แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ยินดี ขอบคุณ อนุโมทนาในการมาของท่านทั้งหลายในวันนี้ ในลักษณะเช่นนี้ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเพื่ออะไร วันนี้เป็นการประกอบการกุศลก็ต้องเรียกว่าอย่างนั้น ที่เรียกว่าล้ออายุ แล้วก็จะขอเลยไปถึงเลิกอายุ ตั้งใจไว้ว่าครบรอบปีที่ ๘๔ จะเป็นการทำบุญเลิกอายุ เดี๋ยวนี้มากันในลักษณะอย่างนี้ เพื่อทำการล้ออายุในวันนี้ก็ขอขอบใจ ขอบคุณ อนุโมทนา
ในการอาราธนาศีลนี้ ขอทำเป็นพิเศษในรูปแบบล้ออายุของใครก็ตามใจ คือขอให้ถือว่าการนอบน้อมพระรัตนตรัยและสรณคมน์นั้น ทำไมจะต้องมัวขอกันแล้วซ้ำเล่าซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้วๆ เล่าๆ ควรจะว่าออกไปตามความรู้สึก ที่มีอยู่ในใจ ท่านทั้งหลายมีความรู้สึกเคารพพระพุทธเจ้าอย่างไร ขอให้ทำในใจให้ชัดเจนขึ้นมาในจิตใจในบัดนี้ แล้วก็เปล่งออกมาเป็นภาษาบาลี ซึ่งก็ว่าได้กันอยู่ทุกคน แต่บางคนก็ว่าตามคำบาลีโดยไม่รู้ว่า ว่าอะไร ขอให้ทำความในใจให้ถูกต้องว่า เราทั้งหลายชอบใจธรรมะของพระพุทธเจ้า ถือเอาเป็นที่พึ่งดำเนินชีวิต
เดี๋ยวนี้ก็ประกาศความรู้สึกอันนั้นออกมา ด้วยจิตใจที่รู้สึกอย่างนั้นจริงๆ อย่าเล่นตลกปากอย่างใจอย่าง เตรียมจิตใจระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระผู้มีพระภาค คุณธรรมที่ทำความเป็นพระพุทธเจ้านี่ เรียกว่าผู้มีภาคยธรรมสมบูรณ์ ท่านเป็นพระอรหันต์หมดจดจากกิเลสเหนือความทุกข์ ท่านตรัสรู้เรื่องนี้ด้วยพระองค์เองและนำมาเปิดเผย ท่านทั้งหลายจงทำในใจชัดแจ้งอย่างนี้ แล้วก็ว่าบทนะโมออกไปสามหนพร้อมๆกัน (บทสวดมนต์) เป็นการดีมากที่ไม่ต้องสอนนกแก้วนกขุนทอง ว่าออกมาโดยความรู้สึกในใจจริง นมัสการพระพุทธเจ้า
ทีนี้ก็ทำในใจถึงพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระพุทธเจ้า คือผู้ค้นพบข้อปฏิบัติหรือการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ แล้วก็บอกให้คนอื่นผู้ประสงค์จะดับทุกข์ได้ทราบและก็ปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ พระพุทธเจ้ามีพระคุณในฐานะผู้ค้นพบและนำมาสอน พระธรรมก็คือ สิ่งที่ทรงค้นพบแล้วก็ทรงสอน พระสงฆ์ก็คือ ผู้ที่ปฏิบัติตามจนสำเร็จประโยชน์ เป็นเครื่องยืนยันว่าธรรมะนี้ดับทุกข์ได้จริง ล้วนแต่มีคุณค่ามหาศาลในฐานะที่เป็นพระพุทธก็ดี พระธรรมก็ดี พระสงฆ์ก็ดี พุทธบริษัทถือเอาสิ่งทั้งสามนี้ เป็นสรณะเป็นเครื่องระลึกถึงเมื่อมีภัยอันตรายคุกคาม ก็ระลึกนึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วก็ปฏิบัติให้ถูกต้องตามคำสอนนั้นอยู่ตลอดเวลา ทำจิตใจตรงตามคำสอนของพระองค์ จนว่ามีธรรมะอย่างเดียวกับพระองค์ตามที่พระองค์ทรงสอนนั้นจะให้มีอย่างไร ขอให้ทำในใจให้ซึมซาบถึงความจริงข้อนี้ ว่าเรามีความสะอาด มีความสว่าง มีความสงบ แห่งจิตใจอยู่ในใจโดยแท้จริงในเวลานี้โดยเฉพาะ แล้วก็ประกาศความรู้สึกอันนั้นออกมาเป็นวาจาตามบทที่เรียกว่า สรณคมน คือการถือเอาซึ่งสรณะขอให้มีจิตใจแจ่มแจ้งในสรณะ คือการถือคือการมีอยู่ในใจจริงๆ แล้วปากก็ว่าออกมา เป็นการประกาศ และยืนยันความเป็นเช่นนั้น
ดังนั้นขอให้ว่าบทสรณคมของตนของตนด้วยจิตใจของตนเฉพาะตนไม่ผูกพันกับใครออกมาพร้อมกัน (บทสวดมนต์) ดีเป็นที่พอใจว่าได้ประกาศพระคุณของพระรัตนตรัยและการรับนับถือพระรัตนตรัย การมีพระรัตนตรัยเป็นชีวิตจิตใจเป็นสรณะ ถ้าออกมาแล้ว นี่เป็นอันว่าท่านประกาศออกมาเองยืนยันออกมาเอง อาตมาไม่ต้องให้หรอก ทำไมต้องให้ บ้าๆ บอๆ อะไรที่ต้องให้ มันควรจะรู้อยู่ในใจโดยแท้จริงแล้วก็ว่าออกมาเอง
ทีนี้ก็มาถึงการรับศีลสมาทานศีล บทสมาทานศีลนั้นมันมีอยู่ว่า สมาธิยามิ แปลว่าข้าพเจ้าขอสมาทานมันเป็นคำพูดของฝ่ายท่านทั้งหลายที่จะประกาศขอสมาทาน ไม่ใช่คำที่จะต้องฝ่ายผู้ให้พูดนะ ฝ่ายผู้ให้พูดจะบอกอย่างนั้นได้เหรอ ถ้าจะให้ผู้ให้พูดก็เป็นเรื่องบ้าๆ บอๆ อะไรอีกเหมือนกัน ขอวันนี้อย่าต้องมีเลย ท่านจงประกาศคำที่บัญญัติไว้เป็นคำพูดของท่านทั้งหลายโดยเฉพาะ
เอ้า, ประกาศศีล สมาทานศีลข้อปาณา (บทสวดมนต์) ข้อนี้เป็นการประกาศว่าจะไม่มีการประทุษร้ายต่อสิ่งที่มีชีวิตโดยประการใดๆ ไม่ประทุษร้ายโดยวิธีใดๆทุกอย่างทุกประการ ทั้งหยาบทั้งละเอียด ทั้งเล็กทั้งใหญ่ จะไม่มีการประทุษร้ายด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยจิตใจ จะไม่มีการประทุษร้าย ทำได้อย่างนี้ศีลข้อนี้ก็สมบูรณ์
เอ้า, ขอให้ประกาศการสมาทานศีลข้อที่สอง ๒ (บทสวดมนต์) ข้อนี้จะไม่ประทุษร้ายทรัพย์สมบัติชนิดใดๆโดยวิธีใดๆ ของผู้ใด แม้แต่ว่าเพื่อการเล่นสนุกก็ไม่ทำ ไม่ประทุษร้ายทรัพย์สินสมบัติของผู้ใดโดยวิธีใดๆทุกอย่างทุกประการโดยตรงโดยอ้อมโดยกายโดยวาจาโดยใจอะไรก็ไม่ทำ
ทีนี้ผู้ที่จะสมาทานศีลห้า จงประกาศการถือศีลข้อกาเมออกไป เฉพาะผู้ถือศีลห้า (บทสวดมนต์) ผู้ที่ไม่กล้ารับศีลอุโบสถยังมีอยู่ ศีลข้อ ๓ กาเมสุมิจฉาจาระนี่ ไม่ประทุษร้ายของรักของชอบใจของบุคคลผู้อื่นโดยวิธีใดๆ โดยลักษณะอย่างไร ไม่ประทุษร้ายของรักกาเมสุ ของรักของใคร่ทั้งหลาย ไม่ไปประทุษร้าย ไม่เฉพาะแต่เรื่องเพศ เรื่องหญิง เรื่องชาย ถ้ามันเป็นของรักแล้วก็อย่าไปประทุษร้าย เด็กๆยังไม่มีเรื่องเพศ แต่เขาก็มีของรักของชอบใจ เช่นเขามีตุ๊กตาสักตัวหนึ่งไม่อยากให้ใครไปแตะต้อง ก็อย่าไปแตะต้องให้เขาเป็นทุกข์ใจ นี่เรียกว่าไม่ประทุษร้ายของรักของพอใจของบุคคลใดโดยประการทั้งปวง
ทีนี้สำหรับผู้สมาทานศีลอุโบสถจงว่าข้อ อพรัหม (บทสวดมนต์) ข้อนี้เว้นจากกิจกรรม อันเป็นข้าศึกแก่การประพฤติพรหมจรรย์โดยประการทั้งปวง การประพฤติพรหมจรรย์ คือประพฤติอันประเสริฐ จะเรียกว่าประพฤติอย่างพรหมก็ได้ แต่ว่าพรหมในพระพุทธศาสนาไม่ใช่พรหมอย่างของพวกฮินดูฝ่ายโน้น พรหมจรรย์แปลว่าประพฤติประเสริฐ ประเสริฐตรงที่เป็นไปเพื่อพระนิพพาน นี่เราจะมีการเว้นขาดจากการประพฤติสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ทุกอย่างทุกประการโดยเฉพาะเรื่องเพศ เรื่องกามารมณ์ โดยประการทั้งปวง ไม่ประกอบกระทำ ไม่พูดจาเพื่อ แล้วก็ไม่คิดฝันเพื่อ อย่างนี้เรียกว่ามีจิตใจเป็นพรหมจรรย์ ไม่มีรอยด่างพร้อยของพรหมจรรย์นั้นๆ ขอให้ถือว่าประพฤติพรหมจรรย์นี้ เป็นรากฐานทั้งหมดของการปฏิบัติ เพื่อพระนิพพานประพฤติพรหมจรรย์ พรหมจรรย์เป็นพื้นฐานโดยทั่วไป สำหรับธรรมะทั้งหลายจะได้ตั้ง ได้อาศัยอยู่บนสิ่งที่เรียกว่าพรหมจรรย์ การละกิเลสโดยเด็ดขาดก็จะได้เกิดขึ้น
ทีนี้มาถึงศีลข้อ ๔ ว่าพร้อมกันได้ (บทสวดมนต์) ข้อนี้ขอให้ความหมายกว้างๆ ว่าจะไม่ประทุษร้ายความเป็นธรรม ความถูกต้อง สิทธิอันชอบธรรมของใครๆ ที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าการพูดเท็จ พูดเท็จนั้นเพื่อจะเอาประโยชน์ของผู้อื่น ถ้าพูดไม่จริงแต่เพื่อให้เขาดีมีความเจริญ นั้นไม่เรียกว่าพูดเท็จ บางทีเด็กๆ ก็ต้องหลอกด้วยคำพูดที่ไม่จริงเพื่อไม่ให้เขาทำชั่วอย่างนี้ไม่ใช่พูดเท็จ พูดเท็จนี่มันประทุษร้ายสิทธิความถูกต้อง ความยุติธรรมอะไรของเขา ด้วยการใช้วาจาหรือสัญลักษณ์ใดๆ กิริยาท่าทางใดๆ เป็นเครื่องมือ นี้มันแสดงว่าเป็นคนที่ไม่สุจริต
มีพระบาลีพุทธภาษิตว่า บาปใดๆ ที่คนพูดเท็จโกหกได้แล้วจะพึงกระทำไม่ได้นั้นไม่มี โปรดทราบไว้ เป็นรากฐานทั่วไปว่า เมื่อมันโกหกพูดเท็จได้แล้วบาปอื่นๆ ที่มันจะทำไม่ได้นั้นไม่มี พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อย่างนี้ ขอให้เกลียด กลัว รังเกียจ เกลียดชังไอ้การพูดเท็จนี่ ให้ถึงที่สุดเถิด มันทำลายรากฐานแห่งการมีธรรมะโดยประการทั้งปวง แม้ว่าจะใช้คำว่าพูดเท็จ ก็ต้องเล็งถึงกิริยาอาการที่เป็นเท็จมันก็มี ก็ว่าพูดด้วยปากก็ได้ พูดด้วยกิริยาอาการก็ได้ เป็นการพูดด้วยกันทั้งนั้น จะต้องรักษาการพูดจานี้อย่าให้เป็นเท็จ ถ้าพูดเท็จได้อย่างเดียวแล้วบาปอื่นๆ ก็จะทำได้ง่ายๆ ง่ายๆ ต่อไปเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้นจนถึงบาปใหญ่หลวงแหละ อย่าทำเล่นกับการพูดเท็จ
