แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการพูดกันครั้งที่ ๒ นี่ อาตมาจะซ้ำ Repeat ในเรื่องปฏิจจสมุปบาทในส่วนที่เป็นหลักความจำ แล้วก็จะเน้นในส่วนที่เป็นการคิดโดยเหตุผลให้เห็นชัดเจนยิ่ง ยิ่งขึ้นๆ เหมือนกับ Emphasize ขอให้ท่านสังเกตและพยายามทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ การที่เรามาพูดกันเวลาอย่างนี้ซึ่งเป็นเวลานอนก็มีเหตุผลว่า พูดอย่างอุปมานั้นก็ว่า น้ำชายังไม่ล้นถ้วย ยังเติมอะไรลงไปได้ง่าย นี่จึงเหมาะที่จะมาพูดกันเวลาเช่นนี้ จิตใจกำลังแจ่มใส กำลังจะเบิกบานเหมือนดอกไม้ที่มันจะเบิกบาน ขอให้อดทนนิดหน่อย
สิ่งที่จะต้องย้ำก็คือ สิ่งแรกก็คือถ้อยคำ คำพูดนั่นน่ะ มันมีอยู่ ๒ คำว่า ปฏิจจสมุปบาท กับ อิทัปปัจจยตา มันหมายถึงการอาศัยกันเกิดขึ้น อาศัยกันแล้วเกิดสิ่งใหม่ขึ้นนี่ ถ้าหมายถึงสิ่งทั่วไป ของสิ่งทั่วไปเราเรียกว่า อิทัปปัจจยตา แต่ถ้าหมายเฉพาะสิ่งที่เป็นทุกข์ เรื่องของความทุกข์ เราเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ท่านต้องเห็นไอ้ความจริงพื้นฐาน Basic เสียก่อนว่า มันไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นได้ลำพังสิ่งนั้นสิ่งเดียว ลำพังสิ่งนั้นสิ่งเดียวเกิดไม่ได้ มันต้องมีอีกสิ่งหนึ่งน่ะมาอาศัยกันเข้า แล้วก็เกิดสิ่งใหม่ออกมานี่ ฉะนั้นไอ้ข้อที่มันต้องอาศัยกันแล้วเกิดขึ้น อาศัยกันแล้วเกิดขึ้นนี่เราเรียกว่า อิทัปปัจจยตา หรือ ปฏิจจสมุปบาท
มันมีหลักเกณฑ์ตายตัว ตายตัวที่ว่า ถ้าหมายถึงสิ่งใดก็ได้ทั้งหมดทุกสิ่งแล้วเราก็เรียกว่า อิทัปปัจจยตา ถ้าหมายเฉพาะแต่เรื่องที่มีความทุกข์ ของสิ่งที่มีความทุกข์ รู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์นี้เราเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท แต่เป็นที่น่าเสียใจที่ว่าได้ใช้คำๆนี้กันอย่างสับสนไม่เป็นระเบียบ แทนที่จะพูดให้ถูกต้องว่า อิทัปปัจจยตา ไปพูดว่า ปฏิจจสมุปบาท แทนที่จะพูดว่า ปฏิจจสมุปบาท ไปพูด อิทัปปัจจยตา แม้ในประเทศไทยนี่ ประเทศลังกา ประเทศพม่า เท่าที่อาตมาได้สังเกตดูก็มีผู้คนใช้คำๆนี้อย่างสะเพร่าหรือพูดไม่ระมัดระวัง อาจจะทำให้ท่านทั้งหลายงงหรือเข้าใจผิดก็ได้
ในการศึกษาปฏิจจสมุปบาทนั้นมันก็มีส่วนที่จะต้องศึกษาทั้ง ๒ วิธี ทั้ง ๒ ระดับ คือในระดับที่เป็นเพียงความรู้ เป็นวิชาความรู้ เป็นทฤษฎีนี้ก็ระดับหนึ่ง แล้วอีกระดับหนึ่งก็เป็นเรื่องปฏิบัติ ปฏิบัติลงไปจริงๆ เราจะต้องศึกษาให้แตกฉานทั้ง ๒ ระดับ
เราจะพูดกันในส่วนที่เป็นความรู้หรือเป็นวิชาความรู้ เป็นทฤษฎีก่อนว่า ปฏิจจสมุปบาท กฎเกณฑ์อันนี้มันเป็นกฎของธรรมชาติ เป็นกฎของธรรมชาติ คำว่ากฎ กฎ หรือ Law นี่ในภาษาบาลีไปเรียกเสียว่า ธาตุ ธา-ตุ Element นี่ก็มี แต่ว่าจะเรียกว่า ธาตุ หรือเรียกว่า กฎ มันก็หมายถึงสิ่งเดียวกันแหละ มันเป็นธาตุที่ตายตัวแล้วมันก็เลยเรียกว่า กฎ มันจะมีกฎที่ว่าสิ่งทั้งปวงจะต้องเป็นไปตามกฎของปฏิจจสมุปบาท นี่ท่านทั้งหลายจงรู้จักปฏิจจสมุปบาทในฐานะที่เป็นกฎของธรรมชาติ ในที่นี้เรียกว่าธาตุ ธาตุตามธรรมชาติชนิดพิเศษ ธาตุๆหนึ่งก็ได้เหมือนกัน
