แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายครั้งนี้ จะพูดเรื่อง อานาปานสติ หมวดที่ ๔ ซึ่งเรียกว่า ธรรมานุปัสสนา เป็นเรื่องการตามเห็นธรรม เป็นหมวดสุดท้าย
หมวดที่ ๑ กาย
หมวดที่ ๒ เวทนา
หมวดที่ ๓ จิต
หมวดที่ ๔ ธรรม ซึ่งกว้างกว่าหมวดไหนหมดนะ เพราะคำว่า ธรรม หมายถึง ทุกสิ่ง หรือสิ่งทั้งปวง จนใน บัดนี้ ท่านเล็งถึงสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ ซึ่งมันเป็นปัญหาอยู่ เราปฏิบัติสมบูรณ์แบบ จึงปฏิบัติครบทั้ง ๔ หมวด คนทั่วไปหรือความนิยมทั่วไป ก็ปฎิบัติหมวดนี้เป็นส่วนใหญ่ คือ หมวดธรรม แล้วก็ไปเรียกว่า พระอนิจจัง พระทุกขัง พระอนัตตา เรียกอย่างโบราณด้วยความเคารพ ฉะนั้น คนแก่ ๆ หรือ ธรรมดาสามัญทั่วไป เขาก็ต้องมุ่งกันที่นี่ เรียกว่า ปฎิบัติหมวดธรรม โดยเฉพาะ
พิจารณาถึงคำว่า ธรรม หมายถึง สิ่งทั้งปวงที่เคยพูดมาแล้วไม่รู้กี่ครั้งกี่หน ว่า ถ้าจะรู้จักธรรมโดยสิ้นเชิงแล้ว ก็รู้โดย ๔ ความหมาย ว่า ธรรมชาติ
กฎของธรรมชาติ
หน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติ ตามกฎของธรรมชาติ
และผลที่จะเกิดมา
เป็น ๔ ความหมาย ให้ธรรมไหน ที่มันเป็นปัญหาเฉพาะหน้า ธรรม ที่เป็นธรรมชาติ และ ที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ แล้วก็ไปยึดถือเข้า แล้วก็เป็นทุกข์ เรียกว่า ธรรมที่กำลังเป็นปัญหา หรือที่กำลังยึดถืออยู่ ถ้าจะศึกษาธรรมทั้งหมด หมด หมด หมดทั้งพระไตรปิฎก หรือหมดทั้งจักวาล ด้วยธรรมที่เป็นปัญหา คือ ธรรมที่กำลังยึดถืออยู่ แล้วเป็นทุกข์คนทั่วไป ชอลปฏิบัติลัด เรียกว่า ปฏิบัติเรื่องอนัตตาเรื่องเดียว เรื่องปฏิบัติลัด ไปปฏิบัติอนัตตา โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ รู้เรื่องอนัตตา หายใจเป็นอนัตตา มันก็พอแล้ว เราเคยพูดเป็นหลักว่า จะปฏิบัติ อานาปานสติ ก็ต้องปฏิบัติมาตั้งแต่ต้น จะปฏิบัติอยู่ในขั้นไหน พอก็ลงมือ ปฏิบัติว่านั้นแล้ว ก็ปฏิบัติมาแต่ขั้นต้นที่สุด แล้วก็ไล่ ๆ ๆ ๆ มาตามลำดับ ข้อนี้มีความลับจำเป็น เพื่อที่จะได้รู้จักสิ่งทั้งปวงเหล่านั้น มาตามลำดับ จะพบความเป็นอนัตตาของมัน มาตามลำดับ ๆ ๆ แล้วถึงที่มาสรุปเป็นทั้งหมด เป็นอนัตตาทั้งหมด เป็นความลับที่จะต้องทำอย่างนั้น หมวดนี้ขั้นที่ ๑ หรือ ขั้นที่ ๑๓ ของทั้งหมด เรียกว่า อนิจจานุปัสสี อนิจจานุปัสสี ออกชื่อแต่อนิจจาอย่างเดียว อนิจจังอย่างเดียว แต่มันคลุมหมด อะไร ๆที่เนื่องอยู่กับอนิจจัง หรือสืบต่อมาจากอนิจจัง รวมหมดอยู่ในหมวดนี้ เดี๋ยวคุณจะเข้าใจผิดว่า ทำไมพูดแต่อนิจจัง ทั้งที่อนัตตาเป็นหัวใจพุทธศาสนา ฉะนั้น เขาไม่รู้ ถ้าลงตั้งต้นด้วยการเห็นอนิจจัง แล้วมันจะมาเป็นสายตลอด ไปจนถึงบรรลุมรรคผล พูดกันติดปากว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่ในบาลีแท้ ๆ จะพบแต่ อนิจจัง และ อนัตตา หรือสำคัญที่สุดมันก็อยู่ที่อนัตตา ถ้าจะอนัตตา จะเห็นอนัตตาได้ง่าย ก็เริ่มไปแต่เห็นอนิจจัง หมวดนี้จึงเอาอนิจจังขึ้นมาเป็นหมวดต้น แล้วก็กุมความหมายของทุกขัง ของอนัตตา ของตถาตา สุญญตา อะไรไว้หมด เพราะมันจะเนื่องกันอย่างที่เห็นชัด ติดต่อกันไปเลย จึงมาตั้งต้นเห็นอนิจจังกันก่อนตามหลักเกณฑ์ ตามหลักบาลีนี้
การปฏิบัติธรรมะนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งอยู่อีกอย่างหนึ่ง คือว่าต้องมีของจริง ให้อยู่ในความรู้สึก อยู่ในใจ นี่ก็ต้องมีอนิจจัง รู้สึกอยู่ในใจในเวลานั้น ถ้าเราเรียนในโรงเรียนนักธรรม ชั้นตรี โท เอก อะไรนั้นมันอนิจจังที่ไม่มีตัวอยู่ในใจ อนิจจังโดยคาดคะเน อนิจจังโดยเหตุผล อนิจจังโดยอะไรก็ไม่รู้ ไม่มีตัวอนิจจังมาอยู่ในใจ นี่ เรียกว่ามันไม่ถูกต้อง มันเป็นอนิจจังลับหลัง ไม่ใช่เป็นอนิจจังเฉพาะหน้า เดี๋ยวนี้เราต้องมีอนิจจังกันเฉพาะหน้า คือ รู้สึกอยู่ในใจ ดังนั้นเราจึงต้องทำทุกสิ่งที่มันจะให้เห็นอนิจจังไว้ในใจ นี่ ทำทำสมบูรณ์แบบ ก็เห็นอนิจจังมาตั้งแต่ลมหายใจ กายสังขาร ความระงับแห่งกายสังขาร เวทนา ทุกชนิด แล้วก็ จิตทุกชนิด ซึ่งจะแยกออกได้ เป็นหลาย ๑๐ ชนิด
