แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อครั้งที่แล้วมาได้พูดถึงเรื่องของกิเลส ระบบกิเลส และการเกิดกิเลส ส่วนในวันนี้จะพูดถึงเรื่องความสิ้นกิเลสติดต่อกันไป ดังนั้นท่านจะต้องนึกทบทวนที่แล้วมาว่า กิเลส ระบบกิเลสหรือการเกิดกิเลสนั้นเป็นอย่างไร ให้กลับมาสู่ความจำความรู้สึกเสียก่อน แล้วจะเข้าใจได้ง่ายว่าจะทำให้มันสิ้นไปได้อย่างไร
ทีนี้ก็ว่าอาศัยอายตนะกระทบอารมณ์ เกิดผัสสะ เกิดเวทนาที่ไม่มีสติสัมปชัญญะ แล้วมันก็เกิดกิเลสในรูป ราคะ โทสะ โมหะ กิเลสประเภทจะเอาคือราคะหรือโลภะ กิเลสประเภทจะทำลายเสียคือโทสะหรือโกธะ กิเลสประเภทสงสัย วิ่งอยู่รอบ ๆ คือกิเลสประเภทโมหะ ที่ต้องชัดเจนแจ่มแจ้งอยู่ ทีนี้ทำอย่างไรมันจะสิ้นไป
กิเลสเกิดแล้วคล้าย ๆ มันก็เกิดความเคยชินแห่งกิเลสที่เรียกว่าอนุสัย อนุสัย เป็นความเคยชินแห่งกิเลสที่จะเกิดอีก บางพวกเขาเรียกว่ากิเลสที่นอนในสันดาน พูดอย่างนั้นเข้าใจผิดได้ มันจะกลายเป็นของเที่ยงของอะไรไปเสีย เป็นความเคยชินที่เก็บไว้เพื่อจะเกิดกิเลสขึ้นมาใหม่อีก เรียกว่าอนุสัย ทีนี้มีอนุสัยเป็นทุนอยู่ในภายใน ในสันดาน ในจิตใจ พอได้โอกาสอารมณ์ภายนอกเข้ามาอีก อนุสัยมันก็จะไหลกลับออกมา รับอารมณ์นั้นแล้วเกิดกิเลสอีก นี้เรียกว่าอาสวะ
ได้ขอร้องนักหนาว่า ให้เข้าใจคำว่ากิเลส แล้วก็อะ ๆ อนุสัย แล้วก็อาสวะ ๓ ขั้นตอน ถ้ามันมีอนุสัยอยู่ มันก็ออกมาเป็นอาสวะเรื่อยไป ดังนั้นการที่มันจะไม่ออกมา ไม่เกิดอาสวะไหลออกมาน่ะ กิเลสน่ะ มันต้องสิ้นอนุสัย มันจึงจะไม่เกิดกิเลส ทีนี้เราก็จะจับได้ เราจะฟังออก แล้วเราก็จะจับได้ทันทีว่า ไอ้สิ้นกิเลสนั้น มันเป็นคำพูดที่ไม่ตรงกับเรื่องราว คือมันไม่เกิดกิเลสอีกต่อไป เรียกว่าสิ้นกิเลส กิเลสไม่เกิดออกมาอีกได้นั่นแหละ นั่นก็เรียกว่ามันสิ้นกิเลส ไม่ใช่ว่ากิเลสมันไหล ๆ ๆ ๆ กันอยู่แล้วก็หยุดไปอย่างนั้นนะ มันไม่อาจจะเกิดอีก เรียกว่าสิ้นกิเลส
ถ้าพูดอย่างธรรมดาว่าดับไฟ มันก็คือการป้องกันไฟไม่ให้เกิดต่อออกมา เมื่อไฟนี้มันเกิด ๆ ๆ ๆ อยู่ แล้วป้องกันไม่ให้เกิดทยอยตามมา ไม่ให้เกิดทยอยตามมา มันก็ต้องดับ การป้องกันไม่ให้มันเกิดตามหรือเพิ่มขึ้นมา นั่นแหละคือความไม่เกิดแห่งกิเลส ดังนั้นความสิ้นกิเลสก็คือความไม่อาจจะเกิดกิเลส มองให้เห็นชัดที่ว่า ที่พูดกันว่าสิ้นกิเลส ๆ คล้ายกับว่ามันไม่มีอนุสัยที่ให้เกิด
นี้ควรจะเข้าใจ และมันมีสติสัมปชัญญะป้องกันไม่ให้เกิด อยู่เป็น ๒ ๆ ๆ ๆ ๆ ทิศทางอยู่นะ ทางแรกอนุสัยที่มีอยู่ในสันดาน มันสิ้นไป ก็ไม่อาจจะเกิดอาสวะอีก นี่ก็เรียกว่าสิ้นกิเลส ทีนี้ว่ามีสติสัมปชัญญะทุกคราวที่มีการกระทบทางอายตนะ ไม่เกิดผัสสะโง่ ไม่เกิดเวทนาโง่ ไม่เกิดตัณหาโง่ นั่นคือไม่เกิดกิเลสด้วยเหมือนกัน และการกระทำอย่างนั้นน่ะ มันลดอนุสัยลดลง ๆ ๆ ในกรณีที่กิเลสควรจะเกิด มีสติสัมปชัญญะไม่ให้มันเกิด มัน กิเลสมันก็ไม่เกิด แล้วมันจะไปลดอนุสัยที่เก็บไว้ในสันดาน ให้ลดลงอีก ๆ เลยชวนกันสิ้นกิเลสทั้งใน ๒ ความหมาย
อนุสัยหมด ไม่เกิด อ่า, ไม่อาจจะรับอารมณ์หรือกิเลสได้ หรือว่ามีสติสัมปชัญญะทุกคราวที่รับอารมณ์ก็ได้ ก็ไม่เกิดกิเลส กิเลสจึงไม่เกิดโดยประการทั้งปวง นี้เราเรียกว่าสิ้นกิเลส สิ้นกิเลส หรือความหมายที่สำคัญที่สุดก็คือว่า สิ้นเชื้อที่จะเกิดกิเลส คืออนุสัยนั่นเอง อนุสัย ความเคยชินที่จะเกิดกิเลส ซึ่งในที่อื่นเขามักจะเรียกว่า กิเลสที่นอนเนื่องในสันดาน เขาใช้คำว่าอย่างนี้ ผมมาศึกษาดูแล้วว่า มันไม่ใช่กิเลสนอนเนื่องในสันดาน มันความเคยชินที่จะเกิดกิเลส มันมีหรือมันเพิ่มขึ้นในสันดาน
เอาละ, เป็นอันว่า ความสิ้นกิเลสน่ะ ก็คือว่ามันสิ้นอนุสัยข้างในที่จะออกมาเป็นกิเลส หรือว่ามีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์อย่างเป็นพระอรหันต์อย่างนี้ มีสติสมบูรณ์ กิเลสจะเกิดใหม่นี้ ไม่มีทาง เพราะมีสติสัมปชัญญะมาควบคุมไอ้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ วิญญาณ ผัสสะ เวทนา มันก็ไม่เกิดกิเลสได้นี่
ทีนี้ก็ดูต่อไปว่า ทำอย่างไรที่ว่าจะสิ้นอนุสัย ถ้าจะปล่อยไปตามธรรมชาติว่า ระวังไม่เกิดกิเลส ถ้าอนุสัยลด นอกจากนี้มันจะช้าไปหรือว่าไม่ทันใจก็ได้ จึงทำสมาธิวิปัสสนา จริงอย่างสมาธิไม่ต้องพูดถึงก็ได้ เพราะว่าสมาธิมันไม่ ๆ ใช่ตัวตัดอนุสัย ตัววิปัสสนานั่นมัน ๆ ตัดอนุสัย แต่ตัววิปัสสนามันเกิดเองตามลำพังไม่ ๆ มันไม่ได้ ถ้ามันทำงานไม่ได้ ต้องมีสมาธิเข้ามาช่วยด้วย วิปัสสนาจึงจะทำงานได้ ดังนั้นเราจึงปฏิบัติระบบนี้ ระบบภาวนานี่ ทั้งสมาธิและทั้งวิปัสสนารวมกัน
