แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เพื่อนสหธรรมิก สพรหมจารีที่เป็นนวกทั้งหลาย เราจะทำกันตามประเพณีหรือว่าระเบียบที่ได้มีสืบกันมาคือว่า ในพรรษาก็มีการอบรมพระบวชใหม่ นี่คือประเพณีที่มีอยู่ เราก็จะได้ทำให้สำเร็จประโยชน์ตามที่จะมีได้ เพื่อว่าท่านที่บวชเข้ามาก็จะได้รับประโยชน์ให้คุ้มกัน การบวชก็มีความหมาย วัดวาอารามก็จะมีความหมายให้เป็นที่ศึกษา ถึงแม้ว่าจะเพียง ๑ พรรษาก็ขอให้มีความหมาย เป็นอันว่าเราก็จะได้มีการบรรยายอบรมกันสัก ๙ ครั้ง ๑๐ ครั้งในพรรษานี้ ขอให้ตั้งใจฟังให้ดี คือให้มันสำเร็จประโยชน์ ถ้าไม่ตั้งใจฟังให้ดีก็ไม่สำเร็จประโยชน์จริงเหมือนกัน ต่อเมื่อตั้งใจฟังให้ดี มีความเข้าใจซึมซาบในเรื่องที่ฟัง สามารถจะวิจัยวิจารณ์พิสูจน์ทดลองเห็นจริงแล้วก็นำไปปฏิบัติ ตอนที่ปฏิบัตินี่ล่ะเป็นการได้ผลของการศึกษาอบรม การบรรยายนี้ก็จะได้พูดเป็นเรื่องๆไปตามที่เห็นว่าเรื่องอะไร จะสมควรจะเป็นเรื่องที่จบในวันเดียว กลับไปแล้วก็สรุปใจความเหล่านั้นบันทึกไว้สำหรับจะดูเมื่อไรก็ได้ ถ้าไม่อย่างนั้นมันก็จะค่อยเลือนไปๆ ในที่สุดก็ไม่มีอะไรเหลืออยู่ในความทรงจำ อยากจะนึกขึ้นมาก็นึกไม่ออก ก็เลิกกันเท่านั้นเอง ถึงจะถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำให้ถูกต้อง ฟังให้เข้าใจ ไม่เข้าใจต้องถาม เข้าใจแจ่มแจ้งแล้วก็จะบันทึกไว้สำหรับการประพฤติปฏิบัติต่อไปจนตลอดชีวิต
การบรรยายในวันแรกนี้มีหัวข้อว่า ระวังอย่าให้โง่เท่าเดิม โง่เท่าเดิมนี้มีความหมายมาก โง่เท่าเดิมตั้งแต่ออกมาจากท้องแม่ก็ยังโง่ จนเดี๋ยวนี้ก็ยังโง่เท่านั้น บวชๆ ออกพรรษาแล้วสึกออกไปก็ยังโง่เท่านั้น นี่ว่าชีวิตนี้ผ่านมายี่สิบกว่าปีแล้ว มันก็ยังโง่เท่าเดิม อย่างนี้เรียกว่าโง่เท่าเดิมๆ คงจะถือโอกาสพูดพร้อมกันไปในคราวเดียวกันทั้งเรื่องที่เขาเรียกกันว่าตื้นๆ และลึกๆ คือเป็นชั้นปรมัตถ ที่มีความลึกซึ้ง พูดได้พร้อมกันไปในตัว
ข้อแรกก็คือว่า โง่เท่าเดิม เท่าที่ออกมาจากท้องแม่ คงโง่เท่าที่ออกมาจากท้องแม่จนตายเข้าโลง ความโง่เท่าที่ออกมาจากท้องแม่ก็เพราะว่าอยู่ในท้องแม่ไม่มีการศึกษา เป็นความรู้ตามอำนาจของสัญชาตญาณ ไม่ใช่ว่าจะไม่รู้อะไรเสียเลย มันรู้ไปตามสัญชาตญาณ ซึ่งไม่ใช่การศึกษา ก็ตั้งต้นฟังกันให้ดีๆ เมื่อเด็กทารกแรกตั้งครรภ์ ระบบประสาท ตาหูจมูกลิ้นกายใจไม่มี ต้องมาถึง ๔ เดือน ๕ เดือนโน่นจึงจะเริ่มมีเรื่องความรู้สึกทางระบบประสาท จวนจะคลอดออกมาจากท้องแม่โน่นจึงจะมีระบบประสาทครบถ้วนตาหูจมูกลิ้นกายใจ แปลว่ามันยังหลับ ยังไม่ทำงาน ก็ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น ที่แน่นอนที่สุด พอมันออกมาจากท้องแม่ นี่เรียกว่ามันจะเริ่มทำงาน เรียกว่าชาติเกิดมาจากท้องแม่นี่เป็นชาติในทางร่างกายเท่านั้นล่ะ คุณจำไว้ให้ดี ชาติในทางร่างกาย คลอดออกมาจากท้องแม่ แต่ว่าชาติในทางจิตนี่ ชาติทางจิตทางวิญญาณยังไม่มี คือไม่เกิดความรู้สึกว่าตัวกูนั่น ตลอดเวลาที่จิตใจของทารกนั้นยังไม่อาจจะเกิดความรู้สึกว่าตัวกู มันก็ไม่มีชาติทางจิตทางวิญญาณ เรียกว่ามีชาติเท่าที่ทางกาย กายมันคลอดออกมา เอ้าทีนี้มันก็ตั้งต้นมีความรู้ตามแบบนั้น เท่าที่สัญชาตญาณมันจะอำนวย คือว่าพอคลอดออกมาแล้วมันก็เริ่มทำงานละ ตาก็เริ่มเห็น หูก็เริ่มได้ยิน จมูกก็ได้กลิ่น ลิ้นก็ได้รส กายก็ได้สัมผัส ผิวหนังจิตก็คิดนึกรู้สึกได้ แต่มันก็ยังไม่สมบูรณ์ อย่างกับตาเห็นรูปนี่ก็ยังไม่ใช่เกิดน่ะ เราเอาที่จะเป็นตามธรรมชาติกันจริงๆดีกว่า คือเอาเรื่องลิ้น เรื่องลิ้นเป็นเรื่องแรกดีกว่า เพราะเด็กคลอดออกมาจากท้องแม่มันก็กินนม พอมันอร่อยแล้วมันถูกปากถูกใจในรสของความอร่อยของนม มันก็รู้สึกอร่อยโดยระบบประสาท ระบบประสาทที่ลิ้นน่ะมันรู้สึกอร่อย และระบบจิตมันก็เกิดความรู้สึกในความอร่อยจนรู้สึกว่า กูอร่อยๆ อร่อยของกู และความรู้สึกว่ากูอร่อยขึ้นมานี้ล่ะเรียกว่า ตัวกูมันเกิด ชาติในทางจิตทางวิญญาณมันมีแล้ว นี่ต่อเมื่อทารกนั้นมีความรู้สึกเป็นตัวกู อย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมา ในกรณีนี้เมื่อมันกินนมอร่อย เมื่อมีความรู้สึกทางสัญชาตญาณว่ากูอร่อย