ใน ๓ หัวข้อนั้น ก็เห็นอนิจจังทั้งหมด นี่ก็เอาอนิจจังมาไว้ในใจ เป็นอนิจจังเฉพาะหน้า คือ กำลังรู้สึกอยู่ อนิจจังลับหลังในโรงเรียนนั้นมันก็ไม่ได้ผล เพราะเหตุนี้เห็นอนิจจังของอุปาทานิยธรรม หรือ อุปาทินนธรรม คือ สิ่งเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ ที่ได้ยึดถืออยู่แล้ว ว่าจะพูดคราวเดียวให้หมด เป็นแนวใหญ่ว่า อนิจจานุปัสสี เห็นอนิจจังของอุปาทาน หรือสิ่งที่ยึดถืออยู่ในอุปาทาน พอถึงหมวดที่ ๒ วิราคานุปัสสี ก็เห็น การคลาย ๆ ๆ คลายออกของอุปาทาน พอมาถึงขั้นที่ ๓ คือ นิโรธานุปัสสี ก็เห็นการดับไปแห่งอุปาทาน พอถึงขั้นสุดท้าย ปฏินิสสัคคานุปัสสี เห็นความหมดสิ้น แล้วเห็น อุปาทาน คือ เห็นนิพพาน แล้วจะต้องเห็นอนิจจังของอุปาทาน คือตัวสิ่งที่ยึดถืออยู่ด้วยอุปาทาน แล้วเห็นความคลายออกมา ของมัน ของอุปาทาน ความดับลงแห่งอุปาทาน เห็นความหมดสิ้นของอุปาทาน หมวดนี้มีใจความอย่างนี้ มีความสำคัญอย่างนี้ ถ้ากำหนดไว้ได้แล้ว จะเป็นการดีที่สุด เห็นอนิจจัง ไม่เที่ยง อนิจจตา ความไม่เที่ยง ก็มันเห็นทุกขตา ความเป็นทุกข์ ขอเห็นความไม่เที่ยงเถิด จะรู้สึกเป็นทุกข์ ระอา เกลียดชัง ขึ้นมาทันที ก็เพราะมันไม่เที่ยง มันเปลี่ยนเรื่อย เมื่อต้องอยู่กับสิ่งไม่เที่ยงนี่ มันก็ลำบาก ที่ต้องเป็นไป ความไม่เที่ยงมันก็ลำบาก ถ้าเห็นอนิจจัง ความไม่เที่ยง ก็เห็นทุกขัง คือความเป็นทุกข์ ถ้าเห็นอนิจจังทุกครั้งจริง ๆ ก็จะเห็นความที่ว่า ต่อสู้ไม่ได้ ต้านทานไม่ได้ นั่นก็คือ อนัตตา อนัตตา พิจารณาให้เห็นเนื่องกันไป ต้องอยู่กับอนิจจัง เป็นทุกข์ ทุกอย่าง มันเป็นอนิจจัง เราต่อต้านไว้ไม่ได้ ต้องเป็นทุกข์ นี้ความเป็นอนัตตา แล้วก็มีทางที่จะเห็นต่อไปตามลำดับถ้ามีสติปัญญา หรือละเอียดละออสักหน่อย เห็นธัมมัฏฐิตตา ความที่ต้องเป็นอย่างนั้น เป็นไปตามธรรมชาติอย่างนั้น มันจะเป็นธัมมนิยามตา คือ เป็นกฎตายตัวของธรรมชาติ บังคับอยู่อย่างนี้ แล้วก็จะเห็นความเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย คือ เห็นอิทัปปัจจยตา ปฏิจสมุปบาท ในที่สุดก็เห็นว่า โอ้ ไม่มีสาระตรงไหนที่จะยึดถือเอาได้ มีแต่การไหลไปตามกระแสแห่งปฏิจสมุปบาท ในที่สุด มีแต่เห็น เช่นนั้นเองโว้ย เช่นนั้นเองโว้ย ตถาตา ๆ ๆ แล้วแต่จะเรียก ให้มันนำไปสู่สิ่งสุดท้ายก็คือ อตัมมยตา ไม่เอากับมันแล้วโว้ย ไม่มีอะไรมาปรุงแต่งได้อีกต่อไป มันเป็นการบรรลุผลสุดท้าย คือเป็นพระอรหันต์ อยู่เหนือการปรุงแต่งของทั้งสิ่งทั้งปวง เรียกมันตลก ๆ ว่า แม่แก้วตา คือ ก้าวตา ก้าวตา นี่ แก้วตา อนิจจตา ทุกขตา อนัตตา ธัมมัฏฐิตตา ธัมมนิยามตา อิททัปปัจยตา แล้วก็ สุญญตา ตถาตา อตัมยตา จบ.
นี่ แม่แก้วตา สามตามันตั้งต้นที่ อนิจจัง เว้นจากอนิจจังมันก็ไม่มีเก้าอันเท่านั้น การเห็นอนิจจานุปัสสี เป็นข้อแรกนั้น มันเป็นเหตุผล มันเป็นเคล็ดลับของธรรมชาติ ที่ตั้งต้นด้วยเห็นอนิจจังก่อน มองดูในทางหนึ่ง เป็นของที่น่ารังเกียจ อนิิจัง ทุกขัง อนัตตา นี่ มันขบกัด แต่จะมองดูในอีกด้านหนึ่ง ก็เป็นของประเสริฐ วิเศษ ควรจะเคารพ เลยเรียกว่า พระ พระอนิจจัง พระทุกขัง พระอนัตตา ได้ยินคำคนแก่ ๆ เขาสวดมนต์อะไรกัน เขาใช้คำว่า พระ พระอนิจจัง พระทุกขัง พระอนัตตา มาแล้ว ๆ ที่นี้ ก็ดูความหมายของคำว่า อนิจจัง ซึ่งตัวนี้ ก็แปลว่า ไม่เที่ยง นิจจะแปลว่า เที่ยง อนิจจะ ก็แปลว่า ไม่เที่ยง คือเปลี่ยนแปลงเรื่อย ๆ ไอ้คำประหลาดคำหนึ่ง ของนักศาสดาชาวคริส ที่รักผิด เขาใช้คำว่า ไหลเรื่อย pantaray pantarayมันไหลเรื่อย เขาเห็นความไหลเรื่อย เขาไม่ได้ใช้คำว่า อนิจจัง คนนี้ ก็พร้อมกับสมัยพระพุทธเจ้านะ เห็นไอ้ความไหลเรื่อย จนบอกเพื่อนมนุษย์ว่า ทุกสิ่งไหลเรื่อย คนทั้งปวงก็ว่า ไอ้บ้า ไอ้นี่ ไม่เอาด้วย ไม่ฟังด้วย ถูกจัดให้เป็นเจ้าลัทธิลึกลับ ถูกสาบให้เป็นเจ้าลัทธิลึกลับ บอกอะไรก็ไม่รู้ ว่า ทุกสิ่งไหลเรื่อย