แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คำว่าสภาวธรรมนี่ ก็ใช้กันในหมู่นักศึกษาธรรมะชั้นที่เรียกว่าสูงกว่าธรรมดา เรียกว่าชั้นปรมัตถ์ทำนองนั้น บางคนก็จะเคยได้ยินมาแล้ว บางคนอาจจะไม่เคยได้ยินเลยก็ได้สำหรับคำว่าสภาวธรรม ถ้าไม่เคยได้ยินไม่เคยรู้เรื่องก็เรียกว่าลำบากหน่อยหรือว่ายังต่ำเกินไป ในหมู่นักศึกษาธรรมะระดับสูงเขาถือว่าเป็นสิ่งธรรมดาที่ต้องรู้จักสิ่งที่เรียกว่าสภาวธรรม ถ้าไม่รู้จักก็เป็นที่เยาะเย้ยหรือเป็นปมด้อยของคนๆ นั้น จะได้รับการดูหมิ่นเหยียดหยามว่ายังไม่รู้อะไรก็ได้ ฉะนั้นจงรู้จักสิ่งที่เรียกว่าสภาวธรรมกันเอาไว้เสีย
สภาวะ นี่ แปลว่าเป็นเอง เป็นอยู่เอง เป็นอยู่ตามธรรมชาติเอง ธรรม แปลว่าสิ่ง สภาวธรรม ก็ว่าธรรมที่เป็นอยู่เองโดยธรรมชาติ จำไว้พูดกันบ้างสิว่าสภาวธรรมๆ ก็คือธรรมที่เป็นอยู่เองทั้งหมด ที่ควรทราบในส่วนลึก หรือว่าเป็นหลักพื้นฐาน พื้นฐานทั่วไปสำหรับจะมาพูดเป็นเรื่องนั้นเรื่องนี้ หรือเอามาผสมกันเข้ากับคำนั้นคำนี้คำนู้น ก็เป็นเรื่องที่ยืดยาวไปได้เหมือนกัน แต่ขอให้รู้ว่ามันเป็นเรื่องพื้นฐาน เช่นเดียวกับเรียนวิทยาศาสตร์ ปัจจุบันนี่ก็เรียนสิ่งที่เรียกว่าธาตุ ธาตุทั้งหลายธาตุทั้งปวงแล้วก็เป็นอะไรก็ได้ต่อไปทำนองนั้น สภาวธรรม ธรรมที่เป็นอยู่เองโดยหลักพื้นฐาน ในทางธรรมก็เรียกได้พูดกันในระดับสูง ในทางโลกก็ใช้ประโยชน์ได้ตามสมควร คือรู้จักสิ่งที่มันจริงอยู่โดยพื้นฐาน
คำแรกของสภาวธรรม คำๆ แรกของเรื่องสภาวธรรม ที่จะเอามาพูดกันก็คือสิ่งที่เรียกว่าธาตุอีกเหมือนกัน ธา-ตุ ธาตุ คือมีหลักที่สำคัญหรือทั่วไปที่สุดว่าทุกสิ่งเป็นธาตุ ไม่มีอะไรที่มิใช่ธาตุ ก็นับไม่ไหว จะนับกันก็นับกันโดยหัวข้อหรือประเภทของมัน แต่ถ้าพูดแล้วก็ทุกสิ่งเป็นธาตุหมดไม่ว่าอะไร ก็มีอยู่ ๒ ประเภท คือสังขตธาตุและอสังขตธาตุ
สังขตธาตุ คือธาตุที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง แล้วก็ตั้งอยู่ด้วยเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ก็เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ธาตุเหล่านี้ที่เรียกว่าสังขตธาตุ ทุกอย่างนอกจากนิพพาน ก็เป็นสังขตธาตุทั้งนั้นแหละ มันมีมาจากเหตุปัจจัย ตั้งอยู่ด้วยเหตุปัจจัย เป็นไปตามเหตุปัจจัย เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย ทั้งหมดนี้เรียกว่าสังขตธาตุ ธาตุที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง จำคำว่าสังขตธาตุไว้ ที่ ๒ คืออสังขตธาตุ ธาตุที่ไม่มีเหตุปัจจัย กล่าวได้ว่าก็มีสิ่งที่เรียกว่านิพพานนั่นแหละเป็นหลักใหญ่ แต่ถ้าดูให้กว้างให้ลึกแล้วก็จะพูดได้อีกว่ากฎหรือสัจจะทั้งหลาย สิ่งที่เรียกว่ากฎนั่นน่ะ กฎๆ เช่น กฎเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กฎอิทัปปัจจยตา กฎอะไรก็ตาม กฎ ตัวกฎตัวสิ่งที่เรียกว่ากฎนี่เป็นอสังขตะได้ ไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง มันจึงไม่เปลี่ยนแปลง ถ้ามองดูอีกอย่างก็คือความว่าง สภาพว่าง ความว่างที่แท้จริง ที่เป็นอยู่ตามธรรมชาตินี่ ก็ไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ถ้ามีเหตุปัจจัยปรุงแต่งแล้วก็ไม่ว่าง ฉะนั้นอสังขตธรรมมันจะเล็งถึงพระนิพพาน กฎทั้งหลาย สัจจะหรือกฎทั้งหลายแล้วก็ความว่างนี่ เท่าที่เห็นกันอยู่ง่ายๆ นี่มีอยู่ ๓ อย่างนี้ เรียกว่าอสังขตธาตุ เกี่ยวกับเราเกี่ยวกับชีวิตจิตใจ เกี่ยวกับคน เกี่ยวกับสัตว์ เกี่ยวกับต้นไม้ เกี่ยวกับแผ่นดิน เกี่ยวกับดินฟ้าอากาศ เกี่ยวกับอะไรทุกอย่างที่เป็นสังขตธาตุน่ะ มันก็เปลี่ยนแปลงไปตามแบบของมัน ส่วนอสังขตธาตุไม่ต้องเปลี่ยนแปลง และถือว่ามิได้มีการเกิดขึ้น แต่มันก็มีอยู่ๆ ตลอดกาล ฉะนั้นจึงไม่มีการดับ ไม่เกิดขึ้นแล้วก็ไม่มีการดับแล้วก็มีอยู่ตลอดเวลา เพราะอะไรไปปรุงแต่งให้เปลี่ยนแปลงก็ไม่ได้ ไม่เกิด ไม่เปลี่ยน ไม่ดับ นี่เป็นตัวสภาวธรรมชั้นลึกชั้นพื้นฐาน มีคำอยู่ ๒ คำ คือสังขตธาตุกับอสังขตธาตุ นี่หมวดหนึ่ง
