แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เอ่อ, ผมเห็นว่า วันแรกนี้เราจะพูดถึงปัญหาที่เกี่ยวกับคำ คำที่ใช้อยู่นั่นแหละทำให้เกิดปัญหา เมื่อเราถือความหมายของคำไม่ถูกต้อง หรือตีความหมายของคำไม่ถูกต้องก็ตาม เรื่องคำนั่นแหละ มันมีปัญหามาก เดี๋ยวนี้ที่ทำให้เกิดความยากลำบากก็เรื่องคำไม่พอใช้บ้าง ใช้ไม่ตรงกันบ้าง หรือไม่มีจะใช้ก็มี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำว่าพระพุทธเจ้า โดยทั่ว ๆ ไปเราแยก ๆ เป็น ๒ อย่าง คือว่าภาษาคน ภาษาธรรม
ภาษาธรรมนั้นเป็นภาษาธรรมชาติ พูดอย่างความจริงของธรรมชาติ เจาะไปถึงที่ตัวธรรมชาติ ไม่เกี่ยวกับคน ทีนี้เป็นภาษาคน มันมุ่งมาเป็นบุคคล มุ่งไปที่ตัวบุคคล หรือพูดให้เป็นบุคคลขึ้นมา ชี้ให้เป็นบุคคลขึ้นมา ในที่นี้ก็ทำความเข้าใจ คือหลับตาเห็นว่า มันมีอยู่เป็น ๒ ชนิด เป็นธรรม เป็นธรรมชาติ เป็นนามธรรมโดยเฉพาะด้วย และไม่เกี่ยวกับคน ไม่ใช่บุคคล อีกทางหนึ่งเป็นบุคคล เป็นตัวบุคคล เป็นอย่างบุคคล มีร่างกายอย่างบุคคล มีเรื่องในโลกอย่างบุคคล
ถ้าพูดเล็งถึงบุคคล มันก็มีความหมายไปอย่างหนึ่ง ถ้าเล็งถึงธรรมะ คือธรรมชาติ มันก็เล็งไปอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะเช่นคำว่าพระพุทธเจ้านี่ ถ้าเราพูดเล็งไปถึงบุคคล ภาษาคน มันก็ มันเล็งไปถึงตัวคน ตัวองค์พระพุทธเจ้า ถ้าพูดอย่างธรรม ภาษาธรรม มันก็ไปเล็งถึงธรรม ไม่ใช่ตัวบุคคล ถ้าเป็นบุคคล ก็มีเรื่องอย่างบุคคล มีประวัติใน ๆ ประวัติศาสตร์อะไรอย่างนี้ ถ้าเป็นธรรมมันไม่มีประวัติชนิดนั้น
นี้เราจะมาพูดกันถึงคำว่าพระพุทธเจ้านี่ให้เป็นที่เข้าใจ ข้อนี้มีความสำคัญ คือทุกคนทุกองค์บวชอุทิศพระพุทธเจ้า อย่างที่เราบวช วิธีที่เราบวช ตามไอ้วินัย นี่กรรมแบบนี้เรียกว่าบวชอุทิศพระพุทธเจ้า ที่จะสำเร็จประโยชน์หรือไม่สำเร็จประโยชน์ ดูเอาเองเถิด อุทิศถึงหรือไม่ถึง รู้จักหรือไม่รู้จัก มีหรือไม่มี มีพระพุทธเจ้าจริงหรือไม่ นั่นแหละจึงเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะพูดกันในวันแรก แม้ว่าทุกองค์บวชอุทิศพระพุทธเจ้า นี้อุทิศถูกตัวท่านไหมหรือว่ามีพระพุทธเจ้าไหม
ดังนั้นนี่ก็ถือเอาตามพระบาลีที่สำคัญที่สุดน่ะ ที่ว่าถือเอาเป็นหลักสำคัญ คือพระบาลีที่ตรัสว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา กระทั่งว่าไม่เห็นธรรม ไม่เห็นธรรมะก็เลยไม่เห็นธรรม แม้จะจับจีวรของเราอยู่ อย่างนั้นก็ไม่ชื่อว่าเห็นเรา ไม่ชื่อว่าเห็นเรา ทรงปฏิเสธว่า องค์เนื้อหนังร่างกาย เป็นเนื้อหนังร่างกายอย่างคน ๆ นี่ ไม่ใช่เรา คือไม่ใช่พระพุทธเจ้า ต้องเห็นธรรม จึงจะเห็นพระพุทธเจ้า คือเห็นเรา ในที่นี้ท่านเรียกว่าเรากระมัง
ก็มีปัญหาชั้นแรกว่า เห็นพระพุทธเจ้าหรือเปล่า ที่บวชอุทิศพระพุทธเจ้าน่ะ เห็นพระพุทธเจ้าหรือยัง ถ้าไม่เห็น มันก็เรียกว่าอุทิศอย่างทั้งที่ไม่เห็น มันก็เหมือนละเมอ ๆ นี่ เพราะว่าไม่รู้ว่า พระพุทธเจ้าพระองค์จริงนี่อยู่ที่ไหนหรือคืออะไร เหมือนกับเด็ก ๆ เอาพระพุทธรูปเป็นพระพุทธเจ้าทั้งนั้นแหละ ยกให้เถิดเด็ก ๆ มันคิดอะไรมากไปกว่านั้นไม่ได้ มันจะรู้จักอะไรมากไปกว่านั้นไม่ได้ พระพุทธรูปนั่นแหละเป็นพระพุทธเจ้า เข้าไปในโบสถ์ก็ไปเห็นพระพุทธเจ้า อย่างนี้เป็นต้น
แต่เดี๋ยวนี้เรามันไม่ใช่เด็กแล้วนี่ มันโตแล้วนี่ มันควรจะรู้เรื่องนี้ดีว่า พระพุทธเจ้ากันที่ตรงไหนจะเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริงนั้นน่ะ ก็อาศัยหลักนี้ ผู้ใดเห็นธรรม คนนั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา คนนั้นเห็นธรรม ผู้ใดไม่เห็นธรรม คนนั้นไม่เห็นเรา
ที่พระบาลีอีกแห่งหนึ่ง ไม่ใช่สูตรเดียวกัน มันมีอีกสูตรหนึ่ง ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท คนนั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม คนนั้นเห็นปฏิจจสมุปบาท เป็นคำของพระสารีบุตรกล่าวว่า ข้าพเจ้าได้ยินได้ฟังมาแล้วจากพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสดังนี้ คือตรัสว่า เห็นปฏิจจสมุปบาทคือเห็นธรรม เห็นธรรมคือเห็นปฏิจจสมุปบาท เห็นปฏิจจสมุปบาทนั่นแหละคือเห็นธรรม เห็นธรรมก็คือเห็นเรา คือเห็นองค์พระพุทธเจ้าพระองค์จริง ดังนั้นการเห็นปฏิจจสมุปบาทน่ะ คือเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง
เราก็ไม่เคยเห็นปฏิจจสมุปบาทก่อนบวชใช่ไหม เราก็เหมือนไม่ ๆ อาจจะยึดถือเอาว่า เราเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์ธรรม แต่ถ้าเราบวชอุทิศพระพุทธเจ้า ๆ นี่ก็ต้องถือว่าพระพุทธเจ้าพระองค์จริงนะ พระองค์จริง แต่จะจริงไปได้แค่ไหน มันก็อยู่ที่เห็นธรรมกี่มากน้อย ดูเอาเองก็แล้วกัน
