แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เพื่อนสหธรรมิกธรรมจารีทั้งหลาย การบรรยายในวันนี้ต่อเนื่องมาจากการบรรยายในครั้งที่แล้วมาเมื่อวันที่ ๑๙ ในคราวนั้นได้พูดถึงชีวิตที่มีพื้นฐานในธรรมะที่เป็นพื้นฐานของชีวิต ในวันนี้ก็จะได้พูดถึงอาการควบคุมกระแสแห่งชีวิต นี่ใช้ภาษาที่มีใช้กันอยู่ในทางธรรมะ เพื่อให้มันมีพื้นฐานที่ถูกต้องและก็เพื่อให้มันมีธรรมะที่เป็นพื้นฐานอย่างเพียงพอ ให้มันเป็นไปอย่างถูกต้องเพราะมันมีธรรมะพื้นฐานอย่างเพียงพอ มีผลเป็นชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของและก็มีความเยือกเย็นและเป็นประโยชน์ คำสั้นๆเหล่านี้องค์ความทั้งหมด ทั้งหมดในพรหมจรรย์ เยือกเย็น มันก็ดับทุกข์สิ้นเชิง แล้วเป็นประโยชน์ ไม่เป็นหมันและเป็นประโยชน์แก่ตนเองและแก่ผู้อื่น ขยายความออกไปได้มากมาย การบรรลุธรรมะมรรคผลนิพพานมีชีวิตอยู่ในโลกนี้อย่างที่เป็นประโยชน์ในทุกฝ่าย ไม่เรียกโดยจำนวนง่ายๆที่พวกฝรั่งเขาชอบกันนักก็คือว่าเป็นชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของ ชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยความไม่รู้ อวิชชา คืออวิชชา ความไม่รู้นี่มันกัดเจ้าของอยู่ตลอดเวลาเพราะความไม่รู้ คือมีความทุกข์ ทุกข์อย่างนั้นเดี๋ยวทุกข์อย่างนี้เดี๋ยวทุกข์อย่างโน้น กลายเป็นสัตว์ที่เลี้ยงไม่เชื่อง กัดเจ้าของอยู่ตลอดเวลา เราจะจัดการกับมันให้ถูกต้อง ไม่กัดเจ้าของ เยือกเย็น เป็นประโยชน์ นั่นแหละความมุ่งหมาย
ทีนี้เราก็จะต้องรู้จักตัวชีวิตเพราะมันคืออะไรถึงจะควบคุมมันได้ นี่คือสิ่งที่เรายังไม่รู้ หรือว่าที่ว่าเราอุตส่าห์มาบวชศึกษาเล่าเรียนเพื่อปฏิบัติก็เพื่อจะให้มันรู้ว่า มันคืออะไร จะจัดการกับมันอย่างไร จึงจะได้รับประโยชน์คุ้มกับค่าที่มาบวช ลองคิดดู เรารู้จักมันแล้วหรือยัง เราสามารถควบคุมมันได้แล้วหรือยัง แล้วเราก็คงเห็นว่ายังหรือยังไม่พอจึงมาบวชศึกษา เตรียมพร้อมเพื่อที่จะให้มันเผชิญกับชีวิตอย่างถูกต้อง
สิ่งที่เรียกว่า “ชีวิต” มันมีกระแส โสตะ โสตะ หรือ โสดา โสตะ แปลว่ากระแส หมายความว่าเนื่องกันและไหลไป เนื่องกัน เปลี่ยนแปลงไป เนื่องกันด้วยการเปลี่ยนแปลงไป อย่างนี้ก็เรียกว่า กระแส โสตะ จะต้องรู้จักกระแสแห่งชีวิตโดยตรงว่ามันเป็นอย่างไร มันเป็นอย่างไรมาก่อน ถ้าว่าจะเอากันตามธรรมดาสามัญชาวบ้านก็ไม่ต้องรู้เรื่องอะไรนักนอกจากทำมาหากิน หาประโยชน์ หาความร่ำรวย หาอำนาจวาสนาแล้วก็มันถึงจะพอ แต่เดี๋ยวนี้เราต้องการที่มันประณีตละเอียดสุขุมมากว่านั้น นั่นคือกระแสชีวิตที่เยือกเย็น เราต้องรู้มากกว่าที่ชาวบ้านคนเดินถนนเขารู้กัน มันจึงมีการศึกษาสิ่งที่จะควรรู้ สิ่งที่ควรจะรู้ ก็คือสิ่งที่เป็นหัวข้อที่เราศึกษาเล่าเรียนกันนั่นแหละ ก็เป็นชั้นลึก คือลึกที่เราเรียกว่า “ปรมัตถ์” จะแจกออกไปให้เห็นชนิดที่เพียงพอ ถูกต้องและเพียงพอเป็นสัก ๔ หรือ ๕ หัวข้อ ขอให้ฟังให้ดี จำให้
คำว่า “ธาตุ” ธา-ตุ ธาตุ ตามธรรมชาติ ธาตุก็ปรุงให้เกิดมี “อายตนะ” อายตนะภายในด้วยภายนอกด้วย อายตนะ มันก็ปรุงให้มีสิ่งที่เรียกว่า “ขันธ์” ขันธ์ทั้ง ๕ ในสิ่งที่เรียกว่าขันธ์นั่น มีกระแสแห่ง ปฏิจจสมุปบาทนี่เป็นเรื่องที่ ๔ ในปฏิจจสมุปบาทนั้นมันมีสิ่งเลวร้ายอยู่ โดยเฉพาะคือความทุกข์ ความทุกข์ นี่เราจึงต้องเรียนกัน ๕หัวข้ออย่างน้อย เรื่องธาตุ เรื่องอายตนะ เรื่องขันธ์ และก็เรื่องปฏิจจสมุปบาท และก็เรื่องทุกข์ บางคนจะคิดว่า โอ้ย, จูจี้พิรี้พิไรอะไร มันก็ไม่รู้ เมื่อไม่อยากจะสนใจ มันก็ไม่รู้ ก็เห็นว่าเป็นครึคละ เป็นเรื่องของชาววัด ศาลาวัดมันก็ยิ่งไม่ต้องการจะรู้ มันก็เลยไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าชีวิตหรือกระแสของการดำเนินของสิ่งที่เรียกว่าชีวิต ฉะนั้นขอสนใจใน ๕ หัวข้อนี้ให้มันพอ มันพอตั้งแต่เบื้องต้นที่สุดจนปลายสุด เรียกว่าตั้งแต่ ก ถึง ฮ ก็รู้ได้ใน ๕ หัวข้อนี้ ซึ่งเราจะต้องมีความรู้เป็นพื้นฐานอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งเหมือนที่เรารู้จักอะไรๆที่เรารู้จักอยู่เป็นประจำวันในการเป็นอยู่ รู้จักอาหารรู้จักเครื่องนุ่งห่ม รู้จักเครื่องใช้ไม้สอย รู้จักกันรถยนต์ รู้จักอะไรแบบนี้ มันรู้จักกันเต็มที่ แต่เรื่องตัวชีวิตไม่รู้สักเรื่องไม่รู้ แล้วก็ใช้คำพูดนี้เป็นเหมือนกันตามที่เขาพูดๆกัน มันก็เป็นไปในลักษณะที่ชาวบ้านเขาพูดกัน มันเป็นเรื่องอ่านเล่นเสียมากกว่า มันเรื่องอ่านเล่นมันก็พูดเรื่องชีวิตจิตใจแต่มันคนละทิศทาง คนละ มุ่งหมายกันคนละอย่าง
นี้เราจะดูกันให้เห็นชัดว่ามันคืออะไรใน ๕ หัวข้อนี้ อันแรกเรียกว่า “ธาตุ” ธาตุคือธาตุตามธรรมชาติ คำว่า ธาตุ ธา-ตุ นี้แปลว่าสิ่งซึ่งมันทรงตัวเองอยู่ได้เป็นพื้นฐานของสิ่งทั้งปวง นี้บางทีก็เล็งไปในแง่ที่ว่ามันเป็นสิ่งสุดท้ายเป็นสิ่งที่เราจะแบ่งแยกออกไปได้ แบ่งแยกออกไปได้ จนไม่ต้องแบ่งแยกกันอีก ในทางธรรมะถือว่ามี ๖ ธาตุ ในทางวิทยาศาสตร์ปัจจุบันก็มีมากมายจำไม่ไหวร้อยกว่าธาตุ คือพูดได้ว่าในร้อยกว่าธาตุนั้น ถ้าเอามาสังเคราะห์กันละก็ จะได้สัก ๖ ธาตุด้วยเหมือนกัน ที่พูดถึง ๖ ธาตุนี่เท่าที่มันจำเป็นแก่การที่มันจะประกอบกันอยู่เป็นชีวิต “ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม” ๔ อย่างนี้เรียกว่าเป็นฝ่ายหยาบ เป็นฝ่ายวัตถุ และก็ “ธาตุอากาศ” ที่ว่าง ความว่าง ที่ว่าง ให้ธาตุอื่นๆได้อาศัยอยู่ และก็ธาตุสุดท้ายเป็นธาตุที่สำคัญคือ “วิญญาณธาตุ” เป็นธาตุที่มันรู้ รู้อะไรได้ รู้อะไรได้