สมาธิที่อยู่แต่สมาธิแล้วไม่ ๆ ๆ ตัดอนุสัย แต่สมาธิที่มารวมกับกำลังกับปัญญา สนิทกันอย่างนี้นั่นแหละ มันจะสามารถตัดอนุสัย ก็เรียกชื่อกันเสียใหม่ว่าอนันตริยสมาธิ อนันตริกสมาธิก็ได้ สมาธิล้วน ๆ ก็เหมือนมีแต่สงบ ๆ ๆ หรือที่นั่นน่ะ แต่ถ้ามารวมกับปัญญา ทำ ร่วมกันทำงานแล้ว ก็เรียกใหม่ เรียกชื่อใหม่ อนันตริยสมาธิ แปลว่า สมาธิที่เนื่องติดกันอยู่กับปัญญาหรือวิปัสสนาโดยไม่มีช่องว่างระหว่างนั้น อนันตริย แปลว่าไม่มีช่องว่าง ไม่มีช่องว่างระหว่างสมาธิกับปัญญา
สมาธิอย่างนี้ก็มีบาลีหรือพระพุทธเจ้าตรัสว่าสูงสุด ไม่มีสมาธิใดเสมอเหมือน สมาธิมานนฺตริกฺมาหุ สมาธินา เตน สโม น วิชฺชติ สมาธิที่เป็นอนันตริยะ ไม่มีสมาธิใดเสมอเหมือน สมาธิมันเป็นตัวกำลัง ปัญญาหรือวิปัสสนาเป็นตัวความคม ความคมต้องได้น้ำหนักจึงจะตัด ข้อนี้ช่วยจำด้วย จำไว้เป็นหลัก มีแต่ปัญญาล้วน ๆ ไม่มีสมาธิ เหมือนกับมีของที่คม ๆ ๆ แต่ไม่มีน้ำหนักที่จะกดมันลงไป แล้วมันจะตัดอะไรได้ นี้เราต้องมีทั้งสมาธิมีทั้งปัญญา
เผอิญธรรมชาติมันช่วย ไอ้คู่แฝดนี้มันก็มักจะมาด้วยกัน มันเกื้อกูลแก่กันและกัน และมันก็มาด้วยกัน มีหลักว่า นตฺถิ ปฺา ฌานสฺส นตฺถิ ฌานํ อปฺสฺส นตฺถิ ปฺา อฌายิโน คือสมาธิไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา สมาธิไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา มันทำไม่เป็น และปัญญาก็ไม่มีแก่ผู้ไม่ ๆ มีสมาธิ เพราะว่าถ้าไม่มีสมาธิ ปัญญามันไม่มีที่ตั้งไม่มีที่อาศัยนั่นแหละ ฟังให้ดีและจำไว้ด้วย สมาธิไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญาเสียก่อน และปัญญาก็ไม่มีแก่ผู้ไม่มีสมาธิ คือเรียกว่า ๒ อย่างนี้ต้องมาด้วยกัน เป็นคู่แฝดกัน ในการปฏิบัติเราจึงปฏิบัติสมาธิก่อน ให้ได้สมาธิก่อน เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว ก็ยกไปเป็นปัญญาวิปัสสนา เพื่อจะดูจะมองไอ้สิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง จนเลิก ๆ ละความยึดมั่นถือมั่นเสียได้
ทีนี้พูดถึงศีลกันหน่อยว่า ศีลนั้นมันเป็นที่รองรับให้สมาธิและปัญญาตั้งอยู่ได้หรือ ๆ อ่า, ตั้งอยู่ได้หรือเจริญขึ้นไป ดังนั้นศีลก็เป็นบริวาร คอยเป็นบริวารที่จะ เอ่อ, ของสมาธิและปัญญาอีกทีหนึ่ง เราจึงทำให้มีศีล ทำให้มีศีลก่อน เพื่อจะได้เป็นที่ตั้งหรือที่เหยียบของไอ้สมาธิ สมาธิได้มีที่เหยียบที่ตั้งแล้ว เจริญงอกงามแล้ว ปัญญาก็เกิดได้โดยง่ายอีกเหมือนกัน มันจึงมีครบ ทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา มันจึงจะเป็นไปได้
เมื่อมีปัญญาหรือจะเรียกว่าวิปัสสนาก็ได้นั่นแหละ อันนั้นแหละ จะเป็นเครื่องทำลายอนุสัยที่ ๆ ๆ ๆ ๆ มีอยู่ในสันดาน ทางปัญญาก็ได้ วิปัสสนาก็เรียก จะเหมือนกับไฟอีกชนิดหนึ่ง จะไปเผาอนุสัยที่ ๆ มีอยู่ในสันดานให้หมดไป ๆ เพราะปัญญานั้นมันส่องเข้าไปที่ความยึดมั่นถือมั่น มันก็ละลายความยึดมั่นถือมั่น ละลายความยึดมั่นถือมั่น นั้นก็คืออนุสัยนั่นแหละ ประเภทราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัย ล้วนแต่มีลักษณะยึดมั่นถือมั่นหรือมาจากความยึดมั่นถือมั่นด้วยกันทั้งนั้น
มีศีล มีสมาธิ มีปัญญาหรือวิปัสสนา ก็ส่องวิปัสสนาลงไปที่สิ่งที่ยึดมั่นถือมั่น มันก็ไม่อาจจะให้เกิดความโง่ในผัสสะในเวทนา หรือว่าละลายอนุสัย ละลาย เขาใช้คำพูดราวกับว่าเป็นวัตถุนะ มันไม่ใช่วัตถุ แต่เราต้องใช้ภาษาว่า ตัวมันละลายอนุสัยไป เรื่อยไป ๆ ๆ อนุสัยลดลง เบาบางลง ๆ จนสูญสิ้นไป นั้นคือการบรรลุมรรคผล
อนุสัยสิ้นไปโดยประมาณหนึ่ง ก็เรียกว่ามรรคผลขั้นต้น ๆ เข้าไป ๆ จนถึงสุดท้ายหมดเลย ก็เป็นมรรคผลขั้นสุดท้าย คือเป็นพระอรหันต์ สิ้นอนุสัยก็คือสิ้นอาสวะ เพราะว่าหมดอนุสัยแล้วไม่มีอาสวะไหนจะไหลออกมาได้ นี่เรียกว่าทำให้ ๆ กิเลสสิ้นไป แต่ที่แท้คือทำให้กิเลสเกิดไม่ได้ ทำให้กิเลสเกิดไม่ได้นั่นแหละ มาเรียกเสียว่าทำให้กิเลสสิ้นไปหรือความสิ้นไปแห่งกิเลส ไปทบทวนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง อย่าเอาไปลืมทิ้งเสียสินี่ จะได้เป็นความรู้ตลอดชีวิตไปเลยว่า ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วมันคืออะไร กิเลสเกิดอย่างไร เก็บความเคยชินไว้ที่ไหน และจะละลายมันเสียอย่างไร โดยวิธีใด
