แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านพุทธทาส : จะมีอะไรกัน คุณดุษฎีไปไหนล่ะ หรือไม่ต้องมา เอ้า,(นาทีที่00.25)จะมีอะไรก็ว่าไป
คำถาม : ท่านอาจารย์ครับ เพื่อให้สะดวกและก็ประหยัดเวลาก็เลยรวบรวมคำถามและก็ผมถามคนเดียวฮะ แล้วถ้ามีคำถามไม่ชัดเจนผมจะนิมนต์พระที่ถามคำถามนั้นมาถามอีกทีหนึ่งครับ
ท่านพุทธทาส : ให้คนถามนะเขาซักเองคุณคงจะซักไม่ถูก เอ้า,ว่าไป ๆ
คำถาม : คำถามข้อแรกนะครับ สัมมาทิฐิมีความสำคัญมาก อยากทราบว่าสัมมาทิฐินี้มีความเป็นสากลหรือไม่ หรือแปรผันตามลัทธิและสถานการณ์ และอาจารย์มีวิธีพิจารณาว่าอะไรเป็นสัมมาทิฐิได้อย่างไร เรียนถามอาจารย์ครับ
ท่านพุทธทาส : สัมมาทิฐิในพุทธศาสนา หมายถึงทิฐิที่ถูกต้องตามธรรมชาติ ที่มันดับทุกข์ได้จริง ถ้าเป็นสัมมาทิฐิในศาสนาอื่นซึ่งเขาบัญญัติขึ้นตามใจชอบของเขา เราไม่รู้เราไม่ต้องสนใจ สนใจแต่สัมมาทิฐิ ในพระพุทธศาสนา ซึ่งต้องดับทุกข์ได้จริง ถ้าดับทุกข์ไม่ได้จริงก็ไม่เรียกว่าสัมมาทิฐิ นี่สัมมาทิฐิในพุทธศาสนาหมายถึง ทิฐิที่ถูกต้องและมีประโยชน์แก่การดับทุกข์เท่านั้น
คำถาม : ครับข้อที่ ๒ ครับ การเกิดนิวรณ์อันใดอันหนึ่งขึ้นในใจ จะมีวิธีใดบ้างที่จะกำจัดนิวรณ์เหล่านั้นออกไปจากใจ และผัสสะทุกครั้งที่เกิดขณะมีนิวรณ์จะต้องเกิดอวิชชาใช่หรือไม่ เรียนถามอาจารย์ครับ
ท่านพุทธทาส : นิวรณ์คืออะไรมีคู่ปรับอย่างไร มีอยู่แล้วในแบบเรียน จะเอามาพูดกันอีกก็ได้ มีหลักง่าย ๆ ว่าสิ่งที่มันตรงกันข้าม มันย่อมจะดับ กามฉันทะ ก็ต้องมีสิ่งที่ตรงกันข้ามจากกามฉันทะ พยาบาทก็มีสิ่งตรงกันข้ามคือไม่พยาบาทหรือเมตตา ถีนมิทธะ ที่ทำให้จิตใจหดหู่แฟบลง ก็ต้องมีสิ่งที่ตรงกันข้ามคือกระตุ้นใจให้เบิกบาน แจ่มใสเข้มแข็งขึ้นมา อุทธัจจะ ฟุ้งซ่านก็สิ่งที่ทำให้จิตใจสงบไม่ฟุ้งซ่าน วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยก็สิ่งที่ทำให้ไม่ต้องลังเลสงสัย ให้มันแน่ใจลงไปอย่างใดอย่างหนึ่ง เกิดนิวรณ์มันก็เป็นอวิชชาอยู่ในตัวมันแล้ว นิวรณ์นี้เป็นอาหารของอวิชชาสืบต่อ ๆ ไปอีก ดังนั้นมีนิวรณ์แล้วก็หมายความว่า อวิชชาเกิดอยู่แล้ว และอาจจะเกิดต่อ ๆ ๆ ไปอีกได้โดยไม่จำกัด ข้อนี้มันแล้วแต่กรณีของมัน เป็นเรื่อง ๆ ไป
คำถาม : ข้อที่ ๓ ครับ การถือศีลอย่างเคร่งครัด บางท่านว่าอาจเป็น สีลัพพตปรามาสได้ อยากถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ครับ เรียนถามอาจารย์ครับ
ท่านพุทธทาส : มันมีปัญหาอยู่ที่ว่าอย่างไรเรียกว่าเคร่ง เคร่ง ๆ ของพวกบ้าบอหลับหูหลับตาก็มันเคร่งจนเครียด แต่ถ้าว่าเคร่งในความหมายที่ถูกต้องในพุทธศาสนานั้นคือ พอดี ๆ ๆ ยิ่งพอดีเท่าไรก็ยิ่งเคร่งเท่านั้น ดังนั้นคำว่าเคร่งถ้าถือเอาตามหลักพุทธศาสนาก็ไม่มีทางที่จะเป็นสีลัพพตปรามาส เว้นไว้แต่จะเป็นเคร่งอย่างงมงาย จึงจะกลายเป็นสีลัพพตปรามาส
คำถาม : ครับข้อต่อไปครับ วิธีป้องกันไม่ให้กิเลสประเภท โลภะเกิดขึ้นทำอย่างไร หากเกิดขึ้นแล้วจะแก้ไขอย่างไรครับ
ท่านพุทธทาส : กิเลสทุกประเภททุกชื่อป้องกันไม่ให้เกิดด้วยสติ ไม่เฉพาะโลภะอย่างเดียว โทสะ โมหะหรืออะไรก็ตาม หรือกิเลสที่แยกเป็นตัวน้อย ๆ ชื่อแปลก ๆ ออกไป จะต้องป้องกันได้ด้วยสติทั้งนั้น ดังนั้นขอให้มีสติทันเวลาที่มีอารมณ์มากระทบในขณะที่เรียกว่า ผัสสะ ผัสสะ มีสติหมายความว่ามีปัญญามา เป็นสัมปชัญญะต้อนรับอารมณ์นั้น ๆ กิเลสก็เกิดไม่ได้
คำถาม : ครับข้อต่อไปครับ ในกระแสปฏิจสมุปบาท การเกิดตัวกูในช่วงของ ภพ และ ชาติ ต่างกันอย่างไรครับ เรียนถามอาจารย์ครับ
ท่านพุทธทาส : ไม่ใช่แบ่งอย่างนั้น เมื่อมีตัณหาก็หมายความว่า มันตั้งปฏิสนธิแห่งตัวกู เขาอุปาทาน มันก็ตัณหามันก็แสดงบทบาทเต็มที่ ในอุปาทานให้มีตัวกูเต็มความรู้สึกอยู่ในภายใน พอถึงขั้นแห่ง ภพ ตัวกูนั้นมันมีความหมายเป็นตัวกูอย่างนั้นอย่างนี้เต็มที่ เหมือนกับครรภ์แก่จวนคลอด พอถึงระยะแห่ง ชาติ มันก็คลอดออกมาเป็นตัวกูในรูปใดรูปหนึ่ง อย่างใดอย่างหนึ่ง ลักษณะใดลักษณะหนึ่งอย่างชัดแจ้ง ตัวกูสายเดียวกันนั่นแหละก่อหวอด เมื่อตัณหาโตขึ้นมาอุปาทาน แก่จัดมันก็เป็นภพ คลอดออกมาก็มาเป็นชาติ ต่อไปนี้เป็นตัวกู ๆ ก็คว้าอะไรมาเป็นของกู ๆ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ อะไรมา เอามาเป็นของกูหมด คำถามนั้นไม่ตรงตามเรื่องว่าตัวกูของขณะนั้น ตัวกูของขณะนี้ รู้แต่ว่าตัวกูนั้นมันค่อย ๆ เจริญ ค่อย ๆ เจริญ จนเต็มที่แล้วก็โพล่งออกมาเรียกว่าชาติ เมื่อถือว่าตัวกูตัวเดียวกันมันก็มีลักษณะต่างกันบ้าง ตัวกูที่แรกตั้งแต่ปฏิสนธิ ตัวกูที่เจริญอยู่ในครรภ์ ตัวกูที่อยู่ในครรภ์ที่แก่แล้ว ตัวกูอยู่ในขณะที่คลอดออกมานี่ ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ มีความหมายต่างกันอย่างนี้
คำถาม : ข้อต่อไปครับ การจะมีอตัมมยตาให้มั่นคง ควรนำธรรมะข้อไหนมาเป็นหัวใจในการประพฤติปฏิบัติ กราบเรียนถามอาจารย์ครับ
ท่านพุทธทาส : ต้องตั้งต้นมาแต่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นอนิจจังให้ชัดแจ้ง แล้วก็เห็นทุกขังชัดแจ้ง แล้วก็เห็นอนัตตาชัดแจ้ง แล้วก็เห็น ธัมมัฏฐิตตา ว่าเช่นนี้เป็นธรรมดาของธรรมชาติ ตามธรรมชาติ เห็นชัด ธัมมนิยามตา ว่าความเป็นอย่างนี้เป็นกฎตายตัวของธรรมชาติ อาการทั้งหมดทั้งสายนี้เรียกว่า อิทัปปัจจยตา ต่อไปนี้ก็จะเห็นว่ามันไม่เป็นตัวตน มันว่างจากตัวตนคือเห็น สุญญตา ดังนั้นเห็นสุญญตาก็หมายความว่าเอาตัวตนออกไปเสีย ก็เหลือแต่ความเป็นเช่นนั้นเองๆ ตามธรรมชาติ เรียกว่า ตถาตา ถ้าเห็นตถาตาถึงที่สุดแล้ว อตัมมยตาก็ปรากฏเต็มที่ ฉะนั้นขอให้ใช้เก้าตา รวมกันเป็นสายติดต่อกันมา อนิจจตา ทุกขตา อนัตตา ธัมมัฏฐิตตา ธัมมนิยามตา อิทัปปัจจยตา สุญญตา ตถาตา อตัมมยตา เรียกว่าเก้าตา ๆ ชุดหนึ่งเลย
คำถาม : เรียนถามอาจารย์ข้อต่อไปครับ การที่จะทำตนให้อยู่เป็นกลาง ๆ คือเมื่อดีใจก็ให้เฉย ๆ และเมื่อเสียใจก็ให้เฉย ๆ จะไม่ฝืนกับธรรมชาติหรือครับ เรียนถามอาจารย์ครับ
ท่านพุทธทาส : มันไม่ใช่ว่าจะไปทำให้มันเป็นอย่างนั้น ให้มันเป็นอย่างนี้ หมายความว่าเมื่อมันดีใจก็เป็นทุกข์ วุ่นวายแบบดีใจ เสียใจมันก็เป็นทุกข์ วุ่นวายแบบเสียใจ ดีใจก็ยุ่งเสียใจก็ยุ่ง ที่เราไม่อยากยุ่ง ไม่อยากให้วุ่น ไม่อยากให้ต้องทนทรมาน ก็ไม่ทำก็ไม่ปล่อยให้เกิดความรู้สึกดีใจหรือเสียใจ เรียกว่าชนะธรรมชาติ มากกว่าที่จะเรียกว่าฝืนธรรมชาติ เพราะว่าถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติมันเป็นทุกข์ เดี๋ยวนี้เราไม่ต้องการจะเป็นทุกข์ให้ละอายแมวนี่ เราก็บังคับให้อยู่ในลักษณะที่ว่ามันไม่เป็นทุกข์ จึงดำรงจิตให้อยู่ในลักษณะที่เรียกว่า ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ไม่เป็นอภิชชา ไม่เป็นโทมนัส นั่นแหละภาษาบาลีเขาใช้อย่างนั้น ก็เพื่อจะไม่ให้เกิดทุกข์ ไม่เรียกว่าฝืนธรรมชาติ แต่เรียกว่าบังคับธรรมชาติมากกว่า
