แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พูดถึงเรื่องสติในอิริยาบถ เป็นเรื่องแทรกเข้ามา ไม่ใช่ อานาปานสติ แต่ต้องปฏิบัติ เรียกว่าปฏิบัติด้วยกัน แล้วก็จะต้องรู้จักปฏิบัติไปตั้งแต่แรก ตอนแรกๆ จะไปพูดตอนสุดท้ายของอานาปานสติ มันก็ ก็ไม่ถูก เพราะเดี๋ยว นี้ต้องปฏิบัติแล้ว ก็คือว่าการปฏิบัติอานาปานสติ นั้น ทำในอิริยาบถนั่ง แต่นี้จะนั่งอยู่ตลอดเวลา มันก็ไม่ไหว ผู้ปฏิบัติ อานาปานสติ มันก็จะต้องเปลี่ยนอิริยาบถ นี่จึงเป็นสิ่งที่ต้องรู้พร้อมกันอีกทางหนึ่ง ก็เป็น สิ่งที่จะต้องปฏิบัติเป็น ประจำ แม้ว่าไม่ได้ปฏิบัติ อานาปานสติ แต่เดี๋ยวนี้ปฏิบัติ อานาปานสติ จำเป็นจะต้องเปลี่ยนอิริยาบถ จึงขอนำมาพูดเสียเลย
ในระหว่างที่ปฏิบัติ อานาปานสติ นั้น มีการเปลี่ยนอิริยาบถ จากอย่างหนึ่ง ไปสู่อย่างหนึ่ง ก็เพราะว่า เราจะนั่งอย่างเดียวไม่ไหว แล้วมันก็ต้องมีการเดิน ถ้าเป็นการปฏิบัติครบชุด ตลอดเวลาทั้งวันนั้น มันก็ ต้องมีการเดิน ยืน นั่ง นอน นั่งปฏิบัติ อานาปานสติ ทั้งวันมันก็ไม่ไหว มันก็ยังต้องเปลี่ยนด้วยการเดิน สลับด้วย การเดิน เพื่อแก้ไขไอ้ความเมื่อยขบ หรืออะไรก็ตาม
หลักใหญ่ของมันก็มีอยู่ว่า จะต้องมีความรู้สึกตัว ทั่วพร้อม อย่างเดียวกันกับการกำหนดลมหายใจ เดี๋ยว นี้ก็เปลี่ยนมาเป็น การกำหนดที่อิริยาบถนั้น แล้วแต่ว่ากำลังอยู่ในอิริยาบถอะไร แล้วมันก็ยังคาบเกี่ยวไปถึงว่าจะดู ธรรมะ บางอย่าง พร้อมกันไปในขณะที่เปลี่ยนอิริยาบถ เช่น ความไม่เที่ยง เป็นต้น
ก็ต้องฝึกความรู้สึกตัว ทั้งก่อนแต่ที่จะเปลี่ยน กำลังเปลี่ยน และแม้เปลี่ยนเสร็จแล้ว แม้นั่งอยู่ จะเปลี่ยนเป็นลุก นี่ก็จะต้องรู้สึกตัวสมบูรณ์ ก่อนที่จะลุก และ กำลังลุกอยู่ และแม้แต่ลุกเสร็จแล้ว ก็เรียบร้อย รู้สึกตัว ไม่ขาดตอน เช่นเดียวกับว่า กัดไม่ปล่อยเหมือนกันละ อิริยาบถกำลังเป็นอย่างไร ก็ติดตามไปตามอิริยาบถนั้นๆ ในลักษณะเหมือนกับวิ่ง เหมือนกับวิ่งตาม หรือกัดไม่ปล่อยนะ
ที่เกี่ยวกับ อานาปานสติ แม้ว่าจะเปลี่ยนอิริยาบถอย่างไร ก็ไม่สูญเสียไปในส่วน อานาปานสติ แม้จะเปลี่ยนอิริยาบถอยู่ สติในลมหายใจก็ยังมีอยู่ ไม่ใช่ไม่มี สมาธินั้นมันก็มีเหลืออยู่ในลักษณะที่เป็นผล เป็นความรู้สึกเป็นสุข ความรู้สึกพอใจ ความรู้สึกสงบ อะไรก็ ยังเหลืออยู่ แม้ว่าจะได้เปลี่ยนอิริยาบถแล้ว อย่างที่ภาษา วิทยาศาสตร์เรียกว่า แรงเฉื่อย หรือ momentum มันก็เหลือติดมาถึงอิริยาบถที่เปลี่ยนใหม่ กำลังมีความสุขใจ ในอิริยาบถ ในอานาปานสติ แม้จะลุกขึ้นเดิน มันก็ยังมีความรู้สึกเป็นสุขนั้น เหลือติดมาอยู่เรื่อยไป นี่ก็เรียกว่ารักษาไว้ได้ รักษาไว้ได้ บาลีเรียกอย่างน่าอัศจรรย์นะ เรียกว่า ของทิพย์ ของทิพย์ไปเลย เมื่อมีความรู้สึกที่เป็นฌาณ เป็นสมาธิเหลืออยู่ เป็นแรงเฉื่อยนี่ ถ้าเรามาเป็นอิริยาบถเดิน ก็เรียกว่า ที่เดินทิพย์ จงกลมทิพย์ ถ้ามานั่งก็เป็นที่นั่งทิพย์ ถ้ามานอนก็เป็นที่นอนทิพย์ ถ้าไปยืนก็เป็นที่ยืนทิพย์ เพราะใน เวลานั้นมีไอ้เรื่องของสมาธิ ผลของสมาธินั้นเหลืออยู่ แล้วคนนั้นก็รักษาไว้ได้ แม้จะมาเปลี่ยนเป็น อิริยาบถเดิน แล้ว ก็รักษาไอ้ความรู้สึกเหล่านี้ไว้ได้ มันก็เป็นการฝึกที่ดีเลิศ ที่ไม่ขาดตอน ที่ไม่ขาดสาย
