แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เพื่อนสหธรรมิกพรหมจารีที่เป็นนวกะภูมิทั้งหลาย วันนี้เราจะพูดกันถึงเรื่อง สิ่งที่เรียกว่ากิเลส กิเลส มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันอยู่กับชีวิตโดยตรงอย่างยิ่ง แต่คนก็ไม่ค่อยสนใจหรือไม่ค่อยจะได้รับความสนใจหรอกกิเลส มันเกี่ยวข้องกับชีวิตอย่างยิ่งโดยตรง แต่ไม่ค่อยจะได้รับความสนใจหรือรู้จักกัน
คำว่า “กิเลส” มันแปลว่าเศร้าหมอง ถ้าเป็นภาษาธรรมดาๆ ก็ว่าของสกปรก เมื่อชีวิตเศร้าหมองทางกายด้วยของสกปรกทั่วไป เช่น เหงื่อไคล ของสกปรกอะไร ที่มัน อุจจาระ ปัสสาวะ มาติดทางกาย ทางกายก็สกปรกด้วยวัตถุสกปรก แต่ว่าทางจิตใจในภายในก็สกปรกด้วยกิเลส ด้วยสิ่งที่เรียกว่า กิเลส ทางกายภายนอกสกปรกด้วยของสกปรกภายนอก ทางจิตภายในก็สกปรกด้วยของสกปรกภายในคือสิ่งที่เรียกว่า กิเลส นี้คนมันไม่ค่อยจะรู้สึกหรือรู้จัก ก็ไม่ค่อยได้สนใจกัน แต่พอความรู้สึกทางภายนอกมันรู้จักมันเห็นๆกันอยู่ มันก็สนใจ มันก็รีบล้าง รีบขัด รีบถูกันเป็นการใหญ่ เพื่อให้มันกลับสะอาด แต่ทีนี้ทางจิตใจไม่เป็นอย่างนั้น ไม่รู้สึก ไม่รู้สึก แล้วไปอยู่กับความสกปรกหรือกิเลสนั้นสบายไปเลย จนกว่ามันจะมีอาการชนิดที่รุนแรงจนกลายเป็นไฟแผดเผาขึ้นมา ขอให้รู้จักไว้ว่ากิเลสตัวนี้มันแปลว่าสกปรกหรือเปียกแฉะด้วย และแล้วถ้ามันมากขึ้นๆ รุนแรงขึ้น มันกลายเป็นไฟ ร้อน เผา เมื่อนั้นแหละจะเอะอะๆกันขึ้นมา รังเกียจกิเลสหรือดับกิเลสกัน นี้รวมความว่า กิเลสเป็นเครื่องสกปรกของชีวิต ทางกายก็ของสกปรกภายนอก ทางจิตก็ของสกปรกภายในคือสิ่งที่เรียกว่ากิเลส
พอพูดถึงเรื่องกิเลสมันก็เกี่ยวกับจิตโดยตรง จิตโดยตรง จิตสกปรก ชีวิตก็สกปรก เราก็รู้เรื่องที่จิตเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่า กิเลส ควรจะรู้จักจิตตามปกติ คือจิตล้วนๆ ไม่มีกิเลสเข้ามาเกี่ยวข้อง จิตอย่างนี้เรียกว่า “จิตประภัสสร” บาลีปภัสสร ไทยๆ เราเรียกว่า ประภัสสร แปลว่าเรืองแสง คำนี้แปลว่าเรืองแสง มีแสง มีรัศมี พอมีกิเลสเกิดขึ้น ความเป็นประภัสสรก็สูญเสียไป ไม่มีเรืองแสง เปรียบเหมือนว่าเพชร เพชรอย่างดีเรืองแสง พอมีโคลนหรืออะไรมาปะ ที่สกปรกมาปะ ความเรืองแสงมันก็หยุด มันเรืองออกมาไม่ได้ จิตนี้ก็เหมือนกัน ถ้าไม่มีอะไรมาปะมาปกปิดเคลือบคลุม มันก็มีลักษณะเรืองแสงประภัสสร พอมีสิ่งที่มาปะปิดมันก็เรียกว่าจิตเศร้าหมองแล้ว
สิ่งที่เข้ามาปะปกปิดให้เศร้าหมองนั้น ในภาษาบาลีเรียกว่า “อุปกิเลส” อุปกิเลส แต่เมื่อดูตรวจดูโดยแท้จริงเข้าไปไม่ใช่ ไม่ใช่อุปกิเลส ๑๖ อย่างในนวโกวาทนะ ไม่ใช่อุปกิเลส ๑๖ อย่างนวโกวาท กลับหมายถึง โลภะ โทสะ โมหะ เพราะมีบาลีแห่งอื่นว่า โลโภ อุปักกิเลโส โทโส อุปักกิเลโส โมโห อุปักกิเลโส โลภะนั่นแหละเป็นอุปกิเลส โทสะนั่นแหละเป็นอุปกิเลส โมหะนั่นแหละเป็นอุปกิเลส มีที่มามีหลักฐานแห่งบาลี ไอ้คนโง่บางคนมันด่าผมว่าพูดผิดๆ ว่าเอา ๓ อย่างนี้มาเป็นอุปกิเลส ผมไม่ได้ว่า พระบาลีว่าอย่างนั้น เพราะมันเคยเห็นแต่อุปกิเลส ๑๖ในนวโกวาท
ทีนี้ก็พิจารณาดูว่าเพราะเหตุใด ก็ดูตรงที่คำว่า “อุป” อุปมันแปลว่าเข้าไปๆ หรือเข้ามาก็ได้ คือมันไม่ได้อยู่ที่ มันจะกันเข้าไป โลภะเมื่อมีอาการเข้าไปกระทำแก่จิตประภัสสรก็ชื่อว่าอุปกิเลส โทสะเมื่อมีอาการเข้าไปกระทำแก่จิตประภัสสรก็ชื่อว่าอุปกิเลส โมหะะก็เหมือนกัน ก็แปลว่าเข้าไปทำให้เศร้าหมอง มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า “อาคันตุกะ” เพราะไม่ได้เกิดอยู่ตลอดเวลา มาเป็นคราวๆ กิเลสที่จะเข้าไปครอบงำจิตประภัสสรให้สูญเสียนั้นมาเป็นคราวๆ เลยเรียกมันว่า อาคันตุกะ แค่ที่เข้ามาเป็นคราวๆ นี่เราก็ดูตามที่เราจะรู้สึกได้ว่า จิตไม่ได้เศร้าหมองหรือสกปรกอยู่ตลอดเวลา มันเศร้าหมองหรือสกปรกเป็นคราวๆตามที่กิเลสมันได้เกิดขึ้นอย่างนี้ เมื่อใดกิเลสเกิดแก่จิต จิตก็สูญเสียความเป็นประภัสสร ก็เรียกชีวิตนี้เศร้าหมองในด้านจิต เป็นคู่กับการเศร้าหมองในด้านกาย คือสกปรกภายนอกดังที่กล่าวแล้ว ถ้าอย่ามีสกปรกทั้งกายทั้งจิตนั่นแหละวิเศษ จึงเห็นได้ชัดว่ามันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตจิตใจโดยตรงเรื่องกิเลสนั้น บางทีจะต้องพูดได้เลยว่าที่เราอุตส่าห์มาบวชมาเรียนกันนี่ก็เพื่อจะแก้ปัญหาเกี่ยวกับกิเลส เป็นเรื่องเกี่ยวกับกิเลส มาบวชมาเรียนมาศึกษาเพื่อจะจัดการเกี่ยวกับกิเลส และถ้ามองโดยทั่วไป ชีวิตนี้มันยุ่งยากลำบากเพราะกิเลสจนตาย เห็นยากจนตายเพราะสิ่งที่เรียกว่า กิเลส
