แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ภิกษุสามเณรที่เป็นเพื่อนสหธรรมิกทั้งหลาย วันนี้จะได้พูดกันเรื่องพระธรรมต่อจากเรื่องพระพุทธเจ้าที่ได้พูดกันแล้วเมื่อวาน พูดโดยหัวข้อว่า พระธรรมที่ต้องรู้จัก ทั้งนี้เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่าธรรมนั่น มันมีความหมายกว้างเกินไป มันยิ่งกว่ากว้างเกินไปเสียอีก คือมันหมายถึงทุกสิ่งไม่ยกเว้นอะไร บรรดาสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ในลักษณะเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม เป็นอะไรก็สุดแท้ มันเรียกว่าธรรม ธรรม ธรรม ทั้งนั้น เราก็จะต้องรู้จักว่าส่วนไหนที่เอามาเป็นพระธรรมที่เราจะต้องรู้จัก เพราะว่าเรารู้จักทั้งหมดนั้นคงจะไม่ไหว ไม่จำเป็นหรือไม่ไหว จึงพูดกันเฉพาะส่วนที่ควรรู้จัก จะพูดกันโดยชื่อก่อน คือ คำว่าธรรมนั้นน่ะมันมีความหมายว่าอย่างไร ตัวหนังสือก็แปลว่าสิ่งที่ทรงไว้ซึ่งผู้มีหรือผู้ปฏิบัติ หรือผู้ที่ประพฤติกระทำอยู่ ตัวหนังสือมันแปลว่าอย่างนั้น สิ่งที่จะทรงไว้ซึ่งผู้มีธรรม ผู้ปฎิบัติธรรม ผู้เกี่ยวข้องกับธรรมน่ะ ธรรมะ โดยความหมายที่กว้างก็เป็นอย่างนี้แล้วเราก็เอามาพอสมควรว่าจะต้องรู้กันสักเท่าไร และธรรมเท่าที่ควรรู้จักนี่แหละที่เราเรียกกันว่าพระธรรม พระธรรม มาในเมืองไทยก็ใส่คำว่าพระเข้าให้ ที่มากกว่านั้นไปอีกก็เติมเจ้าเข้าไปข้างหลังอีกด้วย เป็นพระธรรมเจ้า ก็เป็นสิ่งสูงสุด สูงสุด อะไรคือสิ่งนั้น โดยใจความที่ตายตัวก็คือว่า สิ่งที่จะทรงไว้ซึ่งผู้มีหรือผู้ปฏิบัติ มันก็เรียกว่ารัตนะอย่างหนึ่งในรัตนะทั้งสาม คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีสาม พระธรรมก็เป็นหนึ่งในสามนั้น ในความหมายว่าธรรมรัตนะนี่ก็จำกัดว่า สิ่งที่จะทำให้พอใจ ยินดีปรีดาปราโมทย์ มีแล้วก็มีแต่ความพอใจ พอใจ พอใจ เป็นสุข ก็เรียกว่าธรรมรัตนะ ถ้าพูดว่าธรรมเฉยๆ ก็มีความหมายแต่เพียงว่า ทรงไว้ซึ่งผู้มี ผู้ใดมีธรรม ผู้นั้นพระธรรมทรงไว้ ผู้ใดปฏิบัติธรรมผู้นั้นธรรมทรงไว้ นั่นคือความหมายของคำว่าธรรม ทีนี้จะขอกล่าวในความหมายที่กว้างๆ ทั่วไปทั้งหมดก่อน ว่าธรรม ธรรมนี่คือธรรมชาติ ธรรมชาติ ชาติแห่งธรรมก็ชาติแห่งสิ่งที่ทรงผู้ปฏิบัติไว้ อันนี้ก็ธรรมชาติ ธรรมชาติ ก็มีเองอยู่ตามธรรมชาติ มีอยู่สี่ความหมาย ช่วยจำไว้เถอะ ธรรมชาตินี่ หรือธรรมะในความหมายว่าธรรมชาตินี่ มีอยู่สี่ความหมาย ความหมายที่หนึ่งก็เรียกโดยตรงลงไปว่าธรรมชาติ คือสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ความหมายที่สองก็กฎ กฎของธรรมชาติ คือกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ในตัวธรรมชาติ ใครเข้าไปเกี่ยวข้องกับธรรมชาติต้องปฏิบัติให้ถูกตามกฎเกณฑ์ ความหมายที่สาม หน้าที่ หน้าที่ หน้าที่ตามธรรมชาติ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามธรรมชาติ ไม่ทะเลาะ ไม่ทะเลาะกับธรรมชาติ ซึ่งมีแต่จะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎจึงจะรอดชีวิตอยู่ได้นี่ นี้เรียกว่าหน้าที่ ความหมายที่สี่คือผล ผลที่เกิดขึ้นมาจากหน้าที่ เพราะว่าปฏิบัติหน้าที่แล้วก็ต้องมีผลนี่เป็นธรรมดา ก็จำคำสั้นๆ ว่า หนึ่งตัวธรรมชาติ สองกฎของธรรมชาติ สามหน้าที่ตามธรรมชาติ และผลจากหน้าที่เป็นสี่อย่าง มันหมดและไม่มีอะไรเหลือแหละ อย่างจักรวาลนี่ก็หมดอยู่ในสี่คำ สี่คำนี้ ธรรมชาติคือสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ทั้งหมดทั้งจักรวาลนั้นมันอยู่นอกตัวเรา ที่สำคัญที่สุดก็คือที่มันกำลังเป็นตัวเรานี่ คนๆ แต่ละคนละคนนี้ เอาตัวเราเองดีกว่า เรามีธรรมชาติเป็นตัวเรา จะแยกเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ ธาตุหกนี่ก็ได้ จะแยกเป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นขันธ์ห้าก็ได้ ที่เนื้อที่ตัวมีอยู่เป็นรูปธรรม เป็นนามธรรม คือจิตใจ พระพุทธเจ้าท่านเอาเรื่องตัวธรรมชาตินี่มาสอน เรื่องตัวธรรมชาติน่ะมาสอนเราว่า ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ โดยรายละเอียดที่เกี่ยวกับเนื้อตัวนี่นั่นแหละเรียกว่าเรื่องของธรรมชาติ ตามที่พระองค์ทรงนำมาสั่งสอน ทีนี้เรื่องกฎ กฎของธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวธรรมชาติพระองค์ก็เอามาสั่งสอน เช่น ให้รู้เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร อาศัยกันอย่างไร เกิดทุกข์อาศัยกันอย่างไร ดับทุกข์นี้ นี่กฎของธรรมชาติ พระองค์ก็เอามาสั่งสอน ทีนี้หน้าที่ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ทรงสอนไว้อย่างสมบูรณ์ ว่าเรามีหน้าที่อย่างนั้นอย่างนี้ที่จะต้องปฏิบัติ สรุปแล้วก็คือสิ่งที่เราเรียกว่า ศีล สมาธิ และปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา พระองค์ทรงสอนว่าต้องปฏิบัติต่อธรรมชาติในลักษณะสามอย่างนี้ เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา รายละเอียดมากมายหาอ่านดูจากเรื่องนั้น ทีนี้ในความหมายที่สี่คือผลของธรรมชาติ อ่า ผลจากการปฏิบัติหน้าที่ตามธรรมชาตินี่ เมื่อปฏิบัติหน้าที่แล้วก็มีผลเกิดขึ้น นี่ก็เป็นผลอย่างโลกๆก็มี อย่างเหนือโลกก็มี ที่เราเรียกกันอยู่ทั่วไปก็คือมรรคผล นิพพาน มรรคสี่ ผลสี่ นิพพานหนึ่ง เป็นเก้านี่ คือผลสูงสุดเหนือโลก ที่ต่ำๆ อยู่ในวิสัยโลกก็คือนั้นน่ะ เงินทอง ข้าวของ ทรัพย์สมบัติ เกียรติยศ ชื่อเสียง อะไรก็ตาม เป็นผลของการปฏิบัติ ปัจจัยแห่งความเป็นอยู่แห่งชีวิตกับความผาสุกก็เรียกว่าผลของการปฏิบัติ นี่เรียกว่าจากเรื่องของธรรมชาติอันกว้างขวาง ไม่มีขอบเขตครอบคลุมไปทั้งหมด พระพุทธเจ้าท่านก็ทรงนำมาสอน ในฐานะเป็นเรื่องของตัวธรรมชาติก็มี เป็นเรื่องของกฎของธรรมชาติก็มี เป็นเรื่องของหน้าที่ตามกฎก็มี เป็นเรื่องของผลของการปฏิบัติตามหน้าที่ก็มีนี่ สี่ความหมายเป็นอย่างนี้ ทีนี้เรามาดูกันอีกทางหนึ่งก็จะพบว่า