ทีนี้ก็มาถึงข้อที่ ๕ ว่าพร้อมกันได้ทั้งสอง (บทสวดมนต์) ข้อนี้ไม่ประทุษร้ายความมีสติสมปฤดีสัมปชัญญะของตนเอง คนโง่เท่านั้นหล่ะที่มันจะประทุษร้ายสติสมปฤดีของตนเอง สติสมปฤดีตามธรรมชาตินี้มีไม่น้อยนะ รู้จักเกลียดกลัวสิ่งที่ควรเกลียดกลัว รู้จักทำสิ่งที่ควรทำอยู่ตามธรรมชาติ นี้ถ้ามันมีสติสมปฤดีอยู่ แต่เดี๋ยวนี้ไอ้คนโง่มันมาประทุษร้ายเสีย ด้วยการสูบ ด้วยการกิน ด้วยการดม ด้วยการลูบทา หรือด้วยประการใดๆ ก็ตาม ซึ่งสิ่งที่ทำลายประทุษร้ายสติสมปฤดี ที่เรียกว่าของเมา ไม่ใช่หมายถึงเพียงเหล้าอย่างที่รู้จักกัน คนนั้นมันรู้จักศีลข้อนี้น้อยเกินไป เพียงว่าไม่กินเหล้า ขอให้ถือเอาความหมายว่า อะไรก็ตามๆ ถ้าเป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา สูญเสียสติสัมปชัญญะเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท คือเป็นปมาทัฏฐานะแล้ว เลิก เลิกๆ หมด ซักนิดนึงก็ไม่เอา อะไรเป็นที่ตั้งแห่งความเมา ทำให้สูญเสียสติสมปฤดี แม้แต่กามารมณ์ก็เป็นเช่นนี้แต่เขาเอาไปไว้ในข้อสามแล้ว อะไรที่ทำให้เกิดความเมาจนสูญเสียสติสมปฤดีแล้วจะไม่เกี่ยวข้อง โดยประการทั้งปวง
เอ้า, พวกที่ถือศีล ๕ สมาทานศีล ๕ ไม่ต้องว่านำ จะโง่ พวกที่ถือศีล ๕ ขอได้ว่าบทศีล ๕ (บทสวดมนต์) แล้วกันๆ ทำไมเหลือสองสามคนแล้วหล่ะศีล ๕ ก็แปลว่าสมัครถือศีลอุโบสถกัน ข้อนี้เป็นการประกาศยืนยันด้วยเกียรติยศว่า ข้าพเจ้าสมาทานสิกขาบททั้ง ๕ นี้ ไม่ประทุษร้ายชีวิตร่างกาย ไม่ประทุษร้ายทรัพย์สมบัติ ไม่ประทุษร้ายของรักของใคร่ของเขา ไม่ประทุษร้ายความเป็นธรรม ความถูกต้องของใครๆ ไม่ประทุษร้ายสติสมปฤดีของตนเอง นี่พวกที่ถือศีล ๕โปรดจำไว้ว่าไม่ประทุษร้ายทั้ง ๕ ประการนั้นแหละ
ทีนี้ที่ถือศีลอุโบสถ มากล่าวคำสมาทานข้อ ๖ (บทสวดมนต์) ข้อนี้มีใจความว่า ไม่กินอาหารในเวลาที่ไม่ควรกิน ในเวลาที่ไม่ควรกินนั้น ก็เขียนบัญญัติตกลงกันโดยไม่ต้องเถียงกันอีกแล้วว่า ตั้งแต่เวลาวิกาลคือหลังเที่ยง แล้วเป็นต้นไปเรียกว่าวิกาล พวกอื่นเขาตีความหมายอย่างอื่นเขาถืออย่างอื่นก็มี ช่างเขาเถอะ มันถูกของเขา เราก็เวลาที่ไม่ควรกินอาหารเรียกว่าเวลาวิกาล จะถืออย่างว่าหลังเที่ยงไปแล้วไม่กิน หรือจะถือให้มากกว่านั้นก็ได้ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของตนเองมันบอกให้ ว่าจะไม่กินในเวลาที่ไม่ควรกิน สมาทานสิกขาบทไม่บริโภคอาหารในเวลาที่ไม่ควรกิน ตัวเองซื่อตรงต่อตัวเองระบุเอาเองว่าเวลาอะไรไม่ควรกิน
เอ้า ประกาศการสมาทานสิกขาบทข้อที่เจ็ด ๗ (บทสวดมนต์) ข้อนี้เว้นสิ่งที่ส่งเสริมกิเลส สิ่งที่ไม่จำเป็น สิ่งที่เสียเวลาเปล่า นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสน อะไรนี่ นจฺจ ฟ้อนรำ คีตะ ขับร้อง วาทิตะ ประโคม ทัสสนะ การดูสิ่งที่ไม่ควรดู วิเลปนะ รูปร้ายไอ้สิ่งที่ส่งเสริมความรู้สึกทางกามารมณ์ มัณฑนะประดับตาแต่งอะไรในความหมายเดียวๆ กันนั้นแหละไม่กระทำสิ่งที่เป็นไปเพื่อ ประดับตกแต่งพูดอย่างนี้ก็หมด ไม่กระทำ ไม่กระทำการเป็นไปที่เป็นการประดับตกแต่ง และไม่กระทำสิ่งที่เร้ากิเลส การฟ้อนรำ การขับร้องอะไรต่างๆ นี่ มันแบ่งได้เป็นสองประเภท ไม่กระทำสิ่งที่รบเร้าส่งเสริมกิเลส และก็ไม่กระทำสิ่งที่เป็นเพียงการประดับประดาตกแต่ง
ข้อที่ ๘ (บทสวดมนต์) ที่นอนสูงที่นอนใหญ่ ข้อนี้มีความหมายว่าเพื่อประโยชน์สุขแก่การนอน อย่างมีอัสสาทะ คือพอใจหลงใหล ทุกชนิดแหละถ้าที่นั่ง ที่นอนที่มันให้เกิดความรู้สึกสบายและพอใจแล้วก็หลงใหลในการนอนนี่ เลิกๆ หาที่นั่งที่นอนที่มันให้ความถูกต้อง ความสะดวกสบาย ความพอดี แล้วก็ช่วยกำจัดความรู้สึกฝ่ายกิเลส รู้เอาเอง ที่นอนสูงที่นอนใหญ่นี่เป็นของอิสรชน ของคฤหบดีของอะไรมีกล่าวมากเหมือนกันในบาลี จนเป็นที่รู้จักกันทั่วไปแล้วก็ปรารถนากันทั่วไปในหมู่ฆราวาส สามัญ แต่ทีนี้ถ้าว่าจะประพฤติพรหมจรรย์เป็นฆราวาสพิเศษหรือเป็นบรรพชิต แล้วก็เป็นอันว่าเลิกที่นั่งที่นอนเห็นปานนั้น
เอ้า, สมาทานลงอุโบสถ (บทสวดมนต์) ขออีกสองครั้ง (บทสวดมนต์) การยืนยันของท่านทั้งหลายที่จะสมาทานอุโบสถนี่ บอกชัดอยู่ในตัวแล้วว่า เข้มแข็งอย่างไร เต็มที่อย่างไร อาตมาไม่ต้องการไม่ต้องกล่าวส่งท้ายส่งทับว่าขอให้รักษาอีก มันจะเป็นเรื่องเด็กๆ ขอร้องให้รักษาให้อย่างดีอีกนี่ไม่ต้องแล้ว เพราะท่านทั้งหลายยืนยันถึงขนาดนี้แล้ว
ทีนี้ก็ขออนุโมทนาด้วยการบอกกล่าว อานิสงส์ของความมีศีล อานิสงส์ของการสมาทานสิกขาบทเหล่านี้ ขอให้ท่านทั้งหลายกระทำโดยถูกต้อง ตามความหมายของคำว่าอุปา ของคำว่าสมาทาน อย่าให้เป็นอุปาทาน อุปาทานเป็นเรื่องบ้า สมาทานเป็นเรื่องดี แต่คนก็ยังถือศีลด้วยอุปาทาน ว่ากูจะดี จะเด่น จะดัง จะสวย เพราะศีลนี้ แม้ที่สุดแต่ว่าจะได้ร่ำ ได้รวย ได้อะไร ก็ด้วยอุปาทานอย่างนี้ อย่างนี้ไม่ใช่สมาทาน ขอให้สมาทานคือการกระทำอย่างพอดี อย่างถูกต้อง ด้วยปัญญา ด้วยวิชา ด้วยสติสัมปัญชัญญะ อย่าทำด้วยกิเลส ตัณหา อวิชชา ขอให้สมาทาน สมาทานอย่ามีอุปาทานโดยประการใดๆ แต่ก็มีเหมือนกันที่คนเราอุปาทานตามใจเขาเถอะ
ศีลช่วยให้ถึงสุขคติ สุขคตินี้ คือความเป็นอยู่อย่างถูกต้อง ตามทางแห่งพระนิพพาน เราไม่หมายถึงสวรรค์บ้ากาม สวรรค์นางฟ้า สวรรค์วิมานอะไร เราไม่หมายอย่างนั้น ถ้ามันหมายอย่างนั้นมันจะเป็นอุปาทาน มันมีศีลอุปาทานชนิดอุปาทาน เรามีสมาทานเพียงว่า สุขคติๆ ชีวิตเป็นไปดีๆ มีความสงบเยือกเย็นตามแนวของธรรมะ
สีเลนะ โภคสัมปทา นี่ก็ว่าให้สมบูรณ์ด้วยโภคะ นี่ขอบอกตอนนี้สักหน่อยว่าอานิสงค์ของศีลพระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสอย่างนี้นะ อาจารย์คนไหนไม่รู้ เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ สมัยไหนก็ไม่รู้ ที่ประเทศไหนก็ไม่รู้บัญญัติขึ้นมา ทว่าหมายถึงโภคะทรัพย์สมบัติด้วยร่ำรวยแล้วมันก็ไม่ถูกเรื่อง ขอให้มีโภคะเป็นธรรมะ ธรรมะโภคะ ทรัพย์สมบัติที่ไม่เป็นที่ตั้งแห่งกิเลสตัณหา มีเหตุที่จะส่งเสริมการเป็นอยู่ที่ถูกต้องที่เยือกเย็นนั่นหน่ะโภคะหรือทรัพย์สมบัติอย่างนั้นเราต้องการ ทรัพย์สมบัติที่ส่งเสริมกิเลสตัณหาที่คนอันธพาลต้องการนั้นอย่าไปต้องการมันเลย
สีเลนะ นิพุตติง ยันติ อันนี้ดีมากๆ ถึงนิพพุติได้ด้วยศีล นิพพุตินั่น แปลว่าความเย็น ความหมายอย่างเดียวกับนิพพาน ถ้าเย็นเด็ดขาดโดยประการทั้งปวง ในชั้นสูงก็เรียกว่านิพพาน แต่ถ้าเย็นอย่างชาวบ้านธรรมดาสามัญจะเย็นมีชีวิตเย็น เย็นอกเย็นใจอย่างนี้จะเรียกว่านิพพุติ มันเป็นคำๆ เดียวกัน มีความหมายว่าดับไฟแห่งความร้อน ดับไฟแห่งความร้อนนั้นหล่ะคือนิพพุติ ขอให้มีชีวิตชนิดที่ไม่มีความร้อนรบกวน ให้มีชีวิตเยือกเย็นมีความเย็นอกเย็นใจ ศีลช่วยได้ในเบื้องต้นเป็นรากฐาน ประพฤติศีลแล้วจะเป็นขั้นต้นหรือนำมาซึ่งความเย็นอกเย็นใจ เป็นนิพพานน้อยๆไปจนกว่าจะถึงนิพพานอันสูงสุด ศีลมีอานิสงค์ถึงขนาดนี้
ตัสสะมา สีลัง วิโส ทะเย ว่าเพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงรักษาศีลให้สะอาด วิโส ทะเย แปลว่าชำระให้สะอาด คือท่านทั้งหลายทุกคนชำระศีล ของตนๆ ให้เป็นศีลที่สะอาด อย่าเป็นศีลที่ถูกลูบคลำด้วยกิเลส ตัณหา มานะ ทิฏฐิ อวิชชา รักษาศีลข้อหนึ่งเอาวิมานหลังหนึ่งนี่ไม่ถูก ไม่ใช่ศีลที่ถูกต้อง ไม่เป็นการรักษาศีลให้สะอาด มันเป็นการค้ากำไรเกินควร รักษาศีลให้สะอาด รักษาศีลให้สะอาด มันก็จะเป็น สมาธิสังวัตตนิกา คือเป็นไปเพื่อสมาธิ ถ้าศีลสกปรกแล้วมันไม่เป็นไปเพื่อสมาธิ มันเป็นไปเพื่อความละโมบ เพื่อความเห็นแก่ตัวก็ได้ งั้นขอให้มีศีลชนิดที่สะอาด พยายามจะใช้คำว่าซักฟอกก็ได้อยู่เสมอให้มีศีลที่สะอาด นี่คืออานิสงค์ของศีล นี่เรื่องสมาทานศีลในวันนี้จบแล้ว สมาทานอย่างเป็นพิเศษ อย่างที่พอจะเรียกได้ว่าล้ออายุ ไม่หลงอายุ ไม่บ้าอายุ ไม่อะไรอย่างนั้น จะเป็นการชำระอายุให้มันถูกต้อง ให้มันสะอาด สมกันแล้วที่จะมีการสมาทานถือศีลในลักษณะอย่างนี้ เรื่องศีลหมด
เอ้า, ต่อไป จะอาราธนาธรรมก็ได้ (บทสวดมนต์) อาตมาได้รับคำอาราธนาตามธรรมเนียม ว่าให้แสดงธรรม ที่จริงธรรมะไม่ต้องอาราธนา เป็นหน้าที่ของผู้แสดง ด้วยความปรารถนาดี ความเมตตากรุณา ขอให้ถือว่าอาตมาไม่แสดงด้วยการอาราธนา แต่แสดงด้วยความหวังดีตามที่พระพุทธเจ้าท่านเคยมี คนเขาเชื่อกันว่าธรรมะต้องอาราธนานี่มันหลับตา มันมีเพียงคนเดียวที่พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าไอ้ธรรมะนี่มันยาก ถึงแสดงไปก็ไม่มีใครรู้ทรงตัดสินพระทัยไปในทางที่จะไม่แสดง พวกพรหมต้องอาราธนาต้องมาอาราธนา
