แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ถ้าท่านผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย อาตมาขอแสดงความยินดีในการมาของท่านทั้งหลาย มาสู่สถานที่นี้ในลักษณะอย่างนี้คือ มาหาความรู้เรื่องธรรมะเกี่ยวกับความดับทุกข์ การที่เลือกเอาเวลาอย่างนี้มาเป็นเวลาสำหรับพูดจากัน ถ้าท่านผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย อาตมาขอแสดงความยินดีในการมาของท่านทั้งหลายมาสู่สถานที่นี้ในลักษณะอย่างนี้คือ มาหาความรู้เรื่องธรรมะเกี่ยวกับความดับทุกข์ การที่เลือกเอาเวลาอย่างนี้มาเป็นเวลาสำหรับพูดจากันนั้น มันมีเหตุผลอยู่ไม่น้อยคือ เป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับจิตใจที่พร้อมที่จะเบิกบานเหมือนกับดอกไม้ โดยมากก็จะเริ่มบานเวลาอย่างนี้ เวลาอย่างนี้จิตใจยังใหม่ยังไม่มีอะไรที่จะเต็มหรือล้น มันก็เหมาะ และขอให้ท่านได้ใช้ประโยชน์ของเวลาอย่างนี้กันให้เต็มที่ พระพุทธเจ้าท่านก็ได้ตรัสรู้ในเวลาอย่างนี้ และเป็นที่เชื่อว่า แม้พระศาสดาอื่นๆ ก็น่าจะเป็นอย่างเดียวกัน เรื่องที่อาตมาจะทำความเข้าใจกับท่านทั้งหลายก็คือ เรื่องของคำว่า ธรรม หรือ ธรรมะ มันเป็นสิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจให้มากกว่าที่แล้วมา หรือที่กำลังมีอยู่ ท่านยิ่งเข้าใจความหมายของคำว่า ธรรมะ, ธรรมะ นี่มากเท่าไร ก็จะเข้าใจพระพุทธศาสนามากขึ้นเท่านั้น ขอให้สนใจทำความเข้าใจความหมาย หรือเรื่องของคำว่า ธรรมะให้มากกว่าที่แล้วมา หรือที่มีอยู่
ท่านได้ยินคำว่า Buddhism, Buddhism แต่ท่านคงจะไม่เข้าใจความหมายของคำว่า ism, ism ชนิดที่เป็นอย่างพุทธศาสนา ท่านจะเข้าใจคำว่า ism ปัจจัยคำว่า ism เช่น materialism, socialism อะไรทำนองนั้นไปเสีย ism อย่างนั้นมันไม่ใช่ความจริงของธรรมชาติ หรือกฏของธรรมชาติ มันเป็นเรื่องของมนุษย์คิดขึ้น รู้สึกแล้วก็บัญญัติกัน คำว่า Buddhism นี่ ไม่ให้ความหมายที่แท้จริงของพุทธศาสนา จะต้องเปลี่ยนเป็นคำใหม่ว่า ธรรมะ ของชาวพุทธ หรือของพวกพุทธ ถ้าท่านยังชอบคำว่า Buddhism ก็ขอให้แปลความหมายของ suffix ism นั่นเสียใหม่ว่า มันเป็นเรื่อง สัจจะ, ความจริง หรือเป็น law เป็นกฏของธรรมชาติชนิดที่พวกพุทธบริษัทใช้ถือเป็นหลักสำหรับดับทุกข์โดยสิ้นเชิง คำว่าธรรม, ธรรมะ หมายถึง กฏ หรือความจริงของธรรมชาติเสมอไป แต่เดี๋ยวนี้เราให้ความหมาย หรือคำจำกัดความชัดลงไปอีกว่า ธรรม ธรรมะนี่เป็นระบบการปฏิบัติที่ถูกต้องต่อกฏเกณฑ์ของธรรมชาติ และถูกต้องแก่ความรอด, แก่ความรอดของสิ่งที่มีชีวิต รอดทั้งทางกายและทางจิตทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ ทั้งเพื่อตัวเองด้วย, ทั้งเพื่อผู้อื่นด้วย ขอย้ำอีกทีว่า ระบบปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฏของธรรมชาติ ก็ถูกต้องแก่ความรอดของสิ่งที่มีชีวิตทั้งทางกาย และทางจิต และทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ และทั้งเพื่อตัวเองและผู้อื่น นี่คือความหมายของคำว่า ธรรมะ, ธรรมะเพียงคำเดียว แล้วก็มีความประหลาดอยู่ที่ว่า บทนิยามยืดยาวนั่น มันสรุปลงได้เหลือเพียงคำเดียวว่า หน้าที่, หน้าที่ ภาษาอินเดียโบราณคำนี้ ธรรมะ, ธรรมะ โบราณเหลือประมาณ มีความหมายโดยแท้จริงว่า หน้าที่ หน้าที่ ขยายออกไปนิดก็ เพื่อความรอด, เพื่อความรอด แล้วก็รอดกันทั้งหมด หน้าที่เพื่อความรอดคือคำว่า ธรรมะ เป็นที่เชื่อได้ว่า คำพูดคำนี้ หน้าที่นี่ มันเก่า ก่อนคำว่า ศาสนา, คำว่าศาสนา เพราะก่อนแต่มีศาสนา มนุษย์เราก็ได้รู้จักสิ่งที่เรียกว่า หน้าที่ หน้าที่ คือ เขาสังเกตเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่จำเป็น ถ้าไม่ทำก็คือตาย และมันก็มีอำนาจผลักดันมาจาก instinct ของสัตว์ทั่วไปว่ามันต้องทำให้ดิ้นรนเพื่อความรอด ดิ้นรนเพื่อความรอด คำนี้เป็นใจความสำคัญ มันได้เกิดคำว่า หน้าที่, หน้าที่ ขึ้นมา ดิ้นรนเพื่อความรอด คำพูดคำนี้เรียกในภาษาเก่าแก่อินเดียว่า ธรรมะ, ธรรมะ หน้าที่ที่ดิ้นรนเพื่อความรอด แม้ที่สุดแต่ว่า ออกมาจากความผลักดันของสัญชาตญาณ และวิวัฒนาการเป็นลำดับมา การดิ้นรน หรือต่อสู้เพื่อความรอดมันมีได้โดยสัญชาตญาณ
