แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้จะพูดกันเรื่องอัตตา อนัตตา อัตตากับอนัตตา แล้วมันเป็นเรื่อง หัวใจพุทธศาสนา สำคัญที่สุด แต่บางคนอาจจะเห็นเป็นเรื่องตลก เลยกลายเป็นเรื่องล้อเล่นไปเสีย ขอแนะนำว่าพยายามเข้าใจเรื่องนี้ให้ถูกต้องเถิด จะรู้พุทธศาสนาที่แท้จริง และก็จะดับทุกข์ ได้จริง หลายคนคงจะได้ยินมาทั้งเรื่องอัตตา และเรื่องอนัตตา แล้วก็งง ไม่รู้จะเอาอะไรกันแน่ แล้วก็ได้ยินพระพุทธเจ้าสอนเรื่องอนัตตา คือมิใช่ตนที่อยู่ทั่วๆไป และพร้อมพร้อมกันนั้นก็ได้ยินพระพุทธเจ้าสอนว่า ตนเป็นที่พึ่งแก่ตน อัตตา ตนเป็นที่พึ่งแก่ตน งงหรือไม่งงลองคิดดู นี่ความหมายของคำที่พูดมันอยู่ลึกลับ หรือว่ายากแก่การเข้าใจ หรือมันมีความหมายหลายความหมาย จึงเห็นว่าเป็นเรื่องที่ควรพูด ควรทำความเข้าใจกันอย่างยิ่ง
อัตตาแปลว่าตัวตน อนัตตาแปลว่ามิใช่ตัวตน แล้วมันยังมีแถมออกไปอีกคำหนึ่ง ซึ่งคงจะไม่ค่อยได้ยินนักว่า(เสียงเบา๐๒ :๔๗.๔ - ๐๒ :๕๐.๑ )คือ นิรัตตา ไม่มีตัวตนอะไรเลย ความคิดของมนุษย์เป็นได้ทั้ง๓ อย่างนี้ แล้วแต่จะคิด แล้วแต่จะเห็น เห็นว่าอัตตา อัตตาก็มีตัวตน กระทั่งมีตัวกู ตัวตนที่เข้มข้นเป็นตัวกูอย่างหนึ่ง ถ้าสุดโต่งตรงโน้นละก็จะไม่มีอะไรเลย มีขีดตรงกลางที่จะถูกต้อง นี่คืออนัตตา ตัวตนซึ่งมิใช่ตัวตน แปลว่าไม่ใช่ตัวตน ช่วยจำกันไว้ให้ดีๆว่า อนัตตา แปลว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่แปลว่าไม่มีตัวตน อย่างนั้นมันเข้าใจผิดได้ ถ้าจะแปลว่าไม่มีตัวตน ก็จะต้องแปลว่ามันไม่มีตัวตนชนิดที่ควรจะเรียกว่าตัวตน อย่างนี้ก็ได้เหมือนกัน แต่ถ้าแปลกันสั้นๆให้ถูกต้อง แปลตามตัวหนังสือแล้วก็ว่า มิใช่ตัวตน มิใช่ตัวตน พูดกันโดยตัวพยัญชนะ ก็เป็นอย่างนี้ ช่วยจำไว้เป็นหลักก่อน (เสียงเบา๐๔ :๒๑ .๕ - ๐๔ :๒๗ .๓ )อัตตา ตัวตน อนัตตา มิใช่ตัวตน นิรัตตา ไม่มีตัวตน ตัวตนอะไรเลย (เสียงหายไป ๐๔ :๓๓.๓ - ๐๔ :๕๗.๐ )อัตตา มิใช่ตน มันก็มีของซึ่งมิใช่ของตน จะพูดถึงนิรัตตา มันก็เป็นเรื่องไม่มีอะไร เพราะมันไม่มีตัวตนอะไร มันก็ไม่มีอะไรต่อไปอีก ความรู้สึกเหล่านี้จะทำให้สับสนกำกวม จนยุ่ง ยุ่ง ยุ่ง จนไม่อยากจะรู้ ไม่อยากรู้อยากชี้กับมันแล้ว ก็เลยไม่ได้รับประโยชน์อะไร
เรามีอัตตา อัตตาก็คือมีของหนักและเป็นทุกข์ ถ้าพูดว่านิรัตตา ไม่มีอะไรเลย มันก็บ้าหรือแกล้งว่าเสียมากกว่า จึงเห็นว่าเป็นอนัตตา มีตนที่มิใช่ตนนี่ จะไม่เป็นทุกข์ จะไม่แบก จะไม่ถือ ของหนักอยู่ในใจ มันก็ไม่เป็นทุกข์ พวกหนึ่งเขาสอนว่า มีอัตตา อัตตา เป็นอัตตาอย่างยิ่ง สูงสุด ก็พวกหนึ่งแหละ ในอินเดียในพุทธกาล พร้อมกันนั้นพวกหนึ่ง อาจารย์กลุ่มหนึ่ง พวกหนึ่งก็สอนไม่มีอะไรเช่นนั้น ไม่มีอัตตา อัตแตอะไรเลย แต่พระพุทธเจ้า ท่านมาตรงกลาง มาตรงกลาง ว่าไอ้สิ่งที่คุณเรียกว่า อัตตานั้นน่ะที่แท้มันไม่ใช่อัตตา มันเป็นอนัตตา หรือสิ่งที่เรารู้สึกว่าเป็นอัตตา นั่นแหละมันก็มิใช่อัตตา นี่ถ้าฟังไม่ออกละก็ยุ่งหัว ไร้สาระ ไม่มีประโยชน์ ถ้าฟังออกก็จะมีประโยชน์ที่สุด คือว่ามันจะไม่ถูกหลอกโดยอัตตา ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความบ้าๆบอๆทั้งหมดนี้มันมาจากความรู้สึกว่ามีตัวกู ตัวตน ถ้าไม่มีตัวกู ไม่มีตัวตนแล้ว ไอ้ความรู้สึกเหล่านี้มันเกิดไม่ได้ มันรักไม่ได้ โกรธไม่ได้ เกลียดไม่ได้ กลัวไม่ได้ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ไม่หัวเราะ ไม่ร้องไห้ ก็ดูตัวเองทุกคนว่ากำลังมีความรู้สึกว่ามีตัวตน หรือไม่มีตัวตน หรือบางคราวรู้สึกว่ามีตัวตน บางคราวรู้สึกว่าไม่มีตัวตน เถียงกันยุ่ง ไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไร
ถ้าเข้าใจถูกต้อง มันก็จะเข้าใจได้ไปถึงว่า ไอ้ตัวตนซึ่งมิใช่ตัวตนนั่นแหละ มันกลับช่วยตัวตนได้ เพราะปัญหามันเกิดมาจากตัวตนซึ่งมิใช่ตัวตน ปัญหา ไอ้ตัวตนซึ่งมิใช่ตัวตนน่ะ เป็นตัวตนตามธรรมชาตินั่นแหละมันสร้างปัญหาขึ้นมา ด้วยความรู้สึกผิดๆและมันก็ต้องแก้ปัญหาด้วยสิ่งนั้น ใครสร้างปัญหาก็ต้องแก้ปัญหาด้วยผู้นั้น ในเมื่อตัวตนโง่ มันสร้างปัญหาสร้างความทุกข์อะไรขึ้นมา ไอ้ตัวตนนั่นแหละจะต้องช่วยตัวเองอีกทีหนึ่ง ให้หมดปัญหา เพราะฉะนั้นอย่าเข้าใจผิด ว่าตนเป็นที่พึ่งแก่ตนนั้นน่ะ เป็นคำพูดที่ขัดแย้ง เพราะเราจะได้ยินว่า ไม่มี มิใช่ตัวตน พระพุทธเจ้าตรัสว่า ตัวตนซึ่งมิใช่ตัวตน แต่แล้วทำไมมาตรัสว่า ตัวตนช่วย ช่วยตัวตน ต้องพึ่งตัวตน มันก็อยู่ที่ตรงนั้นเอง เมื่อตัวตนที่มิใช่ตัวตนน่ะมันสร้างปัญหา แล้วใครจะมาช่วยแก้ได้ ก็ตัวตนที่มิใช่ตัวตนนั่นแหละแก้ปัญหาด้วยตนเอง นี่คำ๓คำนี่ เข้าใจได้ก็จะเข้าใจพุทธศาสนา จะดับทุกข์ได้ แล้วจะมีพุทธศาสนาอย่างวิทยาศาสตร์ จะมีพุทธศาสนาอย่างวิทยาศาสตร์ เดี๋ยวคอยฟังต่อไปให้ดี
เดี๋ยวนี้กำลังมีพุทธศาสนาอย่างไสยศาสตร์กันอยู่เสียโดยมาก เอาพระเครื่องมาแขวนคอนี่มันเป็นไสยสาสตร์ ถ้าแขวนคอในลักษณะเครื่องรางศักสิทธ์ให้คุ้มครอง ถ้ามาแขวนคออย่างกันลืมพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้า กันลืมธรรมะนี่ไม่เป็นไร ยังพอดูได้ เอ้าไหนๆพูดอย่างนี้มาแล้ว ก็จะต้องพูดถึงเรื่องที่สำคัญที่เขาพูดกันอยู่มากเป็นปัญหามากในอินเดียตลอดมาอีก อีก อีก อีกชุดหนึ่ง คือคำว่า