เกี่ยวกับเรื่องนี้มันมีส่วนที่เราไม่ต้องรู้ก็ได้ มันเป็นหลายส่วนด้วยกันคือว่า สิ่งที่ทำให้เกิดกฎ สิ่งที่ทำให้เกิดกฎ เราไม่อาจจะรู้หรือเราๆไม่ต้องพยายามจะรู้ว่าสิ่งที่จะทำให้เกิดกฎนั่นว่าคืออะไร จะเรียกเหมาๆว่าพระเจ้าก็ได้ แล้วมันก็มีตัวกฎที่ได้เกิดขึ้น ได้เกิดเป็นกฎอยู่ แล้วมันยังจะต้องมีผู้บอก ผู้สอนเรื่องกฎนั้นให้รู้ต่อๆกันไปนี่ ข้อเท็จจริงที่มันอยู่ในปัจจุบันนี้มันก็มี ๓ ชั้นอย่างนี้ มันมีสิ่งที่ทำให้เกิดกฎ เรารู้ไม่ได้ เรารู้ไม่ได้ แล้วก็มีตัวกฎๆๆๆซึ่งเราก็ยังรู้ไม่ได้อีกแหละว่าเป็นอย่างไร จนกระทั่งมีผู้บอก ผู้ค้นพบ ผู้เห็นกฎนี้แล้วเอามาบอกอีกทีหนึ่งเราจึงรู้กฎนี้แล้วเราก็ปฏิบัติตามได้ มันมีอยู่เป็น ๓ ชั้นอย่างนี้
ชาวคริสเตียนอาจจะรวมทั้ง ๓ สิ่งนี้ไปอยู่ที่พระเจ้าคำเดียว พระเจ้าทำให้เกิดกฎ พระเจ้าก็เป็นกฎ พระเจ้าก็บอกกฎ แต่ว่าชาวพุทธเราไม่ได้ถืออย่างนั้น มันมีไอ้สิ่งที่ให้เกิดกฎซึ่งเราก็ยังไม่ต้องรู้ ไม่ต้องรู้ว่าอะไร แล้วก็ตัวกฎว่าอย่างไร ว่าอย่างไร เราก็ได้รับคำบอกคำกล่าวจากผู้ที่รู้ ใจความสำคัญมันอยู่ที่ว่าเราจะต้องปฏิบัติตามกฎนี้ให้มันถูกต้อง นี่จะถืออย่างคริสเตียน จะถืออย่างพุทธ ก็ขอให้มันสำเร็จประโยชน์ตรงที่ว่าเราจะได้ปฏิบัติตามกฎ ตามกฎให้ถูกต้องเท่านั้นเอง แล้วปัญหาก็จะหมดไป
ทีนี้ความรู้ที่แยกออกไปอีกแขนงหนึ่งก็คือความรู้ที่ว่า กฎปฏิจจสมุปบาทนั่นแหละเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง นี่ฟังๆว่าพระพุทธเจ้าพระองค์จริง คือพระพุทธเจ้าองค์นี้องค์บุคคลนี่ท่านบอกว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นจึงจะเห็นฉัน ผู้ใดเห็นฉัน ผู้นั้นต้องเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นฉัน” คือต่อเมื่อเห็นปฏิจจสมุปบาทอย่าง Realize นี่ มันจึงจะเห็นฉันคือเห็นพระพุทธเจ้า นี่เห็นปฏิจจสมุปบาทก็คือเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง
ท่านทั้งหลายได้อ่านหนังสือพุทธประวัติ พุทธประวัตินี่มามากมาย ทั้งในแง่ที่เป็น Historical เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ ทั้งในแง่ที่เป็น Legendary คือเป็นอย่างนิยาย เป็นอย่าง Mythology แต่ท่านก็ยังไม่รู้จักพระพุทธเจ้าพระองค์จริงได้หรอก จนกว่าท่านจะเห็นปฏิจจสมุปบาท ท่านจึงจะเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง เราเรียกว่าพระองค์ธรรม พระองค์จริงเรียกพระองค์ธรรม ธรรมะ พระองค์บุคคล พระองค์บุคคลนี้ยังไม่ใช่พระองค์จริง แต่องค์บุคคลนี่ช่วยให้เรารู้จักพระองค์จริง มันเนื่องกันอยู่อย่างนี้
อาตมาขอโทษ คือขอโอกาสนี่ใช้คำพูดที่รุนแรงว่า พระ พระพุทธเจ้าองค์ที่ฝรั่งยังไม่รู้จัก แม้เขาจะอ่านพุทธประวัติมามากมายเขาก็ยังไม่รู้จัก เพราะว่าท่านไม่ได้สนใจเรื่องปฏิจจสมุปบาท ไม่เคยอ่าน ไม่เคยศึกษา มันจะมีความรู้เรื่องพระพุทธเจ้าพระองค์จริงก็ต่อเมื่อมีความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท นี่เราเห็นเป็นเรื่องสำคัญที่ให้ท่านทั้งหลายศึกษาก่อนแต่ที่จะปฏิบัติธรรมะให้สูงขึ้นไป
พระพุทธเจ้าพระองค์จริงเป็น Eternal เลยไม่มี Life ไม่มีประวัติสำหรับพระพุทธเจ้าพระองค์จริง พระพุทธเจ้าพระองค์คนนี่เป็นชั่วคราว เป็น Temporary เลยมี Life เลยมีอะไรที่ทำให้เราศึกษา Life of Buddha นั่นมันก็เป็นเรื่องของคน บุคคลคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ แล้วถ้าเรารู้จักพระพุทธเจ้าพระองค์จริงเป็นนิรันดรแล้วก็ นั่นแหละจะเห็นว่าพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร ถ้าเห็นแต่พระพุทธเจ้าในประวัติศาสตร์ มีประวัตินี้ยังไม่ใช่พระพุทธเจ้าที่ต้องการในที่นี้ ที่จะต้องการให้ท่านรู้