เมื่อมีความเป็นประภัสสรมันก็สบายใจ สบายใจบอกไม่ถูก มันก็มีเศร้าหมอง มันก็แล้วแต่ว่ามันจะเศร้าหมองแบบไหน เศร้าหมองแบบโลภะหรือราคะ ที่เศร้าหมองแบบโทสะหรือโมหะ เรียกตามสุตตันตะ ตามหลักในพระสุตตันตะ ฝ่ายคัมภีร์ที่แปลสุตตันตะว่า “ราคะ โทสะ โมหะ” แต่ถ้าฝ่ายอภิธรรมเขามักจะเรียกว่า “โลภะ โทสะ โมหะ” ไม่ชอบเรียกคำว่า ราคะ ไม่รู้เป็นอย่างไร แต่มันก็เรื่องเดียวกันทั้งนั้น เอาตามหลักสุตตันตะดีกว่า ถือเป็นหลักที่แน่นแฟ้นกว่า หรือว่าพระบาลีแท้ๆ ก็พูดอย่างนี้ แล้วเราก็ไม่ถืออภิธรรมเป็นพุทธภาษิต ราคะ โทสะ โมหะ หรือที่มันฝ่ายตรงกันข้ามก็ว่า ราคักขะโย โทสักขะโย โมหักขะโย นิพพานัง สิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะ นั่นคือนิพพาน ให้คุณนั้นจำชื่อของกิเลสโดยหลักใหญ่ๆไว้ ๓ อย่างว่า ราคะ โทสะ โมหะ
ราคะตัวนี้มันแปลว่าย้อม จับย้อมเหมือนสี สีย้อมผ้าจับผ้า ราคะ ทางจิตหมายถึงกำหนัดยินดี โทสะนี่ก็มาประทุษร้าย คือว่าขัดใจ ขุ่นเคือง เป็นบ้าขึ้นมา ส่วนโมหะ โมหะนี้ก็แปลว่าไม่รู้ มืดๆ หรือหลง มืดหรือหลงหรือไม่มีความรู้ มันก็เลยง่ายในการที่จะศึกษาหรือเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า กิเลส กิเลสประเภทหนึ่งจะเรียกว่า ราคะ หรือจะเรียกว่า โลภะ ก็ตามใจ มันมีลักษณะดึงเข้ามาๆ ดึงเข้ามาหาตัว มายึดถือไว้ กอดรัดไว้ ชื่นชมยินดีด้วยเรียกว่ามีลักษณะเป็นบวก ดึงเข้ามาหาตัว ทีนี้กิเลสประเภทที่สอง โทสะหรือโกรธะก็ได้ มีลักษณะผลักออก ผลักออกไปเพราะไม่เอา เพราะไม่ชอบ มีลักษณะแห่งความเป็นลบ กระทั่งว่าจะฆ่าจะทำลายเสีย ส่วนประเภทที่สาม โมหะนี้ ยังไม่แน่ว่าจะบวกหรือลบ เพราะสงสัยอยู่ สงสัยอยู่ ก็มีลักษณะวิ่งๆ วิ่งอยู่รอบๆ ถ้าเปรียบกับวัตถุเปรียบได้อย่างนี้ ราคะหรือโลภะดึงเข้ามาหา โทสะหรือโกรธะผลักออกไป คือฆ่าหรือทำลายเสีย โมหะก็วิ่งอยู่รอบๆ มีลักษณะไม่รู้วิ่งตามอยู่รอบๆ มัวเมาไปตามเรื่อง ฉะนั้นเมื่อเราจะรู้ว่ามันจะเป็นกิเลสประเภทไหนก็สังเกตอาการ อาการนี่มันมีลักษณะวิ่งเข้ามาหา กอดรัดไว้หรือผลักออกไปหรือทำลายเสีย หรือว่าวิ่งอยู่รอบๆ ราคะ โทสะ โมหะเข้ามาเมื่อไหร่ จิตสูญเสียความเป็นประภัสสร
ตามหลักถือว่าจิตแท้ๆ จิตล้วนๆ ออกมาจากท้องแม่นั้นเป็นจิตประภัสสร แล้วก็มาพบกันเข้ากับกิเลส มันจึงสูญเสียประภัสสร เป็นจิตที่เศร้าหมอง พูดเสียตอนนี้สักหน่อยหนึ่งก่อนว่ามันจะรักษาความเป็นประภัสสรไว้ได้อย่างไร เป็นเรื่องละเอียดต้องไว้พูดกันเป็นเรื่องใหญ่ แต่เดี๋ยวจะพูดไว้ให้เข้าใจกันว่า มันจะประภัสสรโดยหลักเกณฑ์อะไร มันประภัสสรโดยเหตุที่กิเลสมันหมด อำนาจมันสิ้นสุดลงโดยธรรมชาติ แล้วก็ประภัสสรโดยมีอะไรมา มาทำให้มันประภัสสร โดยเราไม่ต้องทำมันประภัสสรเองก็ได้ นี่เรียกว่า ประภัสสรโดยทำสมาธิ ทำสมาธิจิตก็ประภัสสร หรือทำวิปัสสนาถึงที่สุดตัดกิเลสได้หมดก็ประภัสสร อาการที่จะประภัสสรก็เป็นไปได้ถึง ๓ ชั้น ๓ ระดับอย่างนี้ ง่ายๆ ง่ายๆ ก็เป็นโดยอะไรบังเอิญก็ประภัสสร เป็นเอง อันที่สองนั่นก็ต้องทำสมาธิ เมื่อเป็นสมาธิก็มีความเป็นประภัสสรตามสมควร มากหรือน้อยตามสมควรแก่สมาธิชั้นไหน นี่ถ้าว่าตัดกิเลสด้วยวิปัสสนาด้วยญาณ มันก็ประภัสสรถึงที่สุด จิตประภัสสรเป็นเรื่องของชีวิต ชีวิตอยู่ด้วยจิตประภัสสร แล้วมันสูญเสียความเป็นประภัสสรไปเพราะกิเลสเข้ามา ทีนี้เราก็ดูเอาเองว่า ถ้าไม่มีกิเลสก็เป็นประภัสสรในระดับใดก็แบบหนึ่ง กิเลสเกิดขึ้นมีอยู่ก็สูญเสียประภัสสร กิเลสไม่ได้เกิดตลอดเวลานะ แต่ก็มีพวกบางพวกหรือพวกสอนธรรมะบางพวกไม่ต้องไปออกชื่อเขานะ เขาสอนว่ากิเลสเกิดอยู่ตลอดเวลาก็มีเหมือนกัน ผมไม่เชื่อ กิเลสเกิดเมื่อมีเหตุมีปัจจัย ก็เกิด แล้วก็ดับ เกิดดับ เกิดดับ ไม่ได้เกิดอยู่ตลอดเวลาเหมือนกับเราเปิดไฟติดอยู่ตลอดเวลาอย่างนี้ไม่ใช่ มันก็แล้วแต่ว่าจะมีเหตุหรือไม่มีเหตุให้เกิด นี้เวลาที่ไม่เกิดมันก็สบายแล้ว
