แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย การบรรยายในวันนี้จะได้กล่าวถึงการประยุกต์อานาปานสติกับปฏิจจสมุปบาท คือการใช้อานาปานสติกับปฏิจจสมุปบาท ที่แล้วมาเราได้พูดถึงปฏิจจสมุปบาทโดยประจักษ์ว่าคืออะไร ปฏิจจสมุปบาทโดยประยุกต์ การประยุกต์ปฏิจสมุบาทในชีวิตประจำวัน และก็พูดถึงอานาปานสติโดยประสงค์ ตามที่เราควรจะประสงค์ตามที่เรามีวัตถุประสงค์ วันนี้ก็จะพูดถึงการใช้อานาปานสติในกรณีอันเกี่ยวกับปฏิจจสมุปบาททุกกรณีไปเลย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในชีวิตประจำวัน ขอใช้คำว่าอาวุธเพราะว่ามันเป็นเครื่องมือสำหรับการแก้ปัญหา ในที่นี้ก็หมายถึงอาวุธที่ได้รับจากอานาปานสติหรือที่เรียกว่าธรรมะ ๔ เกลอ เมื่อได้ใคร่ครวญแล้วท่านจะเห็นได้เองว่าทำไมจะต้องใช้อาวุธ ๔ เกลอ ในเรื่องของปฏิจจสมุปบาททำให้เรารู้จักตัวปัญหา ในเรื่องของอานาปานสติก็คือใช้อาวุธตัดหรือแก้ปัญหา หรือเรียกว่ากำจัดความเลวร้ายก็คือความทุกข์ มันจะเกิดขึ้น ทีนี้ก็จะได้พูดถึงอาวุธนั้นกันโดยละเอียด โดยเฉพาะเจาะจงก็คือธรรมะทั้ง ๔ ได้แก่ สติ ปัญญา สัมปัชชัญญะ สมาธิ เพื่อให้รู้จักโดยชัดเจนอีกทีว่ามันคืออะไร แต่ละอย่างละอย่างมีหน้าที่อย่างไร มีความสามารถสักเพียงไหน แล้วเราก็จะดูกันโดยเฉพาะว่าจะใช้มันอย่างไร ในเวลาไหน เท่าไหร่หรือเพียงไร นี่ธรรมะ ๔ เกลอที่เราจะต้องรู้จักในฐานะที่เป็นอาวุธ เพื่อจะรู้จักธรรมะ ๔ เกลอนี้ดี ก็อยากจะพูดให้มันสิ้นเชิงลงไปถึงการที่มีธรรมะนี้อยู่โดยธรรมชาติ โดยธรรมชาติของสิ่งที่มีชีวิตตามธรรมชาตินี้อย่างหนึ่ง และก็โดยที่เราพัฒนา พัฒนา พัฒนามันขึ้นมาจนถึงขีดสูงสุดของมันนี้อีกอย่างหนึ่ง เราเรียกกันว่าโดยสัญชาตญาณคือมันติดมาในชีวิต ในกระแสแห่งชีวิตรู้สึกได้เองเกิดได้เอง ความรู้หรือสติปัญญาอย่างนี้ก็เรียกว่าสัญชาตญาณ มิใช่ว่าเราจะไม่มีธรรมะ ๔ อย่างนี้มาเสียเลย โดยธรรมชาติแท้ ๆชีวิตมันก็ต้องมีสิ่งนี้ มันต้องมีสติ ปัญญา สัมปัชชัญญะ สมาธิตามสมควร แต่มันไม่พอ ไม่พอที่จะแก้ปัญหาอันใหญ่หลวง จึงต้องพัฒนา เด็กทารกมันก็มีสติระลึกอะไรได้ ก็เร็วพอสมควรเหมือนกัน ก็เร็วไม่พอสมควรมันก็อันตรายมันก็อาจจะตายเสียก่อน ถ้ามันไปจับไฟ ถ้าเด็กทารกไปจับไฟมันก็มีสติพอที่จะรู้จักชักมือออกมาเสียจากไฟ ปัญญามันก็ค่อย ๆ รู้อะไรเพิ่มขึ้นมาตามธรรมชาติที่ว่า การสัมผัสสิ่งใด ๆ มันก็ทำให้เกิดความรู้ในสิ่งนั้น ๆ นั้นเด็ก ๆ ก็ค่อย ๆ มีความรู้ขึ้นมาตามลำดับว่าอะไรเป็นอย่างไร อะไรเป็นอย่างไร ความผิดพลาดที่เคยมีมาแล้วมันก็รู้ อันตรายที่ได้ผ่านมาแล้วมันก็รู้นี่ก็เป็นปัญญาตามประสาเด็ก ก็อย่าลืมว่านั่นแหละคือเมล็ดพืช เมล็ดพืชที่มันจะงอกงามมาเป็นปัญญาอันใหญ่หลวง สัมปัชชัญญะความรู้สึก รู้สติ ปัญญาเฉพาะกิจเฉพาะหน้าที่ในขณะที่มีการเผชิญกันกับศัตรู เด็ก ๆ ก็มีมาพอสมควร และสมาธิเค้าก็มีกันมาตามลำดับของเด็ก ๆ มิฉะนั้นเค้าก็จะเล่นหยอดหลุมหรือทอยกองไม่ถูก หรือจะเอาก้อนอิฐขว้างนกซักตัวก็ไม่ถูก แต่เพราะว่าเด็ก ๆ ก็มีสมาธิตามธรรมชาติแบบนี้มาพอสมควร น่าจะคิดถึงข้อที่ว่าปลาบางชนิดเช่นปลาเสือ พ่นเม็ดน้ำขึ้นมาถูกแมลง ให้แมลงตกลงไปในน้ำแล้วก็กินเสีย มันเป็นสมาธิหรือไม่ มันเป็นเรื่องของสมาธิหรือไม่ใช่ เป็นสมาธิแบบประเภทเดียวกัน เพื่อจะชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่เรียกว่าสมาธินี่มันก็คู่กันมากับชีวิตโดยสัญชาตญาณนั่นแหละ ไม่เสียเวลาหรอกที่ท่านทั้งหลายจะย้อนกลับไปคิดถึงเรื่องของเด็ก ๆโดยเฉพาะตัวเราเอง เคยมีสติในแบบเด็ก ๆ อย่างไร มีปัญญาอย่างไร มีสัมปัชชัญญะอย่างไร มีสมาธิอย่างไร พอโตขึ้นมาไปโรงเรียนได้มันเริ่มมีมากขึ้น เหตุการณ์หรือสถานการณ์ในชีวิตมันบังคับอยู่ในตัว มันก็งอกงามออกมาเพิ่มขึ้น มีสติปัญญา สัมปัชชัญญะ สมาธิมากกว่าเดิม ถ้าได้โรงเรียนที่ดีการสั่งสอนฝึกฝนอบรมที่ดีมันก็มีมากและมีเร็วจนเรียกว่ามีพอที่เราจะดำเนินชีวิตอย่างโลก ๆ อยู่ที่บ้านอยู่ที่เรือน คืออยู่ในโลกของปุถุชนด้วยกัน อย่างนี้เรียกว่าอาวุธ อาวุธตามธรรมชาติหรือธรรมะ ๔ เกลอนี่มันมี มันมี จะต้องสนใจเอามาพัฒนา พัฒนาให้สมบูรณ์ให้ถึงขนาดที่เรียกว่าสมบูรณ์แบบ พัฒนาสติปัญญา สัมปัชชัญญะ สมาธิ ในขณะแห่งอานาปานสติทำกันได้อย่างไร ถ้าท่านไม่เหลวไหล ทำอานาปานสติเป็นอานาปานสติตามที่กำหนดกันแล้วว่าอย่างไร จะเห็นว่าสิ่งที่เรียกว่าสติมันมีทุกขั้นทั้ง ๑๖ ขั้น มันเป็นการทำสติทั้ง ๑๖ ขั้น ในลมหายใจที่สั้นที่ยาว ในกายเนื้อหนังที่สำคัญกับลมหายใจ ความระงับแห่งลมหายใจเป็นความระงับแห่งกายเนื้อ ในเวทนา ทั้งในปีติ ทั้งในสุข ทั้งในการที่มันเป็นกิจสังขาร และระงับกิจสังขารเหล่านั้น ทำสติในทุกชนิด ทุกชนิดของจิต และการบังคับจิตให้ปราโมทย์ มันฝึกสติเหลือประมาณ ให้ตั้งมั่น ให้สมควรแก่การงาน ให้ปล่อย มันเป็นสติและมันละเอียดปราณีตสุขุม ขึ้นมาถึงขั้นที่จะกำหนดอนิจจังไม่เที่ยง สติละเอียด ปัญญาต้องละเอียด สัมปัชชัญญะต้องละเอียด สมาธิก็ถึงขั้นละเอียด ทั้ง ๑๖ ท่านต้องอานาปานสติ เป็นการฝึก สติอย่างยิ่ง สมชื่อที่มันเรียกว่าอานาปานสติ คือมีสติทุกครั้งที่หายใจเข้าออก ทุกครั้งที่หายใจเข้าออกเลย ฟังดูให้ดี ๆ มันมีสติที่เราฝึกให้มี ทุกครั้งที่หายใจเข้าออก และก็ฝึกอยู่เป็นเวลานาน นานพอสมควร นั้นก็เรียกว่ามีสติทั้งเนื้อทั้งตัว แคล่วคล่องว่องไวมากมาย แต่ว่าเรื่องของสตินี่ เรามุ่งหมายความเร็ว ความไว มากกว่าอย่างอื่น เป็นว่าเมื่อได้ผ่านการฝึกอานาปานสติแล้ว สตินี่มันมาก มันเร็ว และมีกำลัง มีพละเป็นอินทรีย์มีอะไรขึ้นมา มีอย่างมากมายมหาศาลทีเดียว