พระพุทธเจ้าพระองค์จริงไม่มีไอ้ประวัติ ไม่มี Life หนังสือ Book ที่เรียกว่า Life of Buddha นั่นมันก็หมายถึงแต่พระพุทธเจ้าพระองค์คนซึ่งชั่วคราวนี่ มันต่างกันมากถึงอย่างนี้ ขอให้ตั้งใจกำหนดไว้ให้ดี แต่แล้วก็ว่าได้อาศัยพระพุทธเจ้าพระองค์คนที่ชั่วคราวนี้ช่วยบอกให้เรารู้จักพระพุทธเจ้าพระองค์จริง เพราะว่าพระพุทธเจ้าองค์บุคคลคนนี้ได้รู้จักพระพุทธเจ้าพระองค์จริงถึงที่สุดแล้ว คือตรัสรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท ท่านจึงสามารถบอกเรื่องพระพุทธเจ้าพระองค์จริงให้แก่เรา ขอบใจที่เราได้รู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท คือพระพุทธเจ้าพระองค์จริง
แต่แล้วก็เป็นที่น่าฉงนหรือน่าประหลาดที่ว่า พระพุทธเจ้าองค์นิรันดรนั่นน่ะหาพบได้ในร่างกายเรา ในตัวของเราน่ะ ในๆร่างกายเรานั้นจะหาพบพระพุทธเจ้าองค์นิรันดรได้ คือหาพบกฎของปฏิจจสมุปบาทได้แม้เพียงในๆร่างกายของเราที่มีอายุเพียงชั่วคราวนี่ กฎปฏิจจสมุปบาทหาพบได้ในร่างกายเรา
ทีนี้ไอ้การที่เราจะเห็นพระพุทธเจ้านิรันดรในตัวเรานั่น เราต้องปฏิบัติ นี่มาถึงการปฏิบัติ คือต้องปฏิจจ อ่า, ต้องปฏิบัติปฏิจจสมุปบาท เราเห็นแจ้งชัดในกฎของปฏิจจสมุปบาทโดยการปฏิบัติ ไม่ใช่โดยการเล่าเรียนอย่างธรรมดานี่ พยายามปฏิบัติดูแล้วก็จะมีไอ้ความรู้ ความรู้ ความรู้ รู้แจ้ง รู้แจ้งน่ะเพิ่มขึ้นๆ แล้วก็มีคำกล่าวที่ว่า เราก็เป็นพระพุทธเจ้าชนิดหนึ่ง เป็นอนุพุทธะ คือเป็นพระพุทธเจ้าที่รู้ตามพระพุทธเจ้าพระองค์จริงไปในระดับที่เป็นอนุพุทธะ
ทีนี้เราก็จะพูดกันถึงส่วนที่เป็นการปฏิบัติ ปฏิจจสมุปบาทส่วนทฤษฎีพูดไปแล้ว ทีนี้ก็มาพูดกันถึงส่วนที่เป็นการปฏิบัติ จุดตั้งต้นของเรื่องปฏิบัติน่ะ คือรู้และเพื่อปฏิบัตินี่ เอบีซี เอบีซีของการปฏิบัตินี่เราจะต้องรู้เรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจให้ถูกต้อง ท่านอาจจะโกรธก็ได้หรือว่าไม่ชอบเมื่อจะมีใครมาพูดว่าท่านไม่ ยังไม่รู้จักโดยแท้จริงแม้แต่สิ่งที่เรียกว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของท่านเองน่ะ เพราะฉะนั้นท่านเองก็ยังไม่รู้จักมัน ท่านจะมองเห็น ท่านจะต้องมองเห็นในชั้นแรกที่สุดว่าถ้าเราไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้ มันก็ไม่มีอะไร โลกนี้ก็ไม่มี ตัวเราก็ไม่มี อะไรก็ไม่มี แต่เพราะมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี่ ท่านจึงสัมผัสได้ทุกอย่างที่มันมีในโลกในจักรวาลแล้วมันก็เลยมีขึ้นมา ฉะนั้นจะเรียกว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี่มันสร้างโลกขึ้นมาก็ได้
ทีนี้ความจริงมันมีอยู่ว่า ถ้าเราไม่รู้จักตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเราให้ถูกต้อง หรือว่าเราควบคุมมันไม่ได้นี่ มันก็สร้างขึ้นมาแต่สิ่งที่ผิดๆๆๆๆไปทั้งนั้นแล้วเต็มไปด้วยปัญหา เต็มไปด้วยความทุกข์ ถ้าเราไม่รู้จักมันให้ถูกต้อง นี่หัวใจของการปฏิบัติ เราจะต้องรู้จักตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจให้ดีจนควบคุมมันให้ได้ อันนี้สำคัญ สำคัญที่สุด เขาถือว่ารู้จักมันว่า ทั้ง ๖ อย่างนี้มิได้เป็นอัตตา แต่ละอย่างมิได้เป็นอัตตา ทั้ง ๖ อย่างก็มิได้เป็นอัตตา ไม่ได้เป็นตัวอัตตา มันเป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติล้วนๆเท่านั้นแหละ
