แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านพุทธทาส : เอาใครถาม ถามสั้น ๆ
ผู้ถาม : ครับขอกราบนมัสการพระคุณท่านอาจารย์ครับ ขอถามคำถามแรกเลยนะครับว่า คำถามมีอยู่ว่า ทุกวันนี้เราสอนกันให้เด็กฉลาด พอเมื่อเป็นผู้ใหญ่ขึ้นก็มักจะเกิดสักกายทิฐิสูง อวดดีคิดว่าตัวเองเก่ง และคิดว่าดีกว่าผู้อื่น อันนี้ไม่ทราบว่าเราจะมีแนวทางในการป้องกันและแก้ไขอย่างไรได้ครับ
ท่านพุทธทาส : ....แปลก ๆ เดี๋ยวนี้เราเรียนกันมาก เกิดสักกายทิฐิสูง สักกายทิฐิมันหมายถึงอะไร
ผู้ถาม : คือ ความมีตัวตนครับ ความเป็นตัวมีตนครับ
ท่านพุทธทาส : ควรจะพูดไปทางเห็นแก่ตัวมากกว่า สักกายทิฐินี้เป็นความยึด หมายถึงความยึดถือว่าเป็นตัวตน ละแล้วเป็นพระอริยะเจ้า ยังสูงไป เดี๋ยวนี้เรียนฉลาด ๆ ยิ่งฉลาดยิ่งเห็นแก่ตัว ยิ่งฉลาดยิ่งเห็นแก่ตัว เอาล่ะ, ก็มันรวมสักกายทิฐิอยู่ในนั้นด้วย แต่ให้ได้ความในภาษาไทยว่ายิ่งฉลาดยิ่งเห็นแก่ตัว ยิ่งฉลาดยิ่งเห็นแก่ตัว เพราะฉะนั้นไอ้คนที่ฉลาดยิ่งเห็นแก่ตัวลึก มันก็ไปคอรัปชั่นลึก ไปโกงลึก ศัตรูลึกเพราะมันฉลาด คนฉลาดเห็นแก่ตัวนั้นอันตรายมากกว่าคนโง่ที่เห็นแก่ตัว มันทำลึกให้ลึก มันก็ไม่มีเรื่องอะไรที่จะป้องกันไอ้ความไม่เห็นแก่ตัว ก็สอนให้ถูก สอนเสียให้ถูก ในการศึกษาอย่าสอนอะไรผิด ๆ สอนเรื่องความไม่เห็นแก่ตัว สอนเรื่องเห็นโทษของความเห็นแก่ตัว ถ้าสอนเด็ก ๆ นักเรียน แล้วก็ชี้แต่โทษของความเห็นแก่ตัวร้อยอย่างพันอย่างที่มันกำลังเกิดมีอยู่ในประเทศชาติหรือในโลก เห็นแก่ตัวอย่างนั้นเป็นอย่างนั้น เห็นแก่ตัวอย่างนั้นเป็นอย่างนั้น เห็นแก่ตัวอย่างนั้นเป็นอย่างนั้น กระทั่งในโรงเรียนของเราเห็นแก่ตัวแล้วเป็นอย่างไร กระทั่งในบ้านเรือนครอบครัวของเรา พ่อแม่ของเราเห็นแก่ตัวแล้วเป็นอย่างไร โรงเรียนสอนให้เห็นความเลวร้ายของความเห็นแก่ตัว เกลียดกลัวความเห็นแก่ตัว มีหิริและโอตัปปะในการที่จะไม่เห็นแก่ตัว ถ้าทำได้อย่างนี้ไปตั้งแต่เล็ก ๆ แล้วก็จะดีขึ้น เป็นผู้ใหญ่ที่ไม่เห็นแก่ตัว ละอายต่อความเห็นแก่ตัว ก็ไม่ทำผิดไม่ทำชั่วโดยประการใด ๆ นี่ก็มี ก็ไม่มีปัญหา ก็ไม่มีปัญหา สรุปว่าให้การศึกษาเคลื่อนไหวให้ถูกต้อง อย่างให้เรียนแต่ให้ฉลาด ๆ อย่างเดียว ให้มีส่วนที่ควบคุมความฉลาด ควบคุมความฉลาดอย่างให้ความฉลาดนั้นมันเดินผิดทาง มีความเป็นสัตตบุรุษ ตามที่เรียกในพระคัมภีร์ก็ได้หรือเรียกว่ามีความเป็นสุภาพบุรุษที่โลกสมัยนี้กำลังใช้กันอยู่ก็ได้ มหาวิทยาลัยสูงสุดเคมบริดจ์ อ๊อกซฟอร์ด เมื่อกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ท่านไปศึกษาสมัยนู้นกลับมาใหม่ ๆ ท่านมาเล่าให้ฟัง เล่าให้ฟังมาก เล่าให้ฟังหมด แต่ที่สะดุดใจที่สุดก็คือว่าในมหาวิทยาลัยนั้นนะเขานิยมยกย่องบูชา 'สุภาพบุรุษ' ไม่ยกย่องบูชานักปราชญ์ ไม่ใช่ว่าพระรูปเก่งเป็นเกียรติยศและเป็นที่ยกย่อง ยกย่องความมี ความเป็นสุภาพบุรุษ ความเป็นสุภาพบุรุษ มีความเป็นสุภาพบุรุษที่จะยกย่อง ดังนั้นถ้าเรามีความเป็นสุภาพบุรุษก็หมายความว่าไม่เห็นแก่ตัว ให้การศึกษามันเพ่งไปที่นั่น อย่าเพ่งแต่เงิน อำนาจ วาสนา ความร่ำรวย มันก็ยิ่งเห็นแก่ตัว อย่างการศึกษาในทุกวันนี้ ในมหาวิทยาลัยก็ตีกันตาย ฆ่ากันตายเลยนะ เพราะความเห็นแก่ตัว เอาล่ะขอต่อว่าจัดการศึกษาเสียใหม่ให้ถูกต้อง ให้ยิ่งฉลาดและยิ่งไม่เห็นแก่ตัว คือยิ่งเห็นแก่ผู้อื่น ยิ่งเห็นแก่ส่วนรวม ยิ่งเห็นแก่ประเทศชาติ ศาสนาและโลกเลยนั่นน่ะ จัดการศึกษาเสียใหม่อย่างนั้น ก็จะกำจัดไอ้ความเลวร้ายอันนี้ได้ ตอบเท่านี้พอ
ผู้ถาม : ครับ คือ..มีอีกประเด็นหนึ่งนะครับ คือในกรณีที่เขาโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว แล้วมีความเห็นแก่ตัวอยู่อย่างที่ท่านเจ้าคุณอาจารย์ว่านะครับ มีวิธีการแก้ไขอย่างไรครับ อันนี้ไม่ใช่ในแนวป้องกันครับ แต่ว่าเกิดแล้ว และจะแก้ไขอย่างไรครับ
ท่านพุทธทาส : ข้อนี้มันยาก คุณต้องสรุปคำถามใหม่ว่า ทำให้คนมีธรรมะได้อย่างไร คนนั้นมันไม่มีธรรมะ แต่ทำให้เขามีธรรมะได้อย่างไร นี่เป็นปัญหายุ่งยากที่กำลังประสบกันอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่เป็นพุทธศาสนาเอง คนเมืองไม่มีธรรมะจะทำให้มีธรรมะได้อย่างไร เดี๋ยวนี้มันเป็นประชาธิปไตยบังคับกันไม่ได้ ก็ไปถือกันเสียอย่างนี้ก็เลยไม่มีทางที่จะบังคับกัน ก็ได้แต่ว่าอย่างทำให้ผิดกฎหมาย ทำผิดกฎหมายก็จับไปใส่คุก มันควรจะมีคำนิยมยกย่องกันใหม่ในสังคมว่าบูชาความเป็นสุภาพบุรุษให้มากขึ้น แต่ข้อนี้มันทำได้ก็แต่ผู้ดีละ ผู้เป็นผู้มีสมบัติผู้ดี ผู้พาลทำไม่ได้หรอก อันธพาลทำไม่ได้หรอก สมัยอโศกในอินเดียเคยทำอย่างใช้อำนาจบังคับสมัยโน้นมันได้ คือเวลาที่นั่นแห่งนั้นยุคนั้นมันทำได้ พระเจ้าอโศกบังคับให้ทุกคนปฏิบัติธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ มีตำรวจ ตำรวจธรรมะเรียกว่าธรรมอมัจโจ ธรรมอมัจโจ(นาทีที่ 07.13) คือตำรวจที่ตรวจสอบว่าคนปฏิบัติธรรมะตามที่พระเจ้าแผ่นดินสั่งหรือไม่ ปฏิบัติธรรมะตามที่พระเจ้าอโศกสั่งหรือไม่ ไปทุกบ้านทุกเรือน เข้าไปในครัวด้วยซ้ำไป ไปดู ก็ได้ผล มีธรรมะกันจริงถึงที่สุดยุคหนึ่ง พอสิ้นยุคนั้นก็ไม่มี ก็ล้มก็เลิก เดี๋ยวนี้มันทำอย่างนั้นไม่ได้ ในประเทศไทยเรานี้ก็ได้แต่พูดเกลี้ยกล่อมชักจูง เกลี้ยกล่อมชักจูงมันก็ไม่ฟัง พูดอะไรมันก็ไม่ฟัง ชวนให้ฟังเทศน์ มันก็ไม่ฟัง ฟังปาถกฐา มันก็ไม่ฟัง มันก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ทุกคนก็ต้องการให้ประชาชนมีธรรมะ แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรนั่นนะคือปัญหา ปัญหาที่แก้ไม่ได้ ปัญหาที่แก้ไม่ได้ คนมันรักขวดเหล้ามากกว่ารักธรรมะ รักกามารมณ์มากกว่ารักธรรมะมันก็เลยแก้ไม่ได้ มันถึงยุคที่เสื่อมทรามของมนุษย์ที่มีกิเลสมาก แต่ก่อนไม่เคยเลวถึงอย่างนี้ เดี๋ยวนี้มันเลวถึงอย่างนี้จะทำอย่างไร ยังไม่รู้จะทำอย่างไรในยุคประชาธิปไตย ก็เกลี้ยกล่อมไป เกลี้ยกล่อมไป ถ้าทำผิดกฎหมายก็จับมาใส่คุก ก็ทำอย่างที่ทำอยู่คืออย่างนี้ แต่ควรจะเพิ่มการอบรมสั่งสอนเกลี้ยกล่อมชักจูงให้มากขึ้น ๆ มันก็หา...ผู้สามารถยากเหมือนกัน ช่วย ๆ กันอบรมให้มีผู้..สามารถในการเกลี้ยกล่อมชักจูง ถ้าไปเที่ยวโฆษณาให้ซื้อสินค้าแล้วเขาก็ทำกันอย่างสำเร็จประโยชน์ การโฆษณาสำเร็จประโยชน์ ให้ยายแก่ขี้เหนียวซื้อตู้เย็นก็ทำได้ โฆษณามันเก่งกันอย่างนั้น แต่ทีโฆษณามาให้ประพฤติธรรมะมันไม่ได้ มันทำไม่ได้ ให้คุณไปคิดเอาเองก็แล้วกัน รัฐบาลก็ต้องการแต่ก็ทำไม่ได้ ผมพูดได้แต่ว่าเกลี้ยกล่อมชักจูงไปเหมือนที่เรากำลังทำกันอยู่อย่างนี้ก็มีคนจำนวนหนึ่งแหละที่ต้องการ ที่ต้องการมาศึกษาก็มีจำนวนหนึ่งแน่นอน ถ้าทำให้คนมาถือธรรมะได้นั้นบุญกุศลสูงสุด เป็นบุญเป็นกุศลสูงสุด เป็นธรรมทาน ให้ธรรมทานสำเร็จให้คนถือธรรมะได้เป็นบุญกุศลที่สูงสุดยิ่งกว่าบุญกุศลใด ๆ แต่มันก็ไม่แคล้วที่ว่าจะต้องสั่งสอนกันมาตั้งแต่เล็ก ๆ อบรมกันมาตั้งแต่เล็ก ๆ โตขึ้นมันก็เป็นพลเมืองที่ไม่เห็นแก่ตัว เดี๋ยวนี้หมดปัญญากันทุก ๆ ประเทศ ทุกประเทศที่ทำให้ให้ประชาชนมีธรรมะน่ะ หมดปัญญา เอาว่าอะไรต่อไปอีก
ผู้ถาม : ครับ ขอพระเดชพระคุณท่านเจ้าพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูงขอรับ เดี๋ยวขอนิมนต์ท่านรูปอื่นต่อไปครับ
ผู้ถาม : กราบเรียนท่านอาจารย์ครับ คือ..ท่านอาจารย์ครับ ปัจจุบันนี้โลกนี้เจริญทางวัตถุมาก ทีนี้คงจะหยุดไว้ไม่อยู่แล้ว ทีนี่แล้วก็มีสิ่งที่ยั่วยวนมาก กระผมเมื่อมาบวชนี่รู้สึกว่ารู้อะไรพอสมควร ทีนี้สิ่งที่กระผมกลัวที่สุดคือว่าเมื่อสึกออกไปแล้วนี้ มันไม่สามารถที่จะตัดได้อีก กลัวจะสิ่งที่มันจะหวนกลับมาให้เราประพฤติที่เหมือน เป็นไปตามโลกปัจจุบันอีก อยากจะให้อาจารย์เสนอแนะสิ่งที่คิดว่า เป็นสิ่งที่สามารถตัดจากกิเลสได้
ท่านพุทธทาส : ตัดกิเลสได้น่ะความหมายมันมากนัก ถ้าตัดกิเลสได้หมดมันเป็นพระอรหันต์ อย่างเอาถึงนั้นเลย
ผู้ถาม : (แทรก) คือให้สามารถ...
