แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้เราจะได้พูดกันถึงเรื่องการสร้างวิเวก สร้างวิเวกตามที่เราต้องการ ที่ไหน เมื่อไร หรือเท่าไรก็ได้ตามที่เราต้องการ ตัวอย่างสมัยนี้ เมื่อเราต้องการความเย็น เราก็มีเครื่องทำความเย็น เราก็เข้าไปในห้องเย็น เราก็ได้วิเวกทางกายตามที่เราต้องการ เมื่อไร ที่ไหน เท่าไรก็ได้
เดี๋ยวนี้เป็นเรื่องวิเวกทางจิต เรื่องวิเวกทางจิต มันก็ ไม่ ห้องเย็นไม่อาจจะช่วยได้ เราก็มีวิธีสร้างของเราในทางจิตใจโดยวิธีการเฉพาะที่เรามีอยู่ นั่นก็คือเครื่องจักรที่เราเรียกว่า อานาปานสติภาวนา ที่ท่านทั้งหลายกำลังฝึกกำลังสร้างให้มีที่เซ็นเตอร์ของเรา ถ้าท่านประสบความสำเร็จในการปฏิบัติอานาปานสติก็เป็นอันว่าท่านต้องการวิเวกเมื่อไรก็ได้ ที่ไหนก็ได้ เท่าไรก็ได้ โดยๆๆๆไม่ยากเลย แล้วท่านจะต้องนึกถึงข้อที่ว่า ห้องเย็นนั่นเราจะใช้เพื่อหาความสุขก็ได้ แต่เรายังใช้อย่างอื่นได้อีก เป็นที่เก็บรักษาสิ่งของ วัตถุ หยุก อ่า, หยูกยาอะไรก็ได้ มันรักษาไว้โดยความเย็น นี่เรียกว่าประโยชน์ที่มันแปลกออกไปหรือมันแฝงออกไป
สิ่งที่เรียกว่าวิเวก วิเวกนี่ก็เหมือนกัน เราใช้เป็นเวลาที่เราหาความสุขโดยตรงอย่างนี้ก็ได้ แต่เราก็ยังอาจจะใช้ให้มีประโยชน์สูงสุดอย่างอื่นก็ได้ คือเมื่อจิตมีวิเวก จิตนั้นเหมาะที่จะทำหน้าที่คิดนึก พิจารณา ศึกษาอะไรอีกหลายๆอย่าง โดยเฉพาะไอ้สิ่งที่เรียกว่าวิปัสสนา วิปัสสนาที่มันสูงๆๆขึ้นไปนี่ ไม่ใช่ว่าให้แต่ความสุขอย่างเดียว ใช้เป็นโอกาสสำหรับศึกษาสิ่งที่สูงๆยิ่งขึ้นไปจนกว่าจะถึงที่สุดก็ได้ เมื่อพูดแล้วจะน่าหัวเราะ คือเราอาจจะพูดได้ว่าเราสร้างเมืองพระเจ้า สร้างสวรรค์ของพระเจ้าเพื่อจะอยู่ด้วยกันก็ได้
เมื่อมีวิเวกมันก็สร้างไอ้ธรรมะที่สูงขึ้นไปจนถึงนิพพาน หรือว่าสร้างธรรมะที่เป็นเครื่องมือสูงสุดที่เรียกว่า อตัมมยตา สร้างวิเวกได้แล้วเราก็สร้างธรรมะที่สูงขึ้นไปจนถึงนิพพาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีธรรมะที่เรียกว่า อตัมมยตา อยากจะขอร้องเป็นพิเศษให้ท่านสนใจคำว่า อตัมมยตา อตัมมยตา เป็นภาษาบาลีดีกว่า ดีกว่าภาษาอังกฤษ ท่านเข้าใจคำ อ่า, ท่านคุ้นเคยน่ะ ท่านคุ้นเคยกับคำว่า Buddhism, Buddhism นี่เท่าไร เดี๋ยวนี้อยากจะขอให้ท่านคุ้นเคย คุ้นเคยกับคำว่า อตัมมยตา มากเท่ากันแหละ
อตัมมยตานี่มันเป็นคำที่แปลกมากๆน่ะ ค่อยๆศึกษา ค่อยๆศึกษา จะค่อยรู้ ค่อยๆรู้ความแปลกของมัน หมายถึงเครื่องมือที่จะทำให้บรรลุนิพพานก็ได้ แล้วหมายถึงตัวนิพพานเองก็ยังได้ หมายถึงความสุขที่จะได้รับจากนิพพานก็ได้นี้ เราจะได้วิจารณ์กันต่อไป
สิ่งที่เรียกว่าวิเวกๆนี่จะยังไม่ถึงที่สุดถ้าหากว่ายังไม่ถึงอตัมมยตา ต่อเมื่อมีหรือถึงอตัมมยตา สิ่งที่เรียกว่าวิเวกๆจึงจะถึงที่สุด อตัมมยตาคือภาวะของจิตที่มีความคงที่ๆจนอะไรมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ไม่มีอะไรมาเปลี่ยนแปลงจิตได้ จิตถึงความคงที่ๆถึงขนาดนี้ เราเรียกว่ามันมีอตัมมยตา เมื่ออะไรๆปรุงแต่งจิตไม่ได้ อะไรปรุงแต่งจิตไม่ได้ แตะต้องไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้สักอย่างหนึ่งก็ นั่นแหละ วิเวกแหละ วิเวก วิเวกถึงที่สุดเมื่อนั้นเอง
ท่านใช้คำบาลีว่าอตัมมยตาเป็นดีที่สุด แล้วก็หาคำแปลในภาษาอังกฤษเอาเอง Spiritual Equilibrium, Unconditionability of the Mind นี้แล้วแต่ท่านจะชอบคำไหน ท่านวิจารณ์ วิจารณ์ แล้วท่านจะพบคำที่ท่านชอบใจ แล้วก็จำไว้ว่านี้เป็นความหมาย เป็นความหมายของคำว่าอตัมมยตา
จะขอเวลาพูดซ้ำถึงอุปมา อุปมาของอตัมมยตาอีกครั้งหนึ่งว่า ภูเขา ภูเขาที่ใหญ่มากในเอเชีย ในยุโรป ในอเมริกา ภูเขาเหล่านั้นมันยังหวั่นไหวได้ มันยังสั่นได้ในเมื่อแผ่นดินมันไหว แต่ถ้าจิตนี้มีอตัมมยตาแล้วไม่หวั่นไหว จักรวาลหรือ Universe ไหวนี่ จิตก็ไม่ไหวสักนิดหนึ่งนี่ อุปมาของอตัมมยตา
ภูเขานั่นเป็นวัตถุเป็นสิ่งของ เดี๋ยวนี้เรามามองดูถึงสิ่งที่เรียกว่า จิต จิตกันบ้าง หญิงสาวคนหนึ่งเขามีอตัมมยตา มีจิตเป็นอตัมมยตานี่ หญิงสาวคนนี้สวยที่สุด แต่เขามีอตัมมยตา ครั้นชายหนุ่มที่เป็นเจ้าชู้ รูปงาม ฉลาดอะไรสักกี่ร้อยคนเข้ามาเกี้ยว คือมาชักจูงจิตใจของเขาให้หลงรักไม่ได้ เพราะว่าเขามีอตัมมยตา หรือว่าชายหนุ่มคนหนึ่ง ชายหนุ่มรูปงามคนหนึ่ง เขามีอตัมมยตา อตัมมยตา ให้ไปเอานางฟ้าทั้งหมด เอานางงามจักรวาลในโลกทั้งหมดมา ก็จะมาทำให้เขาหลงรักไม่ได้ คือเกี้ยวเขาไม่ได้ พาตัวเขาไปไม่ได้ เพราะว่าชายหนุ่มคนนั้นมันมีอตัมมยตา
จิตที่มีอตัมมยตาย่อมอยู่เหนืออิทธิพลของความเป็นบวกหรือความเป็นลบโดยทุกๆประการ ดังนั้นจะมาทำ จะมีอะไรมาทำให้เขารักหรือเกลียดไม่ได้โดยประการทั้งปวง จิตที่อยู่เหนืออิทธิพลของความเป็นบวกและความเป็นลบนั่นน่ะคือ วิเวกอย่างยิ่ง วิเวกอย่างยิ่ง ถ้าว่ามันยังมีการปรุงแต่งได้ ดึงไปได้โดยความเป็นบวกหรือความเป็นลบ มันไม่ใช่วิเวกเลย สวรรค์หรือ Paradise ของพระเจ้าต้องเป็นอย่างนี้ ต้องเป็นวิเวกอย่างนี้ ไม่ใช่เต็มไปด้วยกามารมณ์หรือความสนุกสนานอย่างอื่นที่คนเป็นอันมากคาดฝันกัน เมื่อท่านยึดถือเอาความหมายของอตัมมยตา ท่านก็จงถือเอาความหมายของคำว่าวิเวกๆถึงที่สุดอย่างนี้ ท่านก็คำนวณดูเองว่าจะมีเสรีภาพหรือความสุขอะไรที่มันยิ่งไปกว่าวิเวกของอตัมมยตา
เมื่อเราได้พูดถึงจุดหมายปลายทางพอสมควรแล้ว บัดนี้เราก็จะพูดถึงวิธีการที่จะเข้าถึงจุดหมายปลายทางอันนั้นที่เราเรียกว่า อานาปานสติภาวนา ผู้สอนที่เซ็นเตอร์ก็จะได้สอนให้ท่านรู้จักอานาปานสติภาวนา ซึ่งโดยหลักใหญ่ๆก็แบ่งออกเป็น ๔ ขั้นตอนดังที่กล่าว มี ๔ ขั้นตอน มี ๔ ลำดับก็คือ
ขั้นแรกจะต้องจัดการกับร่างกาย ก็คือว่าควบคุมมันให้ได้ ควบคุมมันให้ได้ แล้วก็ใช้ให้มันเป็นประโยชน์ที่สุด มากที่สุดเท่าที่จะมากได้นี่ โดยใจความเป็นอย่างนี้ เกี่ยวกับร่างกาย กาย กายะ คำนี้หมายถึงลมหายใจก็ได้ และหมายถึงสิ่งที่เนื่องกันอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือร่างกาย ร่างกายนี้ก็ได้ นี่เราจึงมีกายใน ๒ ความหมาย คือกายลมหายใจ กับกายเนื้อหนัง เนื้อหนังของเรานี้ ๒ กายนี้ต้องรู้จักให้เป็นอย่างดี
ที่จริงคำว่ากายะ กายะ ในภาษาบาลีนั่นน่ะ ไม่ได้แปลว่า Body หรอก มันไม่ได้แปลว่า Body แต่เราเอามาใช้อย่างว่า Body คำว่ากายะ กายะ แปลว่ากลุ่มหรือหมู่ หรือสิ่งหลายๆสิ่งรวมกันเป็นกลุ่มเดียวนี่ คำนั้นแหละคือคำว่า กายะ ลมหายใจก็เป็นกลุ่มหรือหมู่ของอะไรบางอย่าง ร่างกายนี้ก็เป็นกลุ่มหรือหมู่ของอะไรบางอย่าง เลยเรียกมันว่า กายะ กายะ
