แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการบรรยายครั้งที่ ๗ นี้ จะพูดกันด้วยเรื่องสิ่งที่เรียกว่าภาษา โดยเฉพาะภาษาธรรม-ภาษาคน ภาษาคน-ภาษาธรรม ซึ่งมีความจำเป็นมากที่จะต้องรู้จักภาษาชนิดนี้เพื่อจะเข้าใจข้อความในพระคัมภีร์ ข้อความในพระคัมภีร์มีพูดทั้งภาษาคนภาษาธรรม ถ้าไม่รู้ว่าอันไหนภาษาคนอันไหนภาษาธรรม มันก็เข้าใจผิดเท่านั้นเองแหละ ตัวอย่างภาษาคนภาษาธรรมนี่ มันมีใช้อยู่ทั่วไปโดยไม่รู้สึกตัว ตัวอย่าง เช่นคำว่าพระพุทธเจ้า นี้เป็นคำที่พูดขึ้นว่าพระพุทธเจ้า ถ้ามันสำหรับเด็ก,สำหรับเด็ก มันก็คือพระพุทธรูปที่มีอยู่ในโบสถ์หรือที่ไหนก็ตาม พระพุทธรูปก็คือพระพุทธเจ้า มันเอามาให้ดูได้ เห็นได้ เข้าใจได้ รับเอาได้ทันที พระพุทธรูปเป็นพระพุทธเจ้าสำหรับเด็ก แต่ถ้าว่าเป็นคนโตแล้วทั่วๆ ไป นักเรียนนักศึกษาอะไรก็ตาม พระพุทธเจ้าคือบุคคลคนหนึ่งในประวัติศาสตร์อย่างที่เราเรียนกันมาแล้ว เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์คนหนึ่ง เกิดเมื่อนั่นเมื่อนี่ ที่นั่นที่นี่ มีประวัติอย่างนั้นอย่างนี้ นี่เรียกว่าพระพุทธเจ้าอย่างภาษาคนชั้นผู้ใหญ่ ภาษาคนชั้นเด็กก็คือพระพุทธรูป ทีนี้ถ้าเป็นภาษาธรรมอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัส ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา หมายความว่าตัวธรรมะที่ดับทุกข์ ที่แสดงความดับทุกข์อย่างไร เกิดทุกข์อย่างไร ทุกข์เกิดอย่างไร ทุกข์ดับอย่างไรธรรมะนั่นน่ะใครเห็นแล้วก็ได้ชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า นี่ภาษาธรรม
ทีนี้จะให้ภาษาธรรมมันสูงขึ้นไปอีก,สูงขึ้นไปอีก มันก็ยังมี คือความว่าง ความว่างจากตัวตน สภาพว่างจากตัวตน เรียกว่าความว่างก็แล้วกัน ภาษาธรรมที่สูงขึ้นไปอีก ภาษาธรรมมันก็สูงกว่าภาษาคนอยู่แล้ว แต่ยังมีภาษาธรรมที่สูงขึ้นไปอีก คุณฟังให้ดี ภาษาคนชั้นต่ำสำหรับเด็ก พระพุทธเจ้าคือพระพุทธรูป พูดมากกว่านั้นฟังไม่ถูก นี่ไปดูกันได้ง่ายๆ ที่โบสถ์ที่ไหนเด็กก็เรียกว่าพระพุทธเจ้า เห็นที่ไหนก็เรียกว่าพระพุทธเจ้า นี่ภาษาคนชั้นต่ำ ทีนี้ภาษาคนชั้นธรรมดาไม่ต่ำ ก็คือว่าบุคคลตัวบุคคลที่มีอยู่ในประวัติศาสตร์ที่เราเรียนกันเป็นพุทธประวัติ นี่ภาษาคนยังมีทั้งคนต่ำและคนธรรมดา ทีนี้ภาษาธรรมมันสูงกว่าแหละ แต่ก็ยังมีธรรมดาคือว่าธรรมะที่ดับทุกข์ได้เกิดทุกข์ดับทุกข์อย่างไร นี่เรียกว่าพระพุทธเจ้าธรรมกายเป็นพระพุทธเจ้า ถ้าให้ภาษาธรรมมันสูงขึ้นไปอีก,สูงขึ้นไปอีก มันกลายเป็นความว่าง ทีนี้มันสูงมากจนอะไรๆ ก็เป็นความว่างทั้งนั้นแหละ ว่างจากความหมายแห่งตัวตน ไม่มีความหมายแห่งตัวตน ไม่มีตัวตนนั่นแหละ พระพุทธเจ้าก็ว่างเหมือนกับสิ่งอื่นๆ มันก็ละทิ้งสมมติหรือว่าบัญญัติหรืออะไรขึ้นไปเรื่อยๆ จนเหลือแต่ความว่าง ไม่เป็นที่ตั้งแห่งสมมติ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งบัญญัติ นี่ขอให้เข้าใจตัวอย่างนี้ก่อนสิ ตัวอย่างมันมีอยู่อย่างนี้ ภาษาคนกับภาษาธรรมมันมีตัวอย่างอยู่อย่างนี้สำหรับคำว่าพระพุทธเจ้า
นี่เราจะเห็นได้ว่ามันแล้วแต่เอาใครเป็นเกณฑ์เป็นประมาณสำหรับที่จะพูดจะจากัน ถ้าภาษาคนมันก็บอกเรื่องคน ภาษาธรรมมันก็บอกเรื่องธรรม พระพุทธเจ้าในภาษาคนก็บอกอย่างเป็นคน จนกระทั่งว่าเดี๋ยวนี้ไม่มีคนให้ดูก็เอาพระพุทธรูปให้ดู ถ้าเป็นภาษาธรรมก็บอกเรื่องธรรม ก็ธรรมที่ได้ตรัสรู้ ธรรมที่ดับทุกข์ และถ้าลึกขึ้นไปอีกก็คือความว่าง ความว่างสากลนั้นแหละ นี่การที่เราจะพูดกันหรือจะสอนกันจะอธิบายธรรมะจะเรียนธรรมะอะไรมันเกี่ยวกับภาษาอย่างนี้แหละ ถ้ามันใช้ภาษาไม่ถูกไม่ต้อง มันก็ไม่เข้าใจ มันก็เข้าใจผิด แล้วภาษาก็เป็นสิ่งที่สำคัญจะไม่มีก็ไม่ได้น่ะ ไม่มีก็ไม่ได้น่ะ มันก็ได้มี แล้วภาษานี่ที่เป็นสิ่งที่ทำให้คนกับสัตว์มันต่างกัน ที่ว่าคนมันก้าวหน้าเรื่อย,ก้าวหน้าเรื่อยก้าวหน้าเรื่อยจนเป็นอะไรเหลือที่จะกล่าว เพราะมันมีภาษาพูดถ่ายทอดความรู้ให้แก่กัน ส่วนสัตว์ไม่มีภาษาชนิดนี้ คือไม่มีภาษาที่จะถ่ายทอดความรู้ให้แก่กัน สัตว์มันก็ตายด้านอยู่แค่นั้นแหละหยุดอยู่แค่นั้นแหละ ไม่ไปมากกว่านี้ ดูให้ดี ภาษาเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างนี้ เพราะพูดกันได้จึงสอนกันได้ เพราะสอนกันได้จึงก้าวหน้าไปได้ มันก็สูงๆ ไป คือมีภาษาสอนให้แล้ว คนเกิดทีหลังก็ไม่ต้องไปคิดเรื่องที่คนก่อนๆ เคยคิด คนก่อนๆ เขาได้คิดไว้อย่างไรเขาก็มาสอนให้คนทีหลังพักเดียวรู้หมด คนนั้นก็เรียนต่อไปไม่ต้องเสียเวลามาสอนมาคิดเรื่องที่รู้กันมาแล้ว เพราะฉะนั้นคนจึงก้าวหน้า ก้าวหน้า ก้าวหน้า สัตว์มันหยุดอยู่ที่เดียว นี่ประโยชน์ของสิ่งที่เรียกว่าภาษา