ท่านพุทธทาส : เอาแต่เพียงว่าอย่าให้กิเลสข่มขี่ ครอบงำ ดึงไป ถ้าเรารู้สึกตัวอยู่มันก็นับว่าดีมากแล้ว ถ้าเรารู้สึกตัวอยู่ว่าไม่ถูก ไม่ถูกหรือผิด ๆ ๆ นี่มันก็ดีมาก คือมันผิดไม่ได้ แต่ที่เราไม่รู้สึกตัวนี่มันผิด ผิดที่ไม่ทันรู้ การรู้สึกตัวอยู่นั่นแหละเป็นเครื่องคุ้มครอง คุ้มครองที่ดีที่สุด ทีนี้ก็เหลืออยู่แต่บังคับให้ได้รู้อยู่ แต่บังคับไม่ได้มันก็ทำไป ก็มีปัญหาอยู่ที่นั่นว่าคุณรู้ เดี๋ยวนี้คุณเพิ่มมีความรู้เพิ่มขึ้น แต่จะบังคับให้ทำตามความรู้ได้หรือไม่ มันก็เลยมาอยู่ที่ตรงนี้ มีความเข้มแข็ง บังคับให้คงอยู่ในความถูกต้องตามที่รู้นั้นให้ได้ ปัญหาก็อยู่ที่ตรงนี้ จะศึกษาธรรมะประเภทที่ว่าให้เข้มแข็ง สัจจะ ธรรมะ ขันตี จาคะ คำนี้ท่านก็ตรัสไว้ว่าเป็นธรรมะสำหรับคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน คฤหัสถ์ผู้ครองเรือนมีธรรมะที่ไปปฏิบัติให้เคร่งครัด ๔ ข้อ สัจจะ ๆ ความจริงใจ เอาจริง ทำจริง เอาจริง ตั้งใจจริง ตั้งใจจริง อธิษฐานจิตจริง แล้วก็ ทมะ ทอ ทหาร มอ ม้า บังคับให้เป็นอย่างนั้น บังคับให้เป็นอย่างนั้น บังคับให้เป็นอย่างนั้น คือบังคับกิเลสนะ กิเลสจะแรงมาเท่าไรก็บังคับให้สู้กันได้ บังคับให้เป็นตามที่สัจจะตั้งไว้ แล้วมันก็ต้องมีความอดกลั้นอดทนเพราะมันเจ็บปวด ถ้ามีการรบพุ่งกับกิเลสก็มีความเจ็บปวด ถ้าไม่ทนคนก็ยอมแพ้ หนีไป ไม่ยอมแพ้อดทน ๆ ๆ ๆ มันจะเจ็บปวดรวดร้าวเท่าไรก็อดทน เรียกว่าขันตี ขันตี ยอมอดทนไม่ยอมแพ้
ทีนี้บางทีมันจะทนไม่ไหวก็ระบายออก ระบายออก มีรูรั่วมีท่อระบายรูรั่วแก๊สไม่ต้องระเบิด อย่าให้มันต้องระเบิด มีรูรั่วเรียกว่า จาคะ จาคะ มีรูรั่ว ให้สิ่งเลวร้ายมันออกไป ๆ ๆ มันก็ไม่ต้องทนมาก มันก็ไม่ต้องทนมาก แล้วมันก็ไม่ต้องบังคับมากจนเกินความสามารถแล้วมันก็รักษาสัจจะไว้ได้ รักษาสัจจะไว้ได้ คุณจำ ๔ คำนี้ไว้เถิดประเสริฐที่สุด 'สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ' แม้ว่าจะตรัสไว้สำหรับฆราวาสก็ตามเถอะบรรพชิตก็ทำได้ บรรพชิตที่ยังอยู่ในเพศบรรพชิตก็ใช้ ๔ ข้อนี้ได้เหมือนกัน มีความจริงใจที่จะปฏิบัติธรรมะนี้ให้สำเร็จ ธรรมะ ๆ บังคับข่มขี่กิเลส ในบาลี ในอัตถกฐานิยมเปรียบเทียบว่าแม้จะเป็นช้างตกมัน ก็เป็นควาญช้างที่ฉลาด บังคับช้างตกมันไว้ให้ได้ กิเลสนะมันเหมือนช้างตกมัน หรือยิ่งกว่าช้างตกมัน มันต้องเป็นควาญช้างที่ฉลาดที่สามารถที่จะบังคับช้างที่ตกมัน นี่เราจะต้องบังคับกันเต็มที่ถึงกันขนาดนี้ บังคับจิต บังคับจิต อย่ายอมแพ้ อย่าหน้าไหว้หลังหลอก ตั้งสัจจะไว้อย่างไรก็เอาจริง เอาจริง เอาจริง บังคับ ๆ ก็พร้อมที่จะอดทน พร้อมที่จะอดทน ความเจ็บปวดต้องเกิดขึ้น บังคับจิตอย่าให้ไปทำชั่วนี่ ความเจ็บปวดต้องเกิดขึ้นเพียงแต่บังคับไม่ไปกินเหล้า บังคับไม่ให้ไปดูหนัง ดูละครอย่างนี้มันก็เจ็บปวดรวดร้าว ต้องทนได้ ทนได้ ทนได้ ทนอย่างนักเลงเลือดตาไหลก็ไม่ยอมให้เสียธรรมะนี่ ในทางธรรมะก็เรียกว่าประพฤติพรหมจรรย์ด้วยน้ำตา ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยน้ำตาคือรักษาธรรมะ รักษาวินัยไว้ จนถึงกับน้ำตาไหลก็ไม่ยอมแพ้ ไม่ยอมแพ้ฉันจะรักษาไว้ให้จนได้ อธิษฐานจิตประพฤติพรหมจรรย์ด้วยน้ำตานี่ ประพฤติธรรมะด้วยน้ำตา มันจะมีความอดทนที่ทนได้ แล้วก็ทำสิ่งที่ระบายออกอยู่เสมอความดีความงามใด ๆ แม้แต่เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ทำไว้เรื่อย ๆ นี่มันจึงเป็นรูรั่วระบายความกดดันของกิเลสบ้า ๆ นั้น ให้รั่ว ๆ ๆ ๆ ไปมันก็ไม่มาก ก็ทำได้ ทำได้ ก็พอทำกันไปได้ มีได้ทั้ง ๔ ข้อนี่เตรียมพร้อมเพื่อที่จะไปเผชิญโลกในเพศฆราวาสจงมีธรรมะ ๔ ประการนี้
พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า ตรัสอย่างท้าทาย ไปถามสมณพราหมณ์พวกอื่นดูเถิด สมณพราหมณ์พูดว่าอาจารย์พวกไหนคณะไหน ไปถามว่ามีธรรมะอะไรที่สำหรับฆราวาสและมีธรรมะอะไรที่ดีกว่าธรรมะ ๔ ข้อนี้ ท้าทายให้ไปหาธรรมะที่ดีกว่าธรรมะ ๔ ข้อนี้มาสำหรับฆราวาส พระพุทธเจ้าท่านท้าทายอย่างนี้ นี่เรียกว่ามี 'ฆราวาสธรรม ๔' แล้วก็จะได้ความแน่นอน หรือความปลอดภัยที่จะออกไปต่อสู้กับกิเลสในโลก ก็นึกถึงข้อที่ว่าเราเคยบวช เคยอะไรแล้วบ้าง มันก็ช่วยได้มากเหมือนกัน อย่าให้เสียทีที่เคยบวช เคยเล่าเรียนมาแล้ว แล้วจะอุทิศธรรมนี้เพื่อพระพุทธศาสนา เพื่อพระพุทธเจ้า บูชาคุณพระพุทธเจ้า จะมีกำลังใจมากขึ้นไปอีก ต้องไปอยู่รวมที่สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ เป็นหลักเป็นประธาน ธรรมะข้ออื่นก็พอมี แต่ผมขอยืนยันว่า ๔ ข้อนี้มันพอ ๔ ข้อนี้มันพอ สัจจะ จริงใจ ๆ จริงจัง จริง จริงต่อทุก ๆ สิ่งน่ะ แล้วก็จริงต่อความเป็นมนุษย์ จริงต่อความที่เราเป็นมนุษย์น่ะสำคัญ จริงวาจา จริงคำพูด จริงต่อคนอื่น จริงต่อเวลา แต่ก็ยังไม่เท่ากับจริงต่อความเป็นมนุษย์ของเราเอง รักษาความเป็นมนุษย์นี้ไว้ให้ได้นั่นล่ะกำลังใจสูงสุดข้อแรกนี่ สัจจะ มีทมะ มีขันติ จาคะดังที่กล่าวมาแล้ว ถ้าทำไม่ได้ก็ไปใช้บาปในนรกเถอะ ๙ ปี ๑๐ ปีค่อยมาทำใหม่
ผู้ถาม : อาจารย์ครับ ขอประธานถามอีกข้อหนึ่งครับ คือในสมัยของพระพุทธเจ้านี้ ผู้ที่สำเร็จอรหันต์รู้สึกว่าจะสำเร็จได้ง่าย บรรลุธรรมได้ง่าย เช่นว่าพญาสระ(นาทีที่ 20.28) นี่ไม่ได้ไปนั่งปฏิบัติธรรมอะไรมากนัก ฟังแต่เทศน์อย่างเดียวก็รู้สึกว่า เท่าที่เรียนมาก็สามารถบรรลุธรรมได้แล้ว
ท่านพุทธทาส : จะถามว่ายังไงเล่า
ผู้ถาม : จะถามว่า ๆ ปัจจุบันนี้ทำไมถึงเวลาปฏิบัติธรรมแล้วต้องพยายามกันมากนัก ถึงพยายามแล้ว พยายามอีกก็ไม่สามารถที่จะบรรลุได้ หรือไม่สามารถที่จะตัดสิ่งต่าง ๆ ให้ออกจากจิตใจได้
