แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ อาตมาภาพจะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาเป็นเครื่องประดับสติปัญญา เฉลิมฉลองศรัทธา วิริยะ ของท่านทั้งหลายให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาอันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลายกว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนานี้ปรารภเหตุเนื่องด้วยอาสาฬหบูชาดังเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว เรื่องที่จะบรรยายต่อไปนี้ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอาสาฬหบูชานั้นเอง ถ้าท่านทั้งหลายมีความรู้ มีความเข้าใจในความหมายของอาสาฬหบูชาแล้วประพฤติกระทำให้ถูกต้องตามความหมายนั้นๆ ก็จะได้รับประโยชน์อย่างสูงสุดในทางธรรมะ ในพระพุทธศาสนา ขอให้ตั้งใจฟังและทำความเข้าใจให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ในเรื่องอันเกี่ยวกับอาสาฬหบูชา
คือ เมื่อพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสรู้แล้วในเวลาอันสั้น ท่านก็เริ่มการประกาศพระศาสนา คือแสดงธรรมอันเป็นหลักคำสอน หรือเป็นหัวใจในการดับทุกข์ในพระพุทธศาสนาตามแบบของพระองค์ ก็มาตรัสแก่บุคคลที่เห็นว่าควรจะได้รับการฟังก่อนใครๆ คือ ปัญจวัคคีย์นักบวชทั้งห้าที่เคยอยู่ปรนนิบัติพระองค์มาแต่กาลก่อน ธรรมเทศนานั้นเรียกว่า ปฐมเทศนา ก็ได้ เพราะว่าเป็นการแสดงครั้งแรก แต่พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายไม่เรียกอย่างนั้น เรียกเสียว่า ธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร คำนี้พระพุทธเจ้าไม่เคยเรียก ไม่เคยตรัส แต่ว่ามาเป็นชื่อของพระสูตรๆ นี้ แปลว่า พระสูตรว่าด้วยการยังธรรมจักรให้เป็นไป นี่เราก็มาเรียกกันง่ายๆ ว่า พระธรรมจักร เรียกชื่อพระสูตรนี้ว่า พระธรรมจักร นั่นเป็นสิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจว่าธรรมจักรอะไรกัน คงจะได้ฟังกันมามากแล้วแต่ก็ยังไม่รู้ว่าธรรมจักรทำไมกัน ธรรมจักรคืออะไรและทำไปทำไม อย่างนี้ดูจะยังมืดมัวอยู่ นี่คือ สิ่งที่อาตมาคิดว่าจะต้องทำความเข้าใจกันให้ดีที่สุด ให้ได้รับประโยชน์สูงสุด มากที่สุด กว้างขวางที่สุด ตามที่เราเป็นพุทธบริษัทในพระพุทธศาสนา
คำนี้คือคำว่า ธัมมจักกะ แปลว่า จักรคือธรรม
จักรในที่นี้เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ อย่างที่เรียกในภาษาไทยว่า พุทธจักร หรืออาณาจักร
จักร คำนี้แปลว่า อำนาจ
ตัวจักรแท้ๆ ในทางวัตถุนั้น หมายถึง วงกลมๆ มีคมเป็นจักรๆ รอบด้านใช้เป็นอาวุธ เป็นสัญลักษณ์ของการเผยแผ่อำนาจให้เป็นไปในหมู่คนที่ต้องพ่ายแพ้หรือต้องยอมรับ เป็นการประกาศว่า เรามีอำนาจ แต่เดี๋ยวนี้เป็นอำนาจของธรรมะ ไม่ใช่อำนาจทางการบ้านการเมือง เป็นอำนาจของธรรมะแต่มีความหมายอย่างเดียวกัน คือ จะรุกล้ำเข้าไปในเขตที่ควรจะปราบปราม ใครที่ อะไรที่เรียกว่า เขตที่ควรจะปราบปราม นั้นคือ เขตของความไม่ถูกต้อง ยังโง่เขลา ยังหลงงมงายอยู่ จะต้องจัดการให้มันถูกต้องโดยการขจัดความไม่ถูกต้อง คือ ความโง่ ความหลง นั้นออกไปเสีย อย่าให้มีเหลืออยู่ ให้เกิดความถูกต้อง ให้ขึ้นมาเป็นความสะอาด เป็นความสว่าง เป็นความสงบ ก็แล้วแต่จะเรียก ซึ่งเรามักนิยมเรียกกันว่า ความเป็นผู้รู้ ความเป็นผู้ตื่น ความเป็นผู้เบิกบาน รู้ก็คือรู้สิ่งที่ควรจะรู้ อะไรควรจะรู้ก็ต้องรู้ แต่ไม่ต้องรู้ทั้งหมด รู้ที่มันควรจะรู้ เท่าที่ควรจะรู้ ที่มีประโยชน์ควรจะรู้ แล้วก็รู้มันทั้งหมดเลย
นี่เรียกว่าความรู้ ตื่นคือตื่นจากหลับ ไม่ใช่คนหลับ หมายความว่า ไม่เป็นคนโง่เขลางมงาย ตื่นออกมาเสียจากความโง่ แล้วก็เบิกบาน ทีนี้ก็คือ เป็นสุข เหมือนกับดอกไม้เบิกบาน นี่ผลของการใช้ธรรมะมาจับให้เกิดอาการพี่พึงปรารถนาขึ้นมาในโลก เรียกว่าในโลกก็แล้วกัน มีพระบาลีดังที่ได้ยกมากล่าวข้างต้นว่า
ปะวัตติตัง ธัมมะจักกัง ภะคะวะตา พระผู้มีพระภาคได้ยังธรรมจักรให้เป็นไป
อัปปะฏิวัตติยัง สะมะเณนะ วา เทเวนะ วา พราหมะเณนะ วา เกนะจิ วา โลกัสมินติ
อันใครๆ ให้ อันใครๆ จะต้านทานให้หมุนกลับไม่ได้ มันจะเป็นเทวดา เป็นมาร เป็นพรหม เป็นอะไรก็ตาม มันไม่สามารถจะยังธรรมจักรที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ให้เป็นไปไม่ให้มันถอยกลับ คือ คัดค้าน หมายถึง คัดค้านให้ล้มละลายไป ไม่มีใครทำได้ ก็ท้าอย่างนี้ ท้าทายอย่างนี้ นี่ก็เรียกกันว่า ธรรมจักร ที่ให้เป็นไปๆ เป็นไปในอะไร มันก็หมายความว่าในโลก
ที่นั่นที่อินเดียสมัยนั้น ยังหลับอยู่ด้วยทิฐิ ทิฐิเป็นอันมาก คือ ถือทิฐิกันอยู่เป็นอันมาก จะต้องทำลายทิฐิเหล่านั้นเสีย พระองค์จึงได้ประกาศธรรมจักร คือ ยังธรรมจักรให้เป็นไปเพื่อทำลายทิฐิเหล่านั้นเสีย ถือเอาตามพระบาลีเหล่านั้นก็ว่า มันโง่ พูดกันตรงๆ มันทำผิดหลักใหญ่ๆ สองอย่างที่เกินไป เกินไปในฝ่ายบวกก็คือว่า บูชากามารมณ์ บูชากามารมณ์กันสุดเหวี่ยง เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค นี่มันก็ผิดไปทางบวก อีกทางหนึ่งผิดไปทางลบ มันทำลายอวัยวะร่างกายที่เป็นที่ตั้งแห่งกามารมณ์นั้นเสียให้แหลกลาญให้หมด เพราะว่าอย่าได้ใช้อวัยวะส่วนนี้เพื่อกามารมณ์กันเลย นี่มันก็สุดเหวี่ยงไปในทางลบ อย่างนี้มีอยู่มากเรียกสั้นๆ ว่าอย่างหนึ่งก็กามารมณ์ อย่างหนึ่งก็ว่าทรมานตัว เป็นความผิดพลาดมืดมัวโง่เขลาอย่างหนึ่งประเภทหนึ่งในสมัยนั้น
ทีนี้ความโง่อีกประเภทหนึ่ง คือ มันไม่รู้ว่าจะดับทุกข์อย่างไร มันไม่รู้ว่าทุกข์นี้เกิดมาจากอะไร มันดับไม่ถูก
ความจริง ความที่ถูกนั้น ก็คือ ต้องดับทุกข์โดยการดับเหตุให้เกิดทุกข์
อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์? ก็คือ ความอยากและความต้องการที่มาจากความโง่ เรียกเป็นภาษาบาลีว่า ตัณหา
คำนี้แปลว่า ความอยากที่มาจากความโง่ ความต้องการที่มาจากความโง่ เราอย่าโง่ซ้ำลงไปอีกว่าถ้าชื่อว่าความอยากแล้วก็เป็นตัณหาหมด ที่สอนกันอยู่ผิดๆ แม้ในกรุงเทพยังมีตามศาลาวัดสอนอยู่ว่า ถ้าเป็นความอยากแล้วเรียกว่าตัณหาหมด เรียกว่าความโลภหมด นั้นมันผิด มันโง่ซ้ำ มันต้องเป็นความอยากที่มาจากความโง่ มันคืออยากผิดๆ ถ้าเป็นความอยากที่ถูก คือ อยากจะดับทุกข์ อยากจะรู้ อยากจะเข้าใจ อยากจะดับทุกข์อย่างนี้ ความอยากอย่างนี้ไม่ใช่ตัณหาหรอก
ตัณหา คือ ความอยากที่มาจากความโง่ นั่นเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ฉะนั้นเราจะต้องดับความอยากหรือตัณหานี้เสียจึงจะดับทุกข์ อย่าไปดับทุกข์โดยการทรมานตน หรือการอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือพิธีรีตอง หรือว่าอาบน้ำศักดิ์สิทธิ์กันเป็นการใหญ่ นี้ถือตามประเพณี จารีตประเพณีอย่างอื่นๆ อีกมากมาย ที่ว่าดับทุกข์แล้วมันดับไม่ได้ นี่คือ ข้อที่ว่ามันไม่รู้ว่าจะดับทุกข์อย่างไร เป็นความมืดด้วยเหมือนกัน
ดังนั้นในพระบาลีพระสูตรนี้จึงยกขึ้นแสดงถึง ๒ อย่าง คือ อย่าโง่ไปสุดโต่งทางกามและทางการทรมานตน นี้ก็พวกหนึ่ง แล้วก็อย่าโง่ไปทางดับทุกข์ด้วยพิธีรีตอง ด้วยบวงสรวงอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมันดับไม่ได้ นี้อีกอย่างหนึ่ง
ดังนั้นพระองค์จึงทรงได้แสดงธรรมะในพระสูตรนี้เป็น ๒ เรื่องด้วยกัน เรื่องที่หนึ่งเรียกว่า อย่าเข้าไปสู่ที่สุดโต่ง ๒ ฝ่าย หรืออันตา ๒ ฝ่าย คือ กามสุขัลลิกานุโยคกับอัตตกิลมถานุโยค นี่เรื่องหนึ่ง และเรื่องหนึ่งก็แสดง มัชฌิมาปฏิปทา ความปฏิบัติที่ถูกต้อง ๘ ประการ มีเรื่อง อริยสัจ รวมอยู่ในนั้นด้วย แต่ถ้าจะแยกเอาเรื่องอริยสัจออกมาเป็นเรื่องหนึ่งต่างหากก็กลายเป็น ๓ เรื่อง เข้าใจให้ดีๆ เรื่องไม่ทำอะไรสุดโต่งนั้นเรื่องหนึ่ง เรื่องมัชฌิมาปฏิปทาอยู่ตรงกลางนี่เรื่องหนึ่ง นี่เรื่องหนึ่งรู้จักดับทุกข์โดยตรงด้วยการดับตัณหาอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ที่เราเรียกว่า เรื่องอริยสัจอันนี้เรื่องหนึ่ง กล่าวทบทวนอีกทีก็ว่าเรื่อง ที่สุดสองอย่าง สุดโต่งสองอย่างนั้นเรื่องหนึ่ง เรื่องมัชฌิมาปฏิปทา หรือ อริยมรรค มีองค์ ๘ นี่เรื่องหนึ่ง แล้วก็เรื่องอริยสัจ ๔ ประการนี้อีกเรื่องหนึ่ง มันจึงเป็น ๓ เรื่อง