เป็นอันว่ามีสติที่จะพัฒนาขึ้นแล้วอย่างสมบูรณ์ ทีนี้ก็มาถึงปัญญา ปัญญา ในการฝึกอานาปานสติทั้งสาย ไปรวมอยู่ที่หมวดสุดท้าย ๔ ข้อ เป็นปัญญาแล้วสูงขึ้น สูงขึ้น จนถึงที่สุด นั่นมีปัญญาไปรวมอยู่ที่หมวดสุดท้าย แต่อย่าลืมว่ามันมีทุกหมวดทุกขั้นตอน ตอนต้น ๆมันก็มี เพราะมันมีปัญญาตั้งแต่บ้านแล้วที่จะไปฝึกอานาปานสติ ถ้ามันโง่มันไม่ต้องการไปฝึกอานาปานสติ ปัญญาชักเข้ามาหาการปฏิบัติธรรมนี้ก็เป็นปัญญา รู้จักกระะทำ รู้จักฝึก รู้จักฝึกให้มันตรงตามความจริง ความลับของธรรมชาติเหล่านี้มันก็เป็นปัญญา เป็นปัญญาโดยอ้อม ปัญญาชนิดประกอบอยู่ตลอด ตลอดสายเหมือนกัน มีสัมปัชชัญญะ รู้สึกตัวทั่วพร้อม ก็คือปัญญาที่เอามาเฉพาะโดยสติเอามาแล้วก็ทำเป็นสัมปัชชัญญะเป็นปัญญาที่เหมาะสม ปัญญาที่ละเอียดอ่อน ปัญญาที่ว่องไวรวดเร็ว คมกล้าในการที่จะเลื่อนชั้น ใช้คำว่าแก้ปัญหาก็ได้ ที่จะกำหนดให้ดีขึ้น ดีขึ้น ดีขึ้นทุกขั้นตอนนี่มันเป็นปัญญาที่มีมากขึ้น มากขึ้น สุดแต่ว่าจะรู้ว่าลมหายใจเป็นอย่างไร ลมหายใจยาวมีลักษณะมีอิทธพลมีอะไรอย่างไร ลมหายใจสั้นมีอย่างไร รวมกันมันมีอย่างไร ความจริงที่มันสัมพันธ์กันระหว่างกายทั้งสองมันอย่างไร อันนี้เป็นปัญญา ปัญญา โดยสัมปัชชัญญะ ในนามของสัมปัชชัญญะ ละเอียดอ่อนเฉพาะกรณี เฉพาะกรณีนั้น จึงเป็นการฝึกสัมปัชชัญญะอย่างยิ่ง โดยหัวใจของสิ่งที่เรียกว่าสติปัฏฐาน สัมปะชาโน สะติมา วิเนยยะ โลเกอะ ภิชฌาโท มะนัสสัง (นาทีที่00:17: 07) มีสัมปัชชัญญะ มีสตินำออกเสียได้ซึ่งอวิชชาและโทมนัสในโลก มันคือทั้งหมด มันทั้งหมด การที่จะนำอวิชชาและโทมนัสออกเสียได้นี่มันเป็นปัญญาอย่างละเอียดอ่อนคือสัมปัชชัญญะ ท่านจึงได้ใช้คำว่ามีสัมปัชชัญญะมีสติ จะนำออกเสียซึ่งอวิชชาและโทมนัสคือความรู้สึกบวกลบ ขึ้นลง พอมาถึงสมาธิ เริ่มเป็นสมาธิไม่น้อยไปตั้งแต่เริ่มกำหนด พอสักว่ากำหนดมันก็เป็นสมาธิ มันมีสมาธิน้อย น้อย น้อยเรื่อยไปตั้งแต่ขั้นที่หนึ่ง ที่สองที่สามไปจนถึงขั้นสุดท้าย ขั้นที่หนึ่งถึงขั้นที่สิบสามเป็นเรื่องของสมาธิสุดเหวี่ยงเต็มที่ พอถึงขั้นที่สิบสี่ขึ้นไปก็เป็นเรื่องของวิปัสนา เข้ามากลมกลืนกันกับสิ่งที่เรียกว่าสมาธิ เป็นสมาธิที่แฝดกันอยู่กับปัญญา ตอนนี้สำคัญมาก สมาธิถ้าอยู่เป็นสมาธิก็เท่านั้น ไม่ทำอะไรวิเศษไม่ได้ พอมาแฝดกันกับปัญญา คือทำงานร่วมกัน เป็นตอนทำประโยชน์ ดูเครื่องยนต์ดูง่าย ๆ ว่าเครื่องยนต์ มันหมุนอยู่เฉย ๆ หมุนอยู่เฉย ๆไม่มีโหลดไม่มีบรรทุก ไม่มีการสัมพันธ์กับอะไรเป็นสมาธิ มันจะมีกำลังมันก็ไม่มีประโยชน์อะไร จนกว่ามันจะมีโหลดเท่ากับอะไร ก็ทำให้เครื่องนั้นหมุนไป ทำงานทำหน้าที่ นี่มันเป็นมีประโยชน์ สมาธิล้วน ๆ มันก็สงบ พักผ่อน จะเข้าไปทำหน้าที่ร่วมกับปัญญา ติดแน่นแฝดกันอยู่ จนต้องเรียกว่า อนันตริยสมาธิ สมาธิไม่มีช่องว่างอนันตริกะสมาธิก็เรียก สมาธิไม่มีช่องว่าง เพราะมันแนบสนิทกันอยู่กับปัญญานี่เป็นสมาธิสูงสุด เป็นธรรมะสูงสุด จนมีกล่าวไว้หรือตรัสไว้ ไม่มีสมาธิไหนจะประเสริฐสูงสุดเท่าอนันตริยสมาธิ เมื่อพระไปเจริญสวดมนต์เย็นที่บ้านให้ฟังทุกคราวที่สวดมนต์บ้านก็มีสวดบทนี้ เสมอ (บทสวด นาทีที่ 00:20:23)ไม่มีสมาธิไหนเสมอเหมือนอนันตริยสมาธิ แต่เราก็ไม่รู้เรื่องเราก็ไม่รู้เรื่องว่ามันคืออะไร ก็เป็น(นาทีที่ 00:20:34)ทั้งผู้สวดและผู้ฟัง ที่จริงเป็นเรื่องที่ต้องไปบอกกล่าวกันอยู่เสมอว่า มีสมาธิที่แฝดกันอยู่กับความรู้หรือวิชาความรู้ มันจึงจะสำเร็จประโยชน์หรือทำหน้าที่ตามที่สอนการ อย่างที่ว่าเครื่องยนต์มันมีโหลดทำงาน กินข้าวหรือเลื่อยไม้อะไรก็ตาม กับเครื่องยนต์ที่มันหมุนอยู่เฉย ๆ มันมีประโยชน์อะไร ขอให้เรารู้จักใช้สมาธิ กำลังของสมาธิ ให้ควบคู่กันกับปัญญา มันเห็นง่าย ๆ ปัญญามันเหมือนกับความคม สมาธิมันเหมือนกับน้ำหนัก นี่ก็เคยพูดกันมาบ้างแล้ว ถ้ามีแต่ความคม คมเท่าไรก็ตามถ้ามันไม่มีน้ำหนักที่จะกดความคมลงไปมันก็ไม่ตัดอะไร คมเฉย ๆ เหมือนคมเป็นหมัน ก็เมื่อมีน้ำหนักกดความคมลงไปมันจะตัด น้ำหนักมากเท่าไหร่มันก็เกิดความคม สำเร็จประโยชน์จากความคมขึ้นมา แม้ไม่คมเฉียบเป็นมีดโกน ทื่อๆ อย่างเหล็กจะทิ่มถ้ามันมีน้ำหนักมากมายมหาศาลมันก็ตัดได้ เพราะว่ามันมีน้ำหนักความคมจึงจะทำหน้าที่ เอาน้ำหนักกับความคมบวกกันเข้าแล้วมันจะมีการตัด ตัดขาดออกไป นี่เรามีสมาธิเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้นตั้งแต่ขั้นที่หนึ่งจนถึงขั้นที่สิบสาม บวกความคมคือวิปัสนาเข้าไป ตั้งแต่ขั้นที่สิบสี่จนถึงขั้นที่สิบหกก็สมบูรณ์ มี ๔ เกลอ สติ ปัญญา สัมปัญชัญญะ สมาธิ ชนิดที่พัฒนาแล้ว พัฒนาแล้วมันเป็นภาวิสะ (นาทีที่ 00:23:07) แปลว่าพัฒนาแล้ว ก็สำเร็จประโยชน์ นี่เอามาเปรียบเทียบกันให้เห็นว่า ธรรมะ ๔ เกลอนี่มันคู่กันมากับชีวิตตามธรรมชาติ โดยสัญชาตญาณนกหนูมันก็มีลักษณะอาการสี่อย่างนี้ คนก็มีแต่มันไม่สมบูรณ์ มาทำให้มันสมบูรณ์ ในขั้นที่จะทำหน้าที่สูงสุด คือกำจัดกิเลสกำจัดความทุกข์ เพื่อเป็นพระอริยเจ้า ตรงนี้ต้องกำหนดกันไว้ให้ดีก่อนว่าจะใช้อย่างไร อย่างโลก ๆ ต่ำ ๆ ธรรมมดานี้ก็ได้ จะใช้อย่างขั้นสูงเพื่อเป็นพระอริยเจ้านั้นก็ได้เหมือนกัน นี่เรียกว่าเรารู้จักอาวุธทั้งสี่ดีแล้ว ขนาดเป็นคู่ชีวิตเป็นธรรมะ ๔ ่เกลอ คือสติ ปัญญา สัมปัญชัญญะ สมาธิ แล้วต้องรู้ด้วยว่ามันยังมีที่ปลีกย่อยที่แฝงที่ประกอบกันอยู่นั้นอีกมาก ไม่ใช ๔ ่เกลอล้วน ๆ แต่เดี๋ยวนี้หยิบขึ้นมาพิจารณาเพ่งเล็งกันเฉพาะที่เป็นชิ้นหลัก ๆ ถึงเรียกว่า ๔ เกลอ ยังมีธรรมะอุปกรณ์อย่างอื่นที่คอยเกิดพร้อมกันอีกมากมายมหาศาลหลายอย่าง หลายสิ่งอย่าง เป็นเพื่อนคู่หูกันมาด้วยกันเกิดด้วยกันนี่ เรียกว่าธรรมสมังคี มีรวมกันมา สติก็มี อะไรเป็นธรรมสมังคีอีกหลายอย่าง ปัญญาก็มีหลายอย่าง สัมปัญชัญญะก็มีหลายอย่าง สมาธิก็มีหลายอย่างแจกชื่อออกไป เดี๋ยวจะเป็นอภิธรรมเฟ้อ ขอเรื่องนี้ไว้ก่อนยังไม่พูด ทีนี้ก็มาดูกันต่อไปว่าจะเอาอาวุธ ๔ เกลอมาจัดการอย่างไรมาใช้ประโยชน์อย่างไร ในชั้นแรกนี่จะจัดการกับปัญหาที่อยู่ในรูปที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท เหตุการณ์เลวร้ายที่เป็นไปในชีวิต เป็นที่ตั้งแห่งเหตุการณ์จะมองไปในแง่ปฏิจจสมุปบาทอย่างที่กล่าวมาแล้วก็ได้ หรือจะมองในแง่ของเบญจขันธ์ คือขันธ์ ๕ ก็ได้ มันเรื่องเดียวกัน มองในปฏิจจสมุปบาทก็เป็นปฏิจจสมุปบาท มองในลักษณะเบญจขันธ์มันก็เป็นขันธ์ ๕ จะต้องใช้มันทั้งในลักษณะที่เป็นปฏิจจสมุปบาทและเป็นขันธ์ ๕ ทีนี้จะพูดถึงในลักษณะที่เป็นปฏิจจสมุปบาทกันก่อน ปฏิจจสมุปบาทพูดมาแล้วโดยละเอียดในการบรรยายครั้งก่อนโน้น เอาความรู้ ๔ เกลอนี้มาจัดการกับปฏิจจสมุปบาท แม้แต่ในขั้นที่มันยังเป็นเพียงอายตนะ ที่เป็นเพียงอายตนะ อาศัยการกระทบกันระหว่างอายตนะภายในกับอายตนะภายนอก ก็เกิดวิญญาณเพียงเท่านี้ก็เป็นปฏิจจสมุปบาทแล้ว ๑๑ คู่ คู่ใดคู่หนึ่งก็เป็นปฏิจจสมุปบาททั้งนั้น พูดกันง่าย ๆ ก็เอาปฏิจจสมุปบาทที่พระพุทธเจ้าชอบตรัสว่าบทสวด (นาทีที่ 00:27:56) ให้ถึงกันเข้าระหว่างจักษุกับตา ตากับจักษุก็เกิดจักขุวิญาณ ถ้าไม่เข้าใจก็ไม่เข้าใจ ตากับรูปถึงกันเข้าจึงเกิดจักขุวิญญาณ ไม่ใช่วิญญาณเกิดอยู่ก่อนแล้ว ไม่ใช่พวกฮินดูฝ่ายโน้นมีอาตมันอยู่ก่อนแล้ว มีวิญญาณอาตมันอยู่ก่อนแล้ว ไม่ ไม่ เราไม่มี อาศัยตากับรูป อายตนะภายในกับอายตนะภายนอกถึงกันเข้าก็เกิดวิญญาณ แม้เพียงขั้นแรกขั้นต้นขั้นเดียวกันอย่างนี้ก็ยังจะต้องใช้ ๔ เกลอ สติ ปัญญา สัมปัชชัญญะ สมาธิ มาควบคุมเมื่อมันเกิดแม้แต่เพียงจักขุวิญญาณ เพื่อไม่ให้มันเกิดการผิดพลาดขึ้นมา ๓ ประการทำงานกันอยู่เรียกว่าผัสสะ ก็ควบคุมผัสสะ ผัสสะเกิดเวทนาก็ควบคุมเวทนา เป็นทีละอาการทีละอาการ อย่างนี้ก็ได้ ควบคุมตลอดสายก็ได้ แล้วมันก็จะฉลาดมากที่รู้จักควบคุมเสียตั้งแต่เบื้องต้น ถึงแม้ว่ามันยังไม่อาศัยกันไม่เนื่องกันเป็นจักขุวิญญาณก็ควรได้รับการควบคุม ตาก็ดีรูปที่จะมากระทบตาก็ดี เรามีธรรมะ ๔ เกลอควบคุมมันซะแต่เนิ่น ๆ ก็ยังได้ ไม่ใช่ทำไม่ได้ ก็เพื่อมันจะไม่เกิดความยุ่งยากหรือเป็นปัญหา ให้มันเป็นตาที่ฉลาด ให้มันเป็นรูปที่ไม่มีอันตราย นี่เรียกว่าควบคุมเกี่ยวกับปฏิจจสมุปบาท แต่ละอย่าง แต่ละองค์ แต่ละองค์ ละองค์ของปฏิจจสมุปปันนธรรม ปัฏิจจสมุปบาทประกอบขึ้นด้วย ปฏิจจสมุปปันนธรรม ๑๒ อย่าง แต่ละอย่างละอย่างคุมมันได้ ทีนี้ก็มาควบคุมเมื่อมันเนื่องกันมันทำหน้าที่ปรุงแต่งกันปรุงแต่งกันจนเกิดกระแส กระแสแห่งปฏิจสมุบาท ควบคุมอย่างเดียวควบคุมอย่างเดียวก็ควบคุมได้ ควบคุมเมื่อมันเนื่องกันเป็นกระแส ก็ควบคุมกระแสมันก็ทำได้เหมือนกัน ทีนี้จะต้องดูกันให้มันชัดเจน ทั้งที่มันเป็นอย่างเดียว อย่างเดียวเลย มันเนื่องกันเป็นกระแส กระแสอย่างไร เมื่อมัยังอยู่เป็นอย่าง ๆ มันไม่มีฤทธิ์เดชอะไร พอมันรวมเป็นกระแสมันจะพลัดสู่ความตาย ควบคุมเมื่อเป็นอายตนะอยู่ อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ที่นี้พอมันเกิดผัสสะแล้ว อายตนะภายในอายตนะภายนอก วิญญาณผสมกันทำหน้าที่เป็นผัสสะ นี่จะต้องควบคุมผัสสะสติต้องมาทันเวลา เอา ๔ เกลอมาจัดการกับผัสสะให้เป็นผัสสะฉลาด ให้เป็นวิชาสัมผัส คือสัมผัสด้วยวิชาอย่าให้เป็นอวิชาสัมผัส สัมผัสด้วยอวิชาคือความโง่ อย่าให้มันเป็นผัสสะโง่ แต่ให้มันเป็นผัสสะฉลาด ผัสสะฉลาดจะไม่หลง ไม่หลงในเวทนาหรือไม่ทำให้เกิดเวทนาที่เป็นที่ตั้งแห่งความหลง เมื่อผัสสะฉลาดเวทนาก็ฉลาด คือไม่หลอก ถ้าผัสสะมันโง่มันก็เกิดเวทนาหลอกเป็นน่ารักเป็นไม่น่ารัก คือเป็นบวกและเป็นลบ ก็มีเวทนาฉลาด ไม่เป็นเวทนาโง่ไปหลงรักไปหลงเกลียด ไปยินดียินร้าย ทีนี้เวทนามันให้เกิดตัญหา นี้ค่อนข้างจะโลดโผนเหมือนกับไฟไหม้บ้านมันยุ่งยากลำบากก็ยังควบคุมได้ ควบคุมความอยาก อย่าให้เกิดอุปาทานคือความยึดมั่น ความเข้าไปจับฉวยเอาด้วยความโง่ สติ ปัญญา สัมปัชชัญญะ สมาธิควบคุมตัญหา แต่ถ้าไม่รู้จักและไม่มีความเข้มแข็งอย่างธรรมะ ๔ เกลอมันไม่มีทาง มันไม่มีทางที่จะควบคุม ทีนี้ถ้าเกิดอุปาทานไปแล้ว มันไม่ไม่แล้ว มันเป็นความทุกข์อยู่ในตัวนั่น ในตัวอุปาทานเองแล้ว ก็ควบคุมไม่ไหวแล้ว อุปาทานมีความทุกข์ผสมอยู่ในตัวอุปาทาน ควบคุมแก้ไขอะไรไม่ได้ นอกจากบรรเทา ๆ บรรเทาให้ลดน้อยลง ให้มันมีแต่น้อย ๆ มันเป็นทุกข์เสียแล้ว มันเป็นทุกข์เสียแล้ว ดึงกลับมาอย่าให้มันก้าวหน้าไป ทำอย่างนี้เรียกว่าเราใช้อาวุธวิเศษคือธรรมะ ๔ เกลอ จัดการลงไปกับสิ่งที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท ควบคุมมันให้ได้อย่าให้มันเกิดเป็นความทุกข์ขึ้นมา พูดไปในแง่ที่ว่าควบคุมปฏิจจสมุปบาท ซึ่งมันก็มีคำพูดมาก ปฏิจจสมุปบาทมันมีคำพูดมาก แต่มีอีกทางหนึ่งซึ่งจะสามัญธรรมดากว่า และพูดกันก็ง่ายกว่าก็คือควบคุมเบญจขันธ์ ปัญจขันธ์มันเรื่องเดียวกันถ้ามีปฏิจจสมุปบาทมันก็มีเบญจขันธ์ ขอให้สนใจเป็นพิเศษซักหน่อยในคำว่าเบญจขันธ์มันคืออะไร เดี๋ยวนี้ยังไม่มีความรู้เรื่องเบญจขันธ์ยังเข้าใจผิด เข้าใจว่าเบญจขันธ์เกิดอยู่ตลอดเวลา เบญจขันธ์เกิดพร้อมกันทั้ง ๕ อย่างนี้ เรียกว่ามันหลับตาไม่รู้เรื่องเบญจขันธ์ เบญจขันธ์ก็เกิดอย่างเดียวกับปฏิจจสมุปบาท เรามองในแง่อื่น เราจึงมองเห็นเป็นเบญจขันธ์ ขอแยกแยะให้เห็น ว่าทำไมเรียกว่าเบญจขันธ์ เหตุไร อย่างไรถึงเรียกเบญจขันธ์ เมื่ออายตนะภายในเช่นตาเป็นต้น