ท่านพุทธทาส : สรุปความว่า ถามว่าทำไมในครั้งพุทธกาล บรรลุธรรมะเป็นพระอรหันต์กันง่ายนัก สมัยนี้ทำไมมันจึงยากหรือทำไม่ได้ ข้อนี้มีเหตุปัจจัยหลายอย่าง เท่าที่สังเกตสำรวจศึกษาดู มีเหตุปัจจัยหลายอย่าง อย่างแรกก็ว่าไอ้คนสมัยนั้นมันมีผู้อยากจะบรรลุนิพพานมาก เรียกว่ามัน 'เห่อ' ก็ได้ เห่อในพระนิพพานกันมากกว่าคนสมัยนี้ อุตส่าห์เที่ยวศึกษาเที่ยวค้นคว้าทั่ว ๆ ไปไม่ยอมหยุด นี่มันเป็นพื้นฐานที่ดี ฟังธรรมะไม่เท่าไรมันก็บรรลุได้ เพราะความอยากจะรู้ธรรมะมันมีเป็นพื้นฐานมากกว่าเดี๋ยวนี้ ทีนี้อย่างหนึ่ง ไอ้สิ่งที่เป็นข้าศึกแก่การบรรลุธรรมะนั้นมันมีน้อย มันมีน้อยกว่าสมัยนี้ สมัยนี้มันมีเหยื่อล่อลวงให้ไปหลงใหลมันมากเกินไป มากเกินไปไม่มีที่สิ้นสุด อันนั้นแล้วอันนี้ อันนี้ อันโน้นไม่มีที่สิ้นสุด แต่ครั้งพุทธกาลมันไม่มีกี่เรื่อง ไม่มีกี่ข้อ เดี๋ยวก็สิ้นสุดในเรื่องเหยื่อล่อที่ไปออกนอกลู่นอกทางนี่ก็อย่างหนึ่ง ทีนี้ก็มีพระอรหันต์ที่เป็นตัวอย่างให้ดู เป็นผู้สำเร็จธรรมะที่เป็นตัวอย่างให้ดูให้เห็นอยู่มากกว่ากัน นี่มันก็ช่วยให้ง่ายขึ้น เพียง ๓ ข้อนี้มันก็พอแล้วที่ทำให้ ครั้งกระโน้นมีผู้บรรลุธรรมะกันมากขึ้น เพราะมันอยาก ๆ ๆ ๆ กันอยู่เป็นพื้นฐาน อยากจะรู้ธรรมะ อยากจะหลุดพ้น อยากจะนิพพานเป็นพื้นฐาน แม้ว่าคนที่ไม่อยากก็มีมากเหมือนกัน แต่ว่าคนที่อยากมันมีมากกว่าเดี๋ยวนี้ ไอ้คนที่ถือศาสนาเพื่อบรรลุนิพพานจริง ๆ นะมันมีมากกว่าเดี๋ยวนี้ คนเดี๋ยวนี้มันไม่ถือศาสนาเพื่อบรรลุนิพพาน มันถือศาสนา มันน่าหาประโยชน์ ถือศาสนาเงินถือศาสนาประโยชน์ แล้วปากมันว่าถือธรรมะ มันหลอกตัวเองอย่างนี้มันมากเกินไป ดังนั้นคนสมัยนี้จึงบรรลุธรรมะน้อย ก็เราอย่าไปเข้ากลุ่มนั้น ไม่ซื่อตรงต่อธรรมะ ไม่ปฏิบัติธรรมะให้สุจริต ปฏิบัติธรรมะคด ๆ โกง ๆ หน้าไหว้หลังหลอก ปฏิบัติธรรมะหาเงินหาลาภ หาชื่อเสียงหาเกียรติยศ หาอำนาจวาสนามันมีมากนัก ซึ่งครั้งกระโน้นมันไม่ค่อยจะมี คือมันซื่อตรงต่อธรรมะ นี่เป็นเครื่อง เป็นเหตุผลที่บอกว่าทำไมครั้งกระโน้นบรรลุธรรมกันง่าย เพราะมันคอยจ้องต้องการกันอยู่มาก มีคนจำนวนเป็นอันมากที่คอยจ้องต้องการจะรู้ธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ ออกบวชกันเองมากที่สุด การทำจิตภาวนา สมาธิภาวนาเป็นของแพร่หลายมาก แพร่หลายกว่ายุคนี้มาก นี่ทำให้ยุคนั้นมีการปฏิบัติธรรมะหรือบรรลุพระนิพพานกันมากกว่า
ผู้ถาม : ครับขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์มากครับ
ผู้ถาม : ตามที่ท่านอาจารย์ได้เคยบรรยายเกี่ยวกับเรื่องธรรมิกสังคมนิยม อยากจะขอกราบเรียนถามท่านถึงหลักการ รูปแบบและวิธีการที่จะนำมาใช้กับประเทศไทยครับผม
ท่านพุทธทาส : ไหนว่าใหม่ ไม่ค่อยได้ยินบางคำพูด
ผู้ถาม : ตามที่ท่านอาจารย์ได้เคยบรรยายแก่พระนวกะถึงเรื่องธรรมิกสังคมนิยม อยากจะขอกราบเรียนถามถึงหลักการ รูปแบบและวิธีการที่จะนำมาใช้กับประเทศไทยครับผม
ท่านพุทธทาส : โอ้ย, มันต้องรู้ให้มันมากว่าอะไรที่เป็นต้นเหตุ ก็โดยธรรมชาติ ธรรชาติแท้ ๆ ไม่เกี่ยวกับลัทธิอะไร เกี่ยวกับธรรมชาติแท้ ๆ ธรรมชาติมันก็สร้าง สร้างสิ่งที่มีชีวิตให้มาอยู่กันในรูปสังคม ไม่ให้มาอยู่โดดเดี่ยว สร้างต้นไม้มา ก็ให้อยู่กันเป็นหมู่หรือเป็นป่า สร้างสัตว์เดียรฉานมาก็อยู่กันเป็นหมู่หรือเป็นฝูง ไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว สร้างมนุษย์ก็เหมือนกันให้อยู่กันเป็นหมู่ มันก็ต้องมีการเกี่ยวข้องกัน ธรรมชาติต้องการให้อยู่กันเป็นหมู่ ที่มันโง่ที่จะมีประชาธิปไตยเป็นอิสระเฉพาะคนก็ได้เถียงกันทั้งนั้น ไม่มีที่สิ้นสุด ถ้ามันยอมรับสภาพของธรรมชาติแล้วจัดการ ๆ ชนิดที่อยู่กันเป็นหมู่อย่างกลมกลืนกันนี่ก็จะได้ แต่ทีนี้สังคมนิยมที่มันใช้อยู่กันบัดนี้ มันเป็นสังคมนิยมการเมืองนั้นมันไม่อาศัยธรรมะ มันอาศัยกิเลส มัน ๆ ๆ ยกขึ้นไปจากพวกชนกรรมมาชีพ ที่มันเกลียดนายทุน สังคมพวกชนกรรมาชีพที่ไม่ใช่สังคมกันทั้งโลก สังคมนิยมต้องสังคมทั้งโลกไม่แยกเป็นนายทุน ไม่แยกเป็นชนกรรมาชีพ คำนั้นมันถูกแล้ว แต่มันเอาไปใช้ผิด อ้าว, ทีนี้ก็แน่นอนขึ้นมาอีกว่าต้องประกอบด้วยธรรมะ สังคมนิยมคาร์ลมาร์กซ์อะไรนี่มันคือสังคมนิยมแก้แค้น สังคมนิยมกิเลสเพื่อแก้แค้นหาธรรมะสักนิดนึงก็ไม่ได้ ต้องเป็นสังคมนิยมชนิดที่มีธรรมะ มีธรรมะประกอบด้วยความถูกต้อง มีเหตุผลในความถูกต้อง เอาธรรมะเข้าไปเป็นหลัก สังคมนิยมไม่ใช่สังคมนิยมแก้แค้นของคนจน นี่เราเรียกว่า 'ธรรมิกะสังคมนิยม' อยู่กันโดยอุดมคติว่า ต้องอยู่กันเป็นหมู่ ธรรมมิกะ ๆ คือประกอบไปด้วยธรรมะ คือความถูกต้อง ๆ ๆ จะดีกว่าประชาธิปไตยอีก แย่งกันครองโลก เสรีภาพที่จะแย่งตำแหน่ง แย่งประโยชน์ แย่งอะไรกันนี้ สู้สังคมนิยมไม่ได้ แต่ว่าสังคมนิยมนั้นต้องประกอบไปด้วยธรรม ประกอบไปด้วยธรรม สังคมนิยมเฉย ๆ อย่างที่มีอยู่ในโลกเวลานี้เป็นสังคมนิยมของกิเลส สังคมนิยมของความน้อยเนื้อต่ำใจ อยากจะทำลายนายทุน อยากจะแก้แค้นนายทุน ก็สังคมนิยมของกิเลสสิ นี่เราเปลี่ยนให้เป็นว่าสังคมนิยมของธรรมะ สังคมนิยมของความถูกต้อง ๆ ๆ ได้ยินว่ามีผู้สนใจมากที่มี มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ มีคนอ่านแล้วสนใจติดตามกันมากอยู่เหมือนกัน เพราะมันแปลกโผล่ออกมาท่ามกลางสังคมนิยมชนิดที่เขาระแวง ระแวงสงสัยกันอยู่ คาร์ลมาร์กซ์ต้นฉบับของสังคมนิยมนี้มันไม่รู้ธรรมะเลย เจ้าลัทธิสังคมนิยมยังไม่รู้ธรรมะเลย เป็นความรู้สึกเกิดมาจากโกรธกับความอยากจะแก้แค้น ไม่มีธรรมะเลย ไม่มีธรรมะเลย แล้วเราขอให้มีธรรมเป็นหัวใจของระบบ ทำอะไรคงที่อยู่ในความถูกต้อง คงที่อยู่ในธรรมะ เรียกว่าธรรมิกะ ๆ นี่ประกอบไปด้วยธรรม เขาใช้คำสันสกฤต ธรรมิก ภาษาบาลีว่า 'ธรรมิกะ' ธรรมิกะเป็นสังคมนิยมที่ประกอบอยู่ด้วยธรรมะ คือความถูกต้องตรงตามความมุ่งหมายของธรรมชาติที่ให้เราอยู่กันเป็นฝูงเป็นหมู่เป็นพวกด้วยความสงบ ไม่ต้องใช้อาชญา สาตราอาวุธขัดแย้งฆ่าฟันกัน ในส่วนที่จะทำได้หรือไม่อย่างไรนั่นอีกปัญหาหนี่งไม่ต้องตอบ ตอบแต่ความหมายของคำว่าธรรมิกะสังคมนิยมนี่คืออะไร ถ้าให้ตอบ ก็เรียนธรรมะกันให้มาก ๆ เรียนธรรมะกันให้มาก ๆ สิ รู้จักธรรมะแล้วก็เป็นไปในทางธรรมะเอง ก็ชาวโลกจะได้เรียนธรรมกันให้มากขึ้น ๆ แล้วธรรมะก็ไม่ลึกซึ้งอะไร ทั้งหมดก็รวมอยู่ที่ความไม่เห็นแก่ตัว ธรรมะสูงสุดคือไม่เห็นแก่ตัว ไม่มีตัวตนไม่เห็นแก่ตัวตน นั่นธรรมะสูงสุด สังคมนิยมก็บริสุทธิ์ผุดผ่องถูกต้อง ไม่เห็นแก่ตัว ๆ ๆ
ผู้ถาม : ขออนุญาตกราบเรียนถามอีกข้อ เกี่ยวกับเรื่องวันก่อนท่านอาจารย์อธิบายเกี่ยวกับเรื่องปฏิจจสมุปบาทซึ่งแบ่งเป็น ๒ ส่วนก็คือ ปฏิจจสมุปบาทใหญ่กับปฏิจจสมุปบาทคำกลอน ผมอยากจะขอความกรุณาให้ท่านอาจารย์ช่วยอธิบายในส่วนของปฏิจจสมุปบาทใหญ่ ในส่วนของอวิชชาจนถึงผัสสะครับผม
ท่านพุทธทาส : คุณเรียกว่าอะไรนะปฏิจจสมุปบาทใหญ่ กับปฏิจจสมุปบาทอะไร
ผู้ถาม : ที่ว่าเป็นคำกลอนน่ะครับ ที่จากผัสสะไป