นี้คือสิ่งที่เรียกว่า กิเลส กิเลสไม่ต้องเรียนจากใครหรอก ไม่ต้องเรียนจากหนังสือ เรียนจากความรู้สึกของตัวเองในภายใน เมื่อเรามีความรู้สึกในลักษณะบวก เอาเข้ามา เอาเข้ามาแล้วกอดรัดยึดถือไว้นั้นกิเลสประเภทบวก ราคะหรือโลภะ เมื่อไหร่มันโกรธแค้น มันจะทำลาย พวกโทสะ โกรธะ เมื่อใดโง่ลง โง่จนไม่รู้จะทำอย่างไรถูก หรือไปหลงใหลไปตามความโง่ก็ได้ มันเรียกว่าโมหะ เมื่อมีลักษณะอย่างนี้ อยู่อย่างนี้เราเรียกมันว่ากิเลส กิเลส เอากิเลสที่มันเกิดอยู่ตามธรรมดานะ เอามาศึกษาก็เรียกว่ากิเลส มันมีเหตุมีปัจจัยที่ให้เกิดแต่อย่าเพิ่งพูดถึงเหตุปัจจัย เดี๋ยวมันจะพูดถึงว่ากิเลสได้เกิดขึ้นอย่างนี้ มีลักษณะอย่างนี้แล้วก็เรียกว่า กิเลส เป็นประเภทที่หนึ่งเรียกว่ากิเลส กิเลสประเภทที่หนึ่งเรียกว่า กิเลส ครั้นเกิดกิเลสแล้ว มันก็เกิดกิเลสประเภทที่สองคือความเคยชินแห่งการเกิดกิเลส คือมันมีความเคยชินที่จะเป็นอย่างนั้นอีก กิเลสประเภทนี้เรียกว่า “อนุสัย” อนุสัย เก็บอยู่ในสันดาน ในสันดาน มันเกิดดับก็เกิดดับอยู่ในสันดาน มันก็เติมเข้าไปหรือลดลงไป เติมเข้าไปมากหรือลดลงไป กิเลสประเภทที่สองเรียกว่า อนุสัย เคยชินที่จะเกิดกิเลสอีก เช่นว่า กำหนัดยินดีหรือโลภไปครั้งหนึ่ง มันก็เคยชินที่จะเป็นอย่างนั้น กำหนัดยินดีสองหนก็หนักขึ้นไปหลายหน หลายๆหน ก็มีความเคยชินที่จะเป็นเช่นนั้นอย่างรุนแรงจนห้ามได้ยาก ความเคยชินแห่งกิเลสหรือกิเลสที่เป็นความเคยชินที่สะสมอยู่ในสันดาน นี่เรียกว่า อนุสัย เขาเรียกกันว่ากิเลสละเอียด ผมไม่เรียก เรียกกิเลสที่เป็นความเคยชิน ทีนี้เมื่อมันมีความเคยชินเก็บไว้ๆ ในสันดาน ความพร้อมที่จะดันออกมันมาก มันก็มีมาก ถ้าเก็บไว้มาก กำลังที่จะดันออกมันก็มาก กิเลสประเภทนี้จะดันออกมาเมื่อมีอะไรข้างนอกมายั่วยวน ความดันนั้นหนักขึ้นๆ ตามที่อนุสัยมันมากขึ้นๆ เหมือนกับว่าตุ่มน้ำ โอ่งน้ำเห็นได้ง่ายๆ ถ้าเราใส่น้ำลงไปมาก ความที่จะดันออกมันก็มาก มีรูรั่วตรงไหนสักนิดมันก็ดันออกปรี่เลย ทว่าน้ำไม่มาก ความดันก็มีแรงน้อย ถ้าน้ำมากน้ำเต็มยังดันใหญ่เลย กิเลสจะดันกลับออกมาข้างนอกอีกก็เรียกว่า “อาสวะ”
ประเภทที่หนึ่งเรียกว่ากิเลส ประเภทที่สองเรียกว่าอนุสัย ประเภทที่สามเรียกว่าอาสวะ เพราะว่าพอเกิดมามันก็มีกิเลส พอออกมาแล้วก็เกิดก็มีกิเลส ไม่ใช่อะไรก็มีอาสวะสะสมไว้มาก ไม่เท่าไรก็กระโดดกลับออกมาอีกเมื่อมีอะไรมันมาเป็นเหยื่อล่ออยู่ข้างนอก ดูเอาเองไม่ต้องศึกษาจากหนังสือ เกิดมามีกิเลสความรักกำหนัดหลายหนเข้า หลายหนเข้า หลายหนเข้า ความเคยชินก็แรงเข้าๆ มันก็รักง่ายๆ รักเป็นบ้า รักเป็นหลง ความโกรธก็เหมือนกัน โกรธๆ โกรธๆ ความเคยชินที่จะโกรธมันก็แรงมากยากที่จะบังคับมัน บางคนก็มีปัญหามาก ไม่อยากจะให้เกิด ไม่อยากจะโกรธ แต่มันก็อดไว้ไม่ได้ ก็เพราะอนุสัยโกรธมีมาก ในเมื่อมันกลับออกมาเป็นความรักหรือเป็นความโกรธ เป็นอะไรอีกก็เรียกว่า อาสวะ อาสวะไหลออกมาตามเรื่องของราคะ โทสะ โมหะ
ถ้าเป็นเรื่องของราคะก็เรียกว่า “ราคานุสัย” ที่เก็บอยู่ โทสะก็เรียกว่า “ปฏิฆานุสัย” เก็บอยู่ โมหะก็เรียกว่า “อวิชชานุสัย” เก็บอยู่ ที่ออกมาเป็นอาสวะก็เป็น “กามาสวะ” “ภวาสวะ” “อวิชาสวะ” ก็เหมือนกัน ๓ ตัว ๓ ออกมาด้วยกัน ท่านจึงว่ากิเลสที่มันกลับเกิดออกมาได้ง่ายๆ ได้แรงๆ ได้เร็วๆ ก็เพราะมันเก็บอนุสัย เก็บความเคยชินไว้ แม้ว่ามันจะมีอะไรมาล่อข้างนอกแต่ถ้าข้างในมันไม่มีอนุสัย มันมีไม่ได้ มันเกิดไม่ได้ เดี๋ยวนี้อนุสัยที่รออยู่ที่ความเคยชินที่จะเกิดกิเลส มันรออยู่ พออะไรผ่านมาเป็นอารมณ์มาข้างนอกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจก็ตามเถอะ มันก็กระโจนออกมาทันที นี่คุณดูความละเอียดของกิเลสประเภทที่หนึ่ง ก็เกิดกิเลสแล้วก็เก็บความเคยชินไว้ แล้วก็กระโดดออกมาเป็นกิเลสตามเดิมอีกเมื่อมีอะไรมากระทบ ดังนั้น ถ้ามันเกิดกิเลสบ่อยๆ เกิดกิเลสบ่อยๆ ความเคยชินมันก็มาก