ที่เห็น ที่ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ เมื่อตาเห็นรูป ตาเห็นรูปโดยระบบประสาทที่ตา ท่านก็ว่าฉันเห็น ฉันเห็นรูป เมื่อหูได้ยินเสียงโดยระบบประสาทของหู ท่านก็ว่าฉันน่ะ ฉันน่ะ ฉันได้ยินเสียง เมื่อจมูกได้กลิ่น ก็ฉันนั้นได้กลิ่น เมื่อลิ้นได้รสก็ฉันได้รู้รส ฉันได้รสอร่อย หรือเมื่อได้รับสัมผัสทางผิวหนังทั่วๆไปก็ฉัน ฉันได้รับไอ้สัมผัส Touch เหล่านี้ แล้วเมื่อจิตมันคิดได้ตามธรรมชาติของจิต ก็ว่าฉันคิด ฉันคิด ฉันคิดได้ นี่คือข้อที่เรายังไม่รู้จักตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเราโดยถูกต้องโดยแท้จริง เอามาเป็นฉัน เอามาเป็นอัตตา เอามาเป็นๆๆอัตตาเสียหมด
ท่านอาจจะมองเห็นได้เองว่ามันต่างกันมาก ต่างกันอย่างลิบลับ คือถ้าเรารู้สึกว่าไอ้ตาเห็น หูได้ยิน จมูกได้กลิ่นอย่างนี้เป็นต้น กับที่จะรู้สึกว่าฉันน่ะ ฉันเห็น ฉันได้ยิน ฉันได้กลิ่น ฉันอะไร มันต่างกันมาก ถ้าเข้าใจผิดเป็นฉันได้ยินแล้วก็ ฉันเห็น ฉันได้ยิน ฉันอะไรทุกอย่างนี่ ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายความทุกข์มันจะเกิดขึ้นมาทันที แต่ถ้าเพียงแต่ตา ตาเห็น หูได้ยิน จมูกได้กลิ่นนี่ยัง มันจะไม่เกิดปฏิจจสมุปบาทฝ่ายความทุกข์ มันเกิดอิทัปปัจจยตาตามธรรมชาติที่ยังไม่ๆให้ความทุกข์อะไรหรอก มันต่างกันมาก มันตรงกันข้ามทีเดียว
ถ้าจิตมันรู้สึกว่าตาเห็น ไม่ได้รู้สึกว่าฉันเห็นนี่ ก็ให้จัดการไปตามที่สมควรในการที่ตามันเห็น มันก็ไม่เกิดความทุกข์ ถ้ามีฉัน ฉัน เป็น Self ขึ้นมา ฉันเห็น มันจะเกิดความเป็นบวกหรือความเป็นลบ Positiveness or Negativeness ขึ้นมาแก่จิตนั้นนั่นแหละมันจะเป็นจุดตั้งต้นของปฏิจจสมุปบาทที่จะนำไปสู่ความทุกข์ ท่านจงมีสติ สติพอที่ว่าตาเห็นไม่ใช่ฉันเห็น หูได้ยินไม่ใช่ฉันได้ยิน จมูกได้กลิ่นไม่ใช่ฉันได้กลิ่น ถ้า Concept ว่า Self ว่า I นี่ไม่ได้เกิดขึ้นแล้ว ความรู้สึกเป็น Positive หรือ Negative ก็จะไม่อาจจะมี นี่เดี๋ยวนี้มันไปมี I ฉันน่ะ Self น่ะเกิดขึ้น มันก็เป็นที่รองรับของไอ้ความรู้สึกที่เป็นบวกและเป็นลบ แล้วมันก็ปรุงแต่งไปตามความเป็นบวกเป็นลบจนเกิดความทุกข์ ตรงนี้ให้ระวังให้ดี มันเป็นไอ้หัวเลี้ยวหัวต่อ เป็น Transmission ที่ว่ามันจะเลี้ยวทางนี้หรือมันจะเลี้ยวทางนี้ เราจะต้องฝึกสติ อย่างเราฝึกอานาปานสติ เราได้สติมา เราก็ใช้สติที่จะควบคุม เมื่อตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น เป็นต้นนี้อย่าให้เกิดความโง่ขึ้นมาว่า I ฉัน Self ขึ้นมา
ทีนี้เราก็จะมาศึกษาอาการ กิริยาอาการที่เรียกว่า อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น อาการอย่างนี้ในทางธรรมะเราเรียกว่า ปรุง ปรุง ไอ้คำนี้แปลเป็นอังกฤษยาก ไปใคร่ครวญดูว่าจะใช้คำว่าอะไร ปรุง จะ Concoct หรือ Condition อะไรนี่ อาศัยกันแล้วเกิดขึ้นนี่เราเรียกมันว่า ปรุง ฉะนั้นเราจะต้องรู้จักการปรุงและควบคุมการปรุงให้ได้ด้วยสติ ด้วยสิ่งที่เรียกว่าสติ