คนโง่เขาว่าพวกพรหมมาจากสวรรค์ คนมีปัญญาก็คือพรหมในหัวใจ พระหฤทัยของพระพุทธเจ้านั่นแหละ เมตตากรุณาพรหมวิหารในหัวใจในพระหฤทัยของพระพุทธเจ้านั่นแหละอาราธนา ว่าถึงจะเข้าใจยากลำบากในการศึกษาและปฏิบัติ แต่มันก็คงจะมีคนบางคนพอเข้าใจได้ ถ้าไม่แสดงเสียเลยคนเหล่านั้นจะไร้ประโยชน์ นี่พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงธรรม เพื่อว่าคนบางคนนั่นที่มันมีอะไรๆ พอจะเข้าใจได้จะได้รับประโยชน์ เลยเกิด พิธีอีกแล้ว พิธีอีกแล้ว ไม่ใช่วิธีที่จะต้องอาราธนาไปเสียทุกอย่าง ทุกคราว อาราธนาๆ พิธีนี้พระพุทธเจ้าไม่มี คำสั่งก็ไม่มีว่าต้องอาราธนาจึงจะแสดงธรรม พิธีนี้มันเกิดขึ้นเองโดยบุคคลที่เขามีสติปัญญาแบบนั้น มันก็เกิดขึ้นมามากๆ เดี๋ยวนี้ขอแสดงธรรม ตามคำขอร้อง ขอแสดงธรรมในลักษณะบรรยาย ธรรมบรรยาย ธรรมกถา ไม่แสดงในรูปที่เรียกกันว่าเทศนา มีพิธีรีตรองมีทำนุทำนองต้องทำเสียงอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่เอาแล้ววันนี้ ขอพูดตรงๆที่มันเป็นการแสดงธรรมะออกไป ในที่เรียกในลักษณะที่เรียกว่าธรรมกถา ปาฐกถาธรรม ประหยัดเวลา เข้าใจง่าย จึงไม่ตั้งนะโมแล้ว ตั้งมาจนเบื่อแล้ว
ขอเริ่มเรื่องเลย ว่าเรื่องแรกนี่ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการล้ออายุ และขอชักชวนให้ท่านทั้งหลายล้ออายุ ตามที่ควรจะล้อ แม้จะไม่เท่าไม่เหมือนกับอาตมาก็ได้ ก็ล้อไปตามแบบที่จะมองเห็นว่าอายุนี้มันน่าล้อ จะต้องทำความเข้าใจในความรู้สึกเกี่ยวกับอายุของคนทั้งหลาย ให้เป็นที่เข้าใจกันเสียก่อน ชั้นแรกที่เป็นเรื่องของเด็กๆ ก็ได้ มันรักอายุ มันรักอายุ เหลือประมาณ รักสิ่งที่เรียกว่าอายุ เพราะว่ามันกลัวตาย มันรักอายุ แล้วมันก็หลงอายุ แล้วมันก็เมาอายุ ราวกับว่ามันจะไม่ตาย มันเมาอายุ แล้วมันก็ฉลองอายุ กินกันใหญ่ สนุกกันใหญ่ เต้นรำกันใหญ่อะไรที่มันฉลองอายุของเด็กๆ ที่มันเมาอายุ บ้าอายุ แล้วมันไม่อยากตายมันก็ทำพิธีต่ออายุๆ ซึ่งคงจะเคยเห็นกันแล้ว เอาผ้ามาคลุมหัวกันแล้วให้พระไปสวด เรียกว่าต่ออายุ
นี่โดยพื้นฐานทั่วไปมันมีอยู่อย่างนี้ มันรักอายุ มันหลงอายุ มันเมาอายุ มันบ้าอายุ มันฉลองอายุ มันต่ออายุ เอ้าๆ มาถึงนี่แล้ว ทีนี้พออายุมัน มากเข้าๆ มันชักจะสงสัย จุดศูนย์กลางมันอยู่ที่ชักจะสงสัย สงสัยอายุนี่ว่ามันเรื่องอะไรกัน บางคนมันก็มีสติปัญญาเพียงพอที่จะมองเห็นว่า มันเสียเวลาไปมากมาย ในการที่จะไปหลงอายุ รักอายุ บ้าอายุนี่ ก็เปลี่ยนเข็มเปลี่ยนทิศทาง มันสงสัยแล้วมันก็วิพากษ์วิจารณ์ มันก็มองเห็นว่าอ้าว มัน มันไม่น่าพอใจ ชื่นใจกันเลย จึงเอามาล้อ ถึงจะล้ออายุและจุดตั้งต้นของการล้ออายุก็เริ่มขึ้น ว่าแหมมันช่างหลอกลวงหรือมันช่างสร้างปัญหา แล้วก็เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ เป็นรากฐานแห่งความทุกข์ เป็นรากฐานแห่งความเห็นแก่ตัว ทำความทุกข์ให้เกิดแก่ตนเองให้เกิดแก่ผู้อื่น เอามามองดูแล้วก็ล้อ ให้สมกับที่มันหลอก ล้อให้สมกับที่อายุมันหลอกมาขนาดนั้น ในที่สุดก็ตัดสินใจว่า เลิกๆ เลิกกันทีๆ อาตมาขอนัดแนะกันแต่เดี๋ยวนี้ปีนี้ว่า ปีครบ ๘๔ จะทำบุญเลิกอายุนะ ไม่ใช่ล้ออายุแล้ว ล้ออายุจะสิ้นสุดกันเพียงปีนี้ ปีต่อไปที่จะทำกันข้างหน้านั่นเลิกอายุ แล้วต่อไปนี้จะอยู่เหนืออายุ เหนืออิทธิพลอำนาจอะไรของอายุ จะไม่มีปัญหาใดๆ เกี่ยวกับอายุอีกต่อไปเรียกว่าอยู่เหนืออายุ มันก็จะแก่ มันจะแก่ จะเจ็บ จะตาย จะเป็นอย่างไร มันก็ไม่มีความหมาย เราอยู่เหนือ เหนือๆๆโดยหมดสิ้น
นี่ท่านทั้งหลายลองฟังดู แล้วเทียบเคียงกันดูว่ามันต่างกันอย่างไร รักอายุ หลงอายุ เมาอายุ บ้าอายุ ต่ออายุ ฉลองอายุ แล้วเกิดความสงสัยในอายุ แล้วก็ล้ออายุ จนเลิกอายุ จะอยู่เหนืออายุ แต่ละคำ ละคำนี้ มันมีความหมายต่างกันอย่างไร แล้วมันจะมีค่าอยู่ที่ตรงไหน ขอบอกกล่าวว่าท่านทั้งหลายเดี๋ยวนี้ที่นี่มีอายุหลายสิบปีกันแล้วทั้งนั้นแหละ และอายุเกิน ๘๐ ก็มีอยู่หลายคน ไม่สนใจเรื่องนี้กันบ้างหรืออย่างไร หรือว่าจะตายไปด้วยความรักในอายุ ไม่ยอมสลัด พอพูดว่าล้ออายุ เลิกอายุ อยู่เหนืออายุ เหนือปัญหาอายุ บางคนจะสงสัยว่านี่มันบ้าหรือดี นี่มันจะทำได้ หรือไม่ทำได้ หรือทำไม่ได้ อาตมาแน่ใจเหลือเกินว่าเป็นเรื่องก้าวหน้าต่อไปจนถึงที่สุดมุ่งหมายของชีวิตนี้ ไม่ใช่เรื่องบ้า แต่แล้วก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องดี เดี๋ยวจะบ้าอายุ บ้าดีของอายุ อยากจะมีอายุขึ้นมาอีก เลิกกันทั้งชั่ว เลิกกันทั้งดี จึงจะมีลักษณะที่เรียกว่าอยู่เหนืออายุ เราเลิกจมอยู่ใน ปลักหมู ปลักหมู ขออุปมาอย่างนี้ดีไหมปลักหมูสำหรับหมู นอนกิน นอนถ่าย นอนอะไรอยู่ จมอยู่ปลักหมูนั่นหล่ะ คนที่มันบ้าอายุ เมาอายุ หลงอายุ มันมีลักษณะอย่างนั้น มันจมอยู่ในปลักหมู ขึ้นจากปลักหมูนี่จะบ้าหรือดี ไปคิดเอาเอง
ทีนี้เดี๋ยวนี้เราจะท้าทาย วันนี้ไม่กินอาหาร จะตายก็ให้มันรู้ไป มันจะตายหรือไม่ตายก็จะรู้กันไปเอง ล้ออายุด้วยการเว้นอาหารเสีย สักวันหนึ่ง มันนึกถึงวันแรกออกมาจากท้องมารดา มันก็ไม่ได้กินอะไรมันก็ไม่ตาย มันก็อยู่ได้ มันจะเป็นเครื่องวัดน้ำใจว่ามีธรรมะเพียงพอหรือยัง มีความกล้าหาญพอที่จะจัดการกับอายุตามที่เป็นจริง ตรงไปตรงมากันหรือยัง การอดข้าวสักวัน สองวัน สามวัน มันก็เป็นการวัดคุณธรรมของจิตใจ ความเข้มแข็งของจิตใจ ความรู้จักอายุ ที่แท้จริงว่าไม่กินสักสามวันก็ได้ สักเจ็ดวันก็ได้ พระฝรั่งองค์หนึ่งก็ไม่ฉันอาหารเจ็ดวัน ฉันน้ำตาลก้อนสี่เหลี่ยมเล็กๆ เพียงวันละสามก้อนอยู่ได้เจ็ดวัน ทำไมมันไม่ตาย ที่ว่าไม่กล้าเพราะ มันกลัวมากเกินไปๆ ที่จริงเรื่องไม่กินอาหารในบางวันนี่ เป็นของธรรมดาที่สุด สัตว์เดรัจฉานบางชนิด ก็ไม่กิน บางวันก็ไม่กิน สัตว์เช่นกบบางชนิด แย้ไม่กินเป็นเดือนๆ ก็มี มันก็ดีกว่าคนๆ มันไม่ต้องกินอาหารตั้งเจ็ดวัน ตั้งสิบวัน ตั้งเดือนมันก็อยู่ได้ การไม่กินอาหารนั่นล่ะเป็นเครื่องวัดความเข้มแข็งแห่งจิตใจ วัดความถูกต้องแห่งการเป็นอยู่ได้มากทีเดียว นี่ขอให้เริ่มท้าทายอายุ หรือประกาศสงครามกับอายุ คือจะไม่ตามใจอายุหล่ะ ที่จริงไอ้ตามใจอายุนั้นมันคือตามใจกิเลส กิเลสที่หลงอายุ ไม่ใช่ว่าตามใจอายุโดยตรง อายุมันไม่มีความรู้สึกอะไร แต่ว่ากิเลสที่ไปหลงในอายุเอานั้นเป็นอายุ นี่คืออายุของกู นี้คือตัวกูนั้น นั่นแหละเราจะท้าทาย เราจะไม่ปล่อยไปตามความต้องการของกิเลสที่มันหลงอายุ
ดังนั้นจึงขอชักชวนว่าอย่าทำบุญกุศลชนิดที่เรียกว่าทำบุญแซยิดเบิร์ดเดย์ไอ้ทำนองนั้นเลย นั้นมันกินกันใหญ่ มันสนุกกันใหญ่ มันบ้ากันใหญ่ มันเมากันใหญ่นั่นหล่ะทำบุญแซยิด เดี๋ยวนี้เราจะทำชนิดที่ว่า ล้อมันเล่น ให้เห็นว่ามันจะไม่มีอิทธิพล เหนือจิตใจ ของเราอีกต่อไป เดี๋ยวนี้เรา ก็เป็นพุทธบริษัท คือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มีความรู้เพียงพอที่จะตื่น มาจากหลับ คือกิเลส แล้วก็เบิกบานอยู่ด้วยสติปัญญา ที่เป็นความเบิกบานไม่รู้โรย ที่ไม่รู้จักโรย นี่การท้าทายอายุในลักษณะอย่างนี้ เรียกว่าเป็นการล้ออายุ นี้คือข้อปรารภข้อแรกก่อนแต่ที่จะแสดงธรรม พูดกันเรื่องล้ออายุเป็นที่เข้าใจกันเสียก่อน
ทีนี้ก็มีความคิดว่าจะแสดงธรรม เรื่องที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ถ้าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาแท้จริง มันก็ไม่บ้าอายุ เมาอายุ มันก็เลิกอายุ มันอยู่เหนืออายุ เหนือปัญหาโดยประการทั้งปวง จะแสดงธรรมในวันนี้ ด้วยเรื่องที่ว่า มันมีเท่านี้เอง มันมีเท่านี้เอง อะไรมีเท่านี้เอง คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั่น มีเท่านี้เองๆ เท่านี้เองมีอย่างไร มีเป็นประโยคสั้นๆว่า อย่ามีตัวกูจะเกิดความทุกข์ อย่ามีตัวกูจะเกิดความทุกข์ ๘ พยางค์เท่านั้นแหละ คำสอนที่พระพุทธเจ้า ทรงสอนมาตั้ง ๔๕ ปีแล้ว มาจัดให้เป็น ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ นั่น มีหัวใจเท่านี้ อย่ามีตัวกูคือ อย่าเกิดตัวกูมันจะเกิดทุกข์ มันมีเท่านี้ ขอให้สนใจคำ ๘ พยางค์นี้ไว้เถอะ มันมีเท่านี้ แต่ทีนี้มันมีฝอยมาก ฝอยมาก ไปแยกแยะส่วนที่ เป็นฝอยๆ จนลืมส่วนที่เป็นหัวใจ
เรื่อง ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์นั้นไม่ใช่พระพุทธเจ้าตรัส ใครไม่รู้มันพูด มันบัญญัติกันขึ้นมา พระพุทธเจ้าตรัสว่าฉันพูดแต่เรื่องความทุกข์กับดับทุกข์เท่านั้น แต่ก่อนนี้ก็ดี เดี๋ยวนี้ก็ดีฉันบัญญัติเฉพาะเรื่องทุกข์กับดับทุกข์เท่านั้น ท่านตรัสเท่านี้ แล้วตรัสว่าทุกข์เกิดขึ้นเพราะมีตัวกู เมื่อไม่มีตัวกูก็ไม่เกิดทุกข์ ในบทบาลีว่า สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขาโดยสรุปแล้วเบญจขันธ์ที่มีอุปาทานนั่น อุปาทานว่าตัวกู เป็นตัวทุกข์ ไม่มีอุปาทานขันธ์คือไม่มีขันธ์ที่มีอุปาทานว่าตัวกูก็ไม่มีทุกข์ มันเรื่องมันเท่านั้น เรื่องอริยสัจก็เท่านี้ เรื่องปฏิจจสมุปบาทก็เท่านี้ ทุกข์กับดับทุกข์
ทุกข์คือเกิดตัวกู ดับทุกข์คือไม่เกิดตัวกูไม่มีตัวกูมีเท่านี้ แล้วก็เอามาพูดให้เป็น ๔๘,๐๐๐ ธรรมขันธ์ เรียนกันจนเหมือนกับบ้าหอบฟางมิดหัวมิดหูไม่มองเห็นตัวมันหอบฟางนั่น แล้วก็สำหรับไว้วัดกันไว้เถียงกันว่าใครผิดใครถูก เลยไม่มีโอกาส ไม่มีเวลาที่จะปฏิบัติธรรมะ เพราะมันเรียนอย่างบ้าหอบฟางแล้วก็เพื่อเถียงกันเอาชนะกันด้วยความรู้ ไม่มีเวลาที่จะปฏิบัติธรรมะ เพราะฉะนั้นอยากจะขอเสนอแนะว่าวันไหนเป็นวันล้ออายุแล้วก็ปฏิบัติธรรมะกันให้ถึงที่สุดเถิด เดี๋ยวนี้ยังทำไม่ได้เพราะยังไม่รู้จะทำอย่างไร เราก็จะพูดกันไว้เพื่อความเข้าใจ สำหรับจะทำไว้ปีหลังๆ ปีหน้า ถ้าไม่ตายเสีย เราจะจัดวันล้ออายุให้มันเต็มไปด้วย การปฏิบัติธรรมะ เพื่อให้ไม่เกิดตัวกู ควบคุมตัวกู ถอนความหลงว่าตัวกูออกไปเสียให้ได้ แล้วจะไม่มีความทุกข์โดยประการทั้งปวง
มีคำพูดจบใน ๘ พยางค์ อย่ามีตัวกูจะเกิดความทุกข์ หัวใจคำสอนของพระพุทธเจ้าสรุปได้อย่างนี้ เดี๋ยวนี้เรามีความทุกข์ เพราะมีตัวกู คือความยึดมั่นด้วยอุปาทานว่าตัวกู นี่เรียกว่าตัวกู ถ้ามีตัวกูชนิดนี้นะ ตัวกูที่เกิดมาจากอุปาทานนั่น ซึ่งมาจากตัณหา อวิชชาอีกต่อหนึ่งมันก็เป็นตัวกูที่เกิดความทุกข์ มีอายุอยู่ด้วยความรู้สึกว่าตัวกูนี้ มันมีความทุกข์ มันมีความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัวจนมันนอนหลับยาก มันเห็นแก่ตัวจนสงสัย จนผวา จนพะวงระแวงไปหมด จนนอนหลับยาก แล้วมันจะต้องเป็นบ้า หรือว่ามันหลงหนักเข้ามันก็ฆ่าตัวตาย นี่อาการเหล่านี้มาจากความเห็นแก่ตัว ด้วยอวิชชา แล้วมันก็จะพาลพาโลไปทำผู้อื่นให้เดือดร้อนด้วย มันเห็นแก่ตัวด้วยอำนาจของอวิชชาที่สร้างตัวกู ตัวกูๆ ขึ้นมา
ปัญหาทั้งโลกเต็มไปด้วย ความหมายแห่งความเห็นแก่ตัว ปัญหาทั้งโลก คุณจะหยิบเอามาสักกี่พันกี่หมื่นกี่แสน ดูเถอะปัญหาเหล่านั้น ถ้าไม่มีความเห็นแก่ตัว มันเกิดไม่ได้ ปัญหาทั้งหลายเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีความเห็นแก่ตัว เดี๋ยวนี้มันเห็นแก่ตัว ปัญหาเต็มไปหมด ปัญหาที่กำลังประสบกันอยู่ทางเศรษฐกิจ ทางการเมืองการปกครอง ทางอะไรก็ตาม รถยนต์คันงามๆ วิ่งไปตามถนน มีเปลือกผลไม้ขว้างออกมาทางหน้าต่างของรถยนต์คันนั้น นี่ยกตัวอย่างง่ายๆ ต่ำๆ นี่มันเป็นเรื่องของอะไร ทำไมถนนหนทางมันจึงรกไปหมด ติดขัดไปหมด เกะกะไม่หมด ถ้าสิ่งที่เป็นประโยชน์สาธารณะ มีคนฉกฉวยเอาไป มึงก็มึง กูก็กู นั่นแหละคือความเห็นแก่ตัว มันเป็นมึงเป็นกูโดยแน่นอน ถ้ามันมีความเห็นแก่ตัว
ฝ่ายซ้ายก็เห็นแก่ตัว ฝ่ายขวาก็เห็นแก่ตัว คอมมิวนิสต์ก็เห็นแก่ตัว เสรีประชาธิปไตยก็เห็นแก่ตัว ไอ้นอกนั้นก็เห็นแก่ตัว จนเป็นของธรรมดาไปจนไม่มีใครละอายใคร และคือว่ามันเห็นแก่ตัว เพราะมันเห็นแก่ตัวกันเสียทุกคนจนไม่ต้องละอายใคร จงดูเถอะปัญหาทั้งหมดมาจากความเห็นแก่ตัว ทำลายตัวเองให้เดือดร้อนทำผู้อื่นให้เดือดร้อนล้วนแต่มาจากความเห็นแก่ตัว หมดความเห็นแก่ตัวไม่มีปัญหา ความเห็นแก่ตัวนั้นแหละ สร้างปัญหาทั้งทางวัตถุ ทั้งทางร่างกาย ทั้งทางจิตใจ ทั้งทางสติปัญญา วัตถุเป็นปัญหารกรุงรังไปหมด
ร่างกายไม่มีสุขภาพอนามัยที่ดีทั้งที่มันเห็นแก่ตัว มันโง่เอาควันไฟไปรมปอดอย่างนี้ มันเห็นแก่ตัวมันจึงสูบบุหรี่ แล้วความเห็นแก่ตัวมันทำลายตัว มันโง่ไปกินเหล้าให้มันเกิดโรค ในภายในนี่มันเพราะความเห็นแก่ตัวมันจึงทำลายตัว ความเห็นแก่ตัวนี้มันทำลายตัวนั่นแหละ ส่วนที่มันทำลายผู้อื่นนั้นมันก็มีอีกมาก เพราะมันเห็นแก่ตัว
ประชาธิปไตย แท้จริงนั้นไม่ใช่สำหรับผู้เห็นแก่ตัว จะถือว่าพระเจ้าประทานมา ธรรมชาติให้มา หรืออะไรก็ตาม ประชาธิปไตยนั้นเขาไม่ได้ให้มาเพื่อผู้เห็นแก่ตัว ให้มาเพื่อกำจัดความเห็นแก่ตัว ช่วยกันกำจัดความเห็นแก่ตัว เป็นอยู่ด้วยความไม่เห็นแก่ตัว เดี๋ยวนี้มันพลัด ตกมาอยู่ในกำมือของผู้เห็นแก่ตัว มันก็เลือกผู้แทนด้วยความเห็นแก่ตัว รับจ้างเลือกมันก็ได้ผู้แทนที่เห็นแก่ตัว ได้ผู้เห็นแก่ตัวไปเป็นสภาผู้แทน มันก็เป็นสภาที่เห็นแก่ตัว ไปตั้งรัฐบาลก็เป็นรัฐบาลที่เห็นแก่ตัว มีฝ่ายค้านแยกออกมาก็ค้านด้วยความเห็นแก่ตัว จะเอาให้วินาศกูจะเป็นรัฐบาลเสียเอง มันไม่ใช่ค้านเพื่อให้ดีขึ้น ถูกต้องขึ้น แล้วอยู่ด้วยกัน มันไม่มี ความเห็นแก่ตัวมันเป็นอย่างนี้ ทั้งโลกหล่ะทั้งโลก
จนระบบฝ่ายค้านเป็นที่นิยมกันทั้งโลก ยกย่องมัน จากนั้นก็เปิดโอกาสให้เห็นแก่ตัว มันอาละวาด งั้นถ้าจะเป็นประชาธิปไตยกันแล้วก็ นึกข้อนี้มันไม่ได้มาให้มาสำหรับผู้เห็นแก่ตัว ให้มาสำหรับผู้ไม่เห็นแก่ตัว พร้อมเพรียงกันอยู่ในโลกเป็นระบบสังคมนิยม พอเอ่ยเป็นว่าสังคมนิยม คนก็หาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ถูกแล้วคอมมิวนิสต์เป็นสังคมนิยมที่ไม่มีธรรมะ ผู้ก่อตั้งก่อตั้งกำเนิดคอมมิวนิสต์ คาร์ล มาร์กซ์ เลนินอะไรก็ตามใจ มันไม่รู้พุทธศาสนา กลับหาว่าพุทธศาสนาเป็นยาเสพติด เพราะสมัยนั้นพุทธศาสนาที่ถูกต้องยังไม่เข้าไปสู่ประเทศนั้น ประเทศเยอรมันหรือประเทศอะไรก็ตาม พุทธศาสนากำจัดยาเสพติด เอาไปถูกจัดไว้เป็นศาสนาคือยาเสพติด ระบบสังคมนิยมนั้นไม่มีธรรมะใช้ไม่ได้ เป็นระบบธรรม เป็นสังคมนิยมที่มีธรรมะของพระพุทธเจ้าสิ
พระพุทธเจ้าท่านมีระบบสังคมนิยมเป็นการเป็นอยู่ เป็นการปกครอง แล้วประกอบไปด้วยธรรมะ เห็นแต่ประโยชน์ของทุกคน ด้วยมีธรรมะเป็นหลักเกณฑ์ นี่ถ้าเป็นประชาธิปไตยต้องเป็นอย่างนี้ คือเป็นสังคมนิยมที่ประกอบอยู่ด้วยธรรมะ เดี๋ยวนี้ มันเป็นไม่ได้ มันเป็นไม่ได้ เพราะเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัวเพราะมันบ้าตัว บ้าตัวกู มันก็คือบ้าอายุ หลงอายุ มัวเมาอายุ อย่างที่ว่ามาแล้ว ทีนี้ปัญหามันคาบเกี่ยวทั้งหมดอย่างนี้ ขอให้เรามาช่วยกันโค่นล้ม ไอ้ ตัวกูๆๆ อย่ามีตัวกูจะไม่เกิดทุกข์ พอมีตัวกูมันก็เกิดทุกข์ คำสอนมีเท่านี้จริงๆ จะขอพูดในวันนี้ ให้เป็นที่เข้าใจพอสมควรว่าคำสอนของพระพุทธเจ้ารู้แต่เพียงว่า อย่ามีตัวกูจะเกิดทุกข์ ไม่มีตัวกูไม่มีทุกข์เท่านี้ก็พอ ไม่ต้องเรียนชนิดจนบ้าหอบฟางไว้เถียงกัน ให้เสียเวลา
มันมีเท่านี้เองๆ คือมันมีเพียงกายกับใจ นามและรูป นามและรูป ไม่ต้องมีสิ่งที่เป็นตัวตนหรือเป็นอัตตา ไม่ต้องมีๆ อัตตา มีแต่นามและรูปมันก็ทำอะไรของมันได้ ในนามมันก็มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ในรูปมันมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ในนามก็มีใจ มันมีระบบความรู้สึก ประสาทตา ประสาทหู ประสาทจมูก ลิ้น กาย นี่มันทำอะไรของมันได้ โดยระบบประสาทนั้นไม่ต้องมีอัตตา ไอ้เจตภูติ ชีวะอาตมัน อะไรมาช่วยหรอก มันทำของมันได้ แม้แต่หญ้า ใบหญ้าระงับ มัน มันก็รู้จักระงับและรู้จักเบิกบานโดยไม่ต้องมีอัตตา โดยไม่ต้องมีตัวตน มันเป็นระบบของธรรมชาติมันก็มีได้ ไม่ต้องมีอัตตา นามหรือรูปมันก็มีได้ มันทำหน้าที่ของมันได้ มันก็มีชีวิตได้
ทีนี้ความรู้สึกว่าเป็นตัวกู อยู่ข้างในคอยทำหน้าที่ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั้นน่ะ มันก็เกิดขึ้นมาได้จริงๆ เหมือนกัน เกิดก่อนพุทธศาสนาเกิดสอนกันอยู่ในพวกที่ไม่ใช่พุทธศาสนา ชาวพุทธอย่าเอาระบบนั้นมาสวมเข้ากับพุทธศาสนา ว่ามีตัวตนหรือมีอัตตาคอยทำความรู้สึกที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้นไม่ใช่พุทธศาสนา ไม่ต้องมีตัวตนอย่างนั้นมันก็ทำหน้าที่ได้
เดี๋ยวนี้เรามี ตัวกูๆ ขึ้นมายึดมั่นถือมั่น เป็นสิ่งที่สำคัญ เรียกว่าปลุกผีขึ้นมา ตัวกูไม่มี แล้วก็ปลุกขึ้นมา ปลุกผีขึ้นมา เป็นเรื่องปลุกเสก ถ้าเรื่องปลุกเสกที่ไหนก็มีปลุกผีที่นั่นแหละ คือปลุกมายาที่ไม่มีตัวจริงให้เป็นจริงเป็นจังขึ้นมา ไม่ต้องมีอัตตา ร่างกายและจิตใจล้วนๆ ไม่ต้องมีอัตตา ก็ทำหน้าที่รู้สึกอะไรได้ แล้วก็รู้สึก จนช่วยตัวเองได้แหละ ไม่ต้องอ้อนวอนอัตตา ไม่ต้องเชื้อเชิญอัตตา ลัทธิที่ถือว่ามีอัตตานั้นมีอยู่ก่อนพระพุทธเจ้า สอนอยู่ในอินเดีย เขาก็เชื่อกันไปตามแบบนั้น มีจุดหมายปลายทางสูงสุดคือมี อัตตานิรันดร อัตตานิรันดร จะปฏิบัติกันให้ไปถึง ได้ไปอยู่กับอัตตานิรันดร พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมาท่านตรัสสอนว่าไม่ต้องมีอัตตา การไม่มีอัตตานั่นแหละเป็นความหมดปัญหานิรันดร ไม่มีตัวตนนิรันดรนั่นแหละเป็นนิพพาน ไม่ใช่มีตัวตนนิรันดรเป็นนิพพานเหมือนพวกอื่นโน้นเขาพูด การไม่มีตัวตนเด็ดขาดไปเลยไม่มีอีกต่อไปนั่นแหละเป็นนิพพานอันเป็นนิรันดร เป็นของนิรันดร
ขอให้รู้ว่าอะไรเป็นพุทธศาสนา อะไรไม่ใช่พุทธศาสนา พุทธศาสนามีเรื่องไม่มีตัวตน ไม่มีตัวกู ไม่มีความทุกข์ มีสั้นๆ เท่านี้ การเกิดความรู้สึกว่ามีตัวกูนั่นหล่ะมันเกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อตะกี้ยืนยันว่าในร่างกายจิตใจไม่ต้องมีตัวกูทำอะไรได้ พูดได้ คิดได้ นึกได้ ที่นี้จิตที่คิดนึกได้นั่นแหละมันคิดผิด มันหลงผิด มันเข้าใจผิด ด้วยความรู้ที่ผิดเข้าไปสวมเอา เป็นจิตที่เข้าใจผิด บอกล่วงหน้าไว้ทีก่อนว่า พอจิตเกิดความรู้สึกอะไรขึ้นมา เป็นความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา อวิชชาหรือความโง่ของจิต มันก็สร้างความคิดขึ้นมาว่ากูที่เป็นผู้รู้สึก กูนี่อวิชชาเพิ่งสร้างขึ้นมาหยกๆ เมื่อระบบประสาทมันรู้สึกเจ็บ ไอ้ความโง่คืออวิชชาก็สร้างตัวกูขึ้นมาว่าเป็นผู้รู้สึกเจ็บ
ความรู้สึกทุกชนิดกี่ร้อยอย่างกี่พันอย่างที่เกิดขึ้นในจิตใจมันรู้สึกได้ตามธรรมชาติ เมื่อถูกใจขึ้นมามันก็เกิดความรัก ไอ้ความโง่ก็สร้างตัวกูซึ่งเป็นผู้รักขึ้นมา มันบ้าเท่าไร มันโง่เท่าไร ในข้อที่ว่าตัวกูผู้รักมันเกิดทีหลังความรัก ผู้กระทำเกิดทีหลังการกระทำนี่เขาก็หาว่าผิด logic แต่ที่จริงมันเป็นอย่างนั้น เพราะระบบประสาทตามธรรมชาติ ให้เกิดความรู้สึกขึ้นมาเป็นไม่สบาย เป็นเจ็บ เป็นปวด หรือเป็นเผ็ด เป็นเค็ม เป็นขม เป็นอะไรก็ตามใจรู้สึกอย่างนั้นขึ้นมา ไอ้ความโง่มันก็สร้างความรู้สึกเป็นตัวตนขึ้นมาว่ากูรู้สึกอย่างนั้น เมื่อจิตตามธรรมชาติได้รับการปรุงแต่งตามธรรมชาติ เกิดความรู้สึก พอใจๆ ขึ้นมาตามธรรมชาติ อวิชชาก็สร้างตัวกูขึ้นมาเป็นผู้พอใจ ความรักตามธรรมชาติเกิดขึ้น ตามระบบประสาท ระบบจิตใจ เป็นความรักเกิดขึ้นมาแล้ว อวิชชาก็สร้าง ความคิด ความรู้สึกว่าตัวกูผู้รัก โกรธก็เหมือนกัน พอโกรธขึ้นมาแล้วมันจึงเกิดความรู้สึกว่าตัวกูผู้โกรธ ข้อนี้เข้าใจดี ดี เพราะมันเป็นของที่หลอกลวง มันเป็นของหลอกลวง ไอ้ความโกรธนั้นไม่มีตัวจริง มันเกิดตามธรรมชาติ ตามระบบประสาทรู้สึกอะไรก็ได้ แล้วความโง่มาสวมรอยว่ามีตัวกูผู้โกรธ ความรักก็ดี ความโกรธก็ดี ความเกลียดก็ดี ความกลัวก็ดี ความตื่นเต้นก็ดี วิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยา หวงหึงอะไรก็ดี มันเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยตามกฎของอิทัปปัจจยตาขึ้นมาในใจ อวิชชามันสร้างผู้ ผู้ ตัวผู้เป็นอย่างนั้นขึ้นมาทีหลัง นี่ตัวกู มันเกิดขึ้นมาได้อย่างนี้ ไม่ต้องมีไอ้ตัวตนที่เป็นตัวกูที่จะเป็นผู้รู้สึกอย่างนั้นอยู่ประจำเหมือนพวกอื่นเขาสอน ทางธรรมะ ทางพระพุทธศาสนานี่สอนอย่างนี้ อุปาทานว่าตัวกู เกิดขึ้นภายหลังความรู้สึก ที่เกิดขึ้นอย่างไร แล้วแต่ว่าพอใจหรือไม่พอใจคือแล้วแต่ว่ามันจะเป็นบวกหรือเป็นลบ ความรู้สึกในทางบวกมันก็เกิดตัวกูรู้สึกพอใจ ความรู้สึกในทางลบมันก็เกิดตัวกูผู้ไม่พอใจ ตัวกูที่เป็นเพียงมายาๆ มันเกิดขึ้นมาอย่างนี้ ถ้าเรียนวิทยาศาสตร์จะช่วยได้มาก ที่จะรู้เรื่องระบบประสาท ระบบการปรุงแต่งทางระบบประสาท ให้เกิดความรู้สึกอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมา โดยลำพัง ระบบ mechanic ทางประสาท ทางจิตใจในตัวมันเองไม่ต้องมีตัวกู ร่างกายก็ดี จิตใจก็ดี เคลื่อนไหวไปเป็นการกระทำได้ ตามความรู้สึกในตัวมันเอง ไม่ต้องมีอัตตา หรืออาตมัน หรือตัวตนที่ไหนมาผลักไสให้เป็นไป แต่ถ้าพอรู้สึกอย่างนั้นแล้วจิตโง่มันก็สร้างตัวตนขึ้นมาเป็นเจ้าของเรื่องทุกทีไป ไม่ว่ามันจะรู้สึกอย่างไร เคลื่อนไหวอย่างไร ทั้งที่ความรู้สึกหรือการเคลื่อนไหวนั้นเป็นไปได้ตามธรรมชาติ ตามเรื่องของ อิทัปปัจจยตา
รู้ไว้ดีๆ ว่าเรื่องอิทัปปัจจยตามันมาสอนเรื่องไม่มีตัวตน พอโง่ไปหลงไปว่ามีตัวตนมันก็ต้องเกิดทุกข์ ต้องรู้เท่าทันอย่าไปหลงกับมัน ความรู้สึกว่ามีตัวตนน่ะมันเกิดได้ ตามลำพังของมัน เด็กๆ เปิดฝาหลังนาฬิกา เช่นนาฬิกาพกออกดู เห็นมันกระตึ๊กๆๆ นั่นความรู้สึกก็เกิดขึ้นมาเองว่า มันมีชีวิตๆ มันมีตัวตน มันเดินได้ ไปลองคิดดู ความโง่นี้มันมาจากไหนหล่ะ ถ้ามันมีอัตตาตัวตนสิงอยู่ในจิตใจแล้วมันคงไม่โง่ว่านาฬิกามีชีวิตหรอก ทีนี้ความโง่นาฬิกามีชีวิตมันมีเดี๋ยวนั้น มันเกิดเดี๋ยวนั้น มันเข้าใจอย่างนั้นเพราะมันกระดุกกระดิกได้ เคยเป็นเด็กกันมาแล้ว แล้วคงจะเคยเปิดฝาหลังนาฬิกาดูแล้ว แล้วรู้สึกดูมันนี่มันมีชีวิต ความเกิดขึ้นอย่างหลอกลวงมายาที่สุดของตัวตน แล้วคนป่าเขาเห็นรถยนต์มันวิ่งไปได้โดยลำพัง เรือบินบินไปได้ตามลำพังคนป่าก็จะคิดว่า เออมันมีชีวิต มันมีตัวตน รถยนต์มันมีตัวตน ก็เคยแต่ขับเกวียนกับวัว ลากไป อันนี้ทำไมมันวิ่งไปได้ด้วยลำพังมันเอง คนป่าก็คิดว่ารถยนต์นี้มีตัวตน สัญชาตญาณมันก็มีหน้าที่ทำไปตามอำนาจสัญชาตญาณ ถ้ามันถูกปรุงแต่งเป็นความโง่มันก็โง่ ถ้ามันถูกปรุงแต่งเป็นฉลาดมันก็ฉลาด มันก็เป็นโพธิ
ยกตัวอย่างสักเรื่องว่า เด็กทารกเพิ่งสอนเดิน เดินได้นี่ มันเดินชนเสาชนเก้าอี้ มันเจ็บ มันก็ร้อง ด้วยความโกรธ โกรธเก้าอี้ มันก็เตะเก้าอี้ในฐานะที่เป็นศัตรูของกู เด็กอาจจะมีความรู้สึกว่าเก้าอี้เป็นศัตรูของกูขึ้นมาตามความโง่ เพราะว่ามันถูกปรุงมาด้วยความโง่ แล้วข้างพี่เลี้ยงก็ดีเหลือแสนช่วยตีเข้าไปอีก ช่วยตี กูช่วยตีด้วย เก้าอี้นี้ทำมึงเจ็บ กูช่วยตีด้วย บางทีก็เป็นพ่อแม่ด้วยซ้ำไป นี้เด็กมันเข้าโรงเรียน มิจฉาทิฐิสอนเป็นตัวกูๆ มาแล้วอย่างนี้ ไม่มีใครเคยบอกตามที่เป็นจริง มีแต่ช่วยกันสนับสนุนให้เกิดตัวกู ทำอะไรให้เด็กยึดถือสบาย ให้บอกว่าสบายของกู พ่อแม่ของกู เรือนของกู รถของกู อาหารของกู อะไรๆก็ล้วนแต่ของกู นี่มันเกิดความรู้สึกเป็นตัวกูได้ เพราะอวิชชา ได้โอกาสเข้าไปครอบงำสัญชาตญาณ ส่วนโพธิหรือสติปัญญานั้นยังไม่มีโอกาส พอเด็กคลอดมาจากท้องแม่ก็เริ่มเข้าโรงเรียนที่ถูกสอนให้มีตัวกูๆๆ ทั้งนั้น แล้วก็ถูกบำรุงบำเรอให้ได้รับของอร่อย ได้รับของพอใจไปทั้งนั้น ไม่มีใครบอกว่านี้มันทำให้โง่นะ มีแต่ว่าเอ้า มึงจะเอายังไง กูจะหามาให้ ซื้อมาให้แพงก็แพง ก็ไม่ว่า เพื่อให้เด็กเขาได้รับความพอใจจนเคยตัว เคยตัว กูต้องได้อย่างกู พอใจถูกใจเสมอ พอใจทีหนึ่ง มันก็เกิดกิเลสคือความรัก ความยึดถือ เพิ่มขึ้นทุกทีๆ มันก็หลงไปในทางบวกก่อนเป็นธรรมดา แล้วมันก็เกลียดในทางลบ มันก็จะฆ่า จะฟัน จะทำลาย ส่วนที่เป็นฝ่ายลบ มันจะหลงรักในทางฝ่ายที่เป็นบวก มันจะต้องเป็นอย่างนี้เรื่อยๆ ไปแหละ เรื่อยๆไป โตขึ้นๆ ตามลำดับ
นี้มีอุปมาดีที่ใครก็ไม่ทราบผูกขึ้นเรียกสอนกันมาว่า มันทิ้งพ่อแม่หนีตามโจรไป เด็กทุกคนโตขึ้นมาด้วยอาการที่เรียกว่า ทิ้งพ่อแม่หนีตามโจรไป คือไปฝ่ายกิเลส อวิชชา ตัณหา สนุกสนาน เอร็ดอร่อย ไม่สนใจว่าอย่างไรดี อย่างไรถูกต้อง อย่างไรไม่ควรทำไม่สนใจ อะไรอร่อยแก่ตัวกูแล้วก็ไปทางนั้น นี่หล่ะไปอยู่กับฝ่ายกิเลส เด็กโง่คนนั้นทิ้งพ่อแม่หนีตามโจรไป อยู่กับโจรยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง อ้าว, มันก็ทำอย่างโจร มันก็ได้รับความเจ็บปวด คือปฏิกิริยา ฝ่ายวิชชา ฝ่ายความถูกต้อง มันได้รับความเจ็บปวด คือความทุกข์ ถ้ามันมองเห็นอย่างนี้เป็นความทุกข์แล้วมันก็โอ้, ผิดแล้ว จะหนีโจรมาหาพ่อแม่แล้ว จะหนีกิเลส หนีตัณหา หนีความชั่วร้ายโง่เขลามาหาความถูกต้อง นี่เรื่องของปุถุชน ทิ้งพระพุทธเจ้า ทิ้งพระธรรม ทิ้งพระสงฆ์ตามโจรไปอยู่กับโจรพักหนึ่งก่อนแล้ว ได้รับความทุกข์เพียงพอแล้ว อ้าวผิดแล้วโว้ย ทิ้งโจรมาหาพระพุทธเจ้า ชีวิตมันเป็นอย่างนี้ มันน่าล้อหรือไม่น่าล้อ
ขอให้คิดดูเถิด ตัวกูตัวตนมันค่อยๆ เกิดขึ้นมาทีละนิดๆ ไม่ได้ติดมาแต่ในท้อง ใครบอกว่ากิเลสเกิดมาแต่ในท้องอาตมาไม่เชื่อ ใครอยากจะเชื่อก็ตามใจ เขาเชื่อกันว่ากิเลสเกิดมาแต่ในท้อง ผลกรรมผลอะไรมาแต่ในท้อง นี่ไม่เชื่อ มันเพิ่งเกิดเมื่อตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันทำหน้าที่ของมันแล้วเกิดความรู้สึกขึ้นมา นี่เราจะเห็นได้ว่า เราเกิดมาในท่ามกลาง อวิชชาหรือความมืดแล้วก็มืดๆๆ ไป หลงตามโจรไป หลงตามอวิชชาไปด้วยความสนุกสนับสนุนของคนที่เกิดก่อน พี่เลี้ยงก็ดี พ่อแม่ก็ดี สนับสนุนในทางให้มีตัวกูของกูทั้งนั้น ไม่มีใครมาแนะว่านี่มันเรื่องร้ายนะ หาให้เล่นแพงๆ สวยๆ ให้กินอร่อยให้สนุกสนานตามใจไปนี่ นี่มันทำให้ เด็กน้อยหนีพ่อแม่ตามโจรไป โดยการสนับสนุนของพ่อแม่ โดยไม่รู้สึกตัว ชีวิตมันเป็นอย่างนี้ มันน่าล้อหรือไม่น่าล้อ
ธรรมะของพระพุทธเจ้าสอนแต่เรื่องไม่มีตัว เป็นเพียงกิริยาการปรุงแต่งของสังขาร ที่เป็นส่วนประกอบของสิ่งนั้นๆ นั้นคือเรื่องปฏิจจสมุปบาท สอนว่ามันไม่ใช่มีตัวกู มันเป็นตัวกูที่แท้จริงมันไม่มี มันมีแต่ความรู้สึก ตัวกูที่เป็นความรู้สึกของความโง่ที่เป็นอวิชชา พอตัวกูอย่างนี้เกิดขึ้นมา มันก็เป็นความทุกข์ เกิดในอันไหนก็เป็นความทุกข์ในเรื่องนั้นแหละ โดยหลักใหญ่ว่า เกิดในขันธ์ทั้ง ๕ เกิดในรูปก็เป็นทุกข์เพราะรูป เกิดในเวทนาก็เป็นทุกข์เพราะเวทนา เกิดในสัญญาก็เป็นทุกข์เพราะสัญญา เกิดในสังขารก็เป็นทุกข์เพราะสังขาร เกิดในวิญญาณก็เป็นทุกข์เพราะวิญญาณ
ขันธ์ ๕ นี้มันต้องเกิดตามธรรมชาติตามธรรมดา ของสัตว์ที่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รู้สึกได้อยู่ แต่มันไม่เกิดเป็นเพียงขันธ์ ๕ เฉยๆ เป็นขันธ์ ๕ เฉยๆไม่มีปัญหาอะไร แต่มันมีความโง่หรืออวิชชา ไปเอามาเป็นของกูยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทานว่าตัวกู ว่าของกู มันก็กัดเอา นี้เรียกว่ามันกัดเจ้าของ ชีวิตชนิดโง่ นี่ชีวิตโง่ๆ ไม่มีความรู้เรื่องนี้มันกัดเจ้าของ เราจะต้องมาให้การศึกษาฝึกฝนให้มันหายโง่ จะมีชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของ ขอยกตัวอย่างสักนิดแม้จะเสียเวลาไปบ้าง คือปฏิจจสมุปบาทที่พระพุทธเจ้า ท่านทรงเอามาท่อง จะเรียกว่าท่องก็ไม่ถูก เรียกว่าสาธยาย นี่เป็นของแปลกนะท่านทั้งหลายอาจไม่เคยได้ยินว่า แม้แต่พระพุทธเจ้า ท่านก็ยังเอาเรื่องปฏิจจสมุปบาท มาสาธยาย คล้ายๆ กับว่ากันลืมแต่ท่านไม่ทีทางลืม ไม่ลืมหรอก เหมือนกับเด็กท่องสูตรคูณนั้นก็กันลืม แต่พระพุทธเจ้าท่านสาธยายปฏิจจสมุปบาท มันคล้ายกับว่ามันเป็นเรื่องสบายใจ พอใจ ธรรมะสูงสุดทำให้พอใจ เรื่องโพชฌงค์ เรื่องปฏิจจสมุปบาท เรื่องสัญญาสิบนี้ ถ้าเอาไปสาธยายให้แก่ผู้ฟังถูก คนนั้นจะหาย หายๆ หายเจ็บหายไข้ทันที เรื่องคิริมานนท์ เรื่องอะไรก็ดี เรื่องพระพุทธเจ้าเองก็ดี เมื่ออาพาธลงไปมีผู้สาธยายโพชฌงค์ให้ฟัง มันก็หายเจ็บทันที หายเจ็บได้แต่ผู้ฟังถูกเท่านั้น เพราะฉะนั้นสวดโพชฌงค์ให้หายเจ็บได้แต่ผู้เป็นพระอรหันต์เท่านั้นแหละ ปุถุชนบ้าๆ บอๆ ก็ทำพอเป็นพิธีไม่มีทางหายหรอก แต่ถ้าเป็นพระอริยเจ้า เอาเรื่องปฏิจจสมุปบาท เรื่องโพชฌงค์มาพูด ท่านเข้าใจท่านรู้แล้ว เห็นแจ้งแล้ว ความสบายใจธรรมะปีตินี่ขับไล่โรคภัยออกไป พระอรหันต์เจ็บไข้เอาเรื่องโพชฌงค์มาสวดให้ฟังพระพุทธเจ้าเองอาพาธ ตรัสให้สวดโพชฌงค์เหล่านี้มันมีเหตุผล มันแก้โรคได้เฉพาะผู้ที่ฟังถูก ปุถุชนมันฟังไม่ถูก มันไม่รู้เรื่องตัวกูว่าเหตุเกิดทุกข์เป็นอย่างไร แต่พระอริยเจ้าทั้งหลายท่าน ฟังถูกๆ จนพอใจ มีความพอใจในพระรัตนตรัยสูงสุด เป็นธรรมะปีติขับไล่โรคภัยไข้เจ็บหายไป แต่เราก็เอามาทำเป็น พิธีๆ สวดโพชฌงค์ ให้คนเจ็บฟัง พรุ่งนี้ก็เอาใส่โลง มันเป็นอย่างนี้มันใช้แทนกันไม่ได้
ธรรมะสูงสุดนั้น ทำให้เกิดความประทับใจพอใจ ถึงขนาดที่พระพุทธเจ้า ยังทรงเอามาสาธยายเอง เราเรียกเอาตามชอบใจเราว่า ปฏิจจสมุปบาทแบบนี้ที่พระพุทธเจ้าเอามาทรงสาธยายเองนี้เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาทแบบฮัมเพลง ปากมันอยู่นิ่งไม่ได้ มันจะต้องฮัมเพลงอะไรเรื่อยๆไปพระอรหันต์ลองฮัมเพลงโดยเลือกปฏิจจสมุปบาท
วันหนึ่งพระพุทธองค์ ประทับอยู่องค์เดียวโดย เข้าใจว่าประทับอยู่องค์เดียว ก็ฮัมเพลงเรื่องปฏิจจสมุปบาท จกฺขุญฺจ ปฏิจฺจ รูเป จอุปฺปชฺชติ จกฺขุวิญฺญาณํ ติณฺณํ ธมมาณํ สงฺคติ ผสฺโส ผัสสะปัจจะยา เวทนา เวทะนายะปัจจะยา ตัณหา ตัณหาปัจจะยา อุปาทานัง อุปาทานะปัจจะยา ภะโว ภะวะปัจจะยา นาทีที่ 01.29.26 (ภาษาบาลี) อย่างที่ได้ยินได้ฟังนั้นหน่ะท่านว่าเรื่องตา จบแล้วก็ว่าเรื่องหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ครบทั้ง ๖ ชุด นี้เรียกว่าท่านสาธยายปฏิจจสมุปบาท ด้วยเรื่องอะไร ด้วยเรื่องอะไร มีอะไรเป็นต้นเหตุ เพราะว่าพระพุทธเจ้านี่ท่านคุ้นเคยกับปฏิจจสมุปบาท เหลือประมาณ การตรัสรู้ในวันตรัสรู้ทั้งสามยามนั้น คือ พิจารณาปฏิจจสมุปบาท แล้วก็มาสอนอยู่ตลอดเวลา จนเป็นที่พอพระหฤทัยประทับใจในกฎเกณฑ์หลักธรรมชาติอันนี้ จึงถึงกับเอามาสาธยาย เหมือนกับคนเราร้องเพลงเล่นยามสบายใจ ทีนี้ภิกษุองค์หนึ่งเผอิญไปแอบอยู่ข้างหลัง แอบฟังอยู่ข้างหลัง พระพุทธเจ้าทรงเหลียวไปก็ อ้าว แกมาอยู่ที่นี่เหรอ เอาไปๆๆ ให้รับเอาไป อุคัณหติ อุคัณหตะ(นาทีที่ 01.30.55) ถือเอาไป นี้คืออาทิพรหมจรรย์ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่านี้คือ อาทิพรหมจรรย์ เรื่องปฏิจจสมุปบาทนั่นหล่ะ อาทิพรหมจรรย์ คือเงื่อนต้นของพรหมจรรย์ที่บรรลุมรรคผลนิพพาน แล้วอาทิพรหมจรรย์ถึงขนาดที่ว่า อาศัยตากับรูป เกิดจักษุวิญญาณ สามประการนี้อยู่ด้วยกันเรียกว่าผัสสะ ผัสสะเกิดเวทนา เวทนาเกิดตัณหา ตัณหาเกิดอุปาทานจนเกิดทุกข์นี่อาทิพรหมจรรย์ แต่เราก็ไม่ยอมรับออกมาเป็นอาทิพรหมจรรย์
เอามาพูดกันเสียว่า ยากๆ อย่าเอามาสอน อย่าเอามาสอน พระเถระแก่ๆ เก่าๆ จะห้ามสอนเรื่องปฏิจจสมุปบาท ทั้งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นอาทิพรหมจรรย์ นี่ปฏิจจสมุปบาทเป็นอย่างนี้ บอกให้เห็นว่าด้วยตากับรูปกระทบกันจึงเกิดจักษุวิญญาณ ไม่ใช่วิญญาณมีอยู่แล้ว เจตภูตมีอยู่แล้ว อาตมันมีอยู่แล้ว สิ่งที่เรียกว่าวิญญาณนั้นเพิ่งมีหยกๆ เมื่ออายตนะภายนอกกับอายตนะภายในมาถึงกันเข้า ดังนั้นวิญญาณจึงเกิดดับๆๆ เปลี่ยนเรื่องอยู่เสมอ นี่คือความไม่มีตัวตน อัตตาตัวตนในพระพุทธศาสนา มีแต่การปรุงแต่งเปลี่ยนแปลงแห่งสังขารทั้งหลายทั้งปวง ในลักษณะที่เป็นอายตนะภายใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจก็ดี ในลักษณะที่เป็นอายตนะภายนอกรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะก็ดี เป็นเพียงเท่านี้มันไม่มีตัวกู แต่ทีนี้มันก็เป็นอย่างที่ว่ามาแล้วนะ มันมีอวิชชานี่หมายถึงคนธรรมดาสามัญเด็กทารกนะ ถ้า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของมันทำหน้าที่ในลักษณะปฏิจจสมุปบาทอยู่เสมอนี่ มันก็ต้องมีความทุกข์ ทุกทีที่มีปฏิจจสมุปบาทเป็นไปจนถึงกับว่า มีอุปาทานเป็นปัจจัย .. ชะรา โสกะ ปริเทวะ (นาทีที่ 01.33.06) ทุกข์ทั้งปวง ทุกข์ทั้งปวงเกิดขึ้นเพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย
ท่านสอนเรื่องปฏิจจสมุปบาทไว้ ด้วยความมุ่งหมายที่สำคัญว่า ให้รู้ว่ามันไม่มีตัวกู แล้วก็ทรงสอนให้รู้ว่าจะป้องกันไม่ให้เกิดตัวกูได้อย่างไร ตอนต้นนั่นแหละ อายตนะภายในภายนอกถึงกันเกิดจักษุวิญญาณ สามประการคืออายตนะภายนอก ภายใน กับวิญญาณ สามประการนี้ถึงกันอยู่ ทำหน้าที่อยู่เรียกว่าผัสสะ ผัสสะนั้นมันไม่มีวิชชา มันมีอวิชชา มันเป็นผัสสะโง่ มันเกิดเวทนาโง่ ตัณหาโง่ อุปาทานโง่ โง่จนมีความทุกข์ ถ้าจะไม่ให้เกิดทุกข์ก็ต้องทำให้ไม่เกิดตัวกู เรื่องปฏิจจสมุปบาทเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เป็นตัวพระพุทธศาสนา บอกเรื่องความไม่มีตัวกู และวิธีที่จะป้องกันไม่ให้เกิดตัวกูที่เป็นผี ขึ้นมาในจิตใจ นี่จงดูให้ดีว่าเรื่องปฏิจจสมุปบาท สอนเรื่องไม่มีตัวกู ไม่มีตัวตน แม้จะเป็นเรื่องอริยสัจก็สอนเรื่องทุกข์ และเหตุที่เกิดทุกข์ คือตัณหา ถ้าตัณหาก็ต้องมีอุปาทาน อุปาทานก็เป็นตัวตน ไม่ใช่มีผีสางที่ไหนมาเป็นสมุทัยให้เกิดทุกข์ ไม่มีตัวตนอัตตาที่ไหนมาเป็นต้นเหตุให้เกิดทุกข์ มันมีอวิชชา สร้างตัวตนมายา ลมๆ แล้งๆ ขึ้นมา ตั้งต้นแต่เริ่มตัณหา ผัสสะโง่ไม่มีสติปัญญา เวทนาก็โง่ เวทนาโง่ก็สร้างตัณหา ความต้องการที่โง่ขึ้นมา นั่นเรียกว่าตัณหาความอยากด้วยอำนาจอวิชชา นี่ ตัวตนๆ หรือตัวกู นี่มันไม่มีตัวตนตัวจริง มันมีมายาเป็นเพียงมายาของจิต เป็นเพียงความคิดของจิต มันก็เกิดความรู้สึกเป็นอุปาทานว่ามีตัวกู ในรูปบ้าง ในเวทนาบ้าง ในสัญญาบ้าง ในสังขารบ้าง ในวิญญาณบ้าง แล้วแต่ว่าในกรณีไหน มันกำลังเกิดอะไรอยู่ จิตใจไปสนใจที่รูปที่ร่างกาย โอ้ มันทำอะไรๆ ได้ เอ้า, ตัวตนที่ร่างกาย เวทนามันรู้สึกสุขทุกข์ได้ เอ้า, มันก็เวทนาตัวตนที่เวทนา สัญญาสำคัญมั่นหมายเป็นนี่เป็นนู่น เอ้า, ตัวตนอยู่ที่สัญญา สังขารคิดนึกอย่างนั้นอย่างนี้ได้ โอ้, ตัวตนอยู่ที่สังขาร ส่วนวิญญาณนั้นมันเกิดหลายหนหลายทีมันรู้แจ้งอารมณ์ได้มันก็เลยเป็นตัวตน เข้าใจว่าเป็นตัวตน นี่ตัวตนมันเกิดขึ้นมาในขันธ์ทั้ง๕ ปัญจุปาทา เกิดเมื่อไรเป็นทุกข์ทันทีทุกที นี่เรียกว่า สิ่งที่มิได้เป็นตัวตนเอามาถือเป็นตัวตน แล้วมันก็กัดเอา สมน้ำหน้าคนโง่ มันก็เป็นเรื่องที่จะต้องรู้ให้ถูกต้องไว้ อย่าให้มันเกิดตัวตนขึ้นมา แล้วมันก็จะกัดเอา
เดี๋ยวนี้เราไปขยายเรื่องประกอบ เรื่องฝอยของคำว่ารูป ว่าเวทนา สัญญา สังขารอะไรต่างๆ นานา ไกลออกไปๆ มีปัญหามากออกไป เกินขอบเขตจนมีปัญหาเรื่องชาติหน้า เรื่องชาติหน้า เรื่องชาติหลังเรื่องอะไรเหล่านี้ มันเป็นเรื่องเป็นเรื่องเนื้องอก เนื้องอกไม่ใช่เรื่องตัวจริง พระพุทธเจ้าก็ไม่เคยสอน แต่คนก็เอามาสอน คนชั้นหลังมันเอามาสอน
พระพุทธเจ้าตรัสว่าทำให้ถูกต้องที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่มีทุกข์ ทำผิดที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีนรก ทำถูกที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีสวรรค์ สวรรค์ในความหมายที่ไม่เป็นทุกข์ แต่เราก็ไม่ชอบ เราชอบมีตัวตนไปสวรรค์ ถ้าตายแล้วไปนรก ถ้าตายแล้วมันเป็นเรื่องอื่นไม่ใช่พุทธศาสนา พุทธศาสนามีนรกเมื่อเกิดตัวกู มีสวรรค์หรือนิพพานเมื่อไม่เกิดตัวกู
สวรรค์นี่ขอจำกัดความหมายว่าไม่ใช่สวรรค์กามคุณ ไม่ใช่สวรรค์กามารมณ์ เอาแต่เพียงว่ามันไม่มีทุกข์ มีทุกข์น้อย แล้วนิพพานก็ไม่มีความทุกข์เลย มีตัวกูเมื่อไรก็มีนรกเมื่อนั้น ไม่มีตัวกูก็ไม่มีทุกข์อยู่ในสภาพที่เรียกว่าสวรรค์หรือนิพพานก็แล้วแต่จะเรียก
พระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ ใครเรียนได้ เอาคอมพิวเตอร์มาช่วยเก็บมันก็โง่ยิ่งขึ้น เพราะคอมพิวเตอร์มันบอกไม่ได้ว่าอย่างไรเป็นทุกข์ อย่างไรดับทุกข์ อย่างไรดี อย่างไรชั่ว อย่างไรผิด อย่างไรถูก มันบอกไม่ได้ คอมพิวเตอร์มันก็ยักษ์ตาบอด ใช้ช่วยจำเท่านั้นเอง มันไม่มีสติปัญญาจะบอกอะไรได้ หัวสมองของเรานี่มันจะบอกว่าอะไรผิด อะไรถูก อะไรดี อะไรชั่ว อะไรทุกข์ อะไรไม่ทุกข์ ขอให้อบรมพอกพูนสติปัญญาให้แก่มันสมอง พระไตรปิฎกตั้ง๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ เรียน ๘ พยางค์พอ เมื่อใดเกิดตัวกูเมื่อนั้นมีทุกข์ เท่านี้ มีเท่านี้พระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ เหลือเพียง ๘ พยางค์ว่า เมื่อใดมีตัวกูเมื่อนั้นมีทุกข์ หรือว่าไม่มีทุกข์เมื่อไม่มีตัวกู หรือมีทุกข์เมื่อมีตัวกูก็ได้ เพียงเท่านี้มันเป็นทั้งหมดของพระไตรปิฎก มีเท่านี้เองที่ต้องเรียนต้องรู้ ว่านามและรูป หรือเบญจขันธ์ก็ตาม มันทำอะไรของมันได้ตามธรรมชาติโดยไม่ต้องมีตัวตน เรียนเท่านี้พอ เรียนให้รู้ว่าไม่มีตัวตนในรูปในนามหรือในขันธ์ทั้ง ๕ อย่าให้เกิดความรู้สึกว่าตัวตนเกิดขึ้น มันเกิดความรู้สึกเป็นขันธ์ ๕ ก็เป็นขันธ์ ๕ มันก็รู้จักคิดนึกอะไรไปตามขันธ์ ๕ แต่อย่าเอามาเป็นตัวกู พอเอามาเป็นตัวกู มันก็กัดเอาๆ มันกัดเจ้าของ ขึ้นชื่อว่าตัวกูแล้วมันกัดเจ้าของ มันเป็นสัตว์เนรคุณ อย่าไปหลงไปบูชาอะไรกับมัน สิ่งที่เรียกว่าอุปาทาน เป็นตัวกู เป็นของกูนี้อย่าไปเอากับมัน
ในที่สุดก็จะมองให้ชัดลงไปว่า มันอยู่ที่จิตสิ่งเดียว จิตโง่หรือจิตฉลาด จิตมีกิเลสหรือจิตไม่มีกิเลส จิตนั้นก็เป็นสักว่าจิต รู้สึกคิดนึกได้ตามธรรมชาติของจิต เป็นไปตามสิ่งที่แวดล้อม แวดล้อมให้โง่เป็นจิตโง่ แวดล้อมให้ฉลาดก็เป็นจิตฉลาด สัญชาตญาณนั้นเป็นกลางๆ ถูกแวดล้อมให้เกิดเป็นกิเลสก็ได้ ให้เกิดเป็นโพธิก็ได้ นี่จิตอย่างเดียวที่ไม่เป็นอะไร ไม่ดีไม่ชั่วไม่อะไร มันถูกแวดล้อมปรุงแต่งด้วยสิ่งแวดล้อมให้เป็นจิตโง่ก็ได้ เป็นจิตฉลาดก็ได้ ถ้าเป็นจิตโง่แล้ว มันก็สร้างตัวกู ตัวกูของกูขึ้นมา แล้วก็มันกัดเจ้าของสมน้ำหน้ามันไอ้จิตโง่ มันสร้างตัวกูขึ้นมาแล้วมันก็กัดตัวเอง เรารู้ความจริงข้อนี้ว่ามันมีเพียงเท่านี้ขอร้องให้เรียนเพียงเท่านี้ ใจความมันมีอยู่เพียงเท่านี้แม้พระไตรปิฎกจะมีตั้ง ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์
อาตมาก็เขียนหนังสือให้อ่านตั้งหลายสิบเล่มแล้วขอสารภาพว่าบ้าเหมือนกันแหละ ทำให้เสียเวลามากเกินไป แต่ก็ทำไปด้วยความหวังดีรวบรวมให้มันหมด แต่ถ้าใครเข้าใจอ่านหนังสือตั้งหลายสิบเล่มนั้น รู้แล้วจะสรุปความเหลือเพียงว่าอย่าเกิดตัวกูมันจะเกิดทุกข์ มีเท่านี้เองสิ่งที่ต้องรู้มีเท่านี้เอง
ความรู้สึกอะไรอร่อยหรือไม่อร่อย มันรู้สึกได้ตามธรรมชาติของไอ้ระบบประสาท ของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี่ แต่แล้วความรู้สึกพอใจหรือไม่พอใจนั้นเป็นเรื่องโง่ เป็นเรื่องเกิดทีหลังด้วยอำนาจจิตโง่ ถ้าอร่อยหล่ะก็พอใจ ไม่อร่อยหล่ะก็ไม่พอใจนี้เป็นเรื่องของจิตโง่ แต่ถ้ารู้เพียงว่านี้อร่อยนี้ไม่อร่อยก็เป็นเรื่องธรรมดายังไม่เกิดทุกข์ เป็นเรื่องของจิตของสัญชาตญาณตามธรรมดาก็พอรู้ได้ว่านี่อร่อยหรือนี่ไม่อร่อย แต่เดี๋ยวนี้มันไม่เป็นอย่างนั้นพออร่อยแล้วมันเกิด ความรู้สึกที่เป็นกิเลสเป็นตัวกูบวก มันจะเอา มันจะได้ มันจะยึดครอง พอไม่อร่อยมันเกิดตัวกูลบ มันอยากจะฆ่า อยากจะทำลาย
พระอรหันต์บรรลุนิพพานด้วย "สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ" นั้น บาลีก็บอกชัดว่าท่านยังรู้สึกเวทนาเป็นสุขเป็นทุกข์ มนาปา มนาปํ นี่ยังรู้สึกพอใจว่าอย่างนี้ คือสิ่งที่เขาเรียกกันว่าสุขหรือทุกข์ พอใจหรือไม่พอใจ แต่แล้วท่านหยุด ความคิดชะงักเพียงเท่านั้น ไม่เกิดตัวกูบวกไม่เกิดตัวกูลบ อย่างนี้เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ
นิพพานธาตุพระอรหันต์ ประเภทที่ ๒ เป็น "อนุปาทิเสส" นั้นคือไม่เกิดรู้สึกเป็นบวกหรือเป็นลบเลย ไม่รู้สึกสุขทุกข์ พอใจไม่พอใจอะไรเลยนี้มันหมดปัญหา นี่เรียกว่าเวทนาเย็นสนิท แต่เวทนาของนิพพาน สอุปาทิเสสนิพพานยังไม่เย็นสนิทยังมีความรู้สึกว่านี้อร่อยนี้ไม่อร่อย แต่แล้วด้วยความที่ไม่เกิดตัวกูไม่เกิดกิเลสมันก็หยุดกันเพียงเท่านั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ความสิ้นกิเลสของผู้นั้นคือ สอุปาทิเสสนิพพานธาตุของผู้นั้น
แต่นี้เรามันเกิดตัวกู ด้วยความรู้สึกพอใจไม่พอใจไปเสียทุกกรณีทุกอย่างไม่บวกก็ลบ เกิดตัวกูบวกมันก็กัดเอาอย่างบวก เกิดตัวกูลบมันก็กัดเอาอย่างลบ ต้องใช้คำหยาบคายว่าสมน้ำหน้ามัน ที่มันอยากมีตัวกูเป็นบวกหรือเป็นลบ ไม่รู้สึกเป็นตัวกูมันก็ไม่มี ไม่มีปัญหา มันเพียงรู้สึกบวกรู้สึกลบเท่านั้นมันยังไม่พอ มันปรุงเป็นรูปแบบต่างๆ กัน ตัวกูบวกมันก็เกิดเป็นความรู้สึกกิเลสประเภทบวกคือราคะ หรือโลภะ กิเลสประเภทนี้จะเอาเข้ามา จะยึดครอง จะรัก จะถนอม ถ้ามันไม่ถูกใจจะเกิดตัวกูลบ มันก็เกิดกิเลสประเภทโทสะ โกรธะ ประทุษร้ายจะฆ่าเสียให้ตาย แต่ถ้ามันยังไม่แน่เป็นบวกเป็นลบมันก็เกิดโมหะสงสัย ระแวงสงสัยวิ่งตามอยู่นั่นแหละ จะวิ่งอยู่รอบๆ จะฆ่าก็ไม่ฆ่า จะรักจะเอาก็ไม่เอานี่มันเป็นโมหะ หลงใหลสงสัยอยู่ในความสงสัยไม่รู้ว่าจะจัดจะทำอย่างไรกับสิ่งเหล่านั้น กิเลสทั้งสามประเภทนี่ มันมาจากตัวกู ที่หลงเป็นบวกหรือเป็นลบขึ้นมาแล้ว
ขอย้ำอีกทีว่าตัวกูบวกให้เกิดกิเลสประเภทบวกคือโลภะ โทสะ ตัวกูลบให้เกิดกิเลสประเภทลบคือโทสะหรือโกรธะ ตัวกูที่ไม่แน่ว่าบวกหรือลบให้เกิดโมหะ กิเลสทั้งหลายเกิดมาจาก ความรู้สึกที่เป็นตัวกู ถ้ายังไม่เกิดความรู้สึกเป็นตัวกูก็ยังไม่เกิดกิเลส หรือไม่เกิดทุกข์ นั้นขันธ์ล้วนๆ รูป เวทนา สัญญา สังขารล้วนๆ ยังไม่ถูกยึดถือเป็นตัวตนเป็นตัวกูเป็นอุปาทานนั้นไม่เป็นทุกข์