บทเรียนข้อที่ ๑ และข้อที่ ๒ เราศึกษาให้รู้จักธรรมชาติ ธรรมชาติของลมหายใจ นั่นคือเป็นอย่างสั้นและมันถึงเป็นอย่างยาว ลมหายใจ เมื่อมีการหายใจนั้นน่ะมันมีลักษณะเป็นอย่างไร แล้วมันให้เกิดผลอะไรบ้าง มันมีอิทธิพล อิทธิพลต่อจิตใจอย่างไร ต่อร่างกายอย่างไร ศึกษาให้ละเอียด สังเกตให้ละเอียดว่า ลมหายใจนี้มีอิทธิพลต่อชีวิตอย่างไร
บางทีเราจะใช้คำว่า Nature เพียงคำเดียวไม่พอ เราอาจจะต้องใช้คำว่า Nature of Nature of Nature of Nature of Nature of Nature มากๆอย่างนั้นแหละจึงจะรู้จักลมหายใจอย่างถึงที่สุดจริงๆ ไม่มีใครอาจจะสอนท่านได้ว่า Nature of Nature นั้นเป็นอย่างไร ท่านต้องหายใจแล้วท่านต้องศึกษามันโดยตรงจนรู้ว่าไอ้ธรรมชาติอันแท้จริงของลมหายใจนั้นเป็นอย่างไรโดยกว้างขวาง มีลักษณะอย่างไร มีอิทธิพลอย่างไร จำเป็นอย่างไร เกี่ยวข้องกับชีวิตอย่างไร เรียกว่า Nature ของมันโดยกว้างขวาง
เมื่อท่านประสบความสำเร็จในการรู้จัก Nature ของลมหายใจถึงที่สุดแล้ว ท่านก็ค่อยๆมองต่อไปจน ไปจนเห็นว่า ลมหายใจน่ะ กายลมน่ะ มันเนื่องกันอยู่กับกายเนื้อ กายเนื้อคือร่างกายนี่มันเนื่องกันอยู่ มันเนื่องกันอยู่อย่างยิ่ง มันไปด้วยกัน มันมีอยู่ด้วยกัน มันปรุงแต่งกันอยู่ด้วยกัน มันขึ้นลง มันไปด้วยกัน นี่เรียกว่าความเนื่องกันของไอ้กายทั้ง ๒ กายนี่
เมื่อมันเป็นสิ่งที่เนื่อง เนื่องกันอยู่อย่างยิ่งอย่างนี้ มันก็มีข้อเท็จจริงว่าเมื่อเราทำกับสิ่งนี้มันก็ถึงสิ่งนี้ด้วย หรือว่าเราทำกับสิ่งนี้มันก็ถึงสิ่งนี้ด้วย ทีนี้เราก็สามารถที่จะบังคับ Flesh Body นี้โดยทางลมหายใจเพราะมันเนื่องกันอยู่ ไม่มีใครบังคับร่างกายโดยตรงได้หรอก แต่เราบังคับร่างกายโดยอ้อมได้คือเราบังคับทางลมหายใจ ลมหายใจหยาบ กายนี้ก็หยาบ ลมหายใจละเอียด กายนี้ก็ละเอียด ลมหายใจฟุ้งซ่าน กายก็ฟุ้งซ่าน ลมหายใจระงับๆ ไอ้กายนี้ก็ระงับๆ นี่มันเป็นความลับของธรรมชาติ เราบังคับกายนี้ได้โดยทางลมหายใจ
ท่านลองดูได้ด้วยตนเองนี่ ลองหายใจละเอียดๆ ประณีตๆ ระงับๆลง ร่างกายนี้ก็จะระงับลงๆ อย่างนี้เราก็เรียกว่า วิเวก วิเวก ได้เหมือนกัน เราได้พูดกันตั้งแต่วันแรกแล้วว่า วิเวก วิเวกนี่ is the Resting Place of Struggling Soul เดี๋ยวนี้ไอ้ Soul ที่ Struggling น่ะมันเริ่มหยุด มันเริ่มระงับ มันเริ่มระงับด้วยอำนาจของวิเวก วิเวก ท่านไม่ต้องเชื่อใคร ไม่ต้องเชื่อใคร ไปทำลมหายใจให้ละเอียด ให้ละเอียดสิ ให้มันเกิดวิเวกขึ้นมาสักประมาณปริมาณหนึ่ง แล้วท่านจะพบว่าไอ้ Struggling Soul นั้นน่ะมันก็เริ่มระงับ
ดังนั้นเราจึงสามารถควบคุม Struggling Soul ที่ไหนก็ได้ เมื่อไรก็ได้ เท่าไรก็ได้ โดยการสร้างวิเวกขึ้นมาทางลมหายใจ นี่คือห้องเย็น ห้องเย็นที่จิตจะวิ่งเข้าไปหาความสงบ หาความเย็น เราต้องการห้องปรับอากาศเย็นที่นี้ ที่ไหนก็ได้ เมื่อไรก็ได้ เท่าไรก็ได้ ถ้าเราประสบความสำเร็จในการปฏิบัติอานาปานสติแม้เพียง Step ที่ ๑ ที่ ๑ เท่านั้น
