แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านที่เป็นภิกษุนวกภูมิทั้งหลายในการบรรยายครั้งแรกนี้จะพูดกันโดยหัวข้อว่าธรรมะกับคนเรา มันเป็นเรื่องเบื้องหลังเป็น Background กว้าง ๆทั่วไป แต่ก็ไม่ค่อยจะได้มองกันนัก มันเป็นเรื่องสำคัญหรือเป็นใจความสำคัญของมนุษย์ ก็พูดว่ามนุษย์กับธรรมะหรือธรรมะกับมนุษย์นี่มันเป็นเรื่องพื้นฐานหรือเป็นเรื่องเบื้องหลังทั้งหมดที่เราจะต้องทราบ เพื่อความเป็นมนุษย์ของเราจะได้สมบรูณ์ ๆ หรือจะเรียกกันอย่างสมัยใหม่ว่าเป็นเรื่องวัฒนธรรม เรื่องอารยธรรมก็ได้ ถ้ามันไม่มีวัฒนธรรมหรืออารยธรรมมันก็ไม่มีความเป็นมนุษย์ที่ควรจะพอใจ มันจะไม่ต่างจากสัตว์ คำพูดโบราณก่อนพุทธกาลมีในอินเดีย แล้วก็ยืมมาใช้ในฝ่ายพุทธเราบางคนเข้าใจว่าเป็นคำของพระพุทธเจ้าไปเสียก็มี คือคำที่ว่า อาหาละนิทรา พะยะเมทุนันจะ นั้นคือการกินอาหาร การหลับนอน การขี้ขลาดหนีอันตราย การประกอบเมถุนธรรมระหว่างเพศ เหล่านี้มันมีเสมอกันระหว่างคนกับสัตว์ (นาทีที่ 3.26) (เอตังปะสุภินิรานัง)เนตะสุภินิรานัง เสมอกันระหว่างคนกับสัตว์แต่ว่าธรรมะเท่านั้นที่ทำความแตกต่างระหว่างคน จากระหว่างคนจากสัตว์ หมายความว่าถ้าไม่มีธรรมะคนก็เสมอสัตว์ เสมอเท่ากันกับสัตว์ ดังนั้นเราควรจะรู้จักสิ่งที่เรียกว่าธรรมะนั้นกันให้เพียงพอ คือมันจะมีความเจริญในความหมายที่ถูกต้อง จะเป็นวัฒนธรรมหรืออารยธรรมก็แล้วแต่จะเรียก ไอ้คำเหล่านี้มันยังไม่ยุติ ยังกำกวมไม่ยุติ
บางคนก็เอาเรื่องอารยธรรมเป็นเรื่องทางวัตถุ เอาวัฒนธรรมเป็นเรื่องทางจิต บางคนก็ถือเอาตรงกันข้าม ถือตามหลักภาษาบาลีแล้วก็อารยธรรมนั้นจะเป็นคำที่เหมาะสำหรับจะใช้กับความเจริญที่แท้จริง อารยะคืออริยะ อริยะ อริยเจ้า ไอ้วัฒนะ วัฒนานี่ตามตัวหนังสือมันแปลว่ามากขึ้นเท่านั้นแหละ รกหนามากขึ้น ไม่ได้หมายถึงว่าดีหรือวิเศษ ควรจะเป็นเรื่องทางวัตถุ ส่วนคำว่าอารยธรรมนี่หมายถึงดีวิเศษขึ้นก็ควรจะเป็นเรื่องทางจิตใจ นี่ขอให้เรารู้จัก มองเห็นและรู้จัก ไอ้สิ่งทีเรียกว่าความเจริญ คือมันมากขึ้นแต่ในทางไหนก็ยังไม่แน่ แต่ไอ้ที่แน่ ๆ ก็คือว่าในทางที่ดี ที่ถูก พอเราคลอดจากท้องแม่มันก็เริ่มมีความเจริญคือมากขึ้น ของสิ่งที่มันเจริญหรือมันมากได้ ถ้าเจริญไปตามสัญชาตญาณล้วน ๆ มันก็เจริญของกิเลส ถ้าเจริญไปด้วยสติปัญญามันก็เรียกว่าความเจริญของโพธิ สัญชาตญาณ ความรู้ที่มันเกิดเองตามธรรมชาติ ภาวิตญาณ คือความรู้ที่เราจะทำให้ในเจริญขึ้นมา ถ้ามันรู้ไปตามลำพังสัญชาตญาณมันจะเป็นเรื่องของกิเลสนี่มันจะง่ายไปในทางที่จะเป็นกิเลสเสียมากกว่า ก็ต้องทำให้เป็นไปในทางของโพธิ ๆ ซึ่งแปลว่าไอ้ความรู้ที่เหนือสัญชาตญาณ การที่มันจะเจริญไปในทางของโพธิมันมีสิ่งที่จำเป็นต้องใช้ ก็คือธรรมะนั่นเอง ดังนั้นเราจะพูดถึงเรื่องธรรมะให้เป็นที่เข้าใจกันให้มากเท่าที่จะมากได้