นี่ข้อสำคัญมันอยู่ที่ว่ากู ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากในท้อง มันไม่ได้ติดมาจากในท้อง มันพึ่งโง่เมื่อดื่มนม เมื่อลิ้นมันรู้รสนม อร่อยตามสัญชาตญาณของมัน ไม่ต้องมีใครมาช่วยหรอก มันเกิดขึ้นมาในจิตใจของมันเอง รู้สึกได้เองว่ากูอร่อย หรือความอร่อยของกู นี่เรียกว่าตัวกูมันเกิด นี่ถ้าว่ามันไม่อร่อย จะไปกินอะไรก็ตามใจ กินน้ำไม่อร่อย ก็ระบบประสาทมันบอกว่าไม่อร่อย ไม่ต้องการ ความรู้สึกมันก็เกิดว่ากูไม่อร่อย ความรู้สึกที่เป็นกูนี่ก็เกิดขึ้นอีกเหมือนกันในทางตรงกันข้าม ถ้าอร่อย รู้สึกอร่อย มันมีตัวกูบวก เป็นไปในทางบวก อารมณ์บวก มันก็ต้องการ มันก็รัก มันก็พอใจ มันก็ยินดีที่จะมีอีก จนกระทั่งมันรู้จักสะสมมีอารมณ์บวกเกิดขึ้น จำไว้ก่อนเถิด ถ้ามันเป็นไปในทางลบ มันไม่ถูกกับปากกับรส มันก็เกิดอารมณ์ลบ กู กูซึ่งไม่ชอบ กูซึ่งเป็นลบก็เกิดขึ้น อารมณ์นั้นก็เป็นลบ นี่คือความรู้เท่าที่มันจะมีได้จากสัญชาตญาณ โดยไม่ต้องศึกษาเล่าเรียนอะไรมา รู้ได้เองตามสัญชาตญาณ ที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่าอินสติงท์ (Instinct) รู้สึกได้เอง รู้สึกเป็นบวก รู้สึกเป็นลบได้เอง แล้วก็มีความหมายแห่งตัวกูขึ้นมาทั้งที่ไม่มีตัวจริง ความรู้สึกว่าตัวกูนั้นเป็นเพียงความคิด ความนึก ความรู้สึก ความโง่ เรียกว่าความรู้สึกมั่นหมายก็แล้วกัน ความรู้สึกมั่นหมายว่าเป็นตัวกูก็เกิดขึ้น มันเป็นเพียงความรู้สึก ไม่ได้มีตัวจริง เหมือนกับดินน้ำลมไฟนี่มันมีตัวจริง นี่มันไม่ต้องมีตัวจริง มันมีแต่ตัวกูที่เป็นเหมือนกับผีหลอก นี่ก็เรียกว่าอุปาทาน ความรู้สึกจะเกิดตามลำดับ พร้อมปฏิจจสมุปบาทครบทั้งสาย ๑๒ ๑๑ อาการ เหมือนกันทั้งนั้นในเด็กทารก พอมันได้สัมผัสมันก็เกิดวิญญาณรู้รส เกิดหัสสะในรส เกิดเวทนาในรส เกิดตัณหาในรส เกิดอุปาทานในรส เกิดภพเกิดชาติในรสนั้นด้วยตัวกูอร่อย นี่มันเกิดเองตามธรรมชาติ เป็นปฏิจจสมุปบาทตามธรรมชาติ ไม่มีความฉลาดเหลืออยู่สักนิดเดียว คือเพราะว่าตลอดเวลาที่อยู่ในท้องแม่ มันไม่มีการศึกษาเล่าเรียนอะไรนี่ ทีนี้ออกมาอย่างนี้แล้ว เรียนอยู่เกือบเดือนสุดท้ายแล้วก็ยังไม่ค่อยจะรู้ นอนหลับตาอยู่ในท้องแม่ มันจะรู้อะไร มันออกมาโดยที่ไม่ต้องมีความรู้อะไร รู้แต่เพียงว่าเพราะอร่อย ก็เกิดตัวกูบวก ไม่อร่อยก็เกิดตัวกูลบ ยกตัวอย่างทางลิ้นก่อนก็กินนมแม่
ทางตาก็เหมือนกัน เขาก็เอาของงามๆมาแขวนให้ดู ถ้ามันถูกตาก็เกิดอารมณ์บวก ไม่ถูกตาก็เกิดอารมณ์ลบ ทางจมูก ทารกก็ยังรู้จักกลิ่น ถ้ากลิ่นถูกใจก็อารมณ์บวก ไม่ถูกใจก็เกิดอารมณ์ลบ ลิ้นก็ว่ามาแล้วเรื่องน้ำนม ที่สัมผัสทางกายทางผิวหนังน่ะ อ่อนละไมละมุนอุ่นดี อะไรดีๆก็เกิดพอใจๆ เป็นอารมณ์บวก ถ้ากระด้างหยาบคายเย็นเกินไป ร้อนเกินไป เราก็เกิดอารมณ์ลบ ที่นี้ความคิดนึกรู้สึกนี่ ถ้ามันถูกกับใจก็อารมณ์บวก ไม่ถูกกับใจก็จะอารมณ์ลบ ทีนี้มันไม่ได้เพียงเท่านั้น มันเกิดกิเลสต่อไป มันรู้สึกเป็นอารมณ์บวกเป็นอารมณ์ลบแล้ว มันยังเกิดต่อไปอีก ถ้ามันเป็นอารมณ์บวกก็เกิดความอยาก ความต้องการ ความจะมี ความจะสะสมอะไรเป็นต้น มันก็เกิดกิเลสประเภทโลภะ อยากได้ ราคะ กำหนัดยินดี ตัวกูบวกกับอารมณ์บวก เกิดกิเลสประเภทบวกคือจะเอา ถ้าไม่ถูกใจ มันก็เกิดกิเลสประเภทลบ เป็นอารมณ์ลบ คือโทสะ คือโกธะ โกรธขัดเคืองประทุษร้ายอยู่ในใจจะฆ่าจะทำลาย นั่นกิเลสประเภทลบ ทารกมันก็เกิดนิดๆไปตามเรื่องของมัน แล้วมันก็โตขึ้นทุกวัน มันก็เกิดเต็มที่มากขึ้นทุกวัน ถ้ามันไม่เป็นบวกไม่เป็นลบ มันสงสัยอยู่ ทำอะไรไม่ถูก อย่างนี้ก็เป็นโมหะ โง่เท่าเดิม เป็นโมหะ จึงดูว่าความโลภเกิดจากอะไร ความโกรธเกิดจากอะไร ความหลงเกิดจากอะไร เกิดได้โดยวิธีของธรรมชาติตามอำนาจของสัญชาตญาณนี้ไม่ต้องสอน พอยิ่งโตมากขึ้นก็ยิ่งรู้สึกมากขึ้น เข้มข้นมากขึ้นอีก ทั้งทางตา ทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายทางใจ มันโตขึ้นจนกินได้ ดื่มได้ อะไรได้ เดินได้ ไปได้ ความรู้ที่จะเกิดความโง่ว่าตัวกู ว่าของกู ก็มีมากขึ้นโดยสัญชาตญาณ มันอร่อยในสิ่งใด มันก็มีสิ่งนั้นเป็นของกู มันเป็นของกู ก็มีตัวกูยืนอยู่เป็นประธาน อะไรเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็เรียกว่าของกู ตัวกู ของกูมันก็เกิดขึ้นทั้งทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายทางใจ นั่นน่ะความรู้เท่าที่สัญชาตญาณมีให้มาสำหรับจะเกิดความรู้สึกเป็นตัวกูคืออัตตา มีความรู้สึกเป็นของกูคืออัตนียาหะ แล้วก็เกิดราคะ โทสะ โมหะ ไปตามสมควรแก่กรณี รู้ได้เท่านี้ สัญชาตญาณทำให้รู้ได้เพียงเท่านี้ แล้วมันก็มีการกระทำ มีการต่อสู้ มีการดิ้นรน มีการอะไรไปตามเรื่อง เกิดการกระทำกรรมขึ้นมาตามอำนาจของกิเลส เด็กยังรักเป็น โกรธเป็นหรือสงสัย มันโง่เป็น ไม่ต้องให้ใครมาสอน อย่างนี้เรียกว่ามีสัญชาตญาณ เป็นตัวความรู้ รู้เท่าที่สัญชาตญาณมีให้ ไม่ใช่จะไม่รู้อะไรเสียเลย แล้วมันก็รู้จักหลบหลีก ถ้าไม่อร่อยมันก็หลบหลีกได้ คือมันร้อนมันเจ็บมันก็หลบหลีกได้ นี่ก็เป็นความรู้ ไม่ใช่ความไม่รู้ มันก็รู้ แล้วมันก็รู้จักต่อสู้ เพราะเด็กรู้จักโกรธ รู้จักหยิก รู้จักข่วน รู้จักร้องไห้ รู้จักต่อสู้ต้านทาน มีความรู้เท่าที่มีมาแต่ในท้อง เด็กเดินได้แล้ว เดินได้เดินไป จะไปเตะโดนเสาเข้า เจ็บ มันก็โกรธเสาทันที โกรธเสาทั้งที่เห็นเสา มันก็ มึง มึงทำกู กูก็จะเตะมึง จะเตะเสา แล้วความโง่มันเพิ่มขึ้นด้วยการสอนผิดๆ เป็นภาวิตญาณ สอนกันมาผิดๆ คือพี่เลี้ยงหรือแม่ที่เลี้ยงลูกอยู่ช่วยตีเสา ช่วยตีเสาให้ทีเพื่อให้ลูกหายร้อง ก็ไปช่วยตีเสาๆ มันจะได้หายร้องไห้ขึ้น มันก็โง่กว่าเดิมนี่ มีความรู้สึกเป็นตัวกู ของกู มากกว่าเดิมขึ้นไปอีก อย่างนี้มันมากขึ้นๆ แล้วมันจะได้ยินแต่เสียงพูดว่า ตัวตน แม่ก็จะต้องพูดว่า ของมึงน่ะ ของกู ของมึง ของตน ของลูก เรื่อยไป ความรู้สึกอันนี้ก็เข้มข้นขึ้น รู้สึกเป็นตัวตน รู้สึกเป็นของตน ทั้งบ้านทั้งเรือนทั้งครอบครัวทั้งเมืองเขาก็พูดกันว่าเป็นเรื่องตัวกู เป็นตัวกู เป็นของกูทั้งนั้น มันเลยไม่รู้ว่าที่แท้เป็นเพียงธาตุตามธรรมชาติดินน้ำลมไฟ ประกอบกันเป็นร่างกาย มีระบบประสาท มีจิตใจคอยรู้สึกอยู่ มันไม่รู้อย่างนี้เพราะมันไม่ได้เรียนวิทยาศาสตร์ ไม่ได้เรียนธรรมะ นี่ก็มีตัวกู พอถูกใจก็กู ไม่ถูกใจก็กู ไม่ถูกใจกูจะฆ่ามึง นี่ความรู้สึกเป็นบวกและเป็นลบ เกิดขึ้นแล้วก็เกิดตัวกู แล้วก็เกิดกิเลสเป็นราคะโทสะโมหะ รู้ไปในทางฝ่ายผิดอย่างนี้ เลยเป็นตัวกูหมด อะไรเกิดขึ้นแก่ตาหูจมูกลิ้นกายใจก็เป็นตัวกูหมด กูเห็น กูได้ยิน กูได้ดม กูได้ดื่ม เป็นกูไปหมดเลย ไม่ใช่ธาตุตามธรรมชาติ ไม่ใช่ระบบประสาทตามธรรมชาติ มันไม่รู้ มันจึงไม่รู้เรื่องอนัตตาว่าไม่ใช่ตัวตนดอก มันมาเป็นตัวตนเสมอ พอมันหิวก็กูหิว อร่อยก็กูอร่อย มีดบาดนิ้วก็ว่ามีดบาดกู โง่กี่มากน้อย มีดบาดนิ้วมันก็ว่ามีดบาดกู ไม่ใช่มีดบาดนิ้ว ถ้ามันรู้สึกว่ามีดบาดนิ้วมันก็ค่อยยังชั่ว ไม่โกรธมากนัก หนามตำเท้าก็ว่าหนามตำกู อะไรๆมันก็กลายเป็นเรื่องของกู เป็นตัวกู เป็นของกูไปหมด นี่สรุปความรู้เท่าที่ได้มาจากในท้อง เท่านี้เองความรู้ที่ได้มาจากในท้อง จนเป็นหนุ่มเป็นสาวมาบวชมาเรียน ความรู้นี้ก็ยังอยู่ตามธรรมชาติ ตามสัญชาต ที่มันจะเรียนพุทธศาสนากัน มาเรียนพุทธศาสนากันมารู้ โอ้มันไม่ใช่ตัวกู ไม่ใช่ของกู มันเป็นความรู้สึกแก่ระบบประสาทตามธรรมชาติ ระบบประสาทรายงานไปที่ใจ ใจมันก็รู้สึกโง่เอาเองว่ามีตัวกู มีตัวกู มีตัวกู เป็นธรรมชาติเหมือนกัน มนุษย์ คนก็เป็นอย่างนี้ สัตว์เดรัจฉานก็เป็นอย่างนี้ ต้นไม้ต้นไร่ก็มีรู้สึกอย่างนี้ ต้องการจะต่อสู้เพื่อความรอดชีวิตแต่ตัวกูทั้งนั้น นี่ก็รู้เท่าที่มีสัญชาตญาณมาแต่ในท้อง แล้วก็ยังอยู่จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ เพราะถ้าละมันไม่ได้ มันจะอยู่จนตาย จนตายไปด้วยความรู้อันนี้ จะไม่เรียกว่าโง่เท่าเดิมได้อย่างไร คุณมาบวชแล้วคุณก็ไม่รู้เรื่องนี้ ละมันไม่ได้ คุณสึกออกไปอยู่จนตาย มันก็ยังมีความรู้อย่างนี้ ก็เรียกกันว่าอยู่กันจนตาย ไม่รู้โง่เท่าเดิม เข้าโลงไป โง่โดยสัญชาตญาณ มีจากท้องแม่เท่าไรก็มีอยู่จนตายเข้าโลงไปด้วยกัน นี่เรียกว่าโง่เท่าเดิม จึงขอร้องว่าอย่าโง่เท่าเดิม ละโง่ไปเสียเป็นความฉลาดเกิดขึ้นมาใหม่อย่าโง่เท่าเดิม นั่นก็คืออย่าโง่มีตัวกู มีของกู เช่นเดียวกับออกมาจากท้องแม่จนบัดนี้ ทีนี้อยากจะบอกให้ทราบว่าทางพุทธศาสนานั้น หัวใจพระพุทธศาสนาคือมันไม่มีตัวตน ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของตน นั่นน่ะหัวใจพระพุทธศาสนา ไม่ว่าเรื่องอนัตตา เป็นธรรมเนียมประเพณีมาแต่โบราณ พอนาคเข้ามาอยู่วัดวันแรก อาจารย์ก็ให้เรียนหัวใจของพุทธศาสนา เมื่อสมัยผมบวชยังเป็นอย่างนี้ วันแรกเข้ามาอยู่วัดเป็นเจ้านาคเพื่อจะบวช ได้รับการจัดให้เล่าเรียนเรื่องอนัตตา ที่มันบวชอยู่ก่อนช่วยเขียนให้ เขียนใส่กระดาษ ที่สวดว่า ยะถาปัจจะยัง ปะวัตตะมานัง ธาตุมัตตะเมเวตัง ยะทิทัง จีวะรัง ตะทุปะภุญชะโก มุทิคุณ....(นาทีที่ 25.20) สวดอยู่นั่นล่ะ แต่ก็จดให้แต่บาลี เรียนแต่บาลี ต้องเรียนนี้หมดแล้วทั้ง ๔ อย่าง อย่างละ ๓ คือ ปัจจุบัน อดีต ทั้งยะถาปัจจะยัง ทั้งปฏิสังขาโย ทั้งอัชชะ มะยา เรียนหมดจบแล้วก่อนจึงค่อยเรียนอย่างอื่น เมื่อผมบวช ไม่ใช่แต่ผม ทุกคนน่ะอย่างนี้ทั้งนั้น ผมบวชมา ๖๐ กว่าปีแล้ว ผมอยากจะทราบหน่อยว่าที่คุณบวชกันในคราวนี้ทั้งหมดน่ะ ได้เรียนอันนี้หรือเปล่าเป็นวันแรก ใครได้เรียนยะถาปัจจะยัง เป็นบาลี เป็นวันแรกที่ได้เข้ามาอยู่ในวัดในการบวช โปรดยกมือขึ้นที ใครบ้าง เห็นไหม มันคนละเรื่องกันไปแล้ว คิดว่าวันบวช วันเข้ามาอยู่วัดเป็นวันแรก ไม่ได้เรียนหัวใจของพุทธศาสนา ยะถาปัจจะยัง น่ะ ปฏิสังขาโย อัชชะ มะยา อย่างน้อยก็สวดกันอยู่ทุกวันแล้ว ไม่ต้องพูดแล้วไม่ต้องบอกแล้ว สรุปแต่ใจความว่า จีวรนี้ก็ดี ผู้บริโภคจีวรนี้ก็ดี นิสสัตโต นิชชีโว สุญโญ อาหารและบิณฑบาตรนี้ก็ดี ผู้บริโภคอาหารบิณฑบาตรนี้ก็ดี นิสสัตโต นิชชีโว สุญโญ เสนาสนะ เครื่องใช้สอยก็ดี หยูกยาเภสัชก็ดี ผู้บริโภคก็ดี นิสสัตโต นิชชีโว สุญโญ ถ้าเข้าใจเรื่องนี้จะเข้าใจหัวใจพระพุทธศาสนา จะไม่โง่เอาอะไรเป็นตัวกูเป็นของกู แต่มันก็ช่วยไม่ได้เพราะแม้ผมเรียนก็เรียนแต่บาลีไม่รู้ว่าอะไร เพิ่งมาเรียนตอนหลังๆนี่ แต่มันก็ยังดีที่มันเข้ารูปกับธรรมชาติที่ว่าเด็กมันโง่เรื่องอนัตตามาแต่ในท้อง พอวันแรกเข้ามาสู่พุทธศาสนาก็ให้มันเรียนเสีย เมื่อยังดีๆอยู่ ยังถูกต้องอยู่ก็คงสอนกันมากล่ะว่าไม่ให้เรียนเฉยๆ ก็อธิบายเรื่องอนัตตา เรื่องขันธ์ ๕ เป็นอนัตตากันเรื่อยมา จนมาค่อยเรียนเรื่องบวช เรื่องขานนาค เรื่องศีล เรื่องอะไรต่างๆนี่ ให้เรียนกันทีหลัง เอาล่ะเป็นอันว่าถ้าได้เล่าเรียนให้รู้เรื่องอนัตตาแล้วก็ใช้ได้แล้ว มันไม่โง่เท่าเดิมหรอก มันรู้มากกว่าที่ออกมาจากท้องแม่ ความโง่นี่มันเป็นของความโง่ มันไม่มีตัวตน ตัวตนไม่มีแต่ความโง่มันสร้างขึ้นมาในความคิดแล้วมันก็มี แล้วมันก็มีอย่างรุนแรง อย่างรุนแรงกว่ามีตัวตนเป็นวัตถุเป็นก้อนไปเสียอีก เรื่องตัวกูนี่มันไม่ยอมใคร มันจะเอาท่าเดียว มีความทุกข์น่ะ นี่เราช่วยกันเรียนช่วยกันศึกษาให้รู้เรื่องอนัตตา ถ้าว่าเป็นอัตตามันเป็นความโง่ ไปทางโง่ ถ้าอนัตตาเป็นความฉลาด มาในทางความจริง เรื่องนี้ มันเป็น ๓ แฉกอย่างนี้ ทำไปสุดเหวี่ยงไปทางนี้ มีตัวกูมีอัตตา ตัวกูเลยโง่ตะพึดตามอัตตา ถ้ามันเผอิญโง่ไปทางตรงกันข้าม ฝ่ายนี้นิรัตตา ไม่มีตัวกูไม่มีของกู ไม่มีอะไรเลย แต่ถ้าถูกต้องมันอยู่ตรงกลาง ตรงกลางนี่เรียกว่าอนัตตา แปลว่าตัวตนซึ่งมิใช่ตัวตน ที่คนเขียนน่ะเป็น ๓ แฉก ตรงกลางนี่อนัตตา ตัวตนซึ่งมิใช่ตัวตน ถ้าซ้ายสุดอัตตา ตัวกู เกินร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าขวาสุดนี้นิรัตตา นัตถิตา ไม่มีอะไรเลย นี่มันก็ผิดเหมือนกัน เป็นไปไม่ได้เพราะมันต้องมีความรู้สึกว่าตัวตนอยู่ในใจเหมือนกัน ทุกคนน่ะ จะมาว่านิรัตตาอย่างไรได้ แต่มันก็ไม่ถูก นิรัตตามันก็ไม่ถูก คือมีตัวตนมันก็ไม่ถูก ไม่มีตัวตนเลยมันก็ไม่ถูก มันอยู่ตรงกลางน่ะ ที่ถูกคือตัวตนซึ่งมิใช่ตัวตนเรียกว่าอนัตตา อะตัวนี้แปลว่าไม่ ไม่ใช่ ไม่ใช่ว่าไม่มี อนัตตาแปลว่าไม่ใช่อัตตา มีสิ่งที่คิดนึกรู้สึกโง่ไปว่า อัตตาอยู่ในใจตั้งแต่ในท้องแม่มา แต่ว่าสิ่งนั้นมิใช่อัตตา พอเรารู้สึกว่ามีอัตตาซึ่งมิใช่อัตตา นี่เป็นความรู้ที่ถูกต้อง ถูกต้องตามธรรมชาติ รู้ยิ่งขึ้นไปก็จะไม่ยึดถือสิ่งใดโดยความเป็นอัตตา มันก็ไม่มีความเห็นแก่ตัว