สัสสตทิฏฐิ แม้จะฟังยากก็ลองจำไว้ก่อน สัสสตทิฏฐิ แปลว่ามีตัวตนเที่ยงแท้ ถาวร แน่นอน ตลอดไป นี่ สัสสตทิฏฐิ นี่สุดโต่งฝ่ายโน้นน่ะ ไม่มีตัวตนอะไรอย่างที่ว่ามาแล้ว เรียกว่านัตถิกทิฏฐิ นัตถิกทิฏฐิ นี่ไม่มีตัวตน ตัวตนอะไร ที่ตรงกลาง ที่อยู่ตรงกลางระหว่างสองสิ่งนี้ คือ พุทธศาสนานั้นเรียกว่าสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิอันถูกต้องว่ามิใช่ตัวตน หรือมีตัวตนซึ่งมิใช่ตัวตน คำนี้มีประโยชน์มากแม้จะยุ่งยากแก่การฟัง การที่ต่อต่อไปควรจะรู้แจ้ง แต่ถ้าสนใจจะเข้าใจมันก็ไม่ยากเกินไป คือพวกหนึ่งฝ่ายซ้าย สมมุติว่าเป็นฝ่ายซ้ายสุด สุดโต่ง เป็นฝ่ายซ้ายเรียกว่า สัสสต สัสสตแปลว่า เที่ยง แน่นอน ตายตัว มีตัวตน เที่ยงแท้แน่นอน ตายตัว สัสสต แปลว่าเที่ยง ทิฏฐิแปลว่าความเห็น สัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยง มีอะไรเป็นของเที่ยง ไม่ ไม่เปลี่ยนแปลงและไม่แตกดับด้วยซ้ำไป ทีนี้ฝ่ายขวาสุดโต่งนี่ว่าไม่มีอะไรเลย ไม่มีอะไรเลย นัตถิก นัตถิกแปลว่าไม่มีอะไร ทิฏฐิก็ความเห็นว่า นัตถิกทิฏฐิ ทิฏฐิเห็นว่าไม่เที่ยง ส่วนตรงกลาง ตรงกลางนี่ไม่ต้องซ้ายสุด ขวาสุด นี่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ สัมมา แปลว่าถูกต้อง ถูกต้อง สัมมา แปลว่าถูกต้อง สัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิที่ถูกต้อง นี่เขาถือว่าเป็นตัวพุทธศาสนา
ถ้าเข้าใจเรื่องนี้ก็จะเข้าใจได้ไปถึงว่า พุทธศาสนาไม่ยึดถือเป็นบวก เป็นลบสุดโต่ง ไม่ยึดถือเป็นรูป เป็นกาย เป็นจิตสุดโต่ง ยึดถือตรงกลาง สัมมา สัมมา มันถูกต้อง ถูกต้อง ถ้ามีสัสสตทิฏฐิ มี มีตัวตนถาวร แน่นอน มันเอียงไปทางรัก ทางจะเอา มันก็น้อมไปทางกามสุขัลลิกานุโยค คือหมกมุ่นอยู่ในการเอา การได้ การมี การเป็น นี่กามสุขัลลิกานุโยค ถ้าเป็นสุดโต่งไปทางขวา ทางขวาทางโน้นสุดน่ะ มันก็เป็นอัตถกิลมถานุโยค อยากจะทำลายตน อยากจะทำลายตนหรือความรู้ สิ่งที่เป็นที่ตั้งแก่ความรู้สึกต่างๆ อยากจะทำลายเสีย ทีนี้อยู่ตรงกลาง ตรงกลางเรียกว่ามัชฌิมา มัชฌิมาแปลว่าอยู่ตรงกลาง เทียบดู เทียบดูทั้ง๓ความหมายนี่ อันหนึ่งมันน้อมไปในทางเอา ทางได้ ทางมี เป็นกาม สุดโต่งโน่นน้อมไปทางไม่มี ไม่เอา ไม่เป็น อยากจะทำลาย แต่ที่อยู่ตรงกลางนี้ไม่ ไม่ทั้งสองอย่าง มีแต่ว่าจะจัดกับมันอย่างไร อย่าให้มันเป็นความทุกข์ขึ้นมา นี่เรียกว่ามัชฌิมา มัชฌิมา คงจะได้ คงจะเคยได้ยินมาแล้ว พุทธศาสนาอยู่ตรงกลาง เดินสายกลางก็คืออย่างนี้ ไม่บ้าบวก ไม่บ้าลบ ( เสียงหาย ๑๕ :๒๖.๓ - ๑๖ :๑๗.๓ )นี่ ทบทวนกันเสีย มันไม่อัตตา มันไม่นิรัตตา แต่มันเป็นอนัตตาอยู่ตรงกลาง แล้วมันก็ไม่ ไม่ถือว่าเที่ยง แท้ ถาวร แน่นอน ไม่เกิดดับ แล้วก็ไม่ถือว่า ไม่ ไม่ ไม่มีอะไรเลย ไม่มีสิ่งที่มันจะเกิด จะดับ จะเปลี่ยนแปลงก็ตามใจ แต่เราจะจัดการให้ถูกต้อง ชนิดที่เป็นทุกข์ไม่ได้
เอ้าทีนี้ก็จะมาดูว่ามันอยู่กันอย่างไรที่ว่าไม่มี ไม่มีตัวตน ข้อนี้ต้องพูดกันถึงเรื่อง ขันธ์ ๕ นักศึกษาที่เรียกว่านักศึกษาใหม่ นิยมของใหม่อะไร เรียนกันแต่เรื่องใหม่ๆนี่ ฟังว่าเรื่องขันธ์๕แล้วก็ไม่เข้าใจ แล้วก็เห็นว่าคร่ำครึๆ ทั้งชาววัดทั้งยายแก่ เรื่องขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ แต่ขันธ์ ๕ มันคือ ส่วนที่ประกอบกันเป็นชีวิตนั่นเองแหละ ชีวิตหนึ่งๆมันมีส่วน ๕ ส่วนที่ประกอบกันเข้าอยู่ เป็นชีวิตอยู่ ๕, ๕นี่ แบ่งเป็น ๒ ส่วน ส่วนวัตถุหรือร่างกาย ส่วน ส่วนที่๑เรียกว่ารูปขันธ์ รูป รูป รูป-ขันธ์ รูป -ขันธ์ นี่ ร่างกาย ทีนี้ต่อไปอีก ๔ ส่วนเหลือน่ะเป็นเรื่องใจ เรียกว่าเวทนาขันธ์ ส่วนที่จะรู้สึกเป็นสุข หรือเป็นทุกข์จากสิ่งที่ มากระทบ เรียกว่าเวทนาขันธ์ รู้จักเวทนา รู้สึกเวทนา คือรู้ feeling feelingรู้จักfeelingได้ด้วยไอ้สิ่งที่เรียกว่าเวทนาขันธ์ แล้วก็ส่วนที่ถัดไปส่วนที่สองของหมวดนี้ เรียกว่าสัญญาขันธ์ สำหรับทำความมั่นหมายว่าอะไร ว่าเป็นอะไรๆ ว่าเป็นอะไร สัญญาขันธ์ ที่จะทำให้เกิด perception perceptionหรือตัวperceptionก็ได้ จัดเป็นสัญญาขันธ์ ไอ้ตัว feeling มันเป็นเวทนาขันธ์ ทีนี้ถัดไปเป็นส่วนที่สามของหมวดนี้เรียกว่า สังขารขันธ์ นี่อันนี้ทำหน้าที่เกิดความคิด เกิดความคิด เป็น conceptionขึ้นมา ไอ้ตัวไอ้ conception นั้นก็ได้ว่ามันเป็นไอ้สังขารขันธ์ ทีนี้อันสุดท้ายของหมวดนี้ ที่๔ วิญญานขันธ์ วิญญานขันธ์ เรียกเป็นไทยไทยว่า วิญญานขันธ์ วิญญานขันธ์นี่ สำหรับรู้จัก รู้จัก หรือรู้สึกต่อสิ่งที่มากระทบ มากระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายที่เป็นภายนอกนี่ก็ได้ หรือกระทบภายใน คือเป็นความรู้สึก คิดนึกของจิต ที่มากระทบจิตให้รู้สึกขึ้นมานี่ก็ ก็ได้ เรียกว่า วิญญานขันธ์เสมอกัน แม้จะรู้สึกต่อสุข ต่อทุกข์อะไรก็ เรียกว่า วิญญานขันธ์ได้ นี่ถ้าทั้ง๔นี้เป็นส่วนจิตนี่ สัมพันธ์กันอยู่กับส่วนที่๑ซึ่งเป็นส่วนกาย รูปขันธ์ มันก็ทำอะไรได้เหมือนที่เรา มีอยู่ เป็นอยู่ รู้สึกอยู่ ถ้าแยกจากกันก็หมด หมด หมด หรือตายหมดทั้ง ทั้งหมดเลย แต่ถ้ากายยังอยู่กับจิต จิตอาศัยกายทำความรู้สึก จิตนี่เหมือนกับว่าเจ้าของบ้าน สมมติว่าเป็น เหมือนเป็นเจ้าของบ้าน ไอ้ร่างกาย ร่างกายเหมือนกับบ้าน ถ้ามันยังอาศัยกันอยู่ก็ทำอะไรได้ ถ้ามันแยกกันโดยเด็ดขาด มันก็ทำอะไรไม่ได้ ลองไม่มีกาย จิตก็เหมือนกับไม่มีเพราะมันทำอะไรไม่ได้ ลองไม่มีจิต กายก็เหมือนกับท่อนไม้ มันก็ผสมกันเกี่ยวข้องกัน ทำหน้าที่ด้วยกัน มันก็เป็นสิ่งที่ ( เสียงเบา ๒๑ :๔๕.