ทีนี้เห็นปฏิจจสมุปบาทนั่นคือเห็นอะไร เห็นปฏิจจสมุปบาทนั่นคือเห็นอะไร ก็มีปัญหาต่อไปที่ว่า เห็นปฏิจจสมุปบาทแล้วเห็นธรรม เห็นปฏิจจสมุปบาทนั่นคือเห็นอะไร เห็นอย่างไร ก็มีคำอธิบายว่า เห็นการอาศัยเกิดขึ้นและการอาศัยกันแล้วดับลงแห่งทุกข์ เห็นการอาศัยกันแล้วเกิดขึ้นแห่งทุกข์ หรือเห็นการอาศัยกันแล้วดับลงแห่งทุกข์ หมายความว่าเห็นความเกิดขึ้นหรือความดับลงแห่งทุกข์ โดยอาศัยเหตุปัจจัยนั้น ๆ นั่นแหละคือเห็นปฏิจจสมุปบาท
เมื่อเห็นอาศัยปัจจัยอะไรแล้วความทุกข์เกิดขึ้น หรือเห็นอาศัยเหตุปัจจัยอะไรแล้วความทุกข์จึงดับลง เรียกว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท คำนี้ขอให้ช่วยจำไว้เป็นหลักหน่อยนะ ถ้าใช้กับสิ่งที่มีชีวิตจิตใจ มีความรู้สึกสุขหรือสุขทุกข์แล้ว ก็เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท คือถ้าไม่ได้เกี่ยวกับสิ่งที่มีจิตใจรู้สึกคิดนึก แต่ว่าเห็นเกิด อาศัยการเกิดขึ้น อาศัยการดับลงเหมือนกัน คำนี้ยักไปเรียกว่าอิทัปปัจจยตา
อิทัปปัจจยตา ความเป็นไปตามปัจจัย ถึงจะเป็นแผ่นดินหรือเป็นอะไรที่มันไม่มีชีวิตจิตใจ อาศัยการเกิดขึ้น อาศัยการดับลง อาศัยการเกิดเมฆ อาศัยการเกิดฝน อาศัยการเกิดอะไรก็ตาม นั่นมันก็มีลักษณะปฏิจจสมุปบาท แต่ไม่เรียกปฏิจจสมุปบาท เรียกอิทัปปัจจยตา ดังนั้นควรจะเข้าใจได้เองว่า อิทัปปัจจยตา มันกว้าง กว้างหมด ไม่ว่าอะไร ถ้าอาศัยการเกิดขึ้น อาศัยการดับลง แล้วก็เรียกว่าอิทัปปัจจยตา แต่เฉพาะให้มา ยกเอามาเฉพาะสิ่งที่มีชีวิตจิตใจมีความรู้สึก อย่างคนหรือสัตว์นี้ จึงจะเรียกว่าปฏิจจสมุปบาท
แล้วท่านจะ มักจะเรียกว่า เรียกยาวกันเลย ติดกันทั้ง ๆ สองอันน่ะ อิ อิทปฺปจฺจยตาปฏิจฺจสมุปฺปาโท เป็นอิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาทนี่ พูดชัดเต็มที่ คือเห็นของสิ่งที่มีความรู้สึกคิดนึก เห็นปฏิจจสมุปบาทชนิดนี้ เห็นอาศัยการเกิดขึ้น อาศัยการดับลง เรียกว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท เห็นปฏิจจสมุปบาทชื่อว่าเห็นธรรม ธรรม ๆ ธรรมะแท้ เมื่อเห็นปฏิจจ เห็นธรรมะก็คือเห็นเรา เห็นพระองค์ ผู้ใดเห็นเรา คนนั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม คนนั้นเห็นเรา
ทีนี้ก็อยากจะพูดถึงสักหน่อยว่า เมื่อเราบวชเราเคยเห็นธรรมนี้ไหม นี่เราก็ไม่ได้เห็นนะ ไม่ได้เห็น ไม่ ๆ ได้เห็นธรรมคือปฏิจจสมุปบาทที่ได้เห็นพระ ๆ พุทธเจ้า และเมื่อเราบวชหรือเราจะบวชก็ต้องเมื่อเราไม่เห็น ไม่เห็นธรรมนั้นน่ะ มันก็กลายเป็นว่าเราบวชอุทิศ ๆ ๆ เจาะจงทั้ง ๆ ๆ ที่ไม่เห็นตัว ทีนี้มันก็ไม่พอสิทีนี้ ไม่สำเร็จประโยชน์ เอากันให้เห็นตัว เดี๋ยวนี้ก็บวชแล้ว จะสึกอยู่แล้ว ศึกษามาหลายเดือนแล้ว มันก็ควรจะเห็นนี่ เห็น เอ่อ, ปฏิจจสมุปบาท อันนั้นก็เรียกว่าเห็นธรรมและเห็นพระพุทธองค์พระองค์จริง และถือเอาพระพุทธองค์พระองค์จริงเป็นพระพุทธเจ้า ที่เราเห็น ที่เราเห็น อย่างน้อยก็เรียกว่าเราเห็น เมื่อเราเห็นเราก็เจาะจงได้สิ ไม่ละเมอนี่ ไม่ละเมอ
นี้ธรรมในใจ รู้สึกถึงการที่อาศัยเกิดขึ้นแห่งทุกข์ อาศัยการดับลงแห่งทุกข์ เห็นชัดอยู่ในตัวเรานี่ดีกว่าที่อื่นหมด เมื่อไรอาศัยปัจจัยเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เช่นว่าอายตนะภายในกระทบอายตนะภายนอก เกิดวิญญาณ แล้วเกิดผัสสะ แล้วเกิดเวทนา เกิดตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ และทุกข์ นี่คือเห็นปฏิจจสมุปบาทสายหนึ่ง สายเกิดทุกข์ นี่คือเห็นพระพุทธเจ้า คือเห็นปฏิจจสมุปบาท คือเห็นธรรม เห็นธรรมคือเห็นพระองค์จริง พระพุทธเจ้าพระองค์จริง
ดังนั้นขอให้เห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริงเสียที ก่อนที่จะสึกออกไป ก่อนแต่ที่ลาสิกขาออกไป การบวชที่ว่าอุทิศพระพุทธเจ้า อุทิศพระพุทธเจ้า ก็จะไม่เป็นหมัน จะไม่เป็นหมัน ถ้าเราไม่เห็น มันก็เป็นหมัน แล้วก็ไม่รู้สึกตัว ก็ไม่มีใครรับผิดชอบ มันก็ละเมอ ๆ กันไป ตั้งแต่บวชจนสึกจนตลอดชีวิตก็ได้ มันเป็นที่แน่นอนที่ว่า เดี๋ยวนี้เราเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง คือพระองค์ธรรม
พระองค์จริงคือพระองค์ธรรม พระองค์คนมัน ๆ ๆ ไม่ใช่พระองค์ ไม่ใช่พระองค์ธรรม มันแทนพระองค์ธรรม พระองค์แทน ถ้าอนุญาตให้พูดหยาบคายหน่อยก็พระองค์เปลือก เนื้อหนังร่างกายนี้มันพระองค์เปลือก ธรรมะในนั้นเป็นพระองค์เนื้อใน เนื้อใน เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์เนื้อใน คือเห็นธรรม ถ้าเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์เปลือก ก็คือเห็นพระองค์ของท่านที่เป็นร่างกายเหมือนเราท่านทั้งหลาย ดิน น้ำ ลม ไฟ ขันธ์ ๕ อะไรเหมือนเราท่านทั้งหลายนี่ แต่พูดอย่างนี้มันชักจะหยาบคายจะถูกด่า พระพุทธเจ้าพระองค์เปลือกและพระพุทธเจ้าพระองค์เนื้อใน พระองค์เนื้อในคือพระองค์ธรรม ธรรมคือปฏิจจสมุปบาท