มันไม่อาจจะเกิดกิเลสราคะโลภะโทสะโมหะอะไรได้ถ้ามันรู้สึกว่ามิใช่ตัวตน ถ้ามันยังรู้สึกเป็นตัวกูของกูอยู่ ก็รู้สึกเป็นบวกเมื่อถูกใจ เป็นลบเมื่อไม่ถูกใจ มันก็สงสัยมัวเมาเมื่อยังโง่อยู่ไม่รู้อะไรกันแน่ สรุปความว่าเมื่อออกมาจากท้องแม่ มีความรู้เท่าที่สัญชาตญาณกำหนดให้ รู้สึกถ้าว่าเป็นถูกใจก็เป็นบวก ก็เป็นตัวกูบวก ไม่ถูกใจก็เป็นตัวกูลบ ตัวกูบวกก็เกิดโลภะ เกิดราคะหรือกิเลสที่อื่นๆในประเภทบวก คือจะเอาจะยึดครองจะมีจะสงวน จะหวงจะหึง ถ้าว่าเป็นตัวกูลบแล้วมันจะฆ่าจะทำลายจะต่อสู้จะฆ่า นี่คือกิเลสมันเกิดได้อัตโนมัติอย่างยิ่ง อารมณ์มาเป็นบวกก็เกิดความรู้สึกตัวกูเอาๆๆ กิเลสเอา ไม่สบายก็ความรู้สึกเกิดกิเลสลบ จะทำลายจะฆ่าเสีย จะเลิกกันเสีย อะไรกันเสีย นี่ก็เกิดเรียกว่า ยินดียินร้าย เป็นไฟเผาผลาญจิตใจเหมือนกัน ความเป็นบวก ความรัก ความกำหนัดยินดีก็เผาผลาญจิตใจ ความโกรธความพยาบาทโกรธแค้นเผาผลาญจิตใจ เพราะฉะนั้นทั้ง ๒ ชนิดนี้เป็นความร้อนเป็นไฟ เป็นกิเลสเผาผลาญจิตใจ ต่อไม่มีความเป็นบวกมีความเป็นลบมันก็เย็นสนิท เป็นนิพพานในอันดับสุดท้าย ไม่รู้สึกเป็นบวกเป็นลบเลย นิพพานเป็นสุดท้าย รู้สึกเป็นบวกเป็นลบแล้วควบคุมไว้ได้ ไม่ยินดีไม่ยินร้าย นี่ก็สูงโขอยู่ พระอรหันต์ประเภทแรกรู้สึกเป็นบวกเป็นลบแต่ไม่ยินดียินร้าย คือหมดกิเลส วิเศษเป็นพระอรหันต์ ถ้าสูงไปกว่านั้นก็ไม่รู้สึกเป็นบวกเป็นลบเสียเลย เย็นสนิท ฉะนั้น เรามาด้วยความรู้เท่าที่สัญชาตญาณมีให้ ก็มีความเป็นบวกมีความเป็นลบ ติดมากระทั่งเดี๋ยวนี้แล้วเจริญงอกงามยิ่งขึ้น เข้มข้นยิ่งขึ้น เกิดเป็นกิเลสที่รุนแรงยิ่งขึ้นแล้วก็ให้ความทุกข์ยิ่งขึ้น ขอให้ตัดตอนเสียตอนนี้ อย่าให้โง่เท่าเดิม คือโง่เท่าที่ออกมาจากท้องแม่ ขออย่าให้หยุดอยู่เพียงเท่านั้น ให้ฉลาด ให้เรียนรู้เรื่องอนัตตา ลดความเป็นบวก ลดความเป็นลบ คือลดความยินดียินร้าย นี่หัวใจของมันอย่าดูถูก เพราะว่าเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ ไม่มีความหมาย ถ้ายินร้ายมันก็เป็นลบ ลบจะยินดีก็เป็นบวก เราก็มีอาการดีใจและเสียใจ เป็นบทเรียนที่ทุกคนรู้สึกไม่ต้องมีใครบอกใครสอน แต่มันก็ไม่เคยเรียนในบทเรียน คือไม่เคยศึกษาจนถึงว่าไอ้ดีใจมันก็เหนื่อย มันก็กระวนกระวาย ไม่ใช่ความสงบ เสียใจก็กระวนกระวายเป็นทุกข์ร้อน ไม่ใช่ความสงบ ถ้าเมื่อใดไม่ดีใจไม่เสียใจนั้นล่ะคือความเยือกเย็น ความสงบในความหมายของพระนิพพาน แม้ยังไม่ใช่นิพพานโดยสมบูรณ์ ก็มีความหมายของพระนิพพานน้อยๆ เป็นตัวอย่างให้ดูได้ เป็นความเยือกเย็น ถึงขอให้สังเกตตัวเอง ศึกษาตัวเองว่า เมื่อยินดีเป็นอย่างไร เมื่อยินร้ายเป็นอย่างไร เมื่อดีใจเป็นอย่างไร เมื่อเสียใจเป็นอย่างไร หัวเราะมันก็เหนื่อย ร้องไห้มันก็เหนื่อย ไม่เอาทั้ง ๒ อย่าง ไม่หัวเราะ ไม่ร้องไห้ ก็คือไม่เหนื่อย นี่เรียกว่าอยู่เหนือหรือหลุดพ้น หลุดพ้นจากความทุกข์หรือความโง่ ไปหัวเราะจะเอาก็เพราะมันโง่ มันร้องไห้มันไม่ได้มันก็โง่ นั่นก็คือความโง่ที่ทำให้เป็นบวกและเป็นลบ เรียกตามวิทยาศาสตร์ที่เคยเรียนมาในโรงเรียนก็แล้วกัน มันเป็นโพสิทีฟ (Positive) หรือเป็นเนกาทีฟ (Negative) ใช้ไม่ได้ทั้ง ๒ อย่างเพราะว่าพอมันถึงกันเข้าแล้วมันแรง เป็นกระแสไฟที่แรงไม่ใช่ความสงบ ถ้าโพสิทีฟกับเนกาทีฟถึงกันเข้าเมื่อไร มันเกิดเอเนอร์ยี (Energy) เกิดกำลังเกิดผลักดันวุ่นวายไปหมด เมื่อเราจะสอนพวกนักวิทยาศาสตร์ เราก็สอนในลักษณะอย่างนี้ แล้วก็สอนลึกลงไปจนถึงว่า ไอ้ที่น่ารักน่าพอใจนั่นมันก็หลอกลวงให้รัก ไม่ใช่ความจริง ที่ไม่น่ารัก ที่จะน่าเกลียดน่าโกรธมันก็หลอกลวง ไม่ใช่ความจริง เพียงแต่ว่ามันถูกกับระบบประสาทหรือไม่ ถ้ามันถูกกับระบบประสาทตามธรรมชาติ มันก็รู้สึกพอใจเอร็ดอร่อย ถ้าตรงกันข้ามมันก็ไม่พอใจ ที่มันจะทำให้รู้สึกพอใจเอร็ดอร่อย มันก็มีความถูกต้องที่จะรู้สึกเช่นนั้น พูดอย่างวิทยาศาสตร์อีกทีก็ว่า ขนาดก็พอดี เวลาก็พอดี ...