นั่นละเป็นจุดตั้งต้นของสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ หรือหน้าที่, หน้าที่ หรือธรรมะ ดิ้นรนต่อสู้เพื่ออยู่รอด ต่อมามันจึงค่อยให้ความหมาย ให้คุณค่าความเคารพนับถือสูง, สูงขึ้นมา จนเราเรียกว่า ศาสนา หรือ religion หรืออะไรทำนองนั้นไป แต่ของเดิมแท้ๆ คือ วิธีการดิ้นรนต่อสู้เพื่อความรอด และก็เรียกสั้นๆ ว่าหน้าที่ ธรรมะ คือคำๆ เดียวกับคำว่า หน้าที่, หน้าที่ นับตั้งแต่จุดตั้งต้นยังไม่ค่อยจะรู้อะไร หน้าที่คือ ธรรมะ, ธรรมะคือ หน้าที่ ท่านอย่าได้ประหลาดใจ เมื่อได้ยินคำบอกว่าคำว่า ธรรมะ, ธรรมะ นี้โดยภาษาบาลี ใช้ได้แม้แก่สัตว์, สัตว์เดรัจฉาน ธรรมะของสัตว์เดรัจฉาน อย่างนี้ก็พูดได้ ธรรมะของแมว, ธรรมะของสุนัข หรือธรรมะของสัตว์อะไรก็ได้ หรือธรรมะของยุงก็ได้คือ วิธีดิ้นรนต่อสู้เพื่อชีวิตรอด, เพื่อหนีภัยอันตราย นั้นก็เรียกว่าธรรมะ ธรรมะของสิ่งที่มีชีวิตนั้นเรียกว่า ธรรมะ นั่นก็แปลว่า หน้าที่เพื่อความรอด, หน้าที่เพื่อความรอด มีได้แม้แต่กับสัตว์เดรัจฉาน ทีนี้มันก็ยิ่ง, จะยิ่งประหลาดมากขึ้นไปอีก ถ้าจะพูดว่า ธรรมะของต้นไม้ ต้นไม้ทั้งหลายนี่ก็มีธรรมะ แต่ความจริงมันก็เป็นอย่างนั้น เพราะธรรมะก็มีวิธีการที่จะต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ส่วนนั้นของต้นไม้ก็เป็นธรรมะของต้นไม้ ในคำบาลีพูดได้ถึงขนาดนี้ ซึ่งภาษาคนที่เราศึกษากันแต่เพียงผิวเผินจะไม่มองอย่างนั้น แล้วก็เลยเห็นเป็นของแปลกประหลาด
ฉะนั้นขอสรุปความว่า วิธีการดิ้นรนต่อสู้เพื่ออยู่รอดทุกระดับเรียกว่า ธรรมะ, ธรรมะ ท่านจะเห็นได้เองแล้วว่า ธรรมะ, ธรรมะ นี่มันมีทั้งระดับวัตถุ physics, ระดับจิต mental แล้วก็ระดับสติปัญญา spiritual ทั้ง physics ทั้ง mental ทั้ง physical, mental และ spiritual ที่ท่านมาที่นี่มาศึกษาหานี่ มันเป็นระดับ spiritual เสียแล้ว มันไกลจากความหมายเดิมมากมาย แต่ท่านก็จะต้องรู้ให้ถูกต้องว่า ธรรมะ, ธรรมะนั้นหมายถึงอะไร มิฉะนั้นจะจับใจความสำคัญไม่ได้ จึงขอร้องให้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องคำพูดคำนี้เป็นพิเศษอย่างนี้ ดังนั้นท่านทั้งหลายอย่าได้ประหลาดใจเมื่อจะได้บอกให้ทราบว่า ธรรมะมีตั้งแต่ระดับต่ำที่สุดคือ สิ่งที่มีชีวิตระดับต่ำที่สุด ก็คือ ต้นไม้ต้องมีธรรมะของต้นไม้ คือหน้าที่ของต้นไม้ ถ้าไม่มีธรรมะ หรือหน้าที่ของต้นไม้ ต้นไม้จะต้องตายหมดเลย แล้วสัตว์เดรัจฉานก็เหมือนกัน ต้องมีธรรมะ คือหน้าที่ของระดับสัตว์ ไม่มีก็ตายหมดเลย ทีนี้คนเราก็เหมือนกันละ ต้องมีธรรมะ หรือหน้าที่ที่ปฏิบัติ ไม่มีก็ตายหมด แต่ว่าความตายของคนมีได้ ๒ ชั้นคือว่า ตายทางร่างกาย และตายทางจิตใจ ตายทางร่างกายนั้นมันไม่ลึกซึ้งอะไร แต่ตายทางจิตใจนี่ลึกซึ้งมาก ยังมีชีวิตทางร่างกาย แต่ทางจิตใจตายหมดแล้วคือ มันไม่สดชื่น, มันไม่สงบสุข, มันไม่สดชื่น เราจึงหมายถึง เรียนธรรมะในฝ่ายด้านให้รอดทางจิตใจ, ให้รอดทางสติปัญญาสูงขึ้นไป มีความสดชื่นแจ่มใสเยือกเย็นถึงที่สุดตามที่ชีวิตมันจะมีได้ นี่คือ ธรรมะที่ท่านทั้งหลายมาด้วยความตั้งใจว่าจะศึกษามันมีขอบเขตอย่างนี้ สรุปสั้นที่สุดก็คือว่า การต่อสู้การดิ้นรนเพื่อความรอด, ต่อสู้เพื่อความรอดนั่นละคือ สิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ก็มีทุกระดับ, ทุกระดับ เรียกว่า ธรรมะได้ทุกระดับตั้งแต่ต่ำสุดจนสูงสุด ทีนี้คำว่า ต่อสู้ดิ้นรน, ต่อสู้ดิ้นรนนี่ มันมีความหมายละเอียดอ่อนมาก เริ่มต่อสู้ในขั้นแรกด้วยการศึกษา, ศึกษาให้รู้ให้เข้าใจอย่างถูกต้อง, ศึกษาให้รู้อย่างถูกต้อง และต่อมา ก็เลื่อนขึ้นเป็นว่า ปฏิบัติ, ปฏิบัติตามที่ศึกษามาอย่างถูกต้อง ให้มันเป็นการปฏิบัติอย่างถูกต้อง ครั้นปฏิบัติอย่างถูกต้องแล้ว ก็ได้รับผล, รับผลของการปฏิบัติอย่างถูกต้อง มันแบ่งออกเป็นความถูกต้องถึง ๓ ขั้นตอน คือว่า เรียนอย่างถูกต้อง, ปฏิบัติอย่างถูกต้อง, ได้รับผลอย่างถูกต้อง จึงจะเรียกว่าเป็นการประสบความสำเร็จของการปฏิบัติธรรมะ หรือหน้าที่เพื่อความรอด