๘ - ๒๑ :๕๗.๖ )จะใช้คำว่า ประเสริฐ วิเศษยังจะน้อยไป คือมันจะทำได้สาระพัดอย่าง มันจะทำได้สาระพัดอย่าง เพราะฉะนั้นจงรู้จักความสำคัญที่ว่ากายกับจิต หรือวัตถุกับจิตนี่จะต้องสัมพันธ์กัน พวกคอมมิวนิสต์เขาถือว่าจิตเป็นใหญ่บังคับกาย พวกตรงกันข้ามถือว่ากายบังคับจิต แต่เราจะไม่ถืออย่างนั้น เราจะถือว่ามันสัมพันธ์กัน มันสัมพันธ์กัน มันก็เกิดอะไรขึ้นมาได้ ตามกฏเกณฑ์ของมันที่มันมีการสัมพันธ์กัน
เพราะฉะนั้นเราจะรู้จักชีวิตนี้ให้ถูกต้อง ในฐานะที่มีส่วนประกอบ๕อย่าง กายมีระบบประสาทเป็นหลัก กายที่มีระบบประสาทเป็นหลักมันก็ทำหน้าที่ของมันได้ คือระบบประสาทนั้นรู้สึกต่ออารมณ์ได้ ไม่ต้องมีอัตตา ไม่มีตัว ไม่ต้องมีตัวตนอะไรที่ไหนอีก รูปขันธ์ กายที่มีระบบประสาทยังดีอยู่ก็ทำหน้าที่รู้สึกทางประสาทได้ นี่ฝ่ายจิตที่เป็น๔อย่าง เวทนาขันธ์ก็รู้สึกอารมณ์ และมี feelingได้ ที่เป็นสัญญาขันธ์มันก็รู้สึก perceptionต่างๆ หมายมั่นต่างๆอะไรได้ ที่เป็นสังขารขันธ์ก็คิดนึกได้มัน conceptสาระพัดอย่าง และวิญญาณขันธ์มันเรียกว่า consciousness conscious consciousอย่างภาษาชาวบ้านถ้าไม่ consciousก็คือตาย conscious consciousวิญญาณขันธ์รู้สึกอะไรได้อยู่ ก็ยังไม่ตาย พยายามรู้จักขันธ์๕ให้ดี มันมีอยู่๕จริงๆ และแต่ละอย่าง ละอย่าง มันทำหน้าที่ของมันได้ โดยไม่ต้องมีสิ่งที่เรียกว่าอัตตา หรือโดยไม่ต้องเป็นอัตตาขึ้นมาก็ได้ มันทำหน้าที่ได้อย่างนั้น ถ้าไม่รู้หรือเอาไปตามความไม่รู้ มันก็จะรู้สึกว่าต้องเป็นอัตตา ต้องมีอัตตาอะไรเข้ามาทำหน้าที่ของแต่ละขันธ์ ทั้ง๕ขันธ์ นี่ก็เรียกว่าพวกอื่น ไม่ใช่พวกพุทธ ขันธ์ทั้ง๕มีอัตตา เป็นอัตตากันทั้ง๕ขันธ์ ทำอะไร ทำอะไรตามแบบที่มีอัตตา แล้วก็พวกเราก็มีแต่ขันธ์ไม่ต้องมีอัตตา ขันธ์แต่ละขันธ์ทำหน้าที่ของมันได้โดยไม่ต้องมีอัตตา ไม่ต้องเป็นอัตตา ร่างกาย ร่างกายนี่เป็นฝ่ายกาย รูปขันธ์น่ะเป็นฝ่ายกาย มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟรวมกันเป็นตัวก้อนของธาตุ แล้วไอ้ธาตุที่เป็นกายนั้นมันก็รู้ มันก็ทำหน้าที่ได้ เคลื่อนไหวได้ อะไรได้ ไปตามแบบของกาย นี่รวมกันทั้ง๒กาย นี่ก็เรียกว่ารูปหรือกาย เข้าใจให้ดีว่า ไอ้ร่างกายแท้ๆนี้มันก็มีปรากฏการณ์อย่างกาย ไอ้ร่างกายนี้มันยังมีปรากฏการณ์ สูง ต่ำ ดำ ขาว หญิงหรือชาย หรือว่าเคลื่อนไหวไปมา หรือว่า แข็ง หรือนิ่ม อ่อนโยนอะไร ลักษณะอย่างนี้ก็เรียกว่ากายเหมือนกัน เรียกว่ารูปแต่ก็เรียกว่ารูปที่มันแฝงอยู่กับรูปใหญ่ในตัวกายแท้ๆ ( เสียงเบา ๒๕ :๕๕.๒ - ๒๖ :๒๐.๘ )คือตัวกายแท้ๆมีลักษณะที่แฝงอยู่ที่เห็นอย่างที่ว่านั้น รูปอย่างไร ดำ ขาว สั้น ยาวอย่างไร เป็นหญิง เป็นชายอย่างไร เคลื่อนไหวอย่างไร นี้ก็เป็นเรื่องกาย หรือ รูป
ทีนี้ส่วนใจ ส่วนใจ เป็นคำพูดที่มันต้องกำกวมเพราะมันใช้กันคนละพวก มันใช้กันอย่างอื่นก็ตามใจเขา แต่ฝั่ง แต่ฝ่ายพุทธเรานี่ง่ายๆ ง่ายๆนิดเดียว มันมีธาตุ ธาตุ ที่เป็นจิตเรียกว่านามธาตุ จิตธาตุวิญญาณธาตุ เป็นธาตุที่จะรู้สึกได้ กายเป็นธาตุที่ไม่รู้สึก จิตเป็นธาตุที่รู้สึกอะไรได้ ( เสียงเบา ๒๗ :๐๖.๑ - ๒๗ :๒๕.๘ )นี่เรียกว่านามธาตุนี่คือวิญญาณธาตุ ถ้าว่าถ้ามันทำหน้าที่รู้จัก ถ้าธาตุจิตน่ะมันมาทำหน้าที่รู้จักนั่นนี่ รู้จักทางตา ทางหู ทางจมูก ทางกาย รู้จักนั่นนี่เราเรียกมันว่า วิญญาณ วิญญาณในพุทธ ในภาษาพุทธ ถ้ามันทำหน้าที่รู้สึก รู้สึกต่ออารมณ์ หรือผลของการกระทบต่ออารมณ์ หรือรู้สึกอะไรต่างๆได้ นี้เรียกว่า มโน วิญญาณจึงจะรู้สึกว่าอะไรเป็นอะไร มโนรู้สึก....เหมือนกับว่ามันเป็น มันมีความหมายอย่างไรเช่น เรารู้สึกแต่เพียงว่า นี่ต้นไม้ นี่ก้อนหิน นี่อะไรต่างๆ เรียกว่าวิญญาณ แต่ถ้ารู้สึก สุข ทุกข์ พอใจ ไม่พอใจ อะไรอย่างนี้ เรียกว่า มโน ทีนี้ถ้ามันทำหน้าที่คิด คิด คิดดี คิดร้าย คิดก็เรียกว่า จิต ไอ้ความหมาย๓คำนี้จำให้ดี จะไม่ยุ่งยากลำบาก จะไม่รู้ จะพูดเปะปะ เปะปะกันซะจนเอาความหมายไม่ได้ ถ้าทำหน้าที่รู้จักว่าอะไรเป็นอะไร ก็เรียกว่า วิญญาณ ถ้าทำหน้าที่รู้สึกคุณค่าสุข ทุกข์ รู้สึก( เสียงหาย ๒๘ :๑๕.๘ -๒๙ :๒๔.