พระธรรมคำสอนทั้งหมดนั่นอยู่ในรูปของคำสอน คำสอนท่านก็เรียกว่าปริยัติธรรม ที่อยู่ในรูปของการปฏิบัติ ปฏิบัติก็เรียกว่าปฏิปัติธรรม ที่อยู่ในเรื่องของผลของการปฏิบัติ ก็เรียกว่าปฏิเวธธรรม นี่แหละพระธรรม พระธรรมนี่ ประเภทที่เราจะแยกได้ทั้งสามอย่างอย่างนี้ อย่างต่ำๆ ก็เรียกว่าวิสัยโลก โลกียธรรม อย่างสูงก็เรียกว่าเหนือโลก คือโลกุตรธรรม ประกอบไปด้วยลักษณะที่สวดกันอยู่ทุกวันอย่างนกแก้วนกขุนทองนั่นแหละ ขอพูดตรงๆ อย่างนี้ คุณสวดทำวัตรทุกวันคุณก็สวดคุณของพระธรรมทุกวัน แล้วก็สวดกันอย่างจานเสียง อย่างนกแก้วนกขุนทอง ไม่รู้ความหมาย ไม่ซึมซาบในความหมายนี่ มันก็คล้ายกับจานเสียง ดังได้เท่านั้น พระธรรมในรูปของปริยัติก็มีพระคุณเก้าอย่างนั่นแหละ ในรูปของปฏิบัติก็มีพระคุณเก้าอย่างนั่นแหละ ในรูปของปฏิเวธก็เก้าอย่างนั่นแหละ สวากขาโต จะพูดผิดเป็นหก สวากขาโตมีคุณคือพระองค์ตรัสไว้ดีตรัสไว้ถูกต้อง ตรัสไว้ครบถ้วน ตรัสไว้สมบูรณ์ สันทิฏฐิโก เห็นเองนี่ อะกาลิโก ไม่ขึ้นอยู่กับเวลา เอหิปัสสิโก เรียกมาดูได้ มีอยู่จริง เรียกมาดูได้ โอปะนะยิโก มันมีอยู่ในตน ปัจจัตตังเวทิตัพโพ รู้เฉพาะตน หกอย่างนี้ เมื่อตะกี้พูดว่าเก้านั่นมันผิด หกอย่าง หกอย่างนี่ ปริยัติ เอาเถอะแม้แต่ปริยัติก็ตรัสไว้ดี ตรัสไว้ละเอียด ตรัสไว้ครบถ้วนถูกต้อง แล้วปริยัตินี่มันก็ต้องเห็นเอง รู้แทนกันไม่ได้ เห็นแทนกันไม่ได้ ต้องเห็นเอง ในความหมายของคำว่าศึกษาๆ ดูเอง เห็นเอง รู้เอง พิสูจน์ทดลองเองใคร่ครวญเอง เห็นเองอย่างนี้ ปริยัติก็เห็นอย่างปริยัติ ปฏิบัติก็เห็นที่ตัวปฏิบัติ ปฏิเวธก็เห็นที่ตัวปฏิเวธด้วยตนเองในตนเอง อะกาลิโก คือว่าไม่ขึ้นอยู่กับเวลา เป็นอิสระแก่เวลา เป็นไปตามกฎของธรรมะโดยไม่ต้องเนื่องกับเวลา ปฏิบัติเมื่อไรก็รู้ได้เมื่อนั้น ปฏิบัติที่ไหนก็รู้ได้ที่นั่น ปฏิบัติทันทีก็มีผลทันทีไม่ต้องรอ ที่เขาพูดกันน่ะพูดผิดๆ ว่าต้องรอต่อเมื่อนั้นเมื่อนี้จะได้ผล เพราะฉะนั้นต้องรู้ว่าพอปฏิบัติลงไปในทันที มันก็มีผลอยู่ในตัวการปฏิบัติทันที ปฏิบัติดีก็ดีทันที ปฏิบัติชั่วก็ชั่วทันที ปฏิบัติเป็นทุกข์ก็ทุกข์ทันที ปฏิบัติเป็นสุขก็สุขทันที นี้เรียกว่าไม่ขึ้นอยู่กับเวลา เอหิปัสสิโก โดยปริยัติก็เรียกมาดูได้ คือมันทนต่อการพิสูจน์ ปฏิบัติก็เรียกมาดูได้มีอยู่ที่เนื้อที่ตัวผู้ปฏิบัติ ปฏิเวธก็เรียกมาดูได้ มีผลขึ้นมาแล้วก็เป็นผลอยู่ในตัวผู้ปฏิบัติ เรียกมาดูได้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นโอปะนะยิโก เป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะน้อมนำเข้ามาให้มีอยู่ในตน เป็นผลดีที่สุด เป็นผลดีที่สุด ปัจจัตตังเวทิตัพโพ นี่ รู้เฉพาะตน เรียนรู้ก็รู้เฉพาะตน รู้สึกรู้แจ้งเห็นจริงก็รู้เฉพาะตน ได้รับผลเป็นอย่างไรก็รู้เฉพาะตนนี่ ปัจจัจตังเวทิตัพโพ แต่จะรู้ได้ก็ผู้ที่เป็นวิญญูชน อาจจะรู้ได้ คนโง่จับมาปฏิบัติก็เหมือนมาเล่นละคร มันก็รู้ไม่ได้ มันจึงว่ารู้ได้เฉพาะตนโดยวิญญูชน นี่พระธรรมคุณ ส่วนที่พระพุทธองค์ทรงแยกคัดมาอย่างดีแล้วจากธรรมชาติสี่ความหมายนั้น เอามาตั้งไว้ในสถานะที่เรียกว่าพระธรรมหรือพระธรรมเจ้า เป็นรัตนะให้เกิดความยินดีสูงสุด เพราะเป็นรัตนะพิเศษในทางนามธรรม รัตนะทางโลก เงินทอง ข้าวของแก้วแหวนเงินทอง ก็เป็นรัตนะให้ยินดีได้ในแง่ของวัตถุ บางทีทำอันตรายเจ้าของกัดเจ้าของไม่ทันรู้ รัตนะอะไรกันอย่างนั้น แต่รัตนะคือพระธรรมนี่มันเป็นเรื่องทางนามธรรมไม่มีโทษ ไม่มีกัดเจ้าของ นี้เรียกว่าลักษณะของพระธรรม ทรงไว้ซึ่งผู้ปฏิบัติหรือผู้มีธรรม และก็ประเภทเป็นสามประเภท เป็นเรื่องปริยัติสำหรับเรียน เป็นเรื่องปฏิบัติสำหรับปฏิบัติ เป็นเรื่องปฏิเวธ สำหรับเสวยผลของการปฏิบัติ ทีนี้ก็จะดูกันสักหน่อยในแง่ที่ว่า ทำอย่างไรจะเข้าถึงธรรม จะมีธรรม มันไม่สำเร็จประโยชน์ล่ะ เพียงแต่เรียนรู้ไว้สอบไล่ได้ ยัง ยังไม่รับประโยชน์อันแท้จริงของธรรม ได้รับประโยชน์อย่างอื่นบางอย่างเล็กๆ น้อยๆ มันต้องรู้ธรรม ต้องดู ต้องดู ต้องดูก่อน ต้องดูเสียก่อนแล้วจึงเห็น เห็น เห็น แล้วก็รู้ รู้ รู้ แล้วก็ปฏิบัติ แล้วก็มี มี มี นี่คำว่ารู้ธรรม รู้ธรรมมันต้องสมบูรณ์อย่างนี้ ต้องดู ดูเป็น ดูเป็น แล้วก็เห็น เห็น เห็นแล้วก็รู้เรื่อง รู้เรื่องนั้น แล้วก็พิสูจน์ทดลองดูว่าเป็นอย่างไร ใคร่ครวญดูว่าเป็นอย่างไร นี้ก็เรียกว่ารู้ธรรม แล้วก็ปฏิบัติธรรมตามที่รู้ แล้วก็ได้รับผลตามที่ปฏิบัติ ถ้าพูดเป็นวงกว้างก็ว่าเราเรียนธรรม แล้วเราก็รู้ธรรม แล้วเราก็มี มี มี มีธรรมอยู่ที่เนื้อที่ตัว แล้วเราก็ใช้ ใช้ ใช้พระธรรมที่มีอยู่ที่เนื้อที่ตัวน่ะ ตามหน้าที่ แล้วเราก็ได้รับประโยชน์ ได้รับประโยชน์เป็นสุข นี่เรียกว่า เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่าธรรมในลักษณะที่ถูกต้อง ครบถ้วนถึงขนาดนี้ ช่วยจำให้ว่าไม่ได้เรียนในโรงเรียนสอบไล่ได้แล้วมันก็พอ อาจจะไม่มีธรรมสักนิดหนึ่งก็ได้ เพียงแต่ว่าจำได้ท่องได้พูดได้ตอบคำถามได้ มันไม่พอ มันต้องเรียนธรรม ต้องรู้ธรรม และปฏิบัติธรรมแล้วก็ได้ผลตามที่ปฏิบัติแล้วก็ได้เสวยของผลนั้นด้วย อย่าเป็นมดแดงแฝงมะม่วง เป็นคำด่าเป็นคำล้อ มันจะโง่เหมือนมดแดงแฝงมะม่วง มีมะม่วงแล้วไม่มีประโยชน์อะไร เช่นเดียวกับคนที่เขาท่องธรรมะได้แล้วก็ไม่ได้รับประโยชน์อะไรมันก็เหมือนกับมดแดงแฝงมะม่วง เราจะต้องปฏิบัติต่อสิ่งที่เรียกว่าธรรมนี่ให้ครบถ้วน ให้ครบถ้วน นับตั้งแต่เรียน นับตั้งแต่รู้ นับตั้งแต่ปฏิบัติ นับตั้งแต่มีไว้ใช้เป็นประโยชน์ แล้วก็ได้รับประโยชน์โดยแท้จริง เอ้า ทีนี้ก็จะขอย้ำไอ้เรื่องธรรมะโดยกว้างขวางอีกสักทีหนึ่ง เพราะว่ามันเนื่องกันอยู่ และก็ได้ขอร้องให้ท่านทั้งหลายจำไว้ให้ดีๆ ธรรมะในความหมายที่หนึ่งคือตัวธรรมชาติ มีอยู่ตามธรรมชาติ บริสุทธิ์อยู่ตามธรรมชาติ ไม่มีความหมายเป็นบาปเป็นบุญเป็นกุศลเป็นอกุศลอะไรเลย