ธาตุฝ่ายวัตถุ ฝ่ายกาย ดิน น้ำ ลม ไฟ นี้มันไม่เกี่ยวกับความรู้ มันเกี่ยวแต่เป็นที่ตั้งของธาตุวิญญาณ วิญญาณธาตุตั้งอยู่บนธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ทั้งหมดนั้นมันตั้งอยู่บนที่ว่าง เขาถึงจัดที่ว่าง ที่ว่าง นั้นเป็นธาตุชนิดหนึ่งเหมือนกัน มันเป็นตัวเองอันสุดท้ายที่จะเป็นพื้นฐานอยู่ตลอดกาลนั้น ถ้าไม่มีที่ว่างมันก็จะไม่มีที่ตั้งที่อาศัย อย่างบนโลกนี้ทั้งโลกมันก็ตั้งอยู่บนที่ว่างออกไปในจักรวาล ระบบสุริยจักรวาลแต่ละระบบก็ตั้งอยู่บนที่ว่าง ถ้าไม่มีที่ว่างจะตั้งอยู่บนอะไร ก็มีที่ว่างให้ตั้งมันจึงตั้งอยู่ได้ นั้นความว่างก็เป็นประโยชน์และจำเป็น จำเป็นที่มันจะต้องมีที่ว่างให้สิ่งต่างๆตั้งอยู่ได้ คำว่า “ธาตุ” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงตัววัตถุโดยตรง แต่หมายถึงคุณสมบัติที่มันมีอยู่ในวัตถุนั้นๆ สิ่งที่มีคุณสมบัติ กินเนื้อที่ กินเนื้อที่ คือแข็ง แข็งและกินเนื้อที่ ก็เรียกว่า “ธาตุดิน” จึงมีสิ่งที่งอกงามออกไปเป็นของแข็งเป็นธาตุดิน และ “ธาตุน้ำ” มีคุณสมบัติทำให้กุมกันอยู่ ให้มันกุมกันอยู่ เหมือนกับน้ำมีการกุมตัวเองเข้าหากันอยู่เรื่อยใครแยกมันมันก็วิ่งกลับมาเกาะกุมตัวเองกันอยู่เรื่อย คุณสมบัติอันนี้เรียกว่า ธาตุน้ำ ที่มันเป็น “ธาตุไฟ” คือความร้อนหรืออุณหภูมิเมื่อใส่เข้าไปที่อะไรแล้วมันเกิดการเผาไหม้ มันก็คือการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลง ทำให้เปลี่ยนแปลง มี “ธาตุลม” มีคุณสมบัติเคลื่อนไหว เคลื่อนไหว ลอยได้ อย่างที่เราเรียกว่าแก๊ส หรืออากาศ มันเคลื่อนไหว มันลอยไป มันเคลื่อนไหว มีคุณสมบัติแห่งการเคลื่อนไหว มันมีครบ ๔ กินเนื้อที่ กุมกันให้เป็นอันเดียวกัน แล้วมันก็เปลี่ยนแปลง แล้วก็เคลื่อนไหวตลอดเวลา นี่เรียกว่าธาตุฝ่ายวัตถุ ฝ่ายร่างกาย และจัดการกับมันให้ถูกต้อง “ธาตุว่าง” ก็ตามธรรมชาติเพื่อให้สิ่งเหล่านี้อาศัยอยู่ เมื่อสิ่งเหล่านี้มันถูกต้องในเบื้องต้น คือ ๕ อย่างแล้ว ธาตุวิเศษคือธาตุจิตธาตุวิญญาณนั้นก็แสดงบทบาทได้ ต้องดูให้เห็นว่ามันมี อย่างน้อย ๓ กลุ่ม ๓ จำพวก ๓ หน้าที่ เรียกว่าเป็นตัว เป็นตัววัตถุขึ้นมา และก็มีจิตที่ทำให้วัตถุนั้นรู้สึกได้ และก็มีที่ว่างให้สิ่งทั้งหมดนี้อยู่
นิทาน นิทานตลกๆตามศาลาวัดก็ตาม แต่ก็ช่วยให้จำง่าย ให้เข้าใจง่าย เรื่องกายกับใจ ในกายนี้ก็เปรียบเหมือนกับว่า คนแข็งแรงแต่ตาบอด คนแข็งแรงครบถ้วนทุกอย่างแต่ตาบอดมองไม่เห็น ทีนี้ใจนั้น ตาดี ตาดี แต่ว่าเป็นง่อยเป็นเปลี้ย เดินไม่ได้เคลื่อนไหวไม่ได้ มันแยกกันตามหน้าที่อย่างนี้ ถ้ามันเป็นตาบอดอยู่แต่ลำพังตาบอด มันก็ทำอะไรไม่ได้ เป็นคนตาดีง่อยเปลี้ย มันก็เดินไม่ได้ วันหนึ่งมันมาพบกันเข้าเลยตกลงทำสหกรณ์ร่วมมือกันให้คนง่อยเปลี้ยตัวเล็กขี่คอคนตาบอดตัวโตแข็งแรงดี แล้วก็เลยไปด้วยกันได้ สำเร็จประโยชน์ได้ ไอ้ตาบอดก็พาไป ไอ้ตัวเปลี้ยคนเล็กนั่นก็บังคับบัญชาสั่งควบคุมไป นี่เรียกว่า อุปมาของกายและใจ มันเป็นอย่างนี้ พวกธาตุที่เป็นฝ่ายวัตถุฝ่ายร่างกายก็เหมือนกับไม่มีตา ตาบอด ฝ่ายจิตนี้ก็มีตา พอได้อาศัยกันเข้าก็ได้สมบูรณ์คือชีวิตหนึ่งๆ เรามีร่างกายและเราก็มีจิตใจรวมกันเข้าแล้วก็ตั้งอาศัยอยู่ได้ในที่ว่างนี่เรียกว่า ธาตุ ธาตุ
คุณเคยรู้จักธาตุในลักษณะอย่างนี้หรือเปล่า ถ้าเรียนกันแต่วิทยาศาสตร์ก็ไม่รู้ในอย่างอื่นในความหมายอื่นอธิบายกันอย่างอื่น เป็นเรื่องธาตุแท้ เป็นเรื่องธาตุผสม เป็นเรื่องเปลี่ยนแปลง มันมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ จะใช้มันเดี๋ยวนี้เราต้องการความรู้หรือว่าจริงที่จะแก้ปัญหาทั้งหมดของชีวิต เรารู้เรื่องธาตุ มี ๖ ธาตุ ชาวบ้านมักจะพูดกันเพียง ๔ธาตุ ยกเว้นร่างกายมันครบ ๖ ธาตุ มีจิตใจด้วย แล้วก็ที่ว่างที่อาศัยของธาตุทั้งทางกายและทางจิตใจด้วย นี่เรียกว่ารู้เรื่องธาตุ สิ่งที่เรียกว่าธาตุ อย่างเพิ่งเห็นว่าครึคละนะ จำไว้ ไปคิดนึกศึกษากันมันจะมีประโยชน์ มันจะใช้ชีวิตร่างกายนี้ได้ถูกต้องกว่าที่จะไม่รู้
ทีนี้เรื่องที่สองที่เราจะต้องรู้ก็คือเรื่อง “อายตนะ” อายตนะ คำๆนี้แปลว่า สิ่งที่ติดต่อได้ ติดต่อได้ หรือทำการติดต่อ มันติดต่อได้ มันถูกติดต่อ มันทำการติดต่อ เรียกว่าอายตนะ ข้างนอกติดรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ พวกที่อยู่ข้างนอก ข้างในคือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มี ๖ อย่างด้วยกันสำหรับติดต่อกันตามคู่ ตามคู่ ทีนี้เป็นอายตนะธรรมดาๆ เป็นอายตนะฝ่ายสังขตะ สังขตะที่มีเหตุมีปัจจัยปรุงแต่ง ที่มีพิเศษอีกชนิดหนึ่งไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง อยู่เหนือสิ่งใดนั่นก็ เรียกว่าอายตนะเหมือนกัน แต่มันเป็นอสังขตะ คือ นิพพาน นิพพาน นิพพานเป็นอายตนะอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน คือเป็นสิ่งที่จิตใจสัมผัสได้ด้วยเหมือนกัน แต่ว่ามันอยู่อีกพวกต่างหากเรียกว่าควบคุมยาก ไม่ต้องควบคุม ไม่ใช่จะต้องควบคุมนี่ก็คือ อายตนะข้างใน อายตนะข้างนอก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็ไปจับคู่กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์
ธาตุตามธรรมชาตินั้นมันปรุงให้เป็นอายตนะ ธาตุที่เป็นวัตถุล้วนๆนี่มันก็ปรุงให้เป็นวัตถุ ธาตุที่เป็นจิตใจก็ปรุงเป็นจิตใจ ดังนั้น เราจึงมีรูปสำหรับตาเห็น เสียงสำหรับหูได้ยิน กลิ่นสำหรับจมูก รสสำหรับลิ้น สัมผัสผิวหนังสำหรับผิวหนัง นี่พวกกายวัตถุ แล้วก็มีธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์ เป็นวัตถุสำหรับจิตใจรู้สึก สิ่งที่จิตใจจะรู้สึกนี้เรียกว่า ธรรมารมณ์ นี่ธาตุตามธรรมชาติมันปรุงก็เป็นรูปบ้าง กลิ่นบ้าง เสียงบ้าง รสบ้าง สัมผัสบ้าง ธรรมารมณ์บ้าง และอีกด้านหนึ่งก็ปรุงขึ้นมาเป็น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะเป็นอายตนะภายนอกหรืออายตนะภายในมันก็ปรุงขึ้นมา ธาตุ ธาตุทั้ง ๖ นั้นที่เป็นวัตถุก็ปรุงวัตถุขึ้นมา ที่เป็นจิตเป็นนามธรรม ก็ปรุงเป็นจิตเป็นนามธรรมขึ้นมา ดังนั้น อายตนะทั้งภายในและทั้งภายนอก มันปรุงขึ้นมาจากธาตุ หรือว่าธาตุมันปรุงอายตนะให้มีขึ้นมา มันจึงมีเรื่อง หรือเรียกว่ามีโลก มีโลกขึ้นมา ถ้าไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็ไม่รู้สึกว่ามีอะไร มันก็เท่ากับไม่มีอะไร จะเอาโลกมาแต่ไหน มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันทำหน้าที่สัมผัสสิ่งต่างๆที่มันเป็นคู่ คู่กับมัน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มันจึงมีขึ้นมา โลกจึงมีขึ้นมา และเพราะมีเครื่องสัมผัสโลก โลกคืออายตนะภายนอกเครื่องสัมผัสโลกคืออายตนะภายใน เมื่อมันมีคู่กันอย่างนี้มันก็ปรากฎ มันก็ปรากฎว่ามี ถ้ามันไม่มีอายตนะภายนอกมันก็จะเท่ากับไม่มีโลก ไม่มีอายตนะภายในมันก็เท่ากับไม่มีเครื่องสัมผัสโลก ปัญหายุ่งยากมันยังเกิดขึ้นเพราะว่าเรามีอายตนะ ฟังดูให้ดีๆ เพราะมันหลีกไม่พ้น มันมีอายตนะมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจสัมผัสรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ จึงมีเรื่อง มีเรื่องไม่หยุดไม่หย่อน นี่ก็ถือว่าธาตุได้ปรุงให้เกิดอายตนะทั้งฝ่ายที่เป็นรูปและเป็นนามก็คือ ฝ่ายที่เป็นวัตถุและเป็นจิตใจ นอกตัวเราไปก็เป็นอายตนะภายนอก ในตัวเราก็เรียกว่าอายตนะภายใน มันก็มีหน้าที่ของมันคือผัสสะต่อกันและกันและเกิดอะไรตามมา