ขอให้ตั้งใจฟังให้สำเร็จประโยชน์ เรื่องแรกนี่ มันเป็นปัญหาทั่วไปในอินเดียสมัยนั้น เรื่องกามารมณ์พวกก่อนนู้นเขาเคยเอาเป็นนิพพาน เอาเรื่องกามารมณ์สูงสุดว่าเป็นนิพพาน คำว่านิพพานนี่ใช้เป็นชื่อของกามารมณ์สูงสุดก็มี เอามาเป็นเรื่องของสมาธิ ของฌาน ของสมาบัติก็มี แต่ว่าความหมายที่เขาจะต้องการจะกำจัดก็คือว่า อย่าเอาเรื่องกามารมณ์มาเรื่องที่เป็นที่ตั้งแห่งความพอใจอย่างยิ่งเอามาเป็นนิพพาน แล้วก็อย่าไปทำการทรมานร่างกายให้ลำบาก
เดี๋ยวนี้ก็ยังมีอยู่ที่ว่า ทั้งโลกบูชาการตามใจตัว ตามกิเลสตัณหา นี่เรียกว่าก็ยังมีอยู่กระทั่งบัดนี้ เรื่องกามสุขัลลิกานุโยคยังหนาแน่นหนักขึ้นในโลกปัจจุบันนี้ แต่เรื่องทรมานตนให้ลำบากนี้ไม่มี ไม่ค่อยมีใครชอบ มีบ้างก็เป็นพิเศษ ที่เข้าใจผิดพิเศษก็คงจะมีอยู่บ้างเหมือนกัน นั่นจะต้องเข้าใจว่าเป็นปัญหาๆ มีอยู่ที่ไหนมันก็เป็นความหลง เป็นความโง่ เป็นความเข้าใจผิดที่นั่น ควรจะรู้กันไว้ว่า โลกนี้กำลังจะวินาศก็ว่าได้ จะว่าฉิบหาย มันหยาบคาย โลกมันกำลังจะวินาศ เพราะความหลงใหลในทางบวก คือ ทางกามารมณ์ ทางตามใจตัวเองในเรื่องกามารมณ์ โลกนี้บูชาเรื่องกามารมณ์ สร้างเหตุปัจจัย เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องอุปกรณ์ แก่กามารมณ์ขึ้นมามากมายมหาศาล สร้างด้วยมือไม่พอแล้วต้องสร้างด้วยเครื่องจักรที่เรียกว่า อุตสาหกรรม อุตสาหกรรมหรือใช้เครื่องจักรเป็นเครื่องมือ สร้างปัจจัย วัตถุปัจจัยแห่งกามารมณ์ทั้งนั้น ไปดูเถอะต่ำบ้าง สูงบ้าง ปัจจัยแห่งกามารมณ์ เพื่อจะล้วงเงินในกระเป๋าของคนอื่นๆ ออกมาจนได้
นี่เขาใช้อุตสาหกรรมเครื่องจักรเป็นเครื่องมือล้วงกระเป๋าคนอื่นให้วอดวายไปหมดโดยการโฆษณา เขาโฆษณาคน จนกระทั่งว่าหลอกให้ยายแก่ขี้เหนียวไปซื้อตู้เย็นได้เหมือนกัน เพราะมันมีการโฆษณาที่อย่างยิ่งนี่ นี่ก็เป็นเครื่องแสดงว่า มันกำลังหลงไปในทางบวกเกินไปนั้นอย่างไร เมื่อหลงใหลในทางบวกเท่าไรก็ยิ่งมีความเห็นแก่ตัวเท่านั้น มีความเห็นตัวเท่าไรมันก็ยิ่งเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นเท่านั้น เมื่อมีแต่การเบียดเบียนกันอย่างนี้โลกนี้มันก็วินาศ ขอให้เข้าใจความเห็นแก่ตัวนั้น มันตัวเดียวเท่านั้น สิ่งเดียวเท่านั้นที่จะทำโลกให้วินาศ มันเห็นแก่ตัวในทางบวก มันก็เกิดกิเสลบวก เช่น ราคะ เช่น โลภะ กิเลสบวก ถ้ามันเห็นแก่ตัวในทางลบ มันก็สร้างกิเลสประเภทลบ คือ โทสะ โกธะ ทำลายล้าง ถ้ามันโง่ มันสงสัย ไม่รู้จะทำอะไรถูกได้ มันก็เกิดกิเลสประเภทโมหะหรือความหลง นี่ความเห็นแก่ตัวอย่างเดียว เกิดกิเลสประเภทโลภะก็ได้ โทสะก็ได้ โมหะก็ได้
เดี๋ยวนี้ในโลกนี้มีวัตถุเครื่องทำให้เห็นแก่ตัวมันมากขึ้นๆ คือ บำรุงบำเรอความรู้สึกทางกิเลสนั้น มันมากขึ้น เรื่องกิน เรื่องอยู่ ข้าวปลาอาหารก็ดี เรื่องเครื่องนุ่มห่มแต่งเนื้อแต่งตัวก็ดี เครื่องใช้ไม้สอยบ้านเรือนก็ดี แม้แต่หยูกยามันก็ใช้ไปในทางส่งเสริมกิเลสตัณหาจนเป็นโรคอะไรที่ไม่รู้จักกัน นี่คือ ความที่หลงบวก บูชาบวกกันทั้งโลก ก็เห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัวกันทั้งโลก เห็นแก่ตัวนี้ก็ดู มันก็ไม่เห็นผู้อื่น เพราะมันเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัว มันก็ไม่เห็นแก่ผู้อื่น แล้วไม่เห็นแก่ธรรมะหรือความถูกต้องด้วย ความเห็นแก่ตัวไม่เห็นแก่ผู้อื่นอย่างแล้วไม่เห็นแก่ธรรมะด้วย แล้วอะไรมันจะเหลือ ความเห็นแก่ตัว มันทำลายโลก กำลังทำลายอย่างยิ่ง จวนจะวินาศอยู่แล้ว ยังไม่ค่อยจะสนใจกัน
พวกนายทุนทั้งหลายในโลกก็เห็นแก่ตัว พวกชนกรรมาชีพทั้งหลายก็เห็นแก่ตัว เพราะว่านายทุนมันเอาเปรียบชนกรรมาชีพด้วยความเห็นแก่ตัว นี้พวกชนกรรมาชีพ มันก็ต่อสู้ด้วยความเห็นแก่ตัว มันทำกันให้มันเกลือจิ้มเกลือ มันก็ได้ต่อสู้กันระหว่างนายทุนกับชนกรรมาชีพ นายจ้างก็เห็นแก่ตัว ลูกจ้างก็เห็นแก่ตัว เอาสิ, เมื่อต่างฝ่ายต่างเห็นแก่ตัว อะไรมันจะเกิดขึ้น มันก็คือ การต่อสู้อีกเหมือนกัน การพยายามที่จะทำลายล้างกันอยู่นั่น แม้ว่าจะเป็นลูกจ้างนายจ้างแก่กันและกัน คนมั่งมีก็เห็นแก่ตัว คนยากจนก็เห็นแก่ตัว มันก็มีปัญหา นี่คือ ความไม่มีธรรมะๆ ไม่มีใครเห็นแก่ธรรมะ ไม่มีใครเห็นแก่ผู้อื่น มันก็เกิดความเห็นแก่ตัวๆ อย่างรุนแรงๆๆ มากขึ้นๆๆ สัตว์เดรัจฉานมันเท่าเดิม สัตว์เดรัจฉานเห็นแก่ตัวเล็กน้อยมากตามสัญชาตญาณของสัตว์เดรัจฉาน มันก็เท่าเดิม กี่พันปี หมื่นปี แสนปี ล้านปีแล้วมันก็เท่าเดิม แต่มนุษย์มันเพิ่มๆๆ ไม่รู้กี่ร้อย กี่พัน กี่หมื่น กี่แสน กี่ล้านเท่า ความเห็นแก่ตัวจึงเต็มไปในโลกมนุษย์ ในโลกสัตว์เดรัจฉานก็พลอยเดือดร้อน เพราะความเห็นแก่ตัว
พอเห็นแก่ตัว มันก็ไม่เห็นประโยชน์ของผู้อื่น มันไม่เห็นแก่ความถูกต้องใดๆ ก็ทำไปตามพอใจ มันเกิดอาการเลวร้ายมากขึ้นๆ ในโลกนี้ มลภาวะทั้งหลายเกิดมาจากผู้เห็นแก่ตัวทั้งนั้น การทำลายธรรมชาติอันสวยงาม อันมีประโยชน์ให้หมดไปก็เป็นเรื่องของผู้เห็นแก่ตัวทั้งนั้น การยุ่งยากลำบาก การขัดข้องต่างๆ นานา การเบียดเบียนกัน ทำร้ายกัน การปล้น การจี้ การอะไรที่ว่าเป็นสิ่งเลวร้ายนี้ก็มาจากผู้เห็นแก่ตัว
ผู้เห็นแก่ตัวนี้มันขี้เกียจ มันไม่อยากทำงาน แต่มันจะเอาประโยชน์ ดูให้ดี ผู้เห็นแก่ตัวนี้ไม่สามัคคีๆ จะเรียกร้องให้มาทำประโยชน์ใดๆ ช่วยกันเป็นส่วนรวมไม่เอา กูไม่เอา กูไม่ทำ ให้คนอื่นทำแล้วเขาได้ประโยชน์ เขาคอยใช้ประโยชน์ คนเห็นแก่ตัว คนเห็นแก่ตัวนั้นอิจฉาริษยาๆ เดี๋ยวนี้มีปัญหายุ่งไปหมด คนที่เห็นแก่ตัวเขาประกอบอาชญากรรม
ถ้าไม่มีคนเห็นแก่ตัว ขอให้ฟังดีๆ ไม่ต้องมีคุก ไม่ต้องมีตาราง ไม่ต้องมีตำรวจ ไม่ต้องมีศาล ไม่ต้องมีโรงพยาบาลบ้า
กลัวว่าโยมจะลืม อาตมาขอพูดซ้ำอีกทีหนึ่งว่า ถ้าไม่มีความเห็นแก่ตัวในโลกนี้ ในโลกนี้ไม่ต้องมีคุก ไม่ต้องมีตาราง ไม่ต้องมีตำรวจ ไม่ต้องมีศาล ไม่ต้องมีโรงพยาบาลบ้า จริงไม่จริงไปคิดดู ที่มันต้องมีคุกจนสร้างกันไม่ไหว มีตำรวจ มีศาล มีโรงพยาบาลบ้าจนสร้างกันไม่ไหว เพราะคนมันเห็นแก่ตัว คนเห็นแก่ตัวเป็นผู้ทำให้มันจำเป็นต้องมีสิ่งเหล่านี้ เดี๋ยวนี้คนเห็นแก่ตัวมันก็กำลังเพิ่ม ไม่ใช่กำลังลด เพราะมีสิ่งส่งเสริมความเห็นแก่ตัว อะไรส่งเสริมความเห็นแก่ตัว ก็เรื่องบวกทั้งหลาย เรื่องอารมณ์บวก กามารมณ์ทั้งหลายนี่ เข้ามาแล้วก็เห็นแก่ตัวๆ ก็ทวีกันไม่มีที่สิ้นสุด เดี๋ยวนี้มีการเป็นอยู่กันอย่างที่เรียกว่า แข่งกับเทวดา เทวดายอมแพ้แล้ว ห้องน้ำของเทวดาไม่มีราคาล้าน ได้ยินว่าห้องน้ำบางคนในกรุงเทพราคาตั้งล้าน เทวดาแพ้ ทำอะไรแข่งเทวดาอย่างนี้ มันจะรู้สิ้นสุดกันได้อย่างไรเล่า เรื่องอาหาร เรื่องเครื่องนุ่มห่ม เรื่องเครื่องใช้ไม้สอย ที่อยู่อาศัย แม้แต่หยูกยา มันก็ส่งเสริมกามารมณ์ๆ ยกเอาเรื่องนี้เป็นเรื่องสูงสุด เป็นเรื่องมีหน้ามีตา เป็นเรื่องมีเกียรติยศ มีเกียรติยศก็จะเพื่อแสวงหาสิ่งเหล่านี้
นี่โลกปัจจุบันกำลังเป็นอย่างนี้เลยพูดกันไม่รู้เรื่อง พูดจากันไม่รู้เรื่อง คือ ต่อรองอะไรกันก็ไม่รู้เรื่อง เพราะต่างฝ่ายต่างเห็นแก่ตัว องค์การโลกพูดกันไม่รู้เรื่อง อาตมาว่าเท่าที่ได้ยินได้ฟังได้อ่านมา ในองค์การโลกมันพูดกันไม่รู้เรื่อง ต่างฝ่ายต่างเห็นแก่ตัว ต่อสู้ป้องกันประโยชน์ของตัว พูดกันไม่รู้เรื่อง ตกลงกันไม่ได้ ดังนั้นองค์การโลกจึงสร้างสันติภาพในโลกไม่ได้ เพราะมันมีแต่เรื่องของผู้เห็นแก่ตัวต่อสู้แย่งชิงกัน ขอพูดเงียบๆ อย่าเอ็ดตะโรไปว่า เลิกองค์การโลก สร้างองค์การศาสนาดีกว่า เลิก UNO U.N.O. United Nation Organization เสีย เปลี่ยนเป็น United Religion Organization เป็น URO เสียนั่นจะค่อยๆ พูดกันรู้เรื่อง องค์การโลกจะพูดกันรู้เรื่อง หรือว่าอย่างน้อยก็ให้ URO มันควบคุม UNO ให้ UNO มันลดความเห็นแก่ตัว มันจะพูดกันรู้เรื่อง โลกนี้จะมีสันติภาพ
เอา, สรุปความว่า เรื่องเห็นแก่ตัวๆ กำลังทวีขึ้นมาในโลก ทวีขึ้นมาในโลก ใครมีอำนาจก็กอบโกยประโยชน์ได้มาก เพราะความเห็นแก่ตัว และเขาจะครองโลก คนเหล่านั้น มันก็ไม่ยอมที่คนเดียวจะครองโลก มันก็ต่อสู้ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด อีกกี่ร้อยปี กี่พันปี มันก็ไม่สิ้นสุดที่จะครองโลกคนเดียว มันก็มีคนต่อสู้ ถ้าทัดเทียมกันขึ้นมา มันก็ทำลายล้างกัน ก็วินาศกันทั้งโลก นี่ความเห็นแก่ตัวกำลังจะทำโลกให้วินาศ มาจากความหลงบูชาบวก บวกนี้คือกามารมณ์ พระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้ในฐานะเป็นสิ่งๆ หนึ่ง คือ สุดโต่งฝ่ายหนึ่งเรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค หยุดบูชากามารมณ์กันเสีย และฝ่ายที่ตรงกันข้ามก็อย่าไปเอากับมันเลย แต่คนก็จะไม่ค่อยเอากันอยู่แล้วเรื่องทรมานร่างกาย นี่เอาตรงกลางพอดีๆ ไม่โต่งไปในทางกามารมณ์ ไม่โต่งไปในทางทรมานร่างกาย เอาพอดีๆ เป็นอยู่อย่างถูกต้องพอดี