เอ้าทีนี้เราก็มีเรื่องอิริยาบถเป็นหลัก มีอิริยาบถที่เป็นหลักใหญ่ๆ ก็คือ เดิน ยืน นั่ง นอน เดิน ยืน นั่ง นอน นอกนั้นก็ถือว่าเป็นปลีกย่อย เช่น จะรับประทาน จะฉันอาหาร จะอาบน้ำ จะพูด จะถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะอะไร แล้วแต่ว่ามันจะทำอิริยาบถอะไร ก็รักษาความรู้สึกที่เป็นสมาธินั้นไว้ได้ดีที่สุด เลยกลายเป็นโลกทิพย์ไปเลย คือ ทั้งหมดกลายเป็นของทิพย์ไปเลย นี่จึงต้องรู้สำหรับเปลี่ยนอิริยาบถ ให้สำเร็จประโยชน์ ไม่ให้เป็นอันตราย แก่สิ่งที่กำลังปฏิบัติอยู่ โดยเฉพาะ คือ อานาปานสติ นั่นเอง นี่รู้ว่ามันคาบเกี่ยวกันอยู่อย่างนี่
แล้วทีนี้ก็จะพูดถึง การเปลี่ยน การปฏิบัติในส่วนอิริยาบถ โดยเฉพาะ โดยเฉพาะ รู้เป็นหลักไว้ จะได้ใช้ปฏิบัติ แทรกแซงเมื่อใดก็ได้ อย่างเราไปปฏิบัติที่สวนนอก แต่เราก็ยังต้องมีการเดินมาที่นี่ นี่ จะต้องใช้วิธีของอิริยาบถ เรียกว่าการเดินตลอดเวลาที่มาที่นี่ คือไปที่ไหนก็ตาม เรื่องอิริยาบถโดยเฉพาะนั้นก็ว่า มี สติ สัมปชัญญะ รู้สึกต่ออิริยาบถนั้นๆ โดยเฉพาะ มันก็เป็น การปฏิบัติธรรมะอยู่ในตัวมันเอง แล้วมันก็ยังเป็นประโยชน์ ส่งเสริมแก่ธรรมะที่เหนือขึ้นไป เหนือขึ้นไป เช่น การรู้เรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นต้น
ถ้าเรามีอิริยาบทถูกต้อง ตามหลักของปฏิบัติอิริยาบถ มันก็เป็นการปฏิบัติสมบูรณ์ที่สุดอยู่อย่างหนึ่ง อย่างนี้ ขอบอกว่าไอ้หลักใหญ่ที่สุดนั้นก็คือว่า ไม่ว่าจะปฏิบัติอะไร เรื่องไหน ที่ไหน อย่างไรก็ตาม มันมุ่งหมาย จะรู้เรื่อง “อนัตตา” อนัตตา นั่นนะ เป็นหลักสำคัญ เพราะว่า ดับกิเลส ดับทุกข์ได้ เพราะการรู้เรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แม้เราจะอยู่ในอิริยาบถอะไร ก็ไม่เสียโอกาส ในการที่จะศึกษา เรื่อง อนัตตา นี่ ๆ รู้ไว้เป็นหลักทั่วไป อย่างนี้
การรู้สึก “อนัตตา” ให้ เป็นต้นนี่ รู้สึกอยู่ ทุก ๆ อิริยาบถ หนึ่ง และ ทุก ๆ ส่วนย่อย หรือส่วนที่มันแยกออกไปของอิริยาบถนั้น ๆ เช่น เรียกว่า เดิน อย่างนี้ มันก็เป็นอิริยาบถหนึ่ง แต่อิริยาบถ “เดิน” เป็นต้นนี้ อาจจะได้ แยกได้เป็นส่วน ๆ ๆ ๆ แม้แต่ก้าวขาครั้งหนึ่ง ก็เป็นส่วนหนึ่งแล้ว ถึงแม้แต่ก้าวขาครั้งหนึ่ง มันก็ยังมีแยกออกไป ให้ละเอียด เช่นว่า รู้สึกว่าจะเดิน รู้สึกว่ายกขา ยกขา ขึ้นมา แล้วก็เสือกขาไปข้างหน้า แล้วก็จะเอาขาลง มันก็จะเป็น ๓ จังหวะแล้ว
บางทีมันจะทำให้ละเอียดกว่านั้นก็ได้ รู้สึกว่าจะเดิน เตรียมยกขา ยกขาขึ้นมา ยกขาขึ้นมาสุดแล้ว แล้วเสือกไปข้างหน้า ก็ค่อย ๆ ๆ ๆ ก็สุดแล้ว แล้วก็จะเตรียมจะลง แล้วก็ให้ขาลงนี้ ระยะสั้นๆๆๆ เหล่านี้เรียกว่า ส่วนย่อยของอิริยาบถ ที่เราแยกมัน ถ้ามีสติสัมปชัญญะ ทุกๆ ส่วนย่อย มันก็เท่ากับรู้ทั้งหมด ก็รู้ละเอียดทั้งหมด นี่ก็เป็นเคล็ด เป็นเคล็ด เป็นอุบาย ที่จะทำให้ เรียกว่าอะไร อัดเข้าไป อัดความรู้เรื่อง อนัตตา เป็นต้น เข้าไป เต็มที่ เต็มที่เลย เหมือนกับย้อมผ้า มันย้อมกันทุกเส้นด้าย มันจึงจะถึงที่สุด
ทีนี้มีเรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจ เป็นพิเศษหน่อย ก็คือเรื่องว่า มีคนคิดเรื่อง หนอ หนอ ขึ้นมานี่ ดี ดีเหมือนกันถ้ารู้จักใช้ ถ้าใช้ผิดก็เสีย เรื่องหนอ ถ้าใช้ผิดก็เสีย ถ้ารู้จักใช้ถูก ก็จะมีประโยชน์ คือ มันเป็นเรื่อง เน้น ๆ ๆ ๆ ด้วยความรู้สึกว่า หนอนี่ แต่มัน มันต้องระวังว่า เน้น เน้นในทางมีตัวตน หรือเน้นในทางไม่มีตัวตน เดินหนอ เดินหนอ อย่างนี้ ไอ้คนที่ไม่รู้อะไร เน้นไปตามรู้สึกว่า กูเดินหนอ กูเดินหนอ เดินหนอๆ กลายเป็น “กู” เดินหนอ “กู” เดินหนอ ก็เน้น เน้นกูขึ้นไป แล้วก็ยึดมั่นในการเดิน ยึดมั่นในตัวกูผู้เดิน “หนอ” อย่างนี้ มันผิด