คำถาม : เรียนถามอาจารย์ข้อต่อไปครับ การทำงานด้วยจิตว่างจะไม่เป็นการตัดทอนความก้าวหน้าแห่งชีวิตการงานหรือครับ กราบเรียนถามอาจารย์ครับ
ท่านพุทธทาส : นั่นผู้ถามไม่รู้จักความหมายของคำว่า จิตว่าง มันคงจะหมายความว่า จิตว่างแล้วมันไม่ทำอะไร เหมือนจะนอนเหมือนท่อนไม้อะไรจิตว่าง จิตว่างไม่ใช่อย่างนั้น จิตว่างนั่นคือว่างจากความหมายมั่นเป็นตัวกู ของกู คือไม่มีความเห็นแก่ตัวอยู่ในจิต จิตว่างจากความเห็นแก่ตัว ว่างจากไปคว้าเอาอะไรมาเป็นตัว มาเป็นของตัว คำว่าว่างนั่นคือว่างจากตัว ว่างจากความหมายแห่งตัว ไม่ใช่ว่าไม่มีอะไรเลย พอความรู้สึกเป็นตัวออกไปหมด สติปัญญา สัมปชัญญะ สมาธิก็เข้ามาเต็มเปี่ยม จิตนั้นเลยสามารถถึงที่สุด จิตนั้นจะเป็น กัมมนียะ สมควรแก่การงานที่เรียกกันภาษาโลกปัจจุบันว่า มัน active ถึงที่สุด จิตว่างนั่นคือ active ถึงที่สุด จิตที่หอบหิ้วอะไรพะรุงพะรังโซเซอยู่ มันไม่อาจจะแคล่วคล่องว่องไว พอไม่มีอะไรมาทำให้อีนุงอีนังรุงรังมันก็แคล่วคล่องว่องไว เพราะฉะนั้นจิตว่างทำงานได้ดีกว่าจิตไม่ว่าง จิตไม่ว่างมีอะไรรบกวน มีอะไรรบกวนหรือติดพันอยู่กับสิ่งใดหรือเสียอิสรภาพ ถูกจับยึดไว้โดยสิ่งใดอันนั้นไม่เรียกว่าจิตไม่ว่าง คำว่าว่าง ว่าง นี่ช่วยจำไว้ว่า ว่างจากตัวกู ว่างจากของกู ซึ่งเป็นความรู้สึก คือความรู้สึกว่าตัวกู ของกูไม่มากลัดกลุ้มอยู่ในใจในเวลานั้น เพราะไม่มีตัวกูของกู กลัดกลุ้มอยู่ในจิตใจในเวลานั้นเราเรียกว่าจิตว่าง ว่างอย่างนี้เต็มไปด้วยสิ่งที่มีประโยชน์สติปัญญา สมาธิ สัมปชัญญะ อะไรเต็มไปหมด จิตว่างทำงานได้ดี คือจิตอิสระ จิตมีคุณสมบัติครบถ้วน ก็ทำงานได้ดี จิตว่างจะทำให้เกิดการพัฒนารวดเร็วสูงสุดกว่าจิตไม่ว่าง อย่างที่จะเทียบกันไม่ได้ทีเดียว
คำถาม : กราบเรียนถามอาจารย์ข้อต่อไปครับ จิตที่กำลังวุ่นควรแก้อย่างไรครับ ข้อย่อยข้อที่สองจิตที่กำลังวุ่นควรใช้การทำสมาธิแก้หรือไม่ ข้อที่สามทำอย่างไรการทำสมาธิจึงไม่ลดทอนความประภัสสรที่มีอยู่แต่เดิม
ท่านพุทธทาส : ถามใหม่ข้อที่หนึ่ง
คำถาม : -ข้อที่หนึ่งครับ จิตที่กำลังวุ่นควรแก้อย่างไรครับ
ท่านพุทธทาส : จิตที่กำลังวุ่นอยู่ด้วยอะไร ก็เอากิเลสที่เป็นเหตุให้วุ่นนั้นออกไปเสียจากจิตใจ จะวุ่นด้วยโลภะ โทสะ โมหะ หรือวุ่นอยู่ด้วยอะไร ก็ขับไล่ออกไปเสียจากจิตใจ ข้อนี้เป็นการง่ายสำหรับผู้ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติอานาปานสติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หมวดที่ ๓ คือ จิตตานุปัสสนา ประสบความสำเร็จในข้อนี้แล้วจะง่ายที่สุดที่จะขับไล่จิตวุ่นทุกชนิดที่ไม่พึงปรารถนาออกไปเสียจากจิตใจ ข้อที่สองว่าอย่างไร
คำถาม : ข้อที่สองถามว่า จิตที่กำลังวุ่นควรใช้การทำสมาธิแก้หรือไม่ครับ
ท่านพุทธทาส : บ้าแล้ว ถ้าถามว่าควรใช้หรือไม่ ก็เห็นอยู่ว่าจิตวุ่น แล้วมันก็ต้องแก้ ต้องแก้ จะแก้ด้วยอะไรก็ว่าไป คือจิตวุ่นคือมันไม่เป็นสมาธิ ไม่อยู่ในร่องรอยแล้วต้องใช้วิธีเรียกรวม ๆ กันว่าสมาธิภาวนาแก้ ข้อที่สามว่ายังไง
คำถาม : ข้อที่สามสมาธิ ทำอย่างไรการทำสมาธิจึงไม่ลดทอนความประภัสสรที่มีอยู่แต่เดิมครับ
ท่านพุทธทาส : ความเป็นสมาธิ ท่านจัดเป็นประภัสสรชนิดหนึ่ง เพราะว่าในขณะแห่งสมาธินั้นไม่มีกิเลส ความว่างจากกิเลสนั่นแหละคือความเป็นประภัสสร ประภัสสรตามธรรมชาติเมื่อกิเลสยังไม่เกิดต้องเป็นประภัสสรลูกอ่อนพร้อมที่จะให้กิเลสเกิด ทีนี้มีการทำความประภัสสรให้เข้มแข็งด้วยสมาธิอย่างใด อย่างหนึ่งมีสมาธิก็เป็นจิตประภัสสรอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน ในระดับหนึ่งด้วยเหมือนกัน ดังนั้นการทำสมาธิคือการทำจิตให้มีความเป็นประภัสสรในรูปแบบหนึ่ง ไม่เป็นการทำลายจิตประภัสสรแต่เดิมนะ และยังจะช่วยแก้ไขกล่อมเกลาให้จิตประภัสสรเดิมที่อ่อนแอนั้นนะให้เป็นประภัสสรที่แข็งขึ้น ๆ เข้มแข็งขึ้น ๆ จนกว่าจะถึงที่สุด
คำถาม : เรียนถามอาจารย์ข้อต่อไปครับ ระหว่างสวรรค์กับนิพพานนั้น พุทธศาสนาสอนว่านิพพานสุขกว่า ในแง่ของสุขภาพจิตนั้นแน่นอนหรือว่านิพพานจะมีประโยชน์มากกว่า ถ้าเป็นจริงขอให้อาจารย์ยกตัวอย่างว่าเช่นอย่างไรบ้างครับ
ท่านพุทธทาส : อ่านอีกที อ่านอีกที
คำถาม : ถามว่าระหว่างสวรรค์กับนิพพานนั้น พุทธศาสนาสอนว่านิพพานเป็นสุขกว่า แต่ในแง่ของสุขภาพจิตนั้น จะแน่นอนหรือว่านิพพานจะมีประโยชน์มากกว่า ถ้ามีประโยชน์มากกว่าขอให้อาจารย์ช่วยยกตัวอย่างด้วยครับ
ท่านพุทธทาส : ไม่มีคำกล่าวตรง ๆ ว่านิพพานเป็นสุขกว่าสวรรค์นะ เพราะว่าถ้าพูดให้ถูกต้องนิพพานมันอยู่เหนือสุข เหนือทุกข์ เหนือทุกข์ เหนือสุขไปนู่น สวรรค์นี่ยังเป็นความสุขชนิดใดชนิดหนึ่งตามชนิดตามลักษณะของมัน คือหลายชนิด ความสุขหลายชนิด นั้นถ้ามีนิพพานก็อยู่เหนือความสุข เหนือความรู้สึกที่เป็นสุข นิพพานไม่ได้แปลว่าตาย ไม่ต้องตาย ไม่ใช่ตายแล้วจึงจะได้นิพพาน เมื่อใดจิตว่างจากกิเลสเมื่อนั้นจิตก็ไม่มีไฟ ไม่มีไฟ มันก็เย็น เย็น ตามความหมายของคำว่านิพพาน นิพพานแปลว่าเย็น ช่วยจำไว้ด้วย ก็เป็นอันว่าความเย็นแห่งชีวิตนั้นไม่ทำลายสุขภาพกายสุขภาพจิตใด ๆ กลับทำให้มีสุขภาพดีเสียอีก ในสวรรค์นั้นแหละมันวุ่น มันรบกวน มันบ้ากาม พูดชัด ๆ อย่างนั้นนะ ไม่ส่งเสริมสุขภาพหรอก ทำลายสุขภาพโดยเฉพาะทางจิต นี่สวรรค์ในความหมายที่รู้กันอยู่ถือกันอยู่เป็นเรื่องกามทั้งนั้นแหละ เรื่องกามารมณ์ เรื่องทางเพศ ไม่ส่งเสริมสุขภาพจิต
คำถาม : ครับเรียนถามอาจารย์คำถามต่อไปครับ ไสยศาสตร์ และก็โหราศาสตร์ ไม่มีเลยจริงหรือครับ
ท่านพุทธทาส : ใครว่า ผมไม่ได้ว่านะ ไสยศาสตร์ก็มีตามแบบไสยศาสตร์ โหราศาสตร์มันก็มีตามแบบโหราศาสตร์ โหราศาสตร์เรื่องถูกจัดไว้ในฝ่ายไสยศาสตร์ เพราะมันไม่มีเหตุผลตามหลักของอริยสัจจ์ ต้องจัดไว้ในเรื่องของไสยศาสตร์ มันไม่ต้องหาเหตุผล ไม่ต้องค้นหาเหตุผล เป็นศาสตร์ที่เหมาะสำหรับผู้ที่ยังมีปัญญาอ่อน จะเป็นเด็กหรือผู้มีปัญญาอ่อนชนิดไหน พึ่งตัวเองไม่ได้ก็ต้องพึ่งผู้อื่น ก็ต้องหาที่พึ่งให้ผู้อื่นอย่างนี้เรียกว่า ไสยศาสตร์ ถ้าเขาเป็นพุทธศาสตร์มีปัญญากล้าแข็ง มันก็รู้วิธีที่จะทำที่พึ่งให้แก่ตนเอง พุทธศาสตร์ แปลว่า ศาสตร์ของผู้ตื่น ไสยศาสตร์แปลว่า ศาสตร์ของผู้หลับ ก็คือไม่มีความรู้อย่างพุทธศาสตร์ เรียกว่า หลับ ไสยศาสตร์ก็เหมาะสำหรับคนที่ยังปัญญาอ่อน พอปัญญาแข็งเขาก็เลื่อนไปสู่พุทธศาสตร์เอง ถ้าไม่มีไสยศาสตร์เสียเลยคนปัญญาอ่อนก็ว้าเหว่ไม่มีที่อะไรจะจับจะยึด ฉะนั้นเขาจึงให้ถือนั้นถือนี่ แขวนตะกรุดทิศมร เครื่องราง ดูโชคชะตาราศี ทำจิตใจให้กล้าแข็งตามแบบนั้นไปก่อนเขาเรียกว่าไสยศาสตร์ดีกว่าไม่มีอะไรเสียเลย เป็นเรื่องที่ช่วยคนปัญญาอ่อนอย่าให้เป็นบ้ามีทั้งนั้นแหละ