คำว่า พอดีๆ นั้นสำคัญมาก เหมือนกับคำพูดเล่นๆ แต่เป็นคำพูดที่สูงสุด พอดีๆ นี่จะทำให้อยู่ในโลกนี้อย่างเป็นสุขที่สุดและจะบรรลุมรรคผลนิพพานก็ได้ แม้จะบรรลุมรรคผลนิพพาน มันก็เป็นเรื่องต้องพอดีๆๆ ยิ่งๆ ขึ้นไป พอดีที่สุด แม้ว่าจะอยู่ในโลกนี้เป็นคนธรรมดาสามัญก็ต้องมีความถูกต้อง และพอดีๆ อย่าให้มันเกิน มันจะไม่ยุ่งยากลำบากเหมือนกับที่เขาไม่รู้จักพอดี เรื่องกิน เรื่องอยู่ เรื่องนุ่ง เรื่องห่ม ไม่รู้จักพอดี ไม่มีคำว่าพอดี มีแต่ให้มันดี ดีไม่มีที่สิ้นสุดนั่น
หลักพระธรรมในพระสูตรนี้ก็ยกเอาเรื่องพอดีขึ้นมาเป็นหลักว่า มัชฌิมาปฏิปทา พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในฐานะเป็นธรรมะสำคัญที่สุดด้วยอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน คือว่า เป็นสิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาแต่ก่อน เป็นสิ่งที่เห็นเอง ตรัสรู้เอง อาจเข้าใจได้ด้วยตนเองว่า ต้องพอดีๆๆ ทีนี้ท่านได้กล่าวเรื่องพอดีๆ นี้ไว้อย่างไรบ้างนี่เราควรจะสนใจ ฉะนั้นเดี๋ยวนี้เราได้แต่สวดๆๆ ตัวบทให้เป็นภาษาบาลีเป็นภาษาไทยก็ไม่ค่อยจะรู้ว่าพอดีคืออย่างไร มัชฌิมาปฏิปทานั้นก็คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ เด็กๆ ก็สวดได้ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ก็สวดได้เป็นว่าเล่น แต่มันไม่รู้จักๆ มันก็ไม่อาจจะเอามาทำให้เป็นความพอดีได้ มันต้องรู้จักจึงจะเอามาทำให้เป็นความพอดีได้แล้วคำว่าพอดีๆ นี่มันมีความหมายพิเศษ พิเศษจริงๆ
สัมมา สัมมา ถูกต้อง คือ พอดี มีความหมายพิเศษ เพราะมันเป็นไปเพื่อดับทุกข์โดยส่วนเดียว ถ้าไม่พอดีมันไม่ดับทุกข์ ทิฐิก็ดี สังกัปปะก็ดี วาจาก็ดี กัมมันตะอะไรก็ดี ถ้าไม่ถูกต้องพอดีไม่ดับทุกข์ ไปข้างไหนก็ไม่รู้ นั้นจะให้ดับทุกข์ต้องเป็นถูกต้องชนิดที่พอดีที่เรียกว่า สัมมา สัมมา เอามาเติมเข้าข้างหน้าเรียกว่า สัมมาทิฐิ ก็คือ ทิฐิที่ถูกต้องและพอดี สัมมาสังกัปปะ ก็คือ ความประสงค์ที่ถูกต้องและพอดี สัมมาวาจา คือ วาจาที่ถูกต้องและพอดี สัมมากัมมันตะ การกระทำทางกายที่ถูกต้องและพอดี สัมมาอาชีวะ การดำรงชีวิตอยู่อย่างถูกต้องและพอดี สัมมาวายามะ มีความพากเพียรพยายามอยู่อย่างถูกต้องและพอดี สัมมาสติ มีความระลึกประจำใจอย่างถูกต้องและพอดี สัมมาสมาธิ มีความตั้งมั่นแห่งจิตใจอย่างถูกต้องและพอดี มีคำว่า สัมมา นำหน้าอยู่ทั้งนั้น ที่เรามันมีสิ่งเหล่านี้กันก็มี แต่มันไม่ใช่ชนิดที่ถูกต้องและพอดี ถ้ามันเป็นชนิดที่ถูกต้องและพอดี
ให้มีชื่อว่า สัมมา สัมมา ได้นั้น มันต้องประกอบด้วยองค์ประกอบที่ถูกต้องที่ตรัสไว้อีกเหมือนกันอย่างน้อยก็เอามาพูดให้ฟังสัก ๔ ชื่อ
วิเวกนิสสิตัง อาศัยวิเวกทำให้ปฏิบัติขึ้นมา
วิราคนิสสิตัง อาศัยวิราคะ ความคลายกำหนัดทำให้ปฏิบัติขึ้นมา
นิโรธนิสสิตัง อาศัยความดับแห่งทุกข์ทำให้ปฏิบัติขึ้นมา
วสสัคคะปริณามิง น้อมไปเพื่อความสละ น้อมไปเพื่อความสละ คือ ไม่ยึดมั่นถือมั่น
ช่วยให้จำให้ดีว่า คำนี้สำคัญมากที่ว่าการปฏิบัติของเราไม่ดับทุกข์ เพราะว่ามันไม่ประกอบด้วย ๔ ข้อนี้ วิเวกนิสสิตัง เพื่อวิเวก อาศัยวิเวก วิราคนิสสิตัง อาศัยความคลายกำหนัด จึงปฏิบัติเพราะอาศัยสิ่งนี้อยู่บ่อยๆ นิโรธนิสสิตัง อาศัยความดับทุกข์ โวสสัคคะปริณามิง อาศัยการน้อมไปเพื่อความสลัด สละ สลัด
เดี๋ยวนี้คุณรักษาศีล รักษาศีลเพื่ออะไร รักษาศีลเพื่อเอาหน้าใช่ไหม มันไม่เข้าในลักษณะ ๔ อย่างนี้เลย รักษาศีลเพื่อแลกเอาสวรรค์ใช่ไหม มันไม่เข้าในลักษณะ ๔ อย่างนี้ รักษาศีลให้เขานับถือ หาให้แม่ยายเขาชอบใจ นี่มันก็ไม่ใช่ วิเวกนิสสิตัง วิราคนิสสิตัง มันรักษาศีลไม่ใช่เพื่อวิเวก วิราคะ นิโรธะ โวสสัคคะ เลย
ต่อเมื่อคุณรักษาศีลเพื่อวิเวก เพื่อให้ดับความรบกวนวุ่นวายให้มันวิเวก ให้เป็นวิราคะ คือ คลายความกำหนัด ยินดีในทางกาม นิโรธะก็ดับทุกข์ โวสสัคคะปริณามิงเพื่อสลัดออกไป สลัดออกไปจากอุปาทาน เช่น รักษาศีลเพื่อสลัดกิเลส สลัดความเห็นแก่ตัว สลัดออกไป ไม่ใช่รับเข้ามา
รักษาศีลแลกสวรรค์นั้นเป็นการค้า ค้ากำไรเกินควรเสียด้วย มันจะเป็นการสลัดได้อย่างไร รักษาศีลอย่างที่รักษากันอยู่ตามธรรมดานั้น มันจึงไม่ใช่สัมมาๆ มันเป็นธรรมดาๆ ฉะนั้นจะต้องจัดเสียใหม่ให้มันเป็นวิเวก ให้มันเป็นไปเพื่อความสงัด สงัดจากสิ่งรบกวนหรือความทุกข์ ให้คลายความกำหนัด ให้ดับทุกข์ แล้วก็ให้เป็นการสละออกไปๆ จนหมดไม่มีอะไรจะยึดถืออยู่ในจิตใจว่าตัวกู ว่าของกู ดูเถอะแม้แต่ให้รักษาศีลเอาให้ต่ำลงมาอีกดีกว่า เอาให้ต่ำลงมาอีกดีกว่า มันเป็นเรื่องจริงมากขึ้น
ให้ทานๆ ให้ทานเพื่ออะไร เพื่อวิเวก เพื่อวิราคะ นิโรธะ โวสสัคคะ หรือเปล่า มันก็เปล่า มันให้ทานเอาบุญแลกสวรรค์กันทั้งนั้น อย่างนี้ไม่ใช่เพื่อวิเวก ไม่ใช่เพื่อวิราคะ มันรักษา มันให้ทานเอากำไรเกินควร ให้ทานเอาเกียรติยศชื่อเสียง เอาเพื่อเป็นหัวหน้า เป็นอะไรใหญ่เป็นโตขึ้นมา แม้แต่ให้ทานนี่มันก็ยังไม่เป็นไปเพื่อ ๔ อย่างนั้นก็เหลว ทานนี้มันก็ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
ฉะนั้นลองให้ทานเพื่อวิเวก เพื่อให้หมดสิ่งรบกวน ให้เพื่อคลายความกำหนัดยินดีจากกิเลสหรือกามารมณ์ ให้เป็นไปเพื่อดับทุกข์ๆ แล้วให้เป็นไปเพื่อสลัดๆ ออกอยู่เสมอ อย่ารับเข้ามาๆ ยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกู ของกู ๒ คำนี้เข้าใจยาก ขออธิบายหน่อยว่า ให้ทานขอให้เป็นไปเพื่อนิโรธ คือ ดับทุกข์ คำว่า ดับทุกข์ ฟังดู มันมีความหมายอย่างไร มันมีความทุกข์เกิดแล้วดับ มีความทุกข์เกิดแล้วดับนี่ มันก็เกือบตาย ก็เกือบตาย คำว่า ดับทุกข์ นิโรธะ นิโรธ ดับไม่เหลือแห่งทุกข์นี่ คือ เขาไม่ให้กิเลสมัน ไม่ให้ความทุกข์มันเกิด เขาตัดต้นราก ต้นเหตุของความทุกข์แล้ว ความทุกข์ไม่เกิดนั่น พูดภาษากฎหมายหรือภาษาอะไรก็ต้องว่า ทำไม่ให้ทุกข์เกิด นั่นคือ ดับทุกข์ อย่าปล่อยทุกข์เกิดแล้วจึงดับทุกข์ อย่างนี้มันบ้า บางทีมันตายเสียก่อน ตัวหนังสือมันว่า ดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ดับทุกข์จริง แต่มันหมายถึงว่า ทำอย่าให้มัน กิเลสเกิดได้นั่น มันจึงจะสมกับคำว่าไม่เหลือ ดับทุกข์ไม่เหลือ ไม่มีเหลือ คือ มันทำให้เกิดขึ้นมานี่ มันก็จะมีอะไรเหลือ แต่ให้เป็นทุกข์ เป็นทุกข์ขึ้นมาท่วมหู ท่วมหัว แล้วดับทุกข์นี่เหมือนปล่อยให้ไฟไหม้บ้านแล้วจึงดับ นี่มันแย่ ไม่ทำให้ไฟไหม้บ้านนั่น นั่นคือดับไฟ ดับไฟ คือ ไม่ทำให้ไฟไหม้บ้าน ฉะนั้นเรารักษาศีลให้ทาน ทำอะไรก็ตามเพื่อให้มันไม่เกิดทุกข์ได้ รับประกันว่าหยุด ทุกข์ได้
ทีนี้ที่ว่า โวสสัคคะปริณามิง เป็นการสลัดออกไป สละออกไป ไม่ใช่รับเข้ามานี่ถ้าให้ทานเพื่อแลกสวรรค์ รักษาศีลเพื่อแลกสวรรค์นี้มันรับเข้ามาๆ กำไรเกินควรด้วย มันไม่ใช่ มันไม่ใช่สัมมา สัมมา การให้ทาน ให้ทานแม้ว่าจะเป็นชั้นต้น ชั้นต่ำที่สุดก็ต้องเพื่อสละตัวกู สละของกู สละตัวกู สละความรู้สึกว่าตัวกู สละความรู้สึกว่าของกูออกไปๆ นั้นคือ สิ่งที่ต้องสละ ให้สละสิ่งเหล่านั้นจึงจะเรียกว่า สัมมา สัมมา ให้ทานก็เพื่ออย่างนั้น รักษาศีลก็เพื่ออย่างนั้น สมาธิก็เพื่ออย่างนั้น วิปัสสนาก็เพื่ออย่างนั้น หรือทั้ง ๘ องค์มรรคก็เพื่ออย่างนั้นๆ เพื่อสละออกไปๆ จนหมดความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกู
ความยึดถือยึดมั่นว่าตัวกูนี้ มันเกิดจากพอใจในเรื่องบวก จนเกิดตัวกูบวกอย่างที่ว่ามาแล้ว หรือว่าถ้าเป็นเรื่องลบมันก็เกิดตัวกูลบๆ นี่ โกรธ นั่นคือโกรธ อย่างที่ว่ามาแล้ว มันก็ไม่ต้องมีทั้งตัวกูบวกและไม่มีทั้งตัวกูลบ มันจึงจะเรียกว่า สลัดตัวกู