ทีนี้จะให้เห็นง่าย ๆ ก็ในเรื่องของการละสังโยชน์ ๑๐ ประการ ละสังโยชน์ ๑๐ ประการ บาง ๆ ๆ องค์คงจะรู้ ๆ ๆ แล้ว เรื่องสังโยชน์ ๑๐ ประการ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ ปฏิฆะ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา ๑๐ อย่าง นี้ก็คือตัวอนุสัยแต่มาเรียกชื่อว่าสังโยชน์ สังโยชน์ ความผูกพันให้ติดอยู่กับการเกิดกิเลส จะเรียกว่าอนุสัยก็ได้ คือเชื้อที่จะเกิดกิเลส เก็บอันนี้ไว้ก็มีเชื้อที่จะเกิดกิเลส เพื่อจะให้เข้าใจง่ายก็แยกให้เห็นเป็นชิ้น อ่า, เป็นอย่าง ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ไป
สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่ากายนี้ของตน กายนี้ของตน อยากจะระบุไปที่สัญชาตญาณ สัญชาตญาณที่มันเกิดติดมากับชีวิต มันเอาความโง่ว่า กายนี้ของกู กายนี้ของกู ในความรู้สึกของมันติดมาด้วยเสมอ มันก็ละเพียงว่าตัวตนที่เป็นเพียงสัญชาตญาณไม่หมด ดังนั้นการละสักกายทิฏฐิได้นั้น ไม่ได้ละตัวตนหมดหรอก มันละแต่เพียงขั้นที่ว่าเป็นของเบื้องต้น เป็นของหยาบ เป็นของพื้นฐาน แล้วมันก็ไม่ได้มีอะไรมากนัก ก็เอาที่ว่า กายนี้ กายนี้ เอาอื่นไม่เป็น เอาไม่ถูก เอาไม่เป็น กายนี้ของกู กายนี้ของกู ชีวิตนี้ของกู อะไรก็ได้ นี่เรียกว่าสักกายทิฏฐิ ทิฏฐิว่ากายนี้ของ ๆ ตน มีความรู้สึกอย่างนี้นอน ใช้คำว่านอน มันเป็นภาษาวัตถุ ที่ให้มันพร้อมที่จะเกิด มันพร้อมที่จะเกิดอยู่ในสันดาน พร้อมที่จะเกิดเมื่อไรก็ได้ว่า กายนี้ของกู กายนี้ของกู
ทีนี้ข้อที่ ๒ เรียกว่าวิจิกิจฉา มันเป็นเรื่องความโง่อีกแหละ อันที่ ๑ ที่ว่ามาแล้วก็เป็นเรื่องความโง่ อันที่ ๒ วิจิกิจฉา คือความโง่ความไม่รู้ที่ถูกต้องที่เพียงพอ มันก็สลัวไปหมด ไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไรกันแน่ เรียกว่าความลังเล มันไม่รู้อย่างเพียงพอที่จะตัดสินใจให้เด็ดขาดลงไปว่าเอาอย่างนี้ นี่บุถุชนเป็นอย่างนี้ ได้ฟังเรื่องพระพุทธเจ้า ก็ยังลังเลในเรื่องพระพุทธเจ้าว่า จะเป็นที่พึ่งได้จริงหรือไม่ ได้ฟังเรื่องพระธรรมก็ลังเลในพระธรรม ไปฟังเรื่องพระสงฆ์ก็ลังเลเรื่องพระสงฆ์ ทาน ศีล อะไรต่าง ๆ ที่ได้ยินได้ฟัง ก็ลังเล ไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไรกันแน่ กระทั่งลังเลอย่างอื่น ลังเลไปหมด ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความเฉื่อยชาในการปฏิบัติ นี่กิเลสประเภทโมหะนี่ ก็ต้องละไปที จนไม่ ๆ ๆ ลังเล ไม่ลังเลในพระพุทธ ไม่ลังเลในพระธรรม พระสงฆ์ ไม่ลังเลในศีล สมาธิ ปัญญา คือไม่ลังเลในสิ่งที่จะใช้ดับทุกข์ นี่คือไม่มีวิจิกิจฉา
ทีนี้อันที่ ๓ ความโง่อีกเหมือนกันแหละ ความโง่อันที่ ๓ เป็นเรื่องสีลัพพตปรามาส ตัวหนังสือแปลว่าลูบคลำศีลและวัตร สีลวตฺตปรามาส ลูบคลำศีลและวัตร คือจับฉวยเอาศีลและวัตรปฏิบัติผิดความเป็นจริง สีลัพพตปรามาส ถือเอาความหมายแห่งศีลและวัตรผิดความจริง เป็นเรื่องลูบคลำเล่น ๆ ไปเสีย เช่นว่ารักษาศีล ก็รักษาศีลเพื่อจะมีบุญมีกุศล เพื่อจะรวยจะสวยจะอะไรไปเสียทางนู้น ปฏิบัติสมาธิก็จะเพื่อมีฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ปฏิบัติวิปัสสนาก็จะเป็นผู้วิเศษ อย่างนี้มันมุ่งหมายผิดความมุ่งหมายอันแท้จริงของศีลและวัตรนั้น ๆ จะปฏิบัติธรรมะอะไรสักนิดหนึ่งผิดความมุ่งหมาย เข้าใจผิดความมุ่งหมาย
ก็คุณดูสิที่คนธรรมดาสามัญทั่วไป มันไม่ได้รักษาศีลเพื่อเป็นปัจจัยแก่พระนิพพาน มันรักษาศีลไปสวรรค์บ้าง ให้รวยในชาตินี้ ให้สวยในชาตินี้ อำนาจวาสนาในชาตินี้ กระทั่งว่าให้ถูกล็อตเตอรี่ก็ยังมีนะ นี่มันผิดวัตถุประสงค์ที่แท้จริง ของศีล ของสมาธิ ของปัญญา จนกว่ามันจะหายโง่ รู้ความประสงค์อันแท้จริงของศีลเป็นอย่างไร ของสมาธิเป็นอย่างไร ของปัญญาเป็นอย่างไร โน่น มันจึงจะได้ละไป ตัวที่ ๓ ที่เรียกว่าสีลัพพตปรามาส
ถ้าละได้ ๓ อย่างนี้ก็เรียกว่าถึงชั้นพระโสดาบัน พระโสดาบัน ไม่ถึงนิพพาน ไม่ถึงนิพพาน แต่ว่าถึงประตูแห่งพระนิพพาน อมตทฺวาร อาหจฺจ มาจดที่ประตูแห่งอมตะ คือนิพพาน แต่ยังไม่ได้เข้าไป นี่ว่าถึงกระแสที่จะไปสู่พระนิพพาน ก็เรียก โสต กระแส อาปนฺน ถึงแล้ว เรารู้จักอะไรแจ่มแจ้งถูกต้องหมด ไม่โง่เพื่อจะถอยกลับอีกแล้ว ไม่โง่ไปลังเลไปไหนถอยกลับไปล่ะ ไม่มีอีกแล้วนี่ ละไอ้โมหะ ไอ้ ๓ ตัวนั้นได้ เสียได้ มันก็สิ้นกิเลสไปไม่น้อยเหมือนกันนั่นแหละ ละไอ้ ๓ ตัวนั้นเสียได้ มันไม่โง่เป็นตัวกู มันก็ไม่ค่อยจะเกิดไอ้กิเลส มันไม่สงสัยลังเล มันก็เอาจริง นี้ก็ไม่เที่ยวหลงไอ้ลูบคลำศีลและพรตผิด ๆ ถูก ๆ อยู่ มันก็ถูกมากขึ้น