อย่าสอนกันหยาบ ๆ ว่า เดินหนอ เดินหนอ ต้องอธิบายให้เข้าใจว่า ไอ้หนอเช่นนั้น มันเน้นความมีตัวตน หรือ เน้นความยึดมั่นในสิ่งนั้น ไอ้หนอที่ถูกต้องนั้น มันมาจากความรู้ ที่รู้แล้วว่ามันเป็นอะไร คือรู้ว่า “เดินนี้ เป็นเพียงอิริยาบถ เคลื่อนไหวของร่างกายตามธรรมชาติ” ไม่มีตัวกูผู้เดิน ไม่มีตัวกูผู้เดิน เรียกว่า จะเดินด้วยจิตว่างก็ได้ ไม่มีตัวกูผู้เดิน รู้สึกแต่ว่ามันเป็นเพียงอิริยาบถอันหนึ่ง เป็นไปตามกฎธรรมชาติ เท่านั้นหนอ
ที่นี้มันยาว มันยาวนัก ก็เหลือ “สักว่าอิริยาบถเดินเท่านั้น หนอ” สักว่าอิริยาบถเดินเท่านั้น หนอ ไม่ใช่ว่ามีตัวกู ไม่มี… หรือตัวกูผู้เดิน อะไรทำนองนั้น แต่ “สักว่า” เป็นอิริยาบถเดินเท่านั้นหนอ อย่างนี้มันก็ ยาวนัก มันก็ยังยาวนัก ก็ลดลงหน่อย “เดินหนอ” คำว่าเดินหนอนั่น หมายว่า… หมายความว่า สักว่าอิริยาบถเดิน เท่านั้นหนอ อย่างนี้เรียกว่า “หนอถูก” หนอถูก
หนอผิดนั้นทำไปตามความรู้สึก สามัญสำนึกของคนที่ไม่รู้อะไรว่าเดินหนอ เดินหนอ เดินหนอ มันเน้นว่า “กู เดินหนอ” แต่เดี๋ยวนี้มัน รู้สึกว่า สักว่าอิริยาบถ เดิน เท่านั้นหนอ มันเน้นความที่ “ไม่มีกูผู้เดิน” ไม่มีกูผู้เดิน มีแต่การเดินหรืออิริยทบทเดินนี่ อย่างนี้เรียกว่า หนอถูก
ยืนก็เหมือนกัน สักว่าอิริยาบถ ยืน ยืน เท่านั้นหนอ ก็ว่ายืนหนอ ไม่ใช่ กู ยืนหนอ มันจะมีผลตรงกันข้าม ไปคนละทิศละทาง ทางหนึ่งมันจะย้อมหนักเข้าไปว่า มี กูผู้เดิน หรือมี กูผู้นั่ง ทางหนึ่งมันจะสลายออกไปว่า ไม่มี ไม่มีกูผู้เดิน ผู้นั่ง มีแต่อิริยาบถ นั้น ๆ เท่านั้นหนอ
นั่งก็เหมือนกัน นอนก็เหมือนกัน นี่มันเป็นทำสติเลยไปถึงเรื่อง อนัตตา นั่งอยู่นี่ ด้วย ความรู้สึกว่าเป็น อิริยาบถ อันหนึ่งเท่านั้นหนอ ก็เป็นนั่งด้วยจิตว่าง นั่งด้วยจิตว่าง ไม่มีอนัตตา ซ้อมความไม่มี อนัตตา ตลอดเวลานั่ง
เวลานอน เหมือนกันแหละ มีสติ สัมปชัญญะ เป็นอิริยาบถหนึ่งเท่านั้นหนอ กำหนด อยู่อย่างนี้ มันก็ไม่หลับ ไม่เช่นนั้น มันก็ไม่ชวนหลับไปเสีย มันก็กำหนด เพราะว่ามัน บางทีมันก็ต้องนอน เมื่อยังไม่หลับ มันก็ต้องกำหนดอย่างนี้ ถ้าว่าจะหลับมันก็ปล่อยให้มันหลับ โดยที่สติมันไม่ขาดตอน สติมันก็มีจนกระทั่งถึงหลับ พอหลับแล้วก็แล้วไป พอลุกมา มันก็มีสติต่อไปอีกว่า นอนหนอ นอนหนอ คือมันในอิริยาบถนอน มันก็เป็น อย่างนี้ ฝึกไว้ว่าแม้แต่นอน ก็นอนอย่างที่ไม่สูญเสียสติ ไม่ขาดสติ เพราะมันมีสติจนกระทั่งเวลาหลับ หลับแล้ว มันไม่ทำอะไร พอตื่นมามันจะทำอะไรอีก มันก็กำหนดอีก นี่เรียกว่า ติดต่อของสติได้เหมือนกัน
คำว่าหนอนี่ สมาธิแบบยุบหนอพองหนอ เขาทำกันมาก เรามีอานาปานสติ สมบูรณ์แบบ เนี่ยแทนๆ แทนแบบยุบหนอพองหนอ เพียงแต่ขอยืมหนอ มาใช้หน่อยเท่านั้น ถ้าใครไม่ชอบ ไม่ใช้ก็ได้ หนอ หนอ เนี่ย ไม่ใช้ก็ได้ ถ้าไม่ชอบ แต่ที่จริงมันเป็นเรื่องอำนวยความสะดวก อำนวยความง่าย ได้มากเหมือนกัน
บางทีจะเหลือแต่คำว่า หนอ ก็จะหนอ หนอคำเดียว ก็ได้ เท่านี้หนอ เท่านั้นหนอ ไม่มีการเดิน ไม่มีอะไรก็ได้ คือว่าจะไม่ยึดถือในการ นั่ง นอน ยืน เดิน เสียอีก ก็ยิ่งดี สักว่าอิริยาบถหนึ่งเท่านั้นหนอ ไม่อยากจะเป็นยืน เป็นเดิน เป็นนอน เป็นนั่ง นี่ก็ยิ่งดี สักว่าอิริยาบถหนึ่งเท่านั้นหนอ มันจะเคลื่อนไป เปลี่ยนไป อย่างไรที่ไหน ก็สักว่าอิริยาบถหนึ่งเท่านั้นหนอ
เดินจากที่นี่ กว่าจะไปถึงสวนนอก ก็ทำได้มากทีเดียวนะ ถ้าใครทำได้โดยไม่ขาดตอน มันก็เก่งมาก เพราะมันมีอะไรแทรกแซง ทีนี้ก็อาจจะสงสัยว่าแล้วเอา ๆ ๆ เอาสติ อันไหนมาระวังความปลอดภัยเล่า เรื่องนี้ไม่ต้องกลัว จิตใจมันเร็วมาก มันตรงกันมาก แม้มันจะกำหนดอยู่อย่างนั้น ถ้ามีอะไรเข้ามา อันตราย มันก็ยังหลีกได้ ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องกลัว โดยไม่ต้องสูญเสีย ไอ้ความกำหนด ธรรมะที่กำหนดอยู่ในใจน่ี จิตมันเร็วมากถึงทำได้อย่างนี้
