แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้เราจะพูดกันถึงเรื่อง สิ่งที่เรียกสั้น ๆ ว่า กิเลส ๆ ดังนั้นขอให้ฟังให้ดี ตั้งใจฟังให้เข้าใจ รู้จักสิ่งที่เรียกว่ากิเลส ๆ นี้โดยทั่วถึง เพราะเรื่องธรรมะทั้งหมดในพระพุทธศาสนานี้ มันไม่มีเรื่องอื่น มันมีแต่เรื่องเดียวคือเรื่องละกิเลส และความสิ้นแห่งกิเลสนั่นคือจุดหมายปลายทาง ที่เรียกว่านิพพาน ๆ ความสิ้นไปแห่งกิเลส โดยบาลีว่า ราคกฺขโย โทสกฺขโย โมหกฺขโย นิพฺพาน ความสิ้นไปแห่งราคะ สิ้นไปแห่งโทสะ สิ้นไปแห่งโมหะ คือนิพพาน โดยพระบาลีนี้มันย่อมแสดงอยู่แล้วว่า กิเลสมี ๓ ชื่อคือ ราคะ โทสะ โมหะ
กิเลสก็เหมือนกับสิ่งอื่น ๆ แหละ คือเป็นของธรรมชาติ ตามธรรมชาติ มีอยู่ตามธรรมชาติ เป็นไปตามกฎธรรมชาติ พร้อมที่จะเกิดขึ้น เมื่อสิ่งต่าง ๆ มันเป็นไปในลักษณะที่จะให้กิเลสเกิดขึ้น กิเลสก็เป็นอนัตตาเหมือนกัน เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่วิเศษวิโสอะไร แต่ว่าไอ้อัต อนัตตา อนัตตานี้เอง มันทนไม่ไหว เมื่อมีกิเลสเกิดขึ้นแล้ว มันก็ทนไม่ไหว
ตัวกิเลส คำนี้มันแปลว่าเศร้าหมองหรือสกปรก พูดกันง่าย ๆ เป็นคำที่ยืมไปจากภาษาชาวบ้าน ที่ชาวบ้านเขาใช้กันอยู่เป็นประจำ เอาไปใช้เป็นภาษาพูดในทางธรรมมะในทางศาสนา ข้อนี้บางคนก็ยังไม่ทราบนะ ขอให้ทราบเสียเดี๋ยวนี้เลย ชื่อธรรมมะ ๆ ในทางธรรมน่ะ แต่ละคำหรือส่วน ๆ ๆ ใหญ่ มันยืมไปจากภาษาชาวบ้านที่พูดกันอยู่ในบ้าน แต่ไปให้ความหมายใหม่ในทางจิตทางใจ โน่นภาษาชาวบ้านเขาพูดกันอยู่แต่ในทางเรื่องวัตถุ ยืมไปใช้แล้วก็ให้ความหมายเป็นเรื่องทางจิตใจ
นั่นแหละกิเลสนี่ ไปพูดอยู่ที่บ้านก็คือของสกปรก แต่พอไปใช้ทางธรรมะนู่น มันหมายถึงสกปรกทางจิตใจ สกปรกแก่จิตใจ หรือถ้าจะยืมไปใช้ในความหมายอื่น ๆ ที่มันเนื่องกัน เช่นว่ากิเลสเป็นไฟ แล้วความหมายของไฟธรรมดานี้ เอาไปใช้ในความหมายของไฟคือกิเลส ก็เป็นของร้อน ราคะเป็นไฟ โทสะเป็นไฟ โมหะเป็นไฟ ในเมื่อมันแสดงอาการที่ร้อน บางทีก็แสดงอาการไปในทางผูกพันเหมือนกัน ผูกมัดผูกพัน ก็เรียกไอ้ เป็นเครื่องผูกพัน บางทีก็แสดงอาการเป็นไปในทางท่วมทับ ๆ บีบคั้นหรือท่วมทับ มีหลายอย่างหลายอาการ ที่เป็นอาการของสิ่งที่เรียกว่ากิเลส ที่ทำอันตรายจิตใจ
เมื่อสิ่งแวดล้อมชีวิต มันแวดล้อมไปในทางที่จะให้เกิดกิเลส กิเลสมันก็เกิดขึ้นมาเยอะแยะเลย ปรากฏออกมา ปรากฏออกมา ปรากฏทางจิตใจ แล้วก็ออกมาทางวาจาทางกายต่อไป ส่วนนี้ก็มักจะเรียกกันว่ากรรม คือมันเป็นการกระทำออกมาอีกชั้นหนึ่งทางกายทางวาจา แต่ที่ไม่เรียกว่ากรรมก็ได้ คือว่าเป็น เรียกว่าไอ้กิเลส ที่เรียกว่ากิเลส ที่ แห่ง กิเลสของกรรม กิเลสของการกระทำ
ถ้าว่าไม่มีกิเลส ไม่มีปัญหาอะไร ไม่ต้องการธรรมมะ ไม่ต้องการอะไรอีกเลย ไม่ต้องมาศึกษา ไม่เกิดระบบการศึกษา ไอ้ ศีล สมาธิ ปัญญา ก็ไม่ต้องเกิดก็ได้ ถ้ามันไม่มีกิเลสนี่ คิดดูให้ดีเถิด ถ้าสิ่งที่เรียกว่ากิเลสไม่ได้เกิดขึ้นทำร้ายมนุษย์ มันก็ไม่ต้องเกิดศาสนา โดยเฉพาะพุทธศาสนา แต่นี้กิเลสมันเกิดขึ้นแล้วก็มันทำร้ายอย่าง ๆ ร้าย ๆ แรง เมื่อมนุษย์ทนไม่ได้ ก็ต้องหาทางหาวิธีอะไรที่จะระงับกิเลสที่เกิดขึ้น หรือที่ดีกว่านั้นก็คือป้องกัน ๆ ไม่ให้กิเลสเกิดขึ้น
ที่จริงป้องกันไม่ให้กิเลสเกิดขึ้น นั่นแหละดี ดีกว่า หรือดี ๆ ที่สุด เพราะถ้ากิเลสเกิดขึ้นแล้ว มันเป็นทุกข์ มันจะดับกันโกลาหล แม้จะดับได้ก็โกลาหล เดือดร้อนวุ่นวาย ป้องกันไม่ให้เกิดนี่ดีที่สุด ที่ควรจะทราบคือมันเป็นของธรรมดา ๆ ๆ ที่สุด คือจิตที่ได้รับสิ่งแวดล้อมอย่างนั้นแล้ว แล้วจิตนั้นไม่มีปัญญา ไม่มีความรู้ ไม่มีปัญญา มันก็ต้องเกิดนะ มันก็ต้องเกิดกิเลส ถ้าจิตได้รับการฝึกฝนดี มันก็ไม่เกิดมันก็คุ้มครองป้องกันไว้ได้ เรื่องมันก็มาก เรื่องมันก็มาก
ทีนี้เรามาพูดกันถึงเรื่องกิเลสเกิดขึ้นอย่างไร เรื่องที่จะต้องรู้เป็นพื้นฐาน ก็คือเรื่องอายตนะ อายตนะนี้แปลว่า สิ่งที่จะรู้จัก ที่ ๆ อาจจะรู้จักได้ ที่เรารู้จักได้ ติดต่อได้ รู้จักได้นี่ ที่มีอยู่ฝ่ายข้างในเรียกว่าอายตนะภายใน ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พร้อมทั้งระบบประสาท ต้องอย่า ๆ ลืมว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โน่น มันไม่ได้มีเฉย ๆ มันมีระบบประสาทประจำ ๆ สำหรับทำความรู้สึกอยู่ทั้ง ๖ อย่าง
