แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายครั้งที่ ๔ นี้จะพูดโดยหัวข้อว่าหาให้พบชีวิตที่เย็น,หาให้พบชีวิตเย็น รู้สึกว่ายังไม่เข้าใจเรื่องกิเลสกันอยู่ แม้จะได้พูดไปบ้างแล้วก็รู้สึกว่ายังไม่เข้าใจ ฉะนั้นจึงพูดเรื่องเกี่ยวกับกิเลสอีกครั้งหนึ่ง คือเรื่องชีวิตเย็นได้แก่ชีวิตที่กิเลสไม่เกิด ไม่ใช่ว่าสิ้นกิเลส หากแต่ว่ากิเลสมันยังไม่เกิดคือมันไม่เกิด นั้นเป็นชีวิตเย็น ก็ได้พูดแล้วว่าคนโง่ที่สุดในโลกก็คือคนที่ไม่รู้จักกิเลส เพราะว่ากิเลสมันเกิดอยู่กับเนื้อกับตัว แล้วก็เกิดแล้วเกิดอีก เกิดบ่อยที่สุด เกิดทุกทีก็เป็นร้อนทุกทีแหละ มันก็ยังไม่รู้จัก เลยจัดให้เป็นคนโง่ที่สุดในโลก เดี๋ยวนี้กลัวว่าจะยังเป็นคนโง่ นั่นแหละจึงต้องเอามาพูดกันเสียใหม่อีกทีให้เข้าใจเรื่องกิเลส
เอ้า,คำว่ากิเลส นี่ มีอะไรบ้างก็ฟังดูให้ดีๆ ชื่อของมัน แปลว่าของสกปรก ความหมายของมัน หมายถึงสกปรกทางจิตใจ จิตใจที่เศร้าหมองไปด้วยอำนาจของสิ่งที่เรียกว่ากิเลส ฉะนั้นในทางธรรมะ ของสกปรกกิเลสนี่ เราหมายถึงที่มันทำให้จิตใจสกปรก แต่ชื่อของมันแปลว่าสกปรกอย่างที่ทั่วๆไปนั่นแหละ สกปรกทางวัตถุ ของสกปรกอะไรสกปรกนี่ก็เรียกว่ากิเลสได้ ชื่อมันเป็นอย่างนั้น แต่ความหมายของมันเป็นอย่างนี้ เกิดขึ้นมาแล้วมันก็สกปรก แต่ว่ามันมีผลยิ่งกว่าสกปรกธรรมดา สกปรกธรรมดาของสกปรกติดมือติดเท้านี่มันก็ยังไม่ถึงกับร้อน ส่วนของสกปรกคือกิเลสนี่มันร้อน แต่แล้วมันมีอะไรของมันดี ดีสำหรับกิเลส คือมันร้อนชนิดที่คนชอบ มันร้อนชนิดที่คนพอใจ มันก็เลยเป็นนิสัย เป็นนิสัย พอใจกิเลส พอใจกิเลส
ถ้าว่าจิตไม่มีอะไรมาปรุงแต่งให้วุ่นให้ร้อนให้...มันก็สงบแล้วมันก็เย็น แต่คนมันก็ไม่ชอบ มันกลายเป็นว่าไม่ชอบที่ว่างจากกิเลสหรือเย็น จะเห็นคนโดยมากหรือมากทีเดียว อยู่เฉยๆ ไม่ชอบ อยู่อย่างเย็นๆ เฉยๆ ไม่ชอบ ไปเอาเหล้ามากิน แล้วกระตุ้นให้มันเป็นอย่างไรบ้างก็รู้เถอะ มันก็ไม่เย็น มันก็ไม่ปกติ กินเหล้าเข้าไปนี่ แต่แล้วมันก็ชอบน่ะ มันก็ชอบ นี้แสดงว่ามันไม่ชอบเย็น มันไม่ชอบหยุด มันไม่ชอบปกติ หรือมันเอาอะไรชนิดที่มาทำให้ไม่หยุด ไม่เย็น ของเล่นที่ยั่วหรือว่ากีฬาอะไรก็ตามใจที่มันเป็นเรื่องยั่ว ไปดูหนังไปดูละคร คุณลองสังเกตหรือว่าเทียบเคียงดูว่าจิตที่กำลังสนุกอยู่ด้วยหนังด้วยละคร โดยเฉพาะชนิดประเภทกามารมณ์ด้วยแล้ว จิตมันเป็นอย่างไร มันไม่หยุดมันไม่เย็น มันสั่นระรัว มันถูกทำให้ฟุ้งซ่านกลัดกลุ้มไปด้วยอารมณ์นั้นๆ แต่คนก็ชอบ ตัวเราเองก็ลองคิดดูเถิด ก็ไปชอบดูหนังมากกว่าที่จะอยู่นิ่งๆ ที่บ้านอย่างสงบเย็น ยอมเสียสตางค์ด้วย แล้วก็ไปดูหนังให้มันกระตุ้นให้จิตใจมันป่วนปั่นอยู่นั้น นี่แสดงว่ามันไม่ชอบเย็น มันไม่ชอบเย็น มันไม่ชอบหยุด มันไม่ชอบเย็น มันไม่ชอบปกติ มันไม่ชอบอิสระ แต่แล้วมันก็ชอบกิเลส เลยกลายเป็นของถูกใจไปเสีย ก็ไม่เห็นเป็นของร้อนหรือเป็นของน่ารังเกียจ ทั้งที่มันเป็นของร้อน เพราะว่าถ้ากิเลสเกิดขึ้นแล้วมันอยู่นิ่งไม่ได้ มันถูกปรุงแต่งๆ ปรุงแต่งไปในทางใดทางหนึ่งแหละ มันไม่ได้หยุดนิ่ง ฉะนั้นขอให้เข้าใจสิ่งนี้กันเสียให้ดีๆ
ขอพูดซ้ำเรื่องที่เคยมาพูดมาแล้วอีกทีว่าลักษณะของกิเลสนี่ มันก็มีเฉพาะอย่างๆ ตามอำนาจของกิเลส ซึ่งเขาจัดไว้เป็น ๓ ประเภท โดยรายละเอียดนับไม่ไหว แต่ว่าประเภทเใหญ่ๆ แล้วก็เป็น ๓ ประเภท คือโลภ โกรธ หลง หรือราคะ โทสะ โมหะก็ได้ โลภะ โทสะ โมหะก็ได้
ประเภทที่ ๑ โลภะหรือราคะนี่ มันดูดเข้ามา มันดึงเข้ามา แล้วมายึดมั่นถือมั่นกอดรัดไว้ มันเต็มไปด้วยความร้อนระอุชนิดหนึ่ง แล้วมันก็พอใจ คนก็พอใจที่จะมีความรัก มีความกำหนัดยินดี ความโลภอย่างแรงกล้า เห็นเป็นสบาย ทีนี้ที่ ๒ คือโทสะหรือโกธะนั่นน่ะ มันก็มีลักษณะผลักออก มันคู่กันนะ ดึงเข้ามากับผลักออกไปน่ะ ภาษาไฟฟ้า pushหรือ pull พูลก็ลากเข้ามา พุชก็ดันออกไปๆ อันที่ ๑ มันดูดออกมา อันที่ ๒ มันผลักออกไป โทสะโกธะนี่มันเป็นกิเลสประเภทที่มีลักษณะผลักออกไป ผลักออกไปด้วยความไม่ชอบ แล้วก็จะทำลายเสียด้วย ไม่ใช่ผลักออกไปเฉยๆ อันที่ ๑ ดึงเข้ามาแล้วก็สงวนเอาไว้รัดกอดด้วยความรัก อันที่ ๒ ผลักออกไปแล้วก็จะทำลายเสียด้วย ทีนี้อันที่ ๓ โมหะมันโง่ มันไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ยังมีความสงสัย มีความข้องใจติดพันยินดีอยู่ว่า เอ๊ะ,อันนี้ต้องมีประโยชน์ หรือว่าให้เกิดความสงสัยอยู่นั่นแหละ มันก็ต้องวิ่งวนอยู่รอบๆ ไม่ผลักและก็ไม่ดูด ไม่ดูดเข้ามาและไม่ผลักออกไป เลยวิ่งวนอยู่รอบๆ นี่ช่วยจำอาการ ๓ อย่างนี้ไว้ให้ดี เมื่อใดเรามีความรู้สึก มีลักษณะอย่างนี้ ก็ให้รู้เถิดว่ามันเป็นกิเลสอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว โลภะหรือราคะนี่จะดึงเข้ามาหา ถ้าพอใจจะรักจะยึดเอาไว้ จะสงวนเอาไว้ จะกอดรัดเอาไว้น่ะ อันที่ ๒ มันก็ผลักออกไป ผลักออกไป แล้วก็อยากจะทำลาย หรืออยากจะฆ่าเสียด้วยซ้ำไปเพราะไม่ชอบหน้า อันที่ ๓ ไม่แน่ สงสัย ไม่แน่ใจ ก็เลยไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร แต่สงสัย ยังหวังอยู่ๆ ก็วิ่งอยู่รอบๆ นั่นแหละ นี้เป็นลักษณะที่สังเกตได้ง่ายที่สุด
ทีนี้ก็ดูด ที่ดึงเข้ามา ดูดดึงเข้ามา กอดรัดเอาไว้น่ะ เย็นหรือร้อน เย็นหรือร้อน มันเป็นความร้อนที่มีรสชาติตรงกับกิเลส ตรงกับความรู้สึกที่เป็นกิเลส มันก็ไม่เกลียด มันก็ไม่รังเกียจ มันก็ไม่เห็นว่าศัตรูหรืออันตราย มันก็รัก มันก็รับเอาไว้โดยที่ไม่รู้สึกว่าร้อน ฉะนั้นความรัก ความกำหนัด ความโลภอะไรนี่ คนเขาก็ชอบๆ ยิ่งชอบยิ่งมียิ่งพอใจ ไม่ได้รังเกียจว่าเป็นของร้อนนะ ออกไปๆ ไม่ ไม่รู้สึกอย่างนั้น รู้สึกว่ายิ่งมาอยู่ในใจตลอดเวลาแล้วก็ยิ่งดี นี่แสดงว่ามันชอบ หลงของร้อน ร้อนอย่างราคะโลภะ
ทีนี้ โทสะ ก็เหมือนกันแหละ เกิดขึ้นแล้วมันก็ร้อน ร้อนตามแบบโทสะ แต่มันก็ให้รสชาติสบายแก่ผู้บันดาลโทสะ เขารู้สึกเอร็ดอร่อยไปอีกแบบหนึ่ง ได้โมโห ได้โกรธ ได้ตบตีใครเข้าไปนี่ เขาสบายแล้ว ไม่รู้สึกในแง่ของคำว่าร้อนๆ ที่จริงมันก็ร้อนๆ เหลือร้อนแหละ แต่มันก็กลับเห็นเป็นว่าสบายไปเสีย ได้ชอบด่า ชอบตี ชอบขัดคออะไรต่างๆ แล้วแต่ฝ่ายที่ไม่ชอบทั้งนั้น ก็ไม่ชอบอยู่โดยที่ปราศจากความโกรธ เรื่องนิดเดียวก็โกรธให้มันมากเข้าเพื่อมันจะได้อร่อยมากด้วยความโกรธ ไม่มีเรื่องบางทีก็หาเรื่องให้มันโกรธ เพราะความโกรธนี่มันก็มีรสอร่อย แม้ว่ามันจะมีรสขมตอนปลาย แต่มันก็หวานทีแรก ก็สุดแท้ ไม่มีใครไปนึกถึงว่ามันจะขมในตอนท้าย เดี๋ยวนี้มันหวานก็เอา ก็โกรธ ก็ด่า ก็ทุบตีอะไรไปตามเรื่อง เย็นหรือร้อน คุณคิดดู เย็นหรือร้อน
ทีนี้โมหะ โมหะนี้ร้อน ร้อนอย่างเย็น ร้อนอย่างเปียก ร้อนอย่างไม่แสดงอาการร้อน เรียกกันเล่นตลกๆ ว่ามันเป็นไฟเปียก นึกดู เมื่อเรากำลังสงสัยอะไรอยู่อย่างยิ่ง มันสงสัยอย่างยิ่ง เวลานั้นสบายหรือไม่สบาย มันทรมานใจอย่างยิ่งเหมือนกันแหละความสงสัย ความลังเล ความไม่แน่ใจ ความไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดีนั่นแหละ มันก็ร้อนเหมือนกันแหละ นั่นแหละความไม่รู้หรือโมหะนี้มันก็ร้อน ร้อนไปอีกแบบหนึ่ง ฉะนั้นขอให้รู้ว่าไฟน่ะ มันหลายชนิดอย่างนี้ ไฟประเภทโลภะราคะมันก็อย่างหนึ่ง ไฟประเภทโทสะหรือโกธะนี่ก็อย่างหนึ่ง ไฟประเภทโมหะหรือโง่นี่ก็อีกอย่างหนึ่ง ให้สังเกตดูจนรู้จักมัน ไม่ให้มันหลอกได้ จนเห็นว่าเป็นสิ่งที่ร้อนเผาทั้งนั้น แล้วก็น่ารังเกียจด้วย แล้วก็สกปรกจริงๆ ด้วย สกปรกแก่จิตใจนี่ แล้วใครบ้างล่ะที่ไม่เคยเกิดกิเลส แต่ก็มองมันในแง่ที่ตรงกันข้าม เห็นเป็นสนุกดี กลายเป็นมีรสมีชาติ สนุกหรือเป็นสุขไปเสียอีก ฉะนั้นเราจะต้องรู้ว่ากิเลสนี่จะต้องเป็นไฟ จะไฟลุกโพลงๆ หรือไฟอยู่ใต้แกลบใต้ขี้เถ้า หรือว่าไฟเปียกๆ ความร้อนชนิดเปียกๆ นี่ เช่นน้ำร้อนหรือว่าอะไรที่มันร้อนๆ ของเปียกๆ มันก็ร้อน รู้จักให้ดี ให้หายโง่ ถ้าไม่รู้จักสิ่งที่เกิดอยู่กับจิตใจตลอดเวลาหรือตลอดทุกวันนี้ คือจะไม่ให้เรียกว่าโง่ แล้วจะให้เรียกว่าอะไรถ้าไม่ให้เรียกว่าโง่ที่สุด
ฉะนั้นเราจะต้องรู้จักสิ่งนี้ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ ความทุกข์มันก็เลยพลอยเป็นแห้ง เป็นเปียก เป็นอะไรไปตามแบบของกิเลสนั่นแหละ เพราะว่ามีความทุกข์ เพราะมีความทุกข์ จึงเกิดพระพุทธเจ้าขึ้นมาในโลก คำพูดอย่างนี้ดูเป็นคำตรัสของพระองค์ก็มี เพราะความทุกข์มีอยู่ในโลกในหมู่สัตว์ พระพุทธเจ้าจึงเกิดขึ้นมา ฉะนั้นถ้าว่าความทุกข์ไม่มีอยู่ในหมู่สัตว์หรือในโลก พระพุทธเจ้าก็ไม่ต้องเกิดๆ คือมันไม่มีปัญหา หรือไม่มีงานที่จะทำ แต่เพราะสัตว์หรือหมู่สัตว์มันมีความทุกข์ มันมีปัญหา บุคคลที่จะดับทุกข์ได้และจะสอนให้ดับทุกข์ได้มันก็ต้องเกิดขึ้นมานี่ สำคัญกี่มากน้อยกิเลสนี่ กิเลสเป็นเหตุให้เกิดควาทุกข์ ความทุกข์เป็นเหตุให้เกิดบุคคลแสวงหาทางดับทุกข์จนเกิดพระพุทธเจ้า เราน่าจะขอบใจกิเลสใช่ไหม เพราะทำให้เกิดพระพุทธเจ้าสำหรับดับทุกข์ แต่เราก็ไม่ขอบใจกิเลสเพราะเรารักกิเลสมากกว่ารักพระพุทธเจ้าน่ะ ดูให้ดี คุณคิดดูกันให้ดีๆ ที่อยู่ปัจจุบันนี้มันจะรักกิเลสมากกว่ารักพระพุทธเจ้า