ขอพูดท้าทายพวกหมอสักหน่อย ถ้ามีอยู่ที่นี่ อาตมาจะพูดว่า ถ้าในโลกนี้ไม่มีคำพูดว่าตัวกู ว่าของกูแล้ว โลกนี้จะไม่มีโรคเบาหวาน จะไม่มีโรคหัวใจ จะไม่มีโรคประสาท คุณไม่เชื่อก็ยิ่งดี เอาไปคิด ถ้าในโลกนี้ไม่มีคำพูดว่าตัวกูหรือว่าของกู ในโลกนี้จะไม่มีโรคประสาท จะไม่มีโรคเบาหวาน จะไม่มีโรคหัวใจ คำพูดว่าตัวกู ตัวกูนี้มันเกิดขึ้นเมื่อโกรธ เมื่อยกหู ชูหาง เมื่อจองหอง คำพูดว่าของกูๆ มันเกิดมาก็มีความโลภๆ โลภจะเอามาเป็นของกู ความโกรธหรือความโลภที่เต็มอัดอยู่ในจิตใจนั้นเป็นต้นเหตุทำลายระบบความถูกต้องในร่างกาย ทำลายแม้ในทางวัตถุ มันเป็นเรื่องจิตใจก็จริงแต่มันทำลายทางวัตถุ มันเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี ทางร่างกาย ทางวัตถุจนเป็นโรคขึ้นมา ถ้าไม่มีเรื่องที่จะต้องทำให้พูดออกมาว่า กู หรือของกู ก็ไม่มีสิ่งเลวร้ายทางจิตใจ ก็ไม่เกิดสิ่งเลวร้ายทางร่างกาย ทางวัตถุ มันก็ไม่มีโรคหลายๆ อย่าง เช่นโรคเบาหวาน เช่นโรคประสาท เช่นโรคหัวใจที่เป็นกันมากที่สุด เป็นกันมากขึ้นทุกที มันมีความโง่ว่า ตัวกู ของกูขึ้นมา มันก็เกิดโรคหัวใจ และส่งเสริมโรคหัวใจกันมากขึ้นๆ ขอท้าทายกับพวกหมอทั้งหลายว่า ถ้าในโลกนี้ไม่มีคำว่าตัวกู ว่าของกู โลกนี้จะไม่มีโรคประสาท ไม่มีโรคหัวใจ ไม่มีโรคแม้แต่โรคเบาหวาน ทีนี้อะไรๆ ที่จะทำให้มีคำพูดว่าตัวกู ว่าของกู มันก็คือสิ่งที่ทำให้ไม่เกิดกิเลส ไม่ให้เกิดกิเลสนั่น มันก็คือความถูกต้องๆๆ ทั้ง ๘ ประการดังที่กล่าวแล้ว มันไม่ต้องมีความรู้สึกพลุ่งดันออกมาว่าตัวกู ว่าของกู ก็หมายความว่า มันไม่มีกิเลสประเภทโทสะหรือโมหะ ที่ให้พูดว่าตัวกูๆ มันไม่มีกิเลสประเภทโลภะที่ทำให้พูดว่าของกูๆ
นี่จึงสรุปความว่า ถ้ามันไม่มีตัวกู ไม่มีของกู อยู่ในโลกนี้แล้วมันก็ไม่เป็นโรคเหล่านั้น ทีนี้ก็เพื่อจะให้เป็นชนวนสักน้อยหนึ่ง สักหน่อยหนึ่ง สักน้อยหนึ่งเท่านั้น เอาไปๆ คิดดูว่าอันนี้จริงหรือไม่จริง แล้วเดี๋ยวนี้ตัวกู ของกู มันยิ่งแน่นหนาเต็มอัดไปทั้งหมด โลกนี้ก็เต็มไปด้วยโรคที่มีสิ่งเหล่านี้เป็นสมุฏฐาน มีกิเลสเป็นสมุฏฐาน พระพุทธเจ้าท่านตรัสข้อปฏิบัติเกี่ยวกับว่า สัมมา สัมมา ถูกต้องพอดีๆ ไม่มีทางเกิด ไม่มีทางที่ใครจะพุ่ง พลุ่งออกมาว่ากู ว่าของกู ไม่มีมันถูกต้อง มันพอดีไปหมด พูดว่ากู มันก็บ้าชนิดหนึ่ง ว่าของกูมันก็บ้าชนิดหนึ่ง ไว้ในฝ่ายเกินทั้งนั้น ในฝ่ายขาดก็ได้มันน้อยใจ กูไม่มี ของกูไม่มี นี้มันก็น้อยใจมันก็เหมือนกัน ก็ให้โทษแก่จิตใจอย่างเดียวกัน
เอาละ, ขอพูดเรื่องสัมมากันอีกทีว่า หนึ่ง สัมมาทิฐิ มีความคิด ความเห็น ความเชื่อ ความเข้าใจ ตลอดถึงอุดมคติทั้งหลายรวมอยู่ในคำว่า ทิฐิ ทิฐิ คำเดียวนี่มีความหมายกว้าง คือ สิ่งที่ยึดถืออยู่ในใจเรียกว่า ทิฐิ มันจะเป็นความเห็น เห็นความคิดเห็นอะไรก็ได้ ความเชื่อก็ได้ ความยึดถือเป็นหลัก เป็นเกณฑ์ เป็นอุดมคติอะไรก็ได้ ต้องถูกต้องๆ ต้องสัมมาๆ ทิฐินั้นต้องเป็นไปเพื่อวิเวก คือ หาความสงบ สงัดจากสิ่งรบกวน ต้องเป็นไปเพื่อวิราคะ ทำลายลดหย่อนความกำหนัดยินดี กระทั่งเป็น นิโรธะ คือ ไม่ให้ทุกข์เกิดๆ แล้วก็ โวสสัคคะ คือ สละๆ สิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกู ว่าของกูอยู่นั้นออกไปๆ จนกระทั่งไม่มีโอกาสที่จะพูดคำว่าตัวกู ว่าของกู ดังกล่าวแล้ว เป็นพ่อก็ดี เป็นแม่ก็ดี เป็นลูกก็ดี เป็นคนใช้ก็ดีแต่ แต่ละคนๆ ไม่มีโอกาสจะพูดคำว่ากู ว่าของกู เลยนั่น มันจะเรียกว่า ถูกต้องๆ ในทางทิฐิ
อันที่สอง สัมมาสังกัปปะ สัมมาสังกัปปะ มีความต้องการถูกต้อง สังกัปปะนี้เป็นความต้องการ แต่มันไปพ้องกับความต้องการของกิเลสตัณหา ถ้าความต้องการของอวิชชา ของกิเลสตัณหาก็เรียกว่าโลภบ้าง เรียกว่าตัณหาบ้าง เรียกว่าความต้องการด้วยความโง่ เดี๋ยวนี้ต้องการด้วยความฉลาดด้วยปัญญาอันถูกต้องว่าควรจะต้องการอะไร แล้วก็ต้องการสิ่งเหล่านั้น ความต้องการอย่างนี้ไม่เรียกว่าตัณหา ไม่เรียกว่าโลภะ ไม่เรียกว่าบ้าๆ บอๆ อย่างนั้น แต่เรียกว่า สังกัปปะ ความต้องการไปในทางที่มันถูกต้อง ภาษาบาลีก็แยกกันเรียก เรียกความต้องการที่ถูกต้องนั้นว่า สังกัปปะ เรียกความต้องการที่ผิดที่ร้ายนี้ว่า ตัณหา แต่ภาษาไทยมันเอามารวมๆ กันเสีย มันก็เลยเกิดความเข้าใจผิด ภาษาฝรั่งก็ยังดีกว่า ถ้าโง่ ต้องการด้วยความโง่ มันเรียกว่า Craving Desire มันต้องการด้วยความโง่ แต่ถ้ามันเรียกว่า Aspiration แล้วมันต้องการด้วยความฉลาด ต้องการด้วยความฉลาด คือ สังกัปปะ นั่นเอง สัมมาสังกัปปะ นี้ให้เข้าใจกันเสียให้ถูกต้องว่า มันต้องการด้วยสติปัญญา ต้องการจะดับทุกข์ ต้องการทำแต่ในสิ่งที่ดี ต้องการที่จะไปนิพพาน แจกลูกกันอย่างไรก็ได้ ต้องการที่จะออกไปจากทุกข์ ต้องการที่จะไม่เบียดเบียน ต้องการที่จะทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ นี่ขอให้มีความต้องการที่ถูกต้อง
ทีนี้ สัมมาวาจา พูดจาถูกต้อง มีความถูกต้องทางการพูดจา แปลอย่างนี้ได้ความสมบูรณ์ว่า มีความถูกต้องทางการพูดจา ถ้อยคำที่พูดนั้นก็ไพเราะน่าฟัง ถ้อยคำที่พูดนั้นก็มีความจริง ถ้อยคำที่พูดนั้นก็มีประโยชน์ ถ้อยคำที่พูดนั้นถูกต้องแก่เวลา ถูกกาลเทศะ อย่างนี้จึงจะเรียกว่า วาจาหรือการพูดจาที่มันถูกต้อง เดี๋ยวนี้คนโง่ๆ ไม่ถือ บางทีพูดตามกิเลสตัณหา ไม่ควรจะพูด มันก็พูด ไม่มีประโยชน์ มันก็ยังพูด ไม่มีความจริง มันก็ยังพูด แม้แต่มีความจริงก็ยังต้องดูให้ถูกต้องเวลา อย่าพูดผิดเวลา แม้แต่คำพูดจะถูกต้อง คำพูดจะมีความจริงจะมีประโยชน์ก็ต้องระวังว่า มันถูกเวลาที่ควรพูด อย่าไปพูดให้ผิดเวลา คำพูดที่มีประโยชน์ มันจะกลายเป็นคำพูดเลวร้ายขึ้นมาก็ไม่ทันรู้ นี่ขอให้มี สัมมาวาจา คือ มีการพูดจาที่ถูกต้องและพอดี
ทีนี้ก็มาถึง สัมมากัมมันตะ คือ การกระทำในทางกาย การเคลื่อนไหวในทางกายที่ถูกต้อง อธิบายว่าไม่ฆ่า ไม่ขโมย ไม่ประพฤติผิดประเพณีอะไรอย่างนี้ นั้นเป็นตัวอย่าง ไม่ใช่ทั้งหมด ทั้งหมดเลย มันไม่มีความผิดพลาด ไม่มีความโง่เขลาปนอยู่ ไม่ว่าจะทำอะไร ทำการงานทั้งหลายมีความถูกต้องที่รับประกันได้ว่า ไม่ทำอันตรายผู้ใด และมีประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ภาษาธรรมะจำกัดความไว้ง่ายมาก สั้นมากนิดเดียว ถูกต้องๆๆ คืออย่างนี้ คือไม่ทำอันตรายใครและมีประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ถ้าเอาเป็นความถูกต้อง ทางนักปราชญ์ นักปราชญ์อะไรของเขา มันก็ไม่รู้ ทาง Logic บ้าง ทาง Philosophy บ้าง อินเดียเรียกว่า ทางตรรกะบ้าง ทางนิยายะบ้าง อย่างนั้นไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีที่จุดจบ ถูกต้องที่เถียงกันไปได้ ไม่ว่าจะถูกต้องกันอย่างไร เสียเวลาเปล่าๆ ถูกต้องตามหลักธรรมะของพระศาสนาก็คือว่า มันไม่ทำอันตรายใครแล้วมันทำให้ได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย นั่นคือถูกต้อง ฉะนั้นเราจึงมีการกระทำทางกายที่ถูกต้อง ไม่ทำอันตรายใคร มีประโยชน์แก่ทุกฝ่าย
ทีนี้ถัดไป สัมมาอาชีวะ แปลกันชุ่ยๆ ง่ายๆ ว่า เลี้ยงชีพชอบๆ คำแปลนี้ไม่ค่อยถูก ถูกนิดเดียว ต้องแปลว่า ดำรงชีพชอบ อาชีวะนี่ดำรงชีพชอบ ไม่ใช่หากินหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องอย่างเดียว มันต้องทุกอย่าง หามาก็ถูกต้อง มีอยู่ก็ถูกต้อง เก็บไว้ก็ถูกต้อง ใช้สอยก็ถูกต้อง จะให้ใครก็ถูกต้อง นี่ดำรงชีวิตทุกชนิด ทุกแง่มุมอย่างถูกต้อง นี้เรียกว่า สัมมาอาชีวะ ไม่ใช่เพียงแต่ว่าหาอาชีพอย่างเดียว มันต้องทุกอย่างที่มันเกี่ยวกับการเป็นอยู่ อา มันแปลว่า ทั่วทุกอย่าง ชีวะ มันแปลว่า ชีวิต หรือเป็นอยู่ เป็นอยู่ทุกอย่าง ถูกต้อง
ทีนี้ก็ต่อไปก็ สัมมาวายามะ พากเพียรๆ ถูกต้อง พยายามถูกต้อง มันก็มีแต่ผลดี ไม่มีผลร้าย เดี๋ยวนี้มันมีความพากเพียรที่ไม่ถูกต้อง มันเห็นแก่ตัวๆ ความขวนขวาย ความพยายามมันก็ไม่ถูกต้อง แล้วบางทีมันแพ้แก่กิเลส มันอยู่ใต้อำนาจของกิเลส กิเลสมันก็ไสหัว ขออภัยใช้คำหยาบคาย แต่มันจำง่ายดี กิเลสมันไสหัวไปตามอำนาจของกิเลส ความพากเพียร ความพยายามนั้นมันก็ไม่ถูกต้องๆ มันจะพยายามพากเพียรเท่าไร มันก็ไม่มีความถูกต้อง เพราะมันผิดแล้ว โดยหลัก โดยความมุ่งหมาย ฉะนั้นขอให้เราพยายาม พากเพียร พากเพียรหรือวิริยะ นี่มันแปลว่า พากเพียรพยายามก็ได้ แปลว่ากล้าหาญก็ได้ คือ มีความพากเพียรอย่างกล้าหาญ และก็ถูกต้อง นี่สัมมาวายามะ พยายามชอบ
ทีนี้สัมมาสติ สติ ระลึกๆ ความรู้สึกตัวระลึกชอบ ถูกต้อง คือ ไม่มีความผิด เมื่อได้ศึกษาๆ จนรู้ว่าความผิดเป็นอย่างไร ความถูกเป็นอย่างไร ความดับทุกข์เป็นอย่างไร ทำให้เกิดทุกข์เป็นอย่างไร แล้วก็มีสติๆ ระวังไว้ให้มันเป็นไปแต่ในทางดับทุกข์ที่ถูกต้อง นั้นก็เรียกว่าสติมันถูกต้อง รายละเอียดมันมากเรื่องสตินี่ อย่าโง่ไปยึดถือว่าเป็นตัวเป็นตนเป็นของตนอะไรขึ้นมา นั่นคือความไม่มีสติอย่างยิ่ง ตรงกันข้าม แล้วพอยึดถือเป็นตัวตนขึ้นมา บางทีรู้แล้วก็ไปยึดถือก็เป็นทุกข์ แต่สติมันไม่พอมันก็ยังยึดอยู่นั่น มันต้องฝึกสติให้เพียงพอให้มีอำนาจเฉียบขาด อย่าไปยึดในสิ่งที่ไปยึดไม่ได้หรือไม่ควรยึดเอามาเป็นตัวตนเป็นของตน คือควบคุมชีวิต ควบคุมความรู้สึกของชีวิตให้มันถูกต้องอยู่เสมอ นี่เรียกว่า สัมมาสติ สติถูกต้อง