ประสาทตา ประสาทหู จมูก ลิ้น กาย นี่ชัดเจน แต่ส่วนใจนี้ ไม่นิยมเรียกว่าระบบประสาท แต่มันทำหน้าที่เหมือนกับระบบประสาท ผมก็เรียก คือรู้สึกได้ แต่เขาไม่เรียกกัน หรือเรียกกันเพียง ๕ อย่าง ก็ส่งผลไปที่จิตใจอีกทีหนึ่ง จิตใจก็รู้สึก เหมือนกับที่ว่าไอ้ ๕ อย่างนี้มันรู้สึก ถ้าส่งไปให้ รู้จักอายตนะภายใน ๖ อย่างไว้เป็นเรื่องแรก
เรื่องที่ ๒ อายตนะภายนอกที่มันคู่กันกับอายตนะภายในนั้นแหละ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ สำหรับตารู้สึกเรียกว่ารูป สำหรับหูรู้สึกเรียกว่าเสียง สำหรับจมูกรู้สึกเรียกว่ากลิ่น สำหรับลิ้นจะรู้สึกเรียกว่ารส สำหรับกายผิวกายทั่วไปจะรู้สึกก็เรียกว่าโผฏฐัพพะ ที่ใจ ๆ จะรู้สึกก็เรียกว่าธรรมารมณ์ เพราะมันเป็นอารมณ์ที่จะเกิดขึ้นข้างนอก หรือว่าคล้ายกับข้างนอกเข้าไปกระทบข้างใน นี่สองชุด สอง ๆ ชุดเท่านั้นแหละ อายตนะภายในและอายตนะภายนอก
ทีนี้ชุดที่ ๓ ก็คือวิญญาณ วิญญาณก็มี ๖ อีกนั่นแหละ วิญญาณทางตา วิญญาณทางหู วิญญาณทางจมูก ตามหลักพระบาลีก็ว่า เมื่อรูปกระทบตา มีรูปมากระทบตา ก็เกิดจักขุวิญญาณหรือวิญญาณทางตา รู้แจ้งทางตา เสียงมากระทบหูเกิดโสตวิญญาณ วิญญาณทางหู กลิ่นมากระทบจมูกก็เรียกว่าวิญญาณทางจมูก ฆานวิญญาณ มากระทบทางลิ้นก็คือวิญญาณทางลิ้น เรียกว่าชิวหาวิญญาณ กระทบทางกายก็เรียกว่าโผฏฐัพพะ เรียกความรู้สึกเกิดขึ้นเรียกว่ากายวิญญาณ กระทบจิตเกิดขึ้นรู้สึกก็เรียกว่ามโนวิญญาณ ดังนั้นวิญญาณก็หกอีกเหมือนกัน
อาศัยการกระทบของอายตนะภายในและภายนอก สิ่งที่เรียกว่าวิญญาณก็เกิดขึ้น คือมันไม่ได้เกิดอยู่ก่อน คำนี้ภาษาบาลีเขาใช้คำว่าเกิดขึ้น อุปฺปชฺชติ เกิดขึ้น อาศัยตาด้วย อาศัยรูปด้วย ถึงกันอยู่ อุปฺปชฺชติ จกฺขุวิฺาณ นี่บาลีว่าอย่างนี้ อาศัยอายตนะข้างในกับอายตนะข้างนอกถึงกันเข้า ก็เกิดสิ่งที่เรียกว่าวิญญาณ ก็นับได้เป็น ๖ ทำอายะ อ่า, อายตนะภายใน ภายนอก จึงมีวิญญาณ ๖
เมื่อมีวิญญาณอย่างนี้แล้ว มันรู้สึกอยู่อย่างนี้แล้ว ก็จะมีสิ่งที่เรียกว่าผัสสะ คืออายตนะภายใน อายตนะภายนอก กับวิญญาณ มันรู้สึกกันอยู่ ๓ อย่างนี้ทำงานร่วมกันอยู่ ก็หมายความว่าอายตนะภายในรู้สึกต่ออายตนะภายนอกโดยวิญญาณที่เกิดขึ้น ติณฺณ ธมฺมาน สงฺคติ ผสฺโส ความถึงกันอยู่แห่งสิ่งทั้ง ๓ นี้เรียกว่าผัสสะ มันก็มี ๖ อีกนั่นแหละ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยหลักจักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส
ขอให้สังเกตดูให้ดีว่า สิ่งที่เรียกว่าสัมผัสนั้น มันสัมผัสของ ๓ อย่าง เดี๋ยวจะเข้าใจเอาเองง่าย ๆ พูดกันลวก ๆ ๆ กันว่า ๆ ตาสัมผัสกับรูปก็ให้เรียกว่า ตาถึงกับรูปเรียกว่าจักขุสัมผัส นี้ไม่ถูกต้อง สัมผัสก็ต้อง ๓ อย่าง อายตนะภายใน อายตนะภายนอก และวิญญาณ ๓ อย่างถึงกันอยู่และก็ทำงานร่วมกันอยู่ อย่าพูดเอาง่าย ๆ ว่า ตาเห็นรูปเรียกว่าจักขุสัมผัส ต้องเกิดวิญญาณก่อน แล้ววิญญาณทำงานอยู่ที่นั่นด้วย อาศัยตารู้แจ้ง รูป จึงมีสิ่งที่เรียกว่าผัสสะ ผัสสะมันก็มี ๖ อีกแหละ เพราะว่าที่ให้เกิดผัสสะมันมี ๖ นะ เอ้า, ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ทีนี้ก็มีผลกระท้อนออกมาเป็นสิ่งที่ ๕ นี่ คือเวทนา เวทนา ผสฺสปจฺจยา เวทนา เมื่อมีผัสสะเป็นปัจจัยเวทนาก็เกิดขึ้น เมื่อมีผัสสะทางไหนก็เวทนาก็เกิดทางนั้น เวทะ เวทนาก็มี ๖ ตามจำนวนของอายตนะของผัสสะ มันจึง ๖ กันทั้ง ๕ ชุด ชุดละ ๖ ๕ ชุดก็เป็น ๓๐ แจกเรียงตัวได้เป็น ๓๐ แจกจัดเป็นหมวด ๆ มีเพียง ๕ หมวด ๕ ๖ ๓๐ รู้จักไว้ให้ดี ไอ้นั่นแหละพื้นฐานหรือว่าที่ตั้ง หรือว่าแล้วแต่จะเรียกที่มันจะเกิดสิ่งที่เรียกว่ากิเลส รู้จักให้ดีเหมือนกับว่าเรารู้จักไอ้สิ่งของเหล่านี้
อายตนะภายในคืออะไร อายตนะภายนอกคืออะไร วิญญาณคืออะไร ผัสสะคืออะไร เวทนาคืออะไรนี่ ทั้งหมดนี้เรียกรวมว่าอายตนิกธรรม คือว่าสิ่งที่เนื่องกันอยู่กับอายตนะ เรื่องนี้จะใช้กับ ๆ ๆ เรื่องสำคัญ ๆ ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับทางจิตใจ เพราะว่ามันเป็นเรื่องสำหรับจิตใจ ที่จะเกิด ที่จะดับ ที่จะตั้ง ที่อะไรก็ตาม ถ้าเรารู้จักอายตนิกธรรม ๕ หมวด ๓๐ อย่างนี้แล้ว ก็จะเรียกว่ารู้จักตัวชีวิต รู้จักตัวชีวิตเพียงพอที่จะ อย่างเพียงพอที่จะ ตัวชีวิต คืออายตนิกธรรม ๕ หมวด จงรู้จักเหมือนกับรู้จักสิ่งของเหล่านี้เลย อย่าเพียงแต่จำได้แล้วไม่รู้อะไรอยู่ที่ไหน เรียนในโรงเรียนน่ะมัน มันจะท่องชื่อจำได้แล้วไม่รู้อะไรอยู่ที่ไหน