ก็อย่างที่กล่าวมาแล้วนะ ราคะเกิดขึ้นก็พอใจ โทสะเกิดขึ้นก็พอใจ โมหะเกิดขึ้นก็พอใจ แล้วทำไมจะไปชอบคนที่มีมาสำหรับจะดับราคะโทสะโมหะเล่า นี่มันเล่นตลกกันอยู่อย่างนี้ ต่อเมื่อบุคคลใดเห็นชัด รู้จักกิเลสชัด รู้จักความทุกข์ที่เกิดมาจากกิเลสชัดนู่น มันจึงจะเกลียด รังเกียจกิเลสและความทุกข์ ฉะนั้นอย่าทำเล่นกับกิเลส มันมีเสน่ห์ มีเสน่ห์ที่ฉาบ ฉาบบังเอาไว้เหลือประมาณ เราจึงไม่เคยคิดที่จะเกลียดหรือเข่นฆ่ากิเลส พอใจไปด้วยกัน กลับพอใจไปด้วยกัน อย่าลืมนะข้อนี้ กิเลสมีเสน่ห์ที่ทำให้น่ารักน่าพอใจอย่างยิ่ง จนคนธรรมดาไม่อยากจะฆ่ากิเลส อยากจะมีกิเลส อยากจะอร่อยด้วยกิเลส ก็เลยได้อยู่กับไฟ ได้อยู่กับไฟ เป็นชินไป เป็นชีวิตร้อน เป็นชินไป ไม่ได้ต้องการชีวิตเย็น ถ้าเรามาพูดขึ้นว่าชีวิตเย็น เขาก็จะไม่เข้าใจ แล้วเขาก็จะหาว่าโง่หรือบ้าเอาเสียด้วย เพราะมันมีสิ่งที่พอใจแล้ว ชีวิตร้อนน่ะมันพอใจ ถ้าใครมาพูดถึงชีวิตเย็น มันก็หัวเราะเยาะ กลายเป็นคนโง่ไป มันจะเป็นเสียอย่างนี้ ถ้าอย่างนี้แล้ว มันโง่หลายซับหลายซ้อนแหละ การที่ไม่รู้จักกิเลสน่ะมันโง่ที่สุดอย่างยิ่งอยู่แล้ว ไม่รู้จักเท่านั้นโง่อย่างยิ่งแล้ว จะไปหลงรักหลงพอใจ จะให้มีอยู่ด้วยกันเข้าไปอีก นี่มันก็โง่หลายเท่าตัวแหละ ขอให้คิดดูให้ดี ด้วยเหตุนี้เป็นเหตุให้เราไม่พบกันกับชีวิตเย็น ไม่ขวนขวายแสวงหาชีวิตเย็น เพราะอยู่กับชีวิตชนิดนี้ มันพอใจๆแล้ว ก็คือพอใจที่จะมีความทุกข์
คำพูดบ้าหรือดีก็ไม่ทราบแหละที่ว่าคนทุกคนเกลียดทุกข์รักสุข นี่คุณไปคิดดูให้ดี คำพูดนี้บ้าหรือดี ที่พูดว่าทุกคนรักสุขเกลียดทุกข์ เพราะมันพิสูจน์อยู่แล้วในตัวน่ะว่ามันชอบกิเลส ชอบผลของกิเลส มันไม่ได้เกลียดทุกข์ มันอร่อยด้วยความทุกข์อร่อยด้วยกิเลส รักสุขเกลียดทุกข์กลายเป็นเรื่องคำนวณเสียมากกว่า ไม่ใช่เรื่องจริงที่ปรากฏอยู่ในจิตใจจริงๆ ถ้ามันรักสุขจริงเกลียดทุกข์จริง มันไม่เป็นอย่างนี้ มันดีกว่านี้แน่ ความทุกข์จะไม่ค่อยมีโอกาส หรือจะหมดสิ้นไปจากโลกก็ได้ ถ้าทุกคนในโลกมันเกลียดทุกข์จริง ความทุกข์ไม่มีที่อยู่หรอก เดี๋ยวนี้มันยังชอบทุกข์ แล้วบางคนจะพลอยบูชาเสียด้วย บูชาความทุกข์ พอใจ ชอบ เอร็ดอร่อย จนถึงกับบูชาความทุกข์ ก็คือบูชากิเลสนั่นแหละ
บูชาราคะโลภะ บูชาโทสะโกธะ บูชาโมหะ โดยไม่รู้ตัว เมื่อไม่รู้ตัว มันก็ไม่กลัวมันก็ไม่ละอาย เห็นไหมว่ามันอยู่กับเนื้อกับตัวแท้ๆ เกิดอยู่กับชีวิตแท้ๆ แล้วก็บ่อยที่สุดด้วย ก็ไม่ยักจะรู้จัก แล้วก็ไม่เกลียดไม่กลัว กลับพอใจ พอใจเห็นมันเป็นอย่างนั้น ดีแล้วๆ ดีแล้ว แล้วมันยังมีชั้นที่ละเอียดอ่อนเข้าใจยาก กิเลสที่ละเอียดประณีต ละเอียด เข้าใจยาก นี่ยิ่งหลงหนักขึ้นไปอีก ยิ่งหลงหนักไปกว่ากิเลสหยาบๆ คำว่ากิเลสเป็นอย่างนี้ นี้คำว่ากิเลส มี ๓ ประเภทคือดึงดูดเข้ามา และผลักไสออกไปหรือทำลายเสีย อันหนึ่งดึงดูดเข้ามาถนอมไว้ อันหนึ่งผลักไป ไปทำลายเสีย อันหนึ่งไม่รู้จะทำอย่างไรก็วิ่งอยู่รอบๆ นี่คือสิ่งที่เรียกว่ากิเลส โดยชื่อว่า โลภะ โทสะ โมหะ
เอ้า,ทีนี้ เรื่องของมันยังมีมากกว่านั้น ที่ผมพูดเมื่อตะกี้ว่าฟังดูแล้วยังไม่เข้าใจ,ยังไม่เข้าใจ จำก็ยังไม่ค่อยจะได้ เข้าใจก็ยิ่งไม่เข้าใจ ยังไม่เข้าใจ แม้แต่จำก็ยังจำไม่ค่อยจะได้ ขอให้ตั้งใจฟังให้ดีทีเถิด มันความลับของกิเลสที่มันเกิดขึ้นเป็นโลภะ โทสะ โมหะ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ที่มันเกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัยด้วยความโง่ความอะไรก็ตาม มันได้เกิดกิเลสขึ้นมา เราก็เรียกว่ากิเลสๆ ชื่อนี้เรียกว่ากิเลส
เอ้า,ทีนี้ เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว,เกิดขึ้นแล้ว กิเลสนั้นก็ดับไปแล้ว แต่มันได้ทิ้งสิ่งหนึ่งไว้คือกิเลสในฐานะที่เป็นความเคยชิน ถ้าจะเรียกให้ถูกก็เรียกความเคยชินแห่งกิเลสน่ะถูกที่สุด แต่เขาก็ยังมักจะเรียกกันว่ากิเลสที่นอนในสันดานน่ะ คือกิเลสที่เคยชิน เกิดโลภะหรือราคะขึ้นมาทีหนึ่ง เสร็จดับไปแล้ว ก็ทิ้งความเคยชินไว้ เรียกว่าราคานุสัยๆ อนุสัยคือราคะ จะถูกทิ้งไว้ในสันดานนะ ทุกคราวที่เกิดโลภะหรือราคะ นี่เรียกว่าราคานุสัย