คำถาม : กราบเรียนถามอาจารย์ข้อต่อไปครับ ขอเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ในความคิดเห็นของท่านอาจารย์ สมองกับจิตเป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่ หรือจิตเป็นผลลัพธ์ของการคิดของสมอง อารมณ์ทั้งหลายที่ปรุงแต่งขึ้นนั้นเกิดจากสมองหรือจิต แล้วก็ถ้าต้องการควบคุมจะควบคุมจิตหรือควบคุมสมองครับ เรียนถามอาจารย์ครับ
ท่านพุทธทาส : ข้อนี้เป็นเรื่องภาษา ไม่ใช่เรื่องธรรมะ บางคนก็บัญญัติความหมายของจิตอย่างหนึ่ง บางคนก็บัญญัติอย่างหนึ่ง สมองตามที่ยึดถือกันทางหลักทางสรีรศาสตร์มันก็เป็นเรื่องของสมอง เราไม่ชี้ชัดลงไปตรงไหน อะไร ที่ทำให้คิดนึกได้เขาเรียกว่าจิต จะเรียกว่าจิตกันเสียทั้งหมดก็ได้ ที่รู้สึกคิดนึกได้ รู้สึกอารมณ์ได้ คิดนึกได้ แล้วก็รู้จักสิ่งต่าง ๆได้เรียกว่า จิต ขอว่าไม่ต้องรู้จักโดยแท้จริงว่าตัวจิตนั้นคืออะไร เอาตามที่รู้สึกสำนึกได้ตามปกติก็แล้วกัน บังคับมัน ฝึกมันให้ได้ เอามาใช้ประโยชน์ตามที่ต้องการให้ได้ก็พอแล้ว การที่จะไปชี้ไอ้ตัวจิตว่าเป็นอะไร ๆ อย่างแจ่มชัดนั้นนะทำไม่ได้ อย่าว่าแต่เรื่องจิตเลย เรื่องที่เป็นฝ่ายวัตถุไม่ใช่จิต เช่น เรื่องไฟฟ้า ไฟฟ้านี้ ไอ้นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายมันก็บอกไม่ได้ว่าไฟฟ้าตัวไฟฟ้าแท้ ๆ มันคืออะไร อยู่ที่ตรงไหน มันออกมาเมื่อการกระทำทางเคมีบ้าง ทาง mechanic มอเตอร์บ้างมันก็ออกมา ทำอย่างนี้มันก็ออกมา ทำอย่างนี้ก็ใช้มันได้ ก็ต้องการประโยชน์เพียงเท่านั้น ถ้าว่าจะดูตัวจริงว่ามันคืออะไร คืออะไร นี่มันคงจะเป็นบ้าเสียก่อนแล้วก็จะไม่ได้ใช้ไฟฟ้า ฉะนั้นอย่าไม่ต้องรู้ไปถึงว่าจิตคืออะไร รู้แต่ว่าอย่างนี้ฝึกจิต อย่างนี้ ๆ ฝึกจิต อย่างนี้จิตฝึกได้อย่างนี้ แล้วมันก็ดับทุกข์อย่างนี้ ข้อนี้เอากันเพียงเท่านี้ คำพูดที่ใช้พูดอยู่ในปัจจุบันนี้ ก็ยังไม่ยุติแน่นอน สำหรับคำว่า จิต สำหรับคำว่า สมอง ในทางบาลีพอที่ ในทางฝ่ายบาลีนะ พอที่จะกล่าวได้ว่าไอ้อันนั้นแหละ ไอ้ที่ไม่รู้อะไรนั่นแหละ ถ้ามันทำหน้าที่คิดก็เรียกว่าจิต ถ้ามันทำความรู้สึกดีชั่ว ต่อรู้สึกเวทนาหรืออะไรก็เรียกว่า มโน ถ้ามันรู้สึกที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เรียกว่าวิญญาณ สามคำเท่านั้นแหละพอ คือว่าจิตเรียกว่าจิต เมื่อมันคิดเรียกว่ามโน เมื่อมันรู้เรียกว่าวิญญาณ เมื่อมันรู้จักอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ใช้คำสามคำนี้ให้ถูกต้องมันก็พูดกันรู้เรื่องก็พอแล้ว จิตหรือมโนหรือวิญญาณ ไม่ต้องไปถามถึงว่ามันอยู่ที่ตรงไหน หรือว่าเกี่ยวกับสมองอย่างไร เพราะว่าไอ้เรื่องของสมองมันก็ยังเอาแน่ไม่ได้ ฉะนั้นเราไม่สนใจ สนใจแต่จะฝึกจิตอย่างไรโดยเฉพาะตามวิธีของอานาปานสติภาวนา แล้วก็ทำจิตให้หลุดพ้นจากความทุกข์ได้
คำถาม : กราบเรียนถามอาจารย์ข้อต่อไปครับ สมาธิที่เป็น สมาหิโตคือความตั้งมั่น ปริสุทโธคือความบริสุทธิ์ กัมมนีโย คือความคล่องแคล่ว แล้วจะกลายเป็นยถาภูตญานทัสสนะ ถามว่าเป็นสมาธิที่เกิดจากอานาปานสติ ใช่หรือไม่ครับเรียนถามอาจารย์ครับ
ท่านพุทธทาส : สมาธิจะเกิดจากอานาปานสติก็ได้ หรือวิธีปฏิบัติอย่างอื่นก็ได้ ถ้ามีความเป็นสมาธิแล้วต้องประกอบด้วยองค์ประกอบหรือลักษณะ ๓ อย่างที่ว่ามานี้จึงจะมีประโยชน์ นั่นคือบริสุทธิ์จากกิเลสในเวลานั้น แล้วก็ตั้งมั่นรวมกำลังจิตทั้งหมดอย่างเข้มแข็งแล้วก็ไว ๆ ต่อการทำหน้าที่ของจิตเอง นี่เรียกว่า สมาธิ ใครมีก็เหมือนมีแก้วสารพัดนึกใช้ทำอะไรได้ทุกอย่าง โดยเฉพาะเกี่ยวกับการดับทุกข์
คำถาม : กราบเรียนถามอาจารย์ข้อต่อไปครับ คำว่าสมถะเมื่ออบรมแล้วจิตจะเจริญ แล้วจะละราคะได้ ส่วนคำว่าวิปัสสนา เมื่อเจริญแล้วปัญญาจะเจริญแล้วก็ละอวิชชาได้ ท่านอาจารย์กรุณาอธิบายว่า ที่ว่าปัญญาจะเจริญได้ เจริญได้อย่างไรและจะละราคะ อวิชชาได้อย่างไรครับ เรียนถามอาจารย์ครับ
ท่านพุทธทาส : สมาธิละราคะได้นี่เป็นคำพูดที่ไม่ตรงตามความจริง สมาธิจะทำได้เพียงข่มกำลังของราคะไว้ไม่ให้ปรากฏ ไม่ใช่ละได้ ไม่ได้ตัดรากราคะ นี่ปัญญาก็ละโมหะ ละอวิชชาได้ และสามารถจะตัดรากของกิเลสชื่ออื่นเช่น ราคะ โลภะ โทสะ อะไรได้ ดังนั้นจะพูดว่าสมถะ ละราคะได้นี่ไม่เห็นด้วย เรียกว่าข่มราคะไม่ให้ปรากฏเสียก็ได้ พอมันหยุดข่มมันก็ออกมาอีก นี่สมถะใครพูดก็ไม่รู้ ผมไม่เชื่อว่าพระพุทธเจ้าตรัสว่าละราคะได้ แต่ข่มราคะล่ะก็ได้ วิปัสสนานู่นที่ว่าจะละโมหะหรืออวิชชาได้ มันมีลักษณะตรงกันข้าม ราคะนั้นข่มไว้ได้ด้วยสมาธิ เท่ากับตัดรากให้ขาดออกไปเสียได้ด้วยวิปัสสนา ปัญญา ปัญญาที่ถึงขนาด ไม่ใช่วิปัสสนาหรือปัญญาขั้นเด็ก ๆ มันต้องขั้นสูงสุด
คำถาม : กราบเรียนถามอาจารย์ข้อต่อไปครับ คำถามมีว่าร่างกายเรานั้นเมื่อสกปรกเราชำระล้าง เมื่อต้องการให้แข็งแรงเราก็บำรุงและออกกำลังกาย ส่วนในทางจิตนั้นการทำความสะอาดหนึ่ง และก็การบำรุงรักษาจิตหนึ่งจะทำอย่างไรครับ กราบเรียนถามอาจารย์ครับ
ท่านพุทธทาส : เมื่อเอามาเปรียบเทียบทางกายทางจิต กายสะอาดก็อาบน้ำ จิตสะอาดก็เรื่องกิเลสที่มันเกิดขึ้น หรือมันกำลังเกิดขึ้นด้วยอำนาจของสติของปัญญาของอะไรก็ได้ ให้กิเลสหลุดไปจากใจในเวลานั้นมันก็เหมือนกับอาบน้ำให้แก่จิตใจ ทีนี้การที่จิตใจมีกำลังกล้าแข็งมีอนามัยดี ก็ต้องปฏิบัติธรรมะส่วนนั้น คือการอบรมจิต ให้เจริญงอกงามด้วยสมาธิด้วยปัญญา ฝึกฝนอยู่ตลอดเวลา ให้เป็นสมาธิตามลำดับ ๆ ๆ ขึ้นไป ให้มีปัญญาญาณเป็นลำดับ ๆ ขึ้นไป ซักซ้อมอยู่อย่างนี้เสมอ ก็เป็นการอบรมหรือบริหารจิตให้มันก้าวหน้าในการที่จะมีสุขภาพทางจิต กำลังทางจิต ตามที่ปรารถนาเหมือนกับที่เราบริหารกายให้มีกำลังทางกายด้วยเหมือนกัน
คำถาม : กราบเรียนถามอาจารย์ข้อต่อไปครับ คำถามมีว่า ที่ว่าผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ชื่อว่าผู้นั้นเห็นธรรม ที่ว่าเห็นปฏิจจสมุปบาทนั้นคือเห็นฝ่ายดับหรือฝ่ายเกิดคือในวงเล็บว่า สมุทยวาร หรือ นิโรธวาร ครับอาจารย์ เรียนถามอาจารย์ครับ