พระโสดาบันก็ละกิเลสได้มากเหมือนกัน ในเมื่อละไอ้ ๓ อย่างนั้นได้ มันละอื่น ๆ กิเลสชื่ออื่น โลภะ โทสะ โมหะได้ตามสมควร ถ้าละได้ต่อไปอีก ละราคะ โทสะ โมหะได้ต่อขึ้นไปอีก จากพระโสดาบันก็เรียกว่าสกิทาคามี ไกลออกไป ออกไปอีกขั้นหนึ่งแล้วนะ ทีนี้มันก็ยังเหลืออยู่เป็นไอ้กามราคะและปฏิฆะ ถ้าละได้อีกทีก็เป็นอนาคามี คือไม่มีความรู้สึกที่เป็นทางกาม ไม่มีความรู้สึกที่เป็นความโกรธ คือพวกราคะ วางแล้วดับโมหะ วางแล้วดับโทสะ ราคะ โทสะ วางแล้วดับ ละได้ก็เป็นพระอนาคามี
๕ ละไปแล้ว เหลืออีก ๕ ทางหลังนี่ พระอรหันต์ก็จะละ ละหมด ๕ ที่เหลือก็เป็นพระอรหันต์ นี้คือการพูดให้มันละเอียดชัดเจนเจาะจงละเอียดชัดเจนว่า จะละไปตามลำดับอย่างไร ละสังโยชน์นี้ก็คือละอนุสัย ความเคยชินหรือสิ่งที่เป็นปัจจัยให้เกิดความเคยชิน เกิดความเคยชิน ละไป ๆ เป็นเรื่อง ๑๐ ชื่อ ละได้หมดทั้ง ๑๐ ชื่อเราถึงขั้นที่บัญญัติเรียกว่าพระอรหันต์ ดูที่พระอรหันต์เพียงก็ว่าหมดอนุสัยข้างในไม่เกิดกิเลสก็ได้ จะดูข้างนอกพระอรหันต์มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ที่สุดไม่มีทางที่จะเกิดกิเลสก็ได้
คุณจะเลือกเอาอย่างไหนก็ได้ อนุสัยข้างในมันหมดไปแล้ว ความเคยชินที่จะเกิดกิเลสประเภทใด ๆ ก็หมดไปแล้วนะ ก็ ๆ ไม่เกิดกิเลส แล้วสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ มันก็ไม่เกิดกิเลสอีกเหมือนกัน ไม่โง่ที่อายตนะ ที่วิญญาณ ที่ผัสสะ ที่เวทนา มันก็ไม่เกิดกิเลสอีกเหมือนกัน จะมองดูฝ่ายนี้ก็ได้ มองดูฝ่ายนี้ก็ได้ กิเลสไม่อาจจะเกิด มันดูเป็นว่างจากกิเลส แล้วไปพูดเสียใหม่ว่าสิ้นกิเลส
แต่ผมขอแนะให้เข้าใจให้สังเกตว่า คือมันไม่อาจจะเกิดกิเลสอีกต่อไป แล้วเรียกว่าสิ้นกิเลส เหมือนตัวอย่างการดับไฟ เมื่อไฟไม่อาจจะเกิดทยอยตามมา มันก็หยุด ไอ้ที่มันลุกไปแล้ว มันสิ้นไอ้สิ้นไอ้กำลัง มันก็ดับไป ไอ้ที่เกิดใหม่ไม่ลุกตามมา มันก็ไม่เกิดไฟ คือมันไม่เกิดไฟไหม้ตามขึ้นมาอีก ก็เรียกว่าไฟดับ นี้คือคำว่าสิ้นกิเลส สิ้นกิเลส คือสิ้นไอ้อนุสัยความเคยชินแห่งกิเลสก็ได้ หรือว่ามีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์เต็มที่ไม่อาจจะเกิดกิเลสอีกต่อไปก็ได้
เป็นเรื่อง ๆ สูงหรือเรื่องต่ำ เรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ คิดดู จะไม่มีใครสนใจ ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร มันไม่สนใจที่จะปฏิบัติ แม้แต่เป็นพระเป็นเณรก็ยังไม่ปฏิบัติ ไม่สนใจ แต่นี่คือเรื่องที่เป็นหัวใจชั้นเลิศของพระพุทธศาสนา การทำให้กิเลสสิ้นไป ๆ จนไม่มีกิเลสเหลือ ไม่มีไฟอะไรที่จะขึ้นมาเผาชีวิตจิตใจให้เร่าร้อนอีกต่อไป สิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะ ก็ไม่มีไฟใด ๆ คือไม่มีความทุกข์อย่างใด อันนี้เรียกว่านิพพาน นิพพาน ถ้าไฟไม่มี มันก็ไม่มีความร้อน ก็เรียกว่าเย็น มีความดับไฟแห่งไฟคือกิเลส ก็มีความเย็น
คำว่านิพพาน นิพพาน ตัวหนังสือแท้ ๆ แปลว่าเย็น เป็นคำพูดทางวัตถุ ไม่เกี่ยวกับธรรมะ ไม่เกี่ยวกับศาสนา เป็นคำพูดทางวัตถุ ประชาชนชาวบ้านเขาใช้พูดกันอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนพุทธกาล ตั้งแต่มนุษย์รู้จักว่าไฟดับแล้วเย็น คำว่าเย็น ๆ นั้นรู้จักพูดแล้ว คำนั้นคือคำว่านิพพาน นิพพาน แต่เป็นนิพพานของไฟ ไฟเป็นกอง ๆ นี่ ก็แปลว่าเย็น ๆ ยังไม่เกิดคำสอนทางธรรมทางศาสนา คำว่านิพพานก็มีใช้แล้ว คือหมายถึงเย็น เพราะดับไปแห่งของร้อน
เด็ก ๆ เขาพูดกันอยู่ในครัวว่า ไฟนิพพาน คือไฟดับ ปชฺโชตสฺเสว นิพฺพาน นี้คำมาเอามาเปรียบเหมือนกับดับ ๆ ๆ นิพพาน นิพฺพาน แปลว่าดับ ปชฺโชตสฺส แปลว่าแห่งไฟ ถ่านไฟลุกแดง ๆ ดับลงไปก็ว่าถ่านไฟมันนิพพาน แกงกับข้าวปลาอาหารข้าวต้ม ร้อนกินไม่ได้ รอมันนิพพาน รอมันนิพพาน แล้วกินได้นี่ นี้นิพพานในภาษาธรรมดาไม่เกี่ยวกับศาสนา เอาน้ำรดไอ้ของร้อน ๆ ให้เย็นลงไปก็เรียกว่าทำให้มันนิพพาน ข้อความในบาลีก็ช่างทองก็หลอมทองเหลวคว้างในเบ้าแล้ว ก็ถึงได้ที่ดีแล้ว เขาจะทำให้มันเย็น เขาก็เอาออกมารดด้วยน้ำ ทำให้ทองเหลวคว้างนั้นเย็นลง ก็ใช้คำว่าทำให้มันนิพพาน ไม่มีธรรมะธัมโมอะไร แล้วไม่เกี่ยวกับธรรมะ เคยรู้ว่าคำนี้ใช้พูดกันอยู่ก่อนที่มนุษย์จะรู้เรื่องทางธรรมะ