พูดอีกทางหนึ่งเราจะพูดว่า เราเดี๋ยวนี้มีลมหายใจ Almighty มีอำนาจสูงสุด มีลมหายใจที่สูงสุดที่จะสามารถไล่ ไล่ออกไป ไล่ออกไปซึ่งไอ้ความร้อน ความทุกข์ หรือสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาในทางร่างกาย หายใจทีเดียวก็เย็น แล้วก็เป็นสุขนี่ ประโยชน์มีมากถึงอย่างนี้ ในทางที่ตรงกันข้าม ถ้าเราต้องการจะมีความทุกข์ อยากได้ความทุกข์ เรียกมาได้ทันที โดยการหายใจให้ผิด หายใจให้เลว หายใจให้หยาบ เรียกความทุกข์มาทันทีก็ได้ เรียกความสุขมาทันทีก็ได้ด้วยอำนาจของลมหายใจ
ทีนี้ก็เรามาถึงไอ้ Step ที่ ๒ เกี่ยวกับเวทนา เวทนา ท่านสังเกตเอาเองก็ได้ ไม่ๆต้องมีใครสอนน่ะ ว่าสิ่งที่เรียกว่าเวทนา เวทนานั้นน่ะมันมีอิทธิพลอย่างไร ชีวิตนี้มันอยู่ด้วยอิท ใต้อิทธิพลของเวทนา หรือจะเรียกว่าโลกทั้งโลก Universe จักรวาลก็ทั้งจักรวาลน่ะมันอยู่ใต้อิทธิพลของเวทนา มันต้องการสุขเวทนา มันเกลียดทุกขเวทนา แล้วมันหวังอย่างยิ่ง มันหวังอย่างยิ่งที่จะได้เวทนาที่เป็น Positive เราเหนื่อยเกือบตาย เราเที่ยวแสวงหานี่ก็จะเพื่อประโยชน์แก่เวทนาชนิดที่เราต้องการ ไอ้เวทนานี้กำลังมีอิทธิพลเหนือชีวิตทุกชีวิตทั่วไปทั้งโลกน่ะ ศึกษาเอาเองเถอะว่าเวทนานี้มันมีอิทธิพลอย่างไรนี่
ในแง่ดีหรือแง่บวก เราอุตส่าห์เล่าเรียน อุตส่าห์เล่าเรียน เราอุตส่าห์ทำงาน อุตส่าห์ทำงาน เพื่อมีสุขเวทนา เราเที่ยวไปทั่วโลกเพื่อแสวงหาสุขเวทนา พวกฝรั่งมาที่เกาะสมุยทำไม มันมาแสวงหาสุขเวทนา นี่ในแง่บวกมันเป็นอย่างนี้
ทีนี้ในแง่ ทีนี้ในแง่ที่ตรงกันข้ามในแง่ลบ คนที่ฆ่ากันตาย ฆ่ากันตายนี่ จะฆ่ากันทั้งโลก หรือว่าผัวเมียหย่ากัน ผัวเมียหย่ากันนี่มันด้วยเหตุอะไร มันขึ้นอยู่กับเวทนา มันเนื่องอยู่กับเวทนานี่ในแง่ลบ นายทุนก็ต้องการเวทนา ชนกรรมาชีพก็ต้องการเวทนา ประโยชน์มันขัดกันเลยมันทะเลาะกัน มันพูดกันไม่รู้เรื่องเพราะอำนาจของความต้องการเวทนาเท่านั้นแหละ
เวทนามันทำให้เกิดตัณหา ความต้องการอย่างโง่เขลา นี่มันทำให้สัตว์น่ะ สิ่งมีชีวิตวิ่งไปรอบโลก วิ่งไปรอบโลก วิ่งไปรอบโลก ด้วยอำนาจของตัณหาที่มาจากเวทนา นี่คือปัญหาใหญ่เกิดจากเวทนาต่อสิ่งที่มีชีวิต คนก็ดี สัตว์เดรัจฉานก็ดี เป็นอย่างนี้ทั้งนั้น เราจะต้องควบคุมเวทนาให้ได้ อย่าทำให้เกิดความโง่ มีตัณหาที่โง่ อยู่ที่บ้านก็ดี ที่ไหนก็ดี เราจะควบคุมเวทนาให้ได้ อย่าให้มันทำอันตรายเรา ดังนั้นเราจะต้องฝึกอานาปานสติ ควบคุมความรู้สึกที่เรียกว่าเวทนา
เวทนาไม่ว่าฝ่ายบวกหรือฝ่ายลบเป็นปัญหาทั้งนั้นแหละ แต่เวทนาฝ่ายบวกน่ะมันเป็นปัญหามากกว่า เป็นปัญหายุ่งยากมากกว่า มีอิทธิพลมหาศาล จงระวังเวทนาฝ่ายบวกให้ดีๆ เราเป็นทาสเวทนาฝ่ายบวก คือเที่ยวหาๆมามีไว้ รักษาไว้ด้วยความรัก ด้วยความหวัง ด้วยความหวาดกลัว เราก็เป็นทาสเวทนาฝ่ายลบ คือว่าเราต้องกลัว เราต้องต่อสู้ เราต้องแก้ไข เราต้องยุ่งยากลำบาก ก็เรียกว่าเราเป็นทาสแหละทั้งฝ่ายบวกและทั้งฝ่ายลบ แต่เวทนาฝ่ายบวกน่ากลัวกว่า
เมื่อเวทนาฝ่ายบวกมีอิทธิพลมากกว่า มีปัญหามากกว่า ในการศึกษาปฏิบัติอานาปานสติของเรา เราจึงเอามาแต่เฉพาะเวทนาฝ่ายบวกหรือที่เรียกว่า ปีติและความสุข ถ้าเราชนะเวทนาฝ่ายบวกได้แล้วง่ายที่จะชนะเวทนาฝ่ายลบ เรามาจัดการกับเวทนาฝ่ายบวกที่มีอิทธิพลมากมีอะไรมากกันเสียก่อน