ท่านพุทธทาส : นี่เพราะไม่เข้าใจคำว่า ปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาทเรียกได้ทั้งฝ่ายเกิดและฝ่ายดับ อาศัยการเกิดขึ้นก็เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายเกิด อาศัยการดับลงก็เรียกว่า ปฏิจจนิโรธ คือปฏิจจสมุปบาทฝ่ายดับ เห็นอาการเกิด อาศัยการเกิดขึ้น เห็นอาศัยการดับลง เราก็เรียกว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท สิ่งต่าง ๆ ที่มันยังเป็นสังขตะไม่ว่าอะไรมันจะมีการอาศัยการเกิดขึ้นอาศัยการดับลงอยู่เสมอไป รอบตัวเราทั่วโลกทั่วจักรวาลก็มีสิ่งเหล่านี้ แต่ที่จะเป็นประโยชน์ดูสิ่งที่มีอยู่ภายใน ภายในเราดีกว่า อะไรอาศัยการเกิดขึ้นอย่างไร อาศัยดับลงไปอย่างไรจะดูหยาบ ๆ เข้าไปในเนื้อ หนัง เลือด อะไรก็ตาม ในทางฝ่ายวัตถุร่างกาย ก็เห็นว่ามัน โอ้,อาศัยเกิดขึ้นอาศัยดับ ทีนี้ที่ละเอียดลงไปก็ฝ่ายจิต ความคิดนี่อาศัยอะไรแล้วจึงเกิดขึ้น ความคิดนี่อาศัยอะไรแล้วจึงดับ ดูให้เห็นอาการที่ว่ามันอาศัยกันแล้วเกิดขึ้น อาศัยแล้วดับลงไป นี่ทั้งฝ่ายร่างกายและทั้งฝ่ายจิต ทั้งฝ่ายรูปและทั้งฝ่ายนาม นี่เรียกว่าเห็นปฏิจจสมุปบาทอย่างสมบูรณ์ ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเห็นปฏิจจสมุปบาทก็คือเห็นธรรม เห็นธรรมก็คือเห็นเรา เห็นเราก็คือเห็นผู้ที่แสดงปฏิจจสมุปบาท
คำถาม : ครับกราบเรียนถามอาจารย์ข้อต่อไปครับคำถามมีว่า ในการทำงานหมายถึงในฆราวาสนะครับบางครั้งเราไม่สามารถเดินตามมรรคมีองค์ ๘ ได้ทั้งหมดทั้งนี้สืบเนื่องมาจากผู้ร่วมงาน เช่น ผู้บังคับบัญชา เพราะเป็นผลสืบเนื่องจากผู้บังคับบัญชาไม่ได้เดินตามมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาถึงตัวเราด้วย อยากจะเรียนถามอาจารย์ว่าเราจะทำอย่างไรจึงจะเป็นทางเลือกที่คิดว่าดีที่สุด อยากจะให้อาจารย์ตอบในแง่ของศีลธรรมและในแง่ของปรมัตถธรรมด้วยครับ กราบเรียนถามอาจารย์ครับ
ท่านพุทธทาส : การที่ผูกพันกันอยู่กับผู้บังคับบัญชาแล้วต้องทำอะไรไปตามความต้องการของผู้บังคับบัญชานี้มันไม่ใช่เรื่องของธรรมะแล้ว มันเป็นเรื่องของโลก หรือเป็นเรื่องของการผูกพันในทางโลก ก็เลือกเอาดู ก็เลือกเอาเอง เราจะเลิกกันเสียก็ได้ หรือเราจะสอนผู้บังคับบัญชาให้มันมีความรู้ถูกต้องว่าอย่างนี้ถูกอย่างนี้ผิด ควรจะเป็นอย่างนี้ก็ได้ ถ้าเห็นว่าทำไม่ได้ เราก็ตัดสินใจเอาเองว่าจะแยกกันหรือว่าจะอยู่ด้วยกัน ปัญหานี้มีคนถามมากทีเดียว ปัญหาที่ว่าผู้บังคับบัญชาเป็นอุปสรรคในการที่จะปฏิบัติธรรมะ มันจะจริงหรือไม่จริงก็ไม่รู้ หรือเป็นการแก้ตัวก็ได้ แต่ถ้าเป็นจริงแล้วเอาอย่างว่านี่ วินิจฉัยดูว่าควรอยู่ด้วยกันหรือควรหย่าขาดจากกัน ถ้าจะอยู่ด้วยกันก็ต้องเอาชนะให้ได้ ต้องมีธรรมะมากกว่า เหนือกว่าจริงกว่าให้เขาเลื่อมใส ให้เขาเปลี่ยนแปลงได้ก็ได้ แต่มันก็ยาก เพราะว่าเราสอนตัวเอง บังคับตัวเองก็ยังไม่ได้ จะไปสอนผู้บังคับบัญชา ควบคุมผู้บังคับบัญชา มันก็ยากขึ้นไปกว่า สรุปความว่ามองดูให้ดีอย่างไรดีที่สุดแล้วก็เอาอย่างนั้นแล้วกัน
คำถาม : ครับกราบเรียนถามอาจารย์ข้อต่อไปครับ เป็นคำถามเกี่ยวกับสังคมเหมือนกันครับ คำถามมีว่าขอเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ในการนำธรรมะและคุณธรรมไปใช้ในสภาพสังคมที่กำลังเป็นวัตถุนิยมอยู่รอบข้างเช่นปัจจุบันนี้ ทำเช่นไรเราจึงจะไม่หวั่นไหวไปกับกระแสสังคม และสามารถดำรงธรรมในใจไว้ได้อย่างไม่เปลี่ยนแปลง เรียนถามอาจารย์ครับ
ท่านพุทธทาส : เราจะไปสั่งสอนอบรมแก้ไขสังคมนั่นมันมีปัญหาหลายชั้น บางอย่างมันเกี่ยวกับอำนาจไม่มีอำนาจก็ทำไม่ได้ จะใช้ธรรมะนี้มันก็ได้แต่การเกลี้ยกล่อมมันต้องมีความรู้เพียงพอ มีความฉลาดสามารถเพียงพอ ในการแสดงธรรม มันต้องมีการแสดงธรรมชนิดที่เอาชนะนำใจผู้ฟังได้จริง ๆ แล้วต้องมีความรู้ธรรมะพอ แล้วต้องมีความฉลาดสามารถในการเผยแผ่ธรรมะนั่นให้เขาเข้าใจให้ได้ ให้สังคมยอมรับ นี่หมายความว่ามันไม่มีอำนาจ ไม่มีอาวุธอะไรที่ไปบังคับสังคม ถ้าว่ามีอำนาจมีปาฏิหาริย์บังคับเดี๋ยวมันก็ไปอีกทางหนึ่ง ใช้มันเป็นเครื่องประกอบแต่เดี๋ยวนี้เราจะใช้ปาฏิหาริย์เพียงว่าการสั่งสอนที่ดีที่สุด ที่มีเหตุผลที่สุด มันก็อยู่ที่ว่าเรามีหรือไม่ เราสามารถหรือไม่ ดังนั้นขอให้เตรียมตัวให้มีความรู้ให้เพียงพอ มันก็ฝึกฝนวิธีสอน การสอนวิชาครูในการที่จะสอนให้ได้ ขึ้นกับต้องมีสติปัญญาเหนือกว่า มีปฏิภาณดีเลิศ จึงจะน้อมนำสังคมไปตามความต้องการของเราได้ แต่ต้องรู้ไว้ว่าไอ้สังคมที่แก้ไขไม่ได้ต้องปล่อยไปนั้นมันก็มี แม้แต่พระพุทธเจ้าเองท่านก็สอนไม่ได้ทุกคน มันยังเหลือบางคนที่มันไม่เอาด้วย ฉะนั้นเราก็จงประมาณดูเอาเองเถอะว่าจะทำอะไรได้เท่าไรทำให้ดีที่สุด แม้มันเสียเปล่าอะไรมันพาไปได้บ้าง ฉลาดมากก็พาไปได้มาก พยายาม ๆ มีความรู้ให้เพียงพอ มีปฏิภาณคือไหวพริบให้มันเพียงพอ ทำได้เพียงเท่านั้น เพราะเราไม่เอาปืนไปบังคับ ไม่เอาเงินไปจ้าง ฉะนั้นเราใช้ชนิดที่ว่าสติปัญญา ทำให้เขามีสติปัญญาขึ้นมาแล้วก็ไปด้วยกัน งานชิ้นนี้ยาก มันเป็นงานของพระพุทธเจ้า ระดับพระพุทธเจ้า พวกเราเป็นสาวกก็ทำได้ตามขนาดที่สาวกจะทำได้ ขอให้พยายามทำไปเท่าที่จะทำได้อย่าทอดอาลัยเสีย พยายามทำให้ดีเท่าที่จะทำได้ในการอบรมสั่งสอนจูงใจทำให้เขามองเห็นประโยชน์เท่าไรเขาก็คงจะสมัครปฏิบัติตามเท่านั้น คือทำให้เขาเห็นประโยชน์ เขาก็จะคล้อยตามจะปฏิบัติตาม ถ้าตัวเองทำไม่ได้ก็ไม่มีใครยอมรับ ตัวเองต้องทำได้ เป็นตัวอย่างที่ดี เห็นอยู่อย่างชัดแจ้งว่าทำอย่างนี้ ๆ ๆ แล้วความทุกข์มันไม่เกิด ชีวิตนี้มันเย็นเป็นนิพพาน มันกลายเป็นว่ามีนิพพานให้เขาดูนี่เป็นทางสำเร็จแน่
คำถาม : กราบเรียนถามอาจารย์ข้อต่อไปครับ เป็นคำถามที่เนื่องกันครับ ถามว่าจะหยั่งรู้อย่างไรว่าควรจะแสดงธรรมแก่ใครจึงจะได้ผลครับ
ท่านพุทธทาส : ไอ้คำถามนี้ประหลาดดี ก็ดูสิ ต้องรู้จักไอ้คนที่เราจะแสดงแก่เขา มันต้องรู้ว่าเขามีปัญหาอย่างไร มีกิเลสอย่างไร มีอุปนิสัยอย่างไร ก็แสดงให้ตรงเรื่องของเขาให้ใกล้กิเลสของเขาได้ เรียกว่าแสดงธรรมให้ตรงตามอุปนิสัย ตามอุปนิสัย แล้วก็จะต้องได้ผลให้จิตวิทยาชั้นสูง จิตวิทยาในการเอาชนะใจคนมันเป็นจิตวิทยาชั้นสูงสำหรับพระพุทธเจ้า เราก็เป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าก็พยายามทำตามรอยนั้นแหละ ศึกษาเรื่องของพระพุทธเจ้าเอาไว้ให้มาก ถ้าจะให้สำเร็จประโยชน์เราต้องรู้จักบุคคลที่จะรับธรรมะนั้นดี ๆ ๆ ถ้าเราไม่อาจจะรู้ได้แสดงธรรมเป็นหมู่เป็นฝูง ก็ต้องรู้อย่างน้อยว่าสมาคมนี้ทั้งฝูงนี่มันมีปัญหาอย่างไร มันควรจะสอนอะไร ดับทุกข์ได้อย่างไร ก็เรียกว่ารู้จักผู้ฟัง แสดงธรรมให้ถูกใจหรือแทงใจของผู้ฟัง เป็นเรื่องสูง เป็นเรื่องของปฏิสัมภิทา คุณธรรมสำหรับผู้สั่งสอน พระอรหันต์ผู้จะมีหน้าที่สั่งสอนก็ต้องมีปฏิสัมภิทาอย่างที่ว่านี้ นี่ถ้าเราไม่เป็นพระอรหันต์ไม่อาจจะมีถึงขนาดนั้นก็ทำไปได้ตามที่ได้ทำได้เต็มที่ ดูให้ดี ๆ ว่าคนนี้มีปัญหาอย่างไร สมาคมนี้ สังคมนี้ คนทั้งพันคนหมื่นคนนี้มันมีปัญหาอย่างไร ก็พูดให้ตรงเรื่องตรงจุดของมัน แล้วแต่ว่าจะต้องการจะแสดงแก่บุคคลเป็นคน ๆ หรือว่าแสดงแก่บุคคลจำนวนมากเป็นหมู่เป็นฝูง เป็นเรื่องยากแต่ว่าก็ถ้าพยายามที่สุดมันก็ต้องได้ผลบ้าง