ทีนี้ในทำนองที่มันตรงกันข้าม ทว่าไม่ให้มันเกิด มันควรจะเกิดกิเลสมีอารมณ์มาที่ควรจะเกิดกิเลส ไม่ให้มันเกิด หักห้ามไว้ได้ มันก็ไม่เกิด ไม่สะสมอนุสัย ไม่สะสมอนุสัยกับความเคยชิน ยิ่งกว่านั้นจะไปลดความเคยชินที่เก็บไว้ก่อนๆด้วย มีผลอย่างยิ่ง ถ้าเราบังคับไว้ไม่ให้เกิดกิเลสเดี๋ยวนี้ได้ มันจะไม่ไปเพิ่มอนุสัย มันจะไปช่วยลดอนุสัยที่เก็บไว้เก่าๆด้วย ถ้าคุณสามารถบังคับไม่ให้เกิดกิเลสในทุกกรณี อนุสัยจะหมดไปได้ อนุสัยจะค่อยๆหมดไปได้ แต่มันไม่แน่เหมือนกับว่าปฏิบัติธรรม สร้างวิปัสธรรม วิปัสสนา สร้างญาณสร้างอะไรขึ้นมานั้น กวาดล้างอนุสัยเร็วกว่าดีกว่า แต่ว่าอนุสัยนี้จะค่อยๆ ลดลงไปถ้าเราบังคับไว้ ต่อไปนี้จะไม่ให้กิเลสมันเกิดขึ้นได้ มันจะลดอนุสัย นี้การที่บังคับ บังคับว่าอย่าให้มันเกิดกิเลสความพอใจนี้มันมีประโยชน์มาก มันจะลดความเคยชินที่จะเกิดกิเลสลงไปๆๆ ขอให้พยายามสุดความสามารถที่จะมีสติสัมปชัญญะ มีขันติ มีอะไรก็ตาม บังคับไม่ให้เกิดกิเลสอีก ความเคยชินแห่งกิเลสที่เก็บไว้แต่ก่อนๆ จะลดลงๆ เราจะมีกิเลสน้อยลง แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้ทำกันอย่างนี้ ยิ่งสนุก เกิดกิเลสมันสนุก เป็นเรื่องส่งเสริมเสียมากกว่า ถ้าใครมากด้วยอนุสัย มันก็เกิดกิเลสง่าย เกิดความรักความกำหนัดง่าย บันดาลโทสะง่าย โง่ๆๆ สะเพร่าอะไรง่าย ดู! อย่าไปโทษใคร อย่าไปโทษผีสางเทวดาที่ไหน เมื่อเรามันทำผิด สร้างอนุสัยความเคยชินมากๆ เช่น ราคะ ความกำหนัดทางเพศตรงกันข้าม มันสร้างเพิ่มขึ้นๆๆ มันไม่ลดลง เป็นหนุ่มเป็นสาวขึ้นมา มันก็รุนแรง ถ้ามีอะไรก็ตามบังคับไว้ได้ บังคับไว้ได้ มันก็ไม่รุนแรง การประพฤติพรหมจรรย์ก็ช่วยได้ ช่วยให้เกิดกิเลสไม่เกิด เกิดน้อยอนุสัยก็มีน้อย ถ้าพระตั้งปัญหาถามขึ้นมาว่า ทำไมมันจึงเกิดง่ายเหลือเกิน ฉันไม่อยากจะให้มันเกิดมันก็ยังเกิด เท่าที่ผมจำได้มีคนมาถามปัญหาอยู่ ถามเรื่องของความโกรธมากกว่าอย่างอื่น ถ้าอยากจะไม่โกรธแล้วมันเอาไว้ไม่อยู่ นี่ทางกำหนัดทางเพศทางกามยังไม่ค่อยมีใครถาม มาถามกันแต่เรื่องว่าทำไมบังคับความโกรธไม่ได้นี่มากกว่า
นี้ขอสนใจศึกษา ศึกษาโดยตรงจากกิเลส ไม่ใช่ศึกษาจากหนังสือ ในโรงเรียนนักธรรมเขาก็ไม่สอนอย่างนี้ แล้วก็ไม่สอนแบบนี้ ทีนี่เรามาเรียนกันโดยเฉพาะเรื่องกิเลส ก็ต้องศึกษาจากกิเลส รู้จักราคะ รู้จักโทสะ รู้จักโมหะ รู้จักที่มันเป็นกิเลสชั้นแรก กิเลสชั้นประเภทความเคยชินคืออนุสัย ถ้าเป็นกิเลสประเภทที่จะกระโดดกลับออกมาเมื่อดึงอารมณ์ผ่านๆมา ก็เก็บอนุสัยไว้มาก พออารมณ์ผ่านมาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แม้เล็กน้อยกิเลสข้างในมันมาก มันกระโดดออกมาจับฉวย นี่ก็เป็นกิเลส เป็นกิเลสเต็มที่ รู้จักชีวิตในแง่นี้กันเสียบ้าง ธรรมชาติธรรมดาหรือปกติวิสัยของสิ่งที่เรียกว่าชีวิต มันเนื่องกันอยู่กับกิเลสอย่างนี้ แต่ถ้าไม่เคยรู้เรื่องมันก็ดูคล้ายกับว่าไม่มีอะไร ไม่มีอะไร แต่ที่จริงมันอยู่กันอย่างนี้นะ คอยสังเกตให้ได้ จับให้ได้ นั้นจะมีโอกาสที่จะควบคุมกิเลส ควบคุมกิเลส ป้องกันไม่ให้มันเกิด นี้ก็จะเป็นผลดี นี่หลักขั้นต้นในชั้นต้นที่เราจะรู้จักมันไว้ กิเลส อนุสัย อาสวะ ๓ อย่างนี้เป็นกลไก เป็นอะไรประจำอยู่ในจิตในสันดาน แล้วคนเราก็ลำบากด้วยอำนาจของกิเลส
