แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย การบรรยายในครั้งสุดท้ายวันนี้จะบรรยายอานาปานสติในส่วนที่เกี่ยวกับโลกุตรธรรม เพราะว่าเราได้พูดกันในลักษณะทั่วๆ ไปเกี่ยวกับโลกียธรรมมาพอสมควรแล้ว ดังนั้นในวันนี้จะบรรยายโดยหัวข้อว่า อานาปานสติกับโพธิปักขิยธรรมและการบรรลุธรรม ขอทบทวนสักเล็กน้อยถึงการบรรยายที่แล้วมาจนถึงวันนี้ว่า เมื่อเราได้พูดถึงปัญหาหยุมหยิมคาราคาซังในปัจจุบันเรื่องน้ำชาล้นถ้วย กระเชอก้นรั่ว และแม่ปูที่ไม่อาจจะเดินให้ลูกปูดู น้ำชาล้นถ้วยก็เพราะว่ามีคำสอนในแง่ของปริยัติหรือประเพณีมากมายเกินจนล้นถ้วยจนใส่ไม่ลง และโลกก็อยู่ในลักษณะน้ำชาล้นถ้วย เพราะว่ามีวิทยาการหลายแขนงเต็มทีเกิดขึ้นในโลกประดังกันเข้ามาจนเรียนไม่หวาดไหวในแต่ละแขนงๆ นั้น จนไม่รู้จะเลือกเอาแขนงไหนมันก็มีลักษณะน้ำชาล้นถ้วย แต่ลักษณะกระเชอก้นรั่วนั่นหมายความว่าธรรมะแท้ธรรมะที่จะดับทุกข์ได้จริงมันรั่ว มันเหลือแต่ธรรมะประโยชน์ ธรรมะเพื่อประโยชน์เป็นวัตถุ แม้แต่จะสอนธรรมะกันก็ไม่ได้สอนเพื่อดับทุกข์ แต่สอนเพื่อประโยชน์ เพื่อประโยชน์เป็นวัตถุสิ่งของเป็นเงินเป็นทองเป็นเกียรติยศชื่อเสียงแล้วแต่ เมื่อส่วนที่จะดับทุกข์ได้มันรั่วๆๆๆ ไปซะหมด ส่วนที่จะเป็นประโยชน์วัตถุมันเกรอะกรังอยู่ ช่างน่าหัวที่ว่า ทางบนมันล้นใส่ไม่ลง แต่ทางล่างก็รั่วอยู่เรื่อย เลยไม่สำเร็จประโยชน์ แม่ปูไม่สามารถจะเดินให้ลูกปูดูว่าเดินอย่างไรก็เพราะว่า ผู้สั่งสอนสอนแต่เรื่องวิทยา วิชชา ไม่ได้แสดงการปฏิบัติที่ปฏิบัติได้จริงอย่างไรให้ผู้ศึกษาดู แล้วมันก็อยู่ในลักษณะที่ว่าเดินให้ดูไม่ได้ด้วย ขอให้ปัญหานี้หมดไปเป็นสิ่งแรก และครั้งต่อมาก็ได้บรรยายเรื่องปฏิจจสมุปบาทและอานาปานสติโดยคร่าวๆ เรียกว่าโดย.. (นาทีที่ 4.25) โดย... (นาทีที่ 4.27) พอให้เห็นรูปโครงว่ามันเนื่องกันอย่างไร ต่อมาก็ได้บรรยายปฏิจจสมุปบาทโดยประจักษ์อย่างเดียวชัดเจนๆ และต่อมาได้บรรยายปฏิจจสมุปบาทโดยประยุกต์ว่าปฏิบัติอย่างไรๆ ต่อมาก็ได้บรรยายอานาปานสติโดยประสงค์โดยความประสงค์ทั้งของผู้บรรยายและของผู้ที่จะรับการบรรยายตอนที่ 1 บรรยายอานาปานสติโดยประสงค์ตอนที่ 2 ถึงขนาดที่วันนี้เป็นวันสุดท้ายก็จะบรรยาย ก่อนหน้านั้นก็บรรยายการประยุกต์อานาปานสติกับปฏิจจสมุปบาททั้งในแง่โลกและแง่ธรรม มาวันนี้จึงบรรยายเรื่องอานาปานสติกับโพธิปักขิยธรรมและการบรรลุธรรม ก็หมายความว่าบรรยายส่วนที่เป็นโลกุตรธรรมและเป็นชั้นสุดท้ายๆ ของการบรรยาย
โดยหลักใหญ่ๆ ที่จะต้องทำไว้ในใจอยู่เป็นประจำก็คือ คำที่พระพุทธองค์ว่า เมื่ออานาปานสติสมบูรณ์สติปัฏฐาน 4 ก็บริบูรณ์ แม้ว่าอานาปานสติเมื่อแบ่งเป็น 16 ขั้นอย่างนี้ หรือจะเรียกว่าเพียง 4 หมวดก็ตามจะเรียกโดยทั้งหมดก็ว่า 16 ขั้น ถ้าได้กระทำโดยสมบูรณ์แล้วย่อมจะทำให้สติปัฏฐาน 4 สมบูรณ์ มีตรัสไว้ตอนหนึ่งว่า เมื่อสติปัฏฐาน 4 นี้จะทำโพธิปักขิยธรรมโดยเฉพาะโพชฌงค์ 7 โดยเจาะจงนี้ให้สมบูรณ์ ครั้นโพชฌงค์ 7 สมบูรณ์แล้วย่อมทำวิชชาและวิมุติหรือจะเรียกอีกชื่อหนึ่งก็อริยมรรคมีองค์ 8 ให้สมบูรณ์ สรุปสั้นๆ ว่า อานาปานสติทำสติปัฏฐาน 4 ให้สมบูรณ์ สติปัฏฐาน 4 ทำโพชฌงค์ให้สมบูรณ์ โพชฌงค์สมบูรณ์แล้วย่อมทำวิชชาและวิมุติให้สมบูรณ์ นี่มันเป็นหัวข้อใหญ่ใจความ
ทีนี้ก็มาดูกันถึงการที่จะทำให้สมบูรณ์ว่าควรจะทบทวนกันไปตั้งแต่ว่าอานาปานสติทั้ง 16 ขั้นนั้นมันมีใจความสำคัญว่าอย่างไร ท่านทำในใจหรือว่าทบทวนให้เห็นชัดที่ว่าอานาปานสติหมวดที่ 1 จะศึกษาเรื่องกาย ทั้งกายลมและกายเนื้อจนรู้จักชัดเจนว่ามันไม่ใช่ตัวตนอะไร แล้วก็ควบคุมได้จนกระทั่งกายเนื้อและกายลมระงับๆๆ แต่ใจความสำคัญก็คือว่า มันมิใช่ตัวตนอะไรที่ไหน การทำให้สมบูรณ์ก็หมายถึงว่าเห็นกายในกาย คือเห็นกายแต่ละอย่างๆๆ ในกายทั้งหลายไม่ว่าจะมีกี่กายก็สุดแท้ ที่นี้อย่างน้อยก็เห็นกายเนื้อว่าขึ้นอยู่กับกายลม สัมพันธ์กันอยู่ขึ้นด้วยกันลงด้วยกันหยาบด้วยกันละเอียดด้วยกันประณีตด้วยกันระงับด้วยกันอะไรทำนองนี้ เห็นกายในกายทุกแง่ทุกมุมและสรุปบทสำคัญว่า มีความพากเพียรในการเห็นถึงที่สุดเรียกว่าอาตาปี สัมปชัญญะ รู้สึกแจ่มแจ้งโดยรายละเอียดชัดเจนครบถ้วนเรียกว่าสัมปชาโน ถ้ามีสติในส่วนนี้อยู่โดยสมบูรณ์เรียกว่าสติมา เมื่อทำได้อย่างนี้อยู่ย่อมสามารถนำอภิชชาและโทมนัสในโลกออกซะได้ ขอร้องให้ท่านจำคำบาลีสั้นๆ นี้ไว้ มีประโยชน์มาก อาตาปี สัมปชาโน สติมา วินัยยะโลเก อภิชฌา โทมนัสสัง มีเท่านี้ อาตาปีคำนี้ก็แปลว่ามีความเพียรเผา เผาอวิชชา เผากิเลส เผาความโง่ อาตาปีถึงขนาดเต็มที่ สัมปชาโนรู้สึกตัวทั่วพร้อมอยู่ว่ากระทำอยู่อย่างนั้นได้จริง สติมามีสติตลอดเวลา มีสติควบคุมไว้ได้อย่างสม่ำเสมอ ผู้ปฏิบัตินั้นก็เลยมีลักษณะเป็น 3 ประการโดยหลักใหญ่ๆ คือ อาตาปี สัมปชาโน สติมา คำบาลีก็เพราะดีก็น่าจำและก็มีประโยชน์กว่าที่จะจำเป็นภาษาไทยที่มันแกว่งไปมาได้มันเลื่อนลอยได้เดี๋ยวก็เขวไปไหนก็ไม่ทันรู้ จำบาลีน่ะดี รู้ความชัดเจน ธรรมอานาปานสติหมวดกายานุปัสนาจะได้ชื่อว่าอาตาปี มันเผากิเลสเผาความโง่เผาความยึดมั่นถือมั่นอยู่ สัมปชาโนรู้สึกตัวในการกระทำ สติมามีสติๆๆ รวดเร็วครบถ้วนเข็มแข็ง วินัยยะโลเก อภิชฌา โทมนัสสัง จนกระทั่งกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกซะได้ คำนี้สองคำนี้อภิชฌาและโทมนัสได้อธิบายมาบ้างแล้ว แต่อยากจะพูดให้ชัดเจนว่ามันคืออะไร เราได้ยินแต่คำว่ายินดียินร้าย แต่คำนั้นไม่ค่อยจะได้ยินพระพุทธเจ้าตรัส ท่านจะตรัสแต่ว่า อภิชฌาและโทมนัส อภิชฌาคือยินดี โทมนัสคือยินร้าย และพูดกันใจความธรรมดาสามัญในเรื่องโลกๆ เราก็คือว่า ความรู้สึกที่เป็นบวกและความรู้สึกที่เป็นลบ พูดอย่างนี้มันเป็นภาษาธรรมชาติครอบงำไปทั้งจักรวาล ว่ามันมีสิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นบวกจะเอาๆ จะยึดจะคล้องหวงแหน และมันมีสิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นลบจะฆ่าจะทำลายจะเดือดร้อนแล้วก็โกรธจับใจ ความรู้สึกเป็นบวกและความรู้สึกเป็นลบนี่มันมีประจำๆ แก่ทุกคนและทุกวัน ทุกวันยังน้อยไปต้องทุกชั่วโมงๆ ก็ยังจะน้อยไปบางทีทุก 10 นาที ทุก 5 นาที ความรู้สึกเป็นบวกและความรู้สึกเป็นลบนี้อยู่ในชีวิตมนุษย์ในประจำวัน พระพุทธเจ้าท่านใช้คำว่าอภิชฌาและโทมนัสในโลก ในโลกของคนโง่ในโลกของสัตว์โลกที่ยังโง่ยังเต็มไปด้วยอภิชฌาและโทมนัส ความเป็นบวกและความเป็นลบ ขอให้ปฏิบัติอานาปานสติในแต่ละหมวดๆ หมวดกาย ปฏิบัติถึงขนาดมี อาตาปี สัมปชาโน สติมา วินัยยะโลเก อภิชฌา โทมนัสสัง ไม่อาจจะเกิดความรู้สึกเป็นบวกหรือลบใดๆ ในเรื่องอันเกี่ยวกับกาย กายจะสงบระงับจะเย็นเป็นปกติตลอดเวลา สมดุลย์เข้ากันดีระหว่างกายลมกับกายเนื้อ เมื่อท่านพยายามควบคุมอยู่อย่างนี้ได้ดีได้จริงก็เรียกว่าอย่างนั้นแหละ เรียกว่าอาตาปี สัมปชาโน สติมา วินัยยะโลเก อภิชฌา โทมนัสสัง นี่หมวดหนึ่ง หมวดกายาก็ทำแล้วอย่างนี้
ขึ้นมาถึงหมวดเวทนาก็อีกนั่นแหละ รู้จักเวทนาก็คืออะไร เมื่อรู้จักเวทนานั่นแหละคือเจ้าหัวใจที่มันครอบงำ มันไสหัวไปทำอะไรก็ได้ ทำดีก็ได้ ทำชั่วก็ได้ ทำบาปก็ได้ ทำบุญก็ได้ อะไรก็ได้ เวทนาๆ ที่มันมาเป็นความรู้สึกอยู่ในความรู้สึกก็เรียกว่าอำนาจของปีติ หมายความว่าเมื่อได้เวทนาตามต้องการมันก็เกิดความพอใจๆ พอใจดีใจ นี่อภิชฌาบ้า ถ้ายังมีขนาดรุนแรงจนสั่นสะเทือนไปหมดก็เรียกว่าปีติ ไปดูรายชื่อของปีติในแบบเรียนเอาก็แล้วกันว่ามีชื่ออะไรบ้าง สะเทือนอย่างไรบ้าง ความพอใจจะอยู่ในลักษณะที่หยาบและสั่นสะเทือนเรียกว่าปีติ ถ้าความพอใจแล้วระงับลงไม่สั่นสะเทือนปกติลงก็เรียกว่าความสุข ที่แท้มันก็เป็นความพอใจๆ ด้วยกันทั้งนั้น อันหนึ่งมันยังหยาบอยู่ อันหนึ่งมันละเอียดสงบระงับลงแล้ว นี่เป็นฝ่ายบวกฝ่ายความรู้สึกที่เป็นบวก ทีนี้ก็ดูว่าความเป็นบวกมีเท่าไร ความเป็นลบมันจะมีเท่านั้นแหละ พอใจๆ สูงสุดเท่าไร แล้วมันจะหมดความพอใจเท่านั้นแหละ นี่ความเป็นลบมันก็จะตามมา คือรู้เอาเองก็ได้ว่าเวทนาทั้งหลายมีทั้งบวกและลบ แต่ว่าเวทนาที่จะครอบงำจิตใจคนสูงสุดนั้นมันเป็นเวทนาฝ่ายที่เป็นบวก รุนแรงถึงขนาดเป็นปีติบ้าง เป็นความสุขบ้าง ทำความรู้แจ้งรู้จักเข้าใจชัดเจนถึงอาการกิริยาของมันถึงอิทธิพลของมันโดยเฉพาะว่ามันครอบงำอย่างไร พยายามจะลดอิทธิพลนั้นเสีย ลดอำนาจการครอบงำของสิ่งเหล่านี้เสีย นี่ก็เรียกว่าอาตาปีได้แล้ว ลดอำนาจของมันเสีย สัมปชาโนก็กระทำอยู่อย่างรอบคอบสุขุมละเอียดละออถูกทุกแง่ทุกมุมทุกจุดของปัญหา สติมาคือผู้มีสติสมบูรณ์อยู่ในเรื่องของเวทนา วินัยยะโลเก อภิชฌา โทมนัสสัง อย่างเดียวกัน นำความรู้สึกอภิชฌาและโทมนัสออกซะได้และเห็นว่ามันไม่ใช่ตนๆ เวทนาสักว่าเวทนา
มาถึงหมวดจิต ก็เห็นจิตในจิตทุกชนิด เห็นจิตจนสามารถบังคับจิตโดยหลักที่กล่าวมาแล้วโดยละเอียดวันก่อน มาทำให้บันเทิงเริงรื่นอยู่ก็ได้ ช่วยหยุดๆ สงบเป็นสมาธิก็ได้ ทำให้ปล่อยๆ ทุกอย่างที่มันเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกันอยู่ ปล่อยจิตจากอารมณ์ก็ได้ ปล่อยอารมณ์จากจิตก็ได้ คำพูดต่างกันแต่ว่ากิริยาอาการมันเหมือนกัน การปล่อยจิตจากอารมณ์ ปล่อยอารมณ์จากจิตนั่นคือการเผาๆ อาตาปี มีการเผา มีการพากเพียรพยายามเพื่อเผาความยึดมั่นถือมั่นในจิตโดยเฉพาะ ก็มีสัมปชาโน สติมา วินัยยะโลเก อภิชฌา โทมนัสสัง อย่างเดียวกันอีก
ทีนี้ก็มาถึงหมวดสุดท้ายคือหมวดธรรม นี่หมวดสำคัญ มีขนาดใหญ่โตมโหฬาร ครอบงำจักรวาล ธรรมคือสิ่งทั้งปวงในจักรวาลอันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น เมื่อตัวความยึดมั่นและตัวความคลาย ตัวความปราศจากความยึดมั่นก็เรียกว่าธรรม เป็นสัจธรรมของธรรมชาติโดยประการทั้งปวงเรียกว่าธรรม อานาปานสติหมวดที่ 4 ที่มันมีปัญหาอยู่กับคนก็คือยึดมั่นๆ ยึดมั่นไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง ทางหนึ่งมันยึดมั่นอย่างบวกก็จะเอาก็จะรับก็จะหวงแหน ยึดมั่นในทางบวก อีกอย่างหนึ่งก็ยึดมั่นในทางลบ คือเอามาโกรธ เอามาเกลียด เอามากลัว เอามาเป็นเครื่องรบกวนความสงบสุข นี่ฟังดูดีๆ นะว่าความยึดมั่นมันมีทั้งฝ่ายบวกและฝ่ายลบ อย่าไปเห็นแต่ว่าเป็นฝ่ายรับฝ่ายพอใจแล้วจะเป็นเรื่องยึดมั่นโดยส่วนเดียว ฝ่ายที่จะเกลียดจะกลัวจะโกรธมันก็เป็นอาการของความยึดมั่นเหมือนกัน ถ้ามันไม่ยึดมั่นแล้วมันโกรธไม่ได้มันเกลียดไม่ได้มันกลัวไม่ได้ มันมีความยึดมั่นเท่ากันแต่ว่ามันในแง่ที่มันตรงกันข้าม จึงต้องเห็นความโง่อันนี้ เลิกความยึดมั่น เห็นอนิจจาอนิจจังเท่าไรก็เผา เผาความยึดมั่น ละความยึดมั่นเท่านั้น แล้วก็มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในทุกกรณีในทุกเรื่องในทุกขนาดของไอ้ความยึดมั่นนี้ มีสติประพฤติอย่างนี้อยู่ ก็ชื่ออย่างเดียวกันนี้มีอาตาปี สัมปชาโน สติมา ในธรรม ธรรมที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นบ้าง ที่เป็นตัวความยึดมั่นบ้าง ที่เป็นผลของความยึดมั่นบ้าง จนกระทั่งว่ามันจะเกิดความคลายออกคือวิราคะ พอมันคลายออกๆๆ มันจะมาแต่ไหนเดี๋ยวมันก็หมด มันก็เป็นนิโรธะ เป็นนิโรธะแล้วมันก็หมดๆๆ หมดเรื่อง ...(นาทีที่ 23.28) อันนี้ใหญ่โตมากใหญ่โตกว่า 3 หมวดที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เป็นอาตาปี สัมปชาโน สติมา วินัยยะโลเก อภิชฌา โทมนัสสัง ละอภิชฌาและโทมนัสในธรรม ธรรมคือสิ่งทั้งปวงซะได้ คือหมดคือเรื่องสูงสุด นี่เป็นการสมบูรณ์ที่ว่าอานาปานสติจะเรียกว่า 4 หมวดหรือ 16 ขั้นก็ตาม อานาปานสติสมบูรณ์แล้วย่อมทำสติปัฏฐานทั้ง 4 ให้สมบูรณ์ กาย เวทนา จิต ธรรม ควบคุมได้ เผาผลาญได้ ไม่เกิดปัญหาอีกต่อไป ไม่มีอภิชฌาและโทมนัสเกี่ยวกับสิ่งทั้ง 4 นี้อีกต่อไป การพิจารณาที่ละหมวดอย่างนี้มันก็ได้ 4 หมวด แต่จะพิจารณาโดยละเอียดเป็น 16 ขั้น ทีละขั้นๆ ก็ได้ ดังนั้นเราจึงสามารถเป็นอาตาปี สัมปชาโน สติมา วินัยยะโลเก อภิชฌา โทมนัสสัง ได้ตั้ง 16 ครั้ง 16 ขั้นตอนตามขั้นตอนของอานาปานสติ แต่ถ้าทำเป็นหมวดๆ มันเหลือ 4 หมวดก็เหลือ 4 ครั้ง ก็พอแล้ว ถ้ามันหยาบไปมันไม่ชัดเจนมันไม่ละเอียดก็ขอให้ทำกระจายออกเป็น 16 ครั้ง มีคุณสมบัติอันประเสริฐอย่างที่กล่าวแล้ว อาตาปี สัมปชาโน สติมา วินัยยะโลเก อภิชฌา โทมนัสสัง ได้ตั้ง 16 ครั้ง สมบูรณ์ไม่สมบูรณ์ท่านลองคิดดู ตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า อานาปานสติสมบูรณ์แล้วย่อมทำสติปัฏฐาน 4 ให้สมบูรณ์ ...