ท่านพุทธทาส : คำกลอนไม่มี คำกลอนไม่มี อย่างย่ออย่างลัด ปฏิจจสมุปบาทที่สมบูรณ์น่ะเรียกว่าสมบูรณ์ เข้าไปถึงรกรากของมันนะ ปฏิจจสมุปบาทสังเขปนี่ มันตั้งต้นมาเฉพาะเท่าที่มนุษย์รู้จักถ้าเราจะเอาเท่าที่มนุษย์รู้จัก ก็ตั้งต้นที่อายตนะ มีการกระทบทางอายตนะก็เกิดวิญญาณ แล้วก็เกิดผัสสะ เกิดเวทนาตัณหาเป็นต้นไป เพียงเท่านี้มันก็พอ พอแล้วที่จะดับทุกข์ได้ด้วยความรู้เพียงเท่านี้แต่ที่เขาต้องการให้รู้ลึกไปกว่านี้ว่าทำไมจึงต้องเป็นอย่างนั้น ทำไมอายตนะกระทบกันแล้วจึงได้เกิดกิเลสเล่า มันจึงเขยิบออกไปถึงต้นตอทางฝ่ายโน้น ไปถึงต้นตอสุดที่ ที่ไม่ปรากฏที่คนไม่ค่อยจะรู้ได้ง่าย ๆ คือ 'อวิชชา' อวิชชาทำให้เกิดสังขาร คืออำนาจการปรุงแต่ง ปรุงแต่งก็ไปปรุงแต่งวิญญาณธาตุตามธรรมชาติ ให้ไปปรุงแต่งทางอายตนะ เกิดวิญญาณอย่างนี้แล้วก็สามารถมีนามรูป นามรูปเป็นที่ตั้งแห่งอายตนะทั้ง ๖ ทีนี้พออายตนะทั้ง ๖ ก็เป็นไปตามปฏิจจสมุปบาทสังเขปอ่ะ ทำไมต้องรู้ถึงเหตุส่วนลึกส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ ก็รู้เพียงตั้งต้นจากอายตนะไปหาความทุกข์ก็พอ ถ้ารู้ให้มากกว่านั้น ก็ว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้น อายตนะมาจากไหน ทำไมจึงต้องรู้ถึงปฏิจจสมุปบาทที่สมบูรณ์ ก็ตั้งต้นจากอวิชชาให้เกิดสังขาร สังขารให้เกิดวิญญาณ วิญญาณให้เกิดนามรูป นามรูปให้เกิดอายตนะ ต่อไปนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเรียนกันสั้น ๆ อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นอาทิพรหมจารย์ก็พอ คือมนุษย์ธรรมดามองเห็นได้ว่าอายตนะกระทบกัน เกิดวิญญาณ เกิดผัสสะ เกิดเวทนา เป็นวิทยาศาสตร์เฉพาะหน้า เห็นอยู่อย่างนี้ก็ได้ ไม่ต้องพูดถึงสิ่งที่ลึก ที่มองไม่เห็นคืออวิชชา สังขาร วิญญาณ ส่วนนู้น เพียงแต่ตั้งต้นที่อายตนะ เกิดวิญญาณ เกิดผัสสะ เกิดเวทนา เกิดจนดับทุกข์ก็พอ พระพุทธเจ้านี้เป็นอาทิพรหมจรรย์ พอดับทุกข์ แต่ถ้าคนมันไม่พอ มันอยากจะรู้ต้นตอลึกไปกว่านั้นจึงจะไปถึงเรื่องอวิชชาเพิ่มมาอีก ๔ ขั้นตอนอวิชชาให้เกิดสังขาร สังขารให้เกิดวิญญาณ วิญญาณให้เกิดนามรูป นามรูปให้เกิดอายตนะ ไอ้ที่มนุษย์ธรรมดาเดี๋ยวนี้รู้แค่อายตนะก็พอ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบรูป เสียง กลิ่น รส โผทัพพะธรรมารมณ์ก็เกิดวิญญาณ สามประการอยู่ด้วยกันก็เรียกว่าผัสสะ เวทนา ตัณหาเป็นทุกข์ นี่ปฏิจจสมุปบาทตัดสั้นสังเขป เริ่มตั้งแต่อายตนะเป็นต้นไป ปฏิจจสมุปบาทสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไป ก็รู้ไปข้างหน้าอีก ๔ ข้อจนกว่าจะเกิดอายตนะได้อย่างไรจึงต้องพูดถึงอวิชชา สังขาร วิญญาณและนามรูป นี่ความต่างกันระหว่างปฏิจจสมุปบาทใหญ่สมบูรณ์แบบ นี่ปฏิจจสมุปบาทเท่าที่มนุษย์ควรจะทราบ practical เฉพาะเรื่องของมนุษย์นี้ก็เอาแค่นี้ก็พอ เพราะมันให้ผลเหมือนกัน เพราะมันไปทางเวทนา ตัณหา อุปทาน ภพ ชาติ ดับทุกข์ ดับตัวตนไม่มีตัวตนเหมือนกัน ได้ผลเท่ากัน แต่ปฏิจจสมุปบาทอธิบายอีกแบบมีตัวตนข้ามภพ ข้ามชาตินั้นเราไม่เอาเราไม่รู้ด้วย ใครอยากจะเอาก็ไปหาเอาเอง
ผู้ถาม : กราบนมัสการพระคุณท่าน ขอเรียนถามว่ากิเลสกับตัณหานี่ตัวเดียวกันหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ตัวเดียวกัน..
ท่านพุทธทาส : ว่าให้ชัด ๆ ฟังไม่ได้ยิน ฟังไม่ค่อยรู้
ผู้ถาม : กิเลสกับตัณหานี่ มีความหมายอย่างเดียวกันหรือเปล่าครับ
ท่านพุทธทาส : อ้อ! แย่มาก ถ้าอย่างนี้แย่มาก ยังไม่รู้ว่ากิเลสกับตัณหาอย่างเดียวกันหรือไม่ เอาตัวหนังสือก่อนดีกว่า ตัณหาแปลว่าความอยาก กิเลสแปลว่าของสกปรกหรือของเศร้าหมอง นี่โดยตัวหนังสือ โดยธรรมก็ต่างกันลิบแล้ว อยากในความโง่ อยากความต้องการอะไร ๆ ด้วยความโง่นั่นน่ะเรียกว่า 'ตัณหา' อยากด้วยความโง่ อยาก ๆ ด้วยความโง่ ก็จะเกิดกูผู้อยากขึ้นมา เป็นผีหลอกแล้วก็ทำไปตามความอยาก ทำไปตามความอยากก็เกิดกิเลส ก็เกิดทุกข์ ส่วนกิเลสนั้นใช้คำรวมหมดอะไรที่เป็นไอ้เครื่องเศร้าหมองแห่งจิตใจนี่เรียกว่า 'กิเลส' หมด ชื่อทุกชื่อที่เป็นเรื่องของความเศร้าหมองแล้วเป็นกิเลสหมด ตัณหาก็รวมอยู่ในคำว่ากิเลสได้ แต่ความมุ่งหมายโดยเฉพาะมันต่างกัน ตัณหาอยากด้วยความโง่ ควรสงเคราะห์อยู่ในกิเลสกลุ่มแรกคือ ราคะหรือโลภะ ตัณหามันอยู่ในกลุ่มแรก แต่มันยังมีกลุ่มโทสะ กลุ่มโมหะอีกหลายสิบชื่อก็เรียกว่ากิเลสทั้งนั้น กิเลสประเภทอนุสัยก็มี ประเภทอาสวะก็มี กิเลสทั้งนั้น ตัณหานี้แทบะเจาะจง หมายถึงว่าอยากด้วยความโง่ อยากด้วยความโง่ ถ้าอยากหรือต้องการด้วยสติปัญญาไม่ใช่ตัณหาเรียกว่า 'สังกัปโป' สังกัปโป ความอยาก ความต้องการ ความประสงค์ด้วยอำนาจของสติปัญญานี้ไม่เรียกว่าตัณหา แล้วก็ไม่จัดว่าเป็นกิเลส ต้องเป็นสังกัปปะ ปรารถนาที่จะถูกต้อง ปฏิบัติให้ถูกต้อง ให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป เรียกว่าสังกัปปะ ที่ให้พอในสังกัปปะค่อนข้างสมบูรณ์เหมือนพระจันทร์วันเพ็ญ อย่างนี้ไม่ใช่ตัณหาไม่จัดเป็นกิเลส ตัณหาคืออยากด้วยความโง่เขลา ก็เป็นกิเลสเหมือนกับความโง่เขลา เพราะมันมาจากความโง่เขลาก็เป็นกิเลสด้วยกัน แต่ตัวหนังสือก็แปลผิดกันอย่างนี้ ตัณหาคืออยากด้วยความโง่ กิเลสมันส่งสิ่งสกปรกเศร้าหมอง ไม่สะอาด นี่คือความต่างของกิเลสตัณหาโดยตัวหนังสือ แต่เหมือนกันได้ด้วยความเป็นกิเลสด้วยกัน เหมือนกันได้ ถ้ามองในแง่ต่างความต่าง ก็ความต่างแค่กว้างกว่ากัน ตัณหาอยากด้วยความโง่ กิเลสหมายถึงสกปรกเศร้าหมองของจิตทั่วไป ทั่วไปหมดกี่สิบอย่างกี่ร้อยอย่าง
ผู้ถาม : กราบเรียนถามอีกข้อหนึ่งว่าในวงจรปฏิจจสมุปบาทที่ ๑๑ ขั้นนี่จะมีกิเลสแทรกได้หรือไม่หรือว่าแทรกที่ตรงตัณหา ๆ นั้น ๆ
ท่านพุทธทาส : ก็คุณบอกแล้วว่าตัณหา ๆ มันมีอยู่ในปฏิจจสมุปบาท ตัณหาก็เป็นกิเลส อุปทานก็เป็นกิเลส มันละเอียดมันเข้าใจยาก ทั้งตัณหาทั้งอุปทานเป็นกิเลสในสายแห่งปฏิจจสมุปบาทมีกิเลส ๒ ชื่อ โดยเฉพาะคือตัณหากับอุปทาน
ผู้ถาม : กระผมขอถามปัญหาดังนี้นะครับ ที่หลวงพ่อสอนเรื่องจิตว่างนะครับ ก็มีผู้ค้านว่าจิตว่างนั้นเป็นจิตนอนหลับหรือเป็นภวังคจิต แต่ถ้าตราบใดที่ ขณะที่เราตื่นอยู่นี่มันจะมีจิตว่างไม่ได้ เพราะว่าจิตที่ตื่นแล้วเป็นวิถีจิตนะครับ เมื่อเป็นวิถีจิตแล้วมันจะมีจิตอยู่ ๒ ชนิดที่จะเข้าไปก็คือกุศลจิตกับอกุศลจิต เพราะฉะนั้นขณะที่ตื่นอยู่ ถึงไม่มีจิตว่าง อันนี้ผมอยากจะเรียนถามหลวงพ่อว่าจะตอบปัญหานี้ว่าอย่างไรครับ