ทีนี้ก็มาถึงสิ่งที่เรียกว่าอายตนะๆ คำนี้แปลว่าสิ่งที่จิตสัมผัสได้ จิตรู้สึกได้สัมผัสได้ มันก็มี ๒ อย่างอีกนั่นแหละ คืออายตนะประเภทที่ยังเป็นสังขตะ สิ่งที่ยังเป็นสังขตะทั้งหลายเราก็สัมผัสได้ทุกอย่างแหละ ก็เรียกว่าสังขตอายตนะ ทีนี้อายตนะที่เป็นอสังขตะเราก็สัมผัสได้คือพระนิพพานน่ะ คำว่าเราๆ ในที่นี้หมายถึงจิตนะ จิตสัมผัสได้ พระนิพพานจัดเป็นอายตนะอันหนึ่งฝ่ายที่เป็นอสังขตะ อายตนะฝ่ายที่เป็นสังขตะคือมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งเปลี่ยนแปลงได้นี้ ก็เช่นว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นี่อายตนะ ๖ ตัวอายตนะภายนอก ๖ นั่นน่ะ อายตนะที่เป็นสังขตะ ที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง แล้วก็สูงขึ้นไปถึงธรรมะที่เป็นนามธรรม อรูปฌานๆ อรูปฌาน ๔ ดูรายละเอียดเอาเองในตำรา อากาสานัญจายตนะ มันมีคำว่าอายตนะต่อท้ายอยู่แล้ว อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ อายตนะ ๔ นี้ ก็ยังเป็นอายตนสังขตะที่จิตสัมผัสได้ แม้จะลึกละเอียดถึงขนาดนี้ก็ยังเป็นสังขตะคือมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ถ้าพ้นจากนี้ไปก็เป็นอสังขตะคือนิพพาน นิพพานเป็นอายตนะ พระพุทธเจ้าตรัสว่า อตฺถิ ภิกฺขเว ตทายตนํ อตฺถิ แปลว่ามีอยู่ ภิกษุทั้งหลายอายตนะนั้นมีอยู่ ก็บรรยายลักษณะเป็นพระนิพพาน คำว่าอายตนะๆ นี้ก็มีอย่างนี้ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่จิตสัมผัสได้ นี่ดูให้ดี รู้จักสิ่งที่สัมผัสได้ที่เป็นรูปธรรมที่เป็นนามธรรมหรือที่เป็นเหนือรูปธรรมเหนือนามธรรม รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์นี่ ๕ อย่างแรกเป็นรูป อย่างหลังเป็นนาม นามอันละเอียด ๔ อย่างคืออรูปฌานทั้ง ๔
ธรรมดาสิ่งที่เราจะสัมผัสได้ก็มีอย่างนี้แหละ มีเท่านี้แหละ สิ่งที่รู้ได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ๕ อย่าง ทั้งหมดนี้คือโลก โลกไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ ที่เรียกกันว่าโลกๆ ในภาษาธรรมดานั้น มันจะมีอะไรกี่อย่างในโลกนี้ ก็มีแต่ว่าสิ่งที่เราสัมผัสได้ด้วยตา มีกี่ล้านอย่าง สิ่งที่เราสัมผัสได้ด้วยหู มีกี่แสนกี่ล้านอย่าง สิ่งที่เราสัมผัสได้ด้วยจมูก สิ่งสัมผัสด้วยลิ้น สิ่งสัมผัสด้วยผิวหนังผิวกายนี่ ก็มีเยอะแยะไปหมด ถ้าคุณดูอะไรที่จะไม่ใช่สิ่งทั้ง ๕ นี้ ลืมตาขึ้นมาเห็นทุกอย่างนี่ มันก็เป็นอายตนะที่สัมผัสด้วยตา เสียงทุกชนิดสัมผัสด้วยหู กลิ่นทุกชนิดสัมผัสด้วยจมูก รสทุกชนิดสัมผัสด้วยลิ้น
ทีนี้ก็โผฏฐัพพะ ภาษาไทยไม่มีคำแปล ก็แปลว่าสิ่งที่สัมผัสด้วยกายด้วยผิวหนัง ด้วยระบบประสาททางผิวกายหรือผิวหนัง ตาก็มีประสาทตา หูก็มีประสาทหู จมูกก็มีประสาทจมูก ลิ้นก็มีประสาทลิ้น กายก็มีประสาทกาย รับสัมผัสอายตนะทั้งหลายในโลกจะมีกี่ร้อยอย่างพันอย่างหมื่นอย่าง นี่อายตนะ และก็มีธรรมารมณ์ที่ต้องสัมผัสด้วยใจรู้สึกด้วยใจ มันอยู่กับฝ่ายใจ เป็นความรู้สึกที่รู้สึกได้ด้วยใจนี่ ทั้งหมดนี้เป็นสังขตะ อรูปฌานทั้ง ๔ ถ้าอยากรู้ก็ไปทำดู ก็จะรู้ว่าสัมผัสหรือสื่อได้ด้วยจิตอย่างไร และก็นิพพาน เมื่อใดว่างจากกิเลส นิพพานก็ปรากฏออกมา ก็สัมผัสได้ด้วยจิตเหมือนกัน นี่อายตนะ ทั้งหมดมีเท่านี้แหละ ก็มี ๒ พวกนั่นแหละ เป็นสังขตะ มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เป็นอสังขตะ ไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เช่นเดียวกับคำว่าธาตุน่ะ ธาตุ
ทีนี้ก็มาถึงขันธ์ๆ ตามที่รู้กันอยู่แล้วก็รู้แล้วว่าขันธ์ ๕ ขันธ์มี ๕ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ รูปขันธ์น่ะ พวกรูปที่เป็นข้างในก็คือตา ที่เป็นข้างนอกก็คือรูป เสียงที่เป็นข้างในก็คือหูประสาทหู ข้างนอกก็คือเสียงทั้งหลาย ทีนี้เกี่ยวกับกลิ่น ก็คือว่ากลิ่นข้างนอก ข้างในก็คือประสาทจมูกสำหรับรับกลิ่น ที่เป็นรส ข้างในก็คือประสาทลิ้นที่จะรับรสที่มาถูกลิ้น กายก็มีประสาทกายและก็สิ่งที่จะมาถูกกาย เหล่านี้ก็เป็นรูปๆ เมื่อเป็นฝ่ายในก็เรียกอีกทีหนึ่งว่าอายตนะฝ่ายใน ที่เป็นฝ่ายนอกก็เรียกว่าอายตนะฝ่ายนอก อายตนะฝ่ายใน ก็คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะฝ่ายนอก ก็คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มีเป็น ๖ คู่ เป็นคู่ๆ คู่รวมกันไป เมื่อไหร่อายตนะภายใน เช่น ตาเป็นต้น ถึงกันเข้ากับอายตนะภายนอก เช่น รูปเป็นต้น นี้ก็เรียกว่าทำหน้าที่ ก็เกิดรูปขันธ์ๆ อายตนะภายในถึงกันเข้ากับอายตนะภายนอก คือรูปขันธ์ภายในถึงกันเข้ากับรูปขันธ์ภายนอก รูปขันธ์ทำหน้าที่อย่างนี้ก็เรียกว่ามันเกิดแล้ว รูปขันธ์ภายในกับภายนอกถึงกันเข้า ก็เกิดวิญญาณ เกิดจักษุวิญญาณ ตาเห็นรูปก็เกิดจักษุวิญญาณ นี้ก็เป็นวิญญาณขันธ์ทีแรก แล้วตากับรูปกับวิญญาณทางตา เป็น ๓ อย่างด้วยกันน่ะ กำลังทำงาน ด้วยกันอยู่นี่เรียกว่าผัสสะๆ เมื่อมีผัสสะแล้ว ก็ต้องมีเวทนาๆ นี่ก็เวทนาขันธ์ รู้สึกสุขทุกข์ไม่สุขไม่ทุกข์ทางตานั่นแหละเรียกว่าเวทนา ก็เวทนาขันธ์ ก็มีทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเหมือนกัน เวทนาเกิดจากสุขสัมผัส จากโสตสัมผัส เกิดจากฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส นี่เวทนาขันธ์น่ะ เวทนาขันธ์เป็นเวทนาสมบูรณ์ขึ้นมาแล้ว เกิดความสำคัญมั่นหมายในเวทนาขันธ์นั้นว่าเป็นอย่างไรนี่ เนื่องมาตั้งแต่จำได้หมายรู้ว่ามันเป็นอะไร แล้วมันมีรสชาติอย่างไรรู้สึกอย่างไร สำคัญมั่นหมายว่าเป็นอย่างไร เช่น เห็นทางตาแล้ว รูปนั้นน่ะเห็นแล้ว มีเวทนาเกี่ยวกับรูปนั้นแล้ว ก็สำคัญมั่นหมายว่ารูปอะไร เป็นรูปน่ารักไม่น่ารัก น่าพอใจไม่น่าพอใจ สำคัญมั่นหมายเป็นตัวเราเป็นของเรา สัญญา มั่นหมายในสิ่งนั้นหรือในความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากสิ่งนั้น เช่นว่าเป็นสุขเป็นทุกข์บ้าง ไม่ใช่เพียงแต่ความจำได้อย่างเดียว หลังจากความจำได้แล้วมันมีความหมาย เพียงแต่ความจำมันยังไม่ทำอะไรได้ แต่มันมีความหมายขึ้นมา ความสำคัญมั่นหมายนี้เรียกว่าสัญญาๆ เนื่องจากเวทนา เนื่องจากเวทนาขันธ์ก็เกิดสัญญาขันธ์ มีสัญญาขันธ์สำคัญมั่นหมายอย่างไรแล้วก็เกิดความคิดเกี่ยวกับสิ่งนั้นเรียกว่าสังขารขันธ์ๆ เช่นว่า มันสวยมันน่ารัก สัญญาว่าน่ารัก มันก็มีความคิดที่ว่าจะเอาจะหา จะมี จะยึดครอง จะอะไร นี่ความคิด เป็นการกระทำกรรมขึ้นมาทางกาย ทางวาจา ทางใจอะไรก็แล้วแต่ นี่เรียกว่าสังขารขันธ์
ส่วนวิญญาณขันธ์นั้นมันเกิดตั้งแต่ทีแรกนั่นน่ะ ครั้งหนึ่งเมื่ออายตนะพบกันก็เกิดวิญญาณรู้แจ้ง แล้วพออารมณ์นั้นเข้ามาเป็นภายใน ก็มโนวิญญาณก็เกิดอีกทีหนึ่ง ทำงานเสร็จแล้วตั้ง ๒ ครั้ง และอาจจะเกิดกี่ครั้งก็ได้วิญญาณขันธ์น่ะ เพียงแต่คือความรู้แจ้งในอารมณ์นั้นๆ ก็แล้วกัน เกิดกี่ครั้งก็ได้ แปลกที่ว่าเอามาไว้รั้งท้าย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ วิญญาณน่ะเอามาไว้รั้งท้ายอีกทีหนึ่ง เกิดทีแรกเลย เมื่อตากระทบรูปก็เกิดจักษุวิญญาณอย่างนี้เป็นต้น สัมผัสเป็นรูปอะไรแล้ว เห็นรูปอะไรแล้วก็สัมผัสในความหมายของมันอีกทีหนึ่ง
จะยกตัวอย่างเรื่องตา อีกนั่นแหละ ว่ามันจะเกิดวิญญาณได้ ๒ ครั้ง ๓ ครั้งอย่างไร ตาเห็นรูป สมมติว่าเห็นดอกกุหลาบ มันก็วิญญาณมันก็รู้สึกแต่เพียงว่าสีอย่างนั้น คลื่นแสงที่ส่งมาจากดอกกุหลาบทำให้ตาเห็นเป็นสีอะไร กว้างยาวอย่างไร รูปร่างอย่างไร เพียงแต่รู้สี หรือจะเรียกภาษาวิทยาศาสตร์ว่าคลื่นแสง,คลื่นของแสง ในภาษาบาลีก็เรียกว่าคลื่นแสงเหมือนกันแหละ คำนี้แปลได้ วณฺณนิภา, วณฺณนิภา ซ่านออกแห่งสี วณฺณนิภา ตา จักษุวิญญาณนะ รู้ได้แต่เพียงว่าสีนั้นรูปร่างอย่างนั้นๆ และยังไม่รู้ว่าอะไร ต้องสัมผัสด้วยมโนวิญญาณอีกทีหนึ่ง จึงจะรู้ โอ้,อย่างนี้เคยเห็นมาหลายหนแล้ว จำได้อย่างนี้ๆ และก็ได้ยินได้ฟังมาหลายหนแล้วว่าเขาเรียกว่าดอกกุหลาบ ครั้งแรกตามันจะรู้แต่เพียงสีรูปพรรณสัณฐานเท่านั้น ไม่รู้ว่าอะไร นี่จักษุวิญญาณทำหน้าที่ไปทีหนึ่งก่อน และต่อมามโนวิญญาณจึงจะทำหน้าที่อีกทีหนึ่ง ทำให้รู้ว่าเรียกว่าดอกกุหลาบหรือว่าแล้วแต่อะไร อย่างนี้ๆ เคยจำได้ว่าเรียกว่าอะไร แล้วก็รู้ถึงคุณค่าความหมายหอมหวนยวนใจอะไรนี่ มันก็รู้ เป็นการรู้จักลึกเข้าไปถึงคุณค่าและความหมาย นี่มโนวิญญาณก็ทำหน้าที่อีกทีหนึ่ง แล้วต่อไปถ้าเกิดเวทนา ยินดียินร้าย พอใจไม่พอใจ มโนวิญญาณก็ทำความรู้สึกในเวทนานั้นอีกทีหนึ่ง นี่วิญญาณน่ะ มโนวิญญาณนี่ทำหน้าที่ ๒ หน ๓ หน ฉะนั้นวิญญาณนี่ทำหน้าที่หลายหนอย่างนี้ เอามันไปไว้สุดท้ายเลย เป็นที่ ๕ ไปเลย นี่สภาวธรรมที่แท้จริงเป็นอย่างนี้ เรียนจากหนังสือไม่รู้หรอก เรียนจากตัวจริงสิ
ทบทวนอีกทีหนึ่งนะ ตากับรูปข้างนอกถึงกันเข้าก็เกิดจักษุวิญญาณ รู้แจ้งทางตา ก็เพียงแต่รู้แจ้งสีสันวรรณะขนาดเท่านั้น ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร ทีนี้ต่อมามโนวิญญาณรู้แจ้งในสิ่งที่เรียกว่าเป็นสีอย่างนั้นรูปร่างอย่างนั้นขนาดอย่างนั้น มีสัญญาเกิดขึ้นช่วย ก็รู้ว่าอย่างนี้เราเคยเห็นหลายหนแล้ว เป็นอย่างนี้ทุกที แล้วก็รู้ว่าโอ้,นี่มันเรียกกันว่าดอกกุหลาบนี่ แล้วมันยังรู้ลึกไปถึงความหมายของมันมีคุณค่าอย่างไร หอมหรือแพงหรือเป็นที่ต้องการหรืออะไรก็แล้วแต่ อ๊ะ,พอพูดว่าดอกกุหลาบนี่ ในใจก็มันนึกหอมขึ้นมาได้ นี่เป็นพวกมโนวิญญาณ มโนวิญญาณมันทำหน้าที่ได้อีกทีหนึ่งทำให้รู้ รู้ไปถึงว่ารูปนั่นคือรูปอะไร มีคุณค่าอย่างไร ถ้าเพียงจักษุวิญญาณรู้แต่เพียงว่าสีอะไร ขนาดอย่างไร รูปร่างอย่างไร ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร มโนวิญญาณต้องช่วยอีกทีหนึ่ง จึงจะรู้ว่าโอ้,อย่างนี้เรียกว่าดอกกุหลาบ อย่างนี้เรียกว่าขี้หมา อย่างนี้แล้วแต่มันจะเป็นเรื่องอะไร แล้วแต่มันจะได้สัมผัสกับอะไร ฉะนั้นคุณจำให้แม่น อย่างไรเรียกว่าตา อย่างไรเรียกว่ารูป อย่างไรเรียกว่าวิญญาณ ในแต่ละวันๆ มันเกิดขึ้นกี่ครั้งกี่สิบครั้ง ทางตาเกิดอย่างนี้ ทางหูก็เหมือนกันอีก
