แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้จะได้พูดโดยหัวข้อว่า อตัมมยตาเท่าที่จะควรทราบกันไว้บ้าง,อตัมมยตาเท่าที่ควรทราบกันไว้บ้าง ต้องทำความเข้าใจกันเล็กน้อยเกี่ยวกับเรื่องธรรมะที่สูง ก็มักจะถูกถือกันว่าไม่ควรเอามาพูดกับคนทั่วไปหรือว่าคนแรกศึกษา ก็มีคนคัดค้าน แม้ที่สุดแต่เรื่องอนัตตา สุญญตา เขาก็ยังว่ามันไม่ควรจะเอามาพูดกับคนแรกศึกษา นี่เคยถูกเขาคัดค้านมาแล้ว แต่เราก็ไม่ถือเอาเป็นเรื่องสำคัญอะไร เพราะว่ามันเป็นเรื่องหัวใจเป็นเรื่องชั้นหัวใจ มันก็ต้องควรจะทราบไว้บ้าง แล้วมันก็เป็นเรื่องสูงสุดถึงขนาดที่ว่าถ้าไม่มีเรื่องนี้ก็ไม่มีพุทธศาสนา ไม่มีศาสนาอื่นสอนสูงขึ้นมาจนถึงนี้ นี่มันสอนจนถึงสูงสุดแล้วก็ไม่มีใครจะสอนให้สูงไปกว่านี้ได้อีกต่อไป เมื่อพระพุทธเจ้าก่อนจะเป็นพระพุทธเจ้าเที่ยวศึกษาในสำนักครูบาอาจารย์ต่างๆ คนสุดท้ายก็สอนเรื่องเนวสัญญานาสัญญายตนะ พระพุทธเจ้าท่านไม่พอใจ พระสิทธัตถะนี่ไม่พอใจ แล้วก็บอกลา แล้วก็ไปหาเอง ก็พบสูงถึงเรื่องอตัมมยตา คือระงับเสียซึ่งภพทั้งปวง มันสูงกว่าเนวสัญญานาสัญญายตนะ ก็ไม่ปรากฏว่าใครจะสอนให้มากไปกว่านี้ได้อีก เราก็ควรจะทราบไว้ในฐานะเป็นหลักหัวใจ เป็นเนื้อ เป็นตัวด้วย เป็นหัวใจด้วยของพระพุทธศาสนา และยิ่งกว่านั้นมันก็มีทางที่จะนำมาใช้ได้แม้กับคนธรรมดาสามัญ คนทำไร่ทำนาทำสวนใช้อตัมมยตาได้ตามสมควรแก่อัตภาพ
ตามตัวหนังสือ ก็แปลว่าไม่สำเร็จมาแต่ปัจจัยเครื่องปรุงแต่งนั้นๆ มันยังฟังไม่ค่อยจะรู้เรื่อง ก็คือไม่สำเร็จมาแต่ปัจจัยที่เข้ามาปรุงแต่งให้เป็นอย่างนั้นให้เป็นอย่างนี้ หมายความว่าปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ ถ้าปัจจัยปรุงแต่งได้จิตมันก็เป็นไปตามที่ปัจจัยปรุงแต่ง มันก็ผิดจากจิตเดิม มันก็ต้องเป็นทุกข์ จิตเดิมแท้ไม่มีกิเลส ตามปกติไม่มีกิเลส แต่ถ้ามีอะไรมาเป็นปัจจัยปรุงแต่งมันก็กลายเป็นผิดจากจิตเดิม ก็คือจิตที่ใหม่ขึ้นมา แล้วก็เป็นไปตามปัจจัยที่เข้ามาปรุงแต่ง มันก็คือเป็นทุกข์นั่นเอง หลักสำคัญที่สุดมันมีว่าจิตแท้ๆ น่ะ จิตที่ไม่มีอะไรเข้าไปยุ่งด้วย มันไม่มีความทุกข์ เรียกว่าจิตประภัสสร ไม่มีความทุกข์ แต่ถ้าว่าเกิดอะไรขึ้นมันก็ไม่ประภัสสรมันเป็นไปตามสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องปรุงแต่ง มันก็เป็นทุกข์ ถ้าไม่มีอะไรมาปรุงแต่งมันก็คงเป็นประภัสสรและไม่มีทุกข์ ถ้าไม่ให้มีอะไรเข้ามาปรุงแต่งได้ก็ต้องมีอตัมมยตาที่ว่านี้ ภาวะที่เรียกว่าอตัมมยตา ภาวะที่จะเข้ามาปรุงแต่งนั้นน่ะมันปรุงแต่งไม่ได้ เพราะเป็นจิตที่ไม่ถูกปรุงแต่ง ไม่ถูกปรุงแต่งก็ไม่เป็นจิตใหม่ ก็คือเป็นจิตเดิมแท้ที่ไม่มีอะไรเข้ามาเกี่ยวข้อง มันก็ไม่มีความทุกข์ มันก็เป็นจิตเกลี้ยงอยู่ตามเดิม ฉะนั้นสิ่งที่กำจัดสิ่งที่เข้ามาปรุงแต่งไม่ให้มาปรุงแต่งได้นั่นแหละเรียกว่าอตัมมยตา
ทีนี้ก็มาดูกันถึงสิ่งที่จะเข้ามาปรุงแต่งว่ามันได้แก่อะไรบ้าง ข้อนี้มีมากหลายอย่างแหละ ก็ควรจะรู้จักไว้ว่าถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้เข้ามาปรุงแต่ง จิตก็เป็นจิตเดิมแท้ เป็นจิตประภัสสร จิตเกลี้ยง จิตไม่มีกิเลส ไม่มีความทุกข์ แล้วก็จะมีแต่สติปัญญาตามธรรมดาของจิตประภัสสร สิ่งปรุงแต่งที่ควรรู้จัก มีที่เป็นภายในก็มี ภายนอกก็มี แล้วก็อัสสาทะคือเสน่ห์สิ่งยั่วยวนของสิ่งต่างๆ แม้ที่สุดแต่สิ่งที่มันเป็นไปตามธรรมชาติ,ตามธรรมชาติ มีอยู่ตามธรรมชาติ ที่มันทำให้มีอิทธิพลเหนือจิตใจก็มีเหมือนกัน
ทีนี้ก็ดูสิ่งปรุงแต่งที่ว่าเป็นภายใน สิ่งที่เรียกว่าตัณหาความอยากนี่ก็ปรุงแต่ง สิ่งที่เรียกว่ามานะสำคัญมั่นหมายอย่างนั้นอย่างนี้ คือดีกว่าเลวกว่าเสมอกัน นี่มานะ นี้ก็ปรุงแต่ง แล้วก็ทิฏฐิๆ ความคิดเห็นว่าเป็นอย่างนั้นว่าเป็นอย่างนี้ โดยความเห็นน่ะก็เรียกว่าปรุงแต่งเหมือนกัน ถ้าตัณหาเข้ามาปรุงแต่งมันก็คือเป็นอุปาทานและเป็นทุกข์ ถ้ามานะเข้ามาปรุงแต่งมันก็เกิดตัวตนยกหูชูหาง ถ้าทิฏฐิเข้ามาปรุงแต่งมันก็คิดเห็นไปตามทิฏฐินั้นๆ มิจฉาทิฏฐิ,คำว่าทิฏฐินี้หมายถึงมิจฉาทิฏฐิ ทิฏฐินี้มี ๒ ชนิด ถ้าเป็นสัมมาทิฏฐิมันก็ปรุงแต่งไปที่จะไปสู่นิพพาน ปรุงแต่งสำหรับจะไปสู่นิพพาน ก็แปลว่ามันต้องละสภาพเดิมด้วยเหมือนกันแหละแต่ว่ามันเป็นไปในทางดี ถ้ามิจฉาทิฏฐิปรุงแต่งมันก็เป็นไปในทางไม่ไหว