ทีวีตี้ (นาทีที่ 37.33) ระหว่างไทม์แอนด์สเปซ (Time and Space) ในกรณีนั้นมันพอดี มันจึงรู้สึกอร่อย ถ้าสเปซไปกินเนื้อที่หรือเวลาที่ใช้ในการนี้มันไม่พอดี ความสัมพันธ์กันระหว่างของสิ่งนั้นก็เป็นผลออกมาเป็นความไม่พอใจ ไม่อร่อยแก่ระบบประสาท ระบบประสาทมันก็ปฏิเสธ นี่ล่ะความลับของยินดียินร้าย หรืออร่อยไม่อร่อย ถ้าไม่ได้เรียนวิทยาศาสตร์มาจากในท้องแม่ มันรู้ไม่ได้ ออกมาแล้วก็ยังไม่ได้เรียน นี่บวชกันทั้งทีก็ไม่ค่อยจะได้เรียนเรื่องอนัตตากันกี่มากน้อย ก็ไปเรียนเรื่องอื่นๆ บางทีไปเรียนชนิดที่ส่งเสริมกิเลสเสียอีกก็มี เรียนให้บ้าบุญบ้าสวรรค์เอาเกียรติยศชื่อเสียงอย่างนี้ก็กลุ้ม กลับกันในทางตรงกันข้ามเลย ส่งเสริมอัตตา ระวังจะตายเปล่า นี่มันจะโง่เท่าเดิม นี้ก็เรียกว่าโง่เท่าเดิม เท่าที่สัญชาตญาณให้มาตั้งแต่ในท้องโน่น เป็นโง่เท่าเดิมชนิดแรก
ทีนี้โง่เท่าเดิมชนิดที่ ๒ ก็เอาเรื่องบวชนี่เป็นหลักกัน ก่อนมาบวชโง่เท่าไร สึกพระออกไปก็ยังโง่เท่านั้น นี่มาบวชนี่ไม่ได้เรียนเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรื่องดับกิเลสดับทุกข์ สึกออกไปก็โง่เท่าเดิม นี้เรียกว่ามาบวชแล้วกลับออกไป ก็ยังโง่เท่าเดิม ไม่ได้ศึกษาธรรมะให้เพียงพอ ไม่ได้ปฏิบัติทางจิตภาวนาให้เพียงพอ ก็ไม่ได้อะไรเพิ่มขึ้น มันก็เท่าเดิม เพราะฉะนั้น ขอให้ศึกษาเรื่องอริยสัจ เรื่องปฏิจจสมุปบาท ให้รู้จริงๆว่าความทุกข์เกิดขึ้นได้อย่างไร ความทุกข์เกิดไม่ได้อย่างไร ให้รู้ในข้อนี้จริงๆ ก็ควบคุมมันให้ได้ ถ้าไม่มีสติพอ มันควบคุมไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ฝึกอานาปานสติให้มีสติพอ ก็ควบคุมได้ ไม่ให้เกิดความทุกข์ ไม่ให้เกิดความรู้สึกชนิดที่เป็นความทุกข์ ถ้าบวชทีหนึ่งได้ศึกษาหลักพระธรรมเพียงพอ แล้วก็ฝึกการปฏิบัติจิตเพียงพอ ก็สามารถควบคุมความทุกข์มิให้เกิด ป้องกันมิให้เกิด เกิดแล้วก็ดับได้ทันที พยายามศึกษาให้รู้ว่ากิเลสความทุกข์เกิดอย่างไร ดับเสียได้ทันทีมีสติ ฝึกสติให้เร็ว แล้วปัญญาความรู้ศึกษาไว้ให้มาก เรื่องที่ควรรู้ ศึกษาไว้ให้หมดทุกเรื่อง ทีนี้พอมีเรื่องอะไรที่จะทำลาย เป็นทุกข์ขึ้นมา มารเกิดขึ้นทางตาหรือทางหูก็ได้แล้วแต่ สติ เอาความรู้ที่ศึกษาไว้มากพอ มาต่อสู้กับมาร เอาปัญญามาทำเป็นสัมปชัญญะ ไม่ต้องเอามาทุกเรื่องหรอก เอามาแต่เรื่องที่จะต่อสู้กับเหตุการณ์อันนี้ ทางตาหรือทางหูหรือทางจมูก แล้วก็เป็นลักษณะอย่างไรเอาปัญญาเฉพาะที่จะจัดการกับเรื่องนี้มา ปัญญาอย่างนี้ก็เปลี่ยนชื่อเรียกว่าสัมปชัญญะ คือมาเพียงอย่างเดียวเหมาะกับเหตุการณ์ที่จะกำจัดเหตุการณ์อันนี้ ไม่ใช่ต้องเอาปัญญามาทั้งหมด แล้วมันเอามาไม่ได้ล่ะ เปรียบเหมือนกับว่าเรามีตู้ยา ในตู้ยามียาทุกชนิด แต่พอเราป่วย เรากินอย่างเดียวเท่านั้น กินยาทั้งตู้ก็บ้าแล้ว ตายเลย ก็เลือกกินยาเฉพาะที่แก้โรคนั้น นี่ที่เราเรียนความรู้ธรรมะเอาไว้มากๆก็เพื่อเอามาเลือกใช้ให้ถูกกับเรื่องที่มันจะเกิดขึ้น นี่มองอีกทางหนึ่งก็เห็นได้ง่ายว่าอาวุธมีไว้ครบทุกอย่าง พอเกิดกรณีที่ต้องใช้อาวุธขึ้นก็หยิบมาใช้ให้เหมาะเรื่อง ก็ได้ผลดี ไม่ต้องขนอาวุธทุกอย่างมา ในกรณีนี้จะกำจัดผู้ร้ายอย่างไร กำจัดศัตรูอย่างไร เอาอาวุธเฉพาะเรื่องนั้น ไม่ต้องเอามาทั้งหมด แล้วคุณก็ศึกษาไว้ทั้งหมดที่ควรศึกษาเท่าที่ควรศึกษา ศึกษาไว้ทั้งหมดก็มีสติรวดเร็วไปเอามาใช้ให้ทันเหตุการณ์ที่จะเกิดกิเลสจะเกิดทุกข์ มันก็มาเฉพาะคู่ของสัมปชัญญะ เรียกว่าสัมปชัญญะ ปัญญาที่มาเฉพาะเรื่องเฉพาะกรณีมาทำหน้าที่อันนี้เรียกว่าสัมปชัญญะ ถ้ากำลังมันน้อย ปัญญานี้กำลังน้อยก็ใช้สมาธิช่วย กำลังจิตที่เป็นสมาธิที่ฝึกไว้มันมาช่วย ปัญญาทำหน้าที่และปัญญาเปรียบเหมือนกับความคม จะคมยิ่งกว่ามีดโกนก็ตามใจมันเถิด แต่ถ้ามันไม่มีน้ำหนักที่จะกดลงไป แล้วมันไม่ตัด ความคมเป็นหมันเปล่าๆ ปัญญาคือความคม ต้องมีสมาธิตามมากตามน้อยมาช่วยเป็นน้ำหนัก ปัญญามันจึงจะตัดลงไป จึงจะแก้ไขสถานการณ์อันนั้นได้ ให้เราฝึกไว้ให้ครบถ้วน และฝึกเพียงอานาปานสติอย่างเดียวก็พอ จะมีครบหมดทุกอย่างที่ควรต้องการ สติก็มี ปัญญาก็มี สัมปชัญญะก็มี สมาธิก็มี ขันติก็มี อะไรก็มี มีครบครัน และในระหว่างบวชนี้ก็ฝึกสิ่งที่ต้องมี จำเป็นต้องมีต้องใช้ ฝึกสติให้เร็วเหมือนสายฟ้าแลบ ปัญญาให้ครบถ้วนให้ว่องไวเลือกเอามาใช้ให้ทันเหตุการณ์ แล้วก็คมเฉียบสำหรับจะตัดปัญหา เมื่อไม่มีแรงก็ใช้สมาธิระดมแรงลงไป ปัญญาก็ทำหน้าที่ ปัญหาก็หมด เรื่องร้ายก็ไม่มี ความทุกข์ก็ดับไป การบวชนั้นก็ควรจะเล่าเรียนในส่วนแง่ปริยัติ ให้ถูกต้องและเพียงพอ แล้วก็ปฏิบัติให้มันได้ ให้ถูกต้องและเพียงพอ แล้วก็จะได้รับผลคือปฏิเวธ ตามที่ต้องการ ๓ คำนี้จำไว้ให้ดี ปริยัติ รู้สิ่งที่ควรรู้ ปฏิบัติก็ปฏิบัติสิ่งที่ควรปฏิบัติ ปฏิเวธก็คือรู้ผลที่ได้รับจากการปฏิบัติที่ถูกต้อง เรียกว่าปริยัติ เรียกว่าปฏิบัติ เรียกว่าปฏิเวธ เรียกเป็นภาษาไทยก็คือความรู้ การกระทำและผลของการกระทำ ๓ คำนี้ล่ะ เรียนให้รู้ ปฏิบัติให้ได้ แล้วก็ได้รับผลของการปฏิบัติ อย่างนี้ทั้งนั้นไม่ว่าทำอะไร จะทำไร่ทำนาทำสวนก็ต้องมีความรู้ มีการปฏิบัติ แล้วก็ได้รับผล จะการค้าขาย จะทำอะไรก็ได้ จะเป็นศิลปิน เป็นกรรมกรแบกหามก็เหมือนกัน คือต้องมีความรู้แล้วต้องกระทำแล้วก็รับผลทีหลัง ให้สนใจเรื่องความรู้ให้เพียงพอ ไม่ต้องรู้ทั้งหมดหรอก ใครๆก็ไม่อาจจะรู้ทั้งหมด แม้พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้รู้ทั้งหมด ท่านก็ได้นามว่า สัพพัญญู รู้ทั้งหมด มันทั้งหมดเท่าที่ควรจะรู้ สิ่งที่ไม่ต้องรู้ท่านก็ไม่รู้ จะเอาพระพุทธเจ้ามาขับรถยนต์ ทำได้ที่ไหน เพราะไม่ได้เรียน นี่ไม่ต้องรู้ พระพุทธเจ้าจะมาพูดจีนทำไม ไม่ใช่จะมาซื้อของที่ตลาด พระพุทธเจ้าจะรู้เฉพาะสิ่งที่จะดับทุกข์และรู้หมด ไม่มีอะไรเหลือ นี่เราก็ควรจะเรียนรู้เท่าที่เห็นว่าควรจะรู้ ถ้าเราปฏิบัติ ให้ทันแก่เวลาทันแก่เหตุการณ์ก็ดับทุกข์ได้ ขะโณ มา โว อุปัจจะคา ขณะที่จะมีอยู่เฉพาะ อย่าผ่านพ้นไปเสีย ต้องทำให้เป็นประโยชน์ถึงที่สุดตามสมควรแก่ขณะ พวกฝรั่งก็ บีไวซ์อินไทม์ (Be wise in time) ฉลาดทันเวลา ถ้าเราไม่มีความรู้เพียงพอ ถ้าเราไม่มีสติเพียงพอ มันทำไม่ได้หรอก ฉลาดทันเวลานี่จัดการได้ทันเวลา ถ้าเรารู้เพียงพอ รู้ไว้อย่างเพียงพอ ครบถ้วนในทุกเรื่องที่ควรจะรู้ มันก็ทำได้ นี่ก็มียาครบทุกอย่าง มีอาวุธครบทุกอย่างมาใช้แก้ปัญหาได้โดยสะดวก มันอะไรที่ควรจะเรียนจะรู้ ก็เรียนเสียแล้วก็อย่าประมาท ถ้าไม่จดไม่จำกลับไปไม่เรียนเท่าไรแล้ว คงเคยถูกมาแล้ว ถ้าไม่พยายามจำให้ดี ไม่พยายามจดให้ดี มันลืม เพราะมันเพิ่มขึ้น เป็นหลาย ๑๐ เรื่อง เป็นหลาย ๑๐๐ เรื่อง มันก็ลืม แต่ถ้าเรามีสมุดโน้ตประจำตัวเขียนไว้เรื่อย ต้องการเปิดดูเมื่อไรก็ได้ ช่วยได้มาก สะดวกมาก เรื่องที่ดีที่มีประโยชน์เรื่องวิเศษก็จดไว้ดูเมื่อไรก็ได้ เตือนตัวเองเมื่อไรก็ได้ ว่างๆก็มาเปิดดูก็ได้ ไม่มีเรื่องอะไรมาเปิดดู ก็ซ้อมความเข้าใจก็ได้ นี่เรียกว่าเราจะมีการเรียนการปฏิบัติในระหว่างที่เราบวช เราสึกออกไปเราก็มีอะไรติดออกไปมาก ไม่โง่เท่าเดิม ถ้าเหมือนกับเมื่อก่อนบวช นี่เป็นเรื่องไม่โง่เท่าเดิมชนิดที่ ๒ ที่ ๑ ไม่โง่เท่าเดิมเมื่อออกมาจากท้องแม่ ที่ ๒ คือไม่โง่เท่าเดิมเหมือนเมื่อก่อนบวช
ก็พูดอีกชนิดหนึ่งเป็นอย่างที่ ๓ ว่าไม่โง่เหมือนกับที่ไม่เคยประสบการณ์ในชีวิต เมื่อไม่เคยมีประสบการณ์น่ะมันโง่ เดี๋ยวนี้เรามีประสบการณ์เพิ่มขึ้นทุกวัน เราก็ควรจะฉลาด ฉลาดเพิ่มขึ้นทุกวัน เพราะประสบการณ์มีเพิ่มขึ้นทุกวัน ชีวิตมันเป็นการศึกษาอยู่ในตัวมันเอง เพราะว่ามันมีประสบการณ์มากระทบชีวิตเพิ่มขึ้นทุกวันไม่มีที่สิ้นสุด ฉะนั้นขอให้ประสบการณ์อย่างหนึ่งมาทำให้เราฉลาดสามารถขึ้นอย่างหนึ่งเสมอไป นี่เราเป็นเด็กไม่เคยมีประสบการณ์มันก็โง่ แต่พอเราโตเป็นผู้ใหญ่แล้วมีประสบการณ์เราก็ฉลาด ที่ได้มาบวชแสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆแปลกๆก็ยิ่งฉลาดยิ่งขึ้นไปอีก กลับออกไปทำงานในหน้าที่การงานเป็นผู้ทำหน้าที่การงาน เป็นพ่อบ้านเป็นหัวหน้าก็แล้วแต่ มีประสบการณ์มากก็ยิ่งฉลาดขึ้นไปอีก เราจะต้องเป็นผู้ฉลาดยิ่งกว่าเมื่อไม่เคยมีประสบการณ์ ไม่โง่เท่าเดิมแล้ว คือมันฉลาดยิ่งขึ้นทุกครั้งที่มันมีประสบการณ์ ให้ชีวิตนี้เป็นการศึกษาอยู่ในตัวมันเอง รู้จักชีวิต รู้จักสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิต รู้จักตัวชีวิตว่าคืออะไร ชีวิตนั่นก็คือการดำรงอยู่แห่งสิ่งที่มีชีวิตแล้วก็มีความถูกต้องด้วย รอดอยู่ด้วยจึงจะมีชีวิต ไม่เช่นนั้นก็ตาย ถ้าเป็นทุกข์ก็เรียกว่าตายโดยที่ร่างกายไม่ต้องตายแต่จิตใจมันตาย