หน้าที่เพื่อความรอดมีการปฏิบัติ ๓ ขั้นตอนอย่างนี้ ท่านมาที่นี่มันมีความจริงอยู่ว่า ท่านมาที่นี่เพื่อจะศึกษา, ศึกษาให้ถูกต้อง แล้วก็ปฏิบัติ, ปฏิบัติให้มันถูกต้อง แล้วก็ได้รับผลอย่างถูกต้อง แต่ว่าท่านคงทำไม่ได้ภายใน ๑๐ วัน มันไม่มีทางที่จะทำได้ครบถ้วนสมบูรณ์ภายใน ๑๐ วัน แต่อย่างน้อยท่านก็รู้ว่า จะต้องทำอย่างไร, จะต้องทำอย่างไร แม้ท่านกลับไปแล้ว ท่านก็ทำได้, ท่านก็ทำได้ จนกว่าจะได้รับผลตามที่ต้องการ ฉะนั้นขอให้ท่านตั้งใจให้ดีที่สุด, ตั้งใจให้ดีที่สุด เพื่อจะศึกษามันให้ดีที่สุด แล้วลองปฏิบัติให้ถูกต้องเป็นตัวอย่าง แล้วก็ได้รับผลตามสมควร แล้วก็ไปทำต่อไป, ต่อไปจนตลอดชีวิตก็ได้ หรือท่านจะกลับมาซ้ำใหม่อีกก็ได้ แล้วแต่โอกาสหรือความสะดวกของท่าน แต่ท่านจะต้องศึกษาธรรมะ, ปฏิบัติธรรมะ, ได้รับผลของธรรมะ ตามสมควรแก่ความสามารถสติปัญญาของท่านให้จนได้
ในการมาที่นี่ท่านต้องมองให้เห็นชัดว่า เราเรียน, เราเรียนศึกษานี่ ก็เพื่อดับทุกข์ ปฏิบัติ, ปฏิบัติก็เพื่อดับทุกข์ ผลออกมาก็เพื่อเป็นการดับทุกข์ แต่เดี๋ยวนี้เราเรียนกันเป็นอันมาก สิ่งที่เราเรียนในโลกนี้มันไม่ได้เป็นไปเพื่อดับทุกข์ มันเป็นไปเพื่อเพิ่มความทุกข์โดยไม่รู้สึกตัวเสียก็มาก ท่านลองนึกดูถึงการศึกษาที่เราได้เรียนมาแล้วแต่หนหลังว่ามันเป็นไปเพื่อการดับทุกข์กี่มากน้อย และมันเป็นไปเพื่อเพิ่มความยุ่งยาก หรือปัญหามากขึ้นกี่มากน้อย ทั้งที่ปฏิบัติจริงๆ แล้ว ก็ปฏิบัติตามความต้องการของสิ่งที่เรียกว่า กิเลส คือต้องหาความเพลิดเพลิน เราไม่ได้ดับทุกข์ เรามุ่งแต่ที่ความเพลิดเพลิน เราไม่ได้รู้จักความทุกข์ ไม่ได้รู้จักต้นเหตุแห่งความทุกข์ เรามุ่งที่ความเพลิดเพลิน, เพลิดเพลิน การปฏิบัตินั้นมันก็ไม่ได้ดับทุกข์ และผลที่ได้รับกลับมาก็คือ ปัญหายุ่งยากมากขึ้น เพราะนั้นขอให้เป็นที่ชัดเจนลงไปว่า เรียนเพื่อให้รู้ ก็เรื่องดับทุกข์, ปฏิบัติให้ได้ ก็เรื่องดับทุกข์, ได้รับผลออกมา ก็เป็นเรื่องดับทุกข์โดยตรง จำเป็นที่จะต้องเห็นความทุกข์อย่างชัดเจนแจ่มแจ้งเพียงพอ แล้วปฏิบัติเพื่อดับมันให้จงได้ นั่นละคือหัวใจของธรรมะในการปฏิบัติธรรมะ การศึกษาของเราในโลกปัจจุบันมหาศาล การศึกษาไปโลกพระจันทร์ก็ได้, ทำอะไรก็ได้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนี่เหลือประมาณ เรามีคอมพิวเตอร์เครื่องมืออันวิเศษของเรา นี่เรียกว่า การศึกษาไปไกลมาก แต่ทำไมมันจึงไม่มีสันติภาพ, ทำไมมันจึงไม่มีสันติภาพ เพราะว่าการศึกษาของเรามันไม่ได้มุ่งหมายเพื่อจะดับทุกข์ มันมุ่งหมายเพื่อสนองความต้องการ, สนองความต้องการ ซึ่งไม่รู้ว่าอะไรกันแน่ มันก็เป็นเรื่องของสิ่งที่เรียกว่า กิเลส หรือ อวิชชา ไปเสียหมดนี่ ยิ่งศึกษามันก็ยิ่งสร้างปัญหา โลกนี้มันยิ่งเต็มไปด้วยปัญหา การศึกษาในโลกไม่ระงับปัญหา หรือระงับความทุกข์ นี่เรียกว่าการศึกษานี้ไม่เป็นธรรม ไม่ประกอบด้วยธรรม ไม่เป็นไปตามทางธรรม มันจึงไม่ดับทุกข์