การปรุงตั้งต้นที่ว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเป็นต้นฝ่ายหนึ่ง แล้วมาเนื่องกันเข้ากับอีกฝ่ายหนึ่งคือรูป เสียง กลิ่น รสเป็นต้น นี่ ๒ อย่างนี้เนื่องกันถึงกันเมื่อไรจะเกิดสิ่งที่ ๓ ขึ้นมาคือวิญญาณ วิญญาณ หรือ Consciousness, Sense Org ไอ้ Sense Organs กับ Sense Objects ถึงกันเข้าเมื่อไรก็จะเกิด Consciousness ขึ้นมา นี่การปรุงทีแรกที่เป็นอยู่ตามธรรมชาติ
เมื่อสิ่งทั้ง ๓ นี้กำลังทำงานร่วมกันอยู่ ด้วยกันอยู่ มีความรู้สึกอยู่ มันก็เกิดสิ่งที่ ๔ ขึ้นมาคือ ผัสสะ ผัสสะหรือ Contact ตามกฎของธรรมชาติเป็นอย่างนั้น เมื่อมีผัสสะแล้วมันก็มีเวทนา เวทนา ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความเป็นบวกหรือความเป็นลบ ก็เกิดขึ้นเป็นเวทนา เวทนา เพียงเท่านี้เราก็เรียกว่า การปรุงแต่งหรืออาศัยกันเกิดขึ้น ทั้งในระดับอายตนะ อายตนะ Sense Organs, Sense Objects นี้เรียกว่า อายตนะ การปรุงแต่งในระดับอายตนะมันจะมีผลถึงเวทนาอย่างนี้
เอ้า, ทีนี้ก็มาเปรียบดู สำหรับบุคคลที่มีความรู้สึกว่าอัตตา ตัวตน เขาก็เอาตา หู จมูกอันนี้เป็นตัวตน เป็นตัวตนที่จะเป็นผู้เห็น ผู้ได้ยิน แล้วก็จะเอารูปที่เห็น เอาเสียงที่ได้ยิน เอารสที่ได้ลิ้มมาเป็นของตนนั่น มันก็เกิดเป็นตัวตน เป็นของตน แล้วมันก็เกิดวิญญาณเป็นผู้รู้สึกนี้เป็นอัตตา เป็น Self เป็นอัตตา เป็น Soul อะไรขึ้นมา มันก็เป็นตัวตน แล้วมันก็เป็นผัสสะของตน เป็นเวทนาของตน มันบ้าเลย มันบ้าใหญ่ไปจนเป็นตนๆๆๆไปหมด มันไม่ใช่สักว่าเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ การปรุงแต่งอย่างนี้ ระบบนี้เราเรียกว่า การปรุงแต่งระบบอายตนะ เป็นระบบแรก เป็นระบบแรก
ทีนี้ก็มาถึงระบบ ๒ ที่ ๒ ถัดไปเป็นการปรุงแต่งระบบจิต เมื่อมีเวทนา มีเวทนาแล้ว มันก็ทำให้เกิดความรู้สึกอยากหรือต้องการด้วยอำนาจความไม่รู้ เดี๋ยวนี้เรายังไม่มีความรู้นี่ ยังโง่อยู่นี่ เวทนาก็โง่อยู่ ก็เกิดความอยากหรือความต้องการที่โง่ เรียกว่า ตัณหา หรือ Craving หรือ Desire แล้วก็แล้วแต่จะเรียก แต่ต้องให้รู้ว่ามันเป็นความอยากที่โง่ โง่เพราะมันคิดว่ามีตัวกูเป็นผู้อยาก รู้สึกตัวกูเป็นผู้รู้สึกเวทนา แล้วตัวกูเป็นผู้มีตัณหา เป็นผู้อยาก ท่านมีตัณหาแล้วมันก็มีไอ้ความยึดมั่นสิ่งที่อยากหรือสิ่งที่ได้มานี่เรียกว่า อุปาทาน Upadana, Attachment การปรุงแต่งตั้งแต่เวทนา ตัณหา ถึงอุปาทานนี้เรียกว่า มันปรุงแต่งในระบบจิต หรือความคิด หรือ Concept ต่างๆ
ทีนี้ก็มาถึงระบบที่ ๓ ระบบการปรุงแต่งของอุปาทาน ระบบการปรุงแต่งของอุปาทานหรือความโง่ มีอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่นแล้วมันก็จะมีความพร้อมที่จะมีความเกิดใหม่น่ะ Becoming หรือภพ ภว Becoming นี่คือความพร้อมที่จะเกิด เหมือนกับว่ามันตั้งครรภ์แก่ มีครรภ์แก่มันพร้อมที่จะเกิด มันเป็นภพ แล้วก็มันมีความเกิดนี่ เกิดทาง Spiritual นี่ เกิดทางจิตนี่เรียกว่า ชา-ติ ชา-ติ เกิด มันก็คือความเกิดขึ้นแห่งสิ่งที่เรียกว่า ตัวตนหรือของตน ตัวกูหรือของกูเต็มขนาด เต็มเปี่ยมร้อยเปอร์เซ็นต์นี้เรียกว่า ชาติ ตัวกูก็เกิดขึ้นมาอย่างเต็มเปี่ยม ทางภายนอกออกมา เอาอะไรๆมาเป็นของกูหมด ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายก็มาเป็นของกู ความทุกข์ทุกชนิดอะไรทุกชนิดเอาเป็นของกู สมบัติพัสถาน ข้าวของเงินทอง บุตร ภรรยา สามีเอามาเป็นของกู นี่ระบบโง่อันสุดท้าย ระบบอุปาทานก็เกิดความทุกข์โดยสมบูรณ์
ขอให้กำหนดจดจำไว้ให้ดีว่า ระบบการปรุงแต่งนั้นมันมีอยู่เป็น ๓ ขั้นตอนดังที่กล่าวแล้ว
ถ้าท่านเข้าใจไอ้ Process ทั้ง ๓ นี้ดีแล้วก็ท่านจะสามารถควบคุมกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท แล้วความทุกข์ก็จะไม่เกิดขึ้นแก่ท่าน เพราะว่าอัตตา Self ตัวตนน่ะมันไม่เกิดมาได้ มันก็ไม่มีความทุกข์ ขอให้สนใจทั้ง ๓ ระบบให้เข้าใจดีๆ ไปคิดทบทวน ไปคิดทบทวนให้เข้าใจให้ดีๆ
เดี๋ยวนี้เรามีความรู้สำหรับจะปฏิบัติเพียงพอแล้ว ทีนี้เราก็จะลงมือปฏิบัติโดยตรง สิ่งนั้นคือการมีสติทันเวลา สติมาทันเวลา เราฝึกไว้อย่างดี ไว้อย่างมาก ไว้อย่างคล่องแคล่ว แล้วก็อย่างเร็วที่สุด สติให้มาทันเวลานั่นน่ะเป็นตัวการปฏิบัติ
ในระบบที่ ๑ คือการปรุงแต่งของอายตนะเป็นลำดับมา จนๆถึงผัสสะ จนถึงเวทนา เราก็มีสติมาทันเวลาในขณะแห่งผัสสะ มันก็ไม่โง่ไม่หลงว่าผัสสะของเราหรือเราทำผัสสะ เวทนาเกิดขึ้นก็ไม่ใช่เวทนาของเราหรือเราเสวยเวทนา นี้มันก็ไม่มีตัวตนเกิดขึ้นในการปรุงแต่งระบบอายตนะ ระบบอายตนะทั้งหมดจะไม่มีโอกาสเกิดตัวตน
ทีนี้ในระบบปรุงแต่งทางจิตชั้นที่ ๒ ในตอนนี้มันจะมีอาการที่เรียกว่า Perceive บ้าง Conceive บ้าง ถ้าสติมาทันเวลา มันก็ โอ้, ไม่ใช่ฉัน ไม่ใช่กูที่ Perceive ไอ้ที่ Conceive ให้เกิด Concept ต่างๆมันไม่ใช่กู มันเป็นการปรุงแต่งตามธรรมชาติ ฉะนั้นตัวกูมันก็ไม่ได้เกิดขึ้นในระยะที่มีการปรุงแต่งทางจิต รอดตัวไป
ครั้นมาถึงระบบอุปาทาน สติยิ่งสำคัญยิ่งหนัก ไม่ให้เผลอเป็นตัวกู ตัวกูและของกู ความรู้สึกว่าตัวกูของกูเกิดขึ้น เกิดขึ้นไม่ได้โดยมันควบคุมอุปาทานไว้ได้ไม่ให้มันโง่ มันก็หมดปัญหาแหละ มันก็ไม่มีความทุกข์เกิดขึ้นได้ คือจะไม่มีอุปาทานในสิ่งใดๆ แล้วมันก็ไม่มีความทุกข์เกิดขึ้นมาได้จากสิ่งใดๆ นี่คือหัวใจของการปฏิบัติใน ๓ ระดับนั้น
ในที่สุดพอดูไปถึงกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาททั้งสาย ปฏิจจสมุปบาทนั่นน่ะมันมีอาการ ๑๑ อาการ หรือมันมีตัวธรรมะ ๑๒ อย่างจนตลอดสายนั่น ดูแต่ละอย่างๆๆนี่ก็เรียกว่า ปฏิจจสมุปปันนธรรม ถ้ามันแยกกันอยู่ แยกกันอยู่นี้เรียกว่า ปฏิจจสมุปปันนธรรม พอมันทำหน้า พอมันมาทำหน้าที่ปรุงแต่งร่วมกันเราเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท คำแรกเรียกว่า ปฏิจจสมุปปันนธรรม คำหลังเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท แยกเป็นอย่างๆๆๆนี้เรียกว่า ปฏิจจสมุปปันนธรรม ทำงานพร้อมกันเป็นสายเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท มีสติทั้งในส่วนปฏิจจสมุปปันนธรรมว่าแต่ละอย่างๆๆไม่ใช่ตัวตนไม่มีตัวตน ครั้นมารวมกันเป็นสายเป็นปฏิจจสมุปบาทก็ไม่มีตัวตนที่ส่วนไหนส่วนใด นี้เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาทช่วยให้ไม่เกิดอัตตา ความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทช่วยไม่ให้เกิดอัตตา นี่เป็นพระพุทธเจ้าองค์ใหญ่ องค์จริง องค์นิรันดรอยู่กันที่ตรงนี้แหละ ช่วยไม่ให้เกิดอัตตาเพราะมันเห็นปฏิจจสมุปบาท
เอ้า, ทีนี้มาดูกันอย่างปฏิจจสมุปปันนธรรม สิ่งซึ่งอาศัยกันเกิดขึ้นแต่ละสิ่งๆนี่ ถ้าท่านจำได้ก็จะดีมาก เข้าใจว่าท่านทั้งหลายบางคนคงจะจำได้ว่าปฏิจจสมุปบาทน่ะมันแยกออกเป็นปฏิจจสมุปปันนธรรม ๑๒