(นาทีที่ 26.15) ทีนี้ก็มาถึงตอนที่ว่า สติปัฏฐาน 4 สมบูรณ์แล้วย่อมทำโพชฌงค์ให้สมบูรณ์ ทำโพชฌงค์ให้สมบูรณ์ โพชฌงค์แปลว่าองค์แห่งการตรัสรู้ โพชฌาณหมายถึงการตรัสรู้ อังคะหมายถึงองค์ประกอบแห่งการตรัสรู้ ก็ให้ง่ายชัดเจนในการศึกษาการปฏิบัติ พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เป็น 7 อย่างหรือ 7 ขั้นตอนก็ได้เรียกว่าโพชฌงค์ 7 โดยรายละเอียดถ้าจะจำกันได้อยู่แล้ว สติสัมปชัญญะ สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา 7 เรียกว่าโพชฌงค์ เมื่ออานาปานสติสมบูรณ์ สติปัฏฐาน 4 สมบูรณ์อย่างที่กล่าวมาแล้วนั้นมันมีลักษณะอาการแห่งโพชฌงค์ที่สมบูรณ์ซ้อนอยู่ในนั้นแฝงอยู่ในนั้น เมื่อเจริญอานาปานสติ 16 ขั้น มีสติปัฏฐาน 4 สมบูรณ์ตลอดเวลาเหล่านั้นหรือทั้งหมดนั้นมันมีโพชฌงค์ครบทั้ง 7 โดยสรุปสั้นๆ สติได้เข้าไปตั้งไว้แล้วในอานาปานสตินั้นตลอดเวลา นี่ชื่อว่าสติสัมโพชฌงค์ เพราะเห็นได้ชัดว่ามันเต็มไปด้วยสติ ในอานาปานสติ 16 ขั้นหรือว่าในสติปัฏฐาน 4 เพียง 4 อย่างก็ดี การพิจารณาค้นคว้าไตร่ตรองแยกแยะ ...(นาทีที่ 28.32) ต่อธรรมะนั้นๆ อยู่ด้วยปัญญา ธรรมะนั้นๆ ก็คือเหตุก็คืออานาปานสติหรือสติปัฏฐาน ธรรมนั้นๆ ถูกไตร่ตรองใคร่ครวญทบทวนสอบสวนอยู่ด้วยสติปัญญา นั้นชื่อว่าธรรมวิจยะสัมโพชฌงค์ ธรรมวิจยะก็คือธรรมวิจัย คิดดูศัพท์นี้มีมาแต่ครั้งพุทธกาลสองพันกว่าปีมาแล้วยังมาใช้กันอยู่เดี๋ยวนี้ในวงวิทยาการ เด็กๆ ก็คิดว่านี่เป็นคำใหม่เป็นคำถอดมาจากของฝรั่ง อย่าโง่กันให้มากนัก คำที่พระพุทธเจ้าท่านเคยใช้มาแล้วว่าธรรมวิจัย ธรรมวิจยะ จึงใคร่ครวญคำเหล่านั้นอยู่ตลอดเวลาเรียกว่าธรรมวิจยะสัมโพชฌงค์ การกระทำนั้นเป็นความเพียรที่ปรารภแล้ว คือกระทำแล้ว พยายามแล้ว มีความเข้มแข็งกล้าหาญในการกระทำแล้ว ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อนในธรรมวิจยะนั่นแหละ ธรรมวิจยะวิจัยการกระทำอยู่อย่างพากเพียรไม่ย่อหย่อนนั่นแหละเรียกว่าวิริยะสัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์ในวิริยะ วิริยะนี้ขอให้ถือเอาความหมายครบถ้วนด้วยว่ามันหมายถึงความพากเพียรอย่างกล้าหาญ พากเพียรจนเรียกว่าวิริยะ กล้าหาญจนเรียกว่าวิริยะ พากเพียรอยู่อย่างเข้มแข็งกล้าหาญอย่างคมเฉียบถึงจะเรียกว่าวิริยะ พากเพียรอยู่ในการวิจัยธรรมะปฏิบัติธรรมะนี่เรียกว่าวิริยะสัมโพชฌงค์ เมื่อกระทำอยู่อย่างนี้ๆ ปีติที่ปราศจากอามิส อามิสสินจ้าง ก็เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรนั้น นี่ชื่อว่าปีติสัมโพชฌงค์ ความหมายสำคัญอยู่ที่ว่าปราศจากอามิส ไม่ใช่ปีติที่เกี่ยวกับอามิสเกี่ยวกับกามารมณ์ เป็นต้น ที่เกี่ยวกับการได้ทางวัตถุเช่นนั้นเรียกว่าอามิส ปีติพอใจในธรรมะอันปราศจากอามิสนี่เรียกว่าปีติสัมโพชฌงค์ เมื่อปีติสัมโพชฌงค์เป็นไปๆๆ ปราศจากอามิส เรียกว่าปราศจากอามิส ไม่กระตุ้นในทางของอามิส กายและจิตของภิกษุนั้นก็ระงับได้ๆ การที่กายและจิตของภิกษุนั้นระงับได้นี่เรียกว่าปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิแปลว่าสงบระงับ อยากจะแนะคำแปลที่เข้าใจง่าย ปัสสัทธิแปลว่ามันลงรูปลงรอย เข้ารูปเข้ารอย ไม่มีข้อขัดข้องใดๆ ขัดขวางกันอยู่ มันสงบระงับ ปัสสัทธิแปลว่ามันเข้ารูป ฟังง่าย มันเข้ารูปเข้ารอย มันไม่มีการขัดขวางอะไรกันอีกต่อไป มันก็มีลักษณะที่เรียกว่า ระงับๆ คำว่าระงับมีคำพูดอย่างอื่นอาการอย่างอื่นอีกมาก