจตนา ตัณหา วิตก วิจาร นี่ ๑๐ กลุ่ม กลุ่มละ ๖ รวมเป็น ๖๐ ชนิด แต่ละชนิดๆ ก็ Not self Not self มันไม่ต้องเป็นอัตตา มันทำหน้าที่ของมันได้เอง ทั้ง ๖๐ ชนิดทำหน้าที่ของมันได้เอง ไม่ต้องเป็นอัตตา
*แม้ว่ามันจะยืดยาวหรือมากมายแต่มันก็มีประโยชน์ แล้วท่านก็คิดเอาเองตามความคิดธรรมดาก็ได้ ไม่ต้องไปคิดถึงพุทธศาสนาหรือคำบาลีอะไรล่ะ มันเป็นธรรมชาติๆๆอย่างนี้เอง คือมันมีอายตนะภายใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และมีอายตนะภายนอกคือรูป เสียง กลิ่น รส พอมันถึงกันเข้ามันก็เกิดไอ้ Consciousness มันทำกันอยู่อย่างนี้ก็เรียกว่า Contact แล้ว Contact ก็ออกผลมาเป็น Feeling พอเป็น Feeling แล้วก็มี Perception ต่อ Feeling มี Volition ต่อ Perception แล้วมี The Want ต้องการไปตามนั้นแล้วมันก็มีความคิดตามความต้องการ The thought แล้วก็คิดอย่างละเอียด เป็น Discursive thought ๑๐ หมวด หมวดละหก เป็น ๖๐ แม้ว่ามันจะมากมาย แต่ท่านจะเข้าใจได้เอง เข้าใจได้เองทุกอย่าง แล้วทุกอย่างก็ Not Self ก็แล้วกัน นี่มันจะปัดทิ้งไปหมดไม่มีอะไรเหลือสำหรับจะเป็น Self หรือเป็นอัตตา
*มันเป็นเรื่องที่ไม่ลึก ไม่ลึกลับจนเกินไป ท่านมองเห็นได้ด้วยตนเอง เข้าใจได้ด้วยตนเอง แล้วท่านยังอาจจะไปสอนลูกเด็กๆ ลูกเด็กๆ ของท่านให้เข้าใจได้ด้วย ขอท้าทายอย่างนี้ ท่านสามารถจะไปสอนลูกเด็กๆให้เข้าใจในเรื่อง ๖๐ Mechanism Automatic อย่างนี้ พอเขาเข้าใจเรื่องอย่างนี้แล้ว มีประโยชน์มากที่สุดคือเขาจะรู้จักชีวิต รู้จักกิเลส รู้จักตัวเองกันดีขึ้น แล้วเขาก็จะควบคุมตัวเอง คือจะไม่ให้เห็นแก่ตัวน่ะได้ง่ายขึ้น มันไม่มี Self แล้วมันก็ไม่มี Selfishness ฉะนั้นขอร้องให้ท่านสนใจไอ้เรื่อง๖๐ ๖๐ชนิดธรรมะ หรือ Thing ๖๐ ชนิดนี้ ในชีวิตนี้ว่ามันไม่ใช่ตน ชุดแรกธาตุทั้ง ๖ ไม่ใช่ตน พอธาตุทั้ง ๖ มาปรุงกันเป็นอายตนะอีก ๖๐ ชนิดอย่างนี้ มันก็ไม่ใช่ตน นี่ในวันนี้เวลาก็หมดแล้ว พูดเรื่องธาตุ ๖ แล้วก็อายตนะ ๖๐ ๖๐ ความหมายนี่ พรุ่งนี้เราจะพูดกันเรื่องขันธ์ ๕ และเรื่องปฏิจจสมุปบาท วันนี้เวลาหมดแล้ว ขอยุติการบรรยาย ขอบพระคุณที่อดทนฟังตั้ง ๒ ชั่วโมงแล้ว ขอยุติการบรรยาย
*ขอบคุณ เป็นผู้ฟังที่ดี ท่านทั้งหลายไม่ต้องขอบใจอาตมา อาตมากลับขอบใจท่านทั้งหลาย มาทำให้อาตมาได้มีโอกาสพูด