เวทนาฝ่ายบวกอันแรกเราเรียกว่า ปีติ ปีติ มันก็ยังมี ๒ ขนาดเลย ที่มันหยาบ ที่มันฟุ้งซ่าน เราก็จะเรียกมันว่าปีติไอ้ชนิด Rapture, Rapture แต่ถ้ามันสงบเงียบหรือเย็นลง เราจะเรียกมันว่า ปีติ ปีตินี่แหละ แต่มันเป็นประเภทไอ้ Contentment หรืออะไรทำนองนี้ ท่านรู้จักสังเกตปีติให้ดีๆว่ามันมีทั้งฝ่ายหยาบหรือกัด มันมีทั้งที่ฝ่ายละเอียดที่ให้วิเวกหรือความเยือกเย็นได้เหมือนกัน
ปีติหนึ่ง ร้อน ยุ่งและกัด ปีติหนึ่ง เย็น หรือหนาว หรือสงบ ชวนไปในทางสบาย ปีติอันหนึ่งดีใจจนเนื้อเต้น ดีใจจนเนื้อเต้น กายสั่น บ้าเลย เป็นบ้าเลย อันหนึ่งสงบเย็นเป็นปรกติ แต่เราต้องควบคุมมันทั้ง ๒ อย่างแหละ อย่าให้มัน Inspire, Stimulate แก่เราเป็นอันขาด เราควบคุมมันทั้ง ๒ ปีติ
ทีนี้อันที่ ๒ เวทนาอันที่ ๒ เราเรียกว่า ความสุข ความสุข ในความหมายความสุขทั่วๆไปนี่ แต่มันก็ยังมีอยู่หลายระดับเหมือนกันแหละ คือหยาบๆก็มี ละเอียดประณีตก็มี ก็ต้องเรียกว่าความสุข ที่จริงไอ้ปีตินั่นแหละ ปีตินั่นแหละ ถ้าควบคุมได้ให้มันรำงับ ให้มันรำงับ ให้มันมีวิเวกขึ้นมาแล้วมันก็เป็นความสุข มาเรียกว่าความสุข นี่คือ Feeling อันหนึ่งที่จะต้องรู้จักว่ามันเป็นนาย เป็นนายของเรา
เราได้พูดกันมาแล้วว่าฝ่ายบวกน่ะ Feeling ฝ่ายบวกน่ะควบคุมยาก ฝ่ายลบยังไม่ยากเท่าไร แต่ถ้าเราควบคุมฝ่ายบวกได้ แน่นอนก็ควบคุมฝ่ายลบได้ ดังนั้นเรามาสนใจควบคุม Feeling ชนิดปีติ และชนิดความสุขกันให้ได้เถอะ มันจะไม่มี Feeling อะไรรบกวนเราอีกต่อไป เราอยู่ในห้องเย็นตลอดเวลา ถ้าเราควบคุมเวทนาไม่ได้ มันก็เกิดตัณหา แล้วตัณหามันก็จูงจมูกเราไปรอบโลกๆๆ ไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อประสบความสำเร็จในอานาปานสติ Step ที่ ๒ เราก็ควบคุมเวทนาได้ เราเป็นอิสระ เรามีวิเวก วิเวก สูงขึ้นมาๆ
ทีนี้เราก็มาถึง Step ที่ ๓ เกี่ยวกับจิต เราจะต้องจัดการกับจิต เราจะต้องรู้จักจิต เราจะต้องควบคุมจิตให้ได้ แล้วเราจะใช้จิตให้มีประโยชน์ที่สุด ในพุทธศาสนาเรามีแต่เรื่องกายกับจิต เราไม่มีสิ่งที่ ๓ ที่เรียกว่า อาตมัน หรือๆ Soul หรืออะไรก็ไม่ทราบ เราไม่มีสิ่งที่ ๓ อย่างพวกฮินดูเขามีสิ่งที่ ๓ เขาก็มีเรื่องมาก มีหน้าที่มากหรือลำบากมาก เรามีแต่กายกับจิต เราควบคุมจิตให้ได้เท่านั้นแหละ เราจะควบคุมได้ทุกสิ่ง
ควบคุมจิตได้คือควบคุมโลกทั้งหมดได้ ช่วยจำคำนี้ไว้ให้ดีๆ ถ้าเราควบคุมจิตไม่ได้เราจะถูกรบกวนด้วยความเป็นบวกและความเป็นลบนี่ไม่มีที่สิ้นสุด เราก็จะมีไอ้ที่เรียกว่า Struggling Soul แต่ถ้าให้พูดอย่างพุทธศาสนาก็เราจะเรียกว่า Struggling จิตมากกว่าจะๆ Struggling Soul เอา Soul ออกไปเสียให้ผู้อื่น เรามีจิตที่กำลังวุ่นวาย กำลังเป็นปัญหา กำลังยุ่งยาก เราควบคุมจิตให้ได้อย่างเดียวพอ
ก่อนแต่ที่เราจะควบคุมมัน เราจะต้องรู้จักมันเสียก่อนว่า มันมีกี่ชนิด มันมีกี่ชนิด ถ้าจะพูดให้ตรงๆกว่านี้มันหยาบคายสักหน่อยนะ มันจะต้องพูดว่า มันบ้าได้กี่ชนิด กี่สิบชนิด กี่ร้อยชนิด จิตนี่จะเป็นวิปลาส แปลกประหลาด ฟุ้งซ่านเป็นบ้าได้กี่ร้อยชนิดนี่รู้จักกันเสียก่อน บางเวลามันมีราคะ บางเวลามันก็ไม่มี บางเวลามันก็มีโทสะ บางเวลามันก็ไม่มี บางเวลามันก็มีโมหะ บางเวลามันก็ไม่มี บางเวลามัน Attach นั่นนี่ แต่บางเวลามันก็ไม่ได้ Attach อะไร มันมีได้กี่อย่างๆนี่ขอให้รู้จักมันให้หมดเสียก่อนเท่าที่ เท่าที่มันปรากฏแก่จิตของเราที่เราจะรู้จักได้มันโดยตรง
