แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนทั้งหลายผู้มีความสนใจในธรรม วันนี้เราก็ยังจะพูดกันถึงเรื่อง “ปฏิจจสมุปบาท” ต่อกันอีก แต่จะพูดให้ชัดเจนหรือเข้มข้นยิ่งขึ้นไป มีหัวข้อพูดในวันนี้ว่า “ปฏิจจสมุปบาทโดยประจักษ์” ประจักษ์แปลว่า เห็นชัดเจนแจ่มแจ้งถึงที่สุด นี่เรียกว่าโดยประจักษ์ ก็ได้พูดมาอย่างคร่าวๆอย่างทั่วๆไป แล้วก็นำมาสู่การพูดโดยประจักษ์ที่ชัดเจนละเอียดแจ่มแจ้งเจาะจง ขอให้ตั้งใจฟังให้ดีๆ มิฉะนั้นมันจะไม่ประจักษ์ ท่านทั้งหลายเมื่อตะกี้ได้กล่าวคำบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ถ้าไม่ทำอย่างละเมอๆนะ ก็จะต้องรู้สึกอยู่ในใจว่าบูชาพระพุทธเจ้า เพราะท่านเปิดเผยเรื่องปฏิจจสมุปบาทซึ่งเป็นกฎลึกลับของธรรมชาติไม่มีใครรู้จัก ท่านค้นพบและนำมาเปิดเผยจนเราไม่รู้ว่าจะตอบแทนพระคุณของท่านอย่างไร เพียงแต่พูด “อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา” จะเป็นเรื่องล้อท่านเล่นซะหล่ะมั้ง มันไม่เห็นคุณโดยประจักษ์ “สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม” สวากขากับธรรมนั่นแหละคือตัวปฏิจจสมุปบาท ตัวความจริงของปฏิจจสมุปบาท แล้วท่านก็บูชาพระสงฆ์ว่า “สุปฏิปันโน” ท่านบูชาพระสงฆ์เพราะพระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติสำเร็จผลในเรื่องของปฏิจจสมุปบาท ถ้าไม่ทำอย่างละเมอๆก็ต้องมีความรู้สึกอยู่ในในอย่างนี้ทุกคราวไปไม่ว่าที่ไหน ไม่ว่าที่นี่หรือที่ไหน แต่มันก็ยังไม่ชัดเจนถ้ายังไม่รู้จักปฏิจจสมุปบาท ยิ่งรู้จักปฏิจจสมุปบาทเท่าไหร่ จะยิ่งเห็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ยิ่งๆขึ้นไปเท่านั้น อย่างวันที่แล้วมาเราก็ได้พูดกันแล้วว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา” เห็นปฏิจจสมุปบาทจึงจะเห็นพระพุทธเจ้าโดยแท้จริง
ปฏิจจสมุปบาทเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงนำมาประกาศ เห็นปฏิจจสมุปบาทในการปฏิบัติกระทำของพระสงฆ์ก็เห็นพระสงฆ์โดยแท้จริง เพียงเท่านี้ก็เป็นเรื่องสำคัญสูงสุดเหลือหลายแล้ว ที่จะต้องเห็นกันโดยประจักษ์ มันเป็นเรื่องที่ลึกและยากดังที่กล่าวมาแล้ว ที่พระอานนท์กล่าวว่า ยาว คมฺภีโร ลึกพอประมาณ พระพุทธเจ้าท่านก็ว่าอย่าพูดอย่านั้น มันลึกที่สุด เหลือประมาณ มันลึกถึงที่สุดแห่งเรื่องลึกทั้งหลาย เราจึงต้องคำนึงใจกันให้ดีๆ เมื่อมาเกี่ยวข้องกับปฏิจจสมุปบาทเพราะมันเป็นเรื่องลึก มันเป็นเรื่องที่อธิบายลำบาก มันเหมือนกับที่พระองค์ตรัส มันครองงำไปหมด ครอบคลุมไปหมดแล้วมันยุ่งมันสัมพันธ์กันมหาศาลยุ่งไปทั้งจักรวาล แต่ว่าเราพอที่จะหาหลักเกณฑ์โดยประจักษ์ ที่รัดกุมที่ชัดเจนเข้ามาพูดมากล่าวมาศึกษากัน
สิ่งแรกที่อยากจะเสนอก็คือ หลักที่ว่าต้องรู้จักตัวความทุกข์ก่อน จึงจะศึกษาเรื่องปฏิจจสมุปบาทได้ชัดเจนแจ่มแจ้งสะดวกตลอดไป ทีนี้มันจะเอาความรู้ความทุกข์มาจากไหน มันไม่มีความรู้ แม้ในเรื่องความทุกข์ ดูให้ดี เราทุกคนรู้จักสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์กันแล้วหรือยัง คำว่าความทุกข์เป็นคำที่มีความหมายลึกลับซับซ้อนเข้าใจยาก เพราะมันยังมีคำว่าความสุขเข้ามาเทียบคู่ แล้วคนธรรมดาสามัญปุถุชนทั่วไปจะรู้สึกเป็น 2 อย่างเสมอ เป็นสุขและทุกข์ แล้วมันก็ยินดีในส่วนที่เป็นสุข แล้วก็เกลียดส่วนที่เป็นทุกข์ นี่คือความโง่ของการที่ไม่รู้จักปฏิจจสมุปบาท ถ้ามันรู้จักปฏิจจสมุปบาทแล้ว มันไม่มีอาการเกลียดทุกข์ รักสุขไม่มี มันมีสำหรับคนโง่สำหรับปุถุชน ขอให้ทิ้งไปไว้เบื้องหลัง อย่ามีอาการรักสุขเกลียดทุกข์ เห็นเป็นของธรรมดามีเข้ามาจะจัดการอย่างไรก็จัดไปโดยไม่ต้องรู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ รักสุขเกลียดทุกข์เสียเวลา แต่เมื่อยังไม่รู้จักก็ต้องรักสุขเกลียดทุกข์อยู่เรื่อยไปตลอดชีวิตจนเข้าโรง มันพาเข้าโรงไปด้วย ขอให้สนใจเป็นพิเศษที่จะรู้จักสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ ต้องอาศัยหลัก เช่น อริยสัจ 4 ที่ตรัสว่าความทุกข์คืออะไร “ธัมมัง ภิกขะเว ทุกขัง” ทุกข์คืออะไร แล้วตรัสว่า “ชาติปิ ทุกขา ชะราปิ ทุกขา มะระณัมปิ ทุกขัง” เรื่อยไปจนกระทั่งว่า “สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา” เมื่อแต่ว่าปัญจุปาทานักขันธาทุกขาแล้วมันไม่ยกเว้นอะไร เพราะว่าอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นมันมีแม้แต่ในความสุข ในตัวความสุข ในความรู้สึกของปุถุชนนั้นแหละ เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือยิ่งกว่าสิ่งใดๆ ตั้งแต่อ้อนแต่ออกมาจากท้องแม่ เริ่มยึดถือความสุข ยึดถือมากขึ้นๆๆ จนไม่รู้ว่าจะยึดถือกันอย่างไร ความทุกข์มาจากความยึดถือ มันก็ต้องมีความทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านสรุปให้เข้าใจง่ายสังเกตง่ายศึกษาง่ายว่า “สังขิตเตนะ” เมื่อกล่าวโดยสรุปย่อ “ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา” ขันธ์ 5 ที่ประกอบอยู่ในอุปาทานนั่นแหละเป็นตัวทุกข์ ก็ต้องรู้จักขันธ์ 5 ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ชีวิตนี้เมี่อแยกออกดูเป็นส่วนๆ ได้ 5ส่วน 5หน้าที่ 5ความหมาย 5แขนงงาน รูปร่างกายนี่ก็ส่วนหนึ่ง เป็นเวทนารู้สึกสิ่งที่มากระทบบวกลบนี่อย่างหนึ่ง สัญญาความหมายมั่นหมายลงไปว่าเป็นอะไร สังขารความคิดเกิดไปตามความมั่นหมายแล้วแต่ว่ามั่นหมายอะไร วิญญาณรู้แจ้งประจักษ์อารมณ์มากมายหลายขั้นตอนนับไม่ไหว รู้แจ้งอารมณ์ประจักษ์อารมณ์ว่าเป็นอย่างไร แล้วก็โง่ๆๆๆ จนยึดถือจนเป็นทุกข์ มันจึงรู้แจ้งรู้ประจักษ์ในส่วนที่เป็นอารมณ์ ไม่รู้จักส่วนที่เป็นสัจจะหรือเป็นความจริง หลงยึดขึ้นมาเป็นตัวตน ฉะนั้นความทุกข์เกิดมาจากความยึดมั่นในขันธ์ทั้ง 5
แต่ทั้ง 5 มันมากนัก 5 มันมากนัก เอาเหลืออย่างเดียวก็พอ ความยึดมั่นในสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น ถ้าพูดอย่างเดียวก็พูดอย่างนี้ สิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น “อุปาทานนียาธรรมะ” สิ่งเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น ไปยึดมั่นในสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นจะกระจายเป็นขันธ์ 5 ก็ได้ จะกระจายเป็นอายตนะ 6 2 6 เป็น 12 ก็แล้วแต่จะกระจายเป็นอะไร เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นก็เป็นทุกข์ ความทุกข์เกิดมาจากความยึดมั่นในสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น สิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นนั้นดูจะไม่รู้จักกันอย่างชัดแจ้ง เพียงแต่ท่องจำไว้ได้ ถ้าจะพูดกันให้ชัดให้ละเอียดในรูปแบบของการศึกษาแท้จริงอย่างกับเป็นวิทยาศาสตร์ชนิดหนึ่งแล้ว สิ่งที่เป็นที่ตั้งความยึดมั่น เรียกว่า “อายตนิกธรรม” ธรรมที่เป็นไปด้วยอายตนะ มีอยู่ 5 หมวด