ทางใช้ไม่ได้ ทางไม่ดี ตัณหา,มานะ,ทิฏฐิ เหล่านี้มันมีอยู่ คือเกิดอยู่ก็เกิดในภายใน จึงเรียกว่าปัจจัยภายใน หรือจะจัดเป็นพวกธรรมารมณ์ก็ได้ ส่วนปัจจัยภายนอก,ปัจจัยภายนอกนี่ เอาที่เป็นรูปธรรม คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ๕ อย่างนี่เป็นรูปธรรม ธรรมารมณ์เอาไปไว้เป็นปัจจัยภายในเสีย มันมี ๖ อย่าง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ๕ อย่างนี้ถือว่ามันเป็นข้างนอก มันอยู่ข้างนอก เรียกว่าปัจจัยข้างนอก มันก็ปรุงไปตามแบบปัจจัยภายนอก เรื่องปัจจัยปรุงนี้ก็ควรจะรู้ไว้ให้พอสมควรว่ามันคืออย่างไร แล้วเราก็ถูกปัจจัยปรุงอยู่เสมอแหละ ตลอดเวลานี่คนธรรมดานี่ถูกปัจจัย ๕ อย่างนี้ปรุงอยู่เสมอ แล้วบางเวลาก็เป็นปัจจัยภายใน กลายเป็นปัจจัยภายในปรุงแต่ง เพราะเรามีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มี ๕ อย่างที่เรียกว่าฝ่ายรูปธรรมนี่ ขอให้มองเห็นถึงว่าถ้ามันไม่มีอายตนะเหล่านี้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี่ มันก็ไม่รู้สึกอะไรได้ มันก็เหมือนกับสิ่งที่ไม่มีชีวิต มันไม่รู้สึกอะไรได้ เป็นก้อนหินไปเลย แต่เพราะมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย รู้แจ้งทางตา รู้แจ้งทางหู ทางจมูก ทางกลิ่น ทางกาย มันก็มีอะไรเข้ามาตั้ง ๕ อย่าง และนั่นแหละคือสิ่งที่เรียกว่าโลกๆ ไม่มีอะไรมากไปกว่า ๕ สิ่งนี้ สิ่งที่มีอยู่ในโลกที่มันเกี่ยวข้องกับเราน่ะ ก็คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่จะเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ขาดไปเสียอย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วนนั้นมันก็เหมือนกับไม่มี ไม่รู้ เป็นหูหนวกนี้มันก็ไม่มีเสียง ตาบอดมันก็ไม่มีรูป เมื่อยังมีครบทั้ง ๕ อยู่ก็นับว่าเป็นโชคดีที่จะได้รู้โลกครบในทั้ง ๕ สิ่งในส่วนภายนอก
ทีนี้ส่วนภายในเป็นธรรมารมณ์นั้นก็เข้าไปอยู่ในพวกที่ว่าปรุงกันจนเป็นตัณหา มานะ ทิฏฐิ แล้วก็ปรุงต่อไปจนเป็นอุปาทาน แล้วเป็นความทุกข์ ก็ต้องมองให้เห็นชัดว่าถ้ามันไม่มีปรุงภายนอก คือไม่มีปรุงทางตา หู จมูก ลิ้น กาย มันก็มีปรุงภายในของมันได้ ทางธรรมารมณ์ปรุงภายในได้ก็คิดนึกไปถึงสิ่งแต่ก่อนหรือแม้แต่สิ่งที่ไม่มาก็คิดนึกได้ ด้วยความจำด้วยความคิด มันก็มาปรุงแต่งจิตได้ เรื่องความจำแต่กาลก่อนเอามาคิดนึกแล้วมันก็ทำให้เกิดรักโกรธ เกลียดกลัวอะไรได้เหมือนกัน นี่คนเรา ดูให้ดีเสียก่อนเถิดว่าตัวเราเองน่ะมันถูกปรุงอยู่เสมอ ตาเห็นรูปก็เกิดความรู้สึกคิดนึกอย่างนั้นอย่างนี้อย่างนู้นไปตามเรื่อง เป็นวิญญาณ เป็นผัสสะ เป็นเวทนา ความรู้สึกพอใจไม่พอใจ แล้วเกิดตัณหาไปตามนั้น แล้วเกิดอุปาทานไปตามตัณหา มันก็มีตัวตนขึ้นมาเป็นของหนักเป็นของทุกข์ ทางเสียงก็เหมือนกัน กลิ่นก็เหมือนกัน รสก็เหมือนกัน โผฏฐัพพะก็เหมือนกัน แต่เราไม่สนใจ มันจึงเหมือนกับไม่มีอะไร,เหมือนกับไม่มีอะไร แต่ว่ามันปรุงของมัน มันมีเรื่องปรุงอยู่ตลอดเวลา เหมือนอย่างที่กำลังฟังพูดอยู่นี่ มันก็มีเสียง เป็นเสียง ก็ปรุงให้เกิดความรู้สึกทางหู ถ้าชอบใจก็เกิดความรู้สึกไปอย่าง ไม่ชอบใจก็เกิดความรู้สึกไปอย่าง ไม่อยากฟังก็มี อยากฟังก็มี แล้วก็ถ้าไม่อยากฟังก็คิดต่อไปที่จะเป็นอย่างนั้นจะทำอย่างนี้ ถ้าอยากฟังก็คิดต่อไปที่จะทำอย่างนั้น จะทำอย่างนี้ไปตามเรื่องของมัน นี่ก็เรียกว่าปรุงๆ แม้กลางวันแม้มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่อย่างนี้มันก็ยังเป็นเรื่องธรรมารมณ์ได้ เพราะว่าหลังจากที่มันปรุงด้วยตา หู จมูก ลิ้น กายแล้วมันเอาไปปรุงทางจิตใจทางธรรมารมณ์ได้อีกทีหนึ่ง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนี่มันปรุง ปรุงแล้วเป็นอารมณ์เกิดขึ้นมาในจิตใจ อารมณ์นั้นก็เป็นธรรมารมณ์ ปรุงจิตใจต่อไปอีกทางหนึ่งมันเลยครบทั้ง ๖ เพียงแต่ว่ามันจะปรุงพร้อมกันทีเดียวทั้ง ๖ นั้นมันไม่ได้ แต่มันปรุงได้ทุกอย่างแหละทั้ง ๖ อย่างน่ะ นี่สิ่งที่ปรุง ปรุงแล้วมันก็มีผลเป็นอย่างอื่น สรุปความแล้วก็เกิดพอใจไม่พอใจ สุขหรือทุกข์