คำถาม : กราบเรียนถามอาจารย์ข้อต่อไปครับ คำถามมีว่า บุคคลที่มีความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์อย่างมาก เราควรมีอุบายอะไรประการแรกเพื่อโน้มน้าวจิตใจของเขาให้เดินในแนวทางของพระพุทธศาสนาที่กล่าวถึงความไม่มีทุกข์อย่างสิ้นเชิงครับ กราบเรียนถามอาจารย์ครับ
ท่านพุทธทาส : การที่จะโปรดคนที่ยึดมั่นในไสยศาสตร์ให้มาสู่พุทธศาสตร์ยาก เป็นงานชั้นยาก(นาทีที่51.07) จึงมีอยู่ในประเภทที่ว่าโปรดไม่ได้ช่วยไม่ได้ และก็ต้องมีที่ว่าจะมีจะดึงมาได้ ดึงมาได้เขาก็มีเหมือนกัน ก็พิสูจน์ความที่ไม่ได้รับประโยชน์จากไสยศาสตร์ให้เขาเห็น ความที่ได้รับประโยชน์จากพุทธศาสตร์ก็ทำให้เขาเห็น ให้เห็นว่าไสยศาสตร์นั่นมันดีกว่า จริงกว่า อาศัยได้กว่า ที่นี้เขาปัญญาอ่อนเข้าใจไม่ได้ก็ต้องปล่อยไปก่อน ผู้ที่มีไสยศาสตร์และก็ปัญญาไม่อ่อน ปัญญาค่อย ๆ กล้าแข็งก็จะดึงมาได้ ถ้าปัญญาอ่อนเหลือประมาณและก็ดึงมาไม่ได้ ให้เขาพึ่งไสยศาสตร์ไปตามเดิม อย่าไปทำลายที่พึ่งของเขาเสียจนเขาไม่มีที่พึ่ง พิสูจน์ให้เขาเห็นว่าทำอย่างนี้ดับทุกข์ได้ ทำอย่างนี้ดับทุกข์ได้ ทำอย่างนี้ดับทุกข์ได้ พวกหมอผี พวกทำพิธีไสยศาสตร์ ชั้นอาจารย์บางทีก็ไม่ค่อยมีข้าวสารจะกรอกหม้อ ถ้าหากว่ามันมีอำนาจจริง มันก็เลี้ยงกองทัพผีไว้และมันก็ครองโลกทั้งหมดเลย ไม่ต้องมีอาการที่ไม่มีข้าวสารกรอกหม้อ ให้ดูอย่างนี้ก็ได้ อ้อนวอน บวงสรวง ดูโชคชะตาเท่าไร ๆ มันก็ไม่เห็นมีอะไรดีขึ้น ไปทำการทำงานให้ถูกวิธีดีกว่า มันก็พิสูจน์ในตัวเองว่าดีขึ้น ๆ พวกมัวแต่ซื้อลอตเตอรี่ หวยสามตัว นี่ก็เรียกว่าไสยศาสตร์ด้วยเหมือนกัน ก็ดูเอาเองมันเป็นอย่างไร
คำถาม : ขอเรียนถามอาจารย์ข้อต่อไปครับ คำถามมีว่าการจะทำตัวไม่ให้ตกอยู่ในวัตถุนิยม ในสังคมที่รอบด้านเป็นวัตถุนิยม อาจจะเป็นตัวประหลาด ท่านอาจารย์ช่วยแนะนำวิธีปฏิบัติด้วย เพื่อไม่ให้เป็นตัวประหลาด เรียนถามอาจารย์ครับ
ท่านพุทธทาส : นี่มันเป็นความกำกวมของคำพูด หรือการพูดจา เราก็จะต้องตั้งปัญหาทวนขึ้นไปว่า พระพุทธเจ้านี่เป็นตัวประหลาดหรือไม่ พระพุทธเจ้าไม่เหมือนใคร ไม่อยู่ใต้อำนาจวัตถุนิยมและก็เหนือไปทั้งหมดนี่ เป็นตัวประหลาดหรือไม่ มันไม่ควรจะตั้งปัญหาอย่างนั้น และตั้งปัญหาว่าดับทุกข์ได้หรือไม่ ถ้าดับทุกข์ได้เป็นตัวประหลาดไปเสียอีกมันก็ไม่ต้องพูดกัน ฉะนั้นเอาที่ว่าถ้ามันดับทุกข์ได้ ดับทุกข์ได้ ดับทุกข์ได้ยิ่งขึ้นไปนั้นแหละคือความถูกต้อง ไม่ใช่ของประหลาด ทีนี้เราไปทำไม่เหมือนเขาในหมู่ชนเป็นอันมากที่เขาทำกันอย่างนั้น มันก็เป็นตัวประหลาดเฉพาะในหมู่นั้นเท่านั้นไม่ใช่หมดทั้งโลก ยังมีผู้ที่เข้าใจถูกต้องอยู่อีกมาก เป็นตัวประหลาดของคนไม่มี ไม่มีธรรมะก็ช่างหัวมัน ถ้ายังเป็นผู้ที่ไม่ประหลาดสำหรับผู้ที่ยังมีธรรมะซึ่งมีจำนวนมากไม่ต้องกลัวข้อนี้
คำถาม : ครับขอกราบเรียนถามอาจารย์ข้อต่อไปครับ คำถามมีอยู่ว่าจะนอนเท่าไรจึงพอดีครับ กราบเรียนถามอาจารย์ครับ
ท่านพุทธทาส : มันก็แล้วแต่คน เป็นคน ๆ ไป เด็ก ๆ หรือผู้โตแล้ว คนแก่แล้ว ก็มันมีความพอดีที่ไม่เหมือนกันแหละ เด็กนอนมากกว่าคนหนุ่มสาว คนแก่ก็ต้องนอนมากกว่าคนหนุ่มสาว หรือว่าคนสบาย คนเจ็บไข้ก็ต้องนอนมากกว่าคนที่สบาย คนไม่สบายก็ต้องนอนมากกว่าคนไม่สบายขอให้เป็นเรื่อง ๆ ไป เป็นเรื่อง ๆ ไป ที่เรามีปัญหาอยู่บ้างก็ว่าสำหรับเป็นภิกษุผู้ประพฤติพรหมจรรย์แล้วก็สบายดีด้วย นั่นควรจะตั้งอัตรากันว่านอนสักเท่าไร อย่างไรเรียกว่านอนมาก อย่างไรเรียกว่านอนน้อย เขานิยมถือเป็นหลักกันมาว่านอน ๔ ชั่วโมง ถ้าคืนหนึ่งมี ๓ ส่วน ส่วนละ ๔ ชั่วโมงก็นอนเสียส่วนหนึ่งคือ ๔ ชั่วโมง นี่ก็เรียกว่าพอดี เป็นผู้มีชาคริยานุโยคกลางวันไม่ต้องนอน ประกอบความเพียรทำจิตให้แจ่มใสด้วยสมาธิอยู่ตลอดเวลาที่ไม่ได้หลับ พอหลับก็หลับ พอไม่หลับก็ตื่นอยู่ด้วยความแจ่มใส ด้วยจิตที่แจ่มใสมีธรรมะ มีอะไรนี่ นอนไม่มากนอนพอดี สำหรับผู้ประพฤติพรหมจรรย์อย่างภิกษุนิยมกันว่านอน ๔ ชม. ในรอบ ๒๔ ชม.
คำถาม : ครับกราบเรียนถามอาจารย์ข้อต่อไปครับ คำถามมีว่าอย่างไรจึงจะเรียกว่าไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ครับ
ท่านพุทธทาส : นี่เป็นคำพูดธรรมดาสามัญ เป็นเรื่องที่ชาวบ้านก็ควรจะรู้ เป็นคนขยัน ขยันในหน้าที่การงาน ทำอะไรได้ก็ทำสุดความสามารถ ไม่คดโกงเวลา ทำเต็มตามที่มันควรจะทำได้ เรียกว่าไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงไปโดยไร้ประโยชน์ เป็นสิ่งที่รู้ได้เอง แล้วก็ต้องบังคับตัวเอง อย่าให้ขี้เกียจ ให้สนุก ๆ ๆ ในการทำหน้าที่การงาน แล้วก็เป็นสุขเมื่อเวลานั้นแหละ เวลานั้นแหละ ให้เรามีความสุขเมื่อกำลังทำการงานแล้ว มันก็ไม่ไปหาความสุขจากการนอน ฉะนั้นการหาความสุขจากการนอนมันก็ไม่มีดังนั้นสำหรับผู้ที่ทำงานสนุก ทำงานสนุก เป็นสุขเมื่อกำลังทำการงาน เป็นสุขเสียเมื่อทำการงานแล้วก็ไม่ต้องไปแสวงหาความสุขจากการนอน ทดลองดู สังเกตดู แก้ไขดู ทำงานให้เป็นสุข เป็นสุขทุกเวลา ทำงานให้เหมือนเล่นกีฬาแล้วก็สนุก เล่นกีฬาคือมีการต่อสู้กัน ๒ ฝ่าย คือ ระหว่างฝ่ายที่สำเร็จและฝ่ายที่ไม่สำเร็จ เราคนเดียวนี่มีการต่อสู้กันระหว่างความทำสำเร็จกับทำไม่สำเร็จ ให้มันก็ต่อสู้กันอยู่อย่างนี้ เรียกว่ามันไม่ง่วงหรอกแล้วก็ไม่ต้องนอนเมื่อไม่ถึงเวลานอน ทำงานให้เหมือนเล่นกีฬา ให้เป็นการต่อสู้กันระหว่างความสำเร็จกับไม่สำเร็จ เราเองเป็นผู้เล่นกีฬา เราเองเป็นผู้ดูกีฬา เราเองเป็นผู้ตัดสินกีฬา ทำไมจะไม่สนุก
คำถาม : กราบเรียนถามอาจารย์ข้อต่อไปครับ คำถามมีว่า ที่ว่าโยนิโสมนสิการนั้น มีเทคนิคการทำอย่างไรครับ เรียนถามอาจารย์ครับ
ท่านพุทธทาส : เอาตามตัวหนังสือ ก็แปลว่า ทำในใจถึงต้นเหตุ โดยต้นเหตุ ที่ต้นเหตุ คำนี้ตัวหนังสือแปลว่าที่ต้นเหตุ โยนิ โยนิ แปลว่า ต้นเหตุ โยนิโส แปลว่า โดยต้นเหตุ มนสิการ แปลว่า ทำในใจ โยนิโสมนสิการ ก็แปลว่า ทำในใจถึงต้นเหตุ แต่เรามาใช้พูดกันโดยความหมายใหม่ว่าโดยแยบคายก็ได้เหมือนกันนะ ก็ขอให้รู้ว่าคำว่า โดยแยบคายนั้นคือ ลึกลงไปถึงต้นเหตุทั้งหมดเลย เข้าใจมาตั้งแต่ต้นเหตุ ตั้งแต่รากเหง้า ตั้งแต่จุดตั้งต้น ดูขึ้นมา ๆ ๆ ๆ มันก็รู้หมด รู้จริง รู้ถูกต้อง สามารถที่จะเอาไปประพฤติปฏิบัติให้ได้รับผลไม่เป็นหมัน โยนิโสมนสิการ พิจารณาถึงต้นเหตุ ก็เรียกในภาษาธรรมะธรรมดาว่าโดยแยบคาย ให้รู้ไว้ว่าตัวหนังสือแปลว่าต้นเหตุ โยนิ แปลว่าต้นเหตุก็ได้ อวัยวะเพศของสตรีก็ได้ ใช้คำร่วมกัน แต่ในการปฏิบัติธรรมนี้หมายถึงต้นเหตุ