ทีนี้ข้อความบางแห่งแสดงให้เห็นว่าใช้กับวัตถุอย่างนั้น เขาใช้ ๆ ที่เอามาใช้กับสัตว์เดรัจฉาน สัตว์เดรัจฉานเป็นสัตว์ในป่า ช้างป่า ควายป่า เสือสางอะไรก็ตาม สัตว์ป่า เต็มไปด้วยพิษ ไอ้ฤทธิ์ความร้ายกาจของมันดุร้ายกาจอันตราย นี่จับมาจากป่ามาฝึกไป ๆ ๆ ๆ จนเชื่องเหมือนกับแมว แม้แต่เสือก็เชื่องเหมือนกับแมว ช้างก็เชื่องเหมือนกับแมว คนนี้ใช้คำว่านิพพานเหมือนกัน มันเย็น ไอ้สัตว์ร้ายเหล่านั้นเย็น ๆ เป็นนิพพานของสัตว์ร้าย ใช้กันอยู่อย่างนี้ ก็แปลว่าประชาชนก็ใช้คำ ๆ นี้เพื่อความเย็น
นี้ต่อมา ความคิดมันสูงขึ้นมาเป็นเรื่องทางศาสนา คือมนุษย์เริ่มรู้จักว่ายังมีไฟอีกชนิดหนึ่งโว้ย ไฟที่เกิดในใจไม่ใช่ไฟในเตาโว้ย ราคะ โทสะ โมหะ เป็นไฟด้วยเหมือนกัน ที่จะเอาอะไรดับมันโว้ย ดับราคะ โทสะ โมหะที่เป็นไฟในหัวใจเสียได้นี่ ก็เกิดเป็นนิพพาน นิพพาน ในทางธรรมหรือทางศาสนาขึ้นมา ประชาชนทุกคนรู้ดีว่า ราคะร้อนอย่างไร โทสะร้อนอย่างไร โมหะร้อนอย่างไร แต่ไม่รู้จะดับอย่างไร
มาถึงยุคจิตใจแล้วนะ ก็มีคนพวกแรกจะพบ เผอิญพบแล้วกัน มันเสนอขึ้นมาว่า กามารมณ์ กามารมณ์นี้ กามารมณ์เพศนี่ ทำให้มีขึ้นมา สมบูรณ์อยู่ด้วยกามารมณ์ ก็ดับไฟราคะ โทสะ โมหะได้ มันคิดว่าอย่างนั้น ที่จริงกลบเกลื่อนไม่ให้ปรากฏ แล้วก็ชั่วขณะเล็กน้อย ความรู้สึกทางกามดับความรู้สึกทางกิเลสได้บ้างหรือชั่วคราว ก็เลยว่านี่ดับกิเลส เรียกว่าเอากามารมณ์เป็นนิพพาน อย่างนี้ก็มี ตอนแรก ๆ เรื่องนี้ก็ปรากฏอยู่ในตัวสูตรตัวพระบาลี เช่น พรหมชาลสูตร เป็นต้น
ต่อมา ๆ ไอ้พวกที่ฉลาดสูงขึ้นไปอีก ฤษีมุนีอะไรก็ตามใจเถิด มันว่าเพราะ โอ้, อย่างนี้บ้าอะไรกามารมณ์เป็นนิพพาน สมาธิสิ สมาธิสิ ทำสมาธิที่จะเป็นสมาธิอย่างนี้ ๆ มันก็ดับไฟ เย็น ไฟไม่ปรากฏ มันก็เย็น สมาธิมันมีหลายชั้น ๆ อย่างน้อยก็ ๘ ชั้น สมาธิทุกชั้นเป็นนิพพานมาตามลำดับ ภพสูงขึ้นไป ก็เลื่อนนิพพานสูงขึ้นไป ๆ จนเป็นชั้นสุดท้ายที่เรียกว่าเนวสัญญานาสัญญายตนะ อันที่ ๔ ของอรูปฌาน
ทีแรกก็ตั้งต้นที่รูปฌานก่อน ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ของรูปฌาน ๔ นี้ก็เย็น ๆ ๆ ๆ ขึ้นไปตามลำดับ สุดของรูปฌานแล้วยัง ๆ มีอีก ทำอย่างอรูปฌาน ที่เรียกอากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ นี่ระงับ สมาธินี้ระงับไฟคือกิเลสได้มาก ได้มากจนเชื่อกันว่าหมด จนเชื่อกันว่าหมด พอดีพระพุทธเจ้าเกิดนั้น
เมื่อพระพุทธเจ้าเกิดนี่ ในหมู่มนุษย์ฤษีชีไพรดาบสอะไรก็ตาม เขารู้เรื่องเนวสัญญานาสัญญายตนะ ที่คุณเรียนพุทธประวัติก็จะพบว่า พระสิทธัตถะออกบวชแล้วไปศึกษาที่นั่นที่นี่ที่โน่น ไปศึกษากับอาฬารดาบส อุทกดาบสนั่นแหละ ศึกษาเรื่องอากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ อาจารย์ดาบสว่า นี่สุดแล้ว พอแล้ว หมดแล้ว ไม่มีอะไรอีกแล้ว มาช่วยกันแนะนำสั่งสอนต่อไป พระสิทธัตถะไม่ ๆ ยอมรับว่า นี่หมดแล้ว นี่สูงสุดแล้ว นี่สิ้นสุดแล้ว จึงออกไปค้นหาของพระองค์เอง ของพระองค์เอง
คลำไป ๆ ๆ คิดค้นไป พิจารณาไป จนพบว่า มันต้องสิ้น ต้องทำให้สิ้นนั่นแหละ ไม่ใช่เอาอะไรมากลบ ๆ ไว้ เอากามารมณ์มากลบไว้ ก็พักเดียวอีก นิดเดียว แวบเดียวเท่านั้น เอาสมาธิมากลบไว้ มันก็ชั่วขณะ ๆ แม้จะนานออกไปอีกหน่อย เย็นกว่าหน่อย ก็ ๆ ยังไม่ ๆ ๆ ๆ ๆ สิ้นไฟ เพราะมันไม่ดับไฟ มันเพียงแต่มากลบไว้ ปิดเอาไว้
ท่านค้น ท่านคิดค้นไปจนถึงว่าสิ้นกิเลส คือมีวิปัสสนาคมกล้า ตัดความโง่ทุกชนิด ไม่มีอุปาทาน ความยึดมั่นในสิ่งใด ๆ ว่าเป็นตัวตน ว่าเป็นของตน มีวิปัสสนาแรงกล้า จนไม่เอาสิ่งใดมาเป็นตัวตนเป็นของตน เมื่อเป็นอย่างนี้กิเลสเกิดไม่ได้ ราคะเกิดไม่ได้ โทสะเกิดไม่ได้ โมหะเกิดไม่ได้ แล้วมันจึงจริง ๆ และถึงที่สุด นิพพานจริง ถึงที่สุด ก็ปรากฏออกมา และก็ไม่มีใครที่จะปฏิบัติให้ ๆ มากกว่านี้ และยิ่งไปกว่านี้ สูงไปกว่านี้ตามกัน เขายุติแค่นี้แหละ