เหมือนกับว่าเราถูฟันไปพลางนี่ จิตใจก็คิดถึง อะไรก็ได้ แล้วก็ยังถูฟันได้ ไม่ถูผิดๆ ถูกๆ ถูอย่างถูก สติก็ทำได้ในการถูฟัน ในการคิดนึกอะไรได้ เพราะว่าจิต มันเป็นของไว มันติดต่อกันได้ไว เราก็จะเดินได้โดยปลอดภัย ไม่ชน ไม่หกล้ม ไม่ถูกรถทับ ไม่ถูกอะไร ไม่ใช่เดินอย่างหลับตา มันเดินอย่างลืมตา แล้วมันเดินด้วยสติ บางทีมันจะละเอียดละออดีกว่าซะอีก
ทีนี้ก็มีถึงว่า ไม่สูญเสียผลอย่างเดียวกัน ในการปฏิบัติวิปัสสนา เราก็มีการศึกษา และความรู้แจ้งใน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่ทุกขั้นตอนนะ หายใจอยู่อย่างไรมันก็รู้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของลมหายใจ เดี๋ยวนี้มาเดิน ยืน นั่ง นอน อยู่ ก็ไม่ ไม่เสียไอ้ความรู้ เรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่ทุกขั้นตอน ด้วยเหมือนกัน
คือมันอยู่ใน “หนอ” นั่นละ ในคำว่าหนอ ถ้าฉลาด ก็แปล แปลความหมายของคำว่าหนอ นี่มันหนอ อะไร มัน หนอ หนอ ในความรู้สึก ที่เห็นจริง ที่เห็นแจ้ง เห็นจริง ไอ้หนอในอิริยาบถเดินก็ได้ แต่มันก็หนอ ในความรู้สึกว่า ที่เดินนี่มันก็คือไม่เที่ยงอย่างหนึ่งนะ แล้วก็ “มันไม่ใช่กูเดิน” มันไม่ใช่กูเดิน มันหนอในอนัตตาอยู่ด้วยเหมือนกัน
กระทั่งว่ามันจะเห็นว่าไอ้ อนิจจัง นี่ ก็มีความทุกข์ อยู่ในตัวมัน ก็เลย เห็นได้ทั้ง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นความรู้สึกส่วนลึก ที่นำมาย้อมแก่จิตใจ ให้มีสติปัญญา เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มากกว่า ธรรมดา มากกว่า ธรรมดา จนจะนึกเลยว่า มันรู้สึกต่อ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไปทุกอิริยาบถ ทุกเวลา ทุกสถานที่ แล้วมันทุกวินาที หรือทุกครั้งที่หายใจออกเข้า แล้วก็ทุกกระเบียดนิ้วทุกกระเบียดนิ้วของเล็กที่สุด ทุกวินาที ทุกกระเบียดนิ้ว มันรู้สึกตัวทั่วพร้อม รู้สึกตัวทั่วพร้อม ถ้าปฏิบัติชนิดที่มันแยก ซอยละเอียดออกไป ซึ่งจะต้อง กินเวลาพอใช้เหมือนกันละ กว่าจะทำได้
ฉะนั้น ทีนี้ ก็จะพูดถึง การจำ การแยกซอย จำแนก แจก แยกซอยออกไป ให้มันเป็น ส่วนน้อยๆๆๆๆๆ ยกตัวอย่าง อิริยาบถเดิน อย่างที่พูดแล้วเมื่อตะกี้ว่า แยกซอยออกไปได้เท่าไรมันก็เท่ากับ ศึกษา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เท่านั้นด้วยเหมือนกัน
เดิน หนึ่ง เดินนี่ คือ หนึ่ง อิริยาบถ หนึ่ง อิริยาบถ แยกมันเป็น สอง ก็ว่า ยก เหยียบ มันก็เหลือสอง เท่านั้น ถ้าจะแยกให้ว่า ยกขึ้นมา แล้วย่างออกไป แล้วก็เหยียบ ออกไป ก็เป็น สาม นี่ ยกขึ้นมา เตรียมที่จะย่างออกไป ก็ย่าง ออกไป ก็ลงก็เป็นสี่นี่ เป็นห้า เป็นหก ก็แล้วแต่ฉลาด แค่สี่ สี่ หรือ ห้า นี่ ก็มากพออยู่แล้ว ก็ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ จะยกหนอ จะย่างหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ ยกหนอสุดแล้ว จะย่างไป ก็เสือกไปข้างหน้า แล้วก็หยุดแล้ว จะลงหนอ ก็ลงแล้ว ถึงแล้ว ยกหนอ ยกขึ้นแล้ว ย่างไปแล้ว หยุดแล้ว จะลงหนอ แล้วก็ลงหนอ นี่ แล้วแต่จะ จะแยกออกไปให้มันมาก แต่ก็ไม่ใช่มันทำให้มันเกินกว่าเหตุ หรือแกล้งทำให้มันลำบาก เอาตามสมควร เค้าก็นิยมกันเพียงว่า ยก ย่าง เหยียบ ความรู้สึกอย่างเดียวกันนะ ความรู้สึกสักว่าอิริยาบถ “ไม่มีตัวกู” เป็น “อนิจจัง” เพราะเปลี่ยนแปลง เป็น “ทุกขัง” เพราะต้องทน เป็น “อนัตตา” เพราะบังคับไม่ได้