บางอย่างเรารู้ได้ด้วยการคำนวณน่ะ Induct หรือ Deduct ก็แล้วแต่เราจะต้องคำนวณ เช่นว่าเรามีกิเลส เราอยู่ด้วยความมีกิเลส ถ้าเราจะวิเวกเป็นนิพพานไม่มีกิเลสเลย เราก็ยังรู้ไม่ได้เดี๋ยวนี้ แต่เรารู้ได้ด้วยการคำนวณ ว่าถ้ามันมีกิเลสมันเป็นอย่างนี้ๆ ร้อนอย่างนี้ เป็นทุกข์อย่างนี้ๆ ถ้าสมมติว่าไอ้เหล่านี้ออกไปหมดจะเป็นอย่างไร อย่างนี้เราต้องรู้ได้ด้วยการคำนวณ เราก็ควรมีการคำนวณเพื่อรู้จักสิ่งที่ตรงกันข้าม เพื่อว่าเราจะสามารถรู้จักจิตทุกชนิด ทุกลักษณะ ทุกอาการ ทุกระดับเลย
ทีนี้เราก็บังคับจิตที่มันๆเป็นบ้าได้หลายชนิดนี่ให้มาอยู่ในอำนาจของเรา บทเรียนทีแรกก็บังคับให้มันมี ภาษาบาลีเรียกว่า ปราโมทย์ ปราโมทย์ คือความบันเทิง ร่าเริง พอใจ บางทีจะใช้คำว่า Comfort, Comfort นั้นก็ได้ เราบังคับจิตให้พอ เป็นที่พอใจ เป็นที่พอใจ แต่ถ้าเราเคยประสบความสำเร็จใน เราบังคับเวทนามาแล้ว เราก็บังคับเวทนานั่นแหละให้มันเกิดปีติหรือสุขขึ้นมาเราก็มีปราโมทย์ได้ เราต้องการปราโมทย์เมื่อไรเราเรียกมาได้ทันทีเมื่อนั้น นี่เรียกว่าเราบังคับจิตได้ในการมีปราโมทย์ เราต้องการปราโมทย์เมื่อไรเราเรียกมาได้ทันทีเมื่อนั้นนี่ ดีกี่มากน้อยลองคิดดู ลองคิดดูว่าดีกี่มากน้อย
ทีนี้ขั้นต่อไป ขั้นต่อไป ปราโมทย์ ปราโมทย์นี้ก็ยังยุ่งๆๆ ไม่ใช่สงบ ไม่ใช่วิเวก เราบังคับให้มันหยุด ให้มัน Stable ให้มันมีสมาธิ ให้มันตั้งมั่นนี่ นี่ก็เราก็บังคับเป็นข้อที่ ๒ การบังคับข้อๆที่ ๒ นี่ที่เป็นสมาธิ เป็นตั้งมั่นอย่างนี้ก็เป็นวิเวก วิเวกที่มิใช่น้อยแหละ วิเวกที่สูงขึ้นมาพอสมควร เราต้องการเมื่อไรก็ได้เมื่อนั้น นี่เรียกว่าบังคับได้มาถึงขั้นนี้
ทีนี้ก็มาถึงขั้นที่ ๓ ของการบังคับนะ บังคับให้ปล่อย จิตตามธรรมดามันไป Attach อยู่ที่นั่น Attach อยู่ที่นี่ ติดอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ติดอยู่กับ Feeling อันใดอันหนึ่ง หรือ Object อันใดอันหนึ่ง บังคับให้มันปล่อยหรือว่าดึงให้มันหลุดออกมา อันนี้ก็เป็นการบังคับที่สูง ที่ๆมีค่ามีประโยชน์ เรียกว่าบังคับจิตให้ปล่อย ปล่อยจากสิ่งที่มัน Attach อยู่ มันติดเบ็ดอยู่ ปลดออกมาเสียจากเบ็ดนี่อย่างนี้เป็นต้น
เกี่ยวกับ Step ที่ ๓ คือจิตนี้เรามี ๔ บทเรียน คือรู้จักมันทุกๆชนิด แล้วก็บังคับให้จิตปราโมทย์ หรือบังคับให้จิตตั้งมั่น แล้วบังคับให้จิตให้ปล่อย มี ๔ บทเรียน เราบังคับจิตได้เราก็บังคับโลกได้ เราเป็นนายเหนือจิตได้ เราก็เป็นนายเหนือโลกทั้งหมดได้นี่ สรุปอานิสงส์ของมันได้ว่าอย่างนี้
ทีนี้เราก็มาถึงอานาปานสติ Step ที่ ๔ ที่สุดท้าย เราก็จะควบคุมสิ่งที่เรียกว่าธรรมดาๆของจิต ไอ้ธรรมดาของจิตก็คือ Attachment สมบัติ สมบัติน่ะ ทรัพย์สมบัติของเราติดตัวเรามาตั้งแต่อ้อนแต่ออกนั่นก็คือ Attachment ยึดมั่นนั่น ยึดมั่นนี่โดยอุปาทานทั้งหลายนี่ เดี๋ยวนี้เราจะจัดการกับธรรมดา ธรรมะ ธรรมะแปลว่าธรรมดา ธรรมดาของจิตก็คืออุปาทาน อุปาทาน เดี๋ยวนี้เราจะจัดการกับอุปาทาน น่าหัวก็น่าหัว น่าสงสารก็น่าสงสารว่าทรัพย์สมบัติของเราที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิดมานั้นมันคืออุปาทาน เอาแล้ว เดี๋ยวนี้จะจัดการกับอุปาทานหรือธรรมดาของจิต