ทำหน้าที่ร่วมกันกับอายตนะภายนอก เช่นรูป เป็นต้น อายตนะในนอกสองอย่างทำหน้าที่ ปฏิจจ ปฏิจจคือเนื่องกัน อย่างนี้เรียกว่ารูปขันธ์มันเกิดแล้ว รูปขันธ์มันเกิดแล้ว เกิดในภาษาธรรมะชั้นสูงไม่ใช่เกิดจากท้องแม่ แต่มันเป็นอาการที่ทำหน้าที่ เมื่อมันเงียบอยู่มันไม่ทำหน้าที่ ก็เรียกว่าไม่เกิด ไม่ได้เกิด พอมันทำหน้าที่ก็เรียกว่าเกิด เช่นตามันมีอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าตายังไม่ทำหน้าที่ เรียกว่าตายังไม่เกิด พอตาทำหน้าที่ถึงจะเรียกว่าตาเกิด เด็กๆ หรือคนโง่ก็เถียงว่าฉันมีตาอยู่ตลอดเวลาทำไมว่าตาไม่เกิด นั่นมันภาษาเด็ก ภาษาธรรมะต่อเมื่อตาทำหน้าที่ ตาจึงจะเกิด เมื่อหูทำหน้าที่เรียกว่าหูเกิด จมูกลิ้นอะไรก็ตามเมื่อทำหน้าที่เรียกว่ามันเกิด ถ้าไม่อย่างนั้นมันมีลักษณะไม่เรียกว่าเกิดในที่นี้ มันเป็นภาพตามธรรมชาติอยู่มันไม่เรียกว่าเกิด ต่อเมื่อมันทำหน้าที่ก็เรียกว่าเกิด จึงมีคำพูดที่เด็ก ๆ ฟังไม่ถูกว่าตาเกิดตาดับ หูเกิดหูดับ จมูกเกิดจมูกดับเด็ก ๆ ฟังไม่ถูก คนโตที่โง่ที่ไม่เคยเรียนธรรมะมันก็ฟังไม่ถูก ตาเกิดตาดับ หูเกิดหูดับ (นาทีที่ 00:38:21)..........ถ้ามันทำหน้าที่มันลุกขึ้นมาทำหน้าที่ก็เรียกว่ามันเกิด พอมันไม่ทำหน้าที่มันหยุดก็เรียกว่ามันดับ เดี๋ยวมันก็เกิดอีกเดี๋ยวมันก็ดับอีก เกิดดับเกิดดับอยู่ตลอดเวลา มีรูปพรรณมันเกิดอายตนะภายในกับอายตนะภายนอกถึงกันเข้าและทำหน้าที่ก็ตามพระบาลี(นาทีที่ 00:38:46)......... ตากับรูปอาศัยกันย่อมเกิดจักขุวิญญาณ เกิดจักขุวิญญาณ ก็วิญญาณเกิด รูปขันธ์เกิดแล้วมันก็เกิดจักขุวิญญาณ เกิดวิญญาณ วิญญาณขันธ์เกิด แต่วิญญาณขันธ์มันหลายหน มันทำหน้าที่หลายหน ในขณะสัมผัสทีแรก ตา วิญญาณทางตาทำหน้าที่เห็นรูปเห็นแสงเห็นสีเห็นขนาด แล้วมโนวิญญาณทำหน้าที่อีกทีที่เห็นเป็นรูปนั้นขนาดนั้นมันคืออะไร มโนวิญญาณมันทำหน้าที่ วิญญาณเกิดได้หลายครั้ง ครั้นว่ามันเกิดผัสสะ เกิดผัสสะแล้ว ก็เกิดเวทนา เวทนาขันธ์ ถ้าผัสสะโง่ก็เกิดเวทนาน่ารัก เวทนาไม่น่ารัก ถ้าผัสสะฉลาดมาแต่ทีแรกเพราะอำนาจ ๔ เกลอ เวทนามันก็ไม่โง่ไม่หลงเป็นน่ารัก แต่ก็ยังเรียกว่าเวทนา เวทนาเกิดทำให้รู้สึกว่าน่ารักหรือไม่น่ารัก ถ้ามันโง่ก็ยึดถือเป็นเวทนาอุปาทาน เวทนูปาทานขันธ์ ถ้าไม่ได้ยึดถือมันก็เป็นเวทนาขันธ์เฉย ๆ ครั้นเกิดเวทนารู้สึกอย่างไรขึ้นมาแล้ว ถ้ามันโง่มีอวิชชามันก็หมายมั่น หมายมั่นมันลงไปในเวทนานั้นว่าเป็นเวทนานั่นนี่ขึ้นมา นี่เรียกว่าสัญญาขันธ์เกิด หมายมั่นว่าเวทนาสุข เวทนาทุกข์ เวทนาน่ารัก เวทนาน่าพอใจ เวทนาของหญิง เวทนาของชาย เวทนาอย่างโน้นอย่างนี้ที่เป็นที่รักที่พอใจ ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่พอใจ สัญญาขันธ์คือความมั่นหมายลงไปในเวทนานั้น ตัวสัญญาณแปลว่ามั่นหมาย แต่มั่นหมายไปตามความจำที่ได้สะสมมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก นั้นก็เรียกว่าความจำ สัญญาอย่างนั้นไม่มีฤทธิ์เดช ความจำสัญญาที่เป็นความจำมันช่วยให้เกิดเกิดสัญญามั่นหมาย มั่นหมายเป็น(นาทีที่ 00:41:21)......... สำคัญมั่นหมายว่าเป็นอะไร สำคัญมั่นหมายว่าสุข สำคัญมั่นหมายว่าทุกข์ และก็มั่นหมายลึกไปว่าหญิงว่าชาย รุนแรงไปทุกที สัญญาขันธ์เกิด สัญญาขันธ์หมายมั่นลงไปในเวทนาทุกรูปแบบไม่ว่าบวกหรือลบ ไม่ว่าในทางดีหรือทางร้าย พอสัญญาขันธ์มั่นหมาย มั่นหมาย มีอำนาจมีฤทธิ์เดชเต็มที่แล้วมันก็เกิดความคิดปรุงแต่งไปตามอำนาจสัญญานั้นนี่เรียกว่าสังขารขันธ์ สังขารขันธ์ปรุงแต่งขึ้นมาเป็นรูปของความคิด แล้วมันก็จะปรุงแต่งไปในรูปกรรม เป็นมโนกรรม วจีกรรม กายกรรมต่อ ออกไปอีก สัญญาขันธ์นั่นทำให้เกิดสังขารขันธ์เพราะมันทำหน้าที่สัญญาขันธ์มันเป็นสังขารขันธ์แล้วสัญญาขันธ์ก็ดับไป สังขารขันธ์ก็เกิดอยู่แทน เบญจขันธ์คืออย่างนี้ ทีนี้ไอ้วิญญาณขันธ์เอามาไว้รั้งท้าย มาไว้รั้งท้ายที่จริงมันเกิดตั้งแต่ต้น อายตนะภายในภายนอกถึงกันเกิดวิญญาณแล้วมันเกิด เกิดอีกหลายหนเกิดทุกเมื่อ มโนวิญญาณสัมผัส ปัญจวิญญาณทำหน้าที่แล้วไม่มีประโยชน์ไม่มีความหมายต้องมโนวิญญาณเข้าไปสัมผัสอีกที มันจึงจะมีความหมายเป็นนั่นเป็นนี่ขึ้นมา แล้วมโนวิญญาณนี่มันยังสัมผัสเรื่อยๆ มา จะสัมผัสในเวทนา สัมผัสในสัญญาก็ยังได้ มีรูปแบบเป็นสัมผัสโง่สัมผัสฉลาด ทุกทีที่มีสัมผัสมันต้องมีวิญญาณ เรียกว่าวิญญาณขันธ์ มันชวนฉงนว่าวิญญาณทำไมมาไว้รั้งท้าย ทั้งที่เกิดแต่ทีแรก มาไว้รั้งท้ายเพราะมันเกิดได้ทุกขณะ จนไม่รู้ว่าจะบัญญัติหน้าที่ให้ที่ตรงไหนเอามาไว้รั้งท้ายก็ถูกแล้ว ให้ท่านสังเกตุดูให้ดีว่ามันจะเกิดรูปขันธ์ทำหน้าที่ขึ้นมาแล้วเกิดเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์แล่นตลอดไปแล่นตลอด เรียกว่าเบญจขันธ์ ปัญจขันธ์ แต่โดยเหตุที่ว่าเรามีอวิชามาเป็นสมบัติดั่งเดิมติดมาแต่อ้อนแต่ออก มันเป็นขันธ์ที่ถูกยึดถือว่าตัวตนเสียเสมอไป ถ้าจดเข้าไปที่รูปขันธ์ก็รูปขันธ์เป็นตัวตน เวทนาขันธ์ก็เวทนาเป็นตัวตน สัญญาขันธ์สัญญาเป็นตัวตน เป็นปัญจุปาทานขันธ์อย่างโง่เขลาหลับตามาแต่ในท้อง ไม่ใช่แต่ในท้องแต่ว่ามันติดเนื่องมาได้มาแต่ในท้อง เป็นเชื้อของมันมา อย่างนี้เรียกว่าเบญจขันธ์ หรือปัญจขันธ์ ถ้ามีอุปาทานเข้าไปยึดครองเสร็จแล้วเรียกว่า ปัญจุปาทานขันธ์ ถ้ายังไม่มีอุปาทานเข้าไปยึดครองเรียกว่าปัญจขันธ์เฉย ๆ ปัญจขันธ์ที่ยังไม่ทันจะมีเวทนายึดครอง ไม่มีอุปาทานยึดครองก็ได้ หรือว่าขันธ์ที่มันถูกทำลายอุปาทานไปหมดแล้ว เช่นขันธ์ของพระอรหันต์ ก็เป็นขันธ์ล้วน ๆ เรียกว่าปัญจขันธ์ ถ้าของคนที่ยังไม่เป็นพระอรหัตน์นั้นเป็นปัญจุปาทานขันธ์เต็มอัตราหรือครึ่งอัตราหรือว่าน้อย