คำถาม : ครับกราบเรียนถามอาจารย์ข้อต่อไปครับ คำถามมีว่าตามวินัยสงฆ์ ห้ามภิกษุจับเงินทอง การที่ภิกษุเวลาไปไหนมาไหนนำเงินใส่ซองตลอด และเวลาจ่ายให้โยมหยิบเอาเอง มีผลต่างกับที่ภิกษุนั้นหยิบจับเงินนั้นโดยตรงอย่างไร และการที่ภิกษุไปถอนเงินโดยใช้บัตรเอทีเอ็มนั้นสมควรหรือไม่อย่างไรครับ กราบเรียนถามอาจารย์ครับ
ท่านพุทธทาส : นี้เป็นเรื่องวินัย ไม่ใช้เรื่องธรรมะ คำว่าเงินและทอง มันก็หมายถึงตัวเงินและทอง คือตัวเนื้อเงินเนื้อทอง แท่งทองแท่งเงินนั่นแหละคือเงินกับทอง ภิกษุแตะต้องไม่ได้ แม้แต่เพียงไปจับเฉย ๆ ก็เป็นอาบัติ เดี๋ยวนี้ไม่มี เดี๋ยวนี้ไม่มี ธนบัตรไม่ใช่เงินและทองมันเป็นใบสั่งจ่าย เหมือนใบสั่งจ่ายธนาคารนั่นเอง แต่ถ้าเป็นเหรียญเงินนั้นแล้วเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะจับ เป็นวัตถุอนามาส ไปจับเข้าก็เป็นอาบัติในข้อนี้ ฉะนั้นผมถือว่าธนบัตรหรือใบสั่งจ่ายใด ๆ นั้นจับเข้าก็มันเพียงแต่ว่าไม่ควรนะที่จะปรับอาบัติข้อจับเงินและทองไม่ได้หรอก เพราะมันไม่ใช่เงินและทอง มันเป็นเพียงใบสั่งจ่าย หรือแทน แทนเงินและทอง นี่เป็นปัญหาวินัย ก็ตีความอย่างนี้
คำถาม : ครับคำถามต่อไปที่จะเรียนถามอาจารย์ครับ พระอภิธรรมคืออะไรครับ มีความสำคัญหรือจำเป็นมากน้อยเพียงไรในการศึกษาพระอภิธรรมเพื่อให้เข้าใจพระพุทธศาสนายิ่งขึ้นครับ
ท่านพุทธทาส : คำว่า อภิธรรม อภิธรรม อภิธรรมนี้มีความหมายหลายชนิด หรือหลายชั้น สูงต่ำกว่ากันเป็นชั้น ๆ ตามที่เขาหมายกันอย่างไร อภิธรรม ถ้าหมายถึง อภิธรรมปิฎก มันก็เป็นการอธิบายธรรมะชั้นละเอียดชั้นลึกจนเกินจนเฟ้อและก็มากมาย ตั้งครึ่งนั่นนะ ครึ่งของพระไตรปิฎกเป็นอภิธรรม อภิธรรม ก็ธรรมะที่ยิ่ง ธรรมะที่อย่างยิ่งก็ได้ ธรรมะที่เฟ้อที่เกินก็ได้ ในสมัยพุทธกาล ก่อนทำสังคายนาไม่มีพระไตรปิฎกอย่างนี้ ก็มีคำ ๆ นี้พูด เรียกว่า อภิธรรม อภิวินัย คำอธิบายใดอธิบายวินัยเกินความจำเป็นของธรรมดาก็เรียกว่าอภิวินัย คำอธิบายใด อธิบายธรรมะเกินจำเป็น เกินธรรมดาก็เรียกว่าอภิวินัย คำพูดนี้มีอยู่แล้วและตัวจริงก็มีอยู่แล้ว ทั้งสองอย่าง ทั้งอภิวินัยทั้งอภิธรรมะ นี่ยังไม่เกิดพระไตรปิฎกนะ อภิธรรมอภิวินัยในตอนนี้ก็ยังไม่มากเท่ากับพระไตรปิฎก ก็คือคำอธิบายที่เกินจำเป็นสำหรับคนธรรมดา ก็ไม่จำเป็นสำหรับที่จะบรรลุธรรมะเป็นพระอรหันต์ ในพระสูตรแห่งหนึ่งพระพุทธเจ้าตรัสเปรียบเทียบอภิธรรมอภิวินัยนี้เท่ากับความงามของม้า ม้าตัวที่ดีมันก็วิ่งเร็ว วิ่งเร็ว แต่บางตัวก็ไม่สวยงาม บางตัวก็สวยงามแต่มันต้องวิ่งเร็ว ๆ มันจึงจะเป็นม้า มันไม่สำเร็จที่สวยงามหรือไม่สวยงาม ถ้ามันวิ่งเร็วมันก็ใช้ได้ ก็สำเร็จประโยชน์ จึงตรัสว่าอภิธรรมนี่เหมือนกับความงามของม้าไม่จำเป็นสำหรับการบรรลุธรรมเป็นวิมุติหลุดพ้นหรอก ที่วิมุติหลุดพ้นก็แล้วกัน จะรู้อภิธรรมหรือรู้อภิวินัยด้วยหรือไม่ ไม่จำกัด ๆ ถ้ามันปฏิบัติดับทุกข์ได้ มันก็ได้เหมือนกับม้า วิ่งเร็วก็สำหรับประโยชน์ในการเป็นม้า นี่อภิธรรม อภิวินัยน้อย ๆ ที่มีอยู่ในครั้งพุทธกาล ต่อมาเมื่อทำสังคายนาแล้วก็ล่วงมาแล้วอีกนานก็เขียนเพิ่มเติมเข้าจนขึ้นมากมายมหาศาล ผมไม่เชื่อว่าอภิธรรมมีตั้งแต่ครั้งทำสังคายนา ครั้งทำสังคายนา ปฐมสังคายนานั้นเขาไม่ได้จัดเป็นพระไตรปิฎกหรอก เขาจัดเป็นนิกาย นิกายคือว่าสูตรยาว ๆ จัดเป็นนิกายหนึ่ง สูตรขนาดกลางไม่ยาวจัดเป็นนิกายหนึ่ง เรื่องสั้น ๆ จัดเป็นนิกายหนึ่ง เรื่องที่จัดเป็นหมวด ๆ ตามนัมเบอร์เลขก็นิกายหนึ่ง เรื่องเบ็ดเตล็ด ๆ ก็เป็นนิกายหนึ่ง เรียกว่า ๕ นิกาย ๕ นิกาย พระวินัยหรืออภิธรรมอภิวินัย จัดรวมไว้ในขุททกนิกาย คือนิกายเบ็ดเตล็ด ในครั้งแรกทำสังคายนามีเพียง ๕ นิกาย ต่อมาอีกนานกี่ร้อยปีก็ไม่ทราบนะ แต่ต้องหลายร้อยปีจึงจะเขียนอภิธรรมมากขึ้น ๆ ๆ แล้วก็เขียนแยกออกมาเสียจากขุทกกนิกาย มาเป็นปิฎกของตัวเองที่เรียกว่าวินัยปิฎก สุตตันตปิฎก อภิธรรมปิฎก ในครั้งนู้นนะ ครั้งทำสังคายนาไม่มี ๆ คำนี้ มีแต่ว่าเรื่องยาว เรื่องกลาง เรื่องสั้น เรื่องเป็นหมวดหมู่ เรื่องเบ็ดเตล็ด นี่อภิธรรมมันหลายชั้นหลายความหมาย อภิธรรมคำอธิบายชั้นลึก ชั้นเกินความจำเป็น ไม่ได้จำเป็นสำหรับทุกคน ไม่รู้อภิธรรมนี่ก็เป็นพระอรหันต์ได้ ถ้ารู้ก็ดีเหมือนกัน แต่ผมมีพระอภิธรรมของผมเองอยู่อย่างหนึ่งว่าไม่มากถึงขนาดนั้น ไม่มากถึงขนาดอภิธรรมนั้นนะ หมายถึงความรู้ชั้นสูงสุด เรื่องอนัตตา เรื่องสุญญตา เรื่องปล่อยว่าง เรื่องนั้นนะ เรื่องไม่มีตัวตน เหนือบุญเหนือกุศลนั่นแหละเรียกว่าอภิธรรม ไม่ต้องมากมายอะไร นี่คืออภิธรรมที่จะพึ่งได้ ธรรมะชั้นสูงที่ดับกิเลสดับทุกข์ได้นั่นคืออภิธรรม อภิธรรมอย่างที่มากมายนั้นเขาไว้ให้เขาไปตามเรื่อง สำหรับเก็บไว้เป็นรังหนูบนเพดานก่อนนี้ เดี๋ยวนี้เราพิมพ์เป็นตัวหนังสือมาไว้เฉยๆ อย่างนั้นนะไม่ต้องมีใครเปิดดู
เอาละขอสรุปความอภิธรรมคือธรรมชั้นลึกที่แท้จริง ที่ไม่เฟ้อ ดับทุกข์ได้ยอดสุดของความลึกเลยอภิธรรม ต่อมากลายเป็นคำอธิบายทั้งหลายแหล่ที่มันเฟ้อที่มันเกินที่มันมาก ๆ ๆ จนครึ่งพระไตรปิฎกนี่เรียกว่าอภิธรรม อภิธรรมมีหลายความหมาย อภิธรรมที่พึ่งได้คือความหมายที่รวบรัด ที่สั้น ที่ลัด ที่ดับทุกข์ได้ นี่ควรจะเรียกว่าอภิธรรม สำเร็จประโยชน์ ที่มากมายนั้นจะต้องเรียกว่าอภิธรรมเฟ้อ อภิธรรมเกิน ไม่ต้องสนใจก็ได้ เป็นแต่เพียงไม่กี่ประโยค ไม่กี่บรรทัด ไม่กี่คำ ที่มันลึกซึ้งดับทุกข์ได้ นี้เป็นอภิธรรมจริงเหนือตัวตน ไม่มีตัวตน เหนือกุศลไปเสียอีก เหนืออกุศล เหนือกุศล เหนือบุญ เหนือบาป เหนืออะไรไปหมดนี่เป็นอภิธรรม อภิธรรมที่ยังนิยมมหากุศลนั้นไม่ใช่อภิธรรม หลงหนักไปในมหากุศลยังไม่หลุดพ้น อภิธรรมแท้ต้องเหนือกุศลเหนือตัวตน เหนือความยึดมั่นถือมั่น ถ้าพูดให้ชัดก็ต้องพูดว่าเรื่องความว่างทั้งหลายทั้งปวงนั้นคืออภิธรรมแท้ อภิธรรมบริสุทธิ์ผุดผ่องดับทุกข์ได้ เรื่องสุญญตา เรื่องตถาตา เรื่องอตัมมยตา นั่นคืออภิธรรมแท้แล้วก็ไม่มากมายหรอก เป็นคำบรรยายที่ไม่มากมายอะไร
คำถาม : ไม่ทราบอาจารย์ยังมีแรงอธิบายไหมครับ
ท่านพุทธทาส : เอ้า,ต่อไปอีกได้ เอาสิ เอาสิยังไม่สามทุ่มให้ไปถึงสามทุ่ม
คำถาม : ครับ มีคำถามต่อไปครับ คำถามมีว่า คำถามนี้ยาวครับ ที่ว่าพระไตรปิฎกนั้นสามารถฉีกทิ้งได้ถึง ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่ทราบว่าใน จูฬกัมมวิภังคสูตร๑๔/๓๒๓ ที่กล่าวถึงเหตุที่ทำให้คนเกิดมาในโลกนี้ไม่เหมือนกัน เช่น เกิดมาอายุสั้นเพราะทำบาปฆ่าสัตว์ ฆ่าคนไว้มาก เกิดมายากจน เพราะไม่ชอบให้ทาน ขี้เหนียวเป็นต้น สูตรนี้จะอยู่ในข่ายนี้หรือเปล่า เพราะเป็นการแสดงให้เห็นว่าตายแล้วเกิดซึ่งขัดกับในสูตรที่พระองค์ไม่ทรงตอบ ปัญหาว่าโลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง สัตว์ตายแล้วหรือเกิดหรือสูญเพราะไม่เป็นไปเพื่อการดับทุกข์ หรือว่าสูตรทั้งสองนี้ถูกต้องจริงแต่เป็นการสอนบุคคลในระดับที่มีปัญญาต่างกัน กราบเรียนถามอาจารย์ครับ