ทีนี้ สัมมาสมาธิ ข้อสุดท้าย แปลว่า ตั้งมั่นแห่งจิตอย่างถูกต้อง จิตตั้งมั่นอยู่อย่างถูกต้อง แต่ตัวแท้มันคือ ความตั้งมั่นแห่งจิตอย่างถูกต้อง ตั้งจิตไว้ในลักษณะที่ถูกต้องอย่างมั่นคงๆ ที่สุด นี่เรียกว่า สมาธิที่ถูกต้อง เมื่อได้ทำสมาธิถูกต้อง ตั้งไว้อย่างถูกต้องแล้วจิตนี้ก็จะมีลักษณะอันที่จะสังเกตเห็นได้ง่ายๆ ว่า สะอาด ถ้าจิตเป็นสมาธิจริง มันสะอาด ไม่มีนิวรณ์ ไม่มีกิเลสอะไรรบกวนนี่เรียกว่า สะอาด แล้วก็มีกำลังถึงที่สุด เป็นสมาธิ คือ ตั้งมั่นๆ รวมกำลังทั้งหมดของจิตมารวมเป็นจุดเดียว มันก็มีกำลังสูงสุด จิตไม่พร่าไปทางอารมณ์ต่างๆ อุปมาเหมือนกับแก้วรวมแสง กระจกนูนโค้งมารับแสงส่องแล้วมันรวมแสงเป็นจุดเดียวจนลุกเป็นไฟได้ มันรวมแสงมากหลายร้อยเท่า แม้แต่แสงสว่างธรรมดา ไม่ใช่แสงอาทิตย์ มันก็ยังทำให้สว่างลุกได้เหมือนกัน เพราะมันรวมๆ มันรวมเข้ามา ทีนี้กำลังจิตที่มันกระจัดกระจายไปในทิศทางต่างๆ โลภะ โทสะ โมหะ กระจัดกระจายไปทิศทางต่างๆ ไม่เอา ให้รวมเป็นจุดเดียวให้เรียกว่า มั่นคงนี่ จิตที่มั่นคงนี่
ทีนี้ลักษณะที่ ๓ ซึ่งสำคัญมาก คำว่า สมาธิ สมาธินี่ มันไม่ค่อยจะรู้จักกัน ก็รู้จักกันผิดๆ รู้จักแต่นั่งหลับตา สะลึมสะลือก็เป็นสมาธิ คุณสมบัติที่ ๓ เขาเรียกว่า กัมมนีโย บาลีเรียกว่า กัมมนีโย แปลเป็นภาษาไทยว่า นิ่มนวล อ่อนโยน นิ่มนวล ควรแก่การงาน นี่ที่นิยมแปลกันในการแปลพระไตรปิฎก กัมมนีโย แปลว่า อ่อนโยน นิ่มนวล ควรแก่การงาน ที่ภาษาฝรั่งง่ายๆ ก็คำเดียวสั้นๆ ว่า Active ตรงกับคำว่า อ่อนโยน นิ่มนวล ควรแก่การงาน มันว่องไวในหน้าที่ มันพร้อมที่จะทำหน้าที่ มันสามารถที่จะทำหน้าที่ รวมกันแล้วเป็นกัมมนีโย คือ พร้อมที่จะทำหน้าที่ แขนขามือตีนอะไรก็ตามเมื่อพร้อมที่จะทำหน้าที่ก็เรียกว่า กัมมนีโย ทั้งนั้น เรียกว่ามัน Active ที่เขาชอบกันที่สุดในโลกนี่ เขาชอบคำว่า Active กันที่สุด ถ้าไม่ Active มันก็งุ่มง่าม มันก็ไม่ทำอะไรได้นัก จิตเป็นสมาธิ คือสะอาด คือมั่นคง รวมกำลังมั่นคง แล้วก็ว่องไวในหน้าที่การงาน ถึง๓ อย่างนู้น ปริสุทโธ สะอาด สมาหิโต ตั้งมั่น กัมมนิโย ควรแก่การงาน ถ้าได้อย่างนี้จึงจะเรียกว่ามีสมาธิ เดี๋ยวนี้ยังเข้าใจผิดโง่ๆ เง่าๆ ไปนั่งหลับหูหลับตานั่งนิ่งๆ เหมือนกับที่ว่า เหมือนกับตายแล้วเป็นสมาธิ มันไม่ถูก มันผิดยิ่งกว่าผิด ต้องมีองค์ประกอบ ๓ อย่างนี้ ๓ อย่างนี้ สะอาด มั่นคง ควรแก่การงาน จึงจะเรียกว่าสมาธิ และสมาธินี้ต้องถูกต้องๆ ถูกต้อง คือมุ่งหมายที่จะดับทุกข์ ที่จะไปนิพพาน ถ้ามันมีสมาธิอย่างนี้แล้วมันไปเล่นปาฏิหาริย์ ไปเล่นฤทธิ์ เล่นเดช ไปแสดงฤทธิ์แสดงเดช เอาเปรียบคนอื่น ทำร้ายคนอื่น ขโมยคนอื่นอย่างนี้ไม่ใช่ สมาธินี้บ้า เป็นมิจฉาสมาธิ ถ้าจะเป็นสัมมาสมาธิ นี่มันเป็นสมาธิอย่างนี้แล้วก็ใช้มันอย่างถูกต้อง เพื่อให้ไปนิพพาน นั่นจึงจะเรียกว่า สัมมาสมาธิ
นี่ ๘ องค์ ๘ ชื่อนี่ บางคนก็จะจำได้นี่ ชาววัดก็จะจำได้กันทุกคน แต่ไม่ค่อยจะเข้าใจความหมายที่ถูกต้อง ดังนั้นขอให้เข้าใจความหมายให้มันถูกต้องเสีย มันจะได้หมดปัญหา สัมมาทิฐิ มีทิฐิถูกต้อง สัมมาสังกัปปะมีความต้องการถูกต้อง สัมมาวาจา มีการพูดจาถูกต้อง สัมมากัมมันตะ มีการกระทำทางกายถูกต้อง สัมมาอาชีวะ มีการดำรงชีวิตถูกต้อง สัมมาวายามะ มีความพยายามถูกต้อง สัมมาสติ มีความระลึกประจำใจถูกต้อง สัมมาสมาธิ มีความตั้งมั่นแห่งจิตถูกต้อง นี่คือ สิ่งที่พระพุทธเจ้าประกาศในวันนี้ ท่านประกาศในวันนี้ว่าอย่างนี้ วันอาสาฬหะ นี่ท่านประกาศ มัชฌิมาปฏิปทา ประกาศไม่โง่สุดโต่ง ๒ อย่าง แล้วก็ตรัสมัชฌิมาปฏิปทา เสร็จแล้วจึงตรัสเรื่อง อริยสัจ ๔ ความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ดับไม่เหลือแห่งทุกข์ แล้วก็ทางที่ดับไม่เหลือแห่งทุกข์ คำเหล่านี้เขาอาจจะพูด อาจจะสอนกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้า แต่มันสอนอย่างอื่น มันไม่ได้สอนอย่างพระพุทธเจ้า สอนว่าความทุกข์เป็นอย่างนี้ เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างนี้ มันเอาเรื่องอื่นๆ อย่างอื่นมาสอนกัน พระพุทธเจ้าจึงเสมือนหนึ่งว่ามาทำลายความผิดพลาดมืดมนเหล่านั้น มันเกิดเป็นความสว่างไสวถูกต้องขึ้นมา ฉะนั้นจึงสอนว่าความทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ
ท่านไม่ได้สอนว่า ความเจ็บปวดอดยากจนข้นแค้นเป็นความทุกข์ ท่านสอนสรุปรวมว่า ความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวกู เป็นของกูนั่น มันเป็นตัวความทุกข์ และเป็นตัวเหตุให้เกิดทุกข์
ถ้ามองไปในลักษณะที่ว่าเหมือนกันแบกของหนัก ถือของหนัก แบกของหนัก กดทับอยู่เสมอ เพราะความยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน ผลของอุปาทาน คือ ตัวทุกข์ แล้วเหตุให้เกิดทุกข์ คือ ตัณหาที่มาจากอุปาทาน หรืออุปาทานตัณหาที่ทำให้เกิดอุปาทาน แล้วมีอุปาทานมันหล่อเลี้ยงตัณหาอยู่ มันอยากด้วยความโง่ แล้วมันยึดมั่นถือมั่นอยู่ด้วยความโง่ นี่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ก็คือว่า ดับตัณหาเหล่านั้นเสีย
นี่พูดเมื่อสักครู่ พูดทีหนึ่งแล้ว แต่ขอย้ำอีกทีกลัวจะลืมเสียว่า ดับทุกข์มันไม่ใช่ดับที่ตัวทุกข์ แต่ดับที่ตัวเหตุแห่งความทุกข์ ที่ว่าดับตัณหานั่นเสียเถิดจะดับทุกข์ จะดับ จะดับทุกข์ ถ้าไม่อย่างนั้น มันเอาไม้สั้นไปรันขี้ คิดดู มันก็เลอะเทอะ เป็นทุกข์วุ่นวายกันไปหมด ถ้าไปดับที่ตัวทุกข์ต้องไปดับที่ตัวเหตุแห่งความทุกข์ ดับที่ตัวเหตุแห่งความทุกข์ แล้วความทุกข์ไม่เกิด อย่างนี้ท่านเรียกว่า ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ไปดับที่ต้นตอที่รากเหง้าของมัน มันจึงจะเป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ คือ ดับที่ต้นเหตุ
ดับที่ต้นเหตุแห่งทุกข์เป็นราชสีห์ ดับที่ตัวความทุกข์เป็นหมา
จำง่ายดีใช่ไหม ขอโทษที่พูดหยาบๆ ดับที่ตัวความทุกข์มันโง่เป็นหมา หมาถ้าเราเอาไม้ไปแหย่ๆ มัน หมามันจะกัดที่ไม้ แต่ถ้ามันเป็นราชสีห์เป็นเสือ มันไม่มัวกัดที่ไม้ มันกระโจนมาหาผู้ถือไม้นั่น มันดับที่เหตุแห่งความทุกข์ ดับที่ตัวเหตุแห่งความทุกข์เป็นราชสีห์ ถ้าไปดับที่ตัวความทุกข์มันโง่เป็นหมา
พระพุทธเจ้าท่านก็ได้สอนไว้ชัดเจนแล้วว่า ไปดับที่ตัวเหตุแห่งความทุกข์นี่เรียกว่า ดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ศึกษาเถิดมันจะไปพบว่า มันรวมอยู่ที่อุปาทาน มาจากตัณหาที่มาจากความโง่เมื่อมีผัสสะ เมื่อมีผัสสะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ ผัสสะแล้วมันโง่ ผัสสะด้วยความโง่ มันก็เวทนาโง่ ที่เป็นบวกก็หลงบวก ที่เป็นลบก็หลงลบ นี่คือ เวทนาโง่ เวทนาโง่ โง่แล้วก็เกิดความอยาก คือ ตัณหาโง่ ความอยากมันโง่แล้ว มันก็ไปยึดมั่นถือมั่นโง่ มันก็เกิดความทุกข์ ความทุกข์มันเกิดมาจากต้นเหตุ คือ ความอยาก หรือความต้องการที่โง่ จะเรียกว่าตัณหาก็เล็งถึงความอยาก ถ้าจะเรียกว่าอุปาทานก็ผลของตัณหามาทำให้เป็นทุกข์
ที่ใดมีความยึดมั่นถือมั่นที่นั้นมีความทุกข์ เพราะว่ามันไปถือไว้ นี่ขอให้คิดดู ถ้าต้องถืออะไรไว้ มันก็หนัก หนักมือ แม้แต่ยกมือเปล่าๆ ขึ้นถือไว้ มันก็ยังหนัก เพราะมันเป็นการถือชนิดหนึ่งเหมือนกัน ยกมือเปล่าๆ ขึ้นมาถือ มันก็หนัก ก็เป็นทุกข์ ถ้าในมือมีก้อนหิน มีอะไรหนักยิ่งเป็นทุกข์ใหญ่ เพราะมันถือ เพราะมันถือ มันจึงมีความหนัก ถ้ามันมีความหนัก มันจึงเป็นทุกข์ ฉะนั้นอย่ายึดถืออะไรเป็นตัวกู อย่ายึดถืออะไรเป็นของกูมันก็ไม่มีความทุกข์
บทสรุปจึงสรุปว่า สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา ความทุกข์เกิดมาจากการยึดมั่นถือมั่นเบญจขันธ์ว่าเป็นตัวตน ชีวิตนี่ ร่างกาย จิตใจ จิตใจแบ่งเป็น ๔ ก็เลยกลายเป็น ๕ เป็นขันธ์ ๕ ยึดถือขันธ์เดียวหรือทุกข์ขันธ์ก็ได้ ถือแล้วจะเป็นทุกข์ ยึดถือมาเป็นตัวกู มาเป็นของกู ยึดถือของหนัก ยึดถือของหนักก็เป็นทุกข์ ไม่ยึดถือก็ไม่เป็นทุกข์ สลัดทิ้งของหนักเสียแล้ว อย่าเอาของหนักอื่นมาถือไว้อีก มันก็ไม่เป็นทุกข์ เดี๋ยวนี้เราจะยึดถือไปเสียทุกอย่าง ยึดถือไปเสียทุกอย่าง เงินฝากไว้ในธนาคาร แต่มันก็ยังมาสุมอยู่บนหัวเจ้าของบัญชี เพราะมันยึดถือ เพราะมันนึกไปในทางยึดถือเอามาอยู่ในจิตใจ อยู่ในจิตใจ ยึดถือโดยอุปาทาน มันไม่ต้องยึดถือ แม้แต่อยู่ข้างตัวนี่ก็ไม่ต้องยึดถือ