ที่จะยืน จะยืน ก็รู้สึกว่าจะยืน แล้วก็อะไร, ก็กดขาลงไป แล้วก็ยืนขึ้นมา ก็ยืนแล้ว ยืนเสร็จแล้ว สามจังหวะอย่างนี้ก็ได้ จะเดิน จะเดิน แล้วก็จะยืน แล้วก็จะนั่ง เนี่ยเพราะว่าจะ จะเปลี่ยนจากเดินมาเป็นนั่ง ก็รู้อย่างเดียวกัน ก่อนที่จะเปลี่ยนจากนั่ง ไปเป็นเดิน นั่งแล้วรู้สึกว่าจะยืน รู้สึกว่าจะยืนเสียก่อน แล้วจึงยืน แล้วก็ยืด ยืนขึ้นไป แล้วก็ยืนแล้ว เมื่อยืนอยู่ แล้วก็จะนั่งลง ก็รู้สึกเสียก่อนว่าจะนั่ง แล้วก็ลงมา แล้วก็นั่ง แล้วก็รู้สึก
จะนอนเหมือนกัน เดี๋ยวนี้มันก็จะนอน ใครจะนอนโดยวิธีที่สะดวก อย่างไรก็ว่า จะนอน จะนอน มัน ก็มือค้ำ มือค้ำ ค้ำหนอ แล้วก็เอนตัวลงไป หนอ แล้วถึงที่นอน ถึงพื้นหนอ ก็นอน นอนหนอ มันก็เหมือนกับ ทำเล่น ใครไม่รู้เรื่องก็คิดว่าคนบ้า แต่ที่จริงมันไม่ใช่คนบ้า มันคนที่กำลังฝึกอะไรอยู่อย่างมีเคล็ด มีเทคนิค นอกนั้นก็มันจะต้องทำ
การฉันก็สำคัญ มีปัจจเวกขณ์ขณ์ เกี่ยวกับการฉันอยู่โดยไม่ขาด ไม่ขาด ไม่ขาดเสีย เป็นสิ่งที่ต้องทำโดยทั่วไป เป็นปัจจเวกขณ์ ก็ภาวนา นี้เฉพาะอิริยาบถฉัน ก็รู้สึกว่า จะฉัน นะ เตรียมตัวที่จะฉัน นะ รู้สึกตัวทั่วพร้อมจะฉัน นะ ไม่ใช่ให้ความหิวพาไป ไม่ใช่ มันก็ทำทุกอิริยาบถละ เอาบาตรมา เอาๆ บาตรที่มีอาหารมา นั่ง แล้วก็วางลงอย่างไร แล้วจะหยิบอย่างไร จะทำอย่างไร ให้เป็นคำๆ แล้วจะใส่ปากอย่างไร ก็ แล้วก็อ้าปาก แล้วก็ ใส่ปาก แล้วก็เคี้ยวๆ อย่างมีความรู้สึก ทุกครั้งที่เคี้ยว แล้วก็ต้องกลืน กลืน นี่ อิริยาบถที่ถูกย่อยละเอียดออกไป ในเรื่องกิน
ทีนี้มันก็เรื่อง อาบ อาบในลำธารหรืออาบในห้องน้ำ ก็ดูเอาเอง มันจะเข้าไป เตรียมจะอาบน้ำ จะอาบน้ำ จะอาบน้ำ แล้วก็ จะหยิบขันน้ำ หรือว่าจะเปิดก๊อกน้ำ มันก็แล้วแต่เรื่อง มันรู้สึกตัวตั้งแต่แรกเข้าไป กระทั่งผลัดผ้า ผลัดผ่อนอะไร แล้วก็ตักรด ก็ตักรดด้วยสติสัมปชัญญะ แล้วก็รดลงไปด้วยสติสัมปชัญญะ แล้วก็รู้สึกนี้ ในน้ำ ความเย็นของน้ำ ด้วยสติสัมปชัญญะ ตลอดเวลาเหล่านั้น
ถ้าเป็นนักเลง นักเลง มันก็รู้สึกในความเย็นของน้ำ รู้สึกในความไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลง ในเวทนา ในอะไร ที่มันเกิดขึ้น ให้มันละเอียดออกไป ต่อเมื่อเป็นผู้รอบรู้ในเรื่องนั้นๆ แล้วก็จะทำได้ เดี๋ยวนี้ใหม่นัก คงจะทำไม่ได้ แต่ถ้ามันมีความรู้สึกอะไรได้บ้าง ก็รู้เถิดว่า มันรู้สึกอย่างนั้น มันรู้สึกอย่างนั้น อย่าปล่อยให้มันผ่านไปโดยไม่ ไม่รู้สึก โดยไม่รู้สึกเสียก่อน นี่มันก็เรียกว่า ถี่ยิบ แล้วก็ไม่ละจากกันเหมือนกันแหละ… เรียกว่า กัดไม่ปล่อย นี่ละ มันรู้สึกอยู่ไปตลอดเวลา รู้สึกไปตลอดเวลา คำว่ากัดไม่ปล่อยนี้มันเป็นหยาบคาย แต่ว่ามันมีความหมายเต็มที่ มีสติ ติดไปกับอารมณ์ หรือนิมิตร ที่ปฏิบัติ มันก็เป็นการถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้องไปหมด
นี้ถ่ายอุจจาระก็เหมือนกัน ถ้าเป็นนักปฏิบัติมันก็ต้องทำอย่างเดียวกันแหละ ถ้าไม่ใช่นักปฏิบัติมันก็ทำ อย่างที่เคยมาแล้วนั่นละ อย่างเด็ก ๆ ทำนี้ มันก็ไม่ต้องมีรู้เรื่องอะไร หรือ อันธพาลทำ มันก็จะโมโห โทโส แล้วมันก็โกรธใคร ด่าแช่งใครไป ทะเลาะกับอุจจาระ ก็ได้ ถ้ามันมีโรคภัยไข้เจ็บ มันถ่ายไม่สะดวกนั้น มันก็สูญเสีย สติสัมปชัญญะเท่านั้น มันมีเคล็ดนะ อุจจาระนี่แปลก ถึงเวลาถ่ายแล้ว มัน ไม่ๆ มันไม่รู้สึก จะว่าจะถ่ายนี่ก็พยายาม ให้ถ่ายจนได้ ถ้าไม่งั้นยุงหมดละ มันจะเกิดไม่เป็นระเบียบขึ้นมา แล้วมันจะยุ่งจนลำบากเรื่องถ่าย พยายามถ่าย ให้มันเป็นระเบียบ เช่น จะอิริยาบถไหน จะเข้าไปในห้องถ่าย หรือว่าจะนั่งลงไป จะทำอะไรก็ทำด้วยสติ สัมปชัญญะหมด ให้มันถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง ไม่สูญเสียวินัยเกี่ยวกับการถ่ายนี่ แล้วก็มีธรรมะที่เกี่ยวกับการถ่าย