แล้วภาษาๆ นี้ มันก็ยังมีหลายรูปแบบ ภาษาสำหรับพูดจาก็มี ภาษาสำหรับคิดนึกก็มี ภาษาที่เป็นลักษณะของธรรมชาติก็มี มันมีอยู่หลายๆ ระดับเต็มที ถ้าว่าเป็นภาษาคนพูดกันอยู่นี่ มันก็ยังเป็น ๒ ระดับ ภาษาโลกิยโวหารคือ โวหารของชาวโลก ชาวโลกพูดจากัน ก็อย่างที่เราพูดกันนี่ พูดกัน ชาวบ้านพูดกัน โดยเฉพาะอย่างตัวกูของกู ตัวตนของตน ทีนี้ก็โลกุตตรโวหาร สำหรับพระอริเจ้าเขาพูดกัน ไม่มีตัวตน ไม่มีตัวกู ไม่มีของกู ทีนี้คนชาวบ้านเขาพูดภาษาโลกิยะภาษาชาวโลก เมื่อพระอริยเจ้าจะมาพูดกับคนชาวบ้านหรือชาวโลกก็ต้องพูดภาษาชาวโลกนั่นแหละ พูดเป็นตัวตนไปด้วยแต่ว่าจิตไม่ยึดถือ ชาวบ้านพูดว่าตัวตนเท่าไหร่ จิตก็ยึดถือเท่านั้นแหละ ตัวตนเต็มที่ตามคำพูดนั่นแหละ แต่ถ้าพระอริยะเจ้าแม้พระพุทธเจ้าเองจะมาพูดกับชาวบ้านท่านก็ต้องพูดภาษาชาวบ้าน แต่ว่าจิตไม่ได้ยึดถือ เหมือนอย่างที่ชาวบ้านยึดถือโดยเฉพาะเรื่องตัวตน ตัวตนน่ะไม่ได้ยึดถือ นี่ขอให้สังเกตดู มันยุ่งยากลำบากไม่ใช่เล่นนะ พระพุทธเจ้าท่านก็ต้องพูดว่าเราหรือฉันเหมือนกันแหละ แต่ในจิตไม่ได้ยึดถือเป็นตัวเราหรือตัวฉัน ถ้าคนธรรมดาพูดว่าเราว่าฉัน มันก็ยึดถือว่าเราว่าฉันเต็มที่เลย มันต่างกันอย่างนี้ คำนี้ก็มีตรัสไว้โดยพระพุทธเจ้าเองว่าตถาคตก็พูดอย่างภาษาชาวบ้านภาษาชาวเมืองนั่นแหละ แต่จิตไม่ได้ยึดถืออย่างที่ชาวเมืองเขายึดถือในความหมายแห่งภาษา มันพูดกันรู้เรื่อง เอากันพูดกันรู้เรื่อง อีกทางหนึ่งก็บัญญัติความสูงต่ำว่าภาษาสมมติตามที่สมมติเรียกกันให้เป็นนั่นเป็นนี่ขึ้นมาใหม่ ภาษาบัญญัตินั่น บัญญัติตามความจริงคือจริงกว่าสมมติ ถ้าพูดว่าเป็น นาย ก. นาย ข. นาง ก. นาง ข. ชื่อนั้นชื่อนี้ คนนั้นคนนี้นี่ นั่นมันสมมติให้ ถ้าภาษาบัญญัติมันไม่ใช่อย่างนั้น อย่างดีก็ว่าหญิงหรือว่าชาย แต่มันก็บัญญัติว่าเป็นขันธ์ ๕, เป็นขันธ์ ๕ เป็นอายตนะ ๖ เป็นธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อย่างนี้เรียกว่าบัญญัติ คือคนๆ หนึ่งมันก็มีดิน น้ำ ลม ไฟ มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มีตามที่บัญญัติโดยธรรมชาติตามธรรมชาติ นี่ก็เรียกว่าบัญญัติ สมมติ ก็มันสมมติกลุ่มนั้นน่ะขันธ์กลุ่มนั้นน่ะมันชื่อว่า นาย ก. นาย ข. นาย ง. นาง ก. นาง ข. นาง ง. นี่อย่างนี้เรียกว่าสมมติ เพราะมันสมมติขึ้นมาเพื่อจะให้รู้เฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้นไปอีกสำหรับจะได้พูดกันรู้เรื่อง การสมมติหรือการบัญญัติโดยภาษามันก็เกิดขึ้น
ทีนี้ถ้าว่าโดยปรมัตถ์ โดยปรมัตถ์แล้วมันยิ่งไปไกลกว่าเรื่องไม่มีตัวตน แม้จะบัญญัติอย่างนั้นอย่างนี้ก็ไม่บัญญัติ มันกลายเป็นความว่าง ว่างจากตัวตน ว่างจากขันธ์ ว่างจากธาตุ ว่างจากอายตนะ เป็นเพียงธรรมะโดยธรรมชาติ เป็นสังขตธรรมเป็นอสังขตธรรมอย่างนี้ หรือเป็นรูปเป็นนามก็ยังค่อนข้างจะบัญญัติ เป็นสังขตธรรมเป็นอสังขตธรรม สิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง,สิ่งที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง ยิ่งไปกว่านั้นอีกก็คือว่าง,ว่าง เป็นของว่าง นี่มันยุ่งหัวพอใช้แล้วใช่ไหมเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่าภาษาๆ มีการบัญญัติไว้ให้สังเกตได้อีกวิธีหนึ่งก็เรียกว่าโวหาร โวหาระหรือโวหาร ทิฏฐธัมมิกโวหาร โวหารที่ใช้กันในหมู่ชาวโลก แล้วก็สัมปรายิกัตถโวหาร นี่โวหารที่ผู้รู้พูด ทีนี้ปรมัตถโวหารลึกไปกว่านั้นอีก คือทิฏฐธัมมิกโวหาร พูดตามที่ตาเห็น เป็นเรื่องภายนอก ถ้าสัมปรายิกัตถโวการ ต้องพูดที่จิตมันคิดนึกรู้สึกได้ ก็เป็นเรื่องภายใน ถ้ามันเป็นปรมัตถโวหาร มันรวมกันน่ะ ทั้งภายนอกและภายใน แต่มันลึกไปกว่านั้น ถ้าเราพูดอย่างทิฏฐธัมมิกโวหาร ก็เอาตามที่ตาเห็น คนนี้เป็นชาวนา คนนี้เป็นชาวสวน คนนั้นเป็นพ่อค้า คนนั้นเป็นกรรมกรนี่ ก็เรียกกันอย่างนั้นเป็นตามที่ตาเห็น เรียกว่าทิฏฐธัมมิกโวหาร พอถามขึ้นว่าคนเหล่านี้ต่างกันไหม มันก็ตอบว่าต่างกัน ก็คนนี้เป็นชาวนา คนนี้เป็นชาวสวน คนนี้เป็นพ่อค้า คนนี้เป็นกรรมกร มันก็บอกว่าต่างกันโดยทิฏฐธัมมิกโวหารตามที่ตาเห็น
แต่ถ้าพูดโดยสัมปรายิกโวหาร โวหารอื่นที่ไกลไปกว่านั้น อื่นไปจากนั้น ถามว่าต่างกันไหม ก็บอกว่าเหมือนกันนี่ เหมือนกัน ชาวนาก็เป็นคน ชาวสวนก็เป็นคน พ่อค้าก็เป็นคน กรรมกรก็เป็นคน ทำดีก็ดีเหมือนกัน ทำชั่วก็ชั่วเหมือนกัน เป็นทุกข์ก็ไม่ชอบ เป็นสุขก็ชอบ ถ้าบวชถ้าเรียนแล้วก็รู้เหมือนกัน ปฏิบัติดีแล้วก็เป็นพระอริยเจ้าเหมือนกันนี่ มันก็ไม่ต่างกันสิ ถ้าพูดโดยสัมปรายิกโวหารน่ะ มันไม่ต่างกัน
ถ้าพูดให้มันลึกขึ้นไปอีกโดยปรมัตถโวหารแล้วมันก็ไม่ ไม่ต้องพูดถึงต่างหรือไม่ต่าง มันว่างด้วยกันแหละ มันว่างจากตัวตนด้วยกัน เป็นเครื่องสำหรับเปรียบเทียบให้เห็นได้ว่าเรามองลึกหรือตื้น กว้างหรือแคบ หยาบหรือละเอียดกว่ากันอย่างไร ชาวนา ชาวสวน พ่อค้า กรรมกร คนขอทานก็ตาม มันก็ต่างๆ ต่างกันตามหน้าที่ที่มันกระทำที่เห็นอยู่ นี่ พูดโดยทิฏฐธัมมิกโวหารแล้วมันก็ต่างกันๆ พอพูดโดยสัมปรายิกโวหารลึกกว่านั้น โอ้,มันก็เหมือนกัน คือมันมีความเป็นคนเหมือนกัน ประกอบด้วยธาตุดิน น้ำ ลม ไฟอะไรเหมือนกัน ทำดีก็ดี ทำชั่วก็ชั่ว ทำถูกก็ว่าถูก ทำผิดก็ผิด ปฏิบัติถูกต้องแล้วก็เป็นพระอริยเจ้าได้เหมือนกัน เป็นพระอรหันต์ได้เหมือนกัน แล้วมันจะต่างอะไรกันล่ะนี่ ถ้ามองผิวๆ มันก็ต่างกัน ถ้ามองลึกๆ มันก็ไม่ต่างกัน ถ้าลึกไปกว่านั้นอีก โอ๊ย,ทีนี้ก็ไม่มีอะไรแล้ว ว่างจากตัวตนด้วยกันแหละ ไม่มีๆ คือไม่มีชาวนา ไม่มีชาวสวน ไม่มีพ่อค้า ไม่มีกรรมกร ไม่มีแล้วไม่มีขอทาน มันไม่มีแล้ว มันจึงไม่ต้องพูดว่าต่างหรือไม่ต่าง