แม้แต่ชีวิตนี้แท้ๆ ร่างกายนี้แท้ๆ ก็ไม่ต้องยึดถือ แต่มีความรู้ให้ถูกต้อง รู้ให้ถูกต้องว่าจะใช้มันอย่างไร จะปฏิบัติมันอย่างไรก็ทำไปเถิด อย่าต้องยึดถือว่าตัวกู ว่าของกู ทำหน้าที่ให้ถูกต้อง เงินมันมาหาเอง ไม่ต้องยึดถือให้มันหนักอกหนักใจ ถ้าทำหน้าที่เพื่อเงิน เงินก็มาอยู่บนหัว ถ้าทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ๆ เงินก็มาอยู่ใต้ฝ่าเท้า ทำให้มันถูกต้องเงินมาอยู่ใต้ฝ่าเท้าไม่หนัก ทำไม่ถูกต้องเงินมาอยู่บนหัวแล้วก็หนัก เกียรติยศ ชื่อเสียง อย่างอื่นก็เหมือนกัน ทำให้มันถูกต้องมันจะไม่มาอยู่บนหัว คือ จะไม่เป็นทุกข์ ไม่เป็นทุกข์ นี่คือ ไม่มีอุปาทาน
ทีนี้ข้อที่ ๔ ข้อสุดท้าย ทางปฏิบัติเพื่อดับไม่เหลือแห่งทุกข์ บาลีเรียกยาว ทางปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ แต่เราไม่นิยมเรียกกันสั้นๆ ด้วยพยางค์เดียว มรรค มรรคมีองค์ ๘ นั่นเรียกว่า มรรค นั่นดับทุกข์ ทางดับทุกข์ ทางหนทางดับทุกข์ ทางดับทุกข์ ก็คือ อยู่ด้วยความถูกต้อง ๘ ประการที่กล่าวมาแล้ว เมื่อสักครู่กล่าวมาทีตั้ง ๘ อย่างนั้น ความถูกต้อง ๘ อย่างนั้น เอามาฟั่นเกลียวกันเข้าเป็นเรื่องเดียวทางเดียวเรียกว่า มรรคมีองค์ ๘ นั้น คือ หนทางดับทุกข์ ถ้าอยู่ในทางนี้ ทุกข์เกิดไม่ได้แล้ว แล้วก็อยู่ตลอดไปๆ จนความทุกข์หมดเชื้อ หมดปัจจัย หมดเหตุอะไรที่จะเกิดอีกต่อไป ไม่เกิดอีกต่อไป เป็นอยู่ด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ ความทุกข์ไม่เกิด แล้วความเคยชินที่จะเกิดทุกข์ที่เรียกว่า อนุสัย ก็จะหมดไปๆๆ จนกระทั่งว่าทำอย่างไรเสียมันก็ไม่เกิดทุกข์
นี่เรียกว่า ทาง หนทาง มันเป็นคำพูดที่จำเป็นจะต้องพูดอย่างนั้น มันไม่มีคำที่มนุษย์รู้จัก ต้องไปยืมคำที่มนุษย์รู้จัก คือ ถนนหนทาง มนุษย์รู้จัก ไปยืมมา ขอมายืม ขอยืมมาใช้ทีว่า ทางให้ถึงความดับทุกข์ ที่เด็กๆ มันไม่รู้ มันอู้ นี่เขาจะต้องเดินกันไกล ต้องเดินกันไกลเรียก ทางๆ ทางจิตใจนี่ ไม่ต้องเดิน ทางไปนิพพานนี้ ไม่ต้องเดิน ยิ่งเดินยิ่งไม่ถึง แต่มันเป็นการถึงชนิดหนึ่ง คือ ถึงโดยจิตใจโดยไม่ต้องเดิน มันเข้าถึงความหมดกิเลสตัณหาที่นี่ นั่งอยู่ตรงนี้ไม่ต้องเดินไปไหน ทำให้กิเลสตัณหามันหมดที่นี่ มันก็ถึงพระนิพพานกันที่นั่งกันอยู่ตรงนี้ไม่ต้องเดินไปไหน ไม่ต้องวิ่งหาไปที่ไหน ยิ่งเที่ยววิ่งหายิ่งไม่พบ ยิ่งวิ่งหายิ่งไกล ทำให้ถูกต้อง ๘ ประการที่นี่ แล้วกิเลสตัณหาหรืออวิชชาที่มันหุ้มห่ออยู่มันออกไปๆๆ แล้วพระนิพพานก็ถึงเองๆ เราไม่ต้องไป ดีเท่าไหร่ ไม่ต้องเดินก็ถึง แต่ว่าเอาเปลือกที่หุ้มอยู่ ความโง่ กิเลสทั้งปวง เอาออกๆๆ จนไม่มีอะไรหุ้ม พระนิพพานก็ถึงเอง อย่างกับเปิดประตู เปิดหน้าต่าง เปิดม่าน แสงสว่างมาเอง นั่นเรื่องเป็นอย่างนั้น แต่เดี๋ยวนี้มันพูดกันด้วยคำพูดว่า ไปๆ จนเกิดความเข้าใจผิดว่าต้องไปๆๆ หมื่นชาติ แสนชาติ จึงจะถึงนิพพานบ้าแล้ว ความทุกข์มันอยู่ที่นี่แล้วจะไปดับอีกหมื่นชาติแสนชาติอะไร ไม่เรียกว่า บ้า แล้วจะเรียกว่าอะไร คุณจะเรียกว่าอะไร เมื่อความทุกข์มันอยู่ที่นี่ แล้วจะไปดับทุกข์กันตอนตายแล้ว มันก็ไม่ใช่บ้า ไม่ใช่เรียกว่า บ้า แล้วจะเรียกว่าอะไร ฉะนั้นไม่ต้องไปรอดับทุกข์ที่ชาติอื่นวันเวลาอื่น ที่นี่และเดี๋ยวนี้ มีความถูกต้องเข้ามา ความไม่ถูกต้องก็หายไป เอาที่กั้นหุ้มห่อออกเสีย แสงสว่างก็มาถึงเอง
ในตึกนั้นมีรูปภาพรูปหนึ่ง รูปแรกที่สุดตอนทางเข้าข้างซ้ายมือ รูปนั้นเขียนว่า พระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่หลังม่าน ม่านในที่นี้ คือ ความโง่หรืออวิชชา ซึ่งเป็นของบังเรียกว่า ม่าน พระพุทธเจ้าอยู่ที่หลังม่าน ไม่ได้อยู่ที่อินเดีย ไม่ได้อยู่ที่วัด ไม่ได้อยู่ที่ไหน อยู่ที่หลังม่าน ม่านอะไร ม่านความโง่ของคุณ ความโง่ของคุณมีอยู่ที่ไหน มันก็เป็นม่านอยู่ที่ตรงนั้น พระพุทธเจ้าก็นั่งอยู่หลังม่าน คุณก็ทำลายม่าน ทำลายม่านออกก็พบพระพุทธเจ้า อ้อ, อยู่นี่เองๆ ไม่ต้องไปหาที่อินเดีย ไม่ต้องไปหาที่วัดหรือไม่ต้องไปหาที่ไหน ถ้ายังมีม่าน มีม่านอวิชชานี้บังอยู่ไม่มีวันพบพระพุทธเจ้า เพราะมันอยู่ที่หลังม่าน หลังม่านของคนนั้น ให้เอาพระพุทธรูปมาแขวนคอไว้ก็ไม่มีทางที่จะพบพระพุทธเจ้าพระองค์จริง มันพบแต่พระพุทธเจ้าองค์พระเครื่อง แต่องค์จริงมันอยู่ที่หลังม่านแห่งความโง่ของคนๆ นั้น ทำลายม่านนั้นเสียก็จะพบทันทีไม่ต้องไปหา ไม่ต้องวิ่งไปหา เพียงแต่ลดม่านลง เผาม่านเสียมันก็พบ นี่เรียกว่า นิพพาน ไม่ต้องไป ทำลายม่าน คือ อวิชชาออก ทำลายลงเสียแล้วก็พบทันที
ทีนี้มันสอนกันผิดๆ นิพพานต้องไป พยายามไว้ๆ สองชาติ สามชาติ หมื่นชาติ แสนชาติ แล้วก็จะถึง นี่มันไปกันถึงขนาดนี้ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนี้ สอนให้ทำลายอวิชชา แล้วก็แสงสว่างก็เกิดขึ้น ก็รู้ว่าไม่มีทุกข์ ทุกข์เกิดไม่ได้แล้วก็ไม่มีทุกข์ นี่คือ เรื่องอริยสัจ ๔ ขอให้เข้าใจอย่างนี้ อย่าเพียงแต่ออกชื่อเฉยๆ ๔ อย่างออกชื่อเฉยๆ ไม่สำเร็จประโยชน์ ความทุกข์คืออะไรก็ซึมซาบทันทีว่า โอ้,ผลของความโง่ ผลของอยากด้วยความโง่ เหตุของมันก็คือความอยากด้วยความโง่ ความดับของมัน ก็คือ ดับความอยากนั้นเสีย หนทางดับความอยากนั้นเสีย ก็คือ มรรคมีองค์ ๘ รวมกันเป็น ๔ อย่างเรียกว่า อริยสัจ ๔ อย่างมากนักก็ลดลง ๒ อย่างก็ได้ ทุกข์กับเหตุให้เกิดทุกข์ นี่พวกหนึ่ง แล้วความดับทุกข์กับทางของความดับทุกข์ นี้อันหนึ่ง รวมเป็น ๒ คู่ๆ ละสองๆ จนเหลือแต่ว่าทุกข์กับความดับทุกข์ ถ้าอยากให้ง่ายเข้าเหลืออันเดียวก็ความดับทุกข์ ความดับทุกข์ก็พอ จะดับทุกข์ได้โดยวิธีใดก็ดับทุกข์ให้ได้นั้นก็หมดอริยสัจก็รวมอยู่เป็นนั้นอันเป็นอริยสัจหนึ่ง
เอ้า, ทีนี้ก็มาพิจารณากันต่อไปว่า อันไหนเล่าเป็นธรรมจักร เป็นธรรมจักร คือ วงกลมที่คมที่จะเฉือนให้ขาดกระจุยไป อันไหนเป็นธรรมจักร
รู้เรื่องไม่สุดโต่งๆ ข้างบวกข้างลบ ไม่กามสุขัลลิกา ไม่อัตตกิลมถา ไม่บ้ากาม ไม่หลงทรมานกาย นี่เป็นธรรมจักรไหม ที่จริงมันก็เป็นธรรมจักร มันก็ตัดความทุกข์ตามสมควร
อริยมรรคมีองค์ ๘ มันก็เป็นธรรมจักร เพราะอริยมรรคมีองค์ ๘ เมื่อเป็นมรรคมีองค์ ๘ มันตัดความทุกข์ ทีนี้อริยสัจ ๔ อริยสัจ ๔ นั้นเป็นตัวธรรมจักร คือ ตัดทุกข์โดยตรง
นี่เข้าใจกันไว้อันไหนเป็นธรรมจักรหรือว่าทั้งหมดนั้นเป็นธรรมจักร นี่ขอให้เข้าใจ ความไม่โง่ไปสุดโต่ง ๒ ฝ่ายนั้นก็เป็นธรรมจักร ตัดความโง่ในเบื้องต้นในระดับต้น แล้วความถูกต้อง ๘ ประการนั้นก็เป็นธรรมจักรตัดๆๆ ความทุกข์ แล้วอริยสัจ ๔ ก็เป็นธรรมจักร ตัดความทุกข์ขั้นเฉียบขาดสุดท้ายไม่ให้มีเหลือเป็นธรรมจักรกันทั้งนั้น อริยสัจ ๔ เสียอีกมันยังเป็นธรรมจักรในแง่ของทฤษฎี คือ วิชา วิชาการ ทางวิชาการ อริยสัจ ๔ เป็นความรู้ทางวิชาการ แล้วอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้นเป็นตัวปฏิปทา ตัวการปฏิบัติงาน เป็นตัวปฏิบัติตรงๆ เป็นตัวทำงานทำการลงไปเลย เป็นปฏิบัติการ
นี่ไม่หลง ๒ ข้าง ไม่สุดโต่งข้างซ้ายข้างขวานั้นก็เป็นพื้นฐาน พื้นฐานทั่วๆ ไปที่จะต้องอาศัยทั้ง ๓ อย่างนี้เอาเป็นธรรมจักรตามความหมายหนึ่งๆ เรียกว่า ธรรมจักร ได้กันทั้งนั้น แต่โดยความรู้สึกของคนทั่วไป บางคนเข้าใจว่าอริยสัจเป็นธรรมจักร บางคนก็เข้าใจว่าตัวอริยมรรคเป็นตัวธรรมจักร แต่ถ้าเอาตามที่พระพุทธเจ้าตรัส มันก็เป็นความรู้ เป็นตัวความรู้ที่ถูกต้อง มันเป็นธรรมจักร รู้เรื่องอริยสัจถูกต้องโดยอาการ ๑๒ คือ ความทุกข์ก็รู้ว่านี้คือความทุกข์ ความทุกข์นี้ต้องรู้ ต้องรู้ให้แจ่มแจ้ง เราก็รู้แล้วๆ นี่ ๓ อย่างมันเป็นอย่างนี้ๆ แล้วมันต้องรู้แล้วก็รู้แล้ว นี่ความทุกข์ นี่ตัณหาให้เกิดทุกข์นี้ๆ เป็นอย่างนี้ นี่คือ ตัวเหตุให้เกิดทุกข์นี่ต้องละๆๆ แล้วก็ละแล้วก็ได้ ๓ อีก
ทีนี้นิโรธ นิโรธเป็นความดับทุกข์ก็ว่านี่ๆๆ นี่เป็นนิโรธ นี่เป็นดับทุกข์ นี้จะต้องทำให้แจ้ง ให้ปรากฏชัดออกมา และเราก็ได้ทำให้แจ้งแล้วก็ได้ ๓ อีก ทีนี้มันก็มาถึงอันสุดท้ายคือ มรรค มรรค นี้ๆ คือ ให้มันดับทุกข์ ทางดับทุกข์ ทางดับทุกข์นี้ เราควรทำให้เกิดมีขึ้นมาๆ แล้วเราก็ได้ทำให้เกิดมีขึ้นมาแล้ว มันเลยได้เป็น ๑๒ อาการ อาตมาคิดว่า นั่นคือ ตัวธรรมจักร วงล้อที่มี ๑๒ ซี่นั่นคือ ตัวธรรมจักร ถ้าจะเขียนรูปล้อธรรมจักรให้ถูกต้อง เขียนให้ล้อนั้นมีซี่ ๑๒ ซี่ถูกต้อง แต่คนมักจะเขียนรูปวงล้อ ๘ ซี่กันโดยมาก คุณดูรูปธรรมจักรที่ไหนที่เห็นๆ กันอยู่ ลองนับดูก็จะมี ๘ ซี่เพราะเข้าใจอย่างนั้น ทีนี้ถ้าจะให้หมายถึงอริยสัจ ๔ มี ๔ ซี่ก็พอ ภาพแกะสลักในอินเดียโบราณอาตมาเคยพบเหมือนกัน ล้อ วงล้อที่มีเพียง ๔ ซี่ก็มี แล้ววงล้อที่มีตั้ง ๘ ซี่อย่างที่เราเห็นกันโดยมากในเมืองไทยมักจะเขียน ๘ แล้ววงล้อที่ถูกต้องมี ๑๒ ซี่นั้นถูกต้องที่สุด ล้อ ๔ ซี่หมายถึง อริยสัจ ๔ ล้อ ๘ ซี่หมายถึง มรรคมีองค์ ๘ ล้อ