ๆ ก็แล้วแต่ อย่างนี้เรียกว่าขันธ์ แตกได้เป็น ๕ อย่าง ขอพูดเสียเลยว่ารู้จักขันธ์ ๕ อย่างนี้เค้าคงรู้จักกันมาก่อนพระพุทธเจ้าเกิด อย่าไปตู่เอามา อะไรก็เป็นพระพุทธเจ้ารู้ และตรัสไว้หมด เช่นเรื่องขันธ์ ๕ เรื่องธาตุ ๔ เค้าก็รู้จักกันมาก่อนพระพุทธเจ้า แต่มันรู้จักผิด รู้จักผิดรู้จักเป็นตัวตน รู้จักขันธ์ ๕ เป็นตัวตน แต่เค้ารู้จักสิ่งที่เรียกว่าขันธ์ ๕ กันแล้ว แม้ที่สุดแต่ในวิชาแพทย์วิชาอะไรครั้งกระโน้นมันก็รู้จัก แยกออกเป็นขันธ์ ๕ อย่าไปยึดถือเป็นตัวตน พระพุทธเจ้ามาสอนให้ถูกว่าขันธ์ ๕ มันไม่ใช่ตัวตน ท่านไม่ต้องมาเสียเวลาอธิบายว่ารูปขันธ์คืออะไร เวทนาขันธ์คืออะไร ไม่ต้องเสียเวลาพูด เอ่ยขึ้นมาปัญจวัคคีย์ก็รู้ ก็สอนปัญจวัคคีย์เป็นชุดแรกพวกแรก บอกได้เลยว่ารูปไม่ใช่ตน เวทนาไม่ใช่ตน สัญญาไม่ใช่ตน ปัญจวัคคีย์รู้ดีอยู่แล้ว รู้เวทนา สัญญาคืออะไร เค้าก็ยึดถือผิด ๆ ตามแบบของวัฒนธรรมสมัยนั้นเป็นตัวตน ตัวตน ตัวตน พระพุทธเจ้ามีหน้าที่บอกแต่ว่ามันไม่ใช่ตน ขันธ์ ๕ ที่ยึดถือว่าเป็นตัวตนอยู่ตลอดเวลานั้นมันไม่ใช่ตน เรื่องหลายเรื่อง ชื่อหลายชื่อ เค้ามีอยู่ก่อนแล้วแม้แต่ชื่อนิพพาน นิพพานเค้ามีอยู่ก่อนแล้วแต่ก็มีความหมายอย่างอื่น ไม่มีความหมายอย่างเดียวกับพระพุทธเจ้าหมาย ต้องอธิบายเสียใหม่ เรื่องขันธ์ เรื่องธาตุ เรื่องพระนิพพาน เรื่องอะไรก็ตาม ที่อธิบายกันไว้อย่างผิด ๆ ต้องอธิบายเสียใหม่ให้มันถูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ครอบงำทั้งหมดก็คือว่าเค้าพูด เค้าสอนกันมาว่าเป็นตัวตน มีอัตตา มีอัตตนียาคือของตน ซึ่งพระพุทธเจ้าสอนเสมอว่า มันไม่ใช่อัตตา มันไม่ใช่อัตตนียา นี่ขอให้พุทธบริษัทเราอย่าโง่ แปรคำอนัตตาผิด ๆ ว่าไม่มีอัตตาเสียเลย อัตตามันมีอยู่และก็พูดอยู่แม้พระพุทธเจ้าก็พูด พระคถาคต(นาทีที่ 00:48:09)......... แต่มันเป็นอัตตาที่มิใช่อัตตา อัตตาที่มิใช่อัตตา อัตตาที่พูดแต่ปากในใจไม่ใช่ตัวตนนี่อัตตา มันก็มีอัตตาที่ไม่ใช่อัตตา อัตตาที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา คืออัตตาที่เห็นได้ว่ามิใช่อัตตา ถ้ามีอัตตา อัตตา อัตตาเต็มที่ มันเป็นสัสสตทิฐิสุดเหวี่ยงไปทางซ้าย ถ้าไม่มีอะไรเสียเลยไม่มีอัตตาโดยประการทั้งปวงนั้นเป็นก็เป็นนัตถิกทิฏฐิ อุจเฉททิฏฐิฝ่ายขวาสุดโต่ง จนมันอยู่ตรงกลางมันมีอัตตาซึ่งมิใช่อัตตา อนัตตาแปลว่ามิใช่อัตตา เรามีอัตตาที่มิใช่อัตตาแต่เรามาหลงว่ามันเป็นอัตตาตั้งแต่อ้อนแต่ออกมาจากท้องแม่มันก็มีอัตตา อัตตา อัตตา อัตตา เรื่อยมา จนกว่าจะรู้จริงว่าไม่ใช่อัตตาเป็นพระอรหันต์ อัตตาซึ่งมิใช่อัตตา อัตตาซึ่งมิใช่อัตตา คืออนัตตา ฝ่ายนี้สุดเหวี่ยงเรียกว่าอัตตาเต็มที่ ฝ่ายนี้สุดเหวี่ยงไม่มีอัตตาเลยเรียกว่านิรัตตา นิร อัตตาไม่มีอัตตาเลย (นาทีที่ 00:49:32).........อะนะอะ อนัตตาคือไม่ใช่อัตตา ไม่ใช่อัตตานี่เป็นความถูกต้องเป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ไม่ใช่ว่ามีและไม่ใช่ว่าไม่มี แต่มันมีซึ่งเหมือนกับไม่ใช่สิ่งที่เรามุ่งหมายเรียกว่าอนัตตา มีอย่างที่ไม่ตรงกับคำพูดที่ว่ามี ข้อนี้ก็มีพระพุทธภาษิตที่ตรัสว่า (นาทีที่ 00:50:06).........โวหารที่ชาวบ้านชาวเมืองเค้าพูดกัน แต่ว่าชาวบ้านชาวเมืองเค้าพูดกันมีความหมายอย่างไร เราไม่มีความหมายอย่างนั้น ชาวบ้านชาวเมืองพูดว่าอัตตาก็อัตตาเสียจริง ๆ อัตตาเต็มที่ แต่เมื่อพระพุทธเจ้าท่านต้องใช้คำพูดของชาวบ้านชาวเมืองท่านก็พูดคำนั้นแต่ไม่มีอัตตาในความหมาย ท่านสรุปบท สรุปไว้เลยว่า(นาทีที่ 00:50:34).........โลกนี้ว่างจากอัตตา ว่างจากอัตตนียา โลกนี้ว่างจากอัตตา ว่างจากตัวตน ว่างจากอัตตนียา ว่างจากของตน อัตตาแปลว่าตัวตนตามความหมายของคนแต่เดิมมา อัตตนียาแปลว่าเกี่ยวข้องอยู่กับตน เกี่ยวข้องอยู่กับตน อัตตนียาก็คือของตน เมื่อเป็นภาษาในความรู้สึกหยาบๆ โง่ ๆ ก็เรียกว่าอะหัง คืออัตตา มะมังคือของอัตตา อหังการะแปรว่าตัวกู มมังการะแปลว่าของกู ความรู้สึกว่าอหังกา อหังการะนั้นคือตัวตน รู้สึกเป็นมมังการะคือของตนนี้ว่ามันเดือดเป็นพิษขึ้นมา เรียกอย่างธรรมดาตามธรรมชาติก็เรียกว่าอัตตา อัตนียา พอมันเป็นทุกข์ขึ้นมาเผาโดนแล้วมันเป็นอหังการะมมังการะเกิดแล้วเกิดอีก เกิดแล้วเกิดอีก เกิดแล้วเกิดอีก จนเป็นอนุสัย มีมานะสำคัญมั่นหมายว่า เป็นอหังการะ มมังการะจนเคยชินเป็นนิสัย ชื่อนี้มันยาวมากแต่ว่าคุ้มค่าที่จะจำ อหังการะ มมังการะ มานานุสัย พวกเราปุถุชนมีเต็มอัดแน่น เต็มโกดัง ถ้าบรรเทาลดลงไปก็เป็นพระอริยเจ้า ก็หมดเลยก็เป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์หมดอหังการะมมังการะ มานานุสัย หมดความเคยชินแห่งความรู้สึกที่สำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวกูเป็นของกู อัตตาแปลว่าตัวตน อัตตนียาแปรว่าของตน มันสุภาพสักหน่อย แต่พอมันเดือนขึ้นมามันเป็นอหังการะเป็นตัวกู เป็นมมังการะเป็นของกู ภาษามันหยาบคาย แต่มันก็มีอยู่ในความรู้สึกของทุกคนหยาบคายไปถึงไหน มันมีอยู่ในจิตใจของคนทุกคน ก็เคยชินเป็นนิสัย นี่เรามารู้จักขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ที่ถูกยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวตนเป็นของตน เรียกว่าปัญจุปาทานขันธ์ เป็นกระแสอย่างเดียวกับปฏิจจสมุปบาท แต่เรามามองในแง่เป็นขันธ์ เป็นขันธ์เป็นส่วน เป็นส่วน ๆ สำหรับจะหลงไหลยึดถือ จึงเรียกว่าเบญจขันธ์ในภาษาไทย หรือปัญจขันธ์ในภาษาบาลี เมื่อไม่ถูกยึดถือเรียกว่าปัญจขันธ์ เมื่อถูกยึดถือเรียกว่าปัญจุปาทานขันธ์ สองชื่อนี้คนละเรื่องต่างกันอย่างฟ้าและดิน อย่าไปปนกัน ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ หมายถึงใน ๕ นี้ถ้าถูกยึดถือก็เป็นไปอย่าง ไม่ถูกยึดถือก็เป็นไปอย่าง แต่ตามธรรมดามันยึดถือ ปุถุชนมันยึดถือ นั้นภาษาคนธรรมดากลางถนน พอพูดว่าขันธ์ ๕ นั้นหมายถึงยึดถือทั้งนั้นแหละ เรียกว่าขันธ์ ๕ เป็นภาระหนัก (นาทีที่ 00:54:11)คือขันธ์ ๕ ของคนธรรมดาที่มีความยึดถือเต็มเปี่ยมอยู่แล้ว ไม่ต้องพูดว่าปัญจุปาทานขันธ์ก็ได้ พูดแต่เพียงปัญจขันธ์ ทุกข์เป็นของหนักแล้ว (นาทีที่ 00:54:30)ขันธ์ทั้ง๕เป็นภาระหนักเนิบ(นาทีที่ 00:54:34)สำคัญว่าเป็นบุคคลที่เป็นผู้แบก ภาระหนักนี้ไป (นาทีที่ 00:54:42)การถือของหนักเป็นความทุกข์ในโลก (นาทีที่ 00:50:47)โยนทิ้งเสียก็เป็นความสุข พระอริยเจ้าท่านทิ้งของหนักลงเสียแล้วไม่เอาของหนักอันอื่นขึ้นมาถือไว้อีก ก็ไม่มีของหนักให้เป็นผู้ไม่มีปัญหา (นาทีที่ 00:55:06) ดับเย็นสนิทเป็นปรินิพพาน ปัญหาของคนเรามันมีเท่านี้ มันเกิดขันธ์ที่มีความยึดถือ ยึดมั่นทุกทีไป ลูกทำงานลูกทำหน้าที่ลูกเกิดก็ยึดถือลูก เวทนาเกิดก็ทำหน้าที่ ยึดถือเวทนา ยึดถือสัญญา ยึดถือสังขาร ไปเสียหมดมันจึงเรียกว่าทั้งชุด ปัญจุปาทานขันธ์เป็นตัวทุกข์ เราก็มาพูดมาสวดกันทุกวันและก็สวดอย่างนกแก้วนกขุนทอง ทำวัตรเช้า ออกชื่อความทุกข์ทั้งหมดแล้วก็สรุปว่า (นาทีที่ 00:55:50)เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วเบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานเป็นตัวทุกข์ เราเป็นแรดเสียเอง ร้องตะโกนเสียเอง เป็นแรดเสียเองแล้วฟังไม่ถูก แรดทั้งหลายควรจะตื่นกันเสียที ให้รู้ว่าปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา หมายว่าอย่างไร ให้เห็นชัดว่าเบญจขันธ์ เบญจขันธ์คืออะไร ต่อเมื่อยึดถือจนเป็นทุกข์ แต่เมื่อมันยึดถือเป็นธรรมดาสามัญเสียแล้วก็ใช้คำว่าเบญจขันธ์ ปัญจขันธ์ก็พอแล้ว ปัญจขันธ์เป็นทุกข์สำหรับคนธรรมดาแล้วมันยึดถือทั้งนั้น เดี๋ยวนี้เราก็จะมีอานาปาณสติ ๔ เกลอนี่ มาจากการไม่มีความยึดมั่นในขันธ์ทั้งหลาย ก็หมายความว่ามีสติ ปัญญา สัมปัชชัญญะ สมาธิ ไม่ให้เกิดความโง่ว่าอัตตา อัตตาในขันธ์ทั้งหลาย ไม่ให้เกิดอัตตาในแต่ละขันธ์ แต่ละขันธ์หรือทั้ง ๕ ขันธ์ ก็ได้ ในรูปขันธ์ก็เห็นชัดว่ารูปที่ประกอบกันด้วยธาตุ ๔ เวลาเป็นธาตุ ๔ ก็ยังไม่มีปัญหา พอประกอบกันมาเป็นรูปเป็นรูปขันธ์ มันมีระบบประสาทอยู่ในนั้น เรียกว่า(นาทีที่ 00:57:37)หรืออะไรก็แล้วแต่ เราจะเรียกภาษาธรรมดา ๆ ว่ามันมีระบบประสาทอยู่ในสิ่งที่เรียกว่ารูปขันธ์ ฉะนั้นรูปขันธ์มันก็มีความรู้สึกได้ในตัวมันเอง รูปขันธ์จีงมีความรู้สึกในเมื่อมีการสัมผัส ในรูปขันธ์ทั้งหลายไม่ต้องมีอัตตา ไม่ต้องมีวิญญาณ ไม่ต้องมีเจตภูติ ไม่ต้องมีปุรุษะ ปุขะระอะไร มันก็มีความรู้สึกได้โดยรูปขันธ์ที่จะต้องรู้สึกในความหามายที่เป็น ในการสัมผัสง่าย ๆ โง่ ๆ หยาบ ๆ ในใบไม้นี้มันก็มีความรู้สีกที่เป็นฝ่ายรูปขันธ์ ใบไม้บางชนิดที่ไปถูกเข้ามันหุบมันหลีกมันหนี นี้ใบไม้ ดอกไม้มันทำหน้าที่เคลื่อนไหวได้ในความรู้สึกล้วน ๆ ของมันโดยรูปขันธ์ เป็นรูปขันธ์เท่านั้น ไม่ต้องมีอัตตา ไม่ต้องมีวิญญาณอยู่ในรูปเหล่านั้น อย่างนี้รู้ว่าในรูปขันธ์ไม่มีอัตตา ไม่มีอัตตา โดยความรู้ของสติปัญญา สัมปัชชัญญะ สมาธิ มาใคร่ครวญมาพิจารณาแล้วก็เห็นว่ารูปไม่ใช่อัตตา เวทนาขันธ์ที่มันปรุงขึ้นมาเป็นเวทนาขันธ์ ที่ว่าเวทนามันรู้สึกว่าเวทนาได้เอง ส่วนที่เป็นเวทนาขันธ์เป็นความรู้สึกของจิตเป็นคุณสมบัติของจิตที่เรียกว่า เจตสิก ชื่อเวทนาขันธ์ มันสามารถรู้สึกในเวทนาได้เอง ไม่ต้องมีอัตตาไม่ต้องมีอะไรมา สิงอยู่ในเวทนาและรู้สึกเวทนา ไม่ต้อง ไม่ต้อง เวทนาขันธ์รู้จักและรู้สึกต่อเวทนาได้เอง พอเป็นสัญญาขันธ์มั่นหมายอะไรนั่นนี่ก็เป็นสัญญาขันธ์มั่นหมายได้เองตามแบบของสัญญาขันธ์ ตามธรรมชาติของสัญญาขันธ์ พอเป็นสังขารขันธ์ก็คิดนึกรู้สึกปรุงแต่งได้เองตามแบบของสังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ทางตาหู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็รู้สึกได้เองตามแบบของวิญญาณ ไม่ต้องมีวิญญาณประเภทอาตมันตัวตนเจตภูต (นาทีที่ 01:00:06) อย่างที่เค้าสอนกันอยู่ก่อน นี่เห็นได้ชัดว่าขันธ์ทั้ง ๕ นี่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ตัวตน ให้รู้ทันท่วงทีที่มันเกิดขึ้นในกระแสแห่งชีวิต หรือในกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท อาสนะในปฏิจจสมุปบาทก็คือรูปขันธ์ เวทนาก็มีแล้วในปฏิจจสมุปบาท แล้วเวทนาเกิดตัณหาคือสังขารขันธ์ มีสัญญาขันธ์หมายมั่นแล้วก็เกิดความต้องการเป็นตัณหานั้นคือสังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ก็มีอยู่ทั่ว ๆ ไปในกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท มองดูเหลี่ยมนี้เรามองในลักษณะปฏิจจสมุปบาท มองดูเหลี่ยมนี้เรามองดูในลักษณะปัจขันธ์ หรือเบญจขันธ์ เราจะใช้ความรู้อันประเสริฐคือธรรมะ ๔ เกลอ จัดการกับปฏิจจสมุปบาทก็ได้ หรือจัดการกับขันธ์ทั้ง ๕ ก็ได้ การบรรยายนี้ก็เรียกว่าประยุกต์อานาปานสติในปฏิจจสมุปบาทก็ได้ ในเบญจขันธ์ก็ได้ หรืออีกทีก็คือในเรื่องที่มันจะเป็นทุกข์ ปฏิจจสมุปบาทคือเรื่องที่จะเป็นทุกข์ ปัญจขันธ์ก็เป็นเรื่องที่จะเป็นทุกข์ เอาความรู้ ๔ เกลอนี่มีจัดการกับมัน โดยสรุปใจความสั้น ๆ ไม่ให้เกิดอัตตะในแต่ละอย่างละอย่าง แม้แต่ตัวอวิชาก็ไม่ใช่อัตตา สังขารก็ไม่ใช่อัตตา วิญญาณก็ไม่ใช่อัตตา นามรูปก็มิใช่อัตตา อายตนะก็ไม่ใช่อัตตา เวทนาก็ไม่ใช่อัตตา ตัณหาก็ไม่ใช่อัตตา ไม่ใช่อัตตาตลอดสายปฏิจจสมุปบาท รู.