ฉะนั้นอย่าประมาท อวดดีไป แม้เรื่องถ่ายอุจจาระ ก็มันยังมีทั้งธรรมะ ยังมีทั้งวินัยนี่ เรื่องวินัยก็ศึกษา เกี่ยวกับปฏิบัติอย่างไร จะไม่ทำผิดทั้งในวินัยและทั้งส่วนธรรมะเมื่อถ่ายอุจจาระ เบ่งแรงนั้น ไม่ใช่เพียงแต่ผิดวินัย มันให้โทษ ไอ้วินัยที่มันเกิดขึ้นนี่ ก็เพราะมันมีโทษ ในการแบ่งแรง พระพุทธเจ้าจึงบัญญัติวินัยข้อนี้ เป็นเสขิยะ ไม่เบ่ง ไม่เบ่งแรง เบ่งแรงมันให้โทษ มันชวนให้เป็นริดสีดวงหรือเป็นอะไรง่ายก็ได้ เป็นโรคชนิดใดชนิดหนึ่งก็ได้ นี่ก็พยายาม เหมือนกับปลอบโยน แล้วมันก็ค่อยๆออกมา บางทีมันก็เสียเวลามากกว่าธรรมดาก็มี แต่นานไป นาน ไป มันก็ค่อยๆ ชิน ค่อยๆ ชิน เมื่อถ่ายอุจจาระเป็นระเบียบ กำหนดเวลา สองเวลาอย่างนี้ ก็ทำได้ มันต้องออกมา ได้ ถ้าปล่อยไปตามเรื่อง มันไม่เป็นระเบียบ บางทีมันไม่ถ่าย วันสองวันก็ได้
ทีนี้ จะพูด ก็รู้สึกเสียก่อนว่า จะพูด จะพูดเรื่องอะไร ก็ระวังวินัยเหมือนกันนะ อย่าไปพูดหยาบคาย อย่าไปพูดชนิดที่ไม่ควรจะพูด ก็ต้องมีความควบคุม ไม่พูดขัดแย้ง ไม่พูดอะไร นี่ เป็นส่วนวินัย แล้วก็พูดด้วย สติสัมปชัญญะ ทั้งโดยพยัญชนะและโดยความหมาย ระวังพูดด้วยถ้อยคำที่สุภาพ สติสัมปชัญญะ ระวังพูดแต่ เรื่องที่ควรจะพูด อย่าอวดดี อยากจะอวด แล้วก็พูดไป นี่มันเพ้อเจ้อ มันก็เป็นการป้องกันไอ้ความเลวร้ายได้ ทั้งส่วน วินัย และทั้งส่วนธรรมะ นี่เรียกว่าจะพูด ยกตัวอย่างมาเท่านี้ เรื่องอื่น ๆ ก็ไปเทียบเคียงเอาเอง จะไปทำอะไร ที่ไหน ในบาลีมีถึงกับว่าจะนิ่งด้วยซ้ำไป จะนิ่ง คือ จะหยุดพูด มีสติสัมปชัญญะ หยุด ควรหยุดเมื่อไร หยุดอย่างไร ก็หยุด เรียกกันว่า ทุกอิริยาบถเลย ทุกอิริยาบถเลย แล้วก็ไม่สูญเสีย ไม่สูญเสียความรู้เรื่อง อนัตตา เรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วมันจะเลยไปถึง สุดยอด ของ ตา ตา นี่ ถ้าปฏิบัติอยู่ในเรื่องของอิทัปปัจจยตา มันก็จะเห็นชัดย่ิงขึ้นละ การเปลี่ยนแปลงอิริยาบถ ทุกขั้นตอนมันเป็น อิทัปปัจจยตา เปลี่ยนจากอย่างนี้ ไปสู่อย่างโน้น มันมีเหตุปัจจัยที่ทำให้เปลี่ยน การเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัย นี่ เรียกว่า อิทัปปัจจยตา
ศึกษา อิทัปปัจจยตา ให้ตลอดเรื่อง หรือ ตลอดระยะที่มันเปลี่ยน ศึกษาธรรมะจิตตตา โอ นี่ ช่างเป็นไปตามธรรมดาจริงโว้ย ต้อง เดิน ยืน นั่ง นอน ต้องกิน ต้องอาบ ต้องถ่าย ต้อง หรือจะพิจารณา นิยามตา มันเป็น กฎบังคับของใครก็ไม่รู้ ของพระเจ้า หรือของอะไร อย่าไปนั่น แต่ว่ามันเป็นกฎธรรมชาติ ที่มันจะต้อง ทำให้ถูกต้องนะ มิเช่นนั้น จะเกิดเรื่องนะ ถ้าทำไม่ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ “ธรรมนิยาม” แปลว่า กฎของ ธรรมชาติ ธรรมะ ธรรมชาติ นิยาม นิยาม แม่บท บัญญัติ คือ กฎ