นี้เกี่ยวกับภาษาที่จะต้องศึกษาจะต้องรู้จะต้องเข้าใจที่เกี่ยวกับธรรมะ ย่นย่อให้เหลือเพียง ๒ ภาษา คือ ภาษาคน กับภาษาธรรม ภาษาคนก็มีอย่างต่ำมากและไม่ต่ำ ภาษาธรรมก็ต่ำมากและไม่ต่ำเหมือนกัน มีคนด่าผมว่าเอามาพูดให้มันยุ่งยากลำบากเป็น ๒ ภาษา ๓ ภาษา บ้าๆ บอๆ ผมก็เออ,ก็ได้เหมือนกันแหละว่าอย่างนั้น แต่คุณดูเอาเองเถิดว่าบ้าหรือไม่บ้า มันคนละภาษา มันก็พูดกันคนละภาษา เมื่อพูดถึงพระพุทธเจ้า เด็กๆ เขาก็รู้แค่พระพุทธรูป ผู้ใหญ่มันก็รู้แค่บุคคล บุคคลที่เดินไปมาอยู่ในประเทศอินเดีย เดี๋ยวนี้ตายแล้วเผาแล้ว นี่ภาษาคนเป็นอย่างนี้ ถ้าภาษาธรรมก็คือธรรมะที่ดับทุกข์ได้ หรือทุกข์เกิดทุกข์ดับอย่างไรนั่นแหละ ปัญญารู้ข้อนั่นแหละเป็นตัวพระพุทธเจ้า ถ้าสูงขึ้นไปอีกก็เป็นความว่าง ว่างจากความเป็นอะไรทั้งหมด เมื่อคุณทำวัตรสวดมนต์เช้าเย็น บทสวดสรรเสริญพระพุทธคุณน่ะ พระพุทธเจ้าองค์ไหน พระพุทธเจ้าของเด็กๆ หรือพระพุทธเจ้าของคนโตแล้ว ดูมันรวมๆ กันอยู่นั่น ทั้งพระพุทธเจ้าในภาษาคนธรรมดา เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ด้วยก็ได้ หรือว่าพระพุทธเจ้าในภาษาธรรมะ คือการตรัสรู้ที่รู้ดับ รู้ความดับทุกข์ รู้ความเกิดแห่งความทุกข์ ความดับแห่งความทุกข์ แล้วทีนี้ที่คุณพูดสวดไปว่า ที่พึ่งของข้าพเจ้าคือพระพุทธเจ้านี่ มันหมายถึงองค์ไหนๆ องค์ที่เดินๆ อยู่บนแผ่นดินน่ะมันเป็นที่พึ่งได้อย่างไร เอามาใส่ในใจได้อย่างไร มันก็ต้องเอาพระพุทธเจ้าที่ลึกที่อยู่เป็นปัญญาเครื่องตรัสรู้น่ะเอามาใส่ใจของเราได้ แล้วก็เป็นที่พึงแก่เราได้ บางบทก็มีว่าข้าพเจ้าเป็นทาสของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นนายเหนือข้าพเจ้านี่ คำพูดนี้ใครจะแต่งขึ้นก็ตามใจ แต่มันก็มีความหมายแหละ คุณจะเอาพระพุทธเจ้าองค์ไหนมาเป็นนาย เป็นทาสของพระพุทธเจ้าองค์ไหน มันก็เป็นภาษาสมมติ,ภาษาสมมติ พระพุทธเจ้าองค์ที่ข้าพเจ้าชอบนับถือเลื่อมใส จะเป็นทาสของสติปัญญารู้ความดับทุกข์ มันก็ได้เหมือนกันแหละ แต่มันไม่ค่อยตรงตามความหมายของคำว่าทาส เป็นทาสน่ะเป็นทาสของบุคคล เดี๋ยวนี้ก็เป็นทาสชนิดที่มิใช่บุคคล มันก็มีความหมายลึกออกไปแหละ แปลว่าเราสมัครที่จะรับใช้ เราสมัครที่จะปฏิบัติตาม เอาอกเอาใจ บำรุงบำเรอเสมือนหนึ่งว่าเป็นนาย นี่พระพุทธเจ้าเป็นนายของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระพุทธเจ้า ก็คือเราจะต้องอุทิศหมดเลยเพื่อจะปฏิบัติตามพระธรรมตามพระพุทธประสงค์ อันนี้ก็เรียกว่าเราเป็นทาสของพระพุทธเจ้า เป็นความหมายสูงความหมายในทางธรรมไปด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่ทาสที่ซื้อมาด้วยเงิน ล่ามไว้ด้วยโซ่ด้วยตรวนอย่างนี้ก็ไม่ใช่ มันไม่ใช่แน่ ต้องรู้ไว้เผื่อเขาถามนะ เดี๋ยวนี้จะถูกหาว่าบ้าบออะไรกันอีกเล่า เขาเลิกทาสกันหมดแล้วยังมาเป็นทาสกันอีก มันอีกความหมายอีก,โว้ย ทาสด้วยความสมัครใจที่จะยอมรับใช้ปรนนิบัติแล้วก็ทำตามทุกอย่าง
นี่เห็นได้ว่าในภาษาพระคัมภีร์ ภาษาบาลี ภาษาที่สวดท่องร้องกันอยู่นี้ มันมีหลายชั้นหลายชนิดอย่างนี้แหละ ทีนี้ถ้าพระพุทธเจ้าเป็นความว่าง นี่ก็ยิ่งไกลออกไปอีกแหละ เราจะไปเอาได้อย่างไร ก็แปลว่าเลิกกัน แปลว่าเลิกกัน หรือถ้าจะว่าเมื่อเราเป็นพระพุทธเจ้าเราก็ว่างเหมือนกัน หรือว่าเดี๋ยวนี้มันก็ว่างอยู่แต่เราโง่ว่าไม่ว่าง เรามีตัวตนไปเสีย ถ้าเราเห็นว่าไม่มีตัวตนก็ว่างเหมือนพระพุทธเจ้า ก็เป็นพระพุทธเจ้าไปเลย ถ้าเป็นพระอรหันต์จิตใจไม่มีตัวตนก็ว่าง ว่างเหมือนกันหมดทุกพระองค์ พระอรหันต์ทุกพระองค์ว่างเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันตสาวก มันก็ว่าง ว่าง ว่างเหมือนกัน เรานี้มันโง่,เว้ย มันจึงเห็นว่าไม่ว่าง เห็นตัวกูของกูเป็นตัวกูของกู จะบวชจะเรียน จะเอาอย่างนั้นจะได้อย่างนี้ มันไม่ว่าง มันมีตัวตน
พูดให้มันจำ จำง่ายลืมยากก็ว่า เราปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าเพื่อให้ว่างเหมือนพระพุทธเจ้า บวชเรียนปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา วิปัสสนา สมาธิอะไรก็ตาม เพื่อให้มันกลายเป็นว่างไปเหมือนกับพระพุทธเจ้าน่ะ ก็ได้เป็นว่างตัวเดียวกันกับพระพุทธเจ้านี่ มันลึกซึ้งจนไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้ประโยชน์อะไรนี่ คนที่เขาไม่ต้องการก็เรื่องบ้าๆ บอๆ นี่เอามาพูดให้เสียเวลาทำไม ไม่มีประโยชน์อะไร เรื่องเราก็ว่างพระพุทธเจ้าก็ว่างนี่ เอามาพูดให้เสียเวลาทำไม ก็ได้เหมือนกันแหละ เขาไม่ได้รับประโยชน์อะไรเขาก็ไม่รู้ แต่นี้เราจะพูดกันให้หมดทุกเรื่อง ความจริงทุกขั้นทุกตอน แล้วก็พูดอย่างนี้ พระพุทธเจ้าเป็นบุคคลสูงสุดก็คือเป็นความว่างจากตัวตนไปแหละ เราอุตส่าห์มาเล่ามาเรียนก็เพื่อจะว่างตามพระพุทธเจ้าไปอยู่ที่เดียวกัน ไปเป็นว่างด้วยกัน ถ้าไม่เข้าใจคำว่าว่างนี้มันก็ไม่เอา ก็สั่นหัวว่าไม่ต้องการ เอ้า,ก็ปฏิบัติไป ปฏิบัติไปหลับหูหลับตางมๆ งายๆไปไม่รู้ว่าเพื่ออะไร เอ้า,ก็ว่าเพื่อดับทุกข์ ก็ได้เหมือนกัน ก็เป็นพระพุทธเจ้าอีกแหละ ถ้าว่ามันดับทุกข์ได้ก็เป็นพระพุทธเจ้าอีก มันจะดับทุกข์ได้ก็ต่อเมื่อมันว่างจากตัวตนนั่นแหละ ถ้าไม่ว่างจากตัวตนมันไม่ดับทุกข์หรอก เอ้า,ถ้ามันดับทุกข์มันก็ว่างอีก ก็เป็นพระพุทธเจ้าในแบบที่มันว่างอีกเหมือนกัน พระพุทธเจ้าคือความว่างที่คนโง่ไม่เข้าใจ คนโง่ไม่มันเข้าใจ จะพูดสักกี่ครั้งๆ มันก็ไม่เข้าใจว่าพระพุทธเจ้าเป็นความว่าง