นี่ เอากับความโง่ของคน มันไม่เห็นอนิจจัง ข้อนี้ ก็นึกถึงข้อความในบาลี ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า มีคนชื่ออารกะ สอนคำสอนเรื่องอนิจจังเหมือนกับเรา เรียกว่า อารกานุศาสนี คำสอนของอารกะศาสดาสอนว่า อนิจจัง อนิจจัง ในบาลีมีแต่เพียงเท่านี้ ผมเลยคิดถึงศาสดาคริสต์คนนั้น อารกะ สมมติเอา ประสมโรงกันเลย มันแปลว่า ไกล อารกะ ก็ศาสดาในที่ไกลนู้น มันสอนให้ไหลเรื่อย พระพุทธเจ้าตรัสว่า มีศาสดา ชื่อ อารกา สอนเรื่องไม่เที่ยงเหมือน ๆ กับเรา นี่ ให้รู้ไว้เถิดว่า อนิจจังมันเห็นได้ง่าย จนมีใครเห็นเหมือนกับพระพุทธเจ้าด้วยเหมือนกัน พระพุทธเจ้าก็ยอมรับรอง อนิจจังอย่างเดียวเพราะมันไหลเรื่อย มันจะเอาตัวจริงที่ตรงไหนได้ อนิจจัง ก็คือ มายา มายา แล้วเราก็โง่ หลงรักสิ่งที่ไหลเรื่อย ถ้าทำในใจถึงกริยาอาการอันนี้แล้ว ก็จะเกิดความรู้สึกเป็นคนบ้า หลงรักสิ่งที่ไหลเรื่อย จนมันพบกันที่ตรงไหน จะได้กันที่ตรงไหน นี่ ลองทำในใจอย่างนี้ แม้จะไม่ใช้คำบาลี คำธรรมะอะไร ก็ มันก็ฌป็นธรรมะนั้นอย่างยิ่ง มันก็ไหลเรื่อย ไหลเรื่อย ไปหลงรักมันได้ อนิจจังไม่เที่ยง ไม่เที่ยงคือไหลเรื่อย ไปอยู่กับมันก็ลำบาก ก็เป็นทุกข์ สู้มันไม่ไหว ต้านทานมันไม่ไหว ก็ไม่มีตัวตนอะไรที่จะเป็นของเราได้ ลักษณะ อาการ หรือเหตุผลอะไร ก็มีมากมาย ดูเอาเองได้ ถ้าทำอนาปนสติมาตั้งแต่ลมหายใจ ตัวลมหายใจ ก็ไม่เที่ยง ความยาวของลมหายใจก็ไม่เที่ยง ความสั้นก็ไม่เที่ยง ความที่ปรุงแต่งร่ายกายเนื้อนี้ ก็ไม่เที่ยง ความระงับลงไป ก็ไม่เที่ยง ความกำเริบขึ้นมา ก็ไม่เที่ยง ปีติขึ้นมา ปีติก็ไหลเรื่อย ไม่เที่ยง สุขขึ้นมา ก็ไหลเรื่อย ไม่เที่ยง ทำจิตสังขารให้ระงับ หรือไม่ระงับก็ตาม มันก็ไม่เที่ยง ไหลเรื่อย ตัวจิตชนิดไหน ๆ จิตชนิดไหน ในหลายชนิดที่ได้พูดมาแล้ว ไม่ว่าจิตชนิดไหน ก็ไหลเรื่อย แต่ละชนิด ฉะนั้น ทำให้ปราโมทย์ ความปราโมทย์ ก็ไหลเรื่อย ความปรุงแต่งจิต เป็นจิตสังงขาร ก็ไหลเรื่อย ความประมาทก็ยังไหลเรื่อย ความตั้งมั่น ตั้งมั่น ก็ยังไหลเรื่อย คือ เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย แล้วก็ว่า ปล่อย ๆ ๆ ๆ นี่ ก็จะยิ่งเห็นความไม่เที่ยง อย่าประมาท ที่จะไม่ทำมาตั้งแต่ต้น ดูแต่เด็กเรียน ก ข ก็ต้องตั้งต้นเรื่อยไป แม้จะไปถึงกลาง ๆ แล้ว จะลงมือเรียน ก็ต้องตั้งต้นไปตั้งแต่ ก ข ตัว ก นี่ มันเป็นเคล็ดลับ มันจะสืบเนื่อง มันจะเป็นสายที่ราบรื่น ไม่มีที่สะดุดหรือลืม ขอให้เข้าใจไว้ว่า ไอ้การทำโดยวิธีนี้ ดีมากนี้ เราก็ อนิจจัง มาตั้งแต่ลมหายใจ พอถึงขั้น ๑๓ เห็น อนิจจัง ก็มาทำกันแต่ต้น แล้วก็เห็นอนิจจัง ตั้งแต่ต้น จนตลอดสาย แต่คนประมาทเขาไม่ทำอย่างนี้ และเดี๋ยวนี้ ประมาทถึงกับคาดคะเนเอาในโรงเรียนก็ได้ ไม่ต้องมานั่งทำวิปัสสนา
นี้มาถึงขั้นที่ ๑๔ วิราคานุปัสสี เมื่อเห็นความไม่เที่ยง แห่งอุปาทานหรือ อุปาทานิยธรรม มันก็คลายความยึดมั่น วิราคานี่ แปลว่า คลายจาง มาถึงขั้นนี้มันเริ่มมีการคลาย การจางแห่งอุปาทาน ความยึดถือว่าตัวตน มันก็คลาย หรือจาง ก็หมายความว่า กิเลสนี่ มันก็ละลายลง อนุสัย ถูกกว่า เรียกว่า อนุสัย ที่มีอยู่ มัน ละลายลง ๆ จางลง นี่ ก็หมายความว่า อวิชชามัน จางออก ๆ ความมืดจางออก แสงสว่างก็เข้ามา แสงสว่างก็เกิดขึ้น วิราคาจางออก จางออก คือไม่ยึดมั่นเหมือนแต่ก่อน นั่น คืออาการของสิ่งที่เรียกว่า อตัมยตา ความที่ปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ มีแต่จางออก ๆ ๆ ไป คำ ๆ นี้แม้จะเป็นคำแปลก คำใหม่ ก็ขอจำไว้เป็นหลักเถิดว่า ความที่ปัจจัยมันปรุงแต่งไม่ได้ นั่นละ คือ ความหลุดพ้น กิริยาอาการของความหลุดพ้น ปรุงแต่งไม่ได้ ไม่ให้สิ่งนั้นปรุงแต่งได้อีกต่อไป อาการที่ คลายออก ๆ ๆ นั้น คือ ปรุงแต่งไม่ได้ ๆ ๆ มีในสังขารธรรมทั้งหลาย ที่มันเคยปรุงแต่ง สังขารนี้ แปลว่า การปรุงแต่ง สังขารนี่ แปลว่าผู้ปรุงแต่ง สังขารนี่ แปลว่า ถูกปรุงแต่งสังขารทั้งนั้น