ในที่นี้มันก็ระงับความที่มันขัดขวางกันในระหว่างกิเลส สิ่งที่มันฟุ้งถ้ามันมีการปรุงเป็นสังขารมันก็มีอาการขัดขวางกัน เดี๋ยวนี้ไม่มีอาการขัดขวางชนิดนั้นแล้ว มันสงบระงับเรียกว่าปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ จิตของผู้มีกายที่จิตระงับแล้ว จิตของภิกษุผู้มีกายระงับแล้วก็หมายความว่า ทั้งกายและทั้งจิตมันระงับแล้ว มีความสุขอยู่ มีความสุขในทางธรรมะ มีความสุขเพราะความระงับ ไม่ใช่มีความสุขเพราะถูกกระตุ้นด้วยอารมณ์ ความสุขโลกๆ เป็นความสุขของกิเลสอย่างนั้นไม่ใช่ สุขเพราะกายและจิตระงับมันมีความสุข การที่จิตมีความสุขกลับได้ชื่อว่าสมาธิสัมโพชฌงค์ ขอให้เข้าใจว่าสมาธิไม่ใช่แข็งทื่อเป็นต้นไม้ ไม่รู้สึกเหมือนคนสลบไสล บาลีกล่าวไว้ชัดว่า จิตของผู้มีกายระงับแล้วมีความสุขอยู่คือรู้สึกเป็นสุขสงบเย็นอยู่ เรียกว่าสมาธิสัมโพชฌงค์ ทีนี้จิตของผู้ที่มีสมาธิสัมโพชฌงค์นี่มันวางเฉยได้ มันเป็นสิ่งที่วางเฉยได้ วางเฉยแล้วก็ไม่มีอันตราย มันก็จะวางเฉยของมันเอง ความที่วางเฉยได้นี่เรียกว่าอุเบกขาสัมโพชฌงค์ คำว่าอุเบกขานี่ควรจะเข้าใจกันให้ดีๆ ว่ามันไม่ใช่เฉยไม่รู้ไม่ชี้ อุปะแปลว่าเข้าไป ... (นาทีที่ 35.01) มันก็แปลว่าดู เข้าไปจ้องดูอยู่เรียกว่าอุเบกขา ก็แปลว่า มันเป็นความสงบระงับลงรูปเข้ารอยดีแล้วก็ไม่ต้องทำอะไร เพียงแต่ควบคุมความเป็นอย่างนั้น ให้มันเป็นไปๆ ด้วยการจ้องดูอยู่เฉยๆ เปรียบได้ง่ายๆ ว่าถ้าขับรถนะ ขับรถม้าก็ดี ขับรถยนต์ก็ดี ม้าก็รู้เรื่องถูกต้องดีแล้ว ถนนก็ดีแล้ว รถก็เรียบร้อยแล้ว สารถีก็เพียงแต่ถือบังเหียนอยู่เฉยๆ นี่ก็เป็นอย่างโบราณ ถ้าเป็นอย่างเดี๋ยวนี้ ถนนก็ดีแล้วถูกต้องแล้ว รถยนต์มันก็เครื่องยนต์ดีแล้วทุกอย่างปกติแล้วคนขับก็เพียงแต่ถือพวงมาลัยอยู่เฉยๆ แต่ว่าเฉยๆ นั้นมันเต็มไปด้วยสติมา อาตาปี สัมปชาโน มันไม่ใช่เฉยๆ อย่างที่หลับใน มันก็มีแต่ความสมบูรณ์ตรงที่ว่าใจปล่อยให้ไปตามความถูกต้อง มีความถูกต้องสมบูรณ์แล้วก็ปล่อยให้เป็นไปตามความถูกต้อง เหมือนกับว่าชาวนาเขาทำนามีความถูกต้องหมดแล้ว ไถถูกต้องแล้ว พรวนดินถูกต้องแล้ว ใส่ปุ๋ยถูกต้องแล้ว ชักน้ำเข้านาถูกต้องแล้ว คุ้มครองวัชพืช คุ้มครองสัตว์เบียดเบียนอะไรถูกต้องๆ ชาวนาก็ไม่ต้องทำอะไร ชาวนาก็รอดูอยู่เฉยๆ แต่คำว่ารอดูอยู่เฉยๆ มันเต็มไปด้วยความหมายแห่งความถูกต้อง อุเบกขามันมีความถูกต้องอยู่ในนั้น ขอแถมพกหน่อยว่า แม้ว่าจะอุเบกขาในพรหมวิหารก็เข้าใจกับผิดๆ สอนกันผิดๆ เมตตา กรุณา มุฑิตา ทั้งหมดที่ว่าช่วยไม่ได้ก็ช่างหัวมันไปตามกรรมของมัน อุเบกขาอย่างนั้นไม่ถูกต้อง อุเบกขานั้นต้องคอยดูอยู่ว่าเมื่อไรจะช่วยได้ เดี๋ยวนี้ช่วยไม่ได้ ต้องคอยดูอยู่ว่าเมื่อไรจะช่วยได้ นั่นคืออุเบกขาที่ถูกต้องมันเป็นอย่างนั้น อุเบกขาก็คือเพ่งดูอยู่ด้วยการควบคุมความถูกต้อง อุเบกขาในพรหมวิหารก็ดี อุเบกขาในสัมโพชฌงค์นี้ก็ดี มันเป็นความรู้สึกอยู่ควบคุมความถูกต้องอยู่เสมอไป นี่ก็มีกระทั่งอุเบกขาสัมโพชฌงค์ เดี๋ยวจะมาเฉยหลับในซะตอนนี้กันหมด มีสติสมบูรณ์ที่สุด ตอนนี้แหละแม้ว่าตั้งต้นมาด้วยสติ ธรรมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ มาถึงอุเบกขานี่กับมีทั้งหมดนั่นแหละสมบูรณ์ๆ ถึงที่สุดๆ ตั้งใจแจกแจงกันดูรายละเอียดว่ามันมีหน้าที่เฉพาะๆๆ คล้ายๆ กับว่า เจ้าหน้าที่ 7 คน ทำหน้าที่ของตนสมบูรณ์ สติทำหน้าที่สติ ธรรมวิจยะทำหน้าที่วิจัย วิริยะทำหน้าที่พากเพียร ปีติหล่อเลี้ยงวิริยะ ปัสสัทธิสงบระงับลงเข้ารูปเข้ารอย ก็เป็นสมาธิมีความสุขหล่อเลี้ยงอยู่ อุเบกขาปล่อยให้เป็นไปตามนั้นได้ มันจะทำหน้าที่ของมันเอง อะไรๆ ที่เราทำถูกต้องลงไปในนั้นแล้วมันทำหน้าที่ของมันเอง มีบาลีที่กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า ทำถูกต้องๆๆ ทบทวนเถอะ แล้วมันก็เป็นไปเอง จะอุปมาด้วยแม่ไก่ฟักไข่ แม่ไก่จะฟักไข่ถูกต้อง ซึ่งคนก็ยังโง่ไม่รู้ว่าถูกต้องอย่างไร มีความถูกต้องในการฟักไข่ อุณหภูมิเท่านั้นก็ทำอย่างนั้นแล้วก็พลิกไข่อยู่เสมอ ไก่จะพลิกไข่คืนหนึ่งตั้ง 2 - 3 ครั้ง ถ้ามีรังไก่ฟักอยู่ใกล้ๆ เราๆ จะได้ยินโครกครากๆ แม่ไก่พลิกไข่เลื่อนไปเลื่อนมาเอาอันนอกเข้าข้างในเอาอันในออกข้างนอกเรื่อยๆ จับไข่ตั้งหลายๆ ครั้ง มันก็ให้ความถูกต้องทุกอย่างทุกประการแล้วลูกไก่ก็ทำลายเปลือกไข่ออกมาเป็นตัวลูกไก่พร้อมกัน แม่ไก่ไม่ต้องวุ่นวายใจว่าลูกไก่จงออกมาๆ อย่างนี้ไม่ต้องๆ เว้นแต่แม่ไก่บ้าที่มันจะเขี่ยลูกไก่จงออกมาๆ ทำหน้าที่ครบถ้วนถูกต้องอย่างเดียวกับโพชฌงค์ 7 ประการนี้มีความถูกต้องครบถ้วนดีแล้ว ลูกไก่ก็ออกมา คือการบรรลุธรรมะก็เกิดขึ้น ท่านจะสังเกตดูโดยความเป็นหมวดใหญ่ๆ หรือจะแยกออกเป็นเรื่องเฉพาะโดยละเอียดก็ได้ ขอให้เห็นชัดๆ อย่างที่กล่าวนี่ โพชฌงค์ 7 ในอานาปานสติ 16 ขั้น มันก็ 7 คูณ 16 ได้เท่าไรไปคิดดู มีความถูกต้องทุกขั้นตอนในเรื่องเพียงแต่ว่าลมหายใจยาวก็ทำให้มันถูกต้องครบถ้วน ลมหายใจสั้นกายทั้งปวงกายสงบระงับปีติสุขจิต สังขารระงับ จิตสังขาร จิตนานาชนิด จิตบันเทิง จิตตั้งมั่น จิตปล่อยวาง แล้วก็เห็นอนิจจังเห็นราคะ นิโรธะ มันมีโพชฌงค์น้อยๆ เติบโตขึ้นมาๆ เป็นโพชฌงค์สมบูรณ์ นี่ถ้าเห็นชัดอย่างนี้นั่นแหละคือปฏิบัติถูกต้องปฏิบัติสำเร็จปฏิบัติได้ผล สติปัฏฐาน 4 ทำโพชฌงค์ 7 ให้บริบูรณ์ ทีนี้ก็มาถึงข้อที่ว่าโพชฌงค์ 7 สมบูรณ์แล้ว ทำวิชชาและวิมุติให้สมบูรณ์ วิชชาคือความรู้ วิมุติคือความหลุดพ้น นี่เป็นคู่กัน สัมมายามะ รู้ถูกต้อง สัมมาวิมุติ หลุดพ้นถูกต้อง คือ 2 องค์ท้ายของ... (นาทีที่ 43.37) 10 คือว่าต่อจากอริยมรรคมีองค์ 8 มันก็มีอยู่ 2 องค์ คือว่าสัมมายามะ รู้ถูกต้อง สัมมาวิมุติ วิมุติถูกต้อง นี่แหละเรียกว่าโพชฌงค์ 7 ทำให้เกิดสัมมายามะและสัมมาวิมุติ ทีนี้ในโพชฌงค์ 7 เราไม่มีคำว่าวิชชาและวิมุติอยู่ที่ตรงไหน มันอยู่ที่ตรงไหน มันอยู่ที่อุเบกขาสัมโพชฌงค์ เป็นไปๆๆ ถึงที่สุดของธรรมะทุกอย่างที่มันถูกต้องแล้ว ถูกต้องด้วยความหมายแห่งอาตาปี สัมปชาโน สติมา วินัยยะโลเก อภิชฌา โทมนัสสัง นี่คือความหมายความถูกต้อง อาการแห่งความถูกต้อง ความถูกต้องที่กำลังเป็นไปๆ ที่เรียกว่าเป็นไปอย่างถูกต้อง ความรู้และก็ถึงสุดแห่งที่สุด ความวิมุติมันหลุดพ้นก็มันถึงที่สุด ทีนี้ก็มีจำกัดความไว้ว่าโพชฌงค์นั้นๆ จะมีผลเป็นวิชชาและวิมุติถูกต้องแท้จริงนี้ มีลักษณะเฉพาะที่ท่านได้กล่าวไว้เป็นหลักและสำคัญที่สุด คือว่ามันต้องเป็นไปเพื่อนิพพาน มันไม่เป็นไปเพื่อนิพพานก็ได้ มันไม่แน่นอนเพื่อนิพพานก็ได้ มันจะได้ไปเรื่องโลกๆ เลยก็ได้ อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า อานาปานสติ ธรรมะ 4 เกลอไปใช้อย่างโลกๆ ก็ได้ เดี๋ยวนี้จำกัดชัดตายตัวลงไปว่า มันจะต้องเป็นไปในทางที่เรียกว่า นิ... (นาทีที่ 45.56) อาศัยวิเวก มุ่งหมายวิเวก ... (นาทีที่ 46.02) อาศัยวิราคะมุ่งหมายวิราคะ นิโรธะ ..(นาทีที่ 46.08) อาศัยความดับ มุ่งหมายความดับ .. (นาทีที่ 46.12) เป็นไปเพื่อความสลัดลงๆๆ ตลอดเวลา วิเวกในที่นี้ก็เป็นชื่อของความหลุดพ้น วิเวกๆ มันเดี่ยวๆๆ อย่างยิ่ง เดี่ยวสุดเหวี่ยงเดี่ยวอย่างยิ่ง ถ้าไม่หลุดพ้นมันจะวิเวกอย่างไร ถ้ามันมีอะไรมาครอบงำควบคุมหุ้มห่ออยู่อย่างรกรุงรัง มันก็ไม่วิเวก มันก็ไม่ใช่วิเวก เราปฏิบัติธรรมะกันโดยมากไม่ใช่เพื่อวิเวก บำเพ็ญทานแลกสวรรค์ รักษาศีลเอาชื่อเสียงเอาหน้า ทำสมาธิเพื่อฤทธิ์เดชปาฏิหารย์ มีปัญญาเพื่อเอาเปรียบคนอื่น อย่างนี้ไม่ใช่วิเวก ทำกันอยู่อย่างไม่ใช่วิเวก ธรรมะอีกมากมายมหาศาลจะเรียกว่าศรัทธา สติ อะไรก็ตามคล้ายๆ กับมันไม่ได้มุ่งหมายวิเวกแล้วมันก็ไม่ใช่เพื่อผลอันนี้ ทุกธรรมะทุกหัวข้อธรรมะต้องมุ่งหมายวิเวก เรื่องจากอุปาทานแล้วก็มุ่งหมายวิราคะคือคลายออกๆ จางออกแห่งอุปาทานแห่งความผูกพันของความทุกข์ และก็มุ่งหมายความดับลงหรือความสิ้นสุดแห่งอุปาทานแห่งความทุกข์ จำไว้ 3 คำว่ามันเนื่องกัน วิเวกนั้นมุ่งหมายเดียวให้หลุดออกไป วิราคะจางคลายออกๆๆ หลุดออกๆๆ วิโรธะสิ้นสุดลงๆ แห่งปัญหา สิ้นสุดลงแห่งอุปาทาน ไม่มีอะไรเป็นปัญหา รวมความแล้วทั้ง 3 อย่างนั้นเป็นไปเพื่อ... (นาทีที่ 48.32) แปลว่าสละลง ปรินามี แปลว่าน้อมไปเพื่อ ...