คุณจำให้ดี ไล่ไปตามลำดับให้ดี พระพุทธรูปในโบสถ์เป็นพระพุทธเจ้าของลูกเด็กๆ พระพุทธเจ้าในประวัติศาสตร์เป็นพระพุทธเจ้าของบุคคลธรรมดาสามัญ ธรรมะที่ดับทุกข์ได้ปัญญาที่ดับทุกข์ได้นั้นเป็นพระพุทธเจ้าของบุคคลผู้รู้ธรรมะ ทีนี้ความว่างจากตัวตน ว่างจากความทุกข์ ว่างจากอะไรโดยประการทั้งปวงนี้ เป็นพระพุทธเจ้าในอันดับสูงสุดของภาษาธรรม เป็นปรมัตถโวหาร พวกนักวิปัสสนาสมาธิทั้งหลายต้องการพระพุทธเจ้าแบบไหนกันก็ยังไม่รู้นะ ยังไม่รู้ ยังพูดยากนะ ยังไม่รู้นะ อาจจะต้องการพระพุทธเจ้าอย่างบุคคลหรืออย่างภาษาธรรมหรือพระพุทธเจ้าอย่างว่าง ว่าง ว่างไปทุกอย่าง ก็ได้เหมือนกันแหละ ได้ทั้งนั้นแหละ ไปดูเอาเอง นักสมาธินักวิปัสสนาคนไหนเขาต้องการพระพุทธเจ้าอย่างชนิดไหน พระพุทธเจ้าที่เรานับถือเป็นที่พึ่งเป็นสรณะนี้ก็เป็นปัญหาที่น่าคิด พระพุทธเจ้าชนิดไหนที่เรานับถือเป็นสรณะเป็นที่พึ่งนั่นน่ะ พระพุทธรูปในโบสถ์ เอ้า,มันก็ได้กลายเป็นลูกเด็กๆ ไปเลย นับถือพระพุทธรูปในโบสถ์เป็นที่พึ่งหรือพระเครื่องที่แขวนคอนั่น ก็เป็นพระพุทธเจ้าสำหรับลูกเด็กๆ พระพุทธเจ้าที่เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ เราได้อาศัยความรู้ของท่านศึกษาคำสอนของท่าน เราก็ปฏิบัติถูกต้องดับทุกข์ได้ เอ้า,ก็เป็นพระพุทธเจ้าอย่างบุคคลที่บุคคลจะเป็นที่พึ่งให้แก่กันได้ นี้ก็ได้เหมือนกัน ทีนี้พระพุทธเจ้าอย่างเป็นปัญญาที่ทำให้รู้ทุกข์ รู้เหตุให้เกิดทุกข์ รู้ความดับทุกข์ รู้ทางให้ถึงทางดับทุกข์นี้ เอ้า,นี้ก็เป็นสูงขึ้นไป ก็ยิ่งดีๆ แต่พระพุทธเจ้าคือว่างจากตัวตน ว่างจากความทุกข์ ว่างจากกิเลส มันก็ยิ่งดีที่สุด มีให้เลือกแล้วแต่ใครจะเอาชนิดไหนได้จะเลือกเอาชนิดไหนได้ มีปัญญามีความรู้แค่ไหนมันก็เลือกเอาแค่นั้นแหละไม่ต้องสงสัย
เรารู้กันไว้ว่าภาษาๆ มันเป็นอย่างนี้ ภาษาคนพูดถึงสิ่งภายนอกตามที่คนธรรมดารู้จักและพูด ภาษาธรรมพูดถึงภายในที่คนรู้ธรรมเท่านั้นแหละจะพูดได้โดยภาษาธรรม คนไม่รู้ธรรมพูดภาษาธรรมไม่ได้ มันก็ต้องพูดโดยภาษาคนไป ตัวอย่างที่จะช่วยให้เข้าใจง่ายได้อีกอย่างหนึ่ง คำว่านรก-สวรรค์,นรก-สวรรค์น่ะ นรกสวรรค์มี ๓ ชั้นนะ นรกสวรรค์ชั้นที่อยู่ในอกในใจ นรกสวรรค์ที่อยู่ในอกในใจของคน และนรกสวรรค์ที่อยู่ในแผ่นดินโลกนี้นะ และนรกสวรรค์ตามที่เขาพูดกันน่ะ สวรรค์อยู่บนฟ้านรกอยู่ใต้ดิน ตามที่สอนพูดกันนั้นน่ะ เกิดนรกสวรรค์ที่โลกอื่น ตั้งต้นด้วยนรกสวรรค์ที่โลกอื่นตามที่เราเรียนรู้บอกๆ กันมา ให้นรกอยู่ใต้บาดาลนู่น สวรรค์อยู่บนยอดสุดของฟ้านู่น นี้ก็ความหมายหนึ่งนะ ความหมายของภาษาคนต้องเชื่อคนอื่นหลับตาเชื่อ มันก็คือคนโง่ เชื่อตามที่เขาพูด ถ้าพูดเสียใหม่ว่านรกสวรรค์ในแผ่นดินนี้ในโลกนี้ ความทุกข์ยากลำบากยากจนข้นแค้นติดคุกติดตะรางและสารพัดจะทุกข์ยาก นี้เป็นนรก ความสะดวกสบายไปทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีเหงื่อไม่ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำไม่รู้จักกับเหงื่อ นี้ก็เป็นสวรรค์ อยู่ในโลกนี้ๆ ที่นี้โลกนี้ แต่มันก็อยู่นอกตัวคน อยู่ทั่วไปในโลก
ทีนี้นรกสวรรค์ชั้นละเอียดที่สุด อยู่ในอกอยู่ในใจ สวรรค์ในอกนรกในใจ ยิ่งละเอียด ก็อยู่ในจิตในใจของคน นั่นแหละภาษาธรรม ภาษาธรรมที่มันลึกเข้าไป พระพุทธเจ้าท่านก็ได้ตรัสทำนองนี้ นรกมันอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อประพฤติผิดทำผิดน่ะ ตา หู ลิ้น จมูก กาย ใจ ก็กลายเป็นนรก เมื่อทำถูกประพฤติถูก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นสวรรค์ สวรรค์อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเมื่อทำถูกหรือเมื่อทำผิดต่อกฎอิทัปปัจจยตานั่นน่ะ เมื่อทำผิดก็เป็นเดือดร้อนแหละที่ตา หู ที่เป็นเครื่องสัมผัสกำหนดรู้ ที่อายตนะ นี่คุณดูสิ แม้แต่นรกสวรรค์ก็เป็น ๓ อย่างอย่างนี้ นรกสวรรค์ชนิดไหนเป็นภาษาคน ชนิดไหนเป็นภาษาธรรม ผมรู้สึกว่าที่เชื่อตามเขาพูดว่าอยู่ใต้ดินหรือบนฟ้านั้นน่ะนรก สวรรค์สำหรับภาษาคนและคนโง่ด้วย คนโง่ไม่มีปัญญาเห็นด้วยตนเอง เชื่อตามที่เขาบอกนั่นแหละ นรกสวรรค์ที่นั่นมันภาษาคนของคนโง่ ทีนี้นรกสวรรค์ที่อยู่บนดินในทั่วๆ ไปที่เห็นชัดๆ อยู่ ความทุกข์ทั้งหลายเป็นนรก ความไม่เป็นทุกข์เป็นสุขเป็นสวรรค์ นี่ก็ภาษาคนเหมือนกันแหละ แต่ไม่โง่เท่าไหร่ หรือเรียกว่าไม่โง่ มันเห็นอยู่ชัดๆ มันบอกไปตรงๆ แล้วนรกสวรรค์ที่อยู่ในใจนี่คนฉลาดเท่านั้นแหละที่จะต้องเห็น ต้องเห็นธรรมะนั้น นี่แหละภาษาธรรม นรกสวรรค์ชนิดนี้มันเป็นภาษาธรรม รู้สึกอยู่ในใจเลย เป็นนรกก็กัดเอาเกือบตาย เป็นสวรรค์ก็สบายเหลือเกินนี่ ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ยังลึกไปกว่านั้นอีก ยังลึกไปกว่าในอกในใจเสียอีก เพราะมันต้องรู้จักสังเกต รู้จักพูดเข้าใจว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะเป็นนรกสวรรค์ไปได้อย่างไร มันหมายถึงความหมาย ความผิดพลาดที่ทำผิดทางตา มันก็เกิดเป็นนรกทางตา ความผิดพลาดที่เกิดทางหูทางเสียง มันก็เป็นนรกทางหู ความผิดพลาดที่ทำทางจมูกก็เป็นนรกทางจมูก ความผิดพลาดที่ทำทางลิ้นก็เป็นนรกทางลิ้น มันละเอียด สังเกตยาก ความผิดพลาดที่กระทำทางกายก็เป็นนรกทางกาย ความผิดพลาดที่ทำทางใจก็เป็นนรกทางใจ ความถูกต้องที่ทำทางตาก็เป็นสวรรค์ทางตา ความถูกต้องที่ทำทางหูก็เป็นสวรรค์ทางหู ความถูกต้องทางจมูกก็เป็นสวรรค์ทางจมูก ที่ทางลิ้นก็เป็นสวรรค์ทางลิ้น ทางกายก็เป็นสวรรค์ทางกาย ทางใจเป็นสวรรค์ทางใจ ในความรู้สึกทั่วๆไปชั้นผิวเผิน มันก็ยังเป็นภาษาคน ในความรู้สึกลึกซึ้งๆ จึงจะเป็นภาษาธรรมที่ละเอียด แล้วมันก็ยังไม่ค่อยจะเข้าใจไม่ค่อยจะรู้กัน เอาไปคิดเอาเองว่ามันจริงหรือไม่จริง พระพุทธเจ้าว่ามันอยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ปู่ ย่า ตา ยาย ของเราเคยพูดว่าอยู่ในอกในใจ แต่ที่ว่าคนธรรมดามันจะเห็นได้ โอ้,มันอยู่ที่คุกตะรางหรือว่าบ้านเศรษฐี หรือไม่อย่างนั้นก็เชื่อตามที่เขาพูดกันมาแต่โบราณกาลนู้นว่าอยู่ใต้ดินอยู่บนฟ้านั่น สมัยวิทยาศาสตร์นี้ไม่มีใครเชื่อเสียแล้วว่านรกอยู่ใต้ดินสวรรค์อยู่บนฟ้า นี้ก็เป็นตัวอย่างที่ควรจะเอามาศึกษาให้เข้าใจว่ามันพูดเป็น ๒ ภาษา เป็นภาษาคนกับเป็นภาษาธรรม ภาษาคนก็มีทั้งอย่างตื้นและอย่างลึก ภาษาธรรมก็มีทั้งอย่างตื้นและอย่างลึก โดยหัวข้อมี ๒ ถ้าแจกรูปออกไปก็เป็น ๔
เอ้า,ทีนี้เรามาพูดกันเป็นรายๆ เป็นเรื่องๆ ไปเลย พระพุทธอีกที พระพุทธสำหรับลูกเด็กๆ คือพระพุทธรูป พระพุทธเจ้าสำหรับเด็กๆ ก็คือพระพุทธรูป สูงขึ้นมาก็เป็นบุคคลที่เดินไปมาได้อยู่ในอินเดียครั้งกระโน้น ตายแล้วเผาแล้ว นั่นแหละพระพุทธเจ้า นี่เรียกว่าภาษาคนอย่างหยาบหรืออย่างละเอียด ทีนี้ถ้าภาษาธรรม ปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ รู้ทุกข์ รู้ดับทุกข์ นั่นแหละพระพุทธเจ้าในภาษาธรรม ถ้าเป็นภาษาธรรมที่สูงขึ้นไปคือความว่างจากตัวตน ว่างจากของตน ว่างจากกิเลส ว่างจากความทุกข์ ว่างจากสมมติบัญญัติว่าเป็นบุคคลไม่มีบุคคล นี่ได้เป็น ๔ ความหมาย เราเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าชนิดไหนกันบ้าง ลูกเด็กๆ ก็ทำได้แต่ว่าเกี่ยวข้องกับพระพุทธรูป
ที่เมืองพม่าผมไปที่บ้านเศรษฐีคนหนึ่ง จำติดตามาได้ว่าในห้องนั้นน่ะ ห้องพระห้องรับแขก มีพระพุทธรูป ที่เมืองพม่าเขาชอบพระพุทธรูปที่อยู่ในน้ำ พระเถระอุปคุต อยู่สะดือทะเล อยู่ในน้ำ พระพุทธเจ้าแช่น้ำนั่นน่ะ เขาทำกันว่าลูกคนนี้ก็องค์นี้ ลูกคนนี้ก็องค์นี้ ลูกคนนี้ก็องค์นี้ ลูกหลายคนก็มีหลายองค์หลายที่บูชา เด็กๆ ยึดมั่นถือมั่นในพระพุทธรูปของตน เอาใจใส่ที่สุด คอยระวังดูแลให้เครื่องบูชาสักการะสดชื่นอยู่เสมอ เติมน้ำเติมท่าอะไรให้อยู่เสมอ นี่เห็นได้ว่าพระพุทธรูปสำหรับลูกเด็กๆ นั้นอยู่แค่นั้นแหละ มันอยู่แค่นั้นแหละ แต่ก็ยังดีนะ ดีกว่าไม่มีนะ เพราะว่ามันเป็นจุดตั้งต้นที่มั่นคงไปเสียแต่เด็กๆ บ้านเราไม่มีอย่างนั้นก็ไม่มีจุดตั้งต้นนะ นั่นให้ลูกเด็กๆ มีจุดตั้งต้นที่แน่นแฟ้น มีพระพุทธเจ้าของกู ของกูกูดูแลรักษา พระพุทธเจ้าของลูกเด็กๆ ก็คือพระพุทธรูป เห็นพระพุทธรูป เด็กๆ ก็ร้องออกมาว่าพระพุทธเจ้า เอามาแขวนคอก็ได้ ทีนี้พระพุทธเจ้าอย่างบุคคลของคนธรรมดาสามัญ นักเรียนนักศึกษาทั้งฝรั่งทั้งมิใช่ฝรั่ง พระพุทธเจ้าเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ทั้งนั้นแหละ พระพุทธเจ้าที่เป็นธรรมะ เป็นปัญญาเครื่องรู้ธรรมะดับทุกข์ได้นั้นก็ของผู้ที่มองเห็นลึกกว่านั้น ไม่เอาเปลือกนอกเป็นประมาณ รูปร่างกายนี้เป็นเปลือกนอก เอาสติปัญญาข้างในดีกว่า แล้วก็ในด้วยลึกด้วยกว้างด้วย อะไรหมดแล้วก็ว่าง ว่าง ว่าง ว่างจากทุกอย่างที่เป็นสมมติและบัญญัติ พระพุทธเจ้า ๔ ความหมาย
เอ้า,ทีนี้มาดูกันที่พระธรรมบ้าง พระธรรม พระธรรมภาษาคนภายนอกสุด เมื่อเขามีคนตาย เขามายืมหีบใส่พระคัมภีร์เอาไปตั้งที่หน้าศพสำหรับพระสวด ภาษาชาวบ้านแถวนี้เรียกว่าพระธรรมนั่นแหละ มึงไปเอาพระธรรมมาที เอามาจากวัดไปวางที่บ้านคืนนี้มีศพ พระธรรมก็คือหีบใส่คัมภีร์ นั่นคือตัวพระคัมภีร์ตัวหนังสือ ตัวเล่มหนังสือเล่มสมุดนั่นแหละพระธรรม พระธรรมของคนพวกนี้ ถ้าดีกว่านั้นก็หมายถึงโอ้,ข้อความที่มีอยู่ในกระดาษนั่นแหละเป็นพระธรรม ภาษาคนก็เป็นได้แค่นี้ เสียงที่แสดงอยู่บนธรรมาสน์นั่นแหละพระธรรม ทีนี้ถ้าลึกไปกว่านั้นก็คือ ความหมายเกี่ยวกับดับทุกข์เกิดทุกข์อะไรนั่น ในนั้นแหละคือพระธรรมในภาษาธรรม ในที่สุดก็ว่างอีกแหละ ที่สุดของธรรมะก็คือว่าง ว่าง ว่างจากตัวตน เป็นอสังขตะ เป็นว่างอย่างเดียวกับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าว่างอย่างไร พระธรรมก็ว่างอย่างนั้น เราก็ได้พระธรรมถึง ๔ ชั้น ๔ ระดับ ชั้นสำหรับลูกเด็กๆ ก็อย่าง สำหรับคนธรรมดาก็อย่าง สำหรับคนรู้ก็อย่าง คนรู้ที่สุดก็อย่าง