คำเดียวกันอยู่ในลักษณะที่ถูกปรุงแต่ง ก็เพราะไม่เป็นตัวเอง ก็ไม่มีความผาสุขเป็นผู้ปรุงแต่งศัตรูตัวร้าย การปรุงแต่งนั่น คือ การไม่หยุด ไม่สงบ หรือไม่หยุด เดี๋ยวนี้ มันจางออก ๆ แห่งการปรุงแต่ง ไม่มีการปรุงแต่ง ไม่ถูกปรุงแต่ง มันก็คือ เริ่มหลุดพ้น ๆ คำว่า วิราคะ บางทีก็แปลกันว่า ความหน่าย มันก็คำเดียวกับจาง จาง ก็คือหน่าย หรือคลาย เช่น สีมันจางลงนี่ มันคือหน่าย กระจายออกไป ลดความเข้มข้นลงไป ก็เรียกว่า หน่าย ๆ หรือ วิราคะ คือ ธรรมะเป็นเครื่องหน่าย หรือความหน่าย จางออก ก็จางออกแห่งความยึดมั่น หน่ายแห่งอัสสาทะ ในกาม ความพอใจ ยินดี ในกาม ในกามธาตุ ทีนี้ ก็หน่าย หน่ายความพอใจในรูปธาตุ แล้วก็หน่าย คลายความยินดีในรูปธาตุ แล้วไปยินดีในอรูปธาตุ แล้วก็หน่าย ๆ ๆ จางออกในรูปธาตุ แล้วก็หน่าย คลายความยินดีในรูปธาตุ แล้วไปยินดีในอรูปธาตุ แล้วก็หน่าย ๆ ๆ จางออกในอรูปธาตุ (ในแทร็คเสียง เป็น รูปธาตุ) หมด เป็นอตัมยตา ความหน่ายถึงที่สุด หมด ถึงที่สุดของความหน่าย มันก็คือหมด ดังสนิท ไม่ว่าอะไรจะ จางออก ๆ ๆ มันก็สิ้นหมด นี่ มันก็เป็นที่สุดแห่งความหน่าย ทีนี้ ในขั้น วิราคานุปัสสี นี่ ดูเห็นความหน่าย ๆ ๆ ๆ ๆ ไปตามลำดับ สิ่งอะไรที่เคยยึดมั่นด้วยอุปาทาน อุปาทานในสิ่งนั้น ก็หน่าย ๆ ๆ ๆ ๆ นี่ เรียกว่า วิราคานุปัสสี นั่งดูความหน่าย ความจางคลายในขั้นนี้อย่างเต็มที่นั้นต้อง ฉะนั้น ต้องคนฉลาดรอบรู้หมด จึงจะรู้จัก กามธาตุ รูปธาตุ อรูปธาตุ นักศึกษาแรกเรียนยังไม่รู้ แต่ที่จริงมันก็ควรจะรู้ กามธาตุก็จะมีความหมายทางกาม รักใคร่ กำหนัด ยินดีอย่างกาม รูปธาตุก็ไม่ใช่กาม ไม่มีกาม ไม่มีความหมายแห่งกาม เป็นรูปล้วน ๆ มันก็สูงกว่า ถ้าจิตใจมันสูง มันก็ไปหลงรักใคร่ยินดีอยู่ที่รูปล้วน ๆ ถ้าใจมันสูงขึ้นไปอีก ก็เอ้อ ไอ้รูปนี่ ยังเกะกะ ยุ่งยาก ลำบาก เอาไม่มีรูปดีกว่า นี่ ก็ไปพอใจในอรูป ทางจิตใจ เขาหมายถึงสมาธิ ตามลำดับสูงขึ้น จะเอาเรื่องชาวบ้าน ชาวบ้านเดินถนนดีกว่า กามก็คือเพศ เรื่องเพศ รูปก็ไม่เกี่ยวกับเพศ เป็นรูปล้วน ๆ ทรัพย์สมบัติล้วน ๆ อะไรอย่างนี้ ข้าวของล้วน ๆ แม้แต่ของเล่น นี่ พอ อรูป ก็สิ่งที่ไม่มีรูป เป็นความหมายเป็นนามอธรรม เป็นบุญ เป็นกุศล เป็นอะไรก็หลงไปได้เหมือนกันละ รู้จักกันไว้บ้างว่าเราเกี่ยวข้องกันได้ กับรูป กับกาม กับรูป กับอรูป ยังไม่เป็นพระอริยเจ้านี่ หลงรัก กำหนัดยินดีในกาม เป็นปกติวิสัยของคนธรรมดา หลงรักในรูปล้วน ๆ วัตถุล้วน ๆ ก็ได้ หลงรักในสิ่งที่ไม่มีรูปก็ได้ เป็นเพียงความรู้สึก ต้องคลายความยึดถือหรืออุปาทานในสิ่งเหล่านั้น เมื่อเป็นทุกข์อยู่ ก็ดูเถิด มันต้องมีเหตุ ไม่ต้องถามใคร ไอ้ตัวที่ทุกข์ลงไปข้างล่างก็เห็นเหตุ เอ้า มาจากกาม อีกที โอ้ มาจากความหลงใหลในรูป อีกที ความหลงใหลในอรูป มันก็จะพบเหตุเพราะว่า ของชั้นต่ำ ๆ ต้น ๆ เตี้ย ๆ นี้ ก็มีรูป ก็ดี อรูป ก็ดี ชั้น ต่ำ ๆ ต้น ๆ เตี้ย ๆ ถ้ารู้จักไอ้ ๓ คำนี้ได้ จะดีที่สุด กาม แล้วรูป แล้วอรูป มันเกี่ยวข้องกับเราอยู่ทุกวัน ในขั้นต้น ๆ คลายออกจากสิ่งนั้น คือ คลายออกจากความยึดถือของสิ่งนั้น ไม่ต้องทุบ ทำลาย สิ่งนั้น ๆ แต่ว่าคลายความรัก ความพอใจ ความยินดี ในสิ่งนั้น นั่นละ เรียกว่า วิราคะ มีคำบาลี แปล อธิบายยาก ว่า วิราคานี่ เลิศกว่า สังขตะและอสังขตะ สังขตาวา สังขตาวา วิราโค เตสัง อะขะมคายติ วิราคะ ท่านกล่าวว่าเลิศในบรรดาธรรมเหล่านั้น คือ ทั้งสังขตะและอสังขตะ ถ้าเป็นสังขตะ วิราคะ มันก็เลิศ สิ เพราะว่า สังขตธรรมมันหลอกลวง ถ้ามีวิราคะ ก็เลิศกว่า ทีนี้ บรรดาอสังขตะ ที่มันมีความหมายหลายชนิด ก็ได้ ไอ้ความคลายจากความยึดมั่นนั้น เลิศ หรือมันเป็นอสังขตะอยู่ในตัว ถ้ามันคลายออกได้หมดก็คือ มันไม่ปรุงเป็นอสังขตะ นี่ ค่อยข้างจะฟังยาก แต่พอจะเห็นได้อย่างนี้ ในโรงเรียนนักธรรมเขาจะอธิบายอย่างไรก็ไม่รู้ วิราคะ เลิศกว่า ทั้ง สังขตะ และอสังขตะ