เอ้า,พูดกันทางหูบ้าง หู มีประสาทหู หรือเสียงคือคลื่นเสียงที่วิ่งเข้ามาหาหู เมื่อหูกับสิ่งที่เรียกว่าคลื่นเสียงวิ่งเข้ามากระทบหู มันก็รู้จักแต่ว่าคลื่นเสียงขนาดนั้นเท่านั้นแหละกระทบหู ยังไม่รู้ว่าเสียงอะไร นี่โสตวิญญาณทำได้เพียงเท่านี้ ต่อเมื่อมโนวิญญาณเข้ามากระทำหน้าที่ซ้ำลงไปอีก จึงค่อยรู้โอ้,เสียงขนาดนี้เราเคยได้ยิน เคยได้กี่ครั้งๆ มาแล้ว เรารู้จักสมมติกันว่าเสียงอะไร เช่น เสียงฟ้าผ่าหรือว่าเสียงนกร้องหรือว่าเสียงคลื่น เสียงลม เสียงอะไรก็ตามนั่นน่ะ มันต้องสัมผัส ๒ ที สัมผัสด้วยวิญญาณชื่อนั้นๆ อีกที แล้วสัมผัสด้วยมโนวิญญานอีกทีหนึ่ง
ทีนี้มาถึงจมูกบ้าง เอ้า,มันก็มีประสาทที่จมูก แล้วกลิ่นมันลอยมากระทบประสาทที่จมูก มันก็รู้เพียงว่ามีความเข้มข้นของกลิ่นอย่างไรเท่านั้นแหละ รู้ขนาดเข้มข้นของกลิ่นอย่างไรเท่านั้นแหละ ยังไม่รู้ว่ากลิ่นอะไรหรอก กลิ่นนี่มันไม่มีอะไรหรอก มันมีเพียงอะไร ไอระเหย,น้ำมันระเหย ถ้ามันจะมีกลิ่นมากระทบจมูกได้ สิ่งนั้นต้องมีน้ำมันระเหย ภาษาวิทยาศาสตร์ที่ใช้กันอยู่เรียกว่าโวเลไตล์ (Volatile oil ) เป็นโวเลไตล์ กลิ่นระเหย,น้ำมันระเหย (Volatile) มันมากระทบที่ประสาทจมูก ถ้ามากระทบมาก มีขนาดกว้างมันก็เป็นรู้สึกอีกอย่าง ไม่มากรู้สึกอีกอย่าง น้อยที่สุดรู้สึกอีกอย่าง ฉะนั้นประสาทจมูกมันรับเอาไว้ในปริมาณที่ไม่เท่ากัน มันจึงรู้สึกต่างๆ กัน นี่เป็นความหลอกลวงอย่างยิ่ง รู้กันไว้เถิดว่าเป็นเพียงเข้มข้นหรือเจือจางเท่านั้นของกลิ่นนั้น กลิ่นเหม็นฉุนกึ๊กเพราะมันมามาก โวเลไตล์มามาก ฉุน แต่ถ้าว่ามันจางออกๆ มันก็เปลี่ยนเป็นกลิ่นที่ไม่ใช่ฉุนไม่ใช่เหม็น เกือบหอมน่ะ ถ้ามันจางลงไปอีกทางหนึ่งก็ถึงขนาดที่เรียกว่าหอม จางต่อไปอีกก็เรียกว่าหอมน้อยหรือไม่หอมไปเลย น้ำหอมที่เราเอามาใส่เข้าที่จมูกโดยตรง มันฉุนจนไม่หอม ต่อเมื่อมันจางพอสมควรจึงจะหอม ใบไม้อย่างใบที่เขารำคาญกันนักที่ทำให้ไร่นารกเรียกว่าอะไร เอามาขยี้ดมแล้วมันเหม็นน่ะ แต่ถ้าเอาไว้ห่างๆไกลหน่อยก็หอม ทีนี้อุจจาระเต็มที่ ดมเต็มที่ จะรู้สึกเหม็น แต่ถ้าให้มันจาง จางไปมากๆ มันก็จะหายเหม็น มีลักษณะเป็นหอม กลิ่นศพที่เหม็นจึ๊ก ถ้าให้มันจางๆ จางไปจนถึงระดับหนึ่งจะรู้สึกหอม กลิ่นกะปิเอามาดมเต็มที่ เหม็น แต่ให้มันจางๆ จางไปในระดับหนึ่ง มันจะมีความรู้สึกที่เรียกกันว่าหอมหรือน่ากิน
เรื่องหอมเรื่องเหม็นนี่มันหลอกนะ คือความมากหรือน้อย ความเข้มข้นหรือเจือจางของน้ำมันโวเลไตล์ที่มากระทบที่จมูก เรียกว่าเราถูกหลอกตลอดเวลา ถูกหลอกให้เป็นหอมบ้าง ถูกหลอกให้เป็นเหม็น ที่จริงขนาดต่างๆ กันของไอระเหยที่มากระทบที่จมูก
ทางจมูกแล้วก็ทางลิ้นบ้าง ลิ้นมีประสาทรับสัมผัสเต็มไปทั้งลิ้น ถ้ารับกันเป็นอันมาก ส่วนมากก็รสอย่างหนึ่ง ไม่มากก็รสอีกอย่างหนึ่ง น้อยก็รสอีกอย่างหนึ่ง รสมันจึงต่างๆ กัน หวานน่ะ ถ้ามันเข้มข้นมาก มันก็กลายเป็นขม ขม ถ้าจางออกๆ มันก็กลายเป็นหวาน สุดฝ่ายโน้นกับสุดฝ่ายนี้ น้ำตาลมาทำให้เข้มมากเข้า เข้มมากเข้าก็กลายเป็นขม น้ำตาลที่ขม ถ้ามันจางออก ละลายจางออกๆ ก็รู้สึกหวาน เรื่องหลอกอย่างนี้ แล้วแต่ว่ามันกระทบกับระบบประสาทจำนวนประสาทที่ลิ้นมากหรือน้อยเท่าไหร่นั่นน่ะ