ทีนี้ก็มาถึงการกระทำการปฏิบัติ ไอ้ commitment ของเรานี่ มันก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อดับทุกข์ เราดิ้นรนต่อสู้ขวนขวายพยายามเพื่อสนองความต้องการแปลกๆ ใหม่ๆ ของเราเรื่อยไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เราไม่รู้ว่าความทุกข์คืออะไร, เหตุให้เกิดทุกข์คืออะไร, ไม่ได้สนใจ แต่เราปฏิบัติเพื่อสนองความต้องการ ความอยากที่เกิดขึ้นมาใหม่ๆๆๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด การปฏิบัติของเราจึงไม่ได้เป็นไปเพื่อดับทุกข์, ไม่เป็นการปฏิบัติธรรมะ, ไม่เกี่ยวกับธรรมะ มันเป็นการปฏิบัติเพื่อสนองความอยากที่เกิดมาใหม่ๆ ตามความเจริญในโลก นี่เลยไม่ดับทุกข์, ไม่มีการดับทุกข์ เพราะการปฏิบัติของเรา, เรามีองค์การชาติ, องค์การระดับชาติ, องค์การระหว่างชาติมากมายแล้วในโลกเวลานี้ เพื่อจัดการให้มีสันติภาพ แต่สันติภาพก็ยิ่งไม่มี, ยิ่งห่างไกลๆ โลกเพิ่มวิกฤติการไปทั่วทุกหัวระแหง นี่เพราะว่าการกระทำนี้มันไม่ได้เกี่ยวกับธรรมะ มันไม่ได้เกี่ยวกับความทุกข์ หรือเหตุแห่งความทุกข์จะดับลงไป มันเกี่ยวกับความต้องการใหม่ๆ และเป็นการต่อสู้แย่งชิงกันเสียเองระหว่างชาติ, ระหว่างกลุ่ม, ระหว่างสังคม มันมีแต่การแย่งชิงต่อสู้ เพื่อประโยชน์ทางวัตถุที่ไม่ดับทุกข์ เพราะว่ามันไม่เกี่ยวกับธรรมะ, มันไม่เกี่ยวกับธรรมะ เราควรจะมีองค์การระดับชาติที่เกี่ยวกับธรรมะ United Nations ควรจะเปลี่ยนเป็น United Religions อะไรเสียมากกว่า มันจะได้เกี่ยวข้องเข้ามากับธรรมะ แล้วธรรมะจะช่วยดับทุกข์ นี่ ผลที่เราได้รับมันไม่เกี่ยวกับธรรมะ เพราะเราไม่ได้ทำไปเพื่อธรรมะ นี่ละเป็นปัญหา ท่านจะสนใจหรือไม่สนใจก็ตาม สิ่งนี้ยังคงเป็นปัญหาที่เราไม่ได้รับสันติภาพตามที่ควรจะได้รับ ในที่นี้ก็จะพูดกันถึงความลับ, ความลับอย่างยิ่ง แต่เราไม่สนใจ ถ้าเรียนธรรมะ ก็ต้องเรียนธรรมชาติ เพราะธรรมะคือ ธรรมชาติ, ธรรมชาติคือ ธรรมะ อย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว ถ้าจะรู้ธรรมะถึงที่สุด ก็ต้องรู้เรื่องธรรมชาติถึงที่สุดใน ๔ ความหมาย ตัวธรรมชาตินี้อย่างหนึ่ง, ตัวกฏของธรรมชาตินี้อย่างหนึ่ง, ตัวหน้าที่ตามกฏของธรรมชาตินี้อย่างหนึ่ง แล้วผลที่จะเกิดมาจากหน้าที่นั่นอีกอย่างหนึ่ง เป็น ๔ หัวข้อ เป็น ๔ ความหมายของธรรมชาติ นั่นละคือ เรียนธรรมะ, เรียนธรรมะ คือ เรียนธรรมชาติ, เรียนธรรมชาติ คือ เรียนธรรมะ
ขอให้สนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ มองเห็นโดยกว้างๆ ทั่วไปว่า จักรวาลทั้งจักรวาล, ทั้ง cosmic universe นี่มันก็เป็นธรรมชาติ, เป็นตัวธรรมชาติ, ตัว the body ของธรรมชาติ แล้วในตัวธรรมชาตินั้น มันมีกฏ, กฏ, กฏ, มี law ของธรรมชาติ แล้วมันเกี่ยวกับสิ่งที่มีชีวิตว่า จะต้องปฏิบัติให้ถูกตามกฏของธรรมชาติ ไม่ถูกตามกฏของธรรมชาติมันจะต้องตาย นี่เรียกว่าหน้าที่, หน้าที่ตามกฏของธรรมชาติ, หน้าที่ที่ปฏิบัติแล้วมันมีผลออกมาตรงตามที่ต้องการ ถ้าไม่ถูกต้อง มันไม่มีผลออกมาตามที่ต้องการ เราจงศึกษาธรรมชาติให้ครบทั้ง ๔ ความหมายคือ ตัวธรรมชาติเอง, ตัวกฏของธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวธรรมชาติ และมีตัวหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามกฏของธรรมชาติ และก็มีผลที่เกิดออกมาเป็นที่น่าพอใจ นี่ธรรมชาติ ๔ ความหมาย ๔ ความหมายคืออย่างนี้ นี่คือ ตัวธรรมะทั้งหมด, ทั้งหมด ไม่ยกเว้นอะไร ธรรมะทั้งหมดคือ ธรรมชาติ ๔ ความหมาย ขอโอกาสเน้นคำ ๔ คำ อีกสักครั้งหนึ่งเถิดว่า ตัวธรรมชาติ, ตัวกฏของธรรมชาติ, ตัวหน้าที่ตามกฏของธรรมชาติ แล้วผลที่จะได้รับจากหน้าที่ salvation หรืออะไรนี่เป็นผลที่จะได้รับจากธรรมชาติ, ตัวธรรมชาติ, ตัวกฏธรรมชาติ หน้าที่ตามกฏของธรรมชาติ ผลจากธรรมชาติ ๔ ทาง
ทีนี้ก็มีความลับ ที่ก็บอกแล้วว่าเป็นความลับนี่คือ ท่านต้องหาให้พบในตัวเรา, ในตัวเรา ทุกๆ ปรมาณู ทุกๆ ปรมาณู ทุกส่วนที่ประกอบขึ้นมาจากปรมาณู, จะเป็นเนื้อ, เป็นหนัง, เป็นเลือดเนื้อ มันก็เป็นตัวธรรมชาติ, ตัวธรรมชาติ, ตัวธรรมชาติ และในทุกๆ ปรมาณูมันก็มีกฏของธรรมชาติควบคุมอยู่ ทุกส่วน อวัยวะทุกส่วนมันมีกฏของธรรมชาติควบคุมอยู่ และมันจึงมีหน้าที่ แขน, ขา, มือ, ตีน มันจึงมีหน้าที่ อวัยวะทุกอย่างมันมีหน้าที่ตามธรรมชาติ แล้วเมื่อทำหน้าที่แล้ว, ทำถูก ผลมันจึงจะได้รับเป็นที่น่าพอใจ ถ้าทำผิดตรงกันข้ามเป็นความทุกข์ ท่านจงดูตัวธรรมชาติ, ตัวกฏธรรมชาติ, ตัวหน้าที่ตามกฏของธรรมชาติ และผลจากหน้าที่ในตัวเราเอง, ในตัวเราเอง คนคนหนึ่งยาวสัก ๑ ฟาธอมเท่านั้นเองนี่ มันมีทั้งหมด, ทั้งหมดของธรรมชาติ นี่ความลับที่จะต้องศึกษาในตัวเราเองนั่นละคือ ธรรมะที่ท่านมาเพื่อศึกษาที่นี่