ดังนั้นเราเห็นอาศัยการเกิดขึ้นแห่งทุกข์ อาศัยการดับลงแห่งทุกข์ในเรา ก็เห็นพระพุทธเจ้าในเรา ดีไหม วิเศษหรือไม่ ไม่ต้องไปดูที่อื่นว่าจะไปเห็นที่อื่น ไม่ต้องไปเห็นที่อินเดีย ไปที่อินเดีย ก็ไม่หา หาไม่พบ ผมเคยไปแล้วไม่พบ ในที่สุดก็ต้องหันมาหาหลักที่พระพุทธเจ้าว่า เมื่อเห็นเกิดขึ้นดับลงแห่งทุกข์ นั่นคือเห็นเรา โดยเฉพาะที่มันจะเห็นง่ายที่สุด ก็ที่มันเกิดดับ เกิดดับ อยู่กับเราในนี้ ร่างกายเรานี่ เราสมมติเรียกว่าเรานี่ พยายามฝึกให้เห็น เกิดทุกข์อย่างไร ดับทุกข์อย่างไร เกิดทุกข์อย่างไร ดับทุกข์อย่างไร เกิดทุกข์อย่างไร ดับทุกข์อย่างไร นี้เรียกว่าเห็นปฏิจจสมุปบาทหรือเห็นธรรม เห็นธรรมคือเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง
ขอให้ได้พบปะพระพุทธเจ้าพระองค์จริงเสียก่อนที่จะลาสิกขาออกไปนั้นน่ะ มันจะไม่เป็นหมัน พยายามทำสมาธิจิตให้เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่มีอยู่ในร่างกายนี้ มีอยู่ในร่างกายนี้ มันก็จะเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง พระองค์เนื้อใน พระองค์ธรรม ถ้าเห็นแต่เปลือกข้างนอกคือเห็นพระองค์คน ไม่สำเร็จประโยชน์หรอก
แม้เกิดที่อินเดียสมัยโน้น สมัยโน้นเกิดในอินเดียก็เดินสวนทางกับพระพุทธเจ้า ก็ไม่ ๆ ๆ รู้จัก ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ก็เห็นเปลือกคือเห็น ๆ องค์คน แล้วบางทีคนที่ ไม่เห็น ไม่รู้จัก ไม่ชอบ ก็มีนะ ในประเทศอินเดียสมัยโบราณครั้งพุทธกาล คนที่ไม่ชอบพระพุทธเจ้าก็มีมาก ทำตัวเป็นศัตรูกับพระพุทธเจ้าก็มี ก็มีเหมือนกันแหละ มีมากก็แล้วกัน โดยเฉพาะพวกผู้หญิง พวกผู้หญิงเขาไม่ชอบ เขาก็ด่าพระพุทธเจ้าว่า โอ๊ย, สมณะหัวโล้น ดีแต่ทำให้คนเป็นหม้าย สมณะหัวโล้น ด่าด้วยคำหยาบคายว่า ดีแต่ทำให้คนเป็นหม้าย ผัวไปบวชเสีย เมียมันเป็นหม้าย แล้วเมียมันโกรธ นี่เขาไม่ชอบพระพุทธเจ้า พระองค์จริงเดินสวนทางกันอยู่ ก็ไม่ ๆ รู้จัก ไม่ชอบ แล้วโกรธ แล้วด่า
นั่นแหละดูให้ดีเถิดว่า พระพุทธเจ้าพระองค์นอก อ่า, พระองค์เปลือกเป็นอย่างไร พระองค์เนื้อในเป็นอย่างไร เห็นองค์เนื้อในคือเห็นธรรม เห็นความทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร ทุกข์ดับไปอย่างไร ก็ให้เห็นในตัวเรานี่ ใน ๆ ชีวิตเรา ที่เราสมมติเรียกว่าเรา นี้มันเลอะเทอะเลยนี่ โดยแท้จริงมันเบญจขันธ์ ไม่ใช่ตัวเรา แต่เราเรียกภาษาธรรมดา พูดกันธรรมดาว่า ตัวเราก็อย่างไร ในตัวเพื่อนของเราในมนุษย์ทั้งหลายก็อย่างไร มันจะเกิดแก่สิ่งที่มีชีวิตไกลออกไป เช่นในสัตว์เดรัจฉานก็เหมือนกันแหละ มันต้องเกิดอย่างเดียวกันทั้งนั้น ถ้าในชีวิตมันมีความอยาก เกิดตัณหา แล้วเกิดอุปาทาน แล้วก็เป็นทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น
ดังนั้นจงพยายามทำความเข้าใจ ศึกษาให้เข้าใจ ความทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร ความทุกข์ดับลงไปอย่างไร เห็นธรรมะและเห็นพระพุทธเจ้า ซึ่งไม่ใช่ ๆ เนื้อหนังร่างกาย ที่เป็นธรรม เป็นธรรมชาติ เป็นพระองค์ธรรม เป็นนามธรรม ท่านก็เรียกว่าธรรมเฉย ๆ ไม่ได้เรียกว่านามธรรม แต่มันมีลักษณะเหมือนกับเป็นนามธรรม พระพุทธเจ้าพระองค์นี้ คุณเปรียบเทียบดูให้ดี นี่พระองค์ธรรมนะ นี่พระองค์คน
พระองค์คนนี่อายุ ๘๐ ปี ตายแล้ว เผาแล้ว ตายแล้ว เผาแล้ว ส่วนพระองค์ธรรม นิรันดร ๆ ๆ ไม่มีเกิด ไม่มีตรัสรู้ ไม่มีนิพพาน ไม่มีอะไร เป็นนิรันดรคงที่ พระองค์ธรรมเป็นกฎของธรรมชาติ เป็นนิรันดร เพราะฉะนั้นองค์นี้อยู่นอกประวัติศาสตร์ ไม่มีใครเขียนประวัติได้ จะเขียนเป็นประวัติศาสตร์ก็ไม่ได้ แต่องค์นี้มาเขียนเป็นประวัติ อย่างประวัติศาสตร์บ้าง อย่างนิยาย ๆ บ้าง เหมือนที่เราเรียน เอ่อ, พุทธประวัติอย่างนิยายนะ ก็เป็นอย่างนิยาย
พวกฝรั่งเขารู้จักกันแต่พระพุทธเจ้าองค์คน มีประวัติศาสตร์ เขาไม่ค่อยได้สนใจพระองค์ธรรมที่อยู่นอกประวัติศาสตร์หรือเป็นนิรันดร พระพุทธเจ้าพระองค์จริงเป็นนิรันดร คือเป็นธรรม เป็นกฎแห่งธรรมชาติ เป็นธรรมะที่ว่า ความทุกข์อาศัยกันเกิดขึ้นอย่างไร ความทุกข์อาศัยดับกันไปอย่างไร กฎ นี้เป็นกฎธรรมชาติ เป็นนิรันดร ตลอดเวลา ไม่มี ๆ ตั้งต้น ไม่มีสิ้นสุด นี่พระพุทธเจ้าองค์นี้นิรันดร ไม่เคยประสูติจากท้องแม่ และไม่เคยตรัสรู้ และไม่เคยนิพพานอย่างพระองค์คน
ถึงแม้เราก็เหมือนกัน เรียนกันแต่พระองค์คนทั้งนั้น พุทธประวัติอะไรต่าง ๆ นักธรรม หนังสือธรรม หนังสือนักธรรมที่เราต้องเรียน ก็เรียนแต่พระองค์คน มันก็แล้วไปแล้ว ไม่ต้องโทษใคร ต่อไปนี้ก็เรียนพระองค์ธรรม พยายาม ให้เห็น ให้รู้จัก ให้เข้าใจถึง ให้เข้าถึงพระองค์ธรรม เป็น ๆ อธิบายไม่ได้ ยากที่จะอธิบาย
เอ้า, พูดถึงพระองค์คนสักหน่อยนะ พระองค์คนน่ะที่เป็นพระองค์คน ในบาลีก็จะรุ่นอรรถกถา แบ่งเป็น ๓ องค์ สัมมาสัมพุทธะ ตรัสรู้เอง ปัจเจกพุทธะ รู้เฉพาะตนเอง สอนใครไม่ได้ อนุพุทธะ รู้ตามพระพุทธเจ้า สัมมาสัมพุทธะ ทั้ง ๓ องค์นี้เป็นองค์คนทั้งนั้นแหละ เป็นองค์บุคคลทั้งนั้น สัมมาสัมพุทธะก็องค์คน ปัจเจกพุทธะก็องค์คน อนุพุทธะก็องค์คน เราจะรู้ออกไปอีก ๓ องค์ก็ยังเป็นองค์คน องค์คนเหล่านี้มี ๆ แก่นมีเนื้อในเป็นองค์ธรรม ๆ