หมวดที่1 อายตนะภายใน ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ เป็นที่ตั้งความยึดมั่น
หมวดที่ 2 อายตนะภายนอก รูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ, ธัมมารมณ์ เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น
หมวดที่ 3 วิญญาณ ทางตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ เป็นที่ตั้งความยึดมั่น ทั้ง 6 นี้เป็นที่ตั้งความยึดมั่น
แล้วผัสสะ 6 ผัสสะทางตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ นี้ก็เป็นที่ตั้งความยึดมั่น
แล้วก็มีเวทนา 6 ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ 6 อีก
มัน 6 ห้าที เห็นไหมสังเกตดูให้ดีๆ 6 ทีแรกอายตนะภายใน หกที่สองอายตนะภายนอก หกที่สามคือวิญญาณ6 หกที่สี่คือผัสสะ6 หกที่ห้าคือเวทนา6 พอมีเวทนาแล้วกระจายเป็นอะไรออกไปก็ได้ สิ่งที่เป็นที่ตั้งอย่างยิ่งคือเวทนา เป็นที่ตั้งความยึดมั่น ยึดมั่นในสิ่งเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นแล้วก็เป็นทุกข์ เราจะต้องรู้จักสิ่งเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นจนเกิดความทุกข์ ซึ่งมันจะมีอยู่ตลอดเวลา กลางวันก็มี กลางคืนก็มี ฝันไปก็ได้ ขอให้รู้จักสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นนี้ไว้ดีๆ เรียกว่า “อายตนิกธรรม” สิ่งเป็นไปทางอายตนะ 5 หมวด หมวดละ 6 พระพุทธเจ้าตรัสเน้นในธรรม 5 หมวดนี้มาก ว่าเป็นจุดตั้งต้นของการศึกษา การปฏิบัติ เมื่อมีการยึดมั่นในสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งการยึดมั่นก็เกิดทุกข์ เกิดความหลอกลวงของคำพูด แม้แต่ความสุขที่เรียกกันภาษาชาวบ้านว่าความสุขมันก็เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น ทุกขเวทนาก็เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น สุขเวทนาก็เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น อทุกขมสุขเวทนาก็เป็นที่ตั้งความยึดมั่น แล้วจะเอาอะไรมาเป็นความสุขหล่ะ กลายเป็นที่ตั้งความยึดมั่นไปเสียหมด ขอให้เข้าใจคำว่าความทุกข์ ทุกขะ ทุกขังให้ดีๆว่าได้แก่อะไร สอนกันแต่เพียงว่าความทุกข์เป็นสิ่งที่ทนยาก โดยไม่คำนึก แม้แต่สิ่งที่ทนง่ายๆ มันก็เป็นความทุกข์ แต่มันเป็นภาษาชาวบ้าน โง่ๆก็ภาษาพระอริยเจ้า เป็นที่ตั้งความยึดมั่นแล้วในรูปไหนก็ตามเป็นความทุกข์หมด ชาวบ้านก็ว่า “ถ้ามันถูกใจ ชอบใจฉันก็เป็นความสุข ไม่ใช่ความทุกข์” เนี่ยคนโง่หรือปุถุชนจะแยกเอาความสุขออกไปเป็นที่ตั้งแห่งความแสวงหา แสวงสุข มันได้ความสุขชนิดนี้มาสอนๆๆ จนเห็นว่า โอ้ สิ่งที่ฉันเรียกว่าความสุข มันก็ยังกัดฉัน มันกัดฉันเมื่อฉันไปยึดถือว่ามันคือความสุข
ความทุกข์จึงเป็นเรื่องของทั้งหมด เรื่องของความยึดมั่นถือมั่น สุขก็ดีทุกข์ก็ดี อทุกขมสุขก็ดี เมื่อเข้ามาแล้วก็เป็นทุกข์โดยเสมอกัน อย่ารู้จักความทุกข์เพียงว่าทนยากๆ ทนยากนั้นมันน้อยไป ที่ทนง่ายก็เป็นทุกข์ แล้วเอาตามความหมายที่ดีกว่า กว้างขวาง ชัดเจนกว่าก็แปลว่า “สิ่งที่เห็นแล้วรู้สึกเกลียด” เอาอย่างนี้ดีกว่า “ทุ” แปลว่า น่าเกลียด กับ “อิขะ” แปลว่า เห็น “ทุกขัง” จึงแปลว่า เห็นแล้วน่าเกลียด รู้สึกน่าเกลียด
ถ้าว่าทุกข์ทนยาก ทุ กับ ขมะ “ทุ” แปลว่า ยาก “ขมะ” แปลว่า ทน “ทุกขะ” แปลว่า ทนยาก ความหมายนั้นแคบ เรามาว่ากันเอง คนธรรมดาว่ากันเองว่าทุกข์คือทนยาก แต่ตัวหนังสือตามความหมาย หมายถึงว่า เห็นแล้วมันเกลียด รู้สึกเกลียด หรือถ้าฉลาดกว่านั้นอีกก็เห็นแล้วรู้สึก โอ้!!มันไม่มีสาระอะไร เรียกว่า “เห็นทุกข์” ทุกข์ไม่ได้หมายความแต่เพียงว่าทนยากเจ็บปวด มันลึกไปถึงว่าของเห็น รู้จักกันจริง โอ้มันเป็นของน่าเกลียด แต่ถ้าว่าลึกเข้าไปอีก “มันไม่มีสาระอะไร กูจะไม่เจอเวลาไปเกลียด ไปรักกับมัน ไม่เอาอ่ะ” พอเห็นมันว่างจัดสิ่งที่เป็นสาระที่ควรยึดถือ ความทุกข์มันมีความหมายว่าเห็นแล้วรู้สึกเกลียด ลึกขึ้นไปก็ว่าเห็นแล้วรู้สึกว่าไร้สาระโดยประการทั้งปวง จิตใจมันก็วาบวามไปเพราะว่าไม่มีสาระอะไรที่น่ายึดถือ คำนี้แปลยาก แปลคนโง่ๆก็ว่า ทนยากหรือเป็นทุกข์ ฝรั่งมันก็เคยแปลคำนี้กันว่า “Suffering” ทนยาก,เจ็บปวด,หรือเป็นทุกข์ ต่อมาเห็นความหมายกว้างไปไม่แปลว่าSufferingแล้ว มันแปลว่า “Disatisfactory” ไม่มีอะไรที่น่าพอใจ “Dis” = ไม่, “Satisfaction” = ความพอใจ, “Disatisfaction” ไม่มีอะไรที่น่าพอใจ เห็นแล้วไม่มีอะไรที่น่าพอใจ จะแปลความทุกข์ในความหมายนี้ เห็นแล้วมันน่าเกลียด จะมาสู่ความหมายว่าเห็นแล้วว่าง ว่างจากสาระที่น่ายึดถือ มันก็ไม่ยึดถือไม่เป็นทุกข์ พอไปยึดถือเข้ามันก็เป็นทุกข์ ทีนี้ท่านก็ลองดูไอความสุข ที่เรียกกันว่าความสุข ในหมู่คนพาลอันธพาล ปุถุชนไปยึดถือ ลองดู…มันก็กัดเอา ความรักก็กัด ความโกรธก็กัด ความเกลียดก็กัด ความรักไปยึดถือก็ดู หรือเมื่อรู้สึกรักๆ เต็มหัวใจ รักลูกรักเมียรักผัวอะไรก็รักๆ มันจะมีอาการที่ว่ามันกัดหัวใจ มันไปยึดถือในสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ การที่มันกัดเอาด้วยความยึดถือคือตัวความทุกข์ ถ้าพูดกันอย่างนี้แล้วความหมายมันกว้างครอบทั่วจักรวาลเลย ไปยึดถือในสิ่งใดสิ่งนั้นแหละมันกัด ท่านจึงสอนให้ไม่ยึดถือ กล้าพูดได้ว่าไม่ยึดถือสิ่งทั้งปวง ธรรมทั้งปวงอันบุคคลไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ถ้ายึดถือเป็นอุปาทานแล้วเป็นทุกข์ทั้งนั้น แม้คนโง่จะยึดถือในพระพุทธในประธรรมในพระสงฆ์มันก็เป็นอุปาทานก็มีปัญหาเป็นความทุกข์ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จะมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระองค์จริงๆ ความรู้สึกไม่ยึดมั่นในสิ่งใดประการทั้งปวง เป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์โดยแท้จริง เมื่อเราบูชาพระรัตนไตรขอให้ทำในใจถึงเรื่องนี้ข้อนี้ว่า “ผู้ปฏิบัติความยึดมั่นได้สำเร็จคือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีความยึดมั่นเป็นทุกข์ ความไม่ยึดมั่นก็ไม่เป็นทุกข์” รู้จักทุกข์ในความหมายอย่างนี้กันเสียก่อน ตามบาลีอริยสัจเค้าว่า ชาติเป็นทุกข์ ชราเป็นทุกข์ มรณะเป็นทุกข์ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เป็นทุกข์ พบกับสิ่งที่ไม่น่ารักเป็นทุกข์ พลัดพรากจากสิ่งที่น่ารักเป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้นเป็นทุกข์ โดยสรุปแล้วความยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์หรืออุปาทานเป็นตัวทุกข์ ทุกข์ทั้งหมดคืออย่างนี้ เข้าใจข้อนี้ได้จะเข้าใจปฏิจจสมุปบาทได้ทันที เห็นตัวทุกข์ที่มีอยู่จริง ชนิดที่เป็นธรรมชาติมีอยู่ในลักษณะที่มันเกิด เกิดอยู่โดยไม่รู้สึกตัว เกิดเองอยู่โดยไม่รู้สึกตัว มันปรุงเป็นปฏิจจสมุปบาทเป็นความทุกข์อยู่โดยไม่ต้องรู้สึกตัว