เราสรุปกันง่าย ๆ ว่า วิราคะ ในชั้นสุด ก็คือนิพพาน ไวพจน์ของนิพพาน ทีนี้ ก็มาถึงความกำกวม ของคำ ๆ นี้ คำนี้ ผมฉงนมาตลอดเวลา แล้วในที่สุดก็สรุปเอาว่า มันเป็นได้ วิราคะ มันเป็นเหตุก็ได้ มันเป็นผลก็ได้ วิราคะ ถ้าเป็นเหตุก็เป็นเหตุให้ได้วิมุติ ถ้าว่าเป็นผล มันก็เป็นผลมาจาก นิพพิทา ถ้ามี นิพพิทา เบื่อหน่าย มันก็มีวิราคะ วิราคะ ก็เป็นผล ถ้าวิราคะ กลายเป็นเหตุ มันก็ให้ได้วิมุติ จะเอาเป็นเหตุ ก็ได้ จะเอาเป็นผลก็ได้ แล้วยิ่งกว่านั้น ในที่บางแห่ง เป็นไวพจน์ของนิพพานก็มี หรือว่าดูทางหนึ่ง ก็มาเป็นปัจจัย ที่ทำให้นิพพานปรากฏ ก็มี ไม่ใช้คำว่า เหตุ เพราะว่ามันไม่ได้สร้างนิพพานขึ้นมา แต่มันเป็นเหตุที่ทำให้พระนิพพานปรากฏ เป็นปัจจัยแห่งการปรากฏของนิพพาน นี่ก็เป็นทางนิพพาน ที่เป็นไวพจน์ หรือคำแทนชื่อแห่งนิพพาน บทว่า เอตัง สันตัง เอตัง ปนีตัง ยทิทัง สัพพสังขาระ สมโถ สพูปทิ ปฏินิสัคคโค ตัณหทโย วิราโค นิโรโธ นิพพานัง อย่างนี้ เป็นไวพจน์ของกันทั้งนั้น เป็นนิพพาน เป็นไวพจน์ของนิพพาน ผู้ใดกำหนดคำเป็นอารมณ์ เรียกว่า เจริญสมาธิในนิพพาน เป็นนิพพานสมาธิ สมาธิในอมตะ เป็นธรรมนิพพาน เรียกง่าย ๆ สั้น ๆ ไม่เคยได้ยิน บทว่า เอตัง สันตัง เอตัง ปนีตัง ยทิทัง สัพพสังขาระ สมโถ สพูปทิ ปฏินิสัคคโค ตัณหทโย วิราโค นิโรโธ นิพพานัง ไปเรื่อย ไปจนถึง นิพพานัง เป็นอารมณ์ ถ้าพูดอย่างนี้ วิราคะเป็นตัวนิพพาน เป็นตัวไวพจน์ของนิพพาน แทนชื่อนิพพาน ดูอีกทีหนึ่ง ก็เป็นปัจจัย ให้ปรากฏให้นิพพานปรากฏ โดยทั่วไปเราจึงถือว่า วิราคะ เป็นมรรค นิโรธะ เป็นผล วิราคะ เป็นมรรคยาน นิโรธะ เป็นผลยาน คู่กันไป มรรคคือวิราคะ นิโรธะ ก็คือผล คือนิพพาน
ทีนี้ คุณจะกำหนดอะไรในอานาปานสติขั้นนี้ เอาตามตัวหนังสือเลย กำหนดความคลายออก คลายออก จางออก หน่ายออก ๆ แห่งอุปาทาน ที่เคยยึดมั่นถือมั่น ในอะไรก็ตาม พอเห็นอนิจจังในสิ่งนั้นแล้วอาการคลายออก ๆ จางออก มันก็มี ทีนี้ เราก็นั่งดู นั่งดู ใช้คำว่า นั่งดูสมมติ คือกำหนด สติกำหนด นั่งดูความคลายออก ๆ แห่งอุปาทาน มันจะเห็นเลยไปถึงการคลายออกแห่งกิเลส คลายออกแห่งอวิชชา คลายออกแห่งความทุกข์ ความเท่าที่มันเข้มข้นด้วยกิเลส ด้วยอุปาทาน มันคลายออก ๆ มันจางออก คลายออก ๆ ของโลกียธรรม จนหมดสิ้นความเป็นโลกียธรรม ก็เป็นโลกุตตรธรรม คลายออกโลกียธรรม ที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ หรือความยึดถือในโลกียธรรม คลายออกหมดก็กลายเป็นโลกุตตรธรรม มันก็เข้าไปสู่ขั้นที่ ๑๕ ต่อไป เรียกว่า นิโรธานุปัสสี ตามเห็นซึ่งนิโรธ คือความดับ สิ้นสุดลงไปแห่งความยึดมั่นถือมั่น ด้วยอุปาทาน ในกรณีนั้น ๆ มันหลายขั้นตอน หลายระดับ อุปาทานในขั้นต้น ๆ ดับลง ก็เรียกว่า นิโรธ อุปาทานขั้นสุดท้ายดับลง เป็นพระ อรหันต์ ก็เรียกว่า นิโรธ เดี๋ยวนี้ อุปาทานอะไรของเรา ที่กำลังนั่งพิจารณาอยู่นี่ มันดับลงไป แล้วก็ดูว่า ดับ ดับ ดับ ดูดับ ๆ ๆ ๆ วิราคะดูจางคลาย ๆ นิโรธ ก็ดู ดับ ๆ ๆ เรียกว่า นิโรธานุปัสสี มันดับไม่สิ้นเชิง ดับน้อย ๆ ดับชั่วคราว ดับอย่างในโลก ๆ นี้เรียกว่า นิพพุตติ นิพพุตติคคือ นิพพานชั่วสามายิกะ นิพพานชั่วสมัย ที่เราเย็นใจในบางเวลา นั้นคือ นิพพุตติ หรือนิพพานชั่วคราว เดี๋ยวนี้มันดูเป็นนิพุตติ ดับนี้ มันดับชั่วคราว หรือมันดับได้กี่มากน้อย มันดับมีเหลือ หรือดับไม่มีเหลือ ดู ดูการดับของสิ่งที่มันดับ ก็เห็นชัด อย่างใดอย่างหนึ่ง ในขั้นใดขั้นหนึ่ง ในระดับใดในระดับหนึ่ง คำว่านิโรธ ก็แปลว่า ดับ นิพาน ก็แปลว่า ดับด้วยทั้ง ๒ อย่าง ด้วยกันนี้ มีอย่างดับเหลือ ดับไม่เหลือ ดับมีเหลือ ดับไม่มีเหลือ ดับไม่มีเหลือก็หมดเรื่องดับ ถ้าดับมีเหลือ ก็ดับต่อไป ต้องทำให้ดับ ต่อไป ๆ อะไรเหลืออยู่ ก็ดับต่อไป แม้แต่ว่า เห็นนิวรณ์ดับไปโดยสิ้นเชิง ก็ยังดีนะ ก็ยังเห็นนิโรธของนิวรณ์ ต้องรู้ไว้ว่า นิโรธ ๆ นิพพาน นี้ ก็เป็นเพียงธาตุ ธา ตุ ธา ตุ ธาตุชนิดหนึ่งเท่านั้นนะ อย่างเอาเป็นตัวตนขึ้นมา นิโรธธาตุนี่ มีชื่อเรียกเต็มไปหมด