ทีนี้อยากจะให้ทราบกว้างไกลออกไป ที่มันเป็นเรื่องละเอียดออกไป แม้ว่ามันจะไม่ใช่อย่างเถรวาท อย่างในพระไตรปิฎกของเราน่ะ มันมีอย่างมหายาน อย่างพระไตรปิฎกของมหายาน เขาก็พูดไว้น่าฟัง แล้วก็มีเหตุผลอยู่ในตัวที่เห็นได้เองว่า มีพระพุทธเจ้าองค์แรก องค์แรกที่สุดเรียกว่าอาทิพุทธะ อาทิ แปลว่าองค์ต้นหรือองค์แรก เป็นธรรมชาติ นิรันดร อนันตกาลนี่ มันก็พอจะเรียกได้ว่าพระองค์ธรรม พระองค์ธรรม
ทีนี้อาทิพุทธะนี่ อาศัยฌาน อาศัยสมาธิ อาศัยการเพ่งของบุคคลใดบุคคลหนึ่งมองเห็น แล้วก็เกิดพระพุทธเจ้าอันดับที่สอง เรียกว่าธยานีพุทธะ พระองค์ เอ่อ, พระพุทธเจ้าที่เกิดจากฌาน ธยานีพุทธะเกิดจากฌาน มีชื่อต่าง ๆ นี้มันก็หลายองค์ มีชื่อต่าง ๆ แล้วก็มีองค์ที่สำคัญที่สุด ก็คือองค์ที่ชื่อว่าอมิตาภะ อมิตาภะ ที่เขาทำติดไว้ที่หน้าผากรูปวัดอวโลกิเตศวร รูปโพธิสัตว์ องค์นั้นชื่ออมิตาภะ
แล้วจากอมิตาภะนี่ จากพระพุทธเจ้าอมิตาภะนี่ จึงออกมาเป็นพระพุทธเจ้าอย่างมนุษย์ เรียกว่ามานุษีพุทธะ ดังนั้นพระพุทธเจ้าพระสมณโคดมของเรานี่ เป็นพระพุทธเจ้าอย่างมนุษย์ เป็นมานุษีพุทธะ ออกมาจากพระพุทธเจ้าชนิดอมิตาภะ ที่เกิดขึ้นด้วยกำลังฌาน ปรากฎด้วยกำลังฌานของผู้มีฌาน แล้วต้อง ๆ ปรากฎออกมาต่อจากองค์เดิมแท้คืออาทิพุทธะน่ะ
ฟังดูเป็นสนุกแยบคาย มี ๓ องค์และ ๓ ชั้นเลยด้วย ชั้นลึกสุดที่อยู่อาทิพุทธะ ออกมาเป็นธยานีพุทธะ มีได้หลายชื่อ ผมจำไม่ค่อยได้แล้ว มันเป็นเรื่องของมหายาน แต่มหายานอินเดียนะไม่ใช่มหายานเมืองจีนนะ เมืองจีนก็ว่าตามอินเดียเหมือนกัน นี่พระพุทธเจ้ามานุษีพุทธะ คือที่เราเรียกว่าพระองค์คน พระองค์คนพระสิทธัตถะ โอรสพระเจ้าสุทโธทนะ พระนางมายา เกิดเมื่อกี่ปี ๆ แล้ว นิพพานแล้ว เผาแล้ว นั่นแหละพระองค์คน มานุษีพุทธะพระองค์คน ส่วนพระองค์ธยา อ่า, ธยานีหรืออาทินั้น พระองค์ธรรม เป็นพระองค์ธรรมไปแล้ว ฝ่ายเถรวาทเราไม่ได้เรียนรู้ถึงขนาดนี้ ไม่ และไม่ได้เอามาสอน หรือไม่ต้องฟังให้รู้ก็ได้ แต่ถ้ารู้ก็ดีเหมือนกันน่ะ มีประโยชน์เหมือนกันน่ะ พวกมหายานเขามีกันอย่างนี้
แต่ทีนี้มันยังน่าสนใจต่อไปอีกว่า พระพุทธเจ้าที่เป็นองค์มนุษย์นี่ มานุษีพระเจ้าที่เป็นองค์มนุษย์ อย่างพระพุทธเจ้าองค์ที่เรานับถืออยู่นี่ พระสมณโคดมนี่ ก็ยังมีเป็นสาม ๓ ชนิด ๓ ส่วน ๓ ชนิดหรือ ๓ กาย ๓ กาย เรียกว่า ๓ กายดีกว่า มีกายอย่างเนื้อหนัง ๆ เป็นเนื้อหนังนี้ ก็เรียกว่าองค์เนื้อหนัง สัมโภคกาย กายเนื้อหนัง ยังมีธรรมกายที่เป็นธรรมะ เป็นตัวธรรมะเป็นกาย เรียกว่าธรรมกาย และเรียกอีก ๆ ชื่อเรียกว่านิรมาณกาย กายที่ปรับปรุงเฉพาะเหตุการณ์ จะไปทำหน้าที่ที่ไหน อะไรที่ไหนเมื่อไร ก็แปลงให้มันเป็นเหมาะสมกับเหตุการณ์อันนั้น
นี่เขาพูดออกไปถึงอย่างนี้ ถ้าพระพุทธเจ้าจะลงไปโปรดใครในนรก หรือพระพุทธเจ้าจะไปโปรดพวกเทวดา โปรดยักษ์ โปรดมารอะไรที่ไหน พระพุทธเจ้าจะปรับปรุงร่างกายให้มันเหมาะสมกับเหตุการณ์นั้น ๆ ไปทำหน้าที่ได้สำเร็จ ก็เลยมี ๓ กาย สัมโภคกาย กายเนื้อหนัง ธรรมกาย กายธรรมะ นิรมาณกาย กายที่ดัดแปลงให้เหมาะสมกับเหตุการณ์
คุณไปดูสิ รูปภาพปฏิจจสมุปบาทรูปใหญ่ที่ตึกชั้นบน แล้วไปดูที่เขาแบ่ง เป็นสวรรค์ เป็นนรก เป็นเปรต เป็นโลกเดรัจฉาน เป็นโลกนี้ มีพระพุทธเจ้าทุกองค์เลยน่ะ สีต่างๆ พระพุทธเจ้าประจำโลกเปรต ประจำโลกนรก โลกเดรัจฉาน โลกมนุษย์ ผมเข้าใจว่าอันนี้คือนิรมาณกาย เอาล่ะ, เป็นว่าไอ้กาย ๆ นี้จะมี ๒ ประเภทน่ะ กายเป็นเนื้อหนังเป็นบุคคล และกายเป็นธรรมะคือธรรมกาย
ถ้าในโบสถ์ฝ่ายเถรวาทเรา ในโบสถ์มีพระพุทธเจ้า พระพุทธรูปประธานองค์เดียวนะ ถ้าเป็นโบสถ์อย่างมหายานของพวกนี้เขามี ๓ องค์ เขาก็มี ๓ กาย แต่ก็น่าแปลกที่ว่า วัดพระธาตุ วัดพระธาตุเราตรงนี้ มีพระพุทธเจ้า ๓ องค์นั่งอยู่ที่ ดังนั้นคุณไปดูไปเหะก็เห็นนะ เข้าใจมันมา ๓ องค์ได้อย่างไร อธิบายไม่ถูก ได้แต่เดาว่า มันจะเป็นของพวกมหายานเขามาทำขึ้นไว้ เพราะว่าพุทธศาสนาสมัยศรีวิชัยเขาก็จะมีลักษณะเป็นมหายาน แต่พวกเถรวาทไม่เอา ๆ ไม่ปะ ๆ ไม่รับ ไม่ยอมรับ ปฏิเสธเสียอย่างนั้น ออกมาอยู่กลางแดด กลางลาน โบสถ์ที่สร้างขึ้นใหม่ทางหลังพระธาตุไปทางโน้น โบสถ์ธรรมดา มีพระพุทธรูปองค์เดียว พระพุทธเจ้าองค์เดียว
มันชักจะยืดยาวใช่ไหมว่า พระพุทธเจ้ามีหลาย ๆ ชนิด แล้วชนิดไหนหที่จะเอาเป็นที่พึ่ง ชนิดไหนจะเป็นที่พึ่งกัน หรือว่าเราบวชอุทิศพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าองค์ไหน พระพุทธเจ้าองค์ไหน ไม่ต้องบอกแล้วกระมัง องค์ธรรม พระองค์ธรรม พระองค์ธรรม พระองค์ธรรมที่เป็นนิรันดรไม่รู้จักเปลี่ยนแปลงน่ะ ไม่มีเกิดไม่มีดับ ไม่ตรัสรู้ ไม่นิพพาน ไม่อะไร พระองค์ธรรม