ทีนี้เมื่อมีอายตนะมันก็มีเรื่องของอายตนะมากมายมันมากจนไม่ต้องจำหรือไม่ต้อง ไม่ต้องจำทั้งหมดก็ได้ รู้แต่เพียงเท่าที่มันควรจะรู้ จะให้พูดทั้งหมดก็ได้เหมือนกันแหละ ลองฟังดู เรามี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ อย่างนี้เป็นอายตนะภายใน และเราก็มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ๖ อย่างนี้เป็นอายตนะภายนอก เมื่ออายตนะภายใน เช่น ตา เป็นต้น ถึงกับอายนะภายนอกเห็นรูป เป็นต้น มันก็เกิดวิญญาณ วิญญาณ นั่นคือการเห็นทางตา มันก็ ๖ อีกนั่นแหละ วิญญาณก็มี ๖ ไปตามตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่เรามีวิญญาณ ๖ ทีนี้เมื่อมีวิญญาณอยู่กับอายตนะทั้งสองอย่างนี้ด้วยกัน อยู่ด้วยกันนี้เรียกว่ามีการทึ้งกันอยู่ คือกระทบกันอยู่ แล้วมีผัสสะ ผัสสะแปลว่าการกระทบ มันก็มี ๖ อีกนั่นแหละ มันก็มี ๖ อยู่ทั้งนั้น มีผัสสะ ๖ มันก็ออกมาเป็นเวทนาหรือรู้สึกผ่านตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เวทนาก็มี ๖ อีก
มีเวทนาแล้วมันก็มีสัญญา สัญญา ความสำคัญมั่นหมายหรือความรู้จักสำคัญมั่นหมายไว้ แล้วก็รู้จักๆต่อ ทำได้ หมายรู้ ก็รู้จัก การที่เคยสำคัญมั่นหมายทีแรกว่าอะไรเป็นอะไร นี่ก็สัญญา สัญญา ความรู้จักด้วยความสำคัญมั่นหมายว่ามันเป็นอะไร น่าจะไม่รู้จักชื่อก็จำได้ มันเคยเห็นอะไรมาก่อนแล้วเห็นอีกก็จำได้อีก นั่นคือจำได้หรือสำคัญมั่นหมาย จำได้ว่าเป็นอะไร ว่ามันเป็นอะไรเพราะฉะนั้นมันจึงมีเรื่องมากสัญญาว่าเป็นอะไร ก็มี ๖ อีกนั่นแหละ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธรรมารมณ์ มันก็มี ๖ อีก เรียกว่าสัญญา
พอมีสัญญามั่นหมายว่าอะไรเป็นอะไรแล้วมันก็จะมี สัญญเจตนาคือความคิดพินิจที่จะทำอะไรสักอย่าง สัญญเจตนา ใจความสำคัญอยู่ที่คำว่า “เจตนา” สัญญามั่นหมายอย่างไร มันก็จะมีเจตนาอย่างใดอย่างหนึ่งกับสิ่งที่มีสัญญานั้น มันก็มี ๖ อีกนั่นแหละ เจตนาที่จะจัดการอะไรกับรูป กับเสียง กับกลิ่น กับรส กับโผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มันมีเจตนา มีเจตนาเกิดขึ้นเป็นความรู้สึกก็ทำคือต้องการ ต้องการ ตัณหา ตัณหา ตัณหาก็มี ๖ อีกตามรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เมื่อมันต้องการมีตัณหา ๖ มันก็มีวิตกคือความคิดไปตามความต้องการที่เรียกว่า “วิตก” วิตก ๖ ตามจำนวนของอายตนะ แล้วก็คิดทั้งดุ้นทั้งกลุ่มเรียกว่า วิตก เมื่อคิดทั้งกลุ่มเรียกว่า วิตก เมื่อคิดแจกแยกเป็นรายละเอียดย่อยออกไปก็เรียกว่า “วิจารณ์” ภาษาฝรั่งคำนี้แปลกันยากเข้าใจยาก (นาทีที่ 31:06) แปลว่า Lot คือวิตก ----- คือวิจารณ์ จะอธิบายยาก มันเป็นภาษาฝรั่ง มันก็ได้ทั้ง ๑๐ หมวด หมวดละ ๖ ละ ๖ ก็เป็น ๖๐อย่าง คุณสั่นหัวจำไม่ไหว ขี้เกียจจำ ปล่อยโง่ จำแต่ชื่อเพียง ๑๐ อย่าง มันก็ได้ ไม่ต้องจำมากเอาแต่เพียงตอนต้นๆที่มันสำคัญนั่น มีอายตนะภายใน อายตนะภายนอก มีวิญญาณ มีผัสสะ มีเวทนา นี่ขอให้เข้าใจ๕ อย่างข้างต้นนี้ สำคัญที่สุดไอ้ตัวร้าย ตัวร้ายของมันก็คือ เวทนา คนเป็นทาสของเวทนา ลุ่มหลงในเวทนาอยากจะมีเวทนาชั้นเลิศ โดยเฉพาะทางเพศ เวทนาทางเพศนั้นสูงสุดจนบูชาเคยบูชาเป็นพระเป็นเจ้าด้วยก็มี นี่เรียกว่าอายตนะ มีภายในภายนอก เมื่อถึงการปรุงแต่งรวมกันเป็นได้ ๑๐ จังหวะ ๑๐ จังหวะ ๖ อย่าง อย่างละ ๑๐ จังหวะ มันก็เป็น ๖๐ ชนิด ถ้าเห็นว่าไม่ใช่เครื่องครึคละเหลวไหลเข้าใจก็จะดีมาก คือมันจะรู้จักตัวชีวิต ตัวชีวิตในขณะไหน ขณะไหน มันเป็นอะไร ในขณะที่เป็นอายตนะภายใน อายตนะภายนอก เป็นวิญญาณ เป็นผัสสะ เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสัญญเจตนา เป็นตัณหา เป็นวิตก เป็นวิจารณ์ ทั้ง ๑๐ ขณะ ๑๐ จังหวะ เรารู้จักชีวิตอย่างละเอียดละออทั่วถึงมันก็ง่ายในการที่จะควบคุม และไม่รู้หลับตาเหมาๆ เปะปะๆ จัดการอะไรไม่ถูกหรือเปล่า นี่เรื่องที่หนึ่งคือธาตุ ๖ ก็ปรุงเป็นอายตนะ อายตนะนี่มีจังหวะ ๑๐ จังหวะ
ทีนี้เราจะดูต่อไปว่าในการปรุงของอายตนะนั้นมีสิ่งที่เรียกว่า “ขันธ์” ขันธ์ทั้ง ๕ ที่นักศึกษาปัจจุบันมันเห็นว่าเรื่องครึคละ ครึคละของยายแก่ตามศาลาวัด มันก็เอาไปพูดล้อเล่น ไม่อยากจะสนใจนั่นแหละคือตัวชีวิตชนิดที่เป็นพื้นฐานที่อยู่ ที่ต่างอยู่แยกๆกันให้เห็นชัดๆเป็นอย่างๆ ๕อย่าง อย่างที่หนึ่งเรียกว่ารูป “รูปขันธ์” พวกที่เป็นรูปมีอยู่หนึ่งคือรูปขันธ์ พวกที่เป็นจิต เป็นวิญญาณ เป็นฝ่ายนาม มีอยู่ ๔ คือ “สัญญาขันธ์ เวทนาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์” มีรูป เมื่อใดรูปทำหน้าที่ร่างกายรูปล้วนๆทำหน้าที่เมื่อนั้นเราเรียกว่า มีรูปขันธ์ รูปขันธ์เกิดแล้ว ทีนี้พอรู้สึกทางจิตใจคือเป็นเวทนา น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ ก็เรียกว่าเวทนาขันธ์เกิดแล้ว เวทนาขันธ์เกิดแล้วก็สำคัญมั่นหมายในเวทนาขันธ์ ว่ามันเป็นอะไร เวทนาของอะไร นี่เรียกว่า สัญญาขันธ์ สัญญาขันธ์นี่ทำให้เกิดความคิดซึ่งเป็นสังขารขันธ์ ความคิดไปตามสัญญาขันธ์ สัญญาว่าดีก็จะเอา สัญญาว่าไม่ดีก็ไม่เอา สัญญาว่าอร่อยก็เอาไม่อร่อยก็ไม่เอา มันอาจจะโง่ดึกดำบรรพ์ลองกลับกันเสียก็ได้ โดยเฉพาะทางเพศแล้วก็มันเกิดความคิดที่จะเอาแต่ลุ่มหลงในเรื่องทางเพศ นี่เรียกว่าสังขารขันธ์แปลว่าความคิด ความคิดให้เกิดสิ่งใหม่ ทีนี้อันสุดท้ายเรียกว่า วิญญาณขันธ์ อันนี้แปลกหน่อยที่ว่าเอามาใส่ไว้รั้งท้าย ใส่ไว้รั้งท้าย ใส่ไว้รั้งท้ายเพราะมันเกิดได้หลายคราว ไม่แน่ชัดว่าจะไว้ตรงไหนดีจะไว้รั้งท้าย วิญญาณขันธ์แปลว่ารู้จัก รู้แจ้ง หรือรู้จัก เช่น ตากับรูปอันแรกถึงกันก็เรียกว่าวิญญาณลงไปที่อายตนะภายนอก จริงๆแล้วมันก็มีวิญญาณของจิตใจมารู้จักลงไปที่เวทนานั้นอีกทีหนึ่ง ทำเป็นสังขารเป็นความคิดอะไรต่อมาอีกมันก็มีวิญญาณทางจิตใจที่จะรู้จักสิ่งเหล่านั้น วิญญาณนั้นทำหน้าที่หลายครั้งหลายตอน เอามาไว้ท้ายเสีย รูปขันธ์เอาไว้เป็นอันแรกเพราะมันเป็นพื้นฐานทั่วไป เวทนานี่เกิดจากการสัมผัสของพวกอายตนะฝ่ายรูปแล้วก็เกิดสัญญา ถ้ามีเวทนามันต้องมีสัญญาหมายมั่นในเวทนานั้น มันมีเวทนา มีสัญญาหมายมั่นแล้วมันก็มีสังขารคือ ความคิดอย่างนั้นอย่างนี้โดยมันคิดที่จะจัดการกับสิ่งเหล่านั้นเรียกว่า สังขาร วิญญาณนั้นมันมีหลายจังหวะมันจะรู้จักอะไรลงไปก็เรียกว่า วิญญาณขันธ์ ครึหรือไม่ครึ คุณลองคิดดูสิ เป็นเรื่องครึของยายแก่ตามศาลาวัด มันไปเรียนมหาวิทยาลัยทั่วโลกมา มันก็ไม่รู้ไม่รู้เรื่องที่คนพันๆปีเขารู้กัน เรื่องขันธ์ ๕ คือตัวชีวิต มันแบ่งได้เป็น ๕ส่วนยังแยกมาเป็น ๒ ส่วนคือส่วนรูปกับส่วนนาม เมื่อรู้จักเท่านั้นแหละที่จะควบคุมมันได้ดี ไม่มานั่งร้องไห้หัวเราะเป็นบ้าในที่สุด หมวดนี้เราเรียกว่า หมวดขันธ์ ขันธ์ทั้ง ๕ ขันธ์นี้แปลว่ากลุ่ม กลุ่มหรือพวกหรือกองมันเป็นกลุ่มๆ พวกธาตุทำให้เกิดอายตนะ พวกอายตนะทำหน้าที่แล้วแยกได้เป็นขันธ์ เป็น ๕ขันธ์ตามหน้าที่ของมัน มีขันธ์มันจึงหมายถึงสิ่งเหล่านี้ชีวิตที่มันยังแยกเป็นกองๆ เป็น ๕กอง