เอ้า,ทีนี้มาดูพระสงฆ์กันบ้าง,พระสงฆ์กันบ้าง พระสงฆ์ในภาษาคนชั้นต้นๆ ที่เด็กๆ มันก็รู้ตัวเหลืองๆ นุ่งห่มจีวรเหลืองๆ บวช ลูกคนนั้นหลานคนนี้พี่ของกูน้องของกูมันไปบวชแล้วมันเป็นพระสงฆ์แล้ว นี่พระสงฆ์ของลูกเด็กๆ และมันก็หมายถึงบุคคล บุคคลที่มีสิกขาวินัยอะไรนี้เป็นพระสงฆ์สูงขึ้นไป แล้วทีนี้คุณธรรม คุณธรรมที่ดับทุกข์ได้ในคนนั้นก็เรียกว่าพระสงฆ์ๆ ที่ภาษาธรรมที่สูงขึ้นไป พระสงฆ์ในอันดับสุดท้ายก็คือว่าง ว่าง ว่างอย่างเดียวกับพระพุทธอีกแหละ พระพุทธ พระธรรมว่างอย่างไร พระสงฆ์สูงสุดก็ว่างอย่างนั้น เราก็ได้พระสงฆ์เป็น ๔ ความหมาย ปู่ ย่า ตา ยายเคยพูดไว้ ผมยังจำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า ไหว้พระสงฆ์น่ะ อย่าไหว้ให้ถูกลูกชาวบ้าน เมื่อแกจะไหว้พระสงฆ์นี่ ขอจงไหว้อย่าให้ถูกลูกชาวบ้าน ลูกชาวบ้านที่มันไปบวชเมื่อตะกี้นี่ มันเป็นลูกชาวบ้าน พระสงฆ์ที่แท้จริงมันไม่ได้อยู่ที่นั่น มันไม่ใช่ลูกชาวบ้าน มันต้องเลิก เลิกเป็นลูกชาวบ้าน เป็นลูกพระพุทธเจ้า มันก็มีธรรมะเหมือนพระพุทธเจ้า รู้อย่างเดียวกับพระพุทธเจ้า เข้าถึงความว่างเข้าไปสู่ความว่างอย่างเดียวกันกับพระพุทธเจ้า คนโบราณที่ฉลาดเขาก็พูดไว้ว่า พระพุทธรูปบังพระพุทธเจ้า ใบลานบังพระธรรม ลูกชาวบ้านที่บวชแล้วบังพระสงฆ์,บังพระสงฆ์ มีความรู้อย่างนี้แล้วก็ดูเอาเอง ฉลาดกันเสียบ้าง อย่าหยุดอยู่ที่นี่ อย่าเอาพระพุทธเจ้าที่พระพุทธรูป นี่เป็นลูกเด็กๆ เอาพระธรรมที่คัมภีร์ที่เสียง นี่ก็เป็นลูกเด็กๆ เอาพระสงฆ์เป็นลูกชาวบ้านก็เป็นเด็กๆ มันเลิกเป็นลูกชาวบ้านมาเป็นลูกพระพุทธเจ้าไปแล้ว,พระสงฆ์
ผมก็พูดได้แต่รายละเอียดหรือว่าตัวอย่าง คุณก็ต้องไปนั่นเอาเอง ไปกำหนดเอาความหมายของคำว่าภาษาคน ภาษาธรรมเอาเอง ภาษาคนตื้นๆ ภาษาคนลึกๆ เอาเอง ภาษาธรรมะตื้นๆ ภาษาธรรมะลึกๆ เอาเอง จะได้รู้ว่าภาษาคนเป็นอย่างไร ภาษาธรรมเป็นอย่างไร ดูข้างนอกก็เป็นภาษาคน ดูข้างในก็เป็นภาษาธรรม ดูให้ลึกยิ่งขึ้นไปอีกพร้อมกันทั้งข้างนอกข้างในก็เป็นภาษาธรรมที่ลึกซึ้งที่สุด
เอ้า,ทีนี้ก็มาดูคำอื่นๆ ที่เราใช้พูดจากันอยู่ต่อไป คำแรกก็ดูจะต้องเป็นคำว่ามนุษย์ๆ หรือจะใช้คำว่าคนก็ได้, คนก็ได้ เอามนุษย์ดีกว่าเพราะมันมีความหมายซับซ้อนดี มนุษย์ ภาษาคนกับภาษาธรรมมันต่างกันอย่างไร มนุษย์ภาษาคนก็คือคน มนุษย์แปลว่าคน เด็กๆ เรียนในโรงเรียน มนุษย์ก็แปลว่าคน มนุษย์ก็คือคน มนุษย์ในภาษาคนก็คือคนทั่วๆไป แต่ถ้ามนุษย์ในภาษาธรรมมันหมายถึงจิตใจ มันมีจิตใจอย่างมนุษย์ คือมันจิตใจสูงกว่าธรรมดาชนิดที่ว่ามันเหนือคนขึ้นไปแหละ เหนือกิเลสเหนือความทุกข์เหนือปัญหา นี่จะเป็นยอดคนในที่สุดแหละ เป็นอรหันต์ก็เป็นยอดมนุษย์เพราะว่าอยู่เหนือกิเลส เหนือปัญหา เหนือความทุกข์เหนืออะไรต่างๆ ทีนี้เป็นมนุษย์ในระดับไหนกันรู้เอาเอง รู้ดีๆ รู้เอาเอง เราเป็นมนุษย์ในระดับไหน มีคำล้อหรือคำด่าว่ามันมีคอหยักๆ สักแต่ว่าคอหยักๆ สักว่าคน,สักแต่ว่าคอหยักๆ มันก็สักแต่ว่าคน นี่มันก็ไม่ได้เป็นคนในภาษาธรรม เป็นคนในภาษาธรรมมันก็ดีกว่านั้น เราจะรู้ได้ด้วยตนเองว่าขอให้เป็นมนุษย์ที่ถูกต้องเต็มความหมาย ก็พอแล้วไม่ต้องเป็นอะไรมากไปกว่านั้น ไม่ต้องเป็นเทวดาก็ได้ เป็นมนุษย์ที่ถูกต้องมีจิตใจสูงเหนือความทุกข์มันพอแล้วนี่ ถ้าต้องการเกินกว่านั้นมันบ้าแล้วแหละ ป่วยการแหละ มันเหนือความทุกข์เหนือปัญหาเหนืออะไรแล้วก็พอ ควรจะพอแล้ว นี่เป็นมนุษย์กันให้ถูกต้องให้เพียงพอ มันก็พอแล้ว อย่าไปเอาอะไรให้มันมากเลย เป็นยอดมนุษย์เหนือความทุกข์ก็เป็นพระอรหันต์น่ะ มนุษย์ที่เป็นพระอรหันต์ก็มีเท่านี้ อยู่เหนือความทุกข์เหนือปัญหาเหนือกิเลสไม่มีความทุกข์ก็พอแล้ว ถ้ายังมีกิเลสมีความทุกข์กลุ้มอยู่ในจิตใจ หรือว่าสุมอยู่บนศีรษะแล้วมันก็ยังเป็นคนนี่,คนธรรมดา มีคนชอบอธิบายว่าคนๆ นี้มันแปลว่ายุ่ง คือคนน่ะ เหมือนเราคนของที่อยู่ในอ่างในไหนี่แหละ คน คน คน คนให้มันเข้ากันน่ะ นี่แหละยุ่ง นี่คนมันยังไม่พ้นจากทุกข์ มันยุ่งอยู่ด้วยสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องรบกวนรอบด้าน ทำอย่างไรก็ไม่เข้าสนิทกันได้เลย มันยุ่ง จะชอบคำว่าคนก็ได้ ชอบคำว่ามนุษย์ก็ได้ แต่ขอให้ได้ความหมายว่ามันมีจิตใจสูงเหนือความทุกข์ไว้ก็แล้วกัน ถ้าหมดทุกข์เลยเหนือหมดเลยก็เป็นพระอรหันต์ ยอดคน ยอดมนุษย์