ทีนี้เมื่อกิเลสประเภทโทสะหรือโกธะ เกิดขึ้นเป็นกิเลสๆ กิเลสแล้วก็ดับไป ก็ทิ้งอนุสัยความเคยชินแห่งกิเลสไว้ เรียกว่าปฏิฆานุสัย อันแรกชื่อตรงตามกิเลสว่าราคานุสัย ราคะน่ะ แต่อันนี้แปลกออกไป เป็นปฏิฆานุสัย แทนที่จะเรียกว่าโกธานุสัย โทสานุสัย มันไปเรียกปฏิฆานุสัย ก็อันเดียวกันนั่นแหละ ความเคยชินแห่งความโกรธ ความไม่ชอบใจนี่ มันจึงมีปฏิฆานุสัยเข้าไว้ เหลือไว้ทิ้งไว้เป็นกิเลสแห่งความเคยชิน นี่ที่เขามักจะเรียกกันว่านอนอยู่ในสันดานน่ะ
ทีนี้ถ้าว่ามันเป็นโมหะโง่ขึ้นมาทีหนึ่งดับไปแล้ว มันก็ทิ้งความเคยชินหรืออนุสัยไว้ เรียกว่าอวิชชานุสัย,อวิชชานุสัย แทนที่จะเรียกว่าโมหานุสัย ไปเรียกว่าอวิชชานุสัย ได้เป็น ๓ ชนิดเหมือนกัน ตามจำนวนของกิเลส คือราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัย, ๓ อนุสัย นี้ไม่ใช่ตัวกิเลสหรอกที่จริงน่ะ มันเป็นความเคยชินแห่งกิเลสที่ทิ้งไว้ในสันดาน แต่เขาก็มักจะเรียกกันว่ากิเลสเหมือนกัน กิเลสนอนในสันดาน อนุสัยคือกิเลสที่นอนในสันดาน
ผมมาพูดอธิบายเสียใหม่ว่ามันไม่ใช่ตัวกิเลสโดยตรงหรอก เป็นความเคยชินแห่งกิเลส แต่เขาจะให้มันเป็นกิเลส เอ้า,ก็ได้ กิเลสแห่งความเคยชิน เป็นกิเลสแห่งความเคยชิน เรียกว่าราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัย เกิดกิเลสตัวไหนขึ้นมาแล้ว ก็จะทิ้งความเคยชินแห่งกิเลสตัวนั้นไว้เป็นอนุสัย สะสมอยู่ในสันดาน สะสมความเคยชินคือพร้อมที่จะเกิด ความพร้อมที่จะเกิด มันไม่ได้เกิดอยู่หรอก แต่มันมีความพร้อมที่จะเกิด อนุสัยมันเป็นอย่างนั้น นี่คือกิเลสประเภทอนุสัย
ทีนี้ เมื่ออนุสัยเก็บไว้ในสันดานมากๆ มากๆ มากเข้า มันก็เป็นธรรมดาที่มันจะโผล่ออกมา จะโผล่กลับออกมา นี้ก็เรียกว่าอาสวะ กิเลสที่จะไหลกลับออกมาหรือไหลกลับออกมานี้ กิเลสประเภทนี้เรียกว่าอาสวะ กิเลสที่ไหลกลับออกมา ได้เหมือนกันถ้าคุณอยากจะเรียกให้เป็นกิเลสเสียหมด ก็จะตั้งชื่อให้ว่ากิเลส กิเลสโดยตรงเกิดขึ้น กิเลสที่เกิดขึ้น แล้วสอง กิเลสที่เก็บความเคยชินไว้ในสันดาน ทีนี้สาม กิเลสที่มันไหลกลับออกมา กิเลสโดยตรงเรียกว่ากิเลส กิเลสความเคยชินเรียกว่าอนุสัย กิเลสที่จะไหลออกกลับออกมาเรียกอาสวะๆ คนธรรมดาก็มีอาสวะไหลออกมาเรื่อย คือจากอนุสัยที่เก็บไว้เป็นความเคยชิน พอมีอะไรมากระทบ เปิดโอกาสทางตา หู จมูก ลิ้น กายก็ตาม มันได้โอกาสก็ไหลกลับออกมาเป็นกิเลส เป็นอาสวะ อาสวะ อาสวะ ถ้าไม่มีปัจจัยภายนอกเข้ามาช่วยเหลือ มันก็ครุ่นขึ้นมาเอง เป็นนิวรณ์น่ะ เป็นนิวรณ์ มันต่างกันนิดเดียวแหละ นิวรณ์น่ะ มันละเอียดอ่อนคือมันไม่รุนแรง และมันไม่ต้องอาศัยปัจจัยภายนอก มันก็ดันออกมาจากอนุสัยได้ เป็นไอกรุ่นขึ้นมาอย่างนั้นแหละ ไม่รุนแรงแต่ก็ร้ายกาจเหมือนกัน นิวรณ์ๆ นี่เป็นอาหารของอวิชชา ขอให้สังเกตบางวันตื่นนอนขึ้นมานี่ เพียงแต่ตื่นนอนขึ้นมานี่ มันมีความไม่ชอบใจอะไรติดมาแล้วเสร็จโดยไม่ได้ทำอะไร ไม่ทันจะทำอะไร ความรู้สึกไม่ชอบใจอะไรขึ้นมาแล้วพร้อมกันกับตื่นนอนขึ้นมา นี่เป็นลักษณะนิวรณ์ ไม่ต้องอาศัยปัจจัยภายนอก หรือว่ามันใคร่ มันรัก มันหลงอะไรขึ้นมา หรือว่ามันงัวเงียละเหี่ยละห้อยไม่มีแรงขึ้นมาเป็นถีนมิทธะ หรือบางทีก็ฟุ้งซ่านขึ้นมาตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมา ส่วนความลังเลไม่แน่ใจนั้นมีได้ง่ายที่สุด ตื่นขึ้นมาเต็มไปด้วยความลังเลจนกระทั่งไม่รู้จะทำอะไรดี นี่นิวรณ์โผล่ขึ้นมาจากอนุสัยโดยที่ไม่ต้องมีปัจจัยภายนอกเข้ามาช่วยปรุงช่วยดึง แต่ถ้ามีปัจจัยภายนอกมาปรุงมาดึง มันเกิดเต็มที่เป็นอาสวะ
ฉะนั้นนิวรณ์มันคล้ายๆจะครึ่งเดียว ไม่เต็ม ไม่เต็มรูป มันไม่มีแรงมาก เรียกว่านิวรณ์ๆ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่เล่น รบกวนความสงบสุขเหลือประมาณ ถ้าเต็มหรือเต็มที่ก็เป็นอาสวะไหลออกมาเลย เกิดโลภะไหลออกมาจากราคานุสัย เกิดโทสะไหลออกมาจากปฏิฆานุสัย เกิดโมหะไหลออกมาจากอวิชชานุสัย ถ้าไม่มีอาสวะไหลออกมาคือสิ้นอาสวะ ไม่มีอาสวะไหลออกมานั้นมันหมายความว่าอนุสัยมันหมดแล้ว อนุสัยมันถูกทำลายหมดแล้ว พระอรหันต์สิ้นอาสวะไม่มีอาสวะไหลออกมาอีกแล้ว เพราะว่าอนุสัยที่เก็บไว้ในสันดานมันหมดแล้ว มันถูกกระทำให้หมดไปเสียแล้ว