๓ )เรียกว่ามโน ถ้าทำหน้าที่ คิด คิด หรือปรุงแต่ง เป็นเรื่อง เป็นราวไป นี่เรียกว่าจิต แต่มันก็คือ ธาตุ ธาตุ ธา-ตุเดียวกันนั่นแหละ คือธาตุใจ หรือธาตุวิญญาณ หรือนามธาตุ หรือเรียกว่าธาตุใจ เมื่อมาทำหน้าที่รู้จักสิ่งต่างๆ เรียกว่า วิญญาณ มาทำหน้าที่รู้สึกสิ่งต่างๆลึกลงไป เรียกว่า มโน เป็นรับความรู้สึก ถ้าทำหน้าที่ คิดก็เรียกว่า จิต ทำหน้าที่ทาง consciousก็ เรียกว่า วิญญาณ ทำหน้าที่ทาง percept หรือ feeling ก็เรียกว่า มโน ทำหน้าที่ทางคิดหรือ concept , conception conceive conceiveแปลว่าตั้งครรภ์ คำเดียวกันน่ะ มันความคิด นี่ก็เรียกว่าจิต รู้จัก รู้สึก และรู้คิด จิตนี่เป็นได้อย่างนี้ ไม่ต้องมีอัตตา ไม่ต้องเป็นอัตตา ไม่ต้องเป็นอาตมัน ไม่ต้องเป็นเจตภูต ไม่ต้องเป็นวิญญาณ มันทำหน้าที่ของมันได้อย่างนั้นเอง ทีละขันธ์ มันทำหน้าที่ของมันได้อย่างนั้นเอง ดูคล้ายกับว่ามันเป็นอัตตา เพราะว่ามันทำอะไรได้ประหลาด แต่มันไม่ต้องเป็นอัตตา มันทำของมันได้อย่างนั้นเอง รูปทำหน้าที่รูป เวทนาทำหน้าที่เวทนา สัญญาทำหน้าที่สัญญา percept perceive สังขารทำหน้าที่สังขาร คิดนึก conceiveเป็นวิญญาณ ทำหน้าที่conscious ( เสียงหาย ๓๑ :๒๓.๗- ๓๑ :๒๘.๘ )รู้จัก รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่าเห็นเป็นคำน่าหัวเราะเยาะของยายแก่ ตาแก่คร่ำวัด มันเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตตลอดสาย ตั้งแต่เด็กเล็กคลอดมาจากท้องแม่ มันก็มีไอ้สิ่งทั้ง๕นี้ทำงานไปตามหน้าที่ของมัน เรียกว่าขันธ์๕ อย่าเห็นเป็นเรื่องบ้าๆบอๆ ไม่รู้มันอยู่ที่ไหน ถ้าเป็นเรื่องทำล้อกันเล่น พอได้ยินเข้าก็เป็นเรื่องที่ว่าน่าล้อกันเล่น แต่ที่จริงมันเป็นเรื่องตัวเอง ตัวเอง ตัวเองซึ่งมิใช่อัตตา เป็นขันธ์ทั้ง๕ เป็นอนัตตา แต่มันมีทำให้เกิดความรู้สึกว่าอัตตา คนตามปกติสามัญมันก็ต้องคิดว่าเป็นอัตตา เพราะมันรู้สึกได้ เพราะมันรู้จักได้ เพราะรู้สึกต่อความหมายใดๆได้ เพราะมันคิดนึกได้ เพราะมันเห็นแจ้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ได้ มันมีความรู้สึกได้ ถ้าไม่เป็นอัตตาจะรู้สึกได้อย่างไร ก็ถูกแล้วก็เป็นอัตตาตามประสาเด็กๆ
นักปรัชญาฝรั่งเศสที่ชื่อเดสก้า เดสก้า ตัวหนังสือมันอ่านว่า เดสการ์ดนั่น คงจะผ่านสายตามาแล้วถ้าเรียนปรัชญา สองสามร้อยปีมาแล้วนายคนนี้เขาบัญญัติขึ้นมาตามความเชื่อของเขาว่า ฉันคิดได้นี่ ฉันคิดได้ รู้สึกได้ ฉะนั้นฉันต้องมีอยู่ คนทั้งหลายรับเอา เชื่อกันเลย เป็นผู้ฉลาด วิเศษ เดสก้านี่ นี่หัวข้อของเขาเป็น เป็นละตินว่า เกอกีเติ้ล เออเกิ้ลซัม ( ภาษาละติน ๓๓ :๓๒.๐๘ - ๓๓ :๓๕ .๓ ) ฉันคิดได้ ดังนั้นฉันมีอยู่ ไอ้ความโง่อย่างนี้สองสามพันปีครั้งพุทธกาล เขาก็มีแล้ว เขาคิดกันมาแล้ว รู้กันแล้ว นายคนนี้เพิ่งมาพูดเมื่อสักสองสามร้อยปีมานี้ ไม่ได้วิเศษอะไร ก็รู้สึกได้ตามสัญชาตญาณของคนทั่วไป รู้สึกได้ คิดนึกได้ และทำอะไรได้ก็ต้องมีตัวตนซิ แต่พุทธศาสนามาสอนว่า มันก็ทำได้ตามแบบของมัน แต่ละขันธ์ ละขันธ์ ละขันธ์ทำได้ ไม่ต้องเป็นตัวตน จะต้องเข้าใจให้ดี ถ้าเข้าใจว่ามันเป็นตัวตน เป็นตัวตน ทำทำได้เพราะมีตัวตน ก็เป็นลัทธิอื่น เป็นลัทธิฝ่ายฮินดู ฝ่ายเขาเรียกว่าลัทธิ เว เวดันตะอุปปะนิสสะ เวดันติ อุปปะนิสสะ (ภาษาบาลี ๓๔ :๒๑ .๕ - ๓๔ :๒๗ .๙ ) ลัทธิอุปนิสสะ สูงสุดของฮินดู เขาคิดอย่างนั้น เขาเชื่ออย่างนั้น เขาถืออย่างนั้น ว่ามีอัตตา อัตตา อัตตานี้สูงขึ้น สูงขึ้น จนเป็น บรมมาตตา นิรันดร แล้วก็จะคิดอย่างนั้น อาจจะเชื่ออย่างนั้น อาจจะได้รับคำสอนอย่างนั้น ถ้ารู้อย่างนั้นก็รู้แต่ว่า มันมิใช่อัตตาดอก มันเป็นไอ้สิ่งที่มันรู้สึกทำหน้าที่ได้ ทำหน้าที่ของมันเอง เรียกอย่างเราเรียกก็เรียกว่า ทำหน้าที่ของขันธ์แต่ละขันธ์ รูปขันธ์สามารถทำหน้าที่อย่างรูป เวทนาทำหน้าที่อย่างเวทนา สัญญาทำหน้าที่อย่างสัญญา สังขารอย่างสังขาร วิญญาณอย่างวิญญาณ ๕คำนี้จำไว้ให้ดีเถอะ จะได้ลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์สูงสุดทางจิตใจก็ได้ แม้จะเป็นเรื่องรูปกายนี่ ความหมายมันลึกไปในทางจิตใจ ไม่ใช่ทางวัตถุล้วนๆอย่างไอ้ธาตุทางเคมีที่เราเรียนในห้องเรียนของเรา มันวัตถุเกิน มันมีกาย นี่มันวัตถุที่เนื่องกันอยู่กับความรู้สึกซึ่งมีจิตใจ เพราะมันมี nerve system สำหรับรู้สึกได้ด้วยกายล้วนๆ มันก็รู้สึกได้ เอาละ ให้รู้จัก รู้จักว่าชีวิตนี้ประกอบอยู่ด้วยส่วนทั้ง ๕นี้ เรียกว่า ขันธ์ ๕ แต่ละแต่ละขันธ์ ละขันธ์ทำหน้าที่ของมันได้โดยไม่ต้องเป็นอัตตา หรือ หรือไม่ หรือไม่ต้องมีอัตตามาประจำอยู่ที่ขันธ์แต่ละขันธ์
นี้ทางธรรมะเราพูดตัดบท เลยว่า ขันธ์ทั้ง๕ เป็นอนัตตา ไม่มีขันธ์ไหนที่จะเป็นอัตตา แต่ความรู้สึกของคนธรรมดาสามัญที่ยังไม่รู้ มันจะรู้สึกว่าเป็นอัตตา ขันธ์๕เป็นอัตตา ( เสียงหาย ๓๖ :๑๗.๖ - ๓๖ :๓๗.๒ )ต่อคนที่ไม่รู้ แต่ขันธ์๕ เป็นอนัตตาสำหรับคนที่มีความรู้ รู้แล้วอย่างพุทธศาสนา ถ้ารู้เป็นอย่างอื่น ขันธ์ ๕เป็นอัตตา มันก็เป็นศาสนาอื่นไม่ใช่พุทธ แต่ถ้าปล่อยไปตามสัญชาตญาณ ความรู้สึกอย่างที่มันมีตามสัญชาตญาณ มันจะรู้สึกเป็นอัตตา ไอ้นี่มันสำคัญ ถ้าเราจะเอาตามความรู้สึกของเราแท้ๆ มันจะรู้สึกเป็นอัตตา โดยไม่ต้องมีใครมาสอน มีดบาดนิ้วอย่างนี้ มันก็พูดว่ามีดบาดกู เอากูมาแต่ไหน กูนี่เป็นอัตตา มีตัวตนขึ้นมา เด็กๆเดินไปชนเก้าอี้ มันก็ว่า เก้าอี้นี้มันเป็นข้าศึกของกู คือเป็นตัวตนฝ่ายตรงกันข้าม ก็เตะเก้าอี้ ฝ่ายนี้ก็คืออัตตา ฝ่ายโน้นก็คืออัตตา แล้วทำอันตรายกันด้วยความโง่ อย่างนี้จะมีได้ ก็เคยมีมาแล้วก็ได้ หรือความโง่มันโกรธอะไรขึ้นมา มันก็ทุบ ทำลาย ขว้าง เขวี้ยง ขว้างแก้วน้ำ ขว้างจาน ถ้วยจาน ชามก็ได้ เพราะมันไม่พอใจ ด้วยความโง่เห็นเป็นอัตตาที่เป็นข้าศึกต่อกู ถ้ารู้สึกเป็นอัตตามันเกิดได้อย่างนี้