สำหรับการบวชในลักษณะชั่วคราวอย่างนี้ของท่านทั้งหลายส่วนมากนี่มันก็มีสิ่งที่ต้องคิดว่ามันจะมีผลเป็นข้อเท็จจริงอย่างไร ที่จริงนั้นธรรมะมันควรจะมีตั้งแต่เด็ก ๆ เรื่อย ๆ มา และการบวชในลักษณะอย่างนี้มันก็เป็นเรื่องพิเศษของคนบางยุค บางสมัย บางถิ่น คือบวชชั่วคราว ก่อนแต่ที่จะไปเผชิญกับโลก การบวชแต่โบราณแท้จริงมันเพื่อจะออกไปจากโลก เพื่อจะชนะโลกโดยประการทั้งปวง ให้มีชีวิตชนิดที่เหนือโลก นี้เราก็ยังมีส่วนที่จะต้องออกไปเผชิญกับโลก หรือปัญหาในโลก มันก็ทำได้แต่บางอย่างหรือบางส่วนเท่านั้น แต่ก็เป็นการดี เรียกว่าดีกว่าไม่ทำมากมาย ขอให้การบวชของเรานี้ได้รับอานิสงส์อย่างที่ผมเคย เคยแถลง เคยขอร้อง ว่าให้ตัวเองได้รับประโยชน์ที่สูงขึ้นไป ที่สูงขึ้นไปสำหรับความเป็นมนุษย์ของตัวเอง และก็ให้เป็นสนองพระคุณของผู้มีพระคุณเช่นบิดา มารดาเป็นต้นด้วย ก็นี้ก็เป็นเรื่องทางศีลธรรมเป็นใจความสำคัญ ลูกบวชแล้วพ่อแม่มีโอกาสใกล้ชิดธรรมะมากขึ้น ได้รับประโยชน์ยิ่งกว่าอย่างอื่นและข้อที่สามให้เป็นประโยชน์แก่พระศาสนา คือเป็นการสืบอายุพระศาสนาไว้อย่าให้สูญสิ้นไป เราเกิดมาในโลกได้รับประโยชน์จากพระศาสนาที่คนก่อน ๆ เขาสืบไว้ให้ แล้วเราก็ควรจะรับผิดชอบโดยการตอบแทน ขอให้ได้ประโยชน์ทั้งสามนี่เราก็ได้ ผู้มีพระคุณก็ได้ โลกทั่วไปก็ได้ ไอ้โลกทั่วไปได้เป็นพระพุทธประสงค์ พระพุทธองค์ทรงประสงค์อย่างนี้ว่าให้ช่วยกันทำให้ธรรมะนี้เป็นที่เข้าใจแจ่มแจ้ง ให้แก่สัตว์ทั้งปวง ทั้งเทวดา ทั้งมนุษย์ แต่แล้วในที่สุดมันก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการทำให้มีธรรมะ มีธรรมะ เรามีธรรมะมากขึ้น บิดามารดามีธรรมะมากขึ้น โลกมีธรรมะมากขึ้นนั้นแหละสิ่งที่ประเสริฐที่สุด เพื่อทำให้ชีวิตนี้มันมีค่า มันมีราคาขึ้นมา นั้นขอให้สนใจคำว่าธรรม ธรรม ธรรมะ หรือธรรมนี่กันให้ถึงที่สุด จะต้องพยายามรู้จักธรรมะ มีธรรมะ และก็ใช้ธรรมะให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด เราจะต้องพยายามจนกว่าจะมีผลอย่างนี้เกิดขึ้นมา คือเรามีธรรมะพอที่จะใช้แก้ปัญหาต่าง ๆในชีวิตได้ ดังนั้นจึงขอร้องว่าการบวชนี้ ขอให้เป็นการบวชจริง เรียนจริง รู้จริง ปฎิบัติจริง ได้รับผลจริง ให้มันจริงกันอย่างนี้ นั้นแหละคือการที่มีธรรมะ ถ้ามีธรรมะแล้วมันหมดปัญหาด้วยประการทั้งปวง ที่มันสำคัญที่สุด สำคัญที่สุด โดยสรุปสำคัญที่สุดก็ว่ามันจะทำให้ชีวิตนี้เป็นสิ่งที่น่าพอใจ ไม่เป็นชีวิตชนิดที่กัดเจ้าของ ถ้าคนโง่ไม่มีความรู้ทางธรรมะ ปล่อยให้มันเจริญไปตามสัญชาตญาณล้วน ๆ แล้ว ชีวิตนี้มันจะกัดเจ้าของ คือมันทำให้เกิดปัญหาไปเสียทุกอย่างยุ่งยากลำบากไปเสียทุกอย่างทุกเรื่องที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เรียกว่าชีวิตมันกัดเจ้าของ หรือมันจะพูดให้มากไปกว่านั้นก็ว่า ชีวิตนั้นมันจะกัดตัวเองเหมือนหมาบ้าชนิดหนึ่งมันกัดตัวเอง เพื่อไม่ให้ชีวิตกัดตัวเองหรือกัดเจ้าของนี่เราจะต้องมีสิ่งที่คุ้มครองป้องกันนั่นก็คือธรรมะ ดังนั้นมันจึงเป็นสิ่งที่มีมาแต่ดึกดำบรรพ์การที่มนุษย์รู้จักสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ๆ และก็มีมาแต่ดึกดำบรรพ์ สนใจให้มีมากขึ้น ๆ ๆ คือเจริญด้วยธรรมะ ถ้าเราจะถือเอาประเทศอินเดียเป็นหลักในฐานนะเป็นที่เกิดแห่งศาสนา วัฒนธรรม อารยธรรมเก่าแก่ที่สุดหรือว่าก่อนพุทธ ศาสนาพุทธก็เกิดในอินเดียแต่ก็ทีหลังระบบศาสนาอื่น ๆ ศึกษาดูประเทศอินเดีย วัฒนธรรมอินเดีย อารยธรรมอินเดียได้เป็นมาอย่างไรจะช่วยให้เข้าใจดีขึ้น ว่าแม้แต่พุทธศาสนานี้ก็เป็นอารยธรรมอินเดีย เกิดในอินเดียสืบต่อออกมาจากวัฒนธรรมเก่าแก่ของอินเดีย จนมาเป็นพุทธศาสนาหรือจะเรียกว่ายอดสุดของวัฒนธรรมอินเดียก็แล้วแต่