ทีนี้ก็ถึงชนิดของคน,ชนิดของคน วรรณะๆ ชนิดของคน แต่โบราณก็พูดกัน กษัตริย์ พราหมณ์ แพทย์ ศูทร ถ้าศึกษาพุทธประวัติก็ได้ยินวรรณะกษัตริย์ ก็คือพวกนักรบพวกต่อสู้พวกปกครองบ้านเมืองพวกนักรบ พวกพราหมณ์ ก็พวกครูบาอาจารย์สำหรับสั่งสอน พวกพระเวศย์หรือแพทย์คือพวกนักธุรกิจการงาน ทำการงานต่างๆ เป็นชาวนาชาวสวนอะไรก็ได้ ศูทร ก็คือกรรมกรชั้นต่ำชั้นเลว ขายแรงงานกิน เรียกว่าศูทร กษัตริย์ พราหมณ์ แพทย์ ศูทร อันหนึ่งนักรบนักปกครองบ้านเมือง อันที่ ๒ สั่งสอนวิชาความรู้ อันที่ ๓ ทำกิจกรรมเป็นล่ำเป็นสันของตนเอง อันที่ ๔ ขายแรงงานกิน รับจ้างขายแรงงานกิน มีผู้ไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่าวรรณะ ๔ นี้มันต่างกันอย่างไร,วรรณะ ๔ มันต่างกันอย่างไร ทีแรกพระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า เอ้า,แกไม่เห็นหรือว่ามันต่างกันอย่างไร มันเห็นกันอยู่ชัดๆ นะว่าแบ่งเป็นวรรณะ ๔ ทีนี้คนนั้นก็บอกว่าขอให้กล่าวโดยโวหารอื่น ให้กล่าวโดยโวหารอื่น โดยสัมปรายิกโวหาร เอ้อ,ถ้าอย่างนั้นมันไม่ต่างกัน กษัตริย์ พราหมณ์ แพทย์ ศูทร ทำชั่วไปนรก ทำดีไปสวรรค์ด้วยกันทั้งนั้นแหละ ปฏิบัติพรหมจรรย์ละกิเลสได้ก็เป็นอริยบุคคลกันทั้งนั้นแหละ,ไม่ต่าง นี่คุณก็เห็นได้ใช่ไหมว่าวรรณะในภาษาคนน่ะมันต่างกัน วรรณะในภาษาธรรมไม่ต่างกันหรอก มันต่างโดยหน้าที่การงาน มันไม่ต่างโดยกำเนิดโดยอะไรใช้ไม่ได้ วรรณะโดยหน้าที่การงานนั่นน่ะไม่มีใครเลิกมันได้หรอก แต่วรรณะโดยกำเนิดนั้นเลิกได้ เขาเลิกกันแล้ว ในอินเดียเขาก็พยายามเลิกกันแล้ว แม้จะเลิกไม่ได้มันก็พยายามเลิก วรรณะโดยกำเนิดเกิดมาจากพ่อแม่ยึดมั่นถือมั่นบัญญัตินั้นเลิกได้ มันเป็นภาษาคนเกินไป แต่วรรณะในภาษาธรรมโดยหน้าที่การงาน ทำนาก็เป็นชาวนา ทำสวนก็เป็นชาวสวน ค้าขายก็เป็นพ่อค้า ทำราชการก็เป็นข้าราชการ อย่างนี้มันไม่ต้องเลิกหรอก มันโดยการงาน วรรณะโดยหน้าที่การงานมันไม่อาจจะเลิก การงานหรือกรรมที่กระทำน่ะมันแจกจำแนกคนให้ต่างๆ กัน ให้เป็นชั้นๆ กัน
บวชนี้ก็เรียกว่าวรรณะเหมือนกัน วรรณะบรรพชิต บางคนอาจจะไม่รู้ว่าอยู่ในวรรณะ ๔ ข้อไหนนะ วรรณะพระ วรรณะบรรพชิตน่ะเรียกว่าวรรณะพิเศษ,วิวรรณะ ที่สวดกันอยู่ทุกคืน เววณฺณิยมฺหิ อชฺฌูปคโตติ อภิณฺหํ ปจฺจเวกฺขิตพฺพํ เววัณณะ น่ะ มีวรรณะต่าง วรรณะที่ต่างคือวิเศษไปจากวรรณะชาวบ้านนั่นแหละคือวรรณะบรรพชิต ให้มันอยู่ในพวกวรรณะบรรพชิต กำลังจะเป็นบรรพชิตก็ได้ ที่อยู่ในวรรณะพราหมณ์ก็เรียกว่าวรรณะผู้สั่งสอน ถ้าไม่อย่างนั้นก็เป็นวรรณะแปลกออกไปจาก ๔ วรรณะ ปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ ถือเป็นหลักได้เลยว่าการงานนั้นเป็นเครื่องแบ่งวรรณะ วรรณะอย่างนี้เลิกไม่ได้ ไม่มีใครเลิกมันได้ ไปทำหน้าที่อะไรเข้าก็เป็นวรรณะนั้น แต่วรรณะโดยสมมติที่เกิดมาจากพ่อแม่นั้นเลิกได้ เลิกกันเสียทีก็ดีเหมือนกัน นี่ภาษาคน วรรณะก็คือตามสมมติบัญญัติ ภาษาธรรมก็ไม่ ตามหน้าที่การงาน
เป็นมนุษย์แล้วก็ยังเป็นอะไร เป็นเทวดา เอาเทวดามาพูดกันที เทวดาในภาษาคนกับเทวดาในภาษาธรรม เทวดาในภาษาคนอย่างลูกเด็กๆ นี่ จะเป็นตุ๊กตาเทวดาหรือภาพเขียนที่ฝาผนังเป็นรูปเทวดา หรือไปดูหนังตะลุงตัวเทวดานี่ ก็เอาอันนั้นแหละเป็นเทวดา เช่นเดียวกับเอาพระพุทธรูปเป็นพระพุทธเจ้า เด็กๆ เขาก็เอาเทวดาที่สมมติกันว่าเป็นเทวดา เอาเครื่องทรงมาใส่เข้า ใส่ตลอมพอกเข้าก็เป็นเทวดา แต่ถ้าว่าเป็นภาษาคนที่ดีกว่า มันก็เรียกว่าผู้ปฏิบัติเทวธรรมเป็นเทวดา หรือภาษาคนชั้นทั่วๆ ไป ก็อยู่สวรรค์ อยู่บนสวรรค์ตามที่ได้ยินได้ฟังมา ถ้าว่ามีธรรมะมีเทวธรรมก็เป็นเทวดาที่นี้ไม่ต้องอยู่ในสวรรค์ คิดดูว่าเทวดาไหนมันจริงกว่า เทวดาที่อยู่ในสวรรค์ขลุกขลักกันอยู่แต่เรื่องกามารมณ์ กับเทวดาที่อยู่มนุษย์นี้ประกอบไปด้วยเทวธรรม มีธรรมะสูงสุดด้วยหิริและโอตัปปะ นี่ใครเป็นเทวดากว่า เทวดาที่มีนางฟ้าตั้งห้าร้อยข้างบนสวรรค์ที่ในคำพูดกับเทวดาที่นี้มีหิริมีโอตัปปะบริสุทธิ์ผุดผ่องนี่ ใครมันเป็นเทวดากว่า ที่มันเป็นเทวดากว่าน่ะเทวดาในภาษาธรรม แต่ว่าคนไม่เข้าใจแหละ คนทีแรกที่มันพูดขึ้นเป็นครั้งแรกมันจะสอนคนให้มาเชื่อทางนี้ มันก็ต้องพูดชนิดที่แม้แต่เด็กๆ ก็สนใจแหละ ได้มีทิพย์เป็นของทิพย์อะไรก็เป็นทิพย์ เอร็ดอร่อยสูงสุด พอนึกขึ้นก็มา ก็ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย ไม่ต้องรู้จักเหงื่อนั่นแหละ มันก็เป็นเทวดาที่พูดไว้เพื่อวัตถุประสงค์อันหนึ่ง ถ้ามันจะมีได้จริงอย่างนั้นมันก็ต้องปฏิบัติถูกต้องที่นี้ ไม่ต้องไปสวรรค์ไม่ต้องตายแล้วไปสวรรค์หรอก ที่นี้แหละ ปฏิบัติไม่ให้มีความทุกข์ให้สมบูรณ์พูนสุข อยู่ในบ้านในเรือนในโลกนี้ก็เป็นเทวดาได้ เป็นเทวดาในภาษาธรรมะก็ได้ คือมีเทวธรรม,มีเทวธรรม ทำแต่ความดีเท่านั้นแหละ สัตว์นรกก็ทำแต่ความชั่ว สัตว์เทวดาก็ทำแต่ความดี ถ้าเป็นพระอริยเจ้าก็เหนือชั่วเหนือดีไปเลย เหนือชั่วเหนือดีไปเลย เหนือนรกเหนือสวรรค์ไปเลย
ผมบอกว่าเมื่อทำหน้าที่ของตนถูกต้องจนยกมือไหว้ตัวเองได้เมื่อไหร่ ก็เป็นสวรรค์เมื่อนั้น เป็นเทวดาเมื่อนั้น ทำความดีจนพอใจตัวเอง ตัวเองนับถือตัวเอง เคารพตัวเอง รักตัวเอง ชื่นใจตัวเอง ยกมือไหว้ตัวเองได้ที่ไหนเมื่อไหร่ เป็นเทวดาเมื่อนั้น เป็นสวรรค์เมื่อนั้น นี่มันเป็นภาษาธรรม ภาษาธรรมะโดยเอาธรรมะนั่นแหละเป็นหลัก ไม่ได้เอาคำพูดให้เชื่อกันอย่างไม่มีเหตุผลน่ะเป็นหลัก ไม่ต้องการ