ทีนี้หมวดที่ ๔ คือ ปฏิจจสมุปบาท ปฏิจะ ปฏิจะ แปลว่าอาศัย อาศัยกัน อาศัยกันแล้วเกิดขึ้นเรียกว่าปฏิจะ อาศัยกัน สมุปาทะเกิดขึ้น อาศัยกันและเกิดขึ้น อาศัยกันหลายๆอย่างแล้วเกิดอย่างใหม่ขึ้นมา อย่างใหม่ขึ้นมา นี้มันก็มุ่งหมายที่จะดูตรงที่มันอาศัยกันคือมันเนื่องกัน ไอ้ขันธ์ ๕ นี่มันแยกเป็นอย่างๆ คล้ายๆว่า ๕ กอง ส่วนปฏิจจสมุปบาทมี ๑๒ อาการและเนื่องกันที่ปรุงๆ ปรุงแต่งกัน ปรุงแต่งกัน ปรุงแต่งกัน เพราะมีสิ่งนี้จึงมีสิ่งนี้ เพราะมีสิ่งนี้จึงมีสิ่งนี้ เพราะมีสิ่งนี้จึงมีสิ่งนี้ มันก็เรื่องเดียวกับขันธ์นั่นแหละ หากแต่เรามามองในแง่ที่ว่ามันปรุงแต่งกันแล้วมันเนื่องกันเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท เป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะยากหรือเข้าใจยากแต่ก็ไม่เหลือวิสัย พระพุทธเจ้าตรัสรู้เรื่องนี้ การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าคือรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท คืนวันที่ตรัสรู้นั้นคิดค้นแต่เรื่องปฏิจจสมุปบาทไปรู้แจ้งแทงตลอดชัดเจนเมื่อหัวรุ่งของการตรัสรู้ ตามพระบาลีแท้ๆเป็นอย่างนี้ แต่บาลีบางแห่งอธิบายเป็นรู้ญาณ ๓ บุพเพนิวาสานุสติญาณ อย่างนั้นก็ได้ แต่ว่าเนื้อแท้มันคือค้นเรื่องปฏิจจสมุปบาทจนรู้ ท่องได้ก็ดี แต่บางคนจะคิดว่ามันเยอะ มันป่วยการ มันครึคละ มันยืดยาว
ปฏิจจสมุปบาทมันก็คืออายตนะตั้งต้น อายนะ เช่น ตากับรูปมาถึงกันเข้าก็เรียกว่า “จักษุวิญญาณ” เมื่อ ๓ อย่างนี้ทำงานอยู่ด้วยกัน ก็เรียกว่า ผัสสะ พอมีผัสสะก็มีเวทนาออกมาเป็นความรู้สึกพอใจไม่พอใจ มีเวทนาก็มีตัณหา อยากไปตามอำนาจของเวทนาที่มันจะให้อยากอย่างไร ถ้าเป็นบวกมันอยากจะได้ ถ้าเป็นลบมันอยากจะฆ่า มันอยากจะทำลาย ถ้ามันไม่แน่ว่าบวกหรือลบมันก็ได้แต่สงสัย สงสัย วิ่งตาม วิ่งวนเวียนอยู่รอบๆ นี่ก็เวทนาให้เกิดตัณหา พอตัณหามีความอยาก มีความอยากเกิดขึ้นในใจแล้วมันก็โง่ กูๆๆ กูอยาก สิ่งที่อยากนี่คือกู คือตัวกู คือตัวตน เรียกว่าอุปาทาน อุปาทานอย่างนี้เกิดขึ้นในจิตใจแล้วก็เรียกว่า ความตั้งต้นแห่งความมีตัวตนนั้นมันได้เกิดขึ้น เรียกว่า “ภพ” การตั้งต้นแห่งความมีตัวตนออกมาจากอุปาทาน เดี๋ยวมันก็ตั้งครรภ์ ตอนนี้ตั้งครรภ์ ภพ ภพภาวะ นี่ตั้งครรภ์ ตั้งครรภ์แห่งความมีตัวตน ในครรภ์มันก็แก่ๆๆๆ ขึ้น ถึงเวลาหนึ่งมันก็คลอดเรียกว่า “ชาติ” ก็เกิดตัวกูของกูขึ้นมาเต็มที่ มันก็คว้าเอาทั้งหมดทุกอย่างเป็นตัวตน เป็นของตน มันก็เอาไปคว้าเอาความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย อะไรหลายๆอย่างทุกอย่างมาเป็นตัวตนเป็นของตน มันก็ได้มีความทุกข์เพราะไปคว้าเอามายึดถือไว้โดยความเป็นตัวตน นี่เรียกว่ากระแสที่มันเนื่องกันๆเป็นลูกโซ่ เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท
แต่ถ้าจะให้ละเอียดไปกว่านี้มันก็ตั้ง ตั้งคำถามว่า อายตนะทีแรกนี้มาจากไหน มีอาตยนะแล้วมีวิญญาณ มีผัสสะมาจากไหน มันก็ข้ามไปเพราะมีอวิชชา อวิชชา ธาตุแห่งความไม่รู้ อวิชชาธาตุ ธาตุแห่งความไม่รู้เป็นอวิชชา มีอวิชชาก็มีอำนาจที่จะปรุงแต่งให้เกิดสิ่งใหม่ มันสัปดน มันซุกซน มันจะปรุงแต่งให้เกิดสิ่งใหม่ เพราะมีความโง่ไม่รู้ในสิ่งทั้งปวงก็เกิดอาการปรุงแต่งเรียกว่า สังขาร อวิชชาให้เกิดสังขาร การปรุงแต่ง ปรุงแต่งก็ไปคว้าเอาวิญญาณธาตุตามธรรมชาติมาปรุงแต่งให้เป็นวิญญาณทางอายตนะ คือวิญญาณทางอายตนะขึ้นมามันก็เป็นเหตุให้มีครบทั้งกายและใจคือนามรูป เพราะมีนามรูปจึงมีอายตนะ ๖ มีอายตนะก็เข้ามาสายเดียวกับที่ว่าเมื่อสักครู่ เราจะตั้งต้นที่อายตนะไปเป็นความทุกข์ก็ได้ มันจะ ๘ อย่างหรือ ๙ อย่าง ถ้าเราตั้งต้นที่อวิชชาเรื่อยมาผ่านอายตนะเป็นความทุกข์ก็ได้ มันก็มี ๑๒ อย่าง ๑๒ อาการ ๑๒ การปรุงแต่ง นี่เรียกว่า อายตนะ มีอยู่ตลอดเวลา เราจะรู้สึกหรือไม่รู้สึก นี่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาท
ที่นี้เรื่องที่ ๕ ก็ตามมาคือความทุกข์ เมื่อมีปฏิจจสมุปบาทเป็นเรื่องที่ ๔ เรื่องที่ ๕ ที่จะต้องศึกษาคือเรื่องของทุกข์ในกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท มีอุปาทานยึดมั่นถือมั่นอะไรว่าเป็นตัวตนเป็นของตน ไปยึดมั่นถือมั่นอะไรว่าเป็นของตน มันก็เป็นทุกข์เพราะเหตุนั้น แล้วมันทำให้เกิดความหนัก ให้เกิดความหนักขึ้นมา ในที่ควรจะรู้กันนี่ให้ละเอียดว่าชีวิตนี้คืออะไร ที่จริงชีวิตนี้คืออะไร ในแง่ที่เป็นธาตุหลายๆอย่าง ธาตุปรุงเป็นอายตนะหลายๆอย่าง อายตนะปรุงเป็นขันธ์หลายๆอย่าง ขันธ์มีอาการแห่งปฏิจจสมุปบาทหลายๆอย่าง ต่อมาก็คือความทุกข์ มีชีวิตคือเรื่องของสิ่งเหล่านี้ กริยาอาการปรุงแต่งอันมากมายของสิ่งเหล่านี้ สิ่งนี้คือชีวิต ชีวิต มีธาตุทำให้เกิดอายตนะ อายตนะทำให้เกิดขันธ์ ขันธ์ทำให้เกิดปฏิจจสมุปบาท มีปฏิจจสมุปบาทก็จะมีทุกข์ เรารู้ ๕เรื่องนี้ เรื่องชีวิตโดยสมบูรณ์
วิทยาศาสตร์ของโลกปัจจุบันที่นับว่าเก่งกันนักอุตส่าห์ไปเรียนวิทยาศาสตร์เมืองนอกเมืองนามา เมื่อถามว่าชีวิตคืออะไร ชีวิตคืออะไร มันไม่เคยรู้เรื่องนี้ มันก็ตอบว่าเมื่อโปรโตพลาสคือเยื่อที่อยู่ในเซลล์เซลล์หนึ่งๆยังสดอยู่ เมื่อโปรโตพลาสของเซลล์ยังสดอยู่นั่นคือชีวิต ถ้าโปรโตพลาสนั้นเน่าตายเหี่ยวแห้งไปคือตาย คือไม่มีชีวิต ไม่มีภาระอะไรที่จะดับทุกข์หรอก เรื่องบอกธรรมชาติล้วนๆ ว่าชีวิตคือโปรโตพลาสในแต่ละเซลล์ยังสดอยู่ ก็จะได้ประโยชน์อะไร มันก็จริงเหมือนกันมันก็บัญญัติอย่างนั้นก็จริงตามแบบนั้น รู้จักชีวิตในแง่วิทยาศาสตร์มันจึงไม่ดับทุกข์ วิทยาศาสตร์มันก็ดึงไปหาประโยชน์ทางวัตถุทั้งนั้น ไม่มารู้เรื่องทางจิตใจ ถ้าเราจะรู้จักชีวิตที่ถูกต้องในทางจิตใจก็ต้องรู้อย่างที่ว่ามานี้ ให้รู้เรื่องธาตุ เรื่องอายตนะ เรื่องขันธ์ เรื่องปฏิจจสมุปบาท และก็เรื่องความทุกข์