ทีนี้ผิวหนังกันบ้าง ผิวกายนี่ มีอะไรมากระทบ ถ้ามันเป็นของแข็ง มันสัมผัสระบบประสาทที่ผิวหนังได้เป็นส่วนน้อย ถ้ามันเป็นของแข็งน่ะมันจะสัมผัสเข้าที่ผิวหนังผิวเผินหรือเป็นส่วนน้อยรู้สึกว่าแข็ง แต่ถ้าของนั้นอ่อนนิ่ม อ่อนนิ่มเลย มันจะสัมผัสลึกเข้าไปถึงส่วนที่ของแข็งเข้าไปไม่ถึง แต่ถ้าเนื้อละเอียดอ่อนและเปียกด้วยแล้ว ก็สัมผัสได้ลึก รู้สึกสัมผัสได้ลึกซึ้ง ของหยาบๆ ของแข็งมันถูกระบบประสาทที่ผิวกายน้อยกว่านี่ ถ้ามันละเอียดอ่อนมันนิ่ม มันก็ประทับเข้าไปมันรู้สึกได้มากกว่า ถ้ายิ่งทำให้มันเปียกเข้าด้วยแล้วมันยิ่งรู้สึกได้มาก ความนิ่มนวลหรือความกระด้างที่ผิวกายที่กระทบกัน เป็นความนิ่มนวลหรือเป็นความกระด้างนั่นน่ะ เป็นความหลอกของสิ่งที่เข้ามาสัมผัสที่ว่ามันสัมผัสระบบประสาทที่ผิวหนังได้มากน้อยเท่าไหร่ คุณดูรู้ได้ หนังที่แข็งเหมือนฝ่าเท้า มันรู้สัมผัสได้น้อย หนังที่แขนที่ขาสัมผัสได้มาก และถ้าตรงที่เปียกชื้นที่ละเอียดอ่อนยิ่งรู้สึกได้มากสัมผัสได้มาก เป็นนิ่มนวลที่สุด เรียกร้องความรู้สึกได้มากที่สุด ความนิ่มนวลหรือความอ่อนความแข็งกระด้างนี่ เป็นเรื่องหลอกทั้งนั้นแหละ เป็นความต่างกันของสิ่งที่มันมากระทบกาย กระทบระบบประสาท
ขอให้จำไว้สักคำหนึ่งว่าสิ่งที่เรารู้สึก ไม่ได้จริงตามที่รู้สึก ถูกหลอกตลอดเวลา ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถูกหลอกให้รู้สึกเป็นนั่นเป็นนี่ หอมหวาน อร่อย นิ่มนวลอะไรก็แล้วแต่ ที่จริงมันเป็นเรื่องหลอก เป็นเรื่องขนาดต่างๆ ที่ระบบประสาทรับเอามาได้ สิ่งที่มากระทบเรา เราไม่ได้รู้สึกมันอย่างแท้จริงถูกต้องทั้งหมด เราถูกหลอกอยู่เสมอ ดังนั้นจึงถูกหลอกให้รักของที่สวยที่ดูสวย รักเสียงที่ไพเราะ รักกลิ่นที่หอมหวล รักรสที่หวานอร่อย รักสัมผัสที่นิ่มนวลที่สุด เป็นเรื่องถูกหลอกตามความมากน้อยของสิ่งที่ระบบประสาทมันสัมผัสได้ นี่เรื่องตา หู จมูก ลิ้น กายเป็นอย่างนี้ เรื่องทางจิตทางมโน ก็คือว่าถ้ามันสัมผัสได้ลึก มันก็เป็นอย่างหนึ่ง สัมผัสได้น้อยรู้สึกได้น้อยก็เป็นไปอีกอย่างหนึ่ง สิ่งใดที่มันให้ความรู้สึกกับจิตใจมากก็เป็นอีกอย่าง ให้ความรู้สึกน้อยก็อีกอย่าง คล้ายๆ กับคลื่นเสียงคลื่นแสงเหมือนกันแหละ แต่เราไม่เรียกกันอย่างนั้น ก็เป็นเรื่องหลอกอีกเหมือนกัน จิตจะไหว ไหวไปมากหรือไหวไปน้อยก็แล้วแต่ความเข้มข้นของอารมณ์ที่มันเกิดขึ้นในจิต คุณจะเรียนเรื่องนี้ในฐานะเป็นวิทยาศาสตร์อันลึกซึ้งทางธรรมะก็ได้ หรือจะเรียนมันในฐานะเป็นวิทยาศาสตร์ธรรมดาๆ ในโลกนี้ก็ได้ มันมีอย่างนี้ คุณไปเรียนเอาเอง ไปสังเกตเอาเองเถิด เรื่องรูป เรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรส เรื่องโผฏฐัพพะ เรื่องธรรมารมณ์ แล้วก็จะรู้เรื่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะภายในดีขึ้น และก็จะรู้เรื่องรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ คืออายตนะภายนอกดีขึ้น และเมื่ออายตนะภายใน-ภายนอกมาถึงกันเข้าเกิดวิญญาณขันธ์ได้อย่างไร เป็นผัสสะแล้วเกิดเวทนาขันธ์ได้อย่างไร เกิดเวทนาขันธ์แล้วมันทำให้เกิดสัญญาขันธ์สำคัญมั่นหมายได้อย่างไร เกิดสัญญาขันธ์สำคัญมั่นหมายแล้วมันทำให้เกิดสังขารขันธ์คิดนึกๆ เกี่ยวกับเรื่องนั้นจนเกิดการกระทำกรรมขึ้นมาได้อย่างไร
ครบ ๕ ขันธ์แล้วใช่ไหม รูปขันธ์ เมื่อตัวอายตนะนอก-ใน ถึงกันเข้า นั่นแหละเรียกว่ามันเกิด ถ้ามันไม่ได้ทำหน้าที่เรียกว่ายังไม่เกิด ภาษาธรรมะนี่แปลก เมื่อยังไม่ได้ทำหน้าที่ถือว่ายังไม่เกิด เช่นเมื่อตา ถ้าไม่ได้ทำหน้าที่ดู ก็ไม่เรียกว่าตาเกิด มันทำหน้าที่ก็ตาเกิด เมื่อหูได้ยินเสียงก็เรียกว่าหูเกิด จมูกได้กลิ่นก็เรียกว่าจมูกเกิด ธรรมดาถือว่าไม่ได้เกิด มันก็ตายด้านอยู่ ต่อเมื่อลุกขึ้นทำหน้าที่ใดๆ จึงเรียกว่าเกิด เพราะฉะนั้นจึงมีการเกิดของตา ของหู ของจมูก ของลิ้น ของกาย ของใจ เมื่อมันทำหน้าที่ เมื่อมันไม่ทำหน้าที่ก็คือมันดับ เกิดดับทางภาษาธรรมะก็หมายความอย่างนี้ เรามีตาหูจมูกลิ้นกายใจอยู่ตลอดเวลา แต่มันไม่ทำหน้าที่ เขาเรียกว่ามันดับอยู่ เงียบอยู่ ตายด้านอยู่ เมื่อมันลุกขึ้นมาทำหน้าที่ก็เรียกว่ามันเกิด ชาวบ้านคงฟังไม่ถูกหรอก พูดว่าตาเกิด หูเกิด จมูกเกิด ลิ้นเกิด เขาจะเถียงว่า เอ้า,มันก็เกิดอยู่ตลอดเวลาแหละ เกิดอะไรกันเล่า ภาษาธรรมะไม่ถือว่าเกิดถ้ามันไม่ทำหน้าที่ ต่อเมื่อมันทำหน้าที่จึงเรียกว่ามันเกิดนั่น ฉะนั้นขันธ์ๆ นี่มันจึงเกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ เดี๋ยวเกิดเดี๋ยวดับ เดี๋ยวขันธ์นั้นเกิด เดี๋ยวขันธ์นี้ดับ ไม่อาจจะเกิดพร้อมกันได้ แต่ก็มีพวกนักธรรมตามศาลาวัด เขาถือว่ามันเกิดอยู่พร้อมกันทั้ง ๕ ก็มี ผมเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ ถ้าเมื่อบัญญัติกันลงไปอย่างนี้แล้ว รูปขันธ์เกิดเมื่ออายตนะนอก-ในนี้มันทำหน้าที่ วิญญาณขันธ์เกิดเมื่ออายตนะนอก-ในมันทำหน้าที่ แล้วก็เป็นผัสสะด้วย ผัสสะแล้วก็เวทนาขันธ์จึงจะเกิด เวทนาขันธ์เกิดแล้วมันจึงจะสัญญาสำคัญมั่นหมายลงไปที่เวทนาขันธ์นั้นว่าอย่างไร