ทีนี้มันมีเรื่องที่ต้องพูดต่อไปก็คือว่า เพราะมันมีความรู้สึกอย่างนี้ เพราะมันมีความรู้สึกว่ามีอัตตาอย่างนี้ มันจึงเกิดความรู้สึกที่เป็นทุกข์ มันต้องยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นอัตตา อัตตาอย่างนี้ แล้วก็เป็นอัตตาของกู รักใคร่หวงแหนยึดถือร่างกายนี้ว่า ของกู เวทนาที่รู้สึก สุข ทุกข์ก็ของกู สัญญาที่หมายมั่นอะไรว่าเป็นอะไรได้ก็เป็นของ เป็นตัว เป็นของกู เป็นตัวกู สังขารคิดนึกได้ จิตที่คิดนึกได้ มันก็เป็นตัวกู วิญญาณที่รู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจก็เป็นตัวกู ตัวกู ออกไปรู้ คนแต่โบราณเขาสอนผิดๆกันมา เขาสอนต่อๆกันมาจากความคิดเดิมของพวกอื่น พวกฮินดู มีอัตตา มีตัวตนอยู่ตรงกลางนี่ เดี๋ยววิ่งออกไปทางตาสำหรับเห็นรูป เดี๋ยววิ่งออกไปทางหูสำหรับได้ยินเสียง เดี๋ยวไปหยุดอยู่ทางลิ้นสำหรับรู้รส เดี๋ยววิ่งออกไปทางจมูกสำหรับรู้กลิ่น เดี๋ยววิ่งไปทางผิวหนังทั่วไปสำหรับรู้สึกผิวหนัง เดี๋ยวก็คิดนึกอยู่ในใจนี่สำหรับมีตัวตนอย่างนี้ เราไมได้ถืออย่างนี้ พุทธศาสนาหรือชาวพุทธไม่ถืออย่างนั้น เราถือว่าอวัยวะเหล่านั้นน่ะมันมีความรู้สึกได้โดยที่ไม่ต้องมีตัวตน ไม่ต้องมีวิญญาณ ไม่ต้องมีเจตภูต ไม่มีอะไรบ้าๆ บอๆ ถ้าจะไปบัญญัติว่าถ้ารู้สึกได้ก็ต้องมีตัวตน ไอ้หญ้าบางชนิดก็มีตัวตน หญ้ามัยราพ หญ้าอะไรที่ไปถูกเข้าแล้วหุบ ก็ต้องมีตัวตนไปด้วย หรือปะการังบางชนิดไปถูกเข้าแล้วก็หุบ มันก็มีตัวตน ชีโวอาตมัน(เสียงไม่ชัด ๔๐ :๑๔.๕ )อันไปด้วย มันไม่ต้อง มันไม่ต้อง มันมีความรู้สึกได้โดยที่ไม่ต้องมีตัวตน เพราะฉะนั้นทั้ง๕ขันธ์ ทำหน้าที่ตาม หน้าที่ของมันได้โดยไม่ต้องเป็นตัวตน เมื่อใดเห็นว่าเป็นตัวตน มันก็มีของตนขึ้นมาด้วยกัน หมายมั่นว่านี้เป็นตัวตน ตัวตนนี้เป็นของกู อัตตารู้สึกว่าเป็นตัวตน อัตนียาเนื่องด้วยตน นี่รู้สึกว่าของตน คำบาลีมีอยู่๒คำ อัตตา ตัวตน อัตนียา เนื่องด้วยตนคือของตนนั่นแหละ พระพุทธเจ้าตรัสว่า " ยํ โลโก สุญโญ อตเต โนวา อตนีเย โนวา " (ภาษาบาลี ๔๑ :๐๖.๖ ) โลกนี้ว่างจากตัวตนคืออัตตา ว่างจากอัตนียาคือของตน ไม่มีความหมายแห่งตัวตน ไม่มีความหมายแห่งของตน หรือของใครอยู่ในโลกนี้ แต่เราไม่เห็นอย่างนั้น เรารู้สึกว่าไอ้นี่ตัวตนของกู ตน ตัวตนกู ข้างนอกนี่ก็ทรัพย์สมบัติของกู อะไรก็ของกู เป็นของกู มีตัวกู มีของกู อย่างนี้ก็เรียกว่าอุปาทาน อุปาทาน คำนี้แปลว่ายึดมั่นถือมั่นด้วยความโง่ อุปาทาน ยึดมั่นถือมั่นด้วยความโง่ว่าตัวตน ของตน แต่มีอีกคำหนึ่งซึ่งคล้ายกันมากและอย่า อย่าเอาไปปนกัน คือคำว่าสมาทาน สมาทาน แปลว่าถือเอาอย่างดี สมาทานถือเอาอย่างดี เช่นเราสมาทานศีล สมาทานธรรม สมาทานข้อวัตรปฏิบัติ คำว่าสมาทานอย่างดีนี่ ถือเอาอย่างดีนี่ใช้ได้ แต่ถ้าถือเอาด้วยความโง่ เป็นตัวกู เป็นของกู เรียกว่าอุปาทาน ใช้ไม่ได้ มันมัวแต่ถือของหนัก ถือของหนัก อะไรก็ตามใจถ้าหยิบขึ้นมาถือ มันก็หนักทั้งนั้น แม้แต่มือเฉยๆ ถ้าถือชูอยู่นี่ มันก็หนัก มีอุปาทานที่ไหนก็มีของ มีความหนักที่นั่น นี่ไอ้ความหนักน่ะมันเป็นตัวทุกข์ เพราะมันต้องถืออยู่ หมายมั่นอยู่ และกอดรัดอยู่ มันก็เกิดเป็นการทรมานขึ้นมา เพราะหิ้วของหนักอยู่ ไอ้สวดมนต์เมื่อตะกี้สวดบท พารา หะเว ปัญจัก ขันธา หรือเปล่า ขันธ์ทั้ง๕ที่พูดมานี้มันเป็นของหนักในเมื่อไปยึดถือว่าตัวกู หรือของกู ไอ้มนต์บทที่สวดนั้นน่ะมีความหมายลึกมาก ให้พยายามเข้าใจ มันมีของหนัก มาถือไว้มันก็หนัก หนักก็ทรมาน
ทีนี้ถ้าว่ามันเกิดความรู้สึก ขัดใจ ถูกใจอะไรมันก็ไปอีกอย่าง มันเป็นเรื่องหลงรักบ้าง ผูกพัน เหนียวแน่นบ้าง อย่างนี้ก็เป็นความทุกข์ทั้งนั้น บางทีก็เผาลนจิตใจ มองดูให้ดีที่เรียกว่าความทุกข์น่ะ มันมีลักษณะว่ามันหนัก ก็ต้องทนอยู่กับของหนัก มันก็ทรมาน ถ้ามันเกิดความรู้สึกรุนแรง มันก็เผา เผาด้วยความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัวอะไรมัน แล้วความโง่อันนี้มันท่วมทับจิตใจเหมือนกับน้ำท่วม ลำบากเท่าไร มันเที่ยวผูกพันให้ติดอยู่กับสิ่งนี้ แยกกันไม่ได้ เช่นคู่รัก ของรักนี่มันก็ผูกพันอย่างนี้ ก็เป็นการทรมาน แล้วมันก็มีอาการครอบงำ สูญเสียอิสรภาพ เสรีภาพ ถ้าพวกเธอนักอะไร ปฏิวัติ ชอบ ชอบต่อสู้เพื่อเสรีภาพ อิสรภาพ ระวังให้ดี มันเป็นเสรีภาพเปลือก เปลือกนอก เช่นนักปฏิวัติพวกเข้าป่า ต่อสู้กันนัก หารู้ไม่ว่าเรากำลังเสียเสรีภาพอยู่ข้างใน เป็นทาสแก่กิเลส แก่ความทุกข์ ถ้าเป็นชาวพุทธต้องรู้จักต่อสู้เพื่อส่วนนี้ อิสรภาพ เสรีภาพ ภายในจิตใจที่สูญเสียไปแล้ว เพราะมีความทุกข์