ทีนี้ก็จะเห็น “สุญญตา” สุญญตา เพราะเรากำหนดความไม่ ๆ ไม่ใช่ตัวตน ตัวตน อยู่ทุก หนอ ๆ ๆ ๆ แล้วก็ สุญญตา ว่างจากตัวตน แล้วมันอยู่สูงสุด มันเช่นนี้เอง “ตถตา” ตถตา นี่ก็รักษา อตัมมยตาไว้ได้ ไม่ถูกอะไร ไม่ถูกปัจจัยอะไรปรุงแต่ง ไม่ถูกอารมณ์ ข้างนอกปรุงแต่ง ไม่ถูกอารมณ์ ข้างในปรุงแต่ง ไม่เกิดกิเลส ตัณหา อุปทาน ปรุงแต่ง ที่สุด มันก็สุดแค่นั้นหนะ แค่ “อตัมมยตา” เท่านั้น อธิบายนี่ มันมากไปแล้ว มันสำหรับ ผู้แตกฉานในธรรมะ ที่จะปฏิบัติได้อย่างนี้ ไอ้แรกทำอย่างนี้คงจะทำไม่ได้ แต่ก็ควรจะรู้ไว้ว่า มันทำได้ถึงอย่างนี้ พื้นฐานของการปฏิบัติพรหมจรรย์นั้นมันมีหัวใจอยู่ที่ เห็น “อนัตตา” เห็นอนัตตา เป็นการเห็น อนัตตา อยู่ตลอดเวลา นั้นนะ มันประเสริฐสุด ด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นสิ่งที่อำนวย ให้ทำได้ ทำได้เพราะมีสติสัมปชัญญะ เราจึงฝึกสติสัมปชัญญะพร้อมกันไปในตัว กับสิ่งที่เราต้องการจะให้มี ให้มีสติสัมปชัญญะในอะไร ก็ฝึกสิ่งนั้นไป พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ ฉะนั้น จึงฝึกไปตั้งแต่ว่าหายใจ ตั้งแต่ว่า เดิน ยืน นั่ง นอน แล้วกระทั่งว่า ทุกอิริยาบถ
นี่ทำไมต้องพูดเรื่องอิริยาบถ ซึ่งมันเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก แล้วก็ใหญ่โตเหมือนกันนะ เพราะเดี๋ยวนี้ มันต้องเปลี่ยนอิริยาบถ ถ้าจะปฏิบัติอานาปานสตินี่ ก็ทั้งวันทั้งคืนนี่ มันก็มีต้อง ต้องมีการเปลี่ยนอิริยาบถ โดยต้องรู้มันไปเสียด้วย ต้องปฏิบัติมันเสียด้วย
นี่ขอให้ ให้เห็นให้ชัดว่า ไปปฏิบัติภาวนา ไปเจริญภาวนานั้นนะ มันดี กี่เรื่อง มันมีอย่างไร หัวใจของเรื่อง เราจะปฏิบัติอานาปานสติ เพราะอานาปานสติ มันดึงเข้ามาหา เข้ามาประกอบด้วยได้ทุกเรื่อง โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง เรื่องอิริยาบถ มีสติในอิริยาบถ เพราะทุกอิริยาบถที่มีอานาปนสติภาวนา ถ้าเราติดใจในอานาปานสติ ภาวนาขั้นใดขั้นหนึ่งอยู่ แม้ยืนอยู่ ยืนพิงต้นไม้อยู่ ยืนอยู่ ก็ ก็ทำได้ ยืนหายใจอยู่ก็ทำได้ ไปยืนดื่มปิติปราโมทย์ อยู่ก็ทำได้ แม้นอนอยู่ก็ทำได้ ถ้าเดินอยู่นั้นนะก็ ถ้านักเลงก็ทำได้ ถ้าเป็นนักเลง คือเก่งหน่อย ก็ทำได้เหมือนกัน เดินอยู่ โดยไม่… ไม่เสียอิริยาบถ เดินไม่เสียสติสัมปชัญญะในการเดิน แต่จิตใจมันก็รู้สึก อานาปานสติข้อใด ข้อหนึ่งได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เช่น ปีติและปราโมทย์นี่ มันยิ่งง่าย ปีติปราโมทย์ นี่เป็นความเย็น แห่งความรู้สึกครอบๆ ครอบงำ ครอบงำความรู้สึกว่า ทำได้ เช่นเดียวกับเราทำได้ เมื่อเราเดินอยู่ เราคิดนึกอะไรได้นี่ใช่ไหมเล่า เช่น เราโกรธใครอยู่ แม้เราเดินอยู่ มันก็ยังโกรธ นั่งอยู่ มันก็ยังโกรธ นอนอยู่ มันก็ยังโกรธ มันก็ทำได้
ล้างหน้าล้างตา ถูฟันอยู่ จิตคิดนึกอะไรก็ได้ กินอาหารอยู่ จิตคิดนึกอะไรก็ได้ มันๆ มันเก่งขนาดนั้นนะ “จิต” ว่าดวงเดียว รู้สึกทีละอย่างก็จริง แต่มันไวมาก จนสลับกันได้อย่างไม่รู้สึก นี่ เราก็เรียกว่าอะไร ประสบความสำเร็จ ในการมีสติสัมปชัญญะ เป็นนาย เป็นนาย เหนือกิเลส เหนือนิวรณ์ ได้ เพราะการมีสติ ถ้าสติมัน กำหนดที่อะไรอยู่ นิวรณ์ มันเข้ามาไม่ได้ ท่านจึงเรียกว่าสมาธิมันก็กำจัดนิวรณ์ ไปในตัว นิวรณ์อะไรอยู่ หายใจอย่าง กายสิทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์ทีเดียว เดี๋ยวมันก็เปิดหนีไปหมด กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ นี่ ถ้ามีสมาธิจริง หายใจทีเดียว มันก็เปิดหนีไปหมด ถ้าไม่มีสมาธิจริง มันก็ไล่ไม่ได้ มันก็ไล่ไม่ไป