ขอให้รู้เหมือนกับเรารู้จักทุก ๆ สิ่งที่มีอยู่รอบตัวเรานะ หมวดที่ ๑ คืออายตนะภายในเป็นอย่างไร รู้จักมันให้ดี ๆ หมวดที่ ๒ อายตนะภายนอก รู้ให้ดีหรือให้ชัด แล้วก็หมวดวิญญาณ แล้วก็หมวดผัสสะ แล้วก็หมวดเวทนา ทำความคุ้นเคยกับมันแล้วเข้าใจจึงดีทีสุด นั่นแหละจะเป็นเหตุให้รู้ธรรมมะต่อไปได้ดี เพราะมันรู้จักพื้นฐานที่ดี ที่ตั้งที่ดี ที่เกิดที่ดี อะไรที่ดี
เกิดเวทนาแล้วเข้าใจนะ เข้าใจแล้วนะว่าเกิดเวทนาอย่างไร อายตนะภายใน อายตนะภายนอก วิญญาณ ผัสสะ เวทนา พอมีเวทนานี่เอาแล้วนี่ ตั้งต้นของปัญหาอยู่ที่นี่ เรียกว่าไอ้ตัวโลกมันเข้ามาหาเราแล้ว ไอ้โลกเข้ามาทางอายตนะ เป็นเวทนาเกิดขึ้น โลกมาสัมผัสเรา เวทนานี่ก็มีเป็น ๓ ชนิด เวทนาเป็นสุข เวทนาเป็นทุกข์ เวทนาเป็นอทุกขมสุข พูดเป็นวิทยาศาสตร์หน่อยก็ว่า เวทนาที่เป็นบวก เวทนาที่เป็นลบ และเวทนาที่ไม่แน่ว่าจะเป็นบวกหรือเป็นลบ คือเข้าใจไม่ได้
รู้จักเวทนาทั้ง ๓ เสียให้ดี ใน ๆ ๆ ฐานะเป็น ที่มันสัมผัสแล้วเกิดเวทนา เกิดอยู่กับเราตลอดเวลา ส่วนมากมันก็เฉย นี่มัน ๆ ๆ ๆ ไม่รู้ไม่ชี้กันเสีย แต่ถ้าไอ้ส่วนที่มันสำคัญ ไม่รู้ไม่ชี้ไม่ได้หรอก มัน ๆ จะมีเรื่องที่รุนแรง เดี๋ยวก่อน ตรงนี้พูดให้ใจหน่อย เช่นว่าตาเห็นรูปคนนี้ ซึ่งเราเห็นเฉย ๆ มันเป็นอทุกขมสุขเวทนา ยังไม่ถึงกับว่าเป็นสุขหรือชอบใจ เป็นทุกข์ไม่ชอบใจ ส่วนในกรณีที่เป็น ๆ อทุกขมสุขเวทนา มันคล้าย ๆ กับไม่ ๆ มีเรื่อง แต่มันมีเรื่องนะ มีเรื่องอยู่ลึก คือโง่ไม่รู้นั่นแหละ โมหะ
ถ้ามันเป็นสุขเวทนา ในฐานะที่เรียกว่าเป็นบวก ก็เกิดตัณหา เวทนาเกิดตัณหา ถ้าเวทนาเป็นบวกคือสุข มันก็เกิดตัณหา อยากจะเอา อยากจะเอา อยากจะมี อยากจะยึดครอง อยากจะสะสม อยากจะเก็บไว้ให้มาก นี่ ๆ ถ้าไอ้เวทนานั้นมันเป็นทุกข์ คือเป็นลบ มันก็เกิดตัณหาที่ตรงกันข้าม คือตัณหาที่จะไม่เอา ที่จะไม่เอา ที่จะผลักออกไป ที่อยากจะฆ่าเสียทำลายเสีย มันก็เป็นอีกพวกหนึ่ง ถ้ามันไม่ปรากฏเป็นสุขหรือทุกข์ แต่มันก็อดสงสัยไม่ได้ว่าจะต้องมีอะไร มันก็สนใจอยู่ด้วยเหมือนกัน แม้ว่าจะไม่สนใจแล้ว มันก็โง่เท่าเดิม เรียกว่าโง่เท่าเดิม หรือเพิ่มความโง่โดยไม่รู้สึกตัว
เอ้า, นี่กิเลสแหละ ฟังให้ดีสิ พอตัณหามันอยากจะเอา ตัณหาชนิดมันอยากจะเอา นี่หมายความว่ามันโง่มาตลอดสาย มันไม่มีความรู้ธรรมมะนะมัน ตัณหามันจึงเกิด ถ้ามันมีความรู้ทางธรรมมะแล้ว ผัสสะมันไม่ให้เกิด เวทนาโง่ ตัณหาโง่ ไม่เกิด เดี๋ยวนี้มันโง่มาตั้งแต่อายตนะกระทบกัน มีวิญญาณ มีผัสสะ มีเวทนาโง่ มาถึงนี่ก็เป็นความอยากที่โง่ ความอยากที่โง่
นี้ประเภทที่ ๑ ก็อยากเอา ดึงเข้ามาหาตัว เป็นกิเลสประเภทดึงเข้ามาหาตัว ก็คือกิเลสประเภทที่ ๑ ราคะก็เรียก โลภะก็เรียก บทที่ ๑ นี่ดึงเข้ามาหาตัว โลภะก็จะเอาเข้ามาหาตัว ในความหมายเดียวกันกับราคะ แต่ราคะนี้ไว้ใช้ในกรณีที่มันรุนแรงมาก รุนแรงมาก โดยเฉพาะเป็นไปในทางกาม ไอ้โลภะมันกว้าง ๆทั่วไป แต่ก็เหมือนกันแหละ เป็นพวกโลภะด้วยกันแหละ ราคะก็เป็นพวกโลภะ ถ้าจัดเอาแต่แม่บทของมันก็คือบท หมวดโลภะ นี่กิเลสประเภท ๆ เอา ประเภทดึงเข้ามา เกิด เรียกว่าราคะบ้าง โลภะบ้าง
ถ้าเวทะ ถ้าหากเวทนาไม่ถูกใจ คือเป็นเวทนาลบ เวทนาทุกข์ ก็เกิดตัณหาชนิดที่จะผลักออก คือจะทำลาย จะทำลายเสีย หรือผลักออก ๆ ไม่อยากจะมาเผชิญหน้า นี่เป็นเวทนาฝ่ายลบ ก็เกิดตัญหาฝ่ายลบ ก็เกิดกิเลสประเภทที่ ๒ คือโทสะ แต่บางทีก็เรียกว่าโกธะก็มี โทสะหรือโกธะ กิเลสประเภทลบนี้ ผลักออกหรือทำลาย กิเลสประเภท เอ่อ, หมวดที่ ๒ คือโทสะหรือโกธะ ทำลาย
ทีนี้ที่ ๓ ถ้ามันไม่ชัดว่าสุขหรือทุกข์ ไม่ชัดว่าบวกหรือลบ แต่มันก็มีที่ตั้งแห่งความสงสัย ไอ้ความสงสัยนั้นแหละทำให้ผูกพัน เข้าไปผูกพัน รับเอามาเป็นสิ่งที่ผูกพัน โดยหวังอยู่ว่า มันจะมีอะไรที่จะดีหรือจะมีประโยชน์ ดังนั้นก็เกิดอาการหมุน เรียกว่าหมุนอยู่รอบ ๆ ดีกว่า คือไม่ดึงเข้ามาหรือไม่ผลักออกไป แต่มันหมุนอยู่รอบ ๆ วิ่งตามอยู่รอบ ๆ
คุณจำไว้ ๓ คำ กิเลสประเภทที่ ๑ ดึงเข้ามา ดึงเข้ามา ก็มันเป็นบวก นี่มันชอบก็ต้องการ กิเลสประเภทที่ ๒ ผลักออกไป ก็มันไม่ต้องการ เป็นกิเลสประเภทดันออก ประเภทที่ ๓ ไม่รู้อะไรกันแน่ ก็วิ่งตาม คือพัวพันยึดมั่นเหมือนกัน เรียกว่ายึดมั่นด้วยกันทั้ง ๓ ชนิด แต่มันยึดมั่นคนละแบบ ราคะ หมวดที่ ๑ มีอาการ จับเอา ยึดเอา ฉวยเอา หมวดที่ ๒ โทสะ จะทำลายอยู่นั่นแหละ หมวดที่ ๓ ก็มัวเมา สมมติให้เป็นภาษารูปธรรมก็ว่า อันหนึ่งดูดเข้ามาหาตัว อันหนึ่งผลักออกไป อันหนึ่งไม่รู้จะทำอย่างไร ก็วิ่งตามอยู่รอบ ๆ
นี่คือกิเลส มาจากเวทนา เวทนา เกิดตัณหา ตัณหาแปลว่าความอยาก ดังนั้นขอให้รู้ว่า คำ ๆ ว่าอยาก ๆ ในที่นี้ มันอยากด้วยความโง่ ความต้องการด้วยความโง่ จึงจะเรียกว่าตัณหาหรือโลภะ แต่ถ้ามีความประสงค์หรือต้องการด้วยสติปัญญา ที่จะทำสิ่งที่ดี ที่เป็นความถูกต้อง ที่เป็นความรอดออกไปได้ล่ะก็ ความอยากชนิดนี้ไม่เรียกว่าตัณหา เรียกอย่างอื่น เรียกว่าสังกัปปะ สังกัปปะ มีความประสงค์ที่จะทำให้ดำเนินไปจนถึงผลที่ดี ผลที่ดี
แต่ได้ยินว่า ที่สอนกันตามโรงธรรมศาลาวัดนี่ มันพูดเสียว่า ถ้า ๆ ความอยากแล้วเป็นโล เป็นโลภะเป็นราคะหมด เป็นตัณหาหมด ถ้ามีความอยาก เป็นโลภะหมด แล้วเที่ยวสอนกันเสียอย่างนี้ ไม่แยกว่าอยากด้วยอะไร ผมบอกให้รู้นะว่า ผมกำลังบอกให้รู้ว่าแยกกัน ถ้าว่ามันอยากหรือตัณหาน่ะ มันอยากด้วยความโง่มาแต่ต้นโน้นแล้ว มันโง่นี่ ความอยากนั้นเรียกว่าตัณหาก็ได้ เรียกว่าโลภะก็ได้ แต่ถ้ามันอยากด้วยสติปัญญา เห็นว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำ ควรทำ ๆ ให้มี เช่น ๆ ว่าอยากจะดับทุกข์อย่างนี้ ความอยากอย่างนี้ไม่ใช่ตัณหา ถ้าจะยืมไปใช้ ก็เรียกว่ายืมไปใช้ เป็นโวหารเล่น ๆ เรียกว่าสังกัปปะ อยากในทางที่จะทำให้มันดีขึ้น
ภาษาอังกฤษเขาก็รู้จักแยก เขาแปลกันถูกต้องน่ะ ที่คนมันแปลถูกต้อง ถ้าเป็นตัณหาอยากด้วยความโง่นี้ มันก็เรียกว่า Craving บ้าง เรียกว่า Desirer บ้าง นั่นอยากด้วยความโง่ แต่ถ้าความอยากหรือความประสงค์ด้วยสติปัญญาจะทำให้เกิดประโยชน์ขึ้นมา มันก็เรียก Aspiration Aspirate Aspiration นั่นน่ะ มันอยากหรือต้องการที่จะทำให้เกิดขึ้นมา ให้เป็นไปจนถึงที่สุดแห่งความปรารถนา ด้วยความที่ควรจะต้องการ อย่างนี้เรียกในภาษาบาลีหรือภาษาไทยเราก็ได้ว่า สังกัปปะ
สพฺเพ ปูเรนฺตุ สงฺกปฺปา คุณว่าอยู่ทุกวันนั้นน่ะ ไป หายใจออกให้ยถา อนุโมทนาทาน สพฺเพ ปูเรนฺตุ สงฺกปฺปา จนฺโท ปณฺณรโส ยถา มณิ โชติรโส ยถา ไอ้สังกัปปา สังกัปปาตัวนั้นคือความอยากที่อยากประสงค์ด้วยปัญญา ไม่เรียกว่าตัณหา ไม่เรียกว่าโลภะ เป็นสิ่งที่ควรมี เอามาเป็นองค์มรรคที่ ๒ สัมมาสังกัปปะ ความอยากหรือความประสงค์ที่ถูกต้อง ที่ถูกที่ควร ดังนั้นเอาออกไป ไม่ใช่กิเลส นี้มันก็เหลือแต่โลภะกับราคะนี่เป็นกิเลส
ได้ ๓ ๓ ๓ เอ่อ, ๓ ชนิด หมวดโลภะ ดูดเข้ามา หมวดโทสะ ผลักออกไป อาการธรรมชาติเหมือนที่เรียก Push–Pull Pull ดึงเข้ามา Push ดึงออกไป ถ้าโง่เป็นโมหะ วิ่งอยู่รอบ ๆ นี่พูดอย่างนี้เพื่อจะจำได้ง่าย ๆ นี่จำกันได้ง่าย ๆ มันต้องมาจากอวิชชาคือโง่ทั้ง ๓ พวก ถ้ามันไม่ ถ้าไม่ ๆ มาจากอวิชชา มาจากปัญญาไม่เรียกว่ากิเลส ไม่เรียกว่าตัณหา เป็นความประสงค์ที่ควรจะมี ควรจะทำ
พูดให้จำง่ายอย่างหนึ่งก็เปรียบเหมือนไฟ ราคะ ๆ เปรียบ ๆ เสมือนไฟที่เปียก ไฟที่เปียก ถ้าพูดอย่างภาษาธรรมมะ ภาษาจิต ภาษาวิญญาณ ก็พูดได้ ไฟที่เปียก โทสะ โกธะนี้เป็นไฟที่แห้ง โมหะนี้เป็นไฟที่มืด ไฟที่มืด สังเกตดูเถิด มันต่างกันอย่างไร ไฟเปียกมันจะให้เกิดผลอย่างไร ไฟแห้งเกิดผลอย่างไร ไฟมืดจะให้เกิดผลอย่างไร แต่แล้วก็เป็นไฟ คือทำความทุกด้วยกันทั้งนั้นแหละ ดังนั้นก็เรียกมารวมกันเสียว่ากิเลส ทั้ง ราคะ โทสะ โมหะ ไฟเปียก หรือไฟแห้ง หรือไฟมืด ก็เป็นไฟทั้งนั้นแหละ เป็นปัญหาคือให้เกิดความทุกข์
นี่คือตัวกิเลส ตัวกิเลส คือตัณหาที่แจกไปตามอาการ ๓ อย่างนั้น จะอธิบายให้เข้ารูปก็ว่า กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ก็ได้เหมือนกัน แต่ก็อย่าอธิบายเอง คงจะไม่ถูก เดี๋ยวนี้บอกให้รู้ว่า ไอ้ตัณหาน่ะ มันแยกไปได้อย่างนี้ ตัณหาจะเอา ตัณหาจะทำลาย ตัณหาจะ ๆ มัวเมาวนเวียนอยู่ ราคะ โทสะ โมหะ ๓ คำจำให้มั่น นี่เรียกว่ากิเลส เป็นของธรรมดาที่สุดใช่ไหม พอเรื่องมันเกิดขึ้นในลักษณะที่จะให้โง่แล้วอยากจะเอา กิเลสประเภทที่ ๑ พออยากจะทำลายก็ประเภทที่ ๒ ไม่รู้จะทำอย่างไรดีก็เป็นประเภทที่ ๓ เรียกว่ากิเลส ๆ เสมอกัน นี้เป็นกิเลสประเภทสมบูรณ์ สมบูรณ์ของกิเลส และในลักษณะชั้นต้นหรือธรรมดา ๆ รู้จักให้ดี รู้จักให้เหมือนรู้จักวัตถุ