อาการที่ยึดมั่นถือมั่นให้เกิดความรู้สึกเป็นบวก เป็นลบ ไอ้ความรู้สึกที่เป็นบวกคือ น่ารัก น่าพอใจ มาถูกกับจิตใจ มันก็จะเกิดความรู้สึกทันทีว่า กู พอใจ กู ยินดี นี่ตัวกูนี่เพิ่งเกิดเมื่อของถูกใจมากระทบกับจิตใจ จิตใจจึงเกิดตัวกูฝ่ายบวก อยากจะได้ อยากจะเอา อยากจะมี อยากจะยึดครอง อยากจะอยู่ด้วยกัน แต่ถ้ามันเป็นส่วนที่ไม่ชอบ เจ็บปวด ไม่น่ารักเข้ามา มันก็เกิดตัวกูที่ลบ ตัวกูลบ ไอ้ตัวกูนี่มันก็จะทำลาย มันก็จะฆ่า มันก็จะผลักออกไป ความรู้สึกอย่างนี้เรียกว่ากิเลส เป็นประเภท บวก ฝ่ายบวก จะเอาเข้ามา กอดรัด ยึดถือ นี่เรียกว่า โลภะ ความโลภก็มี เรียกว่าราคะ ความกำหนัดก็มี นี่ถ้ามันเป็นฝ่ายลบ มันก็จะประทุษร้าย ทำลาย เรียกว่า โทสะก็มี เรียกว่า โกธะก็มี แต่ถ้ามันยังไม่แน่ว่าบวกหรือลบ มันก็อยู่ด้วยความสงสัย พัวพันเหมือนกับวิ่งตามอยู่ เรียกว่า โมหะ
กิเลสมีมากมายโดยรายละเอียด หลายร้อย หลายพัน แต่ถ้าโดยใจความสำคัญ แล้วมันก็จะมีสามเท่านั้น คือ โลภะ โทสะ โมหะ ลักษณะที่เป็นบวก เป็น positive เป็นบวก มันจะเอา มันจะดึงเข้ามา จะดึงเข้ามาแล้วกอดรัดไว้ เป็นที่สองมันเป็น negative มันเป็นลบ มันก็จะฆ่า มันก็จะทำลาย คือผลักออก อันนี้ push อันนี้ pull เข้ามา อันนี้ push ออกไป แต่ถ้ามันไม่แน่ว่าเป็นบวก เป็นลบ มันก็ไม่รู้จะทำอย่างไร มันก็จะวิ่งอยู่รอบๆ ติดตามอยู่รอบๆ เมื่อใดจิตใจของเราดึงอะไรเข้ามา อันนั้นเป็นกิเลสประเภท โลภะ โทสะเมื่อใดจิตใจมันไม่ชอบ มันผลักออกไป มันจะตีเสีย จะฆ่าเสียให้ตาย แล้วมันก็เป็นประเภท โทสะ หรือ โกธะ เมื่อใดมันไม่แน่ว่า positive หรือ negative แต่มันปรุงแต่ง ว่าจะต้องมีประโยชน์ มันก็วิ่ง วิ่งตาม วิ่งอยู่รอบๆ อาการอย่างนี้ เราก็เรียนกันในวิชาวิทยาศาสตร์ ดึงเข้ามา ผลักออกไป แล้วก็วิ่งอยู่รอบๆ กิเลสมีอยู่กี่ร้อยชนิดก็ตาม มารวมกันได้๓ อย่างนี้เท่านั้น แล้วคิดดูเถอะว่ามันสนุกเมื่อไร ดึงเข้ามาก็ตาม ผลักออกไปก็ตาม วิ่งอยู่รอบๆก็ตาม มันเหนื่อยทั้งนั้นแหละ เพราะฉะนั้นอย่าโง่จนถึงกับเกิดอาการอย่างนี้ ดูให้รู้ว่ามันเป็นอะไร มันเป็นอะไร ก็จัดการให้ถูกเรื่อง ถูกราวตามที่ควรจะจัด เมื่อไม่ควรก็จะไปเหนื่อยกับมันทำไม อยู่เฉยๆ แต่ถ้าต้องจัดก็จัดให้ถูก อย่าไปเที่ยววิ่งตาม อย่าไปเที่ยวผลัก อย่าเที่ยวดึง ไม่ ไม่ ไม่ ทั้งนั้น ไม่บวก ไม่ลบ นั่นแหละจะเป็นความไม่ทุกข์ ไม่เป็นทุกข์ ข้อนี้มันคงจะแปลกสำหรับพวกเธอที่ หรือคนทั่วไปที่มันเรียนมาเรื่องสุข เรื่องทุกข์ มันรู้จักเท่านั้นแหละ มันมี มันรู้จักเรื่องดึงเข้ามา หรือผลักออกไป มันไม่เรียนรู้เรื่องอยู่เฉยๆเลย เพราะฉะนั้นเราจึงต้องมีจิตใจที่ขึ้นลง ขึ้นลง บวกลบ บวกลบ อยู่เรื่อย มีผลออกมาเป็นไอ้ความรู้สึกที่รุนแรง
จะพูดให้ฟังอีกที ช่วยจำไว้ให้ดีๆ ไอ้เรื่องความรู้สึกที่รุนแรง เลวร้าย ความรัก ความโกรธ เสียแต่โกรธเป็นความไม่ค่อยจะรัก โกรธ เกลียด กลัว เป็นคำๆ รัก โกรธ และเกลียด และกลัว และตื่นเต้น ตื่นเต้น exciteนั่นแหละ แล้วก็วิตกกังวล แล้วก็อาลัยอาวรณ์ แล้วอิจฉาริษยา ถ้าเขียนตามบาลีเขียน ริษยาคำเดียวก็พอ แต่ภาษาไทยมันบวกเข้าไป อิจฉาริษยา ริษยาเหมือนกับหวง แล้วก็หึง ความหวงเมื่อเข้มข้นๆสุดเหวี่ยง มันกลายเป็นความหึง เท่านี้ก็พอ พอที่จะเป็นตัวอย่างว่า เผาลนจิตใจอย่างไร ทรมานจิตใจอย่างไร ผูกมัดจิตใจอย่างไร ทำลายอิสรภาพเสรีภาพอย่างไร
รักเป็นความบ้าชนิดหนึ่ง ถ้าเป็นกามารมณ์ก็บ้าวูบเดียวอย่างรุนแรง โกรธก็บ้าชนิดหนึ่ง ผลักออก ความรักนีว่าดึงดูดเป็น pull ความโกรธก็เป็น push ความเกลียด นี่เกลียด มันเกลียดได้ แม้แต่ไม่มีความหมายมันก็เกลียดได้เมื่อไม่ถูกอารมณ์จิตใจ แล้วมันก็เอามาเกลียดได้ โกรธเป็นไฟเผา และกลัว กลัว คงจะรู้จักกันดีว่าเคยกลัวอะไรบ้าง แล้วก็ตื่นเต้นๆ อยากจะหาอะไรมาทำจิตใจให้ตื่นเต้น บางทีต้องลงทุนไปซื้อหามาให้มันตื่นเต้น เสียสตางค์ไปดูมวย เสียสตางค์ไปดูฟุตบอล เสียสตางค์ไปดูกายกรรมให้มันตื่นเต้น ตื่นเต้น มัน ความรู้สึกที่ตื่นเต้นน่ะมันแปลก มันเพลิดเพลิน มันทำให้หลง แล้วเราก็เสีย เสียเงินเสียทองกันมากเข้าไปอีก สร้างความตื่นเต้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แม้ดนตรีที่ไพเราะมองด้านหนึ่งก็คือความตื่นเต้น อาศัยทางหู บางทีก็เสียเวลาเหลือประมาณ แพงเหลือประมาณ