(นาทีที่ 48.40) จึงแปลว่าน้อมไปเพื่อสลัดลงๆๆ ก็คือปล่อยวางๆๆ เป็นอาการแห่งวิมุติ จะพูดอีกทีหนึ่งก็พูดได้ว่า เป็นไปเพื่อหรือน้อมไปเพื่อวิมุติ สลัดลงก็เป็นคำว่าโยนทิ้งๆๆๆ เรื่อยไปจนกว่าจะหมด เดี๋ยวนี้เราไม่ได้ทำเป็นทานรักษาศีลเจริญสมาธิภาวนาเพื่ออย่างนี้ มันเพื่อเอาเข้ามา เพื่อเพิ่มในสิ่งที่ต้องการ มันไม่มีวี่แววแห่งวิเวก .. (นาทีที่ 49.25) แม้แต่นิดเดียว มันตรงกันข้ามๆ โพชฌงค์อย่างนี้ไม่มี โพชฌงค์อย่างนี้ใช้ไม่ได้ โพชฌงค์ทั้งหลายจะต้องเป็นไปเพื่ออย่างที่ว่านี่ นั่นแหละที่ว่าโพชฌงค์ทำให้เกิดวิชชาและวิมุติ ทำวิชชาและวิมุติให้สมบูรณ์ เพราะว่าโพชฌงค์ทั้งหลายเหล่านั้นเป็นไปเพื่อวิเวก เป็นไปเพื่อวิราคะ เป็นไปเพื่อนิโรธ เป็นไปเพื่อความสละคืนและความสละคืน ท่านทั้งหลายลองกำหนดให้ดีๆ ทบทวนความเข้าใจดีๆ โดยย่อก็จะพูดกันอย่างนี้ว่า อานาปานสติสมบูรณ์โดยลำดับทั้ง 16 ขั้นๆ ปฏิบัติเต็มที่ทั้ง 16 ขั้นแล้ว หมวดกายมันก็ทำให้เห็นกายโดยความเป็นของไม่ใช่ตน หมวดเวทนาก็ทำให้เห็นเวทนาโดยความเป็นของไม่ใช่ตน หมวดจิตก็ทำให้เห็นจิตโดยความเป็นของไม่ใช่ตน หมวดธรรมก็ทำให้เห็นธรรมโดยความเป็นของไม่ใช่ตน เมื่อเรามีการกระทำที่เรียกว่าอาตาปี สัมปชาโน สติมา วินัยยะโลเก อภิชฌา โทมนัสสัง อยู่ทั้ง 4 หมวดก็ได้ ทั้ง 16 ขั้นก็ได้ ครั้นสติปัฏฐานเป็นไปอย่างนี้ เป็นไปในลักษณะอย่างนี้แล้ว โพชฌงค์ก็จะเกิดขึ้นมาหรือเป็นไปอยู่ในตัวโดยอัตโนมัติ สติก็ตั้งไว้อย่างเต็มที่แล้วในธรรมทั้ง 4 เรียกว่าสติสัมโพชฌงค์ ใคร่ครวญธรรมะอยู่ด้วยปัญญา ใคร่ครวญธรรมะทั้ง 4 อยู่ด้วยปัญญาก็เรียกว่าธรรมวิจยะสัมโพชฌงค์ ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อนในการทำเช่นนั้นเรียกว่าวิริยะสัมโพชฌงค์ ปีติปราศจากอามิสสินจ้างใดๆ เกิดขึ้นหล่อเลี้ยงความเพียรนั้น นี่เรียกว่าปีติสัมโพชฌงค์ กายและจิตของภิกษุผู้มีปีติก็ระงับๆๆ เรียกว่าปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ กายและจิตระงับก็มีความสุขหล่อเลี้ยงอยู่ จิตเป็นสมาธิเรียกว่าสมาธิสัมโพชฌงค์ มีสมาธิสัมโพชฌงค์ก็เป็นการวางมือหรือปล่อยวางได้ให้มันเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมะนั้นเรียกว่าอุเบกขาสัมโพชฌงค์ นึกไว้เสมอไอ้ 7 อย่างนี่นึกไว้เสมอเพื่อการทดสอบว่า เรามีแล้วหรือยังๆ มีโพชฌงค์ครบทั้ง 7 แล้วก็ยังจะทดสอบดูอีกทีหนึ่งว่า มันมีความมุ่งหมายหรือการกระทำหรือว่าผลของการกระทำก็ตามคือเป็นไปในลักษณะ... (นาทีที่ 53.34) หรือไม่ ถ้ามันเฉไปในทางโลกียะทางลาภสัการะทางผลได้เป็นเรื่องวัตถุธรรมารมณ์แล้วก็รีบๆๆ เปลี่ยน รีบจับเสียใหม่ เปลี่ยนกระแสเสียใหม่ให้น้อมมาทางนี้ ให้น้อมมาทางโลกุตระหรือนิพพาน อย่าให้เป็นไปเพื่อลาภสักการะ เกียรติยศชื่อเสียงใดๆ ที่กระทำกันโดยมาก ถ้าอาจารย์สอนวิปัสสนาแล้วลูกศิษย์ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาก็มุ่งลาภสักการะกันทั้งนั้น แล้วมันจะไปไหวมันจะไปได้อย่างไร ก็หมายความว่าทั้งคู่ทั้งอาจารย์ผู้สอนทั้งลูกศิษย์ผู้เล่าเรียนและปฏิบัติจะมุ่งหมายผลเป็นอมตะ คือการหลุดพ้นจากความทุกข์อันเป็นอมตะคือเป็นนิพพาน ถ้าให้สรุปว่าอีกครั้งหนึ่งก็ลองฟังดูดีๆ นะ ใจความทั้งหมด อานาปานสติแต่ละขั้นๆ ประพฤติปฏิบัติอย่างสมบูรณ์เป็นอาตาปี สัมปชาโน สติมา วินัยยะโลเก อภิชฌา โทมนัสสัง ท่านชำระอานาปานสติแต่ละขั้นๆ ให้มันเป็นอย่างนี้ เป็นทั้ง 16 ขั้นและทั้ง 4 หมวด ก็เกิดมีโพชฌงค์ทั้ง 7 เข้ามา โพชฌงค์ทั้ง 7 นี้ถ้าถูกต้องหรือเป็นไปอย่างถูกต้องอย่าให้อะไรเข้ามาแทรกแซง โพชฌงค์ทั้ง 7 ก็จะเป็นไปเพื่อวิเวก.. (นาทีที่ 