๑๒ ซี่หมายถึง อาการแห่งการรู้อริยสัจ ๑๒ อาการอย่างที่พูดมาแล้ว เรียกว่าอาการ ๑๒ รู้ไว้ก็ดี มันทำให้ช่วย ช่วยประกอบกันให้รู้ถูกต้อง ไม่ต้องมาเถียงกันว่า ๘ ซี่หรือ ๔ ซี่หรือ ๑๒ ซี่ ธรรมจักรๆ วงล้อของธรรมะสำหรับที่จะตัดสิ่งที่มิใช่ธรรมะ เอาแสงสว่างที่จะตัดความมืด สิ่งที่จะแก้ไขโลกให้มีแสงสว่างนี่ ท่านใช้คำว่า จักร
กร คำเดียวก็ชื่อว่า อำนาจ จะครองโลก พูดอย่างนี้ มันเข้าใจผิดได้ แต่มันก็มีความถูกที่สุด จะครองโลกทางวิญญาณ โลกแห่งความโง่เขลา มันเป็นโลกแห่งความโง่เขลามืดบอด ธรรมจักรนี่จะรุกเข้าไปที่นั่น จะทำลายเสียให้หมด มันจึงเรียกว่า ธรรมจักร ธรรมจักรจะครองโลกแห่งความโง่ของสัตว์ ทีนี้มันจะทำกันที่ไหน จะรุกเข้าไป จะทำกันที่ไหน มันก็ต้องรุกกันเข้าไปกระทำในหัวใจของคุณ หัวใจของทุกคน โลกแห่งความโง่ความมืด มันมีอยู่ในหัวใจของทุกคน จงเปิดโอกาสให้ธรรมจักรเข้าไปทำลาย ความมืด ความโง่ ความหลงในหัวใจ นี่ก็จะสำเร็จประโยชน์ ไม่ใช่อยู่ที่โลกอื่นหรือที่ไหนก็ไม่รู้ เพราะมันอยู่ที่ในหัวใจของคนทุกคน เช่นเดียวกับที่พูดเมื่อสักครู่ว่า พระพุทธเจ้าอยู่หลังม่าน หลังม่านความโง่ที่อยู่ในหัวใจของคุณนั่นแหละที่ตรงนั้นต้องจัดการ ธรรมจักรเข้าไปจัดการที่ตรงนั้นที่มีอยู่ในหัวใจของคุณ คือ โลกแห่งความโง่ ทำลายความโง่ให้หมดไป
เอ้า, ทีนี้มันก็มาถึงการปฏิบัติ ปฏิบัติอย่างไรจึงจะเป็นอย่างนั้น ใครนึกออก อาตมาคิดว่า ไม่รู้ ที่นั่งอยู่นี่ไม่รู้ เพราะไม่เคยได้ยินได้ฟังแล้ว เพราะไม่ค่อยจะได้เอามาสอนกัน แต่อาตมายืนยันว่า อาตมาสอนบ้างแล้ว ท่านก็จะลืมเสียเท่านั้น ปฏิบัติอย่างไรเกี่ยวกับมรรคมีองค์ ๘ ให้มันเข้าไปตัดม่านแห่งอวิชชาในหัวใจของเรา มันต้องเข้าไปตัดม่านแห่งอวิชชาในหัวใจของเราจะปฏิบัติอย่างไร ก็ปฏิบัติตามหลักที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้อีก ขอให้เชื่อโดยเด็ดขาดว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้อย่างเพียงพอ ไม่ตกหล่น ไม่ขาดหล่นอะไร ท่านตรัสไว้อย่างถูกต้องเพียงพอ ในเรื่องนี้ท่านก็ได้ตรัสไว้ว่า มีอริยสัมมาสมาธิ ซึ่งมีบริขาร ๗ ใครนึกออก เพราะเรื่องนี้อาตมาได้เคยพูดบ้างแล้ว ที่ไหน เมื่อไร อาตมาได้เคยพูดแล้วไม่น้อยกว่าสองสามครั้ง อริยสัมมาสมาธิมีบริขาร ๗ นั่นคือ การเข้าไปตัดอวิชชา ตัดรากเหง้าแห่งความทุกข์ ปฏิบัติอย่างนั้นแล้วมันก็จะดับทุกข์โดยแน่นอน พระพุทธเจ้าท่านยืนยัน ตรัสยืนยันไว้เองว่า เอเสวะ มัคโค นัตถัญโญ ทางนี้เท่านั้น ทางอื่นไม่มี เอเสวะ มัคโค ทางนี้เท่านั้น นัตถัญโญ ทางอื่นไม่มี คือ อริยสัมมาสมาธิมีบริขาร ๗ พวกฝรั่งไม่เคยได้ยินเรื่องเหล่านี้ ไม่เคยฟัง ถึงเคยฟังก็ฟังไม่ถูก แล้วคนก็ไม่เคยสอน มันก็น่าสงสาร เรื่องอริยสัมมาสมาธิมีบริขาร ๗
อย่าเพิ่งง่วง เดี๋ยวฟังไม่ถูก ขอพูดอีกเรื่องเดียว อริยสัมมาสมาธิมีบริขาร ๗ นั้นมันคืออะไร ก็พูดมาแล้ว อริยมรรคมีองค์ ๘ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปโป วาจา กัมมันโต อาชีโว วายาโม สติ สมาธิ นั้น ๘ ๘ ก็ไปเอาอันสุดท้าย คือ สัมมาสมาธิ มาเป็นตัวหลัก ตัวประธาน แล้วก็ให้เอาอีก ๗ อย่างนั้นเป็นบริวารแวดล้อมสมาธิ สัมมาสมาธิโดยชื่อใหม่สวยหรูเลยว่า อริยสัมมาสมาธิมีบริวาร ๗ มีบริขาร ๗ จงตั้งสมาธิเป็นหลัก
สมาธิเป็นหลักในการทำจิตให้ปราศจากกิเลส ปราศจากนิวรณ์ พร้อมที่จะรู้แจ้ง พร้อมที่จะตรัสรู้ และทีนี้ก็ให้สัมมาทิฐิมาช่วยให้เกิดสัมมาสมาธิอย่างนี้ สัมมาทิฐิรู้เรื่องนี้สามารถทำให้เป็นอย่างนี้ได้ สัมมาทิฐิเข้ามาเป็นบริวารของสัมมาสมาธิ แล้วสัมมาสังกัปโป สัมมาสังกัปโปก็ให้มันน้อมไปอย่างนี้ ต้องการอย่างนี้ ให้สัมมาสังกัปโปนี่มาต้องการ มาน้อมไปเพื่อให้เป็นอย่างนั้น ให้อริยสัมมาสมาธิตัดกิเลสได้ นี้สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโวนี้ให้อยู่เป็นพื้นฐาน ให้มีอยู่เป็นพื้นฐานหรือเรียกว่า มันมีอยู่แล้วก็ได้ ข้อนี้มันมีอยู่แล้วมันง่ายเกินไป ๓ องค์นี้ที่เป็นศีล มันมีอยู่แล้ว มันก็เป็นพื้นฐานรองรับความเป็นไปได้ของสัมมาสมาธิ นี้ พากเพียรๆ ก็เพื่อให้มันเป็นอย่างนั้นให้สัมมาสมาธิตัดกิเลส สติๆๆ ก็ช่วยๆๆ ให้สมาธิตัดกิเลส ก็แปลว่า ทั้ง ๗ องค์นี้เข้าไปเป็นลูกน้องของสมาธิหมด สัมมาสมาธิง่ายๆ กลายเป็นชื่อใหม่ว่า อริยสัมมาสมาธิมีบริวาร ๗ นั่นยาวเฟื้อย ทำสัมมาสมาธิให้เป็นอริยะ แล้วก็มีบริวารช่วยเหลือ ๗ เอาสมาธิเป็นแม่ทัพเลย เป็นแม่ทัพขึ้นมา ให้เกิดกำลังเข้มแข็งขึ้นมา นี้สมาธินี้มันกลายเป็นสมาธิชั้นพิเศษ เพราะมันได้บริวาร ได้ลูกน้องตั้ง ๗ มรรคมีองค์ ๘ ๗ องค์ไปเป็นลูกน้องขององค์เดียว ยกองค์นั้นขึ้นมาเป็นหลัก เป็นประธาน นั่นมันจะตัดกิเลสได้
ข้อนี้ต้องเข้าใจไปถึงพระบาลีอีกแห่งหนึ่งที่ว่า สมาธิภาวนา ๔ ประการมีอยู่
สมาธิภาวนาเพื่อความสุขในปัจจุบัน
แล้วก็สมาธิภาวนาเพื่อญาณทัศนะอันเป็นทิพย์
สมาธิภาวนาเพื่อความสมบูรณ์แห่งสติสัมปชัญญะ
แล้วก็สมาธิภาวนาเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะ
นี่เรียกว่า สมาธิภาวนา
เขาแปลกันผิดๆ ตามศาลาวัด สมาธิภาวนา แปลว่า การเจริญสมาธิ นั้นมันไม่ถูก ภาวนา แปลว่า การเจริญ นี้จริง สมาธิภาวนา แปลว่า การเจริญสมาธิ ก็ถูกตามตัวหนังสือ แต่ที่ถูกจะโดยเนื้อความจะต้องว่า ภาวนาความเจริญแห่งธรรมะ แห่งจิตใจโดยใช้สมาธิเป็นเครื่องมือ ทำความเจริญแก่จิตใจหรือแก่ธรรมะโดยมีสมาธิเป็นเครื่องมือ หรือว่าใช้สมาธิมาเป็นเครื่องมือทำความเจริญ นี่เราใช้สมาธินี้ให้มันประกอบด้วยบริขาร ๗ แล้วก็ทำความเจริญได้จนถึงกับสิ้นอาสวะ สมาธินี้จะคอยกำหนด จดจ้องอยู่ที่การเกิดดับแห่งอุปาทาน การเกิดขึ้นแห่งความรู้สึกว่าตัวกู การดับลงไปแห่งความรู้สึกว่าตัวกูนี้เรียกว่า การเกิดดับแห่งอุปาทาน เอาสมาธิมาใช้ในตอนนี้ให้มันประจักษ์ ว่าเกิดอุปาทานอย่างไร ดับอุปาทานอย่างไร เมื่อทำอยู่อย่างนี้ก็จะเป็นสมาธิภาวนาประการที่ ๔ เรียกว่า เป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ สมาธินี้กลายเป็นสมาธิทำหน้าที่ดับ ตัดความทุกข์สูงสุดไม่มีทางอื่น ไม่มีวิธีอื่น นั่นจงทำอริยมรรคมีองค์ ๘ หรือ ๘ องค์แห่งมรรคให้มันเป็นอย่างนี้ ถ้าทำได้อย่างนี้มันจะตัดฟันหรือจะเผาไหม้ม่านของอวิชชาที่มีอยู่ในจิตใจที่บังพระพุทธเจ้า หรือบังนิพพาน หรือบังความดับทุกข์ นี่เรื่องนี้จะต้องพูดกันอีกต่อไปหลายครั้งหลายหนให้เข้าใจ ใช้อริยมรรคที่มีองค์ ๘ หรือองค์ทั้ง ๘ ของอริยมรรคนี้ให้สำเร็จประโยชน์ คือ ให้เกิดเป็นอริยสัมมาสมาธิมีบริขาร ๗ ขึ้นมา
ถ้ามันเกิดอริยสัมมาสมาธิมีบริขาร ๗ ขึ้นมา มันจะเกิดอีก ๒ องค์ต่อไป อีก ๒ องค์ต่อไปจะเกิด สัมมาญาณ สัมมาญาณ ญาณความรู้ที่ถูกต้อง คือ วิปัสสนาที่ถูกต้อง แล้วก็จะเกิด สัมมาวิมุตติ คือ ความหลุดพ้นที่ถูกต้อง ๒ อันนี้เป็นผล เป็นผล ๘ องค์ข้างต้นนี้เป็นเหตุ เป็นเหตุๆๆ เมื่อ ๘ อัน ทั้ง ๘ เหตุกลมกลืนกันดี เป็นอริยสัมมาสมาธิมีบริขาร ๗ แล้ว มันก็จะเกิดอีก ๒ คือ สัมมาญาณ กับสัมมาวิมุตติ นี้รวมกันเป็น ๑๐ นี่ว่าความถูกต้อง ๑๐ ประการ เดี๋ยวนี้ไม่เรียกว่า มรรคมีองค์ ๘ เพราะมันเพิ่มเข้ามาอีก ๒ เป็น ๑๐ เรียกว่า สัมมัตตะ ความถูกต้อง ๑๐ ประการ นั่นพุทธศาสนาทั้งหมด พุทธศาสนาทั้งกลม ภาษานี้หยาบคาย คือ ทั้งหมดทั้งสิ้นทั้งกลมต้องมี ๑๐ มีแต่เพียง ๘ มีองค์ ๘ นี้ยังไม่ใช่ทั้งกลม มันยังขาดส่วนที่เป็นผล มันเป็นแต่เพียงส่วนที่เป็นเหตุ ๘ อย่าง มันต้องอีก ๒ อย่าง ส่วนที่เป็นผลมันเลยเป็น ๑๐ เมื่อใดเป็นครบ ๑๐ สัมมา สัมมา ๑๐ นั่นหมดเป็นพุทธศาสนาทั้งกลม ทั้งหมด ทั้งสิ้น เป็นตัวพุทธศาสนา เดี๋ยวนี้เรามักจะสอนหรือสนใจกันแต่เพียงที่ส่วนที่เป็นเหตุ ๘ องค์ ๘ ประการเท่านั่น อีก ๒ องค์ไม่ค่อยจะสนใจ นี่สำคัญมาก พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ผู้ใดอาศัยเราเป็นกัลยาณมิตร ผู้นั้นจะพ้นจากความเกิดแก่เจ็บตาย เพราะว่าเมื่ออาศัยเราเป็นกัลยาณมิตรแล้วความถูกต้องทั้ง ๑๐ ประการนั้นจะเกิดขึ้น สัมมัตตะ ๑๐ ประการจะเกิดขึ้น คนนั้นก็พ้นจากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย
นี่ช่วยจดจำไว้ให้ดี ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้เป็นอริยสัมมาสมาธิมีบริขาร ๗ พอทำสำเร็จมันเกิดอีก ๒ คือ สัมมาญาณ กับสัมมาวิมุตติ เป็นสัมมัตตะ ๑๐ เมื่อใดมีสัมมัตตะ ๑๐ เมื่อนั้นจะพ้นจากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เรื่องมันก็จบ ไม่มีความทุกข์ใดๆ เหลืออยู่ นี่ธรรมจักรไหม เป็นจักรไหม คมไหม ตัดอะไรได้ไหม นี่ขอให้รู้ไว้ว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ นั่นก็เป็นจักร เพราะมันทำให้เกิดอาการออกมาอีก ๒ ก็ได้ผลสมบูรณ์มันตัด ตัดกันอยู่ใน ๘ นี่มันตัดได้ เป็น อริยสัมมาสมาธิมีบริขาร ๗ แล้วมันก็ตัดๆๆ แล้วผลก็ออกมาอีก ๒ ลักษณะ คือ สัมมาญาณกับสัมมาวิมุตติ ข้อนี้ไม่ค่อยสอนกันในโรงเรียนนักธรรมก็ดี ศาลาวัดก็ดี ที่ไหนก็ดี ไม่ค่อยพูดถึงเรื่องสัมมัตตะ ๑๐ มักจะพูดกันแต่เรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘ มันก็เท่ากับพูดกันแต่เรื่องเหตุ เรื่องเหตุ ทำส่วนเหตุ ส่วนผลที่จะเกิดขึ้น มันไม่ได้พูด มันก็ไม่สมบูรณ์ ถ้าให้สมบูรณ์หมดสิ้นทั้งพุทธศาสนาแล้วจะต้องพูดทั้งส่วนเหตุและส่วนผล ให้มันเป็นสัมมัตตะ ๑๐ ขึ้นมา
มีคำเปรียบที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้เองที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง เอามาพูดก็ได้เวลามีนิดหน่อยว่า สัมมัตตะ ๑๐ ความถูกต้อง ๑๐ ประการนั้นเป็น วิเรจนะ แปลว่า ยาถ่าย ยาถ่ายที่เรากินแล้วถ่าย ภาษาบาลีเรียกว่า วิเรจนะ สัมมัตตะ ๑๐ ความถูกต้องทั้ง ๑๐ นั้นเป็นวิเรจนะ คุณกินเข้าไปแล้วมันจะถ่าย ถ่ายสิ่งเลวร้ายออกหมด คือ ความทุกข์และเหตุให้เกิดทุกข์ออกหมด เรียกว่า ยาถ่ายของพระพุทธเจ้า หรือมิฉะนั้นก็เรียกว่ายาสำรอก เรียกว่า วมน อาเจียนๆๆ เรียกว่า วมน สัมมัตตะ ๑๐ นี้คุณกินเข้าไปแล้วมันจะอาเจียนๆๆ ออกมาหมด ทั้งทุกข์และเหตุให้เกิดทุกข์ รู้จักกินยาของพระพุทธเจ้ากันบ้าง เป็นยอดยา เป็นยอดหมอจริงๆ หรือถ้าจะพูดอย่างโบราณไปกว่านั้นก็พูดกันเรื่องว่า น้ำชำระล้างบาป หมดบาป น้ำล้างบาป หมดบาปที่พวกพราหมณ์ พวกฮินดู เขาไปใช้แม่น้ำคงคา แม่น้ำที่ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายอาบ แล้วหมดบาป พระพุทธเจ้าไม่ๆๆ สัมมัตตะ ๑๐ นี่เป็นน้ำล้างบาป คุณอาบน้ำ อาบน้ำนี่คุณจะหมดบาป นี่อุปมาช่วยจำว่า จะใช้อย่างยาถ่ายก็ได้ ใช้อย่างอาเจียนก็ได้ ใช้อย่างอาบน้ำล้างให้สะอาดก็ได้ นี้เรื่องมรรคมีองค์ ๘ มันก็จบ จบขยายออกเป็นสัมมัตตะ ๑๐ แล้วกำจัดทุกข์ กำจัดอะไรสิ้นเชิง มรรคมีองค์ ๘ เป็นทางของการดับทุกข์ มันจะดับทุกข์สิ้นเชิงต่อเมื่อมันขยายตัวออกไปเป็นสัมมัตตะ ๑๐ ทีนี้เราจะเขียนวงล้อ ๑๐ ซี่ก็ได้
เป็นอันว่าเราได้พูดกันถึงเรื่องธรรมจักร วันนี้เป็นวันธรรมจักร เป็นวันมีความหมายเป็นธรรมจักร ขอให้มีธรรมจักร ขอให้ได้ใช้ธรรมจักร แล้วก็ให้เบิกอาณาจักรออกไปให้โลกนี้มันหมดความมืด หมดความโง่เขลา มาช่วยกันทำให้โลกนี้มีแสงสว่างด้วยการเผยแผ่ธรรมจักรๆ ให้พระธรรมนี้เผยแผ่ไปทั่วโลก มันจะมีธรรมะเข้ามา มันจะหมดความเห็นแก่ตัว คำว่าตัวกู คำว่าของกู มันก็จะหมดไปจากโลก โลกนี้ก็จะไม่เห็นแก่ตัว โลกนี้ก็จะไม่มีปัญหา เหมือนอย่างที่อาตมาพูดเมื่อสักครู่ ขอยืนยันว่า ถ้าไม่มีคำว่ากู ไม่มีคำว่าของกูแล้วโลกนี้ไม่มีโรคเบาหวาน ไม่มีโรคหัวใจ ไม่มีโรคประสาท ไม่มีโรคอะไร นี่แผ่ออกไปๆ จนกระทั่งโลกนี้ไม่มีคำว่าตัวกู ไม่มีคำว่าของกู แล้วก็ไม่มีโรคทางจิตใจ ช่วยกันหน่อย แล้วก็มันจะต้องทำกันจริงๆ สักหน่อยแล้วด้วยการใช้อาวุธที่คมที่ทำลายข้าศึกศัตรูของมนุษย์ทั้งโลก เท่านี้จะพอไหม พอหรือยัง เอาว่าเกินพอแล้วที่เรามาช่วยกันสดุดีพระธรรมของพระพุทธเจ้าที่ท่านได้ตรัสในวันนี้ เรียกว่า เป็นวันธรรมจักรเมื่อคนอื่นเขาไม่เอาก็ตามใจเขา ถ้าคนอื่นเขาไม่เอาเราก็ไม่รู้จะทำอย่างไร แต่ขอให้เราพยายามๆ จนสุดความสามารถของเรา เพื่อให้เพื่อนมนุษย์ของเราเหล่านั้นรู้เรื่องนี้ รู้เรื่องนี้จนได้ นี่พวกฝรั่งมาที่นี่ มาขอให้ช่วยสอน เราก็ยินดี ไม่เห็นแก่เหน็ดแก่เหนื่อย ช่วยสอนให้เขา ให้เขารู้ ถ้าเขาไม่รู้ ให้เขารู้เรื่องนี้จนได้ และมันมีการปะทะกันระหว่างธรรมจักรกับอวิชชาของมนุษย์ ความโง่เง่าของมนุษย์จะต้องตัดออกไปเสียด้วยสิ่งที่เรียกว่า ธรรมจักร ถ้าคนอื่นเขาไม่เอาจริงๆ ก็ช่างหัวเขา เราเอาแต่เราที่เห็นๆ กันดี เข้าใจกันดีก็ได้ เรียกว่า กู้โลกสนองพระคุณพระพุทธเจ้า นี้เป็นพระพุทธประสงค์พระพุทธเจ้า มีพระประสงค์อย่างแรงข้อหนึ่งที่ยังอาจจะไม่รู้ ไม่มีใครรู้หรือไม่เคยฟัง มันมีพระบาลีข้อหนึ่ง พระพุทธเจ้าท่านหวังว่า สาวกทั้งหลายนี้จะช่วยกันทำให้พระธรรมของพระองค์ปรากฏแก่โลกทุกโลกๆ เทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์ทุกอย่างทุกชนิดให้ได้รู้จักธรรมะที่พระองค์ได้ตรัสรู้ นี้เป็นพระพุทธประสงค์
ฉะนั้นขอให้ทุกคนเสียสละๆ สนองพระพุทธประสงค์ในการที่จะทำให้มนุษย์ทุกคนในโลกรู้ธรรมะ ธรรมะเป็นเครื่องเอาตัวรอด ท่านนักศึกษาและนักปฏิบัติธรรมคงจะรวมในกลุ่มนี้ด้วย ได้ยินว่ามา ขอให้พยายามศึกษาเรื่องนี้และปฏิบัติเรื่องนี้ ศึกษาให้รู้เรื่องดับทุกข์และปฏิบัติเรื่องดับทุกข์ ข้าราชการบำนาญทั้งหลาย ชุมนุมสมาชิกข้าราชการบำนาญก็เหมือนกัน อาตมาขอกล่าวว่า เป็นโชคดีแล้วที่ได้เกษียณอายุ เป็นข้าราชการบำนาญ ท่านจะสามารถศึกษาเรื่องนี้ ปฏิบัติเรื่องนี้ได้เต็มที่ไม่มีอะไรมาขัดขวาง ฉะนั้นการได้เกษียณอายุราชการเป็นข้าราชการบำนาญเป็นโชคดีๆ ที่จะมีโอกาสศึกษาธรรมะ และใช้ธรรมะให้เป็นประโยชน์ ให้ได้ชีวิตที่สูงขึ้นไป อย่าตายด้านอยู่เพียงแค่ชีวิตโลกๆ หาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง แต่ให้ได้พบกับความสงบเย็นและเป็นประโยชน์ สิ่งสูงสุดของชีวิตตามหลักพระพุทธศาสนา คือ มีจิตสงบเย็นและเป็นประโยชน์ ให้ได้สงบเย็นอย่างพระนิพพาน ได้ชิมสักหน่อยหนึ่งก็ยังดี ไม่เสียเปล่า และเป็นประโยชน์แก่ทุกคน
เดี๋ยวนี้เรามีโอกาสที่ทำชีวิตนี้สงบเย็นและเป็นประโยชน์ ขออนุโมทนา สาธุ ให้เป็นไปตามนั้น ให้ชีวิตสมบูรณ์ๆ อย่าอยู่เพียงแค่ว่าเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง มีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมืองก็พอแล้ว มันไม่พอ มันต้องทำชีวิตให้ถึงจุดสูงสุดที่มันจะเป็นไปได้ คือ ชีวิตสงบเย็น สงบเย็นไม่มีไฟ ไม่มีความร้อน เป็นนิพานแล้วเป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ประโยชน์ตนก็ดี ประโยชน์ผู้อื่นก็ดี ประโยชน์เกี่ยวข้องกันก็ดี ให้ครบทุกประโยชน์ ๒ คำเท่านั้น ชีวิตเย็นแล้วก็เป็นประโยชน์ สงบเย็นแล้วก็เป็นประโยชน์ ขอให้ได้รับสิ่งนี้ก่อนแต่ที่จะดับขันธ์ด้วยกันจงทุกคน จงทุกคน อย่าไปอาลัยอาวรณ์สิ่งยืดเยื้อ เรื้อรังอื่นๆ เลย มุ่งให้ได้รับประโยชน์สูงสุดว่าชีวิตนี้สงบเย็น มีความหมายแห่งนิพพานแล้วเป็นประโยชน์แก่ทุกคน ทุกฝ่าย จบ จบเรื่องของชีวิต เรื่องของชีวิตมีเท่านี้
ใช้อาวุธวิเศษ คือ ธรรมจักรฟันฝ่าออกไปๆ ก็จะถึงจุดๆ นี้เป็นแน่นอน อุบาสก อุบาสิกาประจำวัดทั้งหลายก็เหมือนกัน อย่าตายด้านอยู่เพียงเท่านั้นเลย ขอให้มีความเจริญงอกงามก้าวหน้าเรื่อยๆ ไปตามหนทางแห่งธรรมะ ให้ได้พบชีวิตเย็นและเป็นประโยชน์เหมือนกัน ที่ยังหนุ่มอยู่ ยังศึกษาในเบื้องต้น ยังหนุ่มอยู่ก็มุ่งหมายอันนี้เถิด อย่ามุ่งหมายอันอื่นเลย นักศึกษา สมาชิกนักศึกษาและปฏิบัติธรรมทั้งหลายมุ่งหมายอันนี้เถิด อย่ามุ่งหมายอันอื่นเลย แล้วก็จะสำเร็จตามพระพุทธประสงค์โดยสมบูรณ์ แล้วจะเป็นประโยชน์แก่ตนเองอย่างยิ่ง อย่างสมบูรณ์ เรื่องจบ
มีธรรมเทศนาปรารภเรื่องธรรมจักรในวันๆ นี้ซึ่งเรียกว่า วันอาสาฬหบูชา กระทำการบูชาเป็นที่ระลึกแก่พระพุทธเจ้า ผู้ทรงประกาศธรรมจักรในวันเช่นวันนี้ ก็นับว่าเป็นโชคดีแล้วที่เราได้มาพบปะกัน แล้วเราก็ได้มาพูดจากัน แล้วเราก็ทำความเข้าใจกันในเรื่องนี้ ฉะนั้นขอให้เราได้ยินได้ฟังและขอให้เราเข้าใจให้รู้แจ้งในเรื่องที่ได้ยินได้ฟังให้เราเกิดความพอใจๆ ที่จะปฏิบัติ แล้วเราก็ปฏิบัติๆ จนกว่าเราจะได้รับผลของการปฏิบัติถึงจุดสุดท้ายด้วยกัน จงทุกๆ คนเทอญ ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้