ทีนี้ก็วิตกกังวล สิ่งที่ยังไม่มาถึง ชีวิตอยู่ด้วยความ ความหวังบ้าๆ บอๆ อย่าไปเชื่อตาม และจะมาจากพวกฝรั่ง ชีวิตอยู่ในความหวัง วิตกกังวล วิตกกังวล แล้วเราจะมีชีวิตอยู่ด้วยสติปัญญา อย่าไปหวังให้มันกัดหัวใจ คิด คิด ว่ามันจะต้องทำอย่างไร ก็ทำอย่างนั้นโดยไม่ต้องหวัง ทำไป ทำไปโดยไม่ต้องหวัง ทำไปให้ถูกต้อง แล้วผลมันออกมาเอง ไปหวังให้มันกัดหัวใจตลอดเวลาทำไม เรื่องนี้ในอุปมาในบาลีก็มี เหมือนกับแม่ไก่ ไก่ฟักไข่ ฟักให้ถูกต้อง ในลักษณะที่ถูกต้อง กำหนด ถึงกำหนดมันก็ออกมา ดูเหมือนจะ ๒๗ วันไข่ก็เป็นตัว แม่ไก่ไม่ต้องหวังว่าลูกออกมา ลูกออกมา ลูกออกมา จะมีชีวิตอยู่ในความหวังน่ะมันบ้า ทำด้วยสติปัญญา ให้มันถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง ๒๗ วันลูกไก่ก็ออกมา ถ้าไปหวังเดี๋ยวมันก็เป็นแม่ไก่บ้าเท่านั้นแหละ ที่มันสอนให้มีชีวิตอยู่ด้วยความหวังน่ะ ไม่ใช่พุทธศาสนา พุทธศาสนายังสอนว่ามีชีวิตด้วยปัญญา ด้วยปัญญา คิดถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ดำเนินไปโดยถูกต้อง แล้วผลมันก็ออกมาเอง ไม่ต้องหวังให้มันกัดหัวใจ ถ้ามันอยู่ด้วยความหิว หิว หิว ที่จะได้ผลน่ะ มันเป็นเปรตชนิดหนึ่ง เปรต เปรต คำนี้มีความหมายแห่งความหิว อย่าไปหิวให้เป็นเปรตเลย ทำให้มันถูกต้อง ทำให้มันถูกต้อง แล้วผลมันก็ออกมา นี่เราอยู่ด้วยความวิตกกังวลจนเป็นบ้า ฆ่าตัวตายไปเสียก็มาก ป่วยการ นี่วิตกกังวลมัน กัดเผาอย่างนี้
ทีนี้อาลัยอาวรณ์ ข้อต่อไปอาลัยอาวรณ์ สิ่งที่ล่วงไปแล้ว เอามานั่งอยู่นั่นน่ะ เอามานั่งอยู่นั่นน่ะ ความรักบ้าๆบอๆอะไรของมันก็ไม่รู้ แล้วมันก็ไม่รู้จักตัดขาดไปจากจิตใจเสียที เรียกว่าอาลัยอาวรณ์ มันเผาเท่าไร มันทรมานจิตใจเท่าไร มันทำลายเสรีภาพเท่าไร
ทีนี้ก็มาถึงอิจฉาริษยา อิจฉาแปลว่าความอยาก ริษยาแปลว่าความไม่ยินดีด้วย ไม่อยากให้ใครได้ดี ภาษาไทยเราเอามารวมเรียกกันว่าอิจฉาริษยา เอาแต่ริษยาก็พอ เกลียดคนที่จะมาดีเท่า หรือดีกว่า ยังโง่จนถึงกลัวไปล่วงหน้าว่า มันจะมีคนดีเท่าหรือดีกว่า ริษยาแม้ล่วงหน้าก็มี ริษยาเฉพาะหน้าก็มี ไอ้ริษยานี่มันเหลือเกิน พอเรานึกริษยาใครเท่านั้นแหละ ไอ้ความริษยาน่ะมันเผาเราทันที ผู้โน้นยังไม่รู้สึก ไม่รู้สึกอะไรเลย ผู้ที่เราอิจฉาเขา ริษยาเขา ไม่รู้สึก นอนหลับไม่รู้สึก แต่ผู้ริษยานี่มีไฟอยู่ในจิต ตลอดเวลาที่ริษยา มันเผา มันทรมานใจ มันสูญเสียความสงบแห่งใจ สูญเสียเสรีภาพแห่งใจ นี่อาลัยอา ริษยามันเป็นอย่างนี้
หวง หวง ทีนี้มันเป็นความหวง เห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัว ไม่อยากจะช่วยเหลือใคร ไม่อยากจะมีเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย หวงไว้คนเดียว หวง หวงกั้นเอาไว้คนเดียว มันก็มีอาการ สะสม กอบโกยขึ้นมาไม่ทันรู้ มันน่าเกลียดที่สุด ทีนี้ถ้ามันเข้มข้นด้วยเรื่องทางเพศ ระหว่างเพศ แล้วนี่มันกลายเป็นความหวงที่รุนแรง เรียกว่าความหึง มันฆ่ากันตาย มันทำสงครามวินาศกันครึ่งโลกก็เคยมีแล้วเรื่องความหึง ไอ้นี่เป็นตัวอย่างไม่กี่คำ เอาไปศึกษาเถอะจะรู้ธรรมะ จากความรู้สึกที่มันมีอยู่ในจิตใจของเรา นี่เรียกว่าความทุกข์
ความทุกข์ และผลของความทุกข์ มันยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทานว่าตัวเรา ว่าของเรา มันจะเกิดอาการเหล่านี้ มีความยึดว่าตัวเรา ของเรามันเกิดกิเลสไอ้ ๓ ประเภทนั่นแหละ ดึงเข้ามา ผลักออกไป แล้ววิ่งอยู่รอบๆนี่ มันเกิดกิเลสแล้วมันก็รู้สึกหรือกระทำไปตามกิเลส แม้แต่อาการอย่างที่ว่ามา รัก โกรธ เกลียด กลัว ตื่นเต้น วิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยา หวง หึง เหล่านี้เป็นความทุกข์ ซึ่งคนโง่สมัคร รับเอามาด้วยความยินดี มันเห็นกงจักรเป็นดอกบัว ไอ้พวกบ้ารักก็ว่ารัก บ้าโกรธ บ้าเกลียด บ้ากลัว บ้าหลง บ้าตื่นเต้น รับเอามาสำหรับกัดหัวใจมันเอง ใครเป็นอย่างนี้เราเรียกว่าเขามีชีวิตชนิดที่กัดเจ้าของ หมาตัวไหนกัดเจ้าของบ้าง มันไม่มี แต่ว่ากิเลสที่มีแล้วมันกัดเจ้าของ กิเลสตัวไหนก็ตามถ้ามีแล้วมันกัดเจ้าของ ยังมีชีวิตชนิดที่กัดเจ้าของกันอยู่แล้วก็ขอให้สนใจเถอะว่า ต้องการธรรมะ ต้องการธรรมะไปปรับปรุงเสียใหม่ ไปแก้ไขกวาดล้างกันเสียใหม่ ให้ชีวิตนี้ไม่กัดเจ้าของ มีแต่ความรู้สึกว่าถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง พอใจ พอใจ ถูกต้องไม่กัดเจ้าของ ชีวิตที่ยังกัดเจ้าของ เป็นชีวิตของคนโง่ จัดการกับมันไม่ถูกต้อง มันเลยกัดเจ้าของ สมน้ำหน้ามัน พูดหยาบคายอย่างนี้ สมน้ำหน้ามัน ที่มันไม่รู้จักจัดให้ถูกต้อง ชีวิตก็เลยกัดเจ้าของ ความรักก็กัดเจ้าของ ความโกรธก็กัดเจ้าของ ความเกลียดก็กัดเจ้าของ ความกลัวก็กัดเจ้าของ ความตื่นเต้นก็กัดเจ้าของ วิตกกังวลกัดเจ้าของ อาลัยอาวรณ์กัดเจ้าของ ริษยากัดเจ้าของ หวงหึงยิ่งกัดเจ้าของ นี่ชีวิตชนิดที่กัดเจ้าของ
เราบอกพวกฝรั่งที่มา มานี่ว่า ธรรมะจะช่วยอย่างนี้ แล้วเขาก็ชอบใจว่าชีวิตที่นี่ไม่กัดเจ้าของ นี่เป็นชีวิตที่เขากำลังแสวงหาอยู่ เที่ยวรอบโลก รอบโลก แต่เขาไม่รู้ว่าอะไร เขาไม่รู้จะเรียกว่าอะไร บางคนเรียกว่า ตัวเองที่ยังไม่พอใจตัวเอง ที่ยังไม่รู้สึกว่าเป็นที่พอใจ เขากำลังจะเที่ยวหาตัวเองที่น่าพอใจ เลยมาศึกษาพุทธศาสนา มาทำสมาธิ วิปัสสนาเพื่อจะได้ตัวเองที่น่าพอใจ ก่อนนั้นเขาบ่นแต่ว่า หาตัวเองไม่พบ หาตัวเองไม่พบ มีแต่ที่ไม่น่าพอใจทั้งนั้นแหละ ไอ้ที่น่าพอใจไม่รู้อยู่ที่ไหนหาไม่พบ มาศึกษาพุทธศาสนานี่ จะมาหาตัวเองที่น่าพอใจ พวกฮิปปี้น่ะไม่ใช่คนโง่มันต้องการแสวงหาตัวเองที่ดีกว่าที่มีอยู่ มันจึงทะลุลานกว้าง(เสียงไม่ชัด ๑ :๐๑ :๑๕.๔ )ออกไปเป็นฮิปปี้ในลักษณะต่างๆ เพราะชีวิตที่มีอยู่ไม่เป็นที่ ที่พอใจ ต้องหาที่น่าพอใจยินดีกว่า ฉะนั้นจงรู้ไว้เถอะว่าถ้ามันไม่เป็นที่พอใจมันก็ไม่หยุด ไม่หยุดความอยาก มันอยาก หิวเรื่อยไป เป็นเปรตเรื่อยไป ตายแล้วตายอีกก็เป็นเปรต ตลอดเวลา ด้วยอำนาจอุปาทานยึดมั่น ถือมั่น(เสียงหายไป ๑ :๐๑ :๓๗.๔ - ๑ :๐๑ :๔๘.๑ )ขันธ์๕ เป็นตัวตนบ้าง เป็นของตนบ้าง แล้วก็เห็นแก่ตัว แล้วก็เกิดกิเลส แล้วก็มีความทุกข์อย่างที่ว่ามาด้วยอาการสิบกว่าอย่างนี้