นิพพานในพุทธศาสนาคือสิ้นไปแห่ง ราคะ โทสะ โมหะ เพราะว่าเห็นความจริงจนตัดอุปาทานในสิ่งทั้งปวงเสียได้ ในขันธ์ ๕ หรือในทุกสิ่งที่มีอุปาทานยึดถือว่าตัวตนของตน ตัดเสียได้ นี่คือพระนิพพานแท้ นิพพานจริง และสูงสุดของพระพุทธศาสนา เรียกว่าความสิ้นกิเลส สิ้นกิเลสโดยแท้จริง คือไม่อาจจะเกิดอีก ๆ ต่อไป ไม่โผล่หน้ามาให้เห็นอีกต่อไป เรียกว่าความสิ้นกิเลส ก็ถูก เพราะไม่เกิดอีกต่อไป แต่จริงความไม่เกิดอีกต่อไปนั่นแหละคือความสิ้นกิเลส นี่คือเรียก อ่า, สิ่งที่เรียกว่านิพพาน นิพพาน เป็นการสิ้นไปแห่งกิเลสโดยสิ้นเชิง นี้เรียกว่าการสิ้นกิเลส
กิเลสมีระบบอย่างนั้น ๆ พูดแล้ววันก่อน นี้ก็มาพูดถึง ศีล สมาธิ ปัญญา วิปัสสนา ที่จะตัดอนุสัยที่เก็บไว้ในสันดานให้หมดไป โดยแยกแยะเป็นเรื่อง ๑๐ หัวข้อ ที่พระโสดาบันจะตัด สกิทาคามีจะตัด อนาคามีจะตัด อรหันต์จะตัด แยกและให้มันชัด มันได้เอง ที่จริงว่าคำเดียวว่าสิ้นอนุสัย สิ้นอนุสัยไปตามลำดับ ๆ หมดสิ้นเลยก็เป็นพระอรหันต์ ไม่มีอาสวะเหลือไหล ที่จะเหลือที่จะ ที่จะไหลออกมาอีกไม่มี เรียกอีกทีว่าสิ้นอาสวะก็ได้
ถ้าเรียกว่าสิ้นกิเลส มันอาจจะไปหมายถึงกิเลสต้นตอทีแรกก็ได้ มันเลยฟังยาก จึงใช้คำว่าสิ้นอาสวะคือกิเลสที่จะโผล่มาทีหลังอีกจากอนุสัย พระอรหันต์สิ้นอาสวะ เรียกให้ถูกต้องว่าสิ้นอาสวะ ไม่ได้เรียกว่าสิ้นกิเลส เพราะสิ้นอนุสัยแล้วก็สิ้นอาสวะ ความเคยชินที่จะเกิดกิเลสหมดสิ้นไป สติสัมปชัญญะก็สมบูรณ์ที่สุด เกิดกิเลสไม่ได้อีกต่อไป นี้เรียกว่าสิ้นกิเลส สิ้นไฟแห่งกิเลส ไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ ไม่โผล่มาให้เห็นอีกต่อไป นี่คือความสิ้นกิเลสหรือเรียกว่านิพพาน
นิพพาน เป็นคำพูดที่ยืมมาจากชาวบ้าน ที่พูดอยู่แต่ก่อนเก่าแก่ว่า ดับแห่งความร้อน ดับแห่งของร้อน แล้วก็ดับแห่งพิษร้าย พิษร้ายก็ร้อนเหมือนกันแหละ ของสัตว์ร้าย ดังนั้นจึงมาดับแห่งกิเลสด้วยวิธีกลบ ๆ ๆ เอาไว้ก่อน กลบไว้ด้วยกามารมณ์หรือกลบไว้ด้วยสมาธิ พอมาถึงพระพุทธเจ้าไม่เอาแล้ว ไม่เอากลบอย่างนั้นแล้ว เอาขุดราก ๆ ทิ้งเลย
คุณไปดูเอาเองว่า ดับกิเลสกันมาอย่างไร นับตั้งแต่ว่าเอาอะไรมากลบให้ลืมไป กามารมณ์กำลังนั่นอยู่ ก็มันไม่ มันไม่ ๆ รู้สึกร้อนเรื่อง ราคะ โทสะ โมหะ ไอ้กามารมณ์มันกลบอยู่ กินไม่ไหว ไม่พอ เอาสมาธิหรือสมาบัติมากลบอีก ก็ดีกว่านะ แต่ก็ไม่ไหวเหมือนกัน ยังมี มันไม่ดับหมด พอไม่กลบ มันโผล่มาอีก ทีนี้มาถึงไม่กลบแล้ว ทีนี้ขุดรากทิ้งเลย รากของกิเลสคืออนุสัยหรือว่าสติสัมปชัญญะที่จะป้องกัน มันเกิดขึ้น ไฟก็ไม่โผล่อีกต่อไป เรียกว่านิพพาน นิพพาน
ทีนี้มันมีความสำคัญที่เราควรจะมองเห็นว่า พอกิเลสมี ก็เกิดไฟและร้อนนะ ถ้ามันเกิดตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง มันก็ตาย อย่างน้อยก็บ้า บ้าแล้วก็ตาย ทีนี้มันไม่ได้เกิดทั้ง ๒๔ ชั่วโมง มันมีไม่เกิดของมันเองโดยธรรมชาติ หรือว่าป้องกันไว้ได้โดยอะไรบ้าง ไม่มีเหตุปัจจัยให้กิเลสเกิดทั้ง ๒๔ ชั่วโมง ก็ดูของตัวเรา ของ ๆ เราแต่ละคนสิ ใครเกิด ราคะ โทสะ โมหะ ทั้ง ๒๔ ชั่วโมงบ้าง มันไม่มี มันเกิดแต่บางคราว และเกิดในสัดส่วนที่ ๆ น้อยแหละ ไอ้ส่วนที่ไม่เกิดมันมีมากกว่า
ดังนั้นกิเลสก็ไม่ได้เผาเอาจนตาย กิเลสไม่ได้เผาเอาจนเป็นบ้า ที่เราปรกติกันอยู่ได้อย่างนี้ ไม่เป็นบ้าหรือตายเพราะไฟกิเลสเผา ก็เพราะว่ากิเลสมันไม่ได้เกิดติดต่อกันทั้ง ๒๔ ชั่วโมง เป็นการดับความร้อนของธรรมชาติ โดยธรรมชาติ ตามธรรมชาติ นี่เรียกว่านิพพานให้เปล่า คือธรรมชาติมันมีของมันเอง เราจึงไม่ตาย เราจึงไม่เป็นบ้า แต่ว่ามันเป็นนิพพานขั้นน้อย ๆ ไม่สมบูรณ์ ไม่สูงสุด มันจะกลับมาอีก ไฟมันจะกลับมาอีก แต่เราก็ควรจะขอบใจนิพพานแม้น้อย ๆ นี้ แม้น้อย ๆ อย่างนี้ แม้จะไม่ ๆ ๆ สิ้นเชิงนี่ ไม่เด็ดขาด ก็ควรจะขอบใจ เพราะว่ามันทำให้เราไม่ต้องเป็นบ้า ทำให้เราไม่ต้องตาย
คำนวณดู ๒๔ ชั่วโมงนี่ ที่เกิด ราคะ โทสะ โมหะ รวม ๆ กันจะไม่ถึงชั่วโมงกระมัง หรือไม่ถึง ๒ ชั่วโมงมั้ง ตั้ง ๒๐ กว่าชั่วโมงมันไม่ได้เกิด มันอยู่ในลักษณะที่เก็บกดเป็นอนุสัยก็ตามใจ แต่มันไม่ได้ ไม่ ๆ ลุกเป็นไฟขึ้นมา ดังนั้นเราควรขอบคุณขอบใจนิพพานน้อย ๆ นิพพานชั่วคราวนี่ ซึ่งเป็นตัวอย่างให้รู้จักนิพพานใหญ่ นิพพานจริง ขอบคุณ ๆ นิพพาน อย่า ๆ ไปเกลียดคำว่านิพพาน เพราะนิพพานช่วยคุ้ม ๆ ๆ ๆ ไม่ ๆ บ้าและไม่ตาย พูดคำหยาบหน่อยเอาไหม คุ้มกะลาหัวมึงไว้ไม่ให้เป็นบ้าและตาย นิพพานน้อย ๆ นิพพานชั่วคราวนี้