ถ้าเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ ก็เรียกว่าเห็นถึงที่สุด บางทีจะเป็นพระพุทธเจ้า จะเป็นทำนองเดียวกัน คือว่าเราดับทุกข์ได้ ทุกข์เกิดขึ้นมาเราดับทุกข์ได้นี่ เราก็จะมีความหมายว่า มันเห็นพระ มีพระพุทธเจ้าเสียเลย เราไม่เพียงแต่เห็น เพียงแต่เห็นมัน ๆ ยังไกลไป มีเสียเลย มีลักษณะของพระพุทธเจ้าหรือเป็นพระพุทธเจ้าชั่วคราวน้อย ๆ เสียเลย ถ้าดับทุกข์ได้ ดับทุกข์ได้ เป็นดับทุกข์สิ้นเชิงเป็นพระอรหันต์ได้ เราก็เหะ ก็ ๆ เข้าถึง ๆ หรือว่ามีพระพุทธเจ้าพระองค์จริง ถือตามหลักเถรวาทเรา ก็เป็นอนุพุทธะแหละ เป็นอนุพุทธะ เป็นพระพุทธเจ้าชนิดอนุพุทธะ
แต่ถ้าเราจะพูดกันตรง ๆ เราเห็นพระพุทธเจ้าองค์ธรรมนี่ เราก็มี ๆ พระพุทธเจ้าองค์ธรรมอยู่ในจิตใจนี้ก็ พระพุทธเจ้าพระองค์ธรรม ธรรมกาย คำว่าธรรมกาย คำนี้อธิบายกันได้กัน ๆ หลายอย่างตาม ๆ ชอบใจ แต่อธิบายตรง ๆ สั้น ๆ ก็คือธรรมกาย นิรันดร มีลักษณะเป็นอมิตาภะ มีแสงสว่าง ไม่ ๆ ๆ ๆ จำ ไม่จำกัด อมิตายุ มีอายุไม่จำกัด คือเป็นนิรันดร ฝ่าย ๆ มหายานเขาเรียกอมิตาภะว่า อมิตาภะ หมายความว่ามี ๆ แสงสว่าง ไม่ ๆ จำกัด อมิตายุ คือมีอายุไม่จำกัดน่ะ พระพุทธเจ้าพระองค์ธรรม พระองค์ธรรม
พระพุทธเจ้าพระองค์คน มันก็เป็นเนื้อหนังเหมือนกับ เหมือนกับคน พระพุทธเจ้าพระองค์ธรรมมันไม่ใช่เนื้อหนัง แล้วมันไม่ใช่ มันไม่ใช่ มันเป็นธรรมธาตุอันหนึ่งซึ่งเป็นนิรันดร เข้าถึงพระพุทธเจ้าพระองค์ธรรมนั้นแหละ หมดแล้ว ถึงที่สุด พยายามศึกษาให้เห็นปฏิจจสมุปบาท อาศัยปัจจัยอะไรเกิดขึ้นแห่งความทุกข์ อาศัยปัจจัยอะไรดับลงแห่งความทุกข์ ให้เห็นชัด เห็นชัด เห็นชัดนี่
เห็นพระพุทธเจ้าพระองค์ธรรมถึงเนื้อใน พระพุทธเจ้าพระองค์คนเนื้อหนังนี้เป็นหุ้ม ๆ ไอ้อันนอกอีกที นี่พระองค์ใน นี่พระองค์นอก ถ้าเรียกพระองค์เปลือกนี่มันหยาบคาย เรียกพระองค์ใน พระองค์นอกค่อยยังชั่ว ทีนี้พอพระองค์นอก พระองค์คนข้างนอกดับนิพพานลงไปจนเหลือแต่กระดูก นี่เป็นพระองค์แทนใช่ไหม เรียกพระองค์แทน พระธาตุ กระดูกหรือพระธาตุเป็นพระองค์แทน ต่อมาคนเขาทำพระพุทธรูปอะไรขึ้นมาอีก ก็เป็นพระองค์แทน พระองค์แทนมีหลายชั้นหลายชนิด เป็นพระองค์แทน
จะรู้จักหรือเข้าถึงเพียงพระองค์นอก พระองค์แทนนี้ ไม่สำเร็จประโยชน์ ต้องถึงพระองค์คน แล้วก็ถึงพระองค์ธรรม ทะลุเข้าไปเป็นชั้น ๆ ๆ ถึงชั้นในสุดคือพระองค์ธรรม อย่าติดอยู่เพียงแค่พระองค์แทน เช่นพระพุทธรูปเป็นต้น หรือแม้แต่พระธาตุ ถ้าไปติดอยู่แค่พระธาตุ ก็ไม่พอแบ่งกันแล้ว พระธาตุนี่คนคนเดียวจะมาแบ่งกันทั้ง ๆ ๆ ๆ โลกได้อย่างไร เอาพระองค์ธรรม มีให้ไม่จำกัด ใครต้องการเท่าไรก็ได้ เมื่อไรก็ได้ ที่ไหนก็ได้
น่าหัวที่ว่า พระธาตุน่ะ ที่เรียกว่าพระ ๆ ธาตุ พระสารีริกธาตุนั่นน่ะ ที่ในอินเดียแท้ ๆ เลยพบในอินเดีย ที่อยู่เป็นหลักฐานอยู่ เป็นกระดูก กระดูกคนเผาไหม้เป็น เหลือเป็นชิ้นเล็ก ๆ นั้นน่ะ แต่พระสารีริกธาตุในลังกา ในพม่านี่ หรือแม้ในเมืองไทยบางส่วนบางแห่ง กลายเป็นของสวยงาม เป็นเม็ดไข่มุก เหมือนเม็ดไข่มุก
พระธาตุเม็ด ชนิดเม็ดไข่มุกไม่มี ในอินเดียไม่มี ที่ขุดพบนี่ เจดีย์เก่าแก่ก็ไม่มี ชนิดที่เป็นสวยเป็นเม็ดไข่มุกมีแต่ มากที่สุดในลังกา แล้วก็ในพม่า และในประเทศไทยบางแห่ง บาง ๆ คน หรือบางที่เท่านั้นแหละ ทีนี้เขาอธิบายกันว่า กระดูกคนมันกลายเป็นเม็ดไข่มุก ว่าก็ว่าเถิด ผมไม่เชื่อ เพราะว่ากระดูกแท้ ๆ แม้องค์กระดูกแท้ ๆ ก็ยังไม่ ๆ ๆ ๆ สำเร็จประโยชน์นี่ พระองค์คนเนื้อหนังแท้ ๆ ก็ยังไม่สำเร็จประโยชน์ ต้องพระองค์ธรรม พระองค์ธรรม
เอาละ, ขอให้รู้จักพระพุทธเจ้าทุกชั้น ทุกชั้น เด็ก ๆ มันรู้แค่พระพุทธรูป ไปทำอย่างไรได้เด็ก ๆ ให้ลึกเข้าไปจนถึงพระองค์ธาตุ พระองค์เนื้อหนัง แล้วพระองค์คน แล้วพระองค์คน แล้วพระองค์ธรรม พระองค์ธรรมให้ลึกไปถึงชั้นไอ้อาทิพุทธะอย่างของพวกมหายานก็ได้ ไม่เป็นไร ไม่เสียหายหรอก แม้จะเป็นคำสอนของมหายาน เราก็จะพอวิ ๆ วิจารณ์ดูได้ว่า โอ้, มันต้องมีสิ่งนั้นต้องมี ธรรมธาตุที่เป็นนิรันดรต้องมี
นั่นแหละเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ธรรมนิรันดร ซึ่งจะอยู่ในที่ทุกหนทุกแห่ง ทุกยุคทุกสมัย ทุกเวลา ถึงที่ไหนเมื่อไรก็ได้ และถ้าสามารถ ถ้าสามารถทำสมาธิจิตวิปัสสนา เรียกแล้วแต่จะเรียก จนเห็นธรรมะคือปฏิจจสมุปบาท ก็ได้เห็นพระพุทธเจ้าพระองค์ธรรม พระองค์นิรันดร ๆ ที่ไหนก็ได้ เมื่อไรก็ได้ เดี๋ยวนี้ก็ได้ หรือเมื่อหลายพันปีมาแล้วก็ได้ นี่แหละพระพุทธเจ้าพระองค์จริง เรียกว่าพระองค์ธรรม
ส่วนคำว่าธรรมกาย ธรรมกายยังมีความหมายเพี้ยนออกมากว่านั้นอีกนะ มันใช้หมดจนหมายถึงคำสั่งสอนหรือความจริงของพระธรรมที่เป็นคำสั่งสอนด้วย ยังก็อยู่ในพวกที่เป็นธรรมเหมือนกันแหละ กายธรรม กายธรรม กายพรหม กายธรรม กายภูตนี้ เป็นของแทนชื่อพระพุทธเจ้าได้เหมือนกัน
นี่เห็นไหม เห็นว่าไอ้คำว่า อ่า, มันยากลำบากตรงที่คำที่ใช้พูด พอพูดว่าพระพุทธเจ้าคำเดียวเท่านั้นแหละ มันมีหลายชั้น หลายระดับ หลายยุค หลายความหมาย แล้วก็ไปศึกษาใคร่ครวญดูเองว่า องค์ไหนที่จะเป็นที่พึ่ง เป็นที่พึ่งแก่เราได้จริง แต่เราก็ไม่ดูถูกนะ พระองค์ไหนแท้ ก็พระองค์นอก พระองค์คน เราก็ไม่ดูถูก ก็เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์คน เราก็ได้อาศัยพระพุทธเจ้าพระองค์คนนี่ช่วยสอนให้ สอนให้ เราจึงได้รู้จักพระพุทธเจ้าพระองค์ธรรม
ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้าพระองค์คน ก็ไม่มีโอกาสที่จะรู้จักพระองค์ธรรม อย่าไปดูถูกพระองค์คน นี้ช่วยให้เรารู้จักพระองค์ธรรม แต่ที่ดับทุกข์ได้จริงก็พระองค์ธรรมนั่นแหละ ถึงพระพุทธเจ้าพระองค์คนเอง ก็อาศัยพระพุทธเจ้าพระองค์ธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์คนขึ้นมา คนกลายเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาก็เพราะพุทธเจ้าพระองค์ธรรม
นี่มันอยู่ที่นี่ อยู่ที่นี่ คำว่าธรรม พระองค์ธรรมนี้ มีในที่ทุกหนทุกแห่ง คือปะ คือจะเรียกว่าคือกฎก็ได้ คือธรรมชาติ เห็นอาการที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท อยากให้เห็นที่ว่า มันมีในชีวิต ในร่างกาย ในขันธ์ห้านี่ ก็มีเกิดดับ ๆ มีการ อาการของปฏิจจสมุปบาท เกิดดับ ๆ อยู่ในตัวเรานี้ พยายามดูให้เห็นนะ ถ้าเห็นองค์นั้น ก็เห็นพระพุทธเจ้าพระองค์ธรรม ไม่เสียที ไม่เสียทีที่ว่าบวชอุทิศพระพุทธเจ้า ก็ได้เห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง ถ้ายังไม่เห็นเดี๋ยวนี้ ก็อย่า ๆ หยุดเชียวนะ พยายามจะให้เห็นต่อไป ต่อไปข้างหน้า วันใดวันหนึ่งนั่นแหละ คงจะเห็นสักวันหนึ่ง อย่าหยุดเสีย มันก็จะไม่เสียที ไม่เสียทีที่เป็นผู้บวชหรือเป็นภิกษุ เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า
เพียงพระองค์คน พระองค์คนที่เป็นลูกพระเจ้าสุทโธทนะ ก็เหลือหลายแล้ว ก็เหลือ ๆ แสนจะวิเศษ แล้วเราก็ได้อาศัยพระองค์นี้ เราจึงรู้จักพระพุทธเจ้าพระองค์โน้น พระองค์ธรรม ถ้าองค์นี้ไม่มาช่วยสอนให้ ทำไมจะรู้เรื่องปฎิจจสมุปบาท ทำไมจะรู้เรื่องพระพุทธเจ้าพระองค์ธรรมเล่า และเราก็ไม่มีโอกาสที่จะได้ยินได้ฟังคำว่า ผู้ใดเห็นธรรม คนนั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา คนนั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม คนนั้นเห็นเรา เราก็ไม่เคยได้ยินและก็ไม่ต้องได้ยิน นี้พระพุทธเจ้าองค์ที่เป็นบุคคลนี้ทำให้เราได้ยิน ก็มีพระคุณสูงสุด
มันมีตัวอย่างทางภาษาด้วยว่า ภาษาพูด มันลำบากหรือมันมีหลายชั้น เป็นภาษาคน เป็นภาษาธรรมก็มี เรื่องการพูดให้ฟังเรื่องนี้เดี๋ยวนี้ มันเป็นการเรียนรู้ถึงเรื่องภาษาด้วย และเป็นการเรียนรู้เรื่องธรรมะ ตัวธรรมะ ตัวพระพุทธเจ้า ตัวธรรมะด้วย ไม่ใช่เรียนแต่ภาษา ส่วนที่เป็นเรื่องของภาษา ให้รู้เป็นหลักไว้ต่อไปในอะไรข้างหน้าโน้นว่า มัน ๆ มีภาษาเป็น ๒ ภาษาอย่างนี้ ที่พูดกันอยู่ในวงการศึกษาของเรา
ธรรมะมีเป็น ๒ ภาษาอย่างนี้ พูดไปที่ตัวธรรมะแท้ ก็เป็นภาษาธรรม พูดไปที่ตัวบุคคล ก็เป็นภาษาคน พูดง่าย ๆ ว่า ถ้าเราพูดภาษาคน พูดภาษาคนนะ เราก็ ๆ ต้องพูดว่า พระพุทธเจ้าประสูติแล้ว ตรัสรู้แล้ว นิพพานแล้ว เหลือแต่กระดูกแล้ว ถ้าพูดภาษาคน แต่ถ้าพูดภาษาธรรม โอ้, ไม่รู้จักนิพพาน ไม่รู้จักเกิด ไม่รู้จักประสูติ ไม่รู้จักนิพพาน มันพูดได้อย่างนี้ พูดให้มันสั้นที่สุด พระองค์ธรรมไม่รู้จักดับไม่รู้จักนิพพาน พระองค์คนนิพพานแล้ว ดังนั้นอย่ามัวเถียงกันด้วยเรื่องภาษาคน ภาษาธรรม
บางคนมันไม่รู้ มันโง่เอง มันว่าป่วยการ พูดภาษาคนภาษาธรรมยุ่งยากลำบาก ไม่มีล่ะว่าอย่างไร มันโง่เอง มันไม่รู้จักพูด ที่จริงมันมี ภาษาคนและภาษาธรรม ภาษาคนมุ่งไปที่ตัวคน ภาษาธรรมมุ่งไปที่ธรรม ไม่ใช่มุ่งที่บุคคล ทุกเรื่องมีเป็น ๒ ภาษาอย่างนี้ พระธรรมก็เหมือนกัน พระสงฆ์ก็เหมือนกัน หรือธรรมะอย่างอื่นก็เหมือนกัน
เมื่อพูดเป็นตัวบุคคลแล้วก็เป็นภาษาคน เช่นพูดว่าความดีก็เป็นภาษาธรรม ถ้าพูดว่าคนดีก็เป็นภาษาคน มันใช้กับทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งเราจะพูดโดยภาษาคนก็ได้ โดยภาษาธรรมก็ได้ แต่ว่าพูดโดยภาษาธรรมนั้นพูดได้แต่คนมีปัญญา คนโง่เง่าที่ไม่เคยศึกษาก็พูดไม่เป็นและฟังไม่ถูก พูดให้เป็นวัตถุก็เรียกว่าภาษาคน พูดให้เป็นคนก็เรียกว่าภาษาคน
อย่างพระนิพพานนี่ คนไม่มีปัญญา หรือคนธรรมดา คนโง่ก็ นี้เป็น ๆ บ้านเป็นเมืองไปเลย ก็นิพพะ นิพพานเป็นเมืองไปเลย และภาษาธรรมไม่ใช่ ๆ เป็นธรรม ๆ ไม่ใช่เป็นบ้านเป็นเมือง ซึ่งอธิบายยาก เรียกยาก เป็นธรรมธาตุ เป็นอสังขตธาตุอันหนึ่ง ไม่มีรูปไม่มีร่าง ไม่มีตัวไม่มีตน แม้กระทั่ง นั่นแหละภาษาธรรม เมืองนิพพาน ภาษาคน นิพพานธาตุ นิพพานธาตุ ภาษาธรรม เรียกว่านิพพานธาตุ ไปมุ่งที่ตัวธาตุที่ตัวธรรม เรียกว่าภาษาธรรม แต่ถ้าว่าเมืองนิพพาน เข้าสู่พระนิพพานอย่างนี้ ก็กลายเป็นเมือง เป็นบ้านเป็นเมือง
เอาละ, เป็นอันว่า เราพูดกันวันแรกนี่เพื่อให้รู้ไว้ทีก่อนว่า ภาษามันทำยุ่ง ภาษาไม่พอใช้บ้างหรือไม่มีเอาเสียเลยบ้าง ยิ่งพูดกับฝรั่งด้วยก็ยิ่งลำบาก ภาษามันไม่เท่ากัน มันไม่ตรงกัน บางทีมันไม่มี ต้องพูดกันเป็นวรรคเป็นเวรจนกว่าจะเข้าใจกันได้ ฝรั่งรู้จักแต่พระพุทธเจ้าที่เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ พระพุทธเจ้าองค์นิรันดรไม่อยู่ในประวัติศาสตร์ ไม่อยู่ในประวัติศาสตร์ไม่รู้จัก เพราะเขาไม่สนใจและไม่เคยอ่าน แต่ว่าเดี๋ยวนี้ฝรั่งก็อ่านแล้ว ฝรั่งหลัง ๆ นี่อ่านแล้วรู้จักกันทั้งนั้น
ทีนี้ เราคนไทยนับถือพุทธศาสนามานมนานควรจะรู้ อย่าให้มันเกิดมีปัญหาเกิดขึ้นโดยภาษา อย่าให้อุปสรรคทางภาษายังเป็นปัญหาอยู่ต่อไป พูดให้ได้ชัดเจนว่า พูดอย่างภาษาคนหรือว่าเรากำลังพูดอย่างภาษาธรรม ถ้าพูดอย่างภาษาคนก็ พระพุทธเจ้ามันตายแล้ว นิพพานแล้ว พวกศาสนาอื่นเขาก็ล้อ อื้อ, เอาคนตายแล้วเป็นที่พึ่ง นี่สมน้ำหน้าที่มันพูดไม่เป็น แต่พระพุทธเจ้าในภาษาธรรม มันไม่ตาย มันไม่รู้จักตายนี่ มันเหมือนกับพระเจ้า พระเจ้าของฝรั่งมันไม่รู้จักตาย ถ้าพระเจ้าของคริสต์มันไม่รู้จักตาย เราก็มีเหมือนกัน ดังนั้นเราพูดทางภาษาธรรม พระพุทธเจ้าก็ไม่รู้จักตายเหมือนกัน
ได้ยินว่าเมื่อพวกคริสต์เข้ามาใหม่ ๆ เข้ามาสอนคริสต์ในเมืองไทย มัน ๆ เล่นงานเอาอย่างนี้ มันถามว่าพระพุทธเจ้าคุณอยู่ที่ไหน ไอ้คนนั้น มัน ๆ ซื่อ มันโง่ ก็ตอบว่านิพพานแล้ว เลยถามว่าอยู่ที่ไหน มันบอกว่านิพพานแล้ว นิพพานคืออะไร คือตาย มันก็เลยเยาะ ๆ เอา เอ็อ, นี่คุณจะพึ่งคนตายแล้วหรือว่าจะพึ่งคนยังอยู่ God ของเรายังอยู่ พระพุทธเจ้านิพพานแล้วตายแล้ว คุณจะพึ่งคนตายแล้วหรือพึ่งคนยังอยู่ อย่างนี้เป็นต้น เกี่ยวกับภาษา ดังนั้นช่วยจำกันไว้ให้ดี ๆ เข้าใจกันให้คล่องแคล่ว พูดจาให้ถูกต้อง ไม่ ๆ ๆ ข้องขัด พระพุทธเจ้าภาษาคนก็คือตัวคน ภาษาธรรมก็คือตัวธรรม
ทีนี้พระธรรม เอ้า, พระธรรม ภาษาคนก็จะหมายถึงเสียงที่แสดงธรรมนี้ก็ได้ หรือหีบพระธรรม ที่หีบใส่พระคัมภีร์ก็เรียกว่าพระธรรม ตู้พระธรรม บางทีเรียกว่าพระธรรมเฉย ๆ เสียงนี้ก็เป็นพระธรรม ที่เอามาท่องเอามาสวดอันนั้นก็เรียกว่าพระธรรม นี่มันภาษาคน แต่ถ้าภาษาธรรม พระธรรมไม่ใช่อย่างนั้น เป็นนามธรรม เป็นตัวธรรม เป็นสิ่งที่เอามาดูไม่ได้ จับมาดูไม่ได้ คือธรรมชาติแห่งความจริง เช่นกฎปฏิจจสมุปบาทเป็นต้น นั่นแหละคือพระธรรมล่ะ สัจจะ ความจริง เป็นกฎของธรรมชาติ นั่นแหละเป็นพระธรรมตัวภาษาธรรม พระธรรมตัวภาษาคน ก็หมายถึงพระคัมภีร์ใบลานบ้าง สมุดนั้นบ้าง ตู้พระธรรมนั้นบ้าง เสียงที่จ้ออยู่บนธรรมาสน์บ้าง เสียงที่เอามาสวดมนต์อยู่บ้าง นี่แหละก็เรียกว่าพระธรรมเหมือนกัน มาฟังธรรมก็มาฟังเสียง ไม่ใช่ตัวพระธรรมแท้
ทีนี้พระสงฆ์ พระสงฆ์ ภาษา ภาษาคน ก็ตัวบุคคล ตัวบุคคล ชื่อนั้นชื่อนี้ ลูกคนนั้นหลานคนนี้ พระสงฆ์ก็หัวเราะในภาษาคน ถ้าใช้พระสงฆ์ในภาษาธรรม ไม่เอาตัวบุคคล เอาตัวจิต มีคุณธรรมที่มีอยู่ในจิตใจนั่นแหละ พระสงฆ์ตัวจริงก็คล้าย ๆ พระพุทธเจ้า เป็นตัวธรรมะที่สิงสถิตอยู่ในร่างกายเหมือนกัน พระสงฆ์ก็มีทั้งภาษาคนและก็มีทั้งภาษาธรรม
นี่อย่าลืมเชียวนะ ไปทำความเข้าใจดี ๆ ให้รู้จักเรื่องของภาษา ให้รู้จักแยกออกเป็นภาษาคนและภาษาธรรม ที่สอนกันอยู่ในโรงเรียนน่ะ ถ้าเป็นภาษาคน เขาเรียกว่าบุคลาธิษฐาน บุคลาธิษฐานก็ชี้ระบุลงไปที่บุคคล ถ้าเป็นภาษาธรรม เขาเรียกว่าธรรมาธิษฐาน ก็ชี้ระบุลงไปที่ตัวธรรม ก็ได้เป็น ๒ อย่างเข้ามาแล้ว พระพุทธก็เป็น ๒ อย่าง พระธรรมก็เป็น ๒ อย่าง พระสงฆ์ก็เป็น ๒ อย่าง ธรรมะอื่น ๆ ก็เป็น ๒ อย่างได้ เทวดาในภาษาคนก็อย่างที่เชื่อ ๆ กันนะ อยู่บน อยู่ตามต้นไม้บ้าง อยู่ที่ไหนบ้าง แต่ถ้าเทวดา เทวดาในภาษาธรรมก็คือคุณธรรม คุณธรรมที่ทำบุคคลให้เป็นเทวดา โดยเฉพาะ ๒ อัน หิริและโอตตัปปะ เป็นเทวดาในภาษาธรรม
แล้วทีนี้จะเป็นปลีกย่อยออกไป ปลีกย่อยออกไปก็ ก็รู้ ๆ กันไว้เสีย มันง่ายดี ที่เขาพูดว่า นรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย ที่เป็นทุคติเป็นอบายภูมินี้เรียกไว้ ๔ ชื่อ นรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย ที่เขาไม่รู้ภาษาธรรม เขาพูดอย่างภาษาคน สอนกันอย่างภาษาคน นรกคืออยู่ใต้ดิน อยู่ใต้บาดาลใต้ดิน ร้อนเป็นไฟลุกอยู่ที่นั่น นั่นนรก เปรตก็เป็นสัตว์ชนิดที่มองไม่ค่อยเห็นตัว อะ, เดรัจฉาน ก็สัตว์เดรัจฉาน เปรตก็คือไอ้ที่สัตว์ชนิด ผีชนิดหนึ่งมองไม่เห็นตัว อสุรกายยังเป็นผีที่ไม่มีตัวให้เห็น เพราะมันคอยซ่อนคอยหลบอยู่เรื่อยนี่แหละ ถ้าอย่างนี้ก็เรียกว่าเราพูดภาษาคน ภาษาคน หรือภาษาวัตถุ หรือภาษาร่างกาย
แต่ถ้าพูดเป็นภาษาธรรมแล้ว นรกน่ะมันอยู่ในใจคน ไม่ได้อยู่ใต้ดิน เมื่อร้อนเป็นไฟ นรกอยู่ในใจ เดรัจฉานก็คือโง่ ๆ เมื่อโง่ ๆ เป็นความโง่แล้วเป็นสัตว์เดรัจฉาน คนโง่ก็คือคนเป็นเดรัจฉานนะ เปรตก็หิว ความหิว เปรตมีความหมายว่าหิว ๆ ๆ ๆ ๆ เหมือนใจจะขาด อันนั้นมันเป็นเปรต ความหิว อสุรกายคือความกลัว กลัว ไม่ยอมให้ ไม่ให้ ไม่ยอมให้เห็นตัว ความขลาดอย่างไม่มีเหตุผล ขลาดอย่างร้ายกาจ ขลาดที่สุดน่ะ คือคำว่าอสุรกายนี้