มันเป็นตามธรรมชาติ ตามธรรมชาติ ต่อเมื่อเข้าไปเกี่ยวข้องมีจิตเข้าไปเกี่ยวข้องถูกผิดอย่างไรนี่จึงจะเกิดเป็นบาปเป็นบุญเป็นกุศลเป็นอกุศลขึ้นมา ถ้าธรรมะแท้ๆ ตัวธรรมะแท้ๆ แล้วมันไม่อาจจะเป็นบุญบาปดีชั่วกุศลอกุศลอะไร มันมีอยู่อย่างนั้น มันมีอยู่อย่างนั้น ไปทำให้เกิดเป็นกุศลขึ้นมาก็ได้ เกิดอกุศลก็ได้ ดีก็ได้ชั่วก็ได้ มันเป็นของกลางๆ ที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องแล้วได้โทษก็มี ได้ประโยชน์ก็มี สิ่งเดียวกันนั่นแหละ นี่เรียกว่าธรรมชาติ ธรรมชาติ ไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล แต่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง ไปจับ ไปทำ ไปอะไรเข้า นี่มันจึงมีผลปฏิกิริยาออกมาในลักษณะที่กุศล อกุศล บุญ บาป ดี ชั่ว นี่รู้จักไว้อย่างนี้ เพื่อจะได้ไม่ยึดถือเป็นตัวตน เป็นธรรมชาติ โดยธรรมชาติ ตามธรรมชาติ ดิน น้ำ ลม ไฟ อะไรต่างๆ เป็นธรรมชาติ ตามธรรมชาติ อย่าเอามาเป็นตัวตนเลย นี่ ให้มันเป็นตามธรรมชาติ ถ้าดีก็ยึดมั่นว่าดีถ้าชั่วก็ยึดมั่นว่าชั่วมันก็เกิดกิเลส เห็นว่าดีก็เกิดกิเลสประเภทเอาๆๆๆ โลภะ หรือราคะ เห็นว่าชั่วก็เกิดกิเลสประเภทไม่เอา คือโทสะ หรือโกรธะ ไม่แน่ว่าดีว่าชั่วก็สงสัยอยู่นั่น สงสัยอยู่นั่น เป็นโมหะอยู่นั่น นี่เรียกว่าธรรมะคือธรรมชาติ ไม่ยกเว้นอะไรทุกๆ ปรมาณู นี่เป็นธรรมชาติประกอบกันขึ้นมาเป็นของใหม่ก็ยังคงเป็นธรรมชาติ ต้องใช้คำว่าคนโง่ มันมีคำว่าผิดธรรมชาติ นอกเหนือธรรมชาติ ถ้าถือตามหลักธรรมะแล้วไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมชาติ ผิดก็ธรรมชาติ ถูกก็ธรรมชาติ แม้แต่พระนิพพานก็ยังเป็นธรรมชาติอยู่นั่นแหละ ไม่มีอะไรที่จะนอกไปจากธรรมชาติ แต่คำพูดในภาษาไทยนี่มีอะไรเหนือธรรมชาติ นอกธรรมชาติ ผิดธรรมชาติ เพราะเขาไม่รู้ ถ้าเป็นเองอยู่ตามป่าตามดงก็ตามธรรมชาติเอามาตกแต่งเป็นนั่นเป็นนี่ก็ว่าไม่ใช่ธรรมชาติเสียแล้ว ขอให้เอามาเป็นบ้านเป็นเรือนเป็นเพชรนิลจินดาแล้วก็ยังเป็นธรรมชาติอยู่นั่นแหละ รู้กันไว้อย่างนี้ จะได้ไม่ยึดถือสิ่งใดโดยความเป็นตัวตนของตน เป็นธรรมชาติ บท บทสวดพิเศษ พิจารณาพิเศษก็คือ ยะถาปัจจะยัง ปะวัตตะมานัง ธาตุมัตตะเมเวตัง นี่แหละ นั่นแหละหัวใจของพุทธศาสนาในเรื่องความเป็นธาตุ รู้บทนี้แจ่มแจ้งทั่วถึงชัดเจนแหละพอๆ เป็นพระอรหันต์ได้เลยไม่ต้องไปเรียนนักธรรมเก้าปีสิบปี ก็รู้ก็พอ แต่ว่ามันก็รู้ยาก ประเพณีโบราณนั้นก็วิเศษมาก แรกเข้ามาอยู่วัด บวช เพื่อบวช เขาให้เรียนบทนี้ ผมก็เหมือนกันแหละพอเข้ามาอยู่วัดวันแรกทางวัดก็ให้เรียนยะถาปัจจะยัง ปะวัตตะมานัง มันเป็นหัวใจของพุทธศาสนา บอกให้รู้ว่ามันเป็น ทุกสิ่งเป็นเพียงธรรมธาตุ ธรรมชาติเป็นธาตุตามธรรมชาติ ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล นั่นหัวใจพระธรรมะทั้งหมดก็อยู่ที่เป็นธรรมชาติ แต่เดี๋ยวนี้เขาไม่เรียนกันแล้วกระมัง มันเปลี่ยนไปหมดแล้ว มันโง่ มันยิ่งย้อนไปในทางถอยหลัง ถึงโง่ ไอ้เรียนอื่นๆ เรียนทีหลัง เรียนทีแรกต้องเรียนยถาปัจจะยัง หัวใจพระศาสนา บอกให้รู้ว่าทุกสิ่งเป็นเพียงธาตุตามธรรมชาติ เอ้า ธรรมะในความหมายที่สอง คือกฎ กฎของธรรมชาติ ความจริงนี่เรียกว่าเป็นความจริง และก็เรียกว่าตามธรรมชาติ และก็เรียกว่าเด็ดขาด เฉียบขาดหรือเด็ดขาด กฎความจริงที่เฉียบขาดหรือเด็ดขาด มันก็ทั่วไปๆ ไม่ยกเว้นอะไร กฎของธรรมชาติ ไม่ได้มีใครบัญญัติ พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้บัญญัติ อย่าเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าบัญญัติกฎเกณฑ์เอาเอง ธรรมชาติมีบัญญัติเอง บัญญัติอยู่ในตัวเอง พระพุทธเจ้าท่านค้นพบแล้วก็นำมาสอน บทสวดเรื่องปฏิจจสมุปบาทน่ะมีชัด ว่าตถาคตเห็น เห็นเข้าใจแล้วก็นำมาพูดมาสอนมาจำแนกแจกแจงมาแต่งตั้งขึ้นไว้ให้เล่าเรียน กฎของธรรมชาติไม่ใช่พระพุทธเจ้าท่านบัญญัติ แต่ท่านพบ ท่านเห็น ท่านค้นพบคือท่านตรัสรู้ แล้วก็นำมาสอน กฎของธรรมชาติมีอำนาจสูงสุดเด็ดขาดอยู่ตามธรรมชาติ ไม่ใช่มีมนุษย์บัญญัติ มนุษย์บัญญัติไม่ได้ มนุษย์มีหน้าที่แต่จะต้องเชื่อฟังเชื่อฟังกฎของธรรมชาติ ฉะนั้นจงเคารพให้ดีๆ อย่าไปทะเลาะมันจะกัดเอาตาย กฎของธรรมชาติเป็นอย่างนี้ ความหมายที่สาม หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ หน้าที่มีมากมาย แต่ว่าหน้าที่โดยสรุปมันเหลือเพียงอย่างเดียว หน้าที่เพื่อความรอด พระศาสนาทุกศาสนาก็สอนเรื่องความรอดทั้งนั้น แล้วก็ต้องปฏิบัติจึงจะรอด การปฏิบัตินั่นแหละคือหน้าที่ หน้าที่ตามธรรมชาติ ก็คือเพื่อความรอด ไม่รอดมันก็คือตาย ไม่รอดทางกายก็คือตาย ไม่รอดทางสติปัญญาก็คือทนทุกข์ทรมาน ก็เรียกว่าไม่รอดเหมือนกันแหละ ถ้าอยู่อย่างทนทุกข์ก็เรียกว่าคนนี้มันไม่รอด ไม่รอดจากความทุกข์ ฉะนั้นต้องรอดทั้งทางกาย รอดทั้งทางจิต กายก็ไม่ตาย จิตก็ไม่เป็นทุกข์ จิตเป็นทุกข์ก็คือตาย ตายทางจิต ทีนี้คำว่าความรอดจึงมีทั้งทางกายและมีทั้งทางจิต นี่ขอให้สนใจ และถ้าจิตใจกว้างก็อย่ารอดคนเดียวเลย รอดกันทั้งหมดแหละ จึงมีหน้าที่ที่จะต้องทำเพื่อตนเองด้วย เพื่อผู้อื่นด้วย หน้าที่ตามกฎของธรรมชาตินี่เราจะต้องทำทั้งสองอย่าง คือเพื่อตนเองด้วย เพื่อผู้อื่นด้วย เพราะเหตุใด เพราะว่าธรรมชาติจัดให้เรามาอยู่กันมากๆ ไม่ได้จัดให้มาอยู่คนเดียวเฉพาะคน เฉพาะคน จัดให้มาอยู่กันมากๆ และต้องเกี่ยวข้องกันอย่างที่ไม่แยกกัน ถ้าไม่เกี่ยวข้องกันมันก็ไม่มีประโยชน์อะไร มันจึงอยู่กันมากๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกัน ฉะนั้นหน้าที่จึงมีทั้งเพื่อตัวเราเองและผู้อื่นที่มันเกี่ยวข้องกัน ขออย่าใจแคบเห็นแต่ประโยชน์ของตัว ประโยชน์นี้จะแยกไว้ชัดเจนก็เป็นสามชนิดนั่นคือ ประโยชน์ตนเอง และประโยชน์ผู้อื่น แล้วประโยชน์ที่มันเกี่ยวข้องกันอย่างที่แยกกันไม่ได้ แยกกันไม่ได้ ก็จัดไว้เป็นอีกประโยชน์หนึ่ง อัตตัตถะประโยชน์ ประโยชน์ตน ปรัตถะประโยชน์ ประโยชน์ผู้อื่น อุภยัตถะ ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ถ้ามันรอดมันก็รอดกันทั้งหมดแหละแม้ว่ามันก็ มันก็ไม่ดีเท่านั้นเอง หน้าที่ตามธรรมชาติสรุปความได้ว่า ทำเพื่อความรอด ทำเพื่อความรอด ไม่ตายด้วย แล้วก็ไม่มีทุกข์ด้วย ก็คือว่าไม่อยู่ใต้อำนาจของกิเลส ไม่อยู่ใต้อำนาจของอวิชชาความโง่ความหลงหรือปัญหาทางจิตใจทั้งหมดทั้งสิ้น ที่เรียกว่าความทุกข์ทางใจน่ะต้องรอดด้วย เอาละเป็นอันว่ารอดทางกาย รอดทางจิตแล้วก็รอดทั้งตัวเรา และรอดทั้งเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายของเรา หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้ หน้าที่เพื่อความรอด หน้าที่เพื่อความรอด ทีนี้ผล ผลจากหน้าที่ก็คือตัวความรอดนั่นแหละ ไอ้ตัวหน้าที่นั้นมันยังไม่ใช่ตัวความรอดล่ะ แต่ว่ามันเพื่อหรือทำเพื่อ ถ้าทำความรอดก็เป็นหน้าที่ ความรอดที่ได้มาก็เป็นผล คือความรอด ความรอด ผลจากหน้าที่ ทางโลกๆ ทางวัตถุทางกายก็มีอย่างที่เขาขวนขวายกันอยู่โดยมากจนลืมหน้าที่ทางจิตใจ มีทรัพย์สมบัติ มีเกียรติยศชื่อเสียง มีมิตรสหายดีเป็นกลุ่มเป็นก้อนกันอยู่ในโลกนี้ก็เรียกว่าผล ในทางโลกๆ ถ้าในทางโลกุตระก็คือมรรคสี่ผลสี่นิพพานหนึ่งนั่นแหละ ผลทางโลกุตระ จำไว้ง่ายๆ สิ่งทั้งปวงเรียกว่าธรรมชาติมีอยู่ในลักษณะที่เป็นกฎ อ้า มีอยู่ในลักษณะที่เป็นตัวธรรมชาติ ลักษณะที่เป็นกฎธรรมชาติ ลักษณะที่เป็นหน้าที่ตามกฎธรรมชาติ ผลเกิดจากหน้าที่ พระพุทธเจ้าท่านทรงนำมาสอนหมดครบทุกความหมาย ขอให้จำไว้ดีๆว่า ตัวธรรมชาติก็ท่านมาสอนเรื่องนามเรื่องรูป เรื่องธาตุ เรื่องขันธ์ เรื่องนี่ นี่ นี่ ตัวธรรมชาติแล้วก็ที่ตัวเราที่เป็นตัวเรานี่สำคัญกว่า คือมันเห็นได้เอง รู้จักได้เอง ที่เป็นตัวภายนอกก็เหมือนกันแหละ ถ้ารู้จักตัวธรรมชาติที่เป็นภายในของเราแล้วก็ต้องรู้ได้ว่าไอ้ของคนอื่นผู้อื่นสิ่งอื่นก็เหมือนกันแหละ ท่านทรงนำมาสอนในเรื่องที่เรียกว่านาม รูป รูปธรรม นามธรรมนั้น ที่เป็นกฎของธรรมชาติท่านก็มาสอนว่ามันต้องอย่างนี้ มันเปลี่ยนแปลงเรื่อยนะ เกิดแล้วดับนะ เป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตานะ ถ้าแกทำอย่างนี้ผลจะขึ้นอย่างนี้ ถ้าทำอย่างนี้ผลจะเกิดขึ้นอย่างนี้ ตอนนี้จะสมมติกันเองว่าดีชั่วผิดถูก แต่ที่จริงมันเป็นกฎของธรรมชาติเหมือนเครื่องจักรล่ะ มันไม่รู้ดีชั่วผิดถูก ทำอย่างนี้ผลเกิดอย่างนี้ ทำอย่างนี้ผลเกิดอย่างนี้ อะไรถูกใจมนุษย์ ต้องการขึ้นมาก็เรียกว่าดี อะไรไม่ถูกใจไม่ต้องการก็เรียกว่าชั่ว พระพุทธเจ้าก็ทรงนำมาสอนอย่างครบถ้วนในเรื่องกฎของธรรมชาติ ท่านสอนเรื่องหน้าที่ หน้าที่ ปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลน่ะเป็นพื้นฐานทั่วๆไป สมาธิก็เป็นเรื่องทางจิตใจโดยเฉพาะ ปัญญาก็เป็นเรื่องทางสติปัญญาซึ่งเป็นคุณสมบัติของจิตใจ รู้ไว้ให้ดีๆ เรื่องศีล สมาธิ ปัญญา แม้สึกออกไปเป็นฆราวาสแล้วก็ยังใช้ได้ ต้องมีศีลตามสมควรแก่ความเป็นฆราวาส มีสมาธิสมควรแก่การทำการงานของฆราวาส แล้วก็มีปัญญาแก้ปัญหาได้ทุกชนิดนี่ ก็เรียกว่าจำเป็นสำหรับสิ่งที่เรียกว่าชีวิต ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือเป็นฆราวาสนี่ ศีล สมาธิ ปัญญาของเราดีอย่างนี้ ทีนี้ผล ผล ผลก็ทรงนำมาสอนครบถ้วน จะผลชนิดไหน ทำอย่างไรมีผลชนิดไหน แต่เดี๋ยวนี้มนุษย์ในโลกปัจจุบันนี้ ไม่สนใจผลในด้านจิตใจ มันสนใจผลแต่ด้านวัตถุ คือความเอร็ดอร่อยทางเนื้อหนัง เรียกให้สั้นเข้ามาก็เรียกว่าเรื่องเนื้อหนัง เรื่องเนื้อหนัง หลงใหลบูชากันสุดเหวี่ยงไม่สนใจเรื่องทางจิตใจ ทีนี้มันก็เกิดกิเลส เกิดความเห็นแก่ตัว เกิดข้อขัดแย้งแย่งชิงต่อสู้ไม่มีที่สิ้นสุดตั้งแต่เล็กๆ ทะเลาะกันในครอบครัว กระทั่งสูงสุดทะเลาะกันเป็นสงคราม เป็นมหาสงครามในโลกนี่ เพราะมันโง่ในเรื่องผล มันไปหลงใหลผลทางวัตถุ มันไม่สนใจผลทางจิตใจ เป็นทาสของวัตถุ บูชาวัตถุ มันก็เกิดความวิปริต ทว่าธรรมชาติไม่ได้สร้างมาอย่างนั้น ธรรมชาติสร้างมาให้สงบ ระงับ เป็นเรื่องของจิตใจ ให้จิตใจสะอาดสว่างสงบ จิตใจสะอาดสว่างสงบ ไม่บ้าบอเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ นี่อย่าไปเป็นทาสของมัน สนใจเรื่องจิตใจ เป็นความสะอาดสว่างสงบ แล้วก็จะมีความร่มเย็นเป็นนิพพาน นิพพานน้อยๆ ไปก่อน ร่มเย็นทางจิตใจ จนกว่าจะสูงสุดเป็นนิพพานโดยสมบูรณ์ นี่เรียกว่าเรื่องผลจากหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ มันอยู่ทุกหนทุกแห่ง เรื่องนี้นี่คือเรื่องทุกเรื่อง เรื่องทุกแห่ง แต่ว่าก็ไม่สำคัญมากมายไปกว่าเรื่องที่เรา เราคนหนึ่งจะต้องรับผิดชอบของเรา ทำให้ถูกต้อง ทำให้ถูกต้อง อย่าให้มันมีปัญหาขึ้นมา นั้นแหละ ขอให้รู้เถอะว่าเรามันเป็นธรรมชาติ มันไม่ใช่มีเราตัวตนที่เป็นอิสระจากธรรมชาติ เป็นตัวตนที่ไม่ใช่ตัวตน ต้องเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ปฏิบัติให้ถูกต้อง ปฏิบัติให้ดีๆ ทีนี้ก็ดูว่าธรรมะโดยธรรมชาติสี่ความหมายนี่ เราก็จะต้องเกี่ยวข้องกับข้อไหน ความหมายไหนน่ะสี่ความหมายน่ะ เราจะต้องเกี่ยวข้องกับความหมายไหน เกี่ยวข้องอย่างไร เกี่ยวข้องเท่าไร เกี่ยวข้องเมื่อไร เกี่ยวข้องที่ไหน รายละเอียดเรื่องนี้ไปศึกษาสัปปุริสธรรมเจ็ด หลักสูตรนักธรรมตรี ในหลักสูตรนักธรรมตรีมีสัปปุริสธรรมเจ็ด รู้ทั้งเจ็ดนั้นแล้วจะมาแก้ปัญหานี้ได้หมด ปฏิบัติเกี่ยวข้องกับธรรมชาติได้ทั้งสี่ความหมาย ในฐานะเป็นพระธรรม ในฐานะเป็นเรื่องทางศาสนา แต่เดี๋ยวนี้ผมจะพูดอย่างเรื่องธรรมชาติๆ ซึ่งเป็นส่วนลึกลงไปจนเป็นธรรมชาติ ก็มีอยู่สี่ความหมายอย่างนี้ แล้วจะต้องไปเกี่ยวข้องอย่างไรกับตัวธรรมชาติ เกี่ยวข้องอย่างไรกับตัวกฎของธรรมชาติ เกี่ยวข้องอย่างไรกับตัวหน้าที่ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ เกี่ยวข้องอย่างไรกับสิ่งที่เป็นผล