ท่านพุทธทาส : พระไตรปิฎกเอาตามที่มีอยู่ทั้งหมดนั้นไม่ต้องไปฉีกทิ้งให้เหนื่อย แต่ว่าไม่สนใจที่ไม่จำเป็นก็ได้ประมาณสัก ๖๐ เปอร์เซ็นต์ เอา ๔๐ เปอร์เซ็นต์ มาศึกษาให้ละเอียดก็เหลือเฟือแล้ว เกินพอแล้ว ถ้าว่าเรื่องใดส่วนใดมันไม่ดับทุกข์ก็อย่าไปสนใจเลย ไม่ต้อง ไอ้เรื่องจะไปสนใจว่าตายเกิดอย่างไร ตายเพราะเหตุอะไร ผลดีอะไร นี้ไม่ต้องสนใจก็ได้ เพราะเรามีเรื่องที่จะต้องปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ที่ชัดเจนแล้ว ชัดเจนแล้ว จะปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ ก็สนใจแต่ที่จะปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ก็แล้วกัน เรื่องที่ไม่ดับทุกข์ไม่เกี่ยวกับความดับทุกข์ก็ไม่ต้องสนใจ นี่พระไตรปิฎกเก็บไว้ทั้งหมดนั่นแหละ คือมันจะได้รู้ความจริงว่ามันมากมายเท่าไร มันถูกเพิ่มเติมเข้าไปเท่าไร มันเป็นในเรื่องอะไร ตรงกันข้ามก็มี คัดค้านกันเองก็มี ก็ไม่ต้องสนใจหรอก เพื่อที่จะได้รู้ว่าพระไตรปิฎกนี่มันถูกเพิ่มเติมอย่างไร ดัดแปลงอย่างไร อะไรอย่างไร เก็บไว้ก็เป็นประวัติศาสตร์ แต่ที่จะมาดับทุกข์ได้นี่เรียกว่า ๑๐ เปอร์เซ็นต์ก็พอ นี่เขาให้ตั้ง ๔๐ เปอร์เซ็นต์มันก็เหลือเฟือแล้ว หลายเรื่อง เรื่องไอ้ที่ไม่ดับทุกข์ เรื่องสุริยคราส จันทรคราส เรื่องภาณยักษ์ เรื่องอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ต้อง เรื่องเกี่ยวกับปัญหาตายเกิดก็ไม่ต้อง ขอให้เบ็ดเตล็ดอีกมากมายก็ไม่ต้อง เอาแต่ที่ว่าดับทุกข์อย่างไร ดับทุกข์อย่างไร ดับทุกข์อย่างไร เห็นได้ด้วยตนเอง แล้วปฏิบัติเท่านี้ก็พอ โดยเฉพาะก็เรื่องอริยสัจจ์ อริยสัจจ์สมบูรณ์แบบก็คือ เรื่องปฏิจจสมุปบาท อริยสัจจ์แต่ใจความก็คือเรื่อง อริยสัจจ์สี่ เท่านี้ก็พอแล้ว ที่จริงเอาแต่อริยสัจจ์สี่อย่างเดียวก็พอแล้ว เพียงแต่เรื่องอริยสัจจ์สี่อย่างเดียวก็สัก ๑๐ เปอร์เซ็นต์ก็ไม่ถึงของพระไตรปิฎก เราก็คิดดูสิว่าอายุของเราเท่านี้จะไปศึกษาทั้งหมดนั้น หรือจะไปแยกแยะทั้งหมดนั่นมันก็คงตายเสียก่อนไม่ได้ปฏิบัติ เอาแต่หัวใจ ๆ ของเรื่องสักเรื่องสองเรื่องมาศึกษา มาปฏิบัติให้ดับทุกข์ได้แล้วก็ใช้ได้ นั่นนะคือธรรมะที่เป็นพระธรรมที่เป็นที่พระพุทธเจ้าท่านสั่งสอนไม่เฟ้อไม่มากไม่ยุ่งยากอะไร ข้อควรปฏิบัติเกี่ยวกับพระไตรปิฎกมันก็มีอย่างนี้
คำถาม : ครับขอเรียนถามอาจารย์ข้อต่อไปครับ คำว่าทุกขเวทนาหมายถึงการสัมผัสกับสิ่งไม่ดีเช่น ได้ยินคำด่าเป็นต้น ใช่ไหมครับ หรือจำกัดไว้แค่การเจ็บปวดทางด้านร่างกาย เช่นหูได้ยินเสียงที่แสบแก้วหู หรือได้รับบาดเจ็บทางด้านร่างกายเป็นต้น ขอเรียนถามอาจารย์ครับ
ท่านพุทธทาส : คำว่า เวทนา ทุกขเวทนาก็ดี สุขเวทนา มีทั้งทางฝ่ายกาย และฝายจิต เรียกว่าเวทนาได้ทั้งนั้น ไอ้เวทนาที่เจ็บปวดทนไม่ได้นี่ มันเป็นปัญหาก่อนเพราะมันทนไม่ได้เจ็บปวด เวทนาที่ยังไม่เป็นปัญหาก็ไว้ทีหลัง แต่ว่าขึ้นชื่อว่าเวทนาแล้ว สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ยึดถือไม่ได้ อย่าไปมาเอามายึดถือเป็นตัวตน เป็นของตน ไม่ว่าเวทนาชนิดไหน เพราะฉะนั้นจึงไม่มีปัญหาที่ต้องมาแยกแยะเวทนาให้มันยุ่งยากลำบาก ตัดทิ้งไปทั้งหมดเลย เวทนาทั้งหลายกูไม่เอากับมึง ให้เป็นเวทนาตามธรรมชาติ ตามความรู้สึกของระบบประสาท ไม่ต้องไปศึกษาให้มันละเอียดเกินจำเป็น ศึกษาแต่ว่าอย่าให้เวทนามันครอบงำจิตใจได้ แม้เกิดปัญหาเป็นสุข เป็นทุกข์ ยินดี ยินร้ายอะไรเหล่านั้น นี่ข้อปฏิบัติต่อเวทนาก็เพียงแต่ว่าอย่าให้มันทำให้เกิดกิเลสและเป็นทุกข์ ให้เห็นเป็นของธรรมดา อย่าให้มันกลายเป็นไอ้สิ่งที่ก่อให้เกิดกิเลส หรือความทุกข์ทางจิตใจสูงยิ่งขึ้นไปอีก ไม่หลงใหลในสุขเวทนา ในทุกขเวทนา ให้เวทนาเป็นธรรมชาติธรรมดาเป็นหมันไป ไม่มาทรมานหัวใจเราก็แล้วกัน นี่คือข้อปฏิบัติต่อเวทนา
คำถาม : ครับคำถามต่อไปครับ เป็นคำถามที่เนื่องกันครับ ขอให้ท่านอาจารย์ได้อธิบายและยกตัวอย่าง อทุกขมสุขเวทนา ครับ
ท่านพุทธทาส : ก็รู้จักสุขเวทนา รู้จักทุกขเวทนา ให้ดีให้ชัดเสียก่อน เวทนาที่มันไม่มีความหมายสองอย่างนั้นนะ คือเรียกไม่ได้ว่าสุข เรียกไม่ได้ว่าทุกข์อันนั้นแหละอทุกขมสุข แต่มันก็ยังมีอิทธิพลแก่จิตใจ จิตใจยังสนใจยังละทิ้งไม่ได้ เพราะมีความหวังความสงสัยอยู่ว่าสิ่งนี้จะต้องดี จะต้องมีประโยชน์เป็นของมีค่า ก็เลยไม่อาจจะสลัดเวทนาชนิดนี้ออกไปจากจิตใจ ทำให้จิตใจพะวงสงสัยผูกพันอยู่นั่น นี่เรียกว่า อทุกขมสุขเวทนา คือเวทนาที่ไม่ชัดลงไปว่าควรจะเรียกว่าสุข หรือควรจะเรียกว่าทุกข์ แต่ก็ยังมีอิทธิพลต่อความรู้สึก จนละความรู้สึกไม่ได้ เหลืออยู่เป็นความพะวงหลงใหล สงสัยอย่างไรก็มัวเมาไปอย่างนั้น อทุกขมสุขเวทนาคืออย่างนี้ ไม่แน่ว่าเป็นบวก ไม่แน่ว่าเป็นลบ แต่มีอิทธิพลแก่ความรู้สึก คือเรียกว่าอทุกขมสุขเวทนา
คำถาม : เวลาก็ล่วงเลยมาชั่วโมงเกือบจะชั่วโมงครึ่งแล้วนะครับ มีคำถามบางคำถามของท่านนวกะที่ไม่ได้ถามแต่ว่าสามารถสงเคราะห์อยู่ในคำถามที่ใกล้เคียงกัน ก็ขอยกไว้ก่อน ในตอนท้ายนี้ กระผมขอกราบอาราธนานิมนต์ท่านอาจารย์ให้โอวาท แล้วก็ธรรมะสำหรับผู้ที่เป็นพระนวกะที่จะสึกไปเป็นฆราวาสครับ
ท่านพุทธทาส : คำสอนผู้บวชคือสอนเจ้านาคก็ดี สอนผู้บวชใหม่ ๆ ก็ดี สอนผู้ที่จะลาสึก จะลาสิกขาก็ดี พูดไว้มากมาย อยู่ในหนังสือก็มี ในเทปก็มี ถ้าอยากรู้โดยละเอียดแท้จริงก็ไปหามาอ่านให้หมด ชั่วเวลาชั่วโมงเดียวนี่ทำไม่ได้หรอกที่จะพูดให้ละเอียดลอออย่างนั้น นั่นเป็นการประหยัดเวลาด้วยกันทั้งสองฝ่าย ก็หาหนังสือ หาเทปเหล่านั้นมาฟัง ถ้าจะให้พูดอีกก็พูดอย่างนั้นอีกแหละ รวบรวมเอามาอ่านดู มันก็มากแล้วทั้งเทปและทั้งหนังสือ สรุปความสั้น ๆ ว่า บวชเข้ามานี้ ประพฤติพรหมจรรย์ ฝึกฝนการบังคับจิตใจให้อยู่ในอำนาจปฏิบัติเพื่อละความเห็นแก่ตัว ให้จริงจังนั่นแหละ ๆ คือการบวช การประพฤติพรหมจรรย์ ตลอดเวลาที่บวชก็ฝึกส่วนนี้ให้ละความเห็นแก่ตัวให้ได้ สึกออกไปก็มีประโยชน์ ไม่ใช่ว่าสึกออกไปแล้วจะไม่ทำอะไร ไม่เห็นแก่ตัว นี่ก็คือไม่เห็นแก่กิเลส ไม่รับใช้กิเลส เห็นแก่ความถูกต้อง เห็นแก่เพื่อนมนุษย์ นี่เรียกว่าไม่เห็นแก่ตัว ทุกศาสนาสอนอย่างนี้ สอนเรื่องนี้ทั้งนั้น ฉะนั้นขอให้พยายามและศึกษา ฝึกฝน ปฏิบัติ ที่เป็นการทำลายความเห็นแก่ตัวนั่นให้มากที่สุด ให้มากที่สุด ให้มากที่สุด ยิ่งขึ้น ๆ ๆ ตามที่เวลามันล่วงไป จะละได้มาก