ทีนี้ที่เราจะควบคุมกระแสแห่งชีวิต จะควบคุมกระแสแห่งชีวิต ก็คือควบคุมสิ่งเหล่านี้ให้มันถูกต้อง ควบคุมเรื่องธาตุให้ถูกต้อง เรื่องอายตนะให้ถูกต้อง เรื่องขันธ์ให้ถูกต้อง เรื่องปฏิจจสมุปบาทให้ถูกต้อง เรื่องความทุกข์ให้ถูกต้อง และถูกควบคุมชีวิตที่เป็นไปอย่างถูกต้อง มันไม่กัดเจ้าของมันมีความสงบเย็นและก็เป็นประโยชน์อย่างที่ว่ามาแล้ว ควบคุมแล้วกันในจุดแรกนี้ก็เรียกว่า “ควบคุมอายตนะ” ที่จะไปควบคุมธาตุตามธรรมชาตินั้นมันเป็นเรื่องของธรรมชาติ มันทำกันอยู่ตามธรรมชาติ นี่เราไม่อาจจะไปควบคุมธาตุ ธาตุ ๖ ธรรมชาติมันจัดการของมันเอง อยู่นอกวิสัยที่เราจะไปควบคุมมัน แต่พอมันปรุงเป็นอายตนะเข้ามาแล้วนี่ เราจะสามารถเข้าไปจัดการหรือควบคุม ฉะนั้นสิ่งแรกที่เราจะต้องควบคุมก็คือ ควบคุมอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่มันจะไปทำงานกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นี่จะต้องควบคุม จะต้องควบคุมอายตนะ สิ่งที่รู้สึกหรือถูกรู้สึก อาการที่มันรู้สึกต้องการว่าจะไม่เป็นทาสของอายตนะ ความมุ่งหมายแท้จริงเราจะไม่เป็นทาสของอายตนะ ทีนี้คนธรรมดาทั่วไปมันเป็นทาสของอายตนะคือคอยแสวงหาความอร่อยมาให้ตา ความไพเราะมาให้หู ความหอมมาให้จมูก ความอร่อยมาให้ลิ้น ความนิ่มนวลมาให้ผิวหนัง และความรู้สึกที่กล่อมอารมณ์มาให้จิตใจนี่ ตลอดเวลาเราเป็นทาสของอายตนะ ต้องการจะแสวงหาสิ่งที่บำรุงบำเรอตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าเราควบคุมได้เราจะไม่ต้องทำถึงขนาดนั้น คือไม่ต้องเป็นทาสของอายตนะ ซึ่งมันจะนำไปสู่ความเป็นทาสของตัณหา เป็นทาสของกิเลสตัณหา ถ้ามันเป็นทาสของอายตนะเสียแล้วก็ไปสู่ความเป็นทาสของกิเลสตัณหา
ควบคุมอายตนะมีความหมายกว้างมาก มันเป็นการควบคุมชีวิตในวงกว้าง พระพุทธสุภาษิตพระพุทธเจ้าตรัสว่าอายตนะนี่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้คือมหาสมุทร มหาสมุทร ที่ตกไปแล้วจมดิ่งตายขึ้นมายาก ตกมหาสมุทรคือตกลงไปในอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อายตนะจึงเปรียบเหมือนมหาสมุทรซึ่งลึกกว่ามหาสมุทรธรรมดา มหาสมุทรธรรมดาตกลงไปยังไม่ร้ายเท่ากับว่าตกมหาสมุทรของตา หู จมูก ลิ้นกาย ใจ ที่น่าสนใจต่อยิ่งไปอีกก็คือว่าไอ้นรกมันก็อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สวรรค์มันก็อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อทำความผิด ผิดกฎธรรมะที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นนรกขึ้นมาที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าทำถูกต้องขึ้นมาที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็เกิดสวรรค์ขึ้นมาที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พระพุทธเจ้าท่านสอนว่านรกหรือสวรรค์อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คืออายตนะ สวรรค์ทางอายตนะ นรกทางอายตนะ คือฉันเห็นแล้ว ฉันเห็นแล้ว พูดว่าอย่างนี้ ที่เขาสอนกันอยู่ก่อนนั้น ก่อนพระพุทธเจ้า นรกอยู่ได้ดินใต้บาดาล สวรรค์อยู่บนฟ้าที่ไหนก็ไม่รู้สูงสุดบนฟ้านั้น สอนกันอยู่อย่างนั้น พระเจ้าเกิดขึ้นท่านไม่ค้าน นี่คุณช่วยจำไว้เป็นตลอดชีวิตเลยว่าพระพุทธเจ้าจะไม่ค้านจะไม่ขัดแย้ง จะไม่ค้าน คุณพูดอย่างนั้นคุณก็พูดไป แต่ฉันจะบอกว่าอย่างนี้ตามความรู้ความคิดของฉัน เรื่องขัดแย้งจึงไม่มี พระพุทธเจ้าจึงไม่ถูกฆ่าตายในเวลาอันสั้นเหมือนพระเยซู พระเยซูเป็นศาสดาอยู่ได้สามปีก็ถูกฆ่าตาย เพราะมันมีการขัดแย้ง ถ้าเป็นพุทธบริษัทที่ถูกต้องไม่ขัดแย้ง ไม่หลีกเลี่ยง จะหลีกเลี่ยงเสียไม่ให้เกิดการขัดแย้ง แล้วมีอะไรก็พูดไป พระพุทธเจ้าท่านไม่ไปทะเลาะ อุ, บ้า สวรรค์บนฟ้า นรกใต้ดินมันบ้า มันอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจต่างหาก ท่านไม่พูดอย่างนี้ให้มันเป็นการขัดแย้ง แต่พวกฉันเห็นได้ ฉันเห็นได้แกดูให้ดี การที่ควบคุมอายตนะได้ก็คือการควบคุมนรกควบคุมสวรรค์เลย มีนรกเกิดขึ้นแต่ให้สวรรค์มันเกิดขึ้นเพราะมีการควบคุมในทางอายตนะนั่นเอง
ควบคุมตอนไหนที่สะดวกที่สุด ก็คือ “ควบคุมตอนที่มันเป็นผัสสะ” อายตนะ ๒ ฝ่ายถึงกันเข้าเกิดวิญญาณ ๓ อย่างนี้ คืออายตนะ ๒ อย่าง กับวิญญาณ ๑ ๓ อย่างนี้ทำงานกันอยู่เรียกว่า “ผัสสะ” ตอนนั้นแหละควบคุม แต่อย่าให้มันโง่ อย่าให้มันโง่ตอนผัสสะ มันฉลาดตอนผัสสะก็ควบคุมอายตนะได้ ก็ควบคุมในขณะที่มันสัมผัส สัมผัสทีแรกเรียกว่า “สัมผัสทางวัตถุ” มีความหมายอย่างไร มโนวิญญาณสัมผัสอีกทีหนึ่งเรียกว่า “อธิวัจนสัมผัส” สัมผัสมีอยู่เป็น ๒ ชั้น สัมผัสทางวัตถุเรียกว่า (นาทีที่ 56:12) ปฏิคสัมผัส และสัมผัสในความหมาย ในความหมายในคุณค่าแล้วมันอีกทีซึ่งเกิดเป็นเหตุให้เกิดตัณหา อธิวัจนสัมผัส ทั้งในตอนปฏิคสัมผัสก็ควบคุม ในอธิวัจนสัมผัสก็ควบคุม ที่นี้ควบคุมผัสสะอย่างนี้ได้ก็เลยควบคุมอายตนะอยู่ได้ ควบคุมอายตนะ ทีนี้เราไม่เคยนึก ไม่เคยรู้สึก ไม่เคยได้ควบคุม ลอยไปตามเรื่อง มันก็เลยโง่ เป็นเรื่องชอบใจ ถูกใจก็ได้ ไม่ถูกใจก็ดี คือเป็นบวกหรือเป็นลบ เป็นบวกคือถูกใจจะเอาจะได้ จะรักใคร่ จะหวนแหน จะยึดถือ ถ้าเป็นลบขึ้นมาก็จะฆ่า จะทำลาย จะอะไร ความเป็นบวกเป็นลบมันก็เกิดขึ้นมา เพราะโง่เมื่อผัสสะ เราจะต้องฉลาดเมื่อผัสสะ เราสามารถควบคุมผัสสะ นี่คือควบคุมอายตนะ
ทีนี้ก็มาถึง “ควบคุมขันธ์” ควบคุมการที่ว่าอายตนะมันจะปรุงแต่งให้เกิดขันธ์ขึ้นมา รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ ให้มันอยู่ในการควบคุมของวิชชา ถ้าปล่อยไปตามเรื่องมันก็เป็นอวิชชา มันก็ไม่มีการควบคุม มันควบคุมให้รู้จักการที่เป็นจริงและจะไม่ล้ม ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร วิญญาณ เขาพูดอย่างคนธรรมดาฟังไม่ถูก รูปก็สักว่าธาตุตามธรรมชาติ เวทนาก็สักว่าธาตุตามธรรมชาติ สัญญาก็สักว่าธาตุตามธรรมชาติ สังขารก็สักว่าธาตุตามธรรมชาติ วิญญาณก็สักว่าธาตุตามธรรมชาติ ควบคุมอย่าให้มันโง่ขึ้นมาเป็นตัวตน เป็นตัวตน เรารู้จักขันธ์ทั้ง ๕ นี่ ชัดเจนเหมือนกับที่เรารู้จักสิ่งเหล่านี้หรือไม่ สิ่งของเครื่องใช้ไม้สอยในห้องในบ้านในเรือน เรารู้จักหรือเกินรู้จักสิ่งที่เรียกว่าขันธ์ทั้ง ๕ อยู่ในภายใน เป็นหัวใจ เป็นเรื่องของเรา เรากลับไม่รู้จัก ศึกษาให้รู้ให้รู้ มันจะได้รู้จักทุกสิ่งรอบตัวเรา ศึกษาให้รู้จักขันธ์ทั้ง ๕ และให้มันไม่หลอก ไม่หลอกว่าเป็นตัวตน ไม่ไปโง่ว่าเป็นตัวตน ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รู้จัก รู้จักให้เหมือนกับรู้จักสิ่งเหล่านี้