ว่าน่ารักน่าพอใจ เมื่อเวทนาจากผู้หญิง เมื่อเวทนาจากผู้ชาย เวทนาอะไรที่มันมีความหมายลึกขึ้นไปอีกนี่ สัญญามั่นหมายอย่างนี้แล้วมันก็คิด คิดที่จะเอา จะได้ จะมี จะยึดครอง จะทะนุถนอม จะหามาไว้ให้มาก ไม่อยากให้ตายไปเสียอย่างนี้ นี่เป็นสังขารขันธ์ คิดนึกได้ร้อยแปดอย่าง ความจริงมีอยู่อย่างนี้ ถ้าคุณอยากรู้จริง คุณต้องคอยสังเกต การคอยสังเกตว่าขันธ์อะไรเกิดขึ้น ขันธ์อะไรเกิดขึ้นอย่างไร เมื่อไหร่ เท่าไหร่ นี้เป็นวิปัสสนาชั้นสูงสุด เป็นปัญญาชั้นสูงสุดเลย วิปัสสนาชั้นสูงสุดคือการคอยกำหนดการเกิดดับแห่งขันธ์ แต่ยังไม่มากเท่ากับว่าแห่งอุปาทานขันธ์ เดี๋ยวจะพูด
เพียงแต่คุณรู้ว่ารูปขันธ์เกิดหรือยัง เกิดแล้วดับหรือยังนี่ แล้วเวทนาขันธ์เกิดหรือยัง สังขารขันธ์เกิดหรือยัง อยู่เท่าไหร่ สังขารขันธ์เกิดหรือยัง อยู่เท่าไหร่ วิญญาณขันธ์เกิดหรือยัง เกิดแล้วอยู่เท่าไหร่นี่ นั่งคอยกำหนดอย่างนี้ เป็นการศึกษาอย่างนี้ นั่นคือทำวิปัสสนาชั้นสูง ชั้นสูงเลย พอไปกำหนดเข้าที่นั่น จิตก็เป็นสมาธิเองแหละ ขอให้สังเกตกำหนดให้ดีเท่านั้น ตั้งใจที่จะกำหนดเท่านั้น มันเป็นสมาธิพอที่จะกำหนดแล้วกำหนดไป ก็ไปพิจารณาว่า เอ้า,นี้เกิด นี้ดับ นี้เกิดนี้ดับ นี้รูปขันธ์เกิด นี้รูปขันธ์ดับ นี้เวทนาขันธ์เกิด นี้เวทนาขันธ์ดับ นี้สัญญาขันธ์เกิด สัญญาขันธ์ดับ สังขารขันธ์เกิด สังขารขันธ์ดับ วิญญาณขันธ์เกิด วิญญาณขันธ์ดับ นี่รู้จักขันธ์ทั้ง ๕ ขันธ์ทั้ง ๕ ตามธรรมดา ที่เกิดอยู่ตามธรรมดา
ทีนี้มันก็มีลึกไปกว่านั้นอีก ว่ามันเกิดขึ้นมาแล้วมันมีความยึดถือด้วยอุปาทานหรือไม่ มีความโง่มีอวิชชา ทำให้เกิดยึดถือหมายมั่นว่าตาของกู ก็เกิดยึดถือรูปขันธ์เป็นของกู พอวิญญาณขันธ์เกิดขึ้นจากตากระทบรูป ก็วิญญาณขันธ์เป็นตัวกูเป็นของกู พอเกิดเวทนาขันธ์ ก็โอ้,เวทนาขันธ์ของกู หรือเป็นตัวกูในบางที ทีนี้พอสัญญาขันธ์ก็โอ้,กูนี่ กูสำคัญมั่นหมายลงไปว่าอย่างนั้น ผู้สำคัญมั่นหมายอย่างนั้นน่ะ นี่ยึดสัญญาขันธ์เป็นตัวตน คิดนึกจะทำอย่างไรเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้น เอ้า,ก็มีตัวกู กูคิดนึก กูต้องการ กูกระทำ กูดิ้นรนขวนขวาย นี่ยึดสังขารขันธ์เป็นตัวตน ทั้ง ๕ ขันธ์นั่นแหละมีส่วนที่จะถูกหมายมั่นว่าเป็นตัวกูบ้าง เป็นของกูบ้าง ถ้าอย่างนี้ไม่เรียกว่าขันธ์เฉยๆ แต่เรียกว่าอุปาทานขันธ์ ที่เคยเป็นรูปขันธ์เฉยๆ มากลายเป็นรูปูปาทานขันธ์ ที่เคยเป็นเวทนาขันธ์เฉยๆ มากลายเป็นเวทนูปาทานขันธ์ ที่เป็นสัญญาขันธ์เฉยๆ ก็เป็นสัญญูปาทานขันธ์ ที่เคยเป็นสังขารขันธ์เฉยๆ มากลายเป็นสังขารูปาทานขันธ์ ที่เป็นวิญญาณขันธ์เฉยๆ มากลายเป็นวิญญาณูปาทานขันธ์ มันต่างกันแล้ว ขันธ์เหล่านั้นเกิดอยู่ตามธรรมชาติ เป็นขันธ์ล้วนๆ แต่เมื่อใดอุปาทานเข้าไปจับฉวยเอาเป็นตัวกูเป็นของกูด้วยอำนาจของอวิชชา ขันธ์นั้นก็กลายเป็นอุปาทานขันธ์ นี่แหละคือตัวทุกข์ เมื่อใดมีอุปาทานขันธ์เมื่อนั้นเป็นทุกข์ สงฺขิตฺเตน ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา ทุกฺขา ทั้งพระทั้งชีทั้งเณร นั่งสวดมนต์กันอยู่ทุกวัน แต่ว่าแต่ปากเป็นนกแก้วนกขุนทอง ไม่รู้ว่าอุปาทานขันธ์เป็นอย่างไร สงฺขิตฺเตน โดยย่อโดยสรุปแล้ว ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา ทุกฺขา อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นตัวทุกข์ ถ้าไม่เกิดเป็นอุปาทานขึ้นมายังไม่ทุกข์ คือยังไม่กัดหัวใจ ถ้ามันเป็นเพียงขันธ์เฉยๆ เช่นรูปขันธ์เฉยๆ เวทนาขันธ์เฉยๆ นั้นมันเพียงแต่มีลักษณะแห่งความทุกข์ ยังไม่เจ็บปวดหรอก มันเป็นทุกขลักษณะ เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขารล้วนๆ มีทุกขลักษณะ มีลักษณะแห่งความทุกข์อยู่ที่นั่น แต่ยังไม่กัดให้เจ็บปวด พอเมื่อใดอวิชชาโง่ๆ เข้าไปเอายึดมั่นถือมั่นมาเป็นตัวตนเรียกว่าอุปาทานแล้ว ตอนนี้ไปยึดมั่นอะไร สิ่งนั้นแหละมันกัดแหละ เป็นของหนักขึ้นมาทันที เพราะมีความหมายว่าตัวกู ตัวตนของกูหรือของตนนั่น มันจะเป็นทุกข์ต่อเมื่อมันเป็นอุปาทานขันธ์ กัดเจ็บปวด ถ้ามันเป็นเพียงขันธ์เฉยๆ ยังไม่กัด เพียงแต่ว่ามีลักษณะแห่งความทุข์ มีทุกขลักษณะอยู่ที่นั่นพอสังกตเห็น เป็นทุกขลักษณะนะ ไม่ใช่ทุกขเวทนา พอมีอุปาทานขันธ์ เป็นอุปาทานขันธ์แล้วมันเป็นเวทนากัดเจ็บปวดนั่นน่ะ ในบทว่า สงฺขิตฺเตน ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา ทุกฺขา โดยสรุปแล้ว เบญจขันธ์ที่มีอุปาทานยึดครอง ขันธ์ที่อุปาทานยึดครองทั้ง ๕ ขันธ์นั่นมันเป็นตัวทุกข์