ทีนี้ก็มาดูกันอีกสักนิดว่า อนุสัยมันจะหมดไปได้อย่างไร อนุสัยที่เก็บกักตุนไว้เป็นความเคยชินนี่ มันมีหลักอยู่ว่า ถ้าเกิดกิเลสขึ้นมาทีหนึ่งน่ะ มันก็เก็บเป็นอนุสัยไว้หน่วยหนึ่ง ตามชื่อของมันน่ะ ตามชื่อของกิเลส ตามชื่อของอนุสัย เกิดกิเลสขึ้นมาหน่วยหนึ่ง ก็เก็บอนุสัยไว้หน่วยหนึ่ง แต่ถ้าบังคับไว้ได้ ไม่ทำให้เกิดกิเลส ไม่ให้เกิดกิเลส เกิดในกรณีที่ควรจะเกิดน่ะ มันจะลดอนุสัยเสียหน่วยหนึ่งเสมอ เหตุการณ์ที่น่ากำหนัดยินดีหรือโลภหรืออะไรเข้ามา จะทำให้กำหนัดให้โลภนี่ บังคับไว้ได้ไล่ออกไปเสียได้ ถ้าอย่างนี้แล้วอนุสัยชื่อนั้นน่ะที่อยู่ก่อนข้างใน จะลดลงหน่วยหนึ่ง ฉะนั้นจงบังคับกิเลสทุกกิเลสทุกชื่อไว้เถิด จะลดอนุสัยหน่วยหนึ่งๆ เรื่อยไป ถ้าทำได้อย่างนี้มันก็หมดได้เหมือนกัน ก็เรียกว่าไม่ให้อาหารมันคือไม่ให้กิเลสที่เป็นให้อาหารมัน นี้ทางหนึ่งที่ว่าอนุสัยมันจะหมดไปได้โดยไม่ให้อาหารมัน มีแต่ลดออก ไม่บวกไม่เพิ่มเข้า มีแต่ลดออก ก็บังคับไม่ให้เกิดกิเลสก็ได้
ทีนี้อีกทางหนึ่งก็ด้วยอำนาจของวิปัสสนาญาณ เจริญวิปัสสนาเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตถาตา สุญญตา อะไรก็ตามที่เรียกว่าวิปัสสนา วิปัสสนานั้นมันเข้าไปลดอนุสัย ลดอนุสัย ทำลายอนุสัย ตามชื่อของมัน ตามคู่ปรับของมัน ตามชั้นเชิงของมัน วิปัสสนาญาณนั้นจะทำลายอนุสัย ถ้าวิปัสสนาญาณนั้นสูงสุดจริงๆ ก็ทำลายอนุสัยหมด โดยอาสวะไม่มีทางมา ไม่มี ไม่มีมาอีกแล้ว เพราะอนุสัยถูกทำลายเสียหมดแล้วด้วยวิปัสสนาญาณ หรือถ้ามิฉะนั้น มันก็ด้วยการบังคับไม่ให้กิเลสเกิดขึ้นมา อนุสัยมันก็ลดไปทีละหน่วยๆ ทีละหน่วย แต่มันช้ามาก มันอาจจะไม่รู้จักหมดก็ได้ เพราะมันเติมเพิ่มรส แต่ถ้าด้วยวิปัสสนาญาณที่ถูกต้องถูกวิธีจริงๆ จังๆ แล้ว มันทำลายอนุสัย กวาดเกลี้ยงก้นหม้อเลย ก้นสันดานเลย เมื่ออนุสัยไม่มีอยู่ในสันดานแล้ว อาสวะก็ไม่มีทางที่จะไหลออกมา ก็กลายเป็นสิ้นอาวะไป เพราะมันสิ้นอนุสัยที่มีอยู่ในภายใน วิปัสสนาญาณชั้นพระโสดาบันตัดอนุสัยได้เท่านั้นเท่านี้ วิปัสนาญาณชั้นพระสกิทาคามีตัดอนุสัยได้เท่านั้นเท่านี้ วิปัสสนาญาณชั้นพระอนาคามีตัดอนุสัยได้เท่านั้นเท่านี้ วิปัสสนาญาณชั้นอรหันต์ตัดอนุสัยได้หมดเลยๆ นี่อนุสัยมันหมดไปด้วยอำนาจวิปัสสนาญาณ อาสวะก็ไม่มีจะไหลออกมา
นี่เรื่องของกิเลสมีความลับอยู่อย่างนี้ มีธรรมชาติอยู่อย่างนี้ มีปกติวิสัยหรือข้อเท็จจริงของมันอย่างนี้ เพราะฉะนั้นขอให้คุณรู้จักสิ่งที่เรียกว่ากิเลสให้เต็มที่เลย อย่าไปหลงอย่าไปเข้าใจผิด แล้วก็รู้จักอนุสัยความเคยชินของกิเลสที่เก็บไว้เต็มที่ แล้วก็รู้จักอนุสัยที่ไหลออกมาเป็นอาสวะๆ ให้เต็มที่ ให้รู้จักอาสวะคือกิเลสกลับออกมาในรูปเดิม และรู้จักนิวรณ์ นิวรณ์ที่อนุสัยส่งขึ้นมาตามสมควรน่ะ เป็นเพียงไอระเหยไม่ถึงกับลุกเป็นไฟ แต่ก็ร้อนเหมือนกันแหละ
ก็ได้ศึกษามาบ้างแล้ว ได้ยินว่าเรียนนักธรรม รู้จักนิวรณ์ ๕ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา เมื่อมันเกิดอยู่ตลอด รบกวนอยู่ตลอดวันตลอดคืน น้อยๆ ไม่ค่อยรู้สึก แต่เขาพูดกันผิดๆ ไม่รู้ใครมันพูดผิดขึ้นมา แล้วก็พูดผิดต่อกันไปว่ามันจะไปเกิดต่อเมื่อจะทำสมาธินี่ มันไปพูดเสียอย่างโน้นว่านิวรณ์นี่จะไปเกิดต่อเมื่อจะทำสมาธิ มันไม่รู้ว่ามันเกิดอยู่ตลอดเวลา นี่ก็คือโง่ที่สุดเหมือนกันแหละ เพราะอนุสัยมันมีอยู่ข้างใน มันส่งเป็นไอกรุ่นขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้โดยไม่ต้องเฉพาะว่าเมื่อจะทำสมาธิแล้ว ก็ว่านิวรณ์เป็นข้าศึกของสมาธิโดยตรงกันนี้มันไม่พอ มันเกิดได้เมื่อไหร่ก็ได้ เมื่อไม่ตั้งใจทำสมาธิมันก็เกิดได้ บางทีมันเกิดมาพร้อมแล้วกับการตื่นนอน นี่เรียกว่านิวรณ์ๆ มันไม่ถึงกับเผาให้ไหม้หรือกัดให้ตายเหมือนกิเลส แต่มันก็ทำให้มีความทุกข์ ทุกข์อย่างน่ารำคาญ ทุกข์อย่างที่ไม่มีความแจ่มใส ไม่มีความสดใส จิตใจไม่เยือกเย็นไม่เป็นสุขถ้านิวรณ์แม้นิดหนึ่งมารบกวน