ทีนี้สิ่งที่เรียกว่าอัสสาทะๆ คำนี้ภาษาไทยต้องแปลว่าเสน่ห์คือสิ่งยั่วยวนใจ ดึงดูดใจ ประทับใจ ความประทับใจนี่ อัสสาทะก็แปลว่ารสอร่อยก็ได้ เสน่ห์หรือรสอร่อยของธาตุทั้ง ๓,ของธาตุทั้ง ๓ เสน่ห์ของธาตุทั้ง ๓ กามธาตุ อันแรกกามธาตุ เรื่องกามเรื่องเพศ รสหรือเสน่ห์ของเรื่องกามเรื่องเพศน่ะร้ายแรงเท่าไหร่ก็พอจะรู้กันแล้วไม่ต้องมาบรรยาย จนพอใจที่จะเป็นอย่างนั้น จนหลงติดอยู่ในกาม พอใจกาม บูชากาม ยึดถือกามเป็นสิ่งสูงสุด เมื่อจิตมันยังต่ำมาก ธรรมดาที่ยังต่ำมากมันก็บูชากามนี่ บูชากามธาตุก็คือเรื่องทางเพศ นี่ก็ไปดูเอาเองก็แล้วกัน แม้ว่ามันจะชอบเงินบูชาเงิน มันก็ไปหากามเป็นเครื่องมือหากาม มันจะบูชาทรัพย์สมบัติก็เป็นเครื่องมือหากาม มันจะบูชาอำนาจวาสนายศศักดิ์อะไรๆ มันก็เพื่อใช้หากาม มันมีอำนาจวาสนานี่มันใช้หากามได้เก่ง นี่คนที่อยู่ในระดับนี้คือว่าบูชาอัสสาทะของกามธาตุ มันก็เป็นอย่างนี้แหละ เป็นชั้นธรรมดามนุษย์ธรรมดาก็มี เป็นชั้นในเทวดาในสวรรค์ชั้นกามาวจรเทวดาทั่วไปก็มี นี่มันจะมากตามความคิด ความคิดมีเท่าไหร่ก็บูชามากเท่านั้นแหละ คนมีความคิดเท่าไหร่ก็บูชากามเท่านั้น พวกเทวดาในสวรรค์มีความคิดเท่าไหร่ ก็หลงใหลในกามเท่านั้นแหละ ทีนี้สัตว์มีความคิดน้อยไม่ถึงกับบูชากาม แต่ก็ตกอยู่ใต้อำนาจกาม พอใจในกามเหมือนกัน,สัตว์น่ะ เวลาที่มันจะไปคิดนึกถึงกามบูชากามนั้นน้อย น้อยกว่าคนมากนะ คนอย่าอวดดีกันนักนะในแง่นี้ สัตว์มีการรู้สึกความรู้สึกทางกามรมณ์เป็นชั่วเป็นครู่ เป็นขณะเป็นฤดูกาล คนนี่มันตะพึด มันขยายให้เขื่องให้มากกว่าความเป็นจริงจนบ้าหลังเลย ถ้าอยู่ในพวกนี้ก็เรียกว่าอัสสาทะของกามธาตุ เสน่ห์หรือรสอร่อยของกามธาตุ
ทีนี้พวกหนึ่งไม่แล้ว ไม่กามธาตุแล้ว ก็เลื่อนขึ้นไปเป็นรูปธาตุ ไม่เกี่ยวกับกาม เป็นรูปบริสุทธิ์ล้วนๆ แต่เขาไม่มักจะเรียกกันว่ารูปพรหม มีโลกอยู่ที่ไหนก็ตามใจ เขาเรียกว่ารูปพรหม มีโลกของรูปโลก แต่เราจะชี้กันง่ายๆ ที่นี่ เมื่อจิตไม่บูชากาม ไปหลงใหลในรูปล้วนๆ มันก็เรียกว่ารูปธาตุ เมื่อเบื่อกามมันก็ไปที่รูปนั้นแหละ ถ้ายังไม่เบื่อกามมันก็อยู่ที่กาม ลองคิดดูง่ายๆ ว่าบางคนบูชาการพนัน เช่น ชอบเล่นไพ่ ยิ่งกว่ากามก็มี ชอบของเล่นของแพงของเก่าก็มี ดอกไม้ของหอม นกสัตว์หรือสัตว์เลี้ยงก็มีบูชาก็หลงใหลก็มี พวกนี้มันก็ต้องจัดมันว่าอยู่ในชั้นรูปธาตุชั้นเลว รูปธาตุชั้นสูงขึ้นไปก็บูชาความสุขอันเกิดมาแต่รูปฌาน สมาธิที่มีรูปเป็นอารมณ์ ได้มาเป็นรูปฌานแล้วก็รสมันอร่อยไปอีกทางหนึ่งไม่เกี่ยวกับกามแต่ก็มีรสอร่อยดึงดูดใจด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็จึงจัดไว้ว่าเป็นอัสสาทะด้วยเหมือนกัน แหละ รสของฌานความสุขที่เกิดจากฌาน ดึงดูดใจเป็นเสน่ห์เป็นอัสสาทะ คำกลอนที่เขาว่าเข้าฌานนานนับเดือนไม่เขยื้อนเคลื่อนกายา จำศีลกินวาตา( กินลมน่ะ) เป็นผาสุกทุกคืนวัน นี้เป็นสิ่งที่มีได้ มีได้เพราะอัสสาทะของฌานของรูปฌาน พวกฤาษีมุนีบางพวกทำเป็นอย่างนี้ได้หรือเป็นอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ พอใจในฌาน จำศีลกินวาตา ก็ไม่สนใจเรื่องอาหารอะไรนัก กินใบไม้ กินใบหญ้า กินอะไรไปตามเรื่อง แล้วก็อยู่ด้วยความสุขที่เกิดจากฌาน
เอ้า,ทีนี้ถ้าสูงขึ้นไปอีก ก็ละเอียดประณีตขึ้นไปกว่านั้นก็อรูปธาตุ เอาสิ่งที่ไม่มีรูปมาเป็นตัวพอใจหลงใหล อำนาจวาสนาก็ได้ บุญกุศลอะไรก็ได้ กระทั่งอย่างต่ำอย่างเลวกระทั่งว่าอรูปฌาน อรูปสมาบัติ ความสุขที่เกิดมาจากอรูปฌาน อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ กระทั่งเนวสัญญานาสัญญายตนะ อันสุดท้ายที่อาจารย์คนสุดท้ายของพระสิทธัตถะทำอยู่สอนอยู่ คืออุทกดาบส รามบุตร มันก็มีอัสสาทะดึงดูดอย่างละเอียดประณีต มันสามารถที่จะดึงดูดคนประเภทนั้น แต่ไม่สามารถดึงดูดคนบ้ากาม พวกที่บ้าในกามธาตุนี้มันไม่ชอบหรอก แม้แต่รูปฌานนี้มันก็ไม่ชอบ ฉะนั้นรูปฌานหรืออรูปฌานมันเป็นที่พอใจของคนที่สูงขึ้นไปกว่ากาม คนที่อยู่ในกามธาตุก็พอใจแต่ในกามธาตุ ดึงไปหารูปธาตุอรูปธาตุก็ไม่เอาหรอก จนกว่ามันจะเลื่อนขึ้นไป เลื่อนขึ้นไป มันเบื่อๆ มันเลื่อนขึ้นไป เลื่อนขึ้นไป มันมีอยู่ ๓ ระดับอย่างนี้ ต่ำมากก็คือกาม ถูกกันกับวิสัยสัญชาตญาณของคนธรรมดาสามัญทั่วไปบูชากาม ดูเอาเองก็แล้วกัน บางทีเรานั่นแหละกำลังบูชากาม เพราะไม่รู้เรื่องรูปเรื่องอรูป หมายมั่นสิ่งสูงสุดเพียงแค่กาม ทำงานให้หาเงินไว้มากๆ แล้วก็มีเรื่องเกี่ยวกับกามนี่ กับคู่สมรสกับอะไรนี่ให้ดีที่สุดให้ฉันวิเศษที่สุด