ทีนี้ขันธ์นั้นมันก็มีเป็น ๒ ชนิด ขันธ์ที่ความโง่หรืออวิชชา เข้าไปจับฉวยเอาด้วยอุปาทานว่าตัวฉันว่าของฉัน ขันธ์นี้ก็ได้ชื่อว่าขันธ์ที่ถูกยึดถือด้วยอุปาทานเรียกว่า “อุปาทานขันธ์” ขันธ์นี้ไม่ว่าง ขันธ์นี้มีเจ้าของ มีความโง่เข้าไปยึดถือเป็นเจ้าของ เรียกว่าอุปาทานขันธ์ คือจิตโง่เข้าไปยึดถือว่าเป็นตัวตนหรือของตน มันก็เป็นของหนักของจิต มันก็เป็นความทุกข์ เมื่อใดที่เป็นอุปาทานขันธ์คือขันธ์ที่จิตไปยึดถือว่าเป็นตัวตนของตน เมื่อนั้นมันก็เป็นทุกข์ ทีนี้ขันธ์อีกประเภทหนึ่งยังไม่เกี่ยวข้องกับอุปาทานยังไม่มีอุปาทานยึดถือหรือว่าไม่มีอุปาทานยึดถือก็แล้วกัน ก่อนจะเกิดอุปาทาน เช่น เด็กๆยังไม่รู้จักการยึดถือขันธ์ของมัน มันก็ยังเป็นขันธ์ที่ไม่ถูกยึดถือ เรียกว่า “ขันธ์ล้วนๆ” ขันธ์ล้วนๆที่ไม่มีอุปาทาน โดยเฉพาะเด็กในท้อง เมื่อเด็กคลอดมาใหม่ๆไม่ทันจะมีอุปาทานในสิ่งใด แต่มันก็มีความรู้สึกเป็นรูป เป็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่ก็ขันธ์ล้วนๆก็ได้เหมือนกัน
ทีนี้ขันธ์ของพระอรหันต์ที่ทำลายกิเลสหมดแล้วไม่เกิดกิเลสอุปาทานอีกต่อไป ขันธ์ของพระอรหันต์ก็เป็นขันธ์ล้วนๆ ขันธ์ล้วนๆไม่มีอุปาทาน เรียกว่า “วิสุทธขันธ์” “วิสุทธิขันธ์” ขันธ์ล้วนๆ ไม่มีอุปาทานไม่มีความทุกข์ ถ้ามีอุปาทานเรียกว่า อุปาทานขันธ์ ต้องมีความทุกข์ เหมือนกับเราไปหยิบอะไรขึ้นมาถือไว้หนักเท่าไรก็เป็นทุกข์เท่านั้น นี่อุปทานขันธ์จะเป็นทุกข์ วิสุทธิขันธ์จะไม่เป็นทุกข์ รู้จักขันธ์ไว้ทั้ง ๒ อย่าง อุปาทานขันธ์มันก็แล้วแต่ว่าไปอุปาทานในอะไร อุปาทานในรูป เสียง กลิ่น รสก็ได้ อุปาทานในสารพัดอย่างมันออกมาเป็นอุปาทานได้ แม้พระนิพพานมันก็ไปคว้ามาเป็นอุปาทานว่าของกูก็ได้ ซึ่งความจริงมันเป็นไปไม่ได้ แต่ความโง่มันทำได้ ไปยึดถือเอาอะไรมาเป็นของตนได้ทั้งนั้น ยึดถือร่างกาย อวัยวะ ผม ขน เล็ก ฟัน หนัง อะไรเป็นตัวกูเป็นของกู มันยึดถือได้ทุกอย่าง โดยเฉพาะยึดถือชีวิต ชีวิตว่าตัวกูว่าของกู ชีวิตมันก็หนักขึ้นมาแล้วก็กัดเจ้าของ ที่ไม่มีความยึดถือว่าตัวกูว่าของกู มันก็ไม่หนัก มือมันไม่ได้ถืออะไรมันก็ไม่หนัก ถือก้อนอิฐมันก็หนัก ถือเพชรพลอยมันก็หนัก ถือทองคำมันก็หนัก ถือขี้หมาก็หนัก ถ้ามันยึดถือแล้วมันก็เป็นของ เรารู้จักขันธ์ที่ไม่ยึดถือที่ไม่ถูกยึดถือก็ไม่เป็นของหนัก เรารู้จักชีวิตที่ไม่ถูกยึดถือก็เป็นชีวิตที่ไม่หนัก เป็นชีวิตที่ไม่มีความทุกข์ เป็นชีวิตที่ไม่มีความทุกข์ เราต้องการ นี่เราควบคุมกระแสของชีวิตไม่ยึดถือขันธ์ใดขันธ์หนึ่งโดยความเป็นตัวตน
ทีนี้ถัดไปก็ไม่ยึดถือคือ “ควบคุมปฏิจจสมุปบาท” ควบคุมธาตุไม่ต้องแล้วเป็นหน้าที่ของธรรมชาติ ควบคุมอายตนะหน้าที่ของเรา ควบคุมขันธ์ไม่ยึดถือเป็นหน้าที่ของเรา ทีนี้ควบคุมปฏิจจสมุปบาทอย่าให้มันยึดถือ ไม่ยึดถือทุกขั้นตอนว่าเป็นตัวตน ทำมาตั้งแต่อวิชชาก็ไม่ยึดถืออวิชชา ไม่ยึดถือสังขาร ไม่ยึดถือวิญญาณ ไม่ยึดถือนามรูป ไม่ยึดถืออายตนะ ไม่ยึดถือผัสสะ ไม่ยึดถือเวทนา ไม่ยึดถือตัณหาอุปาทานภพชาติ จะไม่ยึดถือส่วนใดส่วนหนึ่งว่าเป็นตัวตน นี่เรียกว่า ไม่ยึดถือปฏิจจสมุปบาทที่มันเป็นเรื่องของสิ่งที่มีชีวิต อาการปฏิจจสมุปบาทนี่ ถ้ามันเป็นเรื่องของสิ่งที่มีชีวิตรู้สึกเป็นทุกข์ได้ก็เรียกว่าเรื่องของปฏิจจสมุปบาท แต่ถ้ามันเป็นอาการทั่วไปๆของสิ่งที่ไม่มีชีวิตเราไปเรียกว่า “อิทัปปัจจยตา” อิทัปปัจจยตามันกว้าง เป็นกว้าง ปรุงแต่งเกิดขึ้น ปรุงแต่งเกิดขึ้นอะไรก็ได้ แต่ถ้าปรุงแต่งเกิดขึ้นปรุงแต่งเกิดขึ้นของสิ่งที่มีชีวิตจิตใจรู้สึกได้นี่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ระวังพูด ๒ คำนี้ให้ถูกต้อง
ถ้าพูดกับสิ่งที่มีชีวิตเป็นทุกข์ได้ก็เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ถ้าไปพูดกับอะไรก็ได้ ก้อนหินดินทรายก็ได้มันมีอาการปรุงแต่งเกิดขึ้นเป็นลำดับไปก็เหมือนกัน อย่างนั้นเรียกว่า อิทัปปัจจยตา ในเมืองไทยนี้ก็ยังพูดผิดอยู่บ่อยๆ แทนที่จะพูดว่า อิทัปปัจจยตา ก็ไปพูดว่า ปฏิจจสมุปบาท กลายเป็นปฏิจจสมุปบาทของก้อนหินดินทราย อย่างนี้มันผิด ทว่ามันเป็นเรื่องของสิ่งที่มีชีวิตรู้สึกคิดนึกได้ เราจึงจะเรียกอาการนี้ว่า ปฏิจจสมุปบาท แต่ถ้าเป็นอาการของทุกสิ่งแม้ไม่มีชีวิตเราเรียกมันว่า อิทัปปัจจยตา ทุกอย่างมันมีกฎอิทัปปัจจยตาทำให้เปลี่ยนแปลงไป เช่น ก้อนหินนี้มันก็เปลี่ยนแปลงไปตามกฎของธรรมชาติมันก็มีลักษณะของอิทัปปัจจยตา แต่ไม่ได้มีลักษณะของปฏิจจสมุปบาท สงวนเอาคำว่า ปฏิจจสมุปบาท ไว้ใช้เฉพาะสิ่งที่มีชีวิตรู้สึกได้ มีชีวิตวิญญาณรู้สึกได้ ถ้ามันไม่มีชีวิตวิญญาณไม่รู้สึกได้เรียกว่า อิทัปปัจจยตา คำว่า อิทัปปัจจยตา ใช้กับสิ่งที่มีชีวิตวิญญาณก็ได้ ไม่มีชีวิตวิญญาณก็ได้ มันกว้างมันรวบหมด ถ้าใช้กับสิ่งที่มีชีวิตรู้สึกได้เราจะพูดให้ถูกต้องว่า อิทัปปัจจยตา แต่ถ้าบาลีมักจะพูดเต็มหมดเลย อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปาโท ซึ่งเป็นปฏิจจสมุปบาท อิทัปปัจจยตาอย่างนี้ก็มี