อันเกิดมาจากหน้าที่ นั้นคือ ถ้าถามว่าเท่าไร ก็คือพอดีๆ ความหมายสำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนาคือพอดี ที่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทาปฏิบัติพอดี อริยอัฏฐังคิกมรรค นั้นน่ะระบบปฏิบัติที่เรียกว่าพอดีๆ พอดีนั้นมันคือถูกต้อง ถ้าเกินพอดีก็ไม่ถูกต้อง ไอ้บ้าเคร่งไอ้พวกอวดเคร่งนั่นน่ะมันบ้า นั่นมันไม่ใช่ถูกต้อง เพราะมันเกินพอดี ไอ้พอดีนั้นมันไม่เคร่ง มันไม่เครียด มันพอดีๆๆ ฉะนั้นขอพูดเสียใหม่ว่ายิ่งพอดีน่ะยิ่งเคร่ง ถ้ายิ่งเคร่งก็ต้องคือยิ่งพอดี ไม่ใช่เคร่งอย่างเครียดครัดและอวดคนและตะโกน ยกหูชูหางอย่างนั้นไม่ใช่ ไม่ใช่เคร่งนั้นน่ะคือบ้านั่นน่ะ ปฏิบัตินี่เท่าไร เท่าไรก็คือพอดีๆ ที่เรียกว่าเป็นกลางๆ อยู่ตรงกลางไม่มากไม่น้อยไม่ตึง ไม่หย่อน ไม่ไม่ไม่ผิดจากความพอดี ความพอดีนี่อธิบายละเอียดลึกสูงไปจนถึงความว่าง หรือปฏิจจสมุปบาทนั่นน่ะคือพอดี สูงขึ้นไปถึงความว่างก็เรียกว่าพอดีๆ เมื่อถามว่าปฏิบัติเท่าไรมันก็คือพอดี แล้วก็เมื่อไรๆ มันมีสำหรับปฏิบัติเป็นพื้นฐานทั่วไปก็มี ปฏิบัติเมื่อเหตุการณ์มันเกิดขึ้นก็มี ถามว่าเมื่อไร ก็ว่าเมื่อต้องปฏิบัติ เมื่อควรปฏิบัติอยู่ที่ไหนอย่างทั่วไป ปฏิบัติที่ไหนอย่างเฉพาะหน้าเฉพาะเหตุการณ์ก็ว่าที่นั่นแหละ เมื่อนั้นแหละๆ และก็เท่านั้นแหละ ที่ไหนมีความต้องการด้วยธรรมะในกรณีใดแล้วก็ต้องปฏิบัติที่นั่นเมื่อนั้นแหละ เพราะฉะนั้นต้องเตรียมพร้อมไว้เสมอ ถ้าไม่เตรียมพร้อมไว้ มันก็หาไม่ทันล่ะ ไม่ใช่ต่อเมื่อว่าข้าศึกมาหรือโจรมาปล้นแล้วก็จะไปที่ร้านซื้อปืนมาอย่างนี้มันไม่ มันบ้าเต็มที ต้องหามาไว้พร้อม เหมือนกับหยูกยาต้องหามาไว้พร้อมเต็มตู้ครบทุกอย่าง แล้วพอมันเกิดเรื่องอะไรขึ้นมาก็กิน กินเฉพาะอย่างเท่านั้นแหละ มันใช้อย่างเดียวเท่านั้นแหละ เฉพาะอย่างที่มันตรงกับเหตุการณ์ เราจึงเตรียมพร้อมไว้เหมือนกับที่เราหายามาไว้พร้อม พอเกิดโรคอะไรขึ้นมา ก็เลือกกินเฉพาะถูกต้องนั้นน่ะ นี่เรียกว่าต้องเตรียมพร้อมกันอย่างนี้ เราจึงฝึกฝนธรรมะให้มี ให้มี ให้มี โดยเฉพาะอย่างยิ่งธรรมะที่เรียกว่าสติ สติ แล้วมันก็ควบคุมไปถึงปัญญา ถึงสัมปชัญญะ ถึงสมาธิ เราจะเรียกว่าธรรมะสี่เกลอนี่ต้องหาไว้พร้อมทีเดียว สตินั้นคือความระลึกได้ไวเร็วๆๆ ที่สุด สมัยโบราณเขารู้ความเร็วมากกว่าเพียงความเร็วของลูกศร ความเร็วของลูกศร ดังนั้นคำว่าสติกับคำว่าลูกศรน่ะมันเป็นคำเดียวกัน คือสิ่งที่แล่นไปเร็ว มีสติให้ทันกับเวลาถ้าไม่ทันกับเวลาก็ล้มเหลว ปัญญาเป็นหมันถ้าสติไม่เอามาทันเวลา มีเรื่องอะไรขึ้นสติต้องไปเอาปัญญามาทันเวลา ต้องฝึกสติ ฝึกสติอย่างฝึกสติ อานาปานสตินี่เรียกว่าฝึกสติ แล้วถ้าไม่สะสมปัญญาไว้มากพอไปเอามาจากไหนล่ะ มันต้องมีปัญญาที่สะสม หรือว่าอบรมไว้พอมากพอ ครบทุกอย่าง สติจะวิ่งไปเอามา ปัญญามา ทันเหตุการณ์ ปัญญามาถึงเฉพาะๆ เรื่องนะ ไม่ใช่ปัญญาทั้งหมดนะ ปัญญาที่ทำหน้าที่เฉพาะเรื่องกำลังอยู่ในหน้าที่อย่างนี่เรียกว่าสัมปชัญญะ คำว่าสัมปชัญญะก็คือปัญญานั่นแหละ คำเดียวกัน ความหมายเดียวกัน ญาๆๆ รู้ๆๆๆ แต่นี่พร้อมเฉพาะเหตุการณ์นี้ เพื่อจะแก้ไขเหตุการณ์นี้ จะขจัดปัญหาเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้เรียกว่า สัมปชัญญะ เหมือนกับหยิบยามายาหนึ่งจากตู้ยามากินเฉพาะหน้า สัมปชัญญะก็มาควบคุมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มีสัมปชัญญะ ต่อสู้กับเหตุการณ์ ทีนี้สัมปชัญญะในบางทีก็ไม่ค่อยมีแรง อ่อนแอ ไม่ค่อยมีแรง ถอยกำลัง ต้องมีอีกสิ่งหนึ่งเรียกว่าสมาธิ สมาธิ กำลังมหึมา จิตทั้งหมดรวมกำลังเป็นอันเดียวกันเรียกว่าสมาธิ มันก็มีแรงมาก มีน้ำหนักมาก สัมปชัญญะก็มีแรงมาก ต่อสู้กับเหตุการณ์ ต่อสู้กับเหตุการณ์นั้นๆ จนชนะได้นี่เพราะสัมปชัญญะมีสมาธิช่วย สัมปชัญญะน่ะเป็นตัวปัญญารู้ไว้ สมาธิน่ะเป็นตัวทำให้น้ำหนักที่ทำให้ปัญญามันตัดตัดได้ ปัญญาน่ะมันเหมือนกับความคมๆ มันเรียกว่าคือปัญญา คมกว่ามีดโกนหรือคมกว่าอะไรก็ตามใจ มันก็ไม่ตัดน่ะ ถ้าไม่มีน้ำหนัก ความคมอยู่เฉยๆ ไม่มีน้ำหนัก มันไม่ตัด มันตัดไม่ได้ มันไม่สามารถจะตัด มันต้องมีน้ำหนัก ความคมจึงจะตัดลงไปได้ นั่นปัญญาเป็นความคม สมาธิเป็นน้ำหนัก มันจึงเกิดการตัด ปัญญาคือสัมปชัญญะเมื่อได้กำลังของสมาธิแล้วมันก็ตัดๆๆๆๆ นั่นเลย นี่ขอให้สังเกตว่าธรรมะที่เราจะต้องใช้โดยเฉพาะนี่ ธรรมะสี่ข้อนี้ มีสติไวพอ มีปัญญามากพอ มีสัมปชัญญะตรง ตรงตามหน้าที่ตามเหตุการณ์ มีสมาธิเป็นกำลังสูงสุดให้แก่ปัญญา ทีนี้ถ้าไม่มีธรรมะอื่นมากมาย หรืออะไรไม่พอ ไม่มีก็ได้ แต่สี่อย่างนี้ต้องพอ ต้องมีมากพอ คือสติเร็วพอ ปัญญามีครบถ้วนให้เลือก เหมือนยามีให้เลือก อาวุธมีให้เลือกจะใช้อันไหนขนานไหน แล้วสัมปชัญญะทำหน้าที่ ทำหน้าที่ ให้ตรงจุดตรงเรื่องเฉพาะเรื่องของมันน่ะ แล้วก็สมาธิก็ระดมกำลังลงไป ถ้าท่านทั้งหลายประสบความสำเร็จในการปฏิบัติอานาปานสติภาวนา ซึ่งเราจัดให้ฝึกกันที่ธรรมาศรมนานาชาติน่ะ รับรองๆ ว่าคุณจะมีธรรมะสี่เกลอนี่อย่างเพียงพอ อย่างเพียงพอหรือเกินพอ คือว่าล้นเหลือไว้ใช้พอได้ตามต้องการ การฝึกอานาปานสติมันทำให้มีสติอย่างยิ่ง มีปัญญาครบถ้วนโดยหมวดที่สี่น่ะอานาปานสติ ปัญญาทั้งนั้นน่ะ สัมปชัญญะฝึกเฉพาะเหตุการณ์เฉพาะหน้า มีสัมปชัญญะสมบูรณ์ ซึ่งเป็นเครื่องหมายลักษณะของสิ่งที่เรียกว่าสติ อาตาปี สัมปะชาโน สะติมา วิเนยยะ โลเก อะภิชฌาโทมะนัสสัง ว่ามีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะนำออกจะได้ซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลกนี่ นี่มันมีผลอย่างนี้ และสมาธิน่ะไม่ต้องสงสัยเพราะมันฝึกสมาธิอยู่ตลอดเวลาที่เรียกว่าอานาปานสติ และเราก็มีสติ ปัญญา สัมปชัญญะ สมาธิ พอใช้หรือเหลือใช้ นี่การที่จะได้รับประโยชน์จากพระธรรมต้องทำอย่างนี้ ต้องรู้ที่ควรรู้ ต้องปฏิบัติที่ควรปฏิบัติ ฉะนั้นเราก็มี มีพระธรรม พระธรรมเจ้ามาคุ้มครอง ธรรมะคือธรรมชาติ มีทุกอย่าง ครบทุกอย่างทั้งสี่ความหมายนี่ สี่ความหมายแยกกันออกดูสิ แล้วความหมายไหนที่เราเอามาทำเป็นสิ่งประเสริฐศักดิ์สิทธิ์สูงสุดเรียกว่าพระธรรม เติมพระเข้าให้ข้างหน้า เติมเจ้าเข้าให้ข้างหลัง เป็นพระธรรมเจ้า ในสี่ความหมายนั้น ความหมายไหนลองคิดดูที่จะมาเป็นพระธรรมเจ้าให้แก่เรา ความหมายที่สามนั่น ความหมายที่สามคือหน้าที่ๆๆ ปฏิบัติหน้าที่โดยศีล สมาธิ ปัญญานั่นแหละ คุ้มครองๆ ศีล สมาธิ ปัญญานี่มันก็เป็นปฏิปัติธรรม รู้เรื่องศีล สมาธิ ปัญญาก็เป็นปริยัติธรรม ปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญาก็เป็นปฏิปัติธรรม ได้รับผลของศีล สมาธิ ปัญญาก็เป็นปฏิเวธธรรม แต่มันต้องทำ มันต้องกระทำ คือหน้าที่ ฉะนั้นกฎหรือความหมายของธรรมชาติข้อที่สาม คือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ เอามา ต้องใช้คำว่าใช้ ต้องใช้คำว่าใช้อยู่ดี หลีกหลีกไม่พ้น คือต้องปฏิบัติคือเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ แล้วก็สมมติ เรียกว่าพระธรรมเจ้า พระธรรมเจ้า พระพุทธเจ้าเห็นความสำคัญสอนมากก็เรื่องนี้ แต่มันก็เนื่องกันทั้งสี่ความหมาย ความหมายนำหน้าเป็นประธานก็คือความหมายที่ว่าเป็นหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ เอามาเป็นพระธรรมคู่กันกับพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ พระพุทธเจ้าท่านรู้เรื่องนี้และท่านสอนเรื่องนี้ แล้วเราก็ปฏิบัติเรื่องนี้เป็นพระสงฆ์ขึ้นมาเพราะการปฏิบัติเรื่องนี้ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็ไม่เว้นไปจากเรื่องนี้ คือเรื่องดับทุกข์ เรื่องปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ เอ้า ทีนี้ก็จะแสดงอานิสงค์จากธรรมะที่สำคัญ ที่สำเร็จประโยชน์ ธรรมะในความหมายที่สำคัญและสำเร็จประโยชน์ ก็พูดไปแล้วหยกๆ ว่าธรรมะที่เป็นหน้าที่ตามธรรมชาติ ก็เรียกเสียใหม่ว่าธรรมปฏิบัติ ถ้าแปลเป็นไทยก็ว่าปฏิบัติธรรมะ ถ้าเป็นบาลีก็ว่าธรรมปฏิบัติ คือปฏิบัติธรรมะ พระธรรมในความหมายนี้ถ้าเรียกเป็นภาษาไทยก็ว่าหน้าที่ๆๆ เอ่อ ข้อนี้อยากจะบอกอะไรกันสักอย่างให้สังเกตว่า เรารู้จักธรรมะกันอย่างไม่ถูกตรง ถูกสอนมาตั้งแต่เล็กๆในโรงเรียนน่ะ ครูโรงเรียนก็สอนว่าธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า นี่มันหลับตาพูดเพราะมันไม่รู้ มันไม่เคยรู้ มันไม่เคยเห็น ขอให้รู้ว่าคำสั่งสอนในลัทธิไหนศาสนาไหนที่มีอยู่มากในอินเดียนี่ พร้อมกับพระพุทธเจ้าเรียกว่าธรรมะทั้งนั้นแหละ ธรรมะของนิครณฐนาฎบุตร ธรรมะของมักขลิโคศาล ธรรมะของอชิตะเกสะกัมพล ธรรมะทั้งนั้นไม่ว่าเป็นคำสอนของใครเขาเรียกว่าธรรมะทั้งนั้น และก็ไม่เรียกว่าศาสนา เขาเรียกว่าธรรมะ ศาสนาของพระพุทธเจ้านี่ก็ธรรมะของพระสมณโคดม ของนิครณฐนาฎบุตรก็เรียกว่าธรรมะของนิครณฐนาฎบุตร ถ้าพูดอย่างที่เราพูดกันเดี๋ยวนี้ก็จะใช้คำว่าศาสนา ศาสนา ทีนี้ธรรมะ ธรรมะมันไม่ได้แปลว่าคำสั่งสอนนี่ ธรรมะมันแปลว่าหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติเพื่อรอด แล้วมันก็เข้ากันพอดีว่าสอนๆ เป็นเรื่องสอน แต่ว่าสอนเรื่องหน้าที่ เพราะฉะนั้นตัวที่ถูกสอนแท้ๆ ก็คือเรื่องหน้าที่ สอนธรรมะคือสอนเรื่องหน้าที่ เพราะฉะนั้นตัวธรรมะคือตัวหน้าที่ คำสั่งสอนสอนเรื่องหน้าที่ คำสั่งสอนนั้นเป็นคำหนึ่ง หน้าที่ก็อีกคำหนึ่ง แยกคำว่าธรรมะออกไปแปลว่าหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติ ถ้าเขาสอนถูก เขาจะสอนว่าธรรมะคือหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ รู้จักกันมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด มนุษย์เรานี่แหละ คนแรกมันเริ่มสังเกตเห็นว่า โอ้ นี่มันอยู่ได้ด้วยสิ่งนี้ๆ ด้วยสิ่งนี้ที่เรากำลังทำอยู่คือหน้าที่ๆ ก่อนนี้ไม่มีคำพูดสำหรับจะเรียกมัน เดี๋ยวนี้คนนี้มันสังเกตเห็นแล้วมันหลุดปากออกมาเรียกว่าธรรมะๆ คือหน้าที่ๆ ทุกคนต้องมีหน้าที่ ไม่มีก็คือตาย ธรรมะคือหน้าที่ที่ช่วยให้รอด เกิดขึ้นมาเป็นคำพูดคำแรกในโลก ทีนี้คำนี้ก็ขยายความสูงขึ้นมาสอนต่อๆ กันมา ขยายความต่อๆ กันมา สูงขึ้นๆ จนเป็นหน้าที่ที่สูงสุด ดับทุกข์สิ้นเชิง บรรลุพระนิพพานนู่นไปนู่นเลย หน้าที่ๆ ทั้งหมดน่ะเรียกว่าธรรมะๆ ปฏิบัติแล้วก็ได้รับผล ฉะนั้นสิ่งที่ต้องเคารพสูงสุดจนพระพุทธเจ้าท่านก็เคารพน่ะ สิ่งนั้นคือหน้าที่ เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วใหม่ๆ ท่านทรงฉงนว่า เอ้ย ต่อไปนี้จะเคารพใคร ตรัสรู้แล้ว รู้ทุกอย่างแล้วอย่างนี้จะเคารพใคร ก็ตัดสินพระทัยว่าเคารพธรรมะ คือหน้าที่ ธรรมะคือหน้าที่ที่ตรัสรู้เอง ที่รู้เอง ธรรมะเรื่องหน้าที่ก็เคารพหน้าที่ เคารพหน้าที่ พระพุทธเจ้าท่านจึงทรงเคารพหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่ อย่างที่จะเปรียบกันไม่ได้กับพวกเรา กับพวกเรา แม้เป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าก็ยัง ยังไม่เคารพสิ่งที่พระพุทธเจ้าเคารพ คนโดยมากบิดพลิ้วหน้าที่ คดโกงหน้าที่ ขบถหน้าที่ ยักยอกหน้าที่ แล้วก็บ้าจะเรียกสิทธิ เรียกสิทธิ เรียกสิทธิ ทั้งที่ไม่ต้องทำหน้าที่ นี้มันโง่มันบ้าถึงขนาดนี้ มันต้องเคารพหน้าที่เหมือนพระพุทธเจ้าท่านเคารพ จึงจะเรียกว่าเป็นสาวกของพระพุทธองค์ พูดกันสักหน่อยก็ได้ว่าพระพุทธเจ้าท่านเคารพหน้าที่อย่างไร โดยประจำวันท่านทำหน้าที่ครบวงจรวันคืน โดยตลอดไปท่านทำหน้าที่จนตลอดชีวิตของท่านด้วยความเสียสละ ตามที่เรายึดถือกันอยู่ว่าเป็นหลักว่า ปัจจุเสว คเตกาเล ภัพพาภัพเพ วิโลกะนัง คือว่าก่อนสว่างน่ะ ก่อนหัวรุ่ง ก่อนสว่างน่ะ ท่านสอดส่องไปว่าวันนี้จะไปทำอะไรที่ไหนนั่น แล้วท่านก็เห็นๆ อยู่ว่าที่นั่นมีนั่น มีคนนั้นมีเรื่องนั้น แล้วก็ตัดสินพระทัยได้แน่ว่าวันนี้จะไปทำอะไรที่ไหน แล้วท่านก็แน่ใจ พอสว่างท่านก็ไป ไปในรูปของโปรดสัตว์คือบิณฑบาต หาโอกาสให้ได้เข้าไปในเหตุการณ์นั้น พบบุคคลนั้น สนทนากัน สอนกัน เขาถึงกับนิมนต์ขึ้นไปบนบ้านบนเรือนไปฉันไปสนทนากัน จนทรมานคนนั้นสำเร็จ หรือว่าถ้าไปเผอิญไปพบกันที่นา ก็สอนที่นา ที่กลางนานั่นแหละ ที่ไหนก็ได้ ท่านสอนจนสำเร็จตามที่ท่านประสงค์จะสอน มันก็อยู่ที่นั่นแหละฉันข้าวแล้วยังสอนยังพูดยังจายังอะไรกันยังไม่กลับ จนสำเร็จประโยชน์ตามที่ท่านต้องการใน ในตอนเช้า ตอนสาย ครึ่งวัน บ่ายท่านก็ต้องพักผ่อนบ้างเป็นธรรมดา เที่ยงน่ะเที่ยง เที่ยงมันร้อน บ่ายก็เอาอีก มาที่วัดมาที่วัด ก็ต้องสอนคนที่ไปหาที่วัดน่ะ ซึ่งมักจะไปตอนบ่ายตอนเย็นก็ต้องสอน ปโทเส ภิกขุโอวาทัง พลบค่ำก็สอนพระภิกษุที่อยู่ที่วัดที่อยู่ด้วยกัน ก็สอนตอนพลบค่ำ เดี๋ยวมันก็ดึกเที่ยงคืน อัฑฒรัตเตเทวปัญหนัง เที่ยงคืนแก้ปัญหาเทวดา เทวดาจากบนฟ้าหรือเทวดาพระราชามหากษัตริย์ก็นิยมไปเที่ยงคืนทั้งนั้นแหละ ในสูตรก็มีพระเจ้าอชาติศัตรู ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเวลาเที่ยงคืน ต้องยกกองทัพเพลิง ถือคบเพลิงไปเพราะพระเจ้าแผ่นดินมีศัตรูมาก ตอนไปกลางคืน กลางดึกก็ต้องยกกองทัพคบเพลิง ถือคบเพลิงแวดล้อมไว้ นี่สอนพวกเทวดาเที่ยงคืน ทีนี้เลยเที่ยงคืนก็ต้องพักผ่อนบ้างแหละ เพราะว่าร่างกายมันต้องพักผ่อนบ้าง เดี๋ยวมันก็หัวรุ่งอีกแล้ว มันหัวรุ่งอีกแล้ว ก็ทำอย่างเดียวกันอีก วันนี้รุ่งขึ้นจะไปไหน ท่านทำงานครบวงจร พวกเราทำงานได้แต่ขี้เล็บของวงจรนั่นไหม หรือเวลานี้ก็ยังนอนคลุมโปงอยู่ คิดดูสิ มันลำบากมากที่จะเรียกมาพูดกันตอนนี้ ตอนเช้า นี่เรียกว่าเคารพหน้าที่ประจำวันๆ ของท่าน ขอให้พระสาวกของท่านแต่ละองค์ที่เป็นลูกศิษย์ของท่านจงเคารพหน้าที่ เคารพหน้าที่ เคารพหน้าที่ ให้ครบวงจรอย่างนี้แหละ เอ้า ทีนี้มันต้องเคลื่อนที่ ต้องไปตามที่ต่างๆนี้ ท่านก็ทำไม ต้องเดิน เพราะมันไม่มีรถยนต์ แล้วยานพาหนะเช่นเกวียน รถม้ามันก็มี แต่ท่านไม่นั่ง เพราะมันเทียมด้วยสัตว์มีชีวิตนี่ ท่านไม่นั่ง ข้อนี้มันก็เป็นเรื่องของนักบวชทั่วๆ ไป เป็นระเบียบของนักบวช ไม่นั่ง ยานพาหนะที่เทียมด้วยสัตว์มีชีวิต เมื่อท่านเป็นพระเป็นกันมากอย่างนั้น เดี๋ยวนี้จะไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว แต่ค่อยยังชั่วหน่อยที่มันมีรถยนต์เข้ามาแทน และท่านก็ไม่มีรถยนต์ แล้วก็ไม่นั่งพาหนะที่เทียมด้วยสิ่งมีชีวิตท่านก็ต้องเดิน จะมีปัญหาอะไร ท่านก็ต้องเดินๆๆ เท่าที่ผ่านมาในพระบาลีทั้งหมดผมไม่เคยพบข้อความตรงไหนที่แสดงว่า พระพุทธเจ้าท่านมีร่ม หรือมีรองเท้า นี่คุณจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตามใจว่า ไม่พบข้อความตรงไหนว่าพระพุทธเจ้ามีรองเท้าใช้ และมีร่มกาง ไม่มี มันไม่มี ท่านก็ต้องเดินเท้าเปล่า มันจะเจ็บปวดเท่าไหร่ ท่านก็เดินกลางแดดเปรี้ยงๆ ไป มันจะร้อนเท่าไหร่ เดี๋ยวนี้เรามีเกินกว่าร่มและรองเท้า มีกล้องถ่ายรูป นี่คิดดูสิ กล้องถ่ายรูปมันกลายเป็นบริขารเก้าไปแล้ว บริขารที่เก้าไปแล้ว พวกชีก็ยังมี แก่ๆ ก็ยังมีกล้องถ่ายรูป นึกแล้วน่าเศร้าน่าสังเวช นี่เราไม่ ไม่นึกในข้อที่ว่าพระพุทธเจ้าท่านไม่มีร่ม ไม่มีรองเท้า ท่านก็ต้องเดินเป็นโยชน์ๆ จนกว่าจะถึงที่หมายของท่านไปทั่วชมพูทวีป ส่วนกลาง ส่วนกลางของชมพูทวีปคืออินเดียท่านไปทุกแคว้น เมื่อวันที่จะนิพพานหยกๆ อยู่แล้วยังเดินอยู่เป็นโยชน์ๆ อย่างนั้น ไม่สบายแล้วด้วย ถ้าเป็นเดี๋ยวนี้ก็พาฉันไปโรงพยาบาลที ไปนอนตายโรงพยาบาล ใส่สายรุงรังไปหมด ไม่พระพุทธเจ้าท่านไม่มีอย่างนั้น ไม่เรียกหายา ไม่เรียกหาหมอ ไม่เรียกหาโรงพยาบาล ท่านยังเดินอยู่วันนั้น เดินอยู่เป็นโยชน์ๆ ไปสู่ที่ที่ว่าค่ำลงจะปรินิพพานที่นี่ ที่นี้จะปรินิพพานกันอยู่แล้วนี่จัดที่ปรินิพพานแล้ว บนเตียงน้อยๆ กลางดินใต้ต้นสาละ ก็ยังอุตส่าห์มีนักบวชในลัทธิอื่นมาขอทูลถามปัญหาธรรมะ ท่านจะปรินิพพานอยู่แล้ว ภิกษุทั้งหลายก็ชักเคือง ที่ว่าเอ้ยรบกวนกันมากอย่างนี้ ไปๆๆๆ ไปให้พ้น พระพุทธเจ้าท่านจะปรินิพพาน พระพุทธเจ้าท่านได้ยินไล่ ไล่ไอ้คนนั้น ท่านก็ว่าอย่าไล่ๆ บอกมาๆ ท่านก็สอนๆๆๆๆๆๆ จนเขามีความรู้พอที่จะเป็นพระอรหันต์องค์สุดท้าย ชื่ออะไรก็ตามใจคุณไปอ่านดูในพุทธประวัติก็แล้วกัน ต่อมาไม่กี่มากน้อยหรือว่าไม่กี่นาทีก็ตามท่านก็ปรินิพพาน ถ้าอย่างนี้แล้วจะไม่เรียกตามภาษาชาวบ้านว่าทำงานจนตาย ทำงานจนตายคาที่ แล้วจะเรียกว่าอะไรล่ะ เดี๋ยวนี้ใครทำงานจนตายคางานอย่างนี้บ้าง เว้นไว้แต่ถูกยิงตาย นี่เราไม่บูชาหน้าที่ไม่เคารพหน้าที่ เหมือนพระพุทธองค์ เราจึงทำงานซื่อตรง ทำงานเต็มที่ ทำงานโดยไม่ต้องลงสมุดเวลา ทำงานแล้วลงโกหกทั้งนั้น อย่าทำอย่างนั้นเลย บูชาหน้าที่ ซื่อตรงหน้าที่ เคารพหน้าที่ ทำงานจนสุดท้าย วาระสุดท้ายของชีวิต นี่เรียกว่าพระพุทธเจ้าท่านเคารพหน้าที่ สิ่งที่เรียกว่าหน้าที่เป็นสิ่งสูงสุดจนพระพุทธเจ้าท่านเคารพ แล้วพระพุทธเจ้าท่านยังประกาศว่า พระพุทธเจ้าทุกพระองค์เลย จะมีในอนาคตกาลหรือมีมาแล้วในอดีตก็ตามทุกพระองค์เคารพหน้าที่ นี่ขอให้บุตรพระตถาคตเคารพหน้าที่ อย่าเป็นคนหลอกลวง เคารพหน้าที่ เคารพหน้าที่ ทำหน้าที่ให้ตรงตามหน้าที่ ไม่ใช่ทำหน้าที่เพื่อหาเงิน ซึ่งมันนอกหน้าที่ ธรรมะคือหน้าที่ ธรรมะคือหน้าที่ ประพฤติธรรม พระพุทธเจ้าเคารพธรรม ท่านก็ประพฤติธรรม เคารพหน้าที่ หน้าที่คือสิ่งสูงสุดจนพระพุทธเจ้าก็เคารพ ธรรมะหรือหน้าที่นี้ ผมคิดดูแล้วสรุปใจความสำคัญ ได้เป็นอย่างนี้ว่า ช่วยฟังให้ดีๆ นะ ธรรมะคือระบบการปฏิบัติ ระบบการปฏิบัติ ทำไมต้องใช้ว่าระบบ เพราะมันไม่ใช่ปฏิบัติอย่างเดียวข้อเดียว มันต้องปฏิบัติครบถ้วนทั้งระบบ ที่เป็นศีล สมาธิ ปัญญา เป็นอัฏฐังคิกมรรค อะไรต้องเป็นระบบครบทั้งระบบไม่ใช่สิ่งเดียว จึงว่าปฏิบัติ ระบบสำหรับปฏิบัติ ปฏิบัติระบบของธรรมะ ระบบของหน้าที่ แล้วคำต่อมาก็ว่าถูกต้องๆๆ แล้วก็ถูกต้องแก่อะไร ก็ถูกต้องแก่ความรอด แก่ความรอด ความรอดอะไร ทั้งทางกายและทางจิต มันทุกขั้นตอนแห่งชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย และทั้งเพื่อตัวเองและผู้อื่น มันเป็นคำๆ อย่างนี้ ปฏิบัติ ระบบ ธรรมะ นี้แล้วก็ถูกต้องๆ ถูกต้องแก่ความรอด ความรอดทั้งทางกายและทางจิต ตลอดเวลาคือทุกขั้นตอนแห่งชีวิต ทั้งเพื่อตนเองด้วยทั้งเพื่อผู้อื่นด้วย นี่คือธรรมะๆๆ อย่างนี้ ธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่คืออย่างนี้ ถ้าให้ความหมายอย่างนี้ล่ะครบถ้วน ก็ครบถ้วนบริบูรณ์หมด ธรรมะคือการปฏิบัติระบบของหน้าที่ ของธรรมะ อย่างถูกต้องแก่ความรอดทั้งทางกายและทางจิต ทุกขั้นตอนแห่งชีวิต ทั้งเพื่อตนเองและผู้อื่น นี่คือความหมายที่สำคัญที่สุดของคำว่าธรรมะๆ ทีนี้ดูความสำคัญว่าพอถ้าขาดธรรมะหรือหน้าที่ มันก็คือตาย ชีวิตอยู่ได้ด้วยการทำหน้าที่ ต้นไม้ก็ปฏิบัติธรรมะคือหน้าที่ สัตว์เดรัจฉานก็ปฏิบัติธรรมะคือหน้าที่ คนก็ปฏิบัติธรรมะคือหน้าที่ มิฉะนั้นมันตาย นี่มันตายนี่ ขาดหน้าที่แล้วมันก็ตาย อย่างว่าไอ้เซลล์ทั้งหลายไม่รู้กี่ล้านๆ ที่มันประกอบขึ้นเป็นร่างกายหนึ่งมันทำหน้าที่อยู่ตลอดเวลา ถ้าเซลล์เหล่านั้นหยุดทำหน้าที่มันก็ตายวูบเดียว เห็นได้รึยังว่าชีวิตมันอยู่ด้วยหน้าที่ อยู่ได้ด้วยหน้าที่ เพราะฉะนั้นไอ้ธรรมะหรือหน้าที่นั้นคือคู่ชีวิต คู่ชีวิตแท้จริงคือหน้าที่หรือธรรมะ ขาดแล้วก็ตายทันที ไอ้คู่ชีวิตที่เขามีกันแล้วก็รักใคร่กันนักเป็นคู่ชีวิตเป็นผัวเป็นเมียนั้นไม่จริงหรอก ขาดก็ได้ไม่ตาย เมียอยู่เมืองไทยผัวอยู่อเมริกาก็ได้ไม่ตาย แยกกันสามปีก็ไม่ตาย แต่ว่าธรรมะคู่ชีวิตคือหน้าที่นี้แยกกันทีก็ตายทันที ขอให้ถือว่าธรรมะเป็นคู่ชีวิต เป็นตัวชีวิตเองก็ได้ ถ้าจะถือว่ามีตัวเรา มีตัวเรากันบ้าง อยากมีตัวเรากันบ้าง ก็เอาตัวธรรมะนั่นแหละเป็นตัวเรา แล้วธรรมะๆ นี้ยังเป็นองค์พระพุทธเจ้าที่แท้จริง พระองค์ตรัสว่าผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม ตัวธรรมะนั้นน่ะเป็นองค์พระพุทธเจ้าที่แท้จริง ร่างกายเนื้อหนังไม่ใช่หรอก นั่นเป็นบุคคล เปลือก พระพุทธเจ้าพระองค์จริงเนื้อในคือธรรมะที่ท่านมี แล้วยังแถมเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าเคารพอีก นี่ความหมายที่สำคัญที่สุดของสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ไม่มีธรรมะก็คือไม่มีหน้าที่ ไม่มีหน้าที่ก็ตาย ทางร่างกายก็ตาย ทางจิตก็ตาย ทางสติปัญญาก็ตาย ตายหมด มันก็ตายกันหมดถ้าไม่มีหน้าที่คือสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ แล้วโลกนี้ก็วินาศไป ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกไม่ทำหน้าที่โลกนี้ก็วินาศ มันดีที่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันทำหน้าที่กันอยู่ แม้แต่สุนัขมันทำหน้าที่ของสุนัข แมวก็ทำหน้าที่ของแมว โลกมันอยู่ได้ด้วยธรรมะคือหน้าที่ที่ประพฤติกระทำกันอย่างถูกต้อง ยอดของธรรมะมันก็ไม่เห็นแก่ตัว ถ้าคนเห็นแก่ตัวมันไม่ทำหน้าที่ คนเห็นแก่ตัวมันเอาเปรียบมันไม่ทำหน้าที่ มันนอนคอยว่าใครทำ กูได้รับผลด้วยก็แล้วกัน เมื่อเราแรกทำถนนเส้นนั้นน่ะ ก่อนนี้มันไม่มี มันไม่มีเลยเป็นทุ่งนา ชวนกันไปทำถนนเส้นนั้น ก็มีหลายคนน่ะไปช่วย แต่บางคนพูดว่า มึงทำ กูค่อยเดิน เขาใช้คำว่าอย่างนั้น นี่ความเห็นแก่ตัวมันไม่ทำหน้าที่ ความเห็นแก่ตัวมันไม่ปฏิบัติธรรมะ ความเห็นแก่ตัวมันขี้เกียจ ความเห็นแก่ตัวมันเอาเปรียบ ความเห็นแก่ตัวมันอิจฉาริษยา ในที่สุดหลงทางเข้ามันก็บ้าเอง คนเห็นแก่ตัวมันฆ่าพ่อฆ่าแม่ฆ่าลูกฆ่าเมียได้ทั้งนั้น ความเห็นแก่ตัวมันหลงทาง ยอดของธรรมะคือไม่เห็นแก่ตัวเพราะหมดตัวหมดความยึดมั่นว่าตัวตนก็ยิ่งดีนี่ มีตัวตนที่ไม่ใช่ตัวตน คือไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน นี่ธรรมะสูงสุด ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ตัว เดี๋ยวนี้มันรักกันไม่ได้ มันเห็นแก่ตัว ทุกคนเห็นแก่ตัว ทั้งโลกเห็นแก่ตัว ประเทศแต่ละประเทศเห็นแก่ตัว หนักเข้าผัวก็เห็นแก่ตัว เมียก็เห็นแก่ตัว ลูกก็เห็นแก่ตัว มันก็กัดกันเท่านั้นเอง มันหาความสงบสุขไม่ได้ หมดความเห็นแก่ตัวนั่นแหละคือยอดของธรรมะ นี่ธรรมะที่เราควรรู้จักในฐานะเป็นพระธรรมเป็นยอดของพระธรรมคือความไม่เห็นแก่ตัว เป็นวิมุตติหลุดพ้นไปจากความยึดมั่นถือมั่น ความไม่เห็นแก่ตัวเป็นหัวใจของทุกศาสนา ทุกศาสนามุ่งสอนเรื่องนี้แต่คนมันก็ไม่เอา ยิ่งเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัวมาถึงยุคนี้ ยุคปัจจุบันนี้ ยุควัตถุนิยม ยุคนิวเคลียร์อะไรก็ตาม ยิ่งเห็นแก่ตัว ยิ่งเห็นแก่ตัว เพราะว่าการศึกษามันไม่สมบูรณ์ มันสอนแต่ให้ฉลาด สอนแต่ให้ฉลาด มันไม่บังคับความฉลาด มันก็เอาฉลาดไปเห็นแก่ตัวหมด มันจึงแข่งขันกันในทางเห็นแก่ตัวระหว่างคนฉลาด เรียนชั้นอนุบาลมันเห็นแก่ตัวอย่างอนุบาล เรียนชั้นประถมก็เห็นแก่ตัวอย่างประถม มัธยมเห็นอย่างมัธยม เรียนมหาวิทยาลัยมันก็เห็นแก่ตัวลึกซึ้งสูงสุดอย่างระดับมหาวิทยาลัย มันเป็นกันทั้งโลก เป็นกันทั้งโลกเพราะว่าการศึกษานั้นมีแต่สอนแต่ให้ฉลาดอย่างเดียว ไม่มีอะไรควบคุมความฉลาด มันก็ไปใช้เห็นแก่ตัวกันหมด มันก็ได้รบราฆ่าฟันกันไม่มีที่สิ้นสุด วิกฤติการณ์มีตลอดทุกวินาทีในโลกเพราะความเห็นแก่ตัว ขอให้มีธรรมะสูงสุดคือความไม่เห็นแก่ตัวเป็นลำดับๆๆ ไปนั่นแหละ พระธรรมอยู่กับเรา พระพุทธเจ้าอยู่กับเรา เราเป็นพระสงฆ์เสียเอง
บรรยายนี้สมควรแก่เวลา ขอยุติเรื่องพระธรรมที่ควรรู้จัก หวังว่าเพื่อนสหธรรมิกทั้งหลายจงได้เคารพพระพุทธเจ้า เคารพพระพุทธเจ้า เอาอย่างพระพุทธเจ้าผู้เคารพหน้าที่ เคารพหน้าที่ ขอให้เคารพหน้าที่ตลอดเวลาที่เป็นบรรพชิต แม้ออกไปเป็นฆราวาสก็เคารพหน้าที่ เคารพหน้าที่คือธรรมะ ธรรมะก็จะคุ้มครองให้มีความสุขทุกทิพาราตรีกาล เทอญ