กามฉันทนิวรณ์นั้น เพียงแต่ว่ารู้สึกเอียงไปในทางกาม ไม่ได้โพลงๆ เป็นราคะเป็นอะไรหรอก พยาบาทก็เหมือนกัน เพียงแต่ขัดใจไม่ชอบใจอะไรก็ไม่รู้ เพียงเท่านี้ก็เป็นพยาบาทนิวรณ์ๆ พยาบาทอย่างอื่นนั้นมันมากเต็มขั้น นู่นมันอีกอย่าง เดี๋ยวนี้ถ้าเรียกว่าพยาบาทนิวรณ์ ก็เพียงแต่ขัดใจ ความรู้สึกไม่โล่งใจ ไม่สบายใจ ขัดใจ แล้วก็ถีนมิทธะ ระโหยโรยแรง อ่อนเพลีย มึนชาๆนี่ เกิดมาได้โดยที่เราไม่รู้มันเพราะเหตุอะไร มันก็มาจากอนุสัยพวกโมหะน่ะ บางทีก็ฟุ้งซ่านๆ บางทีก็ฟุ้งซ่านนอนไม่หลับเสียเฉยๆ อย่างนั้น และก็ลังเลๆ ความไม่กระจ่างแจ่มแจ้งในวิชาความรู้ ลังเลไปเสียหมด ลังเลว่าไม่ถูกต้องไม่ปลอดภัยไม่แน่ใจไม่ไว้ใจอะไรน่ะ นี่นิวรณ์ นิวรณ์ข้อวิจิกิจฉา วิจิกิจฉาอย่างอื่นมันก็มีแรงกว่านี้ แต่ว่าวิจิกิจฉานิวรณ์นั้นเพียงเท่านี้ก็พอ รบกวนความสงบสุขพอแล้ว ฉะนั้นจงรู้จักนิวรณ์ทั้ง ๕ นี้ก่อน เพราะมันได้มีอยู่จริง มันได้มีอยู่เป็นประจำวันจริง รู้จักมันเสียก่อน ที่พูดว่าไม่รู้จักกิเลสแล้วโง่ที่สุด ไม่รู้จักนิวรณ์นี่มันก็โง่พอๆ กันหรือจะมากกว่าด้วยซ้ำไป เพราะมันเกิดง่าย เกิดบ่อย เกิดเนือยๆ เกิดติดต่อกันไปในการมีชีวิตประจำวันน่ะ รู้จักนิวรณ์ๆ
พระพุทธเจ้าตรัสว่านิวรณ์ๆนี่ เป็นอาหารหล่อเลี้ยงอวิชชา คือเป็นโอกาสให้เกิดอวิชชา ถ้าจิตมีนิวรณ์เหล่านี้อยู่ อวิชชาเกิดได้ง่าย และหล่อเลี้ยงอวิชชาให้มันแรงขึ้น อวิชชาคือโมหะความโง่ความไม่รู้นี้ มันมีนิวรณ์เป็นอาหาร มีนิวรณ์มากเท่าไหร่ อวิชชามันก็อ้วนท้วนเท่านั้นแหละ ขอให้ทุกคนดูให้ดีเถิด มันน่าเกลียดน่าชังที่สุดแหละ นิวรณ์ตัวเล็กๆ น่ะ มันหล่อเลี้ยงอวิชชา ฉะนั้นจงรู้จักกิเลสเด็กเล่นเล็กๆ คือนิวรณ์ๆ ให้ดี แล้วก็รู้จักกิเลสจริง โลภะ โทสะ โมหะนี้ให้ดีๆ จะชื่อว่ารู้จักกิเลสโดยสมบูรณ์ แล้วก็รู้จักอนุสัยความเคยชินที่จะเกิดกิลสที่เก็บไว้ แล้วก็รู้จักอาสวะ อนุสัยที่มันไหลกลับออกมาเป็นกิเลสอย่างเดิมอีก อนุสัยโลภะก็เกิดกลับออกมาเป็นโลภะ อนุสัยโทสะก็กลับมาเป็นโทสะ อนุสัยโมหะก็กลับมาเป็นโมหะ มันมีอยู่อยางนี้ ในชีวิตแท้จริงมันมีอยู่อย่างนี้ ในโรงเรียนมันไม่เคยสอน ในโรงเรียนมหาวิทยาลัยไหนมันก็ไม่ได้สอน คนมันก็ไม่รู้ มันก็มีสอนอยู่แต่ในพุทธศาสนานี่ในวิชาธรรมะนี่ ใครจะเอาไปเรียนไปสอนก็ได้ แต่ดูไม่ค่อยจะมีใครสนใจ เพียงแต่ให้เด็กจดไว้ในสมุด จดไว้แต่ชื่อ ท่องจำ ตอบคำถามได้ก็พอแล้ว ถึงพระที่เรียนนักธรรมตรี -โท -เอก ก็เหมือนกัน จดไว้แต่ชื่อ ตอบคำถามได้ก็พอแล้ว ไม่รู้จักตัวเลย นักธรรมตรี -โท - เอก ไม่รู้จักตัวกิเลส ไม่รู้จักตัวนิวรณ์ ไม่รู้จักตัวความทุกข์ นี่คือปัญหาๆ มันไม่พบกับชีวิตเย็น
กิเลส โลภะ โทสะ โมหะ เป็นไฟ เป็นอัคคิ เป็นไฟนี่พอจะเข้าใจได้ ไม่ยาก มันร้อนตามแบบของมัน แต่นิวรณ์ล่ะ ร้อนหรือไม่ร้อน เป็นไฟหรือไม่เป็นไฟ มันก็เป็นไฟเหมือนกัน เป็นไฟน้อยๆ เป็นไฟในระดับน้อยๆ เหมือนกับไฟไล่ยุงนี้ มันก็ยังมีลักษณะเป็นไฟ ร้อนไปตามแบบของนิวรณ์ ร้อนอย่างรำคาญ แม้จะไม่เป็นการร้อนชนิดที่เผาไหม้ แต่มันก็เป็นการร้อนอย่างรำคาญน่ะ เหงื่อออกได้เหมือนกันแหละ
นี่ในบรรดากิเลส ก็รู้เสียทั้งชนิดนิวรณ์และทั้งชนิดกิเลสโดยตรง แล้วก็อนุสัยความเคยชินแห่งกิเลสก็รู้จักเสียให้หมดทุกชื่อ อาสวะที่จะกลับออกมาก็รู้จักมันเสียให้หมดทุกชื่อ แต่อาสวะเขาให้ชื่อแปลกออกไป กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ ให้ชื่อแปลกออกไปจากคำว่าโลภะ โทสะ โมหะ มันก็มาจากอนุสัยออกมาเป็นเรื่องกาม ออกมาเป็นเรื่องภพ คือความมีความเป็น เป็นรูปเป็นอรูป แล้วก็เป็นอวิชชาเต็มที่เต็มความหมายขึ้นมา เรียกว่าอวิชชาสวะ เมื่อได้เหตุปัจจัยเพียงพอ มันก็ออกมารุนแรงยิ่งกว่าเดิม ยิ่งกว่าเมื่อเข้าไปเก็บไว้ มันออกมาแล้วมันยิ่งกว่าเดิม โลภะราคะอะไรนี่มันยิ่งกว่าเดิม เปรียบอุปมาเหมือนกับว่าตุ่มน้ำๆ กิเลสเกิดขึ้นทีหนึ่ง มันก็หยดอนุสัยใส่ในตุ่มไว้หยดหนึ่ง ทุกๆ ทีที่กิเลสเกิด น้ำมันมากขึ้นในตุ่ม เต็มขึ้นมาตั้งครึ่งตั้งค่อนจนเต็มเปี่ยม มันก็มีความดันที่จะออกมาเต็มที่ ถ้ามันมีรูสักนิดหนึ่ง ที่เขาเรียกว่ารูเท่าตามด มันก็ดันออกมาเต็มที่ ถี่เลย เพราะมันมีความดันข้างในมันมาก เพราะมันมีมากมันจึงดันมาก เพราะมีความดันมาก มันจึงเกิดง่ายมาก ดังนั้นเราจึงง่าย ง่าย ง่าย ง่ายขึ้นทุกที ง่ายที่จะราคะหรือโลภะ ง่ายที่จะโทสะหรือโกธะ ง่ายที่จะโมหะ มันง่ายมากขึ้น ง่ายมากขึ้น เพราะอนุสัยมันอัดไว้มาก นี่ด้านจิตใจมันเป็นอย่างนี้ ช่วยศึกษากันไว้ให้ดีๆ ช่วยศึกษากันไว้ให้ดีๆ จะได้รู้จักของร้อน รู้จักเชื้อแห่งของร้อน รู้จักความร้อน