เราได้พูดกันมาแล้วในวันก่อนว่า Attachment นั่นน่ะตามปกติทั่วไป Attachment ในกาม และ Attachment ในทิฐิ ความคิดความเห็นของเรา แล้วก็ Attachment ใน Superstitious, Superstition นี่ แล้วเรา Attachment ใน Ego, Ego, Egoism นี่ ๔ ๔ Attachment นี่สมบัติเดิม สมบัติเดิม น่าหัวหรือไม่น่าหัว น่าสงสารหรือไม่น่าสงสาร สมบัติของเราที่เรารัก ที่เราอุตส่าห์ขนเอามา หอบหิ้วเอามาคือ Attachment ๔ อย่างนี้ แต่ถ้าเราจะพูดให้สั้นน่ะ เราจะเหลือเป็น ๒ อย่าง Attach เป็นบวก Attach ลบ นี่ลบ มี ๒ อย่างนะ
การยึดมั่นถือมั่นนี้เปรียบเหมือนกับการหิ้ว การถือของนี่ มันก็หนัก มันก็หนักๆ มันก็เหนื่อยๆ มันก็เป็นทุกข์ มี Attach ในสิ่งใดมันก็เหนื่อยและเป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น Attachment ที่หนักที่สุดกว่าสิ่งใดคือ Attachment ในตัวกู ไอ้ของที่น่ารัก น่าพอใจทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเองนี้มันรวมอยู่ที่ตัวกู Attach ตัวกูหนักที่สุด หนักที่สุด จนชีวิตนี้กัดเจ้าของ ชีวิตนี้กัดเจ้าของเพราะมี Attachment ในสิ่งทุกสิ่ง บางทีเราจะเรียกว่า Attach ในชีวิต พอ Attach ในชีวิต ชีวิตน่ะมันกัด ชีวิตน่ะมันกัดเจ้าของเพราะมันมี Attachment ดังนั้นปัญหาหรือหน้าที่ของเราก็คือทำลาย Attachment เราต้องศึกษามันให้ละเอียดที่สุด Attachment คืออะไร เป็นมาอย่างไร เกิดจากอะไรนี่ ศึกษาให้รู้จักไอ้สิ่งที่เรายึดมั่นถือมั่นนั่นให้ดี
ทีนี้บทเรียนก็เกิดขึ้นในอานาปานะ นะสติหมวดนี้ ขั้นที่ ๑ บทเรียนที่ ๑ เราจะศึกษาให้รู้ ความไม่เที่ยง ความไม่คงที่ ความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปลงเรื่อย ความมีเหตุปัจจัยทำให้เปลี่ยนแปลงเรื่อย นี่เรียกว่าเราศึกษาให้เห็นอนิจจัง อนิจจังของสิ่งที่เรายึดมั่นถือมั่น ดูข้างในตัวเราก่อน ดูข้างในตัวเราก่อน ส่วนไหนบ้างที่เที่ยงน่ะ ทุกๆอะตอมมันที่มันประกอบกันเป็นตัวเรามันไม่เที่ยง ทุกอย่างที่มาจากไอ้อะตอมมันก็เลยไม่เที่ยงๆๆๆกันไปหมด ข้างในก็เห็นไม่เที่ยง ข้างนอกก็เห็นไม่เที่ยง ผู้อื่นก็ไม่เที่ยง นี่เราก็เห็นความไม่เที่ยงทั่วไปในจักรวาล เห็นความไม่เที่ยง อนิจจัง
Greek Philosopher ชื่อ Heraclitus คนๆนี้พ้องๆสมัยกับพระพุทธเจ้านะ เขาได้เห็นไอ้ไม่เที่ยงๆนี่ แล้วเขาก็มาสอนพวกประชาชนว่า ทุกอย่างไหล ทุกอย่างไหล Panta Rhei, Panta Rhei ทีนี้ประชาชนหาว่าเขาเป็นคนบ้า เขาเป็นคนลึกลับ เขาเป็นคนเข้าใจไม่ได้ นี่ถูกหาว่าเป็นบ้าเพราะบอกว่าสิ่งทั้งปวงไม่เที่ยง พวกเราอยู่ในประชาชนชุดนั้นหรือเปล่า คือเห็นว่า Heraclitus น่ะบ้า
ในพระไตรปิฎกของเราก็มีพระสูตรที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงศาสดาในเมืองไกล อารกศาสดา (นาทีที่ 88:32-88:33) ตามตัวหนังสือแปลว่า ศาสดาในเมืองไกล แต่ผู้แปลมักจะเข้าใจว่าศาสดาชื่ออารกะ อารกะแปลว่าในเมืองไกล พระพุทธเจ้าตรัสว่าศาสดาในเมืองไกลนู่นน่ะก็สอนเรื่องอนิจจังเหมือนที่เราสอน ระวังให้ดี ระวังให้ดี เราจะรวมอยู่ในประชาชนที่ๆหาว่า Heraclitus เป็นคนบ้า ก็หมายความว่าเราไม่เชื่อเรื่องอนิจจัง เราไม่เชื่อเรื่องอนิจจัง เราจะเอาให้มันนิจจัง ให้มันอยู่กับเรา ให้มันคงที่ มันๆปัญหามันมีอยู่อย่างนี้