ท่านพุทธทาส : เขาไม่เข้าใจคำว่าว่าง จิตว่างน่ะไม่เข้าใจ เข้าใจผิด เข้าใจตามภาษาเรา ๆ ของคนไม่ได้เล่าเรียน ไม่เข้าใจว่าจิตที่ไม่คิดนึกอะไรเป็นจิตว่าง จิตที่ไม่มีความรู้สึกอะไรเป็นจิตว่าง อย่างนี้มีไม่ได้หรอก จิตต้องมีความรู้สึกคิดนึกตามแบบของจิต ถ้าเมื่อใดจิตมีความคิดนึกประเภทตัวตน มีตัวตน มีตัวตนมันก็ไม่ว่างเพราะมันมีตัวตน คิดนึกอย่างไรก็ได้แต่อย่าให้มีเป็นตัวตนก็เรียกว่า 'ว่าง' ทั้งนั้น คิดทำบุญทำกุศลจะตัดกิเลสอยู่ก็อย่าให้มีตัวตน แม้แต่คิดทำบุญก็อย่าให้มีตัวตน อย่าให้เกิดความรู้สึกมีตัวตนนั่นน่ะเรียกว่าจิตว่าง คือว่างจากตัวตน กำลังคิด กำลังปฏิบัติธรรมะ ศึกษาธรรมะอยู่อย่างเคร่งครัดแต่อย่ามีตัวตน อย่ามีตัวกูเป็นผู้ปฏิบัติก็เรียกว่าจิตว่าง คือว่างจากความคิดว่าตัวตน ไม่ใช่ไม่คิดนึกอะไรเลย จิตว่างอย่างนี้สามารถมาก สามารถคิดนึกได้ดี คิดนึกได้เก่ง ทำอะไรก็ได้ จิตว่างในความหมายที่ถูกต้อง ถ้าว่างจากคิดว่าตัวตน ส่วนความที่ว่านอนหลับ หรือไม่คิดอะไรเลยนั้นว่าเอาเอง เราไม่ได้ว่า เราก็ไม่ต้องตอบ ว่างที่ถูกต้องคือว่างจากความคิดว่าตัวตน อย่าได้หมายมั่นว่าอะไรมันเป็นตัวกูของกูอยู่ในขณะนั้น คิดอะไรเข้าไปคิดไปเถิด อย่าให้มีความหมายว่าเป็นตัวกูเป็นของกู หรือเป็นตัวตนหรืออัตตนียาของตน นี่ขอให้มีชีวิตอยู่ด้วยจิตว่าง จะไม่เป็นทุกข์จะไม่เกิดกิเลส จะทำงานได้ดี ถ้าว่างอย่างไม่คิดนึกอะไรเลย มันก็ไม่มี ไม่มีในเรื่องนี้ ในเรื่องจิตว่างที่จะดับทุกข์ จะไปนอนหลับหรือว่าจะไปกินยาเสพติดก็ตามใจเขาเถอะ
ว่างทางธรรมะ คือว่างจากความคิดว่าตัวตน เต็มอยู่ด้วยสติปัญญาความเฉลียวฉลาดอะไรอย่างยิ่ง เคลื่อนไหวเร็วถูกต้องที่สุด จิตว่าง ถ้าจิตไม่ว่างแบกหามอิรุงตุงนัง หนักอยู่ อุ้ยอ้ายอยู่ แล้วก็มีตัวตน ๆ ๆ ๆ อย่างนี้ไม่ว่าง แล้วก็นอนหลับมันไม่ได้เกี่ยวกับว่างหรือไม่ว่าง ถ้าว่างก็ว่างทางวัตถุว่างทางธรรมชาติ นอนหลับหรือสลบหรือว่ากินยาอะไรเข้าไป มันหยุดความคิดความนึก ไม่นึกคิดเรื่องตัวตนก็ได้เหมือนกัน แต่ไม่ใช่ ไม่ใช่ที่เราต้องการ
ผู้ถาม : ผมขอถามอีกข้อนะครับ ที่หลวงพ่อสอนไว้ว่าปฏิจจสมุปบาท ๒๔ นะครับ ที่มีสายดับ ที่เริ่มตั้งแต่ศรัทธาขึ้นไปจนถึงนิพพานนี้ ผมไม่เคยได้ฟังหลวงพ่อสอนเลยครับ อยากจะทราบว่าเป็นอย่างไรครับ
ท่านพุทธทาส : มันมีหนังสือเรื่องนั้นอยู่ เขาพิมพ์ออกมาคราวหนึ่ง ที่จริงพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้เรียกปฏิจจสมุปบาทหรอก ตอนที่หลังจากมีความทุกข์ แล้วมีศรัทธา มีแสวงหาออกไปจนดับทุกข์ได้ตอนนี้ไม่ได้เรียกปฏิจจสมุปบาท แต่โดยที่อาการมันเหมือนกัน อาการมันเหมือนกับปฏิจจสมุปบาท เพราะมีสิ่งนี้แล้วมีสิ่งนี้ เพราะมีสิ่งนี้แล้วมีสิ่งนี้ แล้วมีสิ่งนี้แล้วมีสิ่งนี้ ไปจนถึงนิพพาน ข้างนี้ ๑๒ มาหาความทุกข์ ข้างนี้ ๑๒ ออกไปจากความทุกข์รวมไปเป็น ๒๔ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเรียกว่าอุปนิสสธรรม อุปนิสสธรรม ๒๔ รวมลักษณะปฏิจจสมุปบาท ๒ ฝ่าย ฝ่ายละ ๑๒ เป็นอุปนิสสธรรม ๒๔ ก็ไปหาหนังสือเล่มนั้นอ่าน ที่มาอยู่ในชุดธรรมโฆษณ์ก็มี แต่ผมบอกไม่ได้ว่าเล่มไหน เพราะไม่ได้จำไว้ ถ้าอาศัยกันแล้วเกิดขึ้น อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น เรียกว่าปฏิจจสมุปบาทได้ทั้งนั้น ๒-๓ อาการก็ได้ หรือเป็นเรื่องอื่น ๆ ก็ได้ แต่ถ้าว่าดับทุกข์จึงจะเรียกว่าเรื่องปฏิจจสมุปบาท ถ้าไม่เกี่ยวกับดับทุกข์ก็เรียกว่า'อิทัปปัจจยตา' อิทัปปัจจยตาที่เกี่ยวกับดับทุกข์สิ่งที่มีชีวิตโดยตรงนี่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท เรียกว่าอิทัปปัจจยตากว้าง อะไรก็ได้ ๆ อะไรก็ดี แผ่นหินก้อนดินอะไรก็ได้ อาศัยกันและเกิดขึ้น อาศัยกันและเกิดขึ้น อาศัยกันและเกิดขึ้น
ผู้ถาม : ผมขออีกข้อนะครับ ที่หลวงพ่อบอกว่าพระอรหันต์มี ๒ แบบนะครับ แบบแรกยังมีเวทนายังไม่ดับใช่ไหมครับ แล้วแบบที่ ๒ นี่เวทนาดับหมดแล้ว ผมไม่เข้าใจว่าเวทนาดับหมดแล้วนี่หมายถึงว่า คือไม่รู้สึกตัวเลยใช่ไหมครับ
ท่านพุทธทาส : คำถามมันผิด ใช้คำผิด ไม่เคยพูดว่าพระอรหันต์ ๒ แบบ มีพูดแต่นิพพานธาตุ นิพพาน ๆ นิพพานธาตุมี ๒ แบบแบบแรกเรียกว่า 'สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ' ดับเย็น ดับกิเลสแล้วเวทนายังไม่เย็นสนิท เวทนายังไม่เย็นสนิท อันที่ ๒ ดับสิ้นกิเลสแล้ว เวทนาก็เย็นสนิทจำข้อนี้ไว้ก่อน สิ้นกิเลสแล้วเหมือนกันทั้ง ๒ แบบนิพพานนะ สิ้นกิเลสแล้ว นิพพานของพระอรหันต์ พระอรหันต์ก็สิ้นกิเลสแล้ว นิพพานอย่างแรกนั้นนะสิ้นกิเลสแล้ว แต่ความรู้สึกทางเวทนายังไม่เย็นสนิท ทำให้รู้สึกว่าเวทนานี้เป็นสุข เวทนานี้เป็นทุกข์ เวทนานี้เป็นอภิชฌาหรือโทมนัส คือเป็นบวกและเป็นลบ รู้สึกว่าเวทนานี้เป็นบวก เวทนานี้เป็นลบแต่ก็ไม่เกิดกิเลสเหมือนกัน แต่มันยังเหลือสำหรับรู้สึกอยู่ในเวทนาว่าเป็นเวทนานี้เป็นบวกหรือเวทนาลบ คือ อภิชฌาหรือโทมนัส ส่วนนิพพานอย่างที่ ๒ ของพระอรหันต์สิ้นกิเลสแล้ว เวทนาเย็นสนิท ไม่มีความรู้สึกออกมาว่าเวทนานี้บวกหรือลบ คือไม่มีสุขหรือทุกข์ ไม่รู้สึกเวทนาสุขหรือทุกข์ เย็นสนิทก็หมายความว่าไม่รู้สึกสุขหรือทุกข์ ไม่ว่าเวทนานั้นความหมายเป็นสุขหรือทุกข์ ก็ไม่รู้สึกเป็นสุขหรือทุกข์คือเงียบไป เฉยไป ดับอย่างนี้เรียกว่า 'อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ' เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน พระอรหันต์องค์หนึ่งเวทนายังไม่เย็นสนิท อย่างนี้เวทนาเย็นสนิท พระอรหันต์ที่มีเวทนาเย็นสนิท ไม่รับอารมณ์อะไรก็ไม่มีความหมายเป็นสุขและทุกข์ องค์นี้ยังมีความรู้สึก รู้สึกเป็นสุขและทุกข์ แต่ไม่ได้เกิดกิเลสนะ เพียงแต่รู้ว่ามันเป็นสุขเป็นทุกข์เท่านั้นเอง เป็นอภิชฌาหรือเป็นโทมนัสเท่านั้นเอง เป็นมะนาปะ อะมะนาปะ มะนาปามะนาปัง/มนาป อมนาปํ มนาปามนาปํ(นาทีที่49.19 ) เราใช้ภาษาวิทยาศาสตร์ว่ายังรู้สึกว่าเวทนาบวกหรือเวทนาลบ คือน่ายินดีหรือไม่น่ายินดี รู้สึกอยู่แต่ไม่เกิดกิเลสเหมือนกัน เพราะเป็นพระอรหันต์แล้วไม่อาจจะเกิดกิเลส สิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะเหมือนกันแหละ แต่องค์นี้ความรู้สึกทางเวทนายังเหลืออยู่สำหรับจะรู้สึกว่าเวทนาที่มากระทบนี้มันเป็นบวกหรือเป็นลบ ก็เลิกกัน ส่วนองค์นี้ไม่ ไม่รู้สึกเวทนาบวกเวทนาลบ มันสนิทกว่า มันเย็นสนิทกว่า นิพพานธาตุมีอยู่ ๒ ความหมาย ก็เป็นนิพพานธาตุของพระอรหันต์องค์ที่เวทนาเย็นสนิทแล้ว กับนิพพานธาตุของพระอรหันต์ที่เวทนายังไม่เย็นสนิท ไม่ใช่พูดถึงพระอรหันต์ แต่พูดถึงนิพพานธาตุของพระอรหันต์ ทีนี้ในโรงเรียนนักธรรมเขาไม่สอนอย่างนี้ ไม่ได้สอนอย่างที่เราพูด สอนอย่างอื่น พระอรหันต์ยังเป็น ๆ กับพระอรหันต์ตายแล้ว เขาสอนพูดกันอย่างนี้