เข้าใจหรือยังล่ะ ว่าขันธ์มีอยู่ ๒ ชนิด คือขันธ์ที่ไม่ถูกอุปาทานยึดครอง เรียกว่าขันธ์ล้วนๆ ถ้าขันธ์มีอุปาทานยึดครองเรียกว่าอุปาทานขันธ์ นี้เป็นตัวทุกข์ ขันธ์เฉยๆไม่เป็นทุกข์ แต่มีลักษณะแห่งความทุกข์คือเปลี่ยนแปลงเป็นอนิจจัง นั่นแหละเป็นลักษณะแห่งความทุกข์ แต่ยังไม่กัด มันจะกัดต่อเมื่อเป็นอุปาทานขันธ์ มีการยึดว่าตัวกูว่าของกู นี้ขันธ์ ๕ มี ๒ ชนิด ยังไม่ยึดถือก็เป็นขันธ์ ๕ พอยึดถือก็เป็นอุปาทานขันธ์ ๕ ก็เป็นตัวทุกข์ เป็นวิทยาศาสตร์อย่างยิ่งพอที่จะไปอวดนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกได้ว่าเรามีหลักอย่างนี้ ความทุกข์เกิดต่อเมื่อมีอุปาทานในขันธ์ทั้ง ๕ นี่ขันธ์และอุปาทานขันธ์ จดให้ดี เข้าใจให้ดี ไปทบทวนให้ดีจนเข้าใจจนเห็นชัด เป็นวิปัสสนาสูงสุด ทำไปเถิด จะพบอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะถึงสิ่งสูงสุดที่เรียกว่านิพพาน นิพพานมาถึงแล้วทีนี้ นิพพานมาถึงแล้ว เมื่อมีอุปาทานขันธ์เป็นทุกข์ เหมือนกับไฟไหม้หรือว่าถูกเชือดเฉือนถูกตบตีแล้วก็ตายแหละ ก็หมายความว่าอุปาทานขันธ์ซึ่งเป็นตัวกิเลสน่ะ มันเข้าไปยึดครอง กิเลสมันทำงาน มันทำหน้าที่ เป็นตัวทุกข์ๆ ถ้าพอเอากิเลสหรืออุปาทานนี้ออกไปเสีย ขันธ์มันก็ไม่เป็นทุกข์,ขันธ์มันก็ไม่เป็นทุกข์ ถ้าเมื่อใดจิตไม่ได้ไปจับฉวยอะไรที่ไหน ไม่มีอุปาทานขันธ์ในสิ่งใด จิตมันว่างจากกิเลสที่เข้ามาเผาลนรบกวนแล้วนี่ นี่เรียกว่านิพพาน อุปาทานขันธ์ดับไป เหลือแต่ขันธ์ล้วนๆ และไม่เป็นที่ตั้งแห่งกิเลสใดๆ สภาพนั้นเรียกว่านิพพาน แปลว่าเย็นคือไม่ร้อนๆ เพราะไม่มีไฟคือกิเลสเข้ามาเกี่ยวข้อง นิพพานจริงก็เรียกว่านิพพาน นิพพานชั่วคราวก็จะเรียกว่านิพพุติๆ ความหมายเดียวกันแหละ นิพพุติก็แปลว่าเย็น นิพพานก็แปลว่าเย็น ถ้ามันเย็นจริง เย็นถึงขนาดเรียกว่านิพพาน ถ้ามันขนาดน้อยๆ หรือมันชั่วคราวเรียกว่านิพพุติ ก็เรียกว่านิพพานเหมือนกันแหละ แต่ว่านิพพานชั่วคราว, นิพพานน้อยๆ, นิพพานตัวอย่าง, นิพพานบางเวลา เมื่อใดเราไม่มีกิเลสเกิดขึ้นในใจแต่ประการใด เวลานั้นมีนิพพานอย่างว่า นิพพานน้อยๆ นิพพานตัวอย่าง นิพพานให้ชิมลอง คือนิพพุติ ยังไม่เต็มขนาด ถ้ากิเลสมันหมดเป็นนิพพานเต็มที่ กิเลสหมดมาก หมดไปเป็นส่วนมากก็เรียกว่าเป็นนิพพานที่ยังไม่สมบูรณ์
นิพพานท่านจัดแบ่งไว้เป็น ๒ คือสอุปาทิเสสนิพพาน อนุปาทิเสสนิพพาน ในแบบมี แต่ผมอธิบายไม่เหมือนในแบบ ในแบบเขาว่าสอุปาทิเสสนิพพาน เป็นพระอรหันต์แล้วมีชีวิตอยู่ ยังไม่ตาย เรียกว่าสอุปาทิเสสนิพพาน สิ้นกิเลสมีเบญจขันธ์เหลือ พอพระอรหันต์ตายตามแบบที่เขาเรียกเขาพูดกันเท่านั้น ตาย ก็สิ้นกิเลสแหละ ไม่มีเบญจขันธ์ นี้ก็เรียกว่าอนุปาทิเสสนิพพาน คำพูดนี้มาอย่างไร เกิดขึ้นได้อย่างไรก็ไม่ทราบ แต่ก็สอนกันอยู่อย่างนั้น ในพระบาลีจริงๆ มันไม่อธิบายอย่างนี้ สิ้นกิเลสๆ โดยสมบูรณ์แล้วน่ะเป็นพระอรหันต์ สิ้นกิเลสแล้วแหละ แต่ถ้าว่าอินทรีย์ยังรับ ยังไม่ถูกกำจัด อินทรีย์สำหรับความรู้สึกยังไม่ถูกกำจัด ยังมีความรู้สึกว่าทุกข์หรือสุข พอใจหรือไม่พอใจนี่ อย่างนี้เรียกว่านิพพานสอุปาทิเสสะ มีอุปาทิเหลือ อินทรีย์ถูกกำจัดไปแล้ว ไม่รู้สึกเป็นเวทนาสุขทุกข์พอใจไม่พอใจ เรียกว่าเวทนาเย็นสนิท อย่างนี้เรียกว่าอนุปาทิเสสนิพพาน นิพพานมีอุปาทิเหลือ กิเลสไม่มีแล้ว มีบาลีว่า กตมา จ ภิกฺขเว สอุปาทิเสสา นิพฺพานธาตุ, อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ อรหํ โหติ เป็นพระอรหันต์, ขีณาสโว สิ้นอาสวะแล้ว, วุสิตวา อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว, กตกรณีโย มีกิจควรทำเสร็จแล้ว, โอหิตภาโร มีภาระหนักอันปลงแล้ว, ปริกฺขีณภวสญฺโญชโน มีสัญโยชน์ในภพสิ้นสุดแล้ว, สมฺมทญฺญาวิมุตฺโต หลุดพ้นแล้วด้วยปัญญาอันชอบ เป็นพระอรหันต์ถึงขนาดนี้นะ แต่ว่า ตสฺส ภิกฺขเว ติฏฺฐนฺเต ปญฺจินฺทฺริยานิ อินทรีย์ทั้ง ๕ ยังเหลืออยู่ยังไม่ถูกกำจัด แล้วก็ มนาปามนาปํ ปจฺจอนุโภติ รู้สึกพอใจไม่พอใจ รู้สึกว่าเป็นเวทนาที่น่าพอใจหรือไม่พอใจ สุขทุกฺขํ ปฏิเวทยติ รู้เฉพาะว่าสุขหรือทุกข์ อยู่อย่างนี้, ตสฺส โย ราคกฺขโย โทสกฺขโย โมหกฺขโย ความสิ้นราคะโทสะโมหะของภิกษุนั้นมีอยู่ ตัวนั้นแหละเป็นสอุปาทิเสสนิพพาน เป็นพระอรหันต์แล้วอินทรีย์ยังไม่ถูกกำจัด อินทรีย์ยังรู้สึกพอใจไม่พอใจหรือสุขหรือทุกข์ แต่ไม่ถึงกับปรุงเป็นตัวกูของกู