ทีนี้ท่านก็พอจะมองเห็นได้เองแล้วว่า ทั้ง ๔ ความหมายนั่น ความหมายที่ ๓, ความหมายที่ ๓ นั้นสำคัญที่สุดคือ หน้าที่, หน้าที่ ข้อที่ ๓ นี่เป็นสิ่งที่ต้องจัดการให้ดีที่สุดเต็มความหมายที่สุด, ต้องจัดให้ร่างกายนี่มีหน้าที่ถูกต้อง, จิตใจนี้มีหน้าที่ถูกต้อง, สติปัญญามีหน้าที่ถูกต้อง หน้าที่ทุกหน้าที่, หน้าที่ที่ออฟฟิต, ที่บ้านที่เรือน, ที่ไหนๆ, ทุกหน้าที่, ถูกต้องๆ ทุกหน้าที่ ธรรมะคือ หน้าที่ ,หน้าที่คือ ธรรมะ, ธรรมะคือ หน้าที่ มาสรุปรวมอยู่ของความหมายที่ ๓ ของความจริงของธรรมชาติ สรุปความหมายทั้งหมดลงเป็นประโยคสั้นๆ เพียงประโยคเดียว, ประโยคเดียว ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฏของธรรมชาติ จนไม่มีปัญหาใดๆ เกิดขึ้น หรือเหลืออยู่ ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฏของธรรมชาติจนไม่มีปัญหาใดๆ เกิดขึ้น หรือเหลืออยู่ ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฏของธรรมชาติจนไม่มีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นหรือเหลืออยู่ ขอได้โปรดจำประโยคสั้นๆ ประโยคนี้ไว้ แต่นั่นละคือ ทั้งหมด นั่นคือ ธรรมะ ถ้าปฏิบัติไม่ถูกต้องปัญหาจะเกิดขึ้น แล้วก็เหลืออยู่เป็นปัญหา, ลำบาก, ยุ่งยาก เราจะสรุปเป็นคำพูดสั้นๆ ว่า เราจะต้องปฏิบัติธรรมะให้ถูกต้อง แล้วจะได้ผลคือ ชีวิตไม่กัดเจ้าของ อาจจะเป็นคำแปลกหูสำหรับท่าน แต่ขอได้สนใจศึกษาเป็นพิเศษว่า ชีวิตนั่นเองมันจะกัดท่านหรือกัดเจ้าของ ในเมื่อท่านไม่ปฏิบัติธรรมะอย่างถูกต้อง ปฏิบัติธรรมะอย่างถูกต้องแล้ว ชีวิตนี้จะไม่กัดเจ้าของ เราจะลองเปรียบเทียบกันดูว่า สุนัขนี้ก็ของเรา, ชีวิตนั้นก็ของเรา แต่สุนัขไม่เคยกัดเรา แต่ชีวิตนั่นเสียอีกมันกัดเรา, มันกัดเรา เดี๋ยวความรักกัด, เดี๋ยวความโกรธกัด, เดี๋ยวความเกลียดกัด, ความกลัวกัด, ชีวิตมันกัดเราผู้เป็นเจ้าของ มันก็เลวต่ำกว่าสุนัขอีก เพราะไม่มีธรรมะชีวิตจึงกัดเจ้าของ เราว่ากันเรียงอย่างทีละอย่างสะดวกกว่า ประเดี๋ยวความรักกัด, เดี๋ยวความโกรธกัด, เดี๋ยวความเกลียดกัด, เดี๋ยวความกลัวกัด, เดี๋ยวความตื่นเต้นๆ กัด, เดี๋ยววิตกถึงเรื่องอนาคตกัด, เดี๋ยวอาลัยถึงเรื่องอดีตกัด, อิจฉาริษยากัด, ความหวงกัด, การหึงทางเพศกัด, ยังมีอีกมากเท่านี้ก็พอแล้ว ยังมีอีกมากที่มันจะกัด ชีวิตมันจะกัดเจ้าของนะ ด้วยอาการอย่างนี้ก็เหลือทนแล้ว
อุปมาแต่โบราณของชาวอินเดีย หรือของชาวอียิปต์ก็ตาม น่าสนใจมาก ชีวิตนี้, ชีวิตนี้ถ้าเรารู้จักมันดีไม่มีปัญหา ถ้าเราไม่รู้จักมัน, มันกลายเป็นยักษ์กัดเรา คำว่า ยักษ์ นี่แปลยาก ยักษ์ทั้งดุร้าย, ทั้ง ... (นาทีที่ 1:14:52) ทั้งเลวร้ายหลายๆ อย่าง มันจะเป็นยักษ์กัดเรา ชีวิตนี่เองจะกลายเป็นยักษ์แล้วก็กัดตัวเอง ยักษ์ demon หรืออะไรก็ไม่รู้จะเรียก อย่างอินเดียก็จะมีเรื่องสอนเด็กเล่า ที่นอกเมืองมีสระที่จะผ่านไป เวลาคนจะผ่านไปจะมียักษ์ขึ้นมาจากสระจะถามปัญหา ถ้าตอบได้ก็ปล่อยให้ไป ถ้าตอบไม่ได้ก็กินเสีย ปัญหาโดยมากที่ถามก็ถามว่า เกิดมาทำไม, จะทำอะไร, จะไปทางไหน, เกิดมาทำไม นั่นคือปัญหา ตอบไม่ได้ยักษ์ก็กินเสีย เรื่องของพวกอียิปต์ก็มีเล่าอย่างเดียวกัน ยักษ์ เรียกว่า สฟิงซ์, สฟิงซ์ อะไรทำนองนั้น มันอยู่ที่ต้นทาง, ปากทาง, ปากทาง ทางที่จะเข้าออกเมือง เมื่อคนจะผ่านไป ก็ถามปัญหานี้ สรุปความได้ว่า จะเกิดมาทำไม, จะต้องทำอะไร นี่ตอบไม่ได้ยักษ์ก็กินเสีย, ยักษ์ก็กินเสีย สฟิงซ์ก็จะกินเสีย ถ้าตอบได้, สฟิงซ์ก็จะตายเอง, สฟิงส์ก็จะตายเอง แล้วทีนี้เราก็จะรอด นี่คนโบราณคิดมากเรื่องปัญหาของชีวิตคือ ธรรมะสำหรับชีวิต ถ้าไม่รู้มันจะฆ่าตัวเองตาย ถ้ารู้มันก็จะรอด นี่คือสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ ที่เราจะต้องรู้เพื่อตอบปัญหาของยักษ์ มันน่าสังเกตต่อไปอีกว่า สฟิงซ์นี่, เขาทำหน้าตาเหมือนกับคนนี่, หน้าตาเหมือนกับคนนี่ แต่ทำไมกลายเป็นยักษ์ขึ้นมาได้ จากคนกลายเป็นยักษ์ขึ้นมาได้ ตัวสฟิงซ์นี่ทำเป็น lion มันหมายความว่า มันดุร้ายมาก ตัวของมันกลายเป็นยักษ์ขึ้นมาได้ แล้วมันยังมีปีกด้วย หมายความว่า เราไม่มีทางจะหลีกเลี่ยง, เราไม่มีทางหลีกเลี่ยง มันมีปีก, มันบินไปได้ทุกแห่ง, มันไปสร้างปัญหาขึ้นทุกแห่ง, มันไม่มีทางจะหลีกเลี่ยงได้ ฉะนั้นขออย่าได้คิดที่จะเล่นตลก หรือหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านี้กับชีวิตเลย จัดการมันให้ถูกต้องๆ จนกว่าจะหมดปัญหา เครื่องมือที่จะทำได้อย่างนี้ก็คือสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ, ธรรมะ, ธรรมะ มันน่าหัวที่ว่า ถ้าเรารู้จักธรรมะ, เรารู้จักธรรมะ ยักษ์เป็นฝ่ายตาย ถ้าเราไม่รู้จักธรรมะ เราเป็นฝ่ายตาย, เราไม่รู้จักธรรมะ เราเป็นฝ่ายตาย ถ้าเรารู้จักธรรมะ, ธรรมะ ยักษ์เป็นฝ่ายตาย คือ ปัญหาจะเป็นฝ่ายหมดไป ถ้าเราไม่รู้จักธรรมะ ปัญหา หรือยักษ์มันจะเกิดขึ้นไม่มีที่สิ้นสุด
ทีนี้ก็มาพิจารณากันสักหน่อยถึงความรู้ธรรมะ, ความรู้ธรรมะที่สูงสุด มันก็คุ้มค่าเวลาละ ขอให้ฟังเถิดว่า เราจะต้องรู้ธรรมะคือ ความจริงของธรรมชาติ, กฏของธรรมชาติ และรู้หน้าที่พร้อมกันไปในตัว สิ่งแรกที่จะต้องรู้จักก็คือ อนิจจตา ความไม่เที่ยงของสิ่งทั้งปวง สิ่งทั้งปวงเหล่านั้นมันมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง และเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งนั้นมันเปลี่ยนแปลงเรื่อย, ไหลเรื่อย เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านั้นก็ไม่เที่ยง, เปลี่ยนแปลงเรื่อย และไหลเรื่อยไปด้วยกัน ความเป็นอย่างนี้เรียกว่า ความไม่เที่ยงคือ ความเปลี่ยนแปลงเรื่อย ขอให้รู้จักว่า ไอ้สิ่งที่เป็นจักรวาลทั้งหมดทั้งสิ้นภายนอกตัวเรา, ภายในตัวเรา มันไม่เที่ยง, มันไหลเรื่อย, มันเปลี่ยนแปลงเรื่อย พวกกรีกเขาก็รู้เรื่องนี้ เขาก็สอนลัทธิว่า สิ่งเหล่านี้มันไหลเรื่อยเหมือนกัน แต่ในทางอินเดียนี่เน้นมากที่สุดเป็นทุกลัทธิ, ทุกศาสนา ทีนี้เรามีความจำเป็นโดยธรรมชาติบังคับ หรืออะไรก็ตาม มีความจำเป็นที่จะต้องอยู่กับสิ่งที่ไม่เที่ยง ต้องทนอยู่กับสิ่งที่ไม่เที่ยง นั่นละคือ อาการที่เป็นทุกข์, มีปัญหามากเพราะต้องทนอยู่กับสิ่งที่ไม่เที่ยง สิ่งนั้นเรียกว่า ทุกขตา หรือความทุกข์ เราไม่มีหนทาง, ไม่มีอำนาจที่จะบังคับให้สิ่งต่างๆ เป็นอย่างที่เราต้องการ มันเป็นไปตามธรรมชาติไม่มาเป็นอย่างที่เราต้องการ เราบังคับธรรมชาตินี้ไม่ได้ นี้เรียกว่า เป็น อนัตตา คือ ไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ เมื่อเราเห็นสิ่งเหล่านี้มากเข้า, ชัดเจนเข้า เราก็จะมีความรู้ว่า โอ้, ทั้งหมดมันเป็นอย่างนี้เอง ธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้เอง ทั้งหมดเป็นอย่างนี้เองตามธรรมดาของมัน อันนี้เรียกว่า เห็น ธัมมัฏฐิตตา ธัมมัฏฐิตตา มันเป็นอย่างนี้เอง, มันเป็นอย่างนี้เอง เมื่อเราศึกษา และสังเกตมากเข้า เราก็จะเห็นต่อไปว่า โอ้, ทำไมเป็นอย่างนี้ เพราะว่า มีกฏของธรรมชาติบังคับอยู่, มีกฏของธรรมชาติบังคับอยู่ การเห็นว่ามีกฏของธรรมชาติบังคับอยู่นี้คือ การเห็น ธัมมนิยามตา ความที่มีกฏของธรรมชาติบังคับอยู่ เรียกว่า ธรรมนิยามตา ทีนี้ก็เห็นว่าสิ่งทั้งปวงต้องเป็นไปตามนั้น, สิ่งทั้งปวงมีอาการเป็นไปอย่างนั้น ตามกฏของธรรมชาติอย่างนั้น นี้เรียกว่า เห็น อิทัปปัจจยตา หรือ ปฏิจจสมุปบาท เห็น อิทัปปัจจยตา