กว่าที่จะถึงเวลาลาสิกขา คงจะละได้มาก คงจะมีประโยชน์มากกว่าผู้ที่ไม่เคยศึกษาและปฏิบัติ มันก็เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว เรื่องนี้ละเอียดที่สุด เรื่องมีตัว เรื่องเห็นแก่ตัว เรื่องนี้ละเอียดมาก ต้องค่อย ๆ ศึกษาไปเพราะว่าถ้าละความเห็นแก่ตัวได้หมดจริง ๆ นะไม่มีอะไรเชื้อเหลือจริง ๆ มันก็เป็นพระอรหันต์แหละ นี้เอาแต่เพียงว่าเท่าที่จะเป็นมนุษย์ธรรมดา เป็นสัตบุรุษที่ดีนี่ก็ถมไปแล้วเรียกว่าได้ดีได้สิ่งที่ดีที่สุด ตัวเองได้ดีที่สุด ได้แทนคุณบิดามารดา ได้สืบอายุพระศาสนา เขาควรจะพอใจ บวชให้สำเร็จอย่างนี้แล้วก็ลาสึกขาออกไปพร้อมด้วยวิชาความรู้ ความสามารถในการที่จะดำรงชีวิตให้ถูกต้องไปจนตลอดชีวิต แล้วก็สามารถช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้เป็นอย่างนี้ได้ด้วย นี่มันก็สูงสุดเท่านี้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์เราจะพึงทำได้ ก็คือการปลดเรื่องความทุกข์ของตัวเองและช่วยเหลือผู้อื่นให้ปลดเรื่องความทุกข์ แล้วช่วยกันสอนสืบ ๆ ๆ ๆ กันไว้อย่าให้มันสูญหายไปจากโลกเพราะมันเป็นของมีค่าประเสริฐสูงสุดโดยแท้จริง ฉะนั้นอย่าประมาท อย่าประมาท ศึกษาธรรมะแล้วก็ให้รู้ธรรมะ ศึกษาวินัยแล้วก็ให้รู้วินัย ศึกษาศีลธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นเรื่องของสังคมก็รู้ไว้ สำรวมระวังอย่าให้ผิดพลาดได้ ขอให้จำคำไว้สักสามคำก็พอ ทางธรรมะอย่าให้เสีย ทางวินัยอย่าให้ด่างพร้อย ทางสังคมอย่าให้มันผิดให้คนเขาดูถูกได้ ถ้าสามอยางนี้ถือได้อย่างนี้แล้วประเสริฐวิเศษรอดตัวตลอดชีวิต แต่นี่ทางธรรมก็แทบจะไม่มี ทางวินัยก็แทบจะไม่มี ทางสังคมก็หยาบคาย ไม่เคารพขนบธรรมเนียมประเพณีศีลธรรม นี่เรียกว่าประมาท หวัด ๆ ๆ ๆ ความคิดชั่วแล่นชั่วขณะเต็มไปด้วยความประมาทไปหมดทุกอย่าง ทั้งโดยธรรมะ โดยวินัย และโดยสังคม ช่วยจำคำสามคำนี้ไว้ด้วย ทางธรรมะก็เรียนแล้ว ทางวินัยก็เรียนแล้ว ทางสังคม ขนบธรรมเนียมประเพณีก็ได้ยินได้ฟังอยู่ เพียงแต่ว่าอย่าประมาท ๆ ระวังไว้อย่าให้ผิดพลาดในสามความหมายนี้ได้ แล้วให้เป็นผู้สัตย์จริง สัตย์จริงต่อธรรมะ ต่อพระวินัย ต่อกฎระเบียบอย่างนี้ เป็นครูผู้สอนธรรมะนะ แต่หาธรรมะทำยาหยอดตาก็เกือบจะไม่ได้นะ นี่สอนวินัยบางทีแสดงปาฏิโมกข์ด้วย ก็หาวินัยแทบจะไม่พบ สอนสังคมวิทยาสอนอะไรอยู่นี่ ก็ไม่มีความถูกต้องทางสังคมใด ๆ เลย ขอให้ระวังในความหมาย ๓ ข้อนี้ อย่าให้เสียหายทางธรรม อย่าให้เสียหายทางวินัย อย่าให้เสียหายทางสังคม ธรรมะก็ขยายกว้างไกลออกไปถึงเรื่องดับทุกข์ทั้งหมด เรื่องวินัยก็ขยายให้กว้างไกลออกไปถึงกฎหมาย ถึงระเบียบอะไรต่าง ๆ ทางสังคมนี้ก็เอาให้หมดแหละทางวัฒนธรรม ทางศีลธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีอะไรก็ขอให้สมบูรณ์ มันรวมอยู่ที่ ๓ คำนี้ ๓ คำนี้ ใช้ให้ตลอดชีวิต ระวังตลอดชีวิต ประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องตลอดชีวิต ให้มีแต่ความถูกต้อง ๆ ๆ แล้วก็พอใจ ๆ อย่าให้ผิดพลาดจนเกลียดน้ำหน้าตัวเอง ผิดพลาดจนเกลียดน้ำหน้าตัวเอง ต้องปกปิดอะไรเป็นความลับอย่างนี้มันสูญหมดแล้ว มันเสียหายหมดแล้ว มันยกมือไหว้ตัวเองไม่ได้มันก็ตกนรกทั้งเป็น ถ้ามันมีแต่ความถูกต้องพอใจ ถูกต้องพอใจ ถูกต้องพอใจ มันก็มีสวรรค์กันที่นี่ และเดี๋ยวนี้ สวรรค์สูงสุดมายกมือไหว้ตัวเองได้ ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ถ้าได้สวรรค์ชนิดนี้จะได้ทุกอย่าง ไม่ว่ามันจะมีสวรรค์อย่างอื่นอีกก็ได้หมดแหละ ขอให้ได้สวรรค์ที่นี่ ๆ ยกมือไหว้ตัวเองได้ ไม่มีอะไรที่ทำให้เกลียดน้ำหน้าตัวเอง พอเกลียดน้ำหน้าตัวเองก็เป็นนรกที่นี่ นรกที่นี่ ตกนรกอย่างนี้แล้วก็ตกหมดเลย มันจะมีสักอีกกี่นรกกี่ชาติกี่กัปกี่กัลป์ก็นับว่าตกหมดนะ ขอให้มีธรรมะ มีธรรมะ คือมีความถูกต้อง ๆ ๆ ๆ แล้วก็พอใจ ๆ ๆ พอใจก็มีความสุข ขอให้อยู่ด้วยความรู้สึกที่บอกตัวเองได้ว่าถูกต้อง ๆ ๆ พอใจ ๆ ไม่ว่าอะไร รู้ธรรมะพอที่จะไม่ให้อะไรเป็นปัญหา การได้ การเสีย การกำไร การขาดทุน การอะไรไม่มีปัญหา มันของธรรมดาไปหมด มีสติปัญญารู้แต่ว่าจะแก้ไขมันอย่างไร แก้ไขมันอย่างไรก็แก้ไขไป นี่จะขอเรียกเป็นคำสั้น ๆ ช่วยจำไว้ด้วยว่า ธรรมะชีวี ธรรมะชีวี ธรรมะชีวี จำไว้ให้ดีคำนี้แปลว่า ผู้มีชีวิตอยู่ด้วยธรรมะ ธรรมะชีวีแปลว่า ผู้มีชีวิตอยู่ด้วยธรรมะ ขอให้ทุกท่านที่ได้บวชได้เรียนแล้วสามารถที่จะเป็นธรรมะชีวีตั้งแต่บัดนี้ตลอดไปจนสิ้นสุดแห่งอายุ รับผิดชอบแต่เพียงเท่านี้ก็พอ มีธรรมะชีวีตลอดชีวิต อย่าเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย นี่เป็นเรื่องสูงสุดทั้งหมด ของการที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา ธรรมะชีวี ธรรมะชีวี แล้วเวลามาบวชก็ให้รู้ข้อนี้ ให้สามารถมีข้อนี้ เป็นธรรมะชีวี ซื่อตรงต่อความเป็นมนุษย์ อย่ากบฏต่อความเป็นมนุษย์ของตนเอง พยายามชำระสะสางให้ถูกต้อง ให้สะอาด ให้เป็นที่ชื่นชมยินดี ทั้งแก่ตัวเองและผู้อื่น จึงจะเรียกว่าไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา สิ่งที่มันเฟ้อเกินไปไม่ต้องเรียน ไม่ต้องสนใจ สนใจเรียนแต่สิ่งที่จำเป็นที่จะช่วยให้เราได้เป็นธรรมะชีวี สนใจอย่างดีที่สุดในข้อธรรมข้อใดที่จะทำให้เป็นธรรมะชีวี เป็นธรรมะชีวี กล่าวได้ว่าผู้นี้มีทั้งพระพุทธ มีทั้งพระธรรม มีทั้งพระสงฆ์อยู่ในชีวิตของตน จึงได้เป็นธรรมะชีวี
นี่ขอให้สิ่งที่เรียกว่าโอวาท อย่างนี้ในลักษณะอย่างนี้ ขอให้จำไปดี ๆ เอาไปคิดนึกศึกษาทบทวน จนเห็นความจริง เห็นความมีประโยชน์แท้จริงอยู่ในนั้น อยู่ในนั้นโดยไม่ต้องเชื่อใคร แล้วก็ปฏิบัติมันให้สุดเหวี่ยง ปฏิบัติมันให้สุดชีวิตจิตใจเรื่องก็จบ รับผิดชอบในการได้เกิดมาเป็นมนุษย์ อย่าให้เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ไอ้เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่าไปเอาอะไรกับมัน เรื่องกิน กาม เกียรติ เรื่องตลก ไอ้อย่างนี้เราอย่าไปถือ เราถือเป็นเรื่องเล็กน้อยนะ เขาถือกันเป็นเรื่องใหญ่โต เราว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรตินี่เป็นเรื่องเล็กน้อย นี่ไปทำลายศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ธรรมะชีวี รักษาความเป็นธรรมะชีวีไว้ให้ได้ ชีวิตนี้ก็ไม่เป็นหมันไม่สูญเปล่า มีค่าถึงที่สุด สูงสุดตามที่มันจะเป็นได้ เอาละย้ำอีกทีว่าไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา การบรรยายวันนี้ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติการบรรยาย ให้เอาไปคิดนึกอย่ารู้ลืมเลือนเลย ขอยุติการบรรยายในคืนนี้ไว้เพียงเท่านี้