แล้วก็เท่านั้นแหละ คิดได้เพียงเท่านั้น ก็มีเพียงเท่านั้น นี่ติดใจพอใจในกาม อัสสาทะคือกามก็ปรุงแต่งให้คิดให้นึกให้ทำ ให้ขวนขวายจนได้ไปเป็นทาสกาม,เป็นทาสกาม อยู่ในเมืองมนุษย์นี่ก็เป็นทาสกามในเมืองมนุษย์ ไปอยู่เมืองสวรรค์ก็เป็นทาสกามในเมืองสวรรค์ กามในเมืองมนุษย์ยังมียั่วยวนน้อยกว่ากามในเมืองสวรรค์ คิดดูให้ดี เขาว่าทำบุญไปเกิดในสวรรค์ได้กำไร เรามองอีกแง่หนึ่งว่าขาดทุนยิบยับเลย ก็ไปหลงกามหลงกามารมณ์มันมากกว่าอยู่ในเมืองมนุษย์เสียอีก ฉะนั้นการไปเกิดในสวรรค์ชั้นกามาวจรจะไม่ใช่กำไรเสียแล้ว มันขาดทุนลึกเข้าไปอีก คือมัวเมาในกามมากกว่าที่อยู่ในเมืองมนุษย์เสียอีก ข้อนี้ก็มีสิ่งที่น่าหัวเราะเหมือนกัน เมื่อพวกเทวดา,มันกล่าวไว้ในบาลีนะ เมื่อพวกเทวดาบางคนมันจะต้องจุติคือตาย มันก็สงสัยก็มีปัญหาว่าจะไปเกิดที่ไหนดีต่อไปนี้ ไปถามเพื่อนคนนั้นคนนี้ ไปถาม คนหัวหน้าเทวดา บอกไปเกิดเมืองมนุษย์นั่นแหละดี เพราะ ณ ที่นั้นมีพระรัตนตรัยหาได้ง่าย หาได้ง่ายกว่าในเมืองสวรรค์น่ะพระรัตนตรัยในเมืองมนุษย์ ก็เลยตกลงมาเกิดในเมืองมนุษย์ จุติจากเมืองสวรรค์มาเกิดในเมืองมนุษย์ เพราะมันมีอะไรดีกว่า นี่มันหลอกกันอยู่อย่างนี้ รู้เอาเองเถิดว่า กามก็มีเสน่ห์ไปตามแบบกาม รูปก็มีเสน่ห์ไปตามแบบรูป อรูปก็มีเสน่ห์ไปตามแบบของอรูป แล้วแต่ว่าจะอยู่ในพวกไหนในระดับไหน
ทีนี้เอาชั้นเลวๆ มาพูดกันว่า บางคนอยู่ในโลกมนุษย์นี้เกิดไปบูชาของเล่น ของที่ไม่ใช่กามอะไรก็ได้ ยิ่งกว่ากาม ผมเคยรู้จักคนๆ หนึ่งชอบนกเขา เล่นนกเขาจนไม่ได้แต่งงาน จนไม่ได้มีโอกาสแต่งงาน มี,รู้จักคนหนึ่ง ก็บูชาเป็นสรณะเลย,นกเขา รู้จักกันดี เราก็ชอบใจนกเขาของเขาเหมือนกันแหละ แต่ไม่ถึงกับอย่างนั้น บูชาสิ่งที่มิใช่กาม เป็นรูปล้วนๆ จะเป็นเสียง กลิ่น หรืออะไรก็ตามที่มันล้วนๆ บางคนหลงใหลในต้นไม้แปลกๆ สัตว์เลี้ยงแปลกๆ อันนี้ก็ไม่สนใจที่จะมีเหย้ามีเรือน นี่อย่างเลว
ทีนี้ก็ว่าสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติ ก็หมายถึงเหตุการณ์ต่างๆ ตามธรรมชาติที่มันจะเกิดขึ้นเป็นอุปัตติเหตุอย่างนั้นอย่างนี้ น้ำท่วมไฟไหม้หรือพายุร้ายกาจเป็นตายกันมากๆ นี่ สิ่งเหล่านี้ก็มีอำนาจปรุงแต่งจิตเหมือนกัน ให้โกรธ ให้กลัว ให้สะดุ้ง ให้หวาดเสียว ถ้ามีอตัมมยตาก็ไม่หวาดเสียว เช่นนั้นเอง ไฟมันจะไหม้โลกก็ไม่หวาดเสียวถ้ามันมีอตัมมยตา เดี๋ยวนี้เพียงแต่ว่าพายุจะมานี่ ก็อกสั่นขวัญหายแล้ว สิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติแม้ที่สุดแต่โรคภัยไข้เจ็บที่มันก็จะมาตามธรรมชาตินี่ นี้มันก็ทำให้จิตใจเป็นทุกข์เหมือนกันแหละ ถ้ามีอตัมมยตาก็ไม่หวั่นไหว มันเช่นนั้นเอง,มันเช่นนั้นเอง ปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ เหตุการณ์ของธรรมชาติจะมีอย่างไร แปลกประหลาดอย่างไรก็ไม่หวั่นไหว แล้วก็ยังมีความตื่นเต้นอีกพวกหนึ่ง,ความตื่นเต้น ของแปลกของประหลาดเป็นความตื่นเต้นมันก็ไม่ใช่กามนะ มันก็ไม่เชิงรูป มันของประหลาดที่เห็นแล้วก็สะดุ้งหวาดเสียวก็ตื่นเต้นหรืออัศจรรย์ เช่น พวกกายกรรมชั้นที่มีชื่อเสียงเที่ยวแสดงทั่วโลก กายกรรมกวางเจานี่ผมก็ไม่ได้ไปดู แต่ดูทีวี มันก็รู้สึกว่าคงจะตื่นเต้นกันมากแหละ ขายตั๋วแพงใบละหลายๆ ร้อยบาท คนเข้าไปดูก็ตื่นเต้น ถ้ามีอตัมมยตา มันก็ไม่ตื่นเต้น มันก็แค่นั้นเอง เช่นนั้นเอง ไม่ตื่นเต้นกับมัน นี่เรื่องที่ทำให้ตื่นเต้น เช่น ต้องไปดูมวย ไปดูฟุตบอล ไปดูกีฬา ไปดูอะไรต่างๆ ล้วนแต่ตื่นเต้น ถ้ามีอตัมมยตามันก็ไม่ตื่นเต้น แถมจะเห็นเป็นเรื่องไม่จำเป็น ไม่จำเป็น ไม่ต้องไปเสียเวลากับมัน นี่คำว่าปัจจัยเครื่องปรุงแต่งมีอยู่อย่างนี้ ให้จิตที่เคยเกลี้ยง เคยเย็น เคยสงบ เคยหยุดน่ะพลุ่งขึ้นมาเป็นจิตใหม่ แล้วก็มีความทุกข์ยากลำบาก เรียกว่าของปรุงแต่ง,สิ่งปรุงแต่ง,ปัจจัยปรุงแต่ง แล้วก็ให้เกิดความรู้สึกซึ่งอาจจะสรุปได้ว่าพอใจหรือไม่พอใจเท่านั้นแหละ ทีนี้มันจะเป็นไปในทางไหนก็เป็นไปแหละ พอใจก็เกิดกามตัณหา ภวตัณหา ไม่พอใจก็เกิดวิภวตัณหา ก็เป็นไปตามแบบของตัณหา มีความทุกข์ไปตามแบบนั้น รู้จักโดยคาดคะเนเอาก็ได้ ถ้าเราไม่ตื่นเต้นเราจะเป็นอย่างไร ถ้าเราไม่ตื่นเต้นในสิ่งที่เขาตื่นเต้นหลงใหลมัวเมา ถ้ามีทิฏฐิถูกต้อง ไม่เป็นมิจฉาทิฏฐิ มันจะไม่กลัวผีหรือมันจะไม่กลัวตาย หรือมันจะไม่อะไรหลายๆ อย่าง เดี๋ยวนี้มันไม่มีทิฏฐิที่ถูกต้อง ทิฏฐิโง่ๆ ก็ปรุงแต่งให้กลัวผี กลัวตาย กลัวเจ็บ กลัวไข้ หวาดผวาอยู่ตลอดเวลา แม้แต่กลัวความมืด หนักเข้าก็กลัวจิ้งจกตุ๊กแกกระทั่งกลัวลูกหนูกิ้งกือ ลองคิดดู กลัวลูกหนู กลัวกิ้งกือนี่มันโง่สักเท่าไหร่ล่ะ มันปรุงแต่งจิตได้ถึงขนาดนั้น ถ้ามีอตัมมยตามันเป็นไปไม่ได้หรอก แต่มันก็ลำบากเหมือนกันแหละที่จะให้เด็กเล็กๆ มีอตัมมยตามาแต่ในท้อง มันก็มีไม่ได้ แต่ขอให้รู้ว่าถ้ามี มันก็ไม่ต้องกลัว,มันก็ไม่ต้องกลัว นี่เรียกว่าสิ่งปรุงแต่ง ภายนอกก็มี ภายในก็มี ตามธรรมดามีอยู่ทั่วไปก็มี เกิดอยู่ตามธรรมชาติก็มี ปรุงแต่งไม่ได้ ปรุงแต่งให้จิตผิดไปจากปกติเดิมไม่ได้ นั่นแหละคืออตัมมยตา มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์คิดเอาเอง จะเอามาใช้กันได้หรือไม่ก็มาคิดดูกันเอง เขาว่าสูงเกินไป เราว่าไม่ เรามาใช้ได้ เอามาใช้ได้ในวิสัยนี้ ไม่ให้ความคิดเลวๆ ปรุงแต่งไปนิยมการกระทำชั่ว อย่างนี้มันก็ใช้ได้ แม้แต่ชาวนาชาวสวนกรรมกรหรือคนขอทานนี่ มันไม่ตกอยู่ใต้วิสัยของการปรุงแต่งที่โง่เขลา มันก็ไม่ลำบากเดือดร้อนมาก นี่ขอให้เข้าใจ
ไหนๆ พูดแล้วก็พูดให้เลยไปเสียเลย คือว่าสิ่งเหล่านี้เข้ามาแล้วมันก็ปรุงแต่งโดยสองความหมาย ให้พอใจหรือให้ไม่พอใจนี่ มันมี ๒ คำเท่านั้นแหละ พอใจหรือว่าไม่พอใจการปรุงแต่งนั้น คนธรรมดานะ พูดถึงคนธรรมดาก่อน ข้อที่ ๑ นะ ถ้าปรุงแต่งเกิดเป็นเวทนา แล้วก็พอใจหรือไม่พอใจก็เกิดตัณหา เกิดตัวกูของกู ความพอใจหรือไม่พอใจของคนธรรมดานั้นจะปรุงแต่งจนเกิดอัตตาๆ ตัวตนของตน ตัวกูของกู อย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมา เกิดอัตตาแล้วก็เกิดอัตตนียา เกิดของกู มันก็เป็นทุกข์แหละ เรียกว่าพอใจหรือไม่พอใจนี่มันปรุงขึ้นเป็นอัตตาเป็นอัตตนียา แล้วก็ต้องเป็นทุกข์ไปตามแบบคนธรรมดาที่มีอัตตา
ทีนี้พระอรหันต์ เอากันถึงพระอรหันต์เลย ความพอใจหรือไม่พอใจยังรู้สึกอยู่ก็มีพระอรหันต์ชั้นต้น แต่ไม่ปรุงแต่งเป็นอัตตา พระอรหันต์ประเภทสอุปาทิเสสนิพพานน่ะ มันเป็นเรื่องลึกหน่อยนะแต่ว่าถ้าเข้าใจแล้วได้ก็ดีเหมือนกัน พระอรหันต์ประเภทสอุปาทิเสสนิพพาน อินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ยังไม่ถูกกำจัด ยังรับรู้เวทนา เป็นพอใจหรือไม่พอใจ รู้ แต่ไม่ปรุงแต่งเป็นอัตตาหรืออัตตนียา ยังดีกว่าปุถุชน ปุถุชนถ้าได้ความพอใจหรือไม่พอใจมา มันปรุงแต่งเป็นตัวตนเป็นของตนจนเป็นทุกข์ พระอรหันต์ขั้นต้นรู้สึกเป็นพอใจหรือไม่พอใจเหมือนกันแหละ แต่ไม่ปรุงแต่งเป็นอัตตาอัตตนียา ก็เลยไม่เป็นทุกข์ ทีนี้พระอรหันต์ชั้นที่สองชั้นเลิศก็อนุปาทิเสสนิพพานธาตุนี่ พระอรหันต์ประเภทนี้เวทนาไม่อาจจะรู้สึกพอใจหรือไม่พอใจ เป็นสักว่าเวทนา ไม่เป็นความพอใจหรือไม่พอใจ ฉะนั้นปัญหาก็ไม่มีสิ มันไม่มีที่จะปรุงเป็นตัวตนหรือของตน เป็นเวทนาเย็น เวทนาหยุด พระอรหันต์ทีแรกน่ะ เวทนาไม่เย็น ยังมีพอใจ ยังไม่พอใจ แต่ก็ไม่ปรุงแต่งเป็นตัวตน พระอรหันต์ที่สองนี่ เวทนามี เย็นสนิท ไม่อาจจะเป็นพอใจหรือไม่พอใจ มันก็เลิกกัน,ก็เลิกกันนี่ สอุปาทิเสสนิพพานธาตุตามพระบาลีเป็นอย่างนี้ แต่ที่สอนอยู่ในโรงเรียนไม่ใช่อย่างนี้ อย่าเอามาวิจารณ์ให้เสียเวลา เขาสอนว่าพระอรหันต์ยังเป็นๆ เรียกสอุปาทิเสส พระอรหันต์ตายเรียกอนุปาทิเสส น่าหัวเราะที่สุดแหละ ไม่รู้มาแต่ไหน ตายแล้วจะมีประโยชน์อะไร จะมีปัญหาอะไร ไม่ต้องตายนิพพานนี่ สิ้นกิเลสแต่ว่าเวทนายังไม่เย็น ยังรู้สึกเป็นสุขหรือทุกข์แต่ก็ไม่เกิดอุปาทาน นี่พระอรหันต์ที่หนึ่ง พระอรหันต์ที่สองไม่มีเวทนาที่เป็นพอใจหรือไม่พอใจ เวทนาเงียบเย็นไปหมด นี่อนุปาทิเสสนิพพาน มันเป็นเรื่องสูงมากไปแล้วเห็นไหม เดี๋ยวจะว่าเอาเรื่องสูงเกินไปมาพูดให้ฟัง แต่ว่ามันก็มีเค้าเงื่อนที่พอจะเข้าใจได้พอจะจำไว้แล้วจะมีประโยชน์นะ ถ้าจะศึกษาพุทธศาสนากันจริงๆ มันก็ต้องรู้เรื่องเหล่านี้