ทีนี้ก็จะพูดต่อไปถึงเรื่องที่ว่า มันจะเกิดกิเลสกันอย่างไร จะเกิดทีแรกหรือจะเกิดทีหลังด้วยอาสวะก็ตามเถอะ มันอยู่ที่ว่าเรามันมีอายตนะ แปลว่าเครื่องติดต่อ ติดต่อของอารมณ์ อายตนะนี่ที่ติดต่อที่ถึงกันได้ ที่สัมผัสกันได้เรียกว่าอายตนะ เพราะเรามีอายตนะ ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ อย่าง จะติดต่อกับอารมณ์ภายนอกคือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มันก็มี ๖ คู่ อยู่ข้างใน ๖ อยู่ข้างนอก ๖ นี่เรียกว่า อายตนะ เมื่อมาใช้กับเรื่องทางรูปธรรม ทางรูปธรรมคำนี้ไปใช้กับอรูปธรรมหรือใช้กับนิพพานก็ได้ ยังไม่พูดถึง อายตนะที่เป็นอรูปฌาณ ๔ ก็มี อายตนะหมายถึงนิพพานเองก็มีอายตนะเหมือนกัน ถ้าพูดว่าอายตนะที่เกี่ยวกับกิเลสตรงนี้ละก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่ข้างใน แล้ว รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อยู่ข้างนอก อย่าเห็นว่าเป็นคำครึคละ บ้าบอทำวัดทำวาเลย จงรู้จักมันว่าไอ้นี่คือตัวร้าย ไอ้นี่คือตัวร้าย ตัวสิ่งร้ายสิ่งเลวร้ายที่จะให้มันเกิดเรื่องยุ่งยาก ตาก็มีระบบประสาทตาที่จะเห็นรูป หูก็มีระบบประสาทหูที่จะได้ยินเสียง จมูกก็มีระบบประสาทจมูก ครบกันทั้ง ๖ ก็มีระบบประสาทของมัน จึงจะเรียกว่าเป็นอายตนะที่สมบูรณ์ ไม่ใช่เนื้อหนังล้วนๆนั้น มันมีระบบประสาทที่นั่นด้วยที่จะรู้อารมณ์ รับอารมณ์ รู้สึกอารมณ์ร่วม
เอาข้างนอกมันเป็นรูปสุภาพที่จะมากระทบตาแล้วระบบประสาทมันรู้สึก ถ้าจะพูดให้ละเอียดมันก็ละเอียด เช่นว่า มันกระทบเพียงเห็นเป็นสีสันรูปร่างเท่านี้ก็ได้ ก็เรียกว่ากระทบแล้ว สีอย่างไร รูปร่างอย่างไร ถ้ากระทบมากไปกว่านั้นมันจะรู้สึกว่าคืออะไร เช่น ดอกไม้มีสีสันรูปร่างอย่างนี้ เรือมีสีอย่างนี้ ตัวคลื่นของแสงมากระทบตามขนาดของมัน ปรากฏเป็นสีอย่างนั้น มิติอย่างนั้น นี่เรียกกระทบทีแรก กระทบทีหลังมันกระทบด้วยมโนสัมผัสแล้วมันก็รู้ว่า โอ้, ดอกไม้หรือดอกอะไร ถ้าเช่นนี้ก็เพียงว่ารับรู้คลื่นของแสงที่มากระทบประสาทตาให้เห็นเป็นภาพอย่างนั้นอย่างนี้ นี่เรียกว่าเห็นรูป มีคลื่นของเสียงขนาดนั้นๆมากระทบระบบประสาทหู ก็ได้ยินเสียงอย่างนั้น เสียงอย่างนั้นๆ หลายขนาดต่างๆกันไปตาม Frequency ของคลื่นเสียง ถ้าศึกษาเรื่องนี้มาก็จะเข้าใจได้ง่าย เสียงทางดนตรีต่ำสุดเพราะมันนมี Frequency น้อย มันสูงมากขึ้นๆ มันก็เป็นเสียงแหลมๆๆ จนไม่ได้ยิน นี่ระบบประสาทหู มันก็รับคลื่นเสียงอย่างนี้ มันก็ได้ยินอย่างนั้นๆๆๆ จมูกก็เหมือนกัน มันมีไอระเหยขึ้นมากระทบระบบประสาทของจมูก มากน้อยกว้างใหญ่รุนแรงหรือเบาบางเท่าไหร่ มันก็เกิดความรู้สึกทางระบบประสาทที่จมูก ลิ้นก็เหมือนกันนั้นมันเข้าไปกระทบระบบประสาทลิ้นมากน้อยเท่าไหร่ สูงต่ำหนักเบาเท่าไหร่ มันก็เรียกว่ามีรสอย่างนั้นอย่างนี้กันที่ลิ้น ผิวหนัง ผิวหนังมีระบบประสาทอยู่ทั่วไป มีของมากระทบในลักษณะเท่าไหร่ รุนแรงเท่าไหร่ ในระยะเวลาเท่าไหร่ รุนแรงเท่าไหร่นี่มันก็มีความรู้สึกที่ผิวหนัง แข็งกระด้างหรือว่านิ่มนวล หรือว่ารุนแรงจนร้อนเป็นไฟ ลื่นไหลมันเป็นความเจ็บ เรียกว่าระบบประสาททางกาย ทางกายทั่วไปทั้งตัว ทั่วไปทั้งตัว ถ้าเอาเข็มไปแทงเข้าที่ลิ้น มันคือความรู้สึกระบบกายไม่ใช่ระบบลิ้น ถ้ามันรู้สึกรสนั่นนี่จึงเป็นระบบลิ้น คำว่ากายมันทั่วไปหมด เอาเข็มไปทิ่มลูกตาอย่างนี้ มันไม่ใช่ระบบตา เป็นระบบกาย รู้สึกทางกาย
ทีนี้ทางจิต เกิดรู้สึกอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมาเป็นถูกใจหรือไม่ถูกใจ นี่ระบบมโน ระบบใจ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันเกิดอย่างละเอียดคือว่า ข้างในมีอายตนะภายใน เช่น ตาเป็นต้น ข้างนอกมีรูปเป็นต้น พอข้างนอกข้างในมาถึงกัน มันเกิดสิ่งที่เรียกว่า “วิญญาณ” คือการรู้แจ้งทางตา รู้แจ้งทางตา ทีนี้โรงเรียนมันก็ไม่ได้สอนนั้นคุณ ถ้าอยากรู้ก็จำเดี๋ยวนี้เลย มีอายตนะภายนอกเช่นตาเป็นต้น อายตนะภายในเช่นตาเป็นต้น อายตนะภายนอกเช่นรูปเป็นต้น พอมาถึงกันเข้ามันก็เกิดสิ่งที่เรียกว่า วิญญาณทางตา วิญญาณทางหู วิญญาณทางจมูก วิญญาณทางลิ้น นี่วิญญาณเป็นสิ่งที่ ๓ สิ่งที่ ๑ คืออยาตนะภายใน สิ่งที่ ๒ คืออยาตนะภายนอก