ปขันธ์ก็ไม่ใช่อัตตา เวทนาขันธ์ก็ไม่ใช่อัตตา สัญญาขันธ์ก็ไม่ใช่อัตตา สังขารขันธ์ก็ไม่ใช่อัตตา วิญญาณขันธ์ก็ไม่ใช่อัตตา แล้วมันจะอยู่ที่ไหน มันจะมาอยู่ที่ไหน มันไม่มีเนื้อที่ให้อัตตา ในพระพุทธศาสนาไม่มีเนื้อที่ซักนิดที่จะให้อัตตา มามีอัตตาอยู่ แต่ในศาสนาอื่นที่เค้าสอนกันอยู่ก่อนพุทธศาสนาก็มีอัตตาเต็มที่ อัตตาเต็มไปหมด อัตตาเต็มไปทั่วทุกหัวระแหง อัตตาพิเศษเป็นนิรันดร เป็นนิรันดรตลอดกาล สอนกันอย่างตรงกันข้าม เขารู้มีความรู้ รู้อยู่ว่าเป็นอัตตา ชำระอัตตาให้สะอาดไปเป็นอัตตาสะอาดนิรันดร อย่างนี้เรียกว่าพระนิพพานของพวกโน้น แต่พระนิพพานของพระพุทธเจ้าหมดอัตตา เกลี้ยงอัตตา ไม่มีอัตตาเหลือ เป็นความว่างจากอัตตานิรันดร ถ้าจำกันง่าย ๆ ก็มีอัตตานิรันดรเป็นนิพพานของพวกโน้น ไม่มีอัตตานิรันดรเป็นนิพพานของพวกนี้ ทำไมจึงไม่มีอัตตานิรันดร ก็เพราะมีธรรม ๔ เกลอ มีสติ ปัญญา สัมปัชชัญญะ สมาธิ ให้ถูกต้องทุกขณะ ทุกขณะ ทุกระดับอย่างเพียงพอ ก็กำจัดความรู้สึกว่าอัตตาออกไปเสีย ในขณะโง่ ๆ ง่าย ๆ ว่า สัญญาก็ออกไปเสีย ในขนาดลึกซึ้งว่าอุปาทานออกไปเสีย มันก็ไม่มีที่ตั้งแห่งความทุกข์ ไม่มีอัตตาแล้วมันก็ไม่มีอะไรจะเกิด จะแก่ จะเจ็บ จะตาย มันจะมีเกิด แก่ เจ็บ ตาย ของสังขารก็อย่าเอามาเป็นของอัตตา อย่างเอามาเป็นอัตตนียา แล้วไม่ต้องมีปัญหาพูดถึงว่าตายแล้วไปเกิดที่ไหน เราไม่มีอัตตาจากที่นี่ตรงนี้แล้วมันก็ไม่มีอัตตา ทำไมต้องไปถามว่าจะไปเกิดที่ไหน ไปเกิดอย่างไร ด้วยอะไร นั่นมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง มันกลายเป็นธรรมชาติ ธรรมดาไปเสีย มันไม่ใช่คนเดียวกัน สมมุติว่าร่างกายนี้เบจขันธ์นี้มันอยู่ไปจนถึงตาย พอตายแล้วอัตตามันก็สิ้นเรื่องของอัตตาตัวนี้ แต่มันมีเชื้อเหลือที่เรียกว่ากรรมบ้าง อะไรบ้างแล้วแต่เค้าจะเรียกกัน มันก่อรูปเป็นอัตตาใหม่ ไม่ใช่อัตตาเดิม นั้นคนที่สมมุติว่าไปเกิดใหม่ไม่ใช่คนเดียวกับคนที่ตายแล้ว มันคนละอัตตา อย่างเม็ดผลไม้มันเหลืออยู่ ต้นไม้แม่มันตาย ต้นแม่มันตาย มันก็เหลือเป็นเม็ดอยู่มันก็ไปงอกอีก มันก็ไม่ใช่ต้นเดียวกับต้นแม่มัน มันคนละต้นเสียแล้ว อย่าเอามาปนกันอย่าเอามาให้เป็นคนเดียวกันว่าต้นนี้ตายแล้วไปเกิดเป็นต้นนั้น อัตตาตัวนี้ไปเกิดเป็นอัตตานั้น อัตตานั้นเรื่อยไปเพียงแต่ขันธ์มันดับอย่างนี้ไม่ใช่พุทธศาสนา มันเป็นคนละตัวตนตามความสมมุติเป็นคนละตัวตน แม้ว่ามันจะอาศัยตัวแรกเป็นเพียงเชื้อที่เหลืออยู่ตามธรรมชาติ เช่นธาตุทั้ง ๖ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ องค์ประกอบส่วนประกอบเหล่านี้เหลืออยู่ ไปปรุงอัตตาใหม่ ไปปรุงอัตตาใหม่ ไม่ใช่อัตตาตัวเดิม อัตตาตัวใหม่นี้ไม่ใช่อัตตาตัวเดิม เราจึงไม่มีอัตตาที่เวียนว่ายตายเกิดเหมือนพวกโน้น เรามีอัตตาชั่วคราวหลอก ๆ ชั่วคราวพูดกันตามภาษาชาวบ้าน แล้วก็ดับความรู้สึกอันนี้เสียก็เป็นพระอรหันต์ ดังนั้นพระอรหันต์จึงไม่เกิดอีก ไม่เกิดอีก ไม่มีการเกิดอีก ก็ไม่มีอัตตา ถ้ายังโง่มีอัตตาก็ไปเกิดอย่างละเมอ ๆ ก็เป็นอัตตาตามที่ยึดถือกันตามแบบโน้น แบบพวกอื่นที่มาสอนไว้ก่อนนี้ พวกโน้นก็มาสอนพวกเราที่นี่ไว้ก่อนพุทธศาสนา ศาสนาที่มีอัตตา อัตตาก็มาสอนไว้ที่นี่ก่อนพุทธศาสนา ฝังแน่นมั่นคงลงไปในจิตของประชาชนแถวนี้ จึงถืออย่างมีอัตตาตัวตนไปเกิดเป็นศาสนาฝ่ายโน้นคือฝ่ายฮินดู พอพุทธศาสนาเข้ามาในดินแดนนี้มันยากลำบากเหลือประมาณ เพราะว่าประชาชนถูกฝังหัว ด้วยความรู้ว่ามีอัตตา อัตตาซะเต็มที่กว่าจะถอนออกได้ ท่านพูดอุปมาไว้ เราจะไม่เข้าใจก็ได้ว่าต้องมาปราบยักษ์ ปราบมาร ปราบผี ปราบปีศาจอะไรเป็นการใหญ่ จึงประดิษฐานพระพุทธศาสนาลงในดินแดนสุวรรณภูมิ สุวรรณภูมิคือดินแดนนี้ได้ เพราะว่าในดินแดนสุวรรณภูมิมันมียักษ์มีมารมีผีอะไรสิงแน่นอยู่ก่อนแล้ว สอนพุทธศาสนาลงไปไม่ได้ นั่นแหละจึงมาถอนความรู้เรื่องอัตตา อัตตาของพวกที่มาสอนไว้ก่อนว่าให้ออกไปเสียก่อนจึงสามารถสอนเรื่องอนัตตา อนัตตาในพระพุทธศาสนา แต่เดี๋ยวนี้มันปนกันยุ่งมันถอนไม่ออก ที่ยังถืออัตตาอย่างโน้นอย่างโน้นอยู่ก็มีเลยเอามาสวมให้พุทศาสนา ก็ไม่ใช่พุทธศาสนา ถ้ายังมีอัตตาตัวตนคนเดียวกันเวียนว่ายตายเกิดอยู่เป็นของพวกโน้น ไม่ใช่ของพุทธศาสนา พุทธศาสนาต้องการจะสอนที่นี่เดี๋ยวนี้มันไม่มีอัตตา รูปก็ไม่ใช่อัตตา เวทนาก็ไม่ใช่อัตตา สัญญาก็ไม่ใช่อัตตา สังขารไม่ใช่อัตตา วิญญาณไม่ใช่อัตตา แล้วอะไรที่เป็นอัตตา นั่นเรียกว่าอนัตตามีแต่อัตตาที่มิใช่อัตตาเพราะเป็นอัตตาเข้าใจผิดเอาเอง คนโง่อวิชาเข้าใจผิดเอาเองว่าเป็นอัตตา เป็นตัวกูตัวกูตามความรู้สึกที่มันหลอกลวงของสัญชาตญาณ ขอให้สนใจศึกษาสิ่งที่เรียกว่าสัญชาตญาณ สัญชาตญาณ กันให้มาก มันเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ ในความรู้สึกของเด็กทารก อยู่ในครรภ์แม่ไม่มีอัตตาไม่รู้สึกเป็นอัตตา พออกมาจากครรภ์แม่ที่นี้ก็ทำงาน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สัมผัสอารมณ์ รับอารมณ์ พอได้รับอารมณ์ฝ่ายบวกเช่นอร่อย เด็กทารกก็รู้สึกอร่อย ในความโง่มาสวมรอยให้ว่ากูผู้อร่อย ตัวกูผู้อร่อยนี่เพิ่งเกิดทีหลัง เมื่อความอร่อยมันปรากฎแก่ระบบประสาทแล้ว มันจึงเกิดความรู้สึกอย่างโง่เขลาเต็มสุดเหวี่ยงว่ากูผู้อร่อย ตัวกูมันเกิดทีหลัง พอไม่อร่อยขึ้นมาก็กลับแค้นโกรธ ไม่อร่อยก็ทำให้เกิดตัวกูผู้ไม่อร่อยแล้วมันก็มากขึ้น มากขึ้น ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจ ฉะนั้นพอเด็ก ๆ มันเดินไปชนเก้าอี้ มันก็แตะเก้าอี้ ความรู้สึกโง่เขลาว่าไอ้เก้าอี้มันเป็นอัตตาอันหนึ่ง มาเบียดเบียนตัวกู อัตตานี้ก็แตะเก้าอี้ได้โดยไม่ต้องสอน มันเป็นเรื่องโง่ขึ้นมาเองโดยอวิชชา