คำว่าธรรมะ ธรรมะ ในโรงเรียนสอนนักเรียนไม่มี เกือบจะไม่มีความหมาย ว่าธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านี่มันไม่ถูก มันมีก่อนพระพุทธเจ้าเกิดธรรมะ ๆ นี้ แล้วในลัทธิไหน ศาสนาไหนในอินเดียสมัยนั้น สมัยพุทธกาลเขาเรียกธรรมะ ธรรมะ กันด้วยกันทุกลัทธิ ทุกศาสนาแหละ ธรรมะของนิครนถ์นาฏบุตร สัญชัยเวลัฏฐบุตร มักขลิโคสาล อะไรก็ตาม เขาเรียกธรรมะกันทั้งนั้น ในภาษาอินเดียแท้ ๆ คำว่าธรรมะนี้ไม่ได้แปลว่าคำสอน แต่แปลว่าหน้าที่ หน้าที่ แล้วสอนก็สอนเรื่องหน้าที่ ตัวธรรมะคือตัวหน้าที่ ก็เอาเรื่องหน้าที่มาสอน นั้นธรรมะจึงไม่ใช่ตัวคำสอน แต่เป็นตัวหน้าที่ ที่เอามาสอน หน้าที่คือสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิต ถ้าไม่มีหน้าที่มันก็คือตาย คนก็ตาย สัตว์ก็ตาย ต้นไม้ก็ตาย ลองไม่มีหน้าที่สิ ก็มันอยู่ด้วยหน้าที่แท้ ๆ ชีวิตนี้มันอยู่ด้วยหน้าที่ มีหน้าที่ถูกต้องมันก็เจริญ ๆ ไป มันอยู่ด้วยหน้าที่ เป็นตัวชีวิตเสียมากกว่าที่จะเป็นคู่ชีวิต จะเรียกว่าเป็นคู่ชีวิตมันก็ได้ ถ้าไม่มีธรรมะชีวิตนี้มันก็ตาย มันต้องมีธรรมะเป็นคู่ชีวิต แต่ควรจะมองเห็นว่าเป็นคู่ชีวิตชนิดที่จริงยิ่งกว่าสิ่งใด ไอ้คู่ชีวิตคู่ผัวตัวเมียนั้นเป็นเรื่องสมมุติและเป็นหลอก ๆ มากกว่า แยกกันอยู่สักสามปีห้าปีก็ไม่ตาย แต่ถ้าคู่ชีวิตคือธรรมะนี้แยกเดี๋ยวเดียวก็ตายแหละ แยกหน้าที่ออกไปเสีย ธรรมะออกเสียจากชีวิตเดี๋ยวเดียวก็ตาย ถ้าเซลล์ทั้งหลายในร่างกายไม่ทำหน้าที่ มันก็ตายวูบเดียวไม่ทันรู้ ดังนั้นสิ่งที่เรียกว่าหน้าที่ หน้าที่ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด จึงขอฝากไว้ในความจำหรือความสนใจแก่ท่านทั้งหลาย ให้รู้จักตัวจริงของสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ถ้าได้ฟังมาแล้วก็ดีแล้ว เผื่อไม่เคยได้ฟังก็ขอให้ฟังอีกเพื่อชัดเจนยิ่งขึ้น สำหรับคำนิยามบทนิยามของคำว่าธรรมะ Definition ของคำว่าธรรมะขอให้คอยจำให้ดี ๆ ทุก ๆ คำเป็นลำดับไป ธรรมะคือระบบปฏิบัติ นี่คำแรก ระบบปฏิบัติ เพราะต้องทำเป็นระบบมันไม่ใช่ทำสิ่งเดียวอย่างเดียว การปฏิบัติที่ปฏิบัติเป็นระบบก็ที่ถูกต้อง ถูกต้องนี่เป็นคำที่สำคัญ ถูกต้องแก่ความรอด ความรอด รอดทุกชนิด รอดทางกายและทั้งทางจิต แก่ความรอดทั้งทางกาย ทั้งทางจิต และก็ต้องทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ หมายความว่าตั้งแต่เกิดจนตาย ขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ และก็ทั้งเพื่อตนเองและเพื่อผู้อื่น คือทั้งโลก นี่บทนิยามที่สมบรูณ์ของคำว่าธรรมะมันเป็นอย่างนี้ ระบบปฏิบัติต้องศึกษาหลายอย่างและปฏิบัติให้ถูกตามระบบ เป็นระบบ ต้องถูกต้อง คำว่าถูกต้อง ถูกต้อง ในทางธรรมะนี่คือมันเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ทาง Logic ทาง philosophy เขาอธิบายกันอย่างอื่นเรื่องถูกต้อง(นาทีที่ 21.40)เอาข้อความไม่ค่อยจะได้เขา เราไม่เอา ทางธรรมะก็คือว่ามันเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายเรียกว่าถูกต้อง ที่มันถูกต้องแก่ความรอด รอดจากความทุกข์ คือปัญหาทุกชนิด ทุกชนิด ทั้งทางวัตถุ ทั้งทางร่างกาย ทั้งทางจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอะไรก็รอดจากปัญหาเหล่านั้น และไม่ใช่รอดคนเดียว รอดทั้งตนเองและรอดทั้งผู้อื่น