ถ้าเป็นอนุปาทิเสส ก็ว่าเป็นพระอรหันต์อย่างนั้นแล้ว ทีนี้ก็ ตสฺส อิเธว ภิกฺขเว ในอัตภาพนี้นั่นเทียว, สพฺพเวทยิตานิ เวทนาทั้งปวงมีอยู่, อนภินนฺทิตานิ อันเธอไม่เพลิดเพลินแล้ว, สีติภวิสฺสนฺติ จักเป็นของเย็น, อิทํ ภิกฺขเว อนุปาทิเสสนิพฺพานธาตุ นี้คืออนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ไม่ตาย ในอัตภาพนั้นแหละ ในชีวิตนั้นแหละ อัตภาพนั้นแหละมีเวทนาที่เย็น อันเธอไม่เพลิดเพลินแล้ว เป็นของเย็น เวทนาโดยทั่วไปน่ะ ถ้าเวทนาของเรานะ เวทนาของปุถุชนนะ รู้สึกเป็นทุกข์หรือเป็นสุขแล้วมันก็ปรุงเป็นตัวกูของกูขึ้นมาเลย ถ้ารู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ก็จะปรุงเป็นเวทนาของกูตัวตนอย่างนั้นอย่างนี้ เวทนาของปุถุชนยิ่งกว่าร้อนเสียอีก มันปรุงเป็นตัวกูของกู ถ้าเวทนาของพระอรหันต์ที่เป็นสอุปาทิเสสะน่ะ ท่านรู้สึกทุกข์หรือสุข พอใจหรือไม่พอใจก็ได้ ได้อยู่ แต่ไม่ปรุงเป็นตัวกูของกู ส่วนเวทนาของพระอรหันต์อนุปาทิเสสะนั้น ไม่รู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์เลย ไม่รู้สึกพอใจหรือไม่พอใจเลย นี่ ๓ อย่างนี้สำคัญมากจำไว้เลย
เวทนาของผู้ที่ยังไม่เป็นอรหันต์น่ะจะร้อนและปรุงเป็นตัวกูของกู เวทนาของพระอรหันต์สอุปาทิเสสนั้น รู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ พอใจหรือไม่พอใจตามความรู้สึกตามธรรมดานี่ แต่ไม่มีการปรุงเป็นตัวกูของกู ส่วนเวทนาของพระอรหันต์ที่เป็นอนุปาทิเสสนั้น ไม่รู้สึกเป็นสุขหรือทุกข์ ไม่รู้สึกพอใจหรือไม่พอใจเสียเลย เรียกว่ามันเย็นสนิท เวทนาของคนธรรมดาร้อนและปรุงเป็นตัวกูของกู เวทนาของพระอรหันต์ทีแรกน่ะ,สอุปาทิเสสนั้น รู้สึกเหมือนกัน ร้อนตามสมควร พอใจหรือไม่พอใจยังรู้สึกอยู่ แต่ไม่ปรุง ไม่ปรุง ไม่ปรุงเป็นตัวกูของกู ส่วนเวทนาของพระอรหันต์ที่ ๒ อนุปาทิเสสนั้น ไม่รู้สึกสุขทุกข์ ไม่ร้อนไม่อะไรเลย เย็นสนิทๆ
จะพูดอีกทีหนึ่งว่าเวทนาของปุถุชนมันปรุงเป็นตัวกูของกู ทั้งร้อนทั้งเป็นทุกข์สารพัดอย่าง เวทนาของพระอรหันต์ที่ ๑ ยังรู้สึกเป็นเวทนาว่าเวทนาอย่างไร ว่าร้อนว่าเย็นว่าอะไร รู้สึกได้ รู้สึกว่าอย่างนี้เรียกว่าสุขเวทนา อย่างนี้เรียกว่าทุกขเวทนา รู้สึกได้ แต่เวทนานั้นไม่ปรุงให้เกิดตัวกูของกู เพราะไม่มีอุปาทาน เรียกว่าเวทนายังไม่เย็นสนิท สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ เวทนายังไม่เย็นสนิท แต่แล้วก็ไม่ปรุงเป็นตัวกูของกู พอเวทนาชนิดอนุปาทิเสสนิพพานนแล้ว เย็นสนิท ไม่อาจจะแยกเป็นสุขเป็นทุกข์พอใจหรือไม่พอใจเพราะมันเย็นสนิท แล้วมันจะปรุงเป็นตัวกูของกูได้อย่างไรล่ะ
ย่อที่สุด เวทนาของปุถุชนคนธรรมดาร้อนและปรุงเป็นตัวกูของกู เวทนาของพระอรหันต์ที่ ๑ ทีแรก ยังรู้สึกไม่เย็น ยังร้อนบ้าง แต่ไม่ปรุงเป็นตัวกูของกู เวทนาของพระอรหันต์ที่ ๒ ไม่ร้อนคือเย็นสนิท แล้วก็ไม่มีทางที่จะปรุงเป็นตัวกูของกู นี่คือนิพพานๆ มีอยู่ ๒ ชนิด นิพพานที่เวทนายังไม่เย็นสนิท เรียกว่าสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ เวทนาที่เย็นสนิทไม่มีทางจะปรุงอะไรได้ นี่ก็เรียกว่าอนุปาทิเสสนิพพาน อย่างนี้เรียกว่านิพพาน,อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
เอ้า,เวลาจะหมดแล้ว ก็พูดนิดหนึ่งว่าถ้าจะสรุปสภาวธรรม จำง่ายๆ อีกอย่างหนึ่ง พวกอภิธรรมน่ะเขาสรุปเป็น ๔ อย่างคือ รูป จิต เจตสิก และนิพพาน สิ่งที่เป็นรูป มีรูปเป็นรูป เรียกว่าพวกรูป แล้วจิตนั้นไม่มีรูป มีความรู้สึกเรียกว่าจิต บรรดาความรู้สึกของจิตเรียกว่าเจตสิก ก็มีนิพพานเป็นที่ดับของรูป ของจิต ของเจตสิก คือไม่ให้เกิดความทุกข์ ไม่ให้รูป ไม่ให้จิต ไม่ให้เจตสิกเกิดความทุกข์ นั่นแหละเรียกว่านิพพาน ก็มี ๔ อย่างพอแล้ว ๔ อย่างเท่านี้พอแล้ว สรุปย่อที่สุด มีรูป จิต เจตสิก นิพพาน ไปศึกษาให้ดี เข้าใจได้ รูปเป็นที่ตั้งแห่งจิต จิตอาศัยในรูป จิตเป็นผู้ที่มีความรู้สึก เป็นสิ่งที่มีความรู้สึก ไม่ใช้ผู้นะ แล้วความรู้สึกนั้นๆ ประกอบอยู่กับจิตและก็เจตสิก นิพพานเป็นที่ดับทุกข์ ของรูป จิต เจตสิก จะเรียกว่าเป็นที่ดับของจิตของเจตสิกก็ได้ นี่สรุปย่อที่สุดของสิ่งที่เรียกว่าสภาวธรรม ทั้งหมดที่พูดมานี้เรียกว่าสภาวธรรม ธรรมลึก ธรรมชั้นพื้นฐาน พูดจาอะไรต้องไม่ผิดหลักสภาวธรรม จึงจะเป็นที่ยอมรับ ขอให้จำไว้ นี้ก็คือสิ่งที่เรียกว่าสภาวธรรมที่ควรทราบ เวลาหมดแล้ว ขอยุติการบรรยายในวันนี้เพียงเท่านี้เรื่องสภาวธรรม