ผู้ถาม : ขอบพระคุณครับ
ท่านพุทธทาส : จบแล้ว รู้ธรรมะกันทุกคนไม่มีปัญหา คือไม่มีปัญหาเหลือก็คือรู้ธรรมะ รู้ว่าดับทุกข์ได้อย่างไร จะดับทุกข์ได้อย่างไร รู้ข้อนี้วิเศษประเสริฐ รู้ว่าดับทุกข์ได้อย่างไรแล้วก็ดับทุกข์ให้ได้คำถามอย่างอื่นปลีกย่อยทั้งนั้น คำถามที่เป็นประธานแท้ ๆ ว่าดับทุกข์ได้อย่างไร ดับทุกข์ได้อย่างไร อย่ามีกิเลสประเภทเป็นตัวกูของกู ไม่เกิดกิเลสใด ๆ อย่ามีความรู้สึกเป็นตัวกูของกู มันก็ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ตัวก็ไม่เกิดกิเลสใด ๆ ไม่เกิดกิเลสใด ๆ ก็ไม่มีความทุกข์ใด ๆ นี่เป็นหลักใหญ่ที่ว่าจะดับทุกข์กันอย่างไร ไอ้ความทุกข์มันก็ไม่ใช่ตัวตน มันเป็นของธรรมชาติ แม้แต่ดับทุกข์ก็ไม่ใช่ตัวตน มันเป็นของธรรมชาติ นิพพานก็ของธรรมชาติไม่ใช่ตัวตนจน แต่เดี๋ยวนี้จิตหรือร่างกายซึ่งไม่ใช่ตัวตนนะเป็นของธรรมชาติ ร่างกายก็ดี จิตก็ดีเป็นของธรรมชาติไม่ใช่ตัวตน มันรู้สึกนี่ มันเป็นทุกข์ มันทนไม่ได้ มันต้องแสวงหาความดับทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนอ่ะ จิตล้วน ๆ แสวงหาความดับทุกข์แล้วปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ อย่าเอาตัวตน ตัวกูเข้ามาแทรกแซงให้มันเป็นเรื่องของจิตล้วน ๆ กับร่างกาย จิตกับร่างกาย นามและรูป
ไอ้ปัญหามันอยู่ที่ปัญหาของนามและรูป อย่าเอาตัวตนเข้ามาเป็นสิ่งที่ ๓ อย่างนี้ไม่เกิดกิเลส ไม่เกิดความทุกข์ ขอให้เข้าใจใจความที่สำคัญที่สุด ความรู้สึกว่าเป็นตัวตน ตัวตนเป็นความรู้สึกโง่ ไม่ใช่มีตัวจริง เป็นเรื่องผีหลอก อวิชชาหลอกให้เกิดรู้สึกว่าตัวตน พอไม่โง่มันก็ไม่มีตัวตน พอโง่ก็มีตัวตนมาทันที พอความคิดว่ามีตัวตนเกิดขึ้นมันก็เป็นความโง่ เป็นความโง่ เป็นการแสดงว่ามีความโง่ หรือความโง่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าตัวตน พอมีตัวตนนั่นแหละมันเป็นกิเลส กัดเอากัดเอา มีตัวตนในสิ่งใดสิ่งนั้นแหละมันกัด นี่จำไว้อย่างนี้ ยึดมั่นว่าตัวตนในสิ่งใดแล้วสิ่งนั้นแหละมันจะกัด กัดนั่นแหละคือความทุกข์ ชีวิตนี้โง่ว่ามีตัวตนในสิ่งใดสิ่งนั้นแหละมันจะกัด นี่ชีวิตมันโง่ ไปมีตัวตนในสิ่งใดสิ่งนั้นแหละมันกัด ความโง่หมายความปราศจากความรู้
เด็ก ๆ อยู่ในท้องแม่มีสัญชาตญาณความรู้สึกตามสัญชาตญาณ ยังไม่รู้สึกเป็นตัวตน เด็ก ๆ ในท้องแม่ แต่พอมันออกมาจากท้องแม่มันมาเกี่ยวข้องกับอารมณ์ภายนอก เช่นว่า มันได้กินนม มันได้กินนม มันพอใจ ๆ ในรสของนม มันก็มีความพอใจจึงเกิดตัวกู ตัวกูผู้พอใจ ตัวกูผู้พอใจ ถ้ามันอยากต่อไปมันก็เกิดตัวกูผู้เป็นตัณหา ตัวตัณหา เป็นตัวกู เกิดตัวกูจากตัณหา เพียงแต่มันอร่อย ๆ แล้วมันก็เกิดตัวตนผู้อร่อย ถ้ามันอยาก ๆ น่ะก็เกิดตัวตนจากตัณหา นี่ตัวตนนี้ไม่ได้มาแต่เดิม เพิ่งมาเมื่อโง่ เมื่อโง่ ๆ โง่เมื่อไรก็มีตัวตนเมื่อนั้น อยู่ในท้องไม่อาจจะมีความรู้สึกอันนี้ ต้องเสวยอารมณ์ต้องรับอารมณ์ทางอายตนะทางตาก็ได้ ทางหูก็ได้ จมูกก็ได้ ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ๖ อย่างนี้ รู้สึกแล้วเกิดความพอใจหรือไม่พอใจก็ตาม ความรู้สึกว่าตัวกูผู้พอใจจะเกิดขึ้น ตัวกูผู้ไม่พอใจมันก็จะเกิดขึ้น พอเรื่องเสร็จแล้วมันก็ดับไป ตัวกูก็ดับไป ตัวกูก็ไม่มีอยู่ในความรู้สึกอีก ตัวกูขึ้นมาเป็นคราว ๆ ตามที่ความโง่เกิดขึ้นในสิ่งใด ความโง่เกิดขึ้นในสิ่งใดก็มีตัวตนในสิ่งนั้น แล้วก็มาจากความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งมันจึงจะเกิดโง่ ตัวกูผู้รู้สึก ต้องมีความรู้สึกอร่อยหรือไม่อร่อยก็ได้ทางตา ทางหู มีความรู้สึกว่าอร่อยก็ได้ ไม่อร่อยก็ได้ พอมีความรู้สึกอย่างนี้แล้วมันก็เกิดตัวกูผู้อร่อย หรือผู้ไม่อร่อย นี่ตัวกูผีหลอก มันไม่ได้มีอยู่ก่อน มันไม่ได้มีตัวจริงเป็นของจริงอะไร มันเพิ่งเกิดเข้าใจผิด ความคิดผิด ความยึดถือผิด ๆ จึงเรียกว่าผีหลอก ผีหลอกเป็นขณะ ๆ มีความรู้สึกในอารมณ์ทางบวกหรือทางลบ คือยินดีหรือยินร้ายก็ตาม มันจะเกิดตัวกูเป็นบวกหรือเป็นลบขึ้นมา หรือว่ามันเพิ่งเกิดเป็นความรู้สึกขึ้นมาเมื่อได้รู้รสในอารมณ์นั้น ๆ แล้ว ถ้าเข้าใจข้อนี้ จะเข้าใจเรื่องอนัตตา มันไม่ได้มี0ตัวตนอยู่จริง มันเพิ่งเกิดเพิ่งโง่เมื่อได้รับอารมณ์ พออร่อยก็ตัวกูอร่อยทางลิ้น พอไม่อร่อยก็ตัวกูไม่อร่อย พอตาเห็นรูปสวยก็ตัวกูเห็นรูปสวย เห็นรูปไม่สวยก็ตัวกูเห็นรูปไม่สวย ได้ยินเสียงเพราะหูน่ะมันได้ยินเสียงหูว่าตัวกูได้ยินเสียง นี่มันเรื่องของประสาทตา ประสาทหู ประสาทจมูก ประสาทลิ้น กาย มันเอาเป็นตัวกูหมด ตัวกูผู้รู้ผู้เห็นเข้าใจหมดนั่นนะคือความโง่ มันเป็นเพียงความรู้สึกของระบบประสาทที่ประจำอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจด้วยก็ได้ ในความหมายอย่างเดียวกันแต่เขาไม่เรียกว่าประสาท ประสาทมีอยู่ ๕ ตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ที่ใจก็มีของที่คล้าย ๆ นั้นแต่ไม่ได้เรียกว่าประสาท
ดังนั้นระบบประสาทก็คือรู้สึก พอรู้สึกแล้วมันจึงโง่ว่ากู กูมันรู้สึกหรือว่ามันมีความหิวขึ้นมา ระบบประสาทมันหิวขึ้นมา ก็ว่ากูหิว นั่นมันกู ๆ ๆ นี่ มายา ไม่ใช่ของจริง เกิดทีหลังความรู้สึกที่เป็นการกระทำ อร่อยแล้วจึงเกิดความรู้สึกมีตัวกูผู้อร่อย ไม่อร่อยแล้วจึงเกิดความรู้สึกเป็นตัวกูกูไม่อร่อย แปลว่าไอ้ตัวผู้กระทำ ตัวผู้กระทำนั้นเกิดทีหลังการกระทำ คุณฟังให้ดี ๆ นะ เข้าใจยากนะ ตัวผู้กระทำเกิดทีหลังการกระทำ เด็ก ๆ มันจะคั้น อ้าว, แล้วใครกระทำหละ ถ้าไม่มีตัวกูผู้กระทำจะมีการกระทำได้อย่างไร ธรรมชาติ ๆ ร่างกาย จิตใจ ทำความรู้สึกได้ ทำความรู้สึกได้ แต่พอรู้สึกขึ้นมาแล้วไอ้ผีบ้าที่ไหนไม่รู้มา มาเป็นตัวกู เข้ามาสวมเอาว่ากูเป็นผู้รู้สึก กูเป็นผู้เสวยอารมณ์ เป็นผู้อร่อยไม่อร่อย ตัวผู้กระทำมาทีหลังการกระทำ มันผิด logic มันสิ่งอื่นกระทำ เกิดความรู้สึกอย่างนั้น แล้วจิตโง่เข้ามาสวมทับว่ากูกระทำ เพราะฉะนั้นอนัตตา อนัตตา ไม่มีตัวผู้กระทำที่แท้จริง มันผิด มันโง่ว่ามีผู้กระทำขึ้นมา นี่หัวใจของเรื่องอนัตตา คือหัวใจของพระพุทธศาสนา