ขันธ์ทั้ง ๕ ที่ไม่เป็นทุกข์นั้นเกิดอยู่เป็นประจำ แต่เมื่อใดไปยึดถือเป็นตัวกูเข้ามันก็เกิดทุกข์ทันทีไม่ว่าขันธ์ไหน นี่กิเลสเกิดขึ้นเพราะตัวกู บวกตัวกูลบ ไปโง่ต่ออารมณ์นั้นๆ บวกหรือลบเป็นภาษาวิทยาศาสตร์ ในพระบาลีแท้ๆเรียกว่าอภิชฌาและโทมนัส ไม่ได้ใช้คำว่าดีใจ เสียใจ สุข ทุกข์ ท่านใช้คำว่าอภิชฌาและโทมนัส พระพุทธเจ้าตรัสคำสองคำนี้ว่าอภิชฌาและโทมนัส นี่ตรงกับความหมายของคำว่าบวกหรือลบ ที่เราพูดกันตามธรรมดาว่ายินดี ยินร้าย พอใจ ไม่พอใจ สุข ทุกข์นั่น พระพุทธเจ้าท่านใช้คำว่าอภิชชาและโทมนัส อภิชฌาคือตัวกูบวกมันจะเอา โทมนัสคือตัวกูลบมันจะฆ่าเสียมันจะไม่เอา
อาตาปี สมฺปชาโน สติมา วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ อาตาปี สมฺปชาโน สติมา วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกซะได้ด้วยความเพียรมีสติสัมปชัญญะ นี่ช่วยจำกันไว้ด้วย พระพุทธเจ้าท่านก็สอนเรื่องนี้เหมือนกัน เรียกว่าอภิชชาและโทมนัส คือตัวกูบวกและตัวกูลบเอาออกไปเสียทั้งหมด ปัญหาหมด เจริญสติปัฏฐานเพื่อนำออกเสียซึ่งอภิชชาและโทมนัส ปฏิบัติเพื่อนำออกเสียซึ่งอภิชชาและโทมนัสก็เท่ากับว่า นำออกเสียซึ่งความรู้สึกที่เป็นบวกและลบ อย่ามีตัวกูที่เป็นบวกและเป็นลบ เมื่อมีตัวกูที่เป็นบวกเป็นลบแล้วก็ต้องเกิดกิเลส ถ้ากิเลสนั้นลุกล้ำเข้าไปในใจ ก็ทำลายจิตใจ ทำลายความสงบสุข หรือภาวะปกติของจิตใจ แต่ว่าจิตใจมันก็สูญเสียภาวะอันนี้ไปแล้วตั้งแต่เริ่มเกิดกิเลส เราจงรู้จักว่า กิเลสๆ นั้นคือสิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์ เพราะมันมาจากตัวกู มาจากตัวตน เมื่อมาจากตัวตนมันก็ต้องเห็นแก่ตน เมื่อเห็นแก่ตนแล้วมันก็ทำอะไรไปตามอำนาจของความเห็นแก่ตน จุดศูนย์กลางหรือจุดตั้งต้นแท้ๆ คือความรู้สึกว่ามีตัวกู คือมีตัวตน แล้วมันก็จะเห็นแก่ตัวตน แล้วมันก็จะทำทุกอย่าง กิเลสกี่ร้อยกี่พันอย่างมาจากความเห็นแก่ตัวกู เพราะมีเพราะว่ามีตัวกู
ขอเวลา แจกสักเล็กน้อยว่า ปัญหาที่เราประสบกันอยู่เป็นประจำวันของปุถุชนคนธรรมดาสามัญ ก็คือ ความรู้สึก ความรัก เกิดเมื่อไรกัดเมื่อนั้น ความรู้สึกโกรธเกิดเมื่อไรกัดเมื่อนั้น ความรู้สึกเกลียดเกิดเมื่อไรกัดเมื่อนั้น ความรู้สึกกลัวเกิดเมื่อไรกัดเมื่อนั้น ความรู้สึกตื่นเต้น ตื่นเต้นไปตามอารมณ์เพียงแต่ความตื่นเต้นนี่ก็ กัดๆ อย่างยิ่งอยู่สงบไม่ได้ วิตกกังวลกัดเมื่อนั้น อาลัยอาวรณ์กัดเมื่อนั้น อิจฉาริษยากัดเมื่อนั้น หึง หวงกัดเมื่อนั้น นี่ขอให้พิจารณาดูตัวอย่างเพียงไม่กี่คำนี่ มันมีมากกว่านี้มาก เพราะมันเป็นปัญหาเท่าไร ถ้าเราไม่มีความรู้สึกเหล่านี้จะสบายสักเท่าไร ไม่มีเรื่องรัก โกรธ เกลียด กลัว ตื่นเต้น วิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยา หวงหึงเหล่านี้ ถ้าไม่มีความรู้สึกเหล่านี้มันจะมีความสงบเย็นสักเท่าไร
สิ่งเหล่านี้คือไฟคือความร้อน กัดแล้วก็ไปเรียกว่าความทุกข์ ไม่มีสิ่งเหล่านี้ก็ไม่มีความร้อนไม่มีความทุกข์ ความดับไปเสียซึ่งสิ่งเหล่านี้เรียกว่านิพพานโดยสมบูรณ์ ถ้าชั่วครั้งชั่วคราวพอเป็นไปได้ในโลกนี้ก็เรียกว่า นิพพุติๆ ซึ่งพระให้ศีลเมื่อไรก็บอกเรื่องนี้เมื่อนั้นหน่ะ สีเลนะ นิพพุติง ยันติ ถึงนิพพุติได้เพราะศีล บอกเบื้องต้นที่สุดด้วย ขอให้สนใจว่ามันมีเพียงเท่านี้ มันมีเพียงเท่านี้ มันควรรู้ หรือต้องรู้เพียงเท่านี้ ไม่ต้องรู้มากไปกว่านั้นก็ได้ คือรู้ว่ามีตัวกูเมื่อไรเกิดทุกข์เมื่อนั้น มีอุปาทานว่ามีตัวกูเมื่อไรเกิดทุกข์เมื่อนั้น อุปาทานนี้ไม่เกิดก็ไม่เป็นทุกข์ เป็นสงบปกติอยู่ตามธรรมชาติ แต่แล้วก็ว่าน่าสงสารมีสิ่งแวดล้อมจิตที่เป็นกลางๆ มาจากท้องแม่ ออกมาเป็นกลางๆ มันถูกแวดล้อมให้โง่ก่อน ให้โง่ก่อน ให้มีตัวกู ตัวกู หนีตามโจรไป หนีความสงบไปหาความทุกข์ จนกว่าจะเจ็บปวดด้วยความทุกข์ จึงจะคิดถึงแม่กลับมาหาแม่ คือความถูกต้องหรือธรรมะอีก ชีวิตของใครไม่เป็นอย่างนี้ หรือว่าชีวิตของใครอาจจะไม่มีครบถึงอย่างนี้คือไม่ได้ทิ้งโจรมาหาแม่ มีแต่ทิ้งแม่ไปหาโจร ทิ้งพ่อแม่ไปหาโจรแล้วไม่มีวันกลับมา เข้าโลงไปกับพวกโจรเลย เป็นอันว่าควรจะรู้จักว่าเรากำลังอยู่ในขั้นไหน กำลังทิ้งพ่อแม่ตามโจรไป หรือกำลังอยู่กับโจร หรือกำลังรู้จักโจรแล้วคิดจะฆ่าโจรเสีย หรือว่าอย่างว่าหนีโจรมาหาพ่อแม่ นี่อายุเป็นสิ่งที่น่าล้อไม่น่ารัก อายุเป็นสิ่งที่น่าล้อ ล้อให้มันเข็ด ล้อให้สมกับที่ว่ามันเป็นของหลอก เป็นของสร้างให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา สรุปความสั้นๆ ว่า ไม่มีตัวกูก็ไม่มีความทุกข์ พอตัวกูเกิดมาก็เอาความทุกข์มา หมดตัวกูเมื่อไรก็เป็นนิพพาน ถ้าไม่มีตัวกู มันไม่มีอะไรเป็นที่ตั้งแห่งอายุ ช่วยฟังให้ดี ถ้าไม่มีตัวกูก็ไม่มีอายุแหละ เดี๋ยวนี้มันมีตัวกูมันก็มีอายุ อายุของกูนี่ อายุนี่มันอยู่ที่ตัวกู มันมีอายุของอวิชชา มันมีตัวกูของอวิชชา ตัวกูอย่างนี้เกิดขึ้นมา ตามธรรมชาติของจิตที่ไม่ได้รับการอบรม มันเกิดได้โดยไม่ต้องเผลอ ไม่ต้องเผลอ มันก็เกิด มันน่าหัวตรงที่ว่าไม่ต้องเผลอมันก็เกิด คือว่าระวังอยู่มันก็เกิด นี่ ตัวกูๆ เกิดเมื่อไรมีความทุกข์เมื่อนั้น
พระพุทธวัจนะ ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ซึ่งเขาแยกมันทีหลัง สรุปแล้วเหลือแต่คำพูดเพียง ๘ พยางค์ว่า เกิดตัวกูก็คือเกิดทุกข์ ชีวิตนี้ถูกครอบงำ ถูกครอบงำอยู่ในความรู้สึกว่า ตัวกูๆ แล้วมันก็มีปัญหา มันมีอายุแห่งตัวกู มีปัญหาแห่งอายุ อายุมันมีเกิด แก่ เจ็บ ตาย มีอะไรไปตามเรื่องของอายุ ล้ออายุ กันในลักษณะอย่างนี้ ทุกๆ ท่านเถิด จงมีสติปัญญา รู้จักล้ออายุ ของตนๆ กันด้วยลักษณะอย่างนี้เถิด การมาที่นี่จากที่ไกลเสียแรง เสียเวลา เสียเงิน เหน็ดเหนื่อยลำบากนั้น จะมีผลคุ้มค่า ถ้าท่านได้รับความรู้เรื่องล้ออายุ จนล้อให้มันหนีหายไปได้แล้วก็จะได้รับผลคุ้มค่า ไม่มีอายุแหละคือนิรันดร ถ้ามีอายุนั่นแหละ คือ เดี๋ยวเดียวเต็มไปด้วยความทุกข์ หมดอายุด้วยประการทั้งปวงนั้นแหละนิพพาน นิรันดรเป็นสภาพนิรันดร แต่ก็ไม่ใช่ตัวกู นิพพานไม่ใช่ตัวกูของนิพพาน นิพพานเป็นสภาพที่ปราศจากการปรุงแต่งไม่มีกิเลส ไม่มีความทุกข์ เดี๋ยวนี้เราไม่ได้ เราไม่มี เราไม่ถึง เราแยกมามีตัวกู มีของกู เต็มไปด้วยการปรุงแต่ง ทั้งกลางวันกลางคืน ทั้งหลับทั้งตื่น วันหนึ่งไม่รู้กี่ร้อยเรื่องพันเรื่อง มันก็มีความทุกข์ ขอให้ท่านทั้งหลายรู้จักวิธีที่จะล้อตัวกู คือว่าไม่เสน่หากับมัน แล้วก็จะป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นมาในแวดวงแห่งจิตใจ ก็จะไม่มีความทุกข์ใดๆ เกิดขึ้นมาได้
วันนี้เราก็พูดกันถึงเรื่องล้ออายุ ด้วยการรู้เท่ารู้ทันว่าอายุนี้ไม่ใช่ของจริง เกิดมาจากความโง่ว่าตัวกู แล้วก็มีอายุแห่งตัวกู แล้วก็รัก แล้วก็หลง แล้วก็บ้าอายุ แล้วฉลองอายุกันอย่างกินกันใหญ่ สนุกกันใหญ่ รับเงินกันใหญ่นี่ ฉลองอายุอย่างนั้นยกไว้ให้พวกอื่นเถิด ขอให้คำอย่างนั้น อย่าเอามาทำให้แก่พวกเราเลย เราขอล้ออายุ เลิกอายุ อยู่เหนืออายุกันอย่างนี้
สรุปความสั้นๆ ว่าคำพูดกัณฑ์นี้ก็คือบอกให้รู้ว่า มีเท่านี้เองไม่มีตัวตน มีแต่ขันธ์ ๕ หรือนามรูปเท่านั้น มันทำอะไรได้ทุกอย่างโดยที่ไม่ต้องมีตัวตน เป็นอันว่าพูดกันในตอนนี้ว่ามันมีเท่านี้เองมันมีแค่นี้เอง มีสองสามคำเท่านั้นเอง อย่าทำให้เป็นบ้าหอบฟาง แล้วถ้าจะต้องพูดกันอีกสักตอน ตอนเย็นก็จะพูดเรื่องว่า เราจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไรโดยที่ไม่ต้องมีตัวกู พูดให้บ้ากว่านั้นก็พูดว่าจะมีชีวิตอย่างไรโดยไม่ต้องมีอายุ มีชีวิตอย่างไรโดยไม่ต้องมีอายุมันบ้าที่สุดแล้วใช่ไหม เอ้าเรื่องบ้านี้จะพูดตอนบ่าย คือ ตอนที่สอง ขอยุติการบรรยาย เพราะมันไม่มีแรงจะพูดแล้วในตอนนี้ว่า สรุปว่าวันนี้พูด ตอนนี้พูดเรื่องมันมีเท่านี้ มันมีแค่นี้ มันมีสองสามคำ ว่านามและรูปไม่ใช่ตัวตน มันก็ทำอะไรได้อย่างกับว่าให้คนมันหลงไปว่ามีตัวตน ขอยุติการบรรยาย.
-------------------------------------
จกฺขุญฺจ ปฏิจฺจ รูเป จอุปฺปชฺชติ จกฺขุวิญฺญาณํ ติณฺณํ ธมมาณํ สงฺคติ ผสฺโส
โสตญฺจ ปฏิจฺจ สทฺเท จอุปฺปชฺชติ โสตวิญฺญาณํ ติณฺณํ สงฺคติ ผสฺโส