สิ่งปรุงแต่งนั้นมาสรุปอยู่ที่เวทนาๆ มันจะมีอะไรๆ ก็ตาม รูป เสียง กลิ่น รส อะไรก็ตาม มันเกิดเป็นเวทนา แล้วเวทนานั้นมันปรุงแต่งตัวกูของกู ก็เป็นทุกข์ ถ้าเวทนาปรุงแต่งไม่ได้ มันก็นั่นแหละจบหมด โดยผลของอตัมมยตา ปรุงแต่งไม่ได้ เวทนาปรุงแต่งไม่ได้โดยประการใดๆ ถ้าเวทนายังปรุงแต่งได้ก็ต้องเป็นไปตามยถากรรม มันมีอะไรมาปรุงแต่งได้ แล้วก็มันทำให้เกิดความรู้สึกเลวร้ายที่เป็นทุกข์ ความรักบ้าง ความโกรธบ้าง ความเกลียดบ้าง ความกลัวบ้าง ความตื่นเต้นบ้าง วิตกกังวลบ้าง อาลัยอาวรณ์บ้าง อิจฉาริษยาบ้าง หวงบ้าง หึงบ้าง หลงในของคู่ ไม่หยุดไม่หย่อน เดี๋ยวบวกเดี๋ยวลบ,เดี๋ยวบวกเดี๋ยวลบ แล้วมันก็วุ่นไปหมดร้อนไปหมดของการปรุงแต่ง เมื่อไม่ถูกปรุงแต่งสิ่งเหล่านี้มันไม่มี จิตมันก็เกลี้ยง มันก็หยุด มันก็เย็น มันก็สงบ มันก็สบาย
เวทนา คำนี้มันมีความหมายเหลือประมาณ เวทนานี่มันเป็นนายเหนือหัว สัตว์ทุกตัวคนทุกคนในโลกรวมทั้งเราด้วยทุกคนนี่ ถ้าคุณมองไม่เห็นก็ไม่เห็น ถ้ามองเห็นก็จะเห็น อะไรๆ มันทำไปเพื่อสุขเวทนานี้ จะหาเงิน หาทรัพย์สมบัติ เกียรติยศ ชื่อเสียง บุตร ภรรยา สามี อะไรมันก็เพื่อเวทนาต้องการเวทนานั่นแหละ จริงหรือไม่จริง ไปคิดดูเอง อุตส่าห์เล่าเรียน อุตส่าห์ทำการงาน อุตส่าห์สะสมเงิน อุตส่าห์ทำอะไรต่างๆ สิ่งที่มุ่งหมายแท้จริงคือเวทนา แต่มันอาจจะมองไปในรูปของว่าคู่ครอง คู่สมรส สมบัติพัสถาน เงิน อะไรก็ได้ตามใจ แต่หัวใจแท้ๆ มันมุ่งไปที่เวทนาที่สุขเวทนา ฉะนั้นเวทนาเป็นตัวร้ายที่จะปรุงให้เป็นอะไรก็ได้ เวทนาที่พอใจก็ปรุงไปอย่าง ที่ไม่พอใจก็ปรุงไปอย่าง ที่ยังไม่รู้ว่าพอใจหรือไม่พอใจก็ให้สงสัยให้โง่ให้หลงอยู่นั่นแหละ ก็ปรุงไปตามแบบนั้นให้สงสัยให้หลงให้โง่อยู่นั่นเอง ติดอยู่ที่นั่นเอง เวทนาที่เป็นฝ่ายทุกข์เราก็ไม่ต้องการอย่างยิ่ง มันบีบบังคับอย่างยิ่ง เวทนาที่เป็นสุขมันก็ต้องการ มันก็บีบบังคับอย่างยิ่งเหมือนกัน
ฉะนั้นถ้าเราเอาชนะเวทนาได้แล้วก็ไม่มีปัญหา เรียกว่าโลกทั้งโลกไม่ทำอะไรเราได้ไม่มีปัญหา ที่โลกมันจะทำอะไรแก่เราได้เพราะมันมีเวทนา มันให้เกิดเวทนา ทุกคนเป็นทาสของเวทนา เวทนาครอบงำดึงดูดไป แล้วก็ให้เกิดตัณหา ก็ยุ่งกันจนถึงความทุกข์ ยุติอยู่ที่เวทนานั่นแหละระวังให้ดี ถ้าควบคุมเวทนาได้แล้วก็เหมือนกับควบคุมโลกทั้งหมดนี้ได้ โลกทั้งหมดทำอะไรเราไม่ได้ถ้าเราควบคุมเวทนาได้ ไม่ต้องการสุขเวทนา ไม่ต้องการทุกขเวทนา ได้มาก็เช่นนั้นเอง,ก็เช่นนั้นเอง ฉะนั้นเราจะไม่มีความทุกข์ แม้ว่าเรายังจะต้องดำรงชีพ ดำรงชีวิต จะต้องทำการงาน จะต้องหาทรัพย์สมบัติ จะต้องอะไร ก็อย่าให้เวทนามันบีบคั้นเผาลนกันนัก อย่าเป็นทาสของมัน ให้มันมีชีวิตสะดวกสบายก็แล้วกัน อย่าให้มากถึงกับเป็นทาสของเวทนา อตัมมยตามีแล้วเวทนาทำอะไรไม่ได้ เช่นเดียวกับเวทนาทำอะไรพระอรหันต์ที่หนึ่งพระอรหันต์สอุปาทิเสสน่ะก็ทำอะไรไม่ได้ ท่านมีเวทนาแต่ไม่อาจจะปรุงเป็นตัณหาอุปาทาน เพราะอตัมมยตามันคุมไว้ พระอรหันต์ที่สองก็ไม่มีเวทนาชนิดที่จะปรุงได้ คือไม่เป็นเวทนาสุขหรือทุกข์ นี่ขจัดอำนาจใหญ่หลวงคือเวทนาเสียได้ เพราะว่าถ้ามีเวทนาแล้วมันก็เกิดตัณหา มันก็เกิดกิเลส มันก็เกิดกิเลสนานาชนิดแหละ กามตัณหาก็เกิดราคะโลภะ ภวตัณหาก็เหมือนกัน ให้เกิดราคะโลภะ วิภวตัณหา ให้เกิดโทสะโกธะ ถ้ามันปนๆ กันมันก็เกิดโมหะ เมื่อตัณหาทำอะไรไม่ได้มันก็ไม่มีปัญหา เดี๋ยวนี้เวทนามันยังมีตัณหา ตัณหามันยังทำอะไรต่อไปอีกจนมีอุปาทาน ตัวตน มีภพ มีชาติ มีตัวกูที่โง่ ออกมาเป็นตัวกู หลงใหลในสิ่งนั้นสิ่งนี้ ยึดถือเอาเป็นตัวตนเป็นของตนไปหมด ชาตินี่ ความโง่เกิดมาถึงที่สุด เป็นตัวกู ตัวกูของความโง่ มันก็กวาดเอาเป็นของมันหมด บุตร ภรรยา สามี ข้าวของเงินทอง อำนาจวาสนาเป็นของกูหมด กระทั่งความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ก็เป็นของกูหมดนี่ แล้วคิดดูจะเป็นอย่างไร ชาติโง่ๆ น่ะ เกิดขึ้นมาเป็นตัวกู ไม่ต้องเกิดจากท้องแม่ มันเกิดในใจ เกิดทางใจ เกิดทางจิตใจ เกิดตัณหา เกิดอุปาทาน เกิดภพ เกิดชาติ ตามปฏิจจสมุปบาท ไปท่องเอาเองหรือว่าท่องอยู่แล้วก็ได้ มีเวทนาก็เกิดตัณหาครบถ้วน เกิดตัณหาก็เกิดอุปาทานครบถ้วน อุปาทานก็เกิดภพ ถ้าความที่จะต้องปรุงเป็นตัวกูครบถ้วนมันก็เกิดชาติออกมาเป็นตัวกู วันหนึ่งเกิดกันกี่หน กี่ครั้งกี่หนก็แล้วแต่ ที่จริงมันพูดได้เลยว่ามันเกิดใหม่ทุกคราวที่ได้รับอารมณ์ ถ้าวันหนึ่งได้รับอารมณ์ร้อยครั้งพันครั้ง มันก็เกิดชาติร้อยครั้งพันครั้ง อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายนี่ แล้วก็ยังมีอย่างนั้นอย่างนี้อย่างโน้นอีกหลายๆ อย่าง ได้รับอารมณ์ครั้งหนึ่งจิตก็คิดเป็นตัวกูครั้งหนึ่ง ก็เกิดชาติหนึ่งแหละ มีความคิดเป็นตัวกูครั้งหนึ่งก็เกิดชาติหนึ่ง หรือจะถือว่าเกิดความรู้สึกอะไรๆ ขึ้นมาอย่างหนึ่งแล้วเกิดเป็นตัวกูครั้งหนึ่ง เช่นความรักเกิดขึ้นในจิตใจมันก็เกิดตัวกู ผู้รักเกิดแล้ว ถ้ามีความรู้สึกโกรธขึ้นมา ก็เกิดตัวกูผู้โกรธก็เกิดแล้ว ทีนี้มันมีมากมายหลายอย่าง ความเกลียด ความกลัว ความวิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยา ตื่นเต้น ทั้งนั้นแหละ ความรู้สึกเหล่านั้นเกิดขึ้นมาทีหนึ่ง ก็คือเกิดชาติหนึ่ง