เอ้า,ทีนี้ เราจะมาถึงเย็น ชีวิตเย็น ชีวิตที่เต็มไปด้วยกิเลส เต็มไปด้วยนิวรณ์ สะสมอนุสัยไว้มาก พร้อมที่จะเป็นอาสวะนี่ เป็นชีวิตร้อน ร้อนตามแบบของความร้อน แบบโลภะ โทสะ โมหะ ตามแบบของมันร้อน ชีวิตร้อน แต่ความโง่ของเราทำให้เห็นว่าไม่ร้อนหรือสบายไปเสียอีกเหมือนกับที่พูดตอนต้น มนุษย์เห็นเอร็ดอร่อยไปเสียอีกที่ได้ราคะ โลภะ โทสะ โกธะ โมหะ นี่ มันสนุกสนานเอร็ดอร่อยไปเสียอีก ไม่รู้สึกว่าร้อน
เดี๋ยวนี้หายโง่แล้ว พอจะเห็นว่าโอ้,มันร้อนโว้ย ร้อนโว้ย จะทำอย่างไรให้มันเย็น ก็ต้องดับ ดับไฟดับความร้อน ตอนนี้คำพูดมันกำกวม คำพูดมันกำกวม ถ้าเราดับไฟธรรมดา ไฟธรรมดาเราเอาน้ำสาดเข้าไปก็ได้ อะไรสาดเข้าไปดับกันตรงๆ ได้ แต่ว่าไฟกิเลสนั้นยากที่จะดับอย่างนั้น มันจะเผาไหม้เกรียมเอาเสียมากกว่า ถ้าไปเล่นกับมันซึ่งหน้า
ฉะนั้นดับไฟกิเลส มันไปอยู่ที่ไม่ปล่อยให้กิเลสมันเกิด คือไม่ปล่อยให้ไฟมันลุก เรียกว่าดับกิเลส ไม่ปล่อยให้กิเลสเกิดนั่นแหละเรียกว่าดับกิเลส ถ้าปล่อยให้มันเกิดแล้วค่อยไปเผชิญหน้ากัน อยากจะใช้สำนวนโวหารเรียกว่าเอาไม้สั้นไปรันขี้ นี่คนโบราณเขาพูดไว้ อย่าทำอะไรชนิดที่เอาไม้สั้นไปรันขี้ เพราะมันจะเปื้อนหน้าคนที่รันนั่นเอง
ทีนี้เราไม่ใช้วิธีไม้สั้นไปรันขี้ เราไปทำข้างหลังไม่ให้มันขี้ หรือไม่ให้มันถูกเราได้ หลีกห่างกันไว้ ก็คือมีสติเพียงพอ สัมปชัญญะเพียงพอ กำลังจิตเพียงพออะไรก็ได้ ไม่เปิดโอกาสให้กิเลสเกิด ไม่เปิดโอกาสให้ไฟลุก พอไฟทำท่าจะลุก ดับ ปิด อัดเสียเลยด้วยสติสัมปชัญญะนี่ ไม่ต้องเข้าไปรมกับไฟให้มันเผาให้ไหม้พอง เรียกว่าไม่มีลักษณะเอาไม้สั้นไปรันขี้ ทำให้มันไม่ขี้ หรือมันขี้ชนิดที่เราไม่เอาไม้สั้นเข้าไปรัน จะทำกับกิเลสนั้นน่ะต้องทำไม่ให้มันเกิด คำว่าดับกิเลสๆ คำพูดนี้เป็นแต่เพียงคำพูดเท่านั้น ตามจริงเป็นไปไม่ได้ ที่เป็นไปได้ก็คือทำไม่ให้กิเลสเกิด นั่นแหละคือดับกิเลส เมื่อตากระทบรูป หูกระทบเสียงนี่ อายตนะกระทบกันนะ เกิดวิญญาณนะ แล้วก็เกิดผัสสะนะ ทีนี้เอาสติมาควบคุมผัสสะเสีย ควบคุมผัสสะไว้ให้ได้ ไม่ให้โง่ ไม่ให้อวิชชามาควบคุมผัสสะ เอาปัญญา เอาวิชชา เอาสติมาควบคุมผัสสะ ผัสสะมันก็ไม่โง่ มันก็เต็มไปด้วยความฉลาด พอมันคลอดเป็นเวทนาออกมา ก็ไม่หลงกับมัน ไม่หลงสุขเวทนา ไม่หลงทุกขเวทนา ไม่หลงอทุกขมสุขเวทนา คือไม่หลงบวก ไม่หลงลบ หรือไม่หลงกลางๆ ไม่หลงทั้งหมดเลย นี่กิเลสมันก็ไม่เกิด มันมีค่าเท่ากับดับ ที่มันกำลังจะเกิดขึ้นมามันถูกดับไปคือมันไม่เกิด อย่างนี้ก็เรียกว่าไม่เข้าไปเล่นกับไฟให้มันกระเด็นใส่หน้าใส่ตาพุพอง ดับเสียตั้งแต่ต้นตอของมัน ด้วยสติ ด้วยปัญญา ด้วยสัมปชัญญะในขณะแห่งผัสสะ นี่คือเคล็ดที่ลึกซึ้งละเอียดสุขุมที่สุด ผัสสะเป็นสิ่งที่มีทุกวัน บ่อยๆ ทุกวันทุกเดือน คือตากระทบรูป ก็มีวิญญาณทางตา ก็เกิดผัสสะ หูกระทบเสียง ก็มีวิญญาณทางหู ก็เกิดผัสสะ จมูกกระทบกลิ่น มีวิญญาณทางจมูก ก็เกิดผัสสะ ลิ้นกระทบรส ก็มีวิญญาณทางลิ้น ก็เกิดผัสสะ ผิวกายกระทบสิ่งที่มากระทบ ก็เกิดวิญญาณทางกาย มันก็เกิดผัสสะ ใจกระทบอารมณ์ มันก็เกิดวิญญาณทางใจ มันก็มีผัสสะ อันนี้เป็นสูตรสำคัญที่สุดที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส ตรัสมากที่สุดว่านี้เป็นรากฐานที่จะเกิดกิเลสหรือเป็นสิ่งที่จะต้องรู้เพื่อดับกิเลสป้องกันกิเลส ท่านเรียกว่าอายตนิกธรรม คือสิ่งที่เป็นไปทางอายตนะ
อายตนิกธรรมๆ ธรรมที่เป็นไปทางอายตนะ หรือเป็นอายตนะ หรือประกอบเป็นอายตนะ แล้วแต่จะแปล เรียกว่าอายตนิกธรรมก็แล้วกัน มีอยู่ ๕ หมวดๆ ละ ๖ หมวดที่ ๑ คือตัวอายตนะภายใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖, หมวดที่ ๒ คืออายตนะภายนอกที่มันจะกระทบกับอายตนะภายใน ได้แก่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ๖ เหมือนกัน ครบคู่กันพอดี แล้วมันก็เกิดวิญญาณ วิญญาณทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ วิญญาณก็ ๖ อีก แล้วก็เกิดผัสสะ ๖ ผัสสะอาศัยตา อาศัยหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ผัสสะก็ ๖ ออกมาเป็นเวทนา ก็เวทนา ๖ เวทนาอาศัยผัสสะทางตา เวทนาอาศัยผัสสะทางหู เวทนาอาศัยผัสสะทางจมูก เวทนาอาศัยผัสสะทางลิ้น เวทนาอาศัยผัสสะทางกาย เวทนาอาศัยผัสสะทางใจ ๖, ๕ หมวด ๕ ชุด ๕ พวกๆ ละ ๖, ๓๐ นี่เรียงตัวได้ ๓๐ อย่างนี่