55.54) โดยอัตโนมัติของคำว่าสัมโพชฌงค์องค์แห่งการตรัสรู้พร้อมถูกต้อง เดี๋ยวนี้มันมีโลกเข้าไปแทรกแซงมีกิเลสเข้าไปแทรกแซง มันไม่มีสัมโพชฌงค์เลยถ้าอย่างนั้น เมื่อมันเป็นไปอย่างถูกต้อง มีวิเวก มีวิราคะ เป็นต้นแล้ว มันก็จะนำออกเสียซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลก ด้วยอำนาจของคุณสมบัติแห่งโพชฌงค์นั้น แม้เราไม่ตั้งใจเจตนามันก็นำออกๆ เหมือนไข่ไก่ที่แม่ไก่ฟักดีแล้วมันก็ออก มันก็ออกมาโดยไม่ต้องสงสัย นี่คืออานาปานสตินำไปสู่การบรรลุมรรคผล คือนำไปผ่านโพธิปักขิยธรรมโดยครบถ้วน อานาปานสติทำให้สติปัฏฐาน 4 สมบูรณ์ในการทำอานาปานสตินั้นมี ... (นาทีที่ 57.12) 4 คือความพากเพียรสมบูรณ์ ในการทำอานาปานสตินั้นมีอิทธิบาท 4 สมบูรณ์ มีอินทรีย์และพละทั้ง 5 ครบ สติ วิริยะ สมาธิ ทั้ง 5 ที่ท่องกันอยู่ขึ้นใจ พอจะพูดมันก็ลืมได้ ไปเติมเอาเอง ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา อินทรีย์ 5 มันสมบูรณ์ ในลักษณะที่เป็นใหญ่เป็นประธานเรียกว่าอินทรีย์ ในลักษณะที่เป็นพละเป็นกำลังมันมีอินทรีย์มีพละสมบูรณ์ แล้วก็มีโพชฌงค์สมบูรณ์มีอริยมรรคมีองค์ 8 สมบูรณ์ ทั้ง 7 หมวด และ 37 ข้อนี้เรียกว่าโพธิปักขิยธรรม เกิดขึ้นมาได้โดยการทำอานาปานสติให้สมบูรณ์ ผ่านไปทางโพธิปักขิยธรรม จุดใจความสำคัญก็อยู่ตรงที่วิชชาและวิมุติที่เกิดขึ้นในระยะแห่งอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ท่านไปทบทวนดูโดยเฉพาะอย่างยิ่งหมวด 4 ของอานาปานสติ จะพบเหล่านี้ทั้งหมด หมวด 4 ขึ้นต้นด้วยอนิจจานุปัสสี เห็นความไม่เที่ยง เห็นความไม่เที่ยงมีความหมายมาก เห็นทุกขัง เห็นอนัตตา เห็น... (นาทีที่ 59.31) อย่างนี้เรียกว่าโพชฌงค์ครบอยู่ในนั้น แล้วมันก็มีวิราคะ วิราคะต่อจากเห็นอนิจจัง มีวิโรธะต่อจากมีวิราคะ แล้วก็มี... (นาทีที่ 59.58) นี่เรียกว่าหมวด 4 หมวดธรรมานุปัสสนา เป็นหมวดที่สรุปรวมแห่งธรรมทั้งหลายเหล่านี้ เป็นอันว่าเรารู้เรื่องดีที่สุดของอานาปานสติ เราปฏิบัติได้ดีถึงที่สุดในเรื่องอานาปานสติ แล้วเราก็เลยรับผลถึงที่สุดแห่งอานาปานสติ พูดเป็นครั้งสุดท้ายอีกทีหนึ่งว่า ปฏิบัติอานาปานสติแล้วก็ได้ธรรมะ 4 เกลอ คือ สติ ปัญญา สัมปชัญญะ และสมาธิ ธรรมะ 4 เกลอนี่เอาไปใช้เรื่องโลกก็ได้ มิใช่ความมุ่งหมายของพระพุทธเจ้าแต่ว่าเอาไปใช้ได้ อาวุธที่มันวิเศษเกินไปสำหรับใช้ในทางสูงเอามาใช้ในทางต่ำก็ได้ถ้ามันจำเป็น ก็เพื่อว่าไม่ต้องมีกันหลายชุดหลายระดับหลายระบบอะไรนัก เอาไปใช้ในเรื่องโลกทำมาหากินทำไร่ทำนาทำสวนค้าขายเป็นกรรมกรลูกจ้างก็ได้ เป็นศิลปินก็ได้ เป็นขอทานก็ได้ ถ้ารู้จักใช้ธรรมะเหล่านี้ สติ ปัญญา สัมปชัญญะ สมาธิ เอาไปรบราฆ่าฟันกันก็ได้อย่างที่กล่าวแล้ว ถ้ามันเป็นเรื่องดีก็ใช้หรือว่าจำเป็นจะต้องใช้ เรื่องโลกๆ หมดไปซีกหนึ่งฝ่ายหนึ่ง ทีนี้ก็เรื่องธรรมะเพื่อธรรมะเพื่อหลุดพ้นไปพระนิพพานก็อย่างที่อธิบายแล้วในวันนี้ว่า สติปัฏฐาน 4 สมบูรณ์ โพชฌงค์สมบูรณ์ วิชชาและวิมุติก็สมบูรณ์ เป็นอันว่าเราได้บรรยายกันแล้วครบแล้วทั้ง 2 ฝ่าย ใช้ประโยชน์ได้ทั้ง 2 ฝ่าย พูดได้ในลักษณะที่เรียกว่ามันพอๆ มีอานาปานสติที่แท้จริงที่ถูกต้องก็พอที่จะชนะโลกชนะอยู่ในโลก แล้วก็พอที่ชนะอยู่เหนือโลกๆ ขึ้นไป อยู่ในโลกก็อยู่ด้วยชัยชนะ เหนือโลกขึ้นไปก็ไม่มีปัญหาอะไร นี่นับว่าสมบูรณ์แล้วอานาปานสติกับโพธิปักขิยธรรมและการบรรลุธรรมในพระพุทธศาสนา นี่เป็นการบอกอานิสงส์ทั้งหมดของการที่ได้บรรยายมาได้ปฏิบัติมา ขอให้ท่านทั้งหลายประสบความสำเร็จดังที่กล่าวมานี้ ถ้าคราวนี้ไม่สำเร็จก็ขอให้ปฏิบัติต่อไปๆๆ จนสำเร็จ ที่นี่ก็ได้ที่ไหนก็ได้ ขอให้ทำซ้ำ...(นาทีที่ 60..3.21) ทำซ้ำทำให้มากทำให้ชนะทำให้คุ้นเคยมันก็จะต้องสำเร็จเข้าสักวันหนึ่งเป็นแน่นอน ขอให้สิ่งนี้ความหวังนี้สำเร็จๆ ไปตามความปรารถนา ให้ท่านมีความงอกงามก้าวหน้าเจริญไปในทางแห่งพระศาสนา บรรลุผลที่มุ่งหมายยิ่งๆ ขึ้นไปอยู่ทุกทิวาราตรีกาลเทอญ ขอยุติการบรรยาย