เอาละเป็นอันว่า ถ้ามีความรู้สึกเป็นตัวตน มันก็จะเอา มันก็จะเกิดความรู้สึกเอา ก็เป็นบวก พอไม่ได้อย่างที่มันอยากจะเอา มันก็เป็นลบ มันก็ทรมานอยู่ด้วยความเป็นบวก เป็นลบ ดีใจ เสียใจ ดีใจ เสียใจ ชอบใจ ไม่ชอบใจ หัวเราะ ร้องไห้อยู่อย่างนี้ ที่เป็นภาษาวิทยาศาสตร์ เราเรียกว่า positive เมื่อถูกใจ negative เมื่อไม่ถูกใจ คือ เป็นบวกและเป็นลบ ภาษาบาลีแท้ๆเขาใช้คำว่า อภิชฌาและโทมนัส อภิชฌาคือความรู้สึกที่เป็นบวก จะเอา pulling โทมนัส ไม่ชอบ pushing นี่มันมีอยู่เป็นบวกและเป็นลบ เมื่ออยู่ใต้บวก ใต้ลบอย่างนี้ ก็เป็นชีวิตที่ทนทรมาน ขอให้มีความรู้แจ่มแจ้ง ไม่ไปหลงบวก ไม่ไปหลงลบ ไม่ไปสร้างตัวตนอะไรขึ้นมา แม้แต่ชีวิตนี้ก็ไม่ไปโง่ ไปหลงว่า เป็นตัวกู หรือ เป็นของกู มันเป็นของที่เป็นไปตามธรรมชาติ เป็นไปตามกฎเกณฑ์แห่งอิทัปปัจจยตา ซึ่งเป็นเรื่องที่ลึกที่น่าศึกษาอีกเรื่องหนึ่ง เรียกว่าอิทัปปัจจยตา ไปหาศึกษาดูเถอะ ถ้ามองเห็นตามที่เป็นจริงตามอิทัปปัจจยตา แล้วจะไม่เกิดความรู้สึกว่าเป็นตัวกู ของกู มันก็ไม่เกิดบวก เกิดลบ มันก็ไม่มีการทนทุกข์ทรมาน
นี่จงรู้ให้ดีว่า อัตตาน่ะมันมากเกินไปมีตัวกูเต็มที่ นิรัตตาไม่มีตัวกูเสียเลย นี่ก็เต็มที่ อยู่ตรงกลางเป็นอนัตตา ตัวตนซึ่งมิใช่ตัวตน ตัวตนซึ่งมิใช่ของกู ตัวตนตามความรู้สึกของสัญชาติญาณ พูดจากันอยู่เป็นตัวกูทั้งนั้น แม้แต่พระพุทธเจ้าเองท่านก็ตรัสเป็นอาหารเหมือนกันแหละ มีตัวตนเหมือนกันแหละ แต่ว่าตัวตนซึ่งมิใช่ตัวตน เรียกว่า อนัตตา อนัตตา แล้วจะไม่มีความทุกข์ ถ้าอัตตาก็มีความทุกข์แบบมี แบบบวก ถ้านิรัตตาก็มีความทุกข์แบบลบ แบบขาดอย่างยิ่งอยู่ ขาดแคลนอย่างยิ่งอยู่ตลอดเวลา เราไม่เป็นบวก เราไม่เป็นลบ เราอยู่เหนือบวก เหนือลบ ด้วยความรู้เรื่อง อนัตตา ไม่เอาอะไรมาเป็นตัวตน ของตน พอไปเอาอะไรมาเป็นตัวตน ของตน เดี๋ยวมันเป็นบวก เดี๋ยวมันเป็นลบ วันหนึ่งๆเปลี่ยนกันไม่รู้จักกี่หน เดี๋ยวดีใจ เดี๋ยวเสียใจ เดี๋ยวร้องไห้ เดี๋ยวหัวเราะ เรื่องอัตตา เรื่องอนัตตาลึกซึ้งอย่างยิ่ง เป็นวิทยาศาสตร์อย่างยิ่งในทาง ทางจิตใจ คุณเรียนกันมาแต่วิทยาศาสตร์ในทางวัตถุ มาหาความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ทางจิตใจในพระพุทธศาสนา แล้วก็จะมีความรู้เรื่องดีทั้งทางจิตใจและทางวัตถุ เราไม่นิยมวัตถุเหมือนพวกคอมมิวนิสต์ เราไม่นิยมจิตใจล้วนๆเหมือนพวกฤาษีชีไพร แต่เราอยู่ตรงกลาง ความถูกต้องระหว่างวัตถุกับจิตใจ เรียกว่าธรรมะ รู้ธรรมะ นิยมธรรมะ ไม่นิยมทางวัตถุอย่างเดียว ไม่นิยมทางจิตใจอย่างเดียว แต่นิยมความถูกต้องของทั้งสองฝ่าย เรียกว่า ธรรมะ ธรรมะนิยม เรานิยมธรรมะ นี้เราก็ประพฤติถูกต้องทั้งทางกายและทางจิต เราก็หมดปัญหา ไม่มีความทุกข์ นี่คือประโยชน์ของการรู้เรื่องอัตตา อนัตตา
บรรยายมาพอสมควรแก่เวลา ขอให้ไปทบทวนคำพูดหรือข้อความที่จดไปแล้วให้ดีๆ จะรู้แจ้งยิ่งขึ้นกว่านี้ เดี๋ยวนี้เป็นเพียงเงื่อนงำในขั้นแรก ไปพิจารณายิ่งๆขึ้นไปจะรู้แจ้งมากขึ้น จะขจัดความทุกข์ออกไปได้มากขึ้น จะอยู่เหนือความทุกข์ เหนือความทุกข์ ไม่เป็นบวก ไม่เป็นลบ ไม่สุข ไม่ทุกข์ เหนือความทุกข์ ถ้ายังสุข หลงสุข ก็เป็นเรื่องบวก บ้าบวก บ้าดี เมาดี หลงดี บ้าบุญ เมาบุญ หลงบุญ ก็ฉิบหายเหมือนกันแหละ บ้าบวกนี่ ไอ้บ้าลบก็มันทนไม่ไหว เพราะฉะนั้นไม่บ้าทั้งสองอย่าง ไม่บุญ ไม่บาป ไม่สุข ไม่ทุกข์ ไม่ดี ไม่ชั่ว เพราะรู้เรื่องอัตตา เรื่องอนัตตา
หวังว่าเธอทั้งหลายคงจะเอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์ ประกอบการศึกษาที่มีอยู่แล้ว นี่การบรรยายนี้ก็เพื่อประโยชน์เพื่อประกอบการศึกษาที่มีอยู่แล้ว มันจะควบคุมกิเลส มันจะควบคุมความเห็นแก่ตัว ขอย้ำอีกทีหนึ่งว่า การศึกษาในโลกทั้งหมดทั้งสิ้น มันไม่พอ มันสอนแต่ให้ฉลาด ฉลาด มันไม่ควบคุมความฉลาด ความฉลาดก็กลายเป็นความโง่ มีตัวตน มีของตน นี่รู้ะธรรมะเสียจะได้ไปควบคุมความฉลาด อย่าให้ความฉลาดมันกลายเป็นความโง่ มันจะไม่ มันจะไม่เห็นแก่ตน ถ้ามันฉลาดโดยไม่ควบคุม มันก็เห็นแก่ตน มันก็เกิดกิเลส มันก็เผาตัวเอง เอาความรู้นี้ไปผนวกเข้า การศึกษาโลกๆที่มันยังไม่พอ ไม่สมบูรณ์ให้มันสมบูรณ์ แล้วเราก็จะได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา
นี่การบรรยายมันสมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติไว้แต่เพียงนี้ และเป็นการบรรยายครั้งสุดท้ายด้วย ขอให้ไปคิดให้ดี ใคร่ครวญให้ดี เอาไปใช้ให้ครบทุกแง่ทุกมุม สำเร็จประโยชน์ด้วยกัน ทุกอย่าง ทุกประการ มีความถูกต้องพอใจ ถูกต้องพอใจ อยู่ในชีวิตนี้ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