ฉะนั้นจะดูกันง่ายๆ ว่าได้อะไรมาพอใจมันก็เกิดชาติหนึ่ง ได้อะไรมาไม่พอใจมันก็เกิดชาติหนึ่ง ชั่วเวลาที่นั่งกินข้าวนี่ เผอิญคำนี้อร่อย พอใจๆ ก็เกิดตัวกูผู้พอใจ คำถัดมาไม่อร่อยไปโดนพริกเข้า อู้,ไม่อร่อยมันก็โกรธ มันก็เกิดตัวกูที่ไม่พอใจ กว่าจะกินข้าวเสร็จก็เกิดได้หลายชาติ แล้วแต่ของที่กินเข้าไปทำให้ความรู้สึกอย่างไรเกิดขึ้นมา แล้วมันก็เกิดรู้สึกเช่นนั้นๆ เป็นตัวกูผู้เป็นเช่นนั้นๆ ชั่วเวลากินข้าวก็มีชาติได้หลายๆ ชาติ หลายๆ ชนิดแหละ เราจะไปทำอะไรที่ไหนก็เหมือนกัน เหมือนๆ กันแหละ พอใจหรือไม่พอใจ มันก็ต้องเกิดตัวกูของกู จะเอาที่ว่าเมื่อตะกี้เป็นหลักก็ได้ ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความอิจฉาริษยา ความวิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ หึงหวงก็ตาม ความรู้สึกอันนี้เกิดขึ้นมาแล้วก็คือชาติหนึ่งแหละ คือมีตัวกูผู้เป็นเช่นนั้น มีตัวกูผู้รัก ผู้โกรธ ผู้เกลียด ผู้กลัว ผู้ตื่นเต้น ผู้อิจฉาริษยา วิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ หึงหวง นี่มันเป็นชาติทั้งนั้นแหละ เพราะมันเป็นความรู้สึกเด็ดขาดลงไปอย่างหนึ่งว่าตัวกูเป็นเช่นนั้น แล้วก็ปรุงต่อๆ กันไป พอใจไม่พอใจ ไม่พอใจก็คิดไปอย่างจนทำไปอย่าง พอใจก็คิดไปอย่างทำไปอย่าง มันก็มากมายกลายเป็นตัวกูขึ้นมาหลายอย่างหลายชนิดหลายสิบอย่างหลายสิบชนิด ตัวกูที่เป็นหญิง ตัวกูที่เป็นชาย ตัวกูที่เป็นผัว ตัวกูที่เป็นเมีย ตัวกูที่เป็นลูก ตัวกูที่เป็นหลาน เป็นพ่อ เป็นอะไรต่างๆ ตัวกูที่เป็นคนใช้ เป็นนาย เป็นลูกจ้าง เป็นกรรมกร ตัวกูที่ยากจน ตัวกูที่มั่งมี ตัวกูที่ร่ำรวย ตัวกูที่สวย ตัวกูที่ไม่สวย ตัวกูที่ถูกเอาเปรียบ ตัวกูที่ไม่ถูกเอาเปรียบ ตัวกูที่ได้เปรียบ โอ๊ย,พูดไม่ไหวแล้ว ทุกอย่างแหละมันเป็นตัวกู ถ้าอตัมมยตามี สิ่งเหล่านี้เกิดไม่ได้ สบายไหม ถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่เกิด สบายไหม นั่นแหละคือประโยชน์หรืออานิสงส์ของอตัมมยตา แม้จะเป็นธรรมะที่สูงก็ควรรู้จักไว้ มันได้ประโยชน์ นี่ผมจึงว่าอตัมมยตาเท่าที่ควรจะรู้จักกันไว้บ้าง ฉะนั้นสร้างอตัมมยตา เป็นเครื่องขับไล่ออกไป กูไม่เอากับมึง อย่างนี้กูไม่เอากับมึง อย่างนี้กูไม่เอากับมึง มึงจะมาปรุงกูอีกแล้ว นี่หมายถึงจิตนะ คำว่ากูๆ นี่คือจิต ไม่ใช่มีตัวกูที่ไหนนะ จิตล้วนๆ จิตที่ยังล้วนๆ จิตที่ยังเป็นเนื้อเป็นตัวของจิต ยังไม่มีอะไรมานั่นน่ะ มีสติปัญญาเกิดขึ้นมาในจิตนั้น มันก็บอกกูไม่เอา กูไม่เอา กูไม่เอา คือจิตนั่นแหละมันไม่เอา มันไม่ใช่ตัวกูจริงจังอะไร ภาษาพูดต้องพูดว่าตัวกู แต่ความจริงไม่มีตัวกู มีแต่จิต รู้สึกคิดนึกไปอย่างไรมันก็พูดอย่างนั้น
นี้เรารู้จักกันไว้ว่าจิตที่เคยเป็นจิตล้วนๆ ไม่มีอะไรปรุงแต่งปนเป เป็นจิตเกลี้ยงจิตแท้นั้น มันถูกทำให้เป็นจิตใหม่ ต่างๆ นานา ไม่รู้กี่ร้อยชนิด แล้วก็เป็นทุกข์ไปตามชนิดๆ ของมัน ถ้าอตัมมยาตามี ปรุงเช่นนั้นไม่ได้ คงเป็นสภาพเดิม เป็นจิตประภัสสร เยือกเย็น มีสติปัญญาอยู่ในตัวจิตเองเพราะไม่มีกิเลส ทำไปตามอำนาจของสติปัญญา มันก็ถูกต้องหมด มันไม่เกิดกิเลส มันไม่เป็นทุกข์ คนเราจะอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยสิ่งปรุง สิ่งที่มันจะปรุง สิ่งที่มันมีอำนาจในการปรุงเต็มไปหมดไม่ว่าที่ไหน มีอตัมมยตาคอยป้องกันไว้ ถ้ามีสติปัญญาพอก็มีอตัมมยตาได้ รักษาอตัมมยตาไว้ได้ ป้องกันไม่ให้เกิดปรุงขึ้นมาได้ สตินั่นแหละเป็นเครื่องป้องกัน เอาสติปัญญามาเป็นอาวุธ ตัดมันออกไปเสีย อารมณ์นั้นๆ ก็ไม่ปรุง ไม่มีโอกาสที่จะปรุง เราก็ เราน่ะคือจิต จิตที่เป็นชนิดนั้นก็สบาย ก็ไม่มีความทุกข์ ใช้อตัมมยตาเป็นเหมือนกับมนต์คาถาศักดิ์สิทธิ์ขับไล่ผีคือกิเลสนี้ออกไป ขับไล่ผีคือกิเลสออกไป ขับไล่ความทุกข์ออกไป ขับไล่เหยื่อล่อของเวทนาสิ่งที่มาชวนให้หลงใหลกำหนัดยินดี ขับไล่ออกไป นั้นก็เป็นผีชนิดหนึ่งเหมือนกันแหละ สิ่งที่มีเสน่ห์ที่จะเข้ามาครอบงำจิตใจให้หลงไปนั้นก็เป็นผีชนิดหนึ่งเหมือนกัน อตัมมยตาสามารถที่จะขับผีได้ทุกชนิด