เป็นเพียงกระแสแห่งการปรุงแต่งหรือสิ่งถูกปรุงแต่งแต่ละอย่างๆ เราเห็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตนทีละอย่างๆๆตลอดปฏิจจสมุปบาททั้งสาย นี่เห็นอนัตตาในปฏิจจสมุปปันนธรรม
เมื่อแต่ละอย่างๆแต่ละสิ่งๆมันมิใช่อัตตาแล้ว ทั้งหมดมันก็เป็นอัตตาไปไม่ได้ อย่าเข้าใจไปว่าไม่ใช่อัตตา ไม่ใช่อัตตา แต่มารวมกันหมดแล้วจะเป็นอัตตา อย่างนี้ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าแต่ละอย่างๆมันเป็นเพียงปรากฏการณ์ของธรรมชาติเท่านั้น เพราะฉะนั้นปฏิจจสมุปปันนธรรมก็ดีไม่มีอัตตา ปฏิจจสมุปบาททั้งสายก็ดีมันก็มิใช่อัตตานี่ เราจะต้องเห็นกันถึงขนาดนี้
ต่อไปนี้ก็จะดูกันถึงประโยชน์ ประโยชน์หรืออานิสงส์ที่เราจะได้รับจากความรู้และการปฏิบัติเรื่องปฏิจจสมุปบาท เราควบคุมไม่ให้เกิดความรู้สึกผิด ความคิดผิดเห็นผิดว่าอัตตานั่นน่ะเกิดขึ้นมาได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นตอนไหนของปฏิจจสมุปบาท ไม่อาจจะเกิดอัตตา อัตตา แล้วมันก็ไม่มีของหนัก ของหนักน่ะ ภาระหนัก ไอ้ภาระหนักทั้งหลายมันไปรวมอยู่ที่ตัวกูหรือของกู เมื่อเราไม่อาจจะเกิดความรู้สึกว่าตัวกูว่าของกู มันก็ไม่มีทางที่จะเกิดภาระหนักแก่จิตใจ นี้เรียกว่ามัน Free จิตใจมัน Free มันฉลาด มันก็สามารถทำอะไรได้ดี คือไม่ได้ทำด้วยความโง่ เราสามารถดำเนินชีวิตอย่างฉลาด แล้วก็ทำอะไรได้ดีไม่มีความทุกข์ และชีวิตนี้ไม่เป็นของหนัก ไม่เป็นของหนัก ข้อนี้สำคัญน่ะ ไม่เป็นของหนักนี่ไปดูเถอะ
คำว่า ไม่มีของหนัก ไม่มีภาระหนักนั่นแหละมันเป็นคำเดียวกับคำว่า ไม่กัดเจ้าของ เมื่อใดมีความยึดถือว่าตัวตนเป็นภาระหนักขึ้นมา เมื่อนั้นชีวิตนั้นจะกัดเจ้าของ มันจะกัดเจ้าของ คือมีความทุกข์ ชีวิตกัดเจ้าของอยู่ตลอดเวลาเพราะว่าเราไม่รู้เรื่องนี้ มันเลยเกิดอัตตา อัตตาตัวตนขึ้นมา เดี๋ยวมีความรัก เดี๋ยวมีความโกรธ ดี เดี๋ยวมีความเกลียด มีความกลัว ความตื่นเต้น อิจฉา สารพัดอย่าง ทั้งหมดนี้มันกัดเจ้าของเพราะว่าไปมีตัวตนขึ้นมา ความหนักนั่นแหละมันกัดเจ้าของ เดี๋ยวนี้ชีวิตไม่มีความหนัก ชีวิตนี้ไม่กัดเจ้าของ
เมื่อไม่มีปฏิจจสมุปบาทเกิดขึ้นในชีวิต ก็เป็นชีวิตเย็น คำว่า เย็น เย็นนั่นคือนิพพาน ไม่ได้แปลว่าตายนิรันดร ไม่ได้เรียกว่าตายนิรันดรหรอก เย็นนิรันดร ไม่ต้องตายนี่ Quench อยู่ทุกอย่าง Quench เป็น ไม่ร้อน แต่ว่าเป็นเย็นไปหมด เดี๋ยวนี้เรามีชีวิตเย็น
บางคนอาจจะคิดว่าเอาไปทำไมชีวิตเย็นจะมีประโยชน์อะไร เอาไปทำไมไม่มีประโยชน์อะไร นี่ขอให้เข้าใจเสียใหม่ให้ถูกต้องว่า ไอ้ชีวิตเย็นนี้มันหมายถึง Free จากความร้อน มัน Free เป็นอิสระจากสิ่งรบกวน ถ้ายังมีสิ่งรบกวนอยู่แม้แต่นิดเดียวมันไม่เย็นน่ะ มันไม่เย็น มันไม่มีความรบกวน ไม่มีการรบกวนใดๆแม้แต่น้อยเรียกว่าชีวิตเย็น มันก็เป็นอิสระ เมื่อเป็นอิสระแล้วมันจึงจะทำอะไรได้ทุกอย่าง มันจึงจะฉลาด มันจึงจะสามารถ มันจึงจะ Active มันจึงจะทุกๆอย่างแหละ มันมาจากไม่มีอะไรรบกวน ไม่มีอะไรเผาลน
มีคำที่จะจำ ควรจะจำไว้สัก ๓ คำว่า