สิ่งที่ ๓ คือวิญญาณ เมื่อสามสิ่งนี้ทำงานถึงกันอยู่ ทำงานร่วมกันอยู่ นี้จะเรียกว่า “ผัสสะ” หรือ “สัมผัส” ผัสสะหรือสัมผัสสะนี่อันที่ ๔ มีสัมผัสทางตา สัมผัสทางหู สัมผัสทางจมูก สัมผัสครบทั้ง ๖ ทางเหมือนกัน พอมีสัมผัสนี้แล้วมันก็อันที่ ๕ เรียกว่า “เวทนา” เวทนาทางตา เวทนาทางหู เวทนาทางจมูก พอมีเวทนาแล้วนี่ระวังเถอะ มันจะเกิดกิเลส พอเวทนาอร่อยพอใจเป็นบวก มันจะเกิดตัวกูประเภทบวก เกิดกิเลสประเภทบวก ราคะหรือโลภะ ถ้าเวทนามันเป็นลบ มันไม่อร่อย มันไม่มีความถูกใจ มันก็เกิดกิเลสประเภทลบ คือโทสะหรือโกรธะ ถ้ามันไม่รู้ว่าเป็นบวกหรือเป็นลบกันแน่แต่มันมีความหมายมันก็เกิดกิเลสประเภทโมหะ
ที่นี้เรามักจะแยกกันละเอียดว่าเกิดตัณหา เวทนาให้เกิดตัณหา อยากไปตามเวทนานั้น เวทนาน่ารักก็เกิดจะเอา เวทนาน่าเกลียดก็เกิดอยากจะทำลาย เวทนาไม่น่ารักไม่น่าเกลียดก็ได้แต่ติดตามไป นี่คือตัณหาหรือกิเลส ก็มีได้ทั้ง ๖ ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วมันก็เกิดของลึกซึ้งอันใหม่คืออุปาทานยึดถือไปตามอำนาจของกิเลส ก็เกิดตัวกู ตัวกูผู้ยึดถือ แล้วก็เกิดสิ่งที่ถูกยึดถือแล้วก็เป็นทุกข็ เป็นทุกข์ๆ นี่เลยกิเลส ขอบเขตของกิเลสหมดแค่ว่ามีตัณหา ต่อไปจากนั้นก็เป็นเรื่องของความทุกข์
เมื่อถามว่ากิเลสเกิดอย่างไร ก็คุณดูสิ มันมาจากกระทบของอายตนะ เกิดวิญญาณ เกิดผัสสะ เกิดเวทนา เกิดตัณหาคือกิเลส บอกแล้วบอกอีกว่าอย่าเรียนจากหนังสือ ไม่มีทางจะรู้ ต้องเรียนจากสิ่งที่มันมีอยู่จริง ปรากฏอยู่จริงแก่จิตใจ รู้จักให้ดีๆ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รู้จักให้ดีๆ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ รู้จักให้ดีๆ รู้จักวิญญาณให้ดีๆ ผัสสะให้ดีๆ เวทนาให้ดีๆ หลังจากนี้มีกิเลสอยู่แล้วโดยเฉพาะกับตัณหานี่ ตัณหาหนึ่งจะเอาเกิดกิเลสประเภทบวก ตัณหาหนึ่งจะทำลาย เกิดกิเลสประเภทลบ ตัณหาหนึ่งโง่วิ่งติดตามอยู่นั่น สงสัยติดตามอยู่นั่น กิเลสก็เกิด นั้นโมหะ มันเป็นความจริงยิ่งกว่าจริง จริงตามธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องผีสางมายาเทวดานั่นไม่ใช่ มันเป็นเรื่องจริงตามธรรมชาติ จะต้องมีความรู้สึกอย่างนี้สำหรับสิ่งที่เรียกว่า กิเลส พอเกิดกิเลสแล้วก็จะเกิดทุกข์ พอเกิดกิเลสแล้วมันก็ยึดมั่นไปตามที่กิเลสมันให้ยึดมั่นอย่างไร พอยึดมั่นก็ไปมีตัวกู ตัวกู กูยึดมั่น ก็เอานั่นเอานี่เอาโน่นทุกอย่างมาเป็นของกู แล้วก็มาหนักเพราะว่าสิ่งที่ยึดมั่นมันเปลี่ยนแปลง มันไม่ตามใจ มันก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา
ท่านจึงสรุปความสั้นๆว่า ความทุกข์เกิดมาจากอุปาทานในที่ยึดมั่นในสิ่งต่างๆ เอาตัวสิ่งต่างๆ ที่ถูกยึดมั่นก็ได้เหมือนกัน ความทุกข์มันอยู่ที่นั่น อยู่ที่ตัวสิ่งที่ไปยึดมั่นถือมั่นเข้าไว้ มันโง่กระทั่งไปยึดเอาความเกิดเป็นของกู ความแก่เป็นของกู ความเจ็บเป็นของกู ความตายเป็นของกู ความไม่ได้ตามใจหวังเป็นของกู กระทบกับสิ่งที่กูไม่รัก พลัดพรากจากสิ่งที่กูรัก คุณไปดูรายละเอียดในบทที่สวดๆ กันนั้น ความทุกข์เกิดเพราะว่ามันมีกิเลส มีอุปาทาน มีภพ มีชาติ ส่วนนี้เป็นส่วนทุกข์ ส่วนกิเลสนั้นเป็นเหตุที่ให้เกิดทุกข์ หลังจากกิเลสแสดงบทบาทเสร็จแล้วก็มีความทุกข์ เขาเรียกว่า “ไฟ” ไฟตอนนี้คือให้มันร้อนๆไปหมด ถ้าไฟนี้ดับก็มีอาการแห่งนิพพาน ไม่มีกิเลส มีภาวะ ที่จริงก็เรียกไม่ถูกจะเรียกภาวะหรืออาการ ไม่ถูกทั้งนั้น แต่ก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไร เรียกว่า นิพพาน ก็แล้วกัน เมื่อใดดับกิเลสเมื่อนั้นมีภาวะแห่งนิพพาน