ตายแล้วทางจิตใจเขาเรียกว่าไม่มีชีวิตเหมือนกัน เพราะฉะนั้นคนโง่คือคนตายแล้ว อัปปะมาโท ความประมาทคือความตาย คนประมาทคือคนตายแล้ว คือคนโง่ เท่ากับคนตายแล้ว ถ้าเราไม่โง่เราก็ไม่ตาย อย่ามีความประมาท อย่ามีความอวดดีเล็กๆน้อยๆ กูรู้แล้ว ถ้ามันยังมีความรู้สึกเป็นบวกเป็นลบอยู่ก็ขอให้รู้ว่ายังโง่อยู่ ถ้ามันเฉยปกติไม่เป็นบวกไม่เป็นลบ นั่นล่ะจะเรียกว่ารู้จริง มันจะไม่ดีใจจะไม่เสียใจ ไม่ต้องหัวเราะไม่ต้องร้องไห้ ไม่ต้องยึดมั่นถือมั่น เป็นตัวกูของกูที่ทำให้เกิดความกลัวอยู่เสมอ ความกลัวว่าจะไม่ได้ตามที่ต้องการมันสิงอยู่ในจิตใจตลอดเวลา อย่างนี้ไม่ไหวน่ะ ผมพูดให้ฝรั่งฟังเพื่อจำง่ายด้วยคำพูดสั้นๆว่าชีวิตนี้ถ้าไม่มีธรรมะ มันกัดเจ้าของ ชีวิตนี้ถ้ามีธรรมะ มันไม่กัดเจ้าของ มันกัดด้วยอะไร ยกตัวอย่างมาให้ฟังเพียง ๑๐ ตัวอย่าง คือจิตใจที่ยังโง่ ยังเป็นบวกเป็นลบอยู่ มันก็กัดเจ้าของ ความรักก็กัด มีสิ่งมาทำให้รักก็หลงรัก ความรักมันก็กัด ทำแบบความรัก นี่ถ้าทำผิด โกรธ ความโกรธมันก็กัด กัดหัวใจ กัดเจ้าของ ตามแบบความโกรธ ทีนี้เกลียด ไม่มีเรื่องอะไร จะเกลียด มันก็กัดเจ้าของไปตามแบบความเกลียด นี่ก็กลัว กลัวก็กัดเจ้าของตามแบบความกลัว ตื่นเต้น ไปตื่นเต้นในสิ่งอะไรก็โง่ในสิ่งนั้น ไม่ต้องตื่นเต้น ไม่ต้องไปดูมวยให้จิตตื่นเต้น ไม่ต้องไปดูกีฬาให้จิตตื่นเต้น ไม่ต้องไปส่งเสริมให้มันตื่นเต้น ตัวตื่นเต้นน่ะมันกัดเจ้าของ มันไม่มีความสงบสุข ไปสนใจไปตื่นเต้น ไม่มีวันพักผ่อน ตื่นเต้นมันกัดเจ้าของให้วิตกกังวลถึงไอ้ที่ยังไม่มาข้างหน้า ก็กัดเจ้าของ อาลัยอาวรณ์ด้วยเรื่องหนหลังก็กัดเจ้าของ อิจฉาริษยายิ่งกัดเจ้าของ พอใครคิดอิจฉาริษยา ก็กัดคนนั้นทันที ผู้โน้นไม่รู้เรื่อง นอนหลับไม่รู้ อยู่...(นาทีที่ 55.01) แต่ความริษยามันกัดเจ้าของผู้ริษยานี่แย่กว่า ความหวง ความเป็นห่วง ความหวง ความเป็นห่วงหรือความหวังนี่ก็กัดเจ้าของ แต่ความหึงกัดกันถึงที่สุด ฆ่ากันตายเพราะความหึง มีตั้งหลาย ๑๐ อย่างเอามาให้ฟังเป็นตัวอย่างได้ ดูมันจะสัก ๑๐ อย่าง ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความตื่นเต้น วิตกกังวลในอนาคต อาลัยอาวรณ์ในอดีต อิจฉาริษยาแล้วก็หวงกั้นไปหมด แล้วก็หึงกันจนสุดขีด ยกตัวอย่างมา ๑๐ อย่างก็พอ คุณลองจำไว้ มีประโยชน์ ตัวอย่างนี้ ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความตื่นเต้น วิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยา หวงหึง มันกัดอยู่ตลอดเวลา ที่มันไม่มีธรรมะหรือปราศจากสติ กัดมากกัดน้อย กัดหนักกัดเบาก็แล้วแต่เรื่อง แต่มันกัดอยู่ตลอดเวลา ที่เจ้าของไม่มีธรรมะ ไม่มีสติ ไม่มีสัมปชัญญะ ไม่มีสมาธิ ถ้ามีสติสัมปชัญญะอย่างที่ว่าเมื่อกี้ มันไม่มีทางที่จะกัด ไม่มีโอกาสที่ชีวิตนี้จะกัดเจ้าของ เพราะฉะนั้น ขอให้ได้ความรู้ความเก่งในการที่ป้องกันไม่ให้ชีวิตนี้กัดเจ้าของยิ่งขึ้นไปๆไปตลอดชีวิตเลย คือถ้ากัดก็กัดแต่น้อย นิดเดียวก็เตะกระเด็นไป เลิกกัน อย่าให้มันกัดจนถึงกระดูก อย่าให้กิเลสหรือความทุกข์มันกัดถึงกระดูก มีสติเร็วมีสัมปชัญญะเร็วก็ป้องกันเสียได้ อย่างนี้ก็เรียกว่าไม่โง่ ไม่โง่เท่าเดิม ฉลาดก่อนเข้าโลง มีฉลาดเพียงพอก่อนที่จะลงโลง อย่าเอาความโง่ใส่เข้าโลงไปด้วย นี่ก็ ๓ หัวข้อนี้ก็พอ อย่าโง่เท่าเดิมเมื่อเกิดมาจากท้องแม่ อย่าโง่เท่าเดิมเมื่อสึกออกไปจากความเป็นพระ อย่าโง่เท่าเดิมเมื่อจะลงโลง อย่าโง่เท่าเดิม ทั้งหมดนี้เรียกว่าข้าพเจ้าจะไม่โง่เท่าเดิม ก็ขอให้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญตลอดชีวิต จะต้องไม่มีอาการที่เรียกว่าโง่เท่าเดิม โง่เท่าเดิมต้องไม่มี ทำผิดแล้วต้องฉลาดขึ้นทันที ทำผิดหรือความทุกข์ที่ได้รับสอนให้ฉลาดขึ้นทันที ยิ่งอายุมากยิ่งฉลาดนั่นล่ะถูกต้อง ชีวิตเป็นการศึกษายิ่งกว่ามหาวิทยาลัย ในตัวชีวิตเองเป็นการศึกษายิ่งกว่าในมหาวิทยาลัยท่องจำ นี่วันนี้ก็พูดเพียงเท่านี้คือ ๑ ชั่วโมงพอดี มีแรงพูดสำหรับ ๑ ชั่วโมง ให้มีความเหมาะสมสำหรับ ๑ ชั่วโมง ดังนั้น ก็ขอยุติการบรรยายในวันนี้ด้วยการสรุปคำสั้นๆว่าอย่าโง่เท่าเดิม พอแล้ว