ทีนี้เมื่อเกิดกิเลสแล้วน่ะ เมื่อเกิดกิเลสแล้วน่ะ หรือว่าแม้เรื่องที่ผ่านไปแล้วก็ตาม มันทิ้งไอ้สิ่งหนึ่งเหลือไว้ เรียกว่าความเคยชินแห่งกิเลส คือความเคยชินที่จะเกิดกิเลสอีก คือนี่ที่จริงเป็นความเคยชินที่จะเกิดกิเลสอีก แต่บางพวกเขาเรียกมันว่ากิเลสอีกเหมือนกัน เรียกว่ากิเลสนอนในสันดาน ที่จริงมันเป็นเพียงความเคยชินที่เก็บไว้ใน ๆ ๆ ขอบวงของจิตในสันดาน เพื่อจะเกิดอย่างนั้นอีก นี่ก็เรียกว่าอนุสัย อนุสัย เกิดกิเลสทุกที จะสร้างอนุสัยไว้หน่วยหนึ่งทุกที เกิดกิเลสทุกทีหรือทุกหน่วยก็ตาม มันจะสร้างความเคยชินที่จะเกิดกิเลส ไอ้หน่วยหนึ่งนี้เรียกว่าอนุสัยประเภทความเคยชินแห่งกิเลสเก็บไว้ ๆ ถ้าเราเกิดกิเลสมากหลายหน อนุสัยนี้ก็มาก ๆ ๆ เก็บไว้ในสันดานมาก
กิเลสประเภทอนุสัย ยอมให้เรียกชื่อว่ากิเลสประเภทอนุสัย คือความเคยชินแห่งกิเลส ถ้าเรียกให้ถูกตามเหตุผลหรือทางวิทยาศาตร์สักหน่อย ก็เรียกว่าความเคยชินแห่งกิเลส แต่ถ้าเรียกอย่างที่พูดกันชินไว้ตามศาลาวัดที่เรียกว่า อนุสัยนี้เรียกว่ากิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน เขาจัดมันเป็นกิเลสเต็มความหมาย แต่ผมอยากจะเสนอแนะว่า มันเป็นเพียงความเคยชินแห่งกิเลส คือพร้อมที่จะเกิดขึ้นมาโดยง่าย พร้อมที่จะเกิดขึ้นมาโดยง่าย
ดังนั้นใครเคยเกิดกิเลสมาก เคยเกิดกิเลสมาก ก็เก็บอนุสัยไว้มาก ในสันดานเต็มไปด้วยอนุสัย แล้วอนุสัยนั้นแหละ มันพร้อมที่จะดันกลับออกมา ถ้าได้โอกาส ถ้าได้อารมณ์ นี่ไปที่ไหนเกิดโอกาสเกิดอารมณ์ที่มายั่วไอ้อนุสัย มันก็ไฟ ขั้วบวกขั้วลบที่มันจะกระโดดออกมาหาไอ้อารมณ์ คือเกิดกิเลสใหม่อีก นี้กิเลสที่ไหลออก ไหลกลับออก กิเลสอย่างนี้เราเรียกชื่อว่าอาสวะ อาสวะ กิเลสไหลออก
ที่ ๑ กิเลสเฉย ๆ เกิดขึ้น แล้วที่ ๒ กิเลสที่เก็บไว้เป็นความเคยชิน เก็บไว้ในสันดาน แล้วกิเลสที่ ๓ ที่มันมาก อนุสัยมากเข้า ๆ มันเป็นกิเลสที่จะไหลกลับออกมา เมื่อมีโอกาส เมื่อมีอารมณ์ พอมีโอกาส พอมีอารมณ์ เราก็เกิดกิเลสง่าย รักง่าย โกรธง่าย เร็วจนบังคับกันไม่หวาดไหว ความเคยชินที่จะราคะ ความเคยชินที่จะโทสะ ความเคยชินที่จะโมหะ มันมากและเกิดได้เร็วมาก มันก็เกิด ถ้าเก็บอนุสัยไว้มาก ก็เกิดง่ายเกิดเร็ว ก็มีปัญหาสิ ยุ่งยากลำบาก
ทีนี้มันมีทางที่จะ ๆ ดับอนุสัย กิเลสที่ ๆ เคยชินที่เก็บไว้นั่นแหละ มันมีทางที่จะดับโดย ๒ วิธีอย่างง่าย ๒ วิธีดีกว่า หายวิธีที่ ๑ เป็นเหนือวิธีบังคับ บังคับด้วยอำนาจของสมาธิอะไรก็ตามว่า ไม่ ๆ ให้มันเกิดกิเลสอีก คอยบังคับไว้ได้ไม่ให้มันเกิดกิเลสอีก กิเลสมันควรจะเกิด ก็บังคับไว้ได้ไม่ให้มันเกิดกิเลสอีก มันก็ลด ๆ อนุสัยลงทุกทีเหมือนกัน ถ้าเราบังคับไม่ให้เกิดกิเลสได้อีกต่อไปและบ่อย ๆ ๆ ๆ ๆ ให้คาดว่า อนุสัยมันก็ลด ลดลง ๆ ๆ จนกระทั่งหมดก็ได้ นี่ทางหนึ่งนะ แปลว่าอย่าให้เกิดกิเลส คือไม่ ๆ เพิ่มความเคยชินนั้นแหละ ความเคยชินมันก็ลด มีอีกวิธีหนึ่งก็คือวิปัสสนาญาณ วิปัสสนาญาณที่แท้จริง ที่ถูกต้อง สร้างขึ้นมา มันก็ละลายอนุสัย ทำลายอนุสัยให้หมดไปได้เหมือนกัน บรรลุมรรคผลได้ นี่อนุสัยไม่มีแล้ว ก็ไม่มีอาสวะแหละ มันไม่มีอะไรจะไหลออกมา
ดังนั้นพยายามบังคับอย่าให้กิเลสเกิดเถิด อนุสัยที่สะสมไว้มันก็ลดเหมือนกัน บังคับให้ได้ครั้งหนึ่งก็อนุสัยก็ลดไปหน่วยหนึ่งเลย เก็บไว้หลายสิบหน่วยหลายร้อยหน่วย ลดมันด้วยว่า พอกิเลสมันควรจะเกิด มันควรจะเกิด บังคับไว้ได้ไม่ให้เกิด ลดอนุสัยหน่วยหนึ่ง อนุสัยก็ลด ๆ ๆ ลง ที่เก่งกว่านั้น ก็ทำวิปัสสนาเห็นแจ่มแจ้ง ทำลายอนุสัยลดลง ๆ จนหมด ทีนี้มันก็สิ้นอาสวะ เมื่อสิ้นความเคยชินของกิเลสที่เก็บไว้แล้ว มันก็สิ้นอาสวะที่จะไหลกลับออกมา