ดังนั้นพอเราไม่รู้สึกอะไรเป็นอร่อยขึ้นมา หรือไม่อร่อยขึ้นมา เป็นอารมณ์บวกหรืออารมณ์ลบก็ตามระวัง ตัวกูมันสวมทับเอาเป็นเรื่องของกู ไม่ยอมไม่เอา เป็นเรื่องของระบบประสาทโว้ย, ระบบประสาทที่ตาบ้าง ระบบประสาทที่หูบ้าง ระบบประสาทที่จมูก ที่ลิ้น ที่กายบ้างนั่นน่ะ มีเท่านั้นไม่มีตัวกู จึงเป็นอันว่าตามหลักพระพุทธศาสนามันมี ๒ คือนามกับรูป คือจิตกับกายเท่านั้น มันทำอะไรได้ทุกอย่าง แต่แล้วความโง่มาสวมทับว่ากู ๆ ผู้กระทำ เมื่อตาเห็นรูป มันก็ว่ากูเห็นรูป กูมาจากไหนก็ไม่รู้ ที่จริงตากับระบบประสาทมันเห็นรูป แต่ความโง่มันแทรกเข้ามาว่ากูเห็นรูป กูได้ยินเสียงประสาทหูได้ยินเสียง ความโง่มันแทรกเข้ามาว่ากูได้ยินเสียง กูได้กลิ่น กูได้รส กูได้สัมผัสผิวหนังนี้ว่ากู ๆ เป็นผีหลอกชั่วคราว เกิดขึ้นมาตามความโง่ พอหมดเรื่องโง่ก็หายไป เดี๋ยวก็เรื่องใหม่อีก ดังนั้นตัวกูตัวกูเป็นผี ผีหลอก เกิดดับ ๆ ๆ ทุกอารมณ์ที่มันเกิดขึ้นมาแล้วต้อนรับด้วยความโง่ มีผัสสะโง่หรือเวทนาโง่ในอารมณ์ใด ตัวกูเป็นต้องมาเสมอ โชคดีที่ฝรั่งมันฟังถูก ในข้อที่ว่าผู้กระทำเกิดทีหลังการกระทำ คุณเอาไปพูดที่ไหนเขาก็แย้งทั้งนั้น เด็ก ๆ ก็แย้งเป็น ไม่มีตัวผู้กระทำมันจะมีการกระทำได้อย่างไร นี่คือว่าตัวผู้กระทำมันเป็นผีหลอก มันไม่ใช่ของจริง มันมีการกระทำของนามรูป กายและใจต่างหากเล่า พอกระทำแล้วจิตมันโง่ขึ้นมาเองว่ากู ๆ เป็นผู้กระทำ มันไปสวมว่าเป็นของกูหมด มีสติระลึกเร็วทันเหตุการณ์เสมอ ถ้าตาเห็นก็ตาเห็นรูป อย่าว่ากูเห็นรูป ถ้าหูได้ยินเสียงก็ว่าประสาทหูได้ยินเสียงอย่าว่ากูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่นก็เหมือนกันว่าระบบประสาท ไม่ใช่กู ลิ้นอร่อยอะไรขึ้นมาก็ระบบประสาทไม่ใช่กู สัมผัสผิวหนังอันแสนจะนิ่มนวลหรือหยาบกระด้างอะไรก็ตามระบบประสาทไม่ใช่กู ถ้ามีสติไว้อย่างนี้อยู่ในทุก ๆ อารมณ์แล้วไม่อาจจะเกิดกิเลสใด ๆ ได้มันไม่มีกูขึ้นมา มันไม่มีกูขึ้นมา มันก็ไม่เกิดกิเลส มันมีโลภะ โทสะ โมหะได้ที่ไหน
ดังนั้นมีสติอย่าให้เกิดกู ให้เป็นเรื่องของนามรูป คือกายและใจล้วน ๆ แล้วก็มีสติปัญญาอยู่ที่จิต มันเกิดอะไรขึ้นมาก็แก้ไขในสิ่งที่ควรแก้ไข ไม่ควรแก้ไขก็ไม่ต้องทำอะไร ถ้าควรจะทำอะไรก็ทำโดยไม่ต้องมีตัวกู จิตนั่นแหละที่มีสติปัญญา ทำไปเถิด อย่าให้ตัวกูมากระทำ เพราะตัวกูเข้ามาแล้วเกิดเรื่อง ต้องเป็นเรื่องยุ่งไปหมดแหละ ไม่บวกก็ลบ ลบก็บวกยุ่งไปหมด
นี่จิตว่างคือไม่มีตัวกูประเภทนี้ แต่มีสติปัญญาอยู่ที่ในจิตสั่งกายให้ทำอะไรได้ นี่ก็เรียกว่าเป็นอยู่ด้วยจิตว่างก็ได้ ไม่มีทางที่จะเกิดตัวกู ไม่มีทางที่จะเกิดความทุกข์ แต่ว่าพูดนี่มันง่ายนะ ทำยาก เวลาทำจริง ๆ มันยาก พูดนี่มันง่าย แล้วมันเร็วดั่งสายฟ้าแลบ ตัวกูมันมาแล้ว พอตาเห็นรูปก็กูเห็นรูป แล้วกูเห็นนั่น กูเห็น รูปมีความหมายอย่างนั้นอย่างนี้ หลงรัก หลงโกรธ หลงเกลียด หลงกลัวอะไรแล้ว หูก็เหมือนกัน จมูกก็เหมือนกัน ลิ้นก็เหมือนกัน ผิวกายก็เหมือนกัน อวิชชา ๆ อวิชฺชา สพฺเพสุ ธมฺเมสุ อนุปติตา(1.03.13) ความโง่นี่พร้อมอยู่เสมอในที่ทุกแห่ง อวิชชาความโง่ที่จะเกิดตัวกู อวิชชานี่พร้อมที่จะตกลงไปในธรรมะทุกหนทุกแห่ง ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผทัพพะ ในธรรมารมณ์ หรือทุกแห่ง อวิชชานี่พร้อม ไม่รู้อยู่ที่ไหนแต่ว่าพร้อมที่จะเข้ามา แล้วสวมเอาอารมณ์นั้น แล้วก็เป็นตัวกู เป็นของกูกันหมด ดังนั้นเรามีเพียง ๒ อย่าง มีนามและรูป ๒ อย่าง อย่ามีตัวตนเป็นสิ่งที่ ๓ ถ้ามีตัวตนเป็นสิ่งที่ ๓ อีกอันน่ะมันลัทธิอื่น ศาสนาอื่น ลัทธิอื่น คือลัทธิที่เขาสอนว่ามีตัวตน ลัทธิอื่น ถ้าเป็นพุทธศาสนาไม่มีสิ่งที่เรียกว่าตัวตน ไม่มีสิ่งที่ ๓ มี ๒ สิ่งคือกายกับใจ นามและรูป ถ้าเราไม่มีตัวตนเกิดขึ้นมาแล้วก็ไม่มีกิเลสไม่มีความทุกข์ไม่มีปัญหา พอตัวตนมาแล้วไฟก็มา ไฟคือกิเลสก็มา ไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ ตามมากับตัวตน มีสติอย่าให้เกิดตัวตน มีสติอย่าให้เกิดตัวตน ก็รักอะไรไม่ได้ โกรธอะไรไม่ได้ เกลียดอะไรไม่ได้ กลัวอะไรไม่ได้ หลงใหลอะไรไม่ได้ ไม่อาจจะราคะ โทสะ โมหะ นี่ถ้ามันไม่มีตัวตนเกิดขึ้น เดี๋ยวนี้เรามันเคยชินมาตั้งแต่ออกมาจากท้องแม่ พอสิ่งแรกก็ว่ากินนมอร่อย ก็ตัวกู ตัวกูอร่อย แล้วตัวกูก็มากขึ้น ๆ เพราะกินนมหลายหน ๆ อะไรมาก พอหูได้ยินเสียงขับกล่อมไพเราะว่าตัวกู ๆ มากขึ้น ๆ ตาได้เห็นอะไรที่เข้ามาประดับประดา เห็นสวยงามหรือไม่สวยไม่งามที่มันเห็นนี่ก็ตัวกู ๆ ก็มากขึ้น จมูกก็เหมือนกัน ลิ้นก็เหมือนกัน ผิวหนังก็เหมือนกัน ได้รับการประคบประหงมนิ่มนวลเอร็ดอร่อย ก็ตัวกู ๆ แล้วก็มากขึ้น ๆ ๆ พอรู้ประสีประสาพูดได้รู้จักฟัง ที่อาจารย์ก็รุมกันสอนตัวกูทั้งนั้น พี่เลี้ยงก็ดี แม่ก็ดี พ่อก็ดี เอายัดตัวกูเข้าไปให้เด็ก ๆ บ้านของหนู แม่ของหนู พ่อของหนู เงินของหนู อะไรของหนู ๆ ๆ ทั้งนั้น เราก็สอนผิดตั้งแต่เรายังแรกคลอดออกมา อะไร ๆ เป็นของแกทั้งนั้น ของแกทั้งนั้น เพราะความรัก เพราะความรักที่อยากจะให้มันสบายใจเป็นของแก มีความหมายเป็นของแกทั้ง ๆ ทางฝ่ายบวกและฝ่ายลบ เราจึงมีกิเลสประเภทนี้ที่เรียกว่า 'อัตตวาทุปาทาน' อัตตวาทุปาทาน เข้มข้นขึ้น ๆ ๆ สูงสุดมากขึ้นจนเป็นปัญหา
อ้าว, ทีนี้จะทำอย่างไร มันลงรากแน่นหนาอย่างนี้จะถอนออกได้อย่างไร มันจึงยากเหลือประมาณที่จะถอนรากของกิเลส ตัณหา อุปาทาน และความโง่ อวิชชานี้ จะขุดรากของอวิชชานั้นยากที่สุด เพราะมันฝังแน่น ลงรกลงราก ลงรกลงราก ฝังแน่น ๆ จะขุดรากอวิชชามันลำบากอย่างนี้ แต่ก็อย่าท้อแท้ ศึกษา ๆ ๆ ให้เห็นแจ้งเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาน่ะประเสริฐที่สุด ขยายออกไปเป็นธรรมจิตสัตตา ธรรมณี มัตตา อิทัปปัจจยตา สุญญตา ตถตา อตัมมยตา เป็นอันสุดท้ายแล้ว หมดเกลี้ยงไม่มีเหลือ กวาดทิ้งไปหมด ความโง่เรื่องอัตตา ความยึดถือเรื่องอัตตา อุปาทานเรื่องอัตตาได้ถูกกวาดทิ้งไปหมดไม่มีเหลือ ใจความมีเท่านี้แหละ มันมีเท่านี้จริง ๆ จะปฏิบัติได้หรือปฏิบัติไม่ได้มันมีเท่านี้เท่านั้นแหละ อย่ามีตัวกูเกิดขึ้นด้วยความโง่ แต่มันเกิดขี้นเสียแล้วโดยที่เราไม่ทันรู้สึก เราไม่ทันรู้สึกสักที ทีนี้มันเกิดเสียแล้ว มันเกิดเสียแล้ว นี่เรียกว่าตัวผู้กระทำเกิดทีหลังการกระทำ แต่เราก็ไม่รู้สึก เราก็รู้สึกเป็นตัวผู้กระทำที่ถูกต้องจึงมาตามลำดับ ตาเห็นรูปก็ว่ากูเห็นรูป ไม่โง่เพิ่งมีกูมาเห็นรูป เมื่อก่อนมีการเห็นรูปที่ตัวกูไม่มีเพราะกูไม่อยู่ที่นี่ พอมีตัวกูแล้วมันไม่ต้องสงสัย มันก็มีของกูคือมันไปเกี่ยวข้องกับอะไรไป เนื่องกับอะไร มันจะเอามาเป็นของกูหมด ทั้งเรื่องบวกเรื่องลบ ทั้งเรื่องดีเรื่องร้ายแหละ นี่ก็เรียกว่าของกู ตัวกูเรียกว่าอัตตา ๆ ๆ ในตัวกู ของกู ๆ ก็เรียกว่า 'อัตตนียา' อัตตนียา ก็เกี่ยวข้องกันอยู่กับอัตตาที่เป็นของกู ถ้ามีความรู้สึกเป็นของกูที่ไหนมันจะมีอะไรเป็นของกูพร้อมอยู่เสมอ เอาความเกิดเป็นของกู ความแก่เป็นของกู ความเจ็บเป็นของกู ความตายเป็นของกู ความทุกข์เป็นของกู อะไรเป็นของกูได้ถ้ามันมีตัวกู มันก็ยากที่จะไม่ให้มีของกู มันพอมีตัวกูไปเนื่องด้วยอะไรมันก็เป็นของกู แม้แต่ศัตรู หรือว่าฝ่ายศัตรูแท้ ๆ ก็ว่าศัตรูของกู มิตรสหายก็มิตรสหายของกู นี่เรียกว่ามันคว้านออกหมดทั้งฝ่ายบวกและฝ่ายลบ ทั้งฝ่ายยินดีและยินร้าย ทั้งฝ่ายสุขและฝ่ายทุกข์ มันจึงมาก ๆ เหลือประมาณ หนาแน่นเหลือประมาณ ใครเอาอะไรเป็นตัวกู กัดเป็นของกูก็กัด นี่ละชีวิตกัดเจ้าของ
ในวันที่ตัวกูเกิดขึ้น มันสิงสถิตย์อยู่เป็นเจ้าของบ้าน เราพูดให้พวกฝรั่งเขาฟังว่าหมามันยังไม่กัดเจ้าของ ไอ้กิเลสตัวนี้เลวกว่าหมาเกิดขึ้นแล้วกัดเจ้าของ กันลืม กันลืมต้องพูดอย่างนี้ พูดว่ามันเลวกว่าหมา สิ่งเลวร้ายที่สุดก็คือตัวกู อันตรายที่สุดก็คือตัวกู อันตรายของตัวกูคือตัวกู อันตรายของความสงบสุขก็คือตัวกู เป็นคุกตะรางขังตัวกู ขังชีวิต ขังตัวกู ตัวกูเป็นคุกตารางที่หนาแน่นที่สุด มันกักขังไว้หมดเลย มีตัวกูเมื่อไหร่ก็เป็นคุกขังตัวเองเมื่อนั้น อยู่ในคุกก็เหมือนกับอยู่ในนรก มีตัวกูที่ไหนก็มีนรกที่นั่น กัด ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ มีตัวกูที่ไหนก็มีคุกที่นั่น มีตัวกูที่ไหนก็มีนรกที่นั่น ทีนี้ฝ่ายกุศลนั่นก็อย่าไปเข้าใจผิดมัน แม้แต่เป็นกุศลแต่ถ้าไปยึดว่าเป็นตัวกูมันก็กัดเหมือนกัน ความดีก็กัด ความชั่วก็กัด ถ้าไปยึดถือเป็นตัวกู ดังนั้นอย่าให้มันชั่วและดี เลิกกันหมดนั่นนะจึงจะไม่กัด คือไม่มีตัวกู ไม่มีตัวกู ไม่มีบวกและลบ มันก็ไม่มีตัวกู ไม่มีทั้งฝ่ายชั่วและฝ่ายดีมันก็ไม่มีตัวกู ไม่มีตัวกูแล้วอะไรจะกัด และจะกัดอะไร ไม่มีผู้ถูกัด ไม่มีผู้ถูกัด ไม่มีการกัด ก็สบายแล้ว คือไม่มีความทุกข์ไม่มีผู้ทำความทุกข์ ไม่มีผู้รับความทุกข์ ไม่มีตัวตนก็ไม่มีที่ตั้งแห่งปัญหา ๆ จะมีปัญหาก็ต่อเมื่อมันมีตัวตน มีตัวตน ๆ เป็นตัวปัญหาเป็นเจ้าของปัญหา เป็นผู้รับทุกข์เป็นผู้ก่อให้เกิดความทุกข์ เป็นการเกิดแห่งความทุกข์แล้วแต่จะมองกันในแง่ไหน นี่คือพระพุทธศาสนาใช้คำว่าของเราก็ผิดทันที พุทธศาสนาของกู มันก็ผิดอีกนั่นแหละ แต่มันยังต้องพูดอย่างนี้อยู่มันหลีกไม่พ้น เพื่อจะแยกออกจากศาสนาอื่น ๆ ก็จะเป็นศาสนาของกู พุทธศาสนาของเรา ก็เพื่อให้เข้าใจว่าศาสนาอื่นก็สอนอย่างอื่น ศาสนานี้สอนอย่างนี้ แล้วพุทธศาสนาของเรา ก็เข้าใจว่าศาสนานี้มันสอนอย่างนี้ว่าไม่มีตัวกู ศาสนาอื่นก็สอนให้มีตัวตนไป เอากันไปตามเรื่องของเขามากมายเหมือนกันนะ แต่พุทธศาสนามาทีหลังเขาหมดเลิกตัวกู เลิกตัวกู ไม่มีตัวกู ไม่เอาตัวกู อันนี้เป็นสิ่งสุดท้าย ไม่มีใครสอนให้ดีกว่านี้ได้อีกแล้ว เกิดพุทธศาสนาแล้วไม่มีใครสอนให้ยิ่งให้ดีให้สูงไปกว่านี้ได้อีกแล้ว แล้วมันก็เป็นเรื่องที่ว่าโชคดีที่สุด ที่เราได้มีศาสนาที่สูงสุดหรืออันสุดท้าย แต่แล้วมันก็อยู่ที่เราว่าจะเหลวไหลหรือไม่เหลวไหล เราเหลวไหลมันก็ไม่ได้อะไร มีศาสนาที่ประเสริฐที่สุดก็ขอให้ได้รับประโยชน์จากพระศาสนาที่ประเสริฐที่สุดก็แล้วกัน นี่จึงมีคำพูดที่ให้อย่าให้เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา แล้วได้มาบวชแล้วพรรษาหนึ่งแล้ว ก็เพื่อจะไม่ให้เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา อุตส่าห์เรียนให้เข้าใจพระพุทธศาสนา เอาไปใช้ดับทุกข์ได้ในระหว่างที่บวชกันนี้ ถ้ามันไม่ทัน ๓ เดือนไม่ทันก็เก็บไว้ศึกษาต่อไปศึกษาต่อไป ๆ อย่าหยุด อย่าหยุดเสีย ศึกษาต่อไปจนสามารถที่จะดับทุกข์ได้ ควบคุมอายตนะได้ ไม่ให้เกิดตัวกู ๆ ขึ้นมาได้ มีสติเร็ว มีปัญญาพอ ป้องกันไม่ให้เกิดตัวกูดีกว่า หรือพอเกิดมาแล้วละมันเสีย ฆ่ามันเสียก็ยังดี แต่ที่ไม่ให้เกิดได้นะดีที่สุด มันไม่มีความทุกข์ ถ้าเกิดแล้วมันต้องมีความทุกข์แหละ แม้จะฆ่ามันเสียได้มันก็มีความทุกข์ในการฆ่า หรือแต่ก่อนที่จะฆ่ามันยุ่งทั้งนั้นแหละ อย่าให้โจรเข้ามา ไม่มีความทุกข์ ถ้าโจรเข้ามาต้องฆ่าโจรแล้วก็เริ่มยุ่งแล้วก็มีความทุกข์ มีสติเพียงพอ มีสัมปชัญญะ มีปัญญาพอมันก็ไม่เกิด มันก็ไม่เข้ามา ระหว่างบวชก็ศึกษาข้อนี้ ให้มีสติเร็ว มีปัญญาพอ มีสัมปชัญญะพอ มีสมาธิพอ ตัวกูเกิดไม่ได้ ตัวกูเกิดไม่ได้ โจรเข้ามาในเรือนของเราไม่ได้ ชีวิตนี้ก็จะเย็น ๆ ๆ ๆ ไม่เย็นเปล่า เย็นมีประโยชน์ ไอ้เย็นเปล่า ๆ นั่นมันก็ไม่ไหว เย็นคนเดียว เย็นเปล่า ๆ ไม่ไหว ก็ให้เย็นแล้วเป็นประโยชน์แก่ทุกคนทุกฝ่ายทั่วไปทั้งโลก เราเป็นผู้เย็นและทำประโยชน์แก่ทุกคนทุกฝ่ายในโลก จำอุดมคติสุดท้ายว่าปฏิบัติธรรมะสูงสุดแล้วจะได้รับผลเป็นความเยือกเย็น สงบเย็น แล้วก็เป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์ไม่มีที่สิ้นสุด มันเหมือนกับเครื่องจักรที่ ๆ คลายประโยชน์ คลายประโยชน์ ผลิตประโยชน์ออกมาเรื่อยไปนี่คือธรรมะ ๆ ๆ ๆ หัวใจแห่งพระพุทธศาสนา ดับตัวกูซึ่งเป็นของธรรมชาติ ที่จะเกิดตามธรรมชาติของสัตว์ผู้มีความโง่ ผู้มีความหลง นี่ทำอย่างไร เราก็เกิดมาแล้ว และก็ได้รับคำแนะนำแวดล้อมสั่งสอนให้มีตัวกู ๆ ๆ ๆ เพราะไปไกลสุดโต่ง กว่าจะกลับมาหาความไม่มีตัวกูนี่มันยากหน่อย แต่ก็ไม่เหลือวิสัย ๆ อุปมาของคนโบราณเขาเรียกว่าเด็กคนนี้เกิดมาแล้วหนีพ่อแม่ตามโจรไป ไปสู่ความผิดมีตัวกูมีของกู ต่อมามันรู้สึกว่าอ้าว, นี่โจรนี่หว่า นี่โจรนี่หว่า คนนี้โจรมหาพ่อแม่อีก นั่นนะมันผิดไปแล้ว มันผิดไปแล้ว กลับมาหาความถูกต้องกันอีก นั่นแหละเป็นสิ่งที่จะต้องทำ เข้ามาสู่ความถูกต้องของสัมมาทิฏฐิหรือของธรรมะ แล้วก็ลดตัวกู ลดตัวกู ลดตัวกูเรื่อยไปจนมันหมด ตัวกูเกิดยาก เกิดไม่ได้ ในที่สุดมันก็หมดปัญหา ตัวกูเกิดไม่ได้โดยประการทั้งปวงเด็ดขาดจริง ๆ ก็เป็นพระอรหันต์ แต่นี่ยังเป็นไม่ได้ เอาเรื่องลดเรื่องบรรเทากันไปก่อนเถิด ให้ชีวิตนี้มันเป็นไฟน้อยหน่อย อย่าให้เป็นโพรง ๆ เกินไป แล้วก็ค่อย ๆ ดับมัน ๆ ๆ เอาเวลาหมดแล้ว ๙ แล้ว ๙ ข้อแล้วก็ต้องขอยุติการบรรยาย