อิทัปปัจจยตา เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ท่านจะต้องศึกษามาก เป็นจุดตั้งต้นของการดับทุกข์ อิทัปปัจจยตา เมื่อมีความรู้ในความจริงมาถึงขนาดนี้แล้ว ก็จะรู้หรือเห็นหรือเห็นแจ่มแจ้งได้เองว่า ไม่มีอะไรที่ควรจะไปยึดถือคือ ไปสำคัญมั่นหมาย, ไป regard, ไป classify ว่าเป็นตัวเรา หรือเป็นของเรา นี่ไม่มีอะไรจะเป็นตัวตน หรือเป็นของตน ตามความรู้สึกหยาบๆ ก็ไม่มีอะไรจะเป็นตัวกู หรือเป็นของกูได้เลย นี่เรียกว่าเห็น สุญญตา ว่างจากความหมายแห่งตัวตน ไม่มีอะไรที่ควรยึดถือว่า ตัวตน เรียกว่า เห็น สุญญตา ที่ลึกซึ้งละเอียดไปกว่านั้นก็คือ จะเห็นได้ถึงกับว่า ไม่มีอะไรที่ควรจะถือจะ classify ว่าเป็นบวก หรือเป็นลบ, ไม่มี negative, ไม่มี positive นี่ เราก็มีจิตใจเป็นอิสระ, ไม่หลงความเป็นบวก, ไม่หลงความเป็นลบ ก็จะไม่เกิดกิเลสใดๆ ที่ทำให้ชีวิตกัดเจ้าของ ความรักไม่เกิด, ความโกรธไม่เกิด, ความเกลียดไม่เกิด, อะไรมันไม่เกิด เพราะไม่หลงความเป็นบวก หรือความเป็นลบ ประโยชน์ของ สุญญตา มีมากถึงอย่างนี้ สุญญตา ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีอะไร แต่หมายความว่ามี, มี, มีแต่สิ่งที่ไม่ควรจะยึดถือว่าตัวเรา หรือของเรา มันมีแต่สิ่งที่ไม่ควรยึดถือว่าเป็นตัวเรา, ว่าเป็นของเรา มันมีแต่สิ่งหลอกลวงอย่างนี้ ไม่อาจจะเกิดความรัก, ความโกรธ, ความเกลียด, ความกลัว, ความตื่นเต้น เพราะเห็นสิ่งนี้ชีวิตจะไม่กัดเจ้าของอีกต่อไป เพราะเห็นความจริงสิ่งสูงสุดของ สุญญตา เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้วก็เรียกว่า เป็นความรู้, สรุป, ความรู้นะ ส่วนที่เป็นความรู้สรุปอีกทีว่า ตถาตา, ตถาตา มันเป็นเช่นนี้เอง, มันเป็นเช่นนี้เอง ไม่มีอื่นจากความเป็นอย่างนี้เรียกว่าเห็น ตถาตา จะคงที่อยู่ในความเห็นที่ถูกต้องว่า มันเช่นนี้เอง, เช่นนี้เอง, ไม่ไหว, ไม่ move, ไม่อะไรต่อสิ่งทั้งปวง คำนี้ฟังดูเหมือนกับพูดเล่นๆ, พูดเล่น, พูดไม่รับผิดชอบ แต่ไม่ใช่พูดเล่น นี่เป็นความจริงสูงสุด, เป็นความจริงสูงสุด เมื่อเราเห็นเป็นเรื่องพูดเล่น, เราก็ไม่สนใจ, เราก็ไม่เห็น ตถาตา, เราไม่เห็น ตถาตา, เราไม่เห็น ตถาตา เพราะเราฟังดูคล้ายเป็นเรื่องพูดเล่น นี่ตรงนี้ขอให้สำคัญ ขอให้ตั้งใจระมัดระวังที่สุด, เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ไม่ใช่พูดเล่นว่า มันเป็นเช่นนี้เอง, มันเป็นเช่นนี้เอง เรื่องของความรู้, ความรู้, ความจริงถึงที่สุดแล้ว ก็มาถึงสิ่งสุดท้าย คือผล ผลของการรู้ จะเกิดความคงที่อยู่ในความถูกต้อง, ไม่เปลี่ยนแปลง, ไม่หวั่นไหวไปตามสิ่งที่เปลี่ยนแปลง คงที่อยู่ในความถูกต้องคือ สันติภาพ หรือความถูกต้องที่จะไม่เป็นทุกข์เลยนั้น เรียกว่า อตัมมยตา, อตัมมยตา คงที่อยู่ในความถูกต้องจนอะไรๆ มาเปลี่ยนแปลงไม่ได้, ปรุงแต่งไม่ได้, ชักพาไปทางไหนก็ไม่ได้ นี่เรียกว่า อตัมมยตา ความคงที่ของจิตที่ไม่มีอะไรมาเปลี่ยนแปลงได้, ปรุงแต่งได้ เป็นสิ่งสุดท้ายที่เราจะได้รู้ และต้องรู้ และได้รู้ด้วยเหมือนกัน เห็นเช่นนั้นเอง, เช่นนั้นเองจนจิตคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งปรุงแต่งแล้ว ก็ประเสริฐที่สุด มีความคงที่เพราะความรู้ที่ถูกต้อง
เดี๋ยวนี้ เรามีความรู้ที่ถูกต้องว่า ไม่มี อัตตา ลูกตา, ตาเห็นรูป ก็ตาเห็นรูป ไม่ใช่กูเห็นรูป หูได้ยินเสียงก็เหมือนกัน หูได้ยินเสียง ไม่ใช่กูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ก็จมูกมันได้กลิ่น ลิ้นได้รส ก็ลิ้นได้รส ไม่ใช่กูได้ลิ้มได้รส ด้วยระบบประสาทตามธรรมชาติมันรู้สึกอย่างนั้น ไม่มีตัวกูไม่มีของกู นี่มันก็ไม่เกิดความยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวกูแล้วก็เห็นแก่ตัว, เห็นแก่ตัว, เห็นแก่ตัว และก็ selfish แล้วก็ทำความทุกข์นานาประการ ความเห็นแก่ตัวหมดไป เพราะเห็นว่ามันไม่ใช่ตัว ถ้ามีดบาดนิ้วก็มีดบาดนิ้วสิ อย่าให้มีดบาดกู ความหมายมันต่างกันมากนะ ถ้าเราคิดว่ามีดบาดนิ้วกับมีดบาดกู, ต่างกันมาก ความหมายมันต่างกันมาก