พระพุทธเจ้าไต้ตรัสย้ำแล้วย้ำอีกทั่วไปในพระบาลีว่านี่แหละให้ระวังรักษาให้ดี รู้จักมันให้ดี ควบคุมมันให้ดี มันก็จะไม่เกิดเรื่องที่จะเป็นทุกข์ ถ้าจะดับทุกข์ก็ต้องควบคุมสิ่งเหล่านี้ ถ้าจะไม่ให้เกิดทุกข์ก็ควบคุมสิ่งเหล่านี้ มันเป็นสิ่งที่จะต้องรู้จัก แล้วเรารู้จักกันหรือยัง ที่บ้านที่เรือนไม่มีใครสอนเรื่องนี้ ที่มาเรียนนักธรรมก็ไม่ได้เน้นหนักในเรื่องนี้ ฉะนั้นเดี๋ยวนี้มารู้เสียแล้วนะ สิ่งที่ป็นอายตนะหรือเนื่องด้วยอายตนะ ๕ หมวดๆ ละ ๖ เป็น ๓๐ อย่างนี้ ว่าอีกที ตา หู จมุก ลิ้น กาย ใจ หมวดหนึ่ง, รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ หมวดหนึ่ง, จักษุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ นี่ก็หมวดหนึ่ง, จักษุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส นี่ก็หมวดหนึ่ง, รูปสัมผัสสชาเวทนา นี่ เวทนาที่เกิดจากสัมผัสในรูป เวทนาที่เกิดจากสัมผัสในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นี้ก็ ๖ -๖ -๖ -๖ -๖ ห้าที ๓๐, ถ้ารู้จักอันนี้แล้ว จะรู้จักพื้นฐานที่เกิดกิเลสหรือพื้นฐานที่จะฟาดฟันกิเลสทำลายกิเลส แล้วเราก็จะพบความไม่มีกิเลส และก็คือชีวิตเย็น มันก็เป็นชีวิตเย็น
เรื่องกิเลสนี้มันเป็นเรื่องทางนามธรรม เขาเรียกว่าทางนามธรรม แต่มันก็อาศัยรูปธรรมมันจึงเกิดเป็นที่ตั้ง อรูปธรรมเป็นที่ตั้งนามธรรมเป็นเรื่องของกิเลส เราไม่ค่อยจะได้ศึกษากัน ฉะนั้นเราจึงไม่รู้จักมัน ไฟมันก็เกิดได้ง่าย แล้วจะต้องกลายเป็นของธรรมดา บางทีเขาก็ตัดบท ก็มันเช่นนี้เองช่างหัวมัน สุขบ้างทุกข์บ้าง ก็ช่างหัวมัน ถ้าอย่างนี้ มันก็ไม่มีเรื่อง แต่ต้องการแต่ว่าให้เย็นไว้เสมอไปแล้วมันก็มีเรื่อง ควบคุมเมื่อมีการกระทบทางอายตนะ ตากระทบรูป หูกระทบเสียง เกิดวิญญาณแล้วเกิดผัสสะ มีปัญญาเต็มที่ในขณะผัสสเวทนาออกมา ไม่หลง ไม่หลงเวทนา ไม่หลงสุขเวทนา ไม่หลงทุกขเวทนา ไม่หลงอทุกขมสุขเวทนา นั่นแหละเย็น เวทนาไม่หลอกเรา คือไม่เป็นบวกให้เราหลงรัก ไม่เป็นลบให้เราหลงเกลียด ไม่เป็นกลางๆ ให้เราหลงโง่หลงสงสัย หลงด้วยความโง่หรือสงสัย มันจะไม่เกิดความเลวร้ายที่เรียกว่าเป็นผลของกิเลสหรือเป็นตัวกิลสก็ได้ นี่มันใช้แทนกันได้
คุณตั้งใจฟังสักหน่อยว่าอะไรบ้างๆ ความรัก เขียนไว้สิ ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความตื่นเต้นๆ ความอิจฉาริษยา ความหวง ความหึง เท่านี้ก็พอที่จะทำให้ร้อน รักก็ร้อนไปตามแบบรัก โกรธก็ร้อนไปตามแบบโกรธ เกลียดก็ร้อนไปตามแบบเกลียด กลัวก็ร้อนไปตามแบบกลัว ตื่นเต้นก็ร้อนไปตามแบบตื่นเต้น แต่เราไม่ค่อยเห็นเป็นร้อน เช่น เราไปดูกีฬา มีความตื่นเต้นมาก เราก็พอใจว่าตื่นเต้นนี้ไม่ทำอันตรายเราเลย กลับไปชอบไปเสียอีก ความตื่นเต้นมันก็ดึงดูดใจให้มันตื่นเต้น ให้มันตื่นเต้น ให้มันระรัวอยู่นั่นแหละ ถ้ารู้ความจริงมันก็ไม่ตื่นเต้น ไม่มีอะไรมาทำให้เราตื่นเต้น ไม่มีของอะไรที่น่าอัศจรรย์จนตื่นเต้น
อิจฉาๆ ริษยา นี่ก็ไม่ใช่เล่น มีได้ง่าย มีได้มากที่สุด มีได้ง่ายจนว่าแทบจะกล่าวได้ว่าทุกคนมีความอิจฉาริษยาไม่มากก็น้อย หาได้ง่ายในหมู่นักการเมืองนะ คุณดูเอาเองก็แล้วกัน ความอิจฉาริษยา วิตกกังวลนี่ อาลัยอาวรณ์นี่ ไม่มาถึงก็วิตกกังวล ผ่านไปแล้วก็อาลัยอาวรณ์ บางทีพอล้มตัวลงนอนก็อาลัยอาวรณ์อะไรขึ้นมาก็ไม่รู้ หรือวิตกกังวลว่าข้างหน้ามันจะเกิดอะไรขึ้นมา วิตกกังวลอาลัยอาวรณ์ ความหวง ด้วยราคะหรือโลภะธรรมดา ความหึงด้วยโลภะหรือราคะที่สุดเหวี่ยงๆ ความหวงกับความหึงมันพี่น้องกัน ถ้าธรรมดาก็เรียกความหวง ถ้ารุนแรงก็เรียกว่าความหึง เท่านี้ก็พอแล้ว มันยังมีอีกมากนี่ ใช้เป็นเครื่องวัดเป็นเครื่องสอบไล่ ว่าปฏิบัติธรรมะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ก็วัดดูด้วยสิ่งเหล่านี้แหละ
ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความตื่นเต้น ความวิตกกังวล ความอาลัยอาวรณ์ ความอิจฉาริษยา ความหวงความหึง จำไว้ นี่เป็นเครื่องทดสอบ ทดสอบตรวจสอบหรือเช็คดูว่ามันจะไปกันถึงไหนแล้ว ยังมีสิ่งเหล่านี้มันร้อนเท่าไหร่ เมื่อสิ่งเหล่านี้ไม่รบกวนมันแย็นเท่าไหร่ ขอให้มีชีวิตเย็น เย็น เย็น เย็น ชีวิตแห่งสติสัมปชัญญะ ควบคุมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ผัสสะ เวทนา ไม่เกิดกิเลส ไม่เกิดอนุสัย ไม่เกิดอาสวะ มันก็เย็น เย็น เย็น
เอาล่ะ, เรื่องชีวิตเย็นมีเท่านี้ ผมพูดซ้ำเพราะว่าคุณไม่เข้าใจเรื่องกิเลสที่พูดวันก่อน ไม่เข้าใจกิเลส ไม่เข้าใจนิวรณ์ เดี๋ยวนี้เข้าใจเสียสิ แล้วจะได้พูดเรื่องอื่นต่อไป ๑ ชั่วโมงแล้ว ก็ยุติการบรรยายคืนนี้