เราจะต้องสนใจไว้บ้างก็เกิดมานานแล้วหลายๆ ปีแล้วก็ควรจะรู้อะไรเป็นอะไร,อะไรเป็นอะไร มันหลอกอย่างไร มันหลงได้โดยวิธีใด ก็รู้เท่ารู้ทันมันไว้ ศึกษาเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอยู่เสมอมันก็หลงไม่ได้ เห็นว่าโอ้, ธรรมดานี่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์เพราะมันไม่เที่ยง แล้วก็ไม่ต่อต้านได้ มันต้องเป็นทุกข์และไม่เที่ยง ไม่เที่ยงและเป็นทุกข์มันเป็นอนัตตา แล้วมันก็เป็นอย่างนั้นเอง ตั้งอยู่เช่นนั้นเอง เป็นอยู่เช่นนั้นเอง เป็นธัมมัฏฐิตตา มันมีกฎธรรมชาติบังคับไว้เช่นนั้นเรียกว่าธัมมนิยามตา ต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิตย์เรียกว่าอิทัปปัจจยตา เป็นสุญญตา ว่างจากตัวตน เป็นตถาตา เช่นนั้นเอง,เช่นนั้นเอง ถ้าความรู้เหล่านี้มีอยู่แล้ว อตัมมยตาก็มี ตั้งอยู่ได้ เกิดขึ้นได้ มีอำนาจที่จะข่มขี่เสน่ห์ของธาตุทั้งปวง ของสิ่งที่จะมาปรุงได้ ไว้ได้ สนใจศึกษาไว้เถิด เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี้แหละจะช่วยให้เกิดอตัมมยตาได้โดยง่าย หรือถ้าว่าคอยสังเกตไว้เสมอในโทษทุกข์อันตรายที่มันเกิดขึ้น โอ้,มันเกิดขึ้นอย่างนี้ๆ แล้วมันก็จะเบื่อหรือจะเห็นโทษไว้ล่วงหน้า มันป้องกันไว้ล่วงหน้า อตัมมยตาก็ไม่เกิด
นี่อตัมมยตาเท่าที่คนธรรมดาควรจะทราบกันไว้บ้าง เหมือนกับมีพระพุทธเจ้ามาคุ้มครอง เหมือนมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เครื่องรางศักดิ์สิทธิ์แท้จริงมาคุ้มครอง ไม่ใช่เครื่องรางหลอกๆ อย่างที่เขาแขวนกันอยู่นั่นเครื่องรางหลอกๆ เครื่องรางที่แท้จริงคืออตัมมยตา ไม่ต้องเอามาแขวนให้รุงรังที่คอ อยู่ที่สติปัญญามาให้ทันเวลา ให้ทันเวลามันก็คุ้มครองได้ แล้วศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในการคุ้มครอง ไม่มีอะไรคุ้มครองได้เท่ากับอตัมมยตา กูไม่เอากับมึง,กูไม่เอากับมึง เข้ามาทำอะไรไม่ได้ คำพูดนี้มันหยาบคายนะ แกล้งพูดให้มันหยาบคายนะ เพื่อว่าจะจำง่ายลืมยาก สิ่งที่มายั่วยวนล่อหลอกเข้ามาแล้วก็ กูไม่เอากับมึง มาหลอกให้รักก็ไม่เอา หลอกให้เกลียดก็ไม่เอา หลอกให้โกรธก็ไม่เอา หลอกให้กลัวก็ไม่เอา หลอกให้ตื่นเต้นก็ไม่เอา ไม่เอาทั้งนั้นเลย กูไม่เอากับมึง นี่คืออตัมมยตา
ขอให้ทุกคนเข้าใจไว้ตั้งแต่บัดนี้ แม้เป็นพระใหม่บวชไม่กี่วันนี้ นี่ธรรมะสูงสุด ยอดสุดของธรรมะที่จะทำให้เป็นพระอรหันต์ ผู้มีอตัมมยตาถึงที่สุดก็คือพระอรหันต์นั่นแหละ พระพุทธเจ้าคือผู้ค้นพบ แล้วมาสอนให้ผู้อื่นมี มีได้ด้วยนะ ท่านก็เป็นผู้สอน ผู้สอน ผู้แนะผู้สอน
อตัมมยตา แปลว่าความที่อะไรๆ ปรุงแต่งไม่ได้ ผู้มีอตัมมยตานี้เรียกว่าอตัมมโย คือผู้ที่อะไรปรุงแต่งไม่ได้คือ พระอรหันต์ ตัมมยตา คือสิ่งที่จะปรุงแต่ง นี่เรียกว่าตัมมยตา ผู้ใดถูกปรุงแต่งโดยตัมมยตา เรียกว่าตัมมโย ผู้ที่ถูกปรุงแต่งเสียแล้ว เลยเป็นคู่กัน อตัมมยตาคู่กับอตัมมโย ตัมมยตาคู่กับตัมมโย ก็คือปรุงแต่งๆ แล้วก็ไม่ปรุงแต่งไม่ถูกปรุงแต่ง การปรุงแต่งมีก็ถูกปรุงแต่ง การปรุงแต่งไม่มีก็ไม่ถูกปรุงแต่ง การไม่มีสิ่งที่จะปรุงแต่งเรียกว่าอตัมมยตา หรือปรุงแต่งไม่ได้เรียกอตัมมยตา ขอให้รู้ไว้ตามสมควรแก่อัตภาพของตนถึงแม้ในเวลานี้ ถ้ารู้ได้จริงก็เป็นพระอรหันต์ตั้งแต่เด็กแหละ ถ้ามีอตัมมยตาแต่เด็กก็เป็นพระอรหันต์ตั้งแต่เด็ก ไม่สูญเปล่าไม่เสียเปล่า มีจิตใจอยู่เหนือการปรุงแต่ง ไม่มีอะไรมาปรุงแต่งได้ นั่นแหละคือโลกุตตระ เหนือโลกเป็นโลกุตตระ ถ้ายังปรุงแต่งได้ก็อยู่ในโลก จมอยู่ในโลก เป็นโลกียะ อยู่ใต้วิสัยโลก อยู่กับโลกก็อย่าอยู่ใต้โลกเลย อยู่เหนือโลกดีกว่า ถึงไหนๆ ก็ต้องอยู่ในโลกแล้ว มีอตัมมยตาสำหรับจะไม่จมลงไปในโลกแต่จะอยู่เหนือโลก เรื่องมีเท่านี้ เวลาก็หมดแล้วขอยุติ// ชั่วโมงใช่ไหมคุณทวีชัย (ครับ พอดีครับอาจารย์ครับ) เออ นั่นละดี นาฬิกาของเรามันหลอกเรื่อย