ถ้าพูดอย่างภาษาคนก็เป็นอย่างนี้ พูดภาษาธรรมก็เป็นอย่างนี้ เรียนให้มันคู่ อีกคู่นึงที่ ๆ เราเกี่ยวข้องกันอยู่มากแล้วพูดกันอยู่มาก คือนรกและสวรรค์ นรก สวรรค์ ๒ สิ่งนี้ เขาพูดกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด ในอินเดีย ในอินเดียน่ะ เขาพูดกันอยู่ก่อนเรื่องนรกเรื่องสวรรค์ เขาพูดกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด นรกก็อยู่ข้าง ๆ ล่างโน้นแหละ ใต้ดินน่ะ เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานนานาประการ สวรรค์ก็อยู่สูงสุด บนฟ้าโน้น ยอดสุดขึ้นไป มีเรื่องราวเหมือนที่ในเรา ๆ ได้ยินได้ฟัง อย่างนี้เขาพูดโดยภาษาคน แล้วพูดกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด ในอินเดียก็อธิบายเรียกพูดกันโดยภาษาคนอย่างนี้
พอพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในอินเดีย ท่านก็ไม่ค้าน พระพุทธเจ้าไม่ค้านนะ ไม่ค้านที่เขาพูดกันไว้ก่อน ท่านไม่ค้าน คือไม่ไปปะทะ ไม่ขัดแย้ง ไม่ทำการขัดแย้ง ท่านก็พูดขึ้นมาอีกว่า ฉันเห็น ฉันเห็นนรก ฉันเห็นสวรรค์ มันอยู่ที่อายตนะ อยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั้นแหละ พอทำผิดกฎอิทัปปัจจยตา ก็เกิดความทุกข์ขึ้นที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้นแหละคือนรก พอทำถูกต้องตามกฎอิทัปปัจจยตา มีความไม่ทุกข์ ดับทุกข์ได้ นั่นแหละคือสวรรค์ ก็อยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เห็นได้ชัดทันทีว่า ถ้าพูดอย่างภาษาคน นรกอยู่ใต้ดิน สวรรค์อยู่บนฟ้า ถ้าพูดอย่างภาษาธรรม ทั้งนรกทั้งสวรรค์น่ะ อยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อทำผิดหรือเมื่อทำถูก ถ้าทำถูกก็เป็นสวรรค์ ถ้าทำผิดก็เป็นนรก
ขอแถมพกตรงนี้ว่า แม้มันเรื่องมันจะตรงกันข้ามอย่างนี้ ก็รู้ว่ามันไม่มีการขัดแย้ง ไม่มีการกระทบ เพราะพระพุทธเจ้าท่านมีปฏิปทาของท่าน ไม่แย้ง ไม่ขัดแย้ง จะไม่ว่าใครผิด จะไม่ขัดแย้งว่าใครผิด ลูกศิษย์พระพุทธเจ้าที่หลัง ๆ มันโง่ มันขัดแย้งไปเสียหมด มันรู้อะไรผิดไปหน่อย มันขัดแย้งเขา ถ้าเป็นพระพุทธเจ้าหรือจะปฏิบัติตาม อย่าขัดแย้ง ท่านว่าอย่างนั้นก็ท่านว่าของท่านไป แต่ฉันว่าอย่างนี้ คือในพวกเรา ในธรรมวินัยนี้ อธิบายอย่างนี้ อธิบายอย่างนี้ คุณจะชอบถืออย่างไหนก็เอาสิ จะไม่พูดว่า ของคุณผิด ของฉันถูก ไม่มี
เดี๋ยวนี้ลูกศิษย์พระพุทธเจ้ามันมีแต่ขัดแย้ง มึงผิด กูถูก มันก็เลยชกปากกัน นี่ช่วยจำไว้ทีนะว่า ไอ้หลักไม่ขัดแย้ง ไม่กล่าวคำพูดที่ขัดแย้ง นี่เป็นหลักพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ไม่พูดถ้อยคำที่ให้เกิดการขัดแย้งกับใคร ๆ ในโลก เทวโลก มนุษยโลก อะไรก็ตาม ไม่พูดคำที่ให้เป็นขัดแย้งกันขึ้นมา ดังนั้นจึงไม่มีการทะเลาะ ทีนี้ในหมู่มนุษย์ผู้มีกิเลส มันขัดแย้งตะพึด นิดหนึ่งมันก็แย้ง มันเต็มไปด้วยคำขัดแย้งโดยเฉพาะ ในโลกการเมืองล้วนเต็มไปด้วยคำขัดแย้งทั้งนั้น
ช่วยถือเป็นหลักว่า อย่าไปขัดแย้งเขาเลย เขาพูดอย่างนั้นก็พูดไป แต่ถ้าเขาจะให้เราพูด เราก็บอกว่า ฉันเข้าใจอย่างนี้ ฉันถืออย่างนี้ แต่ฉันไม่ได้ว่าของคุณผิดนะ ไม่มี อย่าไปว่าของเขาผิด แม้ว่าเขาพูดโดยภาษาคน ก็ถูกของเขาล่ะ แต่เราพูดโดยภาษาธรรม ก็ถูกของเรา ถูกด้วยกันทั้ง ๒ อย่าง แต่เรื่องมันคนละเรื่อง นี่เพราะพูดกันคนละภาษา นี่ยกตัวอย่างให้เห็นมากไกลออกไป มากไกลออกไปว่า เกี่ยวกับภาษาเป็นอย่างนี้ เกี่ยวกับคำพูดมันเป็นอย่างนี้ โดยหลักใหญ่ก็มีอยู่ ๒ ภาษา ภาษาคนกับภาษาธรรม ชี้ไปที่ตัววัตถุหรือตัวบุคคลเรียกว่าภาษาคน ชี้ไปที่ตัวธรรมะเรียกว่าภาษาธรรม
เอาล่ะ, พอกันที ๑ ชั่วโมง ได้เรื่องว่า เราพูดกันนี้ก็เรื่องคำพูดที่ ๆ ทำให้เป็นปัญหา เขาถือเอาใจความไม่ตรงกัน ก็เป็นปัญหาถึงว่า มึงผิด กูถูก กูถูก มึงผิด ยุ่งไปหมด พูดภาษาคนก็ภาษาคน พูดภาษาธรรมก็ภาษาธรรม ไม่ต้องขัดแย้งกัน อย่างไหนมีประโยชน์จริง มีประโยชน์ ใช้เป็นประโยชน์ หรือดับทุกข์ได้ นั่นแหละมีประโยชน์ พยายามถือเอาอย่างนั้น อย่าเอาผิดเอาถูกกันที่ตรงอื่น ถ้ามันถูกก็มีประโยชน์ ก็ดับทุกข์ได้ ถ้าไม่มีประโยชน์ ดับทุกข์ไม่ได้ ก็ขอให้ผ่าน
ลัทธิอื่นเขา ๆ ๆ นิยมการขัดแย้ง แต่พระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าไม่นิยมการขัดแย้ง หลีกเลี่ยงการขัดแย้ง ไม่ให้มี เรียกการขัดแย้งว่าเป็นอุบาทว์ อุบาทว์ อุปัทวะ อุบาทว์ การขัดแย้งที่ไหนมีอุบาทว์ที่นั่น ดังนั้นเราอย่าพูดคำขัดแย้งที่เป็นเหตุให้เถียงกัน โกรธเคืองกันนี่ ก็อย่าพูด เอ้า, คุณจะเชื่ออย่างนั้นก็ได้ แต่ฉันเชื่ออย่างนี้ก็ได้ แล้วแต่ชอบ
ดังนั้นขอยุติการบรรยายในการพูดวันแรก เรื่องภาษาหรือคำพูดมันไม่พอใช้ หรือมันไม่มีเอาเสียเลย อย่าไปหลงกับเรื่องแบบนี้ พยายามพูดให้ดี ทำความเข้าใจให้ดี ให้มีแต่ความราบรื่น ราบรื่น ไม่มีขัดแย้ง ไม่มีทะเลาะ ไม่มีวิวาท เพราะรู้จักใช้คำพูดที่ถูกต้อง เอ้า, ขอยุติการบรรยายและปิดประชุม