นิพพานธาตุก็มีชื่อเรียกนิพพานธาตุ ๒ อย่าง สอุปปาทิเสสนิพพานธาตุ อนุปาทิเสสนิพานธาตุ สักว่าเป็นธาตุ เป็นธาตุ เรารู้จักนิโรธ โดยความเป็นธาตุ ธาติดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม นี่ มันวัตถุธาตุ มันวัตถุธาตุ นามธาตุนั้น มีอีกหลายอย่าง แล้วก็ยังมีนิโรธธาตุ ซึ่งไม่น่าจะจัดเป็นรูป หรือเป็นนาม พวกอภิธรรม ก็จัดนิพพานนิโรธ เป็นนาม ผมไม่เข้าใจ ยังไม่ยอมรับ ผมจะไม่ถือว่าเป็นรูปหรือเป็นนามถ้าเป็นรูปก็มีเหตุปัจจัย ถ้าเป็นนามก็มีเหตุปัจจัย คือ น้อมไป ๆ มันก็มีเหตุปัจจัย จะจัดนิพพานเป็นนาม จัดนิโรธเป็นนาม นี่ยังไม่เห็นด้วย นามและรูป ต้องเป็นสิ่งที่มีเหตุและปัจจัย เมื่อนิโรธและนิพพาน ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย จะไปจัดเป็นรูปเป็นนามไม่ได้ แต่ก็เป็นธาตุนั่นละ ธาตุ ธาตุ ธาตุ ชั้นอสังขตธาตุ นามและรูป มันเป็นธาตุชนิดสังขตธาตุ นิโรธและนิพพานมันเป็นอสังขตธาตุ ไอ้ธาตุนี่ ถ้าจะแจกกันให้หมด ก็เรียกว่า มี โดยย่อ มี ๓ รูปธาตุ อรูปธาตุ แล้วก็ นิโรธธาตุ ถ้าแจกเพียง ๓ อย่างนี้ เอากามธตุไปฝากไว้ใน รูปธาตุ เพราะว่า กาม เป็นรูป มีรูป รูปธาตุ ธาตุมีรูป อรูปธาตุ ธาตุไม่มีรูป นิโรธธาตุ เป็นที่ดับแห่งรูปธาตุ และอรูปธาตุ เป็นที่ดับแห่งธาตุทั้งปวง ถ้าจะแจกเป็นกามธาตุ แล้วก็รูปธาตุแล้ว อรูปธาตุ และนิโรธธาตุ อย่างนี้ ก็เป็น ๔ ธาตุ นิโรธธาตุ ก็เป็นธาตุที่ดับแห่งธาตุทั้งปวง (อรูปธาตุเป็นเป็นดับๆ แห่งรูปธาตุ และอรูปธาตุ เป็นที่ดับแห่งธาตุทั้งปวง ถ้าจะแยกเป็น อรูปธาตุ และกามธาตุ) สติปัญญาของคุณ ที่ปฏิบัติวิปัสสนาสองสามวันนี้ จะเป็นนิโรธธาตุได้หรือไม่ ถ้าเห็นได้ ก็เก่งเหลือประมาณแล้ว เห็นนิโรธธาตุ ธาตุเป็นที่ดับแห่งกาม แห่งรูป แห่งอรูป มันก็จะเห็นได้บ้าง ไม่มากก็น้อย ไอ้กามที่เคยกัดกินอย่างเจ็บปวด เดี๋ยวนี้มันจางคลาย หรือมันดับไปบ้าง หรือว่า รูปธาตุตัวรูป มันก็จางคลาย หรือดับไป อัสสาทะ ความพอใจยินดีในรูปนั้น ก็จางคลาย ดับไป ในอรูป ก็จะจางคลาย ดับไป จะพูดตรง ๆ ไป ไม่กลัวใครโกรธ ก็ว่า ไอ้ความบ้าบุญ เมาบุญ บ้าดี เมาดี หลงดี นั้น ถ้ามันจางคลาย หรือมันดับลงไปได้บ้าง อันนี้ ก็เป็นนิโรธธาตุได้ คุณยายคุณตาก็อาจเป็นนิโรธธาตุในส่วนนี้ได้เหมือนกัน แม้ทำวิปัสสนานี้ ในขั้นต้น ๆ เพียงเท่านี้
นิโรธ นิโรธเป็นจุดประสงค์ เป็นจุดประสงค์มุ่งหมาย เป็นวัตถุประสงค์มุ่งหมาย ปลายทาง ของพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้า ท่านตรัสว่า แต่ก่อนก็ดี เดี๋ยวนี้ก็ดี เราพูดแต่เรื่องทุกข์ กับทุกขนิโรธ ดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ก็ถ้ามันมีทุกขนิโรธแล้ว มันหมดปัญหา มันหมดเรื่อง ดังนั้น จึงถือว่าเป็นจุดหมายปลายทาง ไปถึงที่นั่นได้ก็จบเรื่อง เดี๋ยวนี้ก็ดับไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะดับหมด แล้วก็จะหมดเรื่อง เป็นจุดประสงค์
สมาธิภาวนา ใช้คำว่าสมาธิภาวนานะ การทำความเจริญแก่จิตใจ ด้วยอำนาจสมาธิ มันไปลงที่นั่น ไปจบลงที่นั่น เอกคตาจิต มีนิพานเป็นอารมณ์ สมาธิภาวนาสูงสุด ก็มีนิโรธแห่งความดับ เป็นจุดหมายปลายทาง และมันก็ได้เกิดขึ้นมาแล้ว เอกคตาจิต มีนิโรธ มีนิพพาน เป็นอารมณ์นั้น เรียกว่า สมาธิภาวนา คลุมหมด ทั้งสมถะ วิปัสสนา สมาธิก็ดี วิปัสสนาก็ดี เรียกว่าจิต เรียกว่าสมาธิภาวนา หรือจิตภาวนาก็ได้ สมาธิภาวนาทั้งหลาย มันมุ่งไปที่นิโรธ หรือนิพพาน มีนิพพานเป็นอารมณ์ มีนิโรธเป็นอารมณ์ เป็นอารมณ์แห่งธรรมะสมาธิ ธรรมะสมาธิคือความเพ่ง มีนิพพานเป็นอารมณ์ ทั้งสมถะ ทั้งวิปัสสนา เป็นธรรมะสมาธิ ถ้ามีนิพพานเป็นอารมณ์
เอาละ เป็นอันว่า เรารู้นิโรธ นิโรธ คือ ธาตุชนิดหนึ่ง เป็นที่ดับแห่งธาตุทั้งปวง ถ้ายังไม่เห็นลึกถึงขนาดนั้น ก็เห็นว่าการดับมี การดับมี เมื่อเห็นอนิจจัง แล้วก็คลายออก คลายออก แล้วก็มีการดับ สิ่งใดที่เราเคยรัก เคยหลงรัก แล้วก็เห็นอนิจจังของมัน มันก็คลายความรัก แล้วความรักก็สิ้นสุดลงไปนี้ ก็เรียกว่าเห็นนิโรธได้เหมือนกัน เอาไปใช้ที่บ้านที่เรือนก็ได้ บวชอยู่ก็ได้ สึกไปแล้วก็ได้ รู้จักทำความจางคลายแห่งอุปาทานและความดับแห่งอุปาทานเถิด จะเป็นพุทธบริษัท เต็มเนื้อเต็มตัว เป็นพุทธบริษัทถึงขั้น