ดังนั้นเข้าใจกันง่าย ๆ ถึงประเภทกิเลสเกิดตามปกติ แล้วประเภทความเคยชินที่เก็บไว้ แล้วก็ที่มันจะไหลออกมา คำแรกเรียกว่ากิเลส คำที่ ๒ เรียกว่าอนุสัย คำที่ ๓ เรียกว่าอาสวะ คุณรู้จักกิเลสทั้ง ๓ ประเภท จัดการให้มันถูกเรื่อง อย่าหลับหูหลับตาเหมา ๆ พูด ๆ ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร รู้จักกิเลสชั้นแรก เกิดเป็นกิเลส ชั้นที่ ๒ เก็บไว้เป็นความเคยชินเรียกว่าอนุสัย ชั้น ๓ มันจะไหลกลับออกมาเรียกว่าอาสวะ
ถ้าว่าเก็บอนุสัยไว้มาก ๆ ๆ มันก็ความที่จะดันออก กลับออกมา มันก็มาก เหมือนกับเราเอาน้ำใส่ตุ่ม ตุ่มนั้นมีรูรั่วนิดหนึ่ง ถ้าใส่น้อยมันก็ดันออกน้อย แต่ถ้าเราใส่มากเต็มอัดกัน น้ำมันก็พุ่งแรง มันปรี่ออกมาเลยเต็มที่ นี่ก็มันอยู่ที่ว่า อนุสัยมันมากหรืออนุสัยมันน้อย ถ้าอนุสัยมันมากก็เหมือนกับอัดฉีด เป็นอยู่อย่าให้เกิดกิเลสเพิ่มเติม อนุสัยจะลด การประพฤติพรหมจรรย์เพื่อไม่ให้กิเลสเกิดขึ้นมาอีก อนุสัยมันจะลด แต่ที่จะลดกันอย่างจริงจังอย่างน่าบูชา ก็คือวิปัสสนาที่ถูกต้อง ลดอนุสัยหรืออนุสัยตัดอนุสัย ลดลง ๆ จนหมด หมดอนุสัยก็หมดกิเลส หมดกิเลสแล้วเป็นพระอริยเจ้า
ทีนี้เราประพฤติให้เป็นปรกติ อดกลั้นหรือบังคับไม่ให้มันเกิดกิเลส ในที่มันควรจะเกิด เรื่องมันพร้อมแล้วที่ควรจะเกิด แต่เราบังคับไว้ได้ทุกทีไป นี้วิเศษเหมือนกัน เป็นอุบายลดนิสัย ลดนิสัย ลดนิสัยข้างใน คือลดอนุสัย ไม่ใช่ คำนี้อนุสัยจะเรียกว่านิสัยก็พอใช้ได้เหมือนกัน แต่ที่ ๆ ถูกเรียกว่าอนุสัย คำนี้แปลว่าตามนอน นอนตามหรือตามนอน ติดตามที่ไปนอน ๆ อยู่ด้วย
นี่เรื่องของกิเลสเป็น ๓ ชั้นอยู่อย่างนี้ รู้จักกิเลสให้ถึงที่สุดของมันก็อย่างนี้ คุณทบทวนใหม่สิ อายตนะภายใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะภายนอก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มาถึงกันเข้าก็เกิดวิญญาณ ทั้ง ๓ อย่างนี้ถึงกันอยู่เรียกว่าผัสสะ พอมีผัสสะแล้วไม่ต้องสงสัยเลยว่ามีเวทนา ทีนี้เวทนานี้เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เป็นอทุกขมสุขบ้าง นั่นแหละ มันจึงเกิดเป็นกิเลส ๓ ประเภทขึ้นมา เวทนาบวก น่ารักน่าพอใจ เกิดกิเลสประเภทบวก เวทนาไม่น่ารักไม่น่าพอใจ เป็นทุกข์ ก็เกิดกิเลสประเภทลบ ถ้ามันไม่แน่ว่าบวกหรือลบ ก็เกิดกิเลสโง่ โมหะ
ศึกษาไว้ให้ดี จะได้กำหนดให้ดีว่า กิเลสไหนกำลังเกิดในความรู้สึก เพราะมันเกิดเมื่อไรก็ได้ เดินไปตรงนี้มีเกิดก็ได้ สะดุดขึ้นมาแล้วมันก็ไม่ ๆ ชอบใจ ก็เกิดกิเลสประเภทลบ ไปพบของน่ารักน่าพอใจ มันก็เกิดกิเลสประเภทบวก ถ้าไม่รู้ว่าอะไร มันก็ ๆ อยู่ในความจำในความสงสัย เพราะว่าตัวตนมันยังอยู่ ความรู้สึกว่าตัวตนมันยังมีอยู่ มันยังสงสัย ยังพยายามที่จะทำให้เป็นประโยชน์
ถ้าสิ้นกิเลสโดยสิ้นเชิง คือว่าไม่อาจจะเกิดได้อีกต่อไป ก็เป็นพระอรหันต์ ความสิ้นกิเลสนั้นเรียกว่านิพพาน ถ้ามันสิ้นชั่วคราว สิ้นชั่วคราว มันก็ยังเกิดใหม่ มันเกิดใหม่ ยังเกิดอีก ทีนี้สติเท่านั้นที่จะช่วยได้ ฝึกสติ ฝึกอานาปานสติ ให้เกิดสติมากพอ จะเป็นสติเป็นสัมปชัญญะ ไม่เปิดโอกาสให้มันเกิดกิเลส ถ้ามีสติพอไม่เกิดกิเลส หรือพอสักว่าเป็นผัสสะ ๆ แล้วก็รู้ตัวได้ทันทีว่า เอ้า, ผัสสะนี่ จะโง่กับมันไม่ได้
มันต้องศึกษาให้รู้เรื่องของกิเลส ไม่หลงให้โง่ในเรื่องผัสสะ อย่าให้เป็นผัสสะโง่ แล้วก็ไม่เป็นเวทนาโง่ คือไม่เป็นเวทนาที่หลอกลวง มันก็ไม่เกิดตัณหา ไม่เกิดตัณหาคือไม่เกิดกิเลส ในกรณีอย่างนี้เราเรียกว่ากิเลส แต่ในภาษาปฏิจจสมุปบาทเรียกว่าตัณหา ตัณหากับกิเลสนั้นมันแทนกันได้อย่างนี้ นี่ระบบ ๆ ทั้งหมดของกิเลสมีอยู่อย่างนี้ มาตามลำดับของอายตนิกธรรม พอมาถึงขั้นที่มีตัณหา ก็แยกออกเป็นกิเลสประเภทบวก ประเภทลบ ประเภทไม่บวกไม่ลบ ไม่ ๆ ๆ ๆ อาจจะรู้ว่าบวกหรือลบ
ความอยากที่จะทำบุญ อยากจะทำกุศล อยากจะฆ่ากิเลส นั้นไม่เรียกว่าตัณหา มีได้ คือปัญญา มีสติปัญญา มันก็ต้องไปหาเครื่องมือแหละ ถ้าจะฆ่ากิเลส หาเครื่องมือก็คือนี้ สติ ไปฝึกอานาปานสติไว้ให้เพียงพอ มันจะได้ธรรมมะหลายอย่างหลายประการ แต่ที่เราจะเอามาใช้กันจริง ๆ เป็นคู่มือ เอ่อ, คู่ ๆ หูคู่มือกันนี่ ๔ อย่างนี่สำคัญมาก ๔ อย่าง สติ ปัญญา แล้วก็สัมปชัญญะ แล้วก็สมาธิ
พอกิเลสจะเกิดทางตา สมมติว่าทางตา พร้อมที่จะเกิดทางตานะ สติระลึกได้ ระลึกได้ทันควันแบบสายฟ้าแลบ สติระ ๆ ลึกได้ โอ้, นี่มัน ๆ จะเกิดกิเลส มันก็ระลึกถึงปัญญา เช็ควิชาหรือความรู้ว่าข้อไหนที่จะ ๆ ทำลายไอ้กิเลสที่จะเกิดนี้ ก็เอาปัญญาข้อนั้นแหละ มาเผชิญหน้ากับอารมณ์ที่จะทำให้เกิดกิเลส เอาปัญญามาเพื่อเผชิญหน้ากับอารมณ์ที่จะให้เกิดกิเลส