ดังนั้นจงพอใจ ๆ ที่จะทำให้มันมากขึ้น ๆ รู้สึกไอ้เวลาที่ไม่เกิดกิเลส ไม่เกิด ราคะ โทสะ โมหะ สบายเท่าไร แล้วไปเปรียบเทียบกันดูกับเวลาที่มันเกิด ราคะ โทสะ โมหะ นั้นมันร้อนเท่าไร มันร้อนเท่าไร พอเอามาเปรียบเทียบกันดูอย่างนี้ จิตของเราก็จะน้อมไปในทางชอบนิพพาน พอใจในนิพพานมากขึ้น ๆ นั้นแหละ มันจะง่ายในการที่จะปฏิบัติให้มีนิพพาน
ดังนั้นขอให้ทุกคนนี่คอยกำหนดดูว่า พอไม่เกิดกิเลสไม่มีกิเลสนั่นน่ะ สบายเท่าไร สบายเท่าไร เย็นอกเย็นใจเท่าไร ก็ชิมรสของมันที่มันว่างจากกิเลส พอใจชิมรส พอใจชิมรส ไม่เท่าไรมันก็จะเกิดรักพอใจไปในทางนิพพาน มีจิตน้อมไปในทางนิพพาน เอียงไปหานิพพาน ถ้าทำอย่างนี้อยู่บ่อย ๆ ลองทำดู เมื่อไรจิตใจสบายไม่มีกิเลส สบายอย่างไร ก็เรียกว่าเย็นเหมือนกันแหละ แต่มันมีชื่ออีกชื่อหนึ่ง ไม่ ๆ ใช่เย็นเด็ดขาด ไม่ใช่เย็นเด็ดขาดเป็นนิพพาน
เย็นอย่างนี้ เย็นตามธรรมชาติอย่างนี้ มันมีชื่อเรียกว่านิพพุติ นิพพุติ เวลาเขาให้ศีล ๕ เขาบอกอานิสงส์ เขาก็เอ่ยถึงคำนี้ สีเลน สุคตึ ยนฺติ ไปสุคติเพราะศีล สีเลน โภคสมฺปทา สมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์เพราะศีล สีเลน นิพฺพุตึ ยนฺติ นิพฺพุตึ นิพพุติ นิพฺพุตึ ยนฺติ ถึงนิพพุติก็เพราะศีล ว่ากันทั้งพระทุกคราวที่ให้ศีล แต่ทั้งพระผู้ให้ศีลและทั้งอุบาสกผู้รับศีล มันไม่รู้ว่าอะไร เหมือนเป่าปี่ให้แรดฟัง เป่าปี่ให้เต่าฟังอยู่นั่นน่ะ เอ่ยชื่อถึงนิพพุติ ๆ กันทุกครั้งที่มีการให้ศีล แล้วมันก็หายเงียบไป เพราะมันไม่รู้ว่านิพพุตินั้นคืออะไร
นิพพุติคือเย็น เย็นตามธรรมชาติ เท่าที่ธรรมชาติมันไม่ให้เกิดไฟนั้นแหละ แต่ก็เย็นเหมือนกันแหละ แต่มันเพียงชั่วคราว มันไม่เด็ดขาด มัน แม้มันชั่วคราว มันก็เย็นเหมือนกันนั่นแหละ แต่มันชั่วคราวหรือมันไม่ ๆ เด็ดขาด นิพพานชั่วคราว นิพพุติชั่วคราว มันก็เย็นเหมือนกับนิพพานจริงนะ หากแต่มันไม่เด็ดขาดลงไป มันกลับไปสู่ร้อนอีก
เมื่อใดร้อน มันก็เป็นร้อนเป็นกิเลส เมื่อใดไม่มีกิเลสอย่างนี้ ก็เรียกว่ามีเย็น ๆ ๆ เป็นนิพพุติ นิพพุติ เขาชอบกันมากเหมือนกัน เมื่อยังไม่ ๆ ถึงนิพพานจริงก็ใช้คำนี้ ในประเทศอินเดียสมัยพุทธกาลรู้จักกันดี รู้จักกันดีในคำว่าเย็นอย่างนิพพุติ ผู้หญิงมีนิพพุติก็เรียกว่าเป็นนิพพุตา ผู้ชายมีนิพพุติก็เรียกว่านิพพุโต คือมีเย็นชั่วคราวนี่ นิพพุตาใช้กับหญิง นิพพุโตใช้กับชาย เวลานั้นก็สบาย ๆ เย็น ๆ มันก็ไม่มีไฟ ให้พร ๆ ให้มีนิพพุติ
นี่มันสิ้นกิเลสประเภทธรรมชาติช่วย นี่เราไม่ได้ปฏิบัติด้วยฝีไม้ลายมือของเรา ธรรมชาติช่วย มันบังเอิญและมันยังไม่เหมาะ ไม่ครบ ไม่พร้อมที่จะเกิดไฟ ธรรมชาติช่วย แต่ก็ควรจะรู้จัก ควรจะรู้จักแล้วก็อย่าปล่อยเพียงธรรมชาติช่วย ช่วยตัวเองด้วย รู้จักละราคะ โทสะ โมหะ รู้จักดับไฟ ๆ ๆ มากขึ้น ๆ โดยอย่างที่ว่านี้ ๑๐ ๆ อย่างนั้นสิ้นไป เป็นโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ ตามลำดับ สิ้นสุดลงที่พระอรหันต์ เย็น มันเย็นจริงก็เรียกว่านิพพาน นิพพาน
เอ้า, ทีนี้ก็จะพูดกันให้มันสุดเลยนะ ไอ้ที่เรียกว่านิพพาน ๆ เย็นเพราะว่าทำสมาธิวิปัสสนา เกิดไอ้ญาณดับไฟได้ มันก็เกิดความเย็นสูงสุด ชั้นสูงสุด ที่เรียกว่านิพพาน แต่ท่านมาเรียกชื่อว่านิพพานธาตุ ธาตุ ธา-ตุ ธา-ตุ นิพพานธาตุ ภาวะแห่งความเย็นหรือนิพพาน พอถึงขั้นนิพพาน คือเป็นพระอรหันต์แล้วนะ ยังมีเป็น ๒ ขั้นตอน นิพพานของพระอรหันต์นี้ยัง ๆ ๆ มีเป็น ๒ ๆ ชั้น ๒ ขั้นตอน
ขั้นแรกเรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน แปลว่านิพพานมีเชื้อเหลือ มีอุปาทิเหลือ ขั้นที่สองเรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพาน นิพพานที่ไม่มีเชื้อเหลือ ข้อนี้น่าฟังมาก ตามพระบาลีที่กล่าวไว้ พระอรหันต์สิ้นกิเลสแล้ว พระอรหันต์พวกแรกน่ะ พวก ๆ ที่สอุปาทิเสส กิเลสสิ้นแล้ว ไม่มีเหลือแล้วแหละ แต่ว่าอินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือไอ้ประสาทอะไรต่าง ๆ นี้ ที่สำหรับจะรู้สึกต่อเวทนานั้นน่ะ ยังไม่ได้ถูกทำลายให้หมดไป ยังรู้สึกอยู่
ดังนั้นเมื่อสุขเวทนาหรือทุกขเวทนามากระทบ พระอรหันต์ประเภทนี้ท่านก็รู้สึกว่าเป็นสุขเวทนาหรือทุกขเวทนา แต่ไม่เกิดกิเลส คือไม่เกิดยินดียินร้าย ไม่เกิดกิเลส แต่ว่าอินทรีย์ของท่านมันยังไม่ถูกกำจัด ดังนั้นท่านจึงรู้สึกเวทนา สุขหรือทุกข์ มนาปะหรืออมนาปะ เรียกว่ายังรู้จักรู้สึกว่า โอ้, นี่เป็นเวทนาบวก นี่เป็นเวทนาลบ เพราะอินทรีย์ยังไม่ถูกกำจัด ยังเหลืออยู่สำหรับรู้สึก