ดังนั้นบทเรียนที่ ๑ น่ะ บทเรียนที่ ๑ ของเราในหมวดที่ ๔ ของอานาปานสตินี้คือ เห็นอนิจจัง ดูอนิจจัง เห็นอนิจจัง จนกระทั่ง Realize ในความเป็นอนิจจังของสิ่งทั้งปวง ถ้าเราเห็นอนิจจังคือเปลี่ยนเรื่อย ไหลเรื่อยๆ เราก็จะรู้ได้เองว่าเราโง่หรือเป็นบ้าที่ไป Attach ในสิ่งที่ไหลเรื่อย ไป Attach ในสิ่งที่ไหลเรื่อยนั่นคือความโง่
บทเรียนที่ ๒ ก็คือเห็นอนิจจัง เห็นอนิจจัง อนิจจังของสิ่งที่เรา Attach อยู่ เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ Attachment ก็เริ่มจาง เริ่มจางๆๆ Fade น่ะ จางๆๆๆ บทเรียนที่ ๒ ของเรา ดูๆให้เห็นว่าความจาง ความจางของ Attachment บทเรียนที่ ๒ ของเราจึงเห็นหรือรู้สึก Experience หรือ Realize ว่าจางออกๆๆของ Attachment เรื่อยไปๆ นั่งๆดูให้เห็นว่ามันจางเรื่อยไป ยิ่งเห็นอนิจจังเท่าไรมันก็ยิ่งจางเท่านั้น เห็นอนิจจังเท่าไรมันก็ยิ่งจางเท่านั้น นี่เรียกว่า วิราคะ วิราคะ แปลว่าจางของ Attachment บทเรียนที่ ๒
ทีนี้ก็บทเรียนขั้นที่ ๓ คุณจะรู้ได้เองก็ได้ คุณรู้ได้เองแน่ว่าถ้ามันจางๆๆเรื่อย จางเรื่อยไปๆ จาง มันก็หมด มันก็หมด ทีนี้มันก็ดับหรือหยุด เรียกว่า นิโรธะของ Attachment เดี๋ยวนี้ Attachment หยุดหมด ไม่ Attachment ในสิ่งใดแม้ในชีวิต แม้ใน Ego ไม่ Attach ในสิ่งใดนี้เรียกว่า นิโรธะ นิโรธะ แปลว่าดับหมด ดับหมดของ Attachment นิโรธะ
เอ้า, ทีนี้ก็มาถึงบทเรียนสุดท้าย ขั้นบทเรียนที่ ๔ ของหมวดๆๆนี้ก็คือว่า โยนทิ้งหมด ปฏินิสสัคคะ ปฏินิสสัคคะ บาลีคำนี้แปลว่าโยนทิ้งหมด โยนกลับไปหมด ก็แปลว่าเราหมด เราหมด Attachment เรา Free เราวิเวกที่สุด ไม่มีอะไรรบกวนเรา เดี๋ยวนี้เรามันไม่ได้โยนไปหมด เราเอามา เอามา Attachๆๆๆเต็มไปหมด จะเป็นอย่างไร นี่แหละ ออกไปหมด โยนไปหมดๆ นี่อันสุดท้ายเรามีความรู้สึกอย่างนี้ นี่เรา Free, Free ที่สุด วิเวกที่สุด คือเย็น เย็นเป็นนิพพาน เราสร้างสวรรค์ของพระเจ้าได้สำเร็จ คือเราอยู่กับความไม่มีทุกข์เลย
ดังนั้นอาตมาจึงถือโอกาสเรียกอานาปานสติภาวนานี้ว่าเป็นเครื่องจักร เครื่องจักรสร้างวิเวก สร้างวิเวก เรามาสร้างอุตสาหกรรม มีเครื่องจักรเป็นเครื่องมือสร้างอุตสาหกรรม สร้างวิเวก วิเวกกันเถิด โลกนี้จะมีสันติภาพ อุตสาหกรรมทางวัตถุที่กำลังมีอยู่ในโลกนั้นมันจะทำลายโลก มามีอุตสาหกรรมทางจิตทางวิญญาณกันเถิด นี้จะสร้างสันติภาพถาวรให้แก่โลก
ท่านสังเกตดูให้ดีๆแล้วท่านจะพอใจๆในเครื่องจักรสร้างวิเวก ขอให้ท่านทั้งหลายทุกคนประสบความสำเร็จในการมีเครื่องจักรสร้างวิเวกๆขึ้นมาให้สำเร็จ ชั่วเวลาสิบวันเราทำไม่ได้ เราทำไม่สำเร็จ แต่ขอให้กระทำต่อไป ทำต่อไปๆ หรือว่าท่านอยากจะกลับมาทำต่อ ศึกษาต่อกันที่นี่อีกก็มีความยินดีอย่างยิ่ง ขอแต่เพียงว่าท่านอย่าหยุดเสีย ท่านอย่าหยุดเสีย ท่านจงทำต่อไปๆในการมีเครื่องจักรสร้างวิเวกคืออานาปานสติ
ขอขอบคุณเป็นอย่างสูงในความอดทนของท่าน เป็นผู้ฟังที่ดีเกือบจะ ๒ ชั่วโมงแล้ว ขอบคุณๆในความเป็นผู้ฟังที่ดี ขอปิดการประชุม วันนี้นานกว่าเมื่อวานนะ วันนี้นานกว่าเมื่อวาน ขอปิดประชุม.