ทว่าเราจะแยกควบคุมปฏิจจสมุปบาทเต็มสายที่ตั้งต้นมาจากอวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป อายตนะนี่ ก็ควบคุมได้ ควบคุมอวิชชาก็คืออย่าให้มันโง่ ก็ศึกษาไว้ให้มันพอ ศึกษาให้มันมาก ศึกษาให้มันถูกต้อง มันก็ควบคุมไม่ให้เกิดอวิชชา ถ้าเมื่อไม่มีอวิชชา มีวิชชา มีปัญญาอยู่ มันก็ไม่ปรุงแต่ง ก็เท่ากับควบคุมสังขารได้ ควบคุมสังขารได้ มันก็ควบคุมวิญญาณ วิญญาณทางอายตนะนี่ได้ ก็ควบคุมนามรูปได้ตามลำดับมา ถ้าตั้งต้นที่อายตนะก็ควบคุมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจมาเลยเอากันถึงอวิชชาต้นดึกดำบรรพ์ก็ควบคุมอวิชชามาเลย ถ้าจะควบคุมเต็มสายอันยาวยืดก็น่าจะควบคุมตั้งแต่อายตนะมาก็ได้ มันก็เรียกว่าควบคุมปฏิจจสมุปบาทด้วยกันทั้งนั้น นี่เรียกว่าควบคุมปฏิจจสมุปบาท มันจะควบคุมไปได้ถึงธาตุแหละถ้าเรามีวิชชาปัญญา มันจะไม่เกิดการปรุงแต่งอย่างโง่เขลา แต่นี่เราได้ถือแล้วว่ามันไม่ได้อยู่ในวิสัย ธาตุมันก็ปรุงแต่งของมันเอง แต่พอมาถึงอายตนะนี่ฉันจะควบคุมแก จะควบคุมขันธ์ไม่ให้ถูกยึดถือ ควบคุมปฏิจจสมุปบาทไม่ให้ถูกยึดถือ แม้แต่อาการใดอาการหนึ่งก็ไม่โง่ว่าเป็นตัวกูหรือเป็นของกู เช่น เวทนาเกิดขึ้นก็เวทนา เวทนาตามธรรมชาติ ตามความรู้สึกของระบบประสาท ไม่ใช่ตัวกูเป็นผู้รู้สึกเวทนาหรือตัณหาอุปาทาน นี่คือชีวิตชนิดที่ไม่มีตัวกู มีแต่ธาตุตามธรรมชาติเป็นไป ไม่มีความทุกข์ไม่มีความทุกข์ คำนี้เป็นคำที่แปลกดี ถ้าจำไว้ได้หรือเข้าใจได้ก็จะมีประโยชน์มาก คือตัวตนซึ่งมิใช่ตัวตน พูดหยาบคายหน่อยก็ตัวกูซึ่งมิใช่ตัวกู ตัวกูตัวตนของธรรมชาติ ของธรรมชาติ ไม่ใช่ของตัวกูหรือของตัวตน แต่อวิชชามันโง่หรือคนมันโง่มันเอาเป็นตัวตนเป็นของตนไปเสียหมด ขันธ์ทั้ง ๕ แต่ละอย่างก็เป็นตัวตน ปฏิจจสมุปบาทแต่ละอาการก็เป็นตัวตน ตัวตน มีความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาในจิตแล้วมันก็เกิดตัวตนเป็นผู้รู้สึก เป็นผู้เสวย เป็นผู้ได้รับประโยชน์เสียประโยชน์เสีย เป็นตัวตนไปหมด
ทีนี้ก็มาถึงสิ่งสุดท้ายคือ “ควบคุมความทุกข์” ควบคุมความทุกข์ ก็อย่าให้มันเกิดทุกข์ มีคำที่กำกวมอยู่คือคำว่า “ชาติ” ชาติ ความเกิดชาติแปลว่าความเกิด ในอริยสัจ ๔ พระพุทธเจ้าตรัสว่าชาติเป็นตัวความทุกข์ และก็เป็นตัวความทุกข์ ชาติปิ ทุกขา ชะราปิ ทุกขา มะระณัมปิ ทุกขัง ในเรื่องอริยสัจสิ่งที่เรียกว่า ชาติ นั่นเป็นตัวความทุกข์ พอมาถึงเรื่องปฏิจจสมุปบาทพระพุทธเจ้าตรัสว่า ชาติปัจจะยา ชะรามะระณัง โสกะ ชาติกลายเป็นปัจจัยแห่งความทุกข์ คนโง่ก็จะคิดว่า พระพุทธเจ้าพูดอะไรไม่อยู่กับร่องกับรอย เดี๋ยวก็ชาติเป็นทุกข์ เดี๋ยวก็ชาติเป็นปัจจัยแห่งความทุกข์ นั่นก็เพราะพูดในความมุ่งหมายอย่างหนึ่ง ชาตินั่นมันเป็นตัวผล เป็นตัวผล มันก็เป็นตัวความทุกข์ เมื่อมันเป็นตัวเหตุมันก็เป็นเหตุแห่งความทุกข์ อย่าไปเข้าใจผิดหาว่าพระพุทธเจ้าพูดอะไรไม่อยู่กับร่องกับรอย เดี๋ยวชาติเป็นทุกข์ เดี๋ยวชาติเป็นปัจจัยแห่งทุกข์ ถ้ามองดูที่ตัวชาติที่เป็นผลที่เกิดอยู่เป็นตัวทุกข์ ถ้ามองที่เหตุเพราะมีชาติ เพราะมีตัวกูตัวกู อุปาทานมีตัวกูเกิดขึ้น มันจึงไปคว้าเอาทุกอย่างมาเป็นของกู ชาติในความหมายนี้นั้นมันก็เป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์ ชาติเกิดจากท้องแม่เป็นตัวทุกข์ แต่ถ้าชาติเกิดทางอุปาทานมันเป็นปัจจัยหรือเป็นโอกาสให้เกิดความทุกข์ ดังนั้น เราจึงจัดการกับสิ่งที่เรียกว่า ชาติ เกิดจากท้องแม่หรือเกิดจากอุปาทาน เพียงเกิดจากท้องแม่ยังไม่สำเร็จประโยชน์ยังไม่เต็มตามความหมายจนกว่าจะมีอุปาทานเกิดแห่งอุปาทานว่าตัวกู จึงจะมีความหมายเต็ม เด็กคลอดออกมาจากท้องแม่มีชาติแต่เพียงร่างกาย ยังไม่สมบูรณ์ แต่พอเด็กนั้นรู้จักคิดนึกว่าเป็นตัวกูเป็นของกูนี่เรียกว่าชาติทางอุปาทานได้เกิดขึ้นแล้วนี่สมบูรณ์ นี่เรียกว่าชาติโดยสมบูรณ์ต่อด้วยเมื่อมีรู้สึกทางอุปาทานทางจิตใจว่า ตัวกู ตัวกู คำว่า ชาติทางวัตถุ เพียงแต่คลอดจากท้องแม่ก็เรียกว่าชาติ ชาติทางจิตใจก็มีตัวกูตัวกูเกิดขึ้นเป็นความโง่อยู่ในจิตใจจึงจะเรียกว่าชาติโดยสมบูรณ์ แล้วก็ควบคุมอย่าให้เกิดชาติคือความโง่นี้ขึ้นมา มันก็ไม่เกิดความทุกข์ เพราะมันไม่มีปัจจัยแห่งความทุกข์ ไม่มีชาติซึ่งเป็นปัจจัยแห่งความทุกข์ มีแต่ชาติทีเป็นผลเกิดมาจากท้องแม่ อันนั้นก็ไม่เท่าไหร่ที่เดียวพอแล้ว เรื่องทีเดียวเสร็จแล้ว แต่ว่าชาติที่เกิดมาจากอุปาทานนี้เกิดวันละกี่ครั้ง ร้อยครั้ง กี่พันครั้ง เกิดทุกวัน ทุกวัน จนกว่าจะตาย ไม่ไหว มีชาติอย่างนี้มันตัวทุกข์แท้จริงแล้วมีวันละมากๆ เกิดจากท้องแม่ทีเดียวแล้วก็เลิกกันจนกว่าจะเข้าโลง
เราจะควบคุมชีวิตและควบคุมสิ่งที่เรียกว่า ชาติ ให้มันถูกต้อง ถ้ามีอุปาทานขึ้นมาเป็นตัวตน มันก็เป็นทุกข์ ไม่มีอุปาทานมันก็ไม่มีตัวทุกข์ ถ้ามีอุปาทานมันก็จะคิดว่าเป็นอะไร เป็นอะไร เป็นภพภาวะ เป็นภพ ฉันเป็นอะไร ฉันเป็นผู้ชาย ฉันเป็นผู้หญิง ฉันเป็นนาย ฉันเป็นบ่าว ฉันเป็นลูกจ้าง ฉันเป็นนายจ้าง นี่เรียกว่า ชาติ ชาติโดยอุปาทาน ฉันเป็นผัว ฉันเป็นเมีย ฉันเป็นอะไร นี่ชาติโดยอุปาทานอย่างนี้เกิดกันนับไม่หวาดไหวเลยแต่ละวันๆ จนนับได้หมื่นชาติแสนชาติแล้วกว่าจะตาย เอาไว้ใช้สำหรับว่าต้องเกิดอีกแสนชาติ หมื่นชาติ แสนชาติจึงจะนิพพานก็ได้เหมือนกัน ก็ดีเหมือนกัน
เราจะควบคุมความรู้สึกว่าตัวกูว่าของกู อย่าให้มันเกิดขึ้นมา เกิดขึ้นมาเมื่อไหร่กัดเจ้าของเมื่อนั้น ถูกกัดหลายๆหนเข้ามันเจ็บสิมันไม่กล้าโง่ให้กัด ป้องกันไว้ได้ด้วย “สติ” สติ พอมีสติก็ไม่โง่ว่าตัวกูไม่โง่ว่าของกู ฉะนั้นถ้าฝึกอานาปานสติได้สำเร็จเหมือนที่ตั้งใจฝึกนี่ ถ้าฝึกอานาปานสติได้สำเร็จก็จะมีสติ มากพอ มากพอ ที่จะไม่ไปโง่ยึดถือนั้นนี่ว่าเป็นตัวตนเป็นของตน และมีปัญญาศึกษาเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตถาตา สุญญตาไว้เพียงพอ มันก็ไม่โง่ว่าเป็นตัวตนของตน คือสติมันไปเอาปัญญาคือความรู้ที่ถูกต้องมาต่อต้านอารมณ์ที่เข้ามากระทบ มันก็ป้องกันไม่ให้เกิดตัวตนหรือของตน ความรู้เราเรียนไว้มากแต่พอที่จะเผชิญกับเหตุการณ์เอามาอย่างเดียวตรงกับเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้น เหมือนกับเรามีอาวุธครบทุกอย่าง พอเกิดอันตรายก็ต้องใช้อาวุธก็เอามาเฉพาะอย่างที่จะแก้ไขปัญหานั้น หรือเหมือนกับว่าเราในตู้ยามียาครบทุกอย่างแต่พอจะกิน กินอย่างเดียวเท่านั้นแหละ นั่นแหละปัญญามีเอาไว้มากๆ พอมีเรื่องกับอายตนะแล้วสติไปเอาปัญญามาเฉพาะอย่าง ใช้เฉพาะอย่างให้มันตรงกับเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นอย่างนี้เรียกว่า “สัมปชัญญะ” ปัญญาเยอะแยะทั้งหมดเอามาอันเดียวเรียกว่า สัมปชัญญะ แล้วเราจะเล่นงานกับเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้น สัมปชัญญะก็ทำหน้าที่จัดการกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทว่ากำลังจิตมันอ่อน กำลังจิตมันอ่อน มันสู้เหตุการณ์ไม่ไหวก็เพิ่มสมาธิลงไปเพราะเราฝึกความเป็นสมาธิไว้อย่างเพียงพอเหมือนกัน เพิ่มกำลังให้แก่สมาธิ แล้วสัมปชัญญะก็สามารถต่อสู้กับเหตุการณ์แล้วก็ชนะๆๆ