พอมาถึงพระอรหันต์องค์ที่ ๆ ๒ อนุปาทิเสสน่ะ อินทรีย์สุก กำจัดหรือว่าเวทนาเย็นสนิท ไม่อาจจะเกิดเวทนาเป็นเวทนาสุขหรือเวทนาทุกข์อีกต่อไป นี้เรียกว่าไม่มีอุปาทิเหลือ พูดอย่างสั้น ๆ อีกอย่างหนึ่งก็พูดว่า สิ้นกิเลสแล้ว เวทนายังไม่เย็นก็ได้ นี่สิ้นกิเลสแล้ว เวทนาก็เย็นสนิทแล้วด้วย นิพพานมี ๒ ชนิดอย่างนี้ สิ้นกิเลสแล้วแต่ยังรู้สึกเวทนาว่าบวกหรือลบ คือเวทนายังไม่เย็นสนิท ไม่ดับสนิท ที่องค์ที่ ๒ สิ้นกิเลสแล้วด้วย เวทนาเย็นสนิทด้วย คือไม่รู้สึกเป็นเวทนาบวก เวทนาลบ หรือสุข หรือทุกข์
นิพพานธาตุมี ๒ ระดับอย่างนี้ พระอรหันต์ก็มีการบรรลุ ๒ ระดับอย่างนี้ พวกแรกเรียกว่าสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ พวกหลังเรียกว่าอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ นี้คือตัวนิพพาน นิพพานที่แท้จริงคืออย่างนี้ ไม่ใช่ตายแล้วไปเกิดโลกใหม่ โลกอะไรที่สนุกสนานสรวลเสเฮฮา ที่คนโง่มันคิดเอาว่านิพพาน จะต้องมีอะไรน่ารักน่าพอใจสนุกสนานยิ่งกว่าที่เมือง ๆ เรา วาดนิพพานเอาเอง
ผมเคยเล่าให้ฟังแล้ว อุบาสิกาสมัครเล่น ที่มาวัดบ้างไม่มาวัดบ้างคนหนึ่ง อย่าออกชื่อกันเลยและก็ยังไม่ตายด้วย มาขอไปนิพพาน มาขอศึกษาไปนิพพาน อยากไปนิพพานอย่างยิ่ง ผมก็บอกว่าได้สิ แต่ว่าในเมืองนิพพานไม่มีรำวงนะ ไม่มีรำวงนะ เท่านี้ ไม่เอาแล้ว บอกคืน บอกเลิก บอกคืน ไม่ต้องการนิพพานแล้ว ก็แกมันชอบรำวง แล้วคิดว่าถ้าไปเมืองนิพพานแล้ว รำวงวิเศษกว่าที่นี่มาก ถึงอยากจะไปนิพพง ไปนิพพาน
นี่สันนิษฐานเอาเอง ตีความเอาเอง คาดกันเองเอาเองว่า นิพพานคือสนุกสนานเอร็ดอร่อยยิ่งกว่าที่ ๆ นี่ นั่นมันผิดลิบ ผิดลิบ มันสงบเย็นดับสิ้นสุดลงไปจากการกระตุ้นด้วยอารมณ์ ไม่มีอารมณ์ไหนมากระตุ้นได้ ไม่เกิด ราคะ โทสะ โมหะ แล้วเย็นเข้า ไม่มีไฟ เย็นเพราะไม่มีไฟ ไม่ร้อนแล้วก็ไม่ อ่า, ก็เรียกว่าไม่ร้อนและก็ไม่หนาว ร้อนก็ไม่ไหว หนาวก็ไม่ไหว ไม่ ๆ ร้อนไม่หนาวนั่นแหละ คือเย็นในความหมายของพระนิพพาน ไม่ใส่น้ำแข็ง เย็นยิ่งกว่าน้ำแข็งเสียอีก
นิพพานแปลว่าเย็น ๆ พอไฟกิเลสไม่มีมา ก็เย็นนี่รู้จักไว้นี่ เพราะเวลาที่ไฟไม่เกิดมันมีนี่ แต่คนโง่มันไม่สังเกตนี่ เวลาที่สบาย ไม่ ๆ ราคะ โทสะ โมหะ ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ ไม่อะไรหมด มันมี นั่นแหละอยู่กับนิพพานตัวอย่าง นิพพานตัวอย่างสินค้า แต่มันก็ไม่สนใจ ไม่พยายามที่จะเข้าใจ จึงขอเตือนไว้ว่า ถ้ามันมีมาเมื่อไรแล้ว ก็รีบรู้สึก ทำความรู้สึก เสวยดื่มรสพระนิพพาน แม้จะชั่วคราวหรือตัวอย่างสินค้านี้ มันจะเกิดพอใจแล้วมันจะได้มีมากขึ้น ๆ แล้วก็จนกว่าจะมีนิพพานสมบูรณ์ นี่สิ้นกิเลส หมดไฟ แล้วก็เย็นเป็นนิพพานสูงสุด มีอยู่ ๒ ระยะอย่างที่กล่าวแล้ว
และก็ยังมีนิพพานบังเอิญของตามธรรมชาติเรียกว่า ตทังคนิพพาน คือไฟมันไม่ลุก ไม่เกิดกิเลส ไม่ลุกเพราะมันยังไม่มีเหตุปัจจัย บางคราวมันไม่มีเหตุปัจจัย ไอ้ไฟก็ไม่ลุก ไอ้ชีวิตนี้ก็เย็นเหมือนกันแหละ ชีวิตนี้ก็เย็นเพราะนิพพานชั่วคราว ขอบคุณนิพพานชั่วคราว นิพพานตัวอย่าง นิพพานให้ลองดูก่อน เหมือนกับตัวอย่างสินค้า แต่คนโง่ไม่สนใจ เพราะว่าพระผู้บอกนิพพุติก็ยังไม่รู้เลย ทายกทายิกาผู้ฟังก็ยิ่งไม่รู้ ไม่รู้กันทั้งคนบอกและคนฟัง ไอ้ความเย็นชนิดนี้มันก็เลยเลิกกัน เป็นหมันไป ไม่รู้อยู่ที่ไหน
ดังนั้นเราอย่างน้อยแม้ยังไม่ถึงนิพพานแท้จริงที่สมบูรณ์ ก็ขอให้รู้จักนิพพานที่ตัวอย่างนี้ คือนิพพุติ นิพพุตินี่ กันไว้เรื่อยไป เวลาใดไม่มีกิเลสเกิด มันไม่เกิด มันยังไม่เกิด ก็มีนิพพุติ นิพพุติ ต้อนรับให้ดี รักษาให้ดี ทำให้มันมากขึ้น ให้มันอยู่นานออกไป ให้มันอยู่นานออกไป นี่กันไว้ ๒๔ ชั่วโมงไม่เกิดไฟสักครั้งหนึ่ง ทั้งที่เชื้อไฟยังอยู่ข้างใน นี่ต้อนรับนิพพาน ขอบคุณนิพพาน ขอบคุณนิพพาน
เดี๋ยวนี้มีคนอกตัญญูในประเทศไทยอันเจริญด้วยพุทธศาสนา มีคนอกตัญญูเกลียดนิพพานว่า อย่าเอานิพพานมาสอนเลย นิพพานเป็นข้าศึกของการพัฒนา อย่าเอามาพูดถึง อย่าสอน ก็มี นี้มันไม่รู้จักนิพพานที่ช่วยคุ้มกะลาหัว เราอย่าเป็นอย่างนั้น รู้จักนิพพานน้อย ๆ นิพพานชั่วคราว นิพพานบังเอิญอย่างนี้ เราทำให้มากขึ้น ทำให้มากขึ้น
เอาละ, เวลาชั่วโมงแล้ว หมดเรื่องการสิ้นกิเลสและก็เรียกว่านิพพาน วันก่อนเราพูดระบบกิเลส การเกิดแห่งกิเลส วันนี้พูดเรื่องสิ้นกิเลสและมีผลเรียกว่านิพพาน ขอยุติการบรรยาย