ทีนี้ปัญญานั้นมันมีมากอย่าง เอามาเฉพาะอย่างเฉพาะที่มันจะเล่นงานกิเลสตัวนี้ ทำให้เข้มข้นในการที่จะแจ่มแจ้งที่จะรู้จักนี่ ก็คือว่าเปลี่ยนชื่อหน่อย ปัญญานี้เปลี่ยนชื่อหน่อยเรียกว่าสัมปชัญญะ คือสติก็ได้หรือปัญญาก็ได้ แล้วแต่จะเรียก ที่พร้อม ที่เหมาะ ที่เฉพาะ ที่จะจัดการกับกิเลสตัวนี้ เปรียบเหมือนกับว่าเรามีอาวุธเยอะแยะเก็บไว้ ที่จะใช้อาวุธ แต่พอถึงเรื่องที่จะใช้ เวลาจะใช้จริง ๆ มันใช้อย่างเดียวเท่านั้นแหละ มันไม่ได้ใช้ทุกอย่าง ปัญญานี้ศึกษาไว้มากหลาย ๆ อย่างหลาย ๆ เรื่อง แต่พอจะมาเล่นงานกิเลส ก็เอามาเฉพาะอันที่มันเหมาะกับกิเลสนี้ กิเลสคราวนี้ กิเลสอย่างนี้ ปัญญามาเปลี่ยนรูปเฉพาะ เป็นเฉพาะหน้าที่ อย่าง ๆ นี้ก็เรียกว่าสัมปชัญญะ รู้สึกตัวทั่วพร้อมอยู่ เผชิญกับอารมณ์ที่จะให้เกิดกิเลส
ทีนี้มันก็มีปัญหาว่า กำลังมันอ่อน กำลังจิตมันอ่อน กำลังปัญญามันก็อ่อน กำลังสัมปชัญญะมันก็อ่อน ทำให้กำลังมันเข้มแข็ง ๆ หนักขึ้นมา สมาธิ เอ้า, สมาธิ กำลังสมาธิเพิ่มเข้าไป ก็มีกำลัง ๆ มากพอ ถ้าปัญญามัน ๆ ๆ ไม่ ๆ มีกำลังของสมาธิแล้ว มัน ๆ ๆ ไม่อาจจะทำหน้าที่ ดังนั้นสมาธิกับปัญญาก็เป็นคู่หูคู่เกลอกัน ทำงานร่วมกัน
ปัญญาเปรียบเหมือนกับความคม ความคม ไอ้คมกริบคมอะไรคมนั่นแหละ แต่ถ้ามันไม่มีน้ำหนักที่จะกดความคมลงไป มันก็ไม่ตัดล่ะ มันก็ไม่ตัด มันก็คมเฉย ๆ คมไม่ตัด ต้องมีน้ำหนักให้มันกดความคมลงไป ที่เป็นน้ำหนักกดความคมลงไปนี่ เราเรียกว่าสมาธิ สมาธิต้องมีพอ จะมีน้ำหนักมากพอที่จะ ปัญญามันจะตัดลงไป ปัญญาที่เป็นสัมปชัญญะที่เลือกเอามาเฉพาะดีแล้วนั่นแหละ มันต้องเลือกเอามาให้ถูกกับเรื่องด้วย จะเอาปัญญาข้อไหนปัญญาชนิดไหน
ถ้าเราได้ศึกษาไว้ทั่วถึงไว้ดีแล้ว มีปัญญาอยู่ในสต๊อกที่เก็บมากทุกอย่างหรือรอบรู้ คือจะเปรียบอีกอย่างหนึ่ง ก็เปรียบเหมือนกับหยูกยารักษาโรค เราเอามาไว้เป็นตู้เลย ในตู้นั้นมียาทุกอย่าง แต่พอถึงคราวจะใช้ ใช้อย่างเดียวเท่านั้นแหละ ใครกินยาหมดตู้บ้าง มันบ้าอย่างนั้นเถิด มันกินเฉพาะไอ้ยาที่มันจะแก้โรคที่มันเกิดขึ้นเฉพาะนี่ มันจะกินเฉพาะยานั้นเท่านั้นแหละ นี่ก็เหมือนกันแหละ อาวุธก็เลือกมาใช้เฉพาะอย่าง ยาก็เลือกมาใช้เฉพาะอย่าง ก็มาเฉพาะอย่าง ออกมาจากหมู่ นี้ก็เรียกว่าสัมปชัญญะ มันก็คือปัญญานั่นเอง ปัญญาทั้งหมดกับอันปัญญาเฉพาะหน้าที่ เฉพาะหน้าที่ เรียกว่าสัมปชัญญะ สัม แปลว่าพร้อม ป แปลว่าทั่ว สัมปชัญญะ แปลว่ารู้ทั่วพร้อม คือเหมาะสมที่จะทำหน้าที่เฉพาะหน้าที่อันนี้
๔ เกลอจำไว้ แล้วก็มี พยายามมีเกลอ ๔ เกลอนี้ จะรอดที่จะเผชิญกิเลส มีเกลอ ๔ เกลอ สติ ปัญญา สัมปชัญญะ สมาธิ ถ้ามี ๔ เกลอนี้แล้วก็สามารถเผชิญกิเลส ทบทวนอีกที พออารมณ์ร้ายมันเกิดขึ้นมากระทบ จะเกิดกิเลส สติระลึกได้ทันทีว่า อะไร ๆ ๆ ๆ หรือว่าจะหยุดไว้ก่อน แล้วก็เอาปัญญามารู้ว่า มันเป็นเรื่องอะไร แล้วเอาปัญญาที่จะแก้ไข ก็เอาข้อนั้นมาเป็นยาเฉพาะ เฉพาะกิจเฉพาะเรื่อง เรียกว่าสัมปชัญญะ แล้วก็เพิ่มกำลังจิตที่เข้มแข็ง ๆ ๆ ลงไปในสัมปชัญญะ มันก็จัดการอารมณ์แล้วเงียบไป ไม่เกิดกิเลส ไม่เกิดกิเลส
นี่คู่ปรับของกิเลสมันเป็นอย่างนี้ จะต้องรู้ไว้ด้วยในฐานะที่จะ จะเล่นงานกับกิเลส จะต่อสู้กับกิเลส จะป้องกันกิเลส หรือจะทำลายกิเลสก็ตาม มี ๔ เกลอนี้ก็พอ ก็ ๆ เรียกว่ารอดตัวแล้ว ดังนั้นการที่จะฝึกอานาปานสติให้ได้เต็มที่ไว้ มันดีมากอย่างนี้ มีประโยชน์มากอย่างนี้ แต่ดูไม่ค่อยจะสนใจกันนัก ไม่ค่อยจะสนใจกันนัก เราก็พยายามจะให้ฝรั่งที่เซ็นเตอร์นู่นเขาสำเร็จในการฝึกอานาปานสติ รู้ไว้อย่างเดียว แต่มันก็ยาก มันไม่ใช่ ๆ ของทำได้ง่าย ๆ แต่ถ้าว่ามีความตั้งใจจริงพยายามจริง มันก็ได้ มันฝึกได้ จะมีใช้ มีใช้ในการป้องกันและระงับกิเลส
ถ้าเดี๋ยวนี้ไม่ได้ ก็ฝึกต่อไป แม้จะสึกลาสิกขาออกไปแล้ว ก็ฝึกต่อไปเถิด ให้มี ๔ เกลอนี้ มากขึ้น เข้มแข็งขึ้น เพียงพอขึ้น แล้วมันจะแก้ปัญหาสารพัดอย่างนั่นแหละ ไม่ใช่แต่เฉพาะกิเลสโดยตรงอย่างเดียว ปัญหาอื่น ๆ ก็มาแก้ไขได้ แต่ปัญหาแท้จริง ปัญหาไอ้ ๆ ตัวร้ายกาจคือกิเลส คือกิเลส ปัญหาอื่น ๆ ออกไปจากกิเลสทั้งนั้น ตัวกิเลสเป็นต้นตอแห่งปัญหา มันทำความเลวความร้ายได้ทุกอย่าง ก็คือกิเลส กิเลสประเภทบวก กิเลสประเภทลบ กิเลสประเภทไม่รู้ว่าบวกหรือลบ