ถ้าดูให้มันละเอียดไปกว่านั้นอีก มีกิเลส มีกิเลส โลภะ โทสะ โมหะหรือตัณหาในรูปไหนก็ตาม มันก็เป็นเหตุให้มีการกระทำ การกระทำเรียกว่า “กรรม” กรรมะหรือกรรมคือการกระทำ มันจะกระทำไปตามอำนาจกิเลส ดีชั่ว ไม่ดีไม่ชั่วอะไรก็ตาม เมื่อบังคับกิเลสไม่ได้ มันก็มีการกระทำไปอำนาจกิเลส การกระทำนั้นจัดเป็นดีก็มี เป็นชั่วก็มี เป็นไม่ดีไม่ชั่วก็มี กิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม สมมติว่าเห็นแล้วรัก แล้วก็ไปทำกรรม ขโมยหรือไม่ได้ก็ฆ่าเขาอย่างนี้ ก็มีการกระทำกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ทางกายก็ได้ ทางวาจาไปด่าเขาก็ได้ ทางจิตใจไปโกรธประทุษร้ายเขาก็ได้ นี่เรียกว่าเมื่อมีกิเลสแล้วมันก็ทำกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง นี่มันล้นมันก็หลีกไม่พ้นนั้น มันมีผลกรรมเกิดขึ้น เมื่อมันมีกรรมมันก็มีผลกรรมเกิดขึ้น คือมันมี Reaction เกิดขึ้นแก่ Action มีกริยาที่ไหนก็มีปฏิกริยาที่นั่น แต่ถ้าเป็นเรื่องของจิตใจไม่เรียกว่า “กริยา” หรือเรียกว่า “กรรมหรือผลกรรม” กิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรมตอนหนึ่ง กรรมทำให้มีผลกรรม ผลกรรมทำให้มีกิเลสอีก มันจึงไม่รู้จะจบที่ไหน ไม่มีจบ ถ้ามีกิเลสแล้วต้องทำกรรม ทำกรรมแล้วต้องมีผลกรรม มีผลกรรมแล้วทำให้กิเลสอย่างอื่นต่อไปอีก ทำกรรมอย่างอื่นต่อไปอีก เช่นว่านาย ก มีกิเลส ทำกรรมขโมยเขา รับผลกรรมก็มีกิเลสอย่างอื่น เมื่อรับผลกรรมก็ทำอย่างอื่นต่อไปอีก นี่คือวัฏสงสาร วัฏสงสารที่แท้จริงอย่างนี้ในพระพุทธศาสนา ไม่เกี่ยวกับความตาย ที่สอนกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับความตาย ชาตินี้ทำกรรมรับผลกรรมชาติหน้า ชาติโน้นทำกรรมอีกผลเกิดก็ย่อมเกี่ยวกับความตายเป็นชาติๆ ระหว่างชาติ แต่พอผ่านหลักธรรมะแท้จริงในพระพุทธศาสนา ไม่ต้อง ๆ ๆ ไม่ต้องตายไม่ต้องเกี่ยวกับความตาย ไม่เกี่ยวกับชาตินี้ ตรงนี้ พอมีกิเลสอย่างนี้ก็เป็นชาติหนึ่งแล้ว ไปทำกรรมรับผลกรรม แล้วก็มามีกิเลสอีกก็ทำกรรมอีกรับผลกรรมอีก
รู้ปฏิจจสมุปบาทรูปใหญ่ที่บนตึกที่ตรงศูนย์กลาง มีไก่กัดหางหมู หมูกัดหางงู งูกัดหางไก่วนกันอยู่นั้น ๓ อย่างนั้นไม่มีที่สิ้นสุด ในชีวิตของเรามีรอบวัฏฏะอย่างนี้ ไม่รู้กี่ ๑๐๐ กี่ ๑,๐๐๐ กี่ ๑๐,๐๐๐ รอบ ไม่ต้องก็ตายแล้ว พวกอื่นก็จะสอนว่าต่อตายแล้วตามใจเขาเราไม่ไปทะเลาะกับเขา พวกอภิธรรมโดยเฉพาะมันจะสอนกันอย่างนั้น แต่ว่าท่านสอนอย่างนั้นไปพ้องกับที่เขาสอนอยู่ในอินเดียก่อนพุทธกาล ผมก็เลยไม่อยากจะพูด เอาที่พระพุทธเจ้าท่านว่าที่นี่ ท่านว่าที่นี่ในชีวิตนี้ นรกหรือสวรรค์ก็ตาม ที่นี่ไม่ต้องรอต่อตายแล้ว นรกสวรรค์ต่อตายแล้วนั้น เขาสอนกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็มีทำผิด มีการกระทำที่ผิดทางอายตนะก็มีนรกที่อายตนะ ถ้าทำถูกทางอายตนะตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็มีสวรรค์อยู่ที่อายตนะ ที่นี่เดี๋ยวนี้ เพราะในวันเดียวจะเกิดนรกสวรรค์กันอีกกี่ครั้งก็ได้ อย่างนี้มีพระบาลีเยอะ มันเป็นอยู่กันที่นี่ จัดการได้ ควบคุมได้ รับผลได้โดยประจักษ์ ที่เอาไว้ต่อตายแล้วนั้นมันมืดมน ใครจะเชื่อก็ได้ ไม่มีใครห้าม แต่ที่มันจำเป็นกว่า น่ากลัวกว่า เป็นเรื่องจริงกว่า ก็คือที่นี่และเดี๋ยวนี้ คุณลองควบคุมอายตนะไม่ได้นี่ มันก็เกิดกิเลส มันก็เกิดกิเลสไปทำกรรม รับผลกรรมทันที่นี่และเดี๋ยวนี้ ในรูปแบบของนรกเหลือทนก็ได้ ในรูปแบบของสวรรค์โง่หลงไปตามนั้นก็ได้
ทีนี้ชีวิตประจำวันควบคุมอย่าให้มี ให้มีกันแต่ที่สวรรค์ ถ้าให้มี ให้มีแต่ที่สวรรค์ นรกอย่าให้มี แต่ถ้าละเอียดไปกว่านั้น ไม่มีทั้งนรกไม่มีทั้งสวรรค์นั้นสบายกว่า แต่คนมันชอบสวรรค์กันจังโดยเฉพาะเรื่องกามาอารมณ์ก็คือสวรรค์ ของสกปรกบ้าวูบเดียวคือสวรรค์ บูชากันทั้งโลก ไปเล่นกับของสกปรกเกิดความรู้สึกบ้าวูบเดียวนั่นสวรรค์ ไม่ไหวทั้งนรกทั้งสวรรค์นั้นไม่ไหว มันไม่ใช่ความสงบ เอาความสงบดีกว่า ไม่บ้า ไม่หลง ไม่รัก ไม่โกรธ ไม่เกลียด ไม่กลัว ไม่อะไรทั้งหมด เราจะมีความรู้สึกเหมือนสัตว์ก็เกิดเป็นสัตว์ มีความรู้สึกเหมือนเทวดาก็เกิดเป็นเทวดา มีความรู้สึกอย่างคนโง่ก็เกิดเป็นคนโง่ มีความรู้สึกอย่างคนฉลาดก็เกิดเป็นคนฉลาดกันที่นี่และเดี๋ยวนี้แหละ ไม่ต้องรอต่อตายแล้ว เลือกเกิดได้ตามชอบใจ คือคิดอย่างนั้นปฏิบัติอย่างนั้น มันก็เรียกว่าเกิดอย่างนั้น ลองคิดอย่างสัตว์ก็เกิดเป็นสัตว์ในร่างกายนี้ คิดอย่างเทวดาก็เกิดเป็นเทวดาในร่างกายนี้ เป็นสัตว์นรกก็ได้ เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นเปรตก็ได้ คือหิวๆๆ สุดขนาดหิวเกิดเป็นเปรตนั้น อสุรกายขี้ขลาด ขี้ขลาดไม่มีเหตุผล ขี้ขลาดไม่มีเหตุผลก็เกิดเป็นอสุรกายแล้ว อยากเกิดลองดู เป็นมนุษย์ก็มีเป็นกลางๆ เป็นสัตว์นรกก็ร้อนเป็นไฟ เป็นสัตว์เดรัจฉานก็โง่ดักดาน เป็นเปรตก็หิวเหลือประมาณ เป็นอสุรกายก็ขี้ขลาดเหลือประมาณ นี่ตามหลักธรรมะในพระพุทธศาสนาท่านสอนอย่างนี้ ที่เขาสอนกันอยู่ก่อนนั้นต้องตายแล้ว ตายแล้ว แล้วจึงไปเกิดเป็นอย่างนั้น ตายแล้วเกิดอย่างนี้ มันกว่าจะได้เกิดสักทีอีกชาติหนึ่งนั้นต้องรออีกชาติหนึ่ง ถ้าอย่างนี้ในวันเดียวเกิดเป็นอะไรกี่อย่างก็ได้ นี่น่าสนใจกว่าหรือว่ามันมี มันมีผลในการที่จะจัดการกับมัน จัดการกับมันแล้วก็ได้รับประโยชน์ทันตาเห็น ทำให้เกิดเป็นผู้ไม่มีความทุกข์ ในชั้นธรรมดาก็เกิดเป็นเทวดานั้นที่ปรารถนากันนัก มีความเอร็ดอร่อยทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นสวรรค์อยู่เป็นเทวดา แต่ว่านั่นไม่ดับทุกข์ นั่นไม่ใช่เยือกเย็น มันคงต้องไม่เป็นนั่นอีกที มันจึงจะพ้นไปเป็นนิพพาน ไม่นรกไม่สวรรค์นั่นจึงจะเป็นนิพพาน จำไว้ง่ายๆคือไม่บวกและไม่ลบ ถ้าบวกก็เป็นสวรรค์ ถ้าลบก็เป็นนรก ไม่บวกไม่ลบจึงจะเป็นนิพพาน ต้องควบคุมกิเลสได้คือควบคุมอายตนะนี้ได้ไม่ให้มันทำผิดก็คือกิเลส ไม่มีกิเลสแล้วประภัสสร จิตประภัสสรก็สบายดีไม่ต้องมีปัญหาอะไร มีความคิดดีคิดจะทำอะไรก็คิดทำเพื่อประโยชน์ผู้อื่นได้โดยไม่บ้าดี ไม่หลงดี ไม่เมาดี พระอรหันต์ไม่บ้าดี ไม่เมาดี ไม่หลงดี ไม่เกี่ยวกับความดี แต่ว่าท่านทำประโยชน์อะไรแก่ใครก็ได้ ทำประโยชน์ ทำประโยชน์ ทำประโยชน์
ดังนั้นจึงสรุปใจความของชีวิตที่สูงสุด ชีวิตที่สูงสุดเพียง ๒ คำ อันแรกคือสงบเย็น สงบเย็น ไม่มีความทุกข์ อันที่สองก็เป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์ เท่านี้พอแล้ว สงบเย็นถึงที่สุดก็เป็นพระอรหันต์ เป็นพระอรหันต์แล้วทำประโยชน์แก่ใครก็ได้เหมือนพระพุทธเจ้า ทำประโยชน์ให้แก่ใครก็ได้ ให้เราจงมีความปรารถนาอย่างนั้นให้ชีวิตสงบเย็น ไม่มีไฟคือกิเลส ชีวิตนี้สงบเย็นก็เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายตามที่จะทำได้ จบ มาถึงจุดนี้แล้วก็จบ ชีวิตนี้สงบเย็นแล้วก็เป็นประโยชน์ คือชีวิตนี้ไม่มีกิเลสอีกต่อไป ก็เย็นไม่มีไฟ เป็นอิสระแก่ตัวแล้วก็สามารถเห็นแก่ผู่อื่น รักผู้อื่น ทำประโยชน์ผู้อื่น ถ้ายังมีกิเลสมันจะเห็นแก่ตัวกู ตัวกู ของกู ไม่เห็นแก่ผู้อื่น ไม่เห็นแก่ความถูกต้อง ไม่เห็นแก่ตัวกูทั้งนั้น ถ้าหมดกิเลสแล้วมันก็ไม่เห็นแก่ตัวกู นั้นมันสงบเย็น ใช้โอกาสที่มันสงบเย็นให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น เรื่องก็จบสูงสุดเท่านั้นเป็นพระอรหันต์กันที่ตรงนั้น ไม่มีทั้งกิเลส ไม่มีทั้งอนุสัย ไม่มีทั้งอาสวะ ชีวิตนี้ก็สงบเย็น ทำประโยชน์สนุกไปเหมือนพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทำหน้าที่โปรดสัตว์ให้พ้นทุกข์ทั้งวันทั้งคืนจนสิ้น จนตลอดชีวิตของท่าน
นี่คือสิ่งที่เรียกว่า กิเลส และกลไก Mechanism ของกิเลสคืออย่างนี้ รู้จักมัน ควบคุมมัน ควบคุมไม่ให้มันเกิด นี่เรียกว่าฆ่ากิเลส อย่าไม่ให้มันเกิดได้โดยประการทั้งปวง นั่นคือฆ่ากิเลส เอาละเวลาหมดแล้ว หนึ่งชั่วโมงเต็ม ขอยุติการบรรยายเรื่องกิเลสและกลไกของกิเลส ไปศึกษาจากตัวกิเลสเอง ศึกษาในหนังสือมันไม่พบ ไม่อาจจะศึกษาได้ ศึกษาความทุกข์จากท้องทุ่ง เหตุให้เกิดทุกข์ก็ศึกษาที่เหตุให้เกิดทุกข์คือกิเลส ก็จะไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และพบกับพุทธศาสนา พูดให้ชัดอีกทีก็ไม่เสียทีที่จะเข้ามาบวชอุปสมบทศึกษาพระพุทธศาสนาเรื่องกิเลสและวิธีกำจัดกิเลส ขอยุติคำบรรยาย