ทีนี้ ก็มาถึง ปฏินิสสัคคานุปัสสี ขั้นสุดท้าย ขั้นที่ ๑๖ แห่งทั้งหมด หรือเป็นขั้นที่ ๔ แห่งหมวดนี้ คือหมวดธรรมานุปัสสนา มันควรจะคล่องแคล่ว ว่า ขั้นอะไรของอะไร ถ้ายังว่าต้องนึกต้องนับอยู่ก็ลำบาก ถ้าเป็นนักเลงแท้ ๆ มันมองเห็นชัด จะเรียกว่าขั้นอะไร ของอะไร ของทั้งหมด หรือของหมวดไหน เดี๋ยวนี้ เป็นขึ้นที่สุดท้ายของทั้ง ๑๖ ขั้น แล้วก็ขั้นสุดท้ายของธรรมานุปัสสนา เรียกว่า ปฏินิสสัคคา คำนี้แปลว่า สลัดคืน นิสสัคคา แปลว่า สละ ปฏิ ปฏิ นะ ทวนกลับ คือ คืน สละ สละคืน ความหมายมันก็บอกดีอยู่แล้ว สละคืน ที่ถูกต้องมันต้องคืน คำนี้มีความหมายนะ ศึกษาให้ดีเถอะ มันจะต้องเป็นการสลัดคืนไปสู่สภาพเดิม สภาพใหม่นี่ ไปเอามาถือไว้ มาแบกไว้ทูนไว้ พอมาถึงสภาพนี้ ก็โยนคืนกลับไป ไม่ถือไว้ ไม่แบกไว้ ฉะนั้น ปฏินิสสัคคะ คือ หมดความยึดถือไว้ หมดความแบกไว้ มันเป็นความจริงที่สุดตามธรรมชาติ อาการอันนี้ เป็นความจริงที่สุด สละคืนในสิ่งที่ได้เอามาถือไว้ คืออุปาทาน ถือไว้ออะไรมาถือไว้ นี่ โยนคืน ก็หมายความว่าปลงไปเสียจากความยึดถือไว้ เพราะถ้ายึดถือไว้ มันก็หนัก มันก็หนัก ไม่ว่ายึดถืออะไร ต่อให้ยึดถือลม มันก็หนัก ถ้าสังเกตเป็น รู้จัก ของดีก็หนัก ของไม่ดีก็หนัก ของไม่ชั่วไม่ดีก็หนัก ถ้ายึดถือ ถ้ายึดถือ ก็ไม่เป็นปฏินิสสัคคะ แล้วไม่เป็นนิพพานฉะนั้น ท่านจึงมีคำกล่าวว่า ไม่ยึดถือ แม้แต่นิพพาน โดยความเป็นนิพพาน หรือเป็นนิพพานของกู เดี๋ยวนี้ ก็ยึดถือไว้ล่วงหน้า กูจะเอานิพพานมาเป็นของกู นี้ เพราะความเข้าใจผิด ไม่รู้เรื่องอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นสิ่งเลวร้ายที่สุด ไปยึดถืออะไร มันก็หนัก ขี้ฝุ่นสักเม็ด ยึดถือก็หนัก ทรัพย์สมบัติยึดถือก็หนัก นิพพานที่เอามายึดถือนั้นไม่ใช่นิพพานจริง เป็นนิพพานปลอม เพราะนิพพานจริงไม่ยึดถือ มันไม่มีการยึดถือในนิพพาน ถ้ายึดถือ นิพพานก็ถูกนิพพานปลอม มันก็หนัก แล้วที่ยึดถืออย่างยิ่งกว่าสิ่งใดหมดคือ ยึดถือตัวเอง ยึดถือตัวกู หนักกว่าภูเขา ยึดถือตัวกู เอาตัวกูมายึดถือไว้ มันหนักกว่าภูเขา หนักที่สุดก็คือยึดถือตัวกู แล้วก็ยึดถือเอาเป็นของกู โยนทิ้งไปได้ แล้วมันก็ไม่หนัก ก็หลุดพ้น ก็สบาย อิสระ สงบ เย็น เอาปฏินิสสัคคะ นี่ มีความหมายที่สุด ไม่ใช่โยนทิ้งเหมือนเทขยะนะ มันไม่ได้มีความหมายอะไรนัก อย่างนี้ มันโยนของหนักออกไปแล้ว มันก็ไม่มีความหมาย ก็เลยหนักอย่างนี้มันโยนของหนักออกไปแล้ว อยู่สบาย มีชีวิตเย็น มีชีวิตเบา มีชีวิตหลุดพ้น มีชีวิตเป็นอิสระ
เอา ทีนี้ จะเล่าเรื่องนี้ตลอดสาย จำง่าย คอยฟังให้ดีนะ ชีวิตนี้มันตั้งตนขึ้นมา คลอดมาจากท้องแม่ ไม่มีอะไรมา มาตามเหตุ ตามปัจจัยไม่ได้รู้จักว่าอยากเกิด กูอยากเกิด ก็ไม่มี ีธรรมชาติมันปรุงแต่ง คลอดมาจากท้องแม่ โดยอาศัยบิดามารดา มันก็คลอดออกมา เราไม่ถือว่ากิเลสติดมาแต่นู้น กิเลสเป็นของพึ่งเกิดเมื่อมีเหตุมีปัจจัย จะทำบ้า ๆ บอ ๆ แล้ว แบกกิเลสมาแต่ชาตินู้น ไม่ไหว ไม่มีเหตุผล ถือว่าชีวิตนี่ ออกมาเกลี้ยง ไม่มีอะไร ทีนี้ พอมาคลอดออกมาแล้ว มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สัมผัสนั้น สัมผัสนี้ ยินดี ยินร้าย นี้ กิเลสเกิด เพราะความยินดียินร้ายนี่ พบโจร กิเลสนั่น คือโจร มันพบโจร สมัครเข้าไปหาโจร เป็นพรรคพวกโจร สลัดไอ้ความบริสุทธิ์ที่มีมาแต่กำเนิดไปเสีย ไม่เอากับมึงแล้ว กูไปเอาโจร เอากิเลส สนุก ๆ เด็กโง่ ๆ มันเกิดมาพบโจร มันคบโจร คบโจรดีกว่า ไปทำอย่างโจรอีก ก็มีกิเลส ตัญหา อุปาทาน ไปประพฤติกระทำอย่างโจร คิดดูสิว่ามันจะเป็นอย่างไร โจรก็ปล้น ๆ พอได้ ก็เลยปล้นเอาธรรมชาติมาเป็นของกู ทรัพย์สมบัติของธรรมชาติทั้งหลาย ไอ้เด็กโง่ ไปคบโจร ก็ไปปล้นเอาธรรมชาติ มาเป็น ของกู ๆ ๆ ปล้นเอามา ทีนี้ ธรรมชาติมันไม่ยอม ไปปล้นเอามัน มันโกงนี่ มันก็ตอบแทน กัดเอาสิ ปล้นเอามาเท่าไร มาเป็นของกูเท่าไร มันก็กัดเอาเท่านั้น กัดเอา กัดเอา กัดเอา นี่ความทุกข์หรือการเจ็บปวด ถ้าเขากัดหนักเข้า หนักเข้า นี่ ก็เบื่อ ไอ้เด็กโง่นี่ ไม่เอาแล้วโว้ย โจร มันหันไปหาของเดิมดีกว่า ของบริสุทธิ์ ของไม่โง่ ไม่หลง ของบริสุทธิ์ของเดิม เด็กโง่ก็เบื่อ ทีนี้ เด็กโง่ก็เลิกเป็นโจร คืนของ คืนของ โยนให้ธรรมชาติ โยนให้ธรรมชาติ คืนกลับให้ธรรมชาติ เรื่อง จบ นิพพาน จบ