ประโยชน์ในพระพุทธศาสนาท่านจัดไว้เป็นสามอย่าง ประโยชน์ตัวเองนี่อย่างหนึ่ง ประโยชน์ผู้อื่นก็อีกอย่างหนึ่ง และประโยชน์ที่มันสัมพันธ์กันทั้งตัวเองและผู้อื่นอย่างที่ไม่อาจจะแยกออกจากกันได้ นี่มันก็มีอยู่อีกประโยชน์หนึ่ง อัตตัตถะ ประโยชน์ตน ปรัตถะ ประโยชน์ผู้อื่น อุภยัตถะ ประโยชน์สองฝ่ายเกี่ยวข้องกัน นี่คือว่าธรรมะ ธรรมะ ที่เราจะดูถึงไอ้เค้าโครง รวมทั้งไอ้ภูมิหลังของธรรมะนี่กันให้สิ้นเชิงทั้งหมด ให้ครบถ้วนตามที่เป็นจริง อย่างที่พูดมาแล้วว่าวัฒนธรรม หรืออารยธรรมของพวกเรานี่รับสืบมาจากประเทศอินเดีย จึงควรจะเข้าใจความเป็นมาแห่งธรรมะ วัฒนธรรมก็ดี อารยธรรมก็ดีของอินเดีย ว่าเขามีเค้าโครงอย่างไร มีเค้าโครงอย่างไร รูปโครงของมันเป็นอย่างไร ไม่ใช่เราจะถือศาสนาฮินดูหรือถือศาสนาอื่น แต่เราจะมองดูที่ต้นตอของศาสนาทั้งหลายที่เกิดขึ้นในอินเดีย มันช่วยให้เข้าใจพุทธศาสนาได้ง่ายขึ้น เดี๋ยวนี้เราก็จะปฏิบัติจะศึกษาและจะปฏิบัติพระพุทธศาสนาให้สมบรูณ์ แต่เราก็ควรจะมองดูถึงต้นตอ หรือที่มาหรือรากฐานหรืออะไรก็แล้วแต่จะเรียกกันให้สมบรูณ์ หลักศาสนาเก่าแก่ของชาวอินเดียหรือฮินดูนี่เขาเรียกรวม ๆ กันว่าโยคะ ๆ คำนี้ คำ ๆ นี้มันแปลว่าเทียมแอก เทียมแอก เอาควายหรือเอาวัวเข้ามาเทียมแอกแล้วมันก็ลากแอกไปไถนาก็ได้ ลากเกวียนก็ได้ คำว่าโยคะนี่ ก็หมายถึงการที่เอาชีวิตนี่เทียมแอก ผูกเข้ากับแอกให้มันไป ให้ชีวิตนี่ถูกลากไปอย่างถูกต้องจึงเรียกว่าเทียมแอก คือเทียมเข้ากันกับธรรมะ หรือจะเรียกว่าโยคะก็ได้ นี้ไอ้หลักการปฏิบัติที่เรียกว่าเทียมแอกแห่งชีวิตนี่เราน่า เราควรจะสนใจ หลักเกณฑ์เก่า ๆ ของชาวอินเดียซึ่งได้ก่อรูปอารยธรรม วัฒนธรรมอันนี้ขึ้นมา เราไม่อาจจะศึกษาโดยรายละเอียดหรือทั้งหมดทั้งสินหรอกจะศึกษาโดยเค้าโครง เค้าโครงมีประโยชน์ ผมสังเกตเห็นว่ามีประโยชน์แล้วก็ใช้เป็นหลักเกณฑ์และเอามาพูดให้ฟัง เค้าโครงทั้งหมดของไอ้ธรรมที่จะเป็นโยคะสำหรับชีวิตนี้มันมีว่า อันแรกที่สุดเรียกว่า ยมะ ยมะ คือป้องกันหรือสำรวมไม่ให้สิ่งที่ควรจะเข้ามา มามี อย่าให้มี นี่ป้องกันไม่ให้มี นี่ทำคำพูดของทาง (นาทีที่ 0:27:32) นี้ต่อมามันก็คือ นิยมะ นี่ทำให้มี อย่างแรกไม่ให้มีคือความชั่ว อย่างที่สองทำให้มีไม่ให้หนีไปเสียก็คือความดี ยมะ ป้องกันไว้ไม่ให้มีมา นิยมะ รักษาไว้ให้มีอยู่ นี่เรียกว่าเขาเริ่มรู้จักไอ้สิ่งที่เรียกว่าดีว่าชั่วขึ้นมาพอสมควรแล้ว ก็สอนกันโดยหลักเกณฑ์นี้ว่า ดีหรือถูกมันก็เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ชั่วหรือผิดมันก็เป็นอันตรายแก่ทุกฝ่าย โดยรายละเอียดมากมายมหาศาล ตั้งแต่สำหรับคนโง่ที่สุดคนปัญญาอ่อนที่สุด จนกระทั่งคนที่มันฉลาดที่สุดเรื่องดี เรื่องชั่ว เรื่องดี เรื่องชั่ว ตั้งต้นด้วยการละชั่วออกไปเอาดีเข้าไว้ นี่เป็นหลัก
ทีนี้ถัดมาชาวอินเดียหรือโยคะของอินเดียนั้น เรียกว่า อาสนะ อาสนะ นี่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติทางจิตใจโดยตรง ทางกรรมฐาน ทางวิปัสสนา ท่านั่งที่มีประโยชน์ที่สุดเรียกว่าอาสนะๆ อาสนะ แปลว่าท่านั่ง โยคะก็มีอาสนะหลายสิบอย่าง ไปหาอ่านดูจากหนังสือโยคะ แต่ที่จะใช้ในวงแคบเข้ามาสำหรับธรรมะดับทุกข์โดยตรงนี้มักจะเรียกกันว่า มุทรา มุทรา ท่านั่งหลายสิบท่าของชาวอินเดียล้วนแต่สร้างความเข้มแข็งให้แก่ร่างกาย หมายความว่าเราจะปรับปรุงร่างกายให้มีประโยชน์เข้มแข็งที่สุดได้อย่างไร