ที่แล้วมาแต่หลัง เราไม่เคย ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยสนใจ ไม่เคยจัดระเบียบให้มัน ดังนั้นศึกษาเสียให้รู้ในเวลาที่บวชนี่ แล้วต่อไปก็จะสามารถพร้อมที่จะเผชิญกิเลส กำจัดกิเลส รุกไล่กิเลส อย่าให้เข้ามาเกี่ยวข้อง นี่ผมเรียกว่าเรื่องของกิเลส ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับกิเลส คืออายตนิกธรรม ๕ หมวด ๓๐ อย่าง รู้ไว้ว่านั่นแหละ มันจะเกิดกิเลสหรือมันจะดับกิเลส มันก็ต้องจัดการให้ถูกที่นะ เราฝึกเหมือนกับเขาฝึก ๆ กีฬาฝึกอะไรก็ตาม ให้มันเป็นการทำได้ง่าย ทำได้ถูกต้อง ทำได้สำเร็จ ต้องฝึกอยู่เสมอ ต้องฝึกอยู่เสมอ เมื่อฝึกอยู่เสมอ สติ สตินี้ก็ไว ๆ ทันเวลาทันเหตุการณ์
สตินี้ต้องไวทันเวลา ถ้าสายเสียแล้ว กิเลสครอบงำแล้วจึงรู้สึก อย่างนี้ก็แย่ แต่มันก็ยังต้องใช้สติ เพราะแม้กิเลสมันครอบงำเสียแล้ว ก็ต้องมีสติระลึกได้ว่า สติ ว่ากิเลสมันขี่คอกูแล้ว มันก็ต้องต่อสู้กันไป ก็ยังใช้สติ ใช้สัมปชัญญะ ใช้ปัญญา แต่มันใน ๆ ไอ้ ๆ ๔ เกลอนั้นแหละ แต่เราใช้อีกรูปแบบหนึ่ง ทีนี้ใช้ทำลายกิเลสที่ขึ้นมาขี่คอก็แล้ว จะป้องกันกิเลสไม่ให้เกิด มันก็ใช้อีกวิธีหนึ่ง กิเลสมาขี่คออยู่แล้ว ก็ใช้วิธีหนึ่ง เอากิเลสลง
นี่วันนี้เราไม่ได้พูดเรื่องอื่น พูดเรื่องกิเลส หมดเวลาแล้วชั่วโมงหนึ่ง วันนี้พูดเรื่องกิเลส กิเลส แล้วก็ความเคยชินแห่งกิเลสคืออนุสัย และความที่กิเลสมันพร้อมที่จะไหลกลับออกมา นี่เรียกว่าอาสวะ ใครเก็บอนุสัยอย่างไรไว้มาก คนนั้นจะมีกิเลสชนิดนั้นไว้ ๆ ๆ มาก ถ้ามันเก็บอนุสัยประเภทราคะไว้มาก ไอ้คนนั้นมันจะกำหนัดราคะทางกามเร็วมากเหลือเกิน เร็วเหลือประมาณ ถ้าคนไหนมันเก็บกิเลสประเภทโทสะหรือความโกรธไว้มาก ไอ้คนนั้นมันก็จะโกรธเร็วเหลือประมาณอีกเหมือนกัน นี่เรื่องของกิเลส นั้นเขามาเดือดร้อนมาหารือผม มันมีแต่ปัญหาเรื่องโกรธเร็ว ๆ มันเก็บอนุสัยโกรธไว้มาก
ตามธรรมดาคนก็มีอนุสัยประเภทกาม มีกิเลสประเภทกามราคะอะไรเกิดขึ้น มันก็เก็บกิเลสทีชื่อว่า ราคานุสัย ราคะอนุสัย ความเคยชินประเภทราคะ ถ้าว่าเก็บกิเลสประเภทโทสะไว้มาก เรียกว่าปฏิฆานุสัย ไอ้ราคะนี้เรียกตามตัวตาม ๆ ๆ เดิมว่าราคานุสัย แต่พอโทสะนี้ไปเรียกว่า ปฏิฆะ ปฏิฆานุสัย เรียกว่าเกิดกิเลสประเภทโมหะเก็บไว้มาก เก็บอนุสัยโมหะไว้มาก ก็เรียกว่าอวิชชานุสัย ราคานุสัย เคยชินที่จะเกิดราคะ ปฏิฆานุสัย เคยชินที่จะเกิดโทสะ อวิชชานุสัย มันเคยชินที่จะเกิดโมหะ นี่เพราะอนุสัยนี้เก็บไว้มาก เคยชินหรือรวดเร็วที่จะ เกิดราคะ เกิดโทสะ เกิดโมหะ
เรื่องของกิเลสเป็นอย่างนี้ คุณอย่าลืม อย่า ๆ ทิ้งไว้ที่นี่ เอาไปคิดไปใคร่ครวญ ทำความเข้าใจให้ดี แล้วปรับปรุงกับปัญหาของเราที่มีอยู่จริง เรามีปัญหาอย่างไร อะไรเป็นเจ้าเรือน ราคะเจ้าเรือน หรือโทสะเจ้าเรือน หรือโมหะเจ้าเรือน ไปปรับปรุงกันเสียใหม่ให้มันถูกกับเรื่อง แล้วพยายามลดอนุสัยด้วยการบังคับไม่ให้เกิดกิเลสอีก หรือถ้าดีกว่านั้นก็ทำวิปัสสนาให้แจ่มแจ้ง มันลดด้วยวิปัสสนา ลดด้วยการเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างแท้จริง มัน ๆ ทำลายอนุสัยลดลงไป มันก็เป็นชั้นดีเลิศ แต่แม้อย่างน้อยก็บังคับไว้ได้ ไม่ให้มันเกิด พอบังคับได้มันก็ไปลดอนุสัยหน่วยหนึ่ง ราคะก็ดี โทสะก็ดี โมหะก็ดี
เอาล่ะ, เป็นอันว่าวันนี้รู้จักกิเลส เราพูดกันเรื่องกิเลส รู้จักกิเลส รู้จักวิธีที่จะป้องกันกิเลสไม่ ๆ ให้มันเกิดขึ้น รู้จักที่จะละกิเลสเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว การป้องกันไม่ให้เกิดกิเลสนั้นดีที่สุด การละกิเลสที่เกิดขึ้นแล้วนี้มอมแมม และเราหวังว่า ทุก ๆ รูป ทุก ๆ องค์นี้จะรู้จักกิเลสดีขึ้น รู้จักตัวจริงของมันมากขึ้น และจะป้องกันได้ดีขึ้น และจะละได้ดีขึ้น สำเร็จประโยชน์สูงสุด วิเศษที่สุด ในการที่จะมีธรรมมะ มีมรดกที่ได้รับทอดจากพระพุทธเจ้า คือการละกิเลส การละกิเลสทั้ง ๓ ประเภท และการบรรยายนี้สมควรแก่เวลา ขอแสดงความหวังว่า คงจะก้าวหน้าในการละกิเลสด้วยกัน ทุก ๆ รูป ทุก ๆ ท่านเทอญ
ขอยุติการบรรยาย