นี่เรามีเทคนิคที่จะจัดการควบคุมความทุกข์ว่า มีสติ เอาปัญญามาเป็นสัมปชัญญะ แล้วก็เอาสมาธิมาให้กำลังแก่สัมปชัญญะ สัมปชัญญะก็ดี ปัญญาก็ดี มันเป็นแต่เพียงความคม ความคม ความคมนั้น ถ้าไม่มีน้ำหนักมันไม่ตัด คุณจะมองเห็นชัดๆว่ามันจะคมยิ่งว่ามีดโกน แต่ถ้าไม่มีน้ำหนักที่จะกดลงไปมันก็ไม่ตัด เป็นมันเปล่าๆ ปัญญาแม้จะคมอย่างไร ถ้าไม่มีน้ำหนักของสมาธิมาช่วยกดลงไปมันก็ไม่ตัด เราจึงฝึกสมาธิ ถ้าฝึกอานาปานสติตามแบบที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ที่เรามาใช้เป็นหลักปฏิบัติ มันจะเกิดธรรมะครบหมดเลย อานาปานสติอย่างเดียวจะเกิดสติ เกิดปัญญา เกิดสัมปชัญญะ เกิดสมาธิ และเกิดอย่างอื่นๆอีกมากมายครบถ้วนพอใช้ ขอให้สนใจฝึกอานาปานสติก็จะได้ธรรมะนี้มาเพียงพอสำหรับควบคุมความทุกข์ที่ผลุนพลันออกมาเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ๔เกลอนี้ สติ ปัญญา สัมปชัญญะ สมาธินี่ ฝึกไว้ให้คล่องแคล่วๆเหมือนกับคู่มือที่คล่องแคล่ว มันก็จะกำจัดได้
เรามีธรรมะ ธรรมะ อยู่ ๒ ประเภทนี้คือ ธรรมะที่เป็นตัวประธาน ประธาน ทำหน้าที่ ทำหน้าที่ และก็ธรรมะที่เป็นอุปกรณ์ อุปกรณ์ คือช่วยเหลือ ช่วยเหลือเป็นอุปกรณ์ เหมือนกับกองทัพ กองทัพนี่เราต้องมีตัวทหารที่จะรบ แล้วก็ต้องมีพลาธิการที่จะช่วยให้ทหารมันรบได้ นั่นมันก็จะมี ๒ ชั้นอย่างนั้น ธรรมะเหมือนกันก็จะมีธรรมะโดยตรง เช่น สติปัฏฐาน ธรรมะโดยตรง และก็มีธรรมะช่วยเหลือ เช่น อิทธิบาท ๔ เป็นธรรมะอุปกรณ์ ธรรมะช่วยเหลือ พละ ๕ อินทรีย์ ๕ก็อยู่ในลักษณะเป็นธรรมะอุปกรณ์ ตัวจริงที่มันจะรบกับฆ่าศึกก็คือ สติปัฏฐาน ก็จะมีธรรมะหัวหน้าที่จะรบฆ่าศึก มีธรรมะอุปกรณ์ที่จะช่วยให้รบสำเร็จได้โดยง่าย ธรรมะนี้มีครบแล้วมันก็ชนะๆๆ ชนะกิเลสคือฆ่าศึก
เมื่อเราคิดผิด ทำผิด ทำโง่ นี่เรียกว่ากิเลสทางกายทางใจ เป็นเรื่องกิเลสทางโลภะ โทสะ โมหะ ๓ อย่างนี้เกิดขึ้นแล้วเรียกว่ากิเลส พอมีกิเลสเสร็จไปแล้วมันก็มีความเคยชินที่จะเป็นอย่างนั้นอีกเรียกว่า “อนุสัย” อนุสัย ความเคยชิน สะสมไว้มาก สะสมไว้มาก มันก็จะกลับออกมาอีกเป็น “อสาวะ” กิเลสทีแรกเรียกว่า กิเลส กิเลสที่เป็นความเคยชินเก็บไว้เรียกว่า อนุสัย เมื่ออนุสัยมากเข้ามันก็ทะลักออกมาเรียกว่า อาสวะ เราจะต้องจัดการกับกิเลสกับอาสวะ กับอนุสัยกับอาสวะ จัดการกับกิเลส จัดการกับความเคยชินแห่งกิเลส จัดการกับที่กิเลสมันจะไหลกลับออกมา ถ้าเราทำสติปัฏฐานถึงที่สุด เราก็จะป้องกันไม่ให้เกิดกิเลส หรือถ้าเกิดกิเลสแล้วมีอนุสัยเก็บไว้ มันก็ทำลายอนุสัย ทำลายอนุสัย ทำลายอนุสัย บรรลุมรรคผล เมื่อไม่มีอนุสัยแล้วก็ไม่มีอาสวะอะไรจะเหลือกลับออกมา เรียกว่า สิ้นอาสวะเป็นพระอรหันต์ เรื่องควบคุมชีวิตมันก็จบ ไม่มีกิเลส ไม่มีอาสวะ ไม่มีกิเลส ไม่มีอนุสัย ไม่มีอาสวะ กิเลสความเคยชินแห่งกิเลส บางทีมันจะกลับออกมาอีกเมื่อมีโอกาส เมื่อมีอารมณ์ เพราะอนุสัยมันเก็บไว้มากนัก เราควบคุมกิเลส ควบคุมอนุสัย ควบคุมอาสวะ สิ้นอาสวะปัญหาก็หมดเป็นพระอรหันต์ นั่นชีวิตหมดปัญหา ชีวิตหมดปัญหา ชีวิตสมบูรณ์ ชีวิตที่หมดปัญหา จะเอาหรือไม่เอาก็ตามใจ เรื่องมันมีอย่างนี้ ต่อรองกันไม่ได้อีกแล้ว เรื่องมันมีอยู่เท่านี้ คุณจะเอาหรือไม่เอาก็ตามใจคุณ แต่ว่าถ้าจะเอาก็แล้วมันก็ต้องมีอย่างนี้ นี้เรียกว่า ควบคุมกระแสแห่งชีวิตให้มันเป็นไปแต่ในทางที่ไม่เป็นทุกข์ ไม่เป็นทุกข์
มี ๒ เรื่องคือ เรื่องความทุกข์กับความไม่มีทุกข์ มี ๒ เรื่องเท่านั้น ทำให้ไม่มีความทุกข์ ดับทุกข์กันไป เรียกว่าทำไม่ให้เกิดความทุกข์ อย่าไปรบความทุกข์ไว้ก่อน ทำอย่าให้เกิดความทุกข์ ตัดต้นเหตุของมันเสีย พระพุทธเจ้าท่านใช้คำว่า “ดับทุกข์” แต่พออะไรๆ ก็กลายเป็นดับตัณหา ไม่ใช่ดับทุกข์ ดับทุกข์ก็ไปดับเหตุของความทุกข์ อย่าไปสู้กับมันกิเลส อย่าไปสู้กับความทุกข์ ไปจัดการกับต้นเหตุแห่งความทุกข์ เหมือนจะดับไฟ ดับไฟ อย่าไปดับที่ไฟ มันจะไหม้เอา ดับที่ต้นเหตุของไฟ เช่น เอาน้ำสาดเข้าไป เชื้อเพลิงมันก็ไม่ทำให้เกิดไฟ เกิดไม่ได้ นี่เรียกว่าจะดับทุกข์ ก็ต้องดับที่ต้นเหตุแห่งความทุกข์ ถ้าไปดับที่ปลายเหตุมันก็จะเลอะเทอะแล้วก็ไม่สำเร็จ มันก็จะโง่เป็นหมา มันคำหยาบไปหน่อยนะแต่ว่าพูดแล้วมันเข้าใจได้ดี มันโง่เป็นหมา คือหมามันจะไปดับที่ปลายเหตุ คุณลองเอาไม้แหย่หมาสิ แหย่หมา หมามันจะกัดที่ปลายไม้ แต่ถ้าคุณลองไปแหย่เสือ แหย่ราชสีห์ มันไม่กัดที่ปลายมา มันจะกระโจนเข้าไปหาคนที่ถือไม้ ราชสีห์หรือเสือมันไปจัดการกับต้นเหตุ โง่เป็นหมามันก็จัดการที่ปลายเหตุ ไม่มีจุดจบ เพราะฉะนั้นเราต้องไปจัดการที่ต้นเหตุ อย่าไปจัดการที่ปลายเหตุ อย่าไปจัดการที่ผล ไปจัดการที่เหตุดีกว่า นั้นจะควบคุมชีวิตให้เป็นไปอย่างถูกต้อง
จงจัดการกับต้นเหตุแห่งความไม่ถูกต้องอย่างที่กล่าวมาแล้ว ควบคุมธาตุตามธรรมชาติ ควบคุมอายตนะ ควบคุมเบญจขันธ์ ควบคุมปฏิจจสมุปบาท ควบคุมความทุกข์ ให้ถูกต้องมาตามลำดับตามลำดับ นี่ก็เรียกว่า ประสบความสำเร็จในการควบคุมกระแสแห่งชีวิต กระแสแห่งชีวิตได้รับการควบคุมอย่างถูกต้องแล้ว มันก็ไหลไปสู่พระนิพพาน มิฉะนั้นมันจะไหลไปสู่ความทุกข์ เมื่อควบคุมมันไม่ถูกต้อง เมื่อควบคุมมันถูกต้องแล้วมันไหลไปสู่พระนิพพาน ก็เรียกว่า โสตะ โสตะ โสตาปันนะก็โสดาบัน พูดถึงกระแสแห่งพระนิพพาน คนธรรมดามีแต่กระแสแห่งความทุกข์ พระพุทธเจ้ามีกระแสแห่งพระนิพพาน นี่เรียกว่าควบคุมกระแส อย่าให้ไปทางทุกข์ ให้ไปตามกระแสสิ้นสุดแห่งความทุกข์
นี่วันนี้เราพูดกันเรื่องควบคุมกระแสแห่งชีวิต ซึ่งเราจะมีชีวิตที่ถูกต้องโดยพื้นฐานสำหรับที่จะไม่มีความทุกข์อีกต่อไป ขอให้การได้บวชได้เรียนของคุณทุๆองค์นี่ได้มีโอกาสศึกษา ศึกษาชีวิตตามหลักของธรรมะ ซึ่งไม่มีมหาวิทยาลัยไหนในโลกสอนนอกจากมหาวิทยาลัยของพระพุทธเจ้า ตัวร่างกายตัวร่างกายนี่เป็นมหาวิทยาลัย เรียนในมหาวิทยาลัยนี้ ไม่ต้องไปเรียนที่เมืองนอก ถ้าจะเรียนเรื่องดับทุกข์ เอาตัวชีวิตนั่นแหละเป็นโรงเรียน เป็นตัวอะไรเสร็จหมด เรียนกันที่นั่น สอบไล่กันที่นั่น รู้กันที่นั่น ดับทุกข์กันที่นั่น จึงพูดสั้นๆว่า ควบคุมกระแสแห่งชีวิตที่จะไม่เกิดความทุกข์ได้อีกต่อไป อีกต่อไป ขอให้ทุกๆองค์ก้าวหน้า ก้าวหน้า ก้าวหน้าในเรื่องนี้ไปตามลำดับ ไปตามลำดับ ถ้าทำให้ดี ๓ เดือนบวช ๓ เดือนก็ทำให้รู้อะไรได้มากเหมือนกัน พอจะใช้เป็นเครื่องมือควบคุมชีวิตในอนาคต ขอให้ประสบความสำเร็จด้วยกันจนทุกองค์ ขอยุติการบรรยายด้วยการสมควรแก่เวลา ขอยุติการบรรยาย