แล้วเราก็จะเลือกเอาไอ้ท่านั่งที่ดีที่สุดมาบำเพ็ญความเพียรทางจิตใจ อย่างพระพุทธรูปท่านั่งสมาธิก็เป็นมุทราหนึ่ง ท่าตรัสรู้ก็มุทราหนึ่ง ท่าแสดงธรรมก็มุทราหนึ่งเป็นท่า ๆ ๆ ๆ ไป หมายความว่ามันเหมาะสมที่สุดแหละ นี่เรียกว่าเขาว่าเก่งมากในการที่จะศึกษาเรื่องท่านั่งของร่างกาย ที่มันเกี่ยวข้องกันกับชีวิต ว่าจะใช้ท่าไหนในกรณีไหน ท่าไหนในกรณีไหน อย่างที่เราจะทำอานาปานสตินี่ก็จะใช้ท่านั่งท่าไหนอย่างนี้เป็นต้น เขาเลือกเฟ้นกันมาถึงที่สุดแล้ว เขาวางไว้เป็นระบบน่าศึกษามากมาย แต่เราก็ไม่ต้องศึกษาทั้งหมดนั่น แต่ก็เราจะต้องรู้ไว้ว่าไอ้วิชาโยคะที่เรียกว่าอาสนะนั้นนะคือเขารู้จักใช้ประโยชน์จากท่าที่นั่ง ที่เดิน ที่ยืน ที่นอน อะไรต่าง ๆ ให้เป็นประโยชน์ในทางฟิสิกส์ คือทางร่างกายล้วน ๆ ก็มี ในทางจิตใจก็มี ในทางสติปัญญาก็มี มันเกี่ยวกับท่านั่งด้วยเหมือนกัน นี่เรียกว่าอาสนะเป็นหัวข้อที่สาม
ทีนี้หัวข้อที่สี่ก็เรียกว่า ปราณายามะ เรียกตามภาษาสันสกฤต ปราณายาม ปราณายามะ เรียกเป็นบาลีก็ว่า (นาทีที่ 32.09 )ปาณะยามะ ปาณะยามะ ปาณะอายามะ คำนี้แปลว่าควบคุม ปราณ ปราณคือลมหายใจ ชาวอินเดียแต่ดึกดำบรรพ์สนใจเรื่องนี้ รู้จักสิ่งนี้คือปราณ ๆ บางทีก็แปลว่าชีวิต แต่โดยตัวของมันก็หมายถึงลมหายใจ เขาศึกษาเรื่องลมหายใจแบบนั้น แบบนี้ แบบโน้น ก็ทดลองพิสูจน์ ควบคุมอย่างนั้น ควบคุมอย่างนี้ ควบคุมอย่างโน้นจนได้รับประโยชน์มากที่สุดจากลมหายใจเป็นวิชาสำหรับคนทั่วไปไม่เกี่ยวกับศาสนาก็มี เป็นวิชาสำหรับมีพละกำลังทางฤทธิ์ปาฏิหาริย์ก็มี ก็เรียกว่ารู้เรื่อง ปราณายามะ กันเต็มที่ ก็เรียกว่าถูกปรับปรุงให้ดีขึ้น ปรับปรุงให้ดีขึ้น ปรับปรุงให้ดีขึ้น ต่อมาทุกยุคทุกสมัยจนมีเป็นหลาย ๆ แบบ หลาย ๆ อย่างในพุทธศาสนานี้พระพุทธเจ้าก็ได้ปรับปรุงขึ้นมาแบบหนึ่งเรียกว่า อานาปานสติ ซึ่งเราจะฝึกกันในไม่กี่วันนี้ นั่นก็เป็น ปราณายามะ ที่ปรับปรุงดีแล้ว มีประโยชน์ที่สุดที่จะดับทุกข์แล้ว แต่อย่าลืมว่าไม่ใช่ของใหม่ของพระพุทธเจ้าล้วน ๆ ท่านตรัสรู้ ท่านก็ปรับปรุง ๆ ให้ดีขึ้นแล้วมาสอนไว้ แล้วท่านก็ได้รับการฝึกฝนเรื่องนี้มากมาก่อนแล้ว เพราะเราได้อ่านพบข้อความว่า ในพิธีแรกนาขวัญที่เจ้าชายสิทธัตถะมีอายุเพียงเจ็ดขวบก็สามารถทำอานาปานสติใต้ต้นไม้แห่งหนึ่งจนเงาไม้ไม่เอนไปตามแสงอาทิตย์อย่างนี้ก็มี นี้ถือเอาใจความแต่เพียงว่ามันเป็นสิ่งที่แพร่หลาย จนเด็ก ๆ ก็รู้จักทำสิ่งที่เรียกว่า ปราณายามะ รู้จักควบคุมลมหายใจ ทำลมหายใจให้เป็นประโยชน์ในทุกแง่ทุกมุม สำหรับของพวกเราชาวพุทธโดยเฉพาะนี้ก็เรียกว่าอานาปานสติ สมบรูณ์แบบตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ จนถึงกับทรงยืนยันว่าเมื่อเราอยู่ด้วยอานาปานสติวิหาร การตรัสรู้ อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ได้เกิดแก่เรานี่ ฉะนั้นเราก็ควรจะรู้เรื่องเกี่ยวกับลมหายใจให้กันให้ดี ๆ แม้แต่เรื่องทางวิทยาศาสตร์ทางโลก ๆ นี่เขาก็สนใจกันมากเรื่องการใช้ประโยชน์จากลมหายใจ จากการหายใจ เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ไปเลย จะเป็นเรื่องทางวัตถุหรือทางกาย ถ้าเป็นเรื่องทางจิตทางวิญญาณก็ต้องมีสูงไปกว่านั้นโดยเฉพาะ
ทีนี้หัวข้อต่อไปเรียกว่า ปรัตยาหาระ นำมาซึ่งสิ่งที่จำเป็นเฉพาะ เป็นเรื่องความรู้หรืออะไรก็ตามที่มันจำเป็นจะต้องมี จำเป็นที่จะต้องใช้หรือแสวงหามา ก็เป็นความรู้เฉพาะมากไปกว่าลมหายใจ จะเป็นวัตถุอุปกรณ์ก็ได้ จะเป็นความรู้เป็นวิธีการ เป็นวิธีใช้ก็คือธรรมะที่มันมีหลักที่จะดับทุกข์ได้ เช่นเราจะเหมาเอาว่าความรู้เรื่องดับความเห็นแก่ตัว ดับความเห็นแก่ตัวคือดับกิเลสนั้น นี่เป็นตัวความรู้เฉพาะที่จะต้องนำเอามาใช้ เจริญทำให้มากเรียกว่า ปรัตยาหาระ
ทีนี่ข้อต่อไปเขาก็มีวิธีการที่จะทรงสิ่งนี้ไว้ สิ่งที่หามาได้โดยเฉพาะแล้วก็ใช้มันให้เป็นประโยชน์ ในการขับไล่ไอ้สิ่งเลวร้ายคือกิเลสออกไป มีความรู้เรื่องชนะกิเลสเป็น ปรัตยาหาระ ก็ใช้มันควบคุมกิเลส ตัวทรงไว้ซึ่งความรู้นี้และกิเลสไม่ทำอะไรได้ หรือใช้เป็นเรื่องกำจัดกิเลสออกไป พวกมหายานเขาเอามาใช้ เขาเอามาดัดแปลงใช้ให้เป็นประโยชน์ เป็นเรื่องของพุทธฝ่ายมหายาน เรียกว่า ธารณะ ของเดิมเขาเรียกธารณะ ก็มาเรียกกันใหม่เรียกว่า ธารณี ธารณี มีลักษณะเหมือนกับมนต์วิเศษขับไล่สิ่งเลวร้ายเช่นกิเลสเป็นต้น ตัวอย่างเช่นมนต์ธารณี ของฝ่ายมหายาน คะเต คะเต ปาระคะเต ปาระสังคะเต สวาหะ ไป ๆ ๆ ไปที่อื่น ไปให้หมด เพี้ยงด้วย สวาหะ คือว่าคำขับไล่ มนตรา สวาหะนั่นแปลว่ากูพูดดีแล้ว กูกล่าวดีแล้วไม่รู้จะแปลเป็นภาษาไทยว่าอะไรก็แปลว่าเพี้ยง ๆ นี่เขาทำกันถึงอย่างนี้เขาทำกันจริงจังถึงอย่างนี้ ในการที่จะมีธารณี สิ่งต่อต้านกิเลสขับไล่กิเลส ซึ่งเราก็สามรถที่จะดัดแปลงมาใช้ได้ตามควร ถ้าเรามีธรรมะคือ อตัมมยตา ก็ใช้ได้ กูไม่เอากับมึงแล้ว กูไม่เอากับมึงแล้วไป ๆ ๆ ๆ นี่เรียกว่า ธารณะ
ทีนี้อันถัดไปเรียกว่า ธยาน หรือ ฌาน บาลีเขาเรียกว่าฌาน สันสกฤตฝ่ายโน้นเรียกว่า ธยาน ก็คือฌาน ความเพ่ง รวมกำลังจิตเป็นอารมณ์เดียวยังไม่เกี่ยวกับสติปัญญาญาณ เรียกว่า ฌาน หรือ ธยาน นั้นขอให้เข้าใจไว้เถอะว่าคำว่า รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ ในพุทธศาสนานั้นไม่ใช่ของที่เกิดขึ้นในสมัยของพระพุทธเจ้า โดยเฉพาะมันเกิดมาก่อนแล้วก็ท่านก็ยอมรับ รับมาใช้พูดถึง ใช้ให้เป็นประโยชน์เรียกว่าฌาน ธยาน เมื่อสามารถมีฌาน มีจิตที่เป็นฌานดีแล้วก็เอามาทำให้เป็นสติปัญญา เป็นสติปัญญา สมาธิล้วน ๆมันเป็นเพียงกำลังจิต ที่เอามาทำให้เป็นสติปัญญาคือใช้ประโยชน์ ฌานล้วน ๆ ก็เหมือนกำลังของเครื่องยนต์มันมีกำลังขึ้นมา ทีนี้จะใช้กำลังเครื่องยนต์ไปขับรถขับเรือขับลากอะไรก็ตาม ตอนนี้เรียกว่าประโยชน์
อันสุดท้ายนี่เขาเรียกว่า สมาธิ ซึ่งเราอาจจะหลงไปในคำเดียวกับ ฌาน คำว่าสมาธินี่ตรงกับในบาลีของเราว่า สมาธิภาวนา อย่างใน อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ว่าสมาธิภาวนามีอยู่สี่อย่าง ใช้สมาธิให้เป็นประโยชน์ ทำความเจริญ คือเพื่อมีความสุขใน ทิฏฐธรรม เพื่อมี ญาณทัศนะ อันเป็นทิพย์เพื่อสมบรูณ์แห่งสติสัมปชัญญะ เพื่อถอนเสียซึ่งอุปาทาน สี่อย่างนี่เป็นสมาธิภาวนา คือฌานหรือสมาธิเอามาใช้เป็นประโยชน์ มาเรียกชื่อใหม่ว่า ราชโยคะ เอากำลังจิตมาใช้ให้เป็นสติปัญญาสูงสุด นี่โบราณกาลเขามีหลักการมาอย่างนี้นะ นับดูก็ดูจะได้สักแปดเหมือนกันนะ สักแปดอยู่เหมือนกันนะ ยมะ เอาไอ้ชั่วออกไป นิยมะ เอาดีไว้ อาสนะ มีท่าทางแต่งร่างกายซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งจิตใจดีที่สุด ปราณายามะ รู้จักควบคุมลมหายใจในทางที่เป็นประโยชน์ที่สุด ปรัตยาหาระ เลือกธรรมะอันประเสริฐที่จะกำจัดกิเลสได้ และมี ธารณะ คือการทรงไว้ซึ่งธรรมะนั้นที่จะขับไล่ไอ้ผีกิเลสออกไป แล้วก็มี ฌาน เพ่งกำลังของจิต จิตที่มีกำลังสูงสุดเอามาใช้เป็นสติปัญญา แต่เขาเรียกว่า สมาธิ แม้ในพุทธนี่ก็เรียกว่าสมาธิภาวนา สมาธิภาวนาไม่ใช่สมาธิ เป็นปัญญาเกิดมาจากสมาธิ
นี่เค้าโครงที่ควรจะเข้าใจไว้ในการที่จะศึกษาธรรมะปฏิบัติธรรมะว่ามันมีหลักเค้าโครงเป็นแปดประการอย่างนี้ แปดประการอย่างนี้ ขับชั่วออกไป ควบคุมสำรวมไม่ให้ชั่วเข้ามา รักษาดีเอาไว้ มีอาสนะมีท่าทางที่ให้กำลังสูงสุด ควบคุมลมหายใจให้เกื้อกูลแก่สิ่งเหล่านี้ที่สุด และธรรมะที่ถูกต้องมากำจัดกิเลสและทรงมันไว้ และขับไล่กิเลสไปพราง แล้วก็มีกำลังจิตสูงสุดเป็นฌาน และก็สวมรอยให้กับปัญญา ฌานที่ประกอบอยู่กับปัญญาเขาก็สูงสุดแค่นี้เหมือนกันแหละเรียกว่า ราชโยคะ โยคะชั้นราช ชั้นราชะนั่นก็คือเรื่องของสติปัญญา นี่พูดนี่หมายถึงว่ามันเป็นหลักทั่วไปนี่มันใช้ได้แก่ทุกศาสนา ทุกยุค ทุกสมัย ทุกมุมโลกนั่น ไอ้หลักการเหล่านี้มันเป็นของอินเดียดึกดำบรรพ์มีมา พุทธศาสนาจะไม่ใช้หลักอย่างนี้โดยตรง แต่ก็ไม่พ้นไปจากความหมายอย่างนี้ เราก็ปรับไปตามรูปเรื่อง ให้สำเร็จประโยชน์ อย่างว่าพระพุทธองค์ตรัสระบบอริยมรรคมีองค์แปดขึ้นมามันคล้าย ๆ กันพอดีกันแปด ๆ ด้วยกันนี่ แต่แทนที่จะเอาไอ้ปัญญาไปไว้สุดท้ายโน้นท่านเอาปัญญามาไว้ข้างหัว สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ นี่เป็นปัญญา และมันก็ควบคุมสิ่งเหล่านั้นให้ถูกต้อง เป็นศีล เป็นสมาธิสูงสุดเหมือนกัน ในที่สุดก็เป็นสมาธิสูงสุด นี่มันจะมีอะไรพิเศษซ่อนเร้นอยู่ที่ต้องเอาปัญญามาก่อน ไอ้คนอวดดีบางคนมันด่าผมว่าสอนธรรมะผิด ๆ ประเทศไทยไม่เจริญคือสอนศีลก่อน สอนศีลก่อนสมาธิและปัญญาเขาว่าสอนผิด แต่ผมชี้ให้ดูว่าพระพุทธเจ้าท่านก็ยังสอนศีลก่อน และสอนปัญญาก่อนศีลและสมาธิคล้าย ๆ ว่าหลักโบราณเขาเอาไอ้ศีลอะไรมาก่อน แล้วมาสอนปัญญาสุดท้าย แต่พระพุทธเจ้าท่านมาเอาปัญญาไว้ก่อน ไอ้ศีลสมาธิมาตามหลัง นี่ก็เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจกันให้ดี ๆ ว่าถ้าเป็นพุทธะ พุทธะแล้วต้องรุ่งเรื่องด้วยปัญญา ปัญญาต้องมาก่อน เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานมาตามลำดับแหละ ฉะนั้นถ้าไม่มีปัญญามาก่อนแล้วก็มันเข้ารกเข้าพงหมดแหละ เหมือนคนที่เขาไม่มีปัญญาเขารักษาศีลเพื่อแลกสวรรค์ รักษาศีลเพื่อความเจริญทางร่ำรวยและอำนาจวาสนาอย่างนี้ไม่ใช่พุทธศาสนาหรอก ถ้ามันเป็นพุทธศาสนามันต้องรักษาศีลอย่างถูกต้องเพื่อกำจัดกิเลส เพื่อกำจัดความเห็นแก่ตัว นั้นคนที่ไม่มีปัญญาแม้จะทำบุญกุศลอะไรมันก็ผิดไปหมดแหละ มันเป็น สัจจาภินิเวส คือความเชื่อตามความคิดเห็นของตัว ของตัวไปเสียหมด มันไม่ตรงหลักพระพุทธศาสนาที่จะดับกิเลสดับทุกข์ได้โดยตรงโดยสิ้นเชิง นั้นขอให้เราชาวพุทธนี่ถือหลักปัญญานำหน้า แม้ว่าเราจะมีศรัทธา มีศรัทธา เราก็ต้องมีศรัทธาด้วยปัญญาเข้าใจแจ่มแจ้ง รู้จักสิ่งนั้นตามที่เป็นจริงว่ามันมีคุณสมบัติอย่างนั้นแล้วเราจึงศรัทธา เช่นว่าเราจะศรัทธาในพระพุทธเจ้า เราต้องรู้ครบถ้วนถูกต้องแล้วว่าพระพุทธเจ้าวิเศษอย่างไร มีประโยชน์อย่างไร เราจึงศรัทธาไม่ใช่ใครบอก เอ้า,ศรัทธา ๆ ก็จะศรัทธาอย่างนี้มันก็เป็นศรัทธาที่หลับตาศรัทธา ไม่ใช่ศรัทธาในพุทธศาสนา จะศรัทธาในพระพุทธก็ดี ศรัทธาในพระธรรมก็ดี ศรัทธาในพระสงฆ์ก็ดี ต้องหลังจากปัญญาเห็นชัดว่าประเสริฐอย่างไร ดับทุกข์อย่างไร คือเราจะเห็นคุณค่าหรือมีความแน่ใจในคุณค่าก่อน แล้วเราจึงเชื่อมีศรัทธา เรียกว่าปลงศรัทธาลงไปจนหมดสิ้น เหมือนกับเรา เราจะไปซื้อของที่ร้านขายของเราต้องรู้ว่ามันจะใช้ประโยชน์อะไรได้เราจึงจะซื้อ ไม่ใช่เจ้าของร้านบอกว่าดี ๆ ๆ แล้วก็ซื้อ นี่ว่าบ้าไอ้คนนั้น มันต้องมองเห็นว่ามันใช้ประโยชน์อะไรได้จริงอย่างไรมองเห็นอยู่ แล้วจึงซื้อด้วยศรัทธา ฉะนั้นเราจงจำความหมายของคำว่าพุทธะ พุทธะเป็นผู้ตื่นจากหลับ มีสติปัญญาเบิกบานอยู่ด้วยปัญญา แล้วจึงทำอะไรไป ทำไปทำไปตามอำนาจของปัญญา ถ้าจะเข้าใจเรื่องนี้ให้ดีก็ไปศึกษาเรื่องกาลามสูตรพิมพ์แจกในสัจจสาร คือไม่เชื่อเพราะเหตุเพราะเพียงเหตุว่ามันมีกล่าวอยู่ในพระไตรปิฎก หรือไม่เชื่อเพราะเหตุเพียงว่าผู้พูดนี้มันน่าเชื่อ หรือเพราะเหตุเพียงว่าผู้พูดเป็นครูของเรา นี่พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เชื่อโดยเหตุที่ว่าผู้พูดคือท่าน หรือว่าหรือมีในพระไตรปิฎกหรือว่าเหตุผลอย่างอื่น ๆ สิบประการนั้นไม่เอาหรอก แต่เอาด้วยปัญญาเห็นชัดลงไปว่าสิ่งนี้มันมีคุณค่า ดับทุกข์ได้จริงแล้วจึงเชื่อ ศรัทธาของพวกอื่นมันไม่เหมือนกับศรัทธาของพุทธ ชาวพุทธเราคือเราเชื่อด้วยปัญญาหลังจากปัญญา เขาเชื่อก่อนมีปัญญา เชื่องมงาย เชื่อให้ไปตามใจเขา เราไม่ มันเป็นเรื่องของเขา แต่ถ้าเราจะมีศรัทธาในพุทธศาสนาแล้วจะต้องมีปัญญานำความเชื่อ
เอาละ อยากจะชี้ให้เห็นความต่างอย่างตรงกันข้าม ว่าไอ้ธรรมะเดิมในอินเดียมันก็ขึ้นต้นมาด้วยศีล ๆ แล้วก็มาจบลงด้วย ราชโยคะ คือปัญญา แต่พุทธศาสนาเราต้องการให้ตั้งต้นด้วยปัญญา ตามหลักที่ปรากฏชัดอยู่ในอริยมรรคมีองค์แปด ซึ่งเป็นตัวพรหมจรรย์ เป็นตัวพระพุทธศาสนามันทวน มันทวน มันทวนกันอยู่ มันทวนกระแสกันอยู่ นี่ก็วันแรกนี่ก็พูดมองเห็นว่าเราจะไปทางไหนกัน เราจะไปทางไหนกัน แล้วว่าเราจะไปอย่างไร จะไปโดยวิธีใดนี่ แล้วจะมีเครื่องอุปกรณ์ เครื่องใช้ไม้สอย เครื่องประกอบการกระทำการไปกันสักเท่าไร ให้รู้ให้เข้าใจไว้อย่างถูกต้อง แล้วเราก็จะลงเมื่อปฏิบัติ ดังนั้นเราจะต้องรู้เรื่องของพระธรรม ของพระธรรม เรื่องความจริงของธรรมชาตินี่พอสมควรเสียก่อน อย่างน้อยจะต้องรู้เรื่อง ปฏิจจสมุปบาท เรื่องขันธ์ห้า ถ้ารู้อย่างนี้เรียกว่ารู้จักพระพุทธเจ้าพระองค์จริงเสียก่อนจึงค่อยปฏิบัติ พระพุทธเจ้าพระองค์จริงคือ ปฏิจจสมุปบาท ท่านตรัสว่าผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม เห็นปฏิจจสมุปบาท จึงเห็นธรรมจึงเห็นเรา คือพระพุทธเจ้าพระองค์จริง ฉะนั้นเราจะไม่ทำอย่างที่เราไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าพระองค์จริงนี่คืออะไร นี่วันหลังเราก็จะพูดกันเรื่องปฏิจจสมุปบาท และเรื่องขันธ์ห้า ซึ่งเป็นหนทางที่จะทำให้มองเห็นได้ชัดว่ามันอาศัยกันขึ้นแล้วเกิดทุกข์อย่างไร มันอาศัยกันแล้วดับทุกข์อย่างไรนั่นคือ ปฏิจจสมุปบาท วันนี้ก็ขอยุติการบรรยายให้รู้จักเค้าโครงแห่งการดับทุกข์มีมาแต่ดึกดำบรรพ์อย่างไร แล้วก็จะปรับปรุงใช้ให้เป็นประโยชน์ในการเป็นพุทธบริษัทของเรา ขอยุติการบรรยายหมดแรงจะพูดด้วย