พิจารณากันดูตามสูตร ตัวบทสูตรของปฏิจจสมุปบาท เพื่อให้เห็นชัดละเอียดลงไปว่า ชาติเป็นอย่างไร ชราเป็นอย่างไร มรณะเป็นอย่างไร โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสเป็นอย่างไร ทั้งหมดทุกๆอาการนั้นเป็นอย่างไร เห็นชัดว่ามันมีอยู่ตลอดเวลาอย่างไร ยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวตนเป็นของตนโดยความรู้สึก รู้สึกเต็มสำนึกนี้ก็มี โดยรู้สึกเพียงครึ่งสำนึก กึ่งสำนึกก็มี ไม่รู้สึกแต่อยู่ใต้สำนึกนั้นก็มี “Conscious” เต็มสำนึกก็มี, “Semi conscious” ครึ่งสำนึกก็มี, “Subconscious” อยู่ใต้สำนึกเลยก็มี มีตลอดเวลาแม้แต่ฝันก็ยังฝันได้เป็นความทุกข์ เรามาดูกันให้ดี มารู้จักสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์กันให้ดีๆ แล้วจะต้องเข้าใจคำศัพท์ที่ชวนฉงนอยู่ข้อหนึ่ง คือคำว่า “ชาติ” ในปฏิจจสมุปบาทชาติเป็นปัจจัยแห่งความทุกข์ ชาติปัจจะยา ชะรามะระณัง โสกะปะริเทวะ เรื่อยไปเป็นความทุกข์ ตัวชาติเป็นปัจจัยแห่งความทุกข์ แต่ในเรื่องอริยสัจท่านตรัส “ชาติ” ว่าเป็นตัวความทุกข์เสียเอง ดูให้ดี ถ้าโง่แล้วจะหาว่าพระพุทธเจ้าตรัสอะไรไม่คงแก่รอย ไม่อยู่ในร่องในรอย เดี๋ยวตรัสว่าชาติเป็นทุกข์ เดี๋ยวตรัสว่าชาติเป็นปัจจัยแห่งทุกข์ จะหาพระพุทธเจ้าตรัสอะไรไม่แน่นอน นั่นเพราะมองกันในแง่ทิศทางทางหนึ่ง ตัวชาติเกิดขึ้นแห่งความรู้สึกว่าตัวกู ในตัวมันเองก็เป็นความทุกข์ แล้วมันยังเป็นปัจจัยให้เกิดความทุกข์ต่อๆๆๆไปอีกมากมาย ให้เกิดเป็นทุกข์เพราะ ชะรามะระณัง โสกะปะริเทวะอีกมากมาย ชาติในอริยสัจเป็นตัวความทุกข์ ชาติในปฏิจจสมุปบาทเป็นตัวปัจจัยแห่งความทุกข์ เป็นความจริง ถ้ามองในแง่ของอริยสัจ “ชาติ” เป็นตัวความทุกข์ มองในแง่ของปฏิจจสมุปบาท “ชาติ” เป็นปัจจัยแห่งความทุกข์ ตรงนี้ต้องเข้าใจให้ดีๆ มิฉะนั้นจะขัดกันในตัวแล้วมันก็จะเข้าใจไม่ได้
ความทุกข์มีการปรุงแต่งก่อรูปก่อร่างขึ้นมาอย่างไร อาการนั้นเรียกว่า “ปฏิจจสมุปบาท” สํ แปลว่าพร้อม, ปฏิจฺจ แปลว่าอาศัยกัน, อุปฺปาท แปลว่าเกิดขึ้น “ปฏิจจสมุปบาท” อาศัยกันเกิดขึ้นพร้อม อาการอย่างนี้เรียกว่าปฏิจจสมุปบาทเป็นของธรรมชาติ แม้จะอาศัยเกิดขึ้นพร้อมในลักษณะที่เป็นสุขเวทนาก็เป็นปฏิจจสมุปบาทแบบเป็นทุกข์ แต่คนโง่หรือปุถุชนมันรักหลงรักในสุขเวทนา ทั้งที่เป็นปฏิจจสมุปบาทด้วยกัน มีความยากลำบาก ที่จะเข้าใจ เข้าใจได้ยากอยู่อีกคำคือคำว่า ปฏิจจสมุปบาทนี่แหละ อาศัยกันเกิดขึ้นพร้อมแห่งสังขารเรียกว่าทุกข์ แต่เมื่ออาศัยกันแล้วดับลงแห่งสังขารก็เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท พวกยึดมั่นตัวหนังสือจะยึดมั่นว่าปฏิจจสมุปบาทอาศัยกันเกิดขึ้นพร้อม แล้วถ้าอาศัยกันดับลงก็ไม่ใช่ปฏิจจสมุปบาท มันไม่ใช่อย่างนั้นโว้ย ในพระบาลีแท้ๆมีคำกล่าวว่า การดับลงแห่งสังขาร มีเพราะการดับลงแห่งอวิชชา การดับลงแห่งวิญญาณมีเพราะการดับลงแห่งสังขาร แม้ว่าการดับลงๆ แห่งสิ่งนี้ มันก็มีเพราะการดับลงๆแห่งสิ่งนั้น การดับลงนั้นก็มีอาศัยสิ่งนู้นจึงมีการเกิดขึ้นแห่งการดับลง การเกิดขึ้นแห่งการดับลงของความทุกข์ก็มี เพราะการดับลงแห่งเหตุที่ให้เกิดทุกข์ ไปเพ่งดูมันเกิดขึ้น แม้ว่าความดับแห่งสังขาร ดับแห่งวิญญาณ ดับแห่งนามรูป ดับแห่งสฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ก็เพราะมีการดับลงแห่งสิ่งแรก การดับลงแห่งสิ่งแรกทำให้มีการเกิดขึ้นแห่งการดับลงของสิ่งหลัง ดังนั้น ในสายที่เป็นการดับลงๆๆ แห่งปฏิจจสมุปบาท เค้าเรียกว่าปฏิจจสมุปบาท เราไม่เคยพบในพระบาลีว่าปฏิจจนิโรธ ไม่เคยพบเลย มีแต่ปฏิจจสมุปบาทอาศัยกันแล้วเกิดขึ้น การดับลงแห่งความทุกข์มันก็อาศัยการดับลงแห่งเหตุให้เกิดทุกข์ มันจึงมีแต่การอาศัยกันเกิดขึ้นๆ ในแง่ของความสุขก็ได้ ความทุกข์ก็ได้ คำว่าปฏิจจสมุปบาทอาศัยกันเกิดขึ้น แม้แต่ความดับลงแห่งความทุกข์ก็อาศัยกันเกิดขึ้นของการดับลงแห่งเหตุให้เกิดทุกข์ อวิชชาดับ สังขารดับ สังขารดับ วิญญาณดับ นามรูปดับ อายตนะดับๆๆ ๆ ความดับนั้นมีเพราะความดับของสิ่งที่มีอยู่ก่อนดับ เลยเรียกว่าปฏิจจสมุปบาท ทั้งฝ่ายเกิดและฝ่ายดับ ทั้งที่ตัวหนังสือแท้ๆ แปลว่าเกิดขึ้น อาศัยกันเกิดขึ้น ฟังแล้วสังเกตให้ดีๆ เพราะเมื่อเราสวดปฏิจจสมุปบาทฝ่ายเกิดขึ้น อวิชชาปัจจะยา สังขารา สังขาระปัจจะยา วิญญานัง วิญญาณะปัจจะยา นามะรูปัง นา แล้วมันก็อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น พอท่องว่า อวิชชา ยะ เตววะ อะเสสะวิราคะนิโรธา สังขาระนิโรโธ สังขาระนิโรธา วิญาณะนิโรโธ วิญญาณะนิโรธา นามรูปะนิโรโธ ตอนนี้มันก็ยังมีการเกิดขึ้นแต่ว่าเกิดขึ้นแห่งทางดับ ทั้งฝ่ายเกิดและฝ่ายดับก็คือ ปฏิจจสมุปบาทเข้าใจชัดประจักษ์ชัดว่าอาศัยกันเกิดขึ้นหรืออาศัยกันดับลงก็เป็นปฏิจจสมุปบาททั้งนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสเฉพาะคำว่าปฏิจจสมุปบาท ไม่มีปฏิจจนิโรธ แต่มันก็เป็นนิโรธ นิโรธมันดับลง ทุกขนิโรธมีขึ้นมาเพราะสมุทัยนิโรธ สมุทัยมันดับ จะต้องตั้งต้นด้วยการรู้จักสิ่งที่เรียกว่า “ความทุกข์” ให้เป็นรากฐานก่อน ถ้าไม่รู้จักความทุกข์ก็หลงรักความทุกข์ แล้วก็แยกเป็นว่าแสวงสุขเกลียดทุกข์ นั่นแหละมันจะบ้าจะโง่ เพราะว่าแม้แต่ความสุขมันก็เป็นสังขารธรรมเป็นปฏิจจสมุปบาทไปยึดมั่นถือมั่นแล้วมันกัดเอา ดูให้ดีจะเห็นชัดว่าความรักก็กัดอย่างความรัก ความโกรธก็กัดอย่างความโกรธ ความเกลียดก็กัดอย่างความเกลียด ความกลัวก็กัดอย่างความกลัว ความตื่นเต้นๆ ก็กัดอย่างความตื่นเต้น วิตกกังวลข้างหน้าก็กัดอย่างวิตกกังวล อาลัยอาวรข้างหลังก็กัดอย่างอาลัยอาวรข้างหลัง อิจฉาริษยาก็กัดอย่างอิจฉาริษยา ความหวงก็กัดอย่างความหวง ความหึงก็กัดอย่างความหึง พอยึดมั่นอะไรเข้าแล้วมันกัดทั้งนั้น อย่าไปคิดอย่างเด็กๆ ว่านี่น่ารัก น่ารักก็รักเป็นความสุข มันก็กัดอย่างไม่รู้สึกตัว ทีนี้ความไม่น่ารักกูเกลียดๆๆ ก็กัดอย่างความเกลียด พอยึดมั่นแล้วความสุขก็กัดอย่างความสุข ความทุกข์ก็กัดอย่างความทุกข์ อย่าเอากับมันเลยอย่าไปยึดมั่นโดยประการทั้งปวง นี่แหละคือดับทุกข์ ต้องเห็นความจริงของสิ่งนี้นั่นแหละคือเห็นปฏิจจสมุปบาท เห็นว่าความทุกข์อาศัยปัจจัยอะไรแล้วเกิดขึ้นอย่างไร เห็นว่าความทุกข์อาศัยปัจจัยกันและดับไปอย่างไร นั่นหน่ะคือเห็นปฏิจจสมุปบาท