ความไม่มีตัวกูนั่นละ, เป็นชนะ, เป็นชัยชนะแก่ความความทุกข์ ความทุกข์เกิดไม่ได้ ขอให้เห็น ตถาตา มันเป็นอย่างนี้เอง, มันไม่ใช่ตัวกู, มันเป็นระบบธรรมชาติ, ระบบประสาทตามธรรมชาติ, ไม่มีตัวกูอันแท้จริง ปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้องอย่างนี้แล้วความทุกข์ไม่มี เมื่อมันไม่มีตัวตน, ไม่มีตัวตนแล้ว ไอ้ของตน, ของตนที่เนื่องอยู่กับตน หรือของตนมันก็มีไม่ได้ เพราะนั้นจิตจึงไม่หมายมั่นด้วยความยึดถือว่า เงินทองของเรา, ทรัพย์สมบัติของเรา, บุตร, ภรรยา, สามีของเรา, อำนาจวาสนา อะไรของเรา, มันไม่ความยึดถือสิ่งใดโดยความเป็นของเรา มันก็ไม่เกิดความทุกข์ ชีวิตก็ไม่กัดเจ้าของ แต่เราก็สามารถกระทำแก่สิ่งนี้นะ ทรัพย์สมบัติ, เงินทอง, ข้าวของ, บุตร, ภรรยา, สามี, อำนาจวาสนา เราสามารถจะจัดไปๆๆ ในทางที่จะไม่ทำให้เกิดปัญหา, ไม่เกิดความทุกข์ใดๆ แก่ผู้ใด นี่ประโยชน์ของการเห็นว่ามันไม่มีตัวตน และไม่มีของตน เป็นเรื่องสุดท้ายของความรู้, เป็นเรื่องจบสิ้นของความรู้ ไม่ยึดถือสิ่งใดโดยความเป็นของตน
ท่านต้องศึกษามาถึงขั้นนี้ ถึงจะมีธรรมะสมบูรณ์ ถ้าท่านชอบสิ่งที่เรียกว่า art ก็ขอให้รู้ว่านี่คือ artistic ที่สุด เป็นยอดสุดของ art ที่เราสามารถจะมี, จะทำ, จะใช้, จะทำทุกอย่างโดยไม่ต้องเกิดความทุกข์ จะมีเงิน, มีทรัพย์สมบัติ, มีครอบครัว, มีอำนาจ, มีวาสนาบารมี, มีได้ทุกอย่าง, ใช้ได้ทุกอย่าง แต่ไม่เกิดทุกข์ นี่มันเป็น artistic ที่สุด ถ้าชอบ art ละก็ ศึกษาธรรมะในความหมายนี้ก็ได้เหมือนกัน
เอ้า, ในที่สุดก็ขอสรุปความคำว่า ธรรมะ, ธรรมะ ความหมายที่หนึ่งแปลว่า มันทรงตัวมันเองอยู่ได้ ธรรมะ แปลว่า ทรง คือ ทรงตัวเองอยู่ได้เป็นธรรมชาติ, เป็นกฏธรรมชาติอย่างแน่นอน นี่ทรงตัวมันเองอยู่ได้ จะเป็นธาตุชนิด organic , inorganic อะไรก็ตาม มันทรงตัวมันเองอยู่ได้ทั้งนั้นละ ธรรมชาติ รูปก็ดี, นามก็ดี คือร่างกายก็ดี, จิตใจก็ดี มันทรงตัวมันเองอยู่ได้ นี่คือธรรมะ ธรรมะแปลว่าทรง มันทรงตัวเองอยู่ได้นี่คือ ธรรมะ ข้อที่สอง มันทรงตัวมันเองอยู่ได้ และมันทรงตัวผู้ที่มีธรรมะ ผู้ใดมีธรรมะ, ธรรมะจะทรงตัวผู้นั้น, ให้มีอยู่ได้, ให้รอดอยู่ได้, ให้เป็นอยู่อย่างพึงปรารถนา นี่เรียกว่า ทรงผู้มีธรรมะไว้ได้ ข้อที่สาม เป็นสิ่งสูงสุดของจักรวาลทั้งหมดทั้งสิ้นคือ เป็นสิ่งที่ทุกสิ่งจะต้องเชื่อฟัง บรรดาสิ่งที่มีชีวิตจะต้องเชื่อฟัง โดยถือธรรมะเป็นสิ่งสูงสุด แม้แต่พระพุทธเจ้าท่านก็เคารพธรรมะคือกฏของธรรมชาติข้อนี้ด้วยเหมือนกัน, เป็นสิ่งสูงสุดเหนือสิ่งใด ข้อสุดท้ายที่มันแปลกที่สุดก็คือว่า มันจะแปลเป็นภาษาอื่นไม่ได้ มันเรียกด้วยคำอื่นนอกจากคำนี้ไม่ได้ ขอให้เรียกว่า ธรรมะ, ธรรมะ, ธรรมะ ไปตามเดิม อย่าไปพยายามแปลไปเป็นอันอื่นเลย นี่คือ ธรรมะอันสูงสุด, ธรรมะอันเด็ดขาดที่ท่านทั้งหลายจะต้องรู้, จะต้องปฏิบัติ และก็ได้รับผลอันแท้จริงของมัน ได้ยินว่าในประเทศอังกฤษมีที่ประชุมศึกษากัน จะแปลคำว่า ธรรมะ เป็นภาษาอังกฤษ เขาแปลออกมาตั้ง ๓๘ คำ แล้วยังไม่หมด แล้วเลยยอมแพ้, ยอมแพ้ ต้องแปลว่า ธรรมะ, ธรรมะ ให้สูงสุดคำเดียวต่อไปโดยประการทั้งปวง
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ท่านจะต้องทราบเกี่ยวกับธรรมะให้มากยิ่งขึ้นไปกว่าที่แล้วมา ขออภัยที่ต้องกล่าวว่า ท่านยังรู้จักสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ ไม่มาก หรือน้อยไป ต้องรู้อีก, ต้องรู้ให้มากกว่าที่แล้วมา จึงเอามาพูดในวันนี้ ในฐานะสิ่งที่ท่านจะต้องรู้จักให้มากกว่าที่แล้วมา
ขอขอบคุณ เป็นผู้ฟังที่ดีมาสองชั่วโมงแล้ว ขออภัยถ้าทำให้ท่านลำบากบ้าง แต่มันจะได้ประโยชน์คุ้มกัน ขอยุติการบรรยายในวันนี้ไว้เพียงเท่านี้ ที่จริงมันก็เท่ากับพูดชั่วโมงเดียว แต่นี่มันพูดสองภาษา มันเลยกลายเป็นสองชั่วโมง ชั่วโมงเดียวกลายเป็นสองชั่วโมง ขอให้คิดว่าเราพูดกันชั่วโมงเดียว