เอ้า,ทีนี้ย้อนมาถึงเรื่องของพวกเราบ้าง คำว่าบวชๆ ในภาษาคนกับภาษาธรรมต่างกันอย่างไร บวชในภาษาคนก็ทำตามพิธี วิธีวินัยกรรม ตามวิธีวินัยกรรม ตามพระวินัย ที่เราทำกันวันก่อนในโบสถ์แล้วก็บวชก็เป็นพระ นี้เรียกว่าบวชภาษาคน ตามวิธีโดยวินัย แต่ถ้าบวชเป็นภาษาธรรมก็ต้องจิตใจออกมาเสียจากโลก,ออกมาเสียจากโลก ไม่มีความเป็นฆราวาสเหลืออยู่แม้แต่นิดหนึ่ง ไม่นุ่งห่มอย่างฆราวาส ไม่กินอยู่อย่างฆราวาส ไม่พูดจาอย่างฆราวาส ไม่คิดไม่นึกอย่างฆราวาส แม้แต่ฝันก็ไม่ฝันอย่างฆราวาส ถ้าจิตใจออกมาเสียจากสิ่งเหล่านั้นหมด นั่นแหละเรียกบวชๆ ในภาษาธรรม นี้เป็นได้ยาก ยังต้องรอ บวชในภาษาคนตามวินัยเสร็จแล้วเป็นแล้วตั้งแต่วันนั้นแหละ วันที่บวชจดเวลาไว้น่ะ เป็นบวชแล้วตามวินัย แต่ถ้าบวชหรือเนกขัมมะตามธรรมะนี้ ยังนะ ต้องปฏิบัติถึงขนาดพอสมควรน่ะ ออกมาจากทุกข์ได้ระยะในอัตราพอสมควรจึงจะเรียกว่าบวชๆ นี่บวชโดยทางกายทางเครื่องแบบเสร็จแล้ว แต่บวชทางจิตใจนี้มันก็ยังต้องทำต่อไป เหมือนอย่างว่าเป็นทหาร พอลงชื่อเสร็จสวมเครื่องแบบทหาร ต้องเป็นทหารแหละ แต่ถ้ามันเป็นทหารที่แท้จริงน่ะ มันต้องทำหน้าที่ทหารถึงระดับมันเสียก่อนจึงจะเป็นทหารที่แท้จริง บวชนี้ก็เหมือนกันพอทำพิธีกรรมเสร็จสวมเครื่องแบบเป็นจีวรก็บวช แต่ว่าบวชโดยธรรมะโดยในภาษาธรรมนี้ยังก่อน ต้องปฏิบัติธรรมะ มีวินัยแล้วยังต้องปฏิบัติธรรมะให้ครบถ้วนๆ จึงจะเรียกว่าบวชในภาษาธรรม ใครบวชแล้วเท่าไหร่ก็รู้ของตนเองเถิด คนอื่นจะมาช่วยรู้ให้นั้นไม่ได้หรอก,ไม่ได้หรอก เราเป็นภิกษุในภาษาธรรมเท่าไหร่นี่ รู้ด้วยตนเอง คนอื่นมองไม่เห็น เพราะมันอยู่ในจิตใจ ถ้าบวชโดยวินัยเสร็จแล้วห่มจีวรแล้วแดงหรามาแล้ว เสร็จวันบวชแล้วก็เป็นพระโดยวินัยแล้ว นี่บวชโดยภาษาคนมันก็โดยวินัย บวชโดยภาษาธรรมมันก็โดยพระธรรม ขอให้บวชครบทั้งสองอย่างทุกๆ องค์ ทุกๆ รูป ขอให้มีการบวชครบทั้งสองอย่าง จึงจะเรียกว่าผู้บวชๆ แล้วก็จะได้รับประโยชน์จากการบวช คือออกมาเสียจากทุกข์ ออกมาเสียจากที่ตั้งแห่งความทุกข์ ออกมาเสียจากบ้านเรือนซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ นี้ก็เรียกว่าบวช
เอ้า, ก็มาถึงคำว่าเรียนกันบ้าง,เรียนกันบ้าง เรียนอย่างลูกเด็กๆ ก็เรียกว่าเรียนเหมือนกัน มันเป็นเรื่องจำได้เสียมากกว่า แต่ถ้าว่าเรียนอย่างแท้จริงน่ะ มันจะต้องเข้าใจ ต้องมีความเข้าใจหรือถึงกับเห็นแจ้ง ความรู้ที่ได้จากการฟังน่ะเป็นความรู้เบื้องต้นเรียกว่าเรียนก็ได้ ความรู้ที่เกิดมาจากการคิดให้เข้าใจนี่ ความรู้ที่สูงขึ้นไป ให้รู้จากการคิด ทีนี้ปฏิบัติสมาธิวิปัสสนาจนดับทุกข์ได้ นี่ความรู้ที่เกิดมาจากการเห็นแจ้ง เป็นการเรียนด้วยการปฏิบัติแล้วเห็นแจ้ง เราเรียนแต่ความจำกันนี้มันไม่พอหรอก แต่มันก็จำเป็นที่ต้องเรียนในเบื้องต้นและก็ไปปฏิบัติ เป็นการเรียนอย่างปฏิบัติ แล้วก็จะได้รับผลของการปฏิบัติ เป็นปฏิเวธ ตอนนี้ต้องเห็นแจ้ง เห็นแจ้งแทงตลอดว่าโอ้,มันอนิจจังจริงเว้ย, ทุกขังจริง อนัตตาจริง กูไม่เอากับมึงแล้วโว้ย, นั่นแหละ รู้สึกอย่างนี้จึงจะเรียกว่าเรียนแล้ว เรียนรู้แล้ว เกิดความรู้สึกว่าไม่ไหว ความทุกข์นี่เอากับมันไม่ไหว กิเลสตัณหานี้เอากับมันไม่ไหว การปรุงแต่งไม่รู้จักหยุดนี้เอากับมันไม่ไหว พอกันทีๆ อย่างนี้ก็เรียกว่าเรียนจริง
เราเคยพูดเคยขอร้องกับผู้บวชใหม่ว่าขอให้บวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง รู้จริง, ปฏิบัติจริง รู้จริง แล้วสอนสืบๆ กันไปจริงๆนี่ การเรียนที่สมบูรณ์มันเป็นอย่างนั้น ต้องรู้จนสอนผู้อื่นได้จึงจะเรียกว่าสำเร็จในการเรียน มันอยู่เป็นชั้นๆ นะ เรียนธรรมะเพียงแต่จำได้ นี่ก็ไม่รู้ธรรมะ ต้องรู้ธรรมะ ทีนี้รู้ธรรมะ ก็รู้ รู้ รู้ แต่ไม่มีธรรมะ มันพูดได้เป็นวรรคเป็นเวร มันรู้ธรรมะ มันพูดได้มากมายแต่มันไม่มีตัวธรรมะก็มีน่ะ รู้ธรรมะแต่มันไม่มีตัวธรรมะ นี่ก็ใช้ไม่ได้ มันต้องรู้ธรรมะชนิดที่มีตัวธรรมะด้วย ที่มีตัวธรรมะมันก็มี บางทีก็มีแต่ปาก มีไว้เฉยๆ ไม่ได้ใช้ให้เป็นประโยชน์ ถ้ารู้ธรรมะจริงมีธรรมะจริง ต้องใช้ธรรมะได้ด้วย คือใช้ให้เป็นประโยชน์ที่จะดับทุกข์ได้ด้วย เรียนแต่เก็บไว้ในสมุดนี่ มันก็เรียน จะรู้หรือไม่รู้ก็ไม่ทราบก็จดไว้ในสมุด ถ้ารู้ มันก็มีตัวธรรมะที่เนื้อที่ตัวหรือไม่ นี้มันก็ยังมีปัญหา เพียงแต่รู้แต่ไม่มีอยู่ที่เนื้อที่ตัว มันก็เท่ากับไม่มี ถ้ามีก็ต้องใช้ ใช้ ใช้ธรรมะให้เป็นประโยชน์ นั่นแหละเรียกว่านักเรียนนักปฏิบัติ รู้จริง สำเร็จประโยชน์ได้จริง
อยากจะพูดเลยไปถึงสิ่งที่หวังกันนัก ทรัพย์สมบัติ เงินทอง เกียรติยศ ชื่อเสียง สิ่งเหล่านี้มันอยู่ข้างหน้า หรือมันเคยมีมาแล้วข้างหลังกันแล้วก็ได้ ก็ขอให้รู้ว่ามันเป็นสองชั้นอยู่เหมือนกันแหละ ทรัพย์สมบัติ เกียรติยศ ชื่อเสียง เงินทอง ข้าวของ มันก็มีอยู่เป็นสองชั้น ชั้นภาษาคนก็ตามสมมติในภาษาคน ไม่ค่อยจะสำเร็จประโยชน์แก่จิตใจ และมักจะกัดเจ้าของ ทรัพย์สมบัติชนิดที่ยังกัดเจ้าของนี่ยังไม่ใช่ทรัพย์สมบัติที่แท้จริง เป็นทรัพย์สมบัติอย่างชาวบ้าน มีอย่างชาวบ้าน ในภาษาคนมันมีทรัพย์สมบัติ มันวิตกกังวล มันหวงมันแหน มันเดือดร้อน พอสูญหายไปสักนิดมันก็เดือดร้อน วิตกกังวลว่าจะสูญหายอยู่เสมอ นี่ทรัพย์สมบัติในภาษาคนมันกัดเจ้าของ ทรัพย์สมบัติในภาษาธรรมไม่เป็นอย่างนั้นน่ะ ทรัพย์อย่างเดียวกัน ถ้ามีอย่างธรรมะแล้วก็มีไว้อย่างนั้นแหละ ไม่ต้องกัดเจ้าของ ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่น ไม่มาสุมอยู่ในจิตใจ ไม่กัดเจ้าของ