เป็น สะอาด สว่าง สงบ ท่านไปหาความหมายของคำ ๓ คำนี้ให้พอ ให้ลึก ให้มากพอเถิด ก็จะชอบใจชีวิตเย็น ชีวิตเย็น เรียกอีกอย่างหนึ่งก็เรียกว่า ชีวิตอมตะ อมตะ Immortal, Immortality เป็นอมตะ เห็นได้ง่ายๆว่า เมื่อมันไม่มีตัวกู ไม่มีตัวตน แล้วอะไรมันจะตายล่ะ มันไม่มีอะไรที่จะตาย เพราะฉะนั้นมันก็เป็นอมตะอยู่โดยอัตโนมัติ
มันเป็นคำที่ท่านทั้งหลายยังไม่เข้าใจ แต่ถ้าอุตส่าห์ศึกษาไป พยายามปฏิบัติไปก็จะเข้าใจ มันเป็นชีวิตที่ไม่มีตัวกู ไอ้ชีวิตที่ไม่มีตัวกู เด็กๆไม่เข้าใจแล้วก็จะหาว่าบ้า บ้า ชีวิตไม่มีตัวกู ขอให้จำไว้ว่า ถ้ามีตัวกูก็จะเป็นของหนักและเป็นทุกข์ แล้วก็จะมืดไปหมด มันต้องไม่มีความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกู เขาเรียกว่า มีกายก็สะอาด มีจิตก็สะอาด มีสว่าง มีสงบ นี่ชีวิตที่ไม่ต้องมีตัวกู มันจึงเป็นชีวิตเหนือความทุกข์ เป็นชีวิตที่เป็นอมตะ เป็นชีวิตที่นิรันดรอย่างเดียวกันกับพระพุทธเจ้าพระองค์จริง
ชีวิตที่มีตัวกู ตัวกูน่ะมันเป็นชีวิตบ้า บ้าแบบน้อยๆไป แล้วก็บ้าถึงที่สุดก็ต้องไปอยู่ที่โรงพยาบาลบ้า ชีวิตที่มีตัวกูมันเป็นชีวิตบ้า ชีวิตที่ไม่มีตัวกูมันเป็นชีวิตที่สงบที่เย็นไม่เป็นบ้า แล้วความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทนี่แหละมันจะช่วยให้ไม่มีตัวกูในชีวิต ไม่มีตัวกูในชีวิต ขอบคุณปฏิจจสมุปบาทที่ทำให้ไม่มีชีวิตบ้า มีแต่ความสงบเย็น
ท่านหยุดร้องเพลงที่ท่านชอบกันเสียบ้างเถอะ มาร้องเพลงที่พระพุทธเจ้าท่านก็ร้อง คือ Formula ของปฏิจจสมุปบาท ท่านร้องเหมือนกับอย่างเราร้องเพลงนี่
จักขุงจะ ปฏิจะ รูเปจะ
อุปัชชติ วิญญาณัง
ติณณัง ธัมมานัง สังฆาฏิผัสโส
ผัสสะ ปัจจะยา เวทนา
เวทนา ปัจจะยา ตัณหา นี่
นี่เพลงที่พระพุทธเจ้าท่านร้องคือ Formula ของปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง คุ้มค่า อย่าๆเห็นว่ายากลำบาก คุ้มค่า ร้องให้ได้จะคุ้มค่า ปฏิจจสมุปบาทจะตั้งมั่น จะแจ่มใส จะชัดเจนยิ่งๆขึ้นไป นี่ขอให้ร้องเพลงปฏิจจสมุปบาท Formula ของปฏิจจสมุปบาท
ร้องอะไรล่ะ
จักขุงจะ ปฏิจะ รูเปจะ
อุปัชชติ วิญญาณัง
ติณณัง ธัมมานัง สังฆาฏิผัสโส
ผัสสะ ปัจจะยา เวทนา
เวทนา ปัจจะยา ตัณหา
ตัณหา ปัจจะยา อุปาทานัง
อุปาทานัง ปัจจะยา ภโว
ภวะ ปัจจะยา ชาติ
ชาติ ปัจจะยา สัพเพทุกขา สัมพะวันติ
นี่เพลงที่พระพุทธเจ้าท่าน แม้พระพุทธเจ้าท่านก็ร้องเวลาที่ท่านจะระบายออกเหมือนเราร้องเพลง ขอให้อุตส่าห์จำไว้จะดีมากเลย ต้องจำ Formula ของมันให้ได้แล้วจะจำคำอธิบายได้ดี ท่านเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อาทิพรหมจรรย์ คือจุดตั้งต้นของการปฏิบัติเพื่อการดับทุกข์ จุดตั้งต้นของการปฏิบัติเพื่อการดับทุกข์ อาทิพรหมจรรย์นี้คือปฏิจจสมุปบาทที่เราควบคุมได้ ที่เรารู้ ที่เราปฏิบัติได้
ชีวิตที่มีตัวกูมีของกูนั่นน่ะมันหนัก มันอุ้ยอ้าย มัน Clumsy มันหลายๆอย่าง ชีวิตที่ไม่มีตัวกูมัน Active ที่สุด มันไวที่สุด มันเร็วที่สุดที่มันจะปฏิบัติหน้าที่ที่ควรจะปฏิบัติ ขอให้ท่านทั้งหลายมีความคล่องแคล่วในการมีสติควบคุมปฏิจจสมุปบาท แล้วท่านก็จะมีชีวิตที่ Active ที่สุด
ขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งที่ท่านทั้งหลายเป็นผู้ฟังที่ดีด้วยความอดทนเกือบ ๒ ชั่วโมงแล้ว นี่ขอขอบคุณ แล้วก็ๆหวังว่าท่านทั้งหลายจะใช้ปฏิจจสมุปบาทให้เป็นประโยชน์ได้ตามสมควรแก่การปฏิบัติของท่าน ขอยุติการบรรยายในวันนี้ไว้เพียงเท่านี้ ปิดประชุม.