ดังนั้น จึงต้องมีการฝึก วสี ชำนาญอย่างยิ่ง ในการมีสติสัมปชัญญะอย่างยิ่ง ในการมีสมาธิอย่างยิ่ง ในการ ใช้ปัญญาด้วยสัมปชัญญะอย่างยิ่ง มันก็เต็มไปด้วยเคล็ดหรือเทคนิคที่ละเอียด ละเอียด ละเอียด เหมือนกันนะ ไม่แพ้วิชาการอย่างอื่น วิชากฏหมาย วิชา engineer วิชามันมีเทคนิคถี่ยีบ ละเอียดซับซ้อนอย่างไร ให้เราทำ อานาปานสติภาวนา ของเราก็มีอย่างนั้น มันก็เก่ง ไม่แพ้ไอ้พวกเหล่านั้น แต่ถ้าว่ามันโง่ มันทำส่งเดช มันก็ไม่มีอะไร เหมือนกันนะ มันทำพอเป็นพิธี มันก็ไม่มีอะไรเหมือนกัน มันต้องทำถูกวิธี วิธี อย่างมีเทคนิค แล้วก็สำเร็จประโยชน์แน่นอน
นี่คือการประพฤติพรหมจรรย์ที่มันละเอียดๆ มีผลเป็นนิพพาน… สมตามที่เรียกว่า เอกัคตาจิต มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ เรามุ่งหมายพระนิพพานเป็นเป้าหมายปลายทาง ด้วยจิตทั้งหมด เมื่อมันมีเทคนิค หรือเคล็ดอย่างนี้ก็ต้องฉลาดให้พอกันนะ ทีนี้อีกทางหนึ่งก็มีการตระเตรียม มีการตระเตรียมตามสมควร อย่างจะเดินสะดวก ที่เรียกว่าเดินจงกลมนะ ที่จริงก็คือเดินนะ จงกลม ก็แปลว่า เดิน ก็มีที่ ๆ เหมาะสำหรับ เดิน กำหนดไว้ตรงนี้เหมาะ หรือว่าตบแต่งเล็กน้อย พอเดินสะดวก ไม่มีอันตราย เพราะว่าเราจะต้องเดินมืด ๆ ไม่ได้มีแสงไฟ ก็ยังเดินได้ พวกที่ยึดมั่นถือมั่นนะ เขาก็ทำทางเดินจงกลม เคยไปเห็นนะ หล่อคอนกรีต เรียบร้อย สวยงาม ตามความต้องการ แล้วก็เดินบนนั้น นี้มันมากไป เผื่อพอสมควรก็แล้วกัน เดินกลางดินนี่ ตรงนี้แถวนี้ จากนี่ถึงนี่ กำหนดไว้ ตระเตรียมไว้ กวาดไว้ อะไรไว้ ทุกอย่างก็มีการตระเตรียม ให้เกิดความสะดวก ในการประพฤติปฏิบัติ ถ้ามันตระเตรียมถึงกระท่อมกระต๊อบ ก็ทำ ทำได้
สรุปความว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ไสยศาสตร์ อย่าทำไปเพื่อความขลังความศักดิ์สิทธิ์ อิทธิปาฏิหาริย์ ดีกว่าคนอื่น รู้แต่เพียงว่าเป็นเกลอกับธรรมชาติ เข้าถึงส่วนลึกของธรรมชาติ ควักล้วงเอาความลับของธรรมชาติ มาใช้ให้เป็นประโยชน์ แม้คนที่อยู่ที่บ้านที่เรือน มีบ้านเรือนอยู่ ดังนั้น ก็ขอได้มีสติสัมปชัญญะ ทุกอิริยาบถ ทุก วินาทีเถิด อยู่ในห้องทำงาน อยู่ในห้องนอน อยู่ในห้องครัว อยู่ในห้องน้ำ ปฏิบัติได้ ที่บ้านนั่นละ เมื่อจิตจดจ่อ อยู่ในการปฏิบัติแล้ว อารมณ์อื่นมันก็ไม่รับเองแหละ ถ้าคุณมากำหนดอยู่ที่ลมหายใจมันก็ไม่ได้ยินเสียงอื่น ที่มันมาอยู่ข้างๆ เคียงๆ แต่มันค่อนข้่างจะทำยากสำหรับผู้ที่ยังไม่ทำได้ ยังทำไม่ได้ ยังไม่เก่ง ยังไม่เชี่ยวชาญ ยังไม่ชำนาญมันทำยาก จึงมักจะเน้นการหาสถานที่สงบสงัด ก็ยึดถือมากเกินไป ก็ไม่ได้เหมือนกันนะ
อยู่ที่ใน ทำที่ตรงนั้น ให้มันสงัด ปิดหู ปิดตา ปิดจมูก ปิดอะไร มันก็กลายเป็นสงัด กลายเป็นที่สงัดได้ ตามที่ต้องการ แม้ว่าเราเดินทางอยู่ในรถ ในเรือ ในอะไร เราก็ทำได้ พระที่เป็นนักเลงบางองค์ เขามีแว่นตาดำ พอเขาจะไปทำในรถ ในเรือที่คนแน่น ยัดเบียด ก็สวมแว่นตาดำเสีย เพื่อไม่ให้คนเขาเห็นว่าทำอะไร นี่ก็เรียกว่า ดีเหมือนกันละ อาจจะดีเกินไปก็ได้
ถ้าบ้านของคุณอยู่ข้างโรงสี คุณก็เป่านกหวีดอยู่ข้างในฟัง ไม่ได้ยินเสียงเครื่อง เครื่องโรงสี ที่อยู่บ้านติดกัน นี่ อย่าไปทะเลาะกับไอ้อารมณ์แวดล้อมข้างนอกเหล่านี้เลย สำเร็จได้ด้วยมีสติสัมปชัญญะ ที่เข้มข้น คมเฉียบ
เอาละ ก็เป็นอันว่า เราได้พูดถึงอานาปานสติแล้ว แล้วก็เลยพูดถึงอิริยาบถด้วย เพราะมันเนื่องกันอยู่ ขอให้ มีความรู้ความ เข้าใจเอาไปใช้ได้ แม้ที่อยู่ คนอยู่บ้าน อยู่เรือน ยังไม่ได้บวช ไม่ต้องเสียใจ ทำได้ ขอให้ทำก็แล้วกัน ทำได้ที่ไหน ก็เป็นที่สงบสงัด ขึ้นมาที่นั่นละ เก่งจริง ทำกลางโรงละคร ก็ทำได้
ฉะนั้น เราขอยุติการ บรรยายเรื่องผนวก คือ อิริยาปทปธาน(0:52:06.4) เข้ามาแทรกแซงในอานาปานสติ สมควรแก่เวลาแล้ว หนึ่งชั่วโมงแล้ว
ขอยุติการบรรยาย