นิทานสมมตินี้ เข้าใจง่ายนะ เด็กโง่ ออกมาจากท้องแม่ ไม่มีอะไรติดตัวมา พอมาสักหน่อย ก็คบโจร คือคบกิเลส ค่อย ๆ เกิดขึ้น ก็ได้เป็นโจร สมทบกันเป็นโจร ปล้นธรรมชาติ เอามาเป็นของกู เป็นของกู ยึดมั่นถือมั่น อย่างนั้นอย่างนี้ ยึดมั่นเท่าไร มันก็กัดเอาเท่านั้น รักก็กัดอย่างรัก โกรธก็กัดอย่างโกรธ ไม่รัก ไม่โกรธ มันก็กัดด้วยความโง่ ความหลง ไม่รู้ว่าอะไร โลภะ โทสะ โมหะ มันกัด กัด กัด อุปาทานหนักและเป็นทุกข์ ยึดมั่นในขันธ์ทั้ง ๕ มันก็เป็นทุกข์ ไปปล้นเอาขันธ์ทั้ง ๕ จากธรรมชาติ มาเป็นของกู มันก็กัดเอา มันก็เป็นทุกข์ มันต้องหนัก กัดหนักเข้า หนักเข้า อายุก็พอสมควรแล้ว เด็ก ๆ มันไม่รู้ว่ากัด มันก็กำลังไปหลงคบโจร คบโจร แล้วได้รับโทษ ๆ โอ๊ย !! แย่แล้วโว้ย เบื่อ ทีนี้ จะจางคลายออกไป ถึงที่สุด โยนคืนเจ้าของโว้ย ไม่เอาแล้ว ไม่ปล้นมันแล้ว ไม่เอามาเป็นของกูอีกแล้ว นี่ มันก็จบ
คำว่่า ปฏินิสสัคคะ มีความหมายแยบคายมากทีเดียว เดี๋ยวนี้ ใครกี่คนที่รู้สึกว่า กูกำลังปล้นของธรรมชาติมาเป็นของกู มาเป็นโจร จนกว่าจะเด็กน้อยจะหายโง่ ไม่คบโจร มาคบพระพุทธเจ้า มาคบความถูกต้องความบริสุทธิ์ที่ติดมาในใจแต่เดิมนั้น โยนหมดก็พบความปล่อยวาง ความเกลี้ยงเกลา แล้วก็นั่งอาบพระนิพพาน โฆษณาชวนเชื่อนี้ ไม่โกหกนะ ปีติ ก็นั่งอาบปีติ สุข ก็นั่งอาบสุข เดี๋ยวนี้ มานั่งอาบพระนิพพานดีกว่า ไม่เปียก ไม่แห้ง ว่างดี นั่งอาบความว่าง นั่งอาบความว่าง เพราะได้เห็น เห็นความว่างอย่างนี้ อยู่ในความรู้สึก ก็เรียกว่า นั่งอาบพระนิพพาน คืออาบความเย็น เพราะไม่มีกิเลส เพราะไม่มีความทุกข์ พ้นความเป็นโจร พ้นความเป็นโจร คืนเจ้าของ พ้นความเป็นโจร นี้เป็นอานาปานสติ หมวดสุดท้าย ได้บอกมาตั้งแต่ต้นว่า อานาปานสติขั้นไหน ก็ให้พิจารนาอนัตตา พอมาถึงขั้นนี้ ไม่ต้องแล้ว เพราะมันเป็นอนัตตาแล้ว มันเลยอนัตตาแล้ว ได้รับผลแห่งอนัตตาแล้ว ก็พิจารณาผลแห่งอนัตตาสิ ๑๒ ขั้น ขั้นต้น ๆ นู่น พิจารณาอนัตตามาเรื่อย ๆ ทุกตอน เพื่อจะไม่ยึดถือเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล เรา เขา ในสิ่งนั้น ๆ บัดนี้ มาพ้นจากความยึดมั่นถือมั่น แล้วก็พิจารณาความไม่มีตัวตน ผลแห่งอนัตตา อบรม ๆ ๆ ๆ จนจิตประภัสสร นี่ กลายเป็นประภัสสรตายตัว ประภัสสรทีแรก เหมือนกับเด็กคลอดมา จิตเกลี้ยง ไม่มียึดมั่น แต่มันมาคบโจร คบโจร ก็เป็นเศร้าหมอง เป็นกิเลสเรื่อย มันก็เลิกคบโจร ประภัสสรก็ ถาวร เป็นประภัสสรพระอรหันต์ ประภัสสรของคนธรรมดา มีตามธรรมชาติของจิต มันขึ้น ๆ ลง ๆ เดี๋ยวประภัสสร เดี๋ยวไม่ประภัสสร นี้ จิตภาวนา อบรมกันเสีสยใหม่ จนจิตอยู่ในสถานะที่ อะไรมาปรุงแต่งไม่ได้ คือ เลิกคบโจร ก็ประภัสสรตลอดกาล ไม่สูยเสียความเป็นประภัสสรอีกต่อไป เป็นประภัสสรของพระอรหันต์ ประภัสสรของคนธรรมดานั้น มันล่อหลุบ ประภัสสรของพระอรหันต์ ตายตัว เรื่องมันก็จบ นี่มันก็จบอานาปานสติ ด้วยความอยู่เหนือการปรุงแต่งของสิ่งทั้งปวง มาถึงอตัมมยตา ภาวะที่อยู่เหนือการปรุงแต่งของสิ่งทั้งปวง ไม่สูญเสียความเป็นประภัสสรอีกต่อไป อตัมยตา เป็นของขวัญอันยิ่งใหญ่ ที่พระพุทธเจ้าทรงประทานไว้ให้ มันจะได้กันที่ตรงนี้ เป็นปฏินิสสัคคะ คือไม่มีอะไรปรุงแต่งได้อีกต่อไป
นี่ เวลาครบ ๑ ชั่วโมง ไก่เขาเตือนแล้ว หยุดการบรรยายในวันนี้ วันหน้าจะบรรยายสรุป อานาปานสติทั้งหมด
ขอยุติการบรรยาย