เด็กมันก็โง่เป็นตัวกูหมด มีดบาดนิ้วมันก็โง่ว่ามีดบาดกู โง่กี่มากน้อย แล้วคุณคิดดูเอาเองถ้ารู้สึกว่ามีดบาดนิ้ว กับรู้สึกว่ามีดบาดกูนี่มันต่างกันกี่มากน้อย มันมีน้ำหนักมันมีความหมายต่างกันกี่มากน้อย นี่เด็กโง่มันก็ว่ามีดบาดกูแทนที่จะพูดว่ามีดบาดนิ้ว นี่ตา ระบบประสาททางตามันเห็นรูปเด็กโง่มันก็กูเห็นรูป ไม่ใช่ตาเห็นรูป หูระบบประสาทหูมันได้ยินเสียงมันก็บอกกูได้ยินเสียง กูได้กลิ่น กูได้รส กูได้ผิวหนังสัมผัส กูนั่นนี่อะไรในความรู้สีก มันเป็นกู กูขึ้นมาในอายตนะทั้ง ๖ เป็นกู กู กู ขึ้นมาในเบญจขันธ์ทั้ง ๕ เนี่ยเรารู้สึกแต่ว่าสัญชาตญาณมันโง่มาแต่เดิม ความโง่มันก็ออกดอกออกผลขึ้นมาเต็มที่ เป็นความโง่เขลาอย่างเต็มที่ มันก็ได้เกิดความรู้สึกเป็นตัวกูเป็นตัวตนเป็นของตนเต็มที่ขึ้นมา พวกโน้นมันไม่รู้เรื่องนี้มันก็รับเอาเลยเป็นตัวตนเป็นตัวตนเป็นอัตตากันมา แต่พระพุทธเจ้าท่านไม่ยอมรับความโง่อย่างนี้ ท่านบอกว่ามันเป็นอวิชชา ตัณหา อุปาทาน เกิดตัวตน จึงต้องรู้ความจริงข้อนี้คือรู้เรื่อง ความจริงของปฏิจจสมุปบาท ความจริงของขันธ์ ๕ รู้แล้วควบคุมมันให้ได้โดยอาวุธคือธรรมมะ ๔ เกลอ สติ ปัญญา สัมปัชชัญญะ สมาธิ ใจความย่อ ๆ มันมีอยู่อย่างนี้ ท่านทั้งหลายเอาไปใคร่ครวญคิดดูเสียว่า มันโง่มาตามลำดับโดยอำนาจของสัญชาตญาณ พอคลอดออกมาจากครรภ์แม่ มันก็เริ่มโง่เพราะมาสัมผัสเวทนา เวทนาสุขก็เกิดตัวกูบวก เวทนาทุกข์ก็เกิดตัวกูลบ มันเกิดตัวกูบวกเกิดตัวกูลบ ก็เป็นตัวกูเหมือนกัน แรงขึ้น ๆ จนฆ่ากันตายหรืออะไรก็แล้วแต่ มันแรงขึ้นด้วยความโง่ พระพุทธศาสนาบอกความจริงเรื่องนี้ ต้องการจะกำจัดปัญหาเรื่องนี้อย่ามีตัวตน และก็ไม่มีความทุกข์ เอาหล่ะนี่เรียกว่าธรรมะ ๔ เกลอ ใช้ในการแก้ปัญหาของปฏิจจสมุปบาทก็ได้ แก้ปัญหาของปัจจขันธ์ เบญจขันธ์ก็ได้อย่างที่ว่ามาแล้ว นี่เราพูดเรื่องการประยุกต์อานาปาณสติ กำจัดปัญหาในรูปแบบของปฏิจจสมุปบาทบ้าง กำจัดปัญหาในรูปแบบของปัจจขันธ์บ้าง แล้วแต่จะเรียก เวลาเหลืออยู่นิดหน่อยขอพูดแถมว่าแม้ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับธรรมะเหล่านี้ เป็นเรื่องโลก ๆ ในโลกแท้ ๆ นี้ก็ใช้ ๔ เกลอนี้ได้ ธรรมะ ๔ เกลอนี่ใช้ได้ ทำนา ทำสวน ค้าขาย ขอทานก็ตาม ขอให้ใช้ธรรมะ ๔ เกลอนี่ คุณลองคิดดูว่า ชาวนาที่มีความรู้ความสามารถเรื่องสติ ปัญญา สัมปัชชัญญะ สมาธิ จะทำนาได้ดีกว่าคนที่ไม่มีไหม ชาวนาคนไหนมีธรรมะ ๔ เกลอ ก็ทำนาได้ดี ทำการงานอะไรก็ทำได้ดี จะค้าขายก็ได้ เป็นศิลปินก็ได้ เป็นอะไรก็ได้ แม้ที่สุดในการที่จะทะเลาะวิวาท ไม่ใช่สงเสริมให้ทะเลาะวิวาท แต่ว่าในการทะเลาะวิวาทนั่น คุณจะทะเลาะวิวาทกันทางกาย จะใช้กำปั้นใส่กันเหมือนพวกมวย ถ้านักมวยคนไหนมันมีธรรมะ ๔ เกลอ ก็ต้องชนะนักมวยที่ไม่มีธรรมะ ๔ เกลอ ทะเลาะกันทางกาย ก็ได้เปรียบที่มีธรรมะ ๔ เกลอ ทะเลาะทางวาจา ด่าว่า โต้เถียงกัน คนไหนมีธรรมะ ๔ เกลอก็พูดเก่งกว่าก็ชนะ จะไปเป็นความกันที่โรงที่ศาลเป็นคดีถ้อยความ คนไหนมีธรรมะ ๔ เกลอก็มีทางชนะมากกว่าคนโง่ แม้แต่จะพูดโต้วาทะโต้วาที อภิปรายกันในที่ประชุม คนไหนมีธรรมะ ๔ เกลอ คนนั้นจะพูดได้ดี จะชนะ นี่ธรรมะ ๔ เกลอใช้เรื่องโลก ๆ ใช้เรื่องโลก ๆ ขอสรุปปัญหาชีวิตประจำวัน ว่าคนที่ไม่มีธรรมะ ๔ เกลอ ไม่มีธรรมะ ๔ เกลอใช้อย่างทันเวลาถูกต้องเพียงพอแล้ว ชีวิตนั้นจะกัดเจ้าของ ชีวิตของคนโง่นั่นจะกัดเจ้าของ ชีวิตที่กัดเจ้าของมันเลวกว่าหมา เพราะว่าหมามันไม่กัดเจ้าของ นั้นสิ่งที่กัดเจ้าของคือชีวิตโง่ มันไม่มีธรรมะ ๔ เกลอมันก็กัดเจ้าของเรื่อยไป พวกฝรั่งที่มาศึกษาธรรมะที่นี่มันชอบประโยคนี้มาก เราบอกว่าเราจะสอนให้รู้จักชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของ ถ้าไม่มีความรู้เรื่องนี้ชีวิตมันกัดเจ้าของ เดี๋ยวความรักกัด ความรักคือความบ้าชนิดหนึ่งมากัดเจ้าของ เดี๋ยวความโกรธกัด แย่มาก เดี๋ยวความเกลียดกัด เดี๋ยวความกลัวกลัวกัด เดี๋ยวความตื่นเต้น ตื่นเต้นกัด เดี๋ยววิตกกังวลอนาคตกัด เดี๋ยวอาลัยอาวรณ์ในอดีตกัด เดี๋ยวอิจฉาริษยากัด เดี๋ยวความหวงกัน เดี๋ยวความหึงกัด มันฆ่ากันตายเพราะความหวงและหึง ชีวิตมันกัดเจ้าของ รัก โกรธ เกลียด กลัว ตื่นเต้น วิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยา หวงหึง เท่านี้พอแล้วตัวอย่างเพียงเท่านี้พอแล้ว ยังมีอีกมาก คุณเอาไปคิดดูว่าถ้ามีธรรมะ ๔ เกลอ แล้วชีวิตจะไม่กัดเจ้าของ สนใจใช้ให้ทันเวลาทันท่วงที ตามคำอธิบายที่ได้อธิบายมาแล้วแต่หนหลัง ว่าจะมีสติอย่างไร มีปัญญาอย่างไร มีสัมปัชชัญญะอย่างไร มีสมาธิอย่างไร แล้วชีวิตนี้จะเยือกเย็นเป็นนิพพาน จะไม่ร้อนจะไม่กัดเจ้าของ นิพพานคือไม่มีปัญหา ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความร้อน เยือกเย็น สงบ สะอาด สว่าง เพราะว่าเรามีธรรมะ ๔ เกลอ นี่เป็นเรื่องในโลกนี้ที่นี่เดี๋ยวนี้ ในเรื่องของธรรมชาติประจำวัน ถ้าพัฒนาไปไปเป็นเรื่องมรรคผล นิพพาน เป็นพระอรหันต์นั้นเรื่องยาวอีกเรื่องหนึ่ง ไว้พูดกันวันหลังเถิด วันนี้เอากันแต่ง่าย ๆ ว่าควบคุมปฏิจจสมุปบาทให้ได้ ควบคุมเบญจขันธ์ให้ได้ ความคุมความเลวร้ายในชีวิตประจำวัน คือรัก โกรธ เกลียด กลัวเป็นต้นนี้ให้ได้ ก็คุ้มค่าแล้ว ขอให้สนใจมีอาวุธประเสริฐคือธรรมะ ๔ เกลอ สติ ปัญญา สัมปัชชัญญะ สมาธิ กันให้เต็มขนาด ให้เต็มขนาดด้วยกันจนทุก ๆ คนเถิด การบรรยายสมควรแก่เวลาแล้ว ขอบใจผู้ฟังที่ดี ฟังแต่ต้นจนตลอด ขอให้มีความเจริญงอกงามก้าวหน้าไปตามทางของธรรมะที่ได้ฟังแล้วนั้นอยู่ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ ขอจบการบรรยาย ยุติการบรรยาย