แล้วมันลึกลับที่ว่ามันปรุงอยู่โดยอัตโนมัติรวดเร็วอย่างไม่รู้สึกตัว เป็นปัจจุบันธรรมที่แสนจะรวดเร็ว อวิชชาให้เกิดสังขาร สังขารให้เกิดวิญญาณ มันไม่ได้ปรุงเผื่อไว้ตั้งแต่เมื่อวานหรือวันก่อน มันปรุงเมื่อมีการกระทบทางอายตนะไวแว๊บขึ้นมาเหมือนฟ้าแลบ ไม่ได้ปรุงเผื่อไว้ตั้งแต่เมื่อวานหรือปีก่อนเดือนหน้าอย่าเข้าใจอย่างนั้น เมื่อมีการกระทบทางอายตนะตามธรรมชาติ โดยธรรมชาติ ไม่เกี่ยวกับชีวิตจิตใจอะไรนักหนาตามธรรมชาติทั้งนั้นแหละ มันก็เกิดการปรุงของอวิชชาให้มีสังขารคือสิ่งที่มีอำนาจในการปรุงแต่งต่อไปๆ สังขารอำนาจการปรุงแต่งก็หยิบเอาวิญญาณธาตุตามธรรมชาติมาปรุงแต่งเป็นวิญญาณธาตุในอายตนะขึ้นมา อวิชชาปรุงแต่งสังขารก็ปรุงทันทีเมื่อมีการกระทบ ไม่ได้ปรุงเผื่อไว้ล่วงหน้า ปรุงในลักษณะที่แนบเนียนที่สุด เห็นได้ง่ายๆ ทางวัตถุธาตุ เช่น ไฟฟ้า เอาของตรงกับข้าม เช่น ทองแดงกับสังกะสีใส่ลงไปในน้ำกรด มันปรุงเดี๋ยวนั้นปรุงทันทีไม่ได้ปรุงไว้ล่วงหน้า มันปรุงเมื่อมาถึงกันเข้าไม่ใช้ปรุงไว้ล่วงหน้า กระแสไฟฟ้าในทางเคมีมันก็ปรุงทันทีปรุงเดี๋ยวนั้น ทางฟิสิกส์เจนเนอเรเตอร์ไดนาโมทั้งหลาย มันปรุงเมื่อมันหมุนนั่นแหละ มันไม่ได้ปรุงไว้ก่อน อวิชชาปรุงสังขาร สังขารปรุงวิญญาณ มันก็ปรุงในขณะที่มาถึงกันเข้า เป็นไปโดยธรรมชาติของคนโง่คนไม่รู้สึกตัวก็ปรุงตามสบายใจ ตามสบายใจของอวิญญา ตามสบายใจของสังขาร ตามสบายใจของทุกๆอย่างทุกๆขั้นตอนมันก็ปรุง ดูให้ดียิ่งกว่าสายฟ้าแลบ อวิชชาเกิดขึ้นมาก็ปรุงธรรมชาติมาเป็นเรื่องของจิตใจ เมื่อปรุงตามเรื่องของจิตใจเรื่อยไปๆ จนเกิดความทุกข์ถึงที่สุดอันดับสุดท้าย
ความเข้าใจยากของปฏิจจสมุปบาท ที่ตรัสไว้เต็มรูปแบบก็คือตรงนี้แหละ ที่ว่าอวิชชาปรุงสังขาร สังขารปรุงวิญญาณ วิญญาณปรุงนามรูป นามรูปปรุงอายตนะ อายตนะปรุงผัสสะ นี่เข้าใจยาก 2ขั้นตอนแรกที่ว่า อวิชชาปรุงสังขาร สังขารปรุงวิญญาณ สังขารนี้มันเป็นสังขารเนื้อหนังร่างกาย ครูสอนผิดๆในโรงเรียนกลายเป็นเกิดสองหน อวิชชาปรุงสังขารเกิดทีหนึ่งแล้ว วิญญาณปรุงนามรูปเกิดอีกทีหนึ่ง บ้าเลย อวิชชาความไม่รู้ อำนาจของความไม่รู้ทำให้เกิดอำนาจสำหรับจะปรุงแต่งๆๆเท่านั้น อำนาจจะปรุงแต่งมีพร้อมอยู่ พอมีอำนาจนี้อะไรที่มาเกี่ยวข้องกันเข้าก็ปรุงแต่งให้เป็นเรื่องใหม่ขึ้นมา เป็นของใหม่ขึ้นมา ฉะนั้นปรุงแต่งวิญญาณธาตุตามธรรมชาติก็ยังไม่ทำหน้าที่อะไรให้มาเป็นวิญญาณในอายตนะ วิญญาณในความรู้สึก สังขารปรุงวิญญาณชนิดนี้ก็ได้ธรรมชาติฝ่ายจิตๆ ฝ่ายนามเข้ามา ทีนี้วิญญาณเป็นปัจจัยก็เกิดนามรูป เมื่อก่อนนามไม่มี มีแต่รูปหรืออะไรก็ตาม ไม่มีนามรูป พอมีการปรุงแต่งฝ่ายวิญญาณขึ้นมาก็มีนามมาเข้าคู่กับรูปเกิดนามรูป ดังนั้น จึงกล่าวว่าสังขารให้เกิดวิญญาณ วิญญาณให้เกิดนามรูป พอเป็นนามรูปครบคู่แล้วก็สบายแล้วทีนี้ มันก็มีอายตนะเป็นเครื่องมือปรุงแต่งให้กว้าง ให้ละเอียดออกไป เป็นเรื่องทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ มันก็เป็นปกอายตนะ พอมีอายตนะแล้วก็มีสิ่งที่ทำหน้าที่สัมผัส มันก็มีการสัมผัส อายตนะเป็นปัจจัยให้เกิดสัมผัสทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายทางใจ มีสัมผัสแล้วก็มีเวทนา เวทนา6 ไปตามจำนวนของอายตนะ มีเวทนาเป็นความรู้สึกเป็นรสของความบวกลบ บวกก็คือสุขเวทนา ลบก็คือทุกขเวทนา ไม่บวกไม่ลบกันแน่ก็เป็นอทุกขมสุขเวทนา เวทนาทำให้เกิดตัณหาเพราะมันทำให้มีความรู้สึกอย่างไรแล้ว ก็จะเกิดความอยากที่จะกระทำให้ตรงตามความรู้สึกนั้น มันพอใจ รักใคร่ก็ปรุงตัณหาฝ่ายที่อยากจะเอาอยากจะได้อยากจะมี ทีนี้ถ้าเวทนานั้นไม่น่าถูกใจไม่น่ารัก ก็มาปรุงตัณหาฝ่ายตรงข้าม เผื่อจะฆ่าเสีย จะทำลายเสีย มันเป็นอทุกขมสุขโง่วนเวียน สงสัยวนเวียน วิ่งอยู่รอบๆนั้น ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี ตัณหาเป็นไปตามความหมายของเวทนาว่าเป็นสุขหรือเป็นทุกข์หรืออทุกขมสุข พอมีตัณหามีความอยากเกิดขึ้นตามธรรมชาติในใจ เป็นความอยากเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ก็มีการปรุงต่อไปเป็นความรู้สึกว่า กู…กูอยาก กูอยาก ฉันอยาก ฉันอยาก ตัณหาปรุงอุปาทานพอมีความอยากขึ้นมาแล้ว มันก็ปรุงให้เกิดความรู้สึกว่าผู้อยากๆ อันนี้สำคัญมากที่จะทำให้เข้าใจเรื่องอนัตตา ผู้อยากเกิดทีหลังความอยาก พอเราพูดอย่างนี้ ไอคนโง่มันก็ว่าบ้าๆ ผู้อยากเกิดทีหลังความอยาก จะเกิดได้อย่างไร มันต้องมีผู้อยากก่อนซิจึงจะเกิดความยาก ไอนั่นเป็นเรื่องวัตถุเป็นเรื่องธรรมดา แต่นี่ความอยากโง่เขลาเกิดขึ้นแล้วในจิตใจ ผู้อยากคือตัวกู ผู้อยาก มันขัดกับคำพูดทางธรรมดาของเด็กๆ เด็กๆก็ไม่เชื่อว่าผู้อยากเกิดทีหลังความอยาก มันต้องผู้อยากซิจึงจะเกิดความอยาก เด็กๆจะคิดว่าต้องมีผู้กระทำก่อนซิจึงจะเกิดการกระทำ ไอเรื่องนี้มันลึกลับ มีการกระทำก่อนจึงจะเกิดการยึดถือผู้กระทำ ผู้กระทำเกิดทีหลังการกระทำ คนโง่มันก็ว่าบ้า แต่นี่เป็นความจริงสูงสุดของพระอริยเจ้า ว่าผู้อยากมันเกิดทีหลังความอยาก ผู้กระทำความอยากเกิดทีหลังการกระทำ
นี่ถ้าท่านเค้าใจว่าผู้กระทำเกิดทีหลังการกระทำได้จะเข้าใจเรื่องอนัตตา เพราะมันไม่มีผู้กระทำที่แท้จริง ไม่มีตัวผู้กระทำที่แท้จริง มันสร้างขึ้นมาเป็นตัวผู้กระทำด้วยความโง่ นี่คือตัณหาให้เกิดอุปาทาน ความอยากทำให้เกิดความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นในตัวกู กูอยากอุปาทานก็เกิดขึ้น เป็นจุดตั้งต้นของตัวผู้อยาก เกิดขึ้นมาแล้วอย่างนี้เรียกว่า “ภพภวะ” ความมีแห่งตัวผู้อยาก เป็นจุดตั้งต้นขึ้นมาก่อน แล้วมันก็เข้มข้นเข้าๆ ภพก็เข้มข้นเข้าๆ เหมือนกับว่าทีแรกตั้งครรภ์แล้วครรภ์มันก็แก่ๆๆขึ้น ภพมันก็แก่ๆๆ ในที่สุดก็เป็น “ชาติ” คือคลอดลูกออกมา ตัวกูที่ตั้งครรภ์อ่อนๆ กลายเป็นตัวกูที่สมบูรณ์เต็มขึ้นมา ออกมาในความรู้สึก ชาติตัวกู พอมีชาติแห่งตัวกูอย่างนี้แล้ว มันก็คว้าเอาอะไรทั้งหมดมาเป็นของกูบ้าง เป็นตัวกูบ้าง มันก็เอาเกิดแก่เจ็บตายมาเป็นของกู แล้วมันก็เป็นทุกข์ก็สมน้ำหน้ามันอยากโง่ ไอชาติเนี่ยมันอยากโง่ ไปคว้าเอาอะไรมาเป็นของกู ความเกิดความแก่ความเจ็บความตายก็เป็นของกูขึ้นมา โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส ก็เป็นของกูขึ้นมา ทุกข์เพราะอยู่กับสิ่งไม่รัก ทุกข์เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ปรารถนาอันใดแล้วไม่ได้ก็มาเป็นทุกข์ของตัวกูขึ้นมา
สรุปความได้ว่าความยึดมั่นในเบญจขันธ์ทั้ง 5 นั่นแหละ คือตัวทุกข์ เรียกว่าชาติ ชาติเป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์ตามหลักแห่งปฏิจจสมุปบาท แต่ในเรื่องของอริยสัจ กรณีของอริยสัจพระพุทธเจ้ารวบให้สั้นเข้ามาๆ ไม่ต้องยืดยาวเป็น 12 อาการอย่างนี้ ก็เลยกล่าวเสียทีเดียวว่า “ชาติเป็นตัวทุกข์” ชาติปิ ทุกขา ชะราปิทุกขา มะระณัมปิ ทุกขัง เอามารวบเข้าไว้ด้วยกันจึงมีความหมายเป็นตัวทุกข์ ในปฏิจจสมุปบาทมีความหมายเป็นตัวเหตุให้เกิดทุกข์ ท่านจงศึกษาปฏิจจสมุปบาทมาในลักษณะอย่างนี้ การปรุงแต่งของอวิชชาเกิดอำนาจการปรุงแต่งที่เรียกว่าสังขาร สังขารปรุงแต่งวิญญาณ ไปคว้าวิญญาณในธรรมชาติ มาเป็นวิญญาณในอายตนะ ก็ได้สิ่งที่เรียกว่านามมาคู่กับรูปเกิดนามรูป เกิดนามรูปแล้วมันก็มีสิ่งที่ทำหน้าที่ของนามรูปก็คืออายตนะ แยกออกไปเป็น 6 ทิศทาง ตามที่ธรรมชาติกำหนดได้ อาจจะมากกว่า 6 ก็ได้ แต่มันไม่รู้ไม่รู้สึก จึงเอามาพูดกันเพียง 6 มีอาตยนะ6 มีผัสสะ6 มีเวทนา6 มีตัณหา6 กระทั่งอุปาทานก็ตามตัณหา เท่าจำนวนตัณหา มีภพ มีชาติ มีตัวทุกข์ มีปฏิจจสมุปบาท เป็นอย่างนี้ๆ อาศัยกันแล้วเกิดขึ้นๆๆๆ เป็นตอนๆๆๆ มาจนครบทั้ง 11อาการ หรือ 12ตัวธรรมะ นับตัวธรรมะได้12เป็นปฏิจจสมุปธรรม อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น นับอาการปรุงแต่งที่ทำให้เกิดได้ 11 คู่ เรียกว่าปฏิจจสมุปบาทมีอยู่โดยไม่รู้สึก โดยไม่อยู่ในความรู้สึกของคนธรรมดาสามัญ มีอวิชชาปรุงสังขาร ปรุงวิญญาณ ปรุงนามรูป อยู่ทันทีที่มันมีการกระทบหรือการถึงกันเข้าดีกว่า ระหว่างธาตุมีการถึงกันเข้าระหว่างธาตุ อวิชชาธาตุก็ปรุงสังขารธาตุ สังขารธาตุก็ปรุงวิญญาณธาตุ วิญญาณธาตุก็ปรุงนามรูปธาตุ นามรูปธาตุก็ปรุงอายตนะธาตุ อายตนะธาตุก็ปรุงเวทนาธาตุ ธาตุๆๆๆ ทั้งนั้นเลย คำนี้คงจะแปลกหูท่านทั้งหลายว่า มันไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธาตุ ตั้งแต่ขี้ฝุ่นไปจนถึงพระนิพพาน พระนิพพานสุดยอดก็เป็นธาตุ เป็นนิพพานธาตุเป็นอสังขธาตุ ไม่มีอะไรที่ไม่เป็นธาตุ มีพระบาลีแห่งหนึ่งหรือมากกว่าแห่งหนึ่งว่า “มันธาตุทั้งนั้น สุขธาตุ ทุกขธาตุ อทุกขมสุขธาตุ กุศลธาตุ อกุศลธาตุ มันไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธาตุ” ทีนี้ธาตุมันปรุงแต่งธาตุขึ้นมาในลักษณะอย่างนี้เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท
ใครหลีกพ้นบ้างใครหน้าไหนมันหลีกพ้นอาการของปฏิจจสมุปบาทบ้าง ตั้งแต่มันปฏิสนธิเข้ามาในครรภ์ท้องมารดาจนออกมาจนเข้าโลงมันไม่หลีกพ้นกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทได้ แล้วทำไมไม่รู้จัก เป็นคนโรคมะเร็งที่ไม่รู้จักตัวเองว่าเป็นมะเร็ง เป็นTB เป็นวัณโรคที่ไม่รู้จักตัวเองว่าเป็นวัณโรค เดี๋ยวนี้มันก็คงเป็นโรคเอดส์โดยไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคเอดส์ ไอชาติโง่คืออย่างงี้ มันไม่รู้ว่าสิ่งที่มีอยู่กำลังมีอยู่มันไม่รู้จัก ไม่รู้จักปฏิจจสมุปบาทที่กำลังมีอยู่ๆๆอย่างเหลือประมาณ ไม่รู้จัก เพราะมันไม่รู้จักตัวทุกข์ ไม่สนใจในเหตุที่จะให้เกิดทุกข์ ไม่สนใจในอริยสัจ ไม่สนใจในปฏิจจสมุปบาท ขอให้มาสนใจๆ จะได้รู้จักกันให้ดีๆ ตั้งต้นที่รู้จักความทุกข์ ไม่ใช่เพียงความเจ็บปวด มันลึกลงไปถึงว่าดูแล้วมันน่าเกลียดนะ แม้แต่ความสุขหรือความรักที่บูชากันนัก พวกเด็กๆบูชากันนัก ไปดูกันให้ดี เป็นตัวกลางปรุงแต่งเกิดขึ้นแห่งปฏิจจสมุปบาทไปยึดถือเข้ามันก็กัดเอา รักสิ่งใดสิ่งนั้นแหละมันกัด พูดอย่างนี้ดีกว่า ไปรักอะไรสิ่งนั้นแหละมันจะกัด เพราะเป็นความโง่ เป็นอวิชชา เป็นตัณหา เป็นอุปาทาน เกลียดสิ่งใดสิ่งนั้นแหละมันกัด รักสิ่งใดสิ่งนั้นแหละมันกัด ไม่รักไม่เกลียดดีกว่า ไม่บวกไม่ลบกันดีกว่า ไม่กัด จะทำอย่างนี้ได้ก็ต้องรู้จักปฏิจจสมุปบาทอย่างถูกต้อง ไม่โง่รักสิ่งใด ไม่โง่เกลียดสิ่งใด ก็อยู่เหนือบวกเหนือลบ เหนือรักเหนือโกรธ ไม่ยินดีไม่ยินร้าย เหนือความทุกข์โดยประการทั้งปวง
ปฏิจจสมุปบาทโดยใจความมีอย่างนี้ เรียกว่าปฏิจจสมุปบาทตามธรรมดาก็มี 12ตัวธรรม 11อาการ ทีนี้อยากจะบอกเสียเลยว่ายังมีปฏิจจสมุปบาทอีกชุดหนึ่งที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสลดเข้ามาเหลือเพียง 8 หรือ 9 อาการ ไม่ตั้งต้นด้วยอวิชชา สังขาร วิญญาณ ตั้งต้นขึ้นมาว่าเมื่อรูปถึงเข้ากับตาเกิดจักษุวิญญาณนี่ข้อหนึ่ง 3 ประการนี้ถึงกันอยู่เรียกว่าผัสสะ จกฺขุญฺจ ปฏิจฺจ รูเป จ อุปฺปชฺฌติ จกฺขุวิญฺญาณํ นี้อาการแรก รูปถึงกับตาเกิดจักษุวิญญาณ ติณฺณํ ธมฺมานํ สงฺคติผสฺโส ถึงพร้อมกันอยู่แห่งสิ่งทั้ง3 คือรูป,ตา,และวิญญาณ เรียกว่าผัสสะ ผสฺสปจฺจยา เวทนา เวทนาปจฺจยา ตณฺหา ตณฺหาปจฺจยา ไปตามลำดับเดียวกับปฏิจจสมุปบาทแบบใหญ่ แบบย่อแบบลัดสั้นนี่มาตั้งต้นที่อายตนะ เกิดวิญญาณแล้วเกิดผัสสะเกิดเวทนาตัณหาไปสู่ความทุกข์เหมือนกัน แบบนี้เราเรียกกันตามพอใจว่าแบบฮัมเพลง พูดจาหยาบคาบโสกโดกไปสักหน่อย ทำไมเรียกว่าแบบฮัมเพลง ตามพระบาลีมีอยู่ว่าวันหนึ่งพระพุทธเจ้าท่านประทับนั่งอยู่พระองค์เดียว ท่านก็สาธยายกฎเกณฑ์อันนี้ขึ้นมา ยกในหมวดตาหมวดรูปขึ้นมาพูดก่อน จบแล้วก็ยกหมวดหูขึ้นมาพูด จบแล้วก็ยกหมวดจมูกขึ้นมาพูด ลิ้นขึ้นมาพูด กายขึ้นมาพูด ใจขึ้นมาพูด จนครบทั้ง 6 หมวด ท่านสาธยายให้พระองค์เองฟัง นี่มันก็ประหลาดคล้ายๆกับว่าท่านไม่มีอะไรจะทำ คนธรรมดาก็ผิวปากเล่นร้องเพลงเล่น แต่พระพุทธเจ้าไม่มีอะไรทำท่านก็สาธยายปฏิจจสมุปบาท ท่านไม่มองเห็นใครอยู่มีอยู่องค์เดียวท่านก็ว่า แล้วบังเอิญว่าพระองค์หนึ่งแอบฟังอยู่ใต้ถุนหรือข้างๆ ท่านเหลียวไปเห็นก็ “อ้าว…แกมาอยู่ที่นี่ทำไมหล่ะ เอาไปๆๆ นี่คือ อาทิพรหมจรรย์ อย่างที่ฉันว่านี่แหละจุดตั้งต้นของพรหมจรรย์อยู่ที่นี่เอาไปๆ” ปฏิจจสมุปบาทนี้มันเหลือแต่เพียง 9 ธรรมะ หรือ 8 อาการ ก็เรียกว่าปฏิจจสมุปบาทที่ง่ายที่จะเข้าใจไม่ต้องตั้งต้นด้วยอวิชชาปรุงสังขาร สังขารปรุงวิญญาณ ซึ่งไม่รู้ว่าอะไรสอนกันผิดๆในโรงเรียน สอนปฏิจจสมุปบาทแบบนี้กันดีกว่าไม่มีทางจะผิด ตากับรูปถึงกันเข้าเกิดจักษุวิญญาณ หูกับเสียงถึงกันเข้าเกิดโสตวิญญาณ กลิ่นกับจมูกถึงกันเข้าเกิดฆานวิญญาณอย่างนี้เรื่อยๆไปมันเห็นง่าย พอวิญญาณทั้ง 3 อย่างนี้มาทำหน้าที่รวมกันเรียกว่า “ผัสสะ” พอผัสสะก็มีเวทนาตัณหาเรื่อยไป
ทั้ง 2 รูปแบบ แห่งปฏิจจสมุปบาทมี “ผัสสะ” ผัสสะเป็นจุดสำคัญ จุดสำคัญอยู่ที่ผัสสะ ตรงผัสสะนี่แหละที่มันจะไปหาทุกข์หรือไม่เกิดทุกข์ ถ้าควบคุมผัสสะได้ถูกต้องอยู่และไม่เกิดทุกข์ แต่นี่ไม่มีปัญญา ไม่มีความรู้ที่จะควบคุมผัสสะ มันก็ปล่อยไปตามเรื่อง ก็ได้โอกาสของอวิชชาเข้ามาสวมรอยครอบงำผัสสะให้เป็นผัสสะของอวิชชา อวิชชาสัมผัสแล้วก็เกิดเวทนา เวทนาโง่ เวทนาของอวิชชา เกิดตัณหาของอวิชชา เกิดอุปาทานของอวิชชา เกิดภพของอวิชชา เกิดชาติของอวิชชา เกิดความทุกข์ทั้งปวงของอวิชชา ถ้าเรามีปัญญา มีวิชาให้ทันเวลาเมื่อมีผัสสะแล้วเลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่เกิดทุกข์ จงศึกษาวิชชาปัญญาให้มากพอ โดยการปฏิบัติอานาปานสติ จะมีวิชามีปัญญามากพอเอามาใช้ได้ทันทีที่มีผัสสะ จะเป็นผัสสะในปฏิจจสมุปบาทใหญ่ 12 ธรรมะ ก็ตาม ปฏิจจสมุปบาทเล็กเพียง 9 ธรรมะนี้ก็ตาม มันมีผัสสะอย่างเดียวกัน มีวิชามีปัญญามาทันท่วงทีควบคุมผัสสะอย่าให้เป็นผัสสะโง่ ให้เป็นผัสสะฉลาด เรื่องก็ไม่มี อะไรจะไปเอาวิชาปัญญามานั่นคือ “สติ” สิ่งนั้นคือสติ สติก็เหมือนสิ่งขนส่ง เครื่องมือขนส่งอย่างรวดเร็วแบบสายฟ้าแลบเอามาทันเวลา ปัญญาเก็บไว้ในคลัง ศึกษาๆ มีปัญญาเยอะแยะเก็บไว้ พอเกิดเรื่องที่ทางอายตนะนี้ สติไปเอามาอย่างหนึ่งเหมะสมที่สุดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ปัญญาถูกแยกเอามาอย่างหนึ่งเหมาะสมกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น ปัญญานี่เปลี่ยนชื่อใหม่ทันทีเรียกว่า “สัมปชัญญะ” ปัญญาที่มีความรู้สึกตัวถือพร้อมถึงที่สุดเฉพาะกรณีนี้เรียกว่าสัมปชัญญะ สัมปชัญญะก็จัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับเรื่องที่เกิดขึ้น ถ้าแรงไม่พอก็มีสมาธิมาช่วย สัมปชัญญะก็มีแรงพอที่จะขจัดเรื่องราว กำจัดเหตุการณ์ของกิเลสที่จะเกิดขึ้น
เราจึงมีธรรมะ 4 เกลอ อย่างที่เราพูดกันแล้วเมื่อวันก่อนว่า สติไปเอาปัญญามา ปัญญามาเป็นสัมปชัญญะ สัมปชัญญะก็อาศัยกำลังของสมาธิ ตัดปัญหาตัดต้นเหตุแห่งความทุกข์ ทั้งปฏิจจสมุปบาทใหญ่และปฏิจจสมุปบาทน้อยนี่มันมีจุดสำคัญอยู่ที่ผัสสะ มีสติปัญญาควบคุมผัสสะให้เป็นผัสสะที่ฉลาด ถ้ามิฉะนั้นมันเป็นผัสสะโง่เรียกว่าอวิชชาสัมผัส สัมผัสด้วยอวิชชา ถ้าโง่อย่างนี้แล้วเป็นทุกข์ไม่มีทางหลีก แต่ถ้าสติไปเอาปัญญามาทัน วิชามาทัน มันกลายเป็นวิชาสัมผัส สัมผัสด้วยวิชาไม่เกิดทุกข์ไม่เกิดตัณหาไม่เกิดอุปาทาน จุดตั้งต้นเป็นตายนาทีวิกฤติอยู่ตรงสิ่งที่เรียกว่าผัสสะ ซึ่งมีตลอดวัน แต่ถ้ามันไม่มีความหมายอะไรมากมาย มันสลายตัวเองก็ได้มันไม่เป็นที่สนใจ แต่ถ้ามันเป็นที่สนใจแล้วมันก็จะเกิดความรู้สึกเป็นเวทนาบวกเวทนาลบขึ้นมา คือความยินดีความยินร้าย ความยินดีเรียกว่า “อวิชชา” ความยินร้ายเรียกว่า “โทมนัส” 2 อย่างนี้ที่ทำให้สัตว์ทั้งหลายเป็นทุกข์ทรมานอยู่ในวัฏสงสาร ศึกษาให้รู้ว่าจุดวิกฤติอยู่ที่ผัสสะ ต้องฝึกสติให้เร็วเอาปัญญามาให้ถูกต้องเป็นสัมปชัญญะแล้วกำจัดต้นเหตุนั้นเสีย ก็ควบคุมกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทได้ เรียกว่าควบคุมได้หยุดได้ เปลี่ยนไปในทางที่ไม่เป็นทุกข์ได้ ควบคุมกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทได้นั่นแหละคือสิ่งที่เราประสงค์ ที่อุตส่าห์มาศึกษาเล่าเรียนเป็นวรรคเป็นเวรนี่ก็เพื่อจะรู้จักปฏิจจสมุปบาท แล้วเราก็ปฏิบัติอานาปานสติเพื่อจะจัดการกับปฏิจจสมุปบาทให้หมดพิษหมดสง รู้จักสิ่งที่เป็นจุดสำคัญคือผัสสะ ควบคุมผัสสะไว้ไม่ถูกต้องก็เกิดเป็นทุกข์ ควบคุมไว้ได้อย่างถูกต้องก็ไม่เกิดทุกข์
เอาเพียงไม่เกิดทุกข์ อย่าโง่ให้เกิดสุข สุขมันก็หลอกให้หลงเดี๋ยวก็กลายเป็นทุกข์ไปอีก เอาเพียงไม่เกิดทุกข์ ตามพุทธสุภาษิตที่พระองค์ตรัสไว้ว่า “ปุพฺเพ จาหํ ภิกฺขเว เอตรหิ จ ทุกฺขญฺ เจว ปัญฺญา เปมิ ทุกฺขสฺส จ นิโรธํ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก่อนนู้นก็ดี เดี๋ยวนี้ก็ดี ฉันบัญญัติเฉพาะแต่เรื่องทุกข์ กับความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เท่านั้น” ท่านไม่พูดเรื่องอื่นไม่พูดเรื่องสุข ไม่มีความหมายของคำว่าสุข แต่มีความหมายดับไม่เหลือแห่งทุกข์ นั่นแหละไปสมมุติเอาเองว่าเรื่องสุข พูดแต่เรื่องทุกข์ และดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ท่านไม่พูดเรื่องอื่น ไม่พูดเรื่องอัตตา เรื่องตายแล้วเกิดตายแล้วฟื้นไม่พูดทั้งนั้น พูดแต่ว่าที่นี่เดี๋ยวนี้แกอย่าเกิดทุกข์ก็พอแล้ว ไม่เกิดทุกข์โดยเด็ดขาดโดยประการทั้งปวงแล้วก็เป็นพระอรหันต์ พวกเรามันโง่ เสียเวลาไปพูดเรื่องนั้นเรื่องนี้เป็นปีกเรื่องฝอยมากออกไปเป็นมโหฬาร เป็นอภิธรรมเฟ้อมากนัก เรียนไม่ไหวหรอก เอาเพียงอภิธรรมจริง อภิธรรมตรงจุด อภิธรรมคมเฉียบตัดอวิชชา ตัณหา อุปาทานได้ก็พอแล้ว นี่คือเรื่องปฏิจจสมุปบาท เป็นเรื่องพอเหมะพอดีไม่เฟ้อ แต่มันก็ค่อนข้างจะยาก รู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทดีแล้วก็ควบคุมกระแสแห่งความทุกข์ได้
ทีนี้จะต้องรู้คำพูดที่สำคัญ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า “สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานนักขันธา ทุกขา” ความยึดมั่นในเบญจขันธ์ทั้ง 5 เป็นตัวทุกข์ ทำไมไม่พูดว่าเรื่องปฏิจจสมุปบาทเป็นตัวทุกข์ ยักไปใช้คำว่าขันธ์ 5 ที่มีอุปาทานเป็นตัวทุกข์ นี่ขอให้ฟังให้ดีๆนะ เรื่องขันธ์ 5 กับเรื่องปฏิจจสมุปบาท มันเรื่องเดียวกันๆ อย่าหลับตา มันเรื่องเดียวกัน ใคร่ครวญมาดูซิ พอตากระทบรูปเกิดจักษุวิญญาณ นี่มันเกิดรูปขันธ์แล้ว อายตนะภายในก็รูปขันธ์ อายตนะภายนอกก็รูปขันธ์ มันทำหน้าที่แล้วเกิดรูปขันธ์แล้ว เกิดวิญญาณขึ้นมา เกิดผัสสะขึ้นมา นี่มันก็คือเกิดเวทนาขันธ์ เวทนาขันธ์ก็ผัสสะ เวทนาขันธ์เกิดแล้วสำคัญมั่นหมายเวทนาขันธ์ว่าอย่างไร เมื่อเกิดสัญญาขันธ์ สัญญาขันธ์ในกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทมันจึงจะเกิดสังขารขันธ์ สังขารขันธ์คือตัณหา ตัณหาคือสังขารขันธ์ สัญญาขันธ์ก็เป็นสัญญา เวทนาก็เป็นเวทนา ส่วนวิญญาณนั้นไว้หลังสุดพูดหลังสุดก็จริง แต่มันเกิดมากมายซับซ้อนหลายครั้งหลายหน เกิดทีแรกเพียงตากระทบรูป เกิดทีหลังมโนวิญญาณสัมผัสความหมายแห่งรูป สัมผัสความหมายแห่งสิ่งที่มากระทบ แล้วมโนวิญญาณยังสัมผัสธรรมะในภายใน เช่น เวทนา เป็นต้นอีกหลายครั้งหลายหน เอ้ย! วิญญาณหน่ะยังทำหน้าที่อีกหลายครั้งหลายหน เพราะงั้นเอาไปไว้สุดท้ายเถอะ ทำหน้าที่หลายอย่างหลายหนนัก มันจึงมีรูป มีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณอยู่ในกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง
นี่พระพุทธเจ้าท่านไม่ใช้คำว่ายึดถือในปฏิจจสมุปบาทเป็นตัวทุกข์ ท่านมาตรัสว่ายึดถือในตัวขันธ์ทั้ง 5 เป็นตัวทุกข์ เพราะว่าตัวขันธ์ทั้ง 5 กับกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทนั้นเป็นสิ่งเดียวกัน ท่านควรจะศึกษาทั้ง 2 รูปแบบ เดี๋ยวนี้ศึกษาในแง่ปฏิจจสมุปบาทครบทั้ง 11 อาการแล้ว เดี๋ยวนี้ไม่อย่างนั้นมาศึกษาในเรื่องของขันธ์ 5 ตาถึงกันเข้ากับรูป มีความรู้สึกทางตาเรียกว่ารูปขันธ์เกิดแล้ว ระบบประสาททางตาทำหน้าที่แล้วก็เรียกว่ารูปขันธ์เกิดแล้ว มันก็มีผัสสะมีเวทนา นามขันธ์เกิด เวทนาเกิด แล้วก็มีสัญญาสำคัญมั่นหมายในเวทนานั้น ว่าเวทนาสุข เวทนาทุกข์ เวทนาของผู้หญิง เวทนาของผู้ชาย สำคัญมั่นหมายตามความจำ ความจำที่เคยรู้สึกมาแต่ก่อน คำว่าสัญญาแปลว่าความสำคัญมั่นหมาย ไม่ได้แปลว่าความจำ ไม่ใช่ความจำอย่างเครื่องจักร มันสำคัญมั่นหมายโดยอาศัยสัญญาแต่กาลก่อนมาเป็นหลัก สัญญาในทีนี้ สัญญาขันธ์ในที่นี้จึงหมายถึง สำคัญมั่นหมาย ลงไปบนเวทนาว่าเป็นอะไร นี่แหละสัญญาขันธ์ แล้วก็เกิดสังขารขันธ์ ความคิดไปตามอำนาจของสัญญาขันธ์ น่ารักก็จะเอา ไม่น่ารักก็จะทำลายแล้วแต่ นี้เกิดสังขารขันธ์ ส่วนวิญญาณขันธ์ทำหน้าที่ยุ่งไปหมดหลายครั้งหลายตอน
เมื่อเรามีลูกตาถึงกันเข้ากับวัตถุอันหนึ่ง ทีแรกเป็นเพียงปฏิฆสัมผัส เป็นเพียงรูปร่างและสีเท่านั้นไม่ได้รู้สึกว่าเป็นอะไร เห็นสีแดงมีมิติอย่างนั้นอย่างนี้ รู้เพียงเท่านี้เรียกว่า “ปฏิฆสัมผัส” มีมโนวิญญาณวิ่งมาสัมผัสลงไปอีก โอ้!!ดอกกุหลายโว้ยนั้น ที่สีแดงรูปร่างมิติอย่างนั้นคือดอกกุหลาบ วิญญาณทางรูปรู้เพียงสี เพียงมิติ เพียง พอวิญญาณทางนามเข้ามาร่วม โอ้!! นี่ดอกกุหลาบ แล้วก็สัมผัสต่อไปว่าความหมายอย่างนั้นๆ พร้อมอย่างนั้นดีอย่างนี้ เพียงแต่ดอกกุหลาบก็ยังมีเรื่องมากแล้ว ถ้ามันเป็นเรื่องเห็นผู้หญิงเห็นผู้ชายเห็นของน่ารักน่าพอใจทางกามอารมณ์มันก็มากกว่านั้น ฉะนั้นดูให้ดีว่ามันมีตลอดวัน สัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วเกิดผัสสะ แล้วเกิดเวทนา แล้วเกิดสัญญา เกิดสังขาร เกิดวิญญาณมองในรูปนี้เรียกว่า “เบญจขันธ์” ไปยึดมั่นตอนใดตอนหนึ่งเข้ามันก็เกิดความทุกข์ๆ ขอให้สนใจ ระวังมีสติมากพอที่จะไม่ไปโง่ในขณะแห่งผัสสะ มันก็ไม่หลงในเวทนา ไม่หลงในเวทนาก็ไม่หลงในสัญญา ไม่หลงในสัญญาก็ไม่หลงในสังขาร คือความคิดที่จะปรุงแต่งนั่นนี่ ไปเกิดทำกรรมอย่างนั้น กรรมอย่างนี้ขึ้นมา มันก็ไม่มีความทุกข์ จงรู้จักฉลาดในธรรมะ มองเห็นกระแสนี้ เป็นกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทก็ได้ มองแห่งกระแสปรุงแต่งนี้ว่าเป็นเพียงขันธ์ 5 ก็ได้ ถ้าเก่งจริงเห็นเป็น 2 อย่างว่า “ทุกข์กับเหตุให้เกิดทุกข์ก็พอแล้ว” เรื่องปฏิจจสมุปบาทแล้วแต่ว่าจะมองกันในแง่ละเอียดเท่าไหร่ หรือปานกลางเท่าไหร่ หรือสั้นๆ ย่อๆเท่าไหร่
ท่านทั้งหลายจงศึกษาให้เข้าใจจนกระทั่งรู้ว่าความทุกข์เกิดอย่างไร ความทุกข์ดับอย่างไร นั่นแหละคือเห็นปฏิจจสมุปบาท เห็นปฏิจจสมุปบาทก็คือเห็นธรรม เห็นธรรมก็คือเห็นพระพุทธองค์ พระองค์จริงๆ พระองค์นิรันดร พระองค์ที่ไม่มีประสูติ ไม่มีตรัสรู้ ไม่มีนิพพาน อยู่ตลอดอนันตกาลเฉยอยู่อย่างนั้น นี่แหละพระองค์จริง พวกมหายานเค้าเรียกว่าอมิตาภะพุทธ อมิตายุพุทธะ มีอายุไม่จำกัด มีแสงสว่างไม่จำกัด คือ พระพุทธเจ้าองค์นี้ ไม่ต้องประสูติ ไม่ต้องตรัสรู้ ไม่ต้องนิพพาน นั่นคือพระองค์ธรรม เราไม่อาจจะเห็นพระองค์ธรรมนอกจากพระองค์คนมาช่วยบอกได้ พระคุณมหาศาลอยู่ที่พระพุทธเจ้าพระองค์คนมาค้นพบเรื่องนี้แล้วมาบอกให้เรารู้จักพระองค์ธรรม เราจึงมีธรรมตรัสรู้ธรรม กำจัดความทุกข์ได้ เห็นปฏิจจสมุปบาทก็คือเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์ธรรม จะเห็นเองไม่ได้ อาศัยการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าพระองค์คนมาช่วยแจกมาช่วยชี้มาแจง มีพระคุณมหาศาล ดีแล้วที่ว่าบูชาพระคุณของพระรัตนไตยอยู่บ่อยๆอย่างนี้ก็ดีแล้ว แต่ขอให้อย่าเป็นนกแก้วนกขุนทอง พอมองชัดว่าพระพุทธเจ้าพระองค์ธรรมรู้จักได้โดยพระพุทธเจ้าพระองค์คนมาช่วยสอน เดี๋ยวนี้รู้จักกันแต่พระพุทธเจ้าพระองค์คนมันไม่ถูก พระองค์จริงเสียอีก ไปถูกเปลือก ไปถูกวัตถุแทน มันเป็นพระพุทธรูปบ้าง เป็นต้นโพธิ์บ้าง เป็นอะไรบ้าง มันไม่ไหว แม้แต่พระสารีริกธาตุก็ยังไม่ไหว เพราะไม่ใช่พระองค์จริง พระองค์จริงต้องเป็นธรรมะที่ดับทุกข์ได้ ธรรมไว้ในใจเสมอว่าผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม ไม่เห็นธรรมไม่ชื่อว่าเห็นเรา การจะเห็นเพียงพระพุทธรูป เพียงพระสารีริกธาตุเม็ดไข่มุกทั้งหลายเหล่านั้น ยังช่วยไม่ได้ๆ แต่ถ้าทำให้ดีกว่านั้นไม่ได้ก็เอาไปก่อนแล้วกัน ดีกว่าไม่มีอะไรเสียเลย ต้องเห็นปฏิจจสมุปบาทจึงจะเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง โดยพระพุทธเจ้าพระองค์คนเป็นบุคคลสอนให้รู้ ขอบพระคุณท่านอย่างมหาศาล บูชาท่านแม้เหลือแต่พระสารีริกธาตุแล้วก็ยังบูชาๆๆ อยู่ มาฆบูชา วิสาขบูชา อาสาฬหบูชา ทำๆๆกันอยู่เถิด อย่าได้ลืมเสีย จะได้ทะลุๆๆไปถึงพระองค์จริง ปัญหาก็มีเท่านี้
ปฏิจจสมุปบาท คือเรื่องอาศัยกันแล้วเกิดความทุกข์ขึ้นมาๆ มีความลับอย่างยิ่งอีกตอนหนึ่งที่ตรงนี้ พอความทุกข์เกิดขึ้นมา คนโง่ก็ร้องไห้เป็นทุกข์ กระเสือกกระสนไป ถ้าคนไม่โง่ๆ มันจะเดินต่อจากนั้น ไปหาทางดับทุกข์ คนโง่นั่งร้องไห้อยู่ที่นี่ ฆ่าตัวเองตายอยู่ที่นี่ก็ตามใจมัน ใครก็จะชอบ แต่ถ้าคนฉลาด พระพุทธเจ้าท่านก็ยังตรัสไว้ไปต่อๆๆๆ ไปจากปฏิจจสมุปบาทซึ่งข้อนี้เราไม่ค่อยได้ยิน เพราะมันไม่ค่อยเอามาพูด ไม่ค่อยเอามาสอนกัน ทั้งที่มีประโยชน์ที่สุด คือท่านตรัสว่ามีความทุกข์เต็มที่ตามหลักแห่งปฏิจจสมุปบาท มีความทุกข์อยู่เต็มที่ๆ แล้วความทุกข์นั่นแหละมันทำให้เกิดศรัทธาๆ ความเชื่อว่ามีสิ่งที่กำจัดทุกข์ แน่ใจว่ามีสิ่งที่จำกัดความทุกข์ได้ยังไม่รู้ว่าอะไร ก็ตามใจ แต่มีศรัทธาเชื่อว่ามีสิ่งที่กำจัดทุกข์ได้ เหมือนเรื่องตัวอย่างปฏิจจสมุปบาทที่เรายกตัวอย่างเรื่องเด็กๆ ฝนตกถนนลื่น เดินถนนลื่น ล้มลงหัวแตกเจ็บปวด เด็กนี่เจ็บปวดด้วยหัวแตกศีรษะแตก แต่แล้วมันมีสิ่งหนึ่งที่ทำให้รู้ว่ามีสิ่งที่ช่วยได้ ช่วยฉันได้ ศรัทธาในสิ่งที่ช่วยฉันได้ คือ หมอ พาฉันไปหาหมอที หมอก็รักษาให้หายเจ็บหายปวด ศรัทธาในหมอก็เกิดขึ้นมา ไปหาหมอ หมอรักษาให้หายก็สบาย มีความทุกข์มันบีบคั้นๆๆ อย่างยิ่งแล้วคนฉลาดก็เฉลียวใจว่ามีสิ่งซึ่งช่วยได้ ก็สอดส่องไปๆมันจะไปนึกถึงสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ หรือพระธรรม จะพบพระธรรมได้ที่ไหน ที่ไหนมีพระธรรมก็ไปที่นั่น มีพระธรรมมาก็แล้วกันๆ จะรักพระธรรม จะชอบพระธรรม จะปฏิบัติตามพระธรรม จนดับทุกข์ได้ ธรรมดาก็ว่าสัตบุรุษ มีสัตบุรุษอยู่ที่ไหน ก็ไปหาสัตบุรุษ นั่งใกล้สัตบุรุษ ฟังธรรมของสัตบุรุษ แล้วก็รู้ธรรมะ จอมสัตบุรุษก็คือพระพุทธเจ้านั่นแหละ มีศรัทธาในสัตบุรุษ จอมสัตบุรุษคือพระพุทธเจ้า ก็ไปหาธรรมะจากพระพุทธเจ้า พบธรรมะนั้น ตอนนี้สำคัญ ปราโมทย์พอใจยินดี ปราโมทย์มีปีติ มีปีติก็มีปัสสัทธิ มีปัสสัทธิก็มีความสุข พอใจก็เกิด ยถาภูตญาณทัสนะ เพราะมีสมาธิ เพราะมีความสุข เกิดนิพพิทาวิราคะ เกิดขยญาณ สิ้นสุขแห่งความทุกข์ก็มีนิพพาน ความทุกข์นั่นแหละจับตัวผลักไสคนฉลาดไปหานิพพาน จับตัวคนโง่ยัดไว้ในวัฏสงสารไม่รู้จักผุดจักเกิดเป็นความทุกข์ตลอดไป ขอบใจความทุกข์ที่ทำให้เกิดความเชื่อว่ามีสิ่งดับทุกข์ แล้วก็ไปแสวงหาธรรมะนั้นจากสัตบุรุษ มีปราโมทย์ มีปีติ มีสุข มีสมาธิ มียถาภูตญาณทัสนะ มีนิพพิทา มีวิราคะ แล้วก็นิพพาน ขอบใจความทุกข์ส่งคนฉลาดไปยังนิพพาน ฝังคนโง่ไว้ในวัฏสงสาร เลือกเอาเอง นี่คือปฏิจจสมุปบาท จะช่วยได้ขนาดนี้ ไม่ใช่ว่าเป็นความทุกข์ แล้วก็ทุกข์แงๆอยู่ที่นี่ มีฝรั่งโง่ๆเป็นมหาปรัชญาเมธีของโลกมันโง่ มันว่าพระพุทธศาสนาสอนแต่เรื่องความทุกข์ เป็นชาวเยอรมันอย่าออกชื่อเลย มันจะกระทบกระเทือน ว่าพุทธศาสนานี้สอนแต่เรื่องทุกข์ๆๆ มันโง่ เป็นเท็จมิติๆ พระพุทธศาสนาเป็นเท็จมิติ พูดแต่เรื่องความทุกข์ ฉันไม่เอาๆ คนนี้เขาพูดอย่างนี้ มันไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าท่านพูดความทุกข์ หรือพูดวิธีกำจัดทุกข์ ดับทุกข์ให้เสร็จ ไม่ได้พูดแต่เรื่องความทุกข์อย่างเดียว นี่คือเรื่องปฏิจจสมุปบาท เรารู้แล้ว เราควบคุมได้ เราก็ดับทุกข์ได้ อย่าเข้าใจผิดว่าพระพุทธศาสนาสอนแต่เรื่องทุกข์ หมดหวังหมดสนุกเหี่ยวแห้งจืดชืดตลอดไป
ท่านสอนให้อยู่เหนือทุกข์ สอนให้อยู่เหนืออำนาจของอายตนิกธรรมทั้งหลาย ความเป็นบวกความเป็นลบหลอกลวงไม่ได้ หลอกลวงฉันไม่ได้ ฉันไม่หลงรักความเป็นบวก ฉันไม่หลงเกลียดความเป็นลบ ฉันจะชนะความเป็นบวกและความเป็นลบ มันอยู่เหนือความเป็นบวกและเหนือความเป็นลบ คือ เหนืออภิชญาและโทมนัส เจริญหัวใจของพระพุทธศาสนาคือสติปัฏฐาน เป็นผู้มีสัมปชัญญะ สัมปะชาโน สะติมา วิเนยยะ โลเก อะภิชฌาโทมะนัสสัง มีสติสัมปชัญญะนำออกเสียได้ด้วยอวิชชาและโทมนัส ในโลกนี้โลกนี้ก็หมดปัญหา อยู่เหนืออำนาจความเป็นบวกและความเป็นลบ นี่คือหัวใจของพระพุทธศาสนา ขอให้ท่านทั้งหลายรู้จักปฏิจจสมุปบาทในลักษณะอย่างนี้เถิด จะไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ พบกับพุทธศาสนา มิฉะนั้นจะเสียชาติเกิดสู้หมาตัวหนึ่งก็ไม่ได้ มันไม่มีความทุกข์อย่างคน คนมันไม่รู้ปฏิจจสมุปบาทมันเป็นทุกข์มากกว่าหมา แมว ไก่ ดูซิ หมามีความทุกข์กี่มากน้อย คนมันมีความคิดผิดทาง เดินผิดทางแล้วก็ไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท มันหลงทาง ขออ้อนวอน วิงวองให้ท่านทั้งหลายจงรีบศึกษาให้เข้าใจเรื่องปฏิจจสมุปบาท ที่สวนโมกข์นานาชาติที่เปิดสอนเปิดอบรมเรื่องนี้ จงได้เข้าใจปฏิจจสมุปบาทอย่างถูกต้อง อย่าให้ต้องเป็นทุกข์ต้องละอายแมวเลย แมวมันไม่มีความคิดก็จริงแต่มันก็ไม่เป็นทุกข์ ถ้าคนมันมีปัญญา มีสติปัญญา ทำไมจะต้องมีความทุกข์เล่า ถ้ามีสติปัญญาต้องไม่มีความทุกข์ ต้องดีกว่าแมว เดี๋ยวนี้มันยังละอายแมว แมวไม่มีความทุกข์ คนมีความทุกข์ไม่ไหว
ขอให้ตั้งใจจริงๆ ศึกษาปฏิจจสมุปบาทให้รู้จริงให้ประจักษ์ชัดโดยแท้จริงแล้วควบคุมมันให้ได้ ควบคุมในนาทีวิกฤต นาทีวิกฤตคือผัสสะ ผัสสะซึ่งมีอยู่ทุกวันทั้งวัน วันหนึ่งไม่รู้กี่ครั้ง มีผัสสะทีหนึ่งก็มีปฏิจจสมุปบาททีหนึ่ง มีปฏิจจสมุปบาททีหนึ่งก็มีชาติ ชาติคือความเกิดทีหนึ่ง วันเดียวเกิดไม่รู้กี่สิบชาติกี่ร้อยชาติพันชาติก็ได้ มองดูเถิดจะเห็นว่าชาติๆ วันหนึ่งมีไม่รู้กี่ครั้งนับไม่ถ้วน เดือนหนึ่งจะมีเท่าไหร่ ปีหนึ่งจะมีเท่าไหร่ กว่าจะตายจะมีกี่แสนกี่ล้านชาติ ขออย่าให้แสนชาติล้านชาตินี้ มันล่วงเปล่าไปโดยไม่มีประโยชน์เลย ขอให้มีประโยชน์คือใกล้นิพพานๆๆๆๆ เข้าไปทุกๆชาติ เราก็จะพบกับนิพพานก่อนเข้าโลงเป็นแน่นอน จะพบกับนิพพานเพราะมันผ่านไปไม่รู้กี่หมื่นกี่แสนชาติกว่าจะตาย อย่าไปนับการเข้าโลงว่าเป็นชาติ นับการเกิดปฏิจจสมุปบาทครั้งหนึ่งว่าเป็นชาติหนึ่งกว่าจะตายเกิดกี่ร้อยกี่พันกี่หมื่นชาติ ควบคุมมันให้ได้ ก็พบกับนิพพานก่อนเข้าโลง คำว่าชาติอย่างนี้ถูกต้องและมีประโยชน์ รู้จักแต่ชาติเข้าโลงก็โง่เท่าเดิม โง่อย่างดึกดำบรรพ์ คนดึกดำบรรพ์เค้าโง่เพียงรู้จักชาติเข้าโลง เกิดจากท้องแม่เข้าโลงเรียกว่าชาติ พระทุทธเจ้าท่านไม่ได้มีความหมายอย่างนั้น เกิดอุปาทานว่าตัวกูของกู อัตตาอัตตนียาครั้งหนึ่งก็เรียกว่าชาติหนึ่งๆ วันหนึ่งมันจะเกิดกี่ร้อยกี่พันกี่หมื่นชาติก็ตามใจมัน ขอให้สังเกตดูให้ดีมันเกิดมากหลายชาติ เห็นของน่ารักก็เกิดอย่างน่ารัก เห็นของน่าเกลียดก็เกิดอย่างน่าเกลียด แล้วอารมณ์มันรู้จักเท่าไหร่หล่ะ ทางตาหูจมูกลิ้นกายใจมันมีสักเท่าไหร่ เรารู้ว่าไอชาตินี้คือความเกิดแห่งอุปาทานว่าตัวกูเป็นความโง่สร้างขึ้นมาจากตัณหา จากเวทนา จากผัสสะ ควบคุมผัสสะได้ก็คือควบคุมชาติได้
ขอตั้งความปรารถนาให้ท่านทั้งหลายสาธุชนเหล่านี้จงรู้จักสิ่งที่เรียกว่า ชาติ อย่างถูกต้อง ให้รู้ว่าวันหนึ่งมีไม่รู้กี่ร้อยกี่หมื่นชาติ ให้รู้ว่าจุดสำคัญอยู่ที่ผัสสะตรงนั้นแหละควบคุมให้ได้ ให้รู้ว่าทุกข์ๆๆ คือบางสิ่งที่มองดูแล้วมันน่าเกลียด อย่าไปรู้จักทุกข์แต่เพียงว่าเจ็บปวด เจ็บปวดนั้นลูกเด็กๆมันก็รู้ หมามันก็รู้นะ แต่ถ้าว่าทุกข์คือสิ่งที่เห็นแล้วน่าเกลียดที่สุดไม่มีอะไรจะน่าเกลียดเท่า นั่นแหละคือความทุกข์ที่คนจะต้องรู้ ที่มนุษย์จะต้องรู้ รู้จักความทุกข์กันในแง่นี้เถิด จะสามารถดับทุกข์ได้ ขอแสดงความหวังอย่างยิ่งว่าท่านทั้งหลายจะเข้าใจปฏิจจสมุปบาท จะรู้จักปฏิจจสมุปบาท และจะปฏิบัติธรรมะ สามารถควบคุมปฏิจจสมุปบาท เพียงแต่รู้เพราะฟังอาตมาพูดมันไม่พอ ต้องไปคิดใคร่ครวญทำโยนิโสมนสสิการจนเข้าใจๆๆๆ เอาความเข้าใจนั้นไปลองปฏิบัติดู ปฏิบัติดูจะเกิดวิปัสนาเห็นแจ้งๆๆ ตอนนี้จะช่วยได้ ลำพังรู้ยังช่วยไม่ได้ ลำพังเข้าใจก็ดีขึ้นมาหน่อย แต่ยังช่วยไม่ได้ ต้องแจ่มแจ้งๆ ต้องเห็นแจ้ง ต้องแจ่มแจ้งตามที่เป็นจริงอย่างไรนั่นแหละช่วยได้ ขอให้ความพยายามของท่านทั้งหลายก้าวหน้าไปตามลำดับ จากความรู้ไปสู่ความเข้าใจ จากความเข้าใจไปสู่ความเห็นอย่างแจ่มแจ้ง เกิดนิพพิทาวิราคะ สลัดทิ้งอุปาทานทั้งหลายทั้งปวงได้ อยู่เหนืออุปาทานทั้งปวง เป็นสภาพของนิพพาน ปรับจิตใจให้เหมาะสมที่สุดแล้วก็สัมผัสพระนิพพาน อย่าโง่ว่ากูจะไปนิพพาน ไอคนบ้าจะไปนิพพาน นิพพานไปไม่ได้ไม่มีการไป ไปถึงด้วยการไปไม่ได้ ไม่ไป ปรับจิตใจให้ถูกต้องอยู่ที่นี่นิพพานมาเอง นิพพานสัมผัสเอง นี่ขอให้สำเร็จประโยชน์อย่างนี้โดยไม่ต้องพูดเพ้อกูจะไปนิพพาน ยิ่งไปยิ่งไกลๆ ทิศไหนก็ไม่รู้ ไม่ต้องไป ปรับจิตใจให้หมดอวิชชา หมดกิเลสตัณหาในนาทีวิกฤตคือผัสสะ ผัสสะควบคุมให้ได้เรื่องก็จบ ขอให้ความหวังนี้เป็นความจริง ขอให้ท่านทั้งหลายประสบความสำเร็จในความรู้ ในความเข้าใจ ในความเห็นแจ้งดำเนินชีวิตอยู่ด้วยพระนิพพาน พระนิพพานคือความเยือกเย็น สะอาด สว่าง สงบ โดยประการทั้